Make Way for Tomorrow (1937) : Leo McCarey ♥♥♥♡
ภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องราวเป็นแรงบันดาลใจให้ Tokyo Story (1953) พ่อ-แม่เมื่อแก่เฒ่า หลังสูญเสียบ้านเพราะยุคสมัย Great Depression คาดหวังว่าลูกๆจะช่วยเหลืออุปการะ แต่… ถึงแม้ลีลาไดเรคชั่นไม่สไตล์ลิสต์เท่า แต่เล่าแบบ Melodrama ใครกันจะไปกั้นธารน้ำตาไม่ให้หลั่งไหลริน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“[Make Way for Tomorrow] would make a stone cry”.
– Orson Welles
ไม่ใช่แค่ Orson Welles เท่านั้นนะครับ แต่ยัง John Ford, Jean Renoir, Frank Capra ต่างลุ่มหลงใหล คลั่งไคล้ หลั่งน้ำตาให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้กันถ้วนหน้า
ผมครุ่นคิดว่าประมาณ 60% ที่ Tokyo Story (1953) ได้แรงบันดาลใจจาก Make Way for Tomorrow (1937) ส่วนอีก 40% (ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนัง) ถือว่ามีความแตกต่างออกไปสิ้นเชิง ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าเคยรับชม Toky Story จะมาดู Make Way for Tomorrow ซ้ำอีกทำไม? การันตีว่าพอหนังจบ อรรถรส ความรู้สึกที่ได้รับ ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน
แต่เหตุผลของการที่ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จะบอกว่าเหมือนกันเปี๊ยบเลยนะ, เราไม่ควรเห็นแก่ตัวในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว โดยเฉพาะพ่อ-แม่เมื่อแก่เฒ่า เราอาจไม่ต้องการพวกเขาแต่ท่านต้องการเรา แสดงออกเป็นลูกที่ดีไม่ได้ อย่างน้อยสุดก็พยายามถนอมน้ำใจ พอถึงเวลาแก่ตัวไปถูกลูกๆไม่เหลียวแลใส่ใจ เห็นกรรมสนองตามทันเร็วไว ครุ่นคิดได้ก็สายเกินแก้ไข
Thomas Leo McCarey (1898 – 1969) นักเขียน/ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California บิดา Thomas J. McCarey เป็นโปรโมเตอร์มวยชื่อดังที่สุดในโลกขณะนั้น โตขึ้นสอบเข้าโรงเรียนกฎหมาย University of Southern California แต่เอาเวลาว่างไปต่อยมวย เขียนเพลง ไปๆมาๆได้งานผู้ช่วยผู้กำกับ Tod Browning ซึ่งคือเพื่อนสนิทวัยเด็ก กลายเป็นนักเขียนบทตลกในสังกัด Hal Roach Studios กระทั่งได้รับโอกาสทำหนังสั้น ปลุกปั้น Stan Laurel กับ Oliver Hardy กลายเป็นคู่หูตลกหน้าใหม่, เมื่อมาถึงยุค Talkie โดดเด่นในการคิดบทพูดตลก ‘dialect comedies’ จนกระทั่งถูก Marx Brothers บังคับให้กำกับภาพยนตร์ Duck Soup (1933) จึงเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังระดับตำนาน
ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Make Way for Tomorrow (1937), The Awful Truth (1937) ** คว้า Oscar: Best Director, Going My Way (1944) ** คว้า Oscar: Best Picture และ Best Director, The Bells of St. Mary’s (1945), An Affair To Remember (1957) ฯ
ระหว่างการถ่ายทำ The Milky Way (1936) ร่วมกับ Harold Lloyd บังเอิญดื่มนมหมดอายุทำให้ล้มป่วยอย่างหนัก ประกอบกับการเสียชีวิตของพ่อพร้อมๆกันพอดิบพอดี ทำให้เขาไม่สามารถออกเดินทางไปร่วมงานศพ สร้างความเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก จึงต้องการสร้างภาพยนตร์สักเรื่องเพื่ออุทิศให้
“I had just lost my father, and we were real good friends. I admired him so much”.
– Leo McCarey
หยิบเอานวนิยาย The Years Are So Long (1934) แต่งโดย Josephine Lawrence (1889 – 1978) นักข่าว/นักเขียนหญิง สัญชาติอเมริกัน ผลงานของเธอนั้นมักเกี่ยวข้องกับเด็กๆ หรือไม่ก็ผู้สูงอายุ ซึ่งสะท้อนยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20th ความเจริญก้าวหน้าของสังคมเมือง ตึกระฟ้า ผลกระทบจากสงครามโลก และยุคสมัย Great Depression ทำให้คนสองสามรุ่นอายุห่างกันมากๆ มีมุมมองทัศนคติต่อโลกที่แตกต่าง กลายเป็นความขัดแย้ง ปัญหาสังคม โศกนาฎกรรม
มอบหมายให้ Viña Delmar (1903 – 1990) นักเขียนหญิงสัญชาติอเมริกัน โด่งดังจากนวนิยาย Bad Girl (1928) กำลังอยากลิ้มลองงานภาพยนตร์ใน Hollywood มีโอกาสพบเจอผู้กำกับ Leo McCarey พัฒนาบทหนังสองเรื่อง Make Way for Tomorrow (1937) และ The Awful Truth (1937) ค้นพบว่าไม่ค่อยชื่นชอบการทำงานแบบนี้ เลยผันตัวเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน
ครอบครัว Cooper ประกอบด้วย
– พ่อ Barkley (รับบทโดย Victor Moore) นิสัยหัวรั้น ดื้อดึง เพราะเคยเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานอะไรแล้ว เลยกลายเป็นภาระลูกๆหลานๆ แถมยังต้องมาพลัดพรากจากภรรยาสุดที่รักอยู่กันมากว่า 50 ปี จึงต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อสามารถเลี้ยงดูแลตนเอง และหวนกลับมาเคียงข้างคู่ชีวิตของตน
– แม่ Lucy (รับบทโดย Beulah Bondi) เป็นคนง่ายๆ พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ชอบครุ่นคิดแทนคนอื่น ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ แต่กลับไม่มีใครพยายามเข้าใจหัวอกเธอ (นอกจากสามี) เพราะรับรู้ตัวว่ากลายเป็นภาระลูกหลาน เลยอาสาที่จะไปอาศัยยังสถานรับเลี้ยงดูคนชรา
– ลูกชายคนโต George Cooper (รับบทโดย Thomas Mitchell) แต่งงานกับ Anita Cooper (รับบทโดย Fay Bainter) มีลูกสาววัยรุ่น Rhoda (รับบทโดย Barbara Read) อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ New York City, อาสารับเลี้ยงดูแลแม่เป็นการชั่วคราว โดยให้หลับนอนในห้องกับ Rhoda แต่ไม่นานก็สร้างความอึดอัด มุมมองทัศนคติครุ่นคิดเห็นต่าง อยากช่วยเหลือทำอะไรให้กลับสร้างปัญหา พวกเขาเลยครุ่นคิดจะส่งแม่ไปสถานรับเลี้ยงดูคนชรา แต่ความแตกเสียก่อนเธอจึงแสร้งพูดบอกความต้องการ ไม่ให้พวกเขาต้องรู้สึกทรมานกับการกระทำของตนเอง
– ลูกสาวคนโต Cora (รับบทโดย Elisabeth Risdon) อาศัยอยู่ทางตอนเหนือ ขณะนั้นปกคลุมด้วยหิมะ อากาศหนาวเหน็บ จิตใจของเธอก็เฉกเช่นกัน, รับเลี้ยงดูแลพ่อแต่ให้หลับนอนบนโซฟาจนป่วยไข้ หมอแนะนำว่าควรออกเดินทางไปยังสถานที่อากาศอบอุ่นสักหน่อย เธอเลยติดต่อน้องสาวคนเล็ก Addie อาศัยอยู่ California เพื่อปัดภาระรับผิดชอบตนเอง
– ลูกสาวคนรอง Nellie Chase (รับบทโดย Minna Gombell) ขอเวลาสามเดือนต่อรองกับสามี Harvey Chase (รับบทโดย Porter Hall) เพื่อนำพ่อ-แม่มาอาศัยอยู่ด้วย แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
– ลูกชายคนรอง Robert Cooper (รับบทโดย Ray Meyer) เป็นคนพึ่งพาอะไรไม่ได้เท่าไหร่ จะให้เอาพ่อ-แม่ไปอยู่อาศัยด้วย ย่อมเป็นภาระอย่างแน่นอน
Victor Frederick Moore (1876 – 1962) นักแสดง ตลก สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hammonton, New Jersey เริ่มต้นจากเป็นนักแสดง Broadways แสดงภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่เริ่มได้รับการจดจำยุคหนังพูด อาทิ Swing Time (1936), Make Way for Tomorrow (1937), Ziegfeld Follies (1946), The Seven Year Itch (1955) ฯ
ปกติแล้ว Moore เป็นนักแสดงหนัง Comedy ไม่ค่อยได้เล่นดราม่าจริงจังสักเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้รับบทพ่อ Barkley ‘Bark’ Cooper ใส่ความหัวรั้น ดื้อดึง ทำหน้าบูดบึ้ง ยียวนกวนประสาท แค่นั้นสามารถเรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้อยู่หลายครั้ง ซึ่งไฮไลท์นั้นอยู่ช่วงท้าย แก่แล้วแต่ยังคึกคัก ชักชวนภรรยาทำโน่นนี่นั่น พรอดคำหวาน อุ่นคำรัก นี่ถ้ายังหนุ่มแน่น สาวๆคงเหี่ยวแห้งสยบศิโรราบ (ทำให้ผมนึกถึงพ่อของ Guildo เรื่อง La Dolce Vita ขึ้นมาเลยนะ)
Beulah Bondi (1889 – 1981) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois เริ่มเป็นนักแสดงละครเวทีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ หลังจากเรียนจบสาขาสื่อสาร Valparaiso University แจ้งเกิดละครเวที Broadway กระทั่งอายุ 43 เข้าสู่วงการภาพยนตร์เรื่องแรก Street Scene (1931), โด่งดังจากเป็นนักแสดงชุดแรกเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress เรื่อง The Gorgeous Hussy (1936), ผลงานเด่นอื่นๆ Make Way for Tomorrow (1937), Of Human Hearts (1938), The Southerner (1945), It’s a Wonderful Life (1946) ฯ
แม้ด้วยวัยเพียง 47 ปี แต่ Bondi มักได้รับบทแม่/หญิงชรา แต่งหน้าให้เหี่ยวย่นแก่จัด (เป็นค่านิยมสมัยนั้น เพราะนักแสดงสูงวัยยังหาได้น้อยใน Hollywood ไม่ค่อยมีใครอยากเล่นด้วย) เป็นที่รักของลูกหลาน มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่มีต่อว่านินทาลับหลัง นอกเสียจากระบายความอัดอั้นกับสามีตนเองเท่านั้น … ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ Bondi ใส่คอนแทคเลนส์ด้วยหรือเปล่านะ ดวงตาของเธอดูกลมโตกว่าปกติทีเดียว ซึ่งมันสามารถสะท้อนความบริสุทธิ์ จริงใจ เห็นแล้วรู้สึกน่าสงสารเห็นใจ
Thomas John Mitchell (1897 – 1962) นักแสดงสมทบชื่อดัง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Elizabeth, New Jersey ครอบครัวเป็นผู้อพยพจาก Ireland โตขึ้นได้เป็นนักแสดง Broadway เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่เริ่มมีชื่อเสียงในยุคหนังพูด Lost Horizon (1937), The Hurricane (1937), Gone with the Wind (1939), Stagecoach (1939) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actor, It’s a Wonderful Life (1946), High Noon (1952) ฯ
เกร็ด: Mitchell เป็นนักแสดงชายคนแรกที่สามารถคว้า Triple Crown of Acting (Oscar, Emmy, Tony)
บทบาทลูกชายคนโต George Cooper ที่เหมือนจะพึ่งพาอาศัยได้ แต่ตัวเขาก็มีครอบครัวของตนเอง ภรรยาที่เหมือนจะดีแต่ก็มีนิสัยเอาแต่ใจ ลูกสาววัยใสกำลังอยากที่จะก้าวออกสู่โลกกว้าง นั่นทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จักทำอย่างไรดีให้ทุกคนได้รับความสุขกายสบายใจ
Fay Okell Bainter (1893 – 1968) นักร้อง/แสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที กระทั่งมีโอกาสเซ็นสัญญา MGM แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Side of Heaven (1934), ผลงานเด่นๆ อาทิ White Banners (1938), Jezebel (1938)** คว้า Oscar: Best Supporting Actress, The Children’s Hour (1961) ฯ
รับบท Anita Cooper ภรรยาของ George แรกเริ่มเหมือนจะมีความเห็นอกเห็นใจ แต่ต่อมาเต็มไปด้วยความกระวนกระวาย เพราะอดรนทนรับกับความวุ่นวายของแม่ไม่ค่อยได้ แสดงออกชัดเจนทางสีหน้า อยากจะขับไล่ไสส่งแต่จิตสำนึกพยายามหยุดยับยั้งไว้ ถึงอย่างนั้นก็ยังใช้ถ้อยคำพูดที่รุนแรง ตำหนิต่อว่า จนไม่อาจเผชิญหน้าหรือหาหนทางแก้ปัญหาใดๆ ซึ่งทุกสิ่งอย่างกำลังจะย้อนแย้งเข้ากับเธอเองในอีกไม่ช้า เพราะลูกสาววัยกำลังโต พยายามดิ้นรนหาทางหลุดออกจากรัง เมื่อไหร่สามารถโบยบินออกไปได้ เชื่อเถอะว่าเธอคงประสบชะตากรรมไม่ต่างจากที่เคยทำนี้อย่างแน่นอน
ถ่ายภาพโดย William C. Mellor (1906 – 1963) สัญชาติอเมริกัน เจ้าของ 2 รางวัล Oscar: Cinematography จาก A Place in the Sun (1951) และ The Diary of Anne Frank (1959)
Opening Credit ออกแบบตัวอักษรให้มีลักษณะเหมือนเงายาว เกิดจากการบดบังแสงอาทิตย์ที่อยู่ยังปลายขอบฟ้า โหยหาวันรุ่งขึ้นที่ดีกว่าปัจจุบัน
จุดเด่นของการถ่ายภาพ ตัวละครมักถูกรายล้อมรอบด้วยผู้คน หรือไม่ก็มีตำแหน่งนั่ง-ยืน ระดับความสูง-ต่ำ อย่างมีนัยยะสำคัญบางอย่าง
Sequence แรกของหนัง พบเห็นพ่อเอาแต่นั่งบนโซฟาตัวโปรด สะท้อนถึงความหมดสิ้นศักยภาพในการเป็นหัวหน้าครอบครัว แม่ต่างหากที่ยังกระฉับกระเฉง ยืนขึ้นเพื่ออธิบายสิ่งเกิดขึ้นกับบ้านหลังนี้ ซึ่งพอปัญหาได้รับการกล่าวถึง ฝั่งลูกๆเป็น George ลุกขึ้นยืนจัดแจงโน่นนี่นั่น ให้แม่อาศัยอยู่กับตนเอง ส่วนพ่อไปอยู่กับน้อง Cora รอคอยเวลาสามเดือนให้ Nellie คุยกับสามีเพื่อพาพวกเขาไปอยู่ด้วย
Anita ภรรยาของ George สอนเกมบริดจ์ด้วยการยืน ตำแหน่งกึ่งกลาง ศีรษะอยู่สูงกว่าใครเพื่อน … แต่เธอกำลังถูกละลาน สร้างความรำคาญจากแม่ ผู้ไม่รู้ประสีประสาอะไรด้วยเลย
ในบริบทเดียวกัน แม่ยืนขึ้นศีรษะอยู่สูงกว่าทุกคน แต่เธอไม่ได้ให้ความสนใจกีฬาบริดจ์ เล่าเรื่องอะไรก็ไม่รู้ สร้างความหงุดหงิด คับข้อง ขุ่นเคืองให้กับ Anita แสดงออกทางสีหน้าไม่พึงพอใจสักเท่าไหร่
Souls at Sea (1937) กำกับโดย Henry Hathaway นำแสดงโดย Gary Cooper, George Raft, Frances Dee ไม่เคยรับชมเหมือนกันนะครับ เผื่อใครสนใจ
เรื่องราวในส่วนของ Rhoda เด็กหญิงสาวรุ่นใหม่ มีความคิดอ่าน เป็นตัวของตนเอง ลุ่มหลงใหลในแสงสี รัตติดกาล ไม่สนที่จะอยู่ในกฎกรอบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ซึ่งถือว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับยุคสมัยรุ่นย่า รวมไปถึงพ่อ-แม่ ซึ่งพยายามจะควบคุม ครอบงำ … แต่สุดท้ายผมว่าก็ไม่แตกต่างกัน มันคือช่องว่าง ‘Generation Gap’ ไม่มีทางที่คนสองรุ่นจะสื่อสารทำความเข้าใจอะไรๆได้ตรงกัน
นี่เป็นอีกครั้งที่แม่ยืนคุยโทรศัพท์ แต่ส่งเสียงดังสร้างความรำคาญ ทำให้ Anita รู้สึกอับอายขายขี้หน้า จนเริ่มหมดสูญสิ้นความอดทน … สิ่งเกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงการไม่สามารถปรับตัวของผู้สูงอายุ รวมไปถึงการไม่พยายามทำความเข้าใจปัญหาคนสูงวัยของลูกหลาน ผลลัพท์ก็คืออคติ ขัดแย้ง ไม่ลงรอย มันเป็นเรื่องน่าเศร้าดีแท้
เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Anita ก็ไม่สามารถอดรนทนกับแม่สามีได้อีกต่อไป อ้างคำว่าตนเองเป็นแม่ของ Rhoda ย่อมมีสิทธิ์รับรู้ทุกสิ่งอย่างของลูกตนเอง … สังเกตว่าช็อตนี้ ถ่ายให้เห็นเธอพยายามยืนค้ำหัวแม่ แสดงถึงความไม่เคารพนับถือ
เมื่อการโต้เถียงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนมาช็อตคล้ายๆ ‘Ozu Shot’ ให้ตัวละครจับจ้องมองกล้อง เพื่อแสดงถึงการเผชิญหน้าระหว่างทั้งสอง และเหมือนว่าให้พวกเขาพูดบอกความในให้ผู้ชมรับฟังอีกด้วย
เกร็ด: ความคล้ายคลึงกับ ‘Ozu Shot’ เป็นความบังเอิญล้วนๆเลยนะครับ เพราะผลงานภาพยนตร์ของ Yasujirô Ozu แม้จะริเริ่มเทคนิคนี้มาตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ แต่กว่าจะนำเข้าสหรัฐอเมริกาก็หลังสงครามโลกครั้งที่สองโน่นเลย
พฤติกรรมของ Cora ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า พ่อ-แม่ เลี้ยงอย่างไรถึงกลายมาเป็นคนแบบนี้ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ก้าวร้าว หาเรื่องสร้างความไม่พึงพอใจผู้อื่นไปทั่ว ขนาดว่า Max Rubens (รับบทโดย Maurice Moscovitch) เพื่อนหนึ่งเดียวของพ่อ พบเจอพฤติกรรมของเธอแค่ไม่กี่นาทียังแทบอดรนทนอยู่ไม่ได้ … แล้วผู้ชมจะไปทนได้อย่างไร
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่หนังให้ตัวละครเผชิญหน้าสบตากล้อง ขณะที่แม่ตกลงปลงใจจะไปอยู่สถานรับเลี้ยงดูแลคนชรา บอกกับลูกเพื่อไม่ให้เขาต้องลำบากใจที่จะพูดออกมา ซึ่งปฏิกิริยาของ George แอบเห็นความลิงโลดอยู่ภายใน แต่พยายามข่มไว้ด้วยจิตสำนึกบางอย่าง
สิ่งที่ลูกกระทำต่อพ่อ-แม่ คอยดูเถอะว่าสักวันจะสะท้อนย้อนแย้งเข้ากับตัวเอง … นี่คือการตีความของผมช็อตนี้ หลังจากแม่พูดบอกกับ George อาสาตัวเองจะไปอยู่สถานรับเลี้ยงดูคนชรา เดินเข้ามาบอกกับภรรยาตรงหน้ากระจก ปัญหาวันนี้ได้ค้นพบทางออกเรียบร้อยแล้ว
เคยอาศัยอยู่ด้วยกันมากกว่า 50 ปี แต่พอบ้านถูกยึด แยกย้ายไปอยู่กับลูกๆ ทำให้สามี-ภรรยา ต้องพลัดพรากจากแทบจะชั่วนิรันดร์ มีโอกาสหวนกลับมาพบเจอแค่ไม่กี่ชั่วโมง มันจึงเป็นช่วงเวลาที่สุดแสนงดงาม ทรงคุณค่ายิ่ง หวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้นมาฮันนีมูน เป็นครึ่งชั่วโมงสุดท้ายที่แสนสุขและเศร้าสลด
คนเรานี่ก็แปลก เป็นลูกหลาน ญาติมิตร เพื่อนสนิท พบเจอกันอยู่ประจำ แทบจะไม่เคยพูดพร่ำคำหวาน แต่กลับคนแปลกหน้าแปลกตาแปลกถิ่น เรากลับแสดงอัธยาศัยไมตรี ยินดีให้ความช่วยเหลือต่างๆนานา … อย่างซีนนี้ที่เป็นความเข้าใจผิดเล็กๆที่บังเกิดขึ้น แต่ก็แสดงถึงความมีน้ำใจสามารถบังเกิดขึ้นได้ในสังคม
ผมชื่นชอบฉากนี้มากๆเลยนะ ชาย-หญิงสูงวัย ตั้งใจจะเต้นรำหวนระลึกความหลัง แต่พอขึ้นเวทีได้ท่วงทำนองเพลง ปรากฎว่าเต้นไม่เป็น วาทยากรเห็นเข้าเลยเปลี่ยนกลับมาเป็น Let Me Call You Sweetheart ท่วงทำนอง Waltz ซึ้งซาบซ่านไปถึงขั้วหัวใจ
เพราะนี่อาจเป็นการร่ำลาชั่วนิรันดร์ พรอดคำหวานของพวกเขาช่างไม่แตกต่างกับวัยรุ่นหนุ่มสาว แต่พอเป็นบริบทคนสูงวัย อะไรๆกลับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
ลูกสาวคนที่ห้า Addie อาศัยอยู่ California ถือเป็นตัวละครลึกลับไม่เคยโผล่หน้ามาให้เห็น สะท้อนถึงอนาคตอันไม่แน่ไม่นอนของพวกเขา อาจจะมีอยู่หรือจบสิ้นลงไปแล้ว อะไรๆก็เกิดขึ้นได้
ผมไม่ค่อยอยากเขียนบรรยายช็อตจบนี้สักเท่าไหร่ ทั้งๆก็แค่การร่ำจากลา แต่มันกลับมีความเจ็บปวด จุกแน่นทรวงอก ธารน้ำตาหลั่งพรั่งพรูออกมา ราวกับว่านี่คือจุดจบของความฝัน เมื่อรถไฟสามีเคลื่อนจากไปนั้น เธอหันหลังเพื่อมาพบโลกความจริงที่แสนเหี้ยมโหดร้าย
ตัดต่อโดย LeRoy Stone (1894 – 1949) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำผู้กำกับ McCarey
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของแม่ Lucy และพ่อ Bark ตัดสลับไปมา
– อารัมบท, เริ่มที่บ้านของพ่อ-แม่ พบเจอพร้อมหน้าลูกๆทั้ง 4
– แม่อาศัยอยู่กับลูกชายคนโต George สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ Anita
– พ่อแวะเวียนมาสนทนากับ Max Rubens ระบายความอึดอัดอั้นตันใจ
– เพราะ Rhoda ไม่ยอมกลับบ้าน Anita ขึ้นเสียงรุนแรงกับแม่
– พ่อล้มป่วย Max Rubens มาเยี่ยมเยียน แต่ Cora ไม่ยินยอมต้อนรับสักเท่าไหร่
– แม่กับการตัดสินใจครั้งสำคัญ พูดบอกกับ George
– พ่อ-แม่ หวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง พากันหนีเที่ยว New York หวนระลึกความหลัง ก่อนที่จะต้องร่ำลาจาก
เกร็ด: ผู้บริหาร Paramount ขณะนั้น Adolph Zukor พยายามกดดันผู้กำกับ Leo McCarey ให้เปลี่ยนแปลงตอนจบของหนัง Happy Ending (ในสไตล์ Hollywood) แต่เจ้าตัวยืนกรานหนักแน่น ร้องขอโอกาสเดียวในชีวิต เพราะนี่คือผลงานที่าตั้งใจสรรค์สร้างสุดๆ
เพลงประกอบโดย George Antheil และ Victor Young สรรค์สร้างท่วงทำนองแห่งความหวัง แม้ซ่อนเร้นด้วยเจ็บปวดรวดร้าว เพราะชีวิตใช่ว่าจะสมประสงค์ทุกประการ ปัจจุบันแม้เหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมาน แต่ถ้ามีความทรงจำสุดแสนหวาน ยังหวนระลึกถึงวันวาน อนาคตก็ยังสามารถก้าวเดินไปต่อ
Let Me Call You Sweetheart (1910) แต่งโดย Leo Friedman, Harold Rossiter, Beth Slater Whitson นำต้นฉบับแผ่นครั่งของ Henry Burr and the Peerless Quartet มาให้รับฟังกัน
ช่องว่างระหว่างวัย ‘Generation gap’ เป็นปัญหาที่พบเห็นทุกยุคทุกสมัย สาเหตุเพราะวิวัฒนาการโลกที่พัฒนาไป ทำให้วิถีชีวิต มุมมอง ทัศนคติ ค่านิยมทางสังคม องค์ความรู้ต่างๆ ปรับเปลี่ยนแปลงไปจนแทบจดจำไม่ได้
ช่วงชีวิตของมนุษย์
– วัยเด็กเหมือนผ้าขาว ยังไม่เคยล่วงรับรู้อะไร เติบโตขึ้นค่อยๆซึบซับรับทุกสิ่งอย่าง สามารถเรียนรู้ ศึกษา ปรับตัว ให้เข้ากับวิถีของโลกได้โดยง่าย
– ผู้ใหญ่เหมือนผ้าที่เริ่มด่าง พานพบเห็นสิ่งต่างๆ การเปลี่ยนแปลง เริ่มมีประสบการณ์ชีวิต ยังสามารถเรียนรู้ปรับตัวให้ทันโลก แต่ก็แค่บางสิ่งอย่างที่ตนเองสนใจเท่านั้น
– ผู้สูงวัยเปรียบดั่งผ้าที่ผ่านการใช้งานอยากโชกโชน มากด้วยประสบการณ์ องค์ความรู้ แต่ก็เริ่มไม่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง ก้าวทันโลกยุคสมัยใหม่
ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ว่ากันตามตรงคงไม่มีใครจะสามารถแก้ไขได้ เพราะถือว่าเป็นผลกระทบจากวิวัฒนาการโลกที่ปรับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆไม่มีวันหยุดนิ่ง แต่ถึงอย่างนั้นอคติ ความขัดแย้งระหว่างคนสองวัน ถ้าสามารถสื่อสารทำความเข้าใจ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ มันย่อมสามารถบรรเทาทุเลาความโกรธเกลียดชิงชังลงมาได้บ้าง
Make Way for Tomorrow เป็นภาพยนตร์นำเสนอปัญหาช่องว่างระหว่างวัย โดยเรื่องราวเกิดขึ้นในยุคสมัย Great Depression (ช่วงต้นทศวรรษ 30s) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่
– เด็กรุ่นใหม่ (G.I. Generation, 1901–1924) เติบโตขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยแสงสี สิ่งบันเทิงมากมาย ชวนให้หลุมหลงเพ้อ เพ้อใฝ่ฝัน ต้องการทอดทิ้งโลกความจริงที่แสนเหี้ยมโหดร้าย
– ผู้ใหญ่ (Lost Generation, 1883–1900) เพราะพานผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก (ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ทำให้มีความขยันขันแข็ง ทำงานเก็บเงิน หวังสร้างครอบครัวที่มั่นคง (แต่บางคนก็ขี้เกียจคร้าน สันหลังยาว ไม่สามารถหาการงานที่มั่นคงทำได้)
– ส่วนผู้สูงวัย (Missionary Generation, 1860–1882) ชีวิตพานผ่านอะไรๆมามาก สังคมยุคสมัยนั้นยังเพรียบพร้อมด้วยศีลธรรม มโนธรรม ผู้คนยึดถือมั่นในศรัทธาศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมมีมา อิสตรีต้องมีกิริยาสำรวม แต่งกายมิดชิด ขณะที่บุรุษแสดงออกด้วยความสุภาพเรียบร้อย
อนาคตสำหรับคนหนุ่มสาว เพราะยังมีเวลาหลงเหลืออีกมาก จึงสามารถเรื่อยเปื่อยไปด้วยความเพ้อใฝ่ฝัน ครุ่นคิดอยากได้อะไรก็ขวนขวายไขว่คว้า สนุกสนานเริงร่า ปล่อยตัวกายใจชื่นมื่นอุรา, แต่สำหรับคนมีอายุสูงวัย เพราะเริ่มไม่มีทั้งเรี่ยวแรงกำลังวังชา แถมเวลาลมหายใจยังหลงเหลืออยู่อีกน้อยนิด แค่ไหนแค่นั้น ขอแค่ทุกวันยังพบเห็นความหวัง ใช้ชีวิตอยู่บนความเรียบง่าย เพียงพอดี แค่นี้ก็เหลือเฟือเพียงพอ ไม่ต้องการอะไรอื่นไปมากกว่า
ผู้กำกับ Leo McCarey อุทิศภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับพ่อผู้ล่วงลับ ตัวเขาเองคงเคยกระทำบางสิ่งบางอย่างไม่ดีไว้ รู้สึกเศร้าโศกเสียใจเพราะไม่ทันมีโอกาสได้พูดขอโทษ ร่ำลากันครั้งสุดท้าย ตระหนักได้เมื่อตนเองป่วยหนัก รับรู้ว่าทุกสิ่งอย่างสายเกินไป ขอให้เรื่องราวนี้กลายเป็นบทเรียนสอนใจให้กับผู้ชมทุกคน
Honor thy father and thy mother.
ไม่มีรายงานทุนสร้างหรือรายรับ แต่ได้ยินว่าขาดทุนย่อยยับ เพราะยุคสมัยนั้นไม่มีใครอยากรับชมภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความหดหู่ สะท้อนสภาพความเป็นจริง น้ำตาหลั่งไหลพรากๆออกมา นั่นเองทำให้ Paramount ยึกยักไม่เร่งรีบร้อนต่อสัญญาผู้กำกับ Leo McCarey ที่หมดลงพอดี ขณะกำลังจะยื่นข้อเสนอใหม่ ปรากฎว่าพี่แกแอบไปตกลงกับ Columbia Picture สรรค์สร้าง The Awful Truth (1937) ประสบความสำเร็จทำเงินสูงสุดแห่งปี
เพราะความที่ Make Way for Tomorrow ล้มเหลวไม่ทำเงิน เลยถูกมองข้ามจากสถาบัน Academy แต่ The Awful Truth ได้เข้าชิง 6 สาขา คว้ามาสองรางวัล Best Film Editing และ Best Director ซึ่งระหว่างผู้กำกับ Leo McCarey ขึ้นรับรางวัล
“Thanks, but you gave it to me for the wrong picture”.
– Leo McCarey
McCarey มีความเชื่อว่า Make Way for Tomorrow คือผลงานยอดเยี่ยมที่สุด(ในชีวิต)ของตนเอง เรื่องนี้ต่างหากสมควรได้รางวัล ไม่ใช่ The Awful Truth
ค่อนข้างเชื่อว่าคอหนังส่วนใหญ่ น่าจะเคยรับชม Tokyo Story (1953) มาก่อนแล้วถึงค่อยมีโอกาสล่วงรู้จัก Make Way for Tomorrow (1937) นั่นเองทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และน่าจะเป็นเอกฉันท์ Tokyo Story >>> Make Way for Tomorrow
ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้น โปรดปรานคลั่งไคล้ Tokyo Story มากๆกว่าหลายเท่าตัว แต่ถึงอย่างไร Make Way for Tomorrow ก็ไม่ใช่หนังขี้เหล่ดูไม่ได้ ถือว่ามีความคลาสสิก งดงามตราตรึง น้ำตาไหลซาบซึ้ง โดยเฉพาะการแสดงของ Beulah Bondi พลาดเข้าชิง Oscar ไปได้อย่างไร!
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply