lolita

Lolita (1962) British : Stanley Kubrick ♥♥♥

ดัดแปลงจากนิยายของ Vladimir Nabokov ที่เต็มไปด้วยความหมิ่นเหม่ ล่อแหลมขัดต่อหลักศีลธรรม แต่ Stanley Kubrick กลับสามารถดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ได้โดยไม่มี Love Scene แม้แต่ฉากเดียว จนสามารถผ่าน Hays Code ที่เข้มงวด (ก่อนที่จะมีระบบเรตติ้ง) ฉายในอเมริกา แต่ก็ยังได้เรต X ในหลายๆประเทศ

เรื่องราวของชายวัยกลางคน Humbert รับบทโดย James Mason ตกหลุมรักเด็กหญิงสาว Dolores Haze หรือ Lolita นำแสดงโดย Sue Lyon ที่ถ้าว่ากันตามนิยาย ทั้งสองก็มี Sex กันด้วย ในหนังจะไม่มีฉากนี้ ปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการไปเอง ว่าชายวัยกลางคนกับเด็กหญิงสาวอยู่ด้วยกันสองต่อสอง อะไรจะเกิดขึ้น?

ก่อนที่อเมริกาจะมีระบบการจัด Rating กำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมต่อเนื้อหาภาพยนตร์ ในปี 1968 นับเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ (1930-1968) ที่ Motion Picture Production Code (MPPC) ได้ก่อตั้งขึ้น และสร้างข้อกำหนดทางจริยธรรม สำหรับภาพยนตร์ที่ฉายในอเมริกา เรียกว่า Hays Code (ตั้งชื่อตาม Will H. Hays ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน MPPC ขณะนั้น) หนังที่ได้รับการตรวจสอบจาก MPPC แล้วเท่านั้นถึงจะสามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้

นี่ถือว่าเป็นหนังที่มีความหมิ่นเหม่ เมื่อพิจารณาตามหลักศีลธรรม แม้จะไม่เห็นฉากโป๊เปลือย หรือการร่วมเพศ แต่การแสดงออกทาง สายตา ความรู้สึกตัวละคร ผู้ชมสามารถจินตนาการได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ฟังดูตลก กับ Hays Code ที่โคตรเข้มงวด หนังกลับสามารถผ่านการพิจารณา ให้ฉายในอเมริกาได้, ต้องบอกว่า Kubrick วางแผนมาดีจริงๆ เขาใช้การล็อบบี้ คือขอให้คนรู้จักที่เคยทำงานใน MPPC มาช่วยเป็นที่ปรึกษา พิจารณาบทหนังให้ อะไรที่ขัดต่อกฎจะได้ตัดออก เรียกว่าซิกแซกเต็มที่ ผลลัพท์เลยไม่มีอะไรในหนังที่ทำผิดกฎของ Hays Code เลยสักข้อ

แต่กับคนที่ดูหนังเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่คงตระหนักได้ ว่านี่เป็นหนังที่อันตรายจริงๆ แม้เรื่องราวจะกึ่งๆตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมไม่เหมาะสม แต่วิธีการเล่าเรื่องของ Kubrick แสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้ต้องการตอบคำถามนี้ แค่นำเสนอความงดงามของความหมิ่นเหม่ หนึ่งในด้านมืดของมนุษย์ ฉันจะตีแผ่มันออกมาได้มากที่สุดขนาดไหน ในกรอบที่ถูกจำกัดนี้

Calder Willingham นักเขียนนิยายและบทหนังเรื่อง Paths of Glory เป็นคนนำนิยายเรื่อง Lolita แนะนำให้กับ Kubrick จนเกิดความสนใจ และเสี้ยมสอนให้ Vladimir Nabokov ขายสิทธิ์ในการสร้างหนังให้ Hollywood, เห็นว่าช่วงแรก Willingham อาสาดัดแปลงบทหนังเองด้วย แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจ ให้ Nabokov ดัดแปลงนิยายของตนเอง น่าจะได้ประสิทธิผลตรงใจกว่า, บทหนังแรกของ Nabokov มีความยาวกว่า 400 หน้า ถ้าดัดแปลงเป็นหนังคงได้ความยาวกว่า 7 ชั่วโมง Kubrick และโปรดิวเซอร์ James Harris จึงร่วมกันตัดเรื่องราว ประเด็นเล็กๆน้อยๆของนิยายออก เหลือความยาวประมาณ 200 กว่าหน้า (Nabokov เอาบทหนังนี้ไปตีพิมพ์เป็นหนังสือขายในปี 1974 ชื่อ Lolita: A Screenplay)

James Mason คือตัวเลือกแรกของ Kubrick แต่ตอนแรกเขาบอกปัดเพราะติดแสดงละครเวทีอยู่, ตัวเลือกถัดๆมา อาทิ Laurence Olivier, Errol Flynn, Peter Ustinov, David Niven ฯ จนสุดท้ายกลับมาที่ Mason อีกรอบ เพราะเขาตัดสินใจถอนตัวจากละครเวทีเพื่อมารับบทนี้, ผมเพลิดเพลินกับการแสดงของ Mason มาก คือเราสามารถเห็น เข้าใจเขาได้ตั้งแต่ 5 นาทีแรกของหนัง เป็นเหมือนรักแรกพบกับ Lolita แล้วเขาพยายามหลีกเลี่ยง หาทางเอาตัวรอดจากแม่ของ Lolita, มี 2 ไฮไลท์การแสดงของ Mason ที่ผมประทับใจมากๆ 1) ตอนเขาหัวเราะหลังจากอ่านจดหมายสารภาพรักของ Charlotte นี่เป็นฉากที่แสดงความบ้าคลั่งของตัวละครนี้ให้ปรากฏเห็นครั้งแรก ทีแรกผมคิดว่าเขาจะหนีนะ แต่กลายเป็นว่า เอาทั้งแม่ทั้งลูก นี่ทำให้เรารู้เลยว่าจิตของเขาไม่ปกติแน่ 2) ช่วงท้ายขณะที่ได้พบกับ Lolita หลังจากผ่านไป 3 ปี ขณะร้องไห้และหยิบเงินในกระเป๋าส่งให้ นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่หนังทำให้เราตระหนักว่า Humbert หลงรัก Lolita จริงๆ เขายอมที่จะปล่อยเธอไปให้เป็นอิสระ

จากหญิงสาว 800 คนที่มาคัดเลือกบท Lolita, Kubrick เคยสนใจ Joey Heatherton แต่พ่อของเธอกลัวว่าเธอจะกลายเป็น Typecast เลยบอกปัด, Tuesday Weld, Hayley Mills, Joey Heatherton, Jill Haworth และ Catherine Demongeot ฯ เหตุผลที่สุดท้าย Kubrick เลือก Sue Lyon เพราะหน้าอกของเธอ ที่เหมือนว่าเป็นผู้หญิงที่โตแล้ว เวลากองเซนเซอร์เห็นจะได้รู้สึกว่า นี่เป็นตัวละครวัยรุ่นไม่ใช่เด็กเล็ก, การแสดงของ Lyon ถือว่าเกินเด็กมากๆ ขณะนั้นเธออายุ 14 รับบทเด็กหญิงอายุ 12 มีนิสัยแก่นแก้ว และชอบแสดงความยั่วยวน สนใจในเพศตรงข้าม

เกร็ด: ในหนัง ชื่อ Lolita เป็นแม่และเพื่อนๆของเธอเรียกเป็นชื่อเล่น แต่ในนิยาย นี่เป็นชื่อที่ตั้งให้โดย Humbert (เป็น petname) และเวลาเรียกจะเป็น Lo, Lola หรือ Dolly ไม่เคยออกเสียง Lolita เต็มๆสักครั้ง

การแสดงของ Lyon ดูแล้วก็ไม่มีอะไรเท่าไหร่ แต่ความน่ารักสดใสในการกระทำ การแสดงออกของเธอ ทำให้ได้รับรางวัล Most Promising Female Newcomer จาก Golden Globes Award เคยได้ร่วมงานกับผู้กำกับดังอย่าง John Huston เรื่อง The Night of the Iguana (1964) และ John Ford เรื่อง 7 Women (1966) [หนังเรื่องสุดท้ายของ John Ford] แต่หนทางของเธอไม่สดใสนัก ไม่นานก็จางหาย ลาจากวงการในที่สุด

Charlotte Haze แม่ของ Lolita รับบทโดย Shelley Winters นักแสดงสาวสุดเซ็กซี่ Erotic เจ้าของ 2 รางวัล Oscar: Best Supporting Actress (The Diary of Anne Frank-1959 และ A Patch of Blue-1965), กับหนังเรื่องนี้ เธอรับบทเป็นแม่หม้ายที่เสียสามีไปหลายปีก่อน อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายในบ้านกับลูกสาวจอมแก่น วันหนึ่งการมาของ Humbert ทำให้เธอกลับมามีชีวิตชีวา มีความสุขอีกครั้ง ใช้เสน่ห์ลีลาเย่ายวนจนได้เขามาครอบครอง แต่หารู้ไม่ในใจของ Humbert มีเพียงลูกสาวเจ้าปัญหาของเธอเท่านั้น และเมื่อได้พบความจริง…, ต้องบอกว่า Winters แย่งซีนสุดๆเลย ถึงผมจะไม่ได้ชอบตัวละครนี้มาก (แบบเดียวกับที่ Humbert ไม่ชอบเธอ) แต่ด้วยเสน่ห์ที่เย่ายวน ลีลาคำพูดการแสดง นึกไม่ออกว่าถ้าไม่ใช่ Winters ใครจะรับบทนี้ได้เด่นเท่า

เกร็ด: หนังที่ Humbert, Charlotte และ Lolita ดูด้วยกันใน Drive-In Theater คือ The Curse of Frankenstein (1957)

ความหลงใหลในรักของ Charlotte ต่อ Humbert ถือเป็น prologue เปิดโรงให้กับ Humbert ที่หลงใหล Lolita ในลักษณะเดียวกันด้วย และต่อยอดไปจบที่ Lolita หลงใหลใน Quilty ได้ครอบครองกาย แต่ไม่ได้ครอบครองใจ, ผมชอบคำพูดของ Humbert ตอนที่เขาระเบิดออกมาต่อ Charlotte เปรียบว่าเขายอมเป็นเหมือนหมาให้จูง แต่ทุกเกมต้องมีกฎ ซึ่งคำพูดนี้สะท้อนเข้ากับตัวเองตอนที่ Lolita ระเบิดความรู้สึกใส่เขา ประมาณว่า ตนเองไม่ใช่นก จะไม่ยอมถูกคุมขังตลอดเวลา นี่แสดงถึงสิ่งที่ Humbert ปฏิบัติต่อ Lolita คล้ายกับที่ Charlotte ปฏิบัติต่อ Humbert ไม่ถือว่าต่างกันมากนัก (ความหลงใหลก็ลักษณะเดียวกัน)

Peter Sellers รับบท Clare Quilty/Dr. Zempf ตัวละครเดียวแต่แสดงหลายบทบาท, ด้วยความที่ตัวละครนี้ออกแนวเพี้ยนๆ เหมือนคนติดยามีหลายบุคลิก Kubrick ปล่อยให้ Sellers แสดงอะไรออกมาก็ได้ดั่งใจปรารถนา นี่ทำให้เขาไม่ยั้งอะไรทั้งนั้น คิดอะไรก็แสดงออกมา, ขณะที่ Kubrick ถ่ายฉากของ Sellers เห็นว่าจะใช้กล้อง 2-3 ตัวจับภาพพร้อมกัน เพราะการแสดงเทคแรกของเขามักยอดเยี่ยมที่สุดเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด และได้มุมกล้องครบถ้วนโดยไม่ต้องถ่ายซ้ำใหม่

การแสดงของ Sellers ทำให้ Mason หงุดหงิดมาก เพราะเหมือนเขาโดนขโมยซีนแย่งความโดดเด่น และตัวเขาก็ไม่สามารถแสดงให้ดีกว่าที่ Sellers แสดงได้ (Mason เคยสนใจบท Quilty แต่สุดท้ายก็เลือก Humbert เพราะคิดว่าโดดเด่นกว่า)

เกร็ด: ผู้กำกับ Stanley Kubrick ปรากฎตัวในหนังด้วยนะครับ เห็นแวบๆในฉากแรกของหนังขณะ Humbert เปิดประตูเข้าไปในคฤหาสถ์ของ Quilty ช็อตนั้นขณะภาพ Dissolve แล้ว Kubrick โดยไม่ได้ตั้งใจ กำลังเดินออกจากฉาก

ถ่ายภาพโดย Oswald Morris หนังถ่ายด้วยภาพขาวดำ มี long-shot ตามสไตล์ของ Kubrick ที่ให้นักแสดง แสดงความสามารถออกมาได้เต็มที่โดยไม่มีการตัด ใช้การเคลื่อนกล้องตามเพื่อให้สัมผัสได้ถึงอารมณ์, ถึงเรื่องราวของหนังจะเกิดขึ้นในอเมริกา แต่หนังถ่ายในอังกฤษทั้งเรื่อง ฉากภายในถ้าใครศึกษาการออกแบบ สถาปัตยกรรมก็จะบอกได้ว่าเป็นประเทศอังกฤษ ส่วนฉากพื้นหลังที่ถ่ายจากในรถ หลายคนคงดูออกว่าเป็น Rear Projection ไปถ่ายจริงที่อเมริกาแล้วเอาภาพไปฉายในสตูดิโอที่อังกฤษ

ในช่วงระหว่างการถ่ายทำ มีภาพจากหนังที่หลุดไปปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์, Kubrick รู้สึกหัวเสียมากและกล่าวโทษ Morris อย่างรุนแรงว่าเป็นคนทรยศ (เพราะเขาเป็นตากล้อง ใกล้ชิดกับฟีล์มหนังที่สุด) แต่แท้จริงแล้วเป็นผู้ช่วยแลปล้างฟีล์มที่แอบนำภาพไปขาย นี่สร้างความไม่พอใจอย่างมากจน Morris จนประกาศว่าจะไม่ขอร่วมงานกับ Kubrick อีก

เกร็ด: Kubrick เป็นคนที่ชอบเล่นหมากรุกมาก มีฉากหนึ่งในหนัง (รูปข้างล่าง) Humbert เล่นหมากรุกกับ Charlotte แล้ว Lolita เดินเข้ามาหอมแก้มแม้ คำพูดของ Humbert บอกว่า ‘ฉันขอกินควีน’ (I take your queen.) ประโยคนี้มาจากนิยายด้วยนะครับ แสดงถึงความต้องการของเขา ที่ต้องการลูกสาว (ที่เป็น queen ของแม่)

ตัดต่อโดย Anthony Harvey, หนังใช้มุมมองของ Humbert เป็นหลัก และลำดับการเล่าเรื่องมีการใช้เทคนิคที่ชื่อว่า In medias res เป็นภาษาละตินแปลว่า ท่ามกลางอะไรบางอย่าง (into the middle things) ที่พูดถึงนี่คือฉากเปิดเรื่อง ที่มีการนำเอาฉากจบของนิยายขึ้นมานำเสนอขึ้นมาก่อน ผลลัพท์ของการทำแบบนี้ ให้ผลต่างจากนิยายมาก ที่เดิมผู้อ่านจะเกิดความฉงนสงสัยว่า Quilty คือใคร? ผู้อ่านจะทำตัวเหมือนนักสืบ ค้นหาว่าเกิดขึ้น ทำไม เพราะอะไร ใครเป็นตัวการเบื้องหลัง, ซึ่งเมื่อหนังเอาตอนจบมานำเสนอก่อนแบบนี้ ทำให้เรารู้ว่า Quilty คือใคร และชะตากรรมเขาต้องเป็นอย่างไร นี่เปลี่ยนจากบรรยากาศนักสืบ เป็นเพลิดเพลินกับเนื้อเรื่อง ผู้ชมมองหาตัวละครนี้ ว่าจะโผล่มาตอนไหนบ้าง มีบทบาทอย่างไร (บท Quilty เห็นว่าเพิ่มจากหนังเยอะเลย เพื่อขายการแสดงของ Sellers ด้วยละ) อยากเข้าใจว่าเพราะอะไรตอนจบเขาถึงกลายเป็นแบบนั้น, ส่วนตัวคิดว่า วิธีการเล่าเรื่องของ Kubrick ทำได้น่าสนใจกว่ามาก และเขาเคยให้ความเห็นว่า นิยายของ Nabokov น่าเบื่อช่วงกลางๆ ทำแบบนี้จะทำให้ผู้ชมตื่นเต้นกับหนังได้ตลอดทั้งเรื่องมากกว่า

สำหรับเพลงประกอบ เดิมที Kubrick ตั้งใจให้ Bernard Herrmann ทำเพลงให้ แต่เจ้าตัวปฏิเสธที่จะใช้ Theme from Lolita ของ Bob Harris ที่ Kubrick ขอเจาะจงต้องใส่ในหนัง จึงทำให้ต้องเปลี่ยนเป็น Nelson Riddle, เพลง Lolita Ya Ya ร้องโดย Sue Lyon ในฉากที่ Humbert พบกับ Lolita ครั้งแรกในสวน กลายเป็นเพลงฮิตขึ้นมา ผมเลือกเพลงนี้มาให้ฟัง บรรยากาศ Light Rock ที่ให้ฟังแล้วกระชุ่มกระชวย เหมือนกลายเป็นเด็กอายุ 14 ท่อนร้อง Ya Ya มันเป็น Comedy นะครับ เราคนไทยได้ยินเป็น ‘อย่า อย่า’ รู้ใช่ไหมว่าอย่าอะไร!

Kubrick ทำหนังเรื่องนี้เพื่ออะไร?, นำเสนอความผิดปกติของคนที่หลงรักเด็ก? ตั้งคำถามความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม? …  ผมรู้สึกจุดประสงค์จริงๆของเขา ต้องการท้าทาย Hays Code เท่านั้นนะครับ ว่าตนสามารถทำสิ่งที่มีความหมิ่นเหม่ภายใต้กรอบของสังคม ที่จำกัดสิทธิ์ในการนำเสนอเรื่องราวบางอย่างได้มากน้อยแค่ไหน, เขาทำทุกอย่างเพื่อการันตีหนังฉายได้ เปลี่ยนความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม เป็นงานศิลปะที่ให้ผู้ชมจินตนาการตามเองว่าเกิดอะไรขึ้น เอาหลังชนกำแพงแล้วดันสุดแรงแบบไม่ให้พังทลาย ผลลัพท์คือยอดเยี่ยมที่สุดขณะนั้น ของหนังที่สร้างขึ้นในกรอบข้อจำกัด

ขณะทำหนังเรื่องนี้ Kubrick อายุ 30 ต้นๆ เพิ่งมี Masterpiece เรื่องเดียวในสต๊อกคือ Paths of Glory (1957) ยังไม่เคยสร้างอะไรที่หลุดกรอบ นอกระบบความคิด คงอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อจำกัดของสังคมมาโดยตลอด ฯ หลายปีถัดมาเมื่อ Hays Code ล่มสลาย Kubrick คงแทบใจสลาย เมื่อตระหนักได้ถึงสิ่งที่ตนพลาดไป ต่อการไม่สามารถมองเห็นอิสระภาพที่อยู่นอกกำแพงกรอบขอบเขต ถ้าเขาทำหนังเรื่องนี้หลังยุค Hays Code นะ จินตนาการไม่ออกเลยว่ามันจะออกมายังไง แต่เชื่อว่ามันต้องสุดยอดมากแน่ๆ นี่ทำให้หนังเรื่องถัดๆของเขาไปอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968) และ A Clockwork Orange (1971) คือการที่ Kubrick พุ่งทะยานสุดตัวสู่ความเป็นอิสระ ไร้ขอบเขตเส้นจำกัด สู่ความไม่มีที่สิ้นสุดของศิลปะแห่งโลกภาพยนตร์

Kubrick ฉายหนังรอบพิเศษให้ Vladimir Nabokov รับชมก่อนรอบปฐมทัศน์ แม้บทหนังของเขาจะถูกตัดออกไปมาก แต่มีรายงานบอกว่าเขารู้สึกพึงพอใจกับหนังมาก และชื่นชม Kubrick และทีมงานที่นำเสนอออกมาได้ยอดเยี่ยม

ส่วนตัวผมรู้สึกเฉยๆต่อหนังเรื่องนี้ ไม่ชอบไม่เกลียด แต่ก็มีหลายส่วนที่รู้สึกไม่โอเค, อย่างการเลือก Sue Lyon ผมถือว่าเธอโตเกินไปหน่อย ตอนเล่นหนังอายุ 14 ปี ย่างเข้าสู่วัยรุ่นแรกแย้ม เธอทำให้ผมรู้สึกว่า ‘ไม่ผิดอะไรที่จะเราหลงรัก Lolita’ เห็นว่าในนิยายเด็กหญิงอายุ 12 ความเข้าใจของคนทั่วไป Lolita ควรจะอายุสัก 9 ขวบ ลองจินตนาการตามนะครับ ถ้าเป็นนักแสดงเด็กหญิง 9 ขวบ แล้วเกิดเหตุการณ์แบบในหนัง คุณจะรู้สึกอย่างไร? … รับไม่ได้ รังเกียจ ต่อต้านรุนแรงสุดๆ ‘มันผิดมหันต์อย่างยิ่งที่จะหลงรัก Lolita’ นี่ไม่ใช่หรือครับที่ควรจะเป็นใจความของหนัง

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นแล้วโคตรขัดใจเลย คือ Peter Sellers, การแสดงของเขาถือว่า สุดยอดมากๆ เป็นต้นแบบของความบ้าระห่ำใน Dr.Strangelove แต่กับหนังเรื่องนี้ กับตัวละครนี้ มันไม่มีความเข้ากันกับหนังแม้แต่น้อย, การปรากฎตัวแต่ละครั้งของ Sellers ทำให้อารมณ์ของหนังเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากดราม่าเข้มๆ กลายเป็น Black Comedy เบาสมอง ผมหัวเราะทุกครั้งที่เขาโผล่ออกมา ใบหน้าท่าทางกวนๆ คำพูดติดตลก จริงอยู่มันอาจช่วยผ่อนคลายความเครียด แต่มันทำให้อารมณ์ของหนังสะดุด ไม่ต่อเนื่อง และผมขำไม่ออกเมื่อคิดว่า Lolita หนีไปกับชายคนนี้ เธอหลงในความเพี้ยนของเขานะเหรอ โอ้ไม่น่ะ เป็นตัวละครที่น่าขยะแขยงจริงๆ

กับประเด็นที่ Lolita-Complex ในมุมของผมคือ ถ้ามันไม่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่รับเลี้ยงแล้วให้เธอกลายเป็นนกในกรง ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แล้วมันผิดอะไรที่จะมีเมียเด็ก? ถ้าคุณสามารถทนเสียงครหาของสังคม คนรอบข้างได้ มีปัญญาหา ก็มีไปเถอะครับ ชีวิตกระชุ่มกระชวยจะตาย, แต่จากประสบการณ์ (ส่วนตัว) มีแฟนเด็ก เมียเด็ก ก็ใช่ว่าจะน่าอภิรมย์เท่าไหร่ เพราะความคิด ความเข้าใจโลกที่ต่างกัน ก็เหมือนกับที่ Humbert มอง Lolita บางทีก็ไม่เข้าใจกันเลย นี่เพราะวัยวุฒิ วุฒิภาวะ สังคม ยุคสมัย การเติบโต ที่ยิ่งห่างวัยมากยิ่งเข้าใจกันยาก (แต่ถ้าคุณเป็นพวกยอมรับเข้าใจได้ทุกอย่าง นี่คงไม่มีปัญหาอะไร), ในแง่ศีลธรรม เอาจริงๆมันก็ไม่ผิดอะไรนะครับ ถ้าพ่อแม่ยินยอม เจ้าตัวยินยอม ก็ถือว่าไม่ผิดต่อหลักศีลธรรมแล้ว คงทำบุญไว้เยอะถึงได้เมียเด็ก ใครมาบอกว่า มีเมียเด็กมันไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ร้อยทั้งร้อยพวกขี้อิจฉาทั้งนั้น เสียงหมูหมากาไก่ ผู้ชายคงไม่เท่าไหร่ แต่เด็กหญิง/เด็กชาย ที่เป็นคู่ของคุณนะสิ จะยอมรับ อดทน เข้าใจได้หรือเปล่า!

ทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $9.25 ล้านเหรียญ ไม่น่าเชื่อว่าหนังลักษณะนี้จะทำกำไรได้, เข้าชิง Oscar 1 สาขา Best Writing, Adapt Screenplay แพ้ให้กับ To Kill a Mockingbird

กับหนังภาคต่อ Lolita (1997) ผมเคยเปิดดูแบบผ่านๆ แต่ก็ไม่คิดจะดูเต็มๆ เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่า หนังทำตามเคารพหนังสือเปะๆ ซึ่งจะมีฉาก Love Scene ระหว่าง เด็กหญิงกับ Humbert (นำแสดงโดย Jeremy Irons) ไม่อยากฝืนใจตนเองให้ดูหนังลักษณะนี้ และความเป็นศิลปะคงสู้เวอร์ชั่นของ Kubrick ไม่ได้แน่ เสียเวลาเปล่า (แต่หนังมีคนทำเพลงประกอบคือ Ennio Morricone ใครสนใจลองหามาดูนะครับ)

ใครชอบหนังแนว Lolita-Complex ลองหามาดูนะครับ Leon: The Professional (1994), Lost in Translation (2003), Old Boy (2003) ฯ

แนะนำกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษา วิเคราะห์พฤติกรรมของตัวละคร, คนชอบหนังขายการแสดง และแนว Black Comedy ที่หมิ่นเหม่ ล่อแหลม ขัดต่อหลังศีลธรรม, แฟนหนัง James Mason, Peter Sellers, Shelley Winters ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต R 18+ ถึงไม่มี Love Scene แต่หนังจะทำให้จินตนาการของคุณเตลิดไปไกลมากๆ

TAGLINE | “Lolita ของ Stanley Kubrick ถึงจะตัดความล่อแหลมทางภาพออกไป แต่ใช่ว่านี่เป็นเรื่องราวที่ควรถูกนำเสนอออกมา ไม่ใช่หนังที่ควรได้รับการสร้างตั้งแต่แรกแล้ว”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: