María Candelaria (1944) : Emilio Fernández ♥♥♥♥
หนังรางวัล Grand Prix (Palme d’Or) และ Best Cinematography จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, เรื่องราวดั่งภาพวาดชีวิตของ María Candelaria หญิงสาวจนๆอาศัยอยู่ที่ Xochimilco ประเทศเม็กซิโก ก็ไม่รู้กรรมเวรอะไร แทบทุกคนในเมืองแห่งนี้รังเกียจต่อต้านไม่ยอมรับ จะมีไหมใครสักคนรู้จักรักเธอด้วยความบริสุทธิ์จริงใจ
María Candelaria เป็นภาพยนตร์ที่ตราตรึงประทับจิตของผมอย่างแนบแน่น ก็เคยรับชมหนังเรื่องราวลักษณะคล้ายๆกันนี้มาอย่าง Mouchette (1967) แต่รู้สึกว่าเรื่องนั้นเทียบชั้นความยอดเยี่ยมไม่ได้เลย เพราะตอนจบของหนังเรื่องนี้ จะทำให้หัวใจของคุณแตกสลายละเอียดเป็นผุยผง ความเชื่อมั่นในคุณธรรมความดีของมนุษย์สิ้นดับสูญหายไป, โอ้ละหนอ Xochimilco ผมจะไม่ขอย่างเหยียบดินแดนแห่งนี้เป็นอันขาด
Emilio ‘El Indio’ Fernández (1904 – 1986) นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Mexican ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับประสบความสำเร็จที่สุดในยุค Golden Age of Mexican ช่วงทศวรรษ 40s – 50s, เกิดที่ Sabinas, Coahuila เป็นลูกคนโตของ Emilio Fernández Romo นายพลของคณะปฏิวัติ ส่วนแม่สืบเชื้อสายมาจาก Kickapoo Indians ด้วยเหตุนี้ทำให้ Fernández สืบทอดความรักชาติ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อดั้งเดิม (เป็นคนหัวโบราณนิดหน่อย)
ตอนวัยรุ่นอาสาสมัครเข้าเป็นสมาชิก Mexican Revolution เข้าเรียนในโรงเรียนทหารไต่เต้าจนได้ยศถึงพลเอก (colonel), ปี 1923 เป็นหนึ่งในแกนนำล้มล้างอำนาจการปกครองของ Álvaro Obregón ประสบความล้มเหลวถูกจับขัง หลบหนีออกมาลี้ภัยไปอยู่อเมริกาที่ Chicago ตามด้วย Los Angeles ทำงานเอาตัวรอดสารพัด อาทิ พนักงานซักรีด, บาร์เทนเดอร์, กรรมกรท่าเรือ ฯ จับพลัดจับพลูกลายเป็นช่างก่อหิน (stonemason) ใน Hollywood เข้าตา Douglas Fairbanks ชักชวนให้มาเป็นนักแสดงแทน
ตามตำนานเล่าว่า Emilio Fernández คือบุคคลผู้เป็นโมเดลให้กับรูปปั้นรางวัล Oscar และเขาต้องเปลือยกายทั้งตัวขณะเป็นแบบด้วย
ใครที่รับชมหนังเรื่องนี้แล้วอ่านประวัติของ Fernández คงจะรู้สึกเหมือน Déjà Vu นี่สร้างจากเรื่องจริงกึ่งชีวประวัติของเขาหรือเปล่าเนี่ย?… ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เท่าที่รู้คือขณะนั้น Fernández กำลังออกเดทกับนักแสดงนำหญิง Dolores del Rio แต่ไม่มีเงินซื้อของขวัญวันเกิดให้เธอ จึงใช้เวลาหนึ่งคืนในร้านอาหาร เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ลงบนผ้ากันเปื้อน 13 แผ่น มอบให้เป็นของขวัญ
ถึงเรื่องการเมือง Fernández จะไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่สำหรับวงการภาพยนตร์ เขาคือหนึ่งในนักปฏิวัติผู้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศเม็กซิโกต่อสายตาชาวโลก ซึ่งผลงานที่ได้รับการยกย่องประสบความสำเร็จสูงสุด ก็คือ María Candelaria คว้ารางวัล Grand Prix และ Best Cinematography จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และ La perla (1945) คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice
ณ โซชิมิลโก (Xochimilco, Mexico City) ปี 1909, หญิงสาว María Candelaria (รับบทโดย Dolores del Rio) แทบทุกคนในสังคมรังเกียจต่อต้านไม่ยอมรับ เพราะแม่ของเธอเป็นโสเภณีถูกประชาทัณฑ์จนเสียชีวิต มีเพียงชายหนุ่ม Lorenzo Rafael (รับบทโดย Pedro Armendáriz) มอบความรักจริงใจพร้อมที่จะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน แต่เพราะความยากจนและถูกขัดขวางโดย Don Damián (รับบทโดย Miguel Inclán) เจ้าของร้านขายของประจำเมือง ที่แม้ภายนอกจะแสดงออกไม่ยอมรับ แต่ภายในกลับต้องการครอบครองหญิงสาวเสียเหลือเกิน
Dolores del Río (1904 – 1983) นักแสดงสัญชาติ Mexican ผู้หญิงละตินคนแรกที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังใน Hollywood ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ, เกิดที่ Durango City ครอบครัวฐานะร่ำรวย (อันดับต้นๆของประเทศ) แต่สูญเสียทุกอย่างตอน Mexican Revolution ทำให้ต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ Mexico City พอโตเป็นสาวได้รับการค้นพบโดยผู้สร้างหนังชาวอเมริกัน Edwin Carewe เมื่อปี 1925 ชักชวนเธอไปทำงานที่ Hollywood ผลงานเรื่องแรกคือ Joanna (1925) เป็นตัวประกอบออกแค่ 5 นาที, รับบทนำครั้งแรก Pals First (1926), และประสบความสำเร็จกับ What Price Glory? (1926), Resurrection (1927), Ramona (1928) จนได้รับฉายาว่า ‘female Latin Lover’
พอวงการภาพยนตร์เปลี่ยนมาเป็นยุคหนังพูด ก็ยังมีหลายผลงานที่ประสบความสำเร็จ อาทิ Bird of Paradise (1932), Flying Down to Rio (1933), Madame Du Barry (1934), Journey into Fear (1943) ฯ แต่ความนิยมใน Hollywood ค่อยๆเสื่อมลงไปตามกาลเวลา เธอจึงตัดสินใจกลับเม็กซิโก ขอให้ Emilio Fernández สร้างภาพยนตร์เพื่อเธอ ทั้งหมด 5 เรื่อง ประกอบด้วย Flor silvestre (1943), Maria Candelaria (1944), Las Abandonadas (1944), Bugambilia (1944) และ The Unloved Woman (1949) ในไม่ช้าก็ได้กลายเป็นขวัญใจ ตำนานนักแสดงของชาวเม็กซิกัน
เกร็ด: Dolores del Río ในปี 1957 ได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรก ที่ทำหน้ารองประธานของคณะกรรมการสายการประกวดหลัก ในเทศกาลหนังเมือง Cannes
ผู้กำกับ Fernández เป็นชายหนุ่มที่หลงใหล Dolores del Rio ในรูปสวยสง่างามและความเป็นเม็กซิกัน เห็นว่าเคยเป็นตัวประกอบในหนัง Hollywood ที่เธอแสดงหลายเรื่อง (น่าจะในยุคสมัยหนังเงียบ) เมื่อเดินทางกลับมาเม็กซิโก เพราะเป็นคนเดียวที่รู้จัก จึงขอให้เขากำกับภาพยนตร์แก่เธอ
“She looked at me, but without seeing me. Eventually she would ask me to direct her in her first movie in Mexico. I fell in love with her, but she ignored me. I adored her, I really adored her.”
