My Night at Maud’s (1969) : Éric Rohmer ♥♥♥♥
ค่ำคืนวันคริสต์มาสกับ Maud (รับบทโดยสุดสวย Françoise Fabian) ที่แม้มีเพียงการพูดคุยสนทนา (All-Talk) กลับทำให้ Jean-Louis Trintignant ผู้เคร่งศาสนา ยึดถือมั่นในอุดมการณ์ กล้าลุกขึ้นมากระทำสิ่งบางสิ่งอย่างตอบสนองความต้องการของหัวใจ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผกก. Éric Rohmer เคยกล่าวเอาไว้ว่า ‘Six Moral Tale’ ไม่จำเป็นว่าต้องมีข้อคิด คติสอนใจ คุณธรรมอะไรสอดแทรกอยู่ ขอแค่ให้ผู้ชมได้ขบครุ่นถึงบางสิ่งอย่าง บังเกิดการโต้ถกเถียงทางเลือกของตัวละคร สำหรับเขาแล้วนั่นแหละคือ ‘Moral’ ของศิลปะภาพยนตร์
ผมเลือกจะข้าม ‘Moral Tales’ เรื่องที่สอง Suzanne’s Career (1963) เพราะเกิดความหงุดหงิดกับอะไรบางอย่าง จากนั้นเกิดความโล้เล้ลังเลใจว่าจะรับชม La Collectionneuse (1967) หรือ My Night at Maud’s (1969) แต่ก็เลือกตามลำดับความตั้งใจของผกก. Rohmer ที่ต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นก่อน (ลำดับที่สาม) แต่โปรเจคเกิดความล่าช้าเลยจำต้องเลื่อนโปรดักชั่นออกไปเป็นปีๆ … เป็นเหตุให้ La Collectionneuse (1967) ซึ่งถือเป็น ‘Moral Tales’ ลำดับที่สี่ สร้างเสร็จ ฉายก่อนหน้า
รับชม My Night at Maud’s (1969) ที่มีเพียงการพูดคุยสนทนา (All-Talk) อาจสร้างความน่าเบื่อหน่ายให้ใครต่อใคร แต่ผมแนะนำให้สังเกตภาษากาย (body language) โดยเฉพาะค่ำคืนกับ Maud เดี๋ยวลุก-เดี๋ยวเดิน ยักย้ายตำแหน่งที่นั่ง เก้าอี้ เตียงนอน แม้แต่มุมกล้อง รายละเอียดพื้นหลังยังแฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่าง ถ้าฟังบทสนทนารู้เรื่อง สามารถครุ่นคิดตามเหล่านี้ จะพบว่าไม่มีวินาทีน่าเบื่อหน่ายเลยสักนิด!
การสนทนายาวๆในหนังของผกก. Rohmer ผมรู้สึกว่ามีความลื่นไหล สงบงาม แลดูเป็นธรรมชาติ ท้าทายศักยภาพในการครุ่นคิดวิเคราะห์ เหมือนฟังปราชญ์โต้ถกเถียงปรัชญา … น่าสนใจกว่าฉากสนทนายาวๆในหนังของ Jean-Luc Godard ส่วนใหญ่คุยแต่เรื่องไร้สาระ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเกี้ยวพาราสี พระเอกแม้งสนแต่จะปรี้ กระโดดไปกระโดดมาอยู่นั่น!
หนังของ Rohmer ยังมีลักษณะขั้วตรงกันข้ามกับผลงานของ John Cassavetes ที่เอาแต่ใส่อารมณ์ ความเกรี้ยวกราด ชักแม่น้ำทั้งห้าจนเขื่อนแตก ตะโกนเสียงแหบแห้ง สรรพสรรหาข้ออ้างโน่นนี่นั่นเพื่อขายศักยภาพของนักแสดง … นี่ก็แล้วแต่รสนิยมความชื่นชอบส่วนบุคคลนะครับ
Éric Rohmer ชื่อเกิด Jean Marie Maurice Schérer หรือ Maurice Henri Joseph Schérer (1920-2010) นักเขียน นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nancy (บ้างก็ว่า Tulle), Meurthe-et-Moselle ในครอบครัวคาทอลิก (แต่เจ้าตัวบอกว่าเป็นอเทวนิยม) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา และศาสนศาสตร์
ปล. Éric Rohmer เป็นคนไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัว อย่างชื่อจริงและสถานที่เกิด จงใจบอกกับนักข่าวถูกๆผิดๆ ขณะที่ชื่อในวงการเป็นส่วนผสมระหว่างผกก. Erich von Stroheim และนักเขียน Sax Rohmer (ผู้แต่ง Fu Manchu)
หลังเรียนจบ Rohmer ทำงานครูสอนหนังสือที่ Clermont-Ferrand พอสิ้นสุดสงครามโลกตัดสินใจย้ายสู่กรุง Paris กลายเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ ตีพิมพ์นวนิยาย Les Vacances (1946) ระหว่างนั้นเองเรียนรู้จักภาพยนตร์จาก Cinémathèque Française สนิทสนม Jean-Luc Godard, François Truffaut, Claude Chabrol, Jacques Rivette, จากนั้นเข้าร่วมนิตยสาร Cahiers du Cinéma, โด่งดังจากบทความ Le Celluloïd et le marbre (1955) แปลว่า Celluloid and Marble ทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับศิลปะแขนงอื่น, นอกจากนี้ยังร่วมกับ Chabrol เขียนหนังสือ Hitchcock (1957) เกี่ยวกับศาสตร์ภาพยนตร์เล่มแรกๆที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า สื่อชนิดนี้ไม่ได้แค่ความบันเทิงเท่านั้น
Rohmer เริ่มสรรค์สร้างหนังสั้น Journal d’un scélérat (1950), จากนั้นเขียนบท/ร่วมกำกับหนังสั้นกับ Jean-Luc Godard อยู่หลายเรื่อง, จนกระทั่งภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Signe du lion (1959) แม้ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานยุคแรกๆของ French New Wave
สำหรับ Contes Moraux หรือ (Six) Moral Tales ได้แรงบันดาลใจจากโคตรหนังเงียบ Sunrise: A Song of Two Humans (1927) ของปรมาจารย์ผู้กำกับ F. W. Murnau ที่มีเรื่องราวชายหนุ่มแต่งงานครองรักภรรยา แต่แล้วถูกเกี้ยวพาราสีจากหญิงสาวอีกคนจนหลงผิด พอถูกจับได้ก็พยายามงอนง้อขอคืนดี ก่อนจบลงอย่างสุขี Happy Ending
[these stories’ characters] like to bring their motives, the reasons for their actions, into the open, they try to analyze, they are not people who act without thinking about what they are doing. What matters is what they think about their behavior, rather than their behavior itself.
Éric Rohmer
เกร็ด: คำว่า moraliste ในภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีความหมายแบบเดียวกับ moralist (ที่แปลว่าคุณธรรม ศีลธรรม) แต่คือลักษณะความเชื่อมั่นทางความคิดของบุคคล อาจจะอ้างอิงหรือไม่อ้างอิงศีลธรรมจรรยาของสังคมก็ได้ทั้งนั้น หรือเรียกว่าอุดมคติส่วนตน/ความเชื่อส่วนบุคคล
a moraliste is someone who is interested in the description of what goes on inside man. He’s concerned with states of mind and feelings. I was determined to be inflexible and intractable, because if you persist in an idea it seems to me that in the end you do secure a following.
ช่วงระหว่างปี 1964-66, ผกก. Rohmer เป็นมือปืนรับจ้างถ่ายทำสารคดีขนาดสั้น En profil dans le texte (แปลว่า In profile in the text) จำนวน 14 เรื่องให้กับ Office de Radiodiffusion Télévision Française (ORTF) และ Télévision Scolaire หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์การศึกษา (Educational Films) ชื่อว่า l’Entretien sur Pascal (แปลว่า The interview on Pascal) เกี่ยวกับ Blaise Pascal (1623-62) นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักประดิษฐ์ นักปรัชญาผู้เคร่งครัดศาสนาคริสต์
- ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังคือการตั้งกฎของ Pascal (หลักการส่งผ่านความดันของของไหล P=ρgh), ประดิษฐ์บารอมิเตอร์, เครื่องอัดไฮดรอลิก (ได้รับการยกย่องโดยการนำชื่อมาตั้งเป็นหน่วย Pascal, Pa)
- ผลงานทางคณิตศาสตร์ อาทิ ครุ่นคิดสามเหลี่ยม Pascal, บุกเบิกการสร้างเครื่องคิดเลข (ได้รับการยกย่องด้วยการตั้งชื่อหนึ่งในภาษาคอมพิวเตอร์ Pascal), ร่วมพัฒนาทฤษฎีความน่าจะเป็น ฯลฯ
- ส่วนเรื่องปรัชญา/ศาสนา โด่งดังกับข้อคิดเห็นชื่อว่า การเดิมพันของปัสกาล (Pascal’s wager) การกระทำของมนุษย์เป็นเหมือนกับการเดิมพันชีวิตหลังความตายไว้กับข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่?
- บุคคลผู้มีความครุ่นคิดเป็นเหตุเป็นผล ควรจะใช้ชีวิตเสมือนว่าพระเจ้ามีอยู่จริง และควรเชื่อในเรื่ององพระเจ้า เพราะหากพระเจ้าไม่มีอยู่จริงบุคคลนั้นจะสูญเสียผลประโยชน์เพียงระดับหนึ่ง
- ในขณะที่หากพระเจ้ามีอยู่จริง บุคคลนั้นจะได้รับผลประโยชน์อันมหาศาลเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด (ชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์) และหลีกเลี่ยงการเสียผลประโยชน์อันมหาศาลเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด (ชีวิตนิรันดร์ในนรก) ไปพร้อมๆกัน
‘การเดิมพันของ Pascal’ คือสิ่งที่สร้างความพิศวงให้ผกก. Rohmer เพราะตนเองก็เติบโตในครอบครัวคาทอลิก แต่ก็ไม่ได้มีความเชื่อศรัทธาศาสนาขนาดนั้น เลยนำแนวคิดดังกล่าวมาขยับขยาย พัฒนาจนกลายเป็นบทภาพยนตร์ โดยใช้พื้นหลังคาบเกี่ยวช่วงเทศกาลคริสต์มาส (วันประสูติของพระเยซู)
เกร็ด: ไม่เพียงแค่ My Night at Maud’s (1969) แต่ผกก. Rohmer ยังนำ ‘การเดิมพันของ Pascal’ มาเสริมเติมต่อภาพยนตร์ A Tale of Winter (1992)
ผกก. Rohmer นำบทหนังพัฒนาแล้วเสร็จ ไปขอความคิดเห็นจากพรรคพวกพ้อง Cahiers du Cinéma ปรากฎว่า François Truffaut อ่านแล้วบังเกิดความชื่นชอบมากๆ กลายเป็นตัวตั้งตัวตี อาสาระดมทุนสร้าง รวบรวมงบประมาณได้จำนวนหนึ่ง (คล้ายๆตอนที่ Truffaut เคยช่วยเหลือ Godard จนได้โอกาสสรรค์สร้าง Breathless (1960))
ความตั้งใจของผกก. Rohmer ต้องการให้ My Night at Maud’s (1969) คือเรื่องราวลำดับที่สามของ ‘Six Moral Tales’ ต่อจาก The Bakery Girl of Monceau (1963) และ Suzanne’s Career (1963) แต่ติดขัดนักแสดงนำ Jean-Louis Trintignant คิวงานช่วงปลายปีนี้ไม่ว่าง ก็เลยจำต้องเลื่อนแผนการเป็นปีถัดไป (ตั้งใจจะถ่ายช่วงคริสต์มาส และมีหิมะตกให้จงได้!)
เพราะคิวงานที่ว่างลงนั้นเอง ผกก. Rohmer เลยครุ่นคิดพัฒนาโปรเจคถัดไป La Collectionneuse (1967) กำหนดให้คือเรื่องราวลำดับที่สี่ของ ‘Six Moral Tales’ แต่สร้างเสร็จสิ้น ออกฉายก่อนซะงั้น!
ชายนิรนาม (จริงๆตัวละครไม่มีชื่อ แต่ใครๆต่างเรียกกันว่า Jean-Louis เพราะรับบทโดย Jean-Louis Trintignant) วิศวกรหนุ่มผู้มีศรัทธาศาสนาอย่างแรงกล้า พบเจอหญิงสาวคนหนึ่งระหว่างพิธีมิสซา เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจ ต้องการให้เธอกลายมาคู่ครองแต่งงาน เฝ้ารอคอยโอกาสที่ยังมาไม่ถึงสักที
วันหนึ่ง Jean-Louis บังเอิญพบเจอกับเพื่อนเก่า Vidal (รับบทโดย Antoine Vitez) พูดคุยถกเถียงถึงทฤษฎีของ Pascal แล้วชักชวนไปพบเจอหญิงสาวที่กำลังคบหา มีเพศสัมพันธ์บ้างบางครั้งครา หญิงหม้ายลูกติด Maud (รับบทโดย Françoise Fabian)
ค่ำคืนวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม เมื่อมาถึงห้องพักของ Maud ปรากฏว่า Vidal พยายามเกี้ยวพาราสี หยอกเย้าด้วยภาษากาย แต่เธอกลับรักษาระหว่าง แล้วแสดงความสนใจ Jean-Louis หลังจากขับไล่อีกฝ่ายกลับบ้านไป หลงเหลือเพียงสองต่อสอง อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป???
วันถัดมา Jean-Louis บังเอิญสวนทางกับหญิงสาวที่ตกหลุมรัก Françoise (รับบทโดย Marie-Christine Barrault) รีบตรงเข้าไปทักทาย แสดงความต้องการรู้จัก โชคชะตานำพาให้รถติดหิมะระหว่างขับพาเธอไปส่งที่หอพัก พวกเขาเลยมีโอกาสอยู่ร่วมห้องสองต่อสอง อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป???
สุดท้ายแล้ว Jean-Louis จะเลือกใครระหว่างหญิงสาวที่ตกหลุมรัก Françoise หรือเธอคนที่พยายามเกี้ยวพาราสี Maud เคยอาศัยหลับนอนในห้องเดียวกันด้วยกัน
Jean-Louis Xavier Trintignant (1930-2022) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Piolenc, Vaucluse บิดาเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง คาดหวังบุตรชายโตขึ้นกลายเป็นนักกฎหมาย แต่ภายหลังค้นพบความสนใจด้านการแสดง อพยพย้ายสู่ Paris เริ่มต้นมีผลงานละครเวที โด่งดังทันทีจากภาพยนตร์ And God Created Woman (1956), ผลงานเด่นๆ อาทิ Il Sorpasso (1962), A Man and a Woman (1966), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Great Silence (1966), The Man Who Lies (1968), Z (1969), My Night at Maud’s (1969), The Conformist (1970), Confidentially Yours (1983), Three Colors: Red (1994), Amour (2012) ฯลฯ
วิศวกรหนุ่มนิรนามที่ใครต่อใครเรียกว่า Jean-Louis เรียนจบนอก ชอบความสันโดษ ทำงานต่างประเทศอยู่หลายปี เมื่อเดินทางกลับฝรั่งเศสปักหลักอยู่ Clermont-Ferrand เมืองที่ไม่มีใครรับรู้จัก แล้วพยายามมองหาใครสักคนเคียงข้างกาย จนกระทั่งได้พบเจอ Françoise ระหว่างเข้าพิธีมิสซา เกิดความตั้งใจอย่างแรงกล้า ต้องการได้เธอมาครองคู่เป็นภรรยา ครุ่นคิดวางแผน คำนวณหาโอกาส จนแล้วจนรอดยังไม่พบความเป็นไปได้นั้นสักที
กระทั่งวันหนึ่งโชคชะตานำพาให้มาพบเจอเพื่อนเก่าสมัยเรียน Vidal พูดคุยถกเถียงแนวคิดของ Pascal จากนั้นถูกลากพาตัวมาพบเจอหญิงสาว Maud โดยไม่รู้ตัวเธอพยายามเกี้ยวพาราสี ใช้ภาษากายประชิดเข้าหา แต่ Jean-Louis ก็สร้างกำแพงอย่างหนาขึ้นมาขวางกั้น
ค่ำคืนดังกล่าวจึงจุดประกายความเปลี่ยนแปลงให้กับ Jean-Louis วันถัดมาเมื่อมีโอกาสสวนทางกับ Françoise จึงรีบตรงรี่เข้าไปทักทาย แสดงความต้องการรู้จัก สานสัมพันธ์ บอกเธอว่าตกหลุมรัก ยินยอมทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ โดยไม่สนสมการคณิตศาสตร์อีกต่อไป!
ต้องถือว่านี่เป็นบทบาทแนวถนัดของ Trintignant เห็นกี่เรื่องต่อกี่เรื่องก็มักรับบทตัวละครเครียดๆ สีหน้าบึ้งตึง พยายามสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น ซุกซ่อนเร้นธาตุแท้จริงไว้ภายใน แต่เมื่อไหร่เปิดเผยตัวตนออกมา รอยยิ้ม ใบหน้าเริงร่า ราวกับบุคคลละคน งดงามตราตรึง หนึ่งในบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด!
ความท้าทายของบทบาทนี้คือการแสดงออกภาษากาย นั่ง-ยืน-เดิน โอบกอด สัมผัสลูบไล้ ต้องชมไดเรคชั่นของผกก. Rohmer ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจมากๆ ผมชอบสุดๆก็ฉากรับประทานอาหาร เขี่ยๆอยู่นั่นแหละไม่ได้แดกสักที (มันมีเหตุผลซ่อนเร้นอยู่นะครับ ไว้เดี๋ยวจะอธิบายอีกที)
มันจะมีเช้าตรู่วันคริสต์มาส เมื่อหนุ่มสาวเพิ่งตื่นนอน สะลึมสะลือ โดยไม่รู้ตัวโอบกอดจูบ ผมมองว่านั่นคือวินาทีที่ Jean-Louis ครุ่นคิดทำลายกำแพงกีดขวางกั้น พร้อมจะสานสัมพันธ์ ร่วมรักหลับนอนกับ Maud แต่เธอกลับตัดสินใจวิ่งหนีเข้าอีกห้อง ตระหนักว่านี่คือการก้าวล้ำ ข้ามพรมแดนระหว่างเพื่อน-คนรัก ไม่ต้องการทำลายมิตรแท้หาได้ยากยิ่ง (เพราะหนุ่มๆส่วนใหญ่แม้งสนแต่จะปรี้)
Françoise Fabian ชื่อจริง Michèle Cortes De Leon y Fabianera (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Algiers, French Algeria วัยเด็กมีความชื่นชอบเปียโนและฮาร์โมนิก้า พออพยพย้ายกลับฝรั่งเศสช่วงต้นทศวรรษ 50s เข้าศึกษาการแสดงยัง Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) มีโอกาสพบเจอ Jean-Paul Belmondo และ Jean-Pierre Marielle จากนั้นกลายเป็นนักแสดงละครเวที ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ The Thief of Paris (1967), My Night at Maud’s (1969), Belle de Jour (1967), Out 1 (1971), Happy New Year (1973) ฯลฯ
รับบท Maud สาวหม้ายลูกติด ใช้ชีวิตอย่างเสรี ไม่ยี่หร่าอะไรใคร สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ คบหา ร่วมรักหลับนอน Vidal เพียงตอบสนองความใคร่ กระทั่งได้รับการแนะนำให้รับรู้จัก Jean-Louis บังเกิดความเสน่ห์หา จึงพยายามเกี้ยวพาราสี หาหนทางทำลายกำแพงที่เขาสร้างขึ้นมากีดขวางกั้น เมื่อทำสำเร็จก็เก็บความทรงจำค่ำคืนนั้นไว้ภายในจิตใจ
แม้เวียนวนอยู่ในวงการภาพยนตร์มาตั้งแต่ทศวรรษ 50s แต่ผลงานสร้างชื่อให้ Fabian กลับเพิ่งคือ My Night at Maud’s (1969) ด้วยใบหน้าทรงกลมเหมือนไข่ ช่างมีความยั่วเย้ายวนรันจวนใจ ชวนให้หนุ่มๆเคลิบเคลิ้มหลงใหล อีกทั้งการแสดงออกภาษากาย พยายามหยอกเย้า เล่นแง่เล่นงอน อ่อยเหยื่อชัดเจนขนาดนั้น คนทั่วไปคงมิอาจควบคุมตนเอง หน้ามืดตามัว ขอให้ได้ร่วมรักหลับนอนกับเธอสักครั้ง
ต้องชมในการใช้ภาษากายของ Fabian ทั้งสายตาหยอกเย้า คำพูดยียวน ล้วนสร้างเสน่ห์ให้ตัวละครอย่างน่าหลงใหล แม้เธออาจดูไม่ได้ปราชญ์เปรื่องเมื่อเทียบกับ Jean-Louis หรือ Vidal แต่สามารถใช้สันชาตญาณ(หญิง) เข้าใจความต้องการบุรุษเพศ เลือกทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจของตนเองได้เป็นอย่างดี
Maud เป็นตัวละครที่ถือว่าขั้วตรงกันข้ามกับ Jean-Louis เพศหญิง-ชาย โหยหาเสรีภาพ-เคร่งครัดในตนเอง กระทำสิ่งตอบสนองใจอยาก-ครุ่นคิดวางแผนดั่งสมการคณิตศาสตร์ ฯลฯ นั่นกระมังทำให้พวกเขาสามารถเติมเต็ม ตกหลุมรัก กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กัน ถึงอย่างนั้นก็มิอาจครองคู่แต่งงานฉันท์สามี-ภรรยา เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีความยึดถือมั่นใน ‘Moral’ ที่แตกต่างกัน
Marie-Christine Barrault (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris บิดาทำงานวงการละครเวที แต่พลันด่วนเสียชีวิตตั้งแต่เมื่อเธอยังเป็นเด็ก ได้รับการเลี้ยงดูจากย่า ร่ำเรียนการแสดงจากลุงและป้า Jean-Louis Barrault และ Madeleine Renaud พอโตขึ้นเข้าศึกษาต่อยัง Conservatoire national supérieur d’art dramatique (CNSAD) จบออกมามีผลงานละครเวที, ละครโทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก My Night at Maud’s (1969), โด่งดังระดับนานาชาติจาก Cousin Cousine (1975) ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress
รับบท Françoise นักศึกษาปริญญาโท ชีววิทยา ภายนอกดูละอ่อนเยาว์วัย บริสุทธิ์ไร้เดียงสา โดยไม่รู้ตัวตกเป็นที่หมายปองของชายวัยกลางคน Jean-Louis ซึ่งเมื่อได้รับการทักทาย ดูแล้วคงเกิดความชื่นชอบประทับใจ เลยยินยอมตอบตกลงสานสัมพันธ์ แต่เบื้องหลังของเธอนั้น เคยตกหลุมรักชายอีกคนที่มีภรรยาอยู่แล้ว (ผมคาดว่าไม่ Vidal ก็สามีของ Maud) เลยรู้สึกผิดเพราะนั่นคือสิ่งขัดต่อหลักศาสนา
แซว: ขณะที่ Jean-Louis คือวิศวกร สื่อถึงอาชีพที่ต้องใช้การครุ่นคิดคำนวณ ทำสิ่งต่างๆตัวหลักการเหตุผล สมการคณิตศาสตร์, Françoise เป็นนักศึกษาชีววิทยา ศึกษาเกี่ยวกับชีวิต และสิ่งมีชีวิต หรือก็คือตัวแทนของผู้หญิงทั่วๆไป
บทบาทนี้ดูจืดชืดไปเลยเมื่อเทียบกับ Maud อีกทั้งยังเป็น ‘object of desire’ ที่ถูกเขียนบทมาให้ต้องลงเอยกับพระเอก ใส่ปมอดีตที่ไม่ค่อยจำเป็น แถมการแสดงของ Barrault ยังดูประหม่า พะว้าพะวัง (อาจเพราะเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกกระมัง) แต่ภาพรวมถือว่าเหมาะสมกับตัวละครเป็นอย่างดี
ผมสังเกตว่าตัวละครนี้ไม่ได้มีภาษากายที่โดดเด่นสักเท่าไหร่ (มีเพียงสีหน้าที่ดูวิตกกังวล กลัวๆเกรงๆ พยายามรักษาระยะห่างเอาไว้) อาจเพราะต้องการสื่อถึงความยังบริสุทธิ์ไร้เดียงสา เลยไม่รู้จักลูกเล่น กลเกม ลีลาของพวกมากประสบกามทั้งหลาย แต่สุดท้ายก็พ่ายให้กับคารมของ Jean-Louis คาดเดาไม่ยากว่าเธอคงเป็นภรรยาประเภทช้างเท้าหลัง ศิโรราบต่อสามี ตามอย่างวิถีคาทอลิก
ถ่ายภาพโดย Néstor Almendros Cuyás (1930-92) ตากล้องสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona แล้วหลบลี้หนีภัย (จากจอมพล Francisco Franco) มาอาศัยอยู่ประเทศ Cuba จากนั้นไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังกรุงโรม Centro Sperimentale di Cinematografia, หวนกลับมาถ่ายทำสารคดี Cuba Revolution (1959) พอถูกแบนห้ามฉายก็มุ่งสู่ Paris กลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น French New Wave ร่วมงานขาประจำ Éric Rohmer และ François Truffaut ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Days of Heaven (1978) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, Kramer vs. Kramer (1979), The Blue Lagoon (1980), Sophie’s Choice (1982) ฯ
ตั้งแต่ที่ Almendros อพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ก็มีโอกาสถ่ายทำสารคดีฉายโทรทัศน์ของผกก. Rohmer เกิดความประทับใจในวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะการถ่ายแสงธรรมชาติออกมาได้อย่างสวยสดงดงาม ไม่ย่อหย่อนไปว่า Raoul Coutard เลยชักชวนมาเป็นตากล้องภาพยนตร์ตั้งแต่ La Collectionneuse (1967), My Night at Maud’s (1969), Claire’s Knee (1970), Love in the Afternoon (1972) ฯลฯ
Some people think Rohmer is in league with the devil. Months before, he had scheduled the exact date for shooting the scene when it snows; that day, right on time, it snowed, and the snow lasted all day long, not just a few minutes. It is not just a question of luck; the key lies in Rohmer’s detailed preparation.
Néstor Almendros กล่าวถึงการร่วมงานผกก. Éric Rohmer
งานภาพในหนังของผกก. Rohmer เต็มไปด้วยรายละเอียด ‘mise-en-scène’ การจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง ระยะภาพ ตำแหน่งทิศทางตัวละคร ล้วนมีนัยยะซุกซ่อนเร้น ด้วยลักษณะของ ‘formalism’ ดำเนินไปตามลำดับ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ใบหน้าผู้พูด ปฏิกิริยาผู้ฟัง แล้วตัดไปภาพมุมกว้างเห็นทั้งสองฟากฝั่ง
ช่วงองก์แรกๆของหนัง (วันที่ 20-24 ธันวาคม) จะนำพาผู้ชมออกท่องเที่ยวโดยรอบเมือง Clermont-Ferrand, Puy-de-Dôme เพื่อเป็นการสร้างความมักคุ้นเคยกับสถานที่และช่วงเวลา (เทศกาลคริสต์มาส) เพราะเมื่อเข้าสู่ค่ำคืนก่อนคริสต์มาสอีฟกับ Maud (My Night at Maud’s) ราวกับโลกภายนอกหยุดนิ่ง เรื่องราวจมปลักอยู่ภายในห้องพักกว่า 40+ นาที และหลังจากช่วงเวลาแห่งความทรงจำพานผ่านไป ไม่เพียงแค่ตัวละครที่มีมุมมองโลกทัศน์ปรับเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศภายนอกยังปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน แลดูราวกับโลกอีกใบ ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
แซว: แม้หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง Clermont-Ferrand แทบทั้งหมด แต่ห้องพักของ Maud กลับถ่ายทำในสตูดิโอที่ Rue Mouffetard, กรุง Paris
วิหารแห่งนี้คือ Basilica of Notre-Dame du Port ประจำเมือง Clermont-Ferrand, Puy-de-Dôme ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรม Romanesque สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 11th-12th แล้วมีการต่อเติมโน่นนี่นั่น บูรณะนับครั้งไม่ถ้วน จนได้รับเลือกเป็นมรดกโลก UNESCO World Heritage เมื่อปี 1998
เกร็ด: วิหารแรกสุดสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 6th โดย Saint Avitus ผู้เป็น Bishop of Clermont แต่ต่อมาถูกเผาทำลายโดยพวก Normans ในช่วงศตวรรษที่ 10th
ใครที่เคยรับชมผลงานของบรรดาผู้กำกับรุ่น French New Wave ในช่วงต้นทศวรรษ 60s น่าจะมักคุ้นสไตล์ลายเซ็นต์ แบกกล้อง ออกไปถ่ายทำบนท้องถนน บันทึกภาพผู้คน ตึกรามบ้านช่อง ซึ่งเหตุผลที่ผกก. Rohmer ต้องการถ่ายทำหนังในช่วงคริสต์มาสจริงๆ ก็เพื่อรายละเอียดเล็กๆอย่างการประดับตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับเทศกาล ระหว่างฉากขับรถขณะนี้ พบเห็นบรรยากาศสองข้างทาง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายดาวประดับฉากสักดวงเดียว!
วินาทีที่ Jean-Louis บีบแตรใส่ Françoise เมื่อพบเจอค่ำคืนวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม ผมสังเกตเห็นแวบๆวงกลมห้าห่วง เกิดความเอะใจนั่นมันสัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิกไม่ใช่เหรอ? ลองค้นหาข้อมูลก็พบว่าฝรั่งเศสกำลังจะเป็นเจ้าภาพ Winter Olympics ณ Grenoble ระหว่างวันที่ 6-18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1968 น่าจะใกล้ๆกับช่วงเวลาถ่ายทำ
กาลเวลาได้ทำผลงานของบรรดาผู้กำกับรุ่น French New Wave ทรงคุณค่ามากๆ เพราะคือการเก็บบันทึกภาพแห่งประวัติศาสตร์ ‘Time Capsule’ ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นเชยชม
ผมลองค้นหาข้อมูลเล่นๆว่าชื่อร้านอาหาร Le Suffren มีความหมายว่าอะไร? (v.) be enough, be sufficient, รู้สึกเพียงพอดีในตนเอง มันช่างเป็นชื่อร้านที่พอเหมาะพอเจาะกับตัวละคร Jean-Louis เสียจริง!
ปล. ร้านอาหารแห่งนี้ Le Suffren Bar ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้วนะครับ
ผมขออธิบายลักษณะของ ‘formalism’ สักหน่อยก็แล้ว โดยใช้การสนทนาระหว่าง Jean-Louis กับ Vidal ในร้านอาหาร Le Suffren สังเกตทั้งสามช็อตนี้มีการไล่ระยะจาก Long Shot -> Medium Shot -> Close-Up จริงๆจะตัดสลับไประหว่างผู้พูด-ผู้ฟัง (นำมาแค่มุมของ Trintignant ก็น่าจะพอเห็นภาพ) สามารถสื่อถึงระดับความเข้มข้นของการพูดคุย โต้ถกเถียง ที่จะมีความซีเรียส เอาจริงเอาจังขึ้นเรื่อยๆ … นี่คือลักษณะการนำเสนอที่มีรูปแบบแผน (formalist) ตามลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งแฝงนัยยะซ่อนเร้น (ว่าทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร?)
ค่ำคืนกับ Maud ผมขอแบ่งออกเป็น 5 เฟส (Phase)
- เริ่มต้นพูดคุยทักทาย แนะนำให้รู้จักอีกฝั่งฝ่าย
- รับประทานอาหารค่ำ (ผมมองว่าเป็น Supper ไม่ใช่ Dinner)
- การสนทนาหลังมื้ออาหาร Vidal พยายามเกี้ยวพาราสี Maud แต่เธอกลับให้ความสนใจ Jean-Louis
- หลังจาก Vidal ตัดสินใจกลับบ้าน หลงเหลือสองต่อสองระหว่าง Jean-Louis กับ Maud
- และตื่นเช้าขึ้นมา ก็ถึงเวลาแห่งการร่ำจากลา
ช่วงของการพูดคุยทักทาย เริ่มต้นพบเห็นสองหนุ่มนั่งเก้าอี้โซฟา (ที่นั่งของแขกเหรื่อ ผู้มาเยือน และดูมีความเป็นทางการ) ซึ่งต่างหันเข้าหาหญิงสาวนั่งบนเตียงนอนกลางห้อง (เรื่องบนเตียงคือศูนย์กลางของชีวิต) ท่าทางผ่อนคลาย เป็นกันเอง และถ้าสังเกตจากปลายเท้าไขว่ห้าง บุคคลที่อยู่ในความสนใจก็คือ Jean-Louis
ในช่วงแรกๆของการพูดคุย เพราะว่า Jean-Louis คือบุคคลแปลกหน้า ทั้ง Vidal และ Maud จึงยังแสดงออกด้วยมารยาท อย่างเป็นทางการ รักษาระยะห่าง กล้องเลยจับภาพพวกเขานั่งอยู่คนละเฟรม และใช้การแพนกล้องเคลื่อนไปยังบุคคลที่กำลังอยู่ในความสนใจ
- ด้านหลังของ Vidal พบเห็นโทรทัศน์ โต๊ะกินข้าว ชั้นวางหนังสือ กล่าวคือเป็นบุคคลที่ Maud รับรู้จักเบื้องหลังตัวตนของอีกฝ่ายเป็นอย่างดี
- รูปภาพกายวิภาคบนหัวเตียงของ Maud ก็บอกใบ้ความใคร่สนใจในเรือนร่างกายบุรุษ
- ขณะที่ทางฝั่ง Jean-Louis ในครั้งแรกนี้จะถ่ายเพียงข้างๆ แสดงถึงการยังไม่รับรู้จักอดีต เบื้องหลัง กำลังค่อยๆเล่าความเป็นมา
ให้ลองสังเกตตำแหน่งของโคมไฟด้วยนะครับ ในช่วงแรกๆของการพูดคุยจะมีสองโคมที่อยู่ระหว่าง Jean-Louis กับ Maud และ Vidal ซึ่งสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความสนใจของหญิงสาว ซึ่งขณะนี้สื่อถึงความสนใจต่อชายทั้งสองอย่างเท่าเทียมกัน
ในช่วงแรกๆของการพูดคุย จะมีครั้งหนึ่งที่ Vidal จู่โจมเข้าหา Maud บนเตียง ต้องการหยอกล้อ แสดงความเป็นเจ้าของต่อหน้า Jean-Louis แต่กลับถูกเธอใช้คำพูดโต้ตอบ นั่นคือกิริยาอันเหมาะสมของคนเป็นศาสตราจารย์นะหรือ? นั่นทำให้เขาถอยกลับมานั่งเก้าอี้แทบจะโดยทันที!
อีกครั้งหลังจาก Maud ลุกขึ้นไปรินเหล้าให้ Vidal แล้วกลับมานั่งตรงขอบโซฟา รับฟังเขาเกี้ยวพาราสี แล้วโต้ด้วยคำพูดที่ไม่ยี่หร่าสักเท่าไหร่ แสดงสีหน้าเบื่อหน่ายรำคาญใจ … และมันจะมีภาพวาด Abstract แขวนผนังเหนือโทรทัศน์ ผมรู้สึกเหมือนอะไรสักอย่างที่แตกสลาย (ความสัมพันธ์ระหว่าง Vidal กับ Maud?)
ฉากที่ผมขำหนักสุดในหนังก็คือ Jean-Louis ไม่สามารถรับประทานเค้กได้สักที เพราะถูกขัดจังหวะให้ต้องอธิบายโน่นนี่นั่น สำหรับบุคคลผู้เคร่งครัดในกฎระเบียบ มารยาบนโต๊ะอาหารก็คือ ไม่กินไปพูดไป หรือพูดขณะกำลังเคี้ยวอาหาร … การแสดงออกดังกล่าวสร้างความขบขันให้ Vidal และ Maud อดไม่ได้ที่จะล้อเลียน ทำท่าประหลาดๆ (สังเกตว่ามุมกล้องก็แบ่งแยกทั้งสองฝั่งฝ่ายออกจากกันอย่างชัดเจน)
ปล. บริเวณเหนือศีรษะของ Maud มีภาพถ่ายบุตรสาววางอยู่บนชั้นหนังสือ นั่นแสดงว่าเธอคือบุคคลผู้มีความสำคัญสูงสุดในชีวิต
ปล2. สังเกตว่าโคมไฟจะพบเห็นอยู่แค่ฝั่งของ Jean-Louis ซึ่งสามารถสื่อถึงการเป็นบุคคลในความสนใจ (ของทั้ง Maud และ Vidal)
จู่ๆบุตรสาวของ Maud ก็เดินออกจากห้องนอนมาร่ำร้องขอมารดา อยากพบเห็นแสงไฟจากต้นคริสต์มาส แค่นั้นนะ? ผมมองว่านี่เป็นการตบมุกของหนัง เพราะตลอดทั้งซีนนี้ Jean-Louis ถูกกลั่นแกล้ง ขัดจังหวะการรับประทานอาหารอยู่บ่อยครั้ง บุตรสาวของ Maud จึงปรากฎออกมาเพื่อขัดจังหวะความต่อเนื่องของซีนนี้
ซึ่งสิ่งน่าสนใจมากๆก็คือช็อตนี้ที่ไม่ได้มีความน่าสนใจประการใด ไม่มีตัดไป Close-Up ให้เห็นหลอดไฟใกล้ๆ เพียงระยะกลางๆแค่พอให้เห็นว่าเด็กสาวพบเห็นแสงไฟ เพื่อผู้ชมบังเกิดความหงุดหงิด ฉงนสงสัย แบบเดียวกับ Jean-Louis รับรู้สึกตลอดการถูกขัดจังหวะ ไม่ได้แดกเค้กสักที!
แซว: ผมแอบอธิบายนัยยะของโคมไฟไปแล้วว่า คือสัญลักษณ์แทนความสนใจของ Maud (หรือขณะนี้ก็คือบุตรสาวของ Maud) ซึ่งบุคคลที่อยู่ร่วมช็อตนี้ก็คือ Vidal จับจ้องมองไฟติด-ดับ สามารถสะท้อนสถานะความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา ราวกับเพลิงราคะได้มอดดับลง
เธอเห็นสายตาของ Maud บ้างไหม? หลังมื้ออาหารค่ำ หัวข้อสนทนาก็เริ่มมีความน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันหญิงสาวก็บังเกิดความลุ่มหลงใหล ใคร่สนใจ Jean-Louis พยายามส่งสายตา ภาษากาย แสดงท่าทางอ่อยเหยื่อ รวมถึงเปลี่ยนชุดนอนหลงเหลือแต่เสื้อยืด แบบไม่ยี่หร่า Vidal จนต้องลุกขึ้นไปดื่มสุราด้วยตนเอง
เมื่อพบเห็น Maud เปลี่ยนชุดนอน(ไม่ได้นอน) Vidal ก็รีบตรงรี่เข้าไปนั่งเคียงข้างบนเตียง แต่เมื่อพยายามเข้าใกล้ สัมผัสลูบไล้ กลับถูกผลักไส และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งลุกขึ้นเดินไปเปิดหน้าต่าง พบเห็นหิมะกำลังตกพรำ สามารถสะท้อนสภาพจิตใจของเขาขณะนั้น คงรู้สึกหนาวเหน็บ เย็นยะเยือกทรวงใน (ที่ถูกหญิงสาว/คนเคยร่วมรักหลับนอน ผลักไส พูดจาขับไล่ แบบไม่สนใจใยดีอะไร)
ถ้าผมเป็นฝ่ายหญิงตกอยู่ในสถานการณ์ดังภาพนี้ คงรู้สึกหวาดสะพรึงกลัวอย่างมากๆ เพราะถูกชายสองคนยืนห้อมล้อมรอบเตียงนอน แต่บริบทนี้ของหนังกลับพลิกตารปัตร เพราะกลายเป็นว่าหญิงสาวกำลังเลือกคู่ครอง สำหรับร่วมหลับนอนค่ำคืนนี้ โดยให้บุคคลทางฟากฝั่งโคมไฟ Jean-Louis ยังอยู่เคียงข้างกาย (แล้วขับไล่ Vidal รีบไสตูดกลับบ้านไป)
แซว: คราวนี้เห็นภาพกายวิภาคสองรูป ด้านหน้ากับหน้าหลัง สามารถเปรียบเทียบ Jean-Louis และ Vidal ได้เลยกระมัง! (หรือจะมองว่าภายนอก-ภายใน ร่างกาย-จิตใจ อะไรที่มันสองขั้วตรงข้ามก็ได้ทั้งนั้น)
เมื่อหลงเหลือเพียงสองต่อสอง ระหว่างที่ Jean-Louis พยายามพูดอธิบายอุดมการณ์(ความเชื่อ)ของตนเองที่เชื่อมโยงศรัทธาศาสนา จะมีการลุก-ยืน-เดิน เปลี่ยนตำแหน่งทิศทาง ‘Mise-en-scène’ ที่น่าสนใจอย่างมากๆ
ก่อนอื่นต้องอธิบายถึงโคมไฟ ซึ่งในบริบทนี้เหมือนจะมีนัยยะแตกต่างจากหลายๆฉากก่อนหน้า ผมมองว่าดวงที่ห้อยลงมาจากเพดานคือตัวแทนของพระเจ้า/ศรัทธาศาสนา ขณะที่โคมตั้งโต๊ะคืออุดมการณ์/ความเชื่อส่วนบุคคล หรือก็คือ ‘moral’ ของ Jean-Louis
- เริ่มต้น Jean-Louis ยังนั่งอยู่ตรงโซฟา โคมตั้งโต๊ะอยู่ด้านหลัง เริ่มเกริ่นนำย้อนอดีตความทรงจำ ฉันเคยตกหลุมรักหญิงสาวมากมาย
- จากนั้นลุกขึ้นเดินไปข้างหลัง เคียงข้างภาพวาดวงกลม (สัญลักษณ์ของการเวียนวน หวนกลับสู่จุดเริ่มต้น) ฉันรักเธอ-เธอรักฉัน อธิบายเหตุผลของการเลิกรา แต่การคบหาหญิงสาวแต่ละคนก็ทำให้เขารับเรียนรู้อะไรมากมาย
- เมื่อกล่าวถึงบทสรุป ความเข้าใจของตนเองจากประสบการณ์คบหาหญิงสาวมากมาย เดินเข้ามาบดบังโคมไฟ ราวกับได้ตรัสรู้ความจริงบางอย่าง ดูเหมือนนักบุญ/Saint (แต่ Maud แซวว่าคือปีศาจ/Devil)
- But let’s face it: The physical and the moral are inseparable.
- จริงๆจะมองการยืนบดบังโคมตั้งโต๊ะ คือการผสมผสานระหว่างร่างกาย (physical) และอุดมการณ์/ความเชื่อส่วนบุคคล (moral) เข้าด้วยกันจนแยกแยะไม่ออก (inseparable)
- แล้วเดินไปตรงบริเวณโต๊ะอาหาร/ชั้นวางหนังสือ พบเห็นโคมไฟสองดวงบน-ล่าง ซ้าย-ขวา ระหว่างกำลังอธิบายเปรียบเทียบระหว่างศรัทธาศาสนา (ถึงการเป็นนักบุญ) กับอุดมการณ์ความเชื่อของตนเอง
- ก่อนมาหยุดตรงตำแหน่งโคมไฟห้อยจากเพดาน และพื้นหลังต้นคริสต์มาส เพื่อแสดงถึง ‘จุดยืน’ ของตัวละคร
- I’m a man of the times, and religion acknowledges the times.
แม้ว่า Jean-Louis จะรุกเข้ามานั่งบนเตียงนอนของ Maud แต่แค่เพียงไม่นานเขาก็ถอยร่นออกไป ไร้การสัมผัสจับเนื้อต้องตัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ความเชื่อ ‘moral’ ของตนเอง ว่าจะไม่ก้าวล้ำหรือทำอย่างที่ Vidal เคยแสดงออกมาก่อนหน้านี้
การแสดงออกของ Jean-Louis ได้ทำลายกำแพงน้ำแข็ง (Breaking the Ice) ของ Maud จนยินยอมเปิดเผยพูดเล่าเบื้องหลัง เรื่องราวของเธอเอง ทั้งความสัมพันธ์กับ Vidal, เหตุผลการหย่าร้างสามี และเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เป็นตราบาปฝังใจ ผมนำทั้งสามช็อตมาไล่เรียงให้สังเกตระยะห่างระหว่างตัวละครกับกล้อง ซึ่งสะท้อนความสนิทสนมชิดใกล้ของพวกเขาตามลำดับ
- ภาพแรกเมื่ออธิบายความสัมพันธ์กับ Vidal สังเกตว่าจะมีภาพ Jean-Louis ติดอยู่ด้วย (เพราะคือคนรู้จัก)
- ภาพสองขณะกำลังพูดบอกเหตุผลการหย่าร้างสามี ยังดูมีท่าทางผ่อนคลาย หลังพิงหัวเตียงนอน
- และเมื่อดันตัวขึ้นนั่ง สีหน้าจริงจัง พูดเล่าเหตุการณ์ที่เป็นปมจากอดีต นี่ไม่ใช่เรื่องพูดบอกให้คนทั่วไปรับฟัง เพราะเขาคือคนพิเศษที่สามารถรับฟัง รู้สึกปลอดภัย ระบายความอึดอัดอั้นตันใจ ไร้ความหวาดกลัวเกรงสิ่งใด
ใครก็ตามที่เรายินยอมเปิดเผยความลับ ต้องถือว่าเป็นบุคคลสุดพิเศษ พูดคุยแล้วรู้สึกปลอดภัย (ความลับไม่รั่วไหล) นี่ไม่จำเป็นว่าต้องคือเพื่อนสนิท สามี/ภรรยา อาจเป็นบุคคลแปลกหน้า พบเจอกันเพียงแค่ครั้งเดียวก็ได้เช่นกัน ซึ่งการพูดความลับดังกล่าวออกไป มันคือการระบายความอึดอัดอั้น เก็บกดดัน เพราะสิ่งนั้นไม่ได้มีแค่ตัวเราที่รับล่วงรู้อีกต่อไป … ส่วนใหญ่ก็มักเรื่องแย่ๆ สิ่งผิดพลาด ตราบาปฝังใจ เมื่อมีใครสักคนคอยรับฟัง แสดงความคิดเห็น มันจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายโดยไม่รู้ตัว (นี่ก็คล้ายๆการสารภาพบาปของชาวคริสต์ และวิธีการรักษาจิตบำบัดของจิตแพทย์)
แม้ว่า Maud ในสภาพเปลือยเปล่า แต่ Jean-Louis กลับม้วนผ้าห่มอีกผืนพันรอบตัว (ปกป้องตนเองอย่างมิดชิด) ต่อให้เธอพยายามสะกิด ปิดไฟ แต่จนรุ่งเช้าก็ไม่บังเกิดเหตุการณ์อะไร … ยุคสมัยนี้ถ้าทำได้แบบนี้มักถูกมองว่าเป็นเกย์ ไม่ก็กามตายด้าน หาได้ยากกับบุคคลยึดถือมั่นใน ‘moral’ อย่างหนักแน่นมั่นคง ไม่ลุ่มหลงไปกับกิเลสราคะที่อยู่ตรงหน้า
แซว: เอาจริงๆฉากนี้มันยังสามารถลากยาวต่อไปถึงผีผ้าห่ม พูดคุยกันตอนปิดไฟ เรื่องเพศสัมพันธ์ก็ยังได้ แต่ผกก. Rohmer ไม่เคยเกินเลยเถิดไปถึงจุดนั้น นี่ก็น่าจะถือเป็น ‘moral’ ประจำตัวเขา กระมัง!
รุ่งเช้าขณะอยู่ในอาการสะลึมสะลือ ครึ่งหลับครึ่งตื่น จู่ๆ Maud ก็หันมาโอบกอด จุมพิต (อาจครุ่นคิดว่าเขาคือสามี) ต่างฝ่ายต่างไม่รับรู้ตนเองจนกระทั่ง Jean-Louis ฟื้นคืนสติ ดันตัวลุกขึ้น เกิดความสองจิตใจสองใจ กำแพงที่อุตส่าห์ก่อไว้รอบตัวพังทลายลงโดยพลัน
แต่วินาทีนั้น Maud ตัดสินใจลุกขึ้นจากเตียง วิ่งเข้าห้องนอนของบุตรสาว ปฏิเสธที่จะก้าวล้ำ ข้ามพรมแดนระหว่างเพื่อน-คนรัก ไม่ต้องการทำลายมิตรแท้หาได้ยากยิ่ง และเมื่อ Jean-Louis ได้ยินเช่นนั้นถึงเริ่มสงบสติอารมณ์ หยุดยับยั้งชั่วใจ สวมใส่เสื้อผ้า ถึงจุดจบช่วงเวลาค่ำคืนแห่งความทรงจำนี้สักที!
เมื่อตอนต้นเรื่องจะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ Jean-Louis และ Vidal นั่งอยู่ในร้านอาหารที่มีกระจกบานใหญ่ นั่งหันหลังให้ สะท้อนถึงความไม่สนใจสิ่งต่างๆรอบข้าง รวมถึงตัวตนของพวกเขาเอง
แต่ขณะนี้หลังจาก Jean-Louis พานผ่านค่ำคืนกับ Maud ก็เข้ามายังร้านที่มีกระจกบานใหญ่ (น่าจะคนละร้านกัน) ครานี้เปลี่ยนมานั่งหันด้านข้าง (สะท้อนอีกตัวตนขั้วตรงข้ามที่นั่งอยู่ข้างๆกระจก ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังพานผ่านค่ำคืนกับ Maud) สังเกตว่าเขาพยายามยกมือขึ้นมาปกปิดใบหน้าซีกหนึ่ง (ทำเหมือนไม่อยากพบเห็นตัวตนฟากฝั่งนั้น) แต่หลังจากพบเห็น Françoise ขับรถผ่านหน้าร้านไป ตัวตนที่อยู่ในกระจกคือแรงผลักดันให้เขาบังเกิดความหาญกล้า กระทำบางสิ่งอย่างขัดแย้งต่อสามัญสำนึก ‘moral’ ของตนเอง
หิมะที่ตกลงมาหนักเพียงช่วงข้ามคืน ทำให้ทัศนียภาพของ Clermont-Ferrand ปกคลุมด้วยความขาวโพลน ราวกับโลกคนใบ! ซึ่งสามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของ Jean-Louis แม้ยังคงเคร่งศาสนา เอาจริงเอาจังกับการใช้ชีวิต แต่เกิดความกล้าท้าเสี่ยง ยินยอมรับโอกาสแห่งความเป็นไปได้ เมื่อบังเอิญพบเห็น Françoise ก็ตรงรี่เข้าไปทักทาย แสดงความต้องการรับรู้จักโดยทันที … หรือเรียกว่ากระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ
บริเวณที่ทั้งสองพบเจอกัน ผมแกะจากข้อความด้านหลังพบว่าคืออนุสาวรีย์ทองแดง A Vercingétorix (ค.ศ. 1903) ออกแบบโดย Frédéric Auguste Bartholdi (1834-1904) นักแกะสลักชื่อดังชาวฝรั่งเศส เจ้าของผลงานก้องโลกอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ
เกร็ด: Vercingétorix (82 BC – 46 BC) คือผู้นำชนเผ่า Arverni ที่สามารถรวบรวมชาว Gaul (ฝรั่งเศส) จนสามารถต่อสู้รบเอาชนะ Julius Caesar เมื่อครั้งการยุทธการเมือง Gergovie ก่อนคริสต์ศักราช 52 (B.C.)
การเลือกอนุสาวรีย์แห่งนี้ประดับพื้นหลัง ก็เพื่อสื่อถึงชัยชนะเหนือตัวตนเองของ Jean-Louis กล้าลุกขึ้นมาทำบางสิ่งอย่างตอบสนองความต้องการของหัวใจ จนมีโอกาสพูดคุยทักทาย รับรู้จักหญิงสาวที่ตนเองหมายปองสักที!
หลังจาก Jean-Louis กล้าที่จะเข้าไปพูดคุยทักทาย ทำความรู้จักกับ Françoise นั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิต ราวกับจิตวิญญาณได้รับการปลดปล่อย กระทำสิ่งเติมเต็มความต้องการของหัวใจ ขณะนี้เลยเต็มไปด้วยความสดชื่น ชีวิตชีวา อารมณ์ดีสุดๆ เลยยินยอมตอบตกลงนัดหมายปีนป่ายขึ้นเขาบนอุทยาน Parc de Montjuzet พอมาถึงก็โอบกอดจูบ สัมผัสลูบไล้ Maud เพื่อแสดงความขอบคุณเหตุการณ์เมื่อข้ามคืน โดยไม่ได้มีความหื่นกระหายอยู่เลยสักนิด!
ผมนำมาสองภาพเพื่อเอาไว้จะเปรียบเทียบตำแหน่งและท่าทางกับเมื่อตอน Jean-Louis โอบกอดจูบ Françoise บนอุทยานเดียวกันนี้ แต่มีทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม!
หวนกลับมาที่ห้องของ Maud อีกครั้ง (ในยามเย็นหลังวันคริสต์มาส) แม้ครานี้พวกเขาทำการโอบกอดจูบ สัมผัสลูบไล้ อย่างสนิทสนมชิดใกล้ แต่นั่นหาใช่การเกี้ยวพาราสีแบบคู่รัก ทั้งหมดคือการแสดงออกมิตรภาพฉันท์เพื่อนพ้อง (สังเกตว่า Maud ไม่ได้พยายามอ่อยเหยื่อนอนอยู่บนเตียง แต่นั่งเท้าคางพูดคุยสนทนาบนเก้าอี้โซฟาอย่างเป็นทางการ)
หลายคนอาจรู้สึกว่าการสัมผัสกอดจูบลูบไล้ มันคือลักษณะของ ‘sexual harassment’ ไม่ใช่หรือ? คำตอบคือไม่จำเป็นเสมอไป การล่วงละเมิดทางเพศจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีฝั่งฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมพร้อมใจ แต่ขณะนี้ทั้ง Jean-Louis และ Maud แม้ไม่ใช่คู่รัก/สามี-ภรรยา ต่างก็ยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย นั่นเพราะพวกเขาต่างมีความเชื่อมั่นต่อกันสูงมากๆ รับรู้ว่าต่อให้ล่วงเกินทางกายขนาดไหน ก็ไม่มีทางกระทำสิ่งขัดย้อนแย้งต่อ ‘moral’ ของตัวตนเอง
ช็อตสุดท้ายในห้องแห่งนี้ของ Jean-Louis กับ Maud พื้นด้านหลังพบเห็นต้นคริสต์มาสที่มีแสงไฟกระพริบ ติดๆดับๆ นี่สามารถสื่อถึงการพบเจอ-ร่ำลาจาก นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายพบเจอกัน จักเก็บช่วงเวลาค่ำคืนแห่งความทรงจำไว้ชั่วนิรันดร์
ฉากในห้องพักของ Françoise ราวกับ Déjà vu ที่ Jean-Louis เคยพานผ่านค่ำคืนคริสต์มาสกับ Maud แต่เหตุการณ์ต่างๆล้วนมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม ไม่ได้มีเกมการละเล่น หยอกเย้า เกี้ยวพาราสี เพียงพูดคุยสนทนาทั่วไประหว่างรอน้ำเดือดต้มชา สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งที่นั่ง และท้ายสุดก็แยกย้ายไปหลับนอนคนละห้อง
ความสัมพันธ์ลักษณะนี้อาจดูคร่ำครึ โบร่ำราณ (เหมือนภาพวัตถุโบราณทางฝั่ง Jean-Louis และไม้กางเขนเหนือหัวเตียงนอนของ Françoise) แต่แม้จะดูเย็นชา น่าเบื่อหน่าย ผู้คนสมัยนั้น(และผกก. Rohmer)เชื่อว่าจักมีความมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน เพราะต่างก็มี ‘moral’ ค้ำจุนพวกเขาไว้ด้วยกัน … จริงๆมันก็ไม่จำเป็นเสมอไปหรอกนะครับ
Portrait of Paul Picasso as a Child (1923) ภาพวาดบุตรชายของ Pablo Picasso ด้วยลักษณะของ Neoclassicism ซึ่งแลดูคล้ายๆ Françoise เหมือนมีบางสิ่งอย่างลับลมคมใน ที่ถูกปกปิดซุกซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้า (หรือก็คือเพิ่งพานผ่านความสัมพันธ์กับชายแต่งงานแล้ว)
หนังจงใจไม่อธิบายรายละเอียดว่า Françoise เคยพานผ่านความสัมพันธ์อะไรกับใครมา แต่สังเกตจากปฏิกิริยาเมื่อพบเจอ Vidal ท่าทีที่ไม่ค่อยสบอารมณ์ นี่ก็อาจบอกใบ้อะไรๆหลายสิ่งอย่าง … แต่เมื่อเธอยืนกรานว่าไม่ใช่ก็อาจจะไม่ใช่นะครับ ความคลุมเคลือดังกล่าวน่าจะสร้างความหงุดหงิดให้แก่ผู้ชมบางคน ถึงอย่างนั้นมันก็หาใช่สิ่งที่ต้องรับรู้ นี่คือบทเรียนสอนให้รู้จักการ ‘ปล่อยวาง’ ในบางเรื่อง
กลับตารปัตรทิศทางจากตอนที่ Jean-Louis โอบกอดจูบ สัมผัสลูบไล้ Maud บนเนินเขาก่อนหน้านี้
- มุมกล้องจากเคยหันหน้าเข้าหาภูเขา (สื่อถึงความสัมพันธ์ที่มาถึงหนทางตันกับ Maud), มาขณะนี้หันอีกฝั่งพบเห็นทิวทัศน์เมือง Clermont-Ferrand (โลกทั้งใบเป็นของสองเรา Jean-Louis กับ Françoise)
- สำหรับ Maud จะเริ่มจากการโอบกอดด้วยการหันหน้าเข้าหากัน (ทั้งสองให้ความเคารพ เสมอภาคเท่าเทียม) จากนั้น Jean-Louis ถึงโอบเข้าด้านหลัง (สัญลักษณ์ของการขอบคุณ เป็นที่พึ่งพักพิง)
- แต่สำหรับ Françoise เริ่มต้นจากการโอบรัดคอจากด้านหลัง (สัญลักษณ์ของการบีบบังคับ ต้องการให้ได้เธอมาครอบครอง) ซึ่งพอฝ่ายหญิงเล่าความจริงบางอย่าง Jean-Louis ถึงเปลี่ยนมาโอบกอดจากด้านข้าง (สัญลักษณ์แทนความเข้าใจ แต่ก็ยังคงมีลักษณะเธอต้องเป็นของฉัน)
- โอบกอดจูบกับ Maud ด้วยด้วยความเป็นมิตรภาพ ไร้ซึ่งอารมณ์หื่นกระหาย, ผิดกับ Françoise ที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง ต้องการครอบครองรัก แต่งงาน และโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์
ความแตกต่างระหว่าง Maud กับ Françoise สะท้อนรสนิยมภรรยาของ Jean-Louis (และผกก. Rohmer) อย่างชัดเจนมากๆ ไม่ได้ต้องการคนที่มองตารู้ใจ ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ หรือสามารถพึ่งพักพิง แต่คือหญิงสาวยินยอมศิโรราบ เสียสละเป็นช้างเท้าหลัง ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้ถึงขั้นเผด็จการ อย่างน้อยคือยังครุ่นคิดถึงหัวอก เอาใจเธอมาใส่ใจเราบ้าง บางครั้งครา
เกร็ด: มองจากพื้นหลังโบสถ์คริสต์หลังไกลคืออาสนวิหาร Cathédrale de Clermont-Ferrand หรือชื่อทางการคือ อาสนวิหารแม่พระรับเกียรติยศขึ้นสวรรค์ (Cathédrale Notre-Dame-de-l’Assomption de Clermont-Ferrand) ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรม Gothic สร้างด้วยหินภูเขาไฟสีดำทั้งหลัง และหอคอยสูง 96.2 เมตร สูงโดดเด่นเหนือสิ่งก่อสร้างอื่นใดในเมือง Clermont-Ferrand
ดูจากภาษากายของ Françoise ก็น่าจะรับรู้ว่าหญิงสาว (Maud) ที่บังเอิญสวนทางกันนั้นคืออดีตคนรักของ Jean-Louis กล้องค่อยๆซูมเข้า ใบหน้าเศร้าๆ มือซ้ายเททรายลงมือขวา แต่หลังจากสามีเกิดความตระหนักอะไรบางอย่าง ตัดสินใจปรับเปลี่ยนถ้อยคำพูด ทำให้ภรรยาเกิดรอยยิ้มกริ่ม กล้องค่อยๆซูมออก และสลับสับเปลี่ยนมาเป็นมือขวาเททรายลงมือซ้าย
หลังจากหมดสิ้นปัญหาค้างคาใจ Françoise ลุกขึ้นถอดเสื้อนอกเหลือเพียงชุดว่ายน้ำ นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงตอน Maud ถอดเสื้อเปลือยกายมุดเข้าไปในนอนใต้ผ้าห่ม สามารถแฝงนัยยะถึงการปลดเปลื้องอะไรบางอย่าง
- ในกรณีของ Maud แม้นั่นจะเป็นการนอนแบบปกติของเธอ ขณะเดียวกันยังสามารถมองว่าคือพฤติกรรมยั่วเย้า เกี้ยวพาราสี ชักชวน Jean-Louis ให้ร่วมรักหลับนอน
- แต่สำหรับ Françoise มันคือการปลดเปลื้องความวิตกกังวลของสามี คำพูด(ที่มีการฉุกครุ่นคิด)ทำให้เกิดความเชื่อมั่นใจ ไม่มีอะไรให้ต้องหวาดหวั่น หรือกรรมสนองอดีตที่เธอเคยคบหาชายแต่งงานมีภรรยาแล้ว
เกร็ด: สถานที่แห่งนี้อยู่บนเกาะ Belle-Île-en-Mer ห่างจากชายฝั่ง 14 กิโลเมตร ในอ่าว Biscay ทางตะวันตกของฝรั่งเศส และเห็นว่าเป็นฉากแรกของหนังที่ถ่ายทำล่วงหน้าเกือบปี (ก่อนที่ Trintignant จะติดคิวงานช่วงวันสิ้นปี)
ตัดต่อโดย Cécile Decugis,
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองชายนิรนาม Jean-Louis พร้อมเสียงบรรยายบางครั้งครา ช่วงระหว่างเทศกาลวันคริสต์มาสถึงปีใหม่ เมื่อได้พบเจอตกหลุมรัก Françoise พานผ่านช่วงเวลาพิสูจน์ตนเองกับ Maud จนเกิดความกล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง สามารถกระทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจได้สำเร็จ … แล้วกระโดดข้ามไป 5 ปีให้หลัง
- วันอาทิตย์ 20 ธันวาคม
- แนะนำตัวละคร Jean-Louis เดินทางมาร่วมพิธีมิสซา ตกหลุมรักแรกพบ Françoise
- วันจันทร์ 21 ธันวาคม
- เช้าเดินทางไปทำงานบริษัทมิชลิน
- ระหว่างทางกลับบ้านสวนทางกับ Françoise เกิดความมุ่งมั่นต้องการครองคู่แต่งงาน อาศัยอยู่ร่วมจนวันตาย
- แวะซื้อหนังสือเกี่ยวกับ Blaise Pascal
- วันพุธ 23 ธันวาคม
- ค่ำคืนพบเจอพบเก่า Vidal พูดคุยถกเถียงถึงทฤษฎีของ Pascal
- รับชมการแสดงคอนเสิร์ต Mozart
- วันพฤหัส 24 ธันวาคม (คริสต์มาสอีฟ)
- Jean-Louis ลากพา Vidal มาร่วมพิธีมิสซาตอนเที่ยงคืน
- วันศุกร์ 25 ธันวาคม (วันคริสต์มาส)
- Vidal ลากพา Jean-Louis ไปที่ห้องพักของ Maud พูดคุยสนทนา รับประทานอาหารค่ำ
- หลังจาก Vidal ดื่มเหล้าจนเมามาย ตัดสินใจกลับบ้านไปก่อน ทำให้ Jean-Louis อาศัยอยู่สองต่อสองกับ Maud
- วันเสาร์ 26 ธันวาคม
- หลังออกจากห้องพักของ Vidal ระหว่างกำลังจะรับประทานอาหารเช้า พบเห็น Françoise จึงตรงรี่เข้าไปทักทาย แสดงความต้องการรู้จัก
- บ่ายๆไปปีนเขากับ Maud แล้วบอกร่ำลา
- ยามค่ำพบเจอ Françoise อาสาขับพาไปส่งหอพัก แต่รถดันเสียกลางทาง
- ค่ำคืนนั้น Jean-Louis อาศัยอยู่สองต่อสองกับ Françoise
- วันอาทิตย์ 27 ธันวาคม
- ช่วงสายๆ Jean-Louis และ Françoise เดินทางเข้าร่วมพิธีมิสซา
- น่าจะช่วงปีใหม่
- ช่วงค่ำๆระหว่างช็อปปิ้ง Jean-Louis สวนทางกับ Vidal พบเห็นปฏิกิริยาแปลกๆกับ Françoise
- หลายวันถัดจากนั้น
- Jean-Louis พา Françoise ไปปีนป่ายขึ้นเขา เธอจึงบอกเล่าอดีตของตนเอง
- 5 ปีหลังจากนั้น
- Jean-Louis พร้อมภรรยาและบุตร บังเอิญพบเจอ Maud ระหว่างวันพักร้อนริมชายหาดแห่งหนึ่ง
แซว: ในหนังจะมีพูดว่าวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม เท่าที่ผมตรวจสอบจากปฏิทินช่วงทศวรรษ 60s พบว่าคือปี ค.ศ. 1964 และ 1970
การตัดต่ออาจไม่ได้มีเทคนิคหวือหวา ดำเนินเรื่องไปอย่างเชื่องช้า แต่มักสลับสับเปลี่ยนมุมกล้องอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ผู้ชมเกิดความน่าเบื่อหน่ายระหว่างการสนทนายาวๆ เก็บรายละเอียดผู้พูด ปฏิกิริยาผู้ฟัง แล้วตัดไปภาพมุมกว้างเห็นทั้งสองฟากฝั่ง เหล่านี้คือลักษณะของ ‘formalism’
หนังถือว่าไม่มีบทเพลงประกอบ ทั้งหมดได้ยินคือ ‘diegetic music’ ดังขึ้นจากแหล่งกำเนิดเสียง ร้านอาหาร และการแสดงดูโอ้เปียโน-ไวโอลิน บทเพลง Mozart: Sonata for Piano and Violin in B flat, K.378 มีทั้งหมด 3 ท่อน แต่ได้ยินเพียง I. Allegro Moderato
ผู้ทำการแสดงคือ Leonid Borisovich Kogan (1924-82) นักไวโอลินชาวรัสเซีย ได้รับการยกย่อง ‘greatest violinists of the 20th century’ เท่าที่ผมลองหาฟังหลายๆบทเพลง ฝีไม้ลายมือสามารถเทียบชั้น Jascha Heifetz หรือ David Oistrakh แต่เพราะปักหลักใช้ชีวิตในรัสเซีย (ยุคของสหภาพโซเวียต/สงครามเย็น) เลยไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติสักเท่าไหร่
แนวเพลงถนัดของ Kogan ไม่ใช่ Mozart อย่างแน่นอนนะครับ (สังเกตว่าเล่นไปอ่านโน๊ตไป แสดงว่าก่อนหน้านี้อาจไม่เคยรับรู้จักเพลงนี้ด้วยซ้ำ) ด้วยเหตุนี้ผมเลยนำเอา K.378 ฉบับของ Jascha Hifetz เจ้าของฉายา “God’s Fiddler” บันทึกเสียงเมื่อปี ค.ศ. 1936 มาให้ลองสังเกตเปรียบเทียบกันว่าห่างชั้นระดับไหน
แล้วทำไมหนังถึงเลือก Mozart? ผมครุ่นคิดว่าความตั้งใจของผกก. Rohmer ต้องการบทเพลงที่มีลักษณะดูโอ้ ไวโอลิน & เปียโน เพื่อสื่อถึงการหยอกล้อระหว่างชาย-หญิง และในบรรดาคีตกวีชื่อดังทั้งหมด Mozart โด่งดังจากสไตล์เพลงที่มีท่วงทำนองสนุกสนาน เย้าแหย่ ขี้เล่น … ล้อเหตุการณ์ค่ำคืนอาศัยอยู่กับ Maud (My Night at Maud’s) ได้อย่างลงตัว
ค่ำคืนก่อนวันคริสต์มาสอีฟกับ Maud คือช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้าระหว่างสองบุคคลที่มีความแตกต่างตรงกันข้าม โดยปกติแล้วต้องเป็นอย่างขั้วแม่เหล็ก +,- เหนือใต้ ที่มักผลักไสออกห่าง ไม่มีทางปะติดชิดใกล้ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาทั้งสองกลับสามารถสร้างอิทธิพลบางอย่างต่อกันและกัน
Jean-Louis คือบุคคลผู้มีความเคร่งครัด เอาจริงเอาจังต่อการใช้ชีวิต แต่การได้พานผ่านค่ำคืนกับ Maud ทำให้สามารถผ่อนคลายความหมกมุ่นยึดติด เรียนรู้ว่าบางครั้งสมควรกระทำตามสันชาตญาณ สิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน เข้าหาหญิงสาวอีกคนที่ตกหลุมรัก Françoise จนมีโอกาสสานสัมพันธ์ ครองคู่แต่งงาน และมีบุตรชายร่วมกัน
Maud คือหญิงสาวรักในเสรีภาพแห่งชีวิต แม้มีบุตรสาวกับอดีตสามี แต่ก็ยังร่วมรักหลับนอนผู้ชายไม่ซ้ำหน้า จนกระทั่งมาพบเจอ Jean-Louis พยายามใช้เล่ห์ เสน่ห์ มารยาหญิง เกี้ยวพาราสีอีกฝั่งฝ่าย แต่ไม่ว่าทำอะไรล้วนไม่สำฤทธิ์ผล นั่นสร้างความฉงนสงสัย ชื่นชอบประทับใจ ต้องการรักษาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรแท้ ตกหลุมรักอีกฝั่งฝ่ายโดยไม่จำเป็นต้องครองคู่อยู่ร่วมกัน
สำหรับบุรุษส่วนใหญ่ การได้ใช้เวลาค่ำคืนสองต่อสองกับหญิงสาว มักจบลงด้วยเรื่องบนเตียงเสมอไม่ว่าอีกฝั่งฝ่ายจะสมยอมหรือไม่ แต่ถ้าคุณสามารถพิสูจน์ตัวเองพานผ่านค่ำคืนดังกล่าว อดเปรี้ยวไว้กินหวาน มันแสดงถึงอุดมการณ์ ความเชื่อมั่นบางอย่างอันแรงกล้า ในบริบทของภาพยนตร์เรื่องนี้มีคำเรียกว่า ‘Moral’
แต่อย่างเคยอธิบายไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า ภาษาฝรั่งเศส moraliste ไม่ได้มีความหมายแบบเดียวกับ moralist เหตุผลที่ Jean-Louis ไม่ได้ล่วงเกินทางกายต่อ Maud หาใช่เพราะศีลธรรมจรรยาหรือศรัทธาศาสนา (ในอดีตก็เคยเล่าว่าเป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน พานผ่านประสบการณ์รักมาอย่างโชกโชน) แต่เพราะเขามีความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ สัตย์สัญญาเคยให้ไว้กับตนเอง ที่ได้ทำการเลือก Françoise คือหญิงสาวจะครองคู่ แต่งงาน อาศัยอยู่เคียงข้างกันตราบจนวันตาย เลยปฏิเสธสานสัมพันธ์กับใครอื่นใด
เช่นนั้นแล้วถ้า Jean-Louis ไม่ได้ให้สัตย์สัญญากับตนเองว่าจะครองคู่แต่งงานกับ Françoise ค่ำคืนนั้นก็อาจลงเอยด้วยการร่วมรักหลับนอนกับ Maud หรือเปล่า? ผมว่าก็มีความเป็นไปได้สูงนะครับ เพราะนี่คือสิ่งที่ผกก. Rohmer ต้องการชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิดตาม แบบเดียวกันเปี๊ยบกับ The Bakery Girl of Monceau (1963) ภาพยนตร์เรื่องแรกของ ‘Six Moral Tales’ ตั้งคำถามถึงหนทางเลือก
เมื่อตัวละครต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ท้าทายศีลธรรม/อุดมการณ์ของตนเอง เป็นเหตุให้เขาต้องเลือกตัดสินใจระหว่างมั่นคงในสิ่งเชื่อมั่น (Françoise) หรือคล้อยตามไปกับสิ่งต่างๆบังเกิดขึ้นในค่ำคืนนี้ (Maud)
แต่ My Night at Maud’s (1969) ก็มีความแตกต่างจาก The Bakery Girl of Monceau (1963) ตรงที่ Jean-Louis ไม่ได้ก้าวล้ำอะไรใดๆต่อ Maud แถมยังสร้างกำแพงหนาเตอะขึ้นมาปกป้องตนเอง นั่นทำให้ฝ่ายหญิงรับล่วงรู้ตั้งแต่แรกๆแล้วว่าเขาอาจมีบุคคลชื่นชอบอยู่ จึงไม่บังเกิดความคาดหวังแล้วผิดหวัง กลายเป็นเรื่องราวมิตรแท้ รักบริสุทธิ์ จากกันด้วยความทรงจำที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรใดๆ
ตอนจบของหนังผมถือว่าคือโคตรไฮไลท์ที่ทรงคุณค่ามากๆ ห้าปีให้หลังเมื่อ Jean-Louis หวนกลับมาพบเจอ Maud ระหว่างกำลังเพลิดเพลินไปกับการหวนระลึกความทรงจำ พบเห็นปฏิกิริยาบางอย่างของภรรยา จึงหยุดยับยั้งคำพูด แล้วปรับเปลี่ยนประโยคใหม่ รายละเอียดเล็กๆแสดงถึงการมีสติและสามัญสำนึก สามารถทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืนยาวนาน ครอบครองคู่รักตราบจนวันตายอย่างแน่นอน!
ปล. ผกก. Éric Rohmer แต่งงานกับภรรยา Thérèse Schérer เมื่อปี 1957 มีบุตรชายร่วมกันสองคน และครองคู่รักตราบจนวันตายเช่นเดียวกัน
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับดียอดเยี่ยมมากๆ น่าเสียดายที่ประธานกรรมการปีนั้น Luchino Visconti ไม่ได้มอบรางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา ถึงอย่างนั้นยังได้รับเลือกเป็นตัวแทนฝรั่งเศสเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film (เมื่อปี 1970) และปีถัดมาเมื่อเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ยังได้เข้าชิงอีกสาขา Best Original Screenplay (เมื่อปี 1971)
(สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมหนังได้เข้าชิง Oscar สองปีซ้อน นั่นเพราะสมัยก่อนสาขา Best Foreign Language Film จะนับช่วงเวลาที่เข้าฉายในประเทศนั้นๆปีนั้นๆ แต่สาขาอื่นๆจะนับจากเมื่อเข้าฉายใน ‘สหรัฐอเมริกา’ มันเลยเกิดกรณีที่ถ้าเข้าฉายในอเมริกาล่าช้าเป็นปีๆ จะมีโอกาสได้เข้าชิงถึงสองครั้ง)
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ ร่วมกับ ‘Six Moral Tales’ เรื่องอื่นๆ คุณภาพ 2K สามารถหาซื้อแบบ Boxset หรือรับชมได้ทาง Criterion Channel
แม้ยังมีหลายๆหัวข้อสนทนาที่ผมฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความชื่นชอบหลงใหลต่อหนังลดน้อยลงเลย โดยเฉพาะความหนักแน่น อุดมการณ์อันมั่นคงของตัวละคร Jean-Louis Trintignant เมื่อสามารถโอนอ่อนผ่อนลง ละลายกำแพงน้ำแข็ง จักพบเห็นความอ่อนโยน บริสุทธิ์จริงใจ ใช้ชีวิตด้วยสติ นี่แหละคืออุดมคติ
‘Six Moral Tales’ เป็นซีรีย์ที่แนะนำกับวัยรุ่น คนหนุ่มสาว รับชมให้เกิดความตระหนักถึงหนทางเลือก การตัดสินใจ ไม่ได้ชี้แนะว่าอะไรถูก-ผิด ขึ้นอยู่กับตัวเราจะขบครุ่นคิด ยึดถือปฏิบัติตาม บทเรียนสอนการดำรงชีวิต
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” การอยู่สองต่อสองในห้องนอน (ยุคสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องชาย-หญิงแล้วนะครับ ชาย-ชาย หญิง-หญิง ก็เหมือนกันนะแหละ) มักเต็มไปด้วยความเสี่ยงทางเพศ แต่ถ้าเรามีอุดมการณ์อันแรงกล้าต่อบางสิ่งอย่าง อดเปรี้ยวไว้กินหวาน มันจะเปิดโอกาสและโลกกว้างให้เราได้มากทีเดียว
จัดเรตทั่วไป แต่เด็กเล็กคงดูไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่
Leave a Reply