Love Letter (1995) : Shunji Iwai ♥♥♥
มนุษย์สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย ก็ต่อเมื่อได้รับเรียนรู้ เปิดมุมมอง พบเห็นโลกทัศน์ใหม่ๆ ทำความเข้าใจอีกด้านหนึ่งของชีวิต จักสามารถปล่อยละวางความหมกมุ่นยึดติด และระบายสิ่งอึดอัดอั้นภายในออกมา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ยุคก่อนกาลมาถึงของโทรศัพท์มือถือ ภาพยนตร์เกี่ยวกับ ‘จดหมาย’ สามารถพบเห็นได้แทบจะทุกๆปี (ไม่จำกัดแค่หนังรักเท่านั้นนะครับ) เหมือนมันมีความโรแมนติกบางอย่างในการเขียน พรรณาความรู้สึกที่อยู่ภายใน ให้อีกฝั่งฝ่ายตระหนักรับรู้ความต้องการของหัวใจ … มันช่างมีความ cliché เฉิ่มเฉย น่าเบื่อหน่ายเหลือทน
Love Letter (1995) ของผู้กำกับ Shunji Iwai ไม่รู้เป็นครั้งแรกๆเลยหรือเปล่าที่พยายามแหกแหวกธรรมเนียมดังกล่าว เนื้อหาในจดหมายไม่ใช่หนุ่ม-สาวพรอดรัก พร่ำคำหวาน แต่สร้างสถานการณ์ให้ผู้รับ-ผู้ส่ง ค้นพบความทรงจำอันเลือนลาง สิ่งสาปสูญหายไปในอดีต กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งคู่ค่อยๆปรับตัวเปลี่ยนแปลง ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่
ผมยอมรับว่าผู้กำกับ Iwai มีความเข้าใจในศาสตร์ ศิลปะภาพยนตร์ แต่ละช็อตฉากเต็มไปด้วยรายละเอียด Mise-en-scène มีอะไรๆให้ขบครุ่นคิดมากมาย แต่ลีลาการนำเสนอ สไตล์ลายเซ็นต์ โดยเฉพาะลูกเล่นเทคนิค Jump Cut แม้งน่ารำคาญชิบหาย! ส่วนตัวเลยไม่ค่อยชื่นชอบหนังโดยรวมสักเท่าไหร่ แต่ก็แล้วแต่รสนิยม ความชื่นชอบส่วนบุคคลนะครับ
Shunji Iwai (เกิดปี 1963) ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sendai, Miyagi ตั้งแต่เด็กชื่นชอบฟังเพลงคลาสสิกของ Schubert, Chopin, เคยเพ้อฝันอยากเป็นนักเขียนนิยาย แต่เลือกเรียนวิจิตรศิลป์เพราะต้องการทำงานเขียนการ์ตูน สำเร็จการศึกษาจาก Yokohama National University แล้วทำงานพาร์ทไทม์ร้านเช่าวีดิโอ จากนั้นมีโอกาสกำกับ Music Video, แจ้งเกิดจากละครโทรทัศน์ Fireworks (1993), ภาพยนตร์เรื่องแรก Love Letter (1995), Swallowtail Butterfly (1996), All About Lily Chou-Chou (2001), Hana & Alice (2004) ฯลฯ
ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิง Iwai มีความเพ้อฝันอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์(เรื่องแรก)เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนจดหมาย Penfriend, Love Letter ซึ่งเป็นสิ่งพบเห็นทั่วไปในยุคสมัยนั้น
Back in my school days, it was common to exchange letters with friends and express one’s feelings through love letters. In my mid-20s, I thought that someday I would tell a tale about the beauty of written words. I wanted to portray letters as something special, not simply an element that brings back old memories.
Shunji Iwai กล่าวถึงจุดเริ่มต้นภาพยนตร์ Love Letter (1995)
ความสนใจของ Iwai คือเรื่องการสื่อสาร สานความสัมพันธ์ เพราะชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักไม่ค่อยพูดบอก-แสดงออกสิ่งซ่อนเร้นภายใน แม้กระทั่งสามี-ภรรยาครองคู่อยู่ร่วม ก็อาจไม่ได้รับรู้จักอดีต ตัวตน ธาตุแท้จริงของกันและกันสักเท่าไหร่
แถมคนบางคนมองชีวิตคู่ การแต่งงานคือสัญลักษณ์ของการครอบครอง เธอคือของฉัน! ฉันคือของเธอ! เต็มไปด้วยความยึดติด เมื่อบังเกิดการสูญเสียอีกฝั่งฝ่าย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปล่อยละวาง
In my stories, the most important thing is we don’t know each other. It’s hard to understand even your partner. Sometimes people think of their partner, ‘It’s mine, she’s mine, he’s mine. Everything. I’m him, I’m her.’ That’s what Hiroko thought when she loses her partner, and then she finds another woman’s letters, and she gradually sees memories she never knew. It’s a way of seeing her fiancé again.
เรื่องราวของหญิงหม้าย Hiroko Watanabe (รับบทโดย Miho Nakayama) สูญเสียชายคนรัก Itsuki Fuji จากอุบัติเหตุระหว่างปีนเขา พานผ่านมาสองปีแต่เธอยังจมปลักอยู่ในความทุกข์โศก ไม่สามารถปล่อยละวางเหตุการณ์ดังกล่าว แม่สามี Mrs. Fuji เลยนำหนังสือรุ่นสมัยมัธยมปลาย เล่าให้ฟังว่าครอบครัวเคยอาศัยอยู่ Otaru, Hokkaido แอบจดบ้านเลขที่ที่แม้ได้ยินว่าบ้านหลังนั้นถูกทุบกลายเป็นทางด่วนไปแล้ว และลองเขียนจดหมายเผื่อว่าจะส่งไปถึงสรวงสวรรค์
จับพลัดจับพลูจดหมายดังกล่าวถูกส่งไปถึง Itsuki Fuji แต่คือหญิงสาวที่บังเอิญชื่อเดียวกัน แถมยังเป็นเพื่อนร่วมชั้นมัธยมปลาย เคยรับรู้จัก(เหมือนจะ)สนิทสนม เลยเขียนเล่าเรื่องราวจากความทรงจำ โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นขวัญกำลังใจให้ Hiroko ค่อยๆสามารถปลดปล่อยวางความทุกข์โศก และตอบตกลงแต่งงานกับแฟนหนุ่มคนใหม่ Akiba Shigeru (รับบทโดย Etsushi Toyokawa)
สำหรับหญิงสาว Itsuki การได้ทบทวนหวนระลึกความทรงจำสมัยยังเป็นวัยรุ่นนั้น ทำให้ค้นพบสิ่งที่ตนเองไม่เคยรับรู้เข้าใจ ตระหนักว่าเพื่อนชายที่ชื่อเดียวกันแอบชื่นชอบ ตกหลุมรัก พยายามทำหลายๆสิ่งอย่างให้เธอสนใจ ทำไมฉันช่างซื่อบื้อ ทึ่มทื่อ โง่เขลาขนาดนี้ … แต่ชีวิตก็มิอาจหวนย้อนเวลากลับไป
Miho Nakayama (เกิดปี 1970) นักร้อง/นักแสดง เกิดที่ Saku, Nagano หลังจากมารดาแต่งงานใหม่ ติดตามมาอาศัยอยู่ยัง Koganei, Tokyo ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการร้องเพลง เมื่อตอนอายุ 15 ระหว่างกำลังช็อปปิ้งยังห้างสรรพสินค้าย่าน Harajuku ได้รับการติดต่อเข้าหาจากแมวมอง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Be-Bop High School (1985) จากนั้นกลายเป็นไอดอล (Teen-Idol) เลือกร้องเพลงเป็นหลัก เล่นหนัง/ซีรีย์บ้างประปราย Love Letter (1995), Tokyo Biyori (1998) ฯ
รับบท Hiroko Watanabe หลังสูญเสียชายคนรัก Itsuki Fuji พานผ่านไปสองปียังคงจมปลักอยู่ในความทุกข์เศร้าโศก ไม่สามารถปลดปล่อยละวางจากอดีต จนกระทั่งเมื่อเริ่มเขียนจดหมายส่งถึง Itsuki Fuji โชคชะตานำพาให้พวกเธอกลายเป็น Penfriend ช่วยเหลือกันและกันจนก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายดังกล่าวได้สำเร็จ!
รับบท Itsuki Fuji ที่มีใบหน้าละม้ายคล้าย Hiroko (ก็แน่ละนักแสดงคนเดียวกัน!) ทำงานบรรณารักษ์ ยังครองตัวเป็นโสด อาศัยอยู่กับมารดาและคุณปู่ เมื่อได้รับจดหมายลึกลับก็เต็มไปด้วยความฉงนสงสัยเลยติดต่อกลับไป แม้ไม่เคยมีโอกาสพบเจอ Hiroko แต่กลับยินยอมเล่าเรื่องราว ความสัมพันธ์ในอดีตกับเพื่อนชายชื่อเดียวกัน ซึ่งค่อยๆทำให้เธอตระหนักถึง/เข้าใจหลายๆสิ่งอย่างที่เคยบังเกิดขึ้น
เอาจริงๆมันไม่มีความจำเป็นต้องให้ Hiroko และ Itsuki คือนักแสดงคนเดียวกันเลยนะ (หานักแสดงใบหน้าละม้ายคล้ายก็ยังได้) แต่ผมคาดคิดว่าผู้กำกับ Iwai ต้องการบอกใบ้อะไรบางอย่างแก่ผู้ชม ว่าสองตัวละครนี้เหมือนกระจกสะท้อนอีกฟากฝั่ง คนหนึ่งตกหลุมรัก vs. อีกคนหนึ่งถูกรัก โดยชายคนเดียว! (ถ้าพูดแบบโรแมนติก คงต้องเรียกว่าโชคชะตา)
บทบาท Hiroko ถือว่ามีความโดดเด่นกว่า Itsuki เพราะเริ่มต้นต้องเก็บกดอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความรวดร้าวระทม เศร้าโศกเสียใจ ปิดกั้นความรู้สึกกับแฟนหนุ่มคนใหม่ พยายามดื้อรั้นดึงดัน ก่อนค่อยๆสามารถปล่อยละวางจากอดีต และตะโกนลั่นระบายความอึดอัดอั้นทิ้งมันออกไป
ขณะที่ Itsuki ชอบตีหน้าเซ่อ ทำตัวเหรอๆหราๆ เริ่มต้นมาเป็นคนไม่ยี่หร่าอะไรทั้งนั้น (ทั้งสุขภาพร่างกาย+จิตใจ) พอค่อยๆตระหนักถึงหลายสิ่งอย่างเคยบังเกิดขึ้น บังเกิดความซาบซึ้งทรวงใน รู้สึกผิดหวังในความโง่เขลาเบาปัญญาของตนเอง (สามารถมองพัฒนาการทั้งสองตัวละครในทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้ามก็ได้เช่นกัน)
ต้องชมว่า Nakayama เล่นเป็นทั้ง Hiroko และ Itsuki ได้อย่างแนบเนียน ราวกับคนละคน (คือหนังก็พยายามทำให้ภาพลักษณ์ทั้งสองตัวละครดูแตกต่างจนพอสังเกตออก) แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันหลากหลาก เล่นบทบาทอะไรก็ได้ แถมมีความเป็นธรรมชาติอย่างมากๆ (กว่าบรรดานักแสดงชายที่โคตรจะเก้งกัง แต่ละคนโอเว่อแอ๊คติ้งกันจัง)
Miki Sakai (เกิดปี 1978) นักร้อง/นักแสดง เกิดที่ Aoi-ku, Shizuoka ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการร้องเพลง ได้ออกซิงเกิ้ลตั้งแต่อายุ 14 ปี จากนั้นมีโอกาสแสดงภาพยนตร์ Love Letter (1995), ผลงานส่วนใหญ่คือซีรีย์โทรทัศน์ ออกอัลบัม เล่นหนังบ้างประปราย
รับบทเด็กสาว Itsuki Fuji เพื่อนร่วมชั้นเดียวกับเด็กหนุ่ม Itsuki Fuji มีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ครุ่นคิดว่าเขาก็แค่เพื่อนชาย ไม่เคยตระหนักรับรู้สึกความต้องการของหัวใจ จนกระทั่งเมื่อเขาย้ายโรงเรียนออกไป หยิบแจกันเขวี้ยงขว้างทิ้งลงพื้น ก็ยังไม่เข้าใจว่าบังเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง (ทำไปโดยสันชาติญาณ)
แม้ว่าบทบาท/การแสดงของ Miho Nakayama ที่เล่นเป็นทั้ง Hiroko และ Itsuki จะต้องใช้ทักษะความสามารถเป็นอย่างมาก แต่ความน่ารักน่าชัง ใสซื่อบริสุทธิ์ ดวงตาบ้องแบ้วของ Miki Sakai ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้พลันสดชื่น มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที! … เรียกว่าเธอคือจิตวิญญาณของหนังเลยก็ว่าได้
ผมแทบไม่อาจละสายตาจาก Sakai โดยเฉพาะดวงตากลมโต แสดงถึงความใสซื่อไร้เดียงสา กระทำสิ่งต่างๆโดยไม่เคยเข้าใจอะไร หรือสนความรู้สึกใคร จริงอยู่การแสดงอาจไม่ได้สลับซับซ้อนสักเท่าไหร่ เพียงเล่นเป็นธรรมชาติของตนเอง (ต้องชมแมวมองคัดเลือกนักแสดงได้เหมาะสมมากๆ) และสามารถส่งต่อบทบาทให้ Nakayama (ในบท Itsuki ตอนโต) มีความละม้ายคล้ายกันสุดๆ
ถ่ายภาพโดย Noboru Shinoda (1952-2004) ตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Shunji Iwai ร่วมงานกันตั้งแต่ Love Letter (1995), All About Lily Chou-Chou (2001) ไปจนถึง Hana and Alice (2004)
ผู้กำกับที่มาจากสายศิลปะ จะมีความเข้าใจการจัดองค์ประกอบ รายละเอียดในแต่ละช็อตฉาก Mise-en-scène ล้วนแฝงนัยยะบางสิ่งอย่างสำหรับคนชอบครุ่นคิดวิเคราะห์ ขณะเดียวกัน Iwai ยังเคยสรรสร้าง Music Video ซึ่งมีความกระชับ ฉาบฉวย (เพราะต้องยัดเยียดเรื่องราวประกอบบทเพลง 3-5 นาที) นั่นก็ส่งอิทธิพลต่อการถ่ายภาพ (นิยมใช้กล้อง Hand Held สามารถขยับเคลื่อนไหวไปมาโดยง่าย) และลีลาตัดต่อ (ที่เต็มไปด้วย Jump Cut) ไม่น้อยทีเดียว
แม้ผมจะโคตรรำคาญกับงานภาพสั่นๆ (จากกล้อง Hand Held) และการตัดต่อกระโดดไปมา (ของ Jump Cut) แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเอ่ยปากชื่นชมก็คือความฟุ้งๆที่เกิดจากแสงธรรมชาติ ไม่ใช่แค่ฉากภายนอกเท่านั้นนะ ในห้องปิดก็ยังคงพบเห็นลำแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามา นั่นแปลว่าผู้กำกับ Iwai เฝ้ารอคอยช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อถ่ายทำแต่ละช็อตฉากนั้นๆ (กล่าวคือ ต้องรอคอยให้พระอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งที่ลำแสงสาดส่องเข้ามาในห้อง ถึงค่อยถ่ายทำช็อตฉากนั้นๆ ในแต่ละวันอาจมีเวลาแค่ไม่กี่นาที หรือถ้าฟ้าครื้มก็ต้องรอคอยวันถัดไป)
ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำยังเมืองท่า Otaru ติดกับอ่าว Ishikari Bay ตั้งอยู่บนเกาะ Hokkaido ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น, ยกเว้นเพียงฉากปีนเขา Yatsugatake Mountains ตั้งอยู่ระหว่าง Nagano และ Yamanashi โดยสถานที่ที่ตัวละครยืนตะโกนยามเช้าคือบริเวณ Nobeyama Highland พบเห็นเทือกเขา Mount Aka ความสูง 2,899 เมตร
เกร็ด: ปรัมปราเล่าว่า Mt. Yatsugatake เคยเป็นภูเขาที่สูงกว่า Mt. Fuji แต่ Konohanasakuya-hime (เทวดาประจำ Mt. Fuji) ด้วยความอิจฉาริยาเลยทำลายเทือกเขาคู่แข่งให้แตกออกเป็นแปดยอด (ในความเป็นจริงอาจจะเพราะ Mt. Yatsugatake มีความเก่าแก่กว่า Mt. Fuji จึงเริ่มหมดพลังงาน(ของภูเขาไฟ)ทำให้อัตราการเติบโตถดถอยจนถูกแซงหน้า)
ภาพช็อตแรกของหนัง Hiroko Watanabe นอนอยู่กลางพื้นหิมะ ลืมตา ลุกขึ้น แหงนมองท้องฟากฟ้า ให้ความรู้สึกเหมือนคนเพิ่งฟื้นตื่นจากความตาย จับจ้องมองสรวงสวรรค์ คาดหวังว่าชายคนรักผู้ล่วงรับจะอยู่บนนั้น
แซว: ผมเพิ่งรับชม Swallowtail Butterfly (1996) มันจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความตาย เมื่อมนุษย์หมดสิ้นลมหายใจ วิญญาณจะล่องลอยสู่ท้องฟากฟ้าเพื่อมุ่งสู่สรวงสวรรค์ แต่ไปได้เพียงชั้นเมฆแล้วตกลงมาเป็นฝน/หิมะ หวนกลับยังสู่พื้นโลกอีกครั้ง … สรุปแล้วคงไม่มีใครไปถึง หรือจะมองมองว่าโลกใบนี้ก็คือสรวงสวรรค์
สังเกตว่าหนังแทบทั้งเรื่องปกคลุมด้วยหิมะ (ยกเว้นฉากย้อนอดีต Flashback ที่เป็นฤดูร้อน/ใบไม้ผลิ) เพื่อสะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร มีความหนาวเหน็บ เย็นยะเยือกจากการสูญเสียชายคนรัก ยังไม่สามารถปลดปล่อยวางจากความหมกมุ่นครุ่นยึดติด แต่หลังจากมีเพื่อนคุยทางจดหมาย Penfriend สภาพอากาศเหมือนจะอบอุ่นขึ้นทีละเล็กๆ
การที่มารดาของ Itsuki ยังคงเก็บรักษาห้องของบุตรชายผู้ล่วงลับ แสดงถึงความยังหมกมุ่นยึดติด ไม่สามารถปลดปล่อยวางจากการสูญเสีย เอาจริงๆก็ไม่ต่างจาก Hiroko แต่สังเกตว่าเธอพยายามปั้นแต่งสีหน้า แสร้งว่าฉันไม่เป็นไร (ลับหลังคงแอบไปร่ำร้องไห้) แค่ไม่ต้องการให้ใครพบเห็นด้านอ่อนแอเท่านั้นเอง
ความน่าสนใจของห้องหับนี้ก็คือภาพวาดภูเขา (ช็อตแรกมองออกไปนอกหน้าต่าง ภายนอกก็ดูราวกับเทือกขนาดเล็กๆ) นี่แสดงถึงความหมกหมุ่นเกี่ยวกับการปีนเขา (ตัวละครก็เลยคือชื่อ(ภูเขา) Mt. Fuji ซึ่งสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น) และช่วงท้ายราวกับว่า Itsuki ได้แปรสภาพกลายเป็นเทือกเขาไปแล้วจริงๆ
แซว: ทีแรกผมโคตรฉงนสงสัย ทำไมไคลน์แม็กซ์ของหนังถึงไม่ถ่ายทำยัง Mt. Fuji (เพื่อให้สอดคล้องตัวละครชื่อ Fuji) แต่พอเห็นเกร็ดปรัมปรา Mt. Yatsugatake อาจเคยเป็นเทือกภูเขาที่สูงกว่า Mt. Fuji นั่นหมายถึง Mt. Yatsugateke สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทนญี่ปุ่นยุคสมัยก่อน หรือคือ Itsuki Fuji ผู้ล่วงลับจากไปแล้ว
แวบแรกผมครุ่นคิดว่า Hiroko ล้มป่วยหลังกลับจากงานไว้อาลัยเลยสวมผ้าปิดปาก แต่ความตั้งใจของผู้กำกับ Iwai น่าจะต้องการไม่ให้ผู้ชมจดจำนักแสดงได้ทันที (แต่ถ้าใครมักคุ้นกับ Miho Nakayama ก็น่าจดจำได้ไม่ยากหรอกนะ) เพื่อสร้างความสับสนเกี่ยวกับตัวตนของ Itsuki ใบหน้าของพวกเธอช่างมีความละม้ายคล้ายกันมากๆ
ช็อตแรกของหนัง Hiroko นอนอยู่บนพื้นหิมะ สภาพจิตใจมีความหนาวเหน็บจากการสูญเสีย, ภาพแรกของ Itsuki นอนคลุมโปงซมซานอยู่บนเตียง ล้มป่วยตัวร้อนไข้ขึ้นสูง (อาการป่วยของ Itsuki สะท้อนถึงสภาพจิตใจของ Hiroko)
และขณะที่ Hiroko ยังปิดกั้นตนเอง เพราะไม่สามารถปล่อยละวางจากความสูญเสีย, Itsuki พยายามผลักดันบุรุษไปรษณีย์ ใช้ข้ออ้างอาการป่วย รักษาระยะห่างจากผู้อื่น
Akiba Shigeru (รับบทโดย Etsushi Toyokawa) เป็นตัวละครที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลยนะ ดูวอกแวก รุกรี้รุกรน สนเพียงแต่จะครอบครองเป็นเจ้าของ Hiroko โดยไม่สนว่าเธอจะยินยอม ตอบตกลงหรือไม่ เออออห่อหมกไปเองเสียทุกสิ่งอย่าง ช่างมีความแตกต่างตรงกันข้ามกับ Itsuki Fuji ที่มีความสงบเสงี่ยม เหนียงอาย ไม่ค่อยกล้าพูด-ทำอะไรเมื่ออยู่สองต่อสองกับเพื่อนสาว (แต่กับเพื่อนก็คงสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้กระมัง)
อาชีพของ Akiba คือช่างเป่าแก้ว ที่ต้องทำงานในสถานที่ใช้ความร้อนสูง (สะท้อนความเป็น Hyperactive ของตัวละครก็พอได้อยู่) และจะว่าไปชื่อตัวละครยังสอดคล้องกับ Akihabara แหล่งช็อปปิ้งที่ถือเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น แหล่งค้าขายวิดีโอเกม อนิเมะ มังงะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
สองครั้งที่พบเห็น Hiroko กับ Akiba ในห้องหลอมแก้ว จะมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพจิตใจของหญิงสาวขณะนั้นๆ
- แสงสีส้มจากเตาหลอมมอบความอบอุ่น เบิกบานหฤทัย นั่นคือครั้งแรกๆที่ Hiroko ได้รับจดหมายตอบกลับ ทั้งๆไม่ควรเป็นไปได้ แต่นั่นก็สร้างความหวังเล็กๆให้กับตนเอง
- ฝุ่นจากเถ้าถ่านหลังเสร็จจากการหลอมแก้ว มอบสัมผัสอันแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา นั่นคือสภาพของ Hiroko หลังตระหนักรับรู้ว่าบุคคลตอบกลับจดหมาย ไม่มีทางเป็นบุคคลที่ตนเองคร่ำครวญคำนึงหา
สำหรับสาวเนิร์ด Itsuki ทำงานบรรณารักษ์ในหอสมุดแห่งหนึ่ง สถานที่ที่มักถูกมองว่ามีความโบราณ คร่ำครึ สำหรับเก็บหนังสือ ประวัติศาสตร์ หรือคือความทรงจำของ(ชาย) Itsuki ที่ไม่เคยหยิบออกมาอ่าน/ครุ่นคิดทบทวน จนกระทั่งได้รับจดหมายลึกลับจาก Hiroko ถึงค่อยตระหนักรับรู้ เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด
ร้านอาหารที่ Hiroko นั่งอยู่กับ Akiba สังเกตว่ามีการออกแบบลวดลายผนัง แลดูเหมือนซี่กรงขัง ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพจิตใจหญิงที่ยังคงหมกมุ่นยึดติดกับการสูญเสีย ไม่พร้อมเปลี่ยนที่นั่ง/ปลดปล่อยตนเอง ให้โอกาสกับชายคนใหม่ ซึ่งระหว่างสนทนาครั้งนี้ Akiba ก็ได้ชักชวนให้ Hiroko ออกเดินทางสู่ Otaru เพื่อเผชิญหน้ากับบุคคลผู้ตอบกลับจดหมาย … เผื่อว่าจักสามารถก้าวออกจากกรงขังแห่งนี้สักที
มีเพียงครั้งเดียวในหนังที่ Hiroko และ Itsuki อยู่ร่วมช็อตเดียวกัน สถานที่ตรงสี่แยกไฟแดง (สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต) สังเกตว่า Itsuki ปั่นจักรยานจากถนนฝั่งหนึ่ง (เพื่อส่งจดหมายใส่ตู้ไปรษณีย์) แล้วข้ามถนนเลี้ยวลดคดเคี้ยวเพื่อมายังอีกเส้นทางหนึ่ง ส่วน Hiroko ยืนอยู่ตรงรถแท็กซี่รอขนของ เตรียมตัวขึ้นเครื่องบินกลับ
ช็อตนี้ดูแล้วไม่ได้ใช้ลูกเล่นมายากลอะไร เพราะมีการปรับโฟกัสเบลอ-ชัด ระยะใกล้-ไกล ลวงหลอกตาผู้ชมอยู่แล้ว แถมนักแสดง(ที่ปั่นจักรยาน)ยังสวมใส่ผ้าพันคออีกต่างหาก มองยังไงก็แยกความแตกต่างไม่ออกหรอก
แต่สิ่งที่ผมประทับใจฉากนี้มากๆก็คือเมื่อ Hiroko ส่งเสียงเรียกหา Itsuki เธอหยุดปั่นแล้วหันหลังกลับมามองหา จากนั้นโลกที่มีเพียงพวกเธอทั้งสองก็คาคลั่งไปด้วยผู้คนเดินสวนไปมา … ราวกับวินาทีต้องมนต์! ไม่มีทางที่โลกทั้งใบจะมีเพียงเราทั้งสอง
วินาทีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของทั้ง Hiroko และ Itsuki ต่างฝ่ายต่างเริ่มตระหนักว่า ไม่มีทางที่พวกเธอจะอาศัยอยู๋บนโลกใบนี้เพียงลำพัง รอบข้างล้วนรายล้อมด้วยผู้คนมากมาย
- นั่นทำให้(หญิง) Itsuki ตัดสินใจเริ่มต้นเขียนเล่าความทรงจำเกี่ยวกับ(ชาย) Itsuki
- ขณะที่ Hiroko เริ่มเข้าใจถึงเหตุผลที่(ชาย) Itsuki ตอบตกลงหมั้นหมายแต่งงานกับตนเอง
วินาทีที่ Itsuki เริ่มเขียนเล่าเรื่องย้อนอดีตความทรงจำ (Flashback) กล้องถ่ายจากด้านนอกหน้าต่าง ค่อยๆเคลื่อนถอยหลังจนเริ่มเห็นหิมะโปรยลงมา ก่อนตัดภาพดอกซากุระร่วงโรย (ฤดูใบไม้ผลิ) เด็กสาวสวมชุดนักเรียนกำลังเดินทางไปโรงเรียน
บรรยากาศของช่วงการย้อนอดีต จะเต็มไปด้วยความร่าเริงและสีสัน เพลงประกอบก็ฟังดูสนุกสนานครื้นเครง เพื่อสื่อถึงช่วงวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยความน่ารัก สดใสซื่อบริสุทธิ์ พวกเขายังไม่ต้องแบกรับภาระ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี ไม่ต้องอดรนทนต่ออะไรใคร
พบเห็นหลายๆการแสดงออกของ(ชาย) Itsuki ผู้ชมก็น่าจะสังเกตออกไม่ยากว่าแอบชื่นชอบ(หญิง) Itsuki อาทิ
- ให้(หญิง) Itsuki หมุนล้อจักรยาน เพื่อเธอเปรียบดั่งแสงไฟส่องสว่างให้กับฉัน (ตรวจเช็คกระดาษคำตอบ)
- ระหว่าง(ชาย) Itsuki ปั่นจักรยานลงจากเนินเขา เอาถุงกระดาษคลอบหัว(หญิง) Itsuki เพื่อให้เธอมองไม่เห็นอะไรอื่นนอกจากฉัน
- (ชาย) Itsuki เขียนชื่อตนเองด้านหลังใบยืมหนังสือ แท้จริงแล้วต้องการเขียนชื่อเธอ บันทึกไว้ให้โลกได้จดจำ (ซึ่งรุ่นน้องก็ได้พบเห็น และรู้สึกว่ามันโรแมนติกมากๆ)
นี่เป็นฉากเล็กๆที่ผมครุ่นคิดได้ว่า เด็กๆ วัยรุ่น มักมีความ ‘ยืดหยุ่น’ ในการปรับตัว/ใช้ชีวิตมากกว่าผู้ใหญ่ (ทั้งร่างกาย-จิตใจ) เมื่อพบเจอเหตุการณ์สูญเสีย ก็สามารถยินยอมรับ ปรับตัว ไม่นานก็หลงลืมเลือน (แต่บางอาจคนอาจใช้การจดจำฝั่งลึกไว้ภายใน) และก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาดังกล่าว
Itsuki ประสบอุบัติเหตุอะไรสักอย่างทำให้ต้องเข้าเฝือก ไม่สามารถหายทันเข้าร่วมการวิ่งแข่งขัน ภาพช็อตนี้ถ่ายย้อนแสงอาทิตย์ (เมื่อตอนมีก้อนเมฆบดบังพระอาทิตย์ เลยทำให้ภาพออกสีส้มๆ) เพื่อสื่อถึงการสูญเสียเป้าหมาย ความเพ้อฝัน แต่เขากลับยังดื้อรั้นเข้าร่วมทั้งๆใส่เฝือกจนล้มหัวขมำ (สื่อถึงการไม่ยินยอมทอดทิ้งความเพ้อฝัน)
เรื่องราวดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบเมื่อตอน(ชาย) Itsuki จำต้องย้ายออกโรงเรียน โดยยังไม่เคยพูดบอก-แสดงออกความรักต่อ(หญิง) Itsuki ไม่ต่างจากการสูญเสียความเพ้อฝัน/เป้าหมายชีวิต … แต่หลังจากได้พบเจอ Hiroko ที่มีใบหน้าเหมือนเปี๊ยบ จึงราวกับได้รับโอกาสสองสำหรับแก้ตัวใหม่
จากกล้องฟีล์มสุดหรู (กว่าจะล้างได้สักภาพต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน) สู่โพลารอยด์ราคาถูกๆ (แชะเดียวก็ได้ภาพออกมา) นี่คือพัฒนาถ่ายภาพที่ผู้กำกับ Iwai ต้องการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เทคโนโลยีทำให้เกิดความรวดเร็ว สะดวกสบาย แต่บางสิ่งอย่างอันทรงคุณค่าก็จักสูญสิ้นมลายหายไป
กล้องที่เคยถ่ายภาพช่วงเวลาอันน่าจดจำ ((หญิง) Itsuki เก็บภาพหกคะเมนตีลังกาของ(ชาย) Itsuki) กลายมาเป็นทิวทัศน์แห่งความหนาวเหน็บ เวิ้งว่างเปล่า หลงเหลือเพียงความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน!
วินาทีที่(หญิง) Itsuki รับรู้จากครูประจำชั้นว่า(ชาย) Itsuki เสียชีวิตจากไปเมื่อสองปีก่อน! กล้องเคลื่อนเลื่อนจากภายในห้องเปลี่ยนรองเท้าออกสู่ภายนอกอาคาร (=ความจริงที่ถูกปกปิดหลบซ่อนเร้น(ภายใน) ได้รับการเปิดเผยออกมา(สู่ภายนอก)) นอกจากสร้างความตกตะลึง เงียบงัน ยังทำให้เธอเข้าใจเหตุผลของ Hiroko ต่อการเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนจดหมาย Penfriend
หลังจากที่(หญิง) Itsuki รับรู้ว่า (ชาย) Itsuki ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากไปแล้ว เรื่องราวความทรงจำทั้งหมดช่างไม่ต่างจากแมลงปอ(ที่คงตายไปแล้วละ)ติดอยู่ในน้ำแข็ง กลายเป็นเศษซากฟอสซิล แต่ยังคงสภาพเหมือนยังมีชีวิต/ลมหายใจ … บุคคลที่พบเห็นเจ้าแมลงปอตัวนี้คือเด็กหญิง Itsuki (ไม่ใช่หญิงสาว Itsuki ในปัจจุบัน) ซึ่งยังสามารถตีความอดีตซ้อนอดีต จะเป็นยังไงก็ลองไปครุ่นคิดต่อเอาเองนะครับ
ผมว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจปฏิกิริยาแสดงออกของ(หญิง) Itsuki อยู่ดีๆก็หยิบแจกันเขวี้ยงขว้างลงพื้น (สื่อถึงสภาพจิตใจที่แตกรวดร้าว) ไม่พึงพอใจที่(ชาย) Itsuki ย้ายโรงเรียนจากไปโดยไม่ร่ำลา แต่ตัวเธอนั้นกลับไม่รับรู้ตนเอง ทำไมฉันถึงหงุดหงิดอารมณ์เสียขนาดนี้!
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า ความเจ็บปวดทางใจของ Hiroko สอดพ้องอาการป่วยไข้ทางกายของ Itsuki ซึ่งขณะนี้ทั้งคู่ต่างกำลังทรุดหนัก เพราะปล่อยปละละเลยจนมีสภาพเรื้อรัง ฝั่งหนึ่งยังคงดื้อรั้น ปฏิเสธเผชิญหน้าความจริง! อีกฝั่งเหมือนจะเป็นโรคปอดบวม เลยกลายเป็นภาระคนรอบข้างให้ต้องช่วยเหลือ
- Akiba ไม่ยินยอมให้ Hiroko หันหลังกลับ เพราะอุตส่าห์ก้าวเดินทางมาถึงกลางขุนเขา ไปต่ออีกนิดเดียวก็จักถึงเป้าหมายปลายทาง
- ปู่ของ Itsuki พยายามอธิบายต่อมารดา ต้องออกวิ่งฟันฝ่าพายุหิมะถึงสามารถช่วยเหลือบุตรสาวของพวกเขาได้ทัน การรอคอยรถพยาบาลอีกหนึ่งชั่วโมงไม่ประโยชน์อันใด
หนังพยายามแนะนำวิธีปัญหาชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องอะไรให้ลุกขึ้นมาเผชิญหน้า ต่อสู้ กำหนดโชคชะตาด้วยสองมือเราเอง ไม่ใช่เฝ้ารอคอยสวรรค์บันดาลที่ไม่รู้เมื่อไหร่จักมาถึง!
ผมเคยอ่านบทความที่อธิบายถึงการตะโกนแหกปากให้สุดเสียง มันจะช่วยระบายความเคร่งเครียด อึดอัดอั้นภายในจิตใจออกมา ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่ Hiroko ได้รับคำแนะนำจาก Akiba ตะโกนไปยังขุนเขา Mt. Yatsugatake กลายเป็นประโยคติดปาก (โดยเฉพาะแฟนหนังชาวเกาหลีใต้)
Genkidesu ka? Watashi wa genkidesu.
Hiroko Watanabe
How are you? I’m very well.
แม้เหมือนว่า Hiroko ตะโกนสอบถาม(ชาย) Itsuki ผู้ล่วงลับ แต่กลับเป็นว่า(หญิง) Itsuki ที่กำลังพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ส่งเสียงกระซิบกระซาบตอบกลับ (แต่เหมือนเธอกำลังพูดกับ(ชาย) Itsuki เสียมากว่า!)
ซึ่งการที่ Hiroko สามารถตะโกนสุดเสียง เต็มเปี่ยมด้วยพละกำลัง เป็นการสื่อถึงอิสรภาพ ปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติดจากอดีต, ผิดกับ Itsuki ที่ล้มป่วยเข้าโรงพยาบาลเพราะไม่ยินยอมรักษาอาการไข้หวัด (จนน่าจะเป็นปอดบวมแล้วกระมัง) ร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ยิ่งครุ่นคิดทบทวนอดีต ยิ่งทำให้ค้นพบความจริงที่แสนเจ็บปวดทรมาน
เบิร์ช (Birch Tree) หนึ่งในต้นไม้ประจำชาติ จิตวิญญาณของชาวรัสเซีย แม้ภายนอกดูบอบบางแต่ก็มีความแข็งแกร่งภายใน ชื่นชอบอากาศหนาวจึงเติบโตแถบอเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น จีน และหลายๆประเทศที่มีหิมะตก, ชาว Celts/Celtic เชื่อว่าคือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ของการถือกำเนิด เริ่มต้นชีวิตใหม่ (สอดคล้องกับการที่บิดาปลูกต้องเบิร์ช ในวันเกิดของ Itsuki)
สังเกตว่าขณะนี้หิมะได้เบาบางลงไป ฤดูใบไม้ผลิใกล้เข้ามาถึง ซึ่งสามารถสื่อถึงสภาพจิตใจของทั้ง Hiroko ที่สามารถปล่อยละวาง และ Itsuki บังเกิดความตระหนักรับรู้/เข้าใจอะไรหลายๆอย่างจากอดีต
À la recherche du temps perdu (1913-27) ชื่อภาษาอังกฤษ In Search of Lost Time บางครั้งก็ใช้ชื่อ Remembrance of Things Past นวนิยายความยาว 4,215 หน้ากระดาษ (รวม 6-7 เล่ม แล้วแต่การตีพิมพ์) ประพันธ์โดย Marcel Proust (1871-1992) ชาวฝรั่งเศส หนึ่งในนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษ 20th และผลงานเรื่องนี้ได้รับการยกย่อง “หนึ่งในวรรณกรรมยอดเยี่ยมที่สุดในโลก”
น่าเสียดายมากๆที่นวนิยายเรื่องนี้มีแปลไทยเพียงเล่มเดียว กงเบรย์โลกใบแรกของมาร์แซ็ล แปลโดย วชิระ ภัทรโพธิกุล เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขาการแปล โดยมีอาจารย์นพพร ประชากุล เป็นที่ปรึกษาและบรรณาธิการ แต่ที่ไม่แปลต่อเพราะท่านล้มป่วยเสียชีวิตไปก่อน (ส่วนนักแปลคนอื่นๆแทบไม่มีใครอยากจับต้อง เพราะมีความละเมียด ละเอียดอ่อน โคตรท้าทาย และยากยิ่งนัก!)
เวลา มิได้เพียงกัดกร่อนผู้คนและสรรพสิ่งรอบตัวเราเท่านั้น หากร้ายกว่านั้นคือตัวตนของเราเองก็แตกกระจัดกระจายไปตามกระแสของเวลา ดังนั้น อาศัยความทรงจำที่กลับมาโดยบังเอิญ ผู้เล่าเรื่องจึงเริ่มกระบวนการแสวงหา ‘วันเวลาที่สูญหายไป’นั่นคือ การค้นหาสารัตถะอันต่อเนื่องของตัวตนจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อยืนยันว่าแม้เราจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เราก็คือคนคนเดียวกับคนที่เราเคยเป็นในอดีต
นพพร ประชากุล
ภาพสุดท้ายของทั้ง Hiroko และ Itsuki (แต่ผมขี้เกียจแคปรูปของ Hiroko) ตรงกันข้ามกับช็อตแรกที่พวกเธอต่างนอนกลิ้งเกลือกบนพื้น/เตียง มาเป็นยืนอย่างมั่นคง ส่งสายตาที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอิบหฤทัย จากการสามารถปล่อยละวางจากอดีต บังเกิดความเข้าใจอะไรๆหลายสิ่งอย่าง พร้อมแล้วสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ (เก็บฝังช่วงเวลาดีๆกับชายคนนั้นไว้ในความทรงจำ)
ตัดต่อโดย Shunji Iwai, หนังดำเนินเรื่องคู่ขนาน/สลับไปมาระหว่าง Hiroko Watanabe (อยู่ Kobe) และ Itsuki Fujii (อยู่ Otaru) ถ้าขณะเขียน-ตอบจดหมายมักตัดต่อแบบช็อตต่อช็อต แต่พอเสียงอ่านจบลงก็จะเข้าสู่เรื่องราวของฝั่งฝ่ายหนึ่งใด
- อารัมบท, Hiroko ยังคงเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของชายคนรัก
- องก์หนึ่ง, การมาถึงของจดหมายลึกลับ
- Itsuki ได้รับจดหมายลึกลับ เลยลองตอบกลับ
- Hiroko พูดคุยกับ Akiba เล่าถึงจดหมายที่เขียนถึงและได้รับการตอบกลับ
- องก์สอง, การสวนทางระหว่าง Hiroko และ Itsuki
- Akiba นำพา Hiroko เดินทางสู่ Otaru แม้แค่เพียงสวนทางกับ Itsuki แต่พวกเธอก็ยังแลกเปลี่ยนจดหมายระหว่างกันต่อไป
- องก์สาม, Itsuki เริ่มเขียนถึงความทรงจำในอดีต (Flashback)
- Itsuki มีความประทับใจแรกต่อ Itsuki ไม่ค่อยดีนัก แต่ทั้งสองมักถูกจับคู่กันเสมอเพราะชื่อเดียวกัน
- Itsuki เคยได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้าเฝือก แต่ยังฝืนลงวิ่งแข่ง
- ทั้งสอง Itsuki ได้รับหน้าที่ดูแลห้องสมุด เลยชอบแอบยืมหนังสือแล้วเขียนชื่อลงใบยืม
- (ปัจจุบัน) Itsuki เดินทางกลับไปโรงเรียน รับรู้จากครูประจำชั้นว่า(ชาย) Itsuki ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อสองปีก่อน
- องก์สี่, การเผชิญหน้าตัวตนเองของทั้ง Hiroko และ Itsuki
- Itsuki ล้มป่วยในค่ำคืนหิมะหนัก คุณปู่อุ้มพาไปโรงพยาบาลได้ทันท่วงที (ร่างกาย)
- Hiroko ติดตาม Akiba ปีนป่ายขึ้นเขา แล้วตะโกนระบายทุกสิ่งอย่างภายในออกไป (จิตใจ)
- ปัจฉิมบท, Itsuki เมื่อตระหนักถึงทุกสิ่งอย่าง บังเกิดความรู้สึกซาบซ่านทรวงใน
ผมแยกอารัมบท-ปัจฉิมบทออกมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าหนังเริ่มต้นที่ Hiroko แล้วจบลงที่ Itsuki ซึ่งมีลักษณะกลับตารปัตรตรงกันข้าม
- Hiroko เริ่มต้นด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ก่อนสามารถตะโกนระบายทุกสิ่งอย่างภายในออกไป
- Itsuki เริ่มต้นด้วยความทึ่มทื่อไร้เดียงสา จากนั้นค่อยๆสามารถเข้าใจทุกสิ่งอย่าง บังเกิดความรู้สึกซาบซ่านทรวงใน
สไตล์ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Iwai คือการตัดต่อที่มีความรวดเร็วฉับไว ไม่ค่อยเว้นช่องว่างระหว่างการสนทนา (คือถ้าคนหนึ่งพูดคำถามจบ ก็จะตัดฉับ! ไปอีกคนตอบกลับโดยทันที) นี่คือเป็นอีกลักษณะหนึ่งของ Jump Cut เพื่อให้การดำเนินเรื่องสามารถรวบรัดตัดตอน ย่นย่อระยะเวลาได้พอสมควร … หรือนี่จะคือเหตุผลที่หนังใช้เทคนิคนี้กันแน่?
การตัดต่อแบบรวดเร็วฉับไว หรือเทคนิค Jump Cut มีความเหมาะสมกับหนังแนวต่อสู้ (Action) จักสามารถสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก รุกเร้าใจ แต่เมื่อนำมาใช้กับหนังรัก ผมรู้สึกว่ามันฉาบฉวย เร่งรีบร้อนรน เหมือนคนไร้ความอดทน ไม่มีความโรแมนติกเอาเสียเหลือ จะว่าสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร มันไม่ก็จำเป็นต้องทุกฉากทุกตอนแบบนี้ก็ได้นะ!
เพลงประกอบโดย Remedios ชื่อจริง Reimy Horikawa (เกิดปี 1965) นักร้อง/นักแต่งเพลง J-Pop ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ประปราย เคยร่วมงานผู้กำกับ Sunji Iwai อาทิ Love Letter (1995), Picnic (1996) ฯ
เท่าที่ผมรับฟังอัลบัม Soundtrack สัมผัสได้ว่างานเพลงของ Remedios ไม่มีท่วงทำนองสลับซับซ้อนสักเท่าไหร่ (ผิดกับลีลาการนำเสนอที่เต็มไปด้วยลูกเล่นมากมาย) ฟังดูเรียบง่าย เน้นถ่ายทอดความรู้สึก(ของตัวละคร)ออกมาอย่างตรงไปตรงมา หลายครั้งเริ่มต้นด้วยการบรรเลงเปียโน แล้วติดตามออร์เคสตราเพื่อสร้างความฮึกเหิม พลังใจ ไม่มีใครใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ตัวคนเดียว สักวันเราต้องก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัย สู่โลกอันกว้างใหญ่
ความที่หนังปกคลุมด้วยหิมะแทบตลอดทั้งเรื่อง (ยกเว้นฉากย้อนอดีตที่เป็นฤดูใบไม้ผลิ) งานเพลงจึงมอบสัมผัสหนาวเหน็บ สั่นสะท้านทรวงใน สะท้อนสภาวะทางจิตใจของตัวละคร เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดระทม ยังคงครุ่นคิดถึงความทรงจำ/รอยยิ้มอันแสนหวานในช่วงระหว่างเคยอยู่เคียงข้างเธอ
ไฮไลท์ของเพลงประกอบ ล้วนอยู่ในช่วงขณะย้อนอดีต (Flashback) ฤดูใบไม้ผลิทำให้ชีวิตวัยรุ่นเบ่งบาน ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง ลักษณะดนตรี Waltz ของ Childhood Day เหมือนกำลังเริงระบำอย่างเพลิดเพลิดสำเริงกาย
แซว: บทเพลงนี้คละคลุ้มด้วยกลิ่นอาย Childhood and Manhood จากภาพยนตร์ Cinema Paradiso (1988) อยู่ไม่น้อยเลยนะ!
Sweet Rumors เป็นอีกบทเพลงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเบิกบานหฤทัย บังเกิดรอยยิ้มกริ่มขึ้นภายใน ข่าวลือที่ว่า Itsuki เป็นแฟนกับ Itsuki แม้หญิงสาวจะยังไม่เข้าใจความรู้สึกของตนเอง แต่การได้มีช่วงเวลาสองต่อสองกับฝ่ายชาย กลับกลายเป็นความทรงจำไม่รู้ลืมเลือน หวนระลึกถึงเมื่อไหร่ก็ใคร่อยากย้อนเวลากลับไป
Gateway To Heaven คือบทเพลงที่ดังขึ้นหลังจาก Itsuki รับรู้ความจริงเกี่ยวกับ Itsuki จึงมีท่วงทำนองเศร้าๆซึมๆ เพราะเพิ่งตระหนักถึงการสูญเสีย (Hiroko ไม่เคยเขียนบอกกับ(หญิง) Itsuki ว่า(ชาย) Itsuki ได้เสียชีวิตจากไปแล้ว นี่จึงเป็นครั้งแรกรับรู้สิ่งบังเกิดขึ้น) จากนั้นตัดไปการเดินทางของ Hiroko ถูกลากพาโดย Akiba มุ่งสู่เทือกเขา Mt. Yatsugatake ดูราวกับเส้นทางสู่สรวงสวรรค์ (หรือขุมนรกก็ไม่รู้เหมือนกัน)
บทเพลงที่(ชาย) Itsuki ขับร้องครั้งสุดท้ายก่อนตกเขา (Akiba ขับร้อง/เล่าให้ Hiroko) ชื่อว่า Aoi Sangoshou (1980) แต่งโดย Yuichiro Oda, คำร้องโดย Noriko Miura, ต้นฉบับขับร้องโดย Seiko Matsuda
Ah, my love runs riding on the south wind
Ah, cutting the the blue wind, it runs to that islandEvery time I meet with you
I end up forgetting everything
I’m a little girl in high spirits
Maybe you can hear my hot chest
On our bare bodies, the coral reef is twinkling
It’s ok if just the two of us get drift away
I love you!Ah, my love runs riding on the south wind
Ah, cutting the the blue wind, it runs to that islandI spill tears
Don’t look at me with those sweet eyes
I’m a little rose with the head hanged
I want you to touch my petals
The shore is the moss green of love
Our faces are getting closer
I love you!Ah, my love runs riding on the south wind
บทเพลง Blue coral reef
Ah, cutting the the blue wind, it runs to that island
Letter of No Return ดังขึ้นคลอประกอบในฉากที่ Hiroko แหกปากตะโกนกึกก้องไปยังขุนเขา Mt. Yatsugatake ราวกับจดหมายที่ต้องการส่งไปให้ถึงสรวงสวรรค์ “How are you? I’m very well.” แม้มีเพียงเสียงสะท้อนดังกลับมา แต่หนังก็ตัดต่อให้ Itsuki คือผู้พูดตอบกลับด้วยเสียงกระซิบกระซาบแก่ผู้ชม
หลังจากที่(หญิง) Itsuki ตระหนักถึง/เข้าใจทุกสิ่งอย่างในอดีต ค้นพบว่า(ชาย) Itsuki พยายามแสดงให้เห็นว่าฉันชื่นชอบ/ตกหลุมรักเธอ นั่นสร้างความสุขเล็กๆ Small Happiness รอยยิ้มอาบด้วยคราบน้ำตา ช่างเป็นความรู้สึกที่เอ่อล้น ซาบซ่านทรวงใน อยากหวนย้อนเวลากลับไป แต่ได้แค่เก็บมันไว้ในความทรงจำ … ชั่วนิรันดร์
จดหมาย คือสื่อประเภทหนึ่งที่ใช้การเขียน เพื่อส่งสารจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งผ่านบริการไปรษณีย์ ทำให้ทั้งสองผู้ส่ง-ผู้รับ บังเกิดความเข้าใจในบางสิ่งอย่างร่วมกัน
จดหมายรัก (Love Letter) มักคือสิ่งที่คนสอง (ไม่จำกัดว่าต้องชาย-หญิง) ใช้สำหรับพรอดคำหวาน เกี้ยวพาราสี พรรณาความรู้สึกภายในจิตใจที่มี ให้อีกฝั่งฝ่ายได้รับรู้ บังเกิดความเข้าใจกันและกัน
แต่จดหมายรักของภาพยนตร์ Love Letter (1995) ไม่ใช่สื่อสำหรับสานสัมพันธ์โรแมนติกระหว่างคนสอง (แต่)คือการแลกเปลี่ยนสนทนาเพื่อเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ เปิดโลกทัศน์ ทำความเข้าใจอีกด้านหนึ่งของชีวิต สิ่งที่ตัวละครไม่เคยครุ่นคิด ถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้ กำลังค่อยๆได้รับการเปิดเผยออกมา
- Hiroko Watanabe แม้หมั้นหมายแต่งงาน Itsuki Fuji แต่กลับไม่เคยรับรู้จักอดีต ตัวตน ธาตุแท้จริงของอีกฝั่งฝ่าย เคลิบเคลิ้มหลงใหลไปกับความสุขที่ได้รับ พอสูญเสียเขาจากอุบัติเหตุไม่มีวันย้อนกลับ จึงไม่สามารถปล่อยละวางจากความหมกมุ่นยึดติด
- Itsuki Fuji แม้เคยอยู่ร่วมห้องเรียนเดียวกับ Itsuki Fuji แต่กลับไม่เคยตระหนักรับรู้ความต้องการของหัวใจ ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย ทำตัวใสซื่อไร้เดียงสาไปวันๆ ไม่เคยพูดบอกแสดงออกความรู้สึกใดๆ ครุ่นคิดว่าก็แค่เพื่อนร่วมชั้น จนกระทั่งเมื่อเขาย้ายโรงเรียนจากไป
จดหมายที่ Hiroko แลกเปลี่ยนกับ Itsuki ไม่ผิดอะไรจะเรียกว่าจดหมายรัก (Love Letter) แต่ไม่ใช่สองสาวมีความรู้สึกอะไรต่อกันนะครับ เนื้อหาที่สนทนา(ในจดหมาย)ต่างหาก ทำให้ทั้งคู่บังเกิดความเข้าใจ(ในรัก)ต่อชายหนุ่ม Itsuki
- Hiroko ที่เคยครุ่นคิดเพียงจะครอบครอง(ชาย) Itsuki เป็นของฉันแต่เพียงผู้เดียว! ค่อยๆตระหนักว่าตนเองก็แค่ตัวสำรองของ(หญิง) Itsuki เพราะใบหน้ามีความละม้ายคล้ายคลึง เหมือนเขาได้พบเจอคนเคยรู้จัก เลยยินยอมตอบรับ ตกลงแต่งงาน โดยไม่เคยรับรู้ความในอะไรสักอย่าง
- (หญิง) Itsuki ที่ไม่เคยรับล่วงรู้อะไรสักสิ่งอย่าง ค่อยๆตระหนักว่า(ชาย) Itsuki เคยพยายามแสดงให้เห็นถึงความชื่นชอบ ตกหลุมรัก กระทำหลายสิ่งโรแมนติกให้กับเธอ
ถ้ามองในมุมของ Hiroko เรื่องเล่าย้อนอดีตของ Itsuki ทำให้เธอสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย ปล่อยละวางความหมกมุ่นครุ่นยึดติด ตะโกนบอกชายคนรักไปสู่สุขคติ แล้วตนเองจักสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ ยินยอมตอบตกลงแต่งงานกับ Akiba โดยไม่รู้สึกผิดต่อเขาอีกต่อไป
สำหรับ Itsuki การได้หวนระลึกทบทวนความทรงจำ นอกจากสัมผัส ‘Nostalgia’ โดยไม่รู้ตัวทำให้เธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ปรับเปลี่ยนมุมมองโลกทัศน์ใหม่ บังเกิดความเข้าใจอะไรๆมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของความรัก แม้ว่าฉันยังเป็นโสดแต่ก็เพิ่งมารู้ตัวว่าไม่ได้(โสด)สนิทอีกต่อไป!
