
Mother Joan of the Angels (1961)
: Jerzy Kawalerowicz ♥♥♥♥
ไม่ว่าแม่อธิการ Joan of the Angels จะถูกซาตานเข้าสิงหรือไม่? ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามท้าทายความเชื่อศรัทธาชาวคริสต์ เมื่อต้องเผชิญหน้าสิ่งชั่วร้ายบุกรุกรานเข้ามาในจิตใจ เราควรโอบกอดยินยอมรับ หรือขับไล่ผลักไสออกห่างไกล
ภาคต่อที่สร้างก่อนหน้า The Devils (1971) ของผู้กำกับ Ken Russell นำเสนอเหตุการณ์ 4 ปีให้หลังจากบาทหลวง Urbain Grandier ถูกตัดสินโทษด้วยการแผดเผามอดไหม้ ตกตายทั้งเป็นในกองไฟ สาเหตุเพราะแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges (หรือก็คือ Mother Joan of the Angels) ทั้งๆไม่เคยพบเจอหน้า กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี แสร้งว่าโดนมนต์ดำ ปีศาจเข้าสิง ให้แสดงพฤติกรรมเต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง
เรื่องราวของ Mother Joan of the Angels (1961) ยังคงเป็นช่วงเวลาที่แม่อธิการ Mother Joan ประเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ แต่ผมรู้สึกว่าหนังพยายามทำเหมือนเธอถูกปีศาจเข้าสิงจริงๆ เพื่อให้อิสระผู้ชมในการขบครุ่นคิดตีความ บาทหลวงคนใหม่จะเผชิญหน้ากับซาตานที่เข้ามารุกรานตนเองเช่นไร?
รับชมหนังทั้งสองเรื่องติดต่อกันทำเอาผมเกือบจะคลุ้มคลั่ง! ปรับอารมณ์แทบไม่ทัน เพราะดันดู The Devils ก่อน Mother Joan of the Angels (เห็นว่ามีลักษณะเป็นภาคต่อก็เลยทำเช่นนั้น) แม้เหตุการณ์ดำเนินต่อกัน แต่มันก็ไม่มีความจำเป็นเช่นนั้นเลยสักนิด เพราะทั้งสองเรื่องมีไดเรคชั่นของผู้กำกับที่แตกต่างขั้วตรงกันข้าม
- The Devils (1971) คือโคตรผลงานเหนือจริง เว่อวังอลังการงานสร้าง เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่ง นัยยะเชิงสัญลักษณ์จักทำให้ผู้ชมแทบสูญเสียสติแตก
- ผู้กำกับ Ken Russell เป็นบุคคลผู้มีความเชื่อศรัทธาอย่างแรงกล้า ไม่ได้แฝงนัยยะต่อต้านศาสนาเลยสักนิด! (แต่คนมักเข้าใจผิดๆจากการมองเนื้อหน้าหนัง)
- Mother Joan of the Angels (1961) มีความเรียบง่าย สงบงาม ใช้ทุนต่ำ นำเสนอในลักษณะ Minimalist สร้างความสยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน
- ผู้กำกับ Jerzy Kawalerowicz เต็มไปด้วยอคติต่อคริสตจักรในประเทศ Poland จึงตั้งคำถามถึงการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา โดยเฉพาะเรื่องของความรัก ระหว่างบาทหลวงกับแม่ชีทำไมถึงถูกตีตราว่าสิ่งต้องห้าม?
ผมอยากแนะนำให้หารับชม Mother Joan of the Angels (1961) แล้วค่อยติดตามด้วย The Devils (1971) น่าจะทำให้คุณสามารถปรับอารมณ์ จากสงบงามสู่คลุ้มบ้าคลั่ง! และอาจทำให้ตระหนักถึงศักยภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องอย่างเท่าเทียมกัน
Jerzy Franciszek Kawalerowicz (1922-2007) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Polish เกิดที่ Gwoździec, Poland (ปัจจุบันคือ Hvizdets, Ukraine) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านเกิดถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียต จึงอพยพมาอยู่ยัง Kraków จากนั้นได้เข้าเรียนวิชาภาพยนตร์ Jana Matejki w Krakowie กลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Zakazane piosenki (1947), ฉายเดี่ยวเรื่องแรก The Village Mill (1952), ผลงานเด่นๆ อาทิ Shadow (1956), Night Train (1959), Mother Joan of the Angels (1961), Pharoah (1966), Death of a President (1977) ฯ
ผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Kawalerowicz จะมุ่งเน้นความเรียบง่าย สไตล์ ‘minimalist’ ใช้เวลาและพื้นที่ว่างสร้างความรู้สึกเวิ้งว่างเปล่า ตัวละครมักเก็บกดดันความรู้สึก ไม่สามารถระบายความอึดอัดคับข้องทรวงใน (สะท้อนกับสถานการณ์การเมืองของประเทศ Poland ยุคสมัยนั้น) ส่วนภาพยนตร์ยุคหลังๆจะมีการแสดงออกทัศนคติทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ
สำหรับ Matka Joanna od Aniołów ดัดแปลงจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ Jarosław Iwaszkiewicz (1894-1980) นักเขียนชาว Polish ผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Nobel Prize สาขาวรรณกรรม ถึงสี่ครั้ง! โดยมีเรื่องราวอ้างอิงถึงเหตุการณ์ ‘Loudun possessions’ ในช่วงศตวรรษที่ 17th แต่เปลี่ยนพื้นหลังจากเมือง Loudun ของฝรั่งเศส มาเป็นเมือง Ludyń (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ Ukrane)
เกร็ด: Jarosław Iwaszkiewicz เขียนเรื่องสั้น Matka Joanna od Aniołów แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 1942 แต่ไม่สามารถตีพิมพ์เพราะอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งหลังจากนั้นก็ถูกนำมารวมกับเรื่องสั้นอื่นๆกลายเป็นหนังสือ Nowa miłość i inne opowiadania (แปลว่า New Love and Other Stories) วางขายปี 1946
สังเกตจากช่วงเวลาที่ Iwaszkiewicz เขียนเรื่องสั้น Matka Joanna od Aniołów ทำให้ผมตระหนักว่าผลงานเรื่องนี้อาจต้องการสะท้อนความรู้สึกเก็บกดดัน อึดอัดอั้น ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเราสามารถเปรียบเทียบแม่อธิการ Mother Joan ก็คือพวกผู้นำประเทศบ้าสงครามเหล่านั้น ไม่รู้ถูกปีศาจร้ายเข้าสิงหรือไร
ผู้กำกับ Kawalerowicz ดัดแปลงบทร่วมกับ Tadeusz Konwicki (1926-2015) นักเขียนนวนิยาย ที่ต่อมาผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ดังๆอย่าง The Last Day of Summer (1958), All Souls’ Day (1961), Salto (1965) ฯลฯ ทั้งสองมีโอกาสร่วมงานทั้งหมดสามครั้ง Mother Joan of the Angels (1961), Pharaoh (1966) และ Austeria (1982)
บทภาพยนตร์ค่อนข้างจะซื่อตรงจากเรื่องสั้น แต่เพราะเนื้อหา(ของเรื่องสั้น)มีน้อยนิด จึงต้องเพิ่มเติมรายละเอียดเข้ามาพอสมควร อาทิ
- เรื่องราวของ Sister Malgorzata แอบตกหลุมรัก Chrząszczewski ถึงขนาดตัดสินใจทอดทิ้งอารามชี
- เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวง Józef Suryn กับแม่อธิการ Mother Joan
- การเผชิญหน้าระหว่างบาทหลวง Józef Suryn กับ Rabbi (ผู้นำศาสนาของชาวยิว)
- เหมือนกระจก อีกตัวตนขั้วตรงข้าม (รับบทโดยนักแสดงคนเดียวกัน)
เห็นว่าบทหนังพัฒนาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 1955-56 ผู้กำกับ Kawalerowicz ตั้งใจให้เป็นโปรเจคต่อจาก Shadow (1956) แต่กลับถูกห้ามปรามโดยพรรคคอมมิวนิสต์ Poland เพราะกลัวสร้างขัดแย้งให้กับคริสตจักร เลยจำต้องขึ้นหิ้งเอาไว้ก่อนจนกระทั่งปี 1960 ถึงได้รับการตอบอนุมัติ ด้วยคำแนะนำ(เชิงบังคับ)ให้ปรับเปลี่ยนแม่อธิการ Mother Joan จากเคยพิการหลังค่อม กลายมาเป็นบุคคลปกติ … แม้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ผู้กำกับ Kawalerowicz ก็จำต้องยินยอมปรับแก้ไขบทหนังในส่วนนั้น เพื่อให้ได้รับโอกาสในการสรรค์สร้างภาพยนตร์
เรื่องราวของบาทหลวง Józef Suryn (รับบทโดย Mieczyslaw Voit) ได้รับมอบหมายให้เดินทางมาสืบสวนเหตุการณ์ ‘ปีศาจเข้าสิง’ อารามชีของ Mother Joan (Lucyna Winnicka) ที่ถึงขนาดทำให้บาทหลวงคนเก่า Father Garniec (หรือก็คือบาทหลวง Urbain Grandier จาก The Devils (1971)) ต้องถูกแผดเผาไหม้ตกตายทั้งเป็น (ข้อหาพยายามใช้กำลังลวนลาม/ข่มขืนแม่อธิการในอารามชี)
หลังจากบาทหลวง Józef Suryn ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงติดต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการไล่ผี มาช่วยขับไล่ปีศาจร้ายทั้ง 8 ตน แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ เพราะ Mother Joan ยังคงเล่นหูเล่นตา แสดงความยั่วเย้ายวน เกี้ยวพาราสี โน้มน้าวให้เขากระทำตามสิ่งที่ตนร้องขอ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บาทหลวง Józef Suryn เกิดความสับสน จิตใจเรรวนปรวนแปร เกิดความลุ่มร้อนทรวงใน ครุ่นคิดไปว่าตนเองกำลังถูกปีศาจร้ายเข้าสิง แต่แท้จริงคือเขาตกหลุมรัก Mother Joan เลยต้องตัดสินใจเลือกระหว่างยินยอมรับความรู้สึกดังกล่าว หรือหาหนทางขับไล่ ผลักไสส่ง ตีตนออกให้ห่างไกล
Kazimierz Fabisiak (1903-71) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที เกิดที่ Warsaw ร่ำเรียนการแสดงยัง Państwową Szkołę Dramatyczną จากนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นนักแสดง/ผู้กำกับละครเวที ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โด่งดังกับ Mother Joan of the Angels (1960) แล้วการเป็น ‘typecast’ บทบาทหลวง ไล่ผี ไม่ก็ปีศาจจากขุมนรก
รับบท Józef Suryn บาทหลวงวัยกลางคนที่ไม่เคยพานผ่านประสบการณ์ทางโลก ได้รับมอบหมายให้เดินทางมาสืบสวนเหตุการณ์ ‘ปีศาจเข้าสิง’ อารามชีของ Mother Joan แต่เพียงแรกพบเจอก็ทำหัวใจสั่นสะท้าน บังเกิดความสับสนทำไมถึงเกิดอาการลุ่มร้อนทรวงใน ไม่เข้าใจว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับตนเอง ครุ่นคิดว่ากำลังถูกท้าทายโดยซาตาน และท้ายสุดก็ได้กระทำการบางสิ่งอย่าง โดยครุ่นคิดว่าจะทำให้แม่อธิการสามารถหลุดรอดพ้นจากปีศาจร้าย
นอกจากนี้ยังรับบท Rabbi ผู้นำศาสนาชาวยิว แม้ปรากฎตัวไม่กี่นาที แต่ถือเป็นภาพสะท้อน บุคคลขั้วตรงข้ามบาทหลวง Józef Suryn เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีแห่งชีวิต เรียนรู้จักการเผชิญหน้าอีกฟากฝั่งของตัวตนเอง
การแสดงของ Fabisiak ถือว่าเรียบง่ายแต่โคตรๆตราตรึง ภายนอกวางมาดขรึมๆ สงบเสงียมเจียมตน สร้างภาพบาทหลวงผู้อุทิศตนให้ศาสนาได้อย่างมีความน่าเชื่อถือ (กว่า Oliver Reed เป็นไหนๆ) ในช่วงแรกๆสัมผัสได้ถึงความวิตกกังวล นี่ฉันกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร? เมื่อพบเจอ Mother Joan จิตใจก็เต็มไปด้วยอาการขลาดหวาดกลัว สับสนว้าวุ่นวาย จักต้องทำอย่างไรถึงสามารถเอาชนะปีศาจร้าย
ผมชอบการแสดงที่เล่นน้อยแต่ได้มาก พูดคำสั้นๆ น้ำเสียงสั่นๆ ทำสีหน้าสยองขวัญ แค่นั่นแหละก็ทำให้จินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกล สัมผัสได้ถึงความรู้สึกตัวละคร และผู้ชมเกิดอาการสั่นสะท้านทรวงใน
แซว: อาจเพราะ Fabisiak แสดงบทบาทนี้ได้อย่างถึงใจ สั่นสะท้านทรวงใน เลยกลายเป็นภาพจำ ‘typecast’ ที่หลังจากนี้เลยได้เล่นแต่บทซ้ำๆ เลยหวนกลับไปเอาดีกับละครเวทีดีกว่า
Lucyna Winnicka (1928-2013) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Warsaw เรียนจบกฎหมายจาก Uniwersytetu Warszawskiego จากนั้นเปลี่ยนไปร่ำเรียนการแสดงยัง Akademia Teatralna im. Aleksandra Zelwerowicza แล้วรับเลือกเป็นนักแสดง/แต่งงานผู้กำกับ Jerzy Kawalerowicz ร่วมงานขาประจำกันตั้งแต่ Under the Phrygian Star (1954), Shadow (1956), Night Train (1959), Mother Joan of the Angels (1961), Pharaoh (1966) ฯลฯ
รับบทแม่อธิการ Mother Joan of the Angels/Sister Jeanne des Anges อ้างว่าตนเองถูกปีศาจร้าย 8 ตนเข้าสิง ทำให้เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ แม้ทำพิธีขับไล่วิญญาณเหล่านั้นก็ไม่ยินยอมหนีออกไปไหน จนต้องถูกกักขังในอารามชี แล้วยังพยายามเกี้ยวพาราสีบาทหลวง Józef Suryn ท้ายสุดก็ไม่รู้ว่าตกลงแล้วทั้งหมดคือเรื่องจริงหรือเล่นละคอนตบตา และปีศาจร้ายทั้งแปดถูกขับสำเร็จหรือไม่
ดวงตากลมโตของ Winnicka ช่างเต็มไปด้วยความพิศวง น่าหลงใหล เมื่อเธอจับจ้องมองหน้ากล้องแบบไม่กระพริบตา (Breaking the Fourth Wall) น่าจะทำให้หลายๆคนเกิดความสั่นสะท้านทรวงใน หัวใจเต้นแรง รู้สึกขนลุกขนพอง เหมือนปีศาจร้ายในหนังสยองขวัญ … แค่ภาษากายของเธอแม้งก็โคตรหลอกหลอนชิบหาย (สำหรับคนที่สามารถสัมผัสได้)
นอกจากดวงตา ยังมีท่วงท่าเมื่อขณะ(อ้างว่า)ถูกปีศาจร้ายเข้าสิง มีความบิดพริ้ว อ่อนช้อย จนดูน่าหวาดสะพรึงอยู่ไม่น้อย ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนั่งท่าสะพานโค้ง เล่นเองหรือใช้นักแสดงแทน ผมเห็นแล้วยังรู้สึกหวาดเสียวแทน ซึ่งวิญญาณร้ายทั้ง 8 ก็ล้วนแสดงอากัปกิริยาที่แตกต่างกันไป ก็ต้องชมในความคิดสร้างสรรค์ตัวละครด้วยเช่นเดียวกัน
Anna Ciepielewska (1936-2006) นักแสดงสัญชาติ Polish เกิดที่ Ostróg ร่ำเรียนการแสดงยัง Akademia Teatralna im. Aleksandra Zelwerowicza จากนั้นมีผลงานละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก The Hours of Hope (1955), โด่งดังกับ Mother Joan of the Angels (1960), ผลงานอื่นๆ อาทิ Passenger (1963), Three Steps on Earth (1965) ฯลฯ
รับบทแม่ชี Sister Malgorzata รับหน้าที่เปิด-ปิดประตูอารามชี และติดต่อทำธุระกับผู้คนในหมู่บ้าน กระทั่งวันหนึ่งพบเจอตกหลุมรักพ่อค้าหนุ่ม Chrząszczewski เดินทางมาค้าขายยังต่างถิ่น ถึงขนาดตัดสินใจละทิ้งอารามชี เปลี่ยนชื่อเป็น Margareth คาดหวังจะพากันหลบหนี เดินทางไปอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่…
ขณะที่บาทหลวง & แม่อธิการ ต่างมีความเคร่งขรึม และคลุ้มคลั่ง อย่างน้อยหนังก็ยังมีตัวละครนี้ที่สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ขับร้องเพลง เต้นเริงระบำ ไม่สนภาพลักษณ์แม่ชี ต้องการมีชีวิตอิสรภาพ ใครสักคนนำพาฉันออกไปจากสถานที่น่าเบื่อหน่ายแห่งนี้
Ciepielewska น่าจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ในวงการ จึงยังมีความสนใสร่าเริง บริสุทธิ์ไร้เดียงสา (ทั้งร่างกายและจิตใจ) ทำให้ผู้ชมตกหลุมรัก อำนวยอวยพรให้มีโอกาสครองคู่ชายในฝัน และเมื่อเธอถูกทอดทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใย ย่อมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน ทำไมถึงทำกับฉันได้!
แม้เป็นตัวละครที่เหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับบาทหลวง & แม่อธิการ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอสามารถสะท้อนความสัมพันธ์ อธิบายสาเหตุผลว่ามันบังเกิดอะไรขึ้นระหว่างพวกเขาทั้งสอง หรือคือการที่ตัวละครได้ตกหลุมรัก (แรกพบ) และสูญเสียมันไป (อธิบายตรงๆก็คือบาทหลวง Józef Suryn ตกหลุมรักแม่อธิการ Mother Joan และยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้สูญเสียความรู้สึกนั้นไป)
ถ่ายภาพโดย Jerzy Wójcik (1930-2019) สัญชาติ Polish สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก National Film School in Łódź เริ่มทำงานเป็นตากล้องกองสองภาพยนตร์ Kanał (1957), โด่งดังจากผลงาน Ashes and Diamonds (1958), Mother Joan of the Angels (1961), Pharaoh (1966), Westerplatte (1967), The Deluge (1974) ฯลฯ
ทั้งงานสร้างและการถ่ายภาพของหนัง จะเน้นความเรียบง่าย ‘minimalist’ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีการขยับเคลื่อนไหว นานๆครั้งถึงแพนนิ่ง แทร็กกิ้ง แต่ก็อย่างเชื่องช้าน่าหลับ (ผมฟุบไปสองรอบ) เว้นที่พื้นที่ว่าง ระยะห่าง บ่อยครั้งมักเป็นการสนทนาระหว่างสองบุคคล ยืน-นั่ง-เดิน เวียนวนไปวนมา แถมบางครั้งให้นักแสดงหันมาพูดคุยสบตาหน้ากล้อง ไม่เชิงว่าเป็น Breaking the Fourth Wall (แต่จะมองเช่นนั้นก็ได้) เพื่อสร้างสัมผัสของสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติ (เหมือนปีศาจกำลังจับจ้องมองหาผู้ชม) เกิดความสยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน
ส่วนตัวมองไฮไลท์ของงานภาพคือ ความตัดกันระหว่างสีขาว-ดำ ไม่ใช่แค่ชุดของบาทหลวงและแม่ชีอธิการ แต่การจัดแสง-เงามืดที่อาบฉาบทั้งสองตัวละคร มีความเข้มข้น จนบางครั้งกลมกลืนพื้นหลังจนแยกไม่ออก ต้องซูฮกเลยว่าใช้ประโยชน์จากฟีล์มขาว-ดำได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก!
สถานที่ถ่ายทำของหนังคือเมือง Józefów ในจังหวัด Masovian ห่างจากกรุง Warsaw ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร, โดยทำการก่อสร้างโรงแรมและอารามชีขึ้นใหม่หมด ออกแบบโดย Roman Mann แต่ระหว่างเตรียมงานสร้างประสบอุบัติเหตุ(ทางรถ)จนเสียชีวิต Tadeusz Wybult เลยเข้ามาสานงานต่อจนแล้วเสร็จ
Opening Credit ไร้ซึ่งบทเพลงประกอบใดๆ เพียงเสียงสวดมนต์ อธิษฐานถึงพระเป็นเจ้าของบาทหลวง Józef Suryn ด้วยการทิ้งตัวลงนอนราบบนพื้น กางแขนสองข้างเหมือนท่าไม้กางเขน แสดงถึงการยินยอมศิโรราบต่อทุกสิ่งอย่าง น้อมรับองค์พระผู้เป็นเจ้าว่าทรงเป็นเจ้าชีวิต มอบตนเองให้เป็นทาสของพระองค์ (ผมไม่แน่ใจว่ามีชื่อเรียกท่านี้การภาวนานี้ไหมนะครับ)
ปล. ท่วงท่านี้ทำให้ผมนึกถึงการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ของชาวทิเบต หรือผู้นับถือพุทธศาสนาลัทธิตันตรยานหรือวัชรยาน ถือเพื่อเป็นการเคารพกราบไว้ขั้นสูงสูงที่มนุษย์สามารถกระทำได้
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้สังเกตก็คือสีพื้นกับชุดของบาทหลวง มันช่างมีความกลมกลืนจนแทบกลายเป็นอันหนึ่งเดียว บางคนอาจแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำ นี่คือการใช้ประโยชน์จากฟีล์มขาว-ดำ สามารถพบเห็นอยู่บ่อยครั้งทีเดียวๆ

นอกจากความกลมกลืนของสี หนังยังมีจุดเด่นในการใช้พื้นที่ว่าง สร้างระยะห่าง ด้วยองค์ประกอบที่มีความเรียบง่าย น้อยนิดเดียว ‘minimalist’ อย่างเมื่อตอนบาทหลวง Józef Suryn เปิดประตูเข้ามาในห้องโถงโรงแรม สถานที่แห่งนี้ช่างเวิ้งว่างเปล่า บรรยากาศทะมึน อึมครึม นอกจากเสียงบรรเลงแมนโดลิน ก็แทบไร้ชีวิตชีวาอันใด
ภาพช็อตนี้แค่ตำแหน่ง/ทิศทางการนั่งระหว่างสองตัวละคร ตั้งฉาก 90 องศา ก็แสดงให้ถึงความแตกต่างตรงกันข้าม
- บาทหลวง Józef Suryn นั่งอยู่ด้านข้าง (แสดงถึงผู้ทำตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ) ท่าทางสงบเสงี่ยมเจียมตน รับประทานอาหารแต่น้อยนิด เพียงพอดี (จะว่าไปก็สอดคล้องสไตล์ ‘minimalist’ ของหนังด้วยนะ)
- ผิดกับชายที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ (ทำตัวเหมือนเจ้านาย(ตนเอง) ชอบวางอำนาจบาดใหญ่) ซดน้ำซุบอย่างมูมมาม ตะกละตะกลาม ไม่สนมารยาท ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับกิเลสตัณหาราคะ
แซว: ภาพช็อตนี้ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง The Turin Horse (2011) ของผู้กำกับ Béla Tarr ระหว่างตัวละครพ่อ-ลูกกำลังนั่งรับประทานอาหาร ด้วยท่าทางเหน็ดเหนื่อ เบื่อหน่าย หมดสิ้นหวังอาลัย

ระหว่างกำลังก้าวเดินจากโรงแรมสู่อารามชี แม้ระยะทางไม่ไกลแต่ใช้เวลาเยิ่นยาวนานพอสมควร (ให้ความรู้สึกเหมือนการเดินทางจากโลกมนุษย์ → สู่สรวงสวรรค์ (หรือขุมนรก)) บาทหลวง Józef Suryn ได้พานผ่านแท่นไม้ที่มีสภาพขี้เถ้าถ่าน (บริเวณกึ่งกลางระหว่างโลกมนุษย์ <> สรวงสวรรค์) คือบริเวณที่บาทหลวงคนเก่า Father Garniec ได้ถูกแผดเผาไหม้ เพราะไม่สามารถควบคุมตนเองหลังจากพบเห็นพฤติกรรมยั่วเย้ายวนของบรรดาแม่ชี (กล่าวคือบวชเป็นบาทหลวง แต่ไม่สามารถตัดขาดทางโลก เลยถูกแผดเผาไหม้ยังบริเวณกึ่งกลางระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์)
และเมื่อใกล้จะถึงอารามชี ระหว่างคุกเข่าอธิษฐานขอพรพระเป็นเจ้า จะมีเด็กหญิงตัวกระเปี๊ยกวิ่งวนรอบตัวเขา เพื่อสื่อถึงสภาพจิตใจที่ยังมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา (แม้อายุมากจนศีรษะล้านแล้วก็เถอะ) เจ้าตัวเองก็เคยบอกว่ามีความอ่อนเยาว์ต่อวิถีทางโลก ต่อจากนี้กำลังต้องเผชิญหน้าสิ่งชั่วร้าย เลยเต็มไปด้วยอาการขลาดหวาดกลัว ไม่รู้จะสามารถเอาตัวรอดกลับมาได้รึเปล่า

ครั้งแรกพบเจอระหว่างบาทหลวง Józef Suryn และแม่อธิการ Mother Joan ผมขอแบ่งออกเป็นสองช่วงขณะ
- แม่อธิการ Mother Joan ขณะยังมีความเป็นมนุษย์
- การสนทนาจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย ด้วยถ้อยคำสุภาพ ห่วงใย เกรงใจกัน
- ท่าทางมีความสงบงาม อ่อนหวาน เรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้
- กล้องแทบไม่การขยับเคลื่อนไหว ใช้การตัดต่อสลับสับเปลี่ยนระยะภาพ ซึ่งจะมีความใกล้ชิดขึ้นทีละระดับจนอทั้งสองยู่ร่วมเฟรมเดียวกัน
- หลังจากแม่อธิการ Mother Joan (แสร้งว่า)ถูกปีศาจร้ายเข้าสิง
- จู่ๆพ่นถ่อยคำหยาบคาย ดัดเสียงให้มีความวิปริต ผิดปกติจากที่มนุษย์สนทนากัน
- แสดงสีหน้าอันเกรี้ยวกราด ท่าทางกวัดแกว่ง กรีดกราย ตะเกียกตะกายฝาผนัง คืบคลานเข้ามาหาหลวงพ่อ Józef Suryn
- กล้องมีการเคลื่อนเลื่อนไหล โฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เพื่อสร้างความคลุ้มบ้าคลั่ง
- เมื่อถ่ายใบหน้าแม่อธิการ สังเกตว่ามุมกล้องก้มลง (จริงๆคือเธอย่อตัวลง) เพื่อให้เห็นถึงความตกต่ำทางจิตใจ ปีศาจร้ายมาจากขุมนรก จนถูกถีบส่ง ผลักไส ตีตนออกให้ห่างไกล
รอยฝ่ามือมาจากไหน? จู่ๆก็ปรากฎขึ้น ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่ามันมีขนาดใหญ่กว่ามือของ Mother Joan เสียอีกนะ! เหมือนต้องการล่อหลอกผู้ชมถึงการมีตัวตนของสิ่งเหนือธรรมชาติ อาจจะเป็นปีศาจร้ายที่เข้าสิงแม่อธิการ … แต่ก็แล้วแต่ผู้ชมจะครุ่นคิดตีความ



ฉากการไล่ผีหมู่? เริ่มต้นด้วยการเดินเรียงแถวของแม่ชี (โดยจะมี Sister Malgorzata เดินหมุนๆ ทำตัวผิดแผกแตกต่างจากคนอื่น) เข้ามายังสถานที่ทำพิธีมิสซา ตามด้วยบรรดาบาทหลวง (และ Józef Suryn) จากนั้นแม่อธิการ Mother Joan จะแสดงอาการผีเข้าด้วยการทำท่าสะพานโค้ง (สื่อถึงโลกทัศน์ที่พลิกกลับตารปัตร) แล้วถูกจับมัด เอาไม้กางเขนมารุมล้อม … แต่ไม่เห็นจะทำอะไรได้สักอย่าง
ก่อนจบลงด้วยภาพที่ถือเป็น ‘iconic’ ของหนัง บรรดาแม่ชีทั้งหมดต่างทิ้งตัวลงนอนบนพื้น กางแขนเหมือนไม้กางเขน ท่าทางเดียวกับบาทหลวง Józef Suryn เมื่อตอน Opening Credit แสดงถึงการยินยอมศิโรราบทุกสิ่งอย่างต่อ … พระเจ้าหรือซาตานกันแน่??



ทั้งบาทหลวง Józef Suryn และแม่ชี Mother Joan ต่างใช้แส้ฟาดหลัง กระทำทัณฑ์ทรมานตนเอง เพื่อไม่ให้จิตใจบังเกิดความเรรวนปรวนแปรต่อเหตุการณ์ทั้งหลายบังเกิดขึ้น แต่โดยไม่รู้ตัวพวกเขาบังเอิ้ญอยู่ในสถานที่เดียวกัน ถ้าเป็นหนังโรแมนติกคงต้องถือว่าเป็นโชคชะตาฟ้าลิขิต การเผชิญหน้าครั้งนี้จึงสร้างความกระอักกระอ่วน สันสนว้าวุ่นวาย และทำให้ทั้งสองต่างรู้สึกลุ่มร้อนทรวงในยิ่งๆขึ้นอีก
ระหว่างยังคงรักษาภาพลักษณ์ ทั้งสองก้าวเดินมาจนถึงโถงทางเดิน Mother Joan จึงมิอาจอดรนทน ถึงขนาดยินยอมพูดบอกความใน นั่นทำให้บาทหลวง Józef Suryn ติดสินใจวิ่งหลบหนี ทอดทิ้งให้เธอนอนกองอยู่บนพื้น ต้องการเอาตัวรอดโดยไม่สนอะไรอื่น … นั่นทำให้โถงทางเดินที่จะปรากฎขึ้นครั้งถัดๆมา จักปกคลุมอยู่ในความมืดมิด เพื่อสะท้อนสภาพจิตใจของเขาที่ถูกสิ่งชั่วร้ายคืบคลานเข้ามา


ด้วยความสับสน ไม่เข้าใจตนเอง ทำไมภายในถึงรู้สึกลุ่มร้อนดั่งเปลวไฟ เลยมายืนร่ำไห้บนเสาไม้ที่เคยถูกใช้แผดเผาบาทหลวงคนก่อน (กายภาพ→จิตภาพ) โดยไม่รู้ตัวคราบขี้เถ้าสีดำติดมายังฝ่ามือ นั่นแสดงถึงความแปดเปื้อนของบาทหลวง Józef Suryn สูญเสียจิตใจอันบริสุทธิ์ ราวกับกำลังถูกปีศาจร้ายเข้ามาควบคุมครอบงำ (แท้จริงการความรู้สึกตกหลุมรักแม่อธิการ)

เรื่องราวของ Sister Malgorzata เพราะความละอ่อนเยาว์วัย เหมือนจะเพิ่งเป็นแม่ชีได้ไม่กี่ปี จึงยังไม่มีบางสิ่งค้ำคออย่างแม่อธิการ Mother Joan (คงเพราะอยู่มาหลายปีจนสามารถไต่เต้า กลายเป็นผู้ปกครองอารามชี) เลยพร้อมที่จะแสดงออกความต้องการอย่างไม่กลัวเกรงอะไร โอบกอดพรอดรักพ่อค้าหนุ่ม Chrzaszczewski ไฟราคะคุกรุ่นในความมืดมิด และเสียงแมนโดลินของเจ้าของโรงแรมเสริมเติมบรรยากาศโรแมนติก
นี่คือสิ่งควรบังเกิดขึ้นระหว่าง Jozef Suryn และ Mother Joan ถ้าทั้งสองไร้ซึ่งคำนำหน้าบาทหลวงและแม่อธิการ ย่อมไม่ต้องอดรนทน เก็บกดดันความรู้สึกภายใน เมื่อพบเจอตกหลุมรัก ก็ถาโถมเข้าใส่ เติมเต็มความต้องการของหัวใจ มันผิดอะไรที่คนสองจะแสดงออก ‘ความรัก’

จู่ๆก็ถูกพาเข้ามาในบ้านพักหลังหนึ่ง ไร้ซึ่งหน้าต่าง ปกคลุมอยู่ในความมืดมิด แต่บุคคลที่บาทหลวง Józef Suryn พบเจอนั้นคือ Rabbi ผู้นำศาสนายิว ไว้หนวดเครายาวครึ้ม แต่ทั้งสองคือนักแสดงคนเดียวกัน (สังเกตว่าตัวละครไม่เคยอยู่ร่วมเฟรมสักครั้ง!) … สถานที่แห่งนี้สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ ภายในจิตใจของบาทหลวง Józef Suryn
หลังจากรับฟังการพูดคุยสนทนา น่าจะทำให้ใครๆตระหนักได้ว่า Rabbi คนนี้มีความแตกต่างตรงกันข้ามกับบาทหลวง Józef Suryn นั่นแสดงถึงการเป็นกระจกสะท้อนตัวตน คนหนึ่งยืนแน่นิ่ง อีกคนนั่งโยกเก้าอี้ พยายามโต้ถกเถียง แสดงคิดเห็นผ่านมุมมองส่วนตน จนต่างคนต่างไม่สามารถยินยอมรับฟัง แต่ถึงอย่างนั้นทั้งสองกลับสามารถเติมเต็มกันและกัน กลายเป็นอันหนึ่งเดียว ไม่มีทางพลัดพรากแยกจาก … เพราะพวกเขาต่างก็คือบาทหลวง Józef Suryn


ถ้าไม่มีกรงขังห้อมล้อม เชื่อเลยว่าบาทหลวง Józef Suryn ต้องถาโถมเข้าไปฉุดกระชาก ข่มขืนกระทำชำเราแม่อธิการ Mother Joan แต่เพราะมันมีสิ่งกีดกั้นขวาง แถมหน้าต่างมีหูประตูมีช่อง (มีใครบางคนแอบจับจ้องมองมา) เขาเลยทำได้เพียงสัมผัสมือ ร่ำร้องขอคำอวยพร ก่อนได้รับการจุมพิต (มั้งนะ) จนแสดงอาการคลุ้มคลั่งออกมา
กรงอันนี้ที่มีจุดประสงค์กักขังแม่อธิการ Mother Joan ไม่ให้ก้าวออกมากระทำร้ายใคร กลับกลายเป็นว่าถูกใช้ปกป้องตนเองจากบาทหลวง Józef Suryn เมื่อมิอาจอยู่เคียงชิดใกล้ จึงไม่สามารถควบคุมตนเอง และกลายเป็นคนสูญเสียสติแตกในที่สุด

เพียงการแพนนิ่งจากขวาไปซ้าย ซ้ายไปขวา ภาพช็อตนี้ก็ราวกับสองตัวเลือกของบาทหลวง Józef Suryn ว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อไป
- หนทางแรก ขับไล่ผลักไสสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากจิตใจของตนเอง … ภาพแรกจะมีเด็กชายวิ่งออกทางช่องว่างด้านหลัง
- หนทางสอง ยินยอมโอบรับซาตานเข้ามาในหัวใจ … หลวงพ่อด้านหลังตักน้ำขึ้นมาดื่มกินเข้ามาในร่างกาย


มันผิดอะไรที่มนุษย์จะมีความครึ้นครื้นเครง บรรเลงเพลง โยกเต้นรำ? เมื่อเทียบกับยุคสมัยนี้ผับบาร์ คาราโอเกะ ที่มีความสวิงกิ้งสุดเหวี่ยง ฉากนี้แทบจะไม่มีอะไรให้กล่าวถึง (โคตรจะ ‘minimalist’) แต่ทั้งพุทธและคริสต์ ต่างกล่าวถึงการปล่อยจิตใจให้ลุ่มหลงระเริงไปกับความบันเทิงเริงรมณ์ สิ่งต่างๆรอบข้างกาย นั่นคือพฤติกรรมนำสู่ความประมาท ขาดสำรวม สูญเสียสติที่ใช้ควบคุมตนเอง ใครถือศีล ๑๐ ก็น่าจะรับรู้จักข้อ ๗
นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์)
พุทธศาสนาไม่ได้ห้ามการร้องรำทำเพลงนะครับ เพราะทศศีล คือการรักษาระเบียบทางกาย-วาจา ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดให้ยิ่งๆขึ้นไป สำหรับการเจริญสติ ฝึกฝนสมาธิ … จะว่าไปภาพยนตร์ก็ถือเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน
แซว: ฉากนี้แม้ทำเหมือนชาวบ้านเป็นฝ่ายผิด ที่ทำการร้อง-เล่น-เต้น ไม่สนหลักคำสอนศาสนา แต่กลับเป็นบาทหลวง Józef Suryn ที่สภาพภายในใกล้จะคลุ้มบ้าคลั่ง ควบคุมสติตนเองแทบไม่อยู่ จนครุ่นคิดกระทำสิ่งอันชั่วร้าย

สองชายเลี้ยงม้า คนหนึ่งเอ่อล้นด้วยความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า อีกคนหนึ่งไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่แต่มักถูกโน้มน้าวให้รู้จักการให้อภัย แม้ถูกบิดาใช้ความรุนแรง กระทำร้ายร่างกาย ยังสวดอธิษฐานก่อนนอน ขอพระเป็นเจ้ายกโทษให้อภัยเขา … นี่ก็แอบบอกใบ้ ‘Death Flag’ โดยไม่ทันรับรู้ตัว
ชายหนุ่มทั้งสองเป็นตัวแทนของประชาชน คนบริสุทธิ์ตาดำๆ ที่ไม่เคยกระทำสิ่งชั่วร้ายอันใด แถมเอ่อล้นด้วยความเชื่อศรัทธา แต่กลับตกเป็นเหยื่อผู้โชคร้ายของบุคคลอ้างศีลธรรมศาสนา โศกนาฎกรรมตกตายไปอย่างไร้สาระ … ราวกับลูกแกะน้อยถูกเชือดกลายเป็นสิ่งของบูชายันต์แก่พระเป็นเจ้า

ภาพแรกมีการทำให้กล้องสั่นๆ แล้วเงามืดค่อยๆเคลื่อนเข้าปกคลุมใบหน้าบาทหลวง Józef Suryn เพื่อสื่อถึงสภาพจิตใจที่กำลังถูกกลืนกินโดยสิ่งชั่วร้าย พยายามต่อสู้ขัดขืน ขับไล่ผลักไส แต่สุดท้ายตัดสินใจยินยอมรับความพ่ายแพ้ เดินเข้าไปในโรงนา หยิบคว้าขวาน แล้วกระทำการ … ที่สร้างความแตกตื่นให้ม้าทั้งสองตัว
ขวานผ่าฝืน คือสัญลักษณ์ของการทำให้สิ่งหนึ่งแบ่งแยกออกจากกัน ในบริบทนี้นอกจากใช้เป็นอุปกรณ์เข่นฆาตกรรม ยังสื่อถึงการตัดขาด/ทำลายจิตใจอันบริสุทธิ์ของตนเอง เพื่อก้าวสู่ด้านมืดมิด โอบรับสิ่งชั่วร้าย ศิโรราบต่อซาตาน
ผมชอบช็อตแตกตื่นของเจ้าม้ามากๆ คาดว่าทีมงานคงแอบตั้งกล้องไว้สำหรับถ่ายทำตอนกลางคืน แล้วจู่ๆก็เปิดไฟ ฉายสป็อตไลท์ นั่นย่อมสร้างความตระหนักตกใจ ดวงตาเต็มไปด้วยอาการหวาดสะพรึงกลัว นี่มันเกิดห่าเหวอะไรขึ้น



นี่เป็นอีกช็อตที่ใช้ประโยชน์จากฟีล์มขาวดำได้ทรงพลังมากๆ เพราะบาทหลวง Józef Suryn สวมชุดสีดำ มันเลยมีความกลมกลืนกับเงามืดที่อยู่ด้านหลัง จนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสิ่งๆเดียวกัน สื่อถึงการเข้าสู่ด้านมืด ยินยอมศิโรราบกับซาตาน โอบรับปีศาจร้ายเข้ามาในตนเอง และหันหลังให้มวลมนุษยชาติ
อีกสิ่งน่าสนใจของช็อตนี้ก็คือลวดลายผนังกำแพง (น่าจะในโรงนากระมัง) คงเป็นความจงใจไม่ทำให้ดำขลับ (จนกลมกลืนไปกับเสื้อผ้าและเงามืด) เพื่อให้เห็นลักษณะของการถูกสีเข้มๆทาทับ หรือคือจิตใจที่เคยบริสุทธิ์ของบาทหลวง Józef Suryn ขณะนี้ได้ถูกแปดเปื้อนจากสิ่งชั่วร้าย

ภาพสุดท้ายของหนังถ่ายมุมเงยขึ้นบนท้องฟ้า พบเห็นดวงอาทิตย์สาดแสงสลัวๆ (ข้อจำกัดของฟีล์มขาว-ดำ ทำให้ดวงอาทิตย์กลมกลืนไปกับท้องฟ้า) สลับกับความมืดมิดที่อยู่ภายใต้การโยกสั่นระฆัง ก่อนเฟดเข้า Closing Credit พื้นหลังปกคลุมด้วยสีดำสนิท
ช่วงต้นเรื่องมีการกล่าวถึงเสียงระฆัง เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหมู่บ้านแห่งนี้ เพื่อให้นักเดินทางที่พลัดหลงในป่าใหญ่ (แถวนี้มันมีป่าด้วยเหรอ?) สามารถติดตามเสียงที่ได้ยินกลับออกมา
นักเดินทาง: The bells. Why are they ringing?
ชาวบ้าน: It’s a local custom. For lost travelers. Bishop’s orders. For those lost in the forest. The forest is dangerous.
ตอนจบขอหนังนี้คงต้องการสื่อถึงทั้งบาทหลวง Józef Suryn และแม่อธิการ Mother Joan ที่ต่างกำลัง(ลุ่ม)หลงทางในความเชื่อศรัทธาของตนเอง จนไม่สามารถหาหนทางกลับสู่โลกความจริง! ส่วนการสลับจากขาวเป็นดำ จากดำเป็นขาว หรือแสงสว่าง <> มืดมิด สะท้อนวิถีของมนุษย์ยุคสมัยนั้น (รวมถึงบาทหลวงและแม่อธิการ) เห็นผิดเป็นชอบ กลับกลอกปอกลอก โดยเฉพาะการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา ใช้ข้ออ้างศีลธรรมเพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน จักนำพาให้โลกก้าวสู่ความมืดมิด


ตัดต่อโดย Wiesława Otocka,
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาบาทหลวง Józef Suryn ตั้งแต่เดินทางมาถึงเมือง Ludyń หลังจากเข้าพักในโรงแรม เดินทางไปเยียมเยียนแม่อธิการ Mother Joan หลังจากพูดคุยสนทนา ตัดสินใจเชิญบาทหลวงที่มีความสามารถในการขับไล่ปีศาจร้าย ถึงอย่างนั้นพวกมันกลับไม่ยินยอมสูญหายตัวไปไหน ทำให้เขาตัดสินใจยินยอมเสียสละตนเอง
- การมาถึงของบาทหลวง Józef Suryn
- เรื่องวุ่นๆในโรงแรม รับฟังข่าวลือเล่าขานเกี่ยวกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นก่อนหน้า
- ระหว่างเดินทางไปอารามชี พานผ่านเสาไม้ที่ทำการแผดเผาไหม้บาทหลวงคนก่อนหน้า
- บาทหลวง Józef Suryn พูดคุยสนทนากับแม่อธิการ Mother Joan พบเห็นปีศาจร้ายที่เข้าสิงร่างกายเธอ
- พิธีกรรมไล่ผี/ปีศาจร้าย
- ระหว่างแม่ชี Sister Malgorzata แวะเวียนมาทำธุระยังโรงแรม พบเจอตกหลุมรักแรกพบ Chrząszczewski แอบแสดงความปรารถนาของหัวใจ
- พิธีