Marty (1955) : Delbert Mann ♥♥♥♥♡
Marty หนุ่มร่างใหญ่ อายุ 34 ปี อาชีพคนขายเนื้อ นิสัยดี อาศัยอยู่กับแม่ สถานะโสด จะทำให้คุณตกหลุมรักหลงใหล เป็นกำลังใจให้เขามีความกล้าจีบหญิงสาวคนหนึ่งติด, หนังรางวัล Palme d’Or ควบ Oscar: Best Picture “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ปีนี้ผมอายุ 30 ปี ว่าไปก็ใกล้เคียงกับ Marty (ไม่ได้เป็นพ่อค้าขายเนื้อ แต่ชอบกิน) นิสัยดี สถานะโสด นานๆทีออกไปเที่ยวเหล่สาว ไม่ใช่ผมไม่มองผู้หญิงสวยนะ แต่แทบทั้งนั้นจะถูกมองข้ามผ่านหัวโดยไม่ใยดี รู้สึกเป็นแบบนี้มาสักพักแล้ว ก็เริ่มทำใจ, หลังๆมาเริ่มมองหาเก็บตก ใครก็ได้ ต้องการผู้หญิงแบบ Clara ไม่ได้ต้องสวยมาก เป็นหมาที่ถูกทิ้งมาก็ได้ แค่เธอไม่มองคนที่หน้าตา อยู่ด้วยแล้วมีความสุขใจ ทำให้ฉันวันนี้มีความอิ่มเอิบ พรุ่งนี้และวันถัดๆไป ก็น่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขยิ่งๆขึ้นอีก
“Well, all I know is I had a good time last night. I’m gonna have a good time tonight. If we have enough good times together, I’m gonna get down on my knees. I’m gonna beg that girl to marry me.”
นักเขียนบท Paddy Chayefsky ได้แรงบันดาลใจเรื่องราวนี้ จากครั้งหนึ่งที่ไปท่องรัตติกาล ผ่านพบ Friday night Friendship Club Meeting ณ ห้องบอลลูมโรงแรม Abbey Hotel เมือง New York City สังเกตเห็นป้ายทางเข้าเขียนว่า
“Girls, Dance With the Man Who Asks You. Remember, Men Have Feelings, Too,”
นี่ทำให้ Chayefsky เกิดแนวคิด หญิงสาวหน้าตาบ้านๆ พบเจอกับชายหนุ่มหน้าตาธรรมดาๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมเต้นรำเหมือนกัน, โดยเขาเรียกเรื่องราวนี้ว่า “the most ordinary love story in the world.”
เริ่มต้นพัฒนาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ โดยแทรกลงไปเป็นตอนหนึ่งในซีรีย์ The Philco Television Playhouse (1948 – 1955) ที่ Chayefsky เป็นหนึ่งในขาประจำเขียนบท ตั้งชื่อตอนว่า Marty ความยาว 51 นาทีกำกับโดย Delbert Mann ถือเป็นตอนหนึ่งที่ได้เสียงตอบรับดีมากๆ
ทั้ง Chayefsky และ Mann ต่างรู้สึกว่าบทละครเรื่องนี้มีความสุดพิเศษ สามารถนำมาขยายเรื่องราว สร้างเป็นฉบับภาพยนตร์ได้ ติดต่อกับ Burt Lancaster และ Harold Hecht ที่ตอนนั้นร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Hecht-Lancaster Production ได้เงินทุนมาก้อนหนึ่ง และมีผู้จัดจำหน่าย United Artist
Delbert Martin Mann Jr. (1920 – 2007) ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์สัญชาติอเมริกัน, เกิดที่ Lawrence, Kansas มีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนมัธยมได้เป็นประธานชมรมการแสดง พบกับ Fred Coe กลายเป็นเพื่อนสนิท/เพื่อนร่วมงาน, ตอนที่ Coe สร้างซีรีย์ The Philco Television Playhouse ได้ชักชวน Mann ให้มาเป็นผู้ช่วย ต่อมากลายเป็นผู้กำกับหลายตอนหลายซีซันทีเดียว
ในยุคทอง Golden Age of Television (ช่วงปี 1947 – 1960) กับความสำเร็จในวงการโทรทัศน์ ก็เพียงพอทำให้ Mann ไม่ได้มีความสนใจจำเป็นต้องมากำกับภาพยนตร์ จนกระทั่งได้รับการชักชวนจาก Chayefsky หลังจากสร้างตอน Marty ซึ่งเขาก็เห็นด้วย จึงตัดสินใจกำกับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ซึ่งวิธีการ direction ที่ใช้สร้าง ก็ยังคงยึดหลักวิธีการเดิม แบบตอนที่สร้างละครโทรทัศน์ นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีคนนำเอาเทคนิคการถ่ายทำแบบละครโทรทัศน์มาปรับใช้สร้างภาพยนตร์
เกร็ด: Marty คือภาพยนตร์ที่ดัดแปลงสร้างจากละครโทรทัศน์เรื่องแรก ที่คว้ารางวัลใหญ่ Oscar รวมถึง Best Picture
สำหรับนักแสดง ตอนแรกผู้สร้างตั้งใจจะยกชุดจากฉบับละครโทรทัศน์มาเลย แต่เพราะ Hecht-Lancaster Production ต้องการเซ็นสัญญาผูกพันธ์กับสองนักแสดงนำ Rod Steiger และ Nancy Marchand ให้ต้องเล่นหนังเรื่องอื่นด้วย ทั้งสองจึงบอกปัดปฏิเสธไป
เพราะไม่รู้จะหาใครดี Mann จึงไปปรึกษากับเพื่อนผู้กำกับคนสนิท Robert Aldrich ได้แนะนำ Ernest Borgnine ที่เคยร่วมงานกันตอน Vera Cruz (1954) แต่ก็มีข้อกังขาเล็กๆ เพราะเขายังไม่เคยเห็น Borgnine เล่นบทดราม่าสักเรื่อง
Ernest Borgnine (1917 – 2012) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Hamden, Connecticut พ่อแม่เป็นผู้อพยพจากอิตาลี ตอนเด็กไม่มีความสนใจการแสดงแม้แต่น้อย สมัครเป็นทหารเรือ ได้ประจำการเรือดำน้ำ USS Lamberton ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประจำ USS Sylph (PY-12) ปลดประจำการด้วยยศ Gunner’s Mate 1st Class
กลับจากสงคราม ชีวิตของ Borgnine เกิดความเคว้งโดยทันที กลับไปอาศัยอยู่บ้านของพ่อแม่ที่ Connecticut ไม่มีการงานทำ
After World War II, I went home and said that I was through with the Navy and so now, what do we do? So I went home to mother, and after a few weeks of patting me on the back and, ‘You did good,’ and everything else, one day she said, ‘Well?’ like mothers do. Which meant,'”All right, you gonna get a job or what?’
– Ernest Borgnine ให้สัมภาษณ์กับ British Film Institute วันที่ 10 ตุลาคม 2007
Borgnine ทำงานในโรงงานใกล้บ้านแบบไม่ค่อยเต็มใจนัก เป็นแม่ของเขาที่ให้กำลังใจ แนะนำจากบุคลิกภาพลักษณ์ ท้าให้ไปสมัครเป็นนักแสดง
She said, ‘You always like getting in front of people and making a fool of yourself, why don’t you give it a try?’ I was sitting at the kitchen table and I saw this light. No kidding. It sounds crazy.
ก็เลยไปสมัครคัดเลือกนักแสดง เดินทางไป Virginia, Tennessee, New York ได้มีโอกาสแสดงใน Broadway จับพลัดพลูเป็นตัวร้ายในละครโทรทัศน์เรื่อง Captain Video and His Video Rangers (1949 – 1955) เป็นตัวประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก The Whistle at Eaton Falls (1951) ตามมาด้วย From Here to Eternity (1953), Johnny Guitar (1954), Bad Day at Black Rock (1955) ฯ เริ่มมีชื่อเสียงคุ้นหน้าคุ้นตา
Marty หนุ่มร่างใหญ่ นิสัยดี (good-hearted) แต่ไม่เป็นที่นิยมของสาวๆ (คือสามารถมองได้ว่า ผู้หญิงสมัยก่อนไม่ชอบผู้ชายร่างใหญ่) ด้วยอายุที่มากขึ้น พี่น้องต่างแยกย้ายแต่งงานออกจากบ้านไปหมด อาศัยอยู่กับแม่ในบ้านหลังเก่า ที่พยายามคะยั้นคะยอปอปั้นให้หาคู่ขับไล่ออกจากบ้าน พูดประมาณว่า
When you gonna get married, Marty?
You should be ashamed of yourself.
การแสดงของ Borgnine ถือว่าออกมาจากใจของเขาจริงๆ เห็นว่าตอนได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ เกิดความซาบซึ้งทั้งน้ำตา คงเพราะเรื่องราวส่วนหนึ่งมีความคล้ายคลึงกับชีวิตจริง เคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้มาจึงสามารถถ่ายทอดการแสดงออกมาได้ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบ
Betsy Blair (1923 – 2009) นักแสดงภาพยนตร์ ละครเวทีสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Cliffside Park, New Jersey มีสนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก เป็นนักร้อง นักเต้น จัดรายการวิทยุ โมเดลลิ่ง ต่อมาได้เป็นนักแสดงละครเวที ทำให้ได้พบเจอแต่งงานกับ Gene Kelly มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก A Double Life (1947), Another Part of the Forest (1948) ฯ โด่งดังมีชื่อเสียงได้เพราะสามีเป็นผู้ผลักดันสนับสนุน
Clara หญิงสาวหน้าตาบ้านๆ อายุ 29 ปี อาชีพครูสอนหนังสือ เป็นคนนุ่มนวลอ่อนหวาน เป็นมิตรเข้ากับคนอื่นง่าย, ผู้ชายส่วนใหญ่จะมองข้ามเธอ เพราะรูปไม่สวยทำให้ขาดความน่าสนใจ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เศร้าร่ำไป
เห็นว่า Blair มีความสนใจบท Clara เป็นอย่างมาก (สงสัยเพราะเรื่องราวมีความใกล้เคียงกับชีวิตเธอเช่นกัน) ขอให้สามี Kelly ใช้เส้นสายล็อบบี้ให้เธอ ด้วยการขู่ว่าจะไม่เล่นหนังเรื่องอื่นของ UA และ HL Production อีก … ก็ไม่รู้ทำไมถึงล็อบบี้สำเร็จนะครับ
ผมเห็นด้วยที่ว่า Blair ไม่ใช่ผู้หญิงที่สวย แต่มีเสน่ห์ที่ดึงดูดน่าหลงใหล ก็เหมือนดั่งตัวละครนี้ที่มีความนุ่มนวลอ่อนหวาน รอยยิ้มของเธอน่ารักแบบบ้านๆจริงจัง ชายหนุ่มนิสัยดีเห็นเธอคงต้องการทะนุถนอมเอ็นดู ก็คงแบบเดียวกับที่ Gene Kelly ตกหลุมรัก แต่ทั้งคู่หย่าขาดกันเมื่อปี 1957
สำหรับนักแสดงคนอื่น ส่วนใหญ่ล้วนเคยมีบทบาทสมทบในฉบับละครโทรทัศน์มาแล้ว
– Esther Minciotti รับบท Ms. Piletti, แม่ของ Marty ที่ตอนแรกต้องการให้ลูกชายแต่งงานออกจากบ้าน แต่ภายหลังเพราะหลงเชื่อคำปากของ Catherine เกิดความหวั่นวิตกว่าตัวเองจะถูกทิ้ง เลยแสดงความไม่ยินยอมรับ
– Augusta Ciolli รับบท Aunt Catherine เป็นป้าที่มีความ paranoid หวาดระแวงสูงมาก แถมปากดีชอบเรียกร้องความสนใจ สาเหตุก็เพราะเธอกลัวที่จะถูกทิ้ง (สุดท้ายก็ถูกทิ้งเพราะปากของตนเอง)
– Joe Mantell รับบท Angie เพื่อนสนิทของ Marty ที่ก็อายุ 33 ปี แต่ยังเป็นโสด มีทัศนคติเพ้อฝัน คือยังต้องการหญิงสาวดั่งใจตนเอง ไม่กล้าที่จะคิดตัดสินใจลงหลักปักฐาน (คือโอกาสมีแต่ไม่คิดที่จะเลือก)
ถ่ายภาพโดย Joseph LaShelle ตากล้องหนังนัวร์ยอดฝีมือ มีผลงานดังอย่าง Laura (1944) [ได้ Oscar: Best Cinematography], Fallen Angel (1945), Road House (1948) ฯ ถึงหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่ noir แต่ก็มีกลิ่นอายผสมอยู่อย่างเจือจาง เพราะกว่าครึ่งถ่ายทำตอนกลางคืน ทั้งภายในร้านอาหารและตามท้องถนน ซึ่งต้องใช้การจัดแสงไฟให้สว่างพอเหมาะ เห็นใบหน้าของตัวละครได้ชัดเจน
การกำกับนักแสดง สังเกตว่ามีการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหว ใบหน้าของตัวละคร จัดวางทุกตำแหน่งล้วนมีนัยยะสำคัญ อาทิ ฉากที่ Marty พา Clara มาที่บ้านของเขา จะมี 2 ห้องติดกัน 1) ห้องมีเปิดไฟสว่าง 2) ห้องมืด ไม่ได้เปิดไฟ
ห้องสว่าง (หันหน้าหาแสง) ช็อตนี้ Marty จ้องมองร้องขอ Clara เพื่อ…
แต่เมื่อไม่สำเร็จ Marty เดินมาอยู่ห้องมืด (หันหลังให้แสง) กลับกันช็อตนี้ Clara จ้องมองเพื่อร้องขอ …
เทคนิคการค่อยๆเคลื่อนกล้องเข้าหาตัวละคร (คล้ายๆ Zoom In แต่ใช้กล้องเคลื่อนไหวแทนการปรับระยะ) เหมือนเป็นการค่อยๆดึงดูดเรียกร้องความสนใจของผู้ชมให้เข้าไปหา และเมื่อกำลังจะจบฉาก กล้องก็จะเคลื่อนออก (คล้ายๆ Zoom Out) เหมือนเป็นการคลาย ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกออกไป, ในฉากตอนที่ Marty กับ Clara เต้นรำกันครั้งแรก กล้องจะค่อยๆแทรกตัวเข้าไปท่ามกลางฝูงชน จับจ้องขณะพวกเขากำลังหมุนเต้นเคลื่อนไหวไปมาอย่างแออัด (ถ่ายแบบ long-take) เวลาที่ Marty พูดคุย จะเต้นหันหน้าเข้าหากล้อง และเวลา Clara โต้ตอบหรือแสดงความรู้สึก ก็จะเป็นจังหวะหันเข้าหากล้องพอดีเช่นกัน, พอหมดเรื่องสนทนาปุ๊ป กล้องจะค่อยๆแทรกตัวเคลื่อนออกมา
ตัดต่อโดย Alan Crosland Jr. ด้วยความยาวเพียง 90 นาทีเปะ นี่เป็นหนังรางวัล Oscar: Best Picture ขนาดสั้นที่สุด
มุมมองของหนังเล่าผ่านตัวละคร Marty ที่ได้พบปะพูดคุย เกิดเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆในสองวันสุดสัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์ เริ่มต้นคงไม่ต่างจากสัปดาห์อื่น เรื่อยเปื่อยไร้เป้าหมาย แต่การได้พบเจอ Clara ทำให้ชีวิตของชายหนุ่มเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
หนังใช้การ Cross-Cutting เยอะพอสมควร โดยเฉพาะ Sequence ค่ำคืนวันเสาร์ หลังจาก Marty ได้พบเจอ Clara เหมือนอะไรๆเคลื่อนผ่านทั้งสองไปเร็วเหลือเกิน มันค่อยๆเฟดเข้า เฟดออก เปลี่ยนสถานที่ เรื่องพูดคุย แปบๆเวลาหมดแล้ว ต่ออีกหน่อยได้หรือเปล่า
เพลงประกอบโดย Roy Webb นักแต่งเพลงผู้อาภัพ Oscar เข้าชิง 7 ครั้งไม่เคยได้สักรางวัล ผลงานดังๆอาทิ Bringing Up Baby (1938), My Favorite Wife (1940), I Married a Witch (1942), Notorious (1946), Out of the Past (1947) ฯ
บทเพลง Marty Theme มีสัมผัสของ Ballroom Dance จังหวะ Waltz สามารถขยับเท้าเต้นตามได้ แต่แปลกที่ใน Stardust Ballroom ดนตรีกลับเป็นแนว Jazz ไปซะงั้น, Ending Credit ท้ายเรื่อง แต่งทำนองโดย Harry Warren คำร้องโดย Paddy Chayefsky
ทุกตัวละครในหนังเรื่องนี้จะมีความหวาดกลัวอะไรบางอย่าง
– Marty หวาดกลัวที่จะเข้าไปจีบหญิงสาว และมีความลังเลไม่กล้าตัดสินใจซื้อกิจการร้านขายหมู
– Clara หวาดกลัวที่จะถูกทิ้ง/อยู่ตัวคนเดียว ไม่กล้าออกจากบ้านเพราะเป็นห่วงพ่อแม่จะไม่มีคนดูแล
– Ms. Piletti แม่ของ Marty ทีแรกก็ไม่ได้หวาดกลัวอะไรหรอก แต่พอถูก Catherineเป่าหู เธอเลยกลัวที่จะถูก Marty ทิ้ง
– Catherine เธอกลัวที่จะถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว จึงกลายเป็นคนมีความหวาดระแวงสูงมาก
– Angie เพื่อนสนิทของ Marty เต็มไปด้วยความหวาดหวั่นวิตก ต้องการให้เพื่อนหนุนหลัง เที่ยวคนเดียวไม่ได้
ความหวาดกลัวหวั่นวิตก เป็นดั่งมารผจญที่หลบซ่อนอยู่ในจิตใจมนุษย์ คอยขัดขวางให้เราขาดความกล้าที่จะคิดตัดสินใจ ‘เริ่มต้นทำบางสิ่งบางอย่าง’ นี่จะถือว่าคือใจความของหนังได้เลยนะครับ
เชื่อว่าหลายคนคงขัดข้องใจ หนังมันสั้นไปหรือเปล่า? เพราะเรื่องราวมีแค่ Marty จีบ Clara คืนเดียวเอง แล้ววันถัดมาพอเขาตัดสินใจโทรไปนัดเธอ หนังก็จบลงแล้ว! … หนังเรื่องนี้ถือว่ามีเรื่องราวจบบริบูรณ์ในตัวเรียบร้อยแล้วนะครับ เพราะใจความของหนังที่ผมบอกไปคือ ‘การเริ่มต้น’ มันเลยไม่จำเป็นต้องลากยาวไปจน ได้เป็นแฟน แต่งงาน ออกจากบ้าน มีลูก ฯลฯ แค่การได้เอาชนะใจตนเอง เริ่มต้นทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดทำมาก่อน แค่นี้ก็ตอบโจทย์ได้ทุกอย่างแล้ว
วินาทีที่ Marty ครุ่นคิดได้ เขารับรู้ว่า “ความสุขของตนเอง เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรับฟังจากคำพูดคนอื่น” แม่ไม่ชอบหน้า เพื่อนไม่ชอบใจ เธอหน้าเหมือนหมา หันกลับมาดูที่ตัวเอง ฉันมันคนอ้วนน่ารังเกียจ ก็เข้ากันดีไม่ใช่เหรอ! เขา’เริ่มต้น’ที่จะคิดทำอะไรด้วยตนเองสำเร็จ น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตเลย
เรื่องราวหลังจากนี้ Marty จะสามารถจีบ Clara ติดหรือไม่ ได้แต่งงานมีลูกด้วยกันหรือเปล่า นี่ใครที่ไหนก็ตอบไม่ได้ แต่มีสำนวนหนึ่งที่หลายคนคงเคยได้ยิน “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ในเมื่อการพบกันครั้งแรกเกิดความสุขใจขนาดนี้ มีหรือจะไม่สามารถมองได้ว่า พวกเขาต้องมีความสุขด้วยกันได้แน่ (แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นนะครับ ผมเคยที่เริ่มต้นดีก็ว่าน่าจะมีชัยแล้ว แต่พอคบกันไปเรื่อยๆ รู้จักนิสัยกันแล้วกัน ยอมรับไม่ได้ก็มีเยอะแยะถมไป)
กลุ่มเพื่อนของ Marty เต็มไปด้วยความเสเพลเรื่อยเปื่อย มีชีวิตไปวันๆแบบไม่สนอนาคต, เหมือนว่าหนังพยายามแนะนำบอกกล่าว ยัดเยียดให้ผู้ชมรู้สึกว่า ชีวิตจำเป็นต้องมีเป้าหมาย การแต่งงานนั้นสำคัญเพราะจะทำให้มีหลักปักฐาน รู้จักรับผิดชอบ พัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดีขึ้น … ผมคิดว่านี่ไม่ใช่สิ่งถูกต้องจำเป็นเสมอไปนะครับ กับคนที่สามารถเข้าใจตนเอง ค้นพบความสนใจอื่น ก็ยังสามารถมีชีวิตเป็นสุขโดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ครองแต่งงาน แต่นั่นเป็นแค่คนส่วนน้อยมากๆที่จะคิดได้ ส่วนใหญ่แทบทั้งนั้นเป็นแบบกลุ่มเพื่อนของ Marty
ผมเคยคิดนะ ถ้าชีวิตนี้หาผู้หญิงที่อย่างน้อยมองเห็นเข้าใจตัวตนของเราไม่ได้ ก็คงไม่ขอแต่งงาน อยู่ตัวคนเดียวนี่แหละชีวิตก็เป็นสุขได้, ผมไม่เกิดความละอายนะครับ ถ้าคนรอบข้างแต่งงานมีครอบครัวกันหมดแล้ว คนที่รู้สึกละอายใจ นั่นเพราะคุณนำคำพูดของผู้อื่นมาคิดมากใส่ตนเองจนเป็นทุกข์ ต้องการให้พวกเขาเลิกบ่นยอมรับ จึงยินยอมทำตามแม้ขัดต่อใจของตนเอง ไม่ใช่หนังเรื่องนี้เสนอแนะเอาไว้แล้วหรอกหรือ “ความสุขของตนเอง เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรับฟังจากคำพูดคนอื่น” ถ้าความสุขนั้นมันคือการได้อยู่คนเดียว ไม่แต่งงาน ยังจะไปฟังเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่ทำซากอะไร
หนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ในปีนั้นเป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนชื่อรางวัลจาก Grand Prix เป็น Palme d’Or (Golden Palm) ซึ่ง Marty จะถือว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่คว้า Palme d’Or จริงๆเลยก็ได้
ด้วยทุนสร้างเพียง $350,000 หนังทำเงินในอเมริกา $2 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกประมาณ $3.5 ล้านเหรียญ, ในช่วงเทศกาลล่ารางวัล เห็นว่าหนังเรื่องนี้ออกแคมเปญทุ่มโฆษณาถึง $400,000 เหรียญ (มากกว่าทุนสร้างอีก) เพื่อให้มีโอกาสลุ้น Oscar ผลลัพท์คือ เข้าชิง 8 สาขา ได้มา 4 รางวัล
– Best Picture ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor (Ernest Borgnine) ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Joe Mantell)
– Best Supporting Actress (Betsy Blair)
– Best Writing, Adapted Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White
เกร็ด: มีหนังเพียง 2 เรื่องจนถึงปัจจุบัน (2016) ที่คว้า Palme d’Or และ Oscar: Best Picture คือ The Lost Weekend (1945) และ Marty (1955) สร้างห่างกัน 10 ปีพอดี
ส่วนตัวหลงใหลหลงรักหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก คงเพราะเรื่องราวหลายๆอย่างสะท้อนตรงกับชีวิตตนเอง (เลยมีความชื่นชอบเป็นพิเศษ) การแสดงของ Ernest Borgnine และ Betsy Blair น่าประทับใจอย่างยิ่ง และโมเมนต์ตอนจบเป็นอะไรที่ ตบโต๊ะฉาด! ‘ต้องแบบนี้สิ’, แต่ที่ไม่กลายเป็นหนังโปรดเพราะผมไม่ชอบตัวละครประเภทหูเบากลับกลอก ที่พูดถึงไม่ใช่ Marty หรือ Clara นะครับ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่เหมือนเป็นหนังให้กำลังใจผู้ชายตัวใหญ่ใจโต แต่ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ กับผู้หญิงที่หน้าตาไปวัดไปวาไม่ค่อยได้ก็คงได้กำลังใจเช่นกัน คือเป็นหนังรักที่สร้างขึ้นเพื่อคนสามัญธรรมดา ไม่ได้สวยหล่อรวยเก่ง ทำไมจะไม่มีสิทธิ์พบเจอคนที่เป็นคู่แท้ของตน
ไม่แค่กับเรื่องความรักเท่านั้น สำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นคิดทำสิ่งอะไรใหม่ๆแต่ยังไม่แน่ใจรั้งรีรอ อาทิ ลงทุนซื้อกิจการส่วนตัว, ออกจากบ้านไปทำงาน/เรียนต่อ ฯ ก้าวแรกเริ่มต้นคือสิ่งยากที่สุด เพราะมันมีความหวาดหวั่นวิตกจริตมากมายคอยกีดกัน เหนี่ยวดึงรั้งไม่ยอมให้เราเดินกล้าทำอะไรง่ายๆ แถมบางทีมีเสียงหมูหมากาไก่ คนรอบข้างอาจกดดันกีดกัน, ถ้าคุณเกิดความหวาดกลัวไม่สามารถออกเดินเริ่มต้นไปตรงๆได้ ก็ลองหลับตากระโดดวิ่งข้ามผ่านเส้นสตาร์ทไปเลยนะครับ ไม่ต้องไปสนอะไรมัน ‘พลาดพลั้งคือครู แต่ถ้าไม่เริ่มสู้คือหมา’ พอทุกอย่างได้เริ่มต้น คราวนี้ต่อให้ช้างมาฉุดก็หยุดไม่อยู่แล้ว
จัดเรต pg กับความเห็นแก่ตัวของคนสูงวัย
Leave a Reply