ความรักของทั้งสองสุดท้ายก็ไม่ผลิดอกออกผลแต่ประการใด เพราะดอกฟ้าอย่าง del Rio มีหรือจะเหลียวมองหมาวัดจนๆเช่น Fernández ซึ่งความเพ้อของเขาครั้งนี้ ทำให้ต้องเลิกกับภรรยาเก่า ทิ้งเมียทิ้งลูก *-*
del Río รับบท María Candelaria หญิงสาวชนพื้นเมือง (อินเดียแดง) ก็ไม่รู้เคยทำกรรมเวรอะไรตั้งแต่ชาติปางไหน ทั้งชีวิตพบเจอแต่มรสุมเรื่องร้ายๆ ทั้งที่ตัวเองก็มิได้ทำอะไรขัดต่อขนบธรรมเนียมวิถีของชาวเม็กซิกัน กลับได้รับแต่ความตกอับไร้โชควาสนา, ถึงเธอจะถูกต่อต้านไร้ใยดี แต่ก็หาได้สนเอาใส่ใจ เพราะความเย่อหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตนเอง ฉันไม่ได้ทำผิดอะไรใคร ทำไมต้องยินยอมก้มหัวยอมรับความพ่ายแพ้
การรับบทนี้ของ del Río เพิ่มเสน่ห์ให้ตัวละครมีความสง่างาม เริดเชิด แม้ภายในจะอมทุกข์ เจ็บปวด อ่อนล้า แต่ฉาบหน้าด้วยความเข้มแข็งข้อ ไม่แสดงความอ่อนแอต่ำต้อยค่าให้ผู้ใดเห็น, ปกติตัวละครลักษณะแบบนี้ เธอจะไม่รับเล่นในหนัง Hollywood เลยนะครับ (ภาพลักษณ์ของเธอใน Hollywood คือเริด เชิด หยิ่ง สูงศักดิ์ เลอค่า) เห็นว่ามีเรื่องทะเลาะขัดแย้งกับผู้กำกับบ่อยครั้ง แต่เพราะการรับบทนี้ ได้ทำให้เธอกลายเป็น’สัญลักษณ์’ ตัวแทนของผู้หญิงเม็กซิกันรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย
Pedro Armendáriz (1912 – 1963) สัญชาติ Mexican อีกหนึ่งนักแสดงในตำนานของละตินอเมริกา มีผลงานทั้งใน Mexico และ Hollywood, เกิดที่ Mexico City ข้ามไปเรียนกฎหมายที่ University of California ตามด้วยวิศวกร California Polytechnic State University แต่สุดท้ายกลับเลือกอาชีพเป็นนักแสดงเสียอย่างนั้น
ตอนที่ Armendáriz เรียนจบวิศวะ กลับเม็กซิโกไปทำงานก่อสร้างทางรถไฟ ขณะนั้นมีทัวร์และนักข่าวจากนิตยสาร México Real เข้ามาสัมภาษณ์ถ่ายทำ หนึ่งในนั้นมีผู้กำกับ Miguel Zacarías ขณะท่องบทพูดจาก Hamlet ทำให้ได้รับการทาบทาม แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Rosario (1935), ต่อมาได้พบเจอกับ Emilio Fernández กลายเป็นคู่ขาประจำ แบบเดียวกับ Akira Kurosawa กับ Toshiro Mifune, Federico Fellini กับ Marcello Mastroianni ฯ มีผลงานอมตะร่วมกันหลายเรื่อง อาทิ Soy puro mexicano (1942), Flor silvestre (1942), La perla (1945) ฯ
คงด้วยความที่มีความชื่นชอบ สนใจอะไรคล้ายๆกัน เริ่มตั้งแต่ María Candelaria (1944) ด้วยคำแนะนำของผู้กำกับ Armendáriz ได้สร้างบุคลิกภาพของตัวเอง (film personality) เป็นคนรักชาติอย่างหนักแน่น ตัวละครมักต้องเป็นเข้มแข็งแกร่ง Tough, Manly เป็นชนพื้นเมือง หรือไม่ก็สมาชิกกลุ่มปฏิวัติ
สำหรับผลงานดังใน Hollywood อาทิ The Fugitive (1947), We Were Strangers (1949), The Conqueror (1956), From Russia with Love (1963) ฯ หลังสุดคือเรื่องสุดท้ายของ Armendáriz ด้วยนะครับ เสียชีวิตด้วยการยิงปืนฆ่าตัวตาย เพราะทนไม่ไหวกับอาการเจ็บป่วยโรคมะเร็งที่เป็นอยู่
รับบท Lorenzo Rafael ผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านแห่งนี้ ที่ทุ่มเทความรักกายใจให้กับ María Candelaria นั่นทำให้เขาถูกเหมารวม ได้รับการรังเกียจเหยียดหยามต่อต้านจากผู้คนอื่นไปด้วย ซึ่งชายหนุ่มก็มิได้สนใจใส่ว่าใครจะคิดอย่างไร ต้องการดูแลรักษาปกป้องคนที่ตนรักที่สุด ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เธอปลอดภัยแม้ต้องเป็นโจร ขโมยของ หรือฆ่าคน
การแสดงของ Armendáriz มีความอ่อนหวาน สุภาพ นุ่มนวล เป็นผู้ชายที่น่ารักอย่างยิ่ง แม้ความโดดเด่นก้าวร้าวจะมิเท่า del Río แต่ผู้ชายแบบนี้ทำให้ผู้หญิงสาวตกหลุ่มหลงใหล ศรัทธาเชื่อมั่นไว้ใจ เป็นที่พึ่งพิงได้ในทุกสถานการณ์, นี่เช่นกันใน From Russia with Love (1963) ตัวละครของ Armendáriz เป็นเพื่อนผู้ช่วย James Bond ให้มีชีวิตรอด พึ่งพิงพาได้ในหลายๆสถานการณ์
Miguel Inclán (1900 – 1956) นักแสดงสัญชาติ Mexican มักได้รับบทสมทบ หรือไม่ก็ตัวร้ายจนกลายเป็นตำนานก็จากบทบาท Don Damian ที่ทำให้ชีวิตยากลำบากขึ้นมาทันที เพราะไปที่ไหนผู้คนก็จดจำได้ คิดว่าเป็นคนสารเลว
Don Damian คือผู้ชายมักมากเอาแต่ใจ เรื่องเงินคงไม่ใช่ปัญหา แต่เพราะยังขาดคู่ครองจึงทำให้เห็นแก่ตัว มีความลุ่มร้อนสุมเต็มอก อึดอัดไม่มีที่ระบายออก, คงเพราะความหลงใหลในรูปโฉมความงามของ María Candelaria ทำให้คิดหาข้ออ้างครอบครองเธอ (ติดหนี้ 15 เปโซ ดูแล้วคงต้องการให้เธอเอากายใช้หนี้) แต่ติด Lorenzo Rafael ขวางทางสะดวกไว้ จึงแสดงออกต่อต้านรังเกียจเหยียดออกมาชัดเจน
ตัวละครนี้มีดีแค่ปาก พูดข่มแต่เอาเข้าจริงขาสั่นปอดแหก เป็นตัวร้ายที่น่าสมเพศเสียเหลือเกิน ซึ่งการแสดงของ Miguel Inclán ยกย่องเลยว่ายอดเยี่ยมสมจริงมากๆ ใครเห็นคงเกลียดเข้าไส้ โดยเฉพาะตอนฆ่าหมูนี่ร้าวมาก ปมของคนลักษณะนี้คือ พ่อแม่รังแกฉัน เคยถูกทุบตีด่าว่าทำร้ายร่างกาย โตขึ้นเลยกลายเป็นลูกแหง่ที่ไม่รู้จักถูกผิด อยากได้ครอบครองแต่ไม่สามารถประณีประณอม, ผู้คนใน Xochimilco ว่าร้ายแล้วนะ แต่ Don Damian นี่ซาตานเลยละ
คงต้องแถมให้อีกคนกับจิตรกร นักวาดรูป รับบทโดย Alberto Galán ถือเป็นผู้บรรยายเล่าเรื่องราวของหนังด้วย, ตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Diego Rivera นักวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังสัญชาติเม็กซิกัน สามีของ Frida Kahlo (ถ้าคุณเคยดูหนังเรื่อง Frida มาแล้วคงจดจำชายคนนี้ได้แน่)
ถึงชื่อหนังภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Portrait of Maria แต่เราจะไม่เห็นภาพวาดรูปของเธอเลยนะครับ นั่นเพราะหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่อง เปรียบได้กับภาพวาดของ María Candelaria แบบเปลือยเปล่าด้วยละ (คือถ่ายทอดแบบละเอียดเจาะลึกเห็นภายใน) เลยไม่จำเป็นต้องเอาภาพวาดเปลือยจริงๆของเธอปรากฎให้ผู้ชมเห็นอีก, ตัว
ถ่ายภาพโดย Gabriel Figueroa ตากล้องสัญชาติเม็กซิกันในตำนาน มีผลงานทั้งใน Mexico และ Hollywood กวาดรางวัล Best Cinematography มากมาย
– จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่อง María Candelaria (1944)
– เทศกาลหนังเมือง Venice เรื่อง La perla (1947) กับ La malquerida (1949)
– Golden Globe Award จากเรื่อง La perla (1947)
– และเข้าชิง Oscar จากเรื่อง The Night of the Iguana (1964)
งานภาพขาว-ดำของหนังเรื่องนี้งดงามมากๆ ราวกับภาพวาด(ขาว-ดำ)ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งหลายครั้งจะมีกรอบครอบภาพไว้ด้วย, แค่ฉาก Opening Credit ถ่ายจากบนเรือแล่นเห็นสายน้ำไหลผ่าน สะท้อนสิ่งที่อยู่บนบกอย่างเลือนลางแทบไม่รู้ว่าคืออะไร ผมมองเห็นภาพนี้เป็น Abstraction สะท้อนจิตใจอันพร่ามัวของมนุษย์ มิได้สงบนิ่งเยือกเย็น แต่รุ่มร้อนบ้าคลั่ง สับสนวุ่นวายอลม่าน
หนังถ่ายทำที่เมือง Xochimilco สร้างฉากขึ้นใหม่โดย Manolo Fontanals ในบึงหนองน้ำและลำคลอง, ผมมีความพิศวงในธรรมชาติของหนังเป็นอย่างมาก ลองสังเกตช็อตนี้ที่ผมแคปมา มีการจัดวางองค์ประกอบที่ไล่เรียงลำดับได้อย่างงดงาม จากด้านบนประกอบด้วย ท้องฟ้า ก้อนเมฆ ไกลๆเห็นภูเขา ต้นไม้สูงโด่เหมือนเสา พื้นดินมีดอกไม้ และลำคลองสะท้อนทุกสิ่งอย่าง
แนะนำให้หา Criterion ฉบับคุณภาพชัดๆมารับชมนะครับ แล้วคุณจะอ้าปากค้างในความงดงามของธรรมชาติเมือง Xochimilco แต่ไฉนจิตใจผู้คนในเมืองแห่งนี้กลับอัปลักษณ์ พิศดาร น่ารังเกียจได้ขนาดนี้
– ท้องฟ้าแทบไม่มีครั้งไหนปลอดโปร่ง ต้องมีก้อนเมฆขนาดมหึมาล่องลอยอยู่ มีนัยยะถึงความสับสนอลม่านในจิตใจมนุษย์
– ต้นไม้สูงโด่ด้านหลัง สามารถมองให้มีนัยยะแทน มนุษย์แต่ละคนที่มี Ego สูงมาก เป็นเอกเทศไม่สนใจต้นอื่นรอบข้าง และไม่สามารถให้ร่มเงาเป็นที่พึ่งพิงแก่ใครได้
– ผิวน้ำสะท้อนภาพเงาของสิ่งที่อยู่เหนือ มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ภายใต้ สามารถมองให้มีนัยยะถึง การที่มนุษย์เราส่วนใหญ่มองผู้อื่นก็เพียงแต่ผิวนอก น้อยคนที่จะสังเกตรับรู้สิ่งที่อยู่ภายใต้
จะมีอยู่ฉากหนึ่งที่ María Candelaria กับ Lorenzo Rafael ล่องเรือท่ามกลางแสงจันทรา (ที่คงถ่ายตอนกลางวันแน่) นี่น่าจะเป็นครั้งเดียวที่เราจะได้เห็นผิวน้ำในระยะใกล้ชิด และหญิงสาวใช้มือกวาดเล่นน้ำ หยิบดอกไม้ขึ้นมาดอมดม, สามารถมองให้มีนัยยะถึง การมองเห็นเปิดออกยอมรับสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของทั้งคู่
มุมกล้องมีทั้งก้ม เงย แสดงวิทยฐานะทางสังคมของตัวละคร, ส่วนขณะเดินขึ้นเขา ถ่ายด้วยมุมเงยเน้นให้เห็นความกว้างใหญ่ของท้องฟ้าและก้อนเมฆ เทียบกับมนุษย์ตัวเล็กกระจิดริดก็แทบจะไม่มีค่าอะไร
นอกจากความงดงามของธรรมชาติ และการจัดองค์ประกอบภาพ ยังมีเรื่องการจัดแสงที่มีนัยยะสำคัญโดดเด่นชัดเจน เช่น ช็อตตอนที่ Lorenzo Rafael เข้าอยู่ในห้องขัง จะมีแสงสว่างเล็กๆส่องผ่านหน้าต่างกรงขัง ในขณะที่บริเวณรอบข้างมืดมิด นี่มีลักษณะเป็น Expression นัยยะแสดงถึงแสงสว่างของความหวังมองเห็นอยู่แค่เอื้อมแต่ไม่สามารถไขว่คว้าสัมผัสได้
ตัดต่อโดย Jorge Bustos, เรื่องราวเล่าผ่านการหวนระลึกย้อนอดีตของจิตรกรวาดภาพเปลือย ผ่านเสียงบรรยายขณะได้พบเจอกับหญิงสาวชื่อ María Candelaria รับรู้เรื่องราวชีวิตอันรันทด โหดร้าย เต็มไปด้วยความพิศวง ทำให้เขาไม่รู้จะทำยังไงกับภาพที่วาดขึ้น ทำลายคงไม่กล้า แต่จะขายหรือ ใครที่ไหนจะเห็นความสวยงามแท้จริงของหญิงสาวผู้นี้
หลายครั้งการตัดต่อ ไม่ใช้คำพูดบรรยายแต่เป็นภาษาภาพยนตร์ ตัดสลับมองตาก็สามารถรับรู้เข้าใจว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น, ผมประทับใจฉากที่ María Candelaria ล่องเรือนำดอกไม้ไปขาย แล้วถูกฝูงชนคนทั้งหมู่บ้านเอาเรือมาล้อมปิด เธอแทบไม่มีคำพูดใดๆออกจากปาก แค่หยุดจ้องหน้ามองตากันก็รับรู้ว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้น
เพลงประกอบโดย Francisco Domínguez, ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าบทเพลงมีกลิ่นอายของ Mexican เสียเท่าไหร่ ใช้ขลุ่ยเป็นหลัก กอปรกับเครื่องดนตรีเป่าทั้งหลาย ฟลุต คลาริเน็ต ฯ สร้างสัมผัสที่โหยหวนล่องลอย เมื่อเล่นคีย์สูงจะมีความหวานแหววเพราะพริ้ง เล่นคีย์ต่ำจะรู้สึกอึดอัดทรมาน เล่นเร็วๆเกิดความระทึกตื่นเต้น ถือว่าเป็น Expression ของตัวละครได้เหมือนกัน
ใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นการตั้งคำถามความเชื่อ ค่านิยมดั้งเดิมของชาวเม็กซิกัน ต่อโลกยุคสมัยใหม่ เรื่องราวลักษณะที่เกิดขึ้นนี้ยังเป็นสิ่ง’ยอมรับได้’อยู่หรือเปล่า?
โลกสมัยก่อนที่ยังไม่มีศาสนาก็เป็นแบบนี้นะครับ ผู้คนป่าเถื่อน เห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยค่านิยมผิดๆ ขาดแหล่งยึดเหนี่ยวศรัทธา จิตใจโลเลไม่มั่นคง เราสามารถเรียก Xochimilco ในหนังเรื่องนี้ได้เต็มปากเต็มคำว่า ‘โลกไร้อารยธรรม’ นี่ไม่ใช่การดูถูกมนุษย์นะครับ แต่คือวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เราต้องรับรู้เข้าใจให้ได้ ก่อนที่มนุษย์จะกลายเป็นสัตว์ประเสริฐ บรรพบุรุษของเราล้วนเคยเป็นสัตว์เดรัจฉานมาก่อน
เม็กซิโก ถือเป็นประเทศมีทำเลที่ตั้ง จุดภูมิศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อยู่ระหว่างสองทวีป (อเมริกาเหนือกับใต้) คาบระหว่างสองมหาสมุทร (แปซิฟิกกับแอตแลนติก) แต่ประเทศนี้กลับมีภาพลักษณ์เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน สถานที่ซ่องสุมลี้หนีภัยของเหล่ามหาเศรษฐี มาเฟีย อาชญากรทั้งหลาย ฯ นี่อาจมีสาเหตุจากการเกิดขึ้นของประเทศอเมริกาเมื่อครั้นยุคบุกเบิก ที่ได้เข้ามายึดครองขับไล่ชนพื้นเมืองอินเดียแดงออกนอกประเทศ เม็กซิโกจึงเป็นดินแดนผืนสุดท้าย ผู้คนเก็บกดเกลียดคับแค้น จากบรรพบุรุษสืบทอดสู่รุ่นลูกหลาน ปัจจุบันเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่ชีวิตนี้ผมไม่คิดไปเหยียบแน่นอน
ผู้กำกับ Fernández ถือเป็นคนสองโลก เติบโตขึ้นใน Mexico หนีเอาตัวรอดไปทำงานในอเมริกา พบเห็นทั้งความล้าหลังและความเจริญทันสมัย กลับมาชาติบ้านเกิดคงเกิดความฉงนไม่เข้าใจ ทำไมประเทศของฉันถึงยังตามหลังไม่ทันประเทศอื่น หรือเพราะความเชื่อค่านิยมประเพณีดั้งเดิม หลายอย่างที่ผิดเพี้ยนเปลี่ยนไป โลกสมัยนี้ไม่สามารถยอมรับได้แล้ว แต่พวกเรายังยึดถือปฏิบัติอยู่ แบบนี้ดูแล้วไม่มีทางที่เม็กซิโกจะสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้แน่
สำหรับ Dolores del Rio ความเย่อหยิ่งยโสโอหังของเธอ เรียกได้ว่ากลายเป็นไฮโซชั้นสูงในอเมริกา ถ้าไม่ตกอับจริงๆคิดว่าคงไม่กลับมาชาติบ้านเกิดหวนระลึกความทรงจำอันเลวร้ายเมื่อแต่ก่อนเป็นแน่ จากความสำเร็จที่เป็นตำนาน เมื่อต้องมารับบทเป็นคนธรรมดาพื้นเมือง/อินเดียแดง มันเหมือนว่าจากดอกฟ้าจุติลงมากลายเป็นมนุษย์จับต้องได้ ไม่รู้เธอรู้ตัวเองหรือเปล่า การรับบท María Candelaria แทบไม่ต่างกับพระแม่มารีย์ของศาสนาคริสต์ กลายเป็นดั่งตัวแทนของพระเจ้า ที่ชี้ชักนำชาวเม็กซิกันให้สามารถเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้
ยุคทองของวงการภาพยนตร์เม็กซิกันถือว่าได้สร้างคลื่นระลอกใหญ่ไม่ใช่แค่ต่อวงการภาพยนตร์ ส่งอิทธิพลต่อผู้คน วิถีวัฒนธรรม ค่านิยม การใช้ชีวิต ฯ มันอาจไม่ได้ปุ๊ปปัปเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปิดโลกทัศน์ ความคิดค่อยๆเปลี่ยนแปลง เออเว้ยเห้ย! กระทำแบบนี้มันไม่ถูกไม่ควรนะ ต้องแสดงออกมาเช่นนี้สิ เลียนแบบสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่, จะเรียกว่าสิ่งที่ผู้กำกับ Emilio Fernández สร้างขึ้นนี้ เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในใจของชาวเม็กซิกัน ถือว่ายิ่งใหญ่กว่าการปฏิวัติล้มรัฐบาล/ผู้นำประเทศ เป็นไหนๆ
สำหรับระดับโลก หลังจากที่ได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้า 2 รางวัลใหญ่ ทำให้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ผู้คนกล่าวขวัญถึง บ้างยกย่องว่าคือ Masterpiece ของชาว Mexican เลยก็ว่าได้ (คุณภาพหนังถือว่าระดับนั้นได้อยู่ แต่เพราะผมเพิ่งดูหนังของประเทศนี้ไม่กี่เรื่องเลยยังขอติดไว้ก่อน) ซึ่งหนังเรื่องนี้ทำให้ภาพลักษณ์ชาวเม็กซิกันต่อชาวโลกเปลี่ยนไปพอสมควร ก่อนหน้านี้เป็นยังไงไม่รู้ แต่หลังจากนี้ ‘เม็กซิโก คือดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อนไร้อารยธรรม ผู้คนไร้ซึ่งเมตตาศีลธรรม อย่าไปทำอะไรขัดต่อวิถีความเชื่อของพวกเขาเชียวนะ ไม่เช่นนั้นได้ถูกรุมประชาทัณฑ์สิ้นชีพเป็นแน่’ (แทนที่หนังจะขายภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ แต่กลับกลายเป็นนำเสนอความจริงที่เป็นอยู่เสียอย่างนั้น!)
ส่วนตัวชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้มาก ถ้าไม่เพราะความรันทนเกินทำใจผมคงตกหลุมรักแล้วละ ซึ่งข้อคิดที่ได้จากหนังเรื่องนี้คือ ‘บทเรียนทางสังคม’ คล้ายกับ 12 Angry Men ความโง่เขลา เย่อหยิ่ง เห็นแก่ตัว รับไม่ได้กับคนที่คิดต่าง ถ้าโลกมนุษย์เป็นแบบนี้ถือว่าเสียชาติเกิดได้เลยนะครับ
ผมมองทางออกง่ายสุดของ María Candelaria ก็คือย้ายออกไปสิ ที่อื่นมีเยอะแยะ ยังจะ’ยึดติด’ หลงอยู่ในวังวนของโลกที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังทำไม ข้ออ้างของเธอฟังไม่ขึ้นเลยนะครับ, แต่เมื่อยืนยันคอขาดว่าไม่ย้อน ผมว่ามันคือการชดใช้’กรรม’ ครั้งหนึ่งคงเคยเป็นต้นตอสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นกับใครบางคน ชาตินี้จึงต้องชดใช้คืนโดยไม่รู้ตัวแบบนี้แหละ
แนะนำกับตากล้องชื่นชอบการถ่ายภาพสวยๆ สุดประณีต, คอหนังเม็กซิกัน แนวดราม่า เสียดสีสะท้อนสังคม ตีแผ่ความชั่วร้ายของจิตใจมนุษย์, แฟนๆของ Dolores del Rio กับ Pedro Armendáriz ไม่ควรพลาดเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ วิเคราะห์หาปัญหาและหนทางแก้ไข
จัดเรต 15+ กับสังคมประชาทัณฑ์
Leave a Reply