Mamma Roma

Mamma Roma (1962) Italian : Pier Paolo Pasolini ♥♥♥♥♡

Anna Magnani รับบท Mamma Roma แม่ผู้ยินยอมทำทุกสิ่งอย่าง เสียสละตนเองเพื่อลูกรักให้เติบโตขึ้นได้ดี แต่เพราะเธอเคยเป็นอดีตโสเภณี และเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย คนเป็นลูกจะสามารถยินยอมรับได้หรือเปล่า, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถึงผมจะตั้งคำถามไปเช่นนั้น แต่หนังได้มอบคำตอบที่คือโศกนาฎกรรม ‘ลูกยินยอมรับไม่ได้ที่แม่เป็นโสเภณี!’ เพราะความตั้งใจของผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini เปรียบเทียบตัวละคร Mamma Roma คือประเทศอิตาลี (ชื่อเธอก็บ่งบอกอยู่แล้ว แม่ของโรมา/กรุงโรม) และลูกชายคนนี้คือผลพลอยได้ในรอบ 15-16 ปี หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

Mamma Roma เป็นภาพยนตร์ที่มีความตราตรึง น่าอัศจรรย์ใจ โดยเฉพาะการแสดงของ Anna Magnani เธอคือตำนานผู้ยิ่งใหญ่ในวงการภาพยนตร์อิตาเลี่ยน เปรียบเทียบใกล้เคียงสุดคือส่วนผสมระหว่าง Greta Garbo กับ Bette Davis [ก็คิดดูว่า ต้องใช้นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกันถึงสองคน ถึงสามารถเปรียบเทียบกับเธอได้] เคยคว้า Oscar: Best Actress จากเรื่อง The Rose Tattoo (1955) และผู้กำกับ Roberto Rossellini (เคยเป็นชู้รัก ก่อนหน้าแต่งงานกับ Ingrid Bergman) ให้คำยกย่องว่า

“the greatest acting genius since Eleonora Duse”.

เกร็ด: คงไม่มีใครสมัยนี้รู้จัก Eleonora Duse (1858 – 1924) เธอคือนักแสดงละครเวทีสัญชาติอิตาเลี่ยน ได้รับการยกย่องว่า ‘the greatest actresses of all time’ นักแสดงหญิงคนแรกของโลกที่ใช้เทคนิค ‘Eliminate the Self’ ลบเลือนตัวตนให้จางหาย แล้วสวมวิญญาณกลายเป็นตัวละครนั้น

Pier Paolo Pasolini (1922 – 1975) ผู้กำกับ กวี นักคิด นักเขียน สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Bologna, Kingdom of Italy เมืองแห่งนักการเมืองซ้ายจัด พ่อเป็นทหารเล่นพนันจนติดหนี้ติดคุกกลายเป็น Fascist ตัวเขาเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ชื่นชอบวรรณกรรมของ Dostoyevsky, Tolstoy, Shakespeare, Coleridge, Novalis เลยไม่ค่อยสนใจศาสนาสักเท่าไหร่ โตขึ้นเข้าเรียน Literature College หลงใหลในปรัชญา สุนทรียศาสตร์ และศิลปะที่เป็นรูปเป็นร่าง, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จับได้ใบแดงกลายเป็นทหาร ไม่ทันไรถูกคุมขังในค่ายกักกัน German Wehrmacht โชคดีสามารถปลอมตัวหลบหนีออกมาได้สำเร็จ แอบทำงานเป็นครูสอนหนังสือแล้วตกหลุมรักลูกศิษย์ชายคนหนึ่ง นั่นทำให้เขารู้ตัวเองครั้งแรกว่าเป็นเกย์

หลังสงครามโลกสิ้นสุดเข้าร่วมพรรค Italian Communist Party เพราะคาดหวังจะสามารถนำพาสิ่งใหม่ๆเข้ามาบริหารประเทศ แต่ช่วงฤดูร้อนปี 1949 ถูก Blackmail ให้ต้องถอนคำพูดไม่เช่นนั้นจะถูกขับออกจากงานสอนหนังสือ ถึงกระนั้นเขาก็ถูกไล่ออกอยู่ดีเพราะให้เด็กวัยรุ่นสามคนดื่มเหล้าเมามาย (ก่อนถึงวัย) ทั้งยังขอให้ช่วยตนเองให้ เมื่อเรื่องราวใหญ่โตเจ้าตัวก็ยืดอกยอมรับอย่างพึ่งพาย แล้วไถลสุนทรพจน์ไปว่าแสดงออกเช่นนั้นเกิดจาก ‘literary and erotic drive’

เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงโรม เริ่มจากเป็นครูสอนหนังสือ เขียนนิยายเรื่องแรก Ragazzi di vita (1955) ประสบความสำเร็จแต่ได้รับเสียงวิจารณ์ย่ำแย่เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวอนาจาร, ต่อมาตีพิมพ์บทกวีลงนิตยสาร Officina, ร่วมเขียนบทพูด Nights of Cabiria (1957), La Dolce Vita (1960) ของ Federico Fellini จนได้กำกับหนังเรื่องแรก Accattone (1961) ออกฉายไม่ทันไรถูกกลุ่ม neo-Facist ก่อการจราจล จนถูกถอดถอนออกจากโรงภาพยนตร์

สำหรับ Mamma Roma, ความตั้งใจของ Pasolini ต้องการอุทิศให้ผู้กำกับ Roberto Rossellini ที่เคยสร้าง Roma, Open City (1945) ต้นแบบของ Neo-realist ด้วยการนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของกรุงโรม, ประเทศอิตาลี 15-16 ปีให้หลัง มีความแตกต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด และคงต้องการร่วมงานกับ Anna Magnani ที่โด่งดังแจ้งเกิดครั้งแรกกับหนังเรื่องนั้นเช่นกัน

อดีตโสเภณี Mamma Roma (รับบทโดย Anna Magnani) เมื่อเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งเปลี่ยนมาทำอาชีพขายผัก หวนกลับไปหาลูกชายวัย 16 ปี Ettore (รับบทโดย Ettore Garofolo) ชักชวนมาอยู่ด้วยกันที่กรุงโรมเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เขาสามารถดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง แต่วันหนึ่งเมื่ออดีตแมงดา Carmine (รับบทโดย Franco Citti) หวนกลับมาหาเธอเพื่อขอเงิน แอบเล่าบอกความจริงกับ Ettore ตอนไหนก็ไม่รู้ เป็นเหตุให้ชายหนุ่มลาออกจากงานเก่า สำมะเลเทเมาเรื่อยเปื่อยกลายเป็นอาชญากร ถูกจับได้และเสียชีวิตในคุก

Anna Magnani (1908 – 1973) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ไหนไม่แน่ใจ บางแหล่งว่ากรุงโรม แต่เพื่อนสนิทบอกว่า Alexandria, Egypt ครอบครัวมีเชื้อสาย Jewish อาศัยอยู่กับย่าย่านสลัมในกรุงโรม โตขึ้นเข้าโรงเรียนคอนแวนซ์ของฝรั่งเศส ชื่นชอบเล่นเปียโน และเกิดความหลงใหลในการแสดงจากรับชมละครเวทีในงานคริสต์มาส, ตอนอายุ 17 เข้าเรียน Eleonora Duse Royal Academy of Dramatic Art ระหว่างนั้นร้องเพลงไนท์คลับจนได้ฉายา ‘the Italian Édith Piaf’ ต่อมาเป็นนักแสดงละครเวที ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Goffredo Alessandrini แต่งงานและแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Blind Woman of Sorrento (1934), เริ่มได้รับบทจริงจังเรื่อง Teresa Venerdi (1941), กระทั่งกลายเป็นตำนานกับ Rome, Open City (1945) เรียกว่าคือมาสคอร์ตของ Neo-realism, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ L’Amore (1948), Volcano (1950), Bellissima (1951), The Rose Tattoo (1955), The Fugitive Kind (1960), Mamma Roma (1962) ฯ

Magnani ได้รับฉายาในวงการว่า La Lupa (living she-wolf) ด้วยการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง ดุดันเหมือนหมาป่า เต็มเปี่ยมด้วย Passion ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรง แต่ขณะเดียวกันก็ตรงไปตรงมา ติดดิน จับต้องสัมผัสได้ คล้ายๆ Bette Davis ที่ค่อยไม่สนความสวยของตนเอง และมีเสน่ห์เจิดจรัสเหมือน Greta Garbo

รับบท Mamma Roma โสเภณี/แม่ผู้พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อลูกชาย คาดหวังวาดฝันอนาคตที่ดี แต่ใช้วิธีการยัดเยียดบีบบังคับ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล หาได้ฟังความสนใจของเขา, นิสัยของเธอเป็นคนสุดเหวี่ยงกับทุกอย่าง เวลายิ้มหัวเราะอ้าปากกว้าง สุขสำราญเต็มที่ แต่เมื่อไหร่เจ็บปวดทุกข์โศกทรมาน รวดร้าวรานไปถึงขั้วของหัวใจ

เป็นอีกหนึ่งบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดของ Magnani เต็มที่สุดเหวี่ยงในทุกฉาก ทั้งสายตาอารมณ์ ลีลาคำพูด เคลื่อนไหวแสดงออก ล้วนมีความเป็นธรรมชาติ ถ่ายทอดจากตัวตนภายในโดยไม่มีปกปิดบังซ่อนเร้น เวลายิ้มหัวเราะผู้ชมจะรู้สึกสุขร่วมไปกับเธอ เมื่อไหร่ทำหน้าซึมเศร้าหมองจะมีความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัส

เห็นว่านี่ไม่ใช่ความตั้งใจของ Pasolini ที่อยากให้ Magnani แสดงออกมาเช่นนั้น แต่เพราะเธอยืนกรานต้องการความเป็นเอกเทศที่แตกต่างจากวิสัยทัศน์ของเขา ถึงกระนั้น…

“If I had to shoot the film over, I would have still chosen her”,

ความตั้งใจจริงๆของ Pasolini ต้องการนำตัวตนของ Magnani จาก Rome, Open City (1945) หวนกลับมาปรากฎขึ้นอีกครั้ง [อย่างที่บอกไปตอนต้น จะเรียกว่าหนังเรื่องนี้ว่าคือภาคต่อของ Rome, Open City อีก 15-16 ปีให้หลัง] ไม่รู้เพราะเธอเริ่มเกิดความเบื่อหน่ายในบทบาทซ้ำๆเดิม เลยต้องการสิ่งท้าทายใหม่ๆในการแสดงหรือเปล่านะ เห็นบ่นๆตอนให้สัมภาษณ์ ไม่ค่อยอยากรับเล่นหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่

“I’m bored stiff with these everlasting parts as a hysterical, loud, working-class woman”.

Ettore Garofolo (1946 – 1999) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุงโรม พบเจอโดยผู้กำกับ Pasolini ขณะเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารแห่งหนึ่ง, หลังจาก Mamma Roma (1962) เลือกเอาดีด้านการแสดงอยู่สักพักหนึ่ง แต่พอไม่ประสบความสำเร็จเลยออกไปทำงานอื่นแทน

รับบท Ettore ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ Mamma Roma ใช้เวลา 16 ปีแรกของชีวิตอาศัยอยู่ชนบทต่างจังหวัด (คงกับเครือญาติกระมัง) วันๆเรื่อยเปื่อยไม่คิดจริงจังอะไร แต่เมื่อแม่ชักชวนนำพามาอาศัยร่วมกันที่กรุงโรม ถูกคาดหวังให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เพราะก็ไม่รู้จะทำอะไร ยังคงไม่ประสีประสากับทุกสิ่งอย่าง เมื่อรับรู้ความจริงของแม่ยินยอมรับไม่ได้ คิดสั้นกลายเป็นโจรกระจอก ลักขโมยไม่สำเร็จแถมยืนซื่อบื้อยอมให้ถูกจับ ติดคุกก็ดิ้นพร่านไม่ยอมรับ สุดท้ายหมดสิ้นอาลัยตายอยาก จากไปแบบไม่รู้จะโทษอะไรใครดี

คงไปคาดหวังความสมจริงอะไรไม่ได้กับนักแสดงสมัครเล่น แต่เราจะพบเห็นความไร้เดียงสา ดวงตาอันอ่อนเยาว์ และรอยยิ้มอันบริสุทธิ์จากใจ ซึ่งถ้าสังเกตกันดีๆ Ettore มักชอบหันหน้ามองกล้องตรงๆ ทั้งๆดูเหมือนผิดพลาดบังเอิญ หลายครั้งเข้าเริ่มรู้สึกว่าเป็นความจงใจ เหมือนต้องการสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้ชมเมื่อพบเห็น

ถ่ายภาพโดย Tonino Delli Colli (1923 – 2005) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Pasolini และ Sergio Leone ผลงานระดับตำนาน อาทิ The Gospel According to St. Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968), Death and the Maiden (1990), Bitter Moon (1991), Life Is Beautiful (1997) ฯ

งานภาพของหนังไม่ถือว่าสวย แต่มีสัมผัสความงามของบทกวี ถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด (ตามท้องถนนกรุงโรม) แบบเดียวกับ Rome, Open City พบเห็นหลากหลายไดเรคชั่น เทคนิค มุมกล้อง ทั้งกลางวันกลางคืน หลายช็อตรับอิทธิพลจาก Christian Art ไม่เปิดเผยทุกสิ่งอย่างเพื่อสร้างความลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์ ‘sacred’ ให้บังเกิดขึ้น

หมูสามตัว Peppe, Nicola, Regina เป็นของขวัญแต่งงานให้กับบ่าวสาวคู่ใหม่, นี่ชวนให้นึกถึงนิทานเรื่องหมูสามตัว แต่นัยยะดูแล้วคงต้องการเปรียบกับสามพรรคการเมืองใหญ่ประเทศอิตาลีขณะนั้น Christian Democracy (DC), Italian Socialist Party (PSI), Italian Communist Party (PCI) และตัวหนึ่ง Regina ถูกแซวว่าเป็นตัวเมียร่านรัก/โสเภณี [คิดว่าคงเสียดสีตรงๆเลยกับพรรค DC]

หนังโดนโจมตีจากวาติกันก็ฉากนี้แหละ จัดวางองค์ประกอบให้มีลักษณะคล้ายภาพ The Last Supper ของ Leonardo da Vinci (1452 – 1519) วาดขึ้นประมาณ ค.ศ. 1496-96, นัยยะของฉากนี้ แม้จะเป็นงานเลี้ยงแต่งงานแต่สื่อถึงความล่มจม ทรยศหักหลังที่จะเกิดกับคู่บ่าวสาวในอีกไม่ช้า (Judas ทรยศพระเยซูคริสต์) ซึ่งตอนจบซีน Mamma Roma จะหยิบเอาหมวก/ผ้าคลุมของเจ้าสาวมาสวมใส่ นั่นแปลว่าเธอคือเจ้าสาวแท้จริงในงานแต่งงนี้ (หนังไม่ได้บอกไว้ แต่มีแนวโน้มสูงมากว่า Carmine คือพ่อของ Ettore)

ก่อนหน้านี้ Viridiana (1961) หนังรางวัล Palme d’Or ของ Luis Buñuel ก็มีฉากล้อเลียน The Last Supper คล้ายๆกันอยู่ด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ Pasolini เลยละ [แต่ Viridiana นัยยะรุนแรงกว่ามากๆเลยนะ]

มีสองครั้งกับโคตร Long-Take ขายการแสดงของ Anna Magnani เดินล่องลอยเรื่อยเปื่อยยามค่ำคืน พบปะผู้คนที่เดินโฉบเฉี่ยวเข้ามา
– ครั้งแรกเต็มไปด้วยความลัลล้า ร่ำราจากอาชีพโสเภณี
– อีกครั้งจำใจต้องหวนกลับมาทำอาชีพโสเภณี อมทุกข์ทรมานเพราะอดีตหวนย้อนกลับมารังควาญ

เราจะมองไม่เห็นพื้นหลังที่มืดดำสนิท มีเพียงแสงไฟระยิบราวกับดวงดาวบนฟากฟ้า และ Mamma Roma เดินพูดคุยเล่าเรื่อยเปื่อย โฉบเฉี่ยวพบเจอคนโน่นนี่นั้น, นัยยะสื่อถึงการเดินทางก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาชีวิตที่เป็นด้านมืดมิดเธอ อดีตไม่ว่าจะคืออะไร แต่ปัจจุบันมิได้ใคร่สนใจมองย้อน ดำเนินไปข้างหน้าถ้ายังมีลมหายใจอยู่

นี่คือสิ่งที่นักวิจารณ์ต่างประเทศมองว่าคือความลึกลับพิศวง ภาพพื้นหลังมองไม่เห็นราวกับสัมผัสจากพระเจ้าที่จับต้องไม่ได้

“By fixing and isolating segments of what is visible, Pasolini creates the sense that what we see is merely one part of reality, and that the truly essential — and sacred — remains unseen.”

โบราณสถานหลายๆอย่างตั้งแต่ยุคสมัยโรมัน ยังคงหลงเหลือเป็นซากปรักหักพัง พบเจอได้ทั่วไปในกรุงโรม ปรากฎในหลายๆฉากเพื่อสร้างความขัดแย้งให้เกิด, อดีตที่เคยรุ่งโรจน์ปัจจุบันเสื่อมทรุดโทรมลง ขณะเดียวกันตึกรามบ้านช่องข้างหลังก็กำลังปลูกสร้างขึ้นใหม่

หลายครั้งทีเดียวพบเห็น Ettore เดินอย่างเรื่อยเปื่อยล่องลอย ราวกับคนนอนละเมอ/ฝันกลางวัน (Sleepwalking) นี่เป็นการสะท้อนสภาวะทางอารมณ์/จิตใจของตัวละคร เต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย เหน็ดเหนื่อยหน่าย แต่จะมีครั้งหนึ่งตอนทำงานร้านอาหาร กวัดแกว่งยังกะนักเลง คาดว่าคงคือความยินดีปรีดาสุขสำราญ ได้ทำให้แม่เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

ท่าถูกจับมัดขึงกับเตียงของ Ettore เลียนแบบ/รับอิทธิพลเต็มๆจากภาพวาด Lamentation of Christ หรือชื่อเล่น The Dead Christ ผลงานของ Andrea Mantegna (1431 – 1506) จิตรกรสัญชาติอิตาเลี่ยน ในยุคสมัย Italian Renaissance

การเปรียบเทียบนี้ก็ตรงๆเลย Ettore คือพระผู้มาไถ่ของแม่ Mamma Roma นี่คือวินาทีก่อนหน้าความตาย บ่นพึมพัมรู้สึกสำนึกตัวเมื่อทุกอย่างสายเกินแก้ไข

รับรู้ความตายของลูก ทำให้ Mamma Roma ถึงขั้นเสียสติ วิ่งกลับบ้านคิดจะกระโดดหน้าต่างฆ่าตัวตาย แต่แล้วได้พบเห็นภาพนี้ ลิบๆนั่นคือโดมของโบสถ์ Basilica di San Giovanni Bosco ฉากนี้คล้ายๆกับ Rome, Open City ที่จะมีภาพของวิหาร St. Peter แต่นัยยะแตกต่างตรงกันข้ามเลย

การตัดสลับไปมาระหว่างภาพใบหน้าของ Mamma Roma จับจ้องมองเห็นโบสถ์แห่งนี้ สีหน้าของเธอเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น ซึ่งระหว่างฉาก Long Take จะมีประโยคหนึ่งที่เธอพูดขึ้นว่า

“Explain to me why I’m a nobody and you’re the king of kings?”

นัยยะคือการโทษว่ากล่าวพระผู้เป็นเจ้า ไฉนถึงทำให้ลูกรักของตนเองต้องเสียชีวิตตายจากไป

ตัดต่อโดย Nino Baragli (1925 – 2013) ยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Pasolini และ Sergio Leone อาทิ The Gospel According to Saint Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968) ฯ

ส่วนใหญ่ของหนังเล่าเรื่องในมุมมองของ Mamma Roma เริ่มต้นเมื่อประมาณ 15-16 ปีก่อนในงานแต่งงานของคู่บ่าวสาว (Ettore ยังไม่เกิด) จากนั้นกระโดดข้ามมาปัจจุบัน พบเจอลูกชายวัยหนุ่ม Ettore ที่สวนสนุกแห่งหนึ่ง จากนั้นดำเนินเรื่องสลับไปมาระหว่างเธอกับเขา

สำหรับเพลงประกอบ ครานี้นำบทเพลงของ Antonio Vivaldi (1678 – 1741) เรียบเรียงโดย Carlo Rustichelli ประกอบด้วย
– (Opening Credit) Concerto For Piccolo, Strings & Continuo In C Major, RV 443 ท่อน Largo
– Bassoon Concerto in D minor, RV 481 ท่อน Larghetto
– Concerto for Viola d’amore and Lute in D minor, RV 540 ท่อน Largo

บทเพลงของ Vivaldi จัดอยู่ในยุคสมัย Baroque (1666 – 1750) ช่วงเวลาที่ท่วงทำนองดนตรี มีความตัดกันระหว่างเสียงสูง-ต่ำ สามารถใช้สะท้อนถึงสภาพภูมิทัศน์ของอิตาลี อดีต-ปัจจุบัน และสัมผัสลีลามีความสะเทือนอารมณ์ สร้างความตราตรึงประทับใจให้กับผู้ฟัง

บทเพลงจากแผ่นเสียงชื่อ Violino Tzigano (แปลว่า Gypsy Violin) ทำนองโดย Cesare A. Bixio คำร้องโดย Bruno Cherubini ขับร้องโดย Joselito, ใจความของบทเพลง รำพันถึงความรักที่ร่ำราจากไปแสนไกล อยากเป็นเหมือน Gypsy Violin ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวออกมาผ่านเสียงเพลง

ใน Rome, Open City (1945) ผู้กำกับ Rossellini นำเสนอความสภาพเสื่อมโทรมของประเทศอิตาลี อันมีผลกระทบจาก Nazi, Germany ถือเป็นปัจจัยภายนอกคุกคามความเจริญรุดหน้าของประเทศ, ตัวละครของ Anna Magnani คือผู้หญิงท้องที่ถูกฆ่าตาย = อนาคตของอิตาลีที่โดนตัดตอน จากภัยชั่วร้ายของสงครามโลก

ขณะที่ Mamma Roma นำเสนอ 15-16 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สภาพเสื่อมโทรมของประเทศอิตาลีกลับยังคงเดิมแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป หนำซ้ำยังดูเลวร้ายกว่าเก่าเสียอีก ท้องถนนเต็มไปด้วยโสเภณี หัวขโมย อาชญากรรม, ขณะที่ตัวละครของ Anna Magnani พยายามสร้างโลกใบใหม่ที่แสนดีให้กับลูกชาย แต่เมื่อเขาเจริญวัยพอรับรู้ความจริงจากอดีต กลายสภาพเป็นคนไม่เอาอ่าว ไร้อนาคต สิ้นชีวิตในสถานที่ตกต่ำมืดมิดสุดของโลกใบนี้

สิ่งที่ผู้กำกับ Pasolini นำเสนอสะท้อนออกมานี้ ตรงกันข้ามกับ Rossellini ปัญหาสังคม/โศกนาฎกรรมเป็นผลพวงจากปัญหาภายใน ตัวละคร Mamma Roma คาดหวังอนาคตที่ดีให้กับลูก แต่ตัวเองกลับกระทำสิ่งชั่วร้ายมากมาย ฉุดคร่า Carmine ในวันที่เขาแต่งงาน, ใช้เล่ห์มารยาให้ลูกมีโอกาสทำงานในสถานที่ดีๆ, ฝากฝังเพื่อนโสเภณีปรนเปรอลูกชายจนกว่าจะหลงลืมรักครั้งแรก ฯ

ความหวังดีของแม่เป็นสิ่งดี แต่การกระทำโดยไม่ครุ่นคิดรับรู้ถึงความสามารถของเขา ก็แบบที่บาทหลวงพูดบอกว่า

“You can’t make something out of nothing”.

สะท้อนเข้ากับสภาพสังคมของประเทศอิตาลีทศวรรษนั้น แม้ระบอบการปกครองจะเปลี่ยนจาก Fascist Italy (1922–1943) กลายเป็น Italian Republic (สาธารณรัฐอิตาลี) แต่ความคอรัปชั่นของรัฐบาล อิทธิพลจากระบอบทุนนิยม วิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนไปยังมิอาจปรับตัว สาเหตุที่อะไรๆยังคงไม่แตกต่างจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะพวกเรายังมัวครุ่นคิดแสดงออกในรูปแบบเดิมๆ ทำสิ่งต่างๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเอง โดยไม่สนว่าโลกได้พัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนรุ่นถัดไปจะมีความใคร่สนใจ อยากรู้อยากเห็นอยากเป็นอะไร

 

ออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามาสองรางวัล
– Italian Cinema Clubs Award
– New Cinema Award: Best Actress (Anna Magnani)

แน่นอนว่าด้วยความโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาของหนัง ทำให้ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากทั้งพวกขวาจัด-ซ้ายจัด ทั้งยังกลุ่ม neo-Fascist ที่ยังเคียดแค้นเคือง Pasolini เข้าไปก่อกวนสร้างความวุ่นวายในรอบฉายปฐมทัศน์ที่กรุงโรม แม้จะไม่ถูกแบนห้ามฉาย แต่ก็ไม่มีใครคิดอยากรับชม สุดท้ายขาดทุนย่อยยับเยิน

ถ้าผมไม่คาดเดาได้ตั้งแต่ตอนแรกว่า Mamma Roma ต้องสื่อถึงประเทศอิตาลีแน่ๆ นี่จะกลายเป็นหนังเรื่องโปรดโดยทันทีเลยละ เพราะส่วนตัวคลุ้มคลั่งไคล้เรื่องราวคล้ายๆ The Nights of Cabiria (1957) เกี่ยวกับโสเภณี สตรีขายตัว แต่เพราะเนื้อในมันไม่ใช่สิ่งต้องการ เลยแค่ตกหลุมรัก ประทับใจการแสดงของ Anna Magnani อย่างที่สุด

คงเพราะสมัยวัยรุ่นผมไปเที่ยวบ่อยด้วยกระมัง เลยมีความสัมพันธ์กับหนังแนวนี้เป็นพิเศษ หลายๆครั้งก็จะรับฟังเรื่องเล่าของพวกเธอมา ทำให้รู้ถึงปัญหาหลากหลาย คนเลือกไม่ได้ก็ช่างน่าสงสารเห็นใจ แต่ถือเป็นเป็นกรรมที่ต้องชดใช้, มีสามคำถามที่ส่วนตัวชอบถามพวกเธอ
– ถ้าที่บ้าน พ่อ-แม่ ญาติพี่น้อง แฟนรับรู้ คิดว่าพวกเขารับได้ไหม?
– ถ้าลูกรู้ว่าแม่เคยขายตัว คิดว่าเขาจะรับได้ไหม?
– และถ้าเรารู้ว่าลูกขายตัว คิดว่าตนเองจะยังรับไหวไหม?

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับคนที่กำลังครุ่นคิดจะขายตัวดีไหม ตอบสามคำถามด้านบนนี้ให้ได้ก่อน และถ้ามองว่าปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเผชิญอยู่ สำคัญกว่า ‘ศักดิ์ศรี’ ความเป็นลูกผู้หญิง ก็เชิญเลยนะครับ คงไม่มีใครหักห้ามคุณได้อย่างแน่นอน

คือมันก็มีนะผู้หญิงอีกประเภทหนึ่ง ขายตัวไม่ใช่เพราะตนเองมีปัญหาการเงิน แต่คือรสนิยมส่วนตัว Nymphomania บุคคลผู้มีอารมณ์ทางเพศรุนแรงสูงมาก (ระดับ Hyper) เคยพบเจออยู่สองสามครั้งก็ถึงกับอึ้งไปเลย พวกเธอถือว่าน่าสงสารสุดในบรรดาโสเภณี เหมือนคนติดยาที่เลิกไม่ได้เพราะจะลงแดงตาย ไม่รู้กรรมอะไรก่อให้เกิดความหมกมุ่นคลุ้มคลั่งได้ถึงขนาดนั้น

แนะนำคอหนัง Drama แฝงข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต การเป็นแม่ และโสเภณี, หลงใหลในบรรยากาศ Neo-realism, สนใจภูมิทัศน์ประเทศอิตาลี ในช่วงทศวรรษ 60s, แฟนๆผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini และนักแสดงนำ Anna Magnani, Franco Citti ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับหญิงสาวขายตัว บรรยากาศอันตึงเครียด และโศกนาฎกรรมป้ายสีพระเจ้า

TAGLINE | “Anna Magnani ได้ขายวิญญาณให้กับ Mamma Roma ที่แม้แต่ผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini ยังต้องเกรงขาม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: