Mandala

Mandala (1981) Korean : Im Kwon-taek ♥♥♥♡

Mandala ภาษาเกาหลีแปลว่า ภาพพระพุทธ, ไม่ได้สื่อถึงรูป วัตถุหล่อปั้น หรือเจตสิกที่ปรุงแต่ง แต่คือธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง แก้วน้ำ ไม้เท้า หรือแม้แต่ก้อนขี้ก็สามารถแทนด้วยพุทธองค์ นี่ไม่ใช่การลบหลู่ดูหมิ่นแคลน แต่คือปริศนาธรรมสุดลึกล้ำ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมเคยเขียนอธิบายไว้พอสมควรในบทความภาพยนตร์ A Touch of Zen (1971) ขอยกมากล่าวถึงอีกคร่าวๆ, Zen นิกายหนึ่งในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นับถือแพร่หลายแถบประเทศเอเชียตะวันออก (จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น) โดยคำว่าเซ็นเป็นการออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่น, ภาษาจีน 禅 อ่านว่า ฉาน มาจากภาษาบาลี ฌาน หรือสันสฤต ธยาน หมายถึง ภาวะจิตสงบประณีต โดยมีสมาธิ(แน่วแน่)เป็นองค์ธรรมหลัก

จุดเริ่มต้นของ Zen เกิดขึ้นจากการที่จีน-อินเดีย มีตำหรับตำรารวบรวมคำสอนที่ตีความพุทธศาสนาแตกต่างออกไปมากมายจนไม่รู้ใครล่วงรู้ถูก-ผิด ภิกษุฝ่ายมหายานกลุ่มหนึ่งจึงได้ตัดสินใจ ‘ทิ้งตำรา’ แล้วหันมา ‘อ่านธรรมชาติ’ ให้เกิดความรู้แจ้งในจิตใจด้วยตนเอง

แนวคิดของ Zen สามารถสรุปเป็นคำพูดปริศนาธรรมได้ 4 วลี
– “ไม่อิงหนังสือ” หมายถึง การแสดงออกถึงสัจธรรมแห่งชีวิต ความคิด และวิญญาณ ด้วยการไม่ยึดอิงกับตำราหลักตรรกะ เพื่อไปเสาะหาสัจธรรมความจริง
– “ไม่สอนโดยตรง” หมายถึง มิใช่มุ่งเอาแต่สอนสั่ง(ยัดเยียด)โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ อีกฝ่ายเป็นผู้รับเท่านั้น การถ่ายทอดหลักธรรม เรียกกันว่า ‘ส่งต่อโคมไฟ’ จะถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ความหมายแท้จริงมิได้อยู่ที่การรับส่ง แต่อยู่ที่วิธีการส่งทอดของผู้ส่งที่แสดงออกในรูปแบบต่างๆ ให้ผู้รับตื่นตัวรู้แจ้งเห็นธรรม
– “รู้แจ้งในใจ” หมายถึง ไม่เน้นความสำคัญของรูปแบบภายนอก แต่หันมาสำรวจจิตใจของตนเอง เพราะสมรรถนะแห่งความเข้าใจในสรรพสิ่งของเรา จะซ่อนฝังและบดถูกบดบังอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ
– “เห็นธรรมเป็นอรหันต์” คือ ไม่ใช่วิธีการคิดอย่างสลับซับซ้อนไปสัมผัสธรรม เห็นธรรม เพราะสัจธรรมมักแฝงฝังอยู่ในเหตุการณ์ธรรมดาๆที่สุด ผู้ฉลาดมองเห็นโลกทั้งใบในทรายเม็ดเดียว, สิ่งที่เคยอยู่ไกลสุดขอบฟ้า กลับอยู่ข้างกายตน และสิ่งที่เคยอยู่ในกำมือของตน แท้จริงคือความว่างเปล่า

คำสอนของ Zen จึงมักมีความผิดแผก แปลก พิศดารกว่าพุทธศาสนานิกายอื่นๆ ใช้คำพูด/การแสดงออกที่รุนแรงสุดโต่งแต่แฝงนัยยะความหมายลุ่มลึกล้ำ ปล่อยอิสระให้ไปครุ่นคิดตีความกันเอาเอง ใครเป็นบัวพ้นน้ำย่อมสามารถไขปริศนาจนอาจบรรลุธรรม ส่วนคนยังจมปริมๆอยู่ใต้โคลนตม คงต้องใช้เวลาอธิบายมากความอยู่

หนึ่งในปริศนาธรรมของ Zen นอกเหนือจากที่ผมอารัมบทไป ยังมีอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คงทำให้หลายคนสะดุ้งโหยง นำมาแบ่งปันกันคือ

“ถ้าคุณพบพระพุทธเจ้ากลางทาง จงฆ่าเสีย”

คำพูดที่รุนแรงตรงไปตรงมานี้ ไม่ได้หมายสื่อถึงการกระทำทางกาย แต่ล้วนแฝงซ่อนเร้นนัยยะเชิงนามธรรมทั้งสิ้น
– แก้วน้ำ ไม้เท้า หรือก้อนขี้ ล้วนคือสิ่งที่มนุษย์ปรุงปั้นแต่งกำหนดขึ้นมา โดยนำเอาจิตไปสร้างสภาวะการมีอยู่ เฉกเช่นเดียวกันกับพระพุทธ ที่ผู้คนสมัยนี้นำไปผูกติดกับรูป วัตถุ อะไรก็ตามสำหรับกราบไหว้บูชา ทั้งๆแท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว ไม่มีอะไรตั้งอยู่เลย
– ถ้าต้องการบรรลุหลุดพ้นไม่หวนกลับมาเกิด อย่าได้เอาจิตยึดติดกับสิ่งใดๆ ตัดแขน ตัดขา เข่นฆ่า ทำลายล้าง แม้กระทั่งองค์ศาสดา คำสั่งสอน พระไตรปิฏก หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง

“ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม”

– พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค


ก่อนอื่นของกล่าวถึง พระพุทธศาสนาแรกเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีเมื่อ พ.ศ. ๙๑๕ โดยสมณทูตซุนเตา (Shùndào) เดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรโคกูรยอ (Goguryeo) ซึ่งก็ได้แพร่ขยายเข้ามาในเกาหลีอย่างรวดเร็ว เพียงระยะเวลา 20 ปี ก็มีการสร้างวัดขึ้นมากมาย เฉพาะเมืองหลวงแห่งเดียวถึง 9 วัด และยังได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน

พ.ศ. ๑๒๐๐ อาณาจักรชิลลา (Silla) สามารถรวมประเทศให้กลายเป็นปึกแผ่นมั่นคง นำพระคัมภีร์ไตรปิฏกฉบับต่างๆที่กระจัดกระจาย มาจัดระเบียบแบบแผน ตีพิมพ์ด้วยไม้แกะ 16,000 หน้า จำนวนกว่า 50,000 เล่ม เรียกได้ว่าคือช่วงเวลาพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุดในประเทศเกาหลี

ครั้นถึง พ.ศ. ๑๙๓๕ เมื่อราชวงศ์โชซ็อน (Yongseong) ขึ้นมามีอำนาจ ได้เชิดชูลัทธิขงจื๊อให้เป็นศาสนาประจำชาติ ทำการกดขี่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา จนทำให้พระสงฆ์ต้องหลบหนีออกไปอยู่อย่างสงบตามชนบท ป่าเขา ติดตามมาด้วยการถูกรุกราน/ยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้นำเอาพุทธศาสนาชินโตเข้ามาเผยแพร่แทน

ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดเกาหลีจากญี่ปุ่น จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศเหนือ-ใต้, ฝั่งเหนือไม่มีใครบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนชาวพุทธในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะพระสงฆ์ได้มีการออกมาเคลื่อนไหว ประชุมใหญ่ ลงมติให้รัฐบาลยกเลิกข้อบังคับต่างๆที่ขัดแย้งกับหลักพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งให้คณะสงฆ์ปกครองกันเอง ตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ และก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรี

ปัจจุบันในประเทศเกาหลีใต้ ได้เกิดการขัดแย้งระหว่างนิกายโชเก (นิกายถือพรหมจรรย์) และนิกายแทโก (นิกายไม่ถือพรหมจรรย์) ซึ่งระหว่างนั้นกลุ่ม Missionary ได้มาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ จนได้รับความนิยมอย่างสูง พุทธศาสนาจึงค่อยๆตกต่ำลง แต่ก็มีความพยายามฟื้นฟู สร้างค่านิยมใหม่ๆ ปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดมั่นคง


Im Kwon-taek (เกิดปี 1934) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Jangseong, Jeollanam-do ช่วงระหว่าง Korean War (1950-53) เดินทางมุ่งสู่ Busan หางานทำแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ต่อมาย้ายสู่กรุง Seoul จับพลัดจับพลูได้อาศัยอยู่ร่วมห้องเช่าผู้กำกับ Jeong Chang-hwa ชักชวนมาช่วยงานกองถ่าย ไต่เต้า จนได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Farewell to the Duman River (1962)

ก่อนหน้าย้ายมาอยู่กรุงโซล Im Kwon-taek ไม่ค่อยมีโอกาสรับชมภาพยนตร์ หรือมีความชื่นชอบพอสักเท่าไร่ กระทั่งจับพลัดจับพลูได้ทำงานสายนี้ เคยค่อยๆศึกษา เรียนรู้ สะสมประสบการณ์ เห็นว่าช่วงยุคทอง Golden Era (1955-1972) สร้างหนังตามโควต้าปีละถึง 8 เรื่อง!

“Growing up, I wasn’t in the environment where I could watch many movies. I only began working in the film industry in order to survive during the postwar period. Once working in film, naturally I watched all the films that were imported. And I think that influences were there, but mostly I learned the craft directly from the production set”.

– Im Kwon-taek

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์สร้างผลงานภาพยนตร์เกือบๆ(กว่า)ร้อยเรื่อง เริ่มเกิดความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย เพราะแทบไม่เคยได้ทำอะไรตามใจอยากสักที กระทั่งเริ่มมีโอกาสกับ Jokbo (1978) และจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือ Mandala (1981) ที่ได้กรุยทางวงการหนังเกาหลีสู่ระดับสากล

Mandala ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน แต่งโดย Kim Seong-dong (เกิดปี 1947) นักเขียน/นักบวชนิกายเซ็น สัญชาติเกาหลี ตั้งแต่เด็กนับถือลัทธิขงจื๊อ แต่พออายุ 19 มีโอกาสพบเจอพระสงฆ์รูปหนึ่ง เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ตัดสินใจเปลี่ยนศาสนา และออกติดตามท่านเพื่อเรียนรู้จักวิถีแห่งพุทธ, เมื่ออายุย่างเข้าเบญจเพส ต้องการไปศึกษาร่ำเรียนต่อพุทธศาสนายังญี่ปุ่น แต่ติดที่บิดาเป็นคอมมิวนิสต์เก่า (ถูกฆ่าตัดตอนไปตั้งแต่ Kim Seong-dong ยังเด็กๆ) เลยถูกสั่งห้ามออกนอกประเทศ ด้วยความคับข้องขุ่นเขือง เลยมุ่งมั่นออกบวช และเริ่มเขียนนวนิยายเกี่ยวกับพุทธศาสนาตีพิมพ์ลงนิตยสาร

สำหรับ Mandala (1978) ได้รับการตีพิมพ์ลงนิตยสาร Hanguk munhak (Korean Literature) นำแรงบันดาลใจจากประสบการณ์สิบปีของตนเอง ที่ได้ติดตาม เรียนรู้จัก พระสงฆ์รูปดังกล่าว ซึ่งนวนิยายเหมือนว่าจะคว้ารางวัล Literature Prize for Novelists (ของประเทศเกาหลี) แต่เจ้าตัวปฏิเสธไม่ขอรับ เพราะไม่ยึดติดกับความสำเร็จทางโลก

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Lee Sang-hyon และ Song Kil-han (The Surrogate Woman)

เรื่องราวของ Beobwun (รับบทโดย Ahn Sung-ki) นักบวชหนุ่มใกล้พรรษาครบ 6 ปี มีโอกาสพบเจอ Jisan (รับบทโดย Jeon Moo-song) นักบวชวัยกลางคน แม้วาทะลุ่มลึกเฉียบคมคาย แต่มีสภาพโกโรโกโสดูไม่ได้ แถมแสดงออกด้วยพฤติกรรมแปลกประหลาด ดื่มเหล้า เคล้านารี ละเว้นกิจวัตรสงฆ์ ถ้าเมืองไทยคงถูกไล่ให้ไปสึกนานแล้ว แต่ประเทศเกาหลีมีหลักปฏิบัติที่แตกต่าง ทำให้พระหนุ่มต้องการรับทราบสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? จึงได้มีโอกาสพูดคุยเกิดความเข้าใจระหว่างออกเดินทาง

โดยไม่รู้ตัว Beobwun ถูกชักนำพามายังซ่องโสเภณี แต่ด้วยจริตยึดถือมั่นในคำสัตย์ศีล เลยไม่สามารถมีวิถีชีวิตแบบเดียวกับ Jisan จำต้องร่ำลาพลัดพรากจาก กระนั้นเมื่อกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่านหวนกลับมาพบเจออีกครั้ง ทั้งสองได้ร่วมออกเดินทางไปจำพรรษาอยู่กุฎิบนเทือกเขาสูงหนาวเหน็บ สถานที่ซึ่งจักกลายเป็นตำนานความทรงจำไม่รู้ลืม


นำแสดงโดย Ahn Sung-ki (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu นับถือ Roman Catholic เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Housemaid (1960), ผลงานเด่นอื่นๆ Mandala (1981), Village in the Mist (1983), Chi-hwa-seon (2002) ฯ

รับบท Beobwun ตัดสินใจทอดทิ้งทุกอย่างแม้แต่แฟนสาว เพราะต้องการค้นหาสัจธรรมเท็จจริงของโลกหลังความตาย แต่บวชมา 6 พรรษา กลับไม่พานพบเห็นอะไร จนกระทั่งมีโอกาสรับรู้จัก Jisan นักบวชรุ่นพี่ที่ทำตัวนอกรีตนอกรอย แต่กลับมีวาจาเฉียบคมคาย พูดเสียดแทงใจดำเขาอยู่เรื่อย เกิดความเคารพนับถือ ต้องการเรียนรู้จัก เข้าถึงตัวตนว่าเพราะอะไร? ทำไม? ค่อยๆซึมซับแต่ไม่อาจฝืนปฏิบัติตามรอยเท้า จดจำเป็นแบบอย่างทั้งที่ดี-เลว นำมาปรับเข้าหาตัวตนเองในที่สุด

เริ่มต้นมา Beobwun ออกบวชเพราะต้องการหลบหนีปัญหา ไม่ต่างอะไรกับนกในขวดแก้ว แต่หลังจากพานพบเจอ Jisan ค่อยๆเรียนรู้จักการเผชิญหน้าปัญหา โอบรับกิเลสกรรมเข้ามา แล้วใช้สติปัญญาครุ่นคิดแก้ไข ไหนคือหนทางออกอันเหมาะสมควรแก่ตนเอง ถ้าเปรียบก็คือช่วงท้าย เขาสามารถโบกโบยบินออกจากขวดแก้วเองได้โดยไม่ทำให้มันตกแตกละเอียด (มันไม่ใช่ประเด็นว่าหาหนทางออกได้อย่างไร เพราะนี่คือปริศนา(นาม)ธรรม เปรียบนกคือจิตใจ ขวดแก้วคือกรงกรรม หลุดออกมาสำเร็จคือค้นพบหนทางของตนเอง)

ถึงคือตัวละครดำเนินเรื่อง แต่บทบาทของ Ahn Sung-ki ดูเป็นพระรอง(มือรองเท้า)เสียมากกว่า คอยจับจ้อง สังเกตมอง ค่อยๆศึกษาเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนตนเอง ยังมากด้วยอารมณ์ยิ้มแย้ม เศร้าโศก หลายครั้งตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (โดดเด่นมากในท่าทางกระอักกระอ่วน ลุกรี้ลุกรนเวลาอยู่ผิดที่ผิดทาง) จนในที่สุดก็สามารถค้นพบหนทางสำหรับก้าวเดินต่อ


Jeon Moo-song (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Haeju, Hwanghae-do หลังเรียนจบเริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ก้าวสู่วงการโทรทัศน์ ตามด้วยภาพยนตร์แจ้งเกิดโด่งดัง Mandala (1981)

รับบท Jisan บวชด้วยศรัทธาอันแรงกล้า แต่ถูกมารผจญจากผู้หญิงสองคนทำให้จิตใจไขว้เขว จากนั้นก็เป๋ออกนอกลู่นอกทาง ปากอ้างอย่างมีหลักการ แต่กลับลุ่มหลงใหลในกิเลสกาม เลือกปฏิบัติโดยไม่สนขนบวิถีใคร ออกร่อนเร่เตร่ไปทั่ว ท้ายสุดได้เทศน์สั่งสอนบทธรรมล้ำค่า ก่อนมอบกายใจและจิตวิญญาณ อุทิศตนเองให้พุทธศาสนาชั่วนิรันดร์

ภาพลักษณ์รกๆของ Jeon Moo-song สร้างความไม่น่าเชื่อถือให้ Jisan ได้อย่างสมจริง! ทั้งยังสีหน้า ท่วงท่าทาง คำพูดฉะฉาน แม้ฟังดูน่าเชื่อถือ แต่เต็มไปด้วยความหยาบกร้าน ทุกพฤติกรรมแสดงออกราวกับต้องการประชดชีวิต หลบหนีการเผชิญหน้าความจริง แม้ต้องการสำเร็จมรรคผล แต่กลับไม่อยากบรรลุอรหันต์ … สุดท้ายได้ไปสวรรค์หรือนรก มันใช่เรื่องต้องมาหมกมุ่นคิดตามอยู่ทำไม

ปัญหาตัวละครนี้สำหรับคนไทย คือยินยอมรับภาพลักษณ์/การกระทำไม่ค่อยได้! เพราะมายาคตินักบวช สมควรต้องสำรวมด้วยกิริยา มารยาท คำพูดจาสุภาพ ไม่แสดงออกอย่างเดียรถีย์ ปากอย่างใจอย่างแถมแสดงออกอีกอย่าง … เราควรต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนว่า พุทธศาสนาไม่ได้มีแค่ประเทศไทย นิกายอื่น ประเทศอื่น ย่อมมีวิถีปฏิบัติ/ความเชื่อที่แตกต่าง ในเกาหลีใต้อย่างเกริ่นไปตอนต้น แบ่งออกสองฝั่งฝ่าย โชเก (นิกายถือพรหมจรรย์) และแทโก (นิกายไม่ถือพรหมจรรย์) เสพสุรา นารี จึงไม่ถือเป็นเรื่องผิดแผกแปลกประหลาดอะไร

หลายคนอาจมองการกระทำตัวละคร ว่าคือความเสื่อมของพุทธศาสนา ขณะเดียวกันสามารถตีความทั้งหมดได้ถึง ‘ปริศนาธรรม’ ผู้สร้างเรื่องราวให้เป็นตัวแบบอย่าง พบเห็นการกระทำแสดงออกเฉกเช่นนั้น คุณจะครุ่นคิดเห็น รู้สึก สำนึก มีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองเช่นใด? ยกย่องสรรเสริญ? เข้าใจได้ว่าไม่ถูกต้องเหมาะสมควร? ถือเป็นบทเรียนสอนใจ บางอย่างสามารถนำมาปรับใช้ นั่นต่างหากคือแก่นแท้ สาระประโยชน์ของภาพยนตร์เรื่องนี้!


ถ่ายภาพโดย Jeong Il-seong ตากล้องขาประจำของ Im Kwon-taek,

งานภาพจัดเต็มด้วยเทคนิค ลีลา ลูกเล่นชั้นเชิง ที่โดดเด่น อาทิ
– ซูมเข้า-ออก สะท้อนการหด-ขยายมุมมอง ปิด-เปิดโลกทัศน์ให้กับตัวละคร เข้า-ออกจากกะลาคลอบ
– มุมกล้องที่มีการบดบัง จากกรอบ ขอบ บานประตู ปรากฎเพียงเศษส่วนหนึ่งของภาพ นี่เช่นกันสะท้อนกฎกรอบ มุมมองโลกแคบ ทัศนคติคิดเห็นต่างของตัวละคร ถูกบิดเบือน ครอบงำจากกิเลสกรรม
– แช่ภาพธรรมชาติค้างไว้ ตัวละครค่อยๆเดิน ขยับเคลื่อนไหว หรือรถกำลังแล่นมาอย่างช้าๆ เพื่อเป็นการสะท้อนแนวคิด ชีวิตคือการเดินทาง … ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Im Kwon-taek เลยก็ว่าได้
– สภาพอากาศ ร้อน ฝนตก หิมะ ล้วนสะท้อนสภาวะภายในจิตใจตัวละคร

การพบเจอครั้งแรกระหว่าง Beobwun และ Jisan สถานที่คือด่านตรวจข้ามแดน ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวข้ามผ่านขอบเขต ขีดจำกัดในด้านต่างๆ (ทั้งกาย-จิต) ตลอดทั้งเรื่อง, กล้องอยู่ของมันนิ่งๆทำตัวราวกับคือธรรมชาติ รถโดยสาร/การเดินทางของมนุษย์ค่อยๆขยับเคลื่อนเข้ามา

เจ้าหน้าที่ขึ้นไปบนรถขอตรวจเอกสาร บัตรประจำตัว สังเกตภาพหลายๆช็อตจะถูกบดบัง พบเห็นเพียงเศษเสี้ยวส่วน สะท้อนพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่ค่อยเคารพ ยำเกรง ทั้งๆผู้โดยสารเต็มรถกลับสนเพียงนักบวชพุทธศาสนา

โลกของ Jisan มองมุมหนึ่งแลดูเหมือนกบในกะลาคลอบ ซ่อนตัวอยู่ในกฎกรอบ ความเชื่อของตนเอง แต่ขณะเดียวกันอาจสื่อได้ถึงวิถีปฏิบัติที่แสนแปลกพิศดาร น้อยคนนักจะสามารถดำเนินรอยตาม ยัดเยียดตัวเองเข้าไปอยู่ข้างใน

กล้องค่อยๆซูมเข้าไป ใบหน้าของ Beobwun ค่อยๆถูกบดบังโดย Jisan เป็นการสะท้อนถึงความสนใจ ต้องการรับเรียนรู้จักตัวตนอีกฝ่าย ซึ่งหลังจากช็อตนี้จะเป็นการย้อนอดีต (Flashback) เล่าที่มาที่ไปของตัวละคร

ปริศนาธรรมนกในขวดแก้ว, ระหว่างพระอาจารย์กำลังอธิบายสอนสั่ง Beobwun สังเกตว่ากล้องค่อยๆเคลื่อนซูมเข้าไป ให้สัมผัสราวกับว่าตัวละคร (ทั้งสอง) กำลังถูกแออัดยัดเข้าไปในขวดแก้ว

รูปแกะสลักไม้ของ Jisan น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนชื่อหนัง Mandala (แปลว่า ภาพพระพุทธ) เพื่อย้อนแย้งขนบวิถีปฏิบัติที่ผู้คนสมัยนี้ยึดถือมั่นกันมา ทำไมต้องปั้นรูปหน้าพุทธองค์ให้ทรงยิ้มแย้มตลอดเวลา?

ปริศนาธรรมดังกล่าวเพื่อไม่ให้มนุษย์หมกมุ่นครุ่นยึดติดกับพุทธะที่เป็นวัตถุ ภาพพระพุทธจะหน้ายิ้ม หน้าแหยะ แลบลิ้น ในความเป็นจริงท่านไม่มีสีหน้าอารมณ์ใดๆแสดงออกมาหรอกนะ ทั้งหมดคือ ‘ภาพ’ ที่ศิลปินจินตนาการสร้างขึ้นมาเท่านั้น (แล้วแฝงนัยยะปริศนาธรรมไว้ให้ฉกครุ่นคิด)

การเดินทางไปด้วยกันของ Beobwun และ Jisan มักพบเห็นภาพระยะไกล Long Shot หรือ Extreme-Long Shot ทั้งสองพานผ่านธรรมชาติงามตา ตัดสลับเรื่องเล่า/ภาพย้อนอดีต ซึ่งจะมีนัยยะความหมายแทรกสอดคล้อง
– เดินผ่านสวนต้นไม้สองข้างทาง, เริ่มเล่าจุดเริ่มต้นของการออกนอกลู่นอกทางของ Jisan พานพบเจอสองหญิง
– เลียบทางรถไฟ, แฟนสาวเข้ามาพูดคุยกับ Jisan ครั้งแรกตรงกึ่งกลางบันได พร้อมมอบหนังสือและจดหมายรัก
– เดินผ่านถนนในเมือง บ้านช่องสองข้างทาง, Jisan มิอาจอดรนทนอีกต่อไปได้ ตัดสินใจเสพสมสู่ร่วมรักกิ๊กสาว
– เดินเลียบต้นไม้สูงใหญ่ริมแม่น้ำ ความมืดปกคลุมทั้งสอง, เพื่อนสาวอีกคนถูกข่มขืนเสียชีวิตในวัด เป็นเหตุให้ Jisan ถูกจับกุม
– ชำระล้างหน้าในธารน้ำ, ได้รับการปล่อยตัวเพราะไม่ค้นพบหลักฐานกระทำผิด
– เดินข้ามสะพาน, หลังร่วมรักหลับนอนกับแฟนสาวมาหลายค่ำคืน Jisan ครุ่นคิดเข้าถึงสัจธรรมความจริงบางอย่างขึ้นได้ จึงร่ำราแยกจากที่สถานีรถไฟ
– และที่สุดก็เดินทางมาถึงสถานีรถไฟ

เริ่มต้นมาถ่ายมุมก้มจากด้านบน (ราวกับเทพเทวดา/โชคชะตาดลบันดาลให้พานพบเจอ) Jisan เห็นสองสาวสวมชุด แดง-น้ำเงิน โดดเด่นเป็นสง่าท่ามกลางความกลมกลืนของธรรมชาติ

หลังจากช็อตนี้มุมกล้องเปลี่ยนไปถ่ายมุมเงย จากด้านล่างมองขึ้นมาเห็น Jisan (สัญลักษณ์ของการสยบยอม ศิโราบต่อกิเลสมาร) เหลียวหลังหันไปมองสองสาว บางสิ่งอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจพวกเขาทั้งสอง

ตำแหน่งกึ่งกลางบันไดที่ Jisan สนทนากับหญิงสาวเสื้อแดงเป็นครั้งแรก สะท้อนความโล้เล้ลังเลใจของเขา จะเอายังไงดี ครึ่งๆกลางๆ ระหว่างสรวงสวรรค์กับขุมนรก (แต่เหมือนนัยยะมันจะกลับตารปัตรกัน เพราะสาวเสื้อแดงและเพื่อน เดินขึ้น-ลงจากด้านบนของบันได)

เมื่อได้อ่านจดหมาย Jisan ก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง ออกเดินทางฝ่ากระแสลมฝน พายุคลั่ง เข้าไปในห้องปิดประตูแสงไฟ ร่วมรักช็อตนี้ท่ามกลางความมืดมิด และพื้นหลังเห็นเป็นตะแกรงขังคุก ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นบ่างแห่งกรงกรรม

เมื่อถึงจุดๆหนึ่งในความรัก Jisan ก็ตระหนักครุ่นคิดขึ้นได้ว่าตนเองมีจิตใจเป็นพระ ไม่สามารถอาศัยอยู่กับแฟนสาวได้อีกต่อไป สังเกตทิศทางศีรษะของทั้งสองตั้งฉากกัน และวินาทีนั้นเหลียวไปมอง กล้องปรับโฟกัสใกล้-ไกล ฉันไม่มีทางครองคู่อยู่กินกับเธอได้

พบเจอบ่อยทีเดียวกับช็อตนี้ที่ทางรถไฟ สัญลักษณ์ของการพบเจอ พลัดพรากแยกจาก ซึ่งเมื่อ Jisan มุ่งสู่หนทางธรรม ภายหลังรับเรียนรู้ว่าแฟนสาวต้องพลอยตกอับ กลายเป็นโสเภณีเพราะการกระทำของเขา จึงเกิดตราบาปฝังใจ และนั่นคือสาเหตุผลที่ทำให้เลือกใช้ชีวิตแบบพระชั้นต่ำ นำพาตัวเองตกอยู่สภาวะย่ำแย่เลวร้ายขีดสุด เพราะเมื่อถึงจุดๆนั้น เชื่อว่าจะสามารถเกิดความเข้าใจโลกอีกด้านได้อย่างบริบูรณ์

ผมเคยครุ่นคิดสงสัยว่า ทำไมพระเทวทัตที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตพระพุทธเจ้า กระทำสิ่งชั่วร้ายสุดจนผืนแผ่นดินไม่อาจมีที่ให้ยืน แต่กลับได้รับพระทำนายว่าจะกลายเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีนามว่า “อัฏฐิสสระ”, นี่ก็แปลว่าพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ก่อนจะตรัสรู้ด้วยองค์เอง ชาติหนึ่งต้องเคยเป็นศัตรูคู่พระพุทธเจ้าองค์อื่น ทำสิ่งชั่วร้ายสุดจนผืนแผ่นดินไม่อาจมีที่ให้ยืน … เพื่อจะสามารถปลดปล่อยวางความยึดติด ต้องเคยแบกหามทุกสิ่งอย่างหนักอึ้งไว้บนบ่า

ช็อตนี้น่าสนใจมากๆ ตะแกรงตากผ้าแขวนอยู่เหนือศีรษะ แต่แฟนสาวของ Jisan กลับนำรองเท้า(และถุงเท้า)ของ Jisan มาตากเทิดทูนไว้เหนือกระหม่อม … เพราะทุกสิ่งอย่างในชีวิตเธอล้วนมีความตกต่ำ ด้อยค่า เพียงแค่ความรักต่อ Jisan เท่านั้น คือสิ่งสูงสุดเหนือกว่าสิ่งอื่นใด

มองอีกแง่มุมหนึ่ง ทุกสิ่งอย่างในโลกล้วนเป็นไปได้ ไม่มีสูง-ต่ำ ดำ-ขาว วางรองเท้าเหนือศีรษะ ความคิดคนทั่วไปดูยังไงก็ไม่เหมาะสม แต่มันผิดอะไร! ทั้งหมดเกิดจากการปรุงแต่งทางจิตใจไม่ใช่หรือ?

ความพยายามลักหลับ Beobwun ของโสเภณีสาวรายหนึ่ง คงไม่ต้องบอกกันว่าทำอะไร แต่สังเกตตำแหน่งทิศทาง 69 คือแตกต่างตรงกันข้าม แสงสีหลงเหลือเพียงแสงสว่าง-มืดมิด ตัดสลับเปลี่ยนมุมกล้องไปมาอย่างรวดเร็ว พร้อมแทรกภาพในความเพ้อฝันจินตนาการ จิตใต้สำนึกคงโหยหาต้องการ (แฟนสาวของ Jisan) แต่เมื่อฟื้นคืนสติก็สามารถหยุดยับยั่ง ควบคุมตนเอง ไม่ให้ถูกลับหลับได้สำเร็จทันท่วงที (มั้งนะ)

Beobwun หลบหนีออกจากซอยโสเภณี เดินทางหวนกลับสู่ชนบทบ้านเก่า จับจ้องมองไร่เกลือริมทะเล ภายในเต็มไปด้วยความปั่นป่วนดั่งเสียงคลื่นลมคลุ้งคลั่ง เพราะความยังหมกมุ่นครุ่นยึดคิด หลงผิดว่าตนเองได้กระทำบางสิ่งอย่างขัดต่อหลักศีลธรรมเคยยึดถือตั้งมั่น

เอาจริงๆถ้าพระสงฆ์ถูกลักหลับ/ร่วมรักด้วยวิธีการลักษณะนี้ ไม่ถึงขั้นปาราชิกนะครับ เพราะจิตมิได้ต้องการกระทำผิดศีล ร่างกายมิอาจควบคุมหรือหักห้าม แต่ถ้าฟื้นคืนสติแล้วยินยอมคล้อยตาม นั่นตกนรกแน่นอนการันตี!

การแผดเผาทำลายกิเลส พบเห็นทั้งรูปธรรม-นามธรรม
– การเผานิ้วของเพื่อนนักบวช เพื่อแสดงออกถึงการอุทิศตน ตั้งมั่นต่อวิถีปฏิบัติพุทธศาสนา ฟังดูบ้าบอคอแตก แต่ถ้ากระทำด้วยสติ มันจะตราฝังลึกภายในจิตใจชั่วนิรันดร์
– ในเชิงนามธรรมนั้น ไม่มีทางใช้เทียนไขเล่มไหนสามารถเผาไหม้กิเลสได้ นอกเสียจากความครุ่นคิดเข้าใจ ตระหนักได้ด้วยตนเอง นั่นต้องใช้เวลาและความอดทนยากยิ่งกว่าเจ็บปวดทางกายเป็นไหนๆ

สำหรับบางคน การจะแผดเผากิเลสทางใจ จำต้องเริ่มจากแสดงออกบางอย่างทางกาย อย่างเผานิ้วที่ใครๆอาจมองว่าไร้สาระ เกินกว่าเหตุ แต่สำหรับเขามันคือความมุ่งตั้งมั่นตั้งด้วยสติ อุทิศตนเองด้วยสัจจะ ถือว่ามีความน่าเคารพนับถือพอสมควรเลย … มันแล้วแต่มุมมอง ‘ความเชื่อ’ ส่วนบุคคลนะครับ เรื่องแบบนี้ไม่มีทางตัดสินถูก-ผิด แต่อยากจะเล่านิทานเซ็นเรื่องหนึ่งให้รับฟัง

เมื่อใดก็ตามที่ท่านกูเตอิถูกซักถามเกี่ยวกับเซ็น ท่านมักจะชูนิ้วเพียง 1 นิ้วเป็นคำตอบเสมอ, ครั้งหนึ่งมีศิษย์หนุ่ม เห็นท่านกูเตอิทำเช่นนั้นก็ได้เลียนแบบตาม เมื่อถูกอาคันตุกะถามว่า “เซนที่อาจารย์ของเธอสอน เป็นอย่างไร?” เด็กหนุ่มก็ยกนิ้วขึ้นหนึ่งนิ้ว เมื่ออาจารย์กูเตอิได้ยินดังนั้น จึงตัดนิ้วของลูกศิษย์เสียด้วยมีด ขณะกำลังวิ่งหนีไปด้วยความเจ็บปวด อาจารย์ก็ร้องเรียกให้หันหน้ากลับมาแล้วชูหนึ่งนิ้วขึ้น ทันใดนั้นเขาก็บรรลุความรู้แจ้ง

คำอธิบายปริศนาธรรม: มนุษย์ล้วนเต็มไปด้วยปัญหาโน่นนี่นั่น ไม่สามารถหาหนทางออก คำตอบ แก้ไขปัญหาได้ หมกมุ่นครุ่นยึดติดกับอะไรบางอย่าง ซึ่งนั่นหาใช่สาระสำคัญใดๆในชีวิต การชูนิ้วของอาจารย์กูเตอิ ไม่ได้สื่อใบ้หวย ตัวเลข หรือสัจธรรมความจริงหนึ่งเดียว แต่คือความมี-ไม่มี เห็น-ไม่เห็น นิ้ว-ไม่นิ้ว สิ่งใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ว่างเปล่าเท่านั้นคือสรรพสิ่ง

ซึ่งฉากนี้ที่หลวงพ่อ/เจ้าอาวาส ถามปริศนาธรรมถือไม้เท้าคืออะไร ถ่ายจากมุมไกลๆห้อมลอบกรอบ น้อยคนจะสามารถมองเข้าไป รับรู้ และตรัสรู้

ถ้านับเฉพาะภาพที่ต้องมีอะไรบางอย่างมาปกปิดบดบัง ที่ผมชอบสุดคือช็อตนี้ เมื่อแฟนสาวของ Beobwun ติดตามมาพบเจอเพื่อร้องขอให้เขาตอบตกลงแต่งงาน แต่ทั้งสองต่างสนทนากันในแง่มุมของตนเอง เรียกได้ว่าพูดคุยกันแทบจะคนละภาษา! มองโลกในมุมคับแคบ ลีบเล็ก เห็นเฉพาะ(ความสุขของ)ตัวตนเองเท่านั้นที่สลักสำคัญ

“To overcome despair with despair”.

ขณะที่ Jisan พูดประโยคนี้ ระยะใกล้ของภาพพบเห็นกิ่งก้านไม้ไร้ใบ รายล้อมรอบด้วยหิมะขาวโพลนหนาวเหน็บ และระยะไกลคือต้นไม้เขียวขจี เทือกเขาสูง และท้องฟ้าอันว่างเปล่า … เรียกว่าเป็นช็อตที่รวมรวบความหวังและสิ้นหวัง สองตัวละครไว้ในตำแหน่งใกล้ไกล เมื่อไปถึงแห่งหนึ่งย่อมค้นพบเจออีกแห่งหนึ่ง

กุฎิบนเทือกเขา มีหน้าต่างที่เปิดออกสู่ธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันเฒ่าชาวบ้านชุดสีน้ำเงินแปรด! กำลังค่อยๆเดินลงจากเนินเขาพร้อมส่งเสียงรบกวน ไหว้วานให้พระสงฆ์ไปสวดมนต์เปิดตา เจิมพระพุทธรูปเหลืองทองอร่ามที่เพิ่งซื้อมาเทิดทูนบูชา

ขณะที่นักบวชทั้งสองมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ คุณป้าผู้ยังลุ่มหลงใหลทางโลก ทำตัวราวกับเทพเทวดาเสด็จลงมาจากสรวงสรรค์ชั้นฟ้า สรรหาข้ออ้างโน่นนี่นั่น ปอปั้นวิถีความเชื่อศรัทธาของตนเอง พยายามชักนำพาสงฆ์ให้คล้อยตาม ซื้อด้วยเงิน … แทนที่มนุษย์จะปรับตัวเข้าหาศาสนา แบบนี่เรียกว่า นำพุทธศาสนาเข้าหาตนเอง

นัยยะของพิธีเปิดตาพระ ในหนังได้อธิบายไว้อย่างชัดแจ้งมากๆ สิ่งที่อยากให้สังเกตเพิ่มเติมก็คือ บรรดาลุงป้าทั้งหลายและสถานที่แห่งนี้ ประดับประดาไปด้วยสีสันสวยสดใส ขนาดว่า Beobwun ยังต้องชายตามองไปรอบๆอย่างอึ้งทึ่ง ซึ่งระหว่างที่ Jisan กำลังเทศนาอย่างมัวเมามันอยู่บนแท่นประธาน ทำเอาบรรดาผู้ฟังทั้งหลายลุกรี้ลุกรน หายใจไม่ทั่วท้อง นั่งไม่สงบติดเก้าอี้

และขณะที่ Jisan กำลังพูดว่า “What is important is …” กล้องจะค่อยๆเคลื่อนซูมเข้าไปหาตัวละคร เพื่อให้ผู้ชมจดจ่ออยู่กับเนื้อหาสาระของหนัง

ในความสิ้นหวังหนาวเหน็บ คือปริศนาธรรมชักชวนให้ผู้ชมฉงนสงสัยว่า Jisan บรรลุหลุดพ้นหรือเปล่า? เพราะความตายในท่วงท่ากราบไหว้ ราวกับเขาได้กลายเป็นพุทธะ หรือพบเห็นพุทธองค์ แต่ขณะเดียวกันในทางกลับกัน Jisan อาจไม่ได้ค้นพบเจออะไรเลยก็ได้ แค่หนาวเหน็บแข็งตาย ที่สุดของความหมดสิ้นหวังอาลับ

และตำแหน่งที่เขานอนแข็งตาย สูงสุดของขั้นบันได คงเป็นความนัยของผู้กำกับครุ่นคิดว่า แบบนี้แหละคือการบรรลุหลุดพ้น

สูงสุดกลับสู่สามัญ เปลวเพลิงที่มอดไหม้บ้านทั้งหลังและร่างของ Jisan ได้ทำให้จิตใจของ Beobwun ก้าวออกมาจากขวดแก้ว เรียนรู้และเข้าใจวิถีเซ็นในพุทธศาสนา ไม่ใช่รูปลักษณ์ วัตถุ ภายนอกสมควรเอือมละอา แต่คือลดละปลดปล่อยวางสิ่งที่อยู่ภายใน

ตราบใดยังมีลมหายใจ ชีวิตก็ต้องก้าวเดินต่อไป! แต่เอาจริงๆจุดมุ่งหมายปลายทางมันไม่มีหรอกนะ เพราะนิพพานคือการปล่อยวางทางจิต จนกว่าที่เราจะสามารถครุ่นคิดเข้าใจตนเองได้

“เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั้นแหละยังไม่ย่อมหยุด”

นัยยะของช็อตจบนี้ คงต้องการสื่อถือ Beobwun เพราะยังไปไม่ถึงความสำเร็จมรรคผลนั้น เขาจึงยังต้องก้าวออกเดินทางต่อไป

ตัดต่อโดย Lee Do-won, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง Beobwun ตั้งแต่มีโอกาสพานพบเจอ Jisan ซึ่งระหว่างออกเดินทางไปด้วยกัน ได้รับฟังเรื่องเล่า และปรากฎภาพย้อนอดีต (Flashback) แทรกสลับไปมาของทั้งสอง

การตัดต่อถือว่ามีลีลาโดดเด่นอยู่ไม่น้อย
– ช่วงระหว่างการออกเดินทางร่วมกัน พบเห็นตัดสลับไปมาระหว่างปัจจุบัน-อดีต (Flashback) พร้อมเสียงบรรยายเล่าเรื่อง ซึ่งทุกครั้งเมื่อตัดกลับมา พบเห็นตัวละครพูดคุยสนทนา ในมุมมอง ทิศทาง และสถานที่ แฝงนัยยะสำคัญอย่างลุ่มลึกซึ้ง
– Sequence จัดว่าเป็นไฮไลท์ เมื่อตอนที่ Beobwun กำลังถูกโสเภณีลักหลับ ร้อยเรียงขณะโดนเล้าโลม และภาพในจินตนาการท่ามกลางทุ่งหญ้า เขากำลังจะข่มขืนหญิงสาวคนหนึ่ง (และขนลุกขนพองกับเสียงสวดมนต์ที่ดังกึกก้องกังวาน)

เพลงประกอบโดย Kim Chong-gil, นอกจากเสียงสวดมนต์ เคาะปลาไม้ (มู่อวี๋) กริ่งระฆัง งานเพลงยังมีกลิ่นอายของ Ambient Music ด้วยเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านเกาหลี มอบบรรยากาศทะมึน อึมครึม โลกที่หาความสงบสุขไม่พบเจอ

หลายๆครั้ง Sound Effect ก็มีสถานะเหมือนบทเพลงประกอบ จิ้งหรีดเรไร, นกกา, รถราในเมืองใหญ่, ฟ้าฝนลมคลั่ง, คลื่นลมแรง, สายน้ำไหล, เปลวเพลิงแผดเผามอดไหม้ ฯ เหล่านี้ไม่เพียงตรงต่อธรรมชาติ แต่ยังสะท้อนสภาพจิตใจตัวละครออกมาด้วย


ความเป็นพระ มันอยู่ที่จีวร ใบหน้า ทรงผม เครื่องอัฐบริขาร บัตรประจำตัว พฤติกรรมการแสดงออก หรือปฏิบัติทรงศีลธรรม? … คำตอบตามแนวคิดหนังคือไม่ใช่! แต่ผมจะตอบว่าใช่และไม่ใช่!

สงฆ์ หรือ สงฺฆ ในภาษาบาลีแปลว่า หมู่หรือคณะ ไม่ได้ใช้สำหรับพระภิกษุเสมอไป ขึ้นอยู่กับคำที่อยู่ข้างหน้าเช่น หมู่นก หมู่แมลง ก็ใช้ได้เหมือนกัน, ขณะที่พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนแล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช ถือวัตร ปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยที่พระบรมศาสดาสั่งสอนและกำหนดไว้

พระสงฆ์ในยุคสมัยปัจจุบัน แทบทั้งหมดคือ สมมติสงฆ์ สงฆ์โดยทั่วไปที่เป็นหมู่ของภิกษุ โดยสมมติเพราะเป็นภิกษุตามพระวินัยด้วยวิธีอุปสมบทรับรองกันว่าเป็นอุปสัมบัน หรือเป็นภิกษุขึ้น, ดังนั้นการบวชโดยทั่วๆไปก็ถือว่ามีความเป็นพระปรากฎอยู่ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว

แต่นั่นก็แค่เปลือกนอก นุ่งห่มจีวร ประพฤติปฏิบัติถือศีล กระทำดี-ชั่ว ปะปนคละเคล้าอยู่บ้าง เว้นเสียแต่ อริยสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดง แล้วได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

กระนั้นการจะติดตามหา กราบไหว้บูชาพระอริยสงฆ์ คงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปในยุคสมัยนี้ ไม่สามารถล่วงรับรู้เข้าถึงโดยง่าย แถมพ่วงด้วยมิจฉาทิฐิ เชื่อ-ไม่เชื่อ รู้จริง-ไม่จริง เหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงมักหาข้ออ้างเบี่ยงเบน พระองค์ไหนมีหลักธรรมคำสั่งสอนดี สอดคล้องวิถีแนวคิดตนเอง ก็เฮโลเข้าไปขอสมัครเป็นลูกศิษย์ “นำเอาพุทธศาสนาเข้าหาตนเอง” เป็นที่ตั้ง

แก่นแท้ของพุทธศาสนาไม่ใช่การเคารพนับถือ กราบไหว้บูชา หรือความเชื่อศรัทธา แต่คือการฝึกปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวะการมีอยู่ทางจิต จับลมหายใจ จ้องทุกการเคลื่อนไหว ยึดแล้วปล่อย ถือและวาง มีคือไม่มี พุทธะอยู่ที่ตัวเราเอง

“เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์
ไม่มีกระจกเงาใส
เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น
ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร”

Mandala, ภาพพระพุทธ คือสิ่งที่มนุษย์ปรุงปั้นแต่ง จินตนาการรังสรรค์สร้าง มโนขึ้นมา เพื่อสามารถเอาจิตไปพึ่งพักพิง กราบไหว้บูชา คาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้บรรลุหลุดพ้นจากวัฏฏะสังสาร แต่แท้จริงแล้ว พุทธะ=จิต ไม่ต้องไปเหม่อมองหาจากแห่งหนไหน ล้วนหลบซ่อนเร่นอยู่ภายในตัวเราตลอดเวลา

“หลักธรรมที่แท้จริง คือ จิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละ คือ หลักธรรมสูงสุดในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้วไม่มีหลักธรรมใดๆเลย

จิตนี้แหละ คือ หลักธรรม ซึ่งนอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่ใช่จิต แต่จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต

ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดทอนไปแล้ว พิษของจิตก็ได้ถูกถอนขึ้นจนหมดสิ้น

จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่ประจำแล้วทุกคน”

– คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ผู้กำกับ Im Kwon-taek สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคงต้องการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมให้พุทธศาสนาในประเทศเกาหลี เพราะยุคสมัยนั้นเกิดความแตกแยกสองนิกาย สามารถเทียบแทนได้กับทั้งสองตัวละคร Beobwun (=นิกายโชเก) และ Jisan (นิกายแทโก) ซึ่งสามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ ขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดย่อมไม่สามารถไขปริศนาธรรม ทำไมไม่หันหน้าเข้าหา มัวแต่ขัดแย้งรังแต่ทำให้ประชาชนเข้าใจศาสนาอย่างผิดๆ

ถึงผมจะพยายามอธิบายให้ผู้อ่านรับทราบถึงพุทธะ พุทธแท้ แต่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถเข้าถึงความจริงดังกล่าวโดยง่าย เพราะอย่างที่บอกไป เดี๋ยวนี้ใครๆต่าง “นำเอาพุทธศาสนาเข้าหาตนเอง” นั่นไม่ใช่สิ่งผิดอะไรนะครับ เพราะคือรากฐานที่จะปูพื้นให้พวกเขาไม่หลุดออกจากวิถีธรรมที่ถูกต้อง สักวันหนึ่งเมื่อเริ่มตระหนักครุ่นคิดขึ้นได้ ตัดสินใจออกแสวงหาข้อเท็จจริง ก็จักพบค้นสาสน์สาระสำคัญดังกล่าวนี้ได้เอง … มัวไปหมกมุ่นครุ่นยึดติดว่า พุทธแท้ต้องอย่างโน้น พุทธปลอมต้องแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่จะสามารถปลดปล่อยวางอคติดังกล่าวได้สักที


เมื่อยุคทองพานผ่าน วงจรความตกต่ำก็วกเวียนวนหวนกลับมาในช่วงยึดอำนาจรัฐประหาร ปธน. Park Chung-hee (1973–1979) ได้สร้างระบบเซนเซอร์สุดพิลึกพิลั่น อนุญาตทำหนังเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ มีเนื้อหาส่อไปในทางอนาจารได้ ลดการฉายหนังต่างประเทศ เหตุนี้ใครไหนจะไปอยากรับชมในโรงภาพยนตร์!

และเมื่อยุคมืดพานผ่าน ก้าวสู่ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู Recovery (1980–1996) แม้เศรษฐกิจ/ความเชื่อมั่นยังไม่กระเตื้องขึ้นมาสักเท่าไหร่ แต่รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้ภาพยนตร์สามารถออกฉายต่างประเทศ ตามเทศกาลหนังต่างๆ ซึ่ง Mandala (1981) น่าจะเป็นเรื่องแรกๆของทศวรรษเลยกระมัง ไปคว้ารางวัล Grand Prix จาก Hawaii Film Festival 

ผมใช้เวลาในการครุ่นคิดประมวลผลหนังพอสมควร ไม่ใช่ส่วนเนื้อหาสาระ แต่คือการกระทำของพระสงฆ์รูปดังกล่าว จนกระทั่งเกิดความเข้าใจว่ามันไม่ใช่สิ่งดี-ชั่ว ถูก-ผิด แต่คือปรัชญาเซ็น ที่ชักชวนผู้ชมนำเรื่องราวนั้นมาศึกษาเรียนรู้ ปรับประยุกต์ หาความเหมาะสมเข้ากับวิถีปฏิบัติตนเอง

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อเปิดโลกทัศน์ความครุ่นคิดเห็น ยกระดับตัวคุณเองต่อพุทธศาสนา ว่าสามารถยินยอมรับ นับความเข้าใจ ถึงแก่นแท้ สาสน์สาระ จิตคือพุทธะมากน้อยแค่ใด

จัดเรต 18+ กับความสำมะเลของพระสงฆ์ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถยินยอมรับ ‘ภาพ’ ดังกล่าวได้

คำโปรย | Mandala คือภาพ(ยนตร์)ที่ผู้กำกับ Im Kwon-taek ต้องการสร้างให้กับตนเอง เพื่อช่วยเหลือประเทศเกาหลี และธำรงไว้ซึ่งพุทธศาสนา
คุณภาพ | ลุ่มลึกเลยเถิด
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: