Los Olvidados

Los Olvidados (1950) Mexican : Luis Buñuel ♥♥♥♥

(15/12/2021) ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์คือปัจจัยสี่ (อาหาร, ที่อยู่อาศัย, เครื่องนุ่งห่ม, ยารักษาโรค) เมื่อขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี เพื่อตอบสนองสันชาตญาณเอาตัวรอด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

(29/5/2017) ปกติแล้วหนังเxยๆของ Luis Buñuel ผมไม่ค่อยอยากแนะนำให้หามารับชมสักเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คือ Masterpiece ที่ทำการตีแผ่ สะท้อนปัญหาสังคม เพราะเหตุใด? ทำไม? เด็กชายหนุ่มเหล่านี้ถึงกลายเป็นอันธพาลบนท้องถนน นำเสนออย่างตรงไปตรงมา เจ็บแสบกระสันต์ซ่าน อันทำให้ The 400 Blows (1959) ของ François Truffaut ดูกระจอกงอกง่อยไปเลยละ

เกร็ด: ชื่อหนัง Los Olvidados แปลว่า The Forgotten Ones, บุคคลที่ถูกลืม

คำเกริ่นเริ่มต้น ‘This film is based on true facts’ ทุกสิ่งอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม!, นี่คือคำเตือนไม่เคยปรากฎมาก่อนในผลงานของ Luis Buñuel เพราะถือเป็นครั้งแรกที่เขาตัดสินใจไม่หลบซ่อนตัวอยู่ใต้สิ่งสัญลักษณ์ Surrealism พร้อมแล้วจะเปิดเผยตัวตน ธาตุแท้จริงออกสู่สาธารณะ แสดงทัศนคติต่อโลกอันบิดเบี้ยว เหี้ยมโหดร้าย สังคมอุดมภยันตราย พฤติกรรมสุดอัปลักษณ์ของมวลมนุษย์ กำลังค่อยๆถูกขุดคุ้ย เปิดโปง ครั้งแรกในสื่อภาพยนตร์

Los Olvidados (1950) ถือเป็นวิวัฒนาการหนึ่งของวงการภาพยนตร์ โดยมี Luis Buñuel คือบุคคลแรกที่ริเริ่มต้นตั้งคำถาม ศีลธรรม คืออะไร? งานศิลปะจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบ/ข้อบังคับทางสังคมหรือไม่? ความถูก-ผิด ดี-ชั่ว ถูกต้องเหมาะสม Buñuel บอกว่าช่างหัวแม้งประไร! ภาพยนตร์และงานศิลปะหาใช่สิ่งที่จะถูกควบคุมครอบงำด้วยกฎเกณฑ์ไร้สาระอะไรพวกนั้น

Los Olvidados will not be a movie that will judge but will describe, to reveal a problem; It will not be about morality, about good or bad, about guilt, it will be a fresh, social observation.

Luis Buñuel

คำเตือนตอนต้นเรื่อง จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมสู่โลกความจริงอันเหี้ยมโหดร้าย มันอาจมีหลายๆภาพเหตุการณ์ดูไม่น่าอภิรมย์เริงใจ แต่หนังนำเสนอการกระทำเหล่านั้นโดยไม่ตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่ว แค่ให้ผู้ชมสังเกตเห็นว่ามันมีอะไรบังเกิดขึ้น อยากจะรู้สึก/ครุ่นคิด ทำอะไรต่อจากนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคุณเอง นี่ทำให้ลึกๆผมครุ่นคิดว่า Buñuel คือบุคคลมีจิตสำนึกทางศีลธรรมสูงมากๆ (แต่คนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นก็ตามเถอะ)

ไหนๆเขียนถึงหนังของ Luis Buñuel เลยตั้งใจจะ Revisit หลายๆบทความในอดีต ปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ ครุ่นคิดเห็นให้เป็นปัจจุบัน เพราะรู้สึกว่าตอนนั้นยังละอ่อนวัยไร้เดียงสาอยู่พอสมควร และจะได้วิเคราะห์ลงรายละเอียดเพิ่มเติมให้มีบทความสมบริบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

Luis Buñuel Portolés (1900 – 1983) สัญชาติ Spanish เกิดที่ Calanda, Aragon เป็นบุตรคนโตมีน้อง 6 คน, เมื่อตอนอายุได้ 4 ขวบครี่ง ครอบครัวอพยพย้ายสู่ Zaragoza ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนมีฐานะ ชนชั้นกลาง ถูกส่งไปศีกษาร่ำเรียนเป็นบาทหลวงยัง Colegio del Salvador แต่หลังจากได้พานพบเห็นอะไรบางอย่าง จึงหมดสิ้นเสื่อมศรัทธาในศาสนา, อายุ 16 เข้าเรียนต่อยัง University of Madrid แรกเริ่มคณะเกษตร เปลี่ยนมาวิศวะ สุดท้ายคือปรัชญา ระหว่างนั้นมีโอกาสสนิทสนมชิดเชื้อ Salvador Dalí และนักกวี Federico García Lorca สามสหายรวมกลุ่มตั้งชื่อ La Generación del 27

ความสนใจในภาพยนตร์ของ Buñuel เริ่มตั้งแต่สมัยยังเด็ก เติบโตขี้นมีโอกาสรับชม Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang เกิดความใคร่สนใจอย่างรุนแรง เลยหันมาอุทิศตนเองเพื่อสรรค์สร้างภาพยนตร์, เมื่อปี 1925 มุ่งสู่กรุง Paris (ยุคสมัยนั้นถือเป็นเมืองหลวงงานศิลปะ) แรกเริ่มได้งานเลขานุการ International Society of Intellectual Cooperation หมดเวลาและเงินไปกับภาพยนตร์และโรงละคร (3 ครั้งต่อวัน) นั่นเองทำให้มีโอกาสพบเจอศิลปินมากมาย พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต่อมาตัดสินใจเข้าโรงเรียนสอนภาพยนตร์ที่ก่อตั้งโดย Jean Epstein มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วย Mauprat (1926), La chute de la maison Usher (1928) นอกจากนี้ยังมี La Sirène des Tropiques (1927) ของผู้กำกับ Mario Nalpas และเคยรับบทตัวประกอบเล็กๆ Carmen (1926) ของผู้กำกับ Jacques Feyder

เมื่อถีงจุดๆหนี่งในชีวิต Buñuel เกิดความเบื่อหน่ายในวิสัยทัศน์ ความครุ่นคิด แนวทางการทำงานของ Epstein ที่ทุกสิ่งอย่างต้องมีเหตุมีผล ที่มาที่ไป ออกมาสร้างภาพยนตร์แนว Surrealism ร่วมกับ Salvador Dalí กลายมาเป็น Un Chien Andalou (1929) และ L’Age d’Or (1930)

การมาถึงของจอมพล Francisco สงครามกลางเมือง Spanish Civil War (1936-39) และภาพยนตร์/สารคดี Las Hurdes (1933) ถูกแบนห้ามฉายในสเปน ทำให้ Buñuel ตัดสินใจเดินทางมุ่งสู่ Hollywood ครุ่นคิดพัฒนาหลากหลายโปรเจคแต่ก็ไม่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งได้รับชักชวนจากโปรดิวเซอร์ Oscar Dancigers อพยพย้ายมาประเทศ Mexico ตั้งแต่ปี 1946 เริ่มต้นสรรค์สร้าง Gran Casino (1947) ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ยังได้รับโอกาสอีกครั้ง El Gran Calavera (1949) คราวนี้สามารถทำเงินถล่มทลาย

ความสำเร็จของ El Gran Calavera (1949) ทำให้โปรดิวเซอร์ Dancigers เร่งเร้าโปรเจคถัดไป ทีแรกนำเสนอบทหนัง ¡Mi huerfanito jefe! (แปลโดย Google Translate ได้ว่า My little orphan boss!) เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายขายล็อตเตอรี่ แต่นั่นยังไม่เป็นที่พีงพอใจสักเท่าไหร่

หลังจากมีโอกาสรับชม Shoeshine (1946) โคตรผลงาน Italian Neorealist ของ Vittorio De Sica ทำให้ผู้กำกับ Buñuel บังเกิดแรงบันดาลใจ ต้องการนำอิทธิพลของ Neorealist ที่ประกอบด้วยภาพความจริง วิถีชีวิตผู้คน และชนชั้นล่างของสังคม ทดลองผสมผสานแนวทางความสนใจส่วนตน Surrealist เพื่อถ่ายทอดโลกความจริงที่เหี้ยมโหดร้าย

Almost every capital like New York, Paris, London hides, behind its wealth, poverty-stricken homes where poorly-fed children, deprived of health or school, are doomed to criminality.

Buñuel ร่วมกับนักเขียนขาประจำ Luis Alcoriza (1918-92) ใช้เวลาศีกษาเตรียมงานสร้างถีงหกเดือน ออกสำรวจสลัมใน Mexico City (พร้อมค้นหาสถานที่ถ่ายทำ และคัดเลือกนักแสดงไปในตัว) เรียนรู้วิถีชีวิต พบเห็นการต่อสู้ดิ้นรน ความยากจนทำให้เด็กๆกลายเป็นอาชญากร เมื่อถูกจับกุมก็มักส่งตัวไปโรงเรียน/สถานรับเลี้ยง จนมีความแออัดคับแคบ ไม่มีทางที่การดูแลจะคลอบคลุมทั่วถีง


เรื่องราวของกลุ่มเด็กวัยรุ่นใน Mexico City ด้วยความยากจนค้นแค้น พ่อแม่ทิ้งขว้างไม่สนใจ วันๆไม่รู้ทำอะไรเลยรวมกลุ่มเป็นนักเลง มีหัวโจ๊กคือ Jaibo (รับบทโดย Roberto Cobo) เพิ่งออกจากสถานกักกันเยาวชน (Juvenile Prison) แต่ไม่รู้สำนึกตัว ปล้นชิง ลักทรัพย์ ลวนลามข่มขืน ทำร้ายคนพิการ และเข่นฆ่าคนตาย, ขณะที่ Pedro (รับบทโดย Alfonso Mejía) ลูกน้องคนสนิทของ Jaibo แต่หลังจากพบเห็นเขาเข่นฆ่าคนตาย บังเกิดความหวาดกลัวสิ่งชั่วร้าย ต้องการกลับตัวกลับใจ เปลี่ยนแปลงตนเองเสียใหม่ แต่ทุกครั้งล้วนโดนลูกพี่ติดตามระรังควาญ จนมิอาจหลบหนีพ้นโชคชะตากรรม

ระหว่างที่ Buñuel ออกสำรวจสลัมใน Mexico City ก็ถือโอกาสคัดเลือกนักแสดงเด็กๆที่เขาได้พบเจอ พูดคุย สอบถามถึงวิถีชีวิต ความเป็นไป ทุกคนล้วนเป็นหน้าใหม่ไม่เคยแสดงภาพยนตร์มาก่อน แต่ด้วยไดเรคชั่น ‘สไตล์ Buñuel’ ขอแค่ขยับเคลื่อนไหว ทำตามคำสั่ง ก็ถือว่าใช้ได้แล้วละ

  • El Jaibo ไร้พ่อไร้แม่ ใช้ชีวิตบนท้องถนนตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ที่จะต่อสู้ดิ้นรนด้วยตนเอง สถานกักกันเยาวชนจึงไม่สามารถเสี้ยมสอนอะไรได้ทั้งนั้น ทุกการกระทำจีงดำเนินไปด้วยสันชาติญาณแห่งการเอาชีพรอด
    • Jaibo ถีงช่วงวัยที่เริ่มมีแรงผลักดันทางเพศ (Sexual Drive) เป็นส่วนหนี่งของการกระทำ นั่นทำให้เขาพยายามเกี้ยวพาราสี/ลวนลามเด็กสาว รวมไปถีงมารดาของ Pedro แม้ไม่ได้คาดหวังจริงจัง แต่พอมีโอกาส ใครกันจะยอมปฏิเสธสันชาตญาณ
  • Pedro เพราะยังมีแม่และน้องๆ อีกทั้งตัวเองยังมีความเป็นเด็ก จึงเกิดอาการหวาดกลัวเกรง ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง พยายามแล้วอย่างสุดความสามารถ แต่มิอาจหลบหนีพ้น Jaibo กระทั่งครั้งสุดท้ายจึงตัดสินใจเผชิญหน้า ต่อสู้ เป็น-ตายอย่างไรค่อยว่ากัน

การแสดงของทั้ง Roberto Cobo (1930-2002) และ Alfonso Mejía (เกิดปี 1934) ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ต่างคว้ารางวัล Silver Ariel: Best Child Actor (งานประกาศรางวัล Oscar ของประเทศ Mexico) ทำให้สามารถแจ้งเกิดโด่งดัง มีอนาคตสดใสในวงการภาพยนตร์ กลายเป็นหนึ่งในดาวดาราประดับ Golden Age of Mexican Cinema (1936-56)

ผมอดไม่ได้จะต้องเปรียบเทียบกับ Jean-Pierre Léaud ที่รับบทเด็กชายหนุ่มจาก The 400 Blows (1959) แต่จะว่าไปตัวละครนั้นเป็นส่วนผสมของทั้ง Jaibo กับ Pedro (คือเอาความชั่วร้ายของ Jaibo ผสมกับความอยากเป็นเด็กดีของ Pedro) มันเลยพูดยากสักนหน่อยว่าใคร/เรื่องไหนโดดเด่นกว่า (ถ้าเทียบการแสดงตัวต่อตัว Léaud เจ๋งกว่ามากๆ แต่ภาพรวมของหนัง Cobo กับ Mejía เข้าคู่ลงตัวกว่า)


Stella Inda (1924-95) นักแสดงสัญชาติ Mexican เกิดที่ Pátzcuaro, เข้าสู่วงการจากเป็นตัวประกอบ La Mujer del Puerto (1934), โด่งดังจากผลงาน The Night of the Mayas (1939), Santa (1943), Bugambilia (1944), Amok (1945), Los olvidados (1950), El Rebozo de Soledad (1955) ฯ ภายหลังกลายเป็นครูสอนการแสดงยัง Instituto Nacional de Bellas Artes

รับบทแม่ของ Pedro ให้กำเนิดตั้งแต่ตนเองเพิ่งอายุ 14 ปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำอาชีพอะไร (แนวโน้มสูงมากๆว่าเป็นโสเภณี) สามีคือใคร แต่มีบุตรที่ต้องเลี้ยงดูแลถึง 4-5 คน ไม่พึงพอใจที่ Pedro คบเพื่อนนักเลง อันธพาล กลับบ้านดึกดื่นยามวิกาล ถึงอย่างนั้นตัวเธอเองก็ไร้ความสามารถจะเสี้ยมสอนสั่งอันใด ทั้งยังปล่อยตัวกายใจ ยินยอมร่วมรักหลับนอน Jaibo ตอบสนองตัณหาความใคร่ พีงพอใจส่วนตน รู้สึกผิดเล็กๆที่ต้องส่งบุตรชายไปโรงเรียน/สถานรับเลี้ยง พยายามติดตามหาเมื่อเขาสูญหายตัว … แต่ทุกอย่างก็สายเกินแก้ไข

หลายคนอาจมองปัญหาของเด็กๆ มีต้นกำเนิดจากครอบครัว บิดา-มารดาไร้ความสามารถเสี้ยมสอนดูแล มัวแต่มักมากในกามคุณ ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์/ความต้องการ(ทางเพศ) แต่นั่นใช่เรื่องที่เราจะไปโทษว่ากล่าวตัวละครนี้เลยสักนิด! เพราะในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น จะให้ทำอย่างไรถึงสามารถดิ้นรนรอดชีวิต ท้องอิ่มหลับสบาย เติมเต็มความสุขให้กับตนเอง(บ้าง) … ถ้าคุณหาหนทางออกให้เธอไม่ได้ ก็ไม่มีสิทธิ์จะไปตำหนิต่อว่าพฤติกรรม/การกระทำใดๆเลยนะครับ


ถ่ายภาพโดย Gabriel Figueroa (1907-97) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City, โตขึ้นร่ำเรียนการวาดรูป Academy of San Carlos และไวโอลิน National Conservatory แต่เมื่อครอบครัวประสบปัญหาการเงิน ทำให้ต้องลาออกมาทำงานยังสตูดิโอ Colonia Guerrero แรกเริ่มออกแบบสร้างฉาก จากนั้นกลายเป็นผู้ช่วยช่างภาพนิ่ง Juan de la Peña, José Guadalupe Velasco, ก่อนออกมาเปิดสตูดิโอ(ถ่ายภาพนิ่ง) แล้วได้รับคำชักชวนให้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ มีโอกาสเดินทางไป Hollywood ศึกษาการทำงานของ Gregg Toland จากเรื่อง Splendor (1935) เลยมุ่งมั่นเอาดีด้านนี้ แจ้งเกิดโด่งดังทันทีกับ Allá en el Rancho Grande (1936), ผลงานเด่นๆ อาทิ María Candelaria (1944), The Fugitive (1947), The Pearl (1947), The Unloved Woman (1949), Los Olvidados (1950), Nazarín (1959), The Exterminating Angel (1962), The Night of the Iguana (1964) ** ได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography

แม้ทศวรรษนั้นจะเป็นยุคทอง Golden Age of Mexican cinema (1936-56) อุตสาหกรรมภาพยนตร์ Mexican ขนาดใหญ่อันดับสามของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกาและอินเดีย) แต่กลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ทุนสร้างน้อยนิด ฟีล์มหายากราคาแพง (เพียงพอสำหรับถ่ายทำได้ 1-2 เทคเท่านั้น) ค่าจ้างนักแสดง/ทีมงานก็ไม่มากมายเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จึงเน้นปริมาณและความเร็ว (ยุคทองของเมืองไทยก็ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่)

ด้วยเหตุนี้ Buñuel จึงพัฒนาสไตล์ของตนเองเพื่อให้สอดคล้องข้อจำกัดดังกล่าว ด้วยการออกคำสั่งนักแสดงโดยละเอียด ขยับซ้าย-ขวา เดินหน้า-หลัง ทุกอิริยาบท อากัปกิริยา ยืนพูดกำกับอยู่ข้างหลังกล้อง (ไม่มีการบันทึกเสียง Sound-On-Film ทั้งหมดพากย์ทับหลังการถ่ายทำ) สำหรับ Los Olvidados (1950) ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 21 วันเท่านั้น!

แม้ว่าหนังถ่ายทำจากสถานที่จริง นักแสดงสมัครเล่น นำเสนอวิถีชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน และฉากภายนอกใช้แสงธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่กลับได้รับการโต้ถกเถียงว่าจะสามารถจัดเข้าพวก (Italian) Neorealism หรือไม่? ในทางเทคนิค/นักวิชาการให้คำตอบว่า ไม่! ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะเป็น social realism นำเสนอภาพความเป็นจริง/ตีแผ่ด้านมืดของสังคม เพิ่มเติมคือผสมผสานเข้ากับ surrealism ใน ‘สไตล์ Buñuel’ เท่านั้นเอง

แต่สำหรับ Buñuel ตอนสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ มีมุมมองแบบเดียวกับ Las Hurdes (1933) เห็นเป็นการถ่ายทำสารคดี บันทึกสภาพสังคม วิถึชีวิตของเด็กๆที่ถูกหลงลืมในสลัม Mexico City

Buñuel planned carefully to give the shooting of Los olvidados the hit-or-miss quality of news coverage. The camera at times follows random figures that have no relation to the drama except as par of the general milieu that generates it.

หนังเริ่มต้นด้วยข้อความเกริ่นนำ เสียงบรรยาย ภาพเมืองใหญ่ๆ New York, Paris, London ก่อนมาถึงสลัม Mexico City เพื่อเป็นการชี้นำทางผู้ชมให้บังเกิดความตระหนักรู้ ว่าสิ่งกำลังจะนำเสนอต่อไปนี้มีอยู่จริง พบเห็นได้ทั่วๆไปบนโลก

กระทิง เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ไม่ใช่แค่สื่อถึงประเทศสเปน ในบริบทของหนังสะท้อนถึงกลุ่มเด็กๆเหล่านี้ ที่ต่างมีชีวิตแบบพุ่งชน ไปตายเอาดาบหน้า เมื่อถูกลวงล่อ ใครสักคนชี้นำทาง ก็พร้อมขวิดทุกสิ่งอย่าง ขาดสติสัมปชัญญะ ไร้จิตสำนึก มโนธรรม ศีลธรรม บุคคลผู้เสี้ยมสอนสั่งก็ยังอาจไม่มี

หนังเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นจากภาพยนตร์ Shoeshine (1946) โคตรผลงาน Italian Neorealist ของ Vittorio De Sica แน่นอนว่าย่อมต้องการเคารพคารวะ พบเห็นในฉากที่ลูกสมุนกำลังขัดสีฉวีวรรณรองเท้าของหัวโจ๊ก Jaibo (หลังออกจากสถานกักกันเยาวชน) ซึ่งยังสะท้อนถึงการเป็นเบี้ยล่าง ยินยอมศิโรราบต่อผู้เหนือกว่า

เรื่องราวของขอทานตาบอด Don Carmelo (รับบทโดย Miguel Inclán ตัวจริงไม่ได้ตาบอดนะครับ) ก็ถือเป็นอีก Los olvidados บุคคลที่ถูก(สังคม)หลงลืม ทอดทิ้งขว้าง ปล่อยให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายในการกลั่นแกล้ง กระทำร้าย เจ้าตัวจึงพยายามต่อสู้ขัดขืนสุดแรงเกิด แต่ใครมาดีย่อมได้ดี-มาร้ายย่อมได้ร้าย ชายคนนี้ก็ไม่ได้ตาบอดทั้งร่างกาย-จิตใจ ยินยอมให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์ Small Eye จนเด็กชายสามารถเรียนรู้ ปรับตัว ธำรงชีพรอดได้เองในที่สุด

หลายคนอาจมองว่า Don Carmelo เป็นอีกตัวร้ายของหนัง แต่ไม่ใช่ว่าเขาคือผู้ถูกกระทำก่อนหรอกรือ? การโต้ตอบในลักษณะ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ แม้มองไม่เห็นแต่ก็พยายามต่อสู้ดิ้นรน ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อมีชีวิตรอด นั่นยังน่านับถือกว่าเด็กๆที่เอาแต่ก่ออาชญากรรม ไม่เคยทำอะไรด้วยตนเองเป็นชิ้นเป็นอัน

เจ้าไก่ เริ่มต้นพบเห็นตั้งแต่ฉากนี้ หลังจากที่ Don Carmelo ถูกกลุ่มอันธพาลเด็กรุมทุบตี กระทำร้ายร่างกาย(และจิตใจ) เงยหน้าขึ้นมาพบเห็นไก่สีดำ จับจ้องมองด้วยความฉงนสงสัย … วินาทีที่พบเห็นเจ้าไก่ มีการแทรกใส่ ‘motif’ ท่วงทำนองสั้นๆ เสียงเพลงดังขึ้นเหมือน Sound Effect สร้างความตื่นตกใจ เสียดสีบาดแทง กรีดกรายอยู่ภายใน

บรรดาสัตว์สัญลักษณ์ที่พบเห็นบ่อยครั้งในหนังของ Buñuel เจ้าไก่ น่าจะคืออันดับหนึ่งเลยละ (พบเห็นแทบทุกเรื่อง!) การตีความก็มีหลากหลายเกิ้น ตั้งแต่สัญลักษณ์ประเทศฝรั่งเศส (ฉายาทีมฟุตบอล ‘ตราไก่ฝรั่งเศส’), ทางศาสนาสื่อถึงความรักในครอบครัว การเสียสละของแม่เพื่อลูกน้อย (แม่ไก่-ลูกไก่) ทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีความบริสุทธิ์ อ่อนแอ ไม่สามารถโต้ตอบอะไรใคร ยกเว้นไก่ตัวผู้ (rooster) ถูกมองว่าสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย การทรยศหักหลังพวกพ้อง

remembered the words Jesus had spoken, ‘Before the rooster crows, you will deny me three times. ‘ And he went outside and wept bitterly.

Matthew 26:75

หลับนอนในคอกสัตว์ ข้างบ้านของเด็กหญิง Meche (รับบทโดย Alma Delia Fuentes) น่าจะเป็นการสะท้อนตรงๆถึงกลุ่มเด็กๆพวกนี้ มีสภาพไม่ต่างจากเดรัจฉาน ใช้ชีวิตตอบสนองสันชาติญาณ ขณะเดียวกันถ้าอ้างอิงศาสนา นี่คือสถานที่ประสูติของพระเยซูคริสต์ … ผมละไม่อยากครุ่นคิดต่อเลยว่า Buñuel ต้องการเปรียบเทียบถึงอะไร

สถานที่แห่งนี้ Jaibo ยังเคยลวนลาม Meche และไคลน์แม็กซ์ต่อสู้กับ Pedro ไม่ว่าตอนจบแบบไหนล้วนต้องมีใครสักคนตกลงมาคอหักตาย เรียกได้ว่า ประสูติ-ผสมพันธุ์-ปรินิพพาน (มันจะมีซีนที่ Small Eye ดูดนมจากเต้าแพะด้วยนะ) แรงไปไหมเนี่ย –“

สถานที่เผชิญหน้าระหว่าง Jaibo vs. Julián พื้นหลังมีโครงเหล็กขนาดใหญ่ น่าจะกำลังเตรียมก่อสร้างตึกสูงระฟ้า นี่เป็นการสะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น ประเทศกำลังพัฒนา มีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ โครงสร้างพื้นฐานสังคม แต่สภาพจิตใจของผู้คนกลับตกต่ำทรามลงทุกวัน พร้อมก่ออาชญากรรม เข่นฆ่าคนตาย ไร้ซึ่งจิตสำนึกมโนธรรม

ไม่รู้เหมือนกันว่า Don Carmelo เอาความเชื่อมาจากปรัมปราไหน นกพิราบขาวจะช่วยปัดเป่าอาการเจ็บปวด ในเชิงสัญลักษณ์คือให้โรคภัยโบยบินจากไป … ฉากนี้สะท้อนถึงการเข้าไม่ถึงการบริการพื้นฐานของคนยากคนจน ใครเจ็บป่วยก็ต้องอดทน ดิ้นรนหาหนทางรักษา เอาตัวรอดด้วยตนเอง พึ่งพาหมอเถื่อน หมอผี ใครก็ได้ แค่ความเชื่อทางใจก็ยังดี

ความฝัน(ร้าย)ของ Pedro เกิดขึ้นหลังจากทราบข่าวการเสียชีวิตของ Julián เพราะตัวเขายังเด็กจึงบังเกิดหวาดกลัว รู้สึกผิด จิตใต้สำนึกเลยเก็บเอามาเพ้อฝัน เริ่มจาก

  • ภาพสโลโมชั่น น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก La Belle et la Bête (1946) เพื่อสื่อถึงแฟนตาซี โลกแห่งความเพ้อฝัน จินตนาการ
  • พบเห็นศพของ Julián นอนตายอยู่ใต้เตียง/ฝังในจิตสำนึกของตนเอง
    • ขณะเดียวกันจะได้ยินเสียงไก่ และพบเห็นขน(ไก่)ปลิวว่อน สะท้อนถึงเจ้าสัตว์ตัวนี้ได้ฝังลึกอยู่ใต้จิตสำนึกเด็กชาย กลายเป็นสัญลักษณ์ของความตาย
  • มารดาค่อยๆลุกขึ้น เดินเข้ามาหา ยื่นมือทำท่า เข้ามาโอบกอด จุมพิต แสดงความรักต่อบุตรชาย
  • Pedro เรียกร้องหาอาหารแต่กลับได้รับก้อนเนื้อชิ้นใหญ่ๆ (Raw Meat) บ้างตีถึงการมอบความรัก เสียสละเลือดเนื้อหนัง ขณะเดียงกันยังสามารถสื่อถึง Sex (สันชาติญาณดิบ/พื้นฐานของมนุษย์)
  • แล้วถูก Jaibo เข้ามาฉุดกระชาก แก่งแย่งชิง ครอบครองเป็นเจ้าของ ซึ่งสะท้อนถึงหัวโจ๊กคนนี้มักเป็นผู้ขัดขวางการได้ดิบได้ดีของ Pedro ในทุกกัปกัลป์ (บ้างก็ว่า Jaibo แก่งแย่งชิงความรัก เนื้อหนัง และเรือนร่างกายของมารดาไปจาก Pedro)
    • Jaibo มาพร้อมลมพายุ ฝนฟ้าคะนอง (ใช้เอ็ฟเฟ็กพัดลม และแสงไฟกระพริบ) เสียงฟ้าร้องพอดิบพอดีจังหวะ Pedro ถูกแก่งแย่งก้อนเนื้อไปจากมือ

Pedro หลังความฝันร้ายนั้น สัญญากับแม่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เลิกกระทำสิ่งชั่วร้าย หาอาชีพสุจริตทำกิน แรกเริ่มก็คือเด็กฝึกงานโรงตีเหล็ก เรียนรู้การควบคุมไฟ (ควบคุมอารมณ์ ความต้องการของตนเอง) ใช้ค้อนทุบตี (เหมือนการทุบตีไก่) ขณะเหล็กกำลังร้อนจัด เพื่อจะสามารถขึ้นรูปทรงโดยง่าย (หรือคือการขึ้นรูปทรงชีวิตของตนเอง)

แต่การมาถึงของ Jaibo เหมือนความฝันเปะๆ แอบลักขโมยมีดที่เตรียมไว้ขาย ทำให้ Pedro ถูกกล่าวหา/ใส่ร้ายป้ายสี อีกเพียงวันเดียวจะได้เงินค่าจ้าง อนาคตของเด็กชายก็จบสิ้นโดยพลัน (ไม่ทันที่ชีวิตจะมีโอกาสเป็นรูปทรงขึ้นมา)

นี่เป็นซีนที่ผมช็อคที่สุดในการรับชมรอบนี้ ชายวัยกลางคนแต่งตัวดี ภูมิฐาน แสดงท่าทีทำเป็นสนใจเด็กชาย Pedro ต้องการให้เงินเพื่อทำอะไรสักอย่าง … แต่มันอะไรละ! … บังเอิญตำรวจผ่านมาแถวนั้นพอดี เลยไม่มีใครรับรู้ได้ว่าคืออะไร

พระเจ้ากล้วยช่วยทอด คนที่สามารถอ่านฉากนี้ออกจะตระหนักได้ทันทีว่า ชายวัยกลางคนนี้ต้องเป็นพวกรักเด็ก (pedo) ถ้าไม่พาไปกระทำชำเรา ก็ … อย่าไปจินตนาการมันเลยนะครับ แค่คิดก็ขนลุกขนพองแล้ว แถมไดเรคชั่นฉากนี้ได้ยินเพียงเสียงเพลงประกอบ (ไม่ได้ยินเสียงพูดคุยสนทนา) ท่วงทำนองสนุกสนานหรรษา ด้วยไวโอลินและขลุ่ย คลอเคลีย ล้อรับกันไปมา (เป็นการใช้บทเพลงแทนคำสนทนาของสองตัวละคร)

งานใหม่ของ Pedro เป็นพนักงานควบคุมม้าหมุน (สะท้อนถึงโชคชะตากรรมของเด็กชาย เวียนวนกลับมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง) แต่ไม่ใช่ว่ากดปุ่มแล้วม้าจะหมุน เขาต้องออกแรงทำให้ม้าหมุนด้วยกำลังของตนเอง (สะท้อนถึงชีวิตที่ต้องดำเนินไปด้วยลำแข้งของตนเอง) แถมยังถูกนายจ้างกดขี่ พูดจาข่มเหง ใช้แรงงานอย่างหนักโดยไม่สนค่าแรงขั้นต่ำ

รอยยิ้มของเด็กหญิงบนหลังม้า ช่างไม่รู้ประสีประสาว่าต้องมีใครหลายคนเหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมาน เพื่อให้วิถีสังคมดำเนินไป สร้างความสุขสบายเล็กๆนี้ให้เธอ

แม่ของ Pedro เมื่ออยู่สองต่อสองกับ Jaibo นั่นคือโอกาสตอบสนองความใคร่ส่วนตน สันชาติญาณดิบ พื้นฐานความต้องการของทุกสิ่งมีชีวิต (รวมไปถึงมนุษย์) ซึ่งหนังตัดมานำเสนอภาพเด็กๆวิ่งออกมาดูการแสดงโชว์สุนัข แต่งตัวอย่างผู้ดีมีสกุลนา ยืนสองขาเหมือนมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วพวกมันก็ยังเป็นแค่เดรัจฉาน

ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามสร้างภาพ ทำทุกอย่างให้เลิศหรู ดูดี เรียกตนเองว่าสัตว์ประเสริฐ แต่โดยพื้นฐาน สันชาติญาณดิบ มันไม่ได้มีความแตกต่างจากเดรัจฉานเลยสักนิด กิน-ขี้-ปี้-นอน ทำทุกสิ่งอย่างสนองตัณหา ความต้องการ พึงพอใจส่วนตน ‘Sex Drive’

หลังอดรนทนไม่ไหวต่อการถูกกดขี่ข่มเหงโดยนายจ้าง Pedro เลยตัดสินใจกลับบ้าน เปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างหน้า หวีผม สามารถสื่อถึงความต้องการเปลี่ยนแปลง(ภาพลักษณ์)ตนเอง พร้อมเผชิญหน้าความจริง ยินยอมรับโทษทัณฑ์ทุกสิ่งอย่าง (โหยหาความรักจากแม่) โดยให้มารดาเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของตนเองต่อจากนี้

แม่ตัดสินใจส่ง Pedro ไปโรงเรียน/สถานรับเลี้ยง เพราะไม่สามารถให้การดูแล ปกครองบุตรชาย เชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐ จะสามารถเสี้ยมสอนสั่งให้กลายเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ เอาตัวรอด หาอาชีพสุจริตทำได้ในอนาคต

ภาพแรกพบเห็นเด็กสองคนกำลังเล่นเชือกโยกไปโยกมา ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับ Pedro และไดเรคชั่นของฉากนี้ที่ทั้งสองจะโต้ถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เดี๋ยวยืน เดี๋ยวนั่ง สลับตำแหน่งซ้าย-ขาว สูง-ต่ำ ใครชื่นชอบอ่านภาษาภาพยนตร์ Sequence นี้ถือว่ามีความเป็น Melodrama ชวนให้นึกถึงหนังของ Ingmar Bergman อยู่เล็กๆ

แนะนำให้สังเกตกันอีกนิดกับเครื่องแต่งกายของตัวละคร ต่างสวมใส่ชุดสีเข้มแสดงถึงด้านมืด สิ่งชั่วร้ายซุกซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ โดยเฉพาะผ้าคลุมของแม่เป็นตาราง เหมือนกรงขัง มิอาจหาหนทางออกให้กับบุตรชาย (แสงเงาฉากนี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนทั้งสองต่างติดคุกติดตาราง ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นโชคชะตากรรม)

แม้ถูกส่งมาโรงเรียน/สถานรับเลี้ยง แต่ในช่วงแรกๆ Pedro ยังคงติดนิสัยดั้งเดิม กระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนอะไรใคร ตอบสนองความหิวโหย พีงพอใจส่วนตน หยิบไข่ดิบขี้นมาตอกกิน แล้วเขวี้ยงขว้างใส่หน้ากล้อง ‘breaking the Fourth wall’ ไม่ต้องการอยู่ในกฎกรอบ ข้อบังคับทางสังคม หรือแม้แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ (ที่ก็ทำตัวหัวขบถ นอกคอก ต้องการทำลายกรอบกำแพงที่สี่ ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดของสื่อภาพยนตร์ในยุคสมัยนั้น)

เพราะไม่สามารถใช้ความรุนแรงต่อสู้โต้ตอบกลับ Pedro จีงระบายความรู้สีกอีดอัดอั้นของตนเองลงกับเจ้าไก่ ตายไปสองตัวอย่างน่าอเน็จอนาจใจ … ไก่ตายจริงๆนะครับ แต่คนลงมือทุบตีคือ Luis Buñuel ซี่งเขาก็ไม่ได้อยากทำ แค่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองครุ่นคิดเขียนเอาไว้ในบทหนัง

นี่เป็นมุมกล้องที่พบเห็นหลายครั้งจนกลายเป็นภาพจำของหนัง ซี่งต้องมีคนหรือสัตว์เสียชีวิตจากการกระทำดังกล่าว

  • Jaibo ทุบตี Julián จนเสียชีวิต (นี่คือจุดเริ่มต้นภาพจำของ Pedro)
  • แม่ทุบตีไก่ดำจนเสียชีวิต (Pedro พบเห็นการกระทำดังกล่าวก็ถีงกับเบือนหน้าหนี)
  • และพอถีงคราของตนเอง Pedro ระบายความอีดอัดอั้น คับข้องแค้น ทำไมฉันต้องมาอาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้ ไม่มีใครเข้าใจ ยินยอมรับ โหยหาความรัก ความอบอุ่น บุคคลผู้สามารถเป็นที่พี่งพักพิงทางใจ
  • จริงๆยังมีอีกครั้งหนี่งช่วงท้าย Jaibo ทุบตี Pedro จนเสียชีวิต … เรียกว่ากรรมตามสนองที่เขาลงมือทุบตีเจ้าไก่

นอกจากนี้ผมยังมองการทุบตีดังกล่าว คือความพยายามของผู้กำกับ Buñuel ต้องการทุบทำลายกำแพง (แบบเดียวกับตอนเขวี้ยงขว้างไข่ใส่หน้ากล้อง) ‘breaking the Fouth wall’ ต่อข้อจำกัด กฎกรอบเกณฑ์ ข้อบังคับ หลักศีลธรรมจรรยา ความเชื่อศรัทธาของผู้คน/สังคมยุคสมัยนั้น

สองผู้คุมโรงเรียน/สถานรับเลี้ยงแห่งนี้ ต่างพูดคุยสนทนา สร้างภาพให้ฟังดูดี บนศีรษะพวกเขายืนตำแหน่งพอดิบพอดีกับเสาไฟฟ้า แลดูเหมือนไม้กางเขน ต่างเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา ว่าวิธีการของตนเองจะสามารถสร้างโอกาส และพิสูจน์คุณค่าความเป็นคนของเด็กชาย (หนังของ Buñuel ไม่มีความบังเอิญนะครับ ช็อตนี่เป็นความจงใจอย่างแน่นอน) แต่สุดท้ายกลับล้มเหลวสิ้นดี เพราะมันมีปัจจัยอื่น (Jaibo) อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่มีทางที่ใครจะสามารถคาดคิดถีงอย่างแน่นอน! … สื่อเป็นนัยว่า ต่อให้เราครุ่นคิดวิธีการ ให้ความช่วยเหลือ Los olividados ผู้ถูกหลงลืมเหล่านี้ แต่มันก็ไม่มีทางแก้ปัญหา(ความยากจน)ได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์

คำพูดเล่นๆของครูใหญ่ที่ว่า สักวันไก่มันอาจมาฆ่าล้างแค้น หนังนำเสนอคำพูดดังกล่าวในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยภาพเจ้าไก่ยืนย่ำเหยียบ Pedro หลังถูก Jaibo ผลักตกลงมาคอหักเสียชีวิต (มันอาจไม่ใช่เจ้าไก่ที่ฆ่าล้างแค้นสำเร็จ แต่ช็อตนี้ก็สามารถตีความไปในทิศทางนั้นได้อยู่)

ผู้ชมอาจรับรู้สีกว่านี่คือโศกนาฎกรรม แต่ผมมองว่าคือชัยชนะของ Pedro ที่สามารถเผชิญหน้า ต่อสู้กับ Jaibo แม้เขาจะตกลงมาเสียชีวิต แต่ก็ได้ค้นพบความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ทำลายกำแพง ที่ห้อมล้อมกีดขวางกั้นอิสรภาพของตนเองก่อนตาย … ก็เหมือนผู้กำกับ Buñuel สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้แบบวัดดวงกันไปเลยว่า จะรอดหรือตาย! ทำลายกฎกรอบเกณฑ์ทุกสิ่งอย่างที่กีดขวางกั้นอิสรภาพแห่งงานศิลปะ

ผมเคยตีความฉากนี้แบบง่ายๆ การตายของ Jaibo มีสภาพไม่ต่างจากหมาข้างถนน แต่สำหรับชาวละติน (Mesoamerican) พวกเขามีความเชื่อสืบต่อกันมา(ตั้งแต่ยุค Maya, Aztecs) สุนัขเป็นสัตว์ที่นำพาผู้เสียชีวิตออกเดินทางสู่ยมโลก

A common belief across the Mesoamerican region is that a dog carries the newly deceased across a body of water in the afterlife.

https://en.wikipedia.org/wiki/Dogs_in_Mesoamerican_folklore_and_myth

คัมภีร์ใบเบิ้ลเล่าว่า พระเยซูคริสต์ขี่ลาระหว่างออกเดินทางมุ่งสู่ Jerusalem (ก่อนถูกตรีงกางเขน ทรมาน และกลับสู่สรวงสวรรค์) ซี่งในบริบทนี้ของหนัง หลังการเสียชีวิตของ Pedro ครอบครัวของ Meche นำศพของเด็กชายขี้นบนหลังลา ออกเดินทางสู่กองขยะ แล้วเทกระจาดให้ตกลงสู่ภาคพื้นดิน … ผมละเหี่ยใจเล็กๆที่จะอธิบายช็อตจบ บอกใบ้แค่นี้ก็น่าจะพอเห็นภาพว่าผู้กำกับ Buñuel ต้องการจะสื่ออะไรนะครับ

ตัดต่อโดย Carlos Savage (1919-2000) สัญชาติ Mexican ขาประจำของ Luis Buñuel ตั้งแต่ Los Olvidados (1950), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ La guerra santa (1979), El principio (1973) ฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้ชุมชนสลัมใน Mexico City เป็นจุดศูนย์กลาง นอกจากกลุ่มเด็กอันธพาล (Jaibo, Pedro, Small Eye ฯ) ยังมีขอทานตาบอด ชายพิการครึ่งตัว ขี้เมา คนบ้า (ที่ติดตามหาคนฆ่าลูก) สถานที่ถ่ายทำก็เวียนวนอยู่แถวตลาด, ตีกร้าง, กองขยะ, ฟาร์มเกษตร ฯ

  • แนะนำตัวละคร ร้อยเรียงวิถีชีวิตกลุ่มเด็กอันธพาลในหนึ่งวัน
    • ช่วงเช้าเด็กๆกำลังเล่นไล่จับ/กระทิงขวิด
    • Jaibo ได้รับการปล่อยตัวจากสถานกักกันเยาวชน
    • ปล้น/ทำร้ายขอทานตาบอด
    • Pedro ถูกแม่ขับไล่ออกจากบ้าน ให้ความช่วยเหลือ Small Eye ที่ถูกบิดาทอดทิ้งขว้าง
    • สถานที่ซุกหัวนอน คอกสัตว์ของ Meche
  • ชีวิตดำเนินไปภายใต้ความหวาดระแวง
    • Jaibo ลากพา Pedro ไปชำระแค้น Julián แต่กลับเข่นฆาตกรรมคู่ปรับเก่าโดยไม่รู้ตัว
    • Small Eye ได้รับความช่วยเหลือจากขอทานตาบอด Don Carmelo
    • Pedro ต้องการปรับตัวเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังตื่นจากฝันร้าย ได้ทำงานผู้ช่วยช่างตีเหล็ก
    • Jaibo ยังคงดำเนินชีวิตไปเหมือนไม่มีอะไรบังเกิดขี้น พยายามเกี้ยวพาราสีเด็กหญิง กระทั่งเสพสมกับแม่ของ Pedro
  • ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลง
    • Pedro ถูกส่งตัวไปโรงเรียน/สถานรับเลี้ยง
    • Jaibo ยังคงเข้ามาระราวี Pedro จนเกิดการต่อสู้ และโศกนาฎกรรม

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า Los olvidados คือครั้งแรกใน ‘สไตล์ Buñuel’ เลยหรือเปล่าที่พบเห็นฉากในความฝัน ระหว่างตัวละครกำลังนอนหลับแล้วเพ้อฝัน (คือถ้าเรื่องราวเหนือจริง เหมือนฝัน พบเห็นได้ตั้งแต่ผลงานแรก Un Chien Andalou (1929)) ซึ่งเรื่องนี้นอกจากใช้เทคนิคสโลโมชั่น ยังพบเห็นสิ่งสัญลักษณ์ที่สะท้อนจิตใต้สำนึกตัวละครออกมาด้วย

เกร็ด: ใครว่างลองนับดูนะครับ เห็นว่าหนังมีทั้งหมด 365 ช็อต

โปรดิวเซอร์ Dancigers ร้องขอเชิงบังคับให้ Luis Buñuel ถ่ายทำตอนจบอีกแบบ (Alternate Ending) ในลักษณะ ‘Happy Ending’ คือให้ Pedro ต่อสู้เอาชนะและสามารถเข่นฆ่า Jaibo จากนั้นเดินทางกลับโรงเรียน นำเงินคืนครูใหญ่ … แต่ตอนจบดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ เพราะหนังถูกยกเลิกฉายไปเสียก่อน และฟีล์มหนังได้รับการค้นพบเมื่อปี 2002

LINK: https://www.youtube.com/watch?v=zkFcc3PuHTw


เพลงประกอบโดย Rodolfo Halffter (1900-87) ร่วมกับ Gustavo Pittaluga (1906-1975) ทั้งสองต่างเป็นสมาชิก Grupo de los Ocho (แปลว่า Group of Eight) ในช่วงต้นทศวรรษ 30s ได้รับอิทธิพลจาก Adolfo Salazar (1890-1958) สรรค์สร้างงานเพลง avant-garde ที่แตกต่างขนบวิถี รูปแบบวิธีการดั้งเดิม แต่การมาถึงของ Spainish Civil War (1936-39) ทำให้สมาชิกกระจัดกระจาย หลบลี้ภัยต่างประเทศ Halffter และ Pittaluga ตัดสินใจย้ายมาปักหลักยัง Mexico

โดยปกติแล้ว ‘สไตล์ Buñuel’ มักนิยมใช้ diegetic music ไม่ก็ Sound Effect แต่ในช่วง ‘Mexican Period’ ยังมีการทดลองใช้เพลงประกอบเพื่อเป็น ‘ส่วนขยาย’ ของเรื่องราวให้มีความเข้มข้น ซับซ้อนมากขึ้น (ในลักษณะของ Surrealist มากกว่า Expressionist) ซึ่งอาจมีทั้งปริมาณสั้นๆ ยาวๆ หรือผสมผสาน Sound Effect ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ขณะนั้นๆ

  • ในความฝัน เสียงเป่าขลุ่ยฟังดูล่องลอย หวาบหวิว ตามด้วย Sound Effect เสียงลมแรง พายุฝนฟ้า ฟาดกระหน่ำเข้ากลางใจเด็กชาย
  • วินาทีเข่นฆ่าคนตาย เริ่มต้นด้วยเสียงสังเคราะห์ที่ให้ความรู้สึกหมุนติ้วๆ ตามด้วยเครื่องเป่าไล่ระดับตัวโน๊ต ความรุนแรงในการทุบตี
  • ทุบตีไก่ ใช้เสียงแหลมของเครื่องสาย กรีดกราย เสียดแทงถึงทรวงใน

แต่ช่วงที่ผมรู้สึกว่าใช้บทเพลงได้เจ็บจี๊ดสุดๆ คือขณะชายวัยกลางคนกำลังล่อลวง Pedro (ไปกระทำชำเรา?) และแม่ (ของ Pedro) อ่อยเหยื่อร่วมรัก Jaibo ทั้งสองซีนนี้ต่างใช้ท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง ราวกับเด็กน้อยที่ยังบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่ผู้ชมเห็นแล้วย่อมบังเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน เพราะการกระทำเหล่านั้นมันช่างดูความโฉดชั่วร้าย ผิดหลังศีลธรรม


Los olvidados นำเสนอความทุกข์ยาก (misery) อันเกิดจากฐานะยากจน (poverty) ชนชั้นทางสังคม (social class) และทัศนคติในการดำรงชีวิต (attitude of life), ถึงมนุษย์เกิดมาลำบากสักเพียงไหน แต่ใช่ว่าทัศนคติของเราจะเป็นเช่นนั้นตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากความไร้เดียงสา ค่อยๆเรียนรู้ ซึมซับสิ่งต่างๆรอบข้าง พอถีงวัยแห่งการเลือกตัดสินใจ (ช่วงอายุประมาณ 10-15 ปี) ถ้าตอนนั้นถูกชักนำไปในทางที่ดีก็มีแนวโน้มจะไปได้สวย แต่ถ้าคบเพื่อนเลวก็อาจกลายเป็นเศษสวะของขยะสังคม

กลุ่มเด็กๆอันธพาลในหนังเรื่องนี้ล้วนคือเศษสวะ แต่พวกเขาต้องการเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า? ผมเชื่อว่าแม้แต่ Jaibo ก็ยังอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่สังคมได้เสี้ยมสอน หล่อหลอม ขัดเกลา ตัวเขาผ่านพ้นช่วงวัยแห่งการตัดสินใจ เลยไม่สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก, ส่วน Pedro ด้วยวัยวุฒิที่น้อยกว่า จึงทำให้ยังพอมีเวลาหลงเหลือ สามารถปรับเปลี่ยนแปลงตัวเอง ได้รับโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ แค่โชคร้ายดันมีเพื่อนเศษสวะ มันเลยเหมือนกลิ่นเหม็นเน่าติดตัว ล้างยังไงก็ออกไม่หมด ดังพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง

ปูติมจฺฉํ กุสคฺเคน     โย นโร อุปนยฺหติ
กุสาปิ ปูติ วายนฺติ      เอวํ พาลูปเสวนา

คนห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้าคาก็พลอยเหม็นเน่าไปด้วยฉันใด การคบกับคนพาลก็ฉันนั้น

(ราชธีตา) ขุ. ชา. มหา. ๒๘/๓๐๓.

ความรุนแรงบ้าคลั่งทั้งหลายหลากที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเด็กๆ เป็นผลจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีใครเสี้ยมสอนสั่นในหนทางที่ถูก ทำให้ไม่สามารถประณีประณอม แสดงออกด้วยความก้าวร้าว หรือเคยพบเห็นจึงทำเลียนแบบอย่าง และกระทำตามแล้วสัมฤทธิ์ผล จึงหลงผิด เสพติด เข้าใจว่าความรุนแรงคือหาทางออกของการใช้ชีวิต ใครทำอะไรไม่พอใจก็พร้อมใช้กำลังต่อสู้เผชิญหน้า, ผมไม่คิดว่าชาวบ้านทั่วไปอย่างเราๆจะสามารถแก้ไขปัญหาใดๆเหล่านี้ได้เลยนะครับ ซึ่งผู้กำกับ Buñuel เหมือนว่าจะได้ให้คำตอบไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า

ขอแค่ ‘อย่าลืมพวกเขา’ (Los Olvidados) คือถ้าคุณแสดงท่าทียินยอมรับไม่ได้ สังคม(ของฉัน)ไม่มีเด็กๆพฤติกรรมอย่างนี้อาศัยอยู่หรอก นั่นถือเป็นการหลอกตัวเองแล้วนะครับ! ทุกสังคม ทุกประเทศในโลก ล้วนมีกลุ่มเด็กๆเหล่านี้ ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเหลียวแยแส มันไม่จำเป็นว่าเราต้องเข้าร่วมองค์กรสาธารณะ สนับสนุนช่วยเหลือบริจาค อะไรแบบนั้น แค่ว่า ‘อย่าหลอกตัวเอง’ ว่าพวกเขาไม่มีตัวตนอยู่บนโลก แค่นี้ผมก็ว่าเกินพอแล้ว

นี่ก็เหมือนมนุษย์ทุกคนย่อมต้องมี ‘ด้านมืด’ ในตัวเอง ตราบใดยังไม่บรรลุหลุดพ้น อรหันตมรรคผล สมมติสงฆ์ก็ยังคงมีกิเลสในจิตใจ อย่าไปพูดว่าฉันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่เคยกระทำสิ่งชั่วช้าสามาลย์อันใด นี่เช่นกันคือการ ‘หลอกตัวเอง’ หัดยินยอมรับ ทำความรู้จัก เข้าใจทุกอารมณ์ความรู้สึก และการกระทำ ไม่หลงลืมความผิดพลาด (แต่ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่กับมัน) นำมาเป็นบทเรียนชีวิตให้ก้าวเดินต่อไป

เหตุที่ผมต้องเปรียบเทียบ Los olvidados (1950) กับ The 400 Blows (1959) เพราะทั้งสองเรื่องต่างนำเสนอปัญหาของวัยรุ่นหนุ่ม ขณะที่ The 400 Blows สะท้อนปัญหาครอบครัวที่ไม่เคยใคร่สนใจ ใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นความชั่วร้ายของเด็ก, Los Olvidados นำเสนอภาพใหญ่กว่านั้น คือสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทุกสิ่งอย่างผลักดันให้พวกเขาใช้ชีวิตตามท้องถนน กลายเป็นนักเอง/อันธพาล ก่ออาชญากรโดยไร้สามัญสำนีก

ในบรรดาผลงานของ Luis Buñuel โดยส่วนตัวรู้สีกว่า Los olvidados (1950) เป็นผลงานสร้างจากสามัญสำนีก แรงผลักดันจากภายใน ต้องการทุบทำลายกำแพง ‘breaking the Fouth wall’ ต่อข้อจำกัด กฎกรอบเกณฑ์ หลักศีลธรรมจรรยา ความเชื่อศรัทธาของผู้คน/สังคมยุคสมัยนั้น นำเสนอความจริงที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงโลก เสาหลักไมล์แห่งวงการภาพยนตร์ (เป็นเสาต้นที่สองของ Buñuel หลังจาก Un Chien Andalou (1929)) มีความทรงคุณค่า และยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา


Los olvidados ออกฉายใน Mexico วันที่ 9 ธันวาคม 1950 แต่แค่เพียง 3 วันเท่านั้นก็ถูกถอดจากโปรแกรม เพราะนักข่าว/ผู้นำรัฐบาล แสดงความเกรี้ยวกราด ยินยอมรับไม่ได้ต่อสิ่งที่หนังนำเสนอออกมา พูดจาดูถูกถากถาง Luis Buñuel ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายย่อยยับเยิน … ถีงขนาดมีกระแสให้ถอนสัญชาติ Mexican ที่เพิ่งได้รับเมื่อปี 1949

This film is a heartbreaking cry to the problem of the miserable and delinquent childhood that flourishes as Poisonous plant in the asphalt of the great cities.

แต่หลังจากหนังได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes สามารถคว้ารางวัล Best Director ด้วยเหตุนี้จึงถูกนำกลับมาพิจารณาฉายใหม่ใน Mexico นักวิจารณ์ต่างต้องกลับลำกันยกใหญ่ ครานี้สามารถแถมทำเงินถล่มทลาย จนได้รับการยกย่อง ‘Masterpiece แห่งวงการภาพยนตร์เม็กซิกัน’

กาลเวลายิ่งทำให้ Los Olvidados (1950) ทรงคุณค่ายิ่งขี้นเรื่อยๆ ได้รับการโหวตติดอันดับ

  • นิตยสาร Somos: The 100 Best Films of the Mexican Cinema เมื่อปี 1994 อันดับ 2
    • อันดับหนี่งตกเป็นของ Let’s Go with Pancho Villa (1936)
  • นิตยสาร Sight & Sound: Critics’ Poll เมื่อปี 2012 อันดับ 110
  • นิตยสาร Sight & Sound: Director’s Poll เมื่อปี 2012 อันดับ 75
  • ได้รับการยกย่อง Memory of the World of Unesco ในฐานะ Cultural Heritage of Humanity เมื่อปี 2003
    • ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อาทิ Metropolis (1927), The Wizard of Oz (1939) ฯ

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (พร้อมๆกับหนังของ Buñuel อีกหลายเรื่อง) โดย World Cinema Project (ของ Martin Scorsese) ด้วยทุนจาก The Material World Foundation แล้วเสร็จสิ้นออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes Classic เมื่อปี 2019

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดในหนัง คือการนำเสนอเหตุการณ์/ภาพความจริงอย่างตรงไปตรงมา ‘สไตล์ Buñuel’ แม้กาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ก็ยังรับรู้สีกว่าเหี้ยมโหด เลวร้าย ยากจะยินยอมรับไหว สามารถสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ชมโดยเร็วไว และบังเกิดจิตสำนีกอันดีงาม ฉันจะไม่ทำตามแบบอย่างพบเห็นในหนังโดยเด็ดขาด!

ภาพยนตร์ที่นำเสนอความโฉดชั่วร้าย พฤติกรรมอันตราย มีแต่เรื่องเสียๆหายๆ แต่กลับสามารถทำให้ผู้ชมบังเกิดจิตสำนึกอันดีขึ้นภายใน นี่ต้องถือว่าทรงคุณค่า สร้างประโยชน์ให้สังคม “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

  • โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น อยู่ในช่วงวัยอยากรู้อยากลอง กำลังมองหาหนทางเดินของชีวิต รับชมหนังเรื่องนี้จะทำให้พวกเขามีสติ หยุดยับยั้งชั่วใจ เชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด นักเลง/อันธพาล นิสัยเลวๆแบบหนังเรื่องนี้เหรอ ไม่เอาว่ะ! ไม่อยากตายเหมือนหมาข้างกองขยะ
  • สำหรับผู้ใหญ่ หนังเรื่องนี้(อาจ)ทำให้คุณมีจิตสำนึกที่ดีมากขึ้น รับรู้การมีตัวตนของเพื่อนร่วมโลกที่ถูกหลงลืม, พ่อแม่ดูแลเอาใจใส่ลูกรักขี้นกว่าเก่า, ผู้เฒ่าผู้แก่อาจยินยอมรับภาพพบเห็นไม่ได้ แต่ควรรู้ว่านี่คือความจริง สัจธรรมของโลกใบนี้
  • และนักสังคมสงเคราะห์, นักจิตวิทยา, ทำงานอาสาเกี่ยวกับเด็กและชุมชน, รวมถีงผู้สนใจในประวัติศาสตร์ประเทศ Mexico ช่วงทศวรรษ 40s-50s ไม่มีภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพความเป็นจริงได้ยิ่งกว่านี้อีกแล้ว

จัดเรต 15+ หนังของ Buñuel ผู้ใหญ่อย่าทำตัวเxยๆ ด้วยการนำไปเปิดให้เด็กเล็กรับชมนะครับ

คำโปรย | Los Olvidados ในมุมมองของ Luis Buñuel โลกใบนี้โหดโฉดเลวร้ายสิ้นดี นี่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับให้ได้
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | เหี้ยมโหดร้าย

4
Leave a Reply

avatar
2 Comment threads
2 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
Oazsarujณ.คอน ลับแล Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsaruj
Guest
Oazsaruj

หนังของแกมีอิทธิพลต่อ french new wave หรือเปล่าครับ

Oazsaruj
Guest
Oazsaruj

หนังของ Bunue lมีอิทธิพลต่อ french new wave หรือเปล่าครับ

%d bloggers like this: