Macbeth (1971) : Roman Polanski ♥♥♥♥
จากบทละครของ William Shakespeare ฉบับของ Roman Polanski ถึงจะใช้คำพูดสำบัดสำนวนตามแบบต้นฉบับ แต่เป็นหนังที่ดูง่าย เข้าใจไม่ยาก เป็นธรรมชาติ และมีความบันเทิงมากที่สุด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
แต่ต้องถือว่าในด้านศิลปะ มีความด้อยกว่าทั้ง Macbeth (1948) และ Throne of Blood (1957) กระนั้นสิ่งที่หนังมีก็คือความเป็นธรรมชาติ (Naturalism) ต่างจากทั้งสองเรื่องที่ดัดแปลงอิงจากการแสดงละครเวทีมากกว่า
หลังเสร็จจาก Rosemary’s Baby (1968) โปรเจคถัดไปของ Roman Polanski คือ The Day of the Dolphin แต่เพราะเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น, Sharon Tate ภรรยาของ Polanski ที่กำลังตั้งท้องและเพื่อนครอบครัว Manson ถูกฆาตกรรมที่บ้านของเขาใน Beverly Hills คืนวันที่ 9 สิงหาคม 1969, นี่ทำให้ Polanski เกิดอาการช็อค และตกอยู่ในสภาพหดหู่ (depression) อยู่หลายเดือน เมื่อร่างกายและจิตใจได้รับการเยียวยา จึงขอถอนตัวจากโปรเจค แล้วเริ่มต้นพัฒนา ดัดแปลงบทละคร Macbeth ของ William Shakespeare โดยทันที
แต่ขณะนั้นไม่มีสตูดิโอไหนใน Hollywood สนใจที่จะให้ทุนสร้าง เพราะหนังมีฉากหญิงสาวแก้ผ้าเดินละเมอ เพราะกลัวจะขายไม่ได้ (หนังได้เรต X ตอนฉายในอเมริกา) โชคดีได้ Victor Lownes เพื่อนรู้จักของ Polansi ที่ทำงานกับ Playboy Enterprises แล้วเข้าไปโน้มน้าว Hugh Hefner ให้ทุนสร้างแก่หนัง (ที่ขอสำเร็จเพราะฉากสาวแก้ผ้าเดินละเมอนี่แหละ ที่เจ้าของนิตยสาร Playboy สนใจ) ตอนแรกได้เงินมา $1.5 ล้านเหรียญ แต่ไปๆมาก ด้วยความที่หนังถ่ายทำล่าช้าไปหลายเดือน จำต้องขอเพิ่มอีก $600,000 เหรียญ นี่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Lownes กับ Polanski แตกหัก ขาดสะบั้นนับจากนั้น
ด้วยความโกรธแค้น ครั้งหนึ่ง Lownes ส่งของขวัญให้ Polanski เป็น Life-Sized Gold Penis (ไอ้จ้อนทองคำขนาดเท่าของจริง) แล้วมีข้อความเขียนว่า ‘I’m sure you’ll have no difficulty finding some friend you can shove it up.’
บทภาพยนตร์โดย Kenneth Tynan นักเขียน นักวิจารณ์ชาวอังกฤษ ที่มีความเชี่ยวชาญบทละครของ Shakespeare อย่างมาก, การดัดแปลงร่วมกับ Polanski ได้มีการเปลี่ยนแปลง
– จากบทพูดความคิดที่นักแสดงพูดออกมา (Soliloquies) ให้กลายเป็น Inner Monologues พูดในใจแทน (ได้ยินเสียงแต่ปากไม่ขยับ)
– บทที่เพิ่มขึ้นของตัวละคร Ross, เดิมในบทละครของ Shakespeare ไม่มีบทพูด แทบไม่ได้ทำอะไรเลย แต่หนังใส่มุมมองของตัวละครนี้เข้าไปอย่างเยอะ (คิดว่าอาจจะเป็นตัวแทนของ Polanski กับการได้ประสบพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ สะท้อนกับตัวเองที่พบเหตุการณ์ความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตที่เพิ่งจะเผชิญผ่านมา)
– และมีการเปลี่ยนแปลงตอนจบ เพิ่มฉากที่ Donalbain เดินทางไปพบกับแม่มดทั้ง 3 (นี่มีนัยยะแสดงถึง วัฏจักรเดิมที่เกิดขึ้นซ้ำอีก)
เกร็ดไร้สาระ: ว่ากันว่า Tynan คือคนแรกที่พูดคำว่า ‘fuck’ ออกอากาศในรายการโทรทัศน์ของอังกฤษ
ตอนผมได้ยินข่าวเมื่อปี 2004 ที่ Polanski ฟ้องนิตยสาร Vanity Fair กล่าวหาว่าเขาล่อลวง ลวนลามหญิงสาว เพราะแอบอ้างว่า จะทำให้โด่งดังเหมือน Sharon Tate (make another Sharon Tate out of you) ก็ทำให้เกิดความฉงนสงสัย ว่ามันมีลับลมคมใน อะไรเกิดขึ้นกับผู้กำกับคนนี้หรือเปล่า, ผมเคยดูหนังของ Polanski มา 3-4 เรื่อง อาทิ Chinatown (1974), The Pianist (2002), Oliver Twist (2005) ฯ มีความรู้สึกว่า ผู้กำกับคนนี้มีความรุนแรงแฝงอยู่ในจิตใจพอสมควร, ตอนดู Macbeth ทีแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่พอหาข้อมูลและพบเรื่องภรรยาถูกฆ่า ผมก็เข้าใจ Polanski ทันทีเลยละ กับคนที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า (Depresssion) ใช่ว่าอาการหายแล้ว ความเจ็บปวดจะหายไปนะครับ มันติดตัว หลอกหลอนเขาไปจนวันตาย (แบบเดียวกับ Macbeth) ซึ่งการกระทำบางอย่าง อาทิ ล่อลวงหญิงสาว ฯ มันคือหนึ่งในวิธีผ่อนคลายระบายความเก็บกด อัดอั้นของตนเอง, ในมุมมองของสังคมนี่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่มองที่ต้นตอของปัญหา ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นกับเขา จึงไม่รู้ว่าชายคนนี้ ในจิตใจส่วนหนึ่งยังคงมีปัญหา ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด (แต่คงไม่มีใครสนใจ เข้าใจเขาจริงหรอกกระมัง), กับหนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน ที่ทำไมบางฉากถึงมีภาพความรุนแรงระดับบ้าคลั่ง เช่น ประหารแขวนคอ, ฆ่าเด็ก ขมขืนผู้หญิง, ตัดหัวเสียบประจาน ฯ ก็เพราะมันสะท้อนความรู้สึกเจ็บแค้น รวดร้าวที่อยู่ในใจของผู้กำกับออกมานะสิครับ
Macbeth รับบทโดย Jon Finch นักแสดงชาวอังกฤษที่หลังจากหนังเรื่องนี้ มักได้รับบทนำของบทละคร Shakespeare อยู่เสมอๆ, การตีความ Macbeth เป็นในรูปแบบโดยธรรมชาติ ใช้การพูดเหมือนคำพูดทั่วไป แค่มีทำนองคล้องกันเป็นกลอน แสดงอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่าทาง ไม่ใช่ใส่ลงในคำพูด, นี่ทำให้ Macbeth ฉบับนี้มีความลุ่มลึกและดูเป็นธรรมชาติที่สุด
แต่ความธรรมชาตินี้มีข้อเสียหนึ่ง กับคนเคยดู Macbeth ฉบับที่แสดงอารมณ์ออกมาชัดเจน จะไม่สามารถสัมผัสอารมณ์ของตัวละครได้เลย เพราะมันมีสัมผัสที่เบาบาง เหมือนการพูดไปเรื่อยๆ เอื่อยเฉื่อย น่าเบื่อ (แต่กับคนที่เพิ่งเคยดู Macbeth นี้เป็นฉบับแรกครั้งแรก จะหลงรักเลยละ เพราะมันลุ่มลึก ซับซ้อน และสามารถทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวละครได้ทันที)
Lady Macbeth รับบทโดย Francesca Annis นักแสดงสาวชาวอังกฤษที่ก็มักได้รับบทนำของบทละคร Shakespeare เช่นกัน, Lady Macbeth ผู้นี้ดูเป็นอิสตรีทั่วๆไป เป็นช้างเท้าหลังที่คอยช่วงสนับสนุนสามี มากกว่าที่จะคอยชี้ชักนำบงการ, ในฉากเกลี้ยกล่อมสามีให้ทำตาม เธอใช้น้ำตาบีบบังคับทำให้เขาใจอ่อน (ประโยคคำพูดเหมือนเดิม แต่น้ำหนักมาจากการบีบน้ำตามากกว่ากระแทกอารมณ์ใส่คำพูด)
ปัญหาของตัวละครนี้คือ ตอนเธอกรรมตามสนอง มันเหมือนเกินกว่าที่ควรจะได้รับจริง, กับผู้หญิงโฉดชั่วเลว สุดท้ายตายแบบอนาถ ก็ยังพอรับได้ (กงเกวียนกรรมเกวียน) แต่กับคนที่ดูไปก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่กลับตายอย่างอนาถ นี่เกินจริงไปเสียนิด ความสมดุลของผลกรรมมันไม่ได้นะครับ
ส่วนใหญ่แล้ว Lady Macbeth มักจะดูเลวร้าย มากกว่าเท่ากับ Macbeth เพราะความตั้งใจของ Shakespeare เป็นการคาดการณ์ถึงผู้หญิงในอนาคต ว่าต่อไปอาจกลายเป็นช้างเท้าหน้าเดินนำ มีอำนาจตัดสินใจเหนือผู้ชาย, แต่กับฉบับนี้ เราจะไม่รู้สึกว่า Lady Macbeth มีความเลวชั่วเสียเท่าไหร่ เธอเดินเคียงข้าง ออกไปทางตามหลัง Macbeth ที่มีความโฉดชั่ว ทรราชย์ (ค่อยๆเลวมากขึ้นเรื่อยๆ)
ถ่ายภาพโดย Gilbert Taylor ที่มีผลงานดังอย่าง Dr. Strangelove (1964) , A Hard Day’s Night (1964), Star Wars (1977) ฯ ความสวยงามของงานภาพ สร้างบรรยากาศที่ล่องลอย โบยบิน ดั่งสายลมพัดผ่าน เห็นแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย หายใจโล่งสะดวก (เหมือนกำลังเดินชิวกินลม อยู่บนหาดทรายหรือท้องทุ่งที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา)
ภาพวิวทิวทัศน์ภายนอก ที่เหมือนว่า แทบทุกฉากจะต้องเห็นภูเขาที่เป็นพื้นหลัง ไกลสุดลูกหูลูกตา ให้ความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ มนุษย์ตัวเล็กกระจิดริด, และมีหลายช็อต ที่สะท้อนเห็นพระอาทิตย์ได้อย่างพอดิบพอดี
– สำหรับฉากภายใน ต้องยกนิ้วให้กับการจัดวางตำแหน่งตัวละคร องค์ประกอบภาพ ที่มีความลงตัว สวยงามในทุกๆช็อต
ผมค่อนข้างชอบฉากเปิดเรื่อง หมอกพัดผ่านบนชายหาดที่กว้างไกล ว่าไปนี่คล้ายๆกับ Throne of Blood (1957) ที่เปิดเรื่องด้วยหมอกเช่นกัน แต่หนังเรื่องนี้เป็นหนังภาพสี Widescreen เห็นแล้วจะตราตะลึง ตรึงในความสมจริง, แค่ประมาณ 5 นาทีแรก คุณก็น่าจะสัมผัสความสวยงามของหนังเรื่องนี้ได้แล้วนะครับ
สถานที่ถ่ายทำ ทั้งหมดอยู่ในเกาะอังกฤษ (British Isles) อาทิ Snowdonia National Park ที่ Gwynedd (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ Wales), Northumberland ตรงชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ, ปราสาท Lindisfarne Castle, Bamburgh Castle, St. Aidan’s Church และ North Charlton Moors ใกล้ๆกับ Alnwick
สาเหตุที่โปรดักชั่นเกิดความล่าช้าไปเยอะ จากกำหนดการเดิมถึง 6 เดือน เพราะสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย, ความผิดพลาดของ Special Effect บางอย่าง และความดื้อด้าน ต่อความต้องการสมบูรณ์แบบของ Polanski ทำให้หนังมีการถ่ายทำหลายเทค (ต่างมุมกล้อง ต่างการแสดง) ใช้ฟีล์มสีจนหมดสต๊อก (สมัยนั้นฟีล์มสี ถึงจะเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้น แต่ราคายังแพงอยู่มาก)
ตัดต่อโดย Alastair McIntyre ขาประจำของ Polanski (จริงๆเขาเป็น Sound Editor นะครับ แต่เฉพาะกับหนังของ Polanski ถูกบังคับให้มาตัดต่อหนังด้วย) ด้วยความยาว 140 นาที เกินกว่า 2 ชั่วโมง ถือว่าเป็นภาพยนตร์ Macbeth ฉบับที่ยาวที่สุด (เรื่องอื่นๆจะสั้นกว่า 2 ชั่วโมง) นี่ไม่ใช่แค่ยาวธรรมดา แต่ให้ความรู้สึกที่ยืดยาวด้วย เพราะความไม่รีบเร่งในการตัดต่อ ที่ต้องการให้ผู้ชมซึมซับ สัมผัสธรรมชาติ บรรยากาศของหนังได้อย่างเต็มอิ่ม แต่บางทีมันก็ดูเนิบนาบเกินไปจนน่าหลับเหมือนกัน
เพลงประกอบโดย The Third Ear Band เป็นวงดนตรีพื้นบ้านอังกฤษ ที่พอจะมีชื่อเสียงตั้งแต่ยุคปลาย 60s สมาชิกวงมาจากหลายๆที่ สไตล์เพลงก็ Eastern Raga, European folk, แนวทดลอง และ Medieval, บอกตามตรงผมแทบไม่ได้ยินเสียงเพลงประกอบเลย นั่นเพราะ ผู้กำกับจงใจลดเสียงให้เบาที่สุด จะได้ยินคลอไปตลอดแทบทั้งเรื่อง บรรเลงเพื่อสร้างบรรยากาศ ทำให้รู้สึกเป็นธรรมชาติที่สุด (เสียงเพลงถือว่าฝืนธรรมชาตินะครับ การเปิดเสียงเบาๆคลอให้กลมกลืนเข้ากันไป กลับจะรู้สึกว่าเป็นธรรมชาติ)
วง The Third Ear Band มารับเชิญแสดงในฉากงานเลี้ยงรับรอง King Duncan ที่ปราสาทของ Macbeth ด้วยนะครับ, ผมเลือกเพลงที่เด็กชายร้องต่อหน้าพระพักตร์กษัตริย์ เป็นดนตรีที่มีกลิ่นอายของยุค Medieval มีความไพเราะแบบพื้นบ้านเก่าๆ
ถ้าใครอยากอ่านบทวิเคราะห์บทละคร Macbeth ไปหาบทความ Macbeth (1948) อ่านดูนะครับ ใจความหนังเหมือนกัน แค่สไตล์และวิธีการนำเสนอ ต่างออกไปตามแนวคิดของผู้กำกับเท่านั้น
Till Birnam wood remove to Dunsinane. I cannot taint with fear.
จนกว่าป่า Birnam เคลื่อนย้ายมาที่ Dunsinane ก็ไม่มีอะไรที่ข้าจักต้องกลัวเกรง
Birnam คือชื่อของป่า ตามสามัญสำนึกแล้วต้นไม้ไม่สามารถก้าวเดิน เคลื่อนย้ายตัวเองไปไหนมาไหนได้ Macbeth จึงคิดว่า ไม่มีทางที่โชคชะตาของเขาจะขาดสะบั้นลงไป แต่กลับลืมคิดไปว่า เมื่อป่ามันเดินไม่ได้ แต่ถ้าคนตัดต้นไม้ แล้วแบกมันเดินมา นี่เปรียบไม่ใช่โชคชะตาที่ฆ่า Macbeth แต่เป็นด้วยน้ำมือของมนุษย์, ฉากนี้ให้ข้อคิดว่า ‘อย่าเอาแต่เชื่อเรื่องโชคชะตา เพราะบางสิ่งอย่าง ต้องลงมือปฏิบัติจะเห็นผลได้เอง’
ส่วนตัวก็ชอบหนังเรื่องนี้นะ แต่ถ้าผมได้ดูก่อน Macbeth (1948) และ Throne of Blood (1957) อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะชอบฉบับนี้ที่สุดแน่ เพราะดูแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เข้าใจได้ง่าย มีความเป็นธรรมชาติที่สุด (ผิดกับสองฉบับนั้นที่ดูตัวเกร็ง ขี้เยี่ยวราดเล็ด) แต่เมื่อไม่ได้ดูก่อนเรื่องอื่น กลับรู้สึกว่านี่เป็น Macbeth ฉบับที่ชอบน้อยที่สุด สาเหตุเพราะจุดขายของหนังที่เป็นธรรมชาติ ผ่อนคลายนี่แหละ, คือบทละคร Macbeth ที่ผมเข้าใจ มันต้องเครียด จริงจัง เข้มข้น นักแสดงต้องเค้นอารมณ์ออกมาอย่างสุดๆ ไม่ใช่เล่าผ่านๆ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ล่องลอย ตัวเบาหวิว ฯ ถึงองค์ประกอบของหนังจะสมบูรณ์แบบ แต่บรรยากาศหนังแบบนี้ ไม่รู้สึกว่าเป็น Macbeth ฉบับที่ถูกต้องตามความตั้งใจของ Shakespeare เสียเท่าไหร่
กระนั้นถือว่า Macbeth ฉบับนี้เป็นการตีความในสไตล์ของ Roman Polanski ที่แตกต่าง และมีความยอดเยี่ยมในตัวเอง (Roger Ebert ยังอยากเรียกหนังเรื่องนี้ว่า Polanski Macbeth เพราะความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากฉบับอื่นจริงๆ), ผมอาจเป็นพวกซ้าย/ขวาจัดๆ ที่เคารพในต้นฉบับของบทละครมากๆ เลยชอบหนังเรื่องนี้ได้น้อยกว่าที่ควรชอบ, แต่ผมจัดให้หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเชื่อว่าผู้ชมสมัยนี้น่าจะ ‘เข้าถึง’ ซึมซับ ย่อยง่ายที่สุดแล้ว ส่วนสาระสำคัญของบทละคร คือข้อคิดสอนใจ ยังมีอยู่ครบถ้วน ไม่ตกหล่น แถมความบันเทิงเริงรมย์ให้ด้วย
กับสามเรื่องนี้ คงก็แล้วแต่รสนิยมของผู้ชมนะครับ ใครชื่นชอบงานศิลปะแนวๆ และการแสดงที่เกินจริงเหมือนละครเวที แนะนำให้หา Macbeth (1948) และหรือ Throne of Blood (1957) มาดูคู่กันได้เลย, แต่ถ้าแสวงหาความบันเทิง สนใจแค่เนื้อเรื่องและงานภาพสวยๆ Macbeth (1971) คงเหมาะสมกับคุณที่สุด
แนะนำกับผู้ชื่นชอบบทละคร Macbeth ของ Shakespeare แฟนหนัง Roman Polanski ชื่นชอบงานภาพสวยๆ แนว Naturalism บรรยากาศไม่เคร่งเครียดมาก ดูแล้วรู้สึกเบาสบายผ่อนคลาย
จัดเรต 15+ กับเลือด และภาพการฆ่าที่โหดร้ายทารุณ
Leave a Reply