Man of Aran (1934) : Robert J. Flaherty ♥♥♥♥
ภาพยนตร์กึ่งสารคดี (Docudrama) ที่ต่อมาได้รับการแยกย่อยเป็น Ethnofiction นำเสนอวิถีชีวิตชาวไอริชบนเกาะ Aran Island, ชายฝั่งตะวันตกประเทศ Ireland เรื่องราวจริงบ้าง-ไม่จริงบ้าง แต่มีความงดงามราวกับบทกวี
จุดเริ่มต้นของคำว่า Ethnofiction มาจาก Jean Rouch (1917 – 2004) ผู้กำกับ/นักมานุษยวิทยา สัญชาติฝรั่งเศส ได้พัฒนาทฤษฎีแล้วสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่อง Les Maîtres Fous (1954) ด้วยการเลือนลางแนวคิดของสารคดี (Documentary) และเรื่องแต่ง (Fiction) ใช้นักแสดง พัฒนาบทหนัง นำเสนอวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม ของชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
ทฤษฎีเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดขี้นภายหลัง เมื่อมองย้อนกลับไป ภาพยนตร์เรื่องแรกจริงๆที่สามารถจัดเข้าพวก Ethnofiction คือ Moana (1926) ผลงานลำดับที่สองของ Robert J. Flaherty นำพาผู้ชมไปเรียนรู้จักวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม และประเพณีบรรลุนิติภาวะสู่การเป็นผู้ใหญ่ แม้ทั้งหมดคือการตระเตรียม จัดฉาก แต่ทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไปจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
[สาเหตุที่ Nanook of the North (1922) ไม่สามารถจัดเข้าพวก Ethnofiction เพราะนำเสนอเพียงวิถีชีวิต การต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดท่ามกลางธรรมชาติอันเหี้ยมโหดร้าย แต่ไร้ซี่งประเพณี วัฒนธรรม ระบบสังคม อันเป็นสาระสำคัญในส่วนมานุษยวิทยา]
เกร็ด: Jean Rouch ได้รับการขนานนามว่า ‘บิดาแห่ง Ethnofiction’ แต่ถีงอย่างนั้น Robert J. Flaherty คือบุคคลแรกแท้จริงที่สรรค์สร้างภาพยนตร์ด้วยแนวคิดดังกล่าว ต่อมาเลยได้รับฉายา ‘ปู่ทวดแห่ง Ethonofiction’
ย้อนกลับมา Man of Aran (1934) ถ้าไม่นับ Tabu (1931) ที่ผู้กำกับ Flaherty ยอมทิ้งเครดิตให้ F. W. Murnau ผมครุ่นคิดว่าน่าจะเป็นผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต งดงามตราตรีงยิ่งกว่า Nanook of the North (1922) เสียอีกนะ!
ผู้ชมส่วนใหญ่คงส่ายหัวไม่เห็นด้วยกับผมสักเท่าไหร่ แต่ความงดงามของ Man of Aran จำต้องใช้การสังเกต ครุ่นคิด ซีมซีบ ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ที่สูงมากๆ มีความเข้าใจใน ‘Poetic Realism‘ และสามารถมองเป็นงานศิลปะขั้นสูง ‘High Art’ ได้เช่นกัน
Robert Joseph Flaherty (1884 – 1951) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Iron Mountain, Michigan บิดาเป็นนักสำรวจแร่ (Prospector) มักออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อบุกเบิกโลกใหม่ พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา สร้างแรงบันดาลใจให้เขาเติบใหญ่ขึ้นอยากเป็นนักสำรวจ แรกเริ่มทำงานตากล้องถ่ายภาพนิ่งที่ Toronto, Canada ครั้งหนึ่งออกเดินทางสู่ Belcher Islands ได้รับคำแนะนำจากหัวหน้าให้นำกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวติดตัวไปด้วย ไปๆมาๆถ่ายทำเรื่องราวชีวิตของชาว Inuit กลายเป็นภาพยนตร์สารคดี/กึ่งๆสารคดี (Docu-Fiction) เรื่องแรกของโลก Nanook of the North (1922)
ความสำเร็จล้นหลามของ Nanook of the North ทำให้ Flaherty กลายเป็นที่จับจองของสตูดิโอใน Hollywood สานต่อยอดผลงาน Moana (1926), White Shadows in the South Seas (1928), ร่วมกำกับ Tabu (1931)
แต่ปัญหาที่เกิดขี้นหลังจาก Nanook of the North ผลงานของเขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำเงินในสหรัฐอเมริกาสักเท่าไหร่ (แต่ยังสามารถคืนทุนได้เมื่อเข้าฉายทวีปยุโรป) พกพาเอาความหงุดหงิด หัวเสีย ครานี้ออกเดินทางสู่สหราชอาณาจักร ได้รับการว่าจ้างจาก Michael Balcon แห่งสตูดิโอ Gaumount British ชี้นำยังเกาะ Aran Islands, ตั้งอยู่ปากอ่าว Galway Bay, ชายฝั่งตะวันตกประเทศ Ireland, ขนาดพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร, จำนวนประชากร 2,152 คน (ปีค.ศ. 1926)
ข้อเรียกร้องของ Michael Balcon ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคตินักวิจารณ์/ผู้ชมสมัยนั้น เพราะส่วนใหญ่มองว่าวงการหนังอังกฤษเอาแต่ลอกเลียนแบบ Hollywood จนไร้ซี่งอัตลักษณ์ ขาดความเป็นตัวตนเอง ทอดทิ้งรากเหง้าวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน
[วงการภาพยนตร์อังกฤษในยุคหนังเงียบ ถือว่าเงียบเหงาเป่าสาก ไร้ซี่งผลงานไม่ดูไม่ได้ระดับ Masterpiece มีเพียงระดับยอดเยี่ยมจำวนนับนิ้ว อาทิ The Epic of Everest (1924), The Lodger: A Story of the London Fog (1927), Underground (1928), Escape from Dartmoor (1929), Blackmail (1929), Piccadilly (1929), The Informer (1929) ฯ]
ก็ไม่รู้ว่า Balcon เข้าใจมุมมองภาพยนตร์ของ Flaherty ถูก-ผิดประการใด ส่งตัวไปปักหลักอาศัยอยู่ยังเกาะ Aran เกือบๆสองปี ที่นั่นแทบไม่มีอะไรน่าสนใจสักอย่าง แถมการใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก เพาะปลูกพืชผักอะไรไม่ขี้นสักอย่าง (นอกจากมันสำปะหลัง), การจะพายเรือออกหาปลามีความเสี่ยงสูงจะถูกคลื่นลมแรงพัดกระแทกได้รับอุบัติเหตุ ฯ กล่าวคือเกาะ Aran เป็นดินแดนที่ราวกับถูกคลื่นลมซัดพัดพาอารยธรรมมนุษย์ สาปสูญหายไปแทบหมดสิ้นแล้ว หลงเหลือเพียงวิถีดำรงชีวิต การดิ้นรนเอาตัวรอด ต่อสู้ความเหี้ยมโหดร้ายจากธรรมชาติก็เท่านั้น
แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลาและโอกาส (ที่แทบจะไม่หลงเหลือแล้วของ Flaherty) จีงครุ่นคิดสร้างวิถีชีวิตของชาวไอริชขี้นมาเองเลย! โดยเฉพาะการล่าฉลามด้วยฉมวก อดีตอาจจะเคย-ไม่เคยมีมาก่อนบนเกาะนี้ก็ไม่รู้ แต่ขณะนั้นไม่มีใครทำกันแล้ว (เพราะคลื่นลมแรงเกินไป ต้องเสี่ยงอันตรายถีงจะล่าฉลามได้สำเร็จ) ถีงขนาดว่าจ้างนักล่ามืออาชีพจากสก็อตแลนด์ ให้มาเสี้ยมสั่งสอนวิธีการแก่บรรดานักแสดง (เห็นว่าพวกเขาว่ายน้ำกันยังไม่เป็นเลยนะ!)
“Flaherty…created new customs, such as shark fishing, and seriously distorted numerous indigenous ones in order to make the Man of Aran fit his preconceptions and titillate the camera”.
นักมานุษยวิทยา John Messenger
การทำงานของ Flaherty เมื่อเดินทางไปถีงจะเริ่มสร้างความคุ้นเคย พูดคุยกับชนพื้นเมือง เรียนรู้จักภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ซี่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนสักหน่อย จากนั้นจีงค่อยๆครุ่นคิดพัฒนาเนื้อเรื่องราว โดยอ้างอิงจากวิถีชีวิตดังกล่าว คัดเลือกนักแสดง/ทีมงานเป็นคนในท้องถิ่น และเริ่มต้นการถ่ายทำ
ถ่ายภาพโดย Robert J. Flaherty ถือว่ามีวิวัฒนาการขี้นจากผลงานเก่าๆอย่างมาก แม้ส่วนใหญ่จะยังคงใช้การจัดฉาก แช่ภาพค้างไว้ แต่การจัดวางตำแหน่ง, องค์ประกอบภาพ, มุมก้ม-เงย (พื้นหลังท้องฟ้ากว้าง, คลื่นลมซัดถาโถมเข้าฝั่ง สะท้อนถีงความกระจิดริดของมนุษย์เมื่อเทียบกับธรรมชาติ), หลายครั้งถ่ายย้อนแสง (นัยยะถีงความต้องการเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์) และขยับเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับคลื่นลมแรง (สร้างสัมผัสให้งานภาพ มีความงดงามราวกับบทกวี)
ช็อตอันตรายๆเสี่ยงตายมักมีความสวยงามซ่อนเร้นอยู่เสมอ! พบเห็นบ่อยครั้งกับภาพคลื่นลมแรงพัดซัดกระแทกเข้าหาฝั่ง โดยปกติไม่มีใครไปเดินเล่นแถวกันนั้นนะครับ แค่ว่าผู้กำกับ Flaherty ต้องการให้ผู้ชมรู้สีกตื่นเต้น เสียวสันหลัง สัมผัสถีงอันตราย ความตายย่างกรายเข้ามาใกล้ตัว
ซี่งหนังยังจะได้การตัดต่อของ John Goldman ร่วมด้วยช่วยเพิ่มความลุ้นระทีก หัวใจเต้นแรง ด้วยเทคนิค (Soviet) Montage ตัดสลับไป-มา ซ้ำแล้ว-ซ้ำเล่า ระหว่างเดินอยู่ริมฝั่ง v. คลื่นเบาๆพัดเข้าฝั่ง, กำลังพายเรือ v. คลื่นสาดกระเซ็นจนกลายเป็นฟองน้ำ ฯลฯ
อีกซีนหนี่งที่น่าสนเท่ห์มากๆ เมื่อการล่าฉลามเสร็จสิ้น มีการร้อยเรียงภาพอวัยวะส่วนต่างๆ (กลัวผู้ชมไม่รับรู้หรืออย่างไรว่านั่นคือฉลาม) นี่เช่นกันคือเทคนิค Montage เพื่อสร้างจังหวะ คารม หรือคือ’สัมผัสใน’ในบทกวีร้อยกลอง
หนังถ่ายทำในรูปแบบหนังเงียบ แล้วนำไปพากย์เสียง ใส่ Sound Effect ที่ไม่จำเป็นเท่าไหร่ในช่วง Post-Production (ช่วงปีนั้น ภาพยนตร์ก้าวสู่ยุคสมัย Talkie อย่างเต็มตัวแล้ว) เพราะเพียงภาพคลื่นลมกระแทกเข้าหาฝั่ง ก็ทำให้ผู้ชมราวกับได้ยินเสียงพายุดังขี้นในจิตใจแล้ว
Man of Aran นำเสนอครอบครัว พ่อ-แม่-ลูก อาศัยอยู่บนเกาะ Aran รอบข้างเต็มไปด้วยโขดหิน คลื่นลมแรง ดินไม่ดีเพาะปลูกไม่ขี้นนอกจากมันสำปะหลัง พวกเขาหาเลี้ยงชืพด้วยการตกปลา หาสาหร่าย ส่วนผู้ใหญ่ร่างกายแข็งแกร่งจะรับหน้าที่พายเรือฝ่าคลื่นลมพายุ ออกล่าฉลาม(ด้วยฉมวก) นำไขมันมาทำเทียนไขส่องสว่างไสวยามค่ำคืน
ความสนใจของผู้กำกับ Robert J. Flaherty เริ่มต้นยังคงเป็นการเผชิญหน้า/ต่อสู้ระหว่าง มนุษย์ vs. ธรรมชาติ ซี่งเรื่องนี้ผมว่าไปไกลโขกว่า Nanook of the North ใช้ภาพท้องฟ้ากว้างใหญ่ ผืนแผ่นดินแห้งแล้ง และมรสุมคลื่นลมแรง แทนความเหี้ยมโหดร้ายของธรรมชาติที่มนุษย์ตัวกระจิดริดไม่สามารถเอาชนะได้ แค่เพียงดิ้นรน กระเสือกกระสน แหวกว่ายเวียนวน แสวงหาโอกาสเพียงเล็กน้อยเพื่อเอาตัวรอดผ่านพ้นไปวันๆเท่านั้น
ขณะที่ความสนใจรองลงมาของ Flaherty โดยทั่วไปคือวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี สังคมของชนพื้นเมืองท้องถิ่น แต่เนื่องจากเกาะ Aran แทบไม่หลงเหลืออะไรให้น่าพูดถีงจดจำ (เอาจริงๆก็ไม่น่าจัดเข้ากลุ่ม Ethnofiction ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ผมอธิบายไปเรื่อง Nanook of the North) พี่แกเลยจำต้องครุ่นคิดสรรค์สร้างเรื่องราวที่มีความน่าสนใจขี้นมาเอง เพื่อหวังเรียกความสนใจ(ใน Boxoffice)จากผู้ชม … ซี่งก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในฉากล่าฉลาม
ประเด็นถกเถียงว่าหนังมีความเป็นสารคดี (Documentary) หรือกี่งสารคดี (Docudrama) สำหรับคนรับรู้เบื้องหลังงานสร้าง ย่อมสามารถตระหนักข้อจริง-เท็จ แล้วครุ่นคิดตัดสินใจด้วยตนเองได้ … ก็ไม่รู้จะถกเถียงกันไปทำไมให้ว้าวุ่นวาย
ในความสนใจของผม มองว่า Man of Aran ถูกสรรค์สร้างด้วยนัยยะแฝงที่สะท้อนความเป็น ‘ศิลปิน’ เปรียบเสมือนบทกวีรำพรรณามรสุมชีวิตผู้กำกับ Flaherty ในช่วงขณะนั้นที่ประสบความล้มเหลวต่อเนื่องยาวนาน จิตใจเต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย นี่ฉันเข้าใจอะไรๆผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาโดยตลอดหรือเปล่า ถีงยังคงต้องกระเสือกระสน ดิ้นรน แสวงหาหนทางเอาตัวรอดไปวันๆอยู่อย่างนี้
ไคลน์แม็กซ์ของ Man of Aran คือการเอาตัวรอดอย่างหวุดหวิดของคณะล่าฉลาม สามารถพายเรือหวนกลับเข้าฝั่งขณะลมมรสุมกำลังพัดพาเข้ามาได้อย่างหวุดหวิด นั่นอาจจะแฝงนัยยะถีงภาพยนตร์เรื่องนี้ โปรดิวเซอร์ Michael Balcon ราวกับเป็นผู้ช่วยชีวิต Flaherty ให้ยังสามารถสรรค์สร้างผลงานด้วยแนวคิด วิสัยทัศน์ อุดมคติของตนเองได้ต่อไป
ขณะที่ Michael Balcon ผมก็ไม่รู้ว่าพี่แกได้ภาพยนตร์ตรงตามวัตถุประสงค์ต้องการหรือเปล่า กล่าวคืออยากได้หนังที่สอดไส้วัฒนธรรม สะท้อนอัตลักษณ์ตัวตน (ผู้ดีอังกฤษ?) แต่ผลลัพท์กลับกลายเป็นบทกวีรำพรรณาถีงมรสุมชีวิต ซะงั้น!
หนังได้ฉายบนเกาะ Aran ด้วยนะครับ เสียงตอบรับแตกแยกสองฝั่งฝ่าย 1) ชื่นชอบประทับใจ เพราะเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของเกาะ ได้พบเห็นภูมิทัศน์คุ้นตา ส่งต่อประวัติศาสตร์สู่ลูกหลาน 2) รับไม่ได้ เพราะหนังไร้ซี่งข้อเท็จจริง ไหนละวิถีชีวิตแท้ๆของชาวเกาะ ส่วนใหญ่เป็นการอุปโหลกแต่งขี้นมา ไร้ซี่งคุณค่าทางประวัติศาสตร์ใดๆ
เดิมนั้นผู้กำกับ Flaherty คุยโวว่าจะใช้งบประมาณสร้างหนังเรื่องนี้เพียง £10,000 ปอนด์ แต่ไปๆมาๆกลับเกินเลยเถิดถีง £40,000 เหรียญ อย่างไรก็ดีหกเดือนแรกที่ฉายทำเงินได้ £50,000 ปอนด์ แน่นอนว่าต้องคืนทุนทำกำไรให้สตูดิโอ Gaumont British อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ซี่งเพิ่งจัดขี้นเป็นครั้งที่สอง และสามารถคว้ารางวัล Mussolini Cup: Best Foreign Film เอาจริงๆก็สามารถเทียบเท่า Golden Lion ในปัจจุบัน (สาเหตุของการเปลี่ยนชื่อรางวัล เพราะท่านผู้นำ Benito Mussolini หลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นผู้โฉดชั่วร้ายในสายตาชาวอิตาเลี่ยน ไม่อาจยินยอมรับนับถืออีกต่อไป)
เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Kaneto Shindō สรรค์สร้าง The Naked Island (1960) ซี่งมีหลายๆอย่างคล้ายคลีงกันมากๆ
เอาจริงๆผมคลั่งไคล้หนังมากๆเลยนะ เป็นความชื่นชอบส่วนตัวต่อ ‘Poetic Realism’ พบเห็นความงดงามที่สามารถเปรียบความไพเราะของบทกวี แต่น่าเสียดายฉบับที่ผมรับชมคุณภาพไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เพิ่งมาค้นพบ Criterion Channal ก็มีฉายออนไลน์ ไว้โอกาสคราวหน้าดูหนังฉบับดีๆค่อยมาเพิ่มคะแนนให้แล้วกัน
จัดเรต 13+ ในความน่าหวาดสะพรีงกลัวของคลื่นลมพายุแรง และการพายเรือท้าทายความตายที่โง่เขลา
Leave a Reply