Marianne and Juliane

Marianne and Juliane (1981) German : Margarethe von Trotta ♥♥♥♡

ภาพยนตร์รางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice โดยผู้กำกับหญิงสัญชาติเยอรมัน Margarethe von Trotta ที่ต้องการนำเสนอว่า ‘การเมือง เรื่องส่วนตัวและหญิงสาวเป็นของคู่กัน’

นับจาก Leni Riefenstahl ผู้กำกับหญิงสัญชาติเยอรมันชื่อดัง ที่ผมยกย่องว่าคือ ‘Orson Welles ของประเทศ Germany’ เป็นเวลานานหลายทศวรรษ กว่าจะมีผู้กำกับหญิงคนต่อไปได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ ซึ่งบุคคลถัดมาก็คือ Margarethe von Trotta กับรางวัล Golden Lion ของหนังเรื่องนี้ ทำให้เธอกลายเป็นผู้กำกับแนวหน้าของ New German Cinema และได้รับการยกย่องว่าเป็น “the world’s leading feminist filmmaker”

ผมหยิบหนังเรื่องนี้มารับชม สืบเนื่องจากเป็นหนึ่งในหนังโปรดของผู้กำกับ Ingmar Bergman ต้องถือว่าทั้ง von Trotta และ Bergman ต่างเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน เธอเคยให้สัมภาษณ์กล่าวขอบคุณผู้กำกับชาว Swedish ว่าทำให้ ‘ตกหลุมรัก’ กับสื่อภาพยนตร์ และค้นพบความเป็นไปได้ในการนำเสนอจิตวิทยา สิ่งที่อยู่ข้างในของมนุษย์ออกมา

Margarethe von Trotta (1942) เกิดที่ Berlin ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โตขึ้นย้ายไปอยู่กรุง Paris เริ่มต้นจากการเป็นนักสะสมฟีล์ม ผู้ช่วยผู้กำกับหนังสั้น ต่อมากลายเป็นนักแสดงในหนังของ Rainer Werner Fassbinder และ Volker Schlöndorff คนหลังได้แต่งงานอยู่กินและร่วมงานกันหลายเรื่อง

“I came from Germany before the New Wave, so we had all these silly movies. Cinema for me was entertainment, but it was not art.”

วงการภาพยนตร์ในประเทศเยอรมันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกได้ว่าสูญเสียจุดยืนความยิ่งใหญ่ไปโดยสิ้นเชิง ผู้กำกับยอดฝีมือแห่งยุคหลายคน ได้หลบลี้หนีภัยจาก Nazi ออกนอกประเทศไปหมดสิ้น (สมองไหล) แถมยังต้องถูกควบคุมครอบงำโดยต่างชาติ เลยไม่แปลกที่อะไรๆจะย่ำอยู่กับที่ เป็นเช่นนั้นอยู่นานนับทศวรรษ

“When I came to Paris, I saw several films of Ingmar Bergman, and all of the sudden I understood what cinema could be. I saw the films of Alfred Hitchcock and the French Nouvelle Vague. I stood there and said, ‘that is what I’d like to do with my life.’ But that was 1962, and you couldn’t think that a woman could be a director.”

การอพยพไปอยู่ Paris ของ von Trotta ได้เปิดโลกทัศน์ของเธอต่อวงการภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง หลังจากได้รับชมหนังของ Ingmar Bergman ตามด้วย Alfred Hitchcock และหนังของ French New Wave ทำให้เธอเกิดความเข้าใจถ่องแท้ ‘นี่แหละภาพยนตร์ที่ฉันอยากทำ’ แต่ปี 1962 คงไม่มีใครคิดว่าผู้หญิงจะสามารถเป็นผู้กำกับได้, von Trotta จึงเริ่มต้นจากการเป็นนักแสดง ค่อยๆเก็บสะสมประสบการณ์จนได้รับความเชื่อมือ ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกกับสามี Volker Schlöndorff เรื่อง The Lost Honour of Katharina Blum (1975) และกำกับฉายเดี่ยวครั้งแรก The Second Awakening of Christa Klages (1978)

ความสนใจของ von Trotta คือการสร้างมุมมองใหม่ ‘ภาพยนตร์ตัวแทนของเพศหญิง’ เรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่าเพศหญิงด้วยกัน (พี่น้อง, เพื่อนสนิท, ครอบครัว ฯ) ซึ่งมักจะสะท้อนกับประเด็นสังคม และการเมืองเป็นที่ตั้ง, เราสามารถเรียกหนังของ von Trotta ได้ว่า Feminist แต่เธอมักจะพูดว่า ‘ฉันไม่ได้สร้าง women’s films’ ผมก็ไม่รู้ว่ามันต่างกันอย่างไร?

Marianne and Juliane เป็นผลงานกำกับฉายเดี่ยวลำดับที่ 3 เรื่องที่สองของไตรภาค Sister Trilogy อันประกอบด้วย
– Sisters, or The Balance of Happiness (1979)
– Marianne and Juliane (1981)
– Three Sisters (1988)

เป็นความไม่ได้ตั้งใจของผู้กำกับที่จะสร้างไตรภาคนี้ แต่เพราะความคล้ายคลึงในสาระและพื้นหลัง, ตัวละครหญิงสาวทั้งหลายต่างเกิดในช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘tradition time’ (ระหว่างทศวรรษ 40s – 50s หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) พ่อ-แม่ ครอบครัวเอาตัวรอดผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพวกเขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมโลกยุคหลังได้ เด็กๆที่เกิดขึ้นมักจะก่อให้เกิดปัญหาสังคม เกเร เสเพล หัวรุนแรง และมีความคิดฆ่าตัวตาย (ผู้กำกัย von Trotta ก็เกิดช่วงเวลานี้นะครับ นั่นทำให้เธอมีความเข้าใจนี้เป็นอย่างดี) ใจความสำคัญของหนัง ทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ขณะที่โลก/สังคมรอบตัวกำลังล่มสลายเปลี่ยนแปลงไป

เรื่องราวของหนังได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงของ Christiane และ Gudrun Ensslin รายหลังเป็นสมาชิกของ Red Army Faction (RAF) ถูกจับในข้อหาก่อการร้าย พบศพแขวนคอตายในคุก Stammheim เมื่อปี 1977, ซึ่งหนังได้ทำการเปลี่ยนแปลงชื่อตัวละคร Juliane แทน Christiane และ Marianne แทน Gudrun เน้นการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของพี่น้อง และค้นหาว่าอะไรที่ทำให้พวกเธอเปลี่ยนไปตรงกันข้ามระหว่างตอนเด็กกับตอนโต

Red Army Faction (RAF) คือองค์กร/หรือจะเรียกกลุ่มผู้ก่อการร้าย ฝั่งซ้ายจัด ก่อตั้งเมื่อปี 1970 โดย Andreas Baader, Gudrun Ensslin, Horst Mahler และ Ulrike Meinhof ว่ากันว่าเบื้องหลังมีหน่วยงานของ East German ให้การสนับสนุน, การเกิดขึ้นขององค์กรนี้ เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของประเทศเยอรมัน รอยต่อของยุคสมัย Nazi, สงครามเย็น (Cold War), จุดจบของ Colonialism ฯ ทำให้วัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ณ ขณะนั้น รู้สึกไม่พึงพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ จึงมีความต้องการเปลี่ยนแปลง สร้างความปั่นป่วน เรียกร้องความสนใจ

“World War II was only twenty years earlier. Those in charge of the police, the schools, the government — they were the same people who’d been in charge under Nazism. The chancellor, Kurt Georg Kiesinger, had been a Nazi. People started discussing this only in the 60’s. We were the first generation since the war, and we were asking our parents questions. Due to the Nazi past, everything bad was compared to the Third Reich. If you heard about police brutality, that was said to be just like the SS. The moment you see your own country as the continuation of a fascist state, you give yourself permission to do almost anything against it. You see your action as the resistance that your parents did not put up.”

