
Marketa Lazarová (1967)
: František Vláčil ♥♥♥♥
มหากาพย์ภาพยนตร์แห่งยุคกลาง (Medieval Period) ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ป่าเถื่อน เหี้ยมโหดร้าย นำเสนอการเผชิญหน้าระหว่างชาวคริสเตียน (Christianity) vs. ลัทธินอกรีต/กลุ่มคนนอกศาสนา (Paganism), การปกครองส่วนกลาง (Central Authority) vs. ระบบเครือญาติวงศ์ตระกูล (Clan), รวมถึงเรื่องราวความรัก (Love) vs. รังเกียจชัง (Hate), หญิงสาว Marketa Lazarová ช่างบริสุทธิ์ไร้เดียงสายิ่งนัก!
Marketa Lazarová (1967) ได้รับการโหวตจากหลายๆสำนักในประเทศ Czech Republic ยกย่องให้เป็น “Best Czech Film of All-Time” และเคยติดอันดับ 154 ชาร์ท Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 (อันดับสูงกว่า Daisies (1966)) น่าเสียดายหลุดโผลไปในปี ค.ศ. 2022
เมื่อตอนผมเขียนถึง Witchhammer (1969) ในช่วง Halloween ปีก่อน ได้พบเห็นภาพยนตร์ฟากฝั่ง Eastern Bloc หลายๆเรื่องที่มีความน่าสนใจ ตระหนักว่าประเทศแถบนี้ (Poland, Hungary, Czechoslovak ฯ) เลื่องชื่อในภาพยนตร์แนว Horror เพราะประสบการณ์ถูกเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยังคงหลอกหลอน ติดตาฝังใจ แถมการมาถึงของสหภาพโซเวียต รัฐบาล(หุ่นเชิด)คอมมิวนิสต์ก็แทบไม่ได้มีอะไรปรับเปลี่ยนแปลงไป เลวร้ายลงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
แม้ว่า Marketa Lazarová (1967) จะเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ (Historical) แต่บรรยากาศของหนังบอกเลยว่าโคตรหลอกหลอน (ยิ่งกว่าแนว Horror บางเรื่องเสียอีก) นั่นเพราะยุโรปยุคกลาง (Middle Age หรือ Medieval Period) ยังเป็นดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน เต็มไปด้วยความรุนแรง เข่นฆ่าแกง ไร้ซึ่งมนุษยธรรม (ศาสนายังเผยแพร่ไปไม่ถึง) และโดยเฉพาะวิธีการนำเสนอของผกก. František Vláčil จักทำให้ผู้ชมอกสั่นขวัญแขวน รู้สึกหวาดระแวง อะไรๆล้วนบังเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
งานสร้างของหนังถือว่าบ้าระห่ำมากๆ ใช้เวลาโปรดักชั่นนาน 7 ปี! เฉพาะระยะเวลาถ่ายทำนานถึง 548 วัน ระหว่าง ค.ศ. 1964-66 ขอให้ทีมงาน/นักแสดง ปักหลักอาศัยอยู่ในป่า ยังสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำ มีความทุรกันดารห่างไกล ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก แถมในช่วงฤดูหนาวเหน็บ (เพราะหิมะตกหนัก การเดินทางขนส่งจึงเต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก) เพื่อให้เกิดความมักคุ้นชินกับวิถีชีวิตผู้คนยุคกลาง เสริมสร้างบรรยากาศ และเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
ก่อนอื่นของกล่าวถึง Vladislav Vančura (1891-1942) นักเขียนสัญชาติ Czech เกิดที่ Háj ve Slezsku, Austrian Silesia (ปัจจุบันคือ Czech Republic) สืบวงศ์ตระกูลมาจาก Vančura ผู้ครองเมือง Řehnice, บิดาเป็นผู้จัดการโรงงานผลิตน้ำตาล ฐานะค่อนข้างดี จึงมีโอกาสส่งบุตรไปร่ำเรียนหนังสือ แต่เขากลับไม่ชอบความเข้มงวดกวดขันของโรงเรียน เลยถูกขับไล่ออกหลายครั้ง ครอบครัวเลยส่งไปเป็นเด็กฝึกงานร้านขายหนังสือที่ Čermák แล้วค้นพบความสนใจด้านการวาดภาพ ถ่ายรูป โตขึ้นจำใจร่ำเรียนกฎหมาย Charles University ก่อนเปลี่ยนไปคณะแพทยศาสตร์ ระหว่างนั้นเข้าร่วมกลุ่มศิลปิน Tvrdošíjní (แปลว่า Stubborns) เลยมีโอกาสเขียนบทความ เรื่องสั้น วิจารณ์งานศิลปะ ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก Amazonský proud (1923) แปลว่า Amazonian Current
ทศวรรษ 20s-30s เป็นช่วงเวลาที่ปัญญาชนในกรุง Prague ตั้งประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ศิลปินควรสรรค์สร้างผลงานที่ไม่เชื่อมโยงการเมืองได้หรือไม่? หลายๆผลงานเขียนของ Vančura มองผิวเผินอาจดูไม่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการเมือง แต่ถ้ามองลึกลงไปย่อมสามารถพบเห็น ซุกซ่อนเร้น ทัศนคติทางการเมืองอย่างชัดเจน!
สำหรับ Markéta Lazarová (1931) ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง (คาดว่าคงได้ยินเรื่องเล่าบรรพบุรุษ หรือไม่ก็ค้นพบจากสมุดบันทึกเก่าๆของวงศ์ตระกูล) ในยุคสมัย Medieval Period เคยเกิดสงครามขนาดย่อมๆ (มีคำเรียกว่า Private War) การเผชิญหน้าระหว่างเครือญาติวงศ์ตระกูล Vančura vs. ขุนนางผู้ปกครองเมือง Mladá Boleslav
สไตล์การเขียนของ Vančura มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชื่นชอบการใช้สุภาษิตในการเปรียบเปรยสิ่งต่างๆ ทั้งยังเต็มไปด้วยคำบรรยายรายละเอียด มีความงดงาม สร้างสุนทรียะในการอ่านอย่างมากๆ แต่นั่นทำให้การแปลภาษาอื่นยุ่งยากลำบากเกินไป (เลยมักไม่มีการแปลเป็นภาษาอื่น) เมื่อวางแผงจัดจำหน่าย กลายเป็นนวนิยายขายดี (Best-Selling) และยังคว้ารางวัล Czechoslovak State Award for Literature เมื่อปี ค.ศ. 1931
In a certain sense the novel is a milestone in Vančura’s evolution. Just as scattered rays converge in a single golden strand in the lens of a magnifying glass, in Marketa Lazarová Vančura’s creative endeavors converge in a single, undivided stream.
นักเขียน/นักวิจารณ์วรรณกรรม Milan Kundera
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Vančura แสดงจุดยืน anti-Hitler เขียนหนังสือ Obrazy z dějin národa českého (1939) แปลว่า Pictures of the History of the Bohemian Nation ขายดีถล่มทลาย กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มต่อต้าน! ช่วงระหว่าง German ยึดครอง Czechoslovakia จำต้องหลบซ่อนตัว เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Party of Czechoslovakia) ก่อนถูกกวาดล้าง จับกุม ประหารยิงเป้าเมื่อปี ค.ศ. 1942 สิริอายุ 50 ปี
František Vláčil (1924-1999) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Czech เกิดที่ Český Těšín, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือ Czech Republic) โตขึ้นเข้าเรียน Academy of Arts, Architecture and Design in Prague ก่อนเปลี่ยนคณะศิลปศาสตร์ Masaryk University จบออกมาทำงานเป็นผู้ช่วยนักเขียน Brno Cartoon, แล้วย้ายมาถ่ายทำสารคดี Studio of Popular Scientific and Educational Films, ช่วงระหว่างอาสาสมัครทหาร ฝึกงานสตูดิโอ Czechoslovak Army Film Studio สนิทสนมตากล้องขาประจำ Jan Čuřík, ถ่ายทำหนังสั้น Clouds of Glass (1958)**คว้ารางวัล Special Diploma in category of Experimental and Avantgarde Films จากเทศกาลหนัง Venice International Documentary and Short Film Festival
หลังเสร็จสิ้นภารกิจรับใช้ชาติ เข้าร่วมสตูดิโอ Barrandov Studios เริ่มสร้างภาพยนตร์ขนาดยาว The White Dove (1960)**คว้ารางวัล Medal of the Biennial – Out of Competition จากเทศกาลหนังเมือง Venice, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Devil’s Trap (1960), Marketa Lazarova (1967), Valley of the Bees (1968), Shadows of a Hot Summer (1978) ฯ
Vláčil ร่วมงานกับ František Pavlíček ใช้เวลาดัดแปลงหนังสือ Marketa Lazarová (1931) ยาวนานถึงสามปี! นั่นเพราะความสำบัดสำนวนในการใช้ภาษา แม้เต็มไปด้วยสุนทรียะในการอ่าน แต่ต้องพยายามจับใจความ เนื้อเรื่องราวที่ไม่ค่อยจะมีสักเท่าไหร่ … แม้สื่อภาพยนตร์จะไม่สามารถถ่ายทอดคำบรรยายรายละเอียดเหล่านั้นออกมา แต่ผกก. Vláčil ก็พยายามเน้นสร้างบรรยากาศด้วยเทคนิค ภาษาภาพยนตร์ ให้ออกมามีความใกล้เคียงกันมากที่สุด
เกร็ด: มีซีเควนซ์ที่ Vláčil วางแผนไว้แต่ไม่มีโอกาสถ่ายทำ (เพราะงบประมาณบานปลายเกินไป) ตั้งชื่อว่า “Royal Pictures” ประกอบด้วย
- Saxon Count เดินทางมายังพระราชวัง (Royal Court) เพื่ออ้อนวอนร้องของ Wenceslaus I of Bohemia (1205-53, ครองราชย์ 1230-53) ให้ส่งกำลังทหารมาช่วยเหลือบุตรชาย Kristián ที่ถูกลักพาตัว
- พระโอรสของ King Wenceslaus I ต้องการจะโค่นล้มบังลังก์ ยึดอำนาจจากพระบิดา แต่ทำไม่สำเร็จ เลยถูกจับคุมขัง
- ช่วงท้ายของหนัง Saxon Count นำพา Alexandra มายังพระราชวังเพื่อให้ King Wenceslaus I ตัดสินโทษทัณฑ์ (เพราะเธอเป็นผู้เข่นฆ่า Kristián) แต่เนื่องจากเธอกำลังตั้งครรภ์เลยได้รับการอภัยโทษ
- ขณะเดียวกัน King Wenceslaus I ก็มิอาจตัดสินโทษแก่พระโอรสที่พยายามโค่นล้นบังลังก์ เลยยินยอมอภัยโทษให้เช่นเดียวกัน
เรื่องราวเริ่มต้นที่ Mikoláš และ Adam (ที่มีแขนข้างเดียว) ทั้งสองต่างเป็นบุตรของมหาโจร Kozlík กำลังดักปล้นกลุ่มนักเดินทาง จับกุมตัวประกัน Kristián บุตรของ Saxon Count เอาไว้ต่อรองกับ King Wenceslaus I, แต่ขณะเดียวกันนั้น Lazar ผู้นำตระกูลคู่อริของ Kozlík ทำตัวเหมือนอีแร้งกา แอบเข้ามาแก่งแย่งทรัพย์สินที่ Mikoláš และ Adam ดักปล้นกันมา ทีแรกตั้งใจจะฆ่าปิดปาก แต่พออีกฝ่ายอธิษฐานถึงพระเป็นเจ้า และกล่าวถึงบุตรสาวสวย Marketa Lazarová เลยตัดสินใจไว้ชีวิต
หลังรับทราบเหตุการณ์ดังกล่าว Kozlík แสดงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง! King Wenceslaus I ส่งสาสน์เรียกตัวไปยัง Boleslav (เพื่อตลบหลังจับคุมขัง) โชคยังดีสามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด เลยมอบหมายให้บุตรชาย Mikoláš เดินทางไปยังปราสาทของ Lazar เพื่อขอความร่วมมือเผชิญหน้ากองทัพศัตรู แต่กลับได้รับคำตอบปฏิเสธ พร้อมรุมกระทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส
Kozlík ส่งลูกน้อง 7 คนไปชำระล้างแค้น ตั้งใจจะฆ่าปิดปาก Lazar บังเอิญว่ากองทัพของ King Wenceslaus I เดินทางมาถึงพอดิบดี เลยจำต้องหลบซ่อนตัวในป่า เฝ้ารอคอยเมื่อกองหนุนกรีธาทัพจากไป Mikoláš จึงบุกเข้าไปลักพาตัว Marketa กลับมาข่มขืนยังฐานที่มั่นกลางป่า สร้างความไม่พึงพอใจแก่บิดา เลยจับทุกคนล่ามโซ่ตรวนติดกัน ไม่ให้หลบหนีไปไหน
ต่อมากองทัพของ King Wenceslaus I สามารถล้อมจับกุม Adam แล้วบังคับให้อีกฝ่ายนำทางมายังฐานที่มั่นกลางป่า ทำให้เกิดการต่อสู้ รบราฆ่าฟัน สงครามขนาดย่อมๆ ก่อนที่ Kozlík จะถูกจับกุมตัว ขณะที่ Mikoláš สามารถหลบหนีร่วมกับ Marketa จากนั้นปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระ (แต่หญิงสาวก็ตกหลุมรักเขาไปแล้ว) เพื่อว่าตนเองจะได้รวบรวมสมัครพรรคพวก บุกเข้าไปช่วยเหลือบิดาในเรือนจำที่ Boleslav
ส่วนเรื่องราวของ Kristián ระหว่างที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ตกหลุมรัก มีเพศสัมพันธ์กับ Alexandra บุตรสาวของ Kozlík ก่อนหน้านี้เคยถูกจับได้ว่าแอบสานสัมพันธ์ ‘incest’ กับ Adam (เลยถูกลงโทษตัดแขนข้างหนึ่ง) ซึ่งระหว่างการสงคราม Kristián พบเห็น Alexandra ถูกไล่ล่าจากทหารของบิดา จึงพยายามออกปกป้องกัน วิ่งติดตาม เกิดความรู้สึกขัดแย้งภายใน (เลือกไม่ได้ระหว่างบิดา vs. หญิงสาวคนรัก) หลังจากหลบหนีได้สำเร็จ Alexandra ตัดสินใจระบายความเคียดแค้น ด้วยการใช้ก้อนหินทุบศีรษะเขาจนเสียชีวิต ทั้งๆตนเองกำลังตั้งครรภ์บุตรของ Kristián อยู่แท้ๆ
Josef Kemr (1922-95) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือ Czech Republic) ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบเล่นดนตรี เคยขึ้นทำการแสดงกับพี่ชายยัง Teatru na Vinohradach, ได้รับการค้นพบโดย Přemysl Pražský ชักชวนมาให้เสียงละครวิทยุ เริ่มมีผลงานละครเวทีตั้งแต่อายุ 18 จากนั้นสลับไปมาระหว่างภาพยนตร์ ซีรีย์โทรทัศน์ ผลงานเด่นๆ อาทิ Marketa Lazarová (1967), Witchhammer (1970), The Fortress (1994) ฯ
รับบทมหาโจร Kozlík ผู้มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย เต็มไปด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด ใครทำอะไรไม่พึงพอใจก็ขึ้นเสียงด่าทอ ใช้ความรุนแรงโต้ตอบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไร้ซึ่งมนุษยธรรม พบเห็นบุตรชายถูกกระทำร้ายร่างกายก็สั่งชำระล้างแค้นตระกูล Lazar รวมถึงเตรียมความพร้อมทำสงครามกับ King Wenceslaus I ไม่หวาดกลัวเกรงความตาย แต่สุดท้ายกลับยินยอมรับความพ่ายแพ้หลังสูญเสียทุกสิ่งอย่าง
บทบาทของ Kemr อาจดูเหมือนตาแก่เสียสติ หัวหน้าครอบครัวผู้บ้าอำนาจ แสดงอารมณ์คลุ้มบ้าคลั่งออกมาบ่อยครั้ง แต่นั่นเพราะอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง มีความแร้นแค้น ทุกข์ยากลำบาก ทำให้เขาต้องแสดงความเข้มแข็งแกร่ง ไม่สามารถปกครองลูกๆหลานๆด้วยความสุภาพอ่อนน้อม เพื่อความอยู่รอดของวงศ์ตระกูล จึงต้องพร้อมเสียสละ ทำทุกสิ่งอย่าง ไม่สนมนุษยธรรมใดๆ
ต้องชมในพลังการแสดงของ Kemr ไม่ใช่แค่สามารถระเบิดอารมณ์อันทรงพลัง แต่ภาพลักษณ์ที่น่าเกรงขาม มากประสบการณ์ พานผ่านโลกมามาก แม้ร่างกายเริ่มแก่ชราภาพ หลายครั้งดูเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ก็ยังพร้อมต่อสู้เผชิญหน้า ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น
František Velecký หรือ Fero Velecký (1934-2003) นักแสดงสัญชาติ Slovak เกิดที่ Zvolen, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือ Slovakia) โตขึ้นร่ำเรียนวิศวกรโยธา ทำงานออกแบบอยู่หลายปี แต่ด้วยความชื่นชอบสื่อภาพยนตร์ จึงพยายามยื่นใบสมัครออดิชั่น จนได้รับโอกาสบทสมทบ Každý týždeň sedem dní (1964), Nylonový mesiac (1965), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Marketa Lazarová (1966), ผลงานเด่นๆ อาทิ Red Psalm (1972), Electra, My Love (1974), Želary (2003), The Brothers Grimm (2005) ฯ
รับบท Mikoláš บุตรชายคนที่สองของ Kozlík แต่มีบุคลิกภาพแตกต่างตรงกันข้ามจากบิดา เป็นคนอ่อนไหว จิตใจโลเล ไม่ชอบใช้ความรุนแรง เลี่ยงได้ก็ไม่อยากเข่นฆ่าแกงใคร แต่การไว้ชีวิต Lazar จับกุมตัวประกัน Kozlík นำพาให้เกิดเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ บานปลายจนกลายเป็นสงคราม จึงจำต้องละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ช่วยเหลือบิดาออกจากเรือนจำที่ Boleslav
ในตระกูลของ Kozlík มีเพียง Mikoláš มีความเป็นมนุษย์มากที่สุด รู้จักการยกโทษให้อภัย สติยับยั้งชั่งใจ ไม่เข่นฆ่าใครโดยไร้สาเหตุ ขณะที่การข่มขืน Marketa สังเกตไม่ยากว่าเต็มไปด้วยความขัดแย้ง โล้เล้ลังเลใจ ไม่ค่อยเต็มใจสักเท่าไหร่ แต่ทำไปเพื่อไม่ให้บิดาเข่นฆ่าล้างวงศ์ตระกูล Lazar (ใช้เธอเป็นตัวประกันเพื่อไม่ให้ Lazar โต้ตอบขัดขืน)
ผมรู้สึกว่าใบหน้าของ František Velecký ดูไม่ต่างจากจอมโจร แต่แววตามีความอ่อนโยน ซึ่งสามารถสร้างมิติให้กับตัวละคร ดูซับซ้อน ขัดย้อนแย้งในตนเอง ต้องการเป็นคนดี มีคุณธรรม แต่สภาพแวดล้อม/บุคคลรอบข้าง ล้วนไม่เอื้ออำนวยให้เขาแสดงออก สุดท้ายแล้วเลยต้องตัดสินใจเสียสละตนเอง เพื่อยุติข้อขัดแย้ง ปลดปล่อยทุกคนให้เป็นอิสระ … แต่มันก็เป็นโศกนาฎกรรมของหนัง เพราะคน(เหมือนจะ)ดีกลับไม่มีที่ยืนในสังคม
Magdaléna Vášáryová หรือ Magda Vášáryová (เกิดปี 1948) นักแสดง/นักการทูต สัญชาติ Slovak เกิดที่ Banská Štiavnica, Czechoslovakia (ปัจจุบันคือ Slovakia), สำเร็จการศึกษาจาก Comenius University in Bratislava แล้วได้ทำงานละครเวที Slovak National Theatre ซีรีย์โทรทัศน์ แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ Marketa Lazarová (1967), Birds, Orphans and Fools (1969), Rusalka (1977), Cutting It Short (1981), Eugene Onegin (1988) ฯ
รับบท Marketa Lazarová บุตรสาวคนเล็กของ Lazar มีความสวยสาว ละอ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อโลก รับไม่ได้กับความรุนแรง พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของบิดา ตั้งใจว่าจะบวชเป็นแม่ชี ละทิ้งทางโลก แต่หลังจากถูก Mikoláš ลักพาตัว ข่มขืนกระทำชำเรา ทุกสิ่งอย่างก็พลิกกลับตารปัตร ยินยอมพร้อมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เพื่อให้ได้แต่งงานครองคู่อยู่กับเขา
แม้ตัวละครจะเป็นถึงชื่อหนัง แต่บทบาทของเธอก็มีไม่ได้โดดเด่นมากนัก มองผิวเผินดูราวกับ ‘object of desire’ หญิงสาวถูกหมายปองโดยบุรุษทั้งหลาย จากเคยมีร่างกาย-จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ เอ่อล้นด้วยศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า แต่กลับโดนฉุดคร่า ข่มขืนกระทำชำเรา แสดงให้เห็นถึงความเหี้ยมโหดร้ายของสังคม ผู้คน บ้านป่าเมืองเถื่อน ไร้ศาสนา/อารยธรรม ย่อมทำลายสิ่งสวยๆงามๆ ดอกฟ้ากลายมาเป็นขยะไร้มูลค่า
Vášáryová เพิ่งอายุ 14-15 ตอนเริ่มต้นถ่ายทำ หน้าตายังเหมือนเด็กน้อย สายตาอยากรู้อยากเห็น เต็มไปด้วยความสวยใส ไร้เดียงสา เมื่อการถ่ายทำดำเนินผ่านมา 2-3 ปี ทั้งร่างกาย-จิตใจก็ค่อยๆเติบโตขึ้นตามลำดับ มันอาจไม่ได้เด่นชัดเจนมากนัก แต่ผมรับรู้สึกว่าช่วงท้ายของหนัง เธอเติบโตขึ้นเป็นสาวน้อยเต็มวัย สายตามุ่งมั่น เอ่อล้นด้วย ‘passion’ เหมือนคนกำลังตกหลุมรัก ไม่ต้องการสูญเสียเขาไป
เกร็ด: ด้วยความที่ Magdaléna Vášáryová ยังเป็นสาวแรกรุ่น เธอจึงไม่ได้พักอาศัยอยู่ร่วมกับทีมงาน/นักแสดง แยกออกมาอยู่กับติวเตอร์ส่วนตัว ซึ่งคอยสอนหนังสือเวลาว่างไม่ให้เสียการเรียน (เพราะการถ่ายทำยาวนานถึง 3 ปี!)
ถ่ายภาพโดย Bedřich Baťka (1922-94) ตากล้องสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague, Czechoslovakia (now Czech Republic) หลังโด่งดังกับ Marketa Lazarová (1966) ได้กลายเป็นครูสอนการถ่ายภาพยัง Tisch School of the Arts
หนังปักหลักถ่ายทำอยู่ภูมิภาค Jihočeský kraj หรือ South Bohemia (ปัจจุบันคือทางตอนใต้ของ Czech Republic) ยุคสมัยนั้นยังมีความทุรกันดารห่างไกล ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง แถมพื้นหลังเรื่องราวเกิดขึ้นช่วงฤดูหนาว ซึ่งเมื่อหิมะตก ไม่ใช่แค่อากาศเย็นยะเยือก แต่การจะเดินทางเข้า-ออก ขนส่งสิ่งข้าวของ มีความยุ่งยาก เสี่ยงอันตราย … นั่นคือเหตุผลที่โปรดักชั่นหนังยาวนานถึงสามปี! เพราะถ่ายทำได้แค่ช่วงฤดูหนาว หิมะขาวโพลน (ถ่ายทำจริงๆคือ 18 เดือน จากระยะเวลา 3 ปี หยุดพักช่วงหน้าร้อนและฤดูฝน) และทีมงานก็ต้องปักหลักอาศัยอยู่ยังสถานที่ถ่ายทำนั้นๆ ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกไปไหน
งานภาพหนังถือว่ามีความน่าอัศจรรย์ใจอย่างมากๆ โดดเด่นกับการสร้างบรรยากาศหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก (แม้ถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ บางครั้งก็ยังสั่นสยิวกาย) สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยภยันตราย รู้สึกไม่ปลอดภัย ดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ซึ่งสามารถสะท้อนจิตใจต่ำทรามผู้คน ยุโรปยุคกลาง (Medieval Period) หลายๆสถานที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ไร้ซึ่งอารยธรรม มนุษยธรรม ลัทธินอกรีต/กลุ่มคนนอกศาสนา (Paganism)
การเคลื่อนเลื่อนกล้องไปเรื่อยๆ (บางครั้งนำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่งของ Marketa) เหมือนพยายามจับจ้องมองหา บางสิ่งอย่างหลบซุกซ่อนเร้น ลางบอกเหตุร้ายคืบคลานเข้ามา นี่เป็นเทคนิคที่ช่วยสร้างสัมผัสร้อนรน กระวนกระวาย รู้สึกไม่ปลอดภัย จิตใจไม่สงบนิ่ง … บางครั้งอาจไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเหตุการณ์คาดไม่ถึง สร้างความตื่นตกอกตกใจ สั่นสะท้านทรวงในโดยทันที!
เกร็ด: ผมไม่เคยอ่านนวนิยาย แต่เหมือนว่าผู้แต่ง Vladislav Vančura ไม่ได้สนใจนำเสนอรายละเอียดต่างๆให้ตรงต่อประวัติศาสตร์มากนัก ผิดกับผู้กำกับ František Vláčil พยายามค้นคว้าหาข้อมูล เสื้อผ้าหน้าผม ให้ใกล้เคียงศตวรรษที่ 13 มากที่สุด!
เหยี่ยว หมาป่า ต่างคือผู้ล่าหลบซ่อนอยู่ในพงไพร จับจ้องมอง รอคอยจังหวะพุ่งทะยานตะครุบเหยื่อ เฉกเช่นเดียวกับ Adam (ชายแขนข้างเดียว)และ Mikoláš คนหนึ่งล่อหลอก อีกคนหลบซ่อน ตลอดทั้งซีนนี้นำเสนอ ‘มุมมองบุคคลที่หนึ่ง’ ของ Mikoláš ขณะกำลังซุ่มอยู่ในพุ่มไม้ พบเห็นคณะคาราวาน ตระเตรียมการบุกโจมตี เข้าปล้นสะดม ช่างมีความเหี้ยมโหดร้ายยิ่งนัก
การที่หนังเลือกถ่ายผ่านพุ่มไม้ อาจทำให้หลายคนหงุดหงิดรำคาญใจ ทำไมไม่เลือกมุมกล้องให้เห็นการกระทำชัดๆ แต่นั่นคือลีลานำเสนอของผกก. Vláčil ไม่ได้ต้องการเปิดเผยความรุนแรงอย่างประเจิดประเจ้อ การไม่ค่อยพบเห็นอะไรต่างหาก จะช่วยสร้างจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล … นำเสนอภาพเหตุการณ์วับๆแวมๆ สามารถสร้างบรรยากาศตึงเครียด ดูรุนแรงยิ่งกว่าฟันกันเลือดสาดเสียอีกนะ!


ระหว่างที่ Mikoláš จัดการกับคณะคาราวาน ดันมีฝูงแรงกา หมาป่าไฮยีน่า แอบลักขโมยสิ่งของโจร สามารถจับกุม Lazar ทีแรกตั้งใจจะเข่นฆ่าชำระแค้น แต่ระหว่างที่อีกฝ่ายกำลังอธิษฐานขอพรพระเป็นเจ้า จู่ๆแสงอาทิตย์พลันส่องสว่างจร้า บังเกิดภาพนิมิตจินตนาการอารามชี และหญิงสาว Marketa กำลังวิ่งตรงเข้าหาพร้อมมอบนกสีขาว (สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์) … Mikoláš เลยตัดสินใจไว้ชีวิต Lazar



นี่น่าจะคือพิธีกรรมของลัทธินอกรีต/กลุ่มคนนอกศาสนา (Paganism) จากปรัมปรา Slavic Folklore เริ่มต้นจาก Alexandra เดินเปลือยกายเข้าหาต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Grove) ที่เต็มไปด้วยเครื่องลางของขลัง เชือดไก่ ฆ่างู ร่วมเพศสัมพันธ์ เพื่ออุทิศให้เทพเทวดา ผีสางนางไม้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย



เริ่มต้นจาก Kozlík วิ่งหนีหมาป่าหัวซุกหัวซุน กลับมาถึงป้อมปราการได้ทันหวุดหวิด! หลังจากนั่งพักดื่มน้ำดื่มท่า จึงเริ่มครุ่นคิดถึงเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แทรกภาพย้อนอดีตที่มีแสงสว่างเจิดจรัสจร้า หิมะขาวโพลน เข้าผ่านประตูเมือง Boleslav พบเจอกับ Captain Pivo รับฟังพระราชโองการจาก King Wenceslaus I ที่ต้องการจับกุมคุมขังอีกฝ่าย เลยตัดสินใจต่อสู้ หลบหนีออกมาได้ทันท่วงที … เปรียบเปรยหมาป่าที่วิ่งไล่ Kozlík = กองทัพทหารของ King Wenceslaus I


Mikoláš เดินทางมาขอความร่วมมือจาก Lazar ให้ช่วยต่อสู้กับทหารของ King Wenceslaus I แต่แค่ถูกปฏิเสธยังไม่ว่า กลับลงไม้ลงมือ กระทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส … ทั้งซีเควนซ์นี้นำเสนอผ่านสายตา/มุมมองบุคคลที่หนึ่งของ Marketa แม้ไม่ค่อยพบเห็นอะไรเท่าไหร่ แต่ได้ยินเสียง รับรู้ความวุ่นวาย ซึ่งสามารถทำให้จินตนาการของเธอ(และผู้ชม) เตลิดเปิดเปิงไปไกล ยินยอมรับไม่ได้ต่อสิ่งที่บิดาแสดงออกมา
การเลือกนำเสนอผ่านมุมมองของ Marketa ผมมองว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ชม เหมือนกับตัวละครที่ยังไม่ประสีประสาอะไรกับหนัง แต่เริ่มสัมผัสถึงอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เหี้ยมโหดร้าย อันตรายอยู่ใกล้ตัว … ยุโรปยุคกลางคือดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน!

ผมเชื่อว่านี่น่าจะเป็นซีเควนซ์ที่หลายคนเข้าใจผิดๆ (ถ้าไม่ได้รับชมรอบสองเป็นต้นไป) เพราะเริ่มต้นพบเห็น Captain Pivo กำลังกรีธาทัพผ่านเส้นทางหิมะหนาวเหน็บ ย่อมครุ่นคิดว่ากำลังเดินทางมายังปราสาทของ Lazar แต่แท้จริงนี่คือระหว่างทางขากลับ ใครช่างสังเกตจะพบเห็นเกวียนลากศพ ชุดเกราะเปล่าๆบนหลังม้า นั่นคือของรองผู้บัญชาการ Sovička
โดยหนังได้ทำการตัดสลับภาพระหว่างการกรีธาทัพกลับ คู่ขนานเรื่องราวของรองผู้บัญชาการ Sovička เริ่มต้นเข้ามาในห้องครัว พยายามพูดเกี้ยวพาราสี Marketa ด้วยน้ำเสียงเย่อหยิ่ง ทะนงตน โอ้อวดอ้างตนเอง จากนั้นบุกเดี่ยวเข้าไปเผชิญหน้าศัตรูทั้งเจ็ดของ Kozlík น่าจะต้องการพิสูจน์ความสามารถให้กับหญิงสาว ผลลัพท์ความตายอย่างโง่เขลาเบาปัญญาอ่อน
The king demands law and order, not heroism.
Captain Pivo


ซีเควนซ์ที่สร้างความคาดไม่ถึงอย่างรุนแรงที่สุด เริ่มต้นด้วยบิดา Lazar พาบุตรสาว Marketa มาเยี่ยมเยียนอารามชี ให้คำมั่นสัญญาหลังสิ้นสุดฤดูหนาวจะอนุญาตให้เธอบวชเป็นแม่ชี ระหว่างทางกลับคือช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ ก่อนเมื่อมาถึงปราสาท พบเห็นว่าถูกยึดครองโดย Mikoláš เตรียมตัวมาชำระแค้น เรียกร้องขอสิ่งชดใช้แลกเปลี่ยน
เริ่มต้นซีเควนซ์จากสรวงสวรรค์ (อารามชี) ก่อนจบลงด้วยการเดินทางมุ่งสู่ขุมนรก (ไม่แน่ใจว่าทำการเพิ่มความเข้มสีผืนป่า/ท้องฟ้าด้านหลังหรือเปล่านะ แต่เพื่อให้ตัดกับกับพื้นหิมะขาวโพลน ขาว-ดำ) เช่นเดียวกับ Marketa ถูกลักพาขึ้นรถลาก จากแสงสว่างค่อยๆปกคลุมด้วยความมืดมิด


ปากอ้างว่านับถือพระเจ้า วิงวอนเรียกร้องขอมนุษยธรรม แต่พฤติกรรมของ Lazar มีความกลับกลอก ปอกลอก เต็มไปด้วยถ้อยคำโกหกหลอกลวง พฤติกรรมไม่ต่างจากอีแร้งกา ไฮยีน่า นั่นทำให้เขาสูญเสียบุตรสาว ถูกตอกมือสองข้างกับประตูบ้าน ลักษณะคล้ายๆการตรึงกางเขนพระเยซู ถือเป็นการลงโทษทัณฑ์ ชดใช้ความผิดเคยกระทำ

หลังจากเดินทางมาถึงฐานที่มั่นกลางป่า ผู้ชมจะได้ยินใครคนหนึ่งกำลังเล่าเรื่องเจ้าชายหมาป่า Straba ซึ่งมีความคู่ขนาน/ละม้ายคล้ายกับ Mikoláš ซึ่งหลังจากนั่งสงบสติอารมณ์ ขบครุ่นคิดอยู่สักพัก จึงตัดสินใจเข้าไปข่มขืน Marketa เลือกมาเป็นภรรยาของตนเอง
- Alexandra จงใจปลดปล่อยพันธนาการ Kristián เพื่อให้อีกฝ่ายถาโถม โอบกอด ร่วมเพศสัมพันธ์ (ในท่ายืน)
- Mikoláš ตรงเข้าหา Marketa ทิ้งตัวลงนอน ข่มขืนกระทำชำเราอีกฝ่าย (ในท่านอน)


ภาพแรกขณะที่ Marketa ถูกลักพาตัวมาถึงฐานที่มั่น ด้านหลังท้องฟ้ามืดครึ้ม ต้นไม้มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบ เต็มไปด้วยแร้งกา สถานที่แห่งนี้ช่างดูอันตราย ชั่วร้าย ไม่ปลอดภัยเลยสักนิด!
ภาพหลังคือสภาพของ Marketa ภายหลังถูกข่มขืนโดย Mikoláš ทรุดนั่งลงคุกเข่ากับพื้น ท่าทางเหมือนวิงวอนร้องขอพระเป็นเจ้าให้มาช่วยเหลือ กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง หิมะพลันตกลงมา อากาศหนาวเหน็บ จากนั้นค่อยๆ Fade-To-White หลงเหลือเพียงความเวิ้งว่างเปล่า


บาทหลวง Bernard (และเจ้าแกะน้อย) ปรากฎตัวครั้งแรกระหว่าง Lazar กำลังพา Marketa เดินทางกลับบ้าน ซึ่งพอเข้าสู่ครึ่งหลังของหนัง (Part II: The Lamp of God) ก็จะดำเนินเรื่องต่อจากจุดนั้น ก้าวออกเดินทาง โชคชะตานำพามาถึงปราสาทของ Lazar ภายหลังการโดนปล้น บุตรสาวถูกลักพาตัว (Lazar ได้รับการช่วยเหลือลงมาจากประตู แต่ก็นั่งทอดอาลัยอย่างหดหู่สิ้นหวัง)
แกะ (Sheep) ในศาสนาคริสต์ แม้คือสัตว์อ่อนแอ แต่ถือว่ามีความบริสุทธิ์ อ่อนโยน ไร้เดียงสา ถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของ Jesus Christ ที่มักถูกเข่นฆ่า หรือคือการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น/มนุษยชาติ … ตรงกันข้ามกับปัจฉิมบทที่บาทหลวงเปลี่ยนมาต้อนแพะ (Goat) สัญลักษณ์สิ่งชั่วร้าย ตัวแทนของซาตาน (Church of Satan)

ต้องเรียกว่า ‘กรรมใดใครก่อ’ ย้อนรอยอารัมบทของครึ่งแรกที่ Mikoláš และ Adam ซุ่มดักปล้นคณะคาราวาน มาคราวนี้กรรมนั้นคืนสนอง เมื่อ Adam ถูกห้อมล้อมจับโดยกองทัพของ Captain Pivo คาดว่าคงหลังกลับจากส่งคืนร่างรองผู้บัญชาการ Sovička เตรียมความพร้อมจะเผชิญหน้า ชำระแค้นกับ Kozlík
ลูกเล่นของซีเควนซ์นี้ก็ล้อกับอารัมบทเช่นกัน เริ่มต้นด้วยการดักซุ่มในพุ่มไม้ เต็มไปด้วยกิ่งก้านใบเต็มเฟรม มองไม่เห็นรายละเอียดสักเท่าไหร่ แต่ระหว่างกำลังหลบหนี วิ่งออกมายังท้องทุ่ง ไร้สถานที่กำบัง เลยถูกห้อมล้อมจับกุม … ผมไม่แน่ใจว่าหนังถ่ายทำยังสถานที่เดียวกันไหม แต่ทิศทางมุมมองดูกลับตารปัตรตรงข้าม เฉกเช่นเดียวกับสภาพอากาศ จากเคยเต็มไปด้วยหิมะปกคลุม มาตอนนี้เหมือนอากาศอบอุ่น หิมะลาย พื้นดินปกคลุมด้วยต้นหญ้า


หนู (Rats) ในศาสนาคริสต์คือสัญลักษณ์ความชั่วร้าย สกปรก น่ารังเกียจชัง แต่สำหรับลัทธินอกรีต/กลุ่มคนนอกศาสนา (Paganism) แทนการปรับตัว ครอบครัว ภาวะเจริญพันธุ์ (หรือก็คือตั้งครรภ์) อาจจะสื่อถึงเด็กในท้องของ Alexandra และ Marketa กระมังนะ

ผมแอบแปลกใจเล็กๆที่ลัทธินอกรีต/กลุ่มคนนอกศาสนา (Paganism) ไม่น่าจะมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับการ ‘incest’ แต่อาจเพราะ Kozlík เป็นจอมเผด็จการ จึงยินยอมรับไม่ได้ที่บุตรชาย Adam จะสมสู่กับน้องสาว(ที่ดูเหมือนสติไม่ค่อยสมประกอบสักเท่าไหร่) Alexandra เลยถูกสั่งให้ตัดแขนข้างหนึ่ง … ก็ไม่รู้ขาดจริงหรือทำอะไรยังไงก็ไม่รู้ แนบเนียนสุดๆ

มันช่างเป็นความย้อนแย้งสุดพิลึกพิลั่น บาทหลวง Bernard เมื่อตอนไปถึงยังปราสาทของ Lazar ที่มีความเชื่อศรัทธาศาสนาคริสต์ แต่กลับถูกทุบทำร้าย สูญเสียเจ้าแกะน้อย ไม่ได้มีเป็นมิตรสักเท่าไหร่ ตรงกันข้ามกับเมื่อตอนมาถึงฐานที่มั่นกลางป่าของ Kozlík ทั้งๆเป็นพวกลักธินอกรีต/กลุ่มคนนอกศาสนา (Paganism) กลับได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่อ รับประทานอาหารอิ่มท้อง ดื่มสุรามึนเมามาย … แต่ความจริงนั้นอาหารค่ำมื้อนี้คือเจ้าแกะน้อยตัวนั้นเอง!
นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าบุคคลมีอัธยาศัยดีงาม ไม่ได้แปลว่าจิตใจต้องเป็นคนดีเสมอไป มันอาจมีบางสิ่งอย่างชั่วร้ายซุกซ่อนเร้นไว้ … ธาตุแท้ของคนไม่ได้อยู่ที่เปลือกภายนอก!

หลายคนอาจคาดหวังฉากสงครามไว้มาก แต่หนังเพียงนำเสนอผ่านมุมมองบาทหลวง Bernard หลังจากถูกขับไล่ออกจากฐานที่มั่นของ Kozlík หลบซ่อนตัวบนต้นไม้ พบเห็นการเผชิญหน้า ต่อสู้กันบนเนินเขา เต็มไปด้วยความสับสน โกลาหล แค่พอหอมปากหอมคอ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครแพ้ใครชนะ ก่อนจะย่องหลบหนี หายตัวไปจากสนามรบ
ผมมองว่านี่เป็นวิธีการอันชาญฉลาด แบบเดียวกันที่เคยอธิบายไปตอนต้นเรื่องว่า หนังไม่ได้ต้องการนำเสนอภาพความรุนแรงสุดโต่งเกินไป เพียงวับๆแวมๆ (จริงๆมันก็เห็นเยอะอยู่นะ) แต่สามารถทำให้จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล

ผลลัพท์ของสงครามเป็นยังไงไม่รู้ละ แต่หนังเปลี่ยนมานำเสนอมุมมองของ Kristián เริ่มต้นกำลังก้าวผ่านหนองน้ำ ภาพช็อตนี้มีความน่าอัศจรรย์ใจอย่างมากๆ พบเห็นสายรุ้งบนท้องฟ้าพาดผ่าน ก่อนแทรกภาพย้อนอดีต เล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้นในสนามรบ Alexandra กำลังถูกทหารไล่ล่า เข่นฆ่า นั่นสร้างความขัดย้อนแย้งภายในจิตใจ ไม่รู้จะตัดสินใจเลือกข้างหนึ่งไหน หวนกลับหาบิดา หรือเธอคนนั้นที่กำลังตั้งครรภ์บุตรของเขา … สายรุ้งนี้แบ่งภาพออกเป็นซ้าย-ขวา สามารถแทนความรู้สึกความสองจิตสองใจของ Kristián ไม่รู้จะเลือกตัดสินใจเลือกฟากฝั่งไหน
แซว: การดำเนินเรื่องขณะนี้ ถือว่าล้อกับซีเควนซ์ตอนต้นเรื่องที่ Kozlík วิ่งหลบหนีหมาป่า (รวมถึงเอาตัวรอดจาก Captain Pivo)

Kristián ก้าวเดินไปเรื่อยๆจนถึงบ้านปรักหักหลังหนึ่ง (เป็นสถานที่ที่สะท้อนสภาพจิตใจตัวละคร ไร้ที่พึ่งพัก ไร้ที่ซุกหัวนอน) พบเจอบาทหลวง Bernard กำลังปิ้งย่างขาแกะ (มั้งนะ) ทั้งสองต่างมีสภาพเหน็ดเหนื่อยทั้งร่างกาย-จิตใจ พอต่างทิ้งตัวลงนั่ง-นอน หิมะก็พลันตกหนัก ได้ยินเสียงเห่าหอนฝูงหมาป่า แต่แปลกที่พวกมันไม่สนใจ Kristián (ก้าวเดินต่อเพื่อติดตามหา Alexandra) พยายามตีวงล้อม ต้องการบุกเข้ามา … น่าจะเพราะกลิ่นเนื้อย่างของ Bernard

Mikoláš เป็นอีกคนที่สามารถหลบหนีเอาตัวรอดจากสงคราม พบเห็นบิดา Kozlík น่าจะได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกกองทัพหลวง (Royal Army) หามตัวออกมาจากฐานที่มั่น นั่นแสดงถึงความพ่ายแพ้การต่อสู้ เขาจึงติดตามหา Marketa พบเจออาศัยอยู่กับชาวประมงหาปลาตามหนองน้ำ หยิบเจ้าตัวนี้ขึ้นมา อ้าปากหวอ สื่อถึงความพยายามของมนุษย์ในการต่อสู้ดิ้นรน แหวกว่ายเวียนวน เพื่อให้ตนเองยังมีชีวิต เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นไปตามวัฎฎะสังสาร

Mikoláš แสดงเจตจำนงค์ต้องการปลดปล่อย Marketa ให้เป็นอิสระ (เพื่อตนเองจะได้ทำภารกิจเสี่ยงตาย บุกเข้าไปช่วยเหลือบิดายัง Boleslav) แต่เธอกลับพยายามฉุดรั้ง เหนี่ยวนำ ไม่ต้องการให้เขาจากไป ค่ำคืนนี้หลังจากร่วมรักหลับนอน พบเห็นกวางฝูงใหญ่ พร้อมกับเรื่องราวที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา (แม่กวางตัวเมีย เลือกตัวผู้ที่มีความแข็งแกร่งที่สุด = Marketa ตกหลุมรัก Mikoláš)


เช้าวันถัดมา Marketa หลังถูกทอดทิ้งจาก Mikoláš เดินทางกลับมายังปราสาท Lazar ก็ยังถูกบิดาขับไล่ ไม่ต้องการพบเจอ ตัดขาดความสัมพันธ์ (ช็อตนี้ระหว่างพูดขับไล่ บิดายืนเบลอๆอยู่ด้านหลัง ตำแหน่งซ้อนทับกันพอดิบดี) เธอพยายามคุกเข่า อ้อนวอนร้องขอ แต่ถูกบาทหลวง Bernard หักห้ามปราม จึงตัดสินใจออกเดินทางไปยังอารามชี สถานที่พึ่งแห่งสุดท้าย

Alexandra เข่นฆ่าชายคนรัก Kristián เพราะอะไรกัน? อารมณ์ชั่ววูบ? อาการวิกลจริตของหญิงสาว? เคียดแค้นที่ถูกทหาร(ของบิดาของ Kristián)ไล่ล่า ทำร้ายร่างกาย? แต่ผมว่ามันอาจย้อนรอยความสัมพันธ์ของเธอกับ Adam ทำให้ฝ่ายชายถูกบิดาตัดแขนข้างหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้บิดาของ Kristián แสดงออกว่าไม่ให้การยินยอมรับตัวเธอ หวาดกลัวจะไม่ใช่แค่สูญเสียแขนข้างหนึ่ง ก็เลยใช้ก้อนหินทุบศีรษะชายคนรักให้ตกตาย … นี่ไม่ใช่ความผิดปกติ/วิกลจริตของหญิงสาว แต่คือสันชาตญาณเอาตัวรอด “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เคยได้รับการปฏิบัติมาเช่นไร ตนเองก็แสดงออกตามนั้น

แม่อธิการและ Marketa ต่างสวดอธิษฐาน วิงวอนร้องขอพระเป็นเจ้าให้ช่วยปกป้องรักษาชายคนรัก ขณะเดียวกันตัดสลับคู่ขนาน Mikoláš รวบรวมสมัครพรรคพวก บุกเข้าไปยัง Boleslav เพื่อช่วยเหลือบิดา Boleslav แต่กลับประสบความล้มเหลว … ทั้งสองต่างทิ้งตัวลงนอนบนพื้นคล้ายๆกัน คนหนึ่งใกล้สิ้นชีวิต ส่วนหญิงสาวกำลังหมดสูญศรัทธา
การนำเสนอคู่ขนานของสองเหตุการณ์นี้ เปรียบเทียบความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้า (Christianity) vs. วิถีของลัทธินอกรีต/กลุ่มคนนอกศาสนา (Paganism) บ้านป่าเมืองเถื่อน ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา


ครึ่งแรก Maketa มีความตั้งใจอยากบวชชี อุทิศตนเองให้ศาสนา หรือจะมองว่าคือการแต่งงานกับพระเจ้า (ก็ได้กระมัง), ส่วนครึ่งหลังตั้งแต่ถูก Mikoláš ลักพาตัว ข่มขืนกระทำชำเรา จิตใจเริ่มผันแปรเปลี่ยน ต้องการอุทิศตนเองให้ชายคนรัก ท้ายที่สุดยินยอมตอบตกลงแต่งงาน ก่อนที่อีกฝ่ายจะหมดสิ้นลมหายใจ
นอกจากนี้การแต่งงานยังสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูล Kozlík และ Lazar เริ่มต้นด้วยจากขัดแย้ง สู้รบสงคราม มาถึงจุดนี้ต่างประสบหายนะ สูญเสียหายย่อยยับเยิน ทั้งสองฝ่ายเลยทำได้เพียงทอดถอนหายใจ ยินยอมรับการแต่งงาน ต่อจากนี้ละเลิกเคียดแค้น ยกโทษให้อภัย จับมือปรองดองกันและกัน

ดูราวกับภาพวาด Abstract ทิวทัศน์ท้องทุ่ง(หรือเนินเขาก็ไม่รู้นะ) เต็มไปด้วยหย่อมหญ้า โครงกระดูก มองออกไปสุดลูกหูลูกตา สามารถสื่อถึง ‘ยุโรปยุคกลาง = Czechoslovakia ยุคสมัยนั้น’ มีสภาพไม่แตกต่างจากนรกบนดิน บ้านป่าเมืองเถื่อน เต็มไปอันตราย ความตาย
ด้วยความละลานตาของช็อตนี้อาจทำให้หลายคนไม่ทันสังเกตเห็น บริเวณกึ่งกลางเฟรมค่อนไปทางด้านบน เจ้าแพะดำ(ซาตาน)เข้าไปปลุกตื่น Marketa ราวกับต้องการขับไล่ ไม่ต้องการให้พักอาศัยอยู่สถานที่แห่งนี้ ต่อมาบาทหลวง Bernard พยายามเข้ามาโน้มน้าวชักชวน ร่วมออกเดินไปทิศทางเดียวกัน แต่กลับถูกเจ้าแพะดำฉุดกระชากลาก เป็นเหตุให้ต้องแยกย้ายคนละทิศละทาง (Marketa เดินทางกลับสู่สรวงสวรรค์, บาทหลวง Bernard ถูกชักนำพาไปลงนรก)

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตความมหัศจรรย์ของช็อตสุดท้ายในหนัง บาทหลวง Bernard ถูกเจ้าแพะดำลากพาตัวไปคนละทิศทางกับ Marketa จากทิวทัศน์ส่องสว่าง จู่ๆเหมือนมีเมฆเคลื่อนเข้ามาบดบังแสงอาทิตย์ ทำให้ดูมืดครื้มขึ้นมานิดหน่อย (สอดคล้องเข้ากับทิศทางมุ่งสู่ขุมนรก) … ผมขี้เกียจทำภาพเคลื่อนไหว ให้ลองเปรียบเทียบความคมเข้มของสองช็อตนี้ดูเองนะครับ
แซว: ผมแอบนึกถึง Red River (1948) ของผกก. Howard Hawks มีอยู่ช็อตหนึ่งที่บังเอิญจับภาพเงาเมฆเคลื่อนพานผ่าน แล้วนำไปคุยโวโอ้อวดกับ John Ford ที่เลื่องลือชาในการถ่ายภาพทิวทัศน์ท้องฟ้าสวยๆ “Hey, I’ve got one almost as good as you can do–you better go and see it.”


ตัดต่อโดย Miroslav Hájek, หนังดำเนินเรื่องโดยใช้การแบ่งออกเป็นตอนๆ ปรากฎข้อความอธิบายเหตุการณ์กำลังบังเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละซีเควนซ์จะมีลีลาการนำเสนอแตกต่างออกไป, สำหรับครึ่งแรก (Part I: Straba) นำเสนอเรื่องราวของ Mikoláš ความขัดแย้งกับ Lazar นำสู่การลักพาตัว Marketa
- Mikoláš และ Adam ดักปล้นกลุ่มนักเดินทาง จับกุมตัวประกัน Kristián และไว้ชีวิตศัตรูคู่อริ Lazar
- นำเสนอผ่านมุมมอง Mikoláš ซุ่มอยู่ในพงไม้ เมื่อสบโอกาสก็ออกมาโจมตี
- Mikoláš และ Adam เดินทางกลับมาถึงปราสาท พูดคุยต่อรองบิดา Kozlík ไว้ชีวิต Kristián แอบสานสัมพันธ์ Alexandra
- Kozlík ถูกเรียกตัวให้เดินทางไปยัง Boleslav แต่สามารถเอาตัวรอด หลบหนีกลับมาได้หวุดหวิด มอบหมายให้ Mikoláš ไปขอความร่วมมือกับ Lazar
- นำเสนอผ่านมุมมอง Kozlík เริ่มต้นหลบหนีฝูงหมาป่ากลับป้อมปราการได้สำเร็จ จากนั้นแทรกภาพย้อนอดีต หวนระลึกเหตุการณ์ที่เพิ่งบังเกิดขึ้น
- Marketa พบเห็นการเดินทางมาถึงของ Mikoláš ขอความร่วมมือกับบิดา Lazar ในการต่อต้านกองทัพกษัตริย์ King Wenceslaus I แต่ไม่เพียงบอกปัดปฏิเสธ กลับยังทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายปางตาย
- นำเสนอผ่านมุมมอง Marketa แม้ไม่ได้พบเห็นอะไรมาก แต่ได้ยินเสียง รับรู้ความรุนแรงบังเกิดขึ้น
- Mikoláš ลากสังขารกลับมายัง Roháček หลังจากพบโดยบิดา Kozlík สั่งลูกน้องให้จัดการชำระล้างแค้น
- รองผู้บัญชาการ Sovička พยายามเกี้ยวพาราสี Marketa แสดงความหาญกล้าบ้าบิ่น บุกเดี่ยวเข้าไปจะโจมตีกองกำลังเล็กๆของ Kozlík เป็นเหตุให้ถูกเข่นฆ่า Captain Pivo จึงต้องนำพาร่างลูกน้องหวนกลับ Boleslav
- นำเสนอคู่ขนานระหว่างรองผู้บัญชาการ Sovička พยายามเกี้ยวพาราสี Marketa ตัดสลับกับ Captain Pivo นำร่างไร้ลมหายใจของ Sovička หวนกลับยกทัพกลับสู่ Boleslav
- Lazar นำพาบุตรสาว Marketa มายังอารามชี ให้คำมั่นสัญญากับมารดาอธิการ เมื่อฤดูหนาวพานผ่านจะอนุญาตให้บวชชี แต่พอเดินทางกลับถึงถึงบ้านพบเจอ Mikoláš ทำการชำระล้างแค้น และลักพาตัวตัว Marketa จากไป
- นำเสนอผ่านมุมมอง Marketa (และ Lazar) กลับจากอารามชี พบเจอเหตุการณ์ไม่คาดฟัน
- เมื่อเดินทางมาถึงฐานที่มั่นกลางป่า Mikoláš ตัดสินใจข่มขืน Lazar สร้างความเกรี้ยวกราดให้บิดา Kozlík จับพวกเขา(รวมถึง Kristián และ Alexandra)พันธนาการโซ่ตรวน
- ได้ยินเสียงเล่าเรื่องของหญิงคนหนึ่ง (น่าจะเป็นภรรยาของ Kozlík) เกี่ยวกับเจ้าชายหมาป่า Straba คู่ขนานกับเรื่องราว/ภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
ส่วนครึ่งหลัง (Part II: The Lamp of God) เกือบทั้งหมดนำเสนอผ่านมุมมองบาทหลวงผู้โชคร้าย Bernard จับพลัดจับพลูเดินทางมาถึงปราสาทของ Lazar ถูกปล้น(แกะ) ถูกทำร้ายร่างกาย แต่พอมาถึงฐานที่มั่นของ Kozlík กลับได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี ดื่มสุรามึนเมามาย ก่อนพบเห็นการต่อสู้สงครามขนาดย่อมๆระหว่าง Kozlík vs. ทหารของ King Wenceslaus I
- บาทหลวง Bernard พร้อมเจ้าแกะน้อย เดินทางมาถึงปราสาทของ Lazar ถูกคณะคาราวานทุบศีรษะ ลักขโมยเจ้าแกะน้อย
- โซซัดโซเซมาจนพบเห็นคาราวาน(ที่ปล้นเจ้าแกะ) กรรมตามสนองโดนดักปล้นโดย Adam และพวกพ้อง ก่อนถูกล้อมจับโดยกองทัพของ Captain Pivo
- นำเสนอผ่านมุมมอง Adam ตั้งแต่หลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ แล้วถูกล้อมรอบ ต้อนจนมุม โดยจับกุมโดย Captain Pivo
- บาทหลวง Bernard เดินทางมาถึงฐานที่มั่นของ Kozlík ได้รับการต้อนรับขับสู้ ค่ำคืนนี้ดื่มสุรามึนเมามาย
- เช้าตื่นขึ้นมา Mikoláš อ้างว่ามีบางสิ่งอย่างผิดปกติ ไม่นานกองทัพของ Captain Pivo ก็เดินทางมาถึง เกิดการเผชิญหน้าต่อสู้
- นำเสนอผ่านมุมมองบาทหลวง Bernard ระหว่างหลบซ่อนตัวบนต้นไม้
- Kristián พบเห็นทหารของบิดาพยายามไล่ล่าหญิงสาวคนรัก Alexandra จึงออกติดตามเธอไปจนพบเจอบาทหลวง Bernard กำลังรับประทานอาหารเอร็ดอร่อย
- นำเสนอผ่านมุมมอง Kristián เริ่มต้นจากกำลังก้าวผ่านหนองน้ำ จากนั้นแทรกภาพย้อนอดีต เหตุการณ์บังเกิดขึ้นก่อนหน้า เมื่อหญิงคนรักถูกไล่ล่าโดยทหารของบิดา
- Mikoláš หลังเอาตัวรอดจากสงคราม ติดตามมาจนพบเจอ Marketa (และ Alexandra) แสดงเจตจำนงค์ปลดปล่อยเธอให้เป็นอิสระ แต่หญิงสาวกลับบอกปัดปฏิเสธ พยายามโน้มน้าวร่วมเพศสัมพันธ์, ระหว่างนั้น Alexandra เมื่อได้พบเจอกับ Kristián ตัดสินใจปลิดชีวิตอีกฝ่าย
- เช้าวันถัดมา Maketa ตัดสินใจกลับไปปราสาทของบิดา Lazar กลับถูกขับไล่ออกมา จึงเดินทางต่อไปยังอารามชี
- ช่วงแรกนำเสนอผ่านมุมมองของ Maketa จนกระทั่งมาถึงอารามชี เมื่อเริ่มสวดอธิษฐานขอพรพระเป็นเจ้า ตัดสลับคู่ขนานกับ Mikoláš รวบรวมสมัครพรรคพวก บุกเข้าไปยัง Boleslav เพื่อให้การช่วยเหลือบิดา
- Kristián เดินทางมายัง Boleslav พบเห็นสภาพใกล้ตายของ Mikoláš แสดงเจตจำนงค์ต้องการแต่งงานกับเขา หลังเข้าพิธีสมรสง่ายๆ ก่อนร่างสิ้นลมหายใจของชายคนรักจะถูกแบกหามออกไป
- บาทหลวง Bernard พยายามชักชวน Kristián ออกเดินทางร่วมด้วยกัน แต่โชคชะตานำพาให้พวกเขาดำเนินไปคนละทิศละทาง
แม้ทิศทางดำเนินเรื่องของหนังจะเป็นเส้นตรง (Linear Narrative) แต่เพราะมีการสลับสับเปลี่ยนมุมมองตัวละครไปมาบ่อยครั้ง เพิ่มความยุ่งยากในการทำความใจเรื่องราวทั้งหมด แต่ถ้าสามารถดูจบไปรอบหนึ่ง ครั้งที่สอง-สามก็น่าจะสามารถทำความเข้าใจรายละเอียดโดยรวมได้ง่ายขึ้น
ปล. ผมรู้สึกว่า Marketa Lazarová (1967) มีความเหมาะสมสำหรับนำไปใช้เป็นบทเรียนสอนภาพยนตร์มากๆ เพราะแต่ละตอนมีลูกล่น ลีลาการนำเสนอ มุมมองตัวละครที่แตกต่างออกไป แทบไม่ซ้ำแบบเดิม จักทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคดำเนินเรื่องที่หลากหลาย
เพลงประกอบโดย Zdeněk Liška (1922-83) สัญชาติ Czech เกิดที่ Smečno, Bohemia ทั้งปูและบิดาต่างเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ทำให้วัยเด็กมีโอกาสฝึกฝนไวโอลิน แอคคอร์เดียน แต่งเพลงแรกสมัยเรียนมัธยม จากนั้นเข้าศึกษาต่อ Prague Conservatory ทำงานเป็นวาทยากร ครูสอนดนตรี ก่อนเข้าร่วม Zlín Film Studios กลายเป็นขาประจำผู้กำกับอนิเมชั่น Jan Švankmajer, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Fabulous Baron Munchausen (1962), The Shop on Main Street (1965), Marketa Lazarová (1967), The Valley of the Bees (1968), The Cremator (1969), Fruit of Paradise (1970), Shadows of a Hot Summer (1977) ฯ
ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่า งานเพลงของหนังมีกลิ่นอายยุโรปยุคกลาง (Medieval Period) มากน้อยเพียงไหน? แต่ต้องยกย่องสรรเสริญนักแต่งเพลง Liška ทำออกมาได้โคตรๆทรงพลัง สมราคาภาพยนตร์ระดับมหากาพย์ โดยเฉพาะเสียงร้องคอรัสบีบเค้นคั้น นั่งฟัง Soundtrack ยังรู้สึกขนลุกขนพอง สั่นสะท้านทรวงใน สัมผัสถึงบรรยากาศตึงเครียด ภยัตรายรายล้อมรอบ สภาพแวดล้อมแห่งความตาย … ยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่า Song for the Unification of Europe จากภาพยนตร์ Three Colours: Blue (1993)
มีเฉพาะฉากสำคัญๆที่จะได้ยินการขับร้องประสานเสียง (Chorus) มักเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง ปล้น-ฆ่า สู้รบสงคราม ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ราวกับ(เสียงของเทพเทวดา)ต้องการย้ำเตือนสติผู้ชม ว่านั่นคือพฤติกรรมไม่ถูกต้องเหมาะสม (ถ้าคุณสามารถฟังคำร้องออก ผมว่าน่าจะเกิดสุนทรียะในการรับชมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว)
แต่ไม่ใช่ว่าบทเพลงที่ไม่การขับร้องประสานเสียงจะไม่โดดเด่นอะไรนะครับ ระหว่างที่ผมรับฟังจาก Playlist ระหว่างเขียนบทความนี้ รู้สึกหงุดหงิดๆ กระวนกระวาย จิตใจระส่ำระสาย ก่อนตระหนักได้ว่าหลายๆบทเพลงที่แทบไม่มีท่วงทำนองโดดเด่น กลับสามารถคลอประกอบพื้นหลัง สร้างบรรยากาศที่ไม่น่าอภิรมณ์ให้กับผู้ฟัง … ก็นึกว่าทำไมระหว่างรับชมหนัง ถึงเต็มไปด้วยสัมผัสอันตราย สิ่งชั่วร้ายคืบคลานเข้ามา ก็เพราะเพลงประกอบลักษณะนี้ช่วยเสริมบรรยากาศหนังนั่นเอง!
Marketa Lazarová จากเด็กสาวละอ่อนเยาว์วัย จิตใจบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาต่อโลก รับไม่ได้ต่อพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของบิดา ตั้งใจว่าจะบวชชีอุทิศตนเองให้กับศาสนา แต่หลังจากถูก Mikoláš ลักพาตัว ข่มขืนกระทำชำเรา โดยไม่รู้ตัวผันเปลี่ยนเป็นความชื่นชอบ ตกหลุมรัก ยินยอมพร้อมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง เพื่อให้ได้แต่งงานครองคู่กับเขา
ความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นกับ Marketa เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ซึ่งหนังต้องการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง …
- ตระกูล Lazar บิดาพอมีศรัทธาศาสนา พร้อมเสียสละบุตรสาวให้กับพระเป็นเจ้า รวมถึงให้การสนับสนุน King Wenceslaus I (ตัวแทนฟากฝั่ง Christianity และการปกครองส่วนกลาง Central Authority)
- แต่เมื่อถูกลักพาตัวเข้าสู่ตระกูล Kozlík ผู้มีความเหี้ยมโหด โฉดชั่วร้าย ใช้ชีวิตด้วยสันชาติญาณ ไม่นับถืออะไรใคร (ตัวแทนลัทธินอกรีต/กลุ่มคนนอกศาสนา Paganism และปกครองด้วยวิถีเครือญาติ Clan)
ยุโรปยุคกลางตอนปลาย (Middle Ages หรือ Medieval Period) ถือเป็นช่วงเวลาทุกข์ยากลำบาก ความอดอยาก โรคระบาด (กาฬโรคช่วง ค.ศ. 1347-50 คร่าชีวิตชาวยุโรปไปสามในสี่) สงครามศาสนา/ครูเสด (Crusades) ฯลฯ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในผู้ปกครอง นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างวงศ์ตระกูล การต่อสู้ระหว่างรัฐ สงครามกลางเมือง และการลุกฮือของชาวนาภายในอาณาจักร
แม้นวนิยาย Markéta Lazarová ของ Vladislav Vančura จะเขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1931 แต่สามารถพาดพิงถึงการกำลังขึ้นมาเรืองอำนาจของพลพรรค Nazi Germany ซึ่งส่งอิทธิพลโดยตรงต่อ Czechoslovakia เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีพรมแดนใกล้ชิดติดกัน ซึ่งความขัดแย้งระหว่างตระกูล Lazar vs. Kozlík ยังพยากรณ์การสู้รบที่กำลังจะเกิดขึ้นในในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (Czechoslovakia เป็นประเทศแรกๆที่ถูกยึดครองโดย Nazi Germany ถัดจาก Austria)
สำหรับผกก. František Vláčil แม้เคยมีชีวิตพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง แต่จุดประสงค์การสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อสะท้อนสถานการณ์ทางการเมือง Czechoslovakia ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Post-War) การเผชิญหน้าระหว่างประชาชน vs. รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Soviet Union … พอมองเห็นความสัมพันธ์ดังกล่าวไหมเอ่ย ตระกูล Kozlík vs. Lazar ที่ได้รับการสนับสนุนจาก King Wenceslaus I
เช่นเดียวกับนวนิยายที่โดยไม่รู้ตัวพยากรณ์การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง, ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คาดการณ์การแทรกแซงของ Soviet Union ภายหลังเหตุการณ์ Pargue Spring (5 มกราคม – 20 สิงหาคม ค.ศ. 1968) สหภาพโซเวียตได้ส่งกองกำลังทหารกว่า 250,000+ นาย เข้ามาควบคุมสงบในประเทศพันธสัญญา Warsaw Pact (ประกอบด้วย Poland, Bulgaria, Hungary และ Czechoslovakia) ส่งผลให้การต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์สิ้นสุด กลุ่มผู้ต่อต้านถูกกวาดล้างด้วยความรุนแรง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”
สิ่งที่ทั้งนักเขียน Vančura และผกก. Vláčil เห็นพ้องต้องกัน (แม้ไม่เคยพบเจอพูดคุยกัน) เรื่องราวของ Marketa Lazarová สามารถสะท้อนสภาพ Czechoslovakia ยุคสมัยนั้นๆ (ก่อน-หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ยังคงเป็นประเทศบ้านป่าเมืองเถื่อน ดินแดนไร้อารยธรรม ชนชั้นผู้นำมีความคอรัปชั่น ใช้ความรุนแรงปกครองอาณาประชาราษฏร์ เรียกได้ว่าประวัติศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ยุคกลางโน่นเลย!
ภาพยนตร์ Marketa Lazarová (1967) ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของผกก. Vláčil เพราะใช้เวลาชีวิตหมดไปถึง 7 ปี! แต่เขาถือว่านี่คือผลงานชำระล้างบาป (Purgatory) ทำให้จิตวิญญาณบริสุทธิ์ผุดผ่อง … ทั้งๆที่เรื่องราวมีทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม!
For the terrible many months, but what should I say, years, I feel that the film about Marketa Lazarová has become a kind of unique job for me. I feel relieved that work on him is over. Before, you see, before Marketa, I divide my life into “before” and “after”, I made films with joy, Marketa was a purgatory for me. You struggle with things that go hard, they don’t give up. I had before me the beloved Vančura, a perfect literary form. A prose poem, yes it’s a prose poem, I can pretty much memorize it, and try learning a novel! So a poem in prose and, in my opinion, the best humorous novel, with all the tragedy in the plot. A typically Czech matter, with exactly the degree of ridiculousness and absurdity that I feel in every Czech tragedy.
František Vláčil
จากทุนสร้างที่ตระเตรียมไว้ 7 ล้าน Czech Koruna (CZK) เบิกบานปลายไปถึง 13 ล้าน! กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์แพงสุดตลอดกาล(ขณะนั้น)ของ Czechoslovak จนโปรดิวเซอร์ต้องร้องขอให้ผกก. Vláčil สรรค์สร้างผลงานเรื่องถัดไปด้วยการรีไซเคิลทุกสิ่งอย่างจาก Marketa Lazarová (1967) กลายมาเป็น The Valley of the Bees (1968)
หนังเข้าฉายช่วงปลายปี ค.ศ. 1967 เฉพาะในประเทศ Czechoslovak มีจำนวนผู้ชมสูงถึง 1.3 ล้านคน! ก่อนถูกแบนห้ามฉายภายหลังเหตุการณ์ Pargue Spring, จากนั้นก็ตระเวรไปตามเทศกาลหนังต่างๆ San Francisco Film Festival, Chicago International Film Festival, รวมถึง Cannes: Directors’ Fortnight ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม
This is one of the most artistic and convincing medieval epics ever made, plunging us into the past with a relentless assault upon the visual senses with both dazzling and horrifying effects.
แต่การเข้าฉายสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1974 กลับถูกโปรดิวเซอร์นำไปปู้ยี้ปู้ยำ ตัดต่อให้จนเหลือความยาวเพียง 100 นาที แน่นอนว่าถูกนักวิจารณ์สับเละ เลยถูกเก็บเข้ากรุ ไม่เคยถูกพูดถึงอีกหลายทศวรรษ
ภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย (Czechoslovakia แตกออกเป็น Czech Republic และ Slovakia) หนังถึงได้รับโอกาสหวนกลับมาฉายใหม่อีกครั้ง ซึ่งครานี้ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม ผู้ชม/นักวิจารณ์หลายสำนักยกให้เป็นอันดับหนึ่ง “Best Czech Film of All-Time”
นั่นทำให้กระทรวงวัฒนธรรม (Czech Ministry of Culture) และ Karlovy Vary International Film Festival ร่วมงานกับ Universal Production Partners และ Soundsquare Studios ทำการฟื้นฟูบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K ใช้งบประมาณสูงถึง 2 ล้าน (CZE) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2011 จัดจำหน่าย DVD/Bluray โดย Criterion Collection
เรื่องราวของ Marketa Lazarová (1967) อาจไม่ได้มีความซับซ้อน แต่วิธีการนำเสนอของผกก. Vláčil ทำให้หนังดูยากพอสมควร อีกทั้งบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ป่าเถื่อน เหี้ยมโหดร้าย จึงไม่ค่อยเหมาะสำหรับผู้ชมทั่วๆไป แต่ถ้าคุณสามารถสังเกตรายละเอียด วิธีการนำเสนอ จะค้นพบความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร จดจำฝังใจไม่รู้ลืมเลือน สมควรค่าแก่การยกย่องมาสเตอร์พีซ
บรรยากาศตึงๆของหนังชวนให้ผมนึกถึง The Witch (2015) รวมถึงหลายๆผลงานของผกก. Robert Eggers พี่แกน่าจะชื่นชอบกลิ่นอายดิบเถื่อนของยุโรปยุคกลางอยู่ไม่น้อยเลยนะ
มีภาพยนตร์อีกเรื่องที่ผมครุ่นคิดถึงก็คือ Sátántangó (1994) ของผู้กำกับ Béla Tarr แม้เรื่องราวอยู่ในยุคปัจจุบัน แต่บรรยากาศอึมครึม เปียกปอน เต็มไปด้วยความรุนแรง ป่าเถื่อน เหี้ยมโหดร้าย รวมถึงแต่ละองก์มีการนำเสนอด้วยมุมมอง/วิธีเล่าเรื่องแตกต่างออกไป อาจจะได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจาก Marketa Lazarová (1967) ก็เป็นได้!
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศยุคสมัย Medieval Period ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ป่าเถื่อน เหี้ยมโหดร้าย
Leave a Reply