Man of Iron (1981)
: Andrzej Wajda ♥♥♥♡
หนังรางวัล Palme d’Or และเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ปิดท้ายทวิภาค ‘Solidarity Movement’ ของผู้กำกับ Andrzej Wajda ด้วยวิธีการนำเสนอที่เรียกได้ว่า ‘เป็น Citizen Kane ของชนชั้นแรงงาน’ เล่าต่อกับเรื่องราวของลูกชาย (ที่พ่อเป็นพระเอกใน Man of Marble) ได้ปลุกระดมพล และนัดหยุดงานที่ท่าเรือ (Gdańsk Shipyard Strike) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับข้อเสนอของกลุ่มกรรมกรแรงงาน และนี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาเป็นผู้ชนะ
แนะนำอย่างยิ่งว่า ควรจะดู Man of Marble (1976) ภาคแรกมาก่อนนะครับ ถึงจะสามารถทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ครบถ้วน แต่ถ้าหาดูไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ดูเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ยังพอสามารถเข้าใจได้
หลังจากสร้าง Man of Marble (1976) Wajda พยายามล้างภาพลักษณ์ตัวเองต่อรัฐบาลโปแลนด์ ที่คงมองว่าเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เลยไปสร้างหนังที่มีเรื่องราวไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง อาทิ Without Anesthesia (1978), The Maids of Wilko (1979) [ได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film], The Orchestra Conductor (1980) [นักแสดงนำ Andrzej Seweryn ได้รางวัล Silver Bear for Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Berlin] แต่คงด้วยบางสิ่งบางอย่างที่ยังค้างคาอยู่ในใจ และเมื่อกระแสความนิยมต่อคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตเริ่มถดถอย ทำให้ Wadja กล้าเสี่ยงอีกครั้งกับนำเสนอเรื่องราว การเคลื่อนไหวของกรรมกรแรงงาน สร้างภาคต่อที่ชื่อว่า Man of Iron มาคราวนี้เขาไม่ยับยั้งชั่งใจอะไรอีกแล้ว เพราะหลังจากชัยชนะแรกของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเมื่อเดือนสิงหาคมปี 1980 เขาจึงไม่เกรงกลัวที่จะใส่ความตั้งใจทุกสิ่งอย่าง และนำเอาตอนจบของ Man of Marble ที่ค้างคามาอธิบายขยายต่อ แล้วสร้างเรื่องราวของฮีโร่อีกคน เล่าคู่ขนานต่อเหตุการณ์ชัยชนะในครั้งนี้
เรื่องราวของ Maciej Tomczyk (นำแสดงโดย Jerzy Radziwiłowicz) ลูกชายของ Mateusz Birkut ฮีโร่ของกรรมกรแรงงาน ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การประทำกันเมื่อปี 1970, สิ่งที่ Tomczyk ทำ ก็ไม่เชิงเรียกว่าสานต่อจากพ่อ แต่เป็นในอุดมการณ์ ทัศนคติของตนเอง ที่ได้พบเจอกับการกดขี่ข่มเหงของผู้มีอำนาจ การเอารัดเอาเปรียบจากสหภาพแรงงาน ที่ถึงขนาดทำให้ตนต้องตกงาน, บทบาทของ Tomczyk ก็คือ ‘ชายผู้เริ่มต้น Gdańsk Shipyard Strike’
ผมไม่ได้มีความรู้ เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศโปแลนด์เสียเท่าไหร่ แต่ได้ยินว่าตัวละครนี้ ถือเป็นคู่ขนานกับ Lech Wałęsa ที่เป็นผู้นำก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวของกรรมกรแรงงานในโปแลนด์ และต่อมาได้รับรางวัล Nobel สันติภาพปี 1983 และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของโปแลนด์ หลังยุคการปกครองของคอมมิวนิสต์ ระหว่างปี 1990-1995 ซึ่ง Wałęsa ก็มารับเชิญในหนังด้วยนะครับ ในงานแต่งงานระหว่าง…
หนังยังคงใช้การเล่าเรื่องแบบเดียวกับ Man of Marble แค่เปลี่ยนคนดำเนินเรื่องจาก ผู้กำกับสาวไฟแรง Agnieszka (รับบทโดย Krystyna Janda) มาเป็น Winkel (รับบทโดย Marian Opania) ที่เป็นนักจัดรายการวิทยุ แต่เคยเป็นนักข่าว (Journalist) เขียนบทความของ Birkut เมื่อหลายปีก่อน, ได้รับมอบหมายอย่างลับๆจากหน่วยงานของรัฐบาล ให้แทรกตัวเข้าไปเป็นสายลับ สืบข่าวภายใน Gdańsk Shipyard สถานที่ปิดตายของกลุ่มเคลื่อนไหวกรรมกรแรงงาน หลังจากเกิดเหตุการประท้วงหยุดงานขึ้น (ที่ต้องเป็นคนงานกรรมกรหรือคนที่ได้บัตรผ่านเท่านั้น ถึงสามารถเข้าไปได้)
Winkel เป็นคนปอดแหก ขลาดเขลา อ่อนแอ บุคลิกท่าทางลุกลี้ลุกลน เหมือนคนกระทำความผิดแล้วกลัวถูกจับได้, หมอนี่ถ้าไม่เพราะเคยมีผลงานโด่งดังสมัยก่อน ปัจจุบันคงไม่ต้องมารับเวรรับกรรม ทำในสิ่งที่ตนไม่อยากทำ จะหนีก็ไม่ได้ จะตายก็ขี้ขลาด, ผมไม่ชอบตัวละครนี้ ยิ่งเสียกว่า Agnieszka ใน Man of Marble อีกนะครับ ด้วยจุดประสงค์การสร้างตัวละครลักษณะออกมาคล้ายๆกัน คือเป็นสิ่งคู่ขนานระหว่าง การพิสูจน์ตนเอง กับเรื่องราวของกลุ่มประท้วงผู้เคลื่อนไหว แต่ต้องยอมรับว่า Marian Opania สามารถสร้างตัวละครนี้ให้รู้สึกน่าสมเพศเป็นที่สุด
Jerzy Radziwiłowicz คราวนี้กับบทลูกชายล้วนๆ, มันมีความเหมือนในความแตกต่างของหนังทั้งสองเรื่อง ผมชอบในความเป็นผู้ใหญ่ของ Birkut แต่ตัวละครนั้นเหมือนว่าจะเขาจะไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ แต่ได้รับยกย่องให้กลายเป็นฮีโร่ ส่วน Tomczyk เหมือนเขาถูกปลูกฝังมาว่า พ่อเป็นฮีโร่ ตนเองจึงต้องเติบโตเป็นให้ได้แบบน้อยอย่างพ่อ ความกดดันจึงต่างกันอย่างมาก, Tomczyk ต้องการเป็นฮีโร่ ไม่ใช่แบบที่พ่อของตนเป็น แต่ในแบบที่เขาต้องการ
ใช่ว่าตัวละคร Agnieszka ของ Krystyna Janda จะหายไปนะครับ เธอถูกลดบทบาทลง และกว่าจะโผล่มาเล่าเรื่องราวต่อจาก Man of Marble ก็ครึ่งหลังของหนัง นี่อาจทำให้คนใจร้อนที่ดูภาคแรกมาก่อนสงสัยว่า เรื่องราวมันจะไปบรรจบยังไง, หนังเริ่มเล่าเรื่องราวของ Tomczyk ก่อนหน้าที่จะมาพบเจอบรรจบกับ Agnieszka ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น มันจะมีบางอย่างสร้างความประหลาดใจให้ผู้ชมอย่างคาดไม่ถึงแน่นอน (คือผลลัพท์ที่ควรเป็นตอนจบจริงๆของ Man of Marble)
สำหรับทีมงานการสร้าง ยกชุดมาจาก Man of Marble ทั้งหมดเลย
ถ่ายภาพโดย Edward Klosinski มีภาพจาก Archive Footage (คิดว่าเยอะกว่าภาคแรก) จากเหตุการณ์จริง ที่มีการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย, ภาพขาว-ดำ จะเฉพาะกับที่เป็นฟุตเทจถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพและ Archive Footage, ส่วนภาพการเล่าเรื่องปัจจุบันกับอดีต จะต่างกันที่สีและการจัดแสงเล็กน้อย ต้องใช้การสังเกตพอสมควรถึงจะแยกความแตกต่างได้
ตัดต่อโดย Halina Prugar-Ketling นี่ถือว่าใช้วิธีการเดียวกับ Man of Marble เปะๆเลย แค่เปลี่ยนมุมมองของบุคคลผู้เล่าเรื่องเป็นของนักข่าว Winkel ที่ได้ไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องหรือรู้จักกับ Tomczyk, ใช้การตัดสลับเหมือนย้อนอดีต Flashback เล่าเหตุการณ์แบบไม่ปะติดปะต่อ ผู้ชมต้องนำเอาสิ่งที่ตนรู้ ไปประมวลผล เรียบเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง, ผมให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ นักข่าวไม่จำเป็นต้องหามุมแอบถ่ายหรือบันทึกเสียง มีกระดาษปากกา และอาจบุหรี่กับวิสกี้ดีๆติดตัว แค่นี้ก็สามารถรับฟังและใช้ความคิดประมวลผลเรื่องราว สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย (ผิดกับอาชีพผู้กำกับในภาคแรก ที่ฟังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมงาน ตากล้องถ่ายภาพ และคนบันทึกเสียง ดูวุ่นวาย ยุ่งยากลำบากกว่าเยอะ)
เพลงประกอบโดย Andrzej Korzynski กับหนังเรื่องนี้ เพลงประกอบดูมีชีวิตชีวา จับต้องได้มากขึ้น เพิ่มความสมจริง และมีมากกว่า Man of Marble, ใช้เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับเรื่องราว ลดความตึงเครียดลง (ถ้าไม่ใส่เพลง เชื่อว่าผู้ชมอาจได้ปวดหัวกับความหนักและรุนแรงของเนื้อเรื่องเป็นแน่)
ใจความของหนัง คือการสานต่อเรื่องราวจาก Man of Marble ที่เป็นเหมือนภาพยนตร์ชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ นำเสนอเพื่อปลุกระดมผู้คนให้รู้สึกชื่นชมยินดีกับชัยชนะครั้งแรกของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวกรรมกรแรงงานในประเทศโปแลนด์, ตอนที่หนังฉายในเทศกาลหนัง Cannes ได้รับการเปรียบเทียบ เสมือนสารคดีข่าว (Newsreel) ที่อัพเดท ถ่ายทอดเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศโปแลนด์ ที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ (ที่ทั่วโลกขณะนั้นมักไม่ค่อยมีโอกาสได้รับรู้หรือเห็นเสียเท่าไหร่) นี่อาจคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังได้ Palme d’Or ในปีนั้นก็เป็นได้
กระนั้นชัยชนะของกรรมกรแรงงานครั้งนี้ ว่าไปมันอาจเป็นแค่ภาพลวงตาที่เกิดขึ้นไม่นานนัก เพราะหลังจากพ่ายแพ้ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็หาได้นิ่งนอนพอใจกับผลลัพท์นี้ พยายามหาทางกลับมาครอบงำเพื่อยุติการแพร่หลายของกลุ่มผู้เคลื่อนไหว ซึ่งสามารถใช้กำลังสงบ ยุติการชุมนุมได้เมื่อเดือนธันวาคมปี 1981 ซึ่งพอดีกับขณะที่หนังเรื่องนี้สร้างเสร็จกำลังจะออกฉาย จึงถูกกองเซนเซอร์ของรัฐบาล แบนหนังโดยทันที และทำการขับไล่ (exile) Andrej Wajda ไม่ให้สร้างภาพยนตร์ในประเทศอีก
ก่อนหน้าที่จะถูกแบน หนังสามารถคว้า Palme d’Or และ Prize of the Ecumenical Jury จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Foreign Language Film แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ได้ใช้อำนาจขอถอนสิทธิ์หนังเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้หนังเป็นตัวแทนของประเทศได้รางวัล (ทั้งๆที่ก็ติด Nominates 5 เรื่องสุดท้ายแล้ว) ทำให้ปีนั้นหนังที่ได้รางวัลสาขานี้คือ Mephisto (1981) จากประเทศ Hungary ที่ก็เข้าฉายสายประกวดในเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รางวัล Best Screenplay Award และ FIPRESCI Prize แต่พ่ายแพ้ Palme d’Or ให้กับ Man of Iron
เกร็ด: Man of Iron เป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียว ที่เป็นภาคต่อและได้รางวัล Palme d’Or
ส่วนตัวผมชอบ Man of Marble มากกว่าเล็กน้อย เพราะมีความยาก ท้าทาย น่าสนใจในการดูมากกว่า แต่เพราะผมดู Man of Iron ก่อน (เพราะกว่าจะหาโหลด Man of Marble เสร็จก็หลายวันมาก) ทำให้พลาดเซอร์ไพรส์ตอนท้ายของ Man of Marble ที่ต้องบอกว่า น่าสนใจมากๆ, ผมไม่รู้ว่า Wajda ตั้งใจให้มีภาคต่อตั้งแต่แรกแล้วหรือปล่า สมัยนั้นคนดูภาคแรกจบคงจะหงุดหงิดหัวเสียอย่างมาก เพราะจบได้ค้างคาใจสุดๆ, การดู Man of Iron ก่อน ก็เท่ากับสปอยเรื่องราวของ Man of Marble ไปกว่าครึ่งแล้ว แต่กระนั้นผมยังรู้สึกว่าหนังยังมีใจความบางอย่างที่น่าสนใจกว่า (คงด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เป็น Films within Films ที่น่าสนใจกว่า Journalist)
ก่อนที่จะดูหนังเรื่องนี้ แนะนำอย่างยิ่งให้ไปหา Man of Marble มาดูก่อนนะครับ จะได้มองเห็น เข้าใจอะไรๆต่อเนื่องกัน แต่ถ้าหาไม่ได้หรือต้องการจะดูเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ไม่มีปัญหาใดๆ การันตีว่าสามารถเข้าใจหนังทั้งเรื่องได้เหมือนกัน
แนะนำอย่างยิ่งกับคนทำงานสายข่าว (Journalist), นักเรียนสายศิลป์หรือคนทำงานสายภาพยนตร์, ถ้าคุณชอบหนังแนว Social Realism, การต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน, หรือต้องการศึกษาช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของประเทศ Poland ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 15+ กับคำพูด แนวคิด การกระทำที่แฝงความรุนแรงอย่างมาก
Leave a Reply