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการพูดคุยสื่อสารอันดับต้นๆของโลก! อันเนื่องจากวิถีชีวิต ขนบประเพณี กฎกรอบทางสังคมที่ได้รับการปลูกฝังมายาวนาน ผมขอไม่ลงรายละเอียดว่าเพราะอะไร แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะตระหนักว่าชาวญี่ปุ่นมักดูเคร่งขรึม จริงจัง เก็บกดดันความรู้สึกของตนเอง ไม่ค่อยพูดบอก-แสดงออกทางอารมณ์ เช่นนั้นแล้วคนหนุ่ม-สาว จึงไม่ค่อยรู้เดียงสา หรือไม่ก็เหนียงอายจนไม่กล้าเอ่ยกล่าวสิ่งใดๆ
ผมแอบรู้สึกว่าผู้กำกับ Iwai น่าจะเคยมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร สมัยวัยรุ่นอาจเป็นคนเหนียงอาย ไม่ชอบพูดคุยสุงสิงกับใคร (เป็นปกติของคนชอบมังงะ/นวนิยาย มักมีโลกส่วนตัวสูงมากๆ) แต่พอเติบโตขึ้นร่ำเรียนมหาวิทยาลัย จบมาทำการทำงาน มันมีความจำเป็นต้องกล้าพูด กล้าแสดงออก เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองพึงปรารถนา … แถมทำงานวงการบันเทิงยิ่งต้องพูดคุยกับทั้งคนเบื้องหลัง และผลงานสรรค์สร้างออกมาก็ต้องสามารถสื่อสารเข้าถึงผู้ชมด้วยเช่นกัน!
มองในเชิงสัญลักษณ์ผ่านชื่อตัวละคร Hiroko Watanabe ได้สูญเสียชายคนรัก Itsuki Fuji (Mt. Fuji สามารถแทนด้วยประเทศญี่ปุ่น) เมื่อสามารถปล่อยวางความหมกมุ่นยึดติด ตอบตกลงแต่งงานกับ Akiba Shigeru (Akihabara ย่านช็อปปิ้งคึกคักที่สุดในปัจจุบันของ Tokyo หรือคือศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ’ใหม่’ของชาวญี่ปุ่น) … ใครเคยรับชม Swallowtail Butterfly (1996) น่าจะตระหนังถึงอคติอันรุนแรงของผู้กำกับ Iwai ต่อระบอบทุนนิยม ที่ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสีย/ละทอดทิ้งรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม หันมาพึ่งพาวัตถุ สิ่งข้าวของ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเงินๆทองๆ โดยไม่สนความถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม มโนธรรมอันดีงามอีกต่อไป
แม้ยุคสมัยแปรเปลี่ยนสู่สังคมออนไลน์ การติดต่อสื่อสารมีความเรียบง่าย สะดวก รวดเร็วทันใจ แต่ผู้กำกับ Iwai เชื่อว่าการเขียนจดหมายยังคงเต็มเปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์อันน่าหลงใหล หนึ่งในวิธีแสดงความรักที่สุดแสนโรแมนติก ไม่เสื่อมคลาย
We now live in an era of social media, where we talk to or join conversations with complete strangers. Just like the evolution of social media has been fueled by human will to communicate with others, I think letters are a symbol of history. They still carry a certain allure even to this day because we pour our hearts into them.
Shunji Iwai
เมื่อตอนออกฉายหนังได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม ไม่แค่ในญี่ปุ่นแต่ยังฮิตถล่มทลายทั่วเอเชีย ไทย จีน โดยเฉพาะเกาหลีใต้มียอดจำหน่ายตั๋วสูงอันดับ 10 แห่งปี! (เป็นหนังญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) และถูกลิขสิทธิ์โดย Fine Line Features (บริษัทในเครือ New Line Cinema) เข้าฉายสหรัฐอเมริกาในชื่อ When I Close My Eyes
ช่วงปลายปีหนังมีลุ้นรางวัล Japanese Academy Prizes อยู่หลายสาขาทีเดียว
- Best Film พ่ายให้ A Last Note (1995) ของผู้กำกับ Kaneto Shindô
- Best Supporting Actor (Etsushi Toyokawa)
- Best Music Score
- Most Popular Perfomer (Etsushi Toyokawa) ** คว้ารางวัล
- Newcomer of the Year (Takashi Kashiwabara) ** คว้ารางวัล
- Newcomer of the Year (Miki Sakai) ** คว้ารางวัล
เกร็ด: ความนิยมอันล้นหลามของ Love Letter (1995) จุดกระแสหนังรักแนวเขียนจดหมายในประเทศเกาหลีใต้ อาทิ The Contact (1997), The Letter (1997) ** ต้นฉบับของ เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก (พ.ศ. ๒๕๔๗), Il Mare (2000), The Classic (2003) ฯลฯ
สมัยวัยรุ่นผมน่าจะเคยรับชม Love Letter (1995) แต่แปลกที่จดจำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง พอดูหนังไปสักพักก็เริ่มตระหนักว่า ตอนนั้นคงไม่สามารถอดรนทนต่อความน่ารำคาญโคตรๆในเทคนิคลีลาตัดต่อ … มันไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องทำให้หนังดูยากขนาดนี้เลยนะ!
ก็ยอมรับว่า Shunji Iwai เป็นผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์ เข้าใจในศาสตร์ ศิลปะภาพยนตร์ แต่ให้ตายเถอะ! ถ้าไม่ลีลาเยอะเกิ้นขนาดนี้ ผมคงให้คะแนนคุณภาพระดับมาสเตอร์พีซแล้วละ
ถึงอย่างนั้นผมหนังก็ยังสมควรค่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเรื่องราวที่สามารถเปิดมุมมอง สร้างโลกทัศน์ใหม่ๆให้ผู้ชม ไม่จำเป็นต้องกำลังจมปลักอยู่กับความสูญเสีย ครอบครัวแตกแยก หรือเพิ่งบอกเลิกกับแฟน ใครที่ขาดพลังใจในการมีชีวิต ลองตะโกนให้สุดเสียง (จนแหบแห้งเลยก็ได้) ระบายความอึดอัดอั้นภายในออกมา มันช่วยได้มากๆจริงๆนะ
จัดเรต 13+ กับความหมกมุ่นยึดติดกับการสูญเสีย
Leave a Reply