– Stefan Aust, ผู้แต่งหนังสือ Der Baader Meinhof Komplex (The Baader Meinhof Complex)

มาคิดดูก็ใช่นะครับ ช่วงทศวรรษ 50s – 60s กลุ่มคนที่เป็นผู้นำประเทศเยอรมันจะคือใครอื่นไปได้ พวกเขาส่วนใหญ่ต้องเคยทำงานภายใต้ Nazi, กับคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นเติบโตในยุคหลังสงครามโลก ย่อมต้องเกิดคำถามข้อสงสัย กับความเลวร้ายของ Nazi ที่ได้รับเรียนรู้สั่งสอนมองเห็นมานั้น แต่คนเหล่านั้นยังได้รับโอกาส มีชีวิตอยู่ เป็นถึงผู้นำปกครองประเทศ มันใช่สิ่งยอมรับได้ที่ไหนกัน!

การกระทำของ RAF ได้ป่วนประเทศเยอรมันอย่างยิ่งเลยนะครับ ทั้งวางระเบิด ลอบสังหาร ปล้นธนาคาร ลักพาตัว ฯ รุนแรงสุดช่วงปลายปี 1977 ทำให้ประเทศเกิดวิกฤตที่เรียกว่า ‘German Autumn’ ทำให้ทางการต้องใช้มาตรการรุนแรงเข้าตอบโต้, ว่ากันว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงที่สุดขนาดนี้ เป็นผลมาจากการจับกุมผู้นำทั้งสี่ได้ และเกิดเหตุการณ์ Death Night ประมาณวันที่ 8–9 พฤษภาคม 1976 ที่พวกเขาดันฆ่าตัวตายในคุกช่วงเวลาใกล้ๆกัน มันจะเป็นไปได้ยังไง! นอกเสียจาก…

Jutta Lampe (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Flensburg เข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 1963 เคยมีผลงานร่วมกับ von Trotta เรื่อง Sisters, or The Balance of Happiness (1979)

รับบท Juliane พี่สาว, ตอนวัยเด็กเป็นหญิงแก่นแก้ว (สวมชุดสีดำ) ชอบทำอะไรนอกคอก ยึดถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ แต่พอโตขึ้นทำงานเป็นนักข่าวสาย feminist มีความประณีประณอม แกนนำกลุ่มสนับสนุนสตรีทำแท้งถูกกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาระกับลูกที่เกิดขึ้นโดยความไม่พร้อมของตนเอง (นี่จะย้อนแย้งกับยุคสมัยของ Nazi ที่ฮิตเลอร์สนับสนุนการให้ผู้หญิงแต่งงานมีลูก เพื่อเด็กโตขึ้นจะได้เป็นกำลังจักรกลของชาติ)

Barbara Sukowa (เกิดปี 1950) นักแสดงสัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Bremen มีผลงานดังร่วมกับ Rainer Werner Fassbinder และ Margarethe von Trotta คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เรื่อง Rosa Luxemburg (1986) ผลงานอื่นๆ อาทิ Berlin Alexanderplatz (1980), Lola (1981), Europa (1990), M. Butterfly (1993), Hannah Arendt (2012) ฯ

รับบท Marianne น้องสาว, ตอนวัยเด็กเดินตามหลังพี่สาวมาติดๆ (ในหนังเหมือนจะอายุเท่ากันนะครับ เรียนชั้นเดียวกัน) ยึดมั่นตามอุดมการณ์ของพี่ โตขึ้นก็ยังคงเป็นแบบนั้น แม้จะแต่งงานมีลูกแล้ว ก็ไม่ทำให้เธอล้มเลิกความตั้งใจ เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย RAF ใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา

หลังจากสองพี่น้องได้รับชมหนังสั้นเรื่อง Night and Fog (1956) ของผู้กำกับ Alain Resnais เห็นภาพความโหดร้ายของ Nazi สิ่งที่บรรพบุรุษของชนชาติตนเองได้กระทำไว้ ทำให้พวกเธอตัดสินใจร่วมกัน โตขึ้นอยากที่จะกระทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบโต้สิ่งที่เกิดขึ้น นั่นเป็นเหตุให้
– Juliane พยายามปกป้องสิทธิของสตรี ด้วยการรณรงค์ชักเชิญชวน โน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี
– Marianne ตอบโต้ทางการด้วยความรุนแรง ทำให้ทางการรับฟังข้อเรียกร้อง และเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

โลกเรามันก็อย่างนี้นะครับ เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน มีฝั่งหนึ่งแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี อีกฝั่งใช้กลับความรุนแรง ข้างไหนถูกผิดก็มิสามารถต่อว่ากันได้ เพราะต่างฝ่ายก็มีวิธีการที่ต่างกันสุดขั้ว แม้อุดมการณ์แนวคิดพื้นฐานจะเริ่มต้นจากสิ่งเดียวกัน แต่ประสบการณ์ชีวิตอะไรต่างๆนานา สะสมเปลี่ยนแปลงให้คนๆนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง เชื่อมั่นในวิถีของตนเองว่าเป็นสิ่งแก้ปัญหาได้

เรื่องราววุ่นๆของหนังเกิดขึ้นเมื่อ Marianne ถูกจับกุม ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง หลงเหลือแต่แม่และพี่สาว Juliane เป็นที่พึ่งทางออกสุดท้าย ความสัมพันธ์ของสองสาว เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอื่นจะสามารถยอมรับเข้าใจได้ จนกระทั่งการตายของ Marianne ทำให้ Juliane สูญเสียสภาวะการรับมือทางจิตใจ ต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการตอบโต้ แก้แค้นเอาคืน แต่เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ จึงส่งต่อเรื่องราวนี้สู่คนรุ่นต่อไปให้เรียนรู้เข้าใจจดจำ

ถ่ายภาพโดย Franz Rath เน้นใช้แต่ภาพโทนสีอ่อน ให้สัมผัสของความจืดชืดเย็นชาไร้ชีวิตชีวา,

หนังเริ่มต้นที่ฤดูหนาว ถ่ายภาพออกไปนอกหน้าต่าง ต้นไม้มีแต่กิ่งก้านสาขาไร้ใบ แทนด้วยสถานะของประเทศเยอรมัน ราวกับโลกยุค Post-Apocalypse หลังการล่มสลายของโลก, เหมือนกว่าการเลือกตำแหน่งนี้ แบ่งซ้ายขวา แทนได้ด้วยสองพี่น้อง แนวคิดของสองฝั่ง (เป็นสองตึกที่แตกต่างกันด้วยนะครับ)

ไม่รู้เพราะปัญหากองเซนเซอร์ในประเทศเยอรมันหรือเปล่า ทำให้มีหลายครั้งหนังถ่ายช็อตเดียวแบบงงๆ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ได้รับการเฉลยต่อมา อย่างเช่นช็อตนี้ เสียงปืนก็ไม่มี แต่เราสามารถรู้ได้ในฉากต่อๆไปว่า คนที่อยู่ในรถ (พ่อของเด็กชาย Jan) ได้ฆ่าตัวตายไปเรียบร้อยแล้ว

เห็นช็อตนี้แล้วนึกถึง Aokigahara หรือ Suicide Forest/Sea of Trees แต่ผมไม่ได้รู้จักป่านี้จากหนังเรื่อง The Sea of Trees (2015) ของ Gus Van Sant นะครับ เป็นจากอนิเมชั่นเรื่องหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้แล้ว)

ผมชอบช็อตที่ Juliane เดินมาพบกับ Marianne ครั้งแรก เธอเดินผ่านรูปปั้นของเหล่ามหาบัณฑิตและวีรบุรุษแห่งยุคมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องราวที่จบสิ้นผ่านไปหลงเหลือเพียงแค่ตำนานและรูปปั้น, นี่เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางสู่ความเป็นบุคคลหนึ่ง ผู้จะได้รับการจดจำในอนาคต (หรือเปล่า)

ตัดต่อโดย Dagmar Hirtz นี่เป็นส่วนที่ทำให้หนังดูยาก แต่ก็มีความลึกล้ำขึ้นด้วย, ใช้เล่าเรื่องแบบดำเนินเหตุการณ์ไปข้างหน้า แล้วมีการย้อนอดีต Flashback แทรกใส่เข้ามาแบบไม่เรียงลำดับ บางทีกระโดดไปตอนสองสาวยังเด็ก และบางทีก็เป็นตอนโตเป็นวัยรุ่น โดยรวมถือว่ามี 3 ช่วงเวลา เด็กเล็ก, วัยรุ่น, ผู้ใหญ่

ใช้มุมมองของ Juliane เป็นหลัก เพราะเธอเป็นคนที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิด อุดมการณ์ ทัศนะ เรียกว่าจะขั้วหนึ่งไปอีกขั้วตรงกันข้าม ตอนเด็กก็ครั้งหนึ่งและตอนผู้ใหญ่ก็อีกครั้งหนึ่ง

เพลงประกอบโดย Nicolas Economou นี่เป็นส่วนที่ผมค่อนข้างชอบเลยละ เพราะสามารถควบคุมบรรยากาศของหนังได้อยู่หมัด คือเครียดตั้งแต่ต้นยันจบอารมณ์เดียว ด้วยเสียงฟลุต เชลโล่ ซึ่งเป็นสองเครื่องดนตรีที่สองสาวเล่นเป็นตั้งแต่เด็กด้วย ถือว่าเป็นบทเพลงที่สะท้อนความรู้สึกข้างในจิตใจของพวกเธอออกมาได้อย่างชัดเจน

ผลกระทบของ Nazi ไม่ได้จบสิ้นแค่เมื่อ Adolf Hitler เสียชีวิต แต่มันกลับมีผลต่อคน Generation รุ่นถัดๆมาอีกหลายทศวรรษ, หนังเรื่องนี้ทำให้ผมครุ่นคิดเกิดคำถามกับตัวเองว่า จะรู้สึกอย่างไรเมื่อรับรู้ค้นพบว่า พ่อแม่/บรรพบุรุษของตนเอง ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ เห็นหนังเรื่อง Night and Fog (1956) แล้วจะเกิดอะไรขึ้น โอ้… ไม่อยากคิดเลยละครับ

กับคนที่มีปฏิกิริยาความรู้สึกรุนแรง ก็จะมีสองขั้วดั่งสองพี่น้อง Juliane กับ Marianne คือทั้งคู่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน แต่คนหนึ่งเลือกตอบโต้แบบยั้งคิดประณีประณอม ส่วนอีกคนหนึ่งใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ซึ่งการกระทำอย่างหลังแน่นอนว่าต้องได้รับการโต้กลับจากผู้มีอำนาจที่ยังคงปกครอง ต้องการปกปิดความผิดของตนเอง, นี่แปลว่าจนกว่าจะหมดสิ้นผู้คนจากยุคสมัยของ Nazi ประเทศเยอรมันก็ไม่มีทางพบความสงบสุขสันติเป็นแน่

ความสัมพันธ์ของสองพี่น้องถือว่าเป็นใจความสำคัญของหนัง เติมเต็มซึ่งกันและกันดั่ง อดีต-ปัจจุบัน, หยิน-หยาง, เข้มแข็ง-อ่อนแอ, กล้าหาญ-ขี้ขลาด ฯ โชคชะตาได้ผูกทั้งสองไว้ด้วยกัน ซึ่งเมื่อใดที่ใครคนหนึ่งต้องสูญสิ้นชีพตายจากไป อีกครึ่งหนึ่งของหัวใจมีฤาจะยินยอมรับได้ วินาทีแรกคือหัวใจสลาย เมื่อคิดได้ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง พยายามเติมเต็มอีกข้างที่ขาดหายไป จนอาจกลายเป็นคนอีกคนไปเลย

หนังนำเสนอจิตวิทยาของ Juliane ต่อการสูญเสีย Marianne ได้น่าสนใจมากๆ เพราะความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ต้องบอกว่าลึกซึ้งกว่า Juliane กับแฟนหนุ่มเสียอีก นี่มีนัยยะมองได้ว่า เรื่องราวบางอย่างของผู้หญิง ผู้ชายทั้งหลายคงไม่มีวันเข้าใจ (แต่ผมพอจะเข้าใจหนังนะ), ซึ่งหนังก็มีความแสนสันต์อย่างหนึ่ง ต้องการบอกว่า ทัศนคติความรักของผู้ชายมักเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว (เพราะต้องการอะไรบางอย่างเสมอ) ขณะที่ผู้หญิงจะมีบางมุมที่ ความรักคือการเสียสละ …

สะท้อนกับเรื่องราวการเมืองระดับมหภาพได้อย่างลงตัว แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่กลืนกินความคิดของประชาชน คนรุ่นใหม่สมัยนั้นได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นมาอย่างเต็มๆ พวกเขาเกิดความคับข้องใจ แต่ไม่มีใครสามารถช่วยเหลืออธิบาย แก้ไขหาทางออกให้ได้ มีแต่ผลักไสแบบที่ใครๆก็ไม่ต้องการเป็นภาระต่อ Jan สุดท้ายส่งเขาไปสถานรับเลี้ยงดู จนกระทั่งเกิดเหตุไฟไหม้อุบัติเหตุโดยไม่รู้ตัวจึงค่อยมาคิดได้ นี่ไม่สายเกินไปหน่อยหรือ … คำตอบของหนังคือไม่นะ คนรุ่นต่อไปยังมีเวลา มีคำตอบ แผลไฟไหม้ยังสามารถเลือนลางหายขาดไร้ร่องรอย คำอธิบายของ Juliane แม่ของเธอเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร บอกต่อคนทั้งโลกไม่ได้ ก็เริ่มจากจุดเล็กๆที่ Jan นี่แหละ

การจะทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ จำต้องใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมันพอสมควร กับคนที่ผ่านช่วงเวลานั้นมาอาจไม่มีปัญหามากนัก แต่ผู้ชมสมัยใหม่ที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องราวลักษณะนี้อาจมีปัญหาพอสมควร แนะนำให้ไปดูหนังเรื่อง Night and Fog (1956) มาก่อนด้วย จะทำให้เข้าใจอะไรๆหลายๆอย่างเพิ่มขึ้นมากทีเดียว

หนังเข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามา 6 รางวัล
– Golden Lion
– Golden Phoenix: Best Actress (Jutta Lampe กับ Barbara Sukowa)
– New Cinema Award
– AGIS Award
– FIPRESCI Prize
– OCIC Award

ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ รู้สึกเครียดเกินไปสักนิด ทำให้เกิดความอึดอัดทรมานใจ แถมหลายอย่างค้างคาไว้ต้องมาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเอง (คงเพื่อหลีกเลี่ยงกองเซนเซอร์เป็นแน่) ถือว่าเป็นระดับ Masterpiece ของชาติเยอรมัน แต่ไม่ใช่กับทั้งโลกแน่ๆ

แนะนำกับคอหนังดราม่าเครียดๆ ผลกระทบหลังสงครามโลก การเมืองและ Nazi, นักอนุรักษ์ รณรงค์ สิทธิสตรี ชื่นชอบหนัง Feminist, โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักจิตวิทยา จิตแพทย์ ทั้งหลาย ศึกษาสภาวะจิตใจของพวกเธอทั้งสอง

จัดเรต R หนังเต็มไปด้วยบรรยากาศอึมครึม ดูไปเครียดไปอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย

TAGLINE | “Marianne and Juliane ของผู้กำกับ Margarethe von Trotta สร้างให้ความสัมพันธ์ของสองสาว ชีวิตกับการเมืองเป็นเรื่องแยกจากกันไม่ได้”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

2
Leave a Reply

avatar
2 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Marianne and Juliane (1981)  : Margarethe von Trotta ♥♥♥♡ […]

trackback

[…] Marianne and Juliane (1981)  : Margarethe von Trotta ♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: