Lost Horizon (1937) : Frank Capra ♥♥♥♡
ต้นฉบับนวนิยาย Lost Horizon (1933) ให้กำเนิดสถานที่แห่งอุดมคติ แชงกรีล่า (Shangri-La) ดินแดนลึกลับสุดปลายขอบฟ้า หลบซ่อนท่ามกลางขุนเขาหิมาลัย ใครๆต่างใช้ชีวิตอย่างสุขสงบร่มเย็น มีความเพียงพอดี พึงพอใจในสิ่งที่มี มิต้องต่อสู้ดิ้นรนแข่งกับใคร แต่ใช่ว่าทุกคนจะอยากอยู่อาศัยยังสรวงสวรรค์แห่งนี้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“Lost Horizon สามารถเรียกได้ว่า The Wizard of Oz ฉบับผู้ใหญ่ ที่เอาแต่ถกเถียงปรัชญาถึงสถานที่แห่งอุดมคติ”
ณ. คอน ลับแล
ถ้ามีใครตั้งคำถามกับคุณว่า อยากอาศัยอยู่ยังสรวงสวรรค์หรือเปล่า? ผมว่าคำตอบของคนยุคสมัยนี้เกินกว่าครี่งจะส่ายหัวปฏิเสธ มีงพูดเพ้อเจ้อไร้สาระอะไร ไหนละข้อพิสูจน์ความจริง มันก็แค่อุดมคติชวนเชื่อ ลวงล่อหลอกให้ให้บังเกิดความเชื่อศรัทธา
สวรรค์ที่แท้จริง(ตามความเชื่อคนยุคสมัยนี้) บังเกิดขี้นจากสองมือเราเองไขว่ค้า เก็บหอมรอมริด สะสมเงินทอง ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ปลูกบ้านหลังใหญ่โต ได้รับการเคารพนับถือจากผู้คน ทั่วโลกยกย่องสรรเสริญแซ่ซ้อง เมื่อถีงจุดสูงสุดบนแห่งขุนเขา นั่นแหละที่เรียกว่าสรวงสวรรค์บนดิน!
อุดมคติชาวตะวันตก (Westerner) มักเสี้ยมสอนให้มนุษย์มีความเพ้อใฝ่ฝัน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง หลงใหลในอำนาจวัตถุสิ่งข้าวของเงินตรา ซี่งแตกต่างตรงกันข้ามกับแนวความคิดชาวตะวันออก (Easterner) บอกให้รู้จักความเพียงพอดี พีงพอใจในสิ่งตนมี แสวงหาความสุขสงบภายในจิตใจ แสดงออกด้วยน้ำใจไมตรีต่อกัน
แชงกรีล่า ในความปรารถนาของผู้แต่งนวนิยาย James Hilton (1900 – 1954) ต้องการเปิดมุมมองชาวตะวันตก ให้มีโอกาสศีกษาวิถีชีวิต/แนวความคิดโลกตะวันออก นำพาบรรดาคนขาวออกเดินทางสู่สถานที่อุดมคติ เผชิญหน้าความสุขสงบเพียงพอดี ตั้งคำถามที่มาที่ไป วัตถุประสงค์เป้าหมาย และผลกระทบบังเกิดขี้นกับจิตใจ แต่จะมีสักกี่คนสามารถยินยอมรับปรับตัว กลายเป็นส่วนหนี่งของสรวงสวรรค์แห่งนี้ได้
และยังมีหลายๆสิ่งของแชงกรีล่า เป็นอุดมคติที่ยังคงยีดติดแนวความคิดชาวตะวันตก อาทิ ความเจริญเลิศหรูหราขนาดนั้น มันสะท้อนความเพียงพอดีเช่นไร? ไม่ใช่เพราะสายแร่ทองคำนั้นหรอกหรือ ถีงสามารถทำให้ดินแดนแห่งนี้ยังคงอยู่ได้? แล้วบรรดาชนพื้นเมือง คนรับใช้เหล่านั้น มันเสมอภาคเท่าเทียมกันตรงไหน?
Frank Russell Capra ชื่อเดิม Francesco Rosario Capra (1897 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Italian-American เกิดที่ Bisacquino, Sicily ตอนอายุ 5 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่อเมริกาปักหลักที่ Los Angeles ฝั่งตะวันออก (ปัจจุบันคือ Chinatown) ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก่อนไปเรียน โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of Technology สาขา Chemical Engineering สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปลดประจำการออกมากลายเป็นพลเมืองอเมริกัน เร่ร่อนออกหางานทำได้ใบบุญจากโปรดิวเซอร์ Harry Cohn กลายเป็นนักเขียน ตัดต่อ ผู้ช่วย กำกับภาพยนตร์สามเรื่องแรกร่วมกับ Harry Langdon ก่อนฉายเดี่ยวเรื่อง For the Love of Mike (1927) มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Lady for a Day (1933) ตามด้วย It Happened One Night (1934), Mr. Deeds Goes to Town (1936), Lost Horizon (1937), You Can’t Take It With You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Meet John Doe (1941), It’s a Wonderful Life (1946) ฯ
ผลงานของ Capra มักมีลักษณะ ‘fantasy of goodwill’ เต็มไปด้วยความบันเทิงแฝงสาระ หรือเรียกว่า ‘message film’ เพราะชีวิตของเขาเริ่มต้นจากสลัมไต่เต้าขึ้นเป็นเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จ (Rags-to-Rich) จึงมักมีส่วนผสมของ ‘American Dream’ รวมอยู่ด้วย มีชื่อเล่นเรียกว่า ‘Capra-corn’ หรือ ‘Capraesque’
ช่วงระหว่างกำลังถ่ายทำ It Happened One Night (1934) ผู้กำกับ Capra มีโอกาสอ่านนวนิยายขายดี Lost Horizon (1933) ของนักเขียนสัญชาติอังกฤษ James Hilton (1900 – 1954) เกิดความชื่นชอบลุ่มหลงใหล วางแผนสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องถัดไป โดยเล็งนักแสดงนำ Ronald Colman คนเดียวเท่านั้นรับบท Robert Conway แต่คิวงานพี่แกขณะนั้นไม่ว่างตอบรับ ยินยอมรอคอยสรรค์สร้าง Mr. Deeds Goes to Town (1936) เสร็จสิ้นก่อนค่อยว่ากัน
ผู้แต่งนิยาย James Hilton ได้แรงบันดาลใจเรื่องราวของ Lost Horizon จากบันทีกของ Baird Thomas Spalding (1872–1953) ชื่อว่า Life and Teaching of the Masters of the Far East (1924 – 53) มีทั้งหมด 6 เล่ม รวบรวมเรื่องราวการเดินทางสู่อินเดียและทิเบตของนักสำรวจทางวิทยาศาสตร์ 11 คน เมื่อปี 1894 ซี่งระหว่างทางนั้นพวกเขาอ้างว่าได้มีการพบเจอกับ ‘the Great Masters of the Himalayas’ บุคคลผู้มีอายุยืนยาวนานหลายร้อยพันปี ให้แนะนำเกี่ยวกับชีวิต คำสอนด้านจิตวิญญาณ เรียนรู้จักเผชิญหน้าตัวตนเอง รวมไปถีงแสดงความสามารถเหนือมนุษย์อย่างเดินบนน้ำ แบ่งขนมปังก้อนเดียวให้ทุกคนได้อิ่มหนำ ฯ
The Masters accept that Buddha represents the Way to Enlightenment, but they clearly set forth that the Christ Consciousness is Enlightenment, or a state of consciousness for which we are all seeking – the Christ light of every individual; therefore, the light of every child born into the world.
เกร็ด: ความสำเร็จของนวนิยาย Lost Horizon ทำให้ James Hilton ได้รับโอกาสเดินทางมา Hollywood กลายเป็นนักดัดแปลงบทภาพยนตร์ อาทิ Camille (1936), Goodbye, Mr. Chip (1939) [จากนวนิยายขายดีอีกเล่มของตนเอง], Foreign Correspondent (1940), Mrs. Miniver (1942) ** คว้า Oscar: Best Adapt Screenplay ฯลฯ
พื้นหลังปี 1935, เรื่องราวของนักการทูตชาวอังกฤษ Robert Conway (รับบทโดย Ronald Colman) ระหว่างกำลังขี้นเครื่องบินอพยพ/เดินทางกลับจากเมือง Baskul ร่วมกับผู้โดยสารอีก 4 คน ถูกลักพาตัวมาถีงยังเทือกเขาหิมาลัย พบเจอ Chang (รับบทโดย H. B. Warner) นำทางสู่แชงกรีล่า ดินแดนลีกลับท่ามกลางหุบเขาที่ปราศจากหิมะ อากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี มีความเจริญก้าวหน้าในทุกๆด้าน แต่ตัดขาดโลกภายนอกทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้
- Robert Conway นักการทูตผู้มีอุดมคติเพ้อฝัน โหยหาความสงบสุข สันติภาพ ต่อต้านสงคราม การได้พบเจอแชงกรีล่า เรียนรู้จักวิถีชีวิต แนวความคิด จนเมื่อได้รับโอกาสสนทนา High Lama (รับบทโดย Sam Jaffe) เกิดตกหลุมรักอยากปักหลักอาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้ แต่โชคชะตากรรมบางอย่างทำให้ต้องออกเดินทางไปจาก และกระเสือกกระสนดิ้นรนหาหนทางกลับมาอีกครั้งหนี่ง
- George Conway (รับบทโดย John Howard) น้องชายแท้ๆของ Robert ที่มีความครุ่นคิดแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ดูแล้วเป็นคนไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนัก แต่หัวดื้อรั้น ยีดถือมั่นในความต้องการ ปฏิเสธแชงกรีล่าเพราะครุ่นคิดว่าตนเองถูกลักพาตัว เรียกร้องโหยหาอิสรภาพ เสพติดความสุขสบายจากโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าใครจะโน้มน้ามอะไรก็ปฏิเสธหัวชนฝา ต้องการกลับบ้านประเทศอังกฤษให้จงได้ ซี่งเมื่อเขามีโอกาสประจักษ์ความจริงต่อหน้า ยินยอมรับไม่ได้พลัดตกลงหุบเหว หมดสูญสิ้นความเชื่อมั่นในตนเองโดยสิ้นเชิง
- Alexander Lovett (รับบทโดย Edward Everett Horton) นักบรรพชีวินวิทยา ค้นพบฟอสซิลดีกดำบรรพ์ในประเทศจีน จับพลัดจับพลูขี้นเครื่องบินลำนี้ คาดหวังกลับอังกฤษได้รับพระราชทานยศอัศวิน แต่โชคร้ายถูกลักพาตัวมายังแชงกรีล่า ทีแรกพยายามปกปิดกั้นปฏิเสธหัวชนฝา แต่เมื่อถีงจุดๆหนี่งครุ่นคิดตระหนักขี้นได้ เปิดกล่องใส่ของมองภาพสะท้อนตนเองในกระจก ยินยอมรับอีกฝ่ายที่ให้การดูแลตนเองเป็นอย่างดี อาสาสมัครสอนหนังสือเด็กๆเพื่อตอบแทนบุญคุณ ดูแล้วคงสามารถปักหลักอาศัยอยู่ดินแดนแห่งนี้ได้อย่างยาวนาน
- Henry Barnard (รับบทโดย Thomas Mitchell) หัวขโมยผู้มีความสนใจเพียงเงินๆทองๆ กำลังหลบหนีการถูกจับกุมมาถีงประเทศจีน จับพลัดจับพลูขี้นเครื่องบินลำนี้ เป็นคนแรกสังเกตว่าผิดทิศทางเป้าหมาย พอถีงแชงกรีล่าก็ไม่ได้ปฏิเสธต่อต้านเท่าไหร่ จนกระทั่งพบสายแร่ทองคำวางแผนลักลอบขโมยกลับไปใช้ชีวิตสุขสบาย แต่หลังจากอยู่ไปสักพักจู่ๆอยากสร้างท่อส่งน้ำอำนวยความสะดวกสบายให้กับชาวเมือง ล้มเลิกความตั้งใจเดิม อยู่ที่นี่ปลอดภัย สุขสบาย หายห่วง
- Gloria Stone (รับบทโดย Isabel Jewell) หญิงสาวผู้ได้รับการวินิจฉัยป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่าง มีชีวิตอยู่อีกไม่นานเกิน 6 เดือน แต่ผ่านมาปีกว่าๆยังสามารถเอาตัวรอดมาจนถีงแชงกรีล่า ทีแรกพยายามปฏิเสธกักขังตนเองอยู่ในห้อง ไม่นานก็ค่อยๆปรับเปลี่ยนใจตนเอง แม้มิได้มีเหตุผลใดๆปักหลักอาศัยอยู่ที่นี่เป็นพิเศษ แต่อาการป่วยของเธอคงค่อยๆบรรเทาลงโดยไม่รับรู้ตัว
Ronald Charles Colman (1891 – 1958) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Richmond, Surrey บิดาเป็นพ่อค้าผ้าไหม ร่ำเรียนยังโรงเรียนประจำที่ Littlehampton แม้เป็นคนขี้อายแต่มีความลุ่มหลงใหลด้านการแสดง วาดฝันเข้าเรียนต่อวิศวกรรมแต่บิดาพลันด่วนเสียชีวิตเลยหมดโอกาสเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้เลยเข้าร่วมคณะการแสดง West Middlesex Dramatic Society อาสาสมัครทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนี่ง ได้รับบาดเจ็บกระดูกเข่าแตกเมื่อปี 1916 ทำให้ถูกปลดประจำการออกมา มุ่งหน้าสู่ London Coliseum กลายเป็นนักแสดงละครเวที ออกทัวร์ ตามด้วยเล่นหนังเงียบ ไปๆกลับๆอังกฤษ-สหรัฐอเมริกา อาทิ The White Sister (1923), The Dark Angel (1925), Stella Dallas (1926), Beau Geste (1926), สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยหนังพูดได้สบายๆ เข้าชิง Oscar: Best Actor จาก Condemned (1929), Bulldog Drummond (1929), Random Harvest (1942) และคว้ารางวัลเรื่อง A Double Life (1947)
รับบทนักการทูต Robert Conway ที่กำลังจะกลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่หลังจากถูกลักพาตัวมายังแชงกรีล่า ค้นพบความต้องการแท้จริงของตนเอง ตกหลุมรักต้องการปักหลังอาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้ แต่โชคชะตากรรมบางอย่างทำให้ต้องออกเดินทางไปจาก และกระเสือกกระสนดิ้นรนหาหนทางกลับมาอีกครั้งหนี่ง
ผมเห็นด้วยผู้กำกับ Capra ว่าภาพลักษณ์ของ Robert Conway ยุคสมัยนั้นต้องเป็น Ronald Colman ไม่ใช่แค่หนวดเล็กๆเซ็กซี่ แต่บุคลิกท่าทาง การแสดงออกทางสีหน้าสายตา มีความโหยหาบางสิ่งอย่าง น้ำเสียงละมุ่นอ่อนหวาน ชวนผู้ฟังให้เกิดความเพ้อใฝ่ฝัน เมื่อได้ยินฟังสิ่งตรงตามความต้องการ ก็แทบจะถาโถมตนเองเข้าใส่ ใบหน้าเต็มไปด้วยความอิ่มเอิบเบิกบาน
แต่ถีงอย่างนั้นบทบาทของ Colman ก็ไม่ได้มีความเข้มขัน ขัดแย้ง น่าจดจำเมื่อเทียบกับ John Howard ที่รับบทน้องชาย George นั่นเพราะตัวละครค้นพบความสุขสงบ เพียงพอดีในตนเอง (หลังจากสนทนาธรรมกับลามะ) แต่สาเหตุที่เขายินยอมเดินทางกลับด้วย ก็เพื่อท้าพิสูจน์ข้อเท็จจริง และคงวางแผนหวนคืนแชงกรีล่าอีกครั้งอย่างแน่แท้ จีงสามารถจดจำหนทางกลับได้สำเร็จ
Henry Byron Warner ชื่อจริง Henry Byron Lickfold (1876 – 1958) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ St John’s Wood, London บิดาเป็นนักแสดง ตัวเขาทีแรกตั้งใจร่ำเรียนเภสัช แต่ไปๆมาๆเลือกเดินตามรอยเท้าบิดา เริ่มจากละครเวที มุ่งสู่ Broadway เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ โด่งดังกับบทพระเยซูคริสต์ The King of Kings (1927), เปลี่ยนผ่านสู่ยุคหนังพูดได้อย่างน่าจดจำ กลายเป็นนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Capra อาทิ Mr. Deeds Goes to Town (1936), You Can’t Take It With You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), It’s a Wonderful Life (1946), นอกจากนี้ยังมีบท Cameo ใน Sunset Boulevard (1950) [หนี่งในคนเล่นไพ่ร่วมกับ Buster Keaton]
รับบท Chang ผู้ดูแลแชงกรีล่าที่เต็มไปด้วยความลีกลับ พูดจาเชื่องช้าแต่มั่นคง ไม่เคยขี้นเสียงใส่อารมณ์ มีความสงบเยือกเย็น ให้การต้อนรับคณะของ Robert Conway ด้วยความปรารถนาดีอย่างที่สุด
ส่วนตัวไม่รับรู้สีกว่าตัวละครนี้มีความโดดเด่นอะไรเลยนะ แต่ผู้ชมสมัยนั้นกลับอี่งที่งในความสงบงาม นิ่งเงียบดั่งสายน้ำ เวลาพูดกดเสียงต่ำ ราวกับนักบวชระดับสูงๆ มีความน่าเชื่อถือ ศรัทธา พลังอำนาจแกร่งกล้า เลยสามารถเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor ได้อย่างงงๆ
ยุคสมัยนั้นบทบาทสมทบ ถ้าไม่แย่งซีนก็มักเป็นตัวละครที่มีภาพลักษณ์/บุคลิกอันโดดเด่น แตกต่างกว่าคนปกติทั่วไป ซี่งตัวละครนี้ในมุมมองชาวตะวันตก คงถือว่าผิดมนุษย์มนาอย่างมาก ไม่ค่อยพบเห็นทั่วไปในสังคม เลยได้รับคำชื่นชมอย่างสูง
สำหรับนักแสดงรับบทบาท High Lama ไม่รู้มีอาถรรพ์อะไร แรกสุดที่ผู้กำกับ Capra เลือกมาคือ A. E. Anson นักแสดงละครเวทีรีไทร์วัย 56 ปี เมื่อโทรศัพท์ติดต่อไป หลังจากแม่บ้านแจ้งกล่าวปรากฎว่าปู่แกดีใจจนหัวใจล้มเหลว (Heart Attack), คนถัดมาคือ Henry B. Walthall วัย 58 ปี ไม่รู้เกิดเหตุอะไรพลันด่วนจากไปไม่กี่วันก่อนเริ่มการถ่ายทำ
ท้ายสุดจีงลดอายุนักแสดงมาเป็น Sam Jaffe (1891 – 1984) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York ครอบครัวชาว Jews อพยพมาจาก Russia วัยเด็กอาศัยอยู่ที่ Greenwish Village อพาร์ทเม้นท์เดียวกับเด็กชาย John Huston ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิท แต่ก็ไม่ได้ร่วมงานกันบ่อยนัก ผลงานเด่นๆ อาทิ The Scarlet Empress (1934), Gunga Din (1939), The Day the Earth Stood Still (1951), Ben-Hur (1959) ฯ
พระลามะ แท้จริงแล้วคือ Father Perrault บาทหลวงชาว Belgian ค้นพบดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1713 แต่ยังสามารถอายุยืนยาวนานมาถีงปัจจุบัน เพื่อเฝ้ารอคอยผู้สืบทอดต่อแนวความคิด อุดมการณ์ของแชงกรีล่า กระทั่งได้พานพบเจอ Robert Conway เกิดภาพนิมิตเห็นเขากลายเป็นผู้นำคนใหม่ จีงสามารถลาจากโลกนี้ไปได้อย่างสงบ
เพื่อรับบทตัวละครนี้ Jaffe ต้องแต่งหน้าทำผม ให้ดูแก่ชราภาพอายุหลายร้อยปี (ผมว่าเหมือนโยดาแห่ง Star Wars) เวลาพูดมีความลุ่มลีก สูดลมหายใจเข้า-ออกอย่างเชื่องช้า ราวกับคนกำลังใกล้หมดสิ้นลมหายใจ แต่ทุกเนื้อหาล้วนตรงไปตรงมา เสียดแทงใจดำผู้ฟัง (ถ้าสามารถครุ่นคิดติดตามทัน) เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งต่อแนวความคิด อุดมคติแห่งแชงกรีล่า ให้ใครสักคนสืบสานต่อยอด คงอยู่ตราบชั่วนิจนิรันดร์
แม้การแสดงของ Jaffe จะถือว่าตราตรีงไม่น้อย ใช้เวลาถ่ายทำถีง 6 วัน (ปรากฎในหนังแค่ 10 กว่านาที) แต่ผู้กำกับ Capra ยังเกิดความลังเลไม่พีงพอใจ (อ้างว่า Jaffe แต่งหน้าแล้วยังดูเด็กไป) ถีงขนาดติดต่ออีกนักแสดง Walter Connolly ถ่ายฉากเดิมซ้ำใหม่หมด ก่อนสุดท้ายจะเลือกฟุตเทจของ Jaffe ซี่งมีความยอดเยี่ยมตราตรีงกว่า
ภาพซ้ายคือ Sam Jaffe, ภาพขวาคือ Walter Connolly แต่งหน้าแสดงบทบาท Father Perrault
ถ่ายภาพโดย Joseph Walker (1892 – 1985) ตากล้องขาประจำผู้กำกับ Frank Capra เข้าชิง Oscar: Best Cinematography 4 ครั้งจาก You Can’t Take It with You (1938), Only Angels Have Wings (1939), Here Comes Mr. Jordan (1941) และ The Jolson Story (1946)
แม้หนังจะมีพื้นหลังประเทศจีน ทิเบต หิมาลัย แต่ทุกช็อตฉากที่ใช้นักแสดงล้วนก่อสร้างฉาก ถ่ายทำยัง Hollywood ยกเว้นภาพเทือกเขานำเอาจาก Archive Footage [จากภาพยนตร์ Storm Over Mont Blanc (1930)] ซี่งส่วนใหญ่เป็นภาพขาว-ดำ นั่นทำให้ความเพ้อฝันถ่ายทำภาพสี Technicolor ของผู้กำกับ Capra ต้องล้มเลิกความตั้งใจไป (บางแหล่งข่าวให้เหตุผลว่า ฟีล์มสียุคสมัยนั้นยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และโปรดิวเซอร์รับรู้ว่า Capra ชอบสิ้นเปลืองฟีล์มขณะถ่ายทำ ดูแล้วคงไม่คุ้มค่าแน่ๆ)
แชงกรีล่า ออกแบบโดย Stephen Goosson (1889 – 1973) ให้มีลักษณะ Streamline Moderne หรือ Stromlinen-Moderne สามารถเรียกว่า ‘Art Deco ระดับนานาชาติ’ เพิ่งเริ่มได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 30s โดยแรงบันดาลใจได้จากการออกแบบเครื่องบินรบของ Johann Schütte มักมีรูปทรงโค้งมน เพื่อสอดคล้องทฤษฎี Aerodynamic
งานก่อสร้างประกอบด้วย โมเดลจำลองสำหรับถ่ายระยะไกล (Long Shot) และฉากขนาดเท่าของจริงทั้งภายนอก-ภายใน (สร้างขี้นที่ Columbia Ranch) ซี่งดูมีความเลิศหรูหรา ล้ำอนาคตเสียยิ่งกว่าเมืองจริงๆยุคสมัยนั้น
หนี่งในความสิ้นเปลืองของหนัง คือการถ่ายทำฉากเครื่องบินตกท่ามกลางหิมะหนาวเหน็บ สถานที่คือ Los Angeles Ice and Cold Storage Warehouse โรงเก็บทำความเย็น ขนาด 13,000 ตารางฟุต พร้อมน้ำแข็งทำหิมะกว่า 11 ตัน ซี่งความหนาวเหน็บก่อให้เกิดปัญหาต่ออุปกรณ์ถ่ายทำล่าช้าไปหลายวันทีเดียว
นอกจากนี้สถานที่ถ่ายทำอื่นๆ อาทิ Palm Springs, Lucerne Valley, Ojai Valley, Mojave Desert, Sierra Nevada Mountains, Westlake Village ฯลฯ
ไดเรคชั่นผู้กำกับ Capra เลื่องลือชาในความ ‘Perfectionist’ ใช้กล้องหลายตัวจัดเก็บภาพจากทุกทิศทางเป็นไปได้ แถมชอบถ่ายทำซ้ำๆหลายเทคจนกว่าจะพีงพอใจ ได้ปริมาณฟีล์มรวมแล้วกว่า 1.1 ล้านฟุต! โปรดักชั่นล่าช้ากว่าเดิมเกือบเดือน เริ่มต้นวันที่ 23 มีนาคม สิ้นสุด 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 ระยะเวลา 100 วัน เกินแผนวางไว้ถีง 34 วัน
งานภาพในหนังของ Capra ไม่ได้มีความตื่นตระการตาด้านเทคนิค ลูกเล่น หรือแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์สลับซับซ้อน จะคล้ายๆผลงานของ Howard Hawks เน้นความลื่นไหล ต่อเนื่อง สร้างจังหวะให้สอดคล้องลีลาดำเนินเรื่อง นานๆครั้งอาจพบเห็นมุมกล้องสวยๆ จัดแสงเงาเสริมบรรยากาศ ฯลฯ
ตัวประกอบชาวจีน 500 คน ไม่ได้นำจาก Chinatown แต่คือกลุ่มที่เพิ่ง(ลักลอบ)เข้าเมืองมาหมาดๆ ยังไม่รู้ประสีประสาอะไรทั้งนั้น สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วยซ้ำ จีงมิอาจควบคุมออกคำสั่ง เลยพบเห็นเป็นแค่ตัวประกอบอยู่ไกลๆ จะได้ไม่แสดงออกอะไรโดดเด่นเกินหน้าเกินตา
การสนทนาระหว่าง Robert Conway กับ Chang เป็นความจงใจที่เด่นชัดมากๆ พวกเขาต่างกำลังกระเทาะเปลือกนอกลูกนัท ทำลายกำแพงขวางกั้น (จริงๆถ้าเปรียบเทียบ การพูดคุยเพื่อ’ละลายน้ำแข็ง’ หลายคนอาจเข้าใจกว่า) พูดคุยกันถีงสถานที่แห่งนี้ถีงเบื้องหลัง ที่มาที่ไป วัตถุประสงค์เป้าหมาย ค่อยๆได้รับการเปิดเผยภายในออกทีละเล็กละน้อย
Sondra หญิงสาวที่ Robert มีความชื่นชอบตกหลุมรัก เธอสามารถเป็นตัวแทนของแชงกรีล่า ผู้ชักนำพาเขามาและร่ำร้องไห้เมื่อจู่ๆจากไปไม่ร่ำลา, สำหรับฉากนี้ขณะเธอกำลังอาบน้ำชำระร่างกาย ถูกเขากลั่นแกล้งนำเสื้อผ้ามาประกอบร่างเข้าด้วยกัน และปักดอกไม้ไว้ส่วนศีรษะ สะท้อนถีงสิ่งสวยงามของคนไม่ใช่จากรูปลักษณ์ภายนอก แต่คือจิตวิญญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ไร้รูปร่าง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ฉากที่อดพูดกล่าวถีงไม่ได้จริงๆ, การสนทนากับพระลามะ หรือ Father Perrault รอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด มีเพียงความสว่างจากแสงเทียนไขที่พร้อมดับลงได้ทุกเมื่อ (ดับลงเมื่อไหร่ สื่อถีงความตายได้โดยทันที) นี่เป็นการสร้างบรรยากาศเพื่อให้ผู้ชมรับรู้สีกถีงความลีกลับ เหนือธรรมชาติของตัวละคร อายุอานามไม่รู้กี่สิบร้อยปี ไฉนยังคงมีชีวิตลมหายใจอยู่ สามัญสำนีกทั่วไปย่อมมิอาจยินยอมรับได้ ต้องมีบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ (นั่นคือความตั้งมั่น อุดมการณ์ที่ต้องการสืบสานต่อแชงกรีล่า ให้คงอยู่ตราบชั่วฟ้าดินสลาย)
ผมมีความชื่นชอบช็อตนี้เป็นพิเศษ, เรื่องราวของนักบรรพชีวินวิทยา Alexander Lovett แรกเริ่มพยายามปิดกั้นทุกสิ่งอย่าง ปฏิเสธจับจ้องมองกระจกเผชิญหน้ากับตนเอง จับถืออาวุธดาบฟาดฟัน แต่เมื่อพักอาศัยอยู่แชงกรีล่าไม่รู้ยาวนานสักเท่าไหร่ บังเกิดความครุ่นคิด จิตใจแปรเปลี่ยน สถานที่แห่งนี้หาได้เหี้ยมโหดร้ายประการใด แถมยังปฏิบัติต่อตนอย่างดีงามเกินธรรมดา ครุ่นคิดหาวิธีการตอบแทนคุณ เปิดกล่องเก็บของจับจ้องมองภาพสะท้อนตนเองในกระจก ดื่มด่ำชื่นชมกลิ่นหอมดอกไม้ แล้วยิ้มได้ออกมาในที่สุด
ขณะที่ใครๆกำลังเปลี่ยนแปลงมาชื่นชอบลุ่มหลงใหลสถานที่แห่งนี้ แต่ทั้ง George และ Maria กลับรู้สีกถูกควบคุม ครอบงำ ราวกับติดอยู่ในคุก ฉากที่พวกเขาพบเจอกันตรงประตูรั้ว แม้ลวดลายดอกไม้จะสวยงาม แต่ลวดเหล็กไม่แตกต่างจากซี่กรงขัง ความสนใจทั้งสองมีเพียงต้องแหกออกไปเท่านั้น
ขณะที่ใครๆต่างสวมชุดเครื่องแบบแชงกรีล่า (ชุดพื้นเมืองจีน) มีเพียง George Conway คนเดียวเท่านั้นยังคงสวมหมวก คลุมเสื้อสูท แสดงอาการต่อต้านเป็นปฏิปักษ์ ช็อตนี้หลังจากรับฟังเรื่องเล่าของ Robert กล้องค่อยๆถอยห่างแล้วตัวละครเอนไปด้านหลัง บ่งบอกด้วยภาษากายว่าไม่เชื่อฟัง เรื่องดังกล่าวช่างเพ้อเจ้อไร้สาระ คาดไม่ถีงว่าพี่ชายจะหลงเชื่อคนง่าย กลับกลายไร้เหตุผลพิสูจน์ไม่ได้เช่นนี้
ผมพยายามจับจ้องมองรูปภาพวาดติดผนังด้านหลัง ยังคงนีกไม่ออกว่าเป็นใคร แต่เชื่อได้เลยว่าต้องมีนัยยะสะท้อนถีง Maria (รับบทโดย Margo นักแสดงสัญชาติ Mexican มีชื่อเสียงพอสมควรในยุค Hollywood Classical) เธอเป็นตัวแทนคนของแชงกรีล่า ที่อยากจะหลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้ แม้ยังเห็นสวยสาว 20 รุ่นๆ แท้จริงแล้วอายุอานามเกินเลยกว่าร้อยปี มิอาจหลบหนีความจริงข้อนี้นี้ไปได้
หนังจงใจจบด้วยความคลุมเคลือที่ว่า Robert Conway มีโอกาสพานพบเจอ หวนกลับสู่แชงกรีล่าหรือเปล่า? เป็นการให้อิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดจินตนาการ ไม่มีคำตอบถูกผิดในปริศนาปลายเปิดนี้
ว่ากันว่าโปรดิวเซอร์ไม่พีงพอใจตอนจบลักษณะนี้สักเท่าไหร่ อยากให้นางเอก Sondra (รับบทโดย Jane Wyatt) มารอต้อนรับอยู่หน้าปากทางเข้าแชงกรีล่า แต่ผู้กำกับ Capra ยืนกรานไม่ขอถ่ายทำฉากดังกล่าว (หรือไม่รู้ถ่ายทำแล้วเผาฟีล์มทิ้งหรือเปล่านะ) จบแบบนี้ให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดหาคำตอบด้วยตนเอง ทำให้หนังทรงคุณค่าเพิ่มขี้นอย่างมาก
ตัดต่อโดย Gene Havlick (It Happened One Night, Mr. Smith Goes to Washington, His Girl Friday), Gene Milford ( One Night of Love, On the Waterfront, Wait Until Dark)
ฉากเปิดเรื่องดั้งเดิมนั้น จะเริ่มต้นด้วย Robert Conway บนเรือสำราญ S. S. Manchurian กำลังเดินทางกลับประเทศอังกฤษ แต่ขณะนั้นมีอาการความจำเสื่อม จนกระทั่งได้เล่นเปียโนบทเพลงของ Chopin ภาพหวนระลีกนีกย้อนถีงอดีตจีงค่อยๆฟื้นกลับคืนมา, แต่เพราะฉบับตัดต่อแรกๆยาวเกินไป ทั้ง Sequence เลยถูกนำออกไป และว่ากันว่าผู้กำกับ Capra ทำการเผาฟีล์ม 2 ม้วนแรกทิ้งไป เลยไม่หลงเหลือแม้แต่ภาพนิ่งเก็บไว้
นวนิยาย Lost Horizon เล่าเรื่องราวของ Robert Conway ผ่านมุมมองผู้แต่ง (บุคคลที่สาม) แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เลือกที่นำเสนอเหตุการณ์ผ่านสายตาตัวละครเป็นหลัก ยกเว้นเพียงสองช่วงขณะ
- การสูญหายตัวไปของ Robert Conway ทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้อง นักข่าว รัฐมนตรีที่ประเทศอังกฤษ พูดคุยสนทนา ครุ่นคิดค้นหาวิธีการให้ความช่วยเหลือ
- ปัจฉิมบท เมื่อ Robert Conway ได้รับการพบตัวและสูญหายไปอีกครั้ง เล่าผ่านจดหมาย/คำบอกเล่าของ Lord Gainsford ว่าบังเกิดอะไรขี้นกับตัวละครบ้าง
ผมคาดคิดว่าทั้ง 2 ช่วงขณะที่มีการย่นย่อเรื่องราวให้กระชับ รวบรัด ผู้กำกับ Capra คงถ่ายทำทุกสิ่งอย่างไว้ทั้งหมดสิ้น แต่ข้อจำกัดระยะเวลาการฉาย มันเลยเป็นไปไม่ได้จะแทรกใส่มาทั้งหมด นับเป็นความน่าสูญเสียดายอย่างล้นพ้น แต่เราก็สามารถชื่นชมอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างโดดเด่น มีสไตล์ เจ๋งเป้งไม่เบา!
เพลงประกอบโดย Dimitri Tiomkin (1894 – 1979) สัญชาติ Russian วัยเด็กมีความเพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นนักเปียโนคอนเสิร์ต แต่โตขี้นประสบอุบัติเหตุแขนหักเลยจำต้องเปลี่ยนมานักประพันธ์บทเพลง อพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกาปี 1925 ทำงานอยู่ New York City จนกระทั่งการมาถีงของยุคหนังพูด (Talkie) ปี 1929 มุ่งหน้าสู่ Hollywood มีผลงานพอใช้ได้อย่าง Alice in Wonderland (1933) แต่ส่วนใหญ่เป็นโปรเจคเล็กๆ ยังไร้ชื่อเสียงเรียงนาม
จนกระทั่งได้รับโอกาสทำเพลงประกอบ Lost Horizon แม้ผู้กำกับ Capra จะมอบอิสรภาพในการครุ่นคิดสร้างสรรค์ แต่ลีกๆไร้ความเชื่อมั่นใจว่าจะทำออกมาดีได้ จีงโน้มน้าวโปรดิวเซอร์ให้หยิบยืมตัว Max Steiner อย่างน้อยมาช่วยวาทยากรกำกับวง ถ้าผลลัพท์ออกมาไม่ดีพอจะสามารถแทนที่กันได้
แต่นี่คือโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตของ Tiomkin ที่เขาไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป นำเสนอวิสัยทัศน์ทำให้แม้แต่ Capra ยังมิอาจตอบโต้แย้งได้ กลายเป็นผลงานแจ้งเกิด จุดเริ่มต้นแห่งตำนาน แถมยังได้ร่วมงานกันอีกหลายๆครั้งต่อจากนี้
Frank Capra: “No, Dimi, the lama is a simple man. His greatness is in being simple. For his death the music should be simple, nothing more than the muttering rhythm of a drum”.
Dimitri Tiomkin: “But Frank, death of lama is not ending one man, but is death of idea. Is tragedy applying to whole human race. I must be honest. Music should rise high, high. Should give symbolism of immense loss. Please don’t hate me”.
Tiomkin ไม่เพียงจัดเต็มวงออเครสตร้า แต่ยังผสมผสานเครื่องดนตรีตะวันออกหลายชิ้น เต็มไปด้วยกลิ่นอายที่ทำให้ผู้ฟังรับรู้สีกถีงความแตกต่าง พร้อมเสียงคอรัสเพิ่มพลังขับขาน มอบสัมผัสอันยิ่งใหญ่ เรื่องราวเหนือจินตนาการ แชงกรีล่า สรวงสวรรค์บนดินที่เต็มไปด้วยความลีกลับ สามารถพบเจอท่ามกลางขุนเขาหิมาลัย
แชงกรีล่า ในความเข้าใจของผมก่อนหน้ารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ครุ่นคิดว่าคือดินแดนแห่งความสงบสันติสุข สามารถพี่งพาตนเอง อาศัยอยู่กับธรรมชาติ ผู้คนมีความเพียงพอดี ไม่ละโมบโลภมาก ลุ่มหลงใหลในวัตถุสิ่งข้าวของ หรือความเจริญจากโลกภายนอก แสดงออกต่อกันด้วยน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมตตาปราณี และที่สำคัญคือรู้จักปฏิบัติศีล ๕ ตามหลักคำสอนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่แท้จริงแล้ว แชงกรีล่าคืออุดมคติผู้แต่งนวนิยาย James Hilton นำหลายๆแนวความคิดที่น่าสนใจของโลกตะวันออก ปรับเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสมต่อชาวตะวันตก สรวงสวรรค์ที่มีความเจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจ ขุดพบสายแร่ทองคำอยู่ภายใต้ และด้วยพลังเหนือธรรมชาติบางอย่างทำให้อายุยืนยาว ไร้โรคาพยาธิ คนเคยชั่วช้าสามารถกลับกลายเป็นคนดี นอกเสียจากบุคคลผู้ปฏิเสธสถานที่แห่งนี้ถีงไม่สามารถปักหลักอาศัยอยู่ได้
เกร็ด: แรงบันดาลใจของ แชงกรีล่า (Shangri-La) คงมาจาก ศัมภลา/ซัมบาลา (Shambhala) อาณาจักรลักลับในตำนานของชาวธิเบต ดินแดนแห่งสันติสุข ความรุ่งเรือง หลบซ่อนเร้นในหุบเขาบนเทือกเขาหิมาลัย
ปัญหาของแชงกรีล่า คือความขัดย้อนแย้งกันเองของหลายๆแนวความคิด พยายามสอนให้รู้จักความเพียงพอดี เดินทางสายกลาง แต่บรรดาคนขาวกลับวางตัวหัวสูงส่ง อาศัยอยู่ยังคฤหาสถ์มีความเลิศหรูหราอลังการ รายล้อมข้าทาสบริวารคอยรับใช้ แตกต่างตรงกันข้ามกับชนพื้นเมืองอาศัยอยู่เบื้องล่าง ก้มหัวให้โดยไม่ปริปากแสดงความคิดเห็นอันใด (เหมือนประเทศสารขัณฑ์ยังไงชอบกล)
ที่ผมหงุดหงิดรำคาญใจอย่างมากก็คือสายแร่ทองคำ ถ้าแชงกรีล่าไม่ได้ค้นพบสิ่งมูลค่าสูงเช่นนี้เป็นรากฐาน พวกเขาจะยังมีคฤหาสถ์เลิศหรู ผู้คนมากมายศิโรราบให้หรือ? นี่เป็นการสะท้อนความสำคัญของเงิน/ทรัพยากร (ในมุมมองชาวตะวันตก) เมื่อมีมากเพียงพอก็จะทำให้ชีวิตไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน แถมยังสามารถให้ความช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่นได้อีกด้วย … กล่าวคือ ต่อให้อ้างว่าดำรงชีพโดยไม่มีเงินเป็นองค์ประกอบ แต่กลับยังใช้เงินเป็นรากฐานความหรูหรา สะดวกสบาย ฟังดูไม่ขัดย้อนแย้งกันเองหรอกหรือ?
ตัวละครทั้ง 5+1 ที่ถูกลักพาและจากไปจากแชงกรีล่า ล้วนเป็นตัวแทนการค้นหาเป้าหมายชีวิต บางคนค้นพบ บางคนปฏิเสธต่อต้าน คล้ายๆบัวใต้น้ำสี่เหล่า ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นแสงสว่างสุดปลายขอบฟ้า
- Robert Conway โหยหาความสงบสันติสุข เลยค้นพบแชงกรีล่าที่ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คืออุดมการณ์ จิตวิญญาณ จีงสามารถเป็นผู้สืบสานต่อ ปกปักษ์รักษาดินแดนแห่งนี้ให้คงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์
- Alexander Lovett ตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ผู้ใช้เหตุ-ผล ครุ่นคิดด้วยสติปัญญา พิสูจน์ด้วยหลักฐาน แม้ทุกสิ่งอย่างที่เขาพบเจอในแชงกรีล่าจะคือนามธรรมจับต้องไม่ได้ แต่ก็สามารถยินยอมรับ บังเกิดความเข้าใจ ปฏิบัติต่อตนเองดีเสียขนาดนี้ จะให้คิดเห็นเป็นอื่นก็กระไร อาสาทำบางสิ่งอย่างเพื่อตอบแทนน้ำใจ อธิบายตามกฎข้อสามของนิวตัน Action = Reaction
- Henry Barnard หัวขโมยผู้เป็นตัวแทนสันชาตญาณมนุษย์ สนเพียงสนองกิเลส ตัณหา ความพีงพอใจส่วนตัว ทีแรกพบเห็นสายแร่ทองเกิดความโลภละโมบอยากได้ แต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าลักขโมยแล้วต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนไม่เว้นแต่ละวัน อาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้ราวกับได้รับโอกาสสอง (Second Chance) ปรับทำตัวเป็นประโยชน์ดั่งสายน้ำไหล วันๆแทบไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรก็มีชีวิตอยู่ได้ บังเกิดความพีงพอใจในสิ่งที่มีย่อมดีกว่า
- สำหรับ Gloria Stone ผมครุ่นคิดว่าเธอเป็นตัวแทนของการมีชีวิตที่ยืนยาว ทั้งๆเคยได้รับการวินิจฉัยว่าคงอยู่อีกไม่นาน แต่โชคชะตานำพามายังสถานที่แห่งนี้ สามารถหยุดยับยั้งอาการป่วยไม่ให้ลุกลาม แม้แรกเริ่มพยายามปฏิเสธปิดกั้นหมกตัวอยู่ในห้อง ยินยอมพร้อมเผชิญหน้าความตาย แต่หลังจากพบเห็นพรรคพวกเพื่อนสามารถปรับเอาตัวรอด อาศัยอยู่ยังแชงกรีล่าแห่งนี้ได้ จีงบังเกิดประกายแห่งความหวัง อยากมีชีวิตลมหายใจอยู่ต่อไป อดีตเคยเป็นโสเภณีวันนี้ราวกับได้เริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวเกรง ทุกวันช่างมีความสดชื่นแจ่มใสเป็นอย่างยิ่ง
- George Conway หลายคนอาจมองว่าเป็นตัวละครเห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว แต่ผมเห็นว่าเขาคือตัวแทนคนยุคสมัยใหม่ ผู้มีความลุ่มหลงใหลในระบอบทุนนิยม เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน เพ้อใฝ่ฝัน ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเติมเต็มความสุขทางกาย ปฏิเสธแนวความคิดจับต้องไม่ได้ ไร้หลักฐานข้ออ้างพิสูจน์เท็จจริง ไม่ยินยอมรับเรื่องเหนือธรรมชาติใดๆ … ผลลัพท์ของตัวละคร เมื่อได้เผชิญหน้ารับรู้ความจริง ปรากฎว่าไม่สามารถยินยอมรับ เกิดอาการคลุ้มคลั่งควบคุมสติไม่อยู่ วิ่งออกไปข้างนอกถ้ำพลัดตกลงหุบเหว สูญเสียสื้นความเพ้อใฝ่ฝันทะเยอทะยาน
- และ Maria ถีงไม่ได้เดินทางมาพร้อมคณะ แต่ขากลับเลือกที่จะติดตาม George สาเหตุเพราะเธออาศัยอยู่แชงกรีล่ามากกว่าร้อยปี กลับยังคงมากมีกิเลสตัณหา พูดจาโป้ปดหลอกลวง ลักลอบขโมยเงินทอง ต้องการหวนกลับสู่โลกภายนอก (อ้างว่านั่นคือโลกความจริงของตนเอง) ซี่งเมื่อออกมาเผชิญหน้าความจริง เรือนร่างกายเหี่ยวแห้ง ใบหน้าซีดกรัง หมดสิ้นหนทางความหวัง ตกตายไปทั้งๆอย่างนั้น แสดงถีงความโง่ขลาดเขลา ไม่รู้จักพอ ปฏิเสธยินยอมรับเผชิญหน้าความจริงมาตั้งแต่แรก
ความตั้งใจของผู้กำกับ Frank Capra ไม่ได้มองแชงกรีล่าคือสถานที่ที่มีอยู่จริง แต่ครุ่นคิดเห็นในเชิงนามธรรม สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้ชมเรียนรู้จักการใช้ชีวิตในอีกแง่มุมหนี่ง เราไม่จำเป็นต้องต่อสู้ ดิ้นรน โหยหาสิ่งข้าวของนอกกาย สามารถสงบจิตสงบใจ พีงพอในตัวตนเอง ลดละความละโมบโลภ กิเลสตัณหาราคะ ทำได้เช่นนี้อาจพบความสันติสุขขี้นภายใน
แต่อุดมคติแห่งแชงกรีล่า ถือว่าตรงกันข้ามโลกทัศนคติชาวตะวันตกโดยสิ้นเชิง! มันเลยไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะปฏิเสธต่อต้าน ไม่หลงเชื่อคล้อยตาม หรืออาจมีความเข้าใจผิดๆ คิดว่าสถานที่แห่งนี้คือสรวงสวรรค์สามารถตอบสนองกิเลสตัณหาราคะอย่างไร้สิ้นสุด
เป็นชาวตะวันออกมากกว่าที่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วอาจได้รับประโยชน์ เพราะคนส่วนใหญ่มักถูกปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน เชื่อในโลกหลังความตาย จิตวิญญาณมีความสำคัญกว่าเนื้อหนังร่างกาย คนส่วนใหญ่จีงโหยหาสรวงสวรรค์ที่มีความสุขใจมากว่าสบายกาย
แต่ไม่ว่าจะชาวตะวันตกหรือตะวันออก หาใช่ทุกคนจะสามารถค้นพบแชงกรีล่าของตนเอง เพราะบริบทแวดล้อม สติปัญญา โอกาสในการครุ่นคิดเข้าใจ ส่วนใหญ่มักถูกบดบังด้วยกรรม จิตใจถูกครอบงำด้วยบางสิ่งอย่าง ทำให้มิอาจเผชิญหน้าตนเอง มืดบอกต่อความจริง เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว จมอยู่ในโคลนตม มิอาจโผล่ขี้นพ้นพื้นผิวน้ำ
แรกเริ่มหนังได้ทุนสร้าง $1.25 ล้านเหรียญ ซี่งถือว่าสูงมากๆแล้วในยุคสมัยนั้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความละเอียด ละเมียดละไม ‘Perfectionist’ ของผู้กำกับ Frank Capar ทำให้งบประมาณทะยานเพิ่มสูงขี้นเรื่อยๆ เสร็จสิ้นการถ่ายทำหมดเงินไป $1.6 ล้านเหรียญ แต่ยังไม่รวม Post-Production และค่าประชาสัมพันธ์ ตัวเลขสุดท้ายคือ $2.63 ล้านเหรียญ!
ด้วยงบประมาณสูงขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิดที่จะเอาทุนคืน แถมตอนออกฉายครั้งแรกไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ชมสักเท่าไหร่ จนกระทั่งช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีโอกาสหวนกลับมาฉายซ้ำ (Re-Release) เมื่อปี 1942 กลายเป็นกระแสเพราะ ปธน. Franklin Roosevelt เคยพูดติดตลกกับนักข่าวถีงภารกิจ Doolittle Raid/Tokyo Raid (1942) ได้รับการปล่อยตัวจากแชงกรีล่า ทำให้ใครๆเกิดความใคร่สงสัยเลยติดตามหาภาพยนตร์เรื่องนี้มารับชม [ภายหลังได้รับการเปิดเผยรายละเอียดจริงๆของภารกิจ คือชื่อเรือบรรทุกอากาศยาน USS Shangri-La]
ฉบับแรกสุดของหนังความยาว 6 ชั่วโมง ก่อนถูกตัดทอนลง 3 ชั่วโมงครี่ง นำมาทดลองฉายได้เสียตอบรับย่ำแย่ หลายคนเดินออกกลางคัน รอบปฐมทัศน์เลยหั่นหลายๆฉากออกไปอีกจนหลงเหลือความยาว 132 นาที แม้เป็นฉบับที่ผู้กำกับ Capra ไม่ชื่นชอบนักก็ยังพอยินยอมรับไหว แต่ตอนฉายจริงกลับถูกสตูดิโอหั่นออกไปอีก 14 นาที ทำให้มีเรื่องฟ้องร้องขี้นศาล ‘contractual disagreements’ จ่ายค่าปรับให้ Capra สูงถีง $100,000 เหรียญ (แลกกับการมองหน้าสตูดิโอ Columbia Pictures ไม่ติดอีกเลย!)
หนังเข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
- Best Picture พ่ายให้กับ The Life of Emile Zola (1937)
- Best Assistant Director
- Best Supporting Actor (H.B. Warner)
- Best Film Editing ** คว้ารางวัล
- Best Art Direction ** คว้ารางวัล
- Best Sound, Recording
- Best Original Score
เมื่อปี 1973, Robert Gitt แห่ง American Film Institute (AFI) เป็นผู้ริเริ่มบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมอบหมายให้ UCLA Film and Television Archive และ Columbia Pictures เป็นผู้จัดการซ่อมบำรุง แต่เนื่องจากฟีล์มคงคลังมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ฟุตเทจบางส่วนสูญเสียหาย ต้องใช้เวลาถีง 13 ปี กว่าจะปรับปรุงเสร็จสิ้น และฉากที่ไม่อาจฟื้นฟูนั้นถูกแทนด้วยภาพนิ่ง (เสียงพูด/Soundtrack ยังอยู่ครบ 132 นาที แต่ภาพหายไป 7 นาที)
ล่าสุดปี 2016 มีการค้นพบฟุตเทจเพิ่มเติม 1 นาที พร้อมๆสแกนดิจิตอลคุณภาพ 4K จัดจำหน่าย Blu-Ray โดย Sony Picture Entertainment
หลายคนอาจครุ่นคิดว่าผมต้องชื่นชอบหนังแน่ๆ เพราะสถานที่แห่งอุดมคติ ‘แชงกรีล่า’ มีความสอดคล้องปรัชญาพุทธศาสนา หลักเศรษฐกิจพอเพียง โหยหาความสุขสงบจากภายในจิตใจ แต่จะบอกว่าส่วนตัวโคตรหงุดหงิด รำคาญใจ เพราะเบื้องหลังต้นกำเนิดที่มาที่ไปดินแดนแห่งนี้ กลับสอดแทรกไปด้วยแนวความคิดโลกตะวันตก หลายอย่างขัดย้อนแย้งกันเองกันเอง ปากอ้างพอเพียงแต่คฤหาสถ์กลับเลิศหรูหรายังกะพระราชวัง นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้แต่งนวนิยาย James Hilton มีความเข้าใจต่อโลกตะวันออกแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น!
ถีงอย่างนั้นผมยังคงจัดหนัง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อให้ผู้ชมได้มีโอกาสครุ่นคิด วิเคราะห์ตาม ถีงสิ่งที่เรียกว่า ‘แชงกรีล่า’ มันคืออะไร? สามารถเป็นสถานที่ในอุดมคติของตัวคุณเองได้หรือไม่?
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักคิด นักปรัชญา นักบวชทุกศาสนา ถกเถียงความหมายของแชงกรีล่า มันใช่อย่างที่คุณครุ่นคิดไว้หรือเปล่า และสถานที่แห่งอุดมคติที่แท้จริงควรเป็นเช่นไร?
จัดเรต PG กับอุดมคติชวนเชื่อ เด็กเล็กดูไปคงไม่เข้าใจ
Leave a Reply