Lust for Life (1956)
: Vincente Minnelli ♥♥♥
คงมีบางคนที่เห็นชื่อหนังแล้วคิดว่าเป็นหนัง 18+ ไม่ใช่นะครับ หนังเรื่องนี้เป็นชีวประวัติจิตรกรเอกของโลก Vincent van Gogh เล่าถึงแรงบันดาลใจ แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ไปจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Irving Stone กำกับโดย Vincente Minnelli (An American in Paris-1951) นำแสดงโดย Kirk Douglas (Spartacus-1960) รับบท Vincent Van Gogh ว่ากันว่านี่เป็นการแสดงที่ทุ่มเทที่สุดและดีที่สุดของเขาเลย
มีหนัง 3 เรื่องที่เป็นชีวประวัติของ Vincent van Gogh ขอเรียกว่า Van Gogh Trilogy อันประกอบด้วย
1. Lust for Life (1956) กำกับโดย Vincente Minnelli นำแสดงโดย Kirk Douglas
2. Vincent & Theo (1990) กำกับโดย Robert Altman นำแสดงโดย Tim Roth
3. Van Gogh (1991) หนังฝรั่งเศส กำกับโดย Maurice Pialat นำแสดงโดย Jacques Dutronc
ทีแรกผมตั้งใจจะเขียนรีวิวทั้ง 3 เรื่องนะครับ แต่กำลังคิดว่าอาจจะขอข้าม Vincent & Theo ไป เพราะมันเหมือนเวอร์ชั่น Remake ของ Lust for Life มากไปหน่อย (อาจจะเขียนเป็น mini Review ตามมาทีหลัง) กับคนที่ชื่นชอบ Vincent Van Gogh ผมแนะนำให้ดู Lust for Life และ Van Gogh (1991) สองเรื่องนี้มีความต่างกันค่อนข้างมาก Lust for Life จะเล่าชีวประวัติ การทำงาน ผลงาน แนวคิด แรงบันดาลใจ ส่วน Van Gogh จะเล่าช่วงเวลาประมาณ 60 วันสุดท้ายก่อนเสียชีวิต นำเสนอปัญหา ความคิดขัดแย้ง วิเคราะห์จิตวิทยา เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้เขาเสียชีวิต ผมถือว่าหนังทั้งสองนี้เติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัวเลย, ส่วนตัวผมชอบ Van Gogh > Lust for Life > Vincent & Theo นะครับ แต่ถ้าใครอยากดูทั้ง 3 เรื่อง ผมแนะนำให้ดู Lust for Life ก่อนต่อด้วย Vincent & Theo (หรือจะข้ามไปก็ได้) และปิดท้าย Van Gogh ก็จะครบสมบูรณ์ไตรภาคนี้
ถึงงานศิลปะที่ผมชื่นชอบที่สุด จะคือภาพวาดของ Vincent van Gogh แต่บอกตามตรงว่าชีวประวัติของพี่แกค่อนข้างไร้สาระมากๆ ไม่รู้ตัวจริงๆเป็นแบบในหนังหรือเปล่า มันช่างสับสนวุ่นวาย อลม่าน ความต้องการที่อยู่ภายใน (Inner) ไม่เคยได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม ทำให้เกิดการระเบิดออกมาหลายครั้ง และเมื่อไม่มีใครเป็นที่รองรับอารมณ์ ก็ถ่ายทอดลงไปในภาพวาด ซึ่งถ้าไม่ได้น้องชาย Theo Van Gogh ช่วยไว้ คงไม่มีทางเกิดศิลปินที่ชื่อ Vincent Van Gogh เป็นแน่, ตอนเสียชีวิตก็มีข้อกังขากันนะครับ แท้จริงแล้ว Van Gogh ตั้งใจฆ่าตัวตาย หรืออาจถูกกระสุนลูกหลงจากคนอื่น หรือปืนพลาดลั่นไกโดยไม่ตั้งใจ นี่เป็นการตายที่ซื้อบื้อ งี่เง่า ไร้ค่าที่สุดๆเลย
สไตล์ของ Van Gogh ถูกเรียกว่า Post-Impressionist (ลัทธิประทับใจยุคหลัง) มันแปลกที่ชีวประวัติของเขาเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย แต่ภาพวาดกลับถ่ายทอดมาอย่างสวยสดงดงาม ด้วยวิธีการที่ไม่ยึดติดกับแค่ความประทับใจ (Impression) ทำให้ผู้ชมรู้สึกขับเคลื่อน เคลื่อนไหว คล้อยตามภาพที่เห็น สิ่งที่ Van Gogh สะท้อนออกมาในภาพวาด มันคือสิ่งที่เขาวาดฝันไว้ สิ่งที่เห็นไม่ใช่ความรู้สึก (Expression) แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาพความประทับใจ (Impression) แล้วถ่ายทอดภาพแห่งความประทับใจนั้นออกมา, ผมเชื่อว่าถ้า Van Gogh ได้รู้จักกับ Expressionist ภาพวาดของเขาอาจจะดูโหดร้ายกว่า The Scream ของ Edvard Munch อีกนะครับ
โปรดิวเซอร์ John Houseman แห่ง MGM ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่อง Lust for Life มอบหมายให้ Norman Corwin ดัดแปลงบทภาพยนตร์และ Vincent Minnelli เป็นผู้กำกับ, หลังจาก Minnelli ทำหนังฮิตให้ MGM มาหลายเรื่องในช่วงต้นทศวรรษที่ 50 ก็ถึงช่วงขาลง Minnelli ทำหนังขาดทุนไปแล้ว 3 เรื่องติดๆแล้ว Lust for Life เป็นหนังที่ Minnelli ตั้งใจทำเต็มที่ แต่ผลลัพท์ยังออกมาล้มเหลว ทุนสร้าง $3.2 ล้าน หนังทำเงินได้แค่ $2.6 ล้านเท่านั้น นับเป็นหนังเรื่องที่ 4 เจ้งติดๆกันเลย
นิยายของ Irving Stone เรื่อง Lust for Life ตีพิมพ์เมื่อปี 1934 เป็นนิยายเรื่องแรกของนักเขียนเลย แต่งขึ้นจากการรวบรวมจดหมายที่ส่งหากันระหว่าง Vincent van Gogh กับน้องชาย Theo van Gogh ที่เป็นคนขายภาพศิลปะ (Sales) ดัดแปลงเป็นหนังก็ดำเนินไปแนวทางเดียวกัน คือใช้จดหมายเป็นตัวดำเนินเรื่อง เราจะได้เห็น Vincent เขียนจดหมายถึง Theo และได้ยิน Theo อ่านจดหมายของ Vincent บ่อยครั้ง
ผมว่าที่หนังเจ้ง สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากชื่อหนังแน่ๆ Lust for Life แค่ชื่อมันก็ 18+ ไม่น่าดูแล้ว ยิ่งสมัยนั้นยังไม่มีการจัดเรตติ้ง ความเข้าใจผิดยิ่งน่าจะเลยเถิดไปใหญ่, ตอนผมได้เห็นชื่อหนังก็หวั่นๆเหมือนกัน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นหนังชีวประวัติของ Vincent van Gogh ก็ไม่คิดดูนะครับ (เหมือนตอนเห็นโปสเตอร์หนังของ La Belle Noiseuse เลย)
นำแสดงโดย Kirk Douglas ถือว่าเป็นเขาตัวเลือกแรกเลย เพราะ Minnelli กับ Douglas เคยร่วมงานกันมาก่อนใน The Bad and the Beautiful (1952) ที่ทำให้ Douglas ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Actor ในปีนั้นด้วย, ผมดูหนังของปู่ Kirk Douglas มาหลายเรื่อง ที่ชอบก็อย่าง Paths of Glory (1957) และ Spartacus (1960) กำกับโดย Stanley Kubrick แต่พอมาดู Lust for Life ต้องยอมรับเลยว่าบท Vincent van Gogh นี่แหละที่สุดการแสดงของปู่แกแล้ว, ตลอดชีวิตเคยได้เข้าชิง Oscar ทั้งหมด 3 ครั้ง (รวม Lust for Life ด้วย) แต่ไม่เคยได้ จน Oscar ต้องมอบ Honorary Award ให้ในปี 1996
การแสดงของ Douglas สมจริงขนาดไหน ว่ากันว่าตอนที่ลูกชาย Michael Douglas (ยังเด็กๆ) ขณะดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ พอถึงฉากที่ Van Gogh ตัดหูตัวเอง เด็กชาย Michael ถึงขั้นร้องลั่นและวิ่งออกมาร้องไห้ เพราะคิดว่าพ่อตัดหูตัวเองจริงๆ, ไม่ใช่แค่การแสดงเท่านั้นแต่หน้าตา ที่ลงทุนตัดผมสั้น ย้อมสีผม เคลา คิ้ว หนวดให้คล้ายกับ Van Gogh ที่สุด ตอนไปถ่ายที่ Auvers-sur-Oise คนแก่ๆที่ยังมีชีวิตอยู่นึกว่าเขาเป็น Vincent van Gogh กลับมาวาดรูป, น่าเสียดายที่ Kirk Douglas ได้แค่เข้าชิง Oscar นะครับ (ปีนั้นที่ได้ไปคือ Yul Brynner จากหนังเรื่อง The King and I) แต่เขาก็ได้ Golden Globe สาขา Best Actor เป็นรางวัลปลอบใจ
Theo van Gogh รับบทโดย James Donald นักแสดงสัญชาติ Scottish ผมไม่ค่อยรู้จักเขาสักเท่าไหร่ ใน Lust for Life เหมือนว่า Theo เป็นคนเดียวที่ Vincent ไม่ลงไม้ลงมือ กระทำอะไรรุนแรง มีปากเสียงกันบ้างแต่ไม่มากเท่าไหร่ ตรงข้ามกับหนังเรื่อง Vincent & Theo ที่มีฉากปะทะกันทางอารมณ์อย่างรุนแรงและหลายฉากมาก (คงเพราะต้องการนำเสนอมุมมองของ Theo ที่มีต่อ Vincent ด้วย), หลังจาก Vincent เสียชีวิตได้ 1 ปี Theo ก็เสียชีวิตตามด้วยโรคซึมเศร้า, Theo มีศักดิ์เป็นน้องนะครับ เกิดทีหลัง แต่ดูเป็นผู้ใหญ่กว่ามาก และเป็นคนที่คอยอุปถัมถ์ ส่งเงินให้ครอบครัวและพี่ชาย อาชีพขายภาพงานศิลปะนี่รวยจริงๆเลย
อีกหนึ่งนักแสดงตัวประกอบในตำนาน Anthony Quinn รับบท Paul Gauguin จริงๆผมไม่รู้จัก Gauguin มาก่อน มารู้จักเขาก็จากหนังเรื่องนี้แหละ เป็นหนึ่งในโคตรศิลปินแห่งยุคเคียงคู่กับ Van Gogh เลย ทั้งสองเป็นเพื่อนกัน แต่ก็เคยเกือบฆ่ากันมาแล้ว, หนังเรื่องนี้ทำให้ Anthony Quinn ได้ Oscar สาขา Best Support Actor นะครับ (เป็นรางวัลเดียวจาก 4 สาขาที่ได้เข้าชิง Oscar), Quinn ปรากฏตัวในหนังแค่ 22 นาที แต่การแสดงทรงพลังสุดๆ โดยเฉพาะตอนที่ตัวละครเขาเถียงสู้กับ Van Gogh มันแรงได้ใจจริงๆ, มีคำพูดหลายประโยคเจ๋งๆออกมาจากปากของ Gauguin อาทิ I like ’em fat and vicious and not too smart. Nothing spiritual either. To have to say ‘I love you’ would break my teeth. (ถ้าผู้หญิงจะให้ฉันพูดว่า ‘รักเธอ’ ฝันไปเถอะ ฆ่าฉันให้ตายเสียดีกว่า) ประโยคนี้แสดงนิสัย ตัวตนของตัวละคร Gauguin ได้ชัดมาก ภาพวาดของเขาก็สไตล์นี้นะครับ เกรียวกราด รุนแรง ตรงตัว ตอนวาดภาพ เห็นอะไรก็แสดงออกมาอย่างนั้น If it’s one thing I despise, it’s emotionalism in painting. (สิ่งหนึ่งที่ฉันเกลียดที่สุด คือภาพวาดที่แสดงออกถึงอารมณ์)
ถ่ายภาพโดย Russell Harlan สุดยอดตากล้องที่ไม่เคยได้ Oscar เข้าชิง 6 ครั้งแต่ไม่เคยได้ หนังดังๆในเครดิตอย่าง Red River (1948), Rio Bravo (1959), To Kill a Mockingbird (1962) การันตีความสวยงามได้เลย, หนังเรื่องนี้ภาพสวยมากๆ โดยเฉพาะโทนสีเหลืองเวลาถ่ายภาพทุ่งข้าวโพด เข้ากับสีผม สีหนวดของ Van Gogh ได้เป็นอย่างดี, แม้ส่วนใหญ่โทนหนังจะหม่นๆ ตามจิตใจของ Van Gogh แต่ถ้ามีการวาดภาพ ฉากที่อยู่ในหนังจะมีสีสันสดใสขึ้นมาทันที, การเคลื่อนกล้องก็มีความสวยงาม ลื่นไหล ลงตัว ต่อเนื่อง ดั่งภาพของ Van Gogh ที่ให้ความรู้สึกไหวไปกับภาพ, ในบรรดาหนังของ Van Gogh ทั้ง 3 เรื่อง หนังเรื่องนี้ถ่ายภาพสวยที่สุดนะครับ, กระบวนการถ่ายภาพสี เห็นว่าตอนถ่ายใช้กล้อง Ansco แต่ในเครดิตขึ้นว่า Metrocolor (เป็น lab ของ MGM ที่ใช้เก็บคลังหนัง) ซึ่งฟีล์มที่ถ่ายจาก Ansco จะซีดง่าย เก็บนานๆแล้วสีจะตก ความสว่างจะจางหายไป นี่ทำให้ฟีล์มของหนังเสียคุณภาพไปมาก โชคดีที่ได้ทีม Restore เก่งๆ ทำให้งานภาพที่เราห็นยังดูสีสันสวยสดใส ไม่เสื่อมลงไปตามกาลเวลา
ทีมออกแบบฉากของหนังเรื่องนี้ได้เข้าชิง Oscar ด้วยนะครับแต่ไม่ได้ไป คงเพราะพวกเขาสามารถจำลองฉากในภาพวาดของ Van Gogh ออกมาได้เหมือนกับภาพวาดมากๆ ซึ่งหลายฉากเป็นจากสถานที่จริงๆขณะ Van Gogh วาดภาพนั้น, ภาพวาดในหนังเป็นฝีมือของ Robert Parker อาจารย์สอนศิลปะชาวอเมริกัน, ด้วยความที่ภาพวาดของ Van Gogh มีเยอะมาก จะเอามาใส่ในหนังทั้งหมดคงเป็นไม่ได้ แต่ผู้กำกับก็พยายามยัดมาเยอะมากๆ ผมรู้จักแค่ไม่กี่สิบภาพเท่านั้น ส่วนหนึ่งจะตั้งโชว์อยู่ในห้องจัดแสดง (ห้องของ Theo) เห็นประกอบเป็นพื้นหลัง หลายภาพจะเป็นขณะที่ Vincent กำลังวาดอยู่, มีภาพวาดอีกา (ภาพสุดท้ายในหนัง) เห็นว่า Douglas ต้องฝึกหัดวาดอีกาจนคล่องมือ เพื่อให้สามารถวาดได้เหมือนจริงที่สุด และเราจะเห็นเขาเป็นคนวาดอีกาในภาพนั้นด้วย (ปกติจะเป็นมือคนอื่นวาด)
ตัดต่อโดย Adrienne Fazan ขาประจำของ Minnelli หนังเรื่องนี้ใช้ใช้การอ่านจดหมายระหว่าง Theo กับ Vincent เป็นเสียงพูดบรรยายดำเนินเรื่อง โดยตัดสลับกับขณะที่ Van Gogh กำลังสร้างสรรค์ผลงาน, การเดินทางเพื่อหาแรงบันดาลใจและเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ส่งผลต่อการวาดภาพ ฉากพวกนี้ผู้ชมต้องเลือกเอานะครับ ว่าจะฟัง Theo อ่านจดหมาย, ดู Van Gogh วาดรูป หรือคิดตามว่ารูปของ Van Gogh ที่กำลังวาดสื่ออะไร
เพลงประกอบโดย Miklós Rózsa สุดยอดคอมโพเซอร์ชื่อดัง ที่ประพันธ์เพลงประกอบหนังอย่าง Ben Hur (1959), The Thief of Bagdad (1940), Spellbound (1945) ได้ Oscar รวมแล้ว 3 ครั้ง น่าเสียดายที่ Lust for Life ไม่ได้เข้าชิงสาขาเพลงประกอบ, บรรยากาศของเพลง ให้ความรู้สึกลื่นไหล อ่อนไหว ต่อเนื่อง แต่มีความหม่นหมองมืดหม่นแฝงอยู่ เปรียบดั่งจิตใจกับ Van Gogh ที่จินตนาการถึงสรวงสวรรค์ แต่ตัวตนกลับตกอยู่ในนรก
ปัญหาชีวิตของ Van Gogh คือ ไม่มีใครที่จะตอบสนองความเข้าใจและความต้องการของเขาได้ ตอนต้นเรื่อง ขณะที่กำลังค้นหาเป้าหมายชีวิตตนเอง จึงได้พบว่าต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อผู้อื่น ซึ่งการได้ไปอยู่ในเหมืองทำให้เขาเข้าใจคนระดับรากหญ้า นี่ทำให้เขาเห็นถึงนรกและเหมารวมไปว่า โลกใบนี้คือนรกบนดิน ความต้องการของเขาต้องการนำแสงสว่างมาให้กับคนกลุ่มนี้ ตัวเขาเองก็เริ่มมองหาแสงสว่าง ใครก็ได้ที่สามารถดึงฉันออกไปสู่แสงสว่าง, เขาสารภาพรักต่อหญิงสาวคนหนึ่ง แต่เธอ… ไม่สามารถรับรักเขาได้ ไม่รู้ว่าเธอพูดเองหรือเปล่าที่ว่า รังเกียจ ขยะแขยงในตัว Van Gogh นั่นกลายเป็นความทรงจำฝั่งลึกที่ตอกย้ำความเลวร้ายของโลกมนุษย์, ต่อมาพบกับโสเภณี ได้อยู่ร่วมรักกันสักพักใหญ่ สิ่งที่ทำให้ Vincent เสียเธอไป เพราะแทนที่ผู้หญิงคนนี้จะพาเขาไปสู่แสงสว่าง แต่กลับจมดิ่งลึกลงไปอีก สิ่งที่ Vincent ได้รับไม่ใช่ความรัก มันคือความต้องการ (Passion) เขายังคงไม่เข้าใจว่าความรักคืออะไร, ต่อจากนั้นเขาเลือกเดินตาม passion ของตัวเอง เข้าใจถึงความหลงใหล (หลงคิดไปว่านี่คือความรัก) ทำให้เกิดสไตล์การวาดรูปที่เป็น Van Gogh ขึ้นมา, การได้มาอยู่ Paris ทำให้รู้จักกับศิลปินเก่งๆมากมาย แต่ศิลปินย่อมต้องยกผลงานตัวเองเหนือกว่าคนอื่น เช่นกันกับ Vincent จิตใจที่อ่อนแอทำให้เขาไม่สามารถทนรับคำวิจารณ์ใดๆได้เลย ไม่มีภูมิต้านทาน ใครก็ตามที่ว่ากล่าวตำหนิ เขาก็จะระเบิดอารมณ์ใส่ นี่อาจเป็นเหตุให้ Theo ขายผลงานของ Vincent ไม่ได้เลย (ทั้งชีวิตของ Vincent ขายภาพได้แค่ภาพเดียวเท่านั้น), ฟางเส้นสุดท้ายคือ Paul Gauguin ศิลปินคนที่เขาชื่นชม แต่นิสัยของทั้งสองแทบจะตรงข้ามกัน Van Gogh จึงเลือกที่จะไม่รับฟังใครอีก (ด้วยการตัดหูตัวเอง) หลังจากนั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช ไม่ต้องพบใคร ไม่ต้องคุยกับใคร จมอยู่กับตัวเอง จิตของเขาเป็นปกติ แต่มุมมองของเขาต่อโลกมันยังคงเหมือนเดิม (แก้ปัญหาไม่ตรงจุด) ออกจากโรงพยาบาลจิตเวชมาทั้งๆอย่างนั้น นี่ทำให้เขากลายเป็นระเบิดเวลา ใครที่ส่งกระแสจิตทางลบมาหาเขา หรือเกิดเหตุการณ์ความกระทบกระทั่งที่รุนแรง แม้แต่สวรรค์ในภาพวาดยังแปดเปลื้อน (จากภาพวาดทุ่ง เต็มไปด้วยอีกา) ระเบิดก็ทำงานทันที
สิ่งหนึ่งที่ขาดไป และหนังไม่ได้ให้คำอธิบายไว้คือ วัยเด็กเกิดอะไรขึ้นกับ Vincent (หนังข้ามมาตอนโตเลย) เขามีพ่อที่เข้มงวด แต่นั่นมันเพียงพอให้เขาพาตัวเองลงไปสู่ขุมนรกเลยเหรอ, ไม่มีใครที่สามารถตอบสนองความรักได้ … Theo ยังไงละ ทำไม Vincent มองไม่เห็น, ภาพของ Vincent มันคือสิ่งที่วาดฝันว่าอยากมี อยากเป็น อยากรู้สึก เพราะความอยาก (Lust) ทำให้เกิดชีวิต (in Life), สิ่งที่ฆ่า Vincent van Gogh คือตัวของเขาเอง เขาวาดภาพของความฝัน ด้วยการจินตนาการให้ตัวเองอยู่ในนั้น แต่ความจริงไม่มีใครเข้าไปอยู่ในนั้นได้ โลกมันคงสวยงามถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนภาพวาด Vincent ไปถึงจุดที่อดทนรับการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ได้ เขาทรมานเพราะความดิ้นรนในการมีชีวิต จึงหนีเข้าไปอยู่ในความฝัน ไม่ยอมรับโลกความจริงอีกต่อไป การตายคงเป็นวิธีเดียวที่ให้ตนไปสู่สรวงสวรรค์
การที่ Vincent เป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษ Theo ด้วย เพราะว่าตามใจพี่ชายอย่างหนัก คงเพราะพ่อเข้มงวดกับพวกเขาตั้งแต่เด็ก น้องจึงต้องพึ่งพี่ เห็นว่าตอนเด็ก Theo ต้องพึ่งพา Vincent เป็นอย่างมาก พอโตขึ้นเหมือนว่า Theo เพราะรักและต้องการตอบแทนพี่ชาย เขาจึงอุปถัมถ์ช่วยเหลือ แต่กลับทำให้ Vincent ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง โตแล้วแต่ก็กลับพึ่งพาตัวเองไม่ได้ Gauguin จะถือว่าตรงข้าม ศิลปินไส้แห้งที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อแลกกับการได้กินข้าว การวาดรูปเพื่อสนองใจตัวเองไม่ได้ต้องการทำเพื่อคนอื่น, สิ่งที่ Vincent ชอบในตัว Gauguin คือความเท่ห์ และเขาเป็นคนแรก(เลยมั้ง)ที่ชื่นชมภาพวาดของ Vincent แบบนี้จะไม่ให้ชอบได้ยังไง, คำพูดของ Gauguin ตอนที่เถียงกับ Vincent แทงใจดำอย่างมาก “เพราะฉันไม่ได้มีพี่ที่แสนดีเหมือนนายนิ” ผมคิดว่า Vincent รู้ตัวเองนะครับ เพราะ Theo ตามใจเขาอย่างหนัก เขาถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งนั่นทำให้ Vincent เกิดอาการต่อต้าน (เพราะมันเหมือนดูถูกน้องชาย) ข้าก็ดูแลตัวเองได้ … ไม่รู้ความต้องการพิสูจน์ แปรสภาพไปเป็นตัดหูตัวเองได้ยังไง
ผมไม่คิดว่า Vincent เป็นคนบ้านะครับ แค่คนส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าใจเขา ในบริบทของหนังคิดวิเคราะห์ดีๆก็อาจจะพอมองเห็น ความจริงมันอาจซับซ้อนมากกว่าหรือน้อยกว่าไม่มีใครรู้ อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น หลักฐานมันไม่แน่นอนตอนที่ Vincent ตาย เขาถูกกระสุนปืนเข้าที่ท้อง (เพิ่งเคยเจอ คนจะฆ่าตัวตาย แทนที่จะยิงสมอง หัวใจ หรือกรอกปาก แต่กลับยอมทรมานยิงใส่ท้องตัวเอง) เหมือนกลัวว่าตัวเองจะตาย เลยยิงใส่ท้องซึ่งมีโอกาสรอดได้ ในหนังเรื่อง Van Gogh จะไม่บอกว่าเกิดอะไรขึ้น (อยู่ดีๆโดนยิงมาเลย) และตอน Vincent กลับมาที่ห้อง เขาไม่ต้องการให้หมอผ่าเอากระสุนออก (นี่ก็ถือเป็นการเรียกร้องความสนใจอย่างหนึ่งนะครับ) หมอก็ดันเคารพสิทธิ์ของคนไข้เหลือเกิน อยากตายใช่ไหม ก็ตายไปแล้วกันนะ Theo ก็ไม่รู้จะทำยังไง ไม่อยากฝืนใจพี่ชาย ผมเชื่อว่าถ้ามีใครสักคนที่เข้าใจ Vincent อย่างถ่องแท้ หมอนี่ต้องใช้กำลังบังคับ ปากบอกไม่แต่ใจนะเรียกร้อง คนแบบนี้มันต้องบังคับ ให้ทำตามใจอยากไปก็เหลิงแบบในหนังนี่แหละ ไม่มีวันเข้าใจตัวเองได้หรอก …
ชะตากรรมของ Van Gogh ถือว่าน่าเศร้า ที่ไม่มีใครตอบสนองสิ่งที่อยู่ในใจของเขาได้ ไม่มีใครพยายามทำความเข้าใจเขา ถ้ามีเพียงคนดีๆสักคนเข้ามาในชีวิต เชื่อว่าอะไรๆคงเปลี่ยนไปมาก ภาพวาดก็อาจจะไม่ได้ออกมาสวยสดงดงามขนาดนี้ ผมมองหนังเรื่องนี้ไว้เป็นข้อคิด คติสอนใจสำหรับคนที่มองไม่เห็นค่าความสำคัญของตัวเอง คนที่ฆ่าตัวตายมักจะมีลักษณะคล้ายๆกันอย่างนี้ คือบิดเบือนความคิดบางอย่าง มองข้ามอะไรหลายๆอย่าง เห็นโลกแคบมากๆ และเฉพาะในมุมที่ตนอยากมอง ใครพูดอะไรมาก็ผิดหมด ไม่รับฟัง อารมณ์ฉุนเฉียว ใครมีเพื่อนหรือญาติอาการคล้ายๆแบบนี้ต้องระวังให้มากนะครับ เพราะมีโอกาสที่เขาจะฆ่าตัวตายสูงมาก, นอกจากประเด็นนี้แล้ว ภาพความสวยงาม หนังก็ไม่ได้มีสาระอะไรให้บันเทิงใจ เป็นหนังชีวประวัติที่ดูแล้วจะเครียดเสียเปล่าๆ
หนังเรื่องนี้ไม่เหมาะกับเด็กเล็กนะครับ แนะนำว่าโตมาสักหน่อย 13+ น่าจะพอไหว ความยอดเยี่ยมของหนังอยู่ที่การแสดง ภาพสวย เพลงเพราะ แต่ที่ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่คือนิสัยของ Van Gogh (เหมาะกับการสร้างเป็นหนัง แต่ไม่เหมาะกับสอนใจคนอื่น) แนะนำกับศิลปินทั้งหลาย เด็กเรียนศิลป์ ผู้ชื่นชอบงานศิลปะภาพวาดของ Van Gogh และนักจิตวิเคราะห์ทั้งหลาย
[…] Lust for Life (1956) : Vincente Minnelli ♥♥♥ ชีวประวัติจิตรกรเอกของโลก Vincent van Gogh เล่าถึงแรงบันดาลใจ แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ไปจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Irving Stone กำกับโดย Vincente Minnelli (An American in Paris-1951) นำแสดงโดย Kirk Douglas (Spartacus-1960) รับบท Vincent Van Gogh ว่ากันว่านี่เป็นการแสดงที่ทุ่มเทที่สุดและยอดเยี่ยมที่สุดของเขาเลย […]