MASH

M*A*S*H (1970) hollywood : Robert Altman ♥♥♥♥

แม้พื้นหลังจะดำเนินเรื่องใน Mobile Army Surgical Hospital (MASH) ช่วงระหว่างสงครามคาบสมุทรเกาหลี แต่แท้จริงแล้วต้องการสะท้อน-เสียดสี-ต่อต้าน ชำแระความน่าขยะแขยงภายในของสงครามเวียดนามที่กำลังปะทุคุกรุ่น ด้วยรูปแบบ Satire Black Comedy เชิงสัญลักษณ์ที่บัดซบ โคตรเxย ขำกลิ้ง แต่บางคนคงรับไม่ได้ หัวเราะไม่ออก, คว้ารางวัล Palme d’Or แต่พ่าย Oscar: Best Picture ให้ Patton (1970)

การกลั่นแกล้งของหนุ่มๆนำโดย Hawkeye ต่อหัวหน้านางพยาบาลที่ได้รับฉายา Hot Lips เชื่อว่าจะทำให้ผู้หญิงหลายคน หรือผู้ชายประเภทเดียวกับ Major Frank Burns (ตัวละครของ Robert Duvall) เกิดความรังเกียจ ขยะแขยง ต่อต้าน รับไม่ได้กับหนังโดยสิ้นเชิง, ถ้าเป็นสักเมื่อปีก่อนๆผมก็อาจทนไม่ได้เช่นกัน แต่เมื่อถึงจุดที่สามารถมองผ่านเนื้อหนังภายนอก ทำความเข้าใจนัยยะเชิงสัญลักษณ์ เหตุผลของการกระทำ อคติบางอย่างก็จักไม่บังเกิด … กระนั้นต้องบอกไว้ก่อนว่า รสนิยมส่วนตัวก็ไม่ได้ชื่นชอบการกระทำเxยๆของพวกเขาสักเท่าไหร่นะ ขำบ้างไม่ขำบ้าง แสบๆคันๆเสียเป็นส่วนใหญ่

สิ่งโคตรเจ๋งของ M*A*S*H ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่สะท้อน-เสียดสี-ต่อต้านสงครามในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่คือการแสดง ถ่ายภาพ ตัดต่อ และไดเรคชั่นของผู้กำกับ Robert Altman ที่ถือว่าปฏิวัติวงการภาพยนตร์เลยละ แค่ตอนนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไหร่

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงจากนิยาย MASH: A Novel About Three Army Doctors (1968) แต่งโดย Richard Hooker (นามปากกาของอดีตศัลยกรรมทหาร Dr. H. Richard Hornberger ร่วมงานกับนักเขียน W. C. Heinz) แม้เหตุการณ์ทั้งหมดจะคือเรื่องแต่ง แต่มีแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริงทั้งหมด สะท้อนสภาวะทางจิตใจในช่วงเวลานั้นของตนเองออกมา

Dr. Hiester Richard Hornberger Jr. (1924 – 1997) เกิดที่ Trenton, New Jersey, เรียนจบหมอจาก Weill Cornell Medical School, New York ถูกจับได้ใบแดงเลยต้องกลายเป็นทหารสังกัด US Army: Medical Corps ประจำหน่วย 8055th Mobile Army Surgical Hospital ในช่วง Korean War (1950-53)

Hornberger เคยให้สัมภาษณ์เล่าถึงการทำงานของหน่วย MASH เรียกว่าคือโรงพยาบาลใกล้ที่สุดจากแนวรบด้านหน้า (Front Line) อยู่ไม่ห่างไกลบริเวณสงครามนัก แต่ปลอดภัยระยะรัศมีระเบิด, ชีวิตวันๆของหมอค่อนข้างตราตรำและโหดร้าย ทุกวันต้องเข้าห้องฉุกเฉินผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นชั่วโมงที่ยาวนาน (10-12 ชั่วโมงต่อวันขั้นต่ำ) เวลาพักนอกจากหลับนอนก็แทบไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไร สภาพจิตใจค่อนข้างย่ำแย่ไม่ต่างอะไรจากทหารแนวหน้า

reference: https://www.history.com/news/why-the-real-life-hawkeye-pierce-hated-mash

นิยายได้รับการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากสตูดิโอ Fox มอบหมายให้ Ring Lardner, Jr. (1915 – 2000) หนึ่งในนักเขียนที่เคยติด Hollywood Blacklist (เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์) รับหน้าที่ดัดแปลงบทภาพยนตร์, ก่อนหน้านี้ Lardner เคยคว้า Oscar: Best Original Screenplay จากเรื่อง Woman of the Year (1942)} ผลงานอื่นๆ อาทิ Laura (1944), Forever Amber (1947) ฯ

Robert Bernard Altman (1925 – 2006) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา ได้รับการยกย่องจากความหัวขบถนอกรีต จนกลายเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดแห่งยุค New Hollywood เกิดที่ Kansas City, Missouri เรียนจบจาก Wentworth Military Academy, Missouri สมัครเป็นทหารอากาศทันเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองในตำแหน่งลูกเรือเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Liberator ปลดประจำการย้ายมาปักหลักที่ California ทำงานในบริษัทผลิตเครื่องสักลาย เข้าสู่วงการจากขายบทหนังเรื่อง Bodyguard (1948) ให้กับสตูดิโอ RKO เพราะได้เงินเยอะเลยหันมาสนใจเอาดีด้านนี้ ไต่เต้าจนได้เป็นผู้กำกับซีรีย์โทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Delinquents (1957) ด้วยทุนสร้างเพียง $63,000 เหรียญ ทำเงินกว่า $1 ล้านเหรียญ แต่ผลงานถัดจากนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ จนกระทั่งได้รับการว่าจ้างจากสตูดิโอ Fox ให้มากำกับ M*A*S*H

สไตล์ของผู้กำกับมีคำเรียกว่า Altmanesque ประกอบด้วย มักใช้นักแสดงปริมาณเยอะๆ ชอบให้พวกเขา Ad-Lib เวลาสนทนาก็ให้พูดคุยมักซ้อนทับเหลือมล้ำกัน, สำหรับความสนใจจะไม่มีแนวหนังจำเพราะเจาะจง (เป็นพวก Anti-Genre) แต่ส่วนใหญ่ชอบที่จะนำเสนออะไรที่มันขัดขืนแตกต่างจากกฎกรอบ วัฒนธรรมรูปแบบวิถีดั้งเดิมที่เคยมีมา

Altman พูดถึงนิยายต้นฉบับ MASH: A Novel About Three Army Doctors ว่ามีความห่วยแตก ‘pretty terrible’ และเหมือนว่าโคตรเหยียด ‘racist’ (เพราะตัวละครผิวสีหนึ่งเดียวมีชื่อเล่น Spearchucker) ซึ่งหลังจากได้พิจารณาอ่านบทหนัง สิ่งที่เขาคงไว้คือฉากพื้นหลังใจความของเรื่องราว แล้วทำการปรับเปลี่ยนลำดับที่ปรากฎ ตัดสิ่งอ้างอิงถึงสงครามเกาหลีออก (แต่ก็ถูกสตูดิโอบังคับใส่ช่วงท้าย เพราะไม่ให้เหมือนสงครามเวียดนามเกินไป) และบทพูดสนทนาให้นักแสดงปรับปรุงเปลี่ยนแปลง Ad-Lib ได้ตามใจปาก

เรื่องราวพื้นหลังปี 1951, หน่วย 4077th Mobile Army Surgical Hospital [น่าจะหน่วยสมมติ ไม่มีอยู่จริง] ตั้งค่ายอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ไม่ห่างจากแนวรบด้านหน้านัก กองทัพได้ส่งหมอศัลยกรรมสองคน Captain Hawkeye Pierce (รับบทโดย Donald Sutherland) กับ Captain Duke Forrest (รับบทโดย Tom Skerritt) เดินทางมาถึงด้วยการขโมยรถจิ๊บจากฐานทัพกลาง พวกเขาเป็นเสือผู้หญิง ชอบทำอะไรบ้าๆบอๆ แหกกฎระเบียบ แต่ความสามารถด้านการผ่าตัดนั้นเป็นเลิศ ทำให้ผู้บังคับบัญชา Lt. Col. Henry Braymore Blake (รับบทโดย Roger Bowen) ยินยอมปล่อยไปทุกสถานการณ์ เพราะตัวเขาก็มีพฤติกรรมไม่แตกต่างกันมากนัก

Donald Sutherland (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติ Canadian เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Dirty Dozen (1967), M*A*S*H (1970) กลายเป็นตำนานกับ Don’t Look Now (1973), 1900 (1976), Ordinary People (1980) ฯ ไม่เคยได้เข้าชิง Oscar สักครั้ง แต่ด้วยความเป็นยอดฝืมือ ได้รับการยอมรับล้นหลามจากคนในวงการ เพิ่งคว้า Honorary Award เมื่อปี 2017

รับบท Capt. Benjamin Franklin ‘Hawkeye’ Pierce, Jr. เพราะถูกจับใบแดงส่งมาเป็นแพทย์ทหารแนวรบด้านหน้า และความเครียดเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานตราตรำ เลยใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่งสุดเหวี่ยงไม่แคร์อะไร เสือผู้หญิง ดื่มหนัก เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการกลั่นแกล้ง ตั้งฉายาให้ผู้อื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นการแสดงออกเช่นนี้ ก็เพื่อไม่ให้ตนเองต้องกลายสภาพเป็นคนเสียสติแตกจากความ ‘Horror’ ของสงคราม

นี่ถือเป็นอีกสุดยอดบทบาทของ Sutherland มีความเป็นธรรมชาติที่ไม่ต้องปรุงแต่งใดๆ คำพูด สีหน้า ท่าทาง ดูตลกขบขัน จริงจังอย่างถึงที่สุด แต่กระนั้นก็ได้แค่เข้าชิง Golden Globe: Best Actor แย่งกันเองกับ Elliott Gould อีกต่างหาก

Elliott Gould ชื่อเดิม Elliott Goldstein (เกิดปี 1938) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York City โด่งดังมีชื่อเสียงกับ Bob & Carol & Ted & Alice (1969) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor ผลงานเด่นอื่นๆ อาทื M*A*S*H (1970), The Long Goodbye (1973), California Split (1974)

รับบท Capt. John Francis Xavier ‘Trapper John’ McIntyre หมอผ่าหน้าอกที่แม้จะตามมาภายหลัง แต่เพราะเคยรู้จักเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ Hawkeye เลยกลายเป็นคู่หูซี้ปึ๊ก ไปไหนไปด้วย ตีกอล์ฟ, เหล่สาวถึงญี่ปุ่น ฯ ชีวิตสุขสำราญนักแล

ถึงผมจะรู้สึกว่า Sutherland มีการแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่า แต่ Gould มีใบหน้าภาพลักษณ์ ไว้หนวดที่ทำให้ผู้ชมจดจำตราตรึงได้มากกว่า

เกร็ด: Sutherland กับ Gould ต่างไม่ชอบไดเรคชั่นการกำกับของ Altman เอาเสียเลย ถึงขนาดใช้เวลาว่างเดินทางไปหาผู้บริหารสตูดิโอ Fox ให้ปลดเขาจากกองถ่ายแต่ได้รับการปฏิเสธ ภายหลังเมื่อหนังออกฉายได้เสียงตอบรับดีล้นหลามและ Altman รู้เรื่องเข้า Gould กล่าวขอโทษเลยได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง สำหรับ Sutherland ผู้ไม่แคร์สื่อ ตัดสินใจเดินหน้าต่อโด่งดังกลายเป็นตำนานกว่า

Thomas Roy ‘Tom’ Skerritt (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Detroit, Michigan พอมีชื่อเสียงจาก M*A*S*H (1970), Alien (1979), A River Runs Through It (1992) ฯ ต่อมาหันไปเอาดีกับซีรีย์โทรทัศน์จนคว้ารางวัล Emmy มาครองได้จากซีรีย์ Picket Fences (1992-96)

รับบท Capt. Augustus Bedford ‘Duke’ Forrest หมอนี่เสือผู้หญิงจัดจ้าน ทั้งๆที่แต่งงานมีลูกแล้ว ก็ไม่คิดแคร์อะไรอย่างอื่น ตอนแรกเข้าใจผิดคิดว่า Hawkeye เป็นคนขับรถ เดินทางมาค่าย MASH ร่วมกัน ภายหลังได้ครอบครอง Hot Lips เป็นที่โจษจันไปทั่ว

ถึงตัวละครของ Skerritt ไม่มากบ้าคลั่งเท่า Hawkeye หรือ Trapper แต่ด้วยความหล่อเหลาสาวติดตรึม หว่านโปรยเสน่ห์ตั้งแต่ฉากแรกที่ปรากฎตัว และสร้างเซอร์ไพรส์ตอนฟัน Hot Lips ทำเอาผมละโคตรข้องใจ ไปดี้ด้าได้กันตอนไหน แสบไม่เบา

Sally Clare Kellerman (เกิดปี 1937) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Long Beach, California โด่งดังแจ้งเกิดจาก M*A*S*H (1970) แล้วยังได้ร่วมงานกับ Altman อีกหลายเรื่อง อาทิ Brewster McCloud (1970), The Player (1992), Prêt-à-Porter (1994) ฯ

รับบท Major Margaret J ‘Hot Lips’ Houlihan นางพยาบาลสาวสุดฮ็อต ไต่เต้าขึ้นมาจากสายทหารทำให้ยึดมั่นคงในกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อถูกส่งมาอยู่ค่าย MASH พบเห็นพฤติกรรมอันชวนหัวของหลายๆคนรวมถึงผู้บังคับบัญชา ถึงกับวีนแตกรับไม่ได้ ถูกกลั่นแกล้งสารพัดจนได้รับฉายา Hot Lips จากนั้นค่อยๆบ้าคลั่งเสียสติแตก กลายเป็นคนติ้งต๋องกู่ไม่กลับ เหตุที่เลือกเอากับ Duke สงสัยเพราะไม่อยากถูก Hawkeye หรือ Trapper ปลุกปล้ำขืนใจ

นี่เป็นตัวละครที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงต้นจนจบแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ต้องยกสองนิ้วให้กับ Kellerman โดยเฉพาะตอนกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์ เสียสติแตกได้ใจจริงๆ, สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Hot Lips ราวกับต้องการสะท้อนว่า ผู้หญิงในการสงครามเป็นสิ่งไม่คู่ควรกัน เพราะพวกเธอคงไม่สามารถแบกรับอารมณ์ความรู้สึกกดดัน จริงจังบ้าคลั่ง สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

Robert Selden Duvall (เกิดปี 1931) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง Tender Mercies (1983) ผลงานเด่นอื่นๆ To Kill a Mockingbird (1962), True Grit (1969), MASH (1970), The Godfather (1972), Network (1976), Apocalypse Now (1979) ฯ

รับบท Major Frank Burns หมอศัลยกรรมฝีมือดีผู้เคร่งครัดในศาสนา แต่สถานที่แห่งนี้ไหนละพระเจ้า เลยทำให้ถูกกลั่นแกล้งยั่วยุจาก Hawkeye หันหน้าพึ่งใครไม่ได้ก็มี Major Houlihan ที่เข้าใจหัวอก ขณะกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มถูกประจานอับอายขายขี้หน้า ถูกสวมใส่เสื้อคนบ้าพาตัวกลับบ้านอย่างหมดสิ้นความเป็นมนุษย์

ถึงจะเป็นบทสมทบ แต่ Duvall ก็ยังคือ Duvall ภาพลักษณ์มีความสงบนิ่ง เยือกเย็น แต่ภายในลึกๆเร่าร้อนรุนแรง เมื่อถูกยั่วยุกลั่นแกล้งก็แสดงความโกรธเกรี้ยวกราดออกมาได้อย่างทรงพลัง

ถ่ายภาพโดย Harold E. Stine ยอดฝีมือสัญชาติอเมริกา ปกติจะเน้นทำงานสายโทรทัศน์ แต่ก็มีภาพยนตร์เรื่องเด่น อาทิ M*A*S*H (1970), The Poseidon Adventure (1972) ฯ

ถึงเรื่องราวพื้นหลังของหนังจะคือสงครามเกาหลี แต่หนังเรื่องนี้ไปไม่ไกลเกินกว่ารัฐ California
– สถานที่ตั้งค่าย MASH อยู่ที่ Malibu Creek State Park, Calabasas
– สถานที่แข่งอเมริกันฟุตบอล อยู่ที่ Griffith Park, Los Angeles
– ส่วนฉากภายในโรงถ่ายของสตูดิโอ Fox ที่ Hollywood

ลีลาการถ่ายภาพจัดเต็มด้วยเทคนิคมากมาย เห็นบ่อยๆคือการซูมเข้า-ออก แพนนิ่ง ใช้เครนถ่ายจากมุมสูง เคลื่อนขึ้น-ลง และบางช็อตถ่ายจากบนเฮลิคอปเตอร์, แทบทุกฉากของหนังต้องมีการขยับเคลื่อนไหวภาพอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วถึงหยุดนิ่ง (หรือหยุดนิ่งก่อนแล้วค่อยขยับเคลื่อนไหว) นี่คงเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงการยังมีชีวิตชีวาของตัวละคร และการเคลื่อนไหวของเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด

การถ่ายทำจากภายในเต้นท์ จะสามารถมองเห็นบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นภายนอกได้ด้วย กันขวางด้วยมุ้งบางๆ (ที่มองเข้ามาไม่เห็น) นี่สะท้อนนัยยะภายในจิตใจ-โลกภายนอก สามารถมองออกไปพบเห็น แต่ไม่มีใครมองเข้ามาเห็น

ฉากในห้องผ่าตัด สถานที่แห่งความเป็น-ตาย อยู่ใกล้แค่เอื้อม ในบริบทนี้หมายถึงการต่อสู้รบใน ‘สงคราม’ ที่เหล่าทหารหาญกรีธาเดินหน้าเข้าไปต่อสู้ เป็น-ตาย ก็อยู่ที่เรื่องของบุญบารมีโชคชะตาชีวิต

งานของหมอศัลยกรรม ทำการผ่าตัด เปิดอก แหกออก เพื่อให้พบเห็นสิ่งที่อยู่ภายในของมนุษย์/ความชั่วร้ายของสงคราม นำอวัยวะที่เสียหายชำแระดึงออกจากร่างกาย จากนั้นค่อยร้อยด้ายเย็บติด ซุกซ่อนปกปิดมิให้ใครอื่นได้พบเห็น

ทั้งหมดของ Sequence นี้ ถูกทำให้มีความน่ารังเกียจขยะแขยง ก็เพื่อสะท้อนความโหดร้ายอันตรายของสงคราม การไปรบเสมือนฆ่าตัวตาย แค่ว่ามันอาจมีเกียรติ ได้สวมชุดทหาร ประดับยศ รับเงินเดือน มีข้าวกิน และถือเป็นหน้าที่ประชาชนรับใช้ชาติ

หนึ่งในความกวนประสาท คือการล้อเลียนภาพวาด The Last Supper (1495–96) ของ Leonardo da Vinci ซึ่งถ้าเทียบกันนี้ บุคคลผู้อยู่ตำแหน่งของพระเยซูคริสต์ก็คือหมอฝันเจ้าของฉายา The Painless Pole ที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่เขาคาดไม่ถึงคือ ตนเองกำลังจะได้พบกับความฝันสุดพิเศษที่สุดในชีวิต (คาดว่า Black Capsule น่าจะคือไวอาก้า ปลุกความเป็นลูกผู้ชายให้ตื่นขึ้นมา)

เห็นว่าฉากนี้ถ่ายทำทั้งหมด 2 ครั้ง ด้วยความตั้งใจของผู้กำกับเพื่อให้ Sally Kellerman แสดงปฏิกิริยาสะดุ้งโหยงออกมาจริงๆ
– ครั้งแรกล้มเหลวเพราะเธอรู้ตัวทัน รีบทิ้งดิ่งลงนอนกับพื้นอย่างรวดเร็ว
– ครั้งที่สองผู้กำกับขอให้เพื่อนนักแสดงหญิง Gary Burghoff กับ Tamara Wilcox-Smith ถอดเสื้อผ้าเปลือยตัวหลบๆมุมกล้องอยู่ ซึ่งวินาทีที่ผ้าเต้นท์ร่วงหล่นตกพื้น Kellerman ก็กรี๊ดลั่นโดยไม่ทันตั้งตัว

American Football เป็นกีฬาของคนบ้าพลัง (ค่อนข้างจะไร้สมอง) ใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้ห้ำหั่นปะทะ เอาหัวชนผลักดันเพื่อพาลูกบอล/รักบี้ วิ่งหรือเตะให้ข้ามผ่านไปถึงเขตแดนเส้นชัยของฝั่งตรงข้าม,

กีฬาคนชนคนนี้ เปรียบได้ตรงๆกับการสงคราม สองฝั่งน้ำเงิน-แดง ต่อสู้ห้ำหั่น มีการวางแผนเตรียมการ ลูกล่อลูกชน กลโกง เล่นตุกติก โค้ชของทั้งสองฝั่งก็เปรียบได้กับผู้นำที่วางเงินเดิมพัน ถ้าทหาร/กองทัพ ของตนเองได้รับชัยชนะ ก็จะมีผลประโยชน์มหาศาลคืนสนองตอบแทน

เห็นว่าฉากนี้ Altman มอบหมายให้กองถ่ายสอง Fred Williamson รับหน้าที่กำกับแทน

มีสิ่งหนึ่งที่ Altman ตัดทิ้งออกไปจากบทหนังเลย คือเรื่องราวตอนหลังของ Ho-Jon ที่หลังจากไม่รอดเกณฑ์ทหาร หวนกลับมายังค่าย MASH ในสภาพผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส สุดท้ายก็ช่วยเหลือไม่ทันกาลเสียชีวิตสิ้นลมไปก่อน, กระนั้นสิ่งที่เราจะเห็นขณะแววหนึ่งในหนัง หลังการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล พวกเขากำลังนั่งล้อมวงเล่นโป๊กเกอร์ ซึ่งภาพไกลๆด้านหลังร่างห่อผ้าขาวบนรถจิ๊บ นั่นคือศพของ Ho-Jon ที่ไม่มีใครคิดเหลียวแลสนใจ

ไดเรคชั่นของช็อตนี้สมบูรณ์แบบมากๆ ถ่ายเห็นทุกคนครบในวงไพ่โป๊เกอร์ กล้องจะค่อยๆเคลื่อนไปด้านขวาเพื่อให้เห็นรถด้านหลังเคลื่อนไปด้านซ้าย จากนั้นค่อยๆซูมเข้าไปตรงหลอดไฟ, โป๊กเกอร์คือเกมที่ผู้เล่นต้องปั้นหน้าหลอกลวงผู้อื่นในวง ว่าตนเองมีไพ่คะแนนสูงกว่า ก็เหมือนประเทศยุโรปอเมริกาที่หลอกลวงชาวโลกเรื่องสงคราม ขณะที่พื้นด้านหลังจริงๆมีอะไรเกิดขึ้นก็หาได้ใครสนใจไม่ ซูมเข้าหาหลอดไฟตอนจบสะท้อนถึง นั่นนะหรืออนาคตที่สุดใส

ตัดต่อโดย Danford B. Greene ทั้งๆที่ในส่วนนี้ได้เข้าชิง Oscar: Best Edited แต่กลับไม่เคยได้ร่วมงานกับ Altman อีกเลย (สงสัยเพราะ Greene ถือหางสตูดิโอ Fox มากเกินไป)

หนังเล่าเรื่องในมุมมองของ Hawkeye ทั้งหมด ถือเป็นหัวโจ๊กผู้นำวางแผนทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในค่าย MASH ไม่มีอะไรที่สามารถหลบลี้หนีสายตาของเขาได้พ้น ซึ่งระหว่างรอยต่อของเรื่องราวจะมีเสียงประกาศตามสาย พูดโน่นนี่นั่นเรื่อยเปื่อยไม่ได้มีสาระอะไรกับหนัง

เกร็ด: จะมีอยู่ช็อตหนึ่ง ถ่ายภาพลำโพงตอนกลางคืนแล้วติดเสี้ยวพระจันทร์ ซึ่งบังเอิญขณะนั้นยาน Apollo 13 เห็นว่าลงจอดถึงดวงจันทร์พอดิบพอดี

เหมือนว่าหนังจะมีความเร็วในการตัดต่อขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล ตัดสลับไปมาระหว่างในสนามกับโค้ชของทั้งสองฝั่งอย่างฉับไวสุดๆเลย แถมด้วยประกอบบทเพลงเร่งเร้าจังหวะอารมณ์ความมันส์ ลุ้นระทึกนั่งชมแทบไม่ติดเก้าอี้ ให้กำลังเชียร์ฝ่าย MASH (จริงๆก็ไม่น่าเชียร์สักฝ่ายเลยนะ คอรัปชั่นพอๆกันเลย)

มีขณะหนึ่งช่วงท้าย ตอนที่สองหนุ่มได้รับจดหมายปลดประจำการกลับบ้าน มีภาพอนาคตแวปหนึ่งปรากฎแทรกขึ้นมา Duke วิ่งลงจากเครื่องบิน ตรงเข้าไปถาโถมกอดครอบครัวและลูกๆของตน นี่แปลว่าทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในค่ายนี้ ความร่านรักพิศวรกับ Hot Lips มันกำลังถึงครายุติจบสิ้นลงแล้วหรือนี่

สำหรับเพลงประกอบ มีทั้งนำจากบทเพลงมีชื่อในช่วงสงครามเกาหลี (ส่วนใหญ่เป็นฉบับภาษาญี่ปุ่น) อาทิ Tokyo Shoe Shine Boy, Shina No Yoru, Sayonara ฯ และเรียบเรียงขึ้นใหม่โดย Johnny Mandel มีลักษณะเป็น ‘Incidental Song’ แทรกปรากฎอยู่เรื่อยๆตลอดหนัง

Tokyo Shoe Shine Boy ขับร้องโดย Teruko Akatsuki

บทเพลง Sayonara ขับร้องโดย Kay Cee Jones, หลายคนน่าจะรู้จักคำว่า Sayonara เป็นคำร่ำลาแปลว่า Good Bye ดังขึ้นตอนที่ Major Frank Burns ถูกจับใส่ชุดคนบ้าพาตัวขึ้นรถจิ๊บ บ้ายบายลาจากไป

สำหรับ Main Song เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ Altman ต้องการแต่งเพลงที่ ‘stupidest song ever written’ จนแล้วจนรอดก็คิดไม่ออกสักที เลยให้ Mike Altman ลูกชายวัย 14 ปี คิดเขียนเล่นๆภายในเวลา 5 นาที กลายมาเป็น Suicide Is Painless ติดอันดับ 66 ของชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Songs

เกร็ด: Altman ได้รับค่าตัวจากการกำกับหนังเรื่องนี้ $70,000 เหรียญ ขณะที่ลูกชายแต่งเพลงแค่ 5 นาที ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แค่ค่าส่วนแบ่งลิขสิทธิ์อย่างเดียวก็สูงถึง $1 ล้านเหรียญ ร่ำรวยกว่าตนเองเสียอีก

Washington Post March (1889) แต่งโดย John Philip Sousa ถือได้ว่าเป็นเพลงชาติของการเดินสวนสนามของประเทศอเมริกา (และหลายๆประเทศ) ดังขึ้นช่วงขณะการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล เป็นตัวเลือกที่ ‘cool’ มากๆ

สิ่งที่ M*A*S*H สะท้อน-เสียดสี-ต่อต้าน ก็คือการสงคราม ใช้เขียงห้องผ่าตัดเป็นดั่งสถานที่แห่งการสู้รบ เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าตรึงเครียด ซึ่งช่วงเวลาวันว่างๆของเหล่าหมอศัลยกรรม ทำทุกอย่างเพื่อสร้างความสมดุลให้กับชีวิตของตนเอง ระบายความทุกข์ทรมานคับคลั่งแค้นเหล่านั้นออกมา อาทิ
– เกี้ยวพาราสีหญิงสาว โน้มน้าวให้กลายเป็นชู้รักสำราญกายใจ, สะท้อนเกมการเมืองที่ประเทศมหาอำนาจ ต่างจีบบรรดาประเทศต่างๆให้เข้าร่วมเป็นพรรคพวกฝั่งฝ่ายเดียวกัน
– หมอฟัน นกเขาไม่ขันฟันสาวไม่เข้า เพ้อฝันคิดฆ่าตัวตาย ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนๆ หลอกว่าตายแล้วพาขึ้นสรวรรค์, นี่ยังคงสะท้อนเกมการเมืองเช่นกัน จีบสาวอย่างเดียวก็อาจไม่ได้แอ้ม ถ้าประเทศของท่านสร้างผลประโยชน์ให้ชาติเรา (แบบอิรัก อิสราเอล?) เราก็จะค่อยช่วยเหลือสนับสนุนผลักดันท่านให้ได้ขึ้นสวรรค์
– ตรงกันข้ามกับ Ho-Jon บุคคลผู้มิได้มีเชื้อชาติพันธุ์เดียวกัน แค่เป็นเด็กชงเกล้า คิดตั้งใจช่วยเหลือไม่ให้ต้องเกณฑ์ทหารแล้วแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายก็เลยช่างหัวแม้ง เป็นตายร้ายดีมิได้ใคร่สนใจใยดีอีกเลย (Sub-Plot นี้โคตรเหยียดเชื้อชาติเลยนะ)
– ตีกอล์ฟออกรอบ ระบายความอัดอั้นผ่านวงสวิง แล้วพัดให้ลงหลุมเกิดอารมณ์ระรื่นสะใจ, กอล์ฟเป็นกีฬาเชิงสัญลักษณ์ของ การเดินทาง/ต่อสู้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวคือชัยชนะ
– อเมริกันฟุตบอล คนชนคน, นี่สะท้อนกับสงครามการสู้รบตรงๆเลย
ฯลฯ

สิ่งชั่วร้ายต่างๆนานาที่หนังนำเสนอมานี้ ก็เพื่อแหกอกเปิดออกให้ผู้ชมรับรู้พบเห็นความเน่าเฟะเนื้อในของการสงคราม มันไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าเกมการเมืองของผู้มีอำนาจ ที่บ่งการชักใยเดิมพันอยู่เบื้องหลัง ขณะที่ประชาชนตาดำๆจำต้องกลายเป็นทหาร พุ่งชนมุ่งหน้าเข้าหาความตาย ชีวิตแทบไม่มีคุณค่าความหมายอะไรทั้งนั้น

เพราะผู้กำกับ Robert Altman เคยเป็นทหารรับใช้ชาติผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง แต่คงจดจำตราตรึงภาพความโหดร้าย ทุกข์ทรมานฝังจิตฝังใจไม่ลืมเลือน พอสูงวัยขึ้นก็เริ่มครุ่นคิดเองได้ว่ามันเป็นสิ่งไร้สาระคุณค่าโดยสิ้นเชิง สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ตรงไปตรงมา ต้องการต่อต้านการส่งทหารสู่สงครามเวียดนามโดยสิ้นเชิง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนระดับรากหญ้า ให้กระจ่างแจ้งถึงความชั่วร้ายคอรัปชั่นของบรรดากลุ่มผู้นำ ส่งเราไปรบก็แค่คำพูดปากหวาน จิตใจมิได้ใคร่สนใจแคร์ความรู้สึกของพวกคุณเองแม้แต่น้อย

แม้ความตั้งใจของ Altman แสดงทัศนะความต้องการต่อต้านสงครามเวียดนามแบบตรงๆ นำสิ่งอ้างอิงถึงสงครามเกาหลีจากบทหนังตัดทิ้งออกหมดสิ้น แต่เพราะสตูดิโอ Fox ลากพาตัวเขาออกจากห้องตัดต่อ แล้วขอให้ Danford B. Greene แทรกใส่ข้อความต้นเรื่องว่าพื้นหลังของหนังคือช่วงสงครามคาบสมุทรเกาหลี เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการต่อต้านสงครามมากเกินไป ซึ่งนั่นสร้างความไม่พึงพอใจให้ผู้กำกับอย่างมาก ไม่ใยดีร่วมงานกับสตูดิโอ Fox อีกเลยกระมัง

ค.ศ. 1970 ต้องถือว่าเป็นปีทองของหนังสงครามโดยแท้ (สงครามเวียดนามกำลังคุกรุ่นอยู่ด้วย) เพราะสตูดิโอ Fox จัดหนักถึง 3 เรื่อง M*A*S*H, Patton, Tora Tora Tora! (เรื่องหลังเพิ่งได้ฉายเพราะความล่าช้าของโปรดักชั่น)

ด้วยทุนสร้าง $3.025 ล้านเหรียญ ได้รับการคาดหวังว่าต้องขาดทุนย่อยยับเยินแน่ๆ แต่ปรากฎว่าในบรรดาทั้งสามเรื่อง งบประมาณน้อยสุดกลับทำกำไรสูงสุดถึง $81.6 ล้านเหรียญ แถมยังกลายเป็นหนัง Comedy ทำเงินสูงสุดอันดับสองของโลกขณะนั้นถัดจาก The Graduate (1967)

เท่าที่ผมอ่านพบจากความคิดเห็นของชาวอเมริกันรุ่นนั้น สาเหตุที่หนังประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม เพราะใจความต่อต้านสงครามได้สะท้อนความอึดอัดอั้น คับข้องแค้น ที่บรรดาผู้นำอเมริกันตัดสินใจส่งทหารเข้าไปร่วมสู้รบในสงครามเวียดนาม นั่นทำให้เมื่อได้รับชมภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวสุดบัดซบ โคตรเxย แสบๆคับๆ ก็เหมือนได้หลบหนี ระบายความทุกข์ทรมานหนักแน่นอก ราวว่าได้กลับกลายเป็นคนปกติขึ้นมา

หลังจากคว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes แถมทำเงินประสบความสำเร็จล้นหลาม กลายเป็นตัวเต็งสำหรับช่วงประกาศรางวัลปลายปี ซึ่ง M*A*S*H เข้าชิง 5 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actress (Sally Kellerman)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing

พ่ายสาขา Best Picture ให้กับ Patton ไม่ค่อยติดใจเท่าไหร่ แต่การคว้ารางวัลสาขา Best Writing นี่สิ! ด้วยไดเรคชั่น Ad-lib ของผู้กำกับ Altman นักเขียน Ring Lardner Jr. ให้สัมภาษณ์บอกว่า

“There’s not a word that I wrote on screen.”

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดในหนังคือการแสดงของ Donald Sutherland เป็นธรรมชาติได้อย่างลื่นไหล และ Sally Kellerman สมฉายา Hot Lips เร่าร้อนรุนแรงจริงๆ, ส่วนฉากประทับใจสุดคือตอนแข่งอเมริกันฟุตบอล โกงจนชนะแบบคาดไม่ถึง และคำพูดประโยคหนึ่ง

“All right, bub, your fucking head is coming right off”.

อันนี้ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่า M*A*S*H เป็นหนังเรต R เรื่องแรกที่พูดคำว่า ‘Fuck’ (แต่ไม่ใช่หนังเรื่องแรกของโลกที่พูดคำนี้นะครับ)

ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดซีรีย์ M*A*S*H (1972 – 83) ต้องถือว่าโคตรฮิตได้รับความนิยมอย่างสูง กวาดรางวัลทั้ง Emmy และ Golden Globe นับไม่ถ้วน มีทั้งหมด 11 Seasons จำนวน 256 ตอน (เรตติ้งเฉลี่ยเกิน 20)

แนะนำกับคอหนังต่อต้านสงคราม (Anti-War) ชื่นชอบ Satire Black Comedy ตลกเสียดสีแสบๆคันๆ, หมอ พยาบาล ศัลยแพทย์ ดูเอามันส์ก็พอนะ, แฟนๆผู้กำกับ Robert Altman และนักแสดง Donald Sutherland, Elliott Gould, Tom Skerritt, Sally Kelleman, Robert Duvall ไม่ควรพลาด

ไม่จำเป็นต้องฝืนสำหรับคนที่รู้ตัวว่าทนรับมิได้แล้ว แต่ก็ขอให้เกิดสำนึกอย่างหนึ่งว่า สงครามจริงๆมันทำร้ายจิตใจของเรา โหดร้ายรุนแรงกว่าความรู้สึกที่สัมผัสได้จากหนังเรื่องนี้เสียอีก

จัดเรต 18+ กับการกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม ไร้มารยาท

TAGLINE | “M*A*S*H ของผู้กำกับ Robert Altman ได้ทำการชำแระร่างของสงคราม เปิดอกพบเห็นความน่าขยะแขยงภายใน สั่นสะท้านไปถึงขั้วของหัวใจ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: