Lust Caution

Lust, Caution (2007) Taiwanese : Ang Lee ♥♥♥♥♡

หนังรางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice เรื่องที่ 2 ของปรมาจารย์ผู้กำกับ Ang Lee, หนัง Erotic ผสม Sadistic ที่มีความวิจิตรประณีตลุ่มลึก ถ้าไม่ใช่คนเอเชียคงไม่สามารถดื่มด่ำไปกับรสสัมผัสของหนังได้เป็นแน่

หนังเอเชียในระดับโลกเป็นแบบนี้บ่อยๆนะครับ ด้วยพื้นฐาน ประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก ทำให้เรื่องราวบางอย่างที่กินใจผู้ชมฝั่งตะวันออก ไม่สามารถกลายเป็นสากล ที่ชื่นชอบของโลกตะวันตกได้, Lust, Caution คือหนึ่งในนั้น นี่เป็นหนังที่ผมชื่นชอบมากๆ และเห็นในความวิจิตรประณีตของหนัง แต่พอได้อ่านคำวิจารณ์ของต่างประเทศแล้วรู้สึกค่อนข้างผิดหวัง เพราะพวกเขาไม่สามารถจับใจความ หรือมองเห็นความงดงามของหนังได้เลย นี่อาจจะเป็นกับคนที่ติดหนัง Hollywood มากไปด้วยนะครับ

กับการสร้างหนังเรื่องนี้ Ang Lee พยายามที่จะใช้ทีมงานที่เป็นสากล อาทิ ช่างภาพเป็นชาว Mexican, นักตัดต่อชาวอเมริกัน, เพลงประกอบ Alexander Desplat ชาวฝรั่งเศส ถ่ายทำใน Hong Kong นักแสดงเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ (ตัว Ang Lee เป็นคนไต้หวัน) เหล่านี้ก็เพื่อเข้าถึงผู้ชมให้ได้ทุกระดับ แต่สิ่งสำคัญมันอยู่ที่เรื่องราวของหนังที่แสดงความเป็นประเทศจีนออกมามาก และเต็มไปด้วยเรื่องราวเชิงอารมณ์ ความรู้สึกผิดชอบ นี่เป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกเข้าไม่ถึงเสียเท่าไหร่

ดัดแปลงจากนิยายชื่อ Sè, Jiè (Lust, Caution) โดยนักเขียนชาวจีน Eileen Chang ตีพิมพ์เมื่อปี 1979, Chang ถือว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนยุคใหม่ นิยายของเธอมักนำเสนอความตึงเครียดระหว่างชายหญิงในเรื่องความรัก, กับนิยายเรื่องนี้ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของ Chang ที่อาศัยอยู่ใน Shanghai ขณะถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น, ในปีที่ตีพิมพ์นิยาย ว่ากันว่าถ้าประเทศจีนไม่มีปัญหาระหว่าง Nationalist กับ Communist และเปิดประเทศอยู่นะ Eileen Chang มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะได้รับ Nobel Prize

เรื่องราวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งแรกดำเนินเรื่องใน Hong Kong ปี 1938 และครึ่งหลังดำเนินเรื่องใน Shanghai ในปี 1942 ขณะที่ถูกยึดครองโดย Imperial Japanese Army และมีรัฐบาลหุ่นเชิดที่นำโดย Wang Jingwei ของ Kuomintang, กลุ่มของนักศึกษามหาวิทยาลัย Lingnan University ได้ร่วมกันวางแผนลอบสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล โดยใช้ผู้หญิงแทรกซึมเข้าไปเพื่อล่อลวงให้ติดกับ

นำแสดงโดย Tony Leung Chiu-Wai รับบท Mr. Yee เจ้าหน้าที่ Kuomintang (KMT) ในหนังจะไม่บอกว่าเขามีหน้าที่อะไร แต่สามารถเข้าได้ว่าเป็นคนทรมานซักทอดนักโทษทางการเมือง และเป็นคนที่มีอำนาจสั่งประหารกบฎที่ต่อต้าน Kuomintang, ข้างในจิตใจของตัวละครนี้ เปรียบได้กับอสรพิษร้าย มีความมืดดำ โหดเหี้ยม Sadist ผมไม่เห็นตัวละครนี้ยิ้มเลยนะครับ เว้นแต่ในรูปถ่าย (เห็นแวบๆเท่านั้น) พี่ Leung นำเสนอตัวละครนี้ออกมาแบบว่า โหดเลวลึก เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะติดภาพน่ารักๆ สบายๆของพี่ อาจคาดไม่ถึงว่าก็มีมุมนี้เหมือนกัน และหน้าพี่แกก็ให้ด้วยละ ถ้าจะแสดงความ Sadist ที่อยู่ในใจออกมา

Tang Wei รับบท Wong Chia-chi/Mrs. Mai หญิงสาวที่เป็นนักศึกษา ปลอมตัวแทรกซึม กลายมาเป็นชู้รักของ Mr. Yee, ในหนังเราจะเห็นเธอทั้งตอนที่ไม่แต่งหน้า เป็นหญิงสาวบ้านๆดูธรรมดาทั่วไป และพอแต่งหน้าใส่ชุดสวยๆ เครื่องประดับเลิศหรู ดูแล้วงามเลิศ สวยสง่าราวกับเป็นคนละคน, ไม่ใช่แค่หน้าตาหรือเรือนร่างเท่านั้น สายตาและการแสดงออก ก็ทำให้เราสามารถเข้าใจความรู้สึกลึกๆของตัวละครได้เลย นี่คงต้องยกย่องให้กับความทุ่มเทพยายาม เต็มที่กับบทบาทสุดๆ แบบไม่กลัวจะเสียอะไร นี่ถือเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอด้วย ก่อนหน้านี้เป็นนักแสดงละครเวที และเล่นละครโทรทัศน์, หลังจากหนังเรื่องนี้ก็ยังมีผลงานให้เห็นเรื่อยๆนะครับ ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ไม่เชิงเป็น Typecast แต่ไม่ค่อยได้รับโอกาสมากกว่า (ทั้งๆที่ฝีมือการแสดงออกจะยอดเยี่ยมขนาดนี้)

ถ่ายภาพโดย Rodrigo Prieto ชาว Mexican ที่เคยร่วมงานกับ Ang Lee มาแล้วใน Brokeback Mountain (2005) ล่าสุดก็เป็นตากล้องให้ Martin Scorsese เรื่อง The Wolf of Wall Street (2013) และ Silence (2016), งานภาพของหนังเรื่องนี้ถือว่าวิจิตรประณีตสุดๆเลย ไม่มีฉากไหนที่ไม่มีความสวยงาม การเคลื่อนกล้องก็มีทั้งรวดเร็วฉับไว และแบบค่อยๆเคลื่อนเข้าออกอย่างนุ่มนวล ตามจังหวะและอารมณ์ ขณะสนทนามักจะใช้มุมกล้องแทนสายตาของตัวละคร แต่ถ้าเป็นฉากการกระทำจะให้เห็นภาพโดยรวม

Sex Scene ในหนังเรื่องนี้สวยมากๆ โจ๋งครึ่มเห็นกันแบบไม่ต้องใช้มุมกล้องหลบ และมีความหมายแฝงด้วย, อย่างครั้งสุดท้ายของ Sex Scene นางเอกหันไปมองเห็นปืน เธอมีความคิดจะฆ่าเขา พระเอกหันมองตาม เธอเห็นเอาหมอนมาปิดตาเขา แล้วขย่ม WOT แรงมาก ท่านี้แสดงถึงผู้หญิงสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวเองได้ (Woman dominant Man) แต่ขณะพระเอกใกล้จะเสร็จ เขาพลิกตัวกดทับเธอกลับกลายเป็น Missionary ท่านี้ผู้ชายควบคุมจังหวะเองทั้งหมด นี่มีนัยยะถึง ในสังคมแห่งนี้ ผู้หญิงไม่มีบทบาทอะไร (เหมือนหุ่นเชิด) ผู้ชายต้องใหญ่กว่า เป็นผู้ควบคุมทุกสิ่งอย่าง แม้แต่เรื่องบนเตียง เขายังต้องเป็นผู้ชนะเลย

ตัดต่อโดย Tim Squyres เพื่อนร่วมชั่นเรียนและขาประจำของ Ang Lee, หนังใช้มุมมองของนางเอกเล่าเรื่อง เริ่มจาก Shanghai ปี 1942 แล้วใช้การเล่าย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่ Hong Kong ปี 1938, ผมรู้สึกการทำแบบนี้ไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่เลย คือหนังจะเริ่มเล่าจาก Hong Kong ไปเลยก็ได้ ไม่ต้องใช้รูปแบบ Flashback เพราะช่วง 5-10 นาทีแรกที่ใส่เข้ามานี้ ก็ไม่ได้ทำให้หนังมีความน่าสนใจ หรือน่าติดตามเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

สำหรับ Sex Scene นั้นอยู่กลางๆค่อนไปท้ายๆเรื่อง ผมเชื่อว่ามีผู้ชมจำนวนมากทีเดียวที่รอคอยฉากนี้ แต่มันกลับไม่โผล่มาสักที ต้องใช้ความอดทนนานมากกว่าจะถึง ซึ่ง Sex Scene ครั้งแรกของหนังก็แบบว่าปกปิดมิดชิด เป็น Sex ที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ (ขณะเปิดบริสุทธิ์หญิงสาว) ผมอ่านดูคำวิจารณ์ส่วนใหญ่จะบ่นเรื่องความยาว 158 นาทีถือว่าค่อนข้างนานทีเดียว แต่หนังไม่มีจังหวะที่อืดอาดยืดยาดเลยหรือน่าเบื่อ การตัดต่อรวดเร็วฉับไวสุดๆ ผมไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรที่ตัดออกได้เลยนะ  จำเป็นทุกฉาก แม้กระทั่ง Sex Scene ก็มีนัยยะของมัน ตัดออกจะทำให้หนังขาดอรรถรสบางอย่าง

เพลงประกอบโดย Alexandre Desplat นี่เป็นความท้าทายที่กล้ามากของ Ang Lee แทนที่เขาจะเลือกใช้คอมโพเซอร์ชาวจีน กับเรื่องราวที่ขายพื้นหลังของประเทศตนเองขนาดนี้ แต่กลับใช้ Desplat ชาวฝรั่งเศส นำดนตรีคลาสสิกบรรเลงประกอบหนัง และมีเครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนและญี่ปุ่นเข้าร่วมประกอบบ้างในบางฉาก, นี่อาจเพราะเรื่องราวของหนังเกี่ยวกับกลุ่มกบฎ ต่อต้าน ปฏิวัติ ซึ่งมีความเป็นสมัยใหม่ อิทธิพลของชาติตะวันตกที่แผ่เข้ามาในยุคนั้น และเพื่อให้ผู้ชมทั่วโลกเกิดสัมผัสอารมณ์ร่วมกันหนังได้มากกว่า (ถ้าใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีนอย่างเดียว อาจเข้าไม่ถึงก็ได้), เพลงของ Desplat มีความไพเราะนุ่มนวล เข้ากับบรรยากาศที่อึมครึมของหนังเป็นอย่างดี เสียงเปียโนนุ่มๆ บางครั้งมีเสียงพิณที่เพิ่มมิติให้หลงใหล จังหวะเจ็บปวดรวดร้าวใช้ไวโอลิน เพิ่มความลุ่มลึกด้วยฟลุต คาริเน็ต แม้อาจไม่มีทำนองที่โดดเด่นจนจำได้ติดหู แต่ถ้าคุณได้ฟังบ่อยๆ จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มมากๆ

Lust, Caution เป็นเรื่องราวของกลุ่มเด็กๆที่เติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ ได้เคยทำอะไรในอุดมการณ์ ความเชื่อ เพ้อฝันของตนเอง ก่อนจะได้พบว่า โลกที่แท้จริงมันช่างเลวร้าย โหดเหี้ยมยิ่งกว่าที่คิดไว้ แม้จะเตรียมพร้อมรับมือมากแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะเพียงพอต่อทุกสิ่งอย่าง, ครึ่งแรกที่ Hong Kong กลุ่มนักศึกษารวมตัวจากการแสดงละครเวทีร่วมกัน ด้วยชัยชนะจากความสำเร็จของการแสดง ทำให้พวกเขาหลงระเริงรื่น เชื่อว่าตนจะสามารถทำอะไรก็ได้ตามความเชื่อของตนเอง ด้วยวิธีการที่คล้ายๆกัน จากการแสดงบนเวที มาเป็นการแสดงในชีวิตจริง แต่พวกเขายังเป็นเด็กนัก อะไรๆจึงยังไม่สามารถทำให้สมเหตุสมผลด้วยตัวมันเองได้ แม้ตอนจบที่ Hong Kong จะประสบความล้มเหลว แต่ก็ได้เป็นการพิสูจน์ตนเองให้ผู้ใหญ่เห็นว่า สามารถเติบโตไปต่อได้, เรื่องราวยกระดับขึ้นมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงของผู้ใหญ่ที่ Shanghai คราวนี้จะผิดพลาดอะไรไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันคือความเป็นความตาย ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้าไม่ทุ่มเทกายใจให้ถึงที่สุดทั้งหมด ก็คงอาจไม่สามารถเอาตัวรอดกลับมาได้

เพื่อให้เห็นภาพทั้ง 3 ระดับของหนัง ผมจะแยกให้เห็นเป็นข้อๆนะครับ
1) การแสดงละครเวที (เด็กเล่น)
2) ที่ Hong Kong สู่โลกความเป็นจริง แต่พื้นหลังยังเป็นสมัครเล่น (วัยรุ่น)
3) ที่ Shanghai ในโลกที่ทุกอย่างคือความเป็นความตาย ทุกอย่างกลายเป็นมืออาชีพ (ผู้ใหญ่)

กับเรื่องราวสามระดับนี้ เชื่อว่านักวิจารณ์ทั่วไปคงสามารถคิดวิเคราะห์มองเห็นได้ แต่เพราะผมกลับฉงนในความไม่เข้าใจของชาวตะวันตกต่อหนังเรื่องนี้ พวกเขามีอคติอะไรหรือเปล่า? หรือมีประเด็นอื่นอะไรไม่เข้าใจ ที่ทำให้ไม่สามารถชื่นชมหนังได้อย่างที่ควรเป็น

เท่าที่อ่านๆบทวิจารณ์ดูก็พบว่า มันเป็นเรื่องโทนอารมณ์ บรรยากาศของหนัง กับความอึดอัดที่สะสมพอกพูนขึ้นมาเรื่อยๆตลอดทั้งเรื่อง, คือชาวตะวันตกมีนิสัยไม่ชอบอดทนต่อความเก็บกดพวกนี้สักเท่าไหร่นะครับ ลองสังเกตเวลามีสิ่งอะไรไม่พอใจ เขาก็ระเบิดออกมา พูดแสดงความเห็นทันทีโดยไม่เกรงใจ ไม่ไว้หน้า ชนวนที่ทำให้ระเบิดออกมานั้นง่ายดายเหลือเกิน และถือเป็นธรรมดาทั่วไปด้วย, แต่กันคนฝั่งเอเชีย เราเป็นพวกขี้เกรงใจ ไม่ว่าอะไรเล็กๆใหญ่ๆ ไม่ค่อยชอบที่จะพูดถึงหรือระบายออกมา เราเป็นพวกชอบเก็บกด หมักหมมความรู้สึก แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นระเบิดออกมาเมื่อไหร่ ผลลัพท์มันจะใหญ่โตมโหฬาร, แบบเดียวกับหนังเรื่องนี้ มันมีบรรยากาศของความเก็บกด อัดอั้นตันใจบางอย่าง ที่นักวิจารณ์ฝั่งตะวันตกทั้งหลายต่างรีบร้อนและทนไม่ได้ พวกเขาไม่รู้ว่าทำไมหนังต้องยื้อยักอะไรไว้นานขนาดนั้น กว่าจะปล่อยออกได้ มันทำให้รู้สึกหายใจขัดๆ แน่นหน้าอก นี่คงเป็นความรู้สึกที่ไม่น่าอภิรมย์สำหรับพวกเขาเสียเท่าไหร่

กับหนังเอเชียที่สามารถเข้าถึงผู้ชมฝั่งตะวันตกได้ ให้ลองสังเกตดู ส่วนใหญ่จะมีความเป็นสากล และไม่ค่อยมีอารมณ์เป็นที่ตั้ง, กับหนังอย่าง Tokyo Tower (2008) หรือหนังเรื่องนี้ มันทำให้ผมเห็นชัดเลยว่า หนังที่มีสัมผัสด้านอารมณ์ หรือความรู้สึกบางอย่างที่รุนแรง ไม่สามารถเข้าถึงผู้ชมฝั่งตะวันตกได้เลย นั่นเพราะพื้นฐาน วัฒนธรรม ค่านิยม และการใช้ชีวิต ระหว่างเรากับเขาต่างกันโดยสิ้นเชิง และดูแล้วคงไม่มีทางจะให้ทำความเข้าใจกันได้ง่ายๆด้วย

ฉากจบของหนัง ขณะที่พระเอกเข้าไปในห้องของนางเอก เขาลูบคลำเตียง และขณะนั้นเสียงนาฬิกาดังขึ้นบอกเวลา เขาตัวสั่นสะท้าน ถ้ายังจำกัดได้ ก่อนหน้านี้เขาระบุเวลาขณะประหารชีวิตคนกลุ่มหนึ่งไว้ หนังไม่ได้ถ่ายให้เราเห็นขณะพวกเขาถูกยิงตาย (ให้เห็นแค่ว่ากำลังรอจะถูกยิง) เสียงนาฬิกาบอกเวลาเป็นสิ่งที่บอก เวลาตายของพวกเขา และขณะเดินออกจากห้อง เห็นเงาหยุดเดินแล้วหันหลังกลับมามองครั้งสุดท้าย, นี่ฉากจบที่ ลุ่มลึกมากๆ และยิ่งสีหน้าของพี่ Leung ก็สัมผัสได้ถึงความเจ็บสะท้านในก้นเบื้องหัวใจ คงมีแต่ปรมาจารย์ผู้กำกับฝั่งเอเชียเท่านั้นที่สามารถคิดแล้วกำกับแบบนี้ได้

กับชื่อหนัง Lust, Cuation มันคือคำเตือนของหญิงสาว กับความลุ่มหลงใหล ที่ได้พัฒนาขึ้น จากทีแรกไม่ได้ต้องการ กลายเป็นหน้าที่ และสุดท้ายตกกับดักหลุมพรางของตนเอง, เมื่อถึงจุดหนึ่งในหนังหญิงสาวตั้งคำถามกับตนเอง ‘รู้ทั้งรู้ว่าหมอนี่ไม่ใช่คนดี แต่ไฉนฉันถึงตกหลุมรักเขา?’ คำตอบคือชื่อหนัง เล่ห์ราคะ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้คนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงโดยไม่สนความถูกผิด ละทิ้งได้ทุกสิ่งอย่าง, ในวินาทีที่สวมแหวน ร่างเธอตัวสั่นเทา น้ำเสียงตะกุกตะกัก เพราะรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ใจหนึ่งอยากฆ่าเขากับความชั่ว(ที่ก็ไม่รู้คืออะไร) แต่อีกใจหนึ่งเพราะความลุ่มหลงในรักที่เขามอบให้ ระหว่างประเทศชาติกับตนเอง สุดท้ายเธอเลือกทิ้งทุกสิ่งอย่าง ยอมตายแทนที่จะทนอยู่กับตนเองที่จิตใจลุ่มหลงด้วยกามราคะ

ในอเมริกาหนังได้เรต NC-17 แล้ว Ang Lee ไม่คิดจะตัดทอนใดๆในเวอร์ชั่นนั้น, แต่กับที่ฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ เขายอมหั่นฉากติดเรตออกไปเพื่อให้ผู้ชมวัยรุ่นหนุ่มสาวในจีนรับชมได้ (เพราะจีนยังไม่มีระบบเรตติ้ง) ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ ทำเงินเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ $17 ล้านเหรียญ, Hong Kong $6 ล้านเหรียญ, รวมทั่วโลก $67 ล้านเหรียญ

ถึงหนังจะได้ Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice และได้เข้าชิง Golden Globe Award สาขา Best Foreign Language Film แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ์เข้าชิง Oscar นะครับ เพราะประเทศที่เป็นตัวแทนส่งหนังเข้าชิงชัยคือ Taiwan แต่ทีมงานของหนังมาจากหลายสัญชาติ มีเพียงผู้กำกับ Ang Lee ที่เป็นชาว Taiwan เลยทำให้ถูกปฏิเสธจาก Academy ทำให้ชวดไม่ได้เข้าชิงสักสาขา

ส่วนตัวผมหลงรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ดูในโรง Lido เมื่อหลายปีก่อน มันมีมนต์เสน่ห์ ความน่าหลงใหลบางอย่างที่ดึงดูดผมแบบสุดๆเลย (คงถูกจริตกับกลิ่นอาย บรรยากาศหนังแบบนี้นะครับ) การดูรอบนี้ก็ท้าทายตัวเองว่าจะยังรู้สึกหลงรักหนังได้แบบเดิมไหม ก็พบว่า ยิ่งๆขึ้นไปกว่าเดิมอีก ได้เข้าใจสไตล์ เห็นแนวทางการกำกับของ Ang Lee ที่มีความประณีตละเอียดอ่อน เรียกว่าระดับวิจิตรได้เลยละ แม้จะมีตำหนิเล็กๆน้อยๆนิดหน่อย ก็ขอมองข้ามให้อภัย ชอบที่สุดคือการแสดงของทั่งพี่ Tony Leung Chiu-Wai ที่ลุ่มลึกและ Tang Wei ที่สวยมากๆ, ว่าไปนี่เป็นหนัง Erotic ที่ผมชอบที่สุดนะครับ

แนะนำกับคนชอบหนังแนว Erotic ผสม Thriller สอดแทรกจิตวิทยา, หนังแนว Espionage (สายลับ) ผสมประวัติศาสตร์ของจีนในยุค 40s, แฟนหนัง Tony Leung Chiu-Wai ผู้กำกับ Ang Lee และคอมโพเซอร์ Alexandre Desplat ไม่ควรพลาด

จัดเรต NC-17 กับความรุนแรงและ Sex Scene แบบ Sadistic (นี่มองยังไงก็เกินเรต R นะครับ)

TAGLINE | “Lust, Caution คือเล่ห์ราคะที่น่าหลงใหล ผลงานสุดประณีตวิจิตรของ Ang Lee นำแสดงโดย Tony Leung Chiu-Wai, Tang Wei และเพลงประกอบโดย Alexandre Desplat”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
3 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลด่ดาดาาแดา Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ด่ดาดาาแดา
Guest
ด่ดาดาาแดา

อยากสอบถามมุมมองนิดนึงค่ะ พอดีดูละอินมาก ว่าทำไมสุดท้ายพระเอกถึงไม่เลือกที่จะช่วยนางเอก ทั้งที่เค้าก็ดูรักเธอมาก แต่ทำไมไม่ช่วยออกมา

%d bloggers like this: