mahanagar

Mahanagar (1963) Bollywood : Satyajit Ray ♥♥♥

มหานครกัลกัตตา (Calcutta) บ้านเกิดของ Satyajit Ray ตั้งอยู่ตะวันตกสุดของอินเดีย ใกล้ๆกับบังคลาเทศ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โกลกาตา (Kolkata) มีประชากรประมาณ 14 ล้านคน เยอะเป็นอันดับ 3 ของประเทศ (มากกว่ากรุงเทพฯ 10 ล้านคนในปี 2016 เสียอีก), ในยุคที่โลกกำลังพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มนุษย์จำต้องปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอด ค่านิยมใหม่ๆเริ่มเข้ามา แม้บางอย่างจะขัดต่อขนมธรรมเนียบประเพณีดั้งเดิม แต่เราจำเป็นต้องยอมรับและทำการเปลี่ยนแปลง

อินเดียเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่อง ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี กรอบคุณธรรมจริยธรรม ตามค่านิยมของสังคมมาอย่างยาวนาน, ผมขอลองวิเคราะห์เหตุผลสักหน่อยนะครับ อาจสืบเนื่องมาจากความหลากหลายในความเชื่อ ศาสนาที่มีมากและนมนาน (เพราะอินเดียเป็นต้นกำเนินของ พุทธ, พราหมณ์, ฮินดู, ซิกข์ ฯ) แต่ละศาสนามีหลักคำสอนที่ต่างออกไป จนเกิดความขัดแย้งในความแตกต่าง ทำให้ผู้คนยึดมั่นในแนวทางของความเชื่อตนเองอย่างเต็มเปี่ยม … นี่รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลสืบทอดต่อกันมา จะให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็เหมือนขอให้เปลี่ยนศาสนา เป็นสิ่งที่ยากจะทำ เพราะความยึดมั่นได้ฝังรากลึกข้างในจิตใจ ไม่มีทางที่จะถอนรากถอนโคนออกมาได้โดยง่าย

มีฉากหนึ่งในหนังที่ผมชอบมากๆ หญิงสาว 5 คน มี 4 คนเป็นชาวอินเดียแท้ อีกหนึ่งเป็นลูกครึ่งแองโกลอินเดีย (Anglo-Indian) เพื่อต่อรองค่านายหน้า (commission) ไม่มีผู้หญิงอินเดียคนไหนที่กล้า พวกเธอส่งลูกครึ่งไปต่อรองกับหัวหน้า หลังได้ข้อตกลงสำเร็จ นางเอกถูกเรียกไปสอบถาม ‘อะไรที่ทำให้พวกเธอเลือกคนต่างชาติ มาเป็นตัวแทนต่อรองกับฉัน?’ หนังไม่มีคำตอบนี้ แต่ผมขอตอบให้ว่า เพราะ ค่านิยมของคนอินเดีย ปลูกฝังให้ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ไม่มีสิทธิ์เสียงคิดทำอะไรด้วยตนเอง และความหวาดกลัวต่อสิ่งที่ตนไม่เคยรู้ ไม่เคยทำ เพราะนี่ถือเป็นสิ่งใหม่ ขัดต่อขนบธรรมเนียม ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเธอ

การจะเอาชนะขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม ที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นเรื่องยากถึงมากที่สุด, ง่ายที่จะคิด ยากที่จะเริ่มต้น โหดสุดที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่น นี่คือ 3 ระดับของเวลาเริ่มต้นอะไรใหม่ๆทุกสิ่งอย่าง จะต้องได้ผ่านพบเจอ เพื่อเป็นการพิสูจน์คุณค่าของสิ่งนั้นๆ, ผมเชื่อว่า 90% ของมนุษย์ ได้แค่คิดแต่ไม่เคยทำ, 9% คือคนที่ทำแต่ไม่สำเร็จ มีเพียง 1% ส่วนน้อยมากๆในโลกที่ กล้าคิด กล้าทำ จนประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับ (ตัวเลขอาจดูน้อย แต่เปรียบเทียบแบบนี้ เห็นภาพมากๆ)

Mahanagar (มหานคร, The Big City) ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Abataranika เขียนโดย Narendranath Mitra นักเขียนและกวีชาว Bengali, เรื่องราวของครอบครัวหนึ่ง สามี รับภาระทำงานหาเงินมาเลี้ยงดู พ่อ-แม่, ภรรยา, น้องสาวและลูกชาย แต่เงินเดือนที่ได้มาช่างน้อยนิด ไม่เพียงพอที่จะดูแลทุกคนได้ทั้งหมด ภรรยาจึงเกิดแนวคิด ตนเองไปทำงาน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ แต่นี่เป็นสิ่งที่ขัดต่อความเชื่อ ค่านิยมของคนอินเดีย (ที่ผู้หญิงต้องไม่ทำงาน อาศัยอยู่บ้าน เป็นแม่บ้านที่ดี) นอกจากสงครามภายนอก ที่เธอต้องต่อสู้ทำงานหาเงินแล้ว ยังต้องสู้กับสงครามภายใน พ่อที่ไม่เห็นด้วยหัวชนฝา ลูกชายที่ยังดื้อรั้นร้องเรียกหาแม่ และสามีที่รู้สึกรับไม่ได้ (เพราะภรรยาหาเงินได้เก่งกว่า)

นำแสดงโดย Madhabi Mukherjee รับบท Arati Mazumdar ภรรยาที่ตัดสินใจทำงานเป็น Saleswoman เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว, Mukherjee เป็นนักแสดง Bengali ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากๆคนหนึ่งในอินเดีย ร่วมงานกับ Satyajit 3 ครั้ง Mahanagar (1963), Charulata (1964) และ Kapurush (1965) ว่ากันว่าทั้งสองเป็นชู้กันด้วยนะครับ (และ Satyajit ถูกภรรยาจับได้ ขู่ฟ้องอย่า แต่ก็อ้อนวอนจนเธอใจอ่อน และ Satyajit สร้าง Charulata เพื่อเป็นการไถ่โทษตนเอง)

Madhabi เล่าถึงตอนที่ได้รับเลือกจาก Satyajit ‘เขาอ่าน Mahangar ทั้งเรื่องให้ฟัง แล้วฉันอึ้งไปเลย นี่น่าจะคือบทหนังที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางเรื่องแรกที่ฉันพบเจอ ไม่ใช่ตัวละครบทรองที่ต้องเล่นตุกติกเพื่อป้อย้อตามผู้ชาย ในแบบที่เคยเล่นมานับครั้งไม่ถ้วน’

He read me the entire story, Mahanagar. I was stunned. This was the first woman-centered screenplay I had encountered. I was not going to play second fiddle to the main male character as in all plays and films I had acted in or was familiar with.

Saleswoman เป็นอาชีพขายของ ที่ต้องพบผู้คนมากมาย เคาะประตูตามบ้าน เสนอขายแนะสินค้าต่างๆ คนที่จะเก่งอาชีพนี้ ต้องมีทักษะการพูดที่เก่ง โน้มน้าวใจผู้อื่นได้ ที่สำคัญคือพูดโกหกหน้าด้านๆเป็น, นี่ถือเป็นอาชีพที่ตรงกันข้ามกับวิถีของผู้หญิงอินเดียโดยสิ้นเชิง เพราะพวกเธอต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ค่อยมีโอกาสพบเจอใคร ภรรยาที่ดีต้องพูดน้อย ตามใจสามี และต้องไม่พูดโกหก

การแสดงของ Madhabi นั้นสวยล้ำ ลุ่มลึก มีมิติสูงมากๆ, ช่วงแรกเป็นเหมือนเด็กน้อยที่กำลังได้พบอะไรใหม่ๆ มีความตื่นเต้นผสมความหวาดกลัว กล้าๆเกร็งๆ ตอนทำงานเดือนแรกไม่ชอบสบตากับใคร หันหัว เบนหน้าหนี แต่เมื่อทำมาหลายเดือนก็มีความกล้า อกผายไหล่ผึ่ง (ยังกะผู้ชาย) จ้องตาคนอื่นได้โดยไม่กลัวเกรง

Anil Chatterjee รับบท Subrata Mazumdar (สามี) คนใส่แว่นแสดงถึงความเฉลียวฉลาด แต่ในใจยังยึดติดอยู่กับขนบวิถี ประเพณีดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่ ถึงปากไม่พูดออกมา แต่การแสดงออก/สิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ ผู้ชมสามารถรับรู้ สัมผัสได้, การแสดงของ Anil ก็ถือว่าลุ่มลึกไม่แพ้กับ Madhabi พูดไม่เยอะ เน้นแสดงออกทางสีหน้า/การกระทำ แต่เพราะเป็นตัวละครรอง และเหมือนว่าโชคชะตาจะเล่นตลก (ให้ตกงาน, หางานทำไม่ได้ ฯ) เขาจึงดูโดดเด่นน้อยกว่า

ตอนที่ Subrata ต้องการให้ Arati ลาออกจากงาน นี่คือความเย่อหยิ่งในศักดิ์ศรีของลูกผู้ชาย ที่พอเห็นว่าภรรยาหาเงินได้เก่งกว่า ก็มีท่าทีต่อต้านไม่ยอมรับ ถึงก่อนหน้านี้จะยินยอมรับให้เธอไปทำงาน และคาดการณ์สงครามภายในที่จะเกิดกับคนอื่นๆในครอบครัว แต่พอเจอเข้ากับตัวก็รับไม่ได้เสียเอง (กลายเป็น Last Boss), ตอนจบที่เมื่อ Arati ลาออกจากงานด้วยตนเอง มันตลกที่เขากลับแสดงอาการต่อต้านออก (ตอนต้องการให้ออกไม่ออก ตอนไม่ควรจะออกดันออก) แต่ทันทีที่เธอร้องไห้ ชายหนุ่มหันหลังเดินกลับไปหา เหมือนวินาทีนั้นจะคิดได้ ว่าการแสดงออกของตนนี้มันเป็นความไร้สาระ ศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่กินไม่ได้ จะเอามาค้ำคอก็ไม่ใช่เรื่อง

หญิงสาวทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า Subrata ตระหนักไม่ได้ จนเมื่อเจอเข้ากับตนเองทุกอย่าง, เริ่มต้นจากภรรยาหาเงินได้มากกว่า จากนั้นตัวเองตกงาน แฟนสาวได้ขึ้นเงินเดือน กลับบ้านดึก ได้ยินเธอพูดโกหกกับลูกค้า ฯ นี่ฉันเดินตามหลังภรรยาตั้งแต่เมื่อไหร่, นี่เป็นทัศนคติหนึ่งที่ Satyajit ฝากฝังไว้ในหนัง คือ มันอาจดูผิดขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีของชาวอินเดีย แต่ทั่วโลกมันก็ไม่แปลก ถ้าจะมีผู้หญิงที่เก่งกว่าผู้ชาย ภรรยาที่เดินนำหน้าสามี โลกมันอาจกลับตารปัตรดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่นี่คือทางเลือกที่มีจริง … หนังเรื่องนี้คงเป็นแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับผู้หญิงหลายๆคนเลยละ

มองในมุมตัวละครอื่นบ้าง

Haren Chatterjee รับบท Priyogopal (พ่อของ Subrata) อดีตอาจารย์สอนหนังสือ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่พอแก่ตัวตกงาน กลับไม่สามารถดูแลตนเอง กลายเป็นภาระให้ลูกหลาน, สิ่งที่คนสูงวัยมักเป็นกันคือ หัวรั้น ดื้อดึง หลงตัวเอง ชอบคิดว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน ประสบการณ์ชีวิตย่อมสูงกว่าคนรุ่นใหม่ แต่มักหลงลืมไปว่าโลกนั้นก็เปลี่ยนไปเช่นกัน อะไรๆที่ตนเคยผ่านมา ปัจจุบันอาจไม่หลงเหลือ เปลี่ยนแปลง เหมือนเดิมอีกแล้วก็ได้ นี่รวมถึงค่านิยม ความเชื่อ และวิถีชีวิต, เหตุผลของการไม่ยอมรับ สะใภ้ให้ไปทำงาน นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การไปขอความช่วยเหลือลูกศิษย์ลูกหา นี่เป็นการเอาเปรียบความหวังดี แถมยังในเชิงอ้างว่า เพราะลูกไม่ดูแลเอาใจใส่ นี่เป็นแบบอย่างของคนสูงวัยที่ไม่ดีเอาเสียเลยนะครับ

เกร็ด: คนใส่แว่น นอกจากแสดงถึงความเฉลียวฉลาดแล้ว ยังมีนัยยะถึงคนสายตาสั้น มองการณ์ใกล้ ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว

Haradhan Bannerjee รับบท Himangshu Mukherjee (หัวหน้างาน) วิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ สนใจแต่ผลประโยชน์ ไม่คำนึงถึงจิตใจของเพื่อนมนุษย์, ตอนแรกที่ผมมองตัวละครนี้ เหมือนว่าเขาจะเปิดกว้างในโลกทัศน์ของคนรุ่นใหม่ ที่ให้โอกาสจ้างงานหญิงสาว แต่เมื่อมองจุดประสงค์ลึกลงไป จะพบว่าที่ต้องให้คนขายเป็นผู้หญิง เพราะสินค้าเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงเท่านั้น ถ้าให้ผู้ชายขายจักรเย็บผ้า คงไม่มีใครอยากซื้อเท่าไหร่ นี่เป็นการมองผลประโยชน์เป็นสำคัญ, กับตอนไล่หญิงสาวแองโกลอินเดียออกจากงาน ด้วยข้ออ้างว่าป่วย มองในมุมของบริษัท มันก็ไม่ผิดอะไร เพราะคนที่ขาดประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบ เป็นตัวถ่วง โยนงานให้คนอื่น ก็ไม่ควรมีที่ยืนสังคม แต่… สิ่งที่หัวหน้างานคนนี้ทำ คือเขาไม่รับรู้ปัญหา มองเฉพาะผลลัพท์ประกอบการ ประสิทธิภาพ และการใช้คำพูด ที่ฟังดูก็รู้ว่าคงพูดจาดูถูกแบบเสียๆหายๆ นี่แสดงถึงทัศนคติต่อเพศหญิงของเขา ไม่ได้ต่างอะไรกับสามี/พ่อที่บ้าน/คนสมัยก่อน ฉาบหน้าว่าให้โอกาส แต่ลับหลังยังคงดูถูก กดขี่ ไม่เห็นหัว

แถมให้กับเด็กหญิง Jaya Bhaduri อายุ 15 รับบท Bani (ลูกสาว/น้องสาว) นี่ถือเป็นการแสดงหนังเรื่องแรก ที่ต่อมาโลกจะรู้จักเธอในชื่อ Jaya Bachchan ภรรยาสุดสวยของ Amitabh Bachchan กลายเป็นดารา bollywood ชื่อดังในยุค 70s (แต่งงานปี 1973 หายจากวงการไปเลี้ยงลูกช่วง 80s และกลับมาใหม่ในช่วงปลายยุค 90s)

ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra ขาประจำของ Satyajit, จุดเด่นคือการจัดองค์ประกอบภาพ ตำแหน่งและการเคลื่อนกล้อง ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางกำกับของ Satyajit ที่ตัวละครมักจะเคลื่อนไหว มีทิศทาง หันหน้าไปตามอารมณ์

กับฉากที่สังเกต direction ได้ง่ายคือช่วงท้าย ตอนที่ Arati เดินลงมาจากที่ทำงาน พบกับสามี เกิดความอับอายไม่อยากบอกสิ่งที่เกิดขึ้น เธอเดินหลบเข้าพิงกำแพง หามุมที่สามารถหลบซ่อนตัว [หลบมุมที่บันได คือความทะเยอทะยาน ไต่เต้า] แต่ Subrata ก็เดินตามติดจากข้างหลัง (นี่หมายถึง สถานะของสามีตอนนั้นที่เป็นช้างเท้าหลัง) พอเธอเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น Subrata เดินถอยหนี หันหน้าเข้าหากล้อง (พยายามทำตัวเป็นช้างเท้าหน้าอีกครั้ง) [ดังรูป] แต่เมื่อเธอร้องไห้ เขาจึงถอยกลับไปขอโทษ และออกก้าวเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กัน (จริงๆผู้ชายก็ยังนำอยู่นิดหนึ่งแหละ แต่แบบนี้ก็พอยอมรับได้แล้ว)

ส่วนฉากที่ผมชอบที่สุด คือภาพสะท้อนกระจกในห้องน้ำหญิง (เพราะกระจกสะท้อนอีกตัวตนหนึ่งของมนุษย์) ไฮไลท์อยู่ตอนที่ Arati กำลังจะยื่นใบลาออกครั้งแรก ผู้ชมลุ้นว่าเธอจะได้ยื่นหรือเปล่า เพราะมีการตัดสลับให้เห็นว่า ที่ทำงานของสามีปิดกิจการไปแล้ว หลังจากนั้นเธอเดินเข้าห้องน้ำ หยิบลิปสติกขึ้นมา ตอนแรกกล้องจับใบหน้าของเธอ แต่ขณะทากล้องเลื่อนไปที่กระจก เห็นภาพสะท้อน ราวกับว่าเธอกำลังแปลงร่าง กลายเป็นอีกคนๆหนึ่ง

ลิปสติก เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง ความสวยสง่า น่าดึงดูดหลงใหล ทาริมฝีปากทำให้ดูเซ็กซี่ เย้ายวน ในหนังมองได้อีกแบบคือ การมีตัวตนในโลกอีกใบหนึ่ง (ตัวตนที่บ้าน, ตัวตนที่ทำงาน) การทาครั้งแรก เพื่อนหญิงทาให้ เป็นการเล่นตัวเหมือนจะไม่ยอมรับ แต่ใจจริงต้องการพร้อมลองสิ่งใหม่ๆ, ครั้งถัดๆมา แอบทาก่อนทำงาน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่โลกอีกใบ, การขว้างลิปสติกทิ้ง เป็นการบอกกับสามีว่า ที่โลกใบนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเธอ

ตัดต่อโดย Dulal Dutta ขาประจำของ Satyajit, ถึงนี่จะเป็นหนัง Feminist แต่ใช้มุมมองการเล่าเรื่องของผู้ชายเป็นหลัง, เริ่มต้นจากสามี Subrata เดินทางกลับบ้าน สมัครงานให้ภรรยา จากนั้นถึงเปลี่ยนเป็นมุมมองของ Arati ขณะไปทำงานครั้งแรก แต่หลังจากเงินเดือนของเธอออก ก็จะตัดกลับมามุมของ Subrata อีก คราวนี้สลับไปมาจนจบเรื่อง

การที่หนังต้องใช้มุมมองของผู้ชายเล่าเรื่อง คงเพราะสังคมอินเดียตอนนั้น ยังไม่เปิดกว้าง ยอมรับให้ผู้หญิงมีบทบาทเหนือกว่าผู้ชายเสียเท่าไหร่ การเล่าแบบนี้จะช่วยลดอคติบางอย่างของผู้ชมในอินเดียลงได้ส่วนหนึ่ง (มั้ง)

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray จะได้ยินเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญๆ แห่งการตัดสินหรือเข้าใจอะไรบางอย่าง เช่น ตอน Arati ตัดสินใจหางานทำ, สามีขอให้เลิกทำงาน, ขณะทาลิปสติก ตอนไม่ได้ยื่นใบลาออก, ตอนที่พ่อสำนึกตัวเองได้ ฯ เหมือนว่าเพลงประกอบ ใช้เพื่ออธิบายอารมณ์ บรรยายสิ่งที่ตัวละครคิด (คือถ้าเป็นในหนังสือ มันจะมีประโยคที่ตัวละครนึกคิดในหัว เขียนบรรยายออกมา แต่สำหรับหนังเมื่อไม่มีวิธีนำเสนอเช่นนั้น Satyajit เลยใช้บทเพลงเพื่อเป็นการอธิบายแทน)

ความไพเราะ… ไม่รู้สิครับ เพลงที่ได้ยินเหมือนว่าเป็นเสียงประกอบ (Sound Effect) ของหนังเสียมากกว่า

ใจความของหนัง คือการชวนเชื่อ แนะนำให้ผู้คนสมัยนั้น เปิดโลกทัศน์ความคิดใหม่ๆ เหมือนดั่งเมืองที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ นี่ถือเป็นโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะโลกได้พัฒนาไปมาก จะยังทำตัวเป็นกบในกะลา ยึดมั่นถือมั่น ไม่รับรู้ ไม่สนใจ โหยหาแต่สิ่งที่เคยมี เคยเป็นในอดีต กับสิ่งที่อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและครอบครัว เริ่มต้นคิดใหม่ หาหนทางใหม่ แล้วชีวิตจะดีขึ้นกว่าเดิมได้

หนังได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin และ Satyajit Ray ได้รางวัล Silver Bear: Best Director, นอกจากนี้ในงานประกาศรางวัล National Film Award หนังเรื่องนี้ได้ Third Best Feature Film (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมลำดับที่ 3 แห่งปี)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แต่ไม่ถึงขั้นหลงรัก สาเหตุเพราะผมเป็นผู้ชาย และรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ใช้มุมของผู้ชาย (ผู้กำกับ Satyajit Ray) ในการเล่าเรื่อง ทำให้ประเด็น Feminist ขาดความอ่อนไหว ในสัมผัสของเพศหญิง มันเลยดูเหมือนว่า ผู้ชายทุกคนในหนังเป็นตัวร้าย และผู้หญิงทุกคนในหนังเป็นตัวเอก

กับฉากจบ ผมมีแนวคิดหนึ่งที่รู้สึก ถ้าเปลี่ยนเป็นแบบนี้จะมีความสมบูรณ์แบบมากกว่า, แทนที่จะให้นางเอกวีนแตกต่อหน้าหัวหน้าสองต่อสอง ถ้าขณะนั้นสามีของเธอ ซึ่งตามนัดหมาย 5 โมงยืนอยู่ในห้องด้วย หญิงสาวต้องเผชิญหน้า เลือกระหว่าง ‘เพื่อศักดิ์ศรีของเพศหญิง’ กับ ‘โอกาสของสามีและครอบครัว’ ผมว่านี่จะเป็นการตัดสินที่น่าสนเท่ห์มาก (คาดหวังว่าให้คำตอบออกมา แบบเดียวกับในหนัง จะยิ่งสมบูรณ์แบบที่สุด) จริงๆการจบแบบในหนังก็ถือว่าใช้ได้นะครับ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าเหมือน การลาออกของเธอ เป็นการตัดสินใจด้วยอารมณ์ มากกว่าครุ่นคิด ไต่ตรองด้วยสติปัญญา และศักดิ์ศรีของเพศหญิง

แนะนำกับคอหนังดราม่าเข้มข้น ขายการแสดง ชื่นชอบหนังอินเดีย, Stayajit Ray และเป็นแฟนๆของ Madhabi Mukherjee (รวมถึงอยากดูผลงาน debut ของ Jaya Banchan) ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต PG นิดนึงกับการปะทะทางอารมณ์ และการกระทำหลายๆอย่างของความเห็นแก่ตัว

TAGLINE | “Mahanagar ของ Stayajit Ray เป็นหนังวิพากย์สังคม ชวนเชื่อให้ผู้คนปรับตัว และมองเห็นทัศนคติ ค่านิยมใหม่ๆ ที่มีสุดยอดการแสดงของ Madhabi Mukherjee”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: