Macbeth (1948)
: Orson Welles ♥♥♥♥♡
จากบทละครของ William Shakespeare ฉบับของ Orson Welles ขณะออกฉายได้รับการตอบรับที่แย่มากๆจากนักวิจารณ์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป นี่อาจคือ Macbeth ฉบับภาพยนตร์ที่ดีที่สุด
สำหรับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากบทละครของ William Shakespeare ผมขอกำหนดความต้องการขั้นต่ำ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าใจ ซึมซับความสวยงามของหนังเรื่องนี้ได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เต็มอิ่ม ควรที่จะ
- มีความเข้าใจภาษาอังกฤษระดับ Professional ฟังภาษาอังกฤษและแปลจับใจความได้ ไม่ใช่จ้องแต่อ่านซับไทย จะมองไม่เห็นความสวยงามของสัมผัส ความคล้องจองของภาษา ลีลาการเล่นคำ ที่งดงามดั่งบทกวี, ลองเช็คตัวเองดูจาก 2-3 ประโยคนี้ สามารถแปลเข้าใจได้หรือเปล่า (อย่าใช้ตัวช่วยละ)
- Double, double toil and trouble; Fire burn and cauldron bubble.
Pour in sow’s blood that hath eaten her nine farrow;
grease that’s sweaten from the murderer’s gibbet throw into the flame;
finger of birth-strangled babe, ditch-deliver’d by a drab; - Fair is foul, and foul is fair: Hover through the fog and filthy air.
- By the pricking of my thumbs, something wicked this way comes.
So foul and fair a day I have not seen.
A drum, a drum! Macbeth doth come.
All hail, Macbeth! hail to thee, thane of Glamis!
- Double, double toil and trouble; Fire burn and cauldron bubble.
- มีความเข้าใจ ภาษาภาพยนตร์ ระดับค่อนข้างสูง
- สีหน้าท่าทางการแสดง ทิศทางการเคลื่อนไหว การกระทำของนักแสดง
- มุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง จัดแสงสี จัดวางองค์ประกอบภาพ
- การออกแบบฉาก เสื้อผ้า หน้าผม
- การตัดต่อและเพลงประกอบ ฯ
- ถ้าคุณมีประสบการณ์เคยดูหนังของ Orson Welles อย่าง Citizen Kane (1941), Touch of Evil (1958) และเข้าใจสไตล์ของผู้กำกับ ก็น่าจะเพียงพอ สามารถมองเห็นความสวยงามของภาษาภาพยนตร์ได้
- สามารถคิดวิเคราะห์ ตีความสิ่งเชิงสัญลักษณ์ นามธรรมทั้งหลายได้ อาทิ
- แม่มดทำไมต้องมี 3 ตน เป็นตัวแทนของอะไร?
- ทำไมมงกุฎของ Macbeth ถึงเป็นสี่เหลี่ยม/เป็นเหมือนหนามแหลม?
- อิทธิพลของ Lady Macbeth เธอทำอะไรและทำไมถึงได้รับผลทำแบบนั้น?
- ทำไม Macbeth ถึงเห็นภาพหลอน/ทำไมต้องฆ่า?
ฯลฯ
ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยดู/อ่าน Macbeth มาก่อนเลย แต่เคยดู Throne of Blood (1957) ของ Akira Kurosawa ที่เป็นการดัดแปลงตีความ Macbeth นำเสนอในพื้นหลังที่ต่างออกไป (เปลี่ยนจากสก็อตแลนด์เป็นญี่ปุ่น) แต่ก็หลายปีมาแล้ว จำเรื่องราวอะไรไม่ค่อยได้มากนัก
การรับชมหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมมองเห็นถึงความจำเป็นบางอย่าง ที่ควรมีก่อนการรับชม ไม่เช่นนั้นก็อาจไม่เห็นความสวยงามของหนังในหลายๆระดับ สัมผัสความงดงามของภาษา (ความหมายของคำพูด/ภาษาภาพยนตร์) คิดวิเคราะห์ค้นหาสาระเรื่องราว องค์ประกอบ และมองเห็นความลึกซึ้งของบทละครเรื่องนี้, เมื่อดูหนังผ่านไปสักประมาณกลางเรื่อง ผมเริ่มขนลุก เพราะสิ่งที่เริ่มมองเห็น กับกาลเวลาที่ผ่านมา 400-500 ปี ไม่น่าเชื่อว่าผลงานการประพันธ์ของ Shakespeare หาได้เสื่อมคลายมนต์ขลังความยิ่งใหญ่ไปเลย, ผมขอเปรียบเขากับ ‘พระเจ้า’ ของโลกวรรณกรรม (เหมือนกับ Mozart ที่เป็น ‘พระเจ้า’ ของโลกดนตรี, Michelangelo Buonarroti คือ ‘พระเจ้า’ ของโลกศิลปะ, ส่วนโลกภาพยนตร์ … ไม่รู้สิครับ)
The Tragedy of Macbeth คือบทละครโศกนาฏกรรม ประพันธ์โดย William Shakespeare เปิดการแสดงครั้งแรกปี 1606 ในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ (James I of England and Ireland, James VI of Scotland) ใจความสำคัญคือ นำเสนอผลกระทบเชิงกายภาพและจิตวิทยาของตัวละคร ผู้ซึ่งมีความทะเยอทะยานใฝ่สูงในการปกครอง แต่แสวงหาอำนาจเพื่อความประสงค์ของตนเอง
นายพลผู้กล้าชาวสก็อตแลนด์ชื่อ Macbeth ได้รับคำพยากรณ์จากแม่มด 3 ตน ว่าวันหนึ่งเขาจะกลายเป็นกษัตริย์ ด้วยความทะเยอทะยานหวังสูงของภรรยา จึงจัดเตรียมการวางแผน ให้ Macbeth ลอบสังหารกษัตริย์ King Duncan และตั้งตนขึ้นเป็นประมุขของประเทศสก็อตแลนด์, แต่ด้วยในใจของ Macbeth รู้สึกผิดรุนแรง เกิดเป็นความหวาดระแวง ตามหลอกหลอนจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน ความกลัวที่ผลกรรมจะคืนสนองกลายเป็นความบ้าคลั่ง ปกครองประเทศอย่างทรราชย์ และสุดท้ายก็ถูกผลกรรมตามทัน
เป็นภาพยนตร์โดย อัจฉริยะแห่งวงการภาพยนตร์ Orson Welles เริ่มต้นในปี 1947 มีความตั้งใจจะนำบทประพันธ์ของ Shakespeare สักเรื่องทำเป็นภาพยนตร์ ความตั้งใจแรกคือ Othello แต่หาทุนสนับสนุนไม่ได้ เลยเปลี่ยนมาเป็น Macbeth ที่นำไปเสนอขายสตูดิโอว่า ‘เป็นส่วนผสมระหว่าง Wuthering Heights และ Bride of Frankenstein’ ได้รับทุนสร้างจาก Republic Picture เป็นงบประมาณ $700,000 เหรียญ
เกร็ด: หลังเสร็จจาก Macbeth แล้ว Orson Welles ก็ได้สร้าง Othello (1951) ต่อทันที
Macbeth ถือเป็นผลงานดัดแปลงจากบทประพันธ์ Shakespeare เรื่องที่ 5 นับจากวงการภาพยนตร์เข้าสู่หนังพูด ถัดจาก The Taming of the Shrew (1929), A Midsummer’s Night Dream (1935), Romeo and Juliet (1936) แต่สามเรื่องนี้ไม่ทำเงินเลยนะครับ, อีกเรื่องหนึ่งคือ Henry V (1944) นำแสดงโดย Laurence Oliver ได้เข้าฉายในอเมริกาปี 1946 ถือเป็นหนัง Shakespeare เรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จ ได้เข้าชิง Oscar 4 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี (แต่ไม่ได้สักรางวัล)
ถ้าตัดยุคหนังเงียบทิ้งไป มีการดัดแปลงสร้าง Macbeth ในรูปแบบภาพยนตร์มาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง
– Macbeth (1948) กำกับ นำแสดงโดย Orson Welles
– Macbeth (1971) กำกับโดย Roman Polanski ***
– Macbeth (2006) กำกับโดย Geoffrey Wright นำแสดงโดย Sam Worthington
– Macbeth (2015) กำกับโดย Justin Kurzel นำแสดงโดย Michael Fassbender และ Marion Cotillard ***
*** ผมตั้งใจจะเขียนรีวิว 2 เรื่องนี้ด้วยนะครับ
กับหนังของ Orson Welles บทนำมักจะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากตัวเขาเอง, นอกจากอัจฉริยภาพด้านการกำกับแล้ว ฝีไม้ลายมือด้านการแสดงก็ใช่ย่อย แม้จะไม่ใช่ต้นกำเนิดผู้บุกเบิก Method Acting แต่การแสดงของเขาถือว่าออกมาจากภายในล้วนๆ, สายตาที่กลมโตด้วยความหวาดหวั่นวิตกกังวล สีหน้าที่สีดเผือดแสดงความหวาดกลัว คำพูดชัดถ้อยชัดคำอันหนักแน่น สะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ และการเคลื่อนไหวที่มีนัยยะแฝงอยู่ตลอดเวลา, กำกับตัวเอง ยากกว่ากำกับคนอื่นมากๆเลยนะครับ
Macbeth นั้นเป็นทหารกล้า ที่มีจิตสำนึกคุณธรรมค่อนข้างสูง แต่สิ่งหนึ่งที่เหนือกว่าคุณธรรมในความเชื่อของเขาคือ ‘คุณค่าของลูกผู้ชาย’ จากคำพูดโน้มน้าวของภรรยา ที่แม้ตนได้ตัดสินใจจะไม่ลงมือ แต่พอได้รับคำท้าว่า ‘แค่นี้ทำไม่ได้ ไม่ใช่ลูกผู้ชายหรือไง?’ ศักดิ์ศรีมันค้ำคอเลือดขึ้นหน้า จนเขาต้องยอมทำ แต่ถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะหลังจากทำไปแล้วถึงพึ่งจะมาตระหนักได้ ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรคิด/ทำตั้งแต่แรก ผลกรรมมันเลยตามสนองได้ทันถึงที่
Lady Macbeth:
“When you durst do it, then you were a man;
and, to be more than what you were, you would
be so much more the man.”
ตัวละครนี้ถือว่ามีความน่าสนเท่ห์ประการหนึ่ง เพราะทำผิดแล้วสามารถตระหนักรู้ได้ นี่แสดงถึงความเป็นคนฉลาดอัจฉริยะ แต่ยังขาดสิ่งที่เป็นคุณธรรมยึดเหนี่ยวประจำใจ ในศรัทธาความเชื่อที่ถูกต้อง, นั่นอาจเพราะ Macbeth ขาดศรัทธาในพระเจ้า หลงเชื่อในคำโป้ปดของแม่มด (ซึ่งเป็นตัวแทนของซาตาน/มาร) นี่ทำให้วินาทีชั่ววูบ เขาตัดสินใจทำสิ่งที่ แม้แต่พระเจ้าคงไม่สามารถให้อภัยได้ (มั้ง), ผมยกคำพูดที่ Macbeth คิดได้ถึงชะตากรรมตัวเองมาให้ นี่ถือเป็นประโยคลึกซึ้งที่สุด โด่งดังที่สุดของบทละครนี้เลยนะครับ ท่องจำไว้ให้ขึ้นใจ ใครเอ่ยมาจะได้รู้จัก (ถือเป็นกลอนบังคับท่องของนักเรียนฝรั่งเลยกระมั้ง)
“She should have died hereafter;
There would have been a time for such a word.
To-morrow, and to-morrow, and to-morrow,
Creeps in this petty pace from day to day,
To the last syllable of recorded time;
And all our yesterdays have lighted fools
The way to dusty death. Out, out, brief candle!
Life’s but a walking shadow, a poor player
That struts and frets his hour upon the stage
And then is heard no more. It is a tale
Told by an idiot, full of sound and fury
Signifying nothing.”Macbeth
สำหรับบท Lady Macbeth ความตั้งใจแรกของ Welles คือ Vivien Leigh แต่ Welles ไม่เคยติดต่อเธอเลย เพราะคิดว่าสามีของเธอ Laurence Oliver คงไม่ให้การสนับสนุน,เคยยื่นข้อเสนอให้กับ Tallulah Bankhead, Anne Baxter, Mercedes McCambridge, Agnes Moorehead จนสุดท้ายมาจบที่ Jeanette Nolan นี่เป็นผลงาน Debut ของเธอ ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นผู้ประกาศที่ Mercury Theatre และเป็นคนจัดวิทยุ รายการ The March of Time ก็ไม่รู้ Welles ไปเจอเธอเข้าได้ยังไงนะครับ
การแสดงของ Nolan ต้องบอกว่า เป็นผู้หญิงที่แรงได้ใจ สายตา น้ำเสียงพูด ท่าทาง สามารถรับส่งบทสนทนา โต้เถียง สู้กับ Welles ได้แบบไม่เกรง, ตัวละคร Lady Macbeth ถือว่าเป็นผู้หญิงที่มีความทะเยอทะยานใฝ่สูง รักและเข้าใจสามีเป็นอย่างดี รู้ว่าอะไรคือจุดแข็งจุดอ่อน แต่สิ่งที่เธอชักจูง Macbeth ให้ทำนั้น กลับเป็นการอ่านเกมผิดพลาด เหมือนคนเลือดขึ้นหน้า อยากให้สามีเป็นกษัตริย์จนตัวสั่น แต่หาได้เข้าใจถึงความต้องการแท้จริงของสามีไม่
ตอนที่ Shakespeare เขียนตัวละคร Lady Macbeth ขึ้นมา คงเพื่อต้องการสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้หญิงในอนาคต ที่เริ่มจะมีบทบาทเทียบเท่าหรือพยายามครอบงำทำตัวเหนือกว่าผู้ชาย, Shakespeare คงได้แรงบันดาลใจมาจากคนใกล้ตัวแน่ๆ ที่ภรรยาทำตัวเหนือกว่าสามี ต้องคอยก้มหัวทำตามคำสั่ง นี่เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในโลกยุคก่อน มันจึงมีความฉงนที่น่าสนเท่ห์ … กับสมัยนี้ ผู้หญิงแบบนี้หาได้เกลื่อนกลาด เพราะสังคมได้พัฒนาไปถึงจุดที่ ชายหญิงมีความเท่าเทียมกันในหลายๆได้ (ยกเว้นบางประเทศด้อยพัฒนา ที่ผู้ชายยังต้องเดินนำ และผู้หญิงต้องเดิมตามเท่านั้น) ได้เห็นจากบทละครเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่า ความคิดของ Shakespeare ก้าวล้ำนำโลกเป็นอย่างมาก สมัยนั้นเห็นแบบนี้คงมอง ผู้หญิงคืออสรพิษ แต่สมัยนี้คือ ผู้หญิงทำให้ผู้ชายได้ดี เป็นทัศนะที่มองได้ตรงกันข้าม
ชะตากรรมของ Lady Macbeth กับการนอนละเมอฝัน แสดงถึงความหวาดกลัวที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ ได้ถูกแสดงออกมาภายนอก Sleepwalking โดยไม่รู้ตัว (ตอนมีสติคงพยายามเก็บกดดันอารมณ์ความหวาดวิตกกังวล นี้ไว้ลึกสุดๆเลย) แต่เมื่อ Macbeth พบเจอเข้าขณะที่เธอตื่นจากการนอนละเมอ ด้วยความไม่ตั้งใจ จึงเกิดอาการต่อต้าน รับไม่ได้ เกรงกลัว ละอายต่อบาปกรรมที่ตนทำทั้งหมด จึงปลิดชีพ กระโดดฆ่าตัวตาย จากสรวงสวรรค์ราชินีลงสู่ขุมนรก ที่คงรออยู่เบื้องล่าง
ก่อนหน้านี้ในปี 1936 Orson Welles เคยเปิดการแสดงละครเวทีชื่อ Voodoo Macbeth ใน New York ด้วยนักแสดงผิวสีทั้งหมด ซึ่งหนังเรื่องนี้เขาก็ได้นำมุมมองบางอย่าง จากละครเวทีเรื่องนั้นมาใช้สร้างหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะการตีความ แม่มดทั้ง 3 ที่เราจะได้ยินเสียง เห็นว่ามีรูปร่าง แต่จะไม่เห็นใบหน้า (เงาดำบังมิด)
สำหรับแม่มดสามตน ได้รับการเปรียบกับ ความชั่วร้าย (Evil), ความมืดมิด (Darkness), ความสับสนวุ่นวาย (Chaos), และความขัดแย้ง (Conflict) [เอะ! นี่มัน 4 อย่างนะ] หน้าที่ของพวกเธอ เป็นสื่อกลางและเป็นผู้ประจักษ์เฝ้ามอง มีตัวตนอยู่เหนือกาลเวลาและความเป็นไปได้ทั้งปวงของโลก, ตอนผมเห็นครั้งแรกนึกเปรียบเทียบกับ กิเลสของมนุษย์ โลภ, โกรธ, หลง (มี 3 อย่างพอดี) แต่เท่าที่หาข้อมูลดูก็ไม่มีแหล่งไหนที่ยืนยันข้อสรุปได้ ก็แล้วแต่จะตีความเข้าใจไปเลยนะครับ เรียกรวมๆว่าเป็นตัวแทนของ ‘มวลรวมความชั่วร้ายของโลก’
เกร็ด: นักแสดงทั้ง 3 คนที่แสดงเป็นแม่มด ต่างมีบทอื่นในหนังด้วยนะครับ (ไม่ให้เสียเที่ยว เพราะแม่มดทั้ง 3 ไม่เห็นหน้าอยู่แล้ว)
– Peggy Webber รับบท Lady Macduff
– Lurene Tuttle รับบท Gentlewoman
– และแม่มดชาย Brainerd Duffield รับบทเหยื่อฆาตกรคนแรก (First Murderer)
เกร็ดไร้สาระ: เพราะการที่ Shakespeare นำเสนอแม่มดในแง่มุมของความชั่วร้าย (ที่อาจมีตัวตนอยู่จริงในยุคนั้น) เลยมีความเชื่อกันว่า Macbeth เป็นบทละครที่ถูกสาป (โดยพวกแม่มด) ให้นักแสดงหรือผู้เกี่ยวข้อง ต้องมีอันเป็นไป ซึ่งการแสดงละครเรื่องนี้ครั้งแรกสุด นักแสดงที่สวมบท Lady Macbeth ได้ล้มเจ็บและสิ้นใจหลังเวที นี่ทำให้ King James I ตัดสินใจแบนละครเรื่องนี้ไม่ให้เปิดการแสดงถึง 5 ปี
เกร็ดไร้สาระ (ต่อ): กับเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด ในปี 1947 นักแสดงชื่อ Harold Torman ผู้รับบท Macbeth ในระหว่างการดวลดาบนั้น คู่ต่อสู้ของเขาลืมสวมที่ครอบปลายดาบ พอถูกแทงล้มลงกลางเวที ผู้ดูต่างก็ปรบมือพอใจในบทบาท หากทว่าหลังเวทีต่างล้วนตกใจที่เขาโดนแทงด้วยดาบจริง Torman เสียชีวิตในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา
Welles ได้ให้ลูกสาวของตน Christopher Welles รับเชิญในบท ลูกสาวของ Macduff ตัวละครนี้มีบทสนทนาสุดคลาสสิก แฝงความหมายลึกซึ้งอยู่ 2 ประโยค
Lady Macduff: Your father’s dead, my child; and what will you do now?
Macduff Daughter: My father is not dead, for all your saying.
Lady Macduff: Yes, he is dead; how wilt thou do for a father?
Macduff Daughter: Nay, how will you do for a husband?
Lady Macduff: Why, I can buy me twenty at any market.
Macduff Daughter: Then you’ll buy ’em to sell again.
เด็กหญิงผู้ไร้เดียงสา คิดว่าพ่อของตนหาซื้อง่ายดายเหมือนผักปลา นี่น่าจะแทนถึงทัศนคติของโลกอนาคต ที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีสามีเดียว เบื่อก็ทิ้งแล้วหาใหม่ มีเยอะแยะเลือกใหม่ได้
Macduff Daughter: Was my father a traitor, mother?
Lady Macduff: Ay, that he was.
Macduff Daughter: What is a traitor?
Lady Macduff: Why, one that swears and lies.
Macduff Daughter: And be all traitors that do so?
Lady Macduff: Every one that does so is a traitor,and must be hanged.
Macduff Daughter: And must they all be hanged that swear and lie?
Lady Macduff: Every one.Macduff Daughter: Who must hang them?
Lady Macduff: Why, the honest men.
Macduff Daughter: Then the liars and swearers are fools, for there are liars and swearers enow to beat the honest men and hang up them.
คนทรยศคืออะไร? คนที่สัญญาสาบานแล้วโกหกไม่ทำจริง
แล้วคนทรยศได้รับผลกรรมอะไร? ถูกประหารแขวนคอ
ใครกันที่จะประหารแขวนคอ? คนซื่อสัตย์ยังไงละ
… เช่นนั้นพวกชอบสาบานและโกหกล้วนเป็นคนบรมโง่ เพราะแทนที่จะร่วมมือกัน จักได้จัดการสังหารแขวนคอคนซื่อสัตย์ให้หมดไป
คำไร้เดียงสาของเด็กหญิง ฝากข้อคิดถึง ความวิปริตกลับผิดเป็นถูกของโลกมนุษย์ ไม่ใช่ว่าเด็กคนนี้ฉลาดคิดเหมือนเหรียญสองด้านนะครับ แต่เธอไม่สามารถเรียนรู้ เข้าใจได้ว่า สิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด นี่เป็นความคิดที่อันตรายเสียยิ่งกว่าคนทรยศ สาบานแล้วโกหกเสียอีก
หนังมีการออกแบบฉาก/เสื้อผ้า/อุปกรณ์ต่างๆ ในลักษณะ Impressionist โดย Orson Welles และ Dan O’Herlihy, ถือว่ามีความแปลกพิศดาร แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจอันเคี้ยวคด วิปริตเหมือนอสรพิษของทั้ง Macbeth และ Lady Macbeth
ปราสาทตั้งอยู่บนเขา ภายในสลับซับซ้อนเหมือนเขาวงกต ห้องบรรทมของพระราชาอยู่ชั้นบนสุด ต้องเดินขึ้นจากบันไดภายนอกเลียบเขาขึ้นไปที่ดูอันตราย พลาดพลั้งหลับตาเดินตกเขาไปตายแน่นอน
มงกุฎของ Macbeth มี 2 แบบ หนึ่งคือทรงสี่เหลี่ยม มีลักษณะเหมือนคอก กรงขัง กำแพงเมืองที่กักตนเองไว้ให้อยู่ภายใต้อะไรสักอย่าง, แบบที่สองทรงกลมมีหนามแหลมชี้ออกมารอบด้าน แสดงถึงความชั่วร้าย (หนามแหลม แสดงถึง ความเจ็บปวดทรมาน) ที่พุ่งชี้ออกมาทุกทิศทาง
เกร็ด: ปกติการออกแบบฉากในลักษณะ Expressionist/Impressionist จะพบเห็นได้มากกับหนังเงียบ เช่น The Cabinet of Dr. Caligari (1920), Nosferatu (1922), The Last Laugh (1924), Metropolis (1927) ฯ ส่วนหนังพูดที่ผมเคยเจอ ใครยังไม่เคยรัชมขอแนะนำ The Scarlet Empress (1934) และ La Belle et la Bête (1946)
ถ่ายภาพโดย John L. Russell (ผลงานดัง Psycho-1960) มีงาน 3 อย่างที่เด่นมากๆในหนังของ Orson Welles
1) การจัดแสง เงา หมอกควัน ที่สามารถสะท้อนบรรยากาศ ให้สัมผัส Impressionist ของการออกแบบฉากในหนัง
2) การจัดวางองค์ประกอบของภาพ และการเคลื่อนไหวของตัวละคร ที่แฝงความหมายไว้ชัดเจน
3) ทิศทาง วิธีการเคลื่อนกล้องที่ประกอบอารมณ์ แฝงความหมาย เคลื่อนคล้อยไปตามตัวละคร
ฉากที่มีการจัดแสงเงาได้สวยที่สุด คือตอนที่ Macbeth เรียกหา คุยกับแม่มด รอบข้างมืดสนิท แสงฉายตกไปที่ Macbeth ดนเดียว กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้ามา, ฉากนี้ดูเหมือน ในจิตใจของ Macbeth รอบข้างแสงสว่างส่องไม่ถึง เหลือเพียงแต่ตัวตนหนึ่งเดียวที่เป็นชีวิตและความหวัง
Long-Take ในฉากที่ Macbeth และ Lady Macbeth สนทนา วางแผน เตรียมการฆ่ากษัตริย์ King Duncan ตัวละครจะเดี๋ยวเดินขึ้นลง เดี๋ยวเดินซ้ายขวา ให้ลองสังเกตตำแหน่งของตัวละคร บางครั้ง Lady Macbeth จะยืนสูงกว่า (นี่แสดงถึงอิทธิพลที่มีมากกว่า) ซึ่งพอเธอเกลี้ยกล่อม ชักจูง ท้าทาย Macbeth ได้แล้ว เขาก็จะลุกขึ้นยืนสูงกว่าตน
ช่วงท้ายของหนัง ขณะที่กองทัพเรือนหมื่นของ Macduff ยกพลเคลื่อนเข้ามา กล้องจะเคลื่อนเข้าหา (เหมือนซูมเข้า) นี่เป็นการสร้างอารมณ์ให้รู้สึกเหมือน กำลังถูกดูดเข้าไป, หลังจากกำจัดเผด็จการ Macbeth สำเร็จ เหล่าทหารส่งเสียงเฮฮาดีใจ กล้องจะเคลื่อนออก (เหมือนซูมออก) ให้ความรู้สึกผ่อนคลายระบายออก เหมือนภารกิจสำเร็จ
ตัดต่อโดย Louis Lindsay, หนังเปิดเรื่องโดยใช้การเล่าผ่านมุมมองของแม่มดทั้ง 3 ได้พบเจอ ทำนายและเฝ้าดูชีวิตของ Macbeth ที่ดำเนินไปอย่างน่าสนเท่ห์, กลางเรื่องจะมีฉากที่ Macbeth ร้องเรียกหาแม่มด เราจะไม่เห็นตัวตนของพวกเธอ ได้ยินแค่เสียง รอบข้างดำมืดสนิท (กล้องถ่ายจากมุมสูงค่อยๆเคลื่อนลงมา), พบเจออีกครั้งก็ตอนจบเรื่อง เป็นภาพที่พวกเธอยืนมองดูปราสาท หลังจบสิ้นสมัยของกษัตริย์ Macbeth ผู้ทรราชย์
การพูดกับตัวเอง เป็นการแสดงความคิดของตัวละคร ที่เสมือนเราอยู่ในหัวของ Macbeth, นี่ถือเป็นจุดเด่นของบทละครนี้เลย เพราะนอกจากคำพูดการกระทำของตัวละครแล้ว เรายังได้ยินเสียง ‘ความคิด’ ออกมา วิธีการคือใช้แช่ภาพค้างไว้ ตัวละครหยุดนิ่งทำท่าครุ่นคิด แล้วมีเสียงบรรยายประกอบ มีหลายฉากมากที่เป็นแบบนี้ สังเกตไม่ออกว่านี่เป็นคำพูด/ความคิด ให้ดูที่ปากของตัวละคร ถ้าปากขยับแสดงว่าพูด ถ้าไม่แสดงว่ากำลังคิดอยู่ (แต่ในหนังมีเสียงคำพูดของ Macbeth คนเดียวเท่านั้นแหละ)
มีการเล่นเทคนิคกับการเปลี่ยนภาพอยู่ 2-3, การเบลอเฟด คงใช้การปรับโฟกัสของกล้อง แล้วตัดภาพไปอีกฉาก ที่เริ่มถ่ายจากมัวปรับโฟกัสเป็นชัด (นี่ต้องกับกล้องที่สามารถปรับโฟกัสมือได้เท่านั้น) การทำแบบนี้ให้ความรู้สึกเหมือนความเบลอ ไม่แน่ใจตัวเอง เวลาเรามองภาพอะไรไม่ชัด (เช่นขณะง่วง) ก็ทำการขยี้ตาสักที ก็จะเหมือนการปรับโฟกัส เพื่อให้เห็นภาพนั้นชัดขึ้น
เพลงประกอบโดย Jacques Ibert ชาวฝรั่งเศส, เปรียบได้กับเสียงพูดที่ไม่มีคำพูด มักจะดังขึ้นขณะตัวละครหยุดพูด/พูดจบ เพื่อเป็นตัวเชื่อมประสาน ขับเคลื่อนเรื่องราว สร้างบรรยากาศให้เข้ากับเหตุการณ์/ถ้อยคำพูดขณะนั้น, ความไพเราะอาจจะไม่รื่นหูเสียเท่าไหร่ แต่จุดประสงค์การใช้ค่อนข้างชัดเจน ออกไปในทาง Impressionist
เกร็ด: กับฉากที่เป็นเสียงพูดในความคิด มักจะมีเสียงเพลงประกอบดังขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่แน่ใจว่าทุกช็อตเลยหรือเปล่า
Macbeth เป็นบทละครโศกนาฏกรรมที่ สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆของ Shakespeare แต่กลับเป็นบทละครต้องห้าม เพราะมีความยาก ท้าทายทั้งนักแสดงและผู้กำกับอย่างมาก, ว่ากันว่ามีบทละครของ Shakespeare อยู่ 3 เรื่องที่นักแสดงกลัวกันมากที่สุด คือ Hamlet, King Lear และ Macbeth เพราะตัวละครมีจิตใจซับซ้อน ลึกซึ้ง กินใจ ยากอย่างยิ่งที่จะแสดงออกมาได้ดี จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมกัน (ใครแสดงบทพวกนี้ได้ ต้องกล้า และเก่งจริงๆเท่านั้น)
กับความสวยงามด้านภาษา ด้วยสำเนียงลีลาที่มีสัมผัสสอดคล้อง และแฝงความหมายลึกซึ้ง บางคำดูเหมือนมันจะไม่มีในพจนานุกรม (กลอนไทยเก่าๆของสุนทรภู่ บางคำก็ไม่มีในพจนานุกรมเหมือนกัน) ใช้การเล่นเสียง ผสมคำใหม่ที่ฟังแล้วมีความใกล้เคียง หรือให้ความหมายเดิม อาทิ
I gin to be aweary of the sun, and wish the estate o’ the world were now undone.
ประโยคนี้ แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ประมาณว่า I begin to aware of the sun, and everything in the world will be destroy. คำว่า gin ไม่ได้มีความใกล้เคียง begin เลย แต่สามารถมองเป็นการย่นคำที่ให้ความหมายเดิมได้ เช่นกันกับ aweary ที่การใส่ ry เพื่อเป็นการเน้นย้ำคำว่า aware
What he hath lost, noble Macbeth hath won.
คำว่า hath เป็นการเล่นเสียง มาจากคำว่า has เปลี่ยน s เป็น th เน้นเสียงท้าย halt ฟังแล้วให้สัมผัสคล้องจอง
นอกจากนี้ ประโยคพูดยังมีลีลาการพรรณาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ถือว่าเป็นจุดขายของบทละคร Shakespeare ที่มีความลึกล้ำ ซ้ำซ้อน อาทิ
Here’s the smell of the blood still.
All the perfumes of Arabia will not sweeten this little hand.
ด้วยคราบเลือดที่ติดมือล้างไม่ออกนี้ (จริงๆล้างออก แต่นามธรรมของเลือดยังติดอยู่) พรรณาเปรียบเทียบต่อให้น้ำหอมที่กลิ่นแรงสุดจากอาราเบีย ก็ไม่สามารถทำให้กลิ่นคาวเลือดนี้ยังติดอยู่ได้, ความหมายก็คือ เมื่อได้ทำการฆ่าคน มือเปื้อนเลือด ก็ไม่มีทางที่ทั้งชีวิตเราจะลบเลือนการกระทำ ความทรงจำนี้ไปได้ ต้องจมอยู่กับมันตราบจนวันตาย!
หนึ่ง) ถ้าคุณสามารถเข้าใจความสวยงามอันลึกซึ้งของบทละครเรื่องนี้ สอง) เข้าใจภาษาของภาพยนตร์ สาม) วิเคราะห์ความหมาย นัยยะเชิงสัญลักษณ์, จักสามารถเห็นได้ว่า หนังเรื่องนี้มีความลึกล้ำสวยงามที่ลงตัวอย่างมาก ทุกองค์ประกอบสร้างสรรค์ นำเสนอได้อย่างลงตัวสมบูรณ์แบบ นี่แม้ขนาด Orson Welles ยังพูดว่า ‘ตอนแรกคิดว่านี่คงเป็นหนังธรรมดาที่ดีเรื่องหนึ่ง แต่ไปๆมาๆรู้สึกว่า นี่เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง’ น่าเสียดายที่คนสมัยนั้น ยังไม่มีความสามารถเข้าใจความลึกซึ้งเหล่านี้ได้พอ กาลเวลาและประสบการณ์เท่านั้นที่จะพิสูจน์ ความเข้าใจของผู้ชม ว่าจะสามารถเห็นความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ได้สักเพียงไหน
ผมหลงรักหนังเรื่องนี้ แต่เรื่องของกษัตริย์สก็อตแลนด์ ไม่เห็นมันจะมีอะไรน่าสนใจตรงไหน เลยไม่สามารถกลายเป็นหนังโปรดได้, แต่จากนี้ทำให้รู้ว่า ตนเองพร้อมแล้วกับหนังของ Shakespeare ยากๆอย่าง Hamlet, Tempest, King Lear ผมอาจกลับไปหา Romeo & Juliet มาดูใหม่อีก เพื่อจะเห็นความสวยงามที่แตกต่างออกไป
แนะนำกับเฉพาะกับผู้ชื่นชอบบทละครของ William Shakespeare และแฟนหนังเดนตายของ Orson Welles, คนทำงานสายภาพยนตร์ทุกแขนง ควรจะต้องดูหนังเรื่องนี้ ศึกษาหาวิธีการให้เข้าใจ จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง
ถ้าคิดว่าตัวเองดูบทละครดั้งเดิมของ Shakespeare ไม่ได้ แนะนำให้ไปหา Macbeth (1971) ของ Roman Polanski มารับชมก่อนนะครับ เรื่องนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ไม่ลีลามาก แต่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไม่แพ้หนังเรื่องนี้เลย
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความโหดร้าย และแนวคิดที่ผิดวิปริต
Leave a Reply