Mary Poppins

Mary Poppins (1964) hollywood : Robert Stevenson ♥♥

ก่อนหน้านี้ผมพยายามจะดู Mary Poppins มาแล้ว 3 รอบ ไม่เคยดูจบสักครั้ง มารับชมครานี้สามารถเข้าใจตัวเองได้ทันทีเลยว่า ทำไมถึงไม่ชอบหนังเรื่องนี้, เหตุผลหนึ่งคงเป็นแบบเดียวกับผู้แต่ง P. L. Travers ที่รู้สึกเหมือนถูกนาย Walt Disney หักหลัง สัญญาอะไรไว้แล้วไม่รักษาคำพูด

นอกจากการแสดงของ Julie Andrews ที่ถือว่าตราตรึงเป็นพิเศษ (แต่คิดว่า Andrey Hepburn ใน My Fair Lady สมควรแก่รางวัล Oscar: Best Actress กว่ามาก) และหลายๆเพลงที่ค่อนข้างติดหู นอกนั้นไม่มีส่วนไหนของหนังที่ผมชื่นชอบเลย รู้สึกเสียเวลาด้วยซ้ำที่ดูหนังเรื่องนี้ และยิ่งพอได้ดู Saving Mr. Bank (2013) ที่นำเสนอเบื้องหลังของหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมมองเห็นภาพความจริงว่า Mary Poppins แท้จริงแล้วควรเป็นเรื่องราวแบบไหน ที่ไม่ใช่แบบนาย Walt Disney นำเสนอนี้แน่ๆ

ปกติแล้วผมไม่มีปัญหาอะไรกับหนังเด็ก/ครอบครัว/หรือหนังโลกสวยนะครับ มีหลายเรื่องที่ชื่นชอบมากๆ แต่ถ้ารับรู้ว่าหนังเรื่องนั้นมีเบื้องหลังหรือใจความแฝงที่ไม่ได้โลกสวยอย่างที่ว่าไว้ นี่คือการทรยศหักหลังผู้ชม เปรียบเสมือนลูกอมเคลือบยาพิษ ที่ปลูกฝังอะไรผิดๆ ทัศนคติ ความคิด ค่านิยมที่เป็นอันตราย และถ้ากลุ่มเป้าหมายคือให้เด็กๆดู หนังประเภทนี้ผมต่อต้านอย่างยิ่ง เพราะผู้สร้างหาได้มีจุดประสงค์ของความบริสุทธิ์จริงใจไม่

สำหรับ Mary Poppins ไม่เชิงเป็นลูกอมเคลือบยาพิษนะครับ ส่วนตัวกลับชื่นชอบความตั้งใจแท้ๆของผู้เขียน P. L. Travers ด้วยซ้ำ (คือถ้าคุณได้รับชม Saving Mr. Bank มาแล้วก็จะเข้าใจเลยละว่า หนังสือเรื่องนี้เขียนขึ้นด้วยจุดประสงค์อะไร) แต่การดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์ของ Walt Disney ชายผู้ได้ชื่อว่า Racist (เหยียดผิว) สร้างภาพที่สุดใน Hollywood สนใจแค่ทำยังไงให้หนังเรื่องนี้ให้ประหนึ่งดั่งตัวฉัน เข้าถึงผู้ชมได้ง่าย และทำเงินมากที่สุด ผลลัพที่ออกมาผมมองว่า นี่คือหนังของ Walt Disney ไม่ใช่ Mary Poppins ของ P. L. Travers แม้แต่น้อย

Mary Poppins เป็นหนังสือสำหรับเด็ก เขียนโดย Pamela Lyndon Travers (ชื่อจริงคือ Helen Lyndon Goff) มีทั้งหมด 8 เล่ม ตีพิมพ์ระหว่างปี 1934-1988 เรื่องราวของแม่มด Mary Poppins ที่ทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับครอบครัว Bank ที่ถนนหมายเลข 17 Cherry Tree Lane กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

Walt Disney ใช้เวลากว่า 20 ปีถึงได้ลิขสิทธิ์จาก P. L. Travers ที่ตื้อทำยังไงก็ไม่ยอมให้ เพราะ Mary Poppins เปรียบเสมือนลูกรัก คนในครอบครัวของเธอ จึงไม่ต้องการให้ใครอื่นมาปู้ยี้ปู้ยำทำในสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่เพราะสถานะการเงินของ Travers ในช่วงนั้นค่อนข้างย่ำแย่เลยจำใจต้องตอบตกลง (คือทำตัวเองด้วยแหละที่ไม่ยอมเขียนหนังสือเล่มใหม่ออกมาขาย เลยต้องหาเงินมาจุนเจือตนเองด้วยวิธีอื่น) ส่วนนาย Disney เหตุผลที่ดื้อด้านอยู่ 20 ปีไม่ยอมเลิก เพราะให้สัญญากับลูกสาวที่ขอให้สร้างหนังจากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งพ่อก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ Travers ยอมมอบลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ให้

ในกระบวนการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ Travers เป็นผู้ตรวจทานบทหนังด้วยตนเองทั้งหมดในช่วง pre-production (มีการบันทึกเทปการสนทนาไว้ด้วย) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังกระบวนการนั้น คือ Walt Disney และผู้กำกับ Robert Stevenson ได้มีการปรับเปลี่ยนทิศทาง แนวทางสร้างหนังเรื่องนี้ให้เป็นในมุมมองความตั้งใจของตน ไม่ใช่ในความต้องการแท้จริงของ Travers เสียเท่าไหร่

นำแสดงโดย Julie Andrews กับการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก หลังจากประสบความสำเร็จล้นหลามจากการแสดงละครเพลง Broadway เรื่อง My Fair Lady และ Camelot, ในตอนแรก Andrews มีความลังเลเพราะคาดหวังว่าตัวเองจะได้รับบทเดิมใน My Fair Lady ฉบับภาพยนตร์ แต่เมื่อ Jack L. Warner เลือก Andrey Hepburn ทำให้เธอตบปากรับแสดงหนังเรื่องนี้โดยทันที, แต่ใช่ว่าหนังจะเริ่มโปรดักชั่นได้เลยทันที เพราะขณะนั้น Andrews กำลังท้องใกล้คลอด แต่นาย Disney ก็พร้อมที่จะรอให้เธอคลอดลูกเสียก่อนถึงเปิดกล้อง (คงกำลังทำสงครามกับ Travers ในช่วงเตรียมงานอยู่กระมัง)

Travers เป็นคนเลือกและสนับสนุน Andrews เต็มที่ให้รับบทนี้ แต่ทั้งสองไม่เคยพบเจอกัน แค่คุยทางโทรศัพท์และเขียนจดหมายหากันเท่านั้น

ถ้าจะให้พูดชมการแสดงของ Andrews คงต้องบอกว่า “Mary Poppins, practically perfect in every way.” แต่ประธานในประโยค Mary Poppins คือตัวละครที่ Andrews รับบทนะครับ ไม่ใช่หนังเรื่อง Mary Poppins, ด้วยสีหน้า ท่าทาง คำพูดที่เน้นเสียงเข้มจริงจังตลอดเวลา แสดงถึงจิตใจที่แข็งแกร่ง ดื้อรั้นหัวแข็ง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ตรงข้ามกับข้างในจิตใจ ที่เป็นคนอ่อนไหว โอนอ่อนผ่อนตาม และรักเด็ก นี่คือเสน่ห์ที่ทำให้เด็กๆต่างหลงรัก Mary Poppins ในความเป็นคนปากร้ายแต่ใจดี

เด็กๆในหนังเรื่องนี้มักเรียกร้องให้ Mary Poppins ทำอะไรตามใจขอ แต่ทุกครั้งตอนแรกเธอจะปฏิเสธก่อน นี่สามารถมองได้ว่าเป็นการเล่นตัวหรือเพราะไม่อยากทำจริงๆก็ได้ ซึ่งเมื่อถูกรบเร้าเซ้าซี้จนแสดงท่าทีเอือมระอา ทุกครั้งต้องใจอ่อนผ่อนยอมทำตามทุกครั้ง, ตัวละครนี้มีลักษณะเป็นความเพ้อฝัน จินตนาการถึงบุคคลที่สามารถทำตามความต้องการ ‘ทุก’สิ่งอย่างได้ เราสามารถเรียก Mary Poppins ได้ว่าเป็น ‘พี่เลี้ยงในอุดมคติ’

แต่ในหนังสือของ P. L. Travers ตัวละคร Mary Poppins ไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงตามใจเด็กแบบในหนังเลยนะครับ เธอเป็นคนเข้มงวดจริงจัง ไม่มีพูดจาไร้สาระ และหลงตัวเองอย่างมาก (ชอบพูดกับตัวเองต่อหน้ากระจก) มีหลายครั้งที่ดุด่าว่ากล่าวเด็กๆถึงพฤติกรรมแย่ๆของพวกเขา ซึ่งสิ่งที่เธอต้องการสั่งสอนพวกเขาคือ ความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยและการเป็นผู้ดี เรียกว่าแตกต่างแทบจะโดยสิ้นเชิงเป็นคนละคนกัน!

เกร็ด: เพราะการแสดงของ Julie Andrews ในหนังเรื่องนี้ ทำให้ได้รับบทพี่เลี้ยงเด็กใน Sound of Music (1965) ที่ทำให้เธอกลายเป็นอมตะไปโดยพลัน

Dick Van Dyke รับบท Bert เพื่อนสนิทของ Mary Poppins, สิ่งที่ P. L. Travers พูดถึงชายคนนี้ใน Saving Mr. Bank นั้นตรงมากๆ ‘Dick Van Dyke ไม่ใช่นักแสดงที่ยิ่งใหญ่อะไร’ คือถ้าเทียบกับ Laurence Olivier, Alec Guinness, Richard Burton คนละเกรดกันเลย กระนั้น Dyke ก็ถือว่าไม่ธรรมดา มีชื่อเสียงจากการเป็นนักแสดงละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ร้องเพลงเก่ง (คว้ารางวัล Tony, Emmy, Grammy ขาดเพียง Oscar เท่านั้น) ซึ่งภาพยนตร์ที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดก็คือ Mary Poppins นี่แหละ

Travers ไม่พึงพอใจเท่าไหร่ที่ให้ Dick Van Dyke รับบท Bert แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

Bert มีคำเรียกภาษาอังกฤษของตัวละครนี้คือ jack-of-all-trades คือคนที่สามารถทำหลายๆอย่างได้พร้อมกันอย่างคล่องแคล่ว ในหนังจะมี 4 อาชีพคือ
– นักดนตรี (One-Man Band) ทำหลายสิ่งอย่างด้วยตนเอง
– จิตรกรวาดภาพ (Pavement Chalk Artist) รูปในจินตนาการ ความเพ้อฝัน
– คนกวาดปล่องไฟ (Chimney Sweep) คนเก็บกวาดความสกปรก (ชนชั้นล่าง)
– และคนขายว่าว (Kite Seller) ขายความฝัน ความทะเยอทะยาน

การแสดงของ Dick Van Dyke เท่าที่ผมอ่านในบทวิจารณ์ต่างประเทศ ล้วนยกย่องว่านี่น่าจะคือบทบาทยอดเยี่ยมที่สุดของพี่แก (ผมบอกไม่ได้เพราะไม่เคยเห็นจากหนังเรื่องอื่น) ส่วนตัวรู้สึกรำคาญตัวละครนี้มาก ถึงจะเป็นสุภาพบุรุษแต่ก็เป็นคนฉวยโอกาสจากน้ำใจของผู้อื่น เช่น ตอนที่ลุง Albert หัวเราะจนตัวลอย แทนที่ Bert จะช่วยกัน กลับปล่อยตัวเองหัวเราะจนตัวลอยขึ้นไปด้วย หรือตอนกวาดปล่องไฟ ที่ต้องการนำเสนอบทเพลง Step in Time นี่มันเพลงบ้าอะไร ป่วนคนอื่นไปทั่ว (จะว่าผมจริงจังไปสักหน่อยก็ได้ แต่นี่เป็นบทเพลง Sequence ที่ไร้สาระมาก มีนัยยะว่า ทำงานอย่าเครียดๆตลอดเวลา สนุกสนานบ้างเป็นครั้งคราว)

ฉากหัวเราะจนตัวลอยนี่ผมรำคาญมากสุดในหนัง ทีแรกมันก็น่าสนใจดีนะ เพราะการที่ตัวลอยแทนด้วยความอิ่มเอิบ ความสุข สนุกสนานที่เอ่อล้น ซึ่งคนที่ปล่อยให้ตนเองหลงระเริงจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ชีวิตก็จะไร้น้ำหนัก ไร้คุณค่า แถมบทเพลงช่วงแรก Bert นำเสนอความหลากหลายของการหัวเราะ ที่ดูขบขันเหมือนจะมีสาระ แต่จุดที่ผมไม่เข้าใจเลยคือ เหตุผลอะไรที่ Mary Poppins ต้องยอมโอนอ่อนทำตาม (ทั้งที่ตัวเองต่อต้านหัวชนฝาขนาดนั้น) นี่เหมือนเป็นการส่งเสริมให้มนุษย์มองโลกแต่ด้านที่สนุกสนาน เพราะเมื่อคิดถึงเรื่องเศร้าๆเมื่อไหร่ ก็จะตกกลับลงมา (สู่โลกความจริง)

David Tomlinson รับบท George Banks พ่อของเด็กๆ และนายจ้างของ Mary Poppins, Tomlinson เป็นนักแสดงตลกชาวอังกฤษ พลิกบทบาทมารับบทพ่อที่เข้มงวด จริงจังกับลูกๆเป็นที่สุด แต่สุดท้ายก็ติสต์แตกในตอนจบ

ตัวละคร George Bank ไว้หนวดติ๋มๆ คล้ายกับนาย Walt Disney นี่เป็นตัวละครที่เขาใส่ภาพลักษณ์ของตัวเองลงไป หลายสิ่งหลายอย่างมองดูก็จะพบว่าคล้ายกัน อาทิ เป็นคนยึดมั่นในเรื่องเงินๆทองๆ เข้มงวดจริงจัง ซึ่งตอนท้ายที่ตัวละครนี้ติสต์แตก เหมือนเป็นการบอกว่า ‘ฉัน Walt Disney มีมุมมองอ่อนไหวต่อเด็กๆเหมือนกันนะ’ เป็นการสร้างภาพที่ดูดีให้กับตัวเองสู่สาธารณะ

ถ่ายภาพโดย Edward Colman ตากล้องขาประจำของ Disney, ความน่าสนใจของงานภาพ คือการนำนักแสดงใส่ลงไปในอนิเมชั่น ไม่สิต้องพูดกลับกันว่า นำภาพอนิเมชั่นใส่ลงไปใน Live-Action, วิธีการคิดว่าคงเป็นถ่ายนักแสดงด้วย Blue Screen/Green Screen แล้วนำไปแต่ละภาพไปซ้อนด้วยเซลที่วาดอนิเมชั่นไว้ นี่ก็ไม่ต่างจากกระบวนการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นทั่วไปเท่าไหร่

การจัดแสงและการเลือกโทนสี ถือว่ามีความโดดเด่นที่สุดในหนัง โดยเฉพาะช็อตที่มีภาพอนิเมชั่นอยู่ด้วย จะใช้โทนสีเพื่อแทนอารมณ์ขณะนั้นของตัวละคร แดง/เขียว/ฟ้า คือความสดใส เทา/ดำ คือความหดหู่ มืดหม่น, ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นเงาของนักแสดงในฉากพวกนี้ด้วยนะครับ

ตัดต่อโดย Cotton Warburton, หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของถนนหมายเลข 17 Cherry Tree Lane กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นจากวิวจากด้านบนท้องฟ้า เห็น Mary Poppins กำลังแต่งหน้าเตรียมตัวหางานทำอยู่บนก้อนเมฆ จากนั้นเป็นบทเพลง One-Man Band ของ Bert ที่จะพาไปแนะนำตัวละครต่างๆ รวมถึงบ้านของ Mr. Bank

ความโดดเด่นของการตัดต่อที่ทำให้ถึงขนาดได้รางวัล Oscar: Best Edited คงเป็นบทเพลง A Spoonful Of Sugar ขับร้องโดย Julie Andrews เป็นเพลงแรกของ Mary Poppins ที่ขับร้อง เพื่อแนะนำให้เด็กๆทั้งสอง Jane กับ Michael เก็บกวาดห้องด้วยตนเอง ในทัศนคติที่ว่า การทำงานสามารถด้วยความสนุกสนานได้, การตัดต่อมีการใช้ Reverse Shot คือถ่ายภาพเหตุการณ์ปกติแต่นำมาฉายให้ดูแบบย้อนหลัง นี่ทำให้สิ่งของที่ตกพื้นอยู่สามารถกลับสู่ชั้นวางได้อย่างน่าอัศจรรย์

ความประหลาดของเพลงนี้คือ ทำไมต้องให้ Michael ถูกขังในตู้เสื้อผ้า?, มันมีนัยยะเหมือนว่า สิ่งที่ควรอยู่ในตู้ ก็ควรที่จะอยู่ในตู้ (ประมาณว่าเด็กดื้อไม่ยอมเก็บของเล่น ควรที่จะถูกลงโทษด้วยการขังในตู้ไม่ให้ออกมา)

เพลงประกอบโดยเรียบเรียงโดย Irwin Kostal, แต่งโดยสองพี่น้อง Sherman (Richard M. Sherman กับ Robert B. Sherman)

เพลงแรก Chim Chim Cher-ee ขับร้องโดย Dick Van Dyke และ Julie Andrews เป็นบทเพลง/ทำนองที่ได้ยินตลอดหนังทั้งเรื่อง, พี่น้อง Sherman ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดคนกวาดปล่องไฟ และตำนานความเชื่อที่ว่า ถ้าใครได้จับมือกับคนกวาดปล่องไฟหลังทำงานเสร็จ จะถือว่าโชคดี, นี่เป็นเพลงที่ได้รางวัล Oscar: Best Original Song

บทเพลงที่ติด AFI’s 100 Years… 100 Songs อันดับ 36 คือเพลง Supercalifragilisticexpialidocious ขับร้องโดย Julie Andrews กับ Dick Van Dyke ขณะอยู่ในโลกแห่งภาพวาด

“Supercalifragilisticexpialidocious.” เป็นคำที่มีการคาดการณ์ว่าเริ่มต้นใช้ในช่วง 1940s ประกอบด้วย
super แปลว่า เหนือกว่า (above)
cali แปลว่า สวยงาม (beauty)
fragilistic แปลว่า ละเอียดอ่อน (delicate)
expiali แปลว่า ชดเชย ไถ่โทษ (to atone)
docious แปลว่า สอนได้ (educable)

รวมๆแล้วแปลว่า ‘การชดเชยที่สอนได้ผ่านความสวยงามที่เหนือกว่า’ (Atoning for educability through delicate beauty.) [ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคืออะไร] ซึ่งพอหนังเรื่องนี้นำมาใช้ ได้ให้ความหมายใหม่ว่า เป็นประโยคที่พูดขึ้นขณะไม่รู้จะพูดอะไร ซึ่งสามารถแปลได้ว่า ดีมากๆ มหัศจรรย์สุดๆ (extraordinarily good หรือ wonderful) คำนี้มีใน Dictionary ของ Oxford นะครับ เป็นหนึ่งในคำยาวเกือบที่สุดของภาษาอังกฤษด้วย

บทเพลงที่ผมชอบสุดในหนัง อยู่ตอนจบเลย Let’s Go Fly a Kite ขับร้องโดย David Tomlinson, Dick Van Dyke และ The Londoners, นี่เป็นเพลงที่มีนัยยะถึงการปลดปล่อยวาง ให้ทุกสิ่งอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติ อย่าไปฝืนตัวเองหรือฝืนว่าว ปล่อยให้มันล่องลอยไปบนฟากฟ้า ในหนังนี่เป็นกิจกรรมที่พ่อไม่เคยทำร่วมกับลูกๆและครอบครัวเลย ถือว่าเป็นครั้งแรกที่พ่อเปิดอกยอมรับ ชักชวนทุกคนไป แล้วอะไรๆก็ดีขึ้นในตอนจบ

ตอนแรกผมไม่ได้อะไรกับเพลงนี้เท่าไหร่ แต่พอได้ยินใน Saving Mr. Bank จึงเกิดความชื่นชอบในเบื้องหลังของเพลงนี้ และพบว่ามันคือการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในตอนจบของหนังสือ ที่ Mr. Bank เปิดอก ยอมรับ เข้าใจ และทำในสิ่งที่ไม่มีใครในครอบครัวคาดคิดมาก่อน

(แต่จริงๆ Travers ไม่ได้ชอบเพลงนี้นะครับ เป็น Feed the Birds ที่ชอบที่สุด)

ใจความของหนังเรื่องนี้คือ แนวคิดความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต, สิ่งที่ Mary Poppins ทำในหนังเรื่องนี้ … ว่าไปก็ไม่ได้ทำอะไรนะ แค่การปรากฏกาย มีตัวตนของเธอ ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิด ทัศนคติบางอย่างของทุกคนในครอบครัว Bank ก็เท่านั้น, เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับเด็กๆ พบเจอสิ่งสวยงามที่อยู่นอกเหนือความคิดฝันของตนเอง ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เมื่อได้เห็นพฤติกรรมของเด็กๆเปลี่ยนไป ก็ได้รับอิทธิพลนั้นด้วย เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน (เห็นไหมว่า Mary Poppins แทบไม่ได้ทำอะไรเคย แค่การมีตัวตนของเธออย่างเดียวก็เพียงพอเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างแล้ว)

แล้ว Mary Poppins คือใคร? แม่มดผู้นี้มาจากไหน? ไม่รู้สิครับ ผมไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้เลยไม่สามารถบอกได้ แต่ถ้าวิเคราะห์ในมุมมองของหนัง การมีตัวตนของเธอ เปรียบได้กับความเพ้อฝัน อุดมคติในจินตนาการ เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต

แต่ในชีวิตจริงของผู้เขียน Trevers ตัวละคร Mary Poppins ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยนะครับ นอกเสียจากมุมมอง ทัศนะ ความคิดของตัวเธอเอง ไว้ผมจะชี้ให้เห็นอย่างละเอียดตอนเขียน Saving Mr. Bank แล้วกัน

มีหลายสิ่งอย่างที่ Disney กระทำการ (overruled) โดยไม่สนข้อเรียกร้องของ Trevers อาทิ ยืนยันที่จะใช้อนิเมชั่นประกอบภาพยนตร์, ให้ Mr. Bank มีหนวด, ฯ นี่สร้างความร้าวฉานให้ทั้งคู่เป็นอย่างมาก รุนแรงกระทั่งการฉายรอบปฐมทัศน์ที่ Disney ตัดสินใจไม่เชิญ Trevers มาร่วมงานด้วย แต่เธอปรากฏในวันนั้นตัวเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองอย่างหงุดหงิด ซึ่งพอหนังฉายจบ Trevers แสดงความไม่พึงพอใจกับหนังอย่างมาก ร้องไห้ตาแดง ขอให้ Disney ตัดทุกฉากที่เป็นอนิเมชั่นออก แต่เขาตอบไปว่า ‘”Pamela, that ship has sailed’ แล้วเดินหนีไปอย่างเร็ว

นี่ทำให้ความหวังในการสร้างภาคต่อของ Mary Poppins เป็นไปไม่ได้เลย เพราะ Trevers ปฏิเสธหัวแข็งว่าจะไม่มีวันให้ใครอื่นแตะต้อง Mary Poppins อีก รวมถึงเขียนในพินัยกรรมไว้ด้วย จนกว่าที่กฎหมายลิขสิทธิ์จะหมดอายุ…

นี่เป็นลักษณะหนังที่ผมไม่ชอบอย่างยิ่งเลย แม้เบื้องหลังเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่มารับรู้ทีหลัง แต่ขณะชมผมเกิดความรู้สึกอคติ ต่อต้านหนังรุนแรง รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ไม่ควรเป็นแบบนี้ ทุกอย่างดูผิดที่ผิดทาง เพ้อฝันเกินจริง คือคนธรรมดาทั่วไปจะไม่คิดสร้างเรื่องราวลักษณะนี้ออกมาแน่ มันต้องเกิดจากการปรุงแต่งที่ผิดวิสัยปกติอย่างรุนแรง, ซึ่งเมื่อได้ล่วงรู้ข้อมูลเบื้องหลังหลายๆอย่าง เป็นการยืนยันความคิดของผมทันที นี่เป็นหนังที่ดัดแปลงสร้างขึ้นต่างจากความตั้งใจของผู้เขียนอย่างมาก และการกระทำของนาย Walt Disney ผมคนหนึ่งละที่ไม่ให้อภัยเด็ดขาด ต่อให้ผลลัพท์ออกมายอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ ประสบความสำเร็จมีคนชื่นชอบมากมายแค่ไหน แต่การที่เขาทำตัวไม่สนใจเจ้าของบทประพันธ์ คิดว่าตัวเองถูกต้องที่สุด นี่เหมือนคนมือเปื้อนเลือด แถมเด็กๆทั่วโลกได้รับชม มันคงไม่มีวันที่จะทำให้ผมเกิดความชื่นชอบ หลงใหลหนังเรื่องนี้ได้เป็นแน่

ด้วยทุนสร้างประมาณ $6 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลกกว่า $102.3 ล้านเหรียญ กำไรล้นหลาม, เข้าชิง Oscar 13 สาขา ได้มา 5 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actress in a Leading Role (Julie Andrews) ได้รางวัล
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography, Color
– Best Art Direction, Color
– Best Costume Design, Color
– Best Sound Mixing
– Best Film Editing **ได้รางวัล
– Best Visual Effects **ได้รางวัล
– Best Original Song (Chim Chim Cher-ee) 
ได้รางวัล
– Best Music, Substantially Original Score **ได้รางวัล
– Best Music, Scoring of Music, Adaptation or Treatment

Mary Poppins เป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่นาย Walt Disney มีชื่อเข้าชิงในฐานะโปรดิวเซอร์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘crowning achievement’ แต่ผมขอเรียกว่า ‘bloody crown archivement’ พ่ายแพ้ให้กับ My Fair Lady ที่เข้าชิง 12 สาขา (เข้าชิงน้อยกว่า) แต่กวาดมาได้ 8 รางวัล (มากกว่า) ปีนั้นแทบจะเรียกได้ว่ามีแค่สองเรื่องนี้ที่แบ่งเค้กรางวัล Oscar กัน

เชื่อว่าคงมีหลายคนที่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากจนกลายเป็นหนังโปรด แต่อยากให้ลองพิจารณาประเด็นที่ผมนำเสนอไป แล้วถ้าคุณยังชอบอยู่ก็ … รสนิยม ความชื่นชอบของคนเรา ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันนะ

แนะนำกับ… เด็กๆ?, ผู้ชื่นชอบหนังเพลง, หลงใหลการผสมผสานอนิเมชั่น 2 มิติกับคนแสดง, แฟนๆ Julie Andrews และ Dick Van Dyke ไม่ควรพลาดเลย

ถ้าคุณดูหนังเรื่องนี้แล้วเกิดข้อสงสัยประการใด แนะนำให้หา Saving Mr. Bank (2013) มารับชม น่าจะคลายข้อสงสัยอะไรๆไปบ้าง ได้เยอะเลยละ

จัดเรตทั่วไป แต่พ่อแม่ควรให้คำแนะนำถ้าจะนั่งดูกับเด็กๆ

TAGLINE | “ถึง Mary Poppins จะประสบความสำเร็จ สวยงามแค่ไหน แต่เบื้องหลังที่เหมือนมือเปื้อนเลือดของนาย Walt Disney ไม่มีวันทำให้ทุกคนชื่นชอบหรือหลงใหลได้แน่”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: