Manchester by the Sea

Manchester by the Sea (2016) hollywood : Kenneth Lonergan 

สิ่งยากที่สุดของเหตุการณ์โศกนาฎกรรม คือการให้อภัยตนเอง บางทีรู้ทั้งรู้ว่าเราไม่ใช่คนผิดแต่จำต้องลงโทษตัวเอง เพื่อสามารถมีชีวิตก้าวเดินต่อไปได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เกร็ด: จากชื่อหนัง เชื่อว่าคงมีหลายคนคิดว่าพื้นหลังอยู่ที่เมือง Manchester ประเทศอังกฤษแน่ๆ แต่ไม่ใช่นะครับ Manchester-by-the-Sea เป็นชื่อเมืองท่าอยู่ที่ Cape Ann, Essex County, รัฐ Massachusetts, ประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ห่าง Boston ไม่ไกลเท่าไหร่ (เดิมเมืองนี้ชื่อ Manchester เฉยๆ เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อปี 1989 ไม่ให้สับสนกับของประเทศอังกฤษ)

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ผมหวนระลึกถึง Ordinary People (1980) หนังรางวัล Oscar: Best Picture ของ Robert Redford (นี่เป็นหนัง Director Debut) เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งมีลูกชายสองคน คนพี่ประสบอุบัติเหตุทางเรือเสียชีวิต คนน้องโทษตัวเองว่าเป็นความผิดของตน พวกเขาจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร [เรื่องนี้เคยเขียนบทความรีวิวแล้วนะครับ]

โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว เป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตที่ใครก็ตามเมื่อประสบ มักจะมีความเปลี่ยนแปลงแนวคิดวิถีชีวิตไปเลย, ร่างกายบาดเจ็บภายนอก พักรักษาไม่นานเดี๋ยวก็หาย อาจมีรอยแผลเป็นตกค้างบ้างไม่นานจะค่อยๆเลือนลาง แต่การบาดเจ็บภายในจิตใจ รอยแผลที่มองไม่เห็นนี้ ไม่มียาใดๆบรรเทารักษาอาหารให้หายได้ นอกเสียจากความเข้าใจ การยอมรับ และให้อภัยตนเอง

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ เริ่มต้นประมาณปี 2010, John Krasinski คิดเรื่องราวนี้ขึ้นขณะนั่งรถไฟไปกับ Emily Blunt (เห็นว่าทั้งสองกำลังจีบกันอยู่ และได้แต่งงานกันในอีกไม่ช้า) หลังจากความคิดเล่าให้ฟัง เธอแสดงความเห็นว่า ‘it was moving and beautiful.’ แล้วแนะนำให้ไปคุยกับ Matt Damon ซึ่งตอนนั้นกำลังแสดงหนังร่วมกันอยู่เรื่อง The Adjustment Bureau (2011)

แรงบันดาลใจ Krasinski อ้างอิงตัวละคร Lee Chandler มาจากชีวิตของเขาเอง ความสัมพันธ์ระหว่างหลานสาวกับหลานชาย ‘You are responsible for your family whether you like them or not, and your community as well.’ กับญาติพี่น้องคนในครอบครัว ไม่ว่าจะชื่นชอบ/รังเกียจ หรือเป็นคนล้มเหลวในชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับผิดชอบซึ่งกันและกัน, มันจะมีความเป็นไปได้หรือเปล่า กับคนที่ครั้งหนึ่งในชีวิตประสบแต่ความล้มเหลว ได้รับโอกาสแก้ตัวและจะกลับมาเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม

Matt Damon กับ John Krasinski เป็นเพื่อนสนิทกันมานาน ช่วงนั้นทั้งสองมีความต้องการเริ่มทำอะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากแสดงหนัง ซึ่งพอเมื่อ Damon ได้ฟังเรื่องราวนี้จึงเกิดความสนใจต้องการเป็นผู้กำกับด้วยตัวเอง ได้นำพล็อตไปคุยกับ Kenneth Lonergan นักเขียนที่ Damon บรรยายสรรพคุณว่า ‘my favorite writer on the planet.’

Kenneth Lonergan เป็นนักเขียน/ผู้กำกับ ที่ไม่ชอบการกำกับภาพยนตร์แม้แต่น้อย มีผลงานดังอย่าง You Can Count On Me (2001) [เขียนบท/กำกับ], Gangs of New York (2002) [เขียนบทอย่างเดียว] สองเรื่องนี้ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay และผลงานล่าสุด Margaret (2011)

เช่นกับกับ Lonergan ที่ Damon รู้จักกันมา 15 ปี ให้สัมภาษณ์บอกว่า หมอนี่ไม่ชอบการกำกับหนังเลย ‘For 15 years I’ve been telling him that making movies is fun, and he was convinced I was insane’ ผมคงไม่ทำงานอาชีพนี้มากว่า 20 ปี ถ้ามันไม่ใช่อาชีพที่เยี่ยมที่สุดหรอกนะ, Damon มีความต้องการพิสูจน์ให้ Lonergan เห็นว่า การสร้างหนังเป็นงานที่สนุก แต่เหมือนว่าความตั้งใจนี้จะยังไม่เกิดขึ้น

บทภาพยนตร์ที่ Lonergan เขึยนขึ้น ได้ผลักดันตัวละครไปถึงจุดที่แม้แต่ Damon และ Krasinski ก็คาดคิดไม่ถึง มีความอัดอั้น เจ็บปวด สอดไส้ด้วย Comedy อย่างลงตัว ถือเป็นบทที่เยี่ยมลงตัว แต่น่าเสียดายที่ทั้งสองหาเวลาว่างไม่ได้ (Damon รับเล่น The Martian ไปแล้ว, ส่วน Karasinski ติดงานอื่น) พวกเขาจึงผลักดันให้ Lonergan ขึ้นมาเป็นผู้กำกับ

Casey Affleck น้องชายของ Ben Affleck ได้รับการติดต่อให้รับบทนำ, Casey เป็นนักแสดงที่มีผลงานประปราย ชื่อเสียงโด่งดังไม่เท่าพี่ชาย (หล่อน้อยกว่าด้วย) แต่ฝีมือถือว่าไม่ธรรมดา เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor จากหนังเรื่อง The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford (2007) รับบทเป็น Robert Ford ผู้ขี้ขลาด ซึ่งผมติดภาพนี้มาเลย ชายผู้เฉื่อยชา พูดน้อยต่อยหนัก เหมือนคนเบื่อโลก

รับบท Lee Chandler ปมบางอย่างในอดีตทำให้เขาจมอยู่กับความทุกข์ ไม่สามารถเริ่มต้นคิดทำอะไร หรือมีความรับผิดชอบต่อใครได้, การลงโทษตัวเองของตัวละครนี้ถือว่ามีความรุนแรงอย่างมากถึงที่สุด แต่ยังมีความอดทนอดกลั้นอยู่พอสมควร กับญาติมิตรครอบครัวคนรู้จัก เขาพยายามที่จะไม่แสดงออกมา แต่ถ้ากับคนนอกไม่รู้จัก กระทบกระทั่งแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีเรื่องทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นทันที

การแสดงของ Casey มีใบหน้านิ่งๆ สงบเงียบ แต่เราสามารถรับรู้ความปั่นป่วนที่อยู่ภายในได้ จากทุกครั้งที่อยู่ตัวคนเดียวหรือกินเหล้าเมามาย เขาจะแสดงความบ้าคลั่งออกมาอย่างไร้สติ นั่นเพราะตัวละครนี้ได้สะสมความอึดอัดอั้นอยู่เต็มเปี่ยมอยู่ข้างในจิตใจ พร้อมที่จะปะทุระเบิดออกมาทุกเมื่อ ถือว่าซวยไปถ้าใครเผยมองหน้าสบตา เดินชนกับหมอนี่ขณะเมา ได้มีเลือดตกยางออกแน่แท้

เนื่องจากผมยังดูหนังของนักแสดงนำชายที่เข้าชิง Oscar ปีนี้ไม่ครบ เลยบอกไม่ได้ว่าการแสดงของ Casey Affleck ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปีหรือเปล่า แต่ไม่ใช่ก็ต้องใกล้เคียง เพราะมีความสมจริงในระดับที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ว่า ตัวเขามีความทุกข์แบบเก็บกดจริงๆ

Michelle Williams นักแสดงสาวสวยชาวอเมริกัน อดีตภรรยาของ Heath Ledger ผู้ล่วงลับ, Williams ถือเป็นนักแสดงมากฝีมือที่ยังไม่มีโอกาสสัมผัส Oscar เข้าชิงแล้วถึง 3 ครั้ง Brokeback Mountain (2005), Blue Valentine (2010), My Week with Marilyn (2011) กับหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 4 ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะได้รางวัล (แต่ต้องได้แน่ๆ)

รับบท Randi อดีตภรรยาของ Lee Chandler ปัจจุบันในหนังแต่งงานใหม่กำลังจะคลอดลูก, มีฉากหนึ่งช่วงท้ายที่ตัวละครนี้พบกับสามีเก่า เธอต้องการพูดขอโทษให้อภัยเขา แต่ Chandler กลับไม่รับฟัง ไม่ให้โอกาส ยังยึดมั่นว่าตัวเองเป็นคนผิด, ซีนนี้ของ Williams มันไม่ใช่การแสดงแล้ว! เธอต้องกำลังคิดถึง Heath Ledger อยู่แน่ๆ ตอนเธอร้องไห้ ผมละใจหายวาบ อย่าร้องเลยนะที่รัก (เพราะผมกำลังจะร้องไห้ตาม)

ช็อตนี้คุยกันตรงบันไดรอยต่อ พื้นหลังฝั่ง Williams เป็นกำแพง ส่วน Affleck นั้นเปิดกว้าง (แต่ภายในจิตใจของพวกเขานั้นกลับกัน Chandler ปิดกั้นทุกสิ่งอย่าง ส่วน Randi นั้นเปิดกว้างออกแล้ว)

Kyle Chandler รับบท Joseph ‘Joe’ Chandler พี่ชายของ Lee Chandler ที่เสียชีวิต, Chandler เป็นนักแสดงเน้นภาพยนตร์โทรทัศน์ กับหนังฉายโรงส่วนใหญ่เป็นตัวประกอบ หลายคนอาจคุ้นหน้าจาก King Kong (2005), Super 8 (2011), Argo (2012), The Wolf of Wall Street (2013) ฯ

Joe เป็นพี่ชายที่รักน้อง เป็นพ่อที่รักลูก และเป็นคนที่สังคมให้การยกย่องนับถือ (ตรงกันข้ามกับ Lee โดยสิ้นเชิง) กระนั้นคนที่ดีเกินไป โลกเลยสร้างความบกพร่อง นั่นคือป่วยเป็นโรค … (อะไรสักอย่าง) มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน และมีภรรยาเสียสติ รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น, นั่นทำให้เขาเตรียมตัว วางแผนอนาคตให้กับทุกคนในครอบครัว รวมถึงน้องชายของตนด้วย

Lucas Hedges รับบท Patrick Chandler ลูกชายคนโตของ Joe ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พ่อได้เขียนพินัยกรรมให้อา Lee เป็นผู้ปกครองและดูแลทรัพย์สินมรดก จนกว่าเขาจะอายุครบ 21 ปี, Hedges เป็นลูกชายของผู้กำกับ Peter Hedges เริ่มแสดงหนังตั้งแต่เรียนอยู่ middle school เรื่อง Moonrise Kingdom (2012), Kill the Messenger (2014) ตอนเล่นหนังเรื่องนี้อายุ 19 โตไปนิดแต่ถือว่าหน้ายังเด็ก วัยรุ่นสาวๆคงกรี๊ดสลบ

วัยรุ่นอายุประมาณนี้ ถือว่าสามารถรับรู้เข้าใจอะไรๆได้แทบทุกอย่างแล้ว แต่โลกของวัยรุ่น มีหลายๆสำคัญกว่า อาทิ เพื่อน, แฟนสาว, โรงเรียน ฯ พวกเขายังไม่เข้าใจความทุกข์ยากลำบากของชีวิต และแน่นอน Patrick ย่อมไม่เข้าใจว่าทำไมอา Lee ถึงไม่สามารถอยู่กับเขาในเมืองแห่งนี้ได้

การแสดงของ Hedges ถือว่าน่าประทับใจ ดูเก้งๆก้างๆ ผิดที่ผิดทาง ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร, นี่ต้องถือเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ เพราะกับเด็กวัยนี้ ความไม่รู้ถือเป็นโลกที่ต้องสำรวจค้นหา ความตายดูน่าสนเท่ห์ มันอาจเจ็บปวดแต่มิได้จะเป็นจะตาย นี่แหละทำให้ตัวละครนี้จับต้องได้ เพราะไม่รู้จริงๆว่าจะแสดงความรู้สึกออกมาอย่างไร

การเข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor ของ Hedges ถือว่ามาด้วยดวงจริงๆ ไม่ใช่ตัวเต็ง ไม่ได้เข้าชิง Golden Globe, SAG Award, BAFTA แต่กลับเข้าชิง Oscar แบบม้ามืด คงไม่ต้องลุ้นอะไรเพราะไม่ได้แน่ กระนั้นเขาจะกลายเป็นหนุ่มอนาคตไกลหรือเปล่า ต้องดูกันยาวๆ

ถ่ายภาพโดย Jody Lee Lipes งานภาพของหนังเรื่องนี้มีความสวยงามแบบอึมครึม หดหู่ ใช้โทนสีเทา/ฟ้าอ่อนเป็นหลัก ให้ความรู้สึกเย็นยะเยือกไปถึงขั้วของหัวใจ รวมถึงหิมะตกสีขาวเพิ่มความรู้สึกหนาวเหน็บถึงกระดูกดำ

ฉากแนะนำตัวละคร Lee Chandler ทำงานเป็นภารโรงกวาดหิมะ ทิ้งขยะ ซ่อมท่อปะปา ดูดส้วม ฯ แต่ละอย่างมักจะปรากฎรวมอยู่ในช็อตเดียว, นี่ถือเป็น direction แนวทางการนำเสนอของผู้กำกับที่สร้างความประทับใจแรกให้กับผู้ชมได้อย่างมาก เหมือนภาพวาดที่ทุกอย่างถูกกำหนดไว้ในกรอบเฟรม เห็นแล้วเข้าใจได้เลยว่ามีเรื่องราวอะไรในฉากนั้น

นัยยะของการเป็นภารโรงคือการซ่อมแซมรักษา เก็บกวาดทำความสะอาดภายนอก นี่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ในความเจ็บปวดภายในจิตใจของ Lee Chandler กลับไม่สามารถซ่อมแซมหรือทำอะไรกับมันได้เลย

เหมือนว่าผู้กำกับจะชื่นชอบการนำเสนอเรื่องราวแต่ละฉากเพียงช็อตเดียวอธิบายทุกอย่าง นอกจากการซ่อมในช่วงแรกแล้ว ยังมี ล่องเรือ, ซ้อมดนตรี ฯ แต่กล้องจะไม่อยู่นิ่งๆนะครับ มีการเคลื่อนไหวด้วย แต่ถือว่ายังเป็นแค่ช็อตเดียว

กว่าครึ่งของหนังเป็นช่วงเวลาฤดูหิมะตก ไร้แสงอาทิตย์ให้ความอบอุ่น ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบความรู้สึกภายในจิตใจของครอบครัว Chandler หนาวเหน็บ เยือกเย็น เศร้าหมอง, เมื่อเรื่องร้ายๆกำลังผ่านไปตอนหนังใกล้จบ อากาศเปลี่ยนแปลงฤดูเป็นใบไม้ร่วง แสงอาทิตย์เริ่มสาดส่อง แสดงถึงการเริ่มต้นใหม่ ความทุกข์ปัญหาที่เริ่มผ่อนคลาย (แต่ไม่ใช่กับ Lee Chandler)

ตัดต่อโดย Jennifer Lame, หนังดำเนินเรื่องโดยใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จากฤดูหิมะตกไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วง (หมดหิมะ) ใช้มุมมองของ Lee Chandler เริ่มต้นแนะนำตัวละคร จากนั้นการตายของพี่ชาย เตรียมงานศพ แต่ยังฝังไม่ได้เพราะหน้าหนาวดินแข็งเกินที่จะขุด ต้องรอไปจนหิมะละลายเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

ระหว่างนั้นจะมีการใช้ Flashback ภาพย้อนอดีตเพื่ออธิบายเหตุผลของบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มองได้คือการหวนระลึกถึงเหตุการณ์ความทรงจำของพระเอก ซึ่งจะค่อยๆเปิดเผยปม พื้นหลังของตัวเขาและครอบครัว ว่าทำไมถึงกลายเป็นคนแบบนี้

การตัดต่อลักษณะนี้ถือว่ามีสร้างความอยากรู้อยากเห็นได้เป็นอย่างดี เพราะหนังไม่ได้ใช้การพูดออกมาตรงๆ แต่นำเสนอด้วยภาพ การกระทำ และย้อนอดีต ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลแบบเปิดกว้างสำหรับผู้ชมได้ขบคิดเข้าใจด้วยตนเอง ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับตัวละคร พื้นหลังความเป็นมาเช่นไร และอะไรคือสาเหตุให้ปัจจุบันถึงกลายเป็นแบบนั้น คำตอบทุกอย่างอยู่ในการย้อนอดีตทั้งหมด

เพลงประกอบโดย Lesley Barber เธอเป็นนักแต่งเพลงชาวแคนาดา ที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ Lonergan มาแล้วจาก You Can Count On Me (2001), ความลุ่มลึกของบทเพลงล่องลอยมาแต่ไกล (ด้วยเสียงประสาน Chorus) ประหนึ่งสายน้ำที่ด้านบนสงบนิ่งพริ้วไหว แต่ภายใต้ปั่นป่วนราวกับพายุมรสุม

หลายเพลงในหนังเหมือนจะไม่ได้สอดคล้องกับการกระทำของตัวละคร เช่นว่ามีเรื่องทะเลาะวิวาทต่อยตี แต่กลับเป็นเสียงร้องคลอรัส/โอเปร่าร้องโหยหวน หรือเปียโน เชลโล่ ออเครสต้านุ่มๆ, นั่นเพราะเพลงประกอบไม่ได้ใช้เพื่อประกอบเหตุการณ์ แต่นำเสนออารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร จิตใจของพวกเขาแทบจะตลอดเวลา ลอยเคว้งคว้างเหมือนเรือที่ล่องอยู่ในมหาสมุทร

มันมีความรู้สึกอัดอั้นตันใจแฝงซ่อนอยู่ในบทเพลง ที่หลายครั้งแน่นจุกอก อยากหลั่งน้ำตาเสียใจ (กับอะไรก็ไม่รู้) ถือว่าเป็นเพลงประกอบที่มีความ Sensitive อ่อนไหวค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ชมรู้สึกเห็นใจ เข้าใจตัวละครทั้งหลาย และจมร่วมอยู่ในความทุกข์กับพวกเขา

Manchester by the Sea เป็นเรื่องราวของชายผู้พบกับความสูญเสียครั้งรุนแรง แล้วลงโทษตัวเองอย่างสาหัสสากรรจ์ เคยคิดฆ่าตัวตายแต่ไม่มีใครยินยอม จึงต้องทนทุกข์ทรมาน จำใจต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ไม่ต้องการ และหาทางผลักไสออกห่าง คือเลือกที่จะไม่ยอมรับโอกาส (Second Chance) และไม่ให้อภัยตัวเอง

ทำไมชายผู้นี้ถึงไม่ยอมรับโอกาส และไม่ให้อภัยตนเอง?

I can’t beat it!

สิ่งที่เขาเอาชนะไม่ได้มันคือ ‘สถานที่’ เมืองที่คือชื่อหนัง เพราะนับตั้งแต่เมื่อเขาเดินทางกลับมา สถานที่ต่างๆมันทำให้หวนระลึกถึงความทรงจำเลวร้ายที่อยากกลบฝังลบเลือน, ผู้คนที่ทั้งรู้จัก/ไม่รู้จัก ยังคงซุบซิบนินทาอย่างน่ารักเกียจ, และที่สำคัญคือ Randi อดีตภรรยาที่ยังคงอยู่แถวๆนั้น การพบเจอพูดคุยมันยิ่งเป็นการย้ำเตือน รื้อฟื้นความทรงจำนั้น เพราะเธอคือคนที่เขารู้สึกผิดต่อมากที่สุด

เขาพยายามต่อสู้กับเมืองแห่งเต็มความสามารถแล้ว แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ มีแต่จะทุกข์ยิ่งกว่าเดิม การต้องออกไปก็เพื่อให้หลงลืมเลือน อย่างน้อยยังทำให้เขามีสติหลงเหลืออยู่บ้าง ที่ถ้ายังคงอยู่เมืองแห่งนี้มีแต่จะทำให้เสียสติอาจถึงขั้นกลายเป็นบ้า

นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง เพราะความยึดติดที่มีมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถปล่อยวางความทุกข์ได้เลย ผมดูแล้วก็ระทมทุกข์ใจ นี่แหละคนที่อยู่นอกพุทธศาสนา มีสุขก็หลงระเริงอย่างเต็มที่ พอทุกข์เศร้าหมองก็เจ็บปวดรวดร้าวปางตาย ถ้าพวกเขารู้จักคำว่าเพียงพอ ปล่อยวาง มันก็ไม่มีอะไรให้ทุกข์สาหัส หรือเกินกว่าจะยอมรับทำใจ ให้อภัยตนเองได้

หนังออกฉายครั้งแรกในเทศกาลหนัง Sundance Film Festival ตอนนั้นกำลังหาผู้จัดจำหน่ายอยู่ และได้ Amazon Studios ซื้อสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายราคา $10 ล้านเหรียญ (สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของปีนั้น ถัดจาก The Birth of a Nation ที่ Roadside Attractions ของ Lionsgate ซื้อมาราคา $17.5 ล้านเหรียญ)

Amazon Studios เป็นสตูดิโอน้องใหม่ของ Hollywood ในปัจจุบัน ที่ต่อยอดมาจาก Amazon Prime ดูหนังออนไลน์ของเว็บ Amazon คล้ายๆกับ Netflix, HBO ฯ ที่ตอนนี้กำลังแข่งขันกันทำ Exclusive Content ลงในช่องทางของตนเอง, นี่เรียกว่าได้ว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจ เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและช่องทางการทำรายได้ ทั้งๆที่ Amazon เริ่มต้นจากเป็นแค่ร้านหนังสือ ทำเว็บขายออนไลน์ ต่อมามีสินค้าอื่นร่วมด้วย ปัจจุบันมี Streaming ดูหนังออนไลน์ และสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ของตัวเอง (มาไกลมากนะ)

ผมไม่แน่ใจผู้กำกับคนไหนพูดว่า ‘หนังทุนสร้างปานกลาง กำลังจะตายจากไป เหลือแค่ไม่ Blockbuster ก็หนัง Indy’ ผมคิดว่าการมาของ Amazon Studios, Netflix, HBO เป็นการการันตีความอยู่รอดของหนังระดับนี้ ด้วยทุนสร้างเฉลี่ย $10 ล้านเหรียญที่ Amazon ตั้งไว้เพื่อจูงใจผู้สร้างหนังรุ่นใหม่ ทำให้ผู้กำกับหลายๆคนหันเหเปลี่ยนความสนใจเลือกช่องทางนี้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งสตูดิโอยักษ์ใหญ่ของ Hollywood อีกต่อไป

ด้วยทุนสร้าง $8.5 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลกไปแล้ว $55.7 ล้านเหรียญ (ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2017) ถือว่าไม่เลวสำหรับหนังทุนสร้างปานกลาง, เข้าชิง Oscar 6 สาขา ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Casey Affleck)
– Best Supporting Actor (Lucas Hedges)
– Best Supporting Actress (Michelle Williams)
– Best Original Screenplay

เขียนขึ้นก่อนประกาศรางวัล Oscar: แม้ Casey Affleck จะเป็นตัวเต็งสาขา Best Actor กวาดรางวัลแทบจะทุกสำนัก แต่กลับพลาด SAG Award ให้กับ Denzel Washington ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่เลย ทำให้โอกาสของ Casey กลายเป็น 50/50 แต่ผมยังเชื่อว่าเขาน่าจะได้รางวัลนี้อยู่นะครับ, ส่วนสาขาอื่นดูแล้วอาจจะลุ้นไม่ขึ้นเท่าไหร่ เพราะปีนี้ La La Land นอนมาจริงๆ

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แต่ไม่หลงใหลเท่าไหร่เพราะมันทำให้ผมรู้สึกไม่ชอบเมือง Manchester-by-the-Sea ขึ้นมา, หนังทำให้เราเข้าใจ เห็นใจตัวละครของ Casey Affleck และพบว่าปัญหาไม่ใช่แค่กับตัวเขาภายในจิตใจเท่านั้น แต่คนในเมืองแห่งนี้ที่พูดถึงเขา ‘That Lee Chandler’ หมายความว่าพวกเขายังคงหวาดกลัว ไม่เข้าใจชายคนนี้ นี่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกต่อต้าน ไม่ชอบ ไม่ต้องการอาศัยอยู่ เฉกเช่นเดียวกับตัวละคร

นี่เป็นหนังที่แนะนำสำหรับทุกคน “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจ วิธีการรับมือกับความสูญเสีย และพยายามนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงให้ได้ เพราะทุกคนต้องพบกับความตาย ความสูญเสียอยู่แล้ว นี่ถือเป็นหนังเรื่องที่มีประโยชน์มากๆ

แนะนำอย่างยิ่งกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์ คนทำงานสายหมอพยาบาล นี่เป็นอาชีพที่ต้องทำความเข้าใจผู้อื่นอย่างมาก อย่าเอาอารมณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง

แฟนหนัง Casey Affleck, Michelle Williams, Kyle Chandler ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ น่าจะเป็นวัยที่ทำความเข้าใจเรื่องชีวิต และความตายได้แล้ว

TAGLINE | “Manchester by the Sea มีเรื่องราวอันทรงพลัง และการแสดงอันอันลุ่มลึกของ Casey Affleck ที่ภายนอกสงบนิ่ง แต่ภายในปั่นป่วนราวกับพายุคลั่ง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: