Macbeth 2015

Macbeth (2015) : Justin Kurzel 

จากบทละครของ William Shakespeare ฉบับล่าสุด มีความงดงามดังบทกวีของผู้กำกับ Justin Kurzel นำแสดงโดย Michael Fassbender และ Marion Cotillard

ถ้าคุณได้ดูการแสดงละครเวที/ภาพยนตร์ Macbeth มาหลายเรื่อง หรือถ้าดูติดๆกัน ก็คงถึงจุดอิ่มตัว เกิดข้อสงสัยว่า จะมี Macbeth ที่สามารถตีความได้ต่างจากของเดิมยังไง, ระหว่างรับชมหนังเรื่องนี้แล้วผมก็อึ้งไปพักใหญ่ เพราะมันมีจริงๆ หลายจุดที่นำเสนอแตกต่างจากฉบับอื่นๆ นี่ทำให้หนังดูน่าสนใจอย่างมาก แตกต่างจากหนัง remake ดาดๆ ทั่วๆไป ที่เข้าไม่ถึงใจความสำคัญของต้นฉบับ

Macbeth ฉบับนี้ผมเรียกว่า Poetic Film นอกจากคำพูดของตัวละคร (ที่นำมาจากบทละคร) การเล่าเรื่องด้วยภาพ องค์ประกอบศิลป์ ลีลาตัดต่อ และการแสดงของตัวละคร ต้องอาศัยสัมผัส ความรู้สึก มากกว่าทำความเข้าใจด้วยสมอง ความคิด, กระนั้นถ้าคุณเป็นคนชอบคิด ก็สามารถวิเคราะห์ มองหาสาเหตุผล ทำไมฉากนี้ถึงนำเสนอแบบนี้ ซึ่งหนังก็ตอบสนองความต้องการของคุณได้เป็นอย่างดี

Justin Kurzel ผู้กำกับชาว Australian มีผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Snowtown เมื่อปี 2011 สามารถคว้ารางวัล Best Director จากหลายสำนัก (ในออสเตรเลีย) ถือเป็นผู้กำกับที่ได้รับการจับตามองอย่างมาก, Macbeth เป็นผลงานลำดับที่ 3 และถือเป็นการแจ้งเกิดของ Kurzel ในระดับนานาชาติ (ที่ทำให้ได้รับโอกาสกำกับ Assassin’s Creed-2016) ร่วมกับนักเขียนบท Jacob Koskoff, Michael Lesslie และ Todd Louiso ในการดัดแปลงบทละคร Macbeth ของ William Shakespeare

นำแสดงโดย Michael Fassbender รับบท Macbeth จอมอหังการ, ครึ่งแรก Fassbender ยังดูเป็นมนุษย์มนาอยู่ แต่พอครึ่งหลัง พี่แกเหมือนคนติดยา สูบบารากุมากไปหรือเปล่าไม่ทราบได้ ท่าทางหลอนๆ ตาลึกๆ เหมือนวิญญาณไม่อยู่ในร่าง

Marion Cotillard รับบท Lady Macbeth จอมบงการ, ผมชอบการแสดงที่นุ่มลึกของ Cotillard สำเนียงการพูดก็ดูดีขึ้น แต่ยังรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่ (คือ Cotillard เป็นชาวฝรั่งเศส ถ้าเธอแสดงหนังฝรั่งเศสละก็เป็นเลิศ แต่แสดงในหนังพูดภาษาอังกฤษ มันไม่ Convince โน้มน้าวใจให้เชื่อได้สักเท่าไหร่)

การตีความ Macbeth และ Lady Macbeth ในฉบับนี้ ใช้แรงขับเคลื่อนภายใน คือสัญชาติญาณและ Sex, ในฉากที่ Lady Macbeth โน้มน้าวให้ Macbeth กระทำการเพื่อฆ่า King Duncan กับหนัง 2-3 เรื่องที่ผมดูมา มักจะมีวิธีการที่ต่างออกไป
– ธรรมดาที่สุด คือการพูดกระแทกอารมณ์ของ Lady Macbeth เสียดสีให้ Macbeth คิดเองได้
– ใช้สายตาจิกกัด และคำพูดที่เสียดแทง (Throne of Blood)
– ใช้น้ำตา มารยาหญิง (Macbeth-1971)
– กับฉบับนี้ ใช้ Sex เพื่อเป็นล่อลวงกระตุ้น แรงขับเคลืิ่อน การกระแทกกระทั้น ปลดปล่อยระบายอารมณ์ ความรู้สึกอึดอัดอั้น … เมื่อเสร็จสำเร็จแล้ว Macbeth พูดว่า I am settled ลงตัวพอดีเปะ

ฉากหนึ่งที่สร้างความพิศวงให้กับผู้ชมไม่น้อย คือ ฉากเดินละเมอของ Lady Macbeth มันเหมือนว่าการที่เธออยู่ในบ้านพบเด็กชาย และภายหลังเดินอยู่บนเนินเขา พบกับแม่มดทั้ง 3+1 แท้จริงแล้วมันคือ ‘ในห้วงความคิดของเธอ’ ไม่ใช่การเดินละเมอแบบ Macbeth เรื่องอื่นๆ, นี่ถือว่าแปลกประหลาด แต่มีความน่าพิศวงไม่น้อย และการแสดงของ Cotillard กับ Long-take ภาพ Close-Up ใบหน้าของเธอ ถือว่านิ่งลึก คมกริบ และพอตัดมาให้เห็นเด็กน้อยที่เธอคุยอยู่ ผมขนลุกซู่เลย (สงสัยได้เพลงประกอบสร้างอารมณ์ด้วย) คนที่เธอพูดคุยอยู่นั้นมิได้มีตัวตนอยู่บนโลก

เช่นกันกับบทสรุปของ Macbeth ที่ฉบับอื่นๆมักจะเสียชีวิตแบบโดยบังเอิญ พลาดพลั้ง หรือไม่มีทางสู้ได้ แต่ครั้งนี้การต่อสู้ครั้งสุดท้าย Macbeth มีฝีไม้ลายมือถือว่าเหนือกว่า Macduff มากๆ และสามารถฆ่าให้ตายได้ทันที แต่วินาทีสุดท้าย เขาตัดสินใจปล่อยวาง (จึงถูกฆ่าแทน)
– อิงตามบทละคร Macbeth เข้าใจตัวเองได้ ตั้งแต่ตอนพูดว่า To-morrow, and to-morrow, and to-morrow, Creeps in this petty pace from day to day (ตั้งแต่ Lady Macbeth เสียชีวิต)
– ใน Throne of Blood จนวินาทีสุดท้ายของชีวิตก็คิดไม่ได้ (โดนธนูแทงรอบตัว)
– Macbeth (1971) คิดได้ตอนเห็นต้นไม้เดิน ตอนจบตายด้วยความพลาดพลั้ง (และถูกตัดคอ)
– ครั้งนี้ คิดได้ในวินาทีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต หลังจากรู้ว่า Macduff คือ ลูกที่ไม่ได้มาจากครรภ์แม่ (คลอดก่อนกำหนด) และตัดสินใจพอ I’ll not fight with thee. จากนั้นถูกเฉือนกระเพาะ ระลึกทุกสิ่งทุกอย่างแล้วถูกแทงเสียชีวิต

ถ่ายภาพโดย Adam Arkapaw, งานภาพมีความขมุกขมัว สลัว วิสัยทัศน์ค่อนข้างจำกัด เพราะแต่ละฉากเต็มไปด้วยหมอกควัน ฝุ่น ขี้เถ้า ขี้ดิน ขี้เลน ฯ ตอนกลางคืนก็มีแค่แสงเทียนที่ให้แสงสว่าง, เห็นภาพลักษณะนี้ ผมรู้สึกหายใจไม่ค่อยออก มันอึดอัด แสบจมูก (เห็นบริเวณที่มีหมอกควัน ฝุ่นขี้เถ้าเยอะๆ ทำให้ผมระลึกตอนอยู่เชียงใหม่ฤดูฝุ่น ที่ชาวเขาเผาป่า แล้วหมอกฝุ่นลงจัดๆ ใครเคยอยู่ภาคเหนือ จะระลึกความทรมานนี้ได้ทันที)

ฉากการต่อสู้ต้นเรื่อง ระหว่าง Macbeth กับผู้ทรยศ Mcdonald (ที่เป็น Thane of Cawdor คนแรก) นี่เป็นการขยายความที่ไม่มีในบทละครต้นฉบับและหนังฉบับไหนๆ กระนั้นการต่อสู้บ้าเลือด แต่เราจะไม่เห็นเลือดเท่าไหร่ เพราะหนังใช้ดินหิน สาดกระเซ็นใช้แทนเลือด (เห็นมีโยนเศษดินกระเด็นผ่านหน้ากล้องด้วย) เป็นการใช้วัตถุสัญลักษณ์อื่นแทนความหมายของเลือด (คล้ายๆกับ สู้ในดินเลนของ Michael the Brave)

มีการใส่โทนสีหลากหลายให้เข้ากับบรรยากาศ (ไม่แน่ใจนี่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Hero-2002 หรือเปล่า) กับแสงอาทิตย์มักจะเป็นสีส้มอ่อนๆ แต่จะค่อยๆเข้มขึ้นเรื่อยๆ ตอนจบเห็นโทนสีเป็นแสงสีแดง (เหมือนเลือด), นี่เป็นการสร้างบรรยากาศ เพื่อแสดงอารมณ์ของหนัง ถ้าเราสามารถเข้าใจได้ว่า แสงสีอะไรให้ความรู้สึกอย่างไร มีความหมายอะไร ก็จะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมฉากนั้นถึงใส่แสงสีนั้น

ตัดต่อโดย Chris Dickens ชาวอังกฤษ ที่ได้รางวัล Oscar จากหนังเรื่อง Slumdog Millionaire, การตัดต่อถือว่าเป็นภาษาหนึ่งของหนัง ที่มีการเรียบเรียงร้อย สอดคล้องกันเป็นทำนอง มีสัมผัสอย่าง การยนำภาพจากอดีตแวบขึ้นมาปรากฎชั่วครู่ เสมือนภาพในหัวของตัวละคร

การสโลโมชั่น พร้อมกับการตัดสลับภาพไปมา นี่เป็นการสร้างจังหวะการเล่าเรื่อง ที่เปรียบได้กับคำกลอน, เวลาท่องอาขยานทำนองเสนาะ จะมีจังหวะเอื้อย ลากเสียง เร่งความเร็ว ฯ ถ้ามองว่าการสโลโมชั่นเปรียบได้กับการลากเสียงเอื้อย ตัดต่อเร็วๆสลับฉากคือการเร่งความเร็ว แบบนี้เราก็สามารถเปรียบลีลาการตัดต่อหนัง ได้กับบทกวี ที่มีความงดงามอันน่าสนเท่ห์

เพลงประกอบโดย Jed Kurzel (พี่ชายของผู้กำกับ) ใช้วง Orchestra จัดเต็ม ผสมผสานกับดนตรีพื้นบ้าน Medieval ของประเทศ Scotland, สไตล์เพลงถือว่าเป็น Inception-like สำหรับขับเคลื่อนอารมณ์ และสร้างบรรยากาศ

ผมไม่ได้มีอคติอะไรกับสไตล์เพลง Inception-like นะครับ คือถ้าบรรเลงโดยใช้สายเส้นเดียว แล้วสามารถนำพาอารมณ์ให้กับฉากนั้นไปถึงขีดสุดได้ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็มีหลายฉากให้ความรู้สึกแบบนั้นได้เลย เช่นขณะ Macbeth ลอบสังหาร King Duncan หนังใช้โน๊ตท่อนเดียวที่ค่อยๆดังขึ้น ขับเน้นอารมณ์ ความรู้สึกให้เพิ่มสูงขึ้นจนถึงขีดสุด (ฆ่าสำเร็จ) แต่คือมันไม่มีอะไรใหม่กับสไตล์นี้ ได้ยินแล้วก็จะรู้ได้ทันที (ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่า Inception-like ได้ยังไง)

ใจความของการตีความ Macbeth ฉบับนี้ คงต้องการนำเสนอในรูปแบบ Visual Art ที่ใช้สันชาติญาณดิบของมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อน, งานภาพสวยๆ มาพร้อมกับอารมณ์ที่ลุ่มลึก ความแตกต่างหลายๆอย่างกับฉบับอื่น ล้วนมีเป้าหมายเพื่อแสดงออกสิ่งที่อยู่ในใจของมนุษย์, ตัวเลือกนักแสดง Michael Fassbender สงสัยผู้กำกับคงชอบการแสดงของเขาจาก Shame ที่พี่แกเปลือยทั้งกายทั้งใจ ส่วน Marion Cotillard ก็กับความเอาแต่ใจ มาแบบภาพความทรงจำหลอนๆใน Inception, ผลลัพท์ออกมางดงามดังที่ผู้กำกับคาดหวัง แต่…

ส่วนตัวรู้สึกเบื่อๆ ขณะดูหนังเรื่องนี้ เพราะการเล่าเรื่องเอื่อยเฉื่อย อืดอาดไปเสียหน่อย, ส่วนการตีความเนื้อเรื่องแม้ว่าจะมีน่าสนใจ แต่ก็ต้องตัดอะไรหลายๆอย่างออกไปเยอะ จนรู้สึกห้วนๆ (หนังยาวแค่ 113 นาที แต่ถ้าเล่าเรื่องแบบนี้แล้วไม่ตัดเนื้อหาอะไรออก คงได้ยาวเกือบๆ 3 ชั่วโมงแน่) รวมๆแล้วเป็นแค่ชอบแล้วกัน แต่น้อยที่สุดในบรรดาหนัง Macbeth ทั้งหมด

ผู้ชมยุคสมัยนี้ นิยมบริโภคความฉาบฉวย ภาพสวย เพลงประกอบนั้นใช้ได้แล้ว แต่การเล่าเรื่องต้องเร็ว ไม่เยิ่นเย้อ ลีลา ยึกยัก ชักช้า ไม่เช่นนั้นผู้ชมจะเกิดความเบื่อหน่าย หาวบ่อย ซึ่งผมเชื่อว่าคงต้องมีคนนั่งหลับในโรงภาพยนตร์เป็นแน่, ถ้าคุณรับชมหนังที่เล่าเรื่องช้าๆไม่ได้ ก็ไม่แนะนำให้ดูเรื่องนี้นะครับ ไปหา Macbeth (1971) ยังจะดีกว่า

แนะนำกับคนชื่นชอบบทละคร Macbeth ของ William Shakespeare, ชื่นชอบหนังบรรยากาศ มีความเป็นศิลปะสูง สวยงามเหมือนบทกวี, แฟนหนัง Michael Fassbender และ Marion Cotillard ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศความรุนแรง บ้าคลั่ง และเลือดสาด

TAGLINE | “Macbeth ฉบับปี 2015 มีความงดงามดั่งบทกวี งานภาพ องค์ประกอบศิลป์เป็นเลิศ ลีลาตัดต่อ การตีความน่าสนใจ แต่โดยรวมน่าเบื่อไปหน่อย คงไม่ถูกปากกับคอหนังสมัยใหม่นัก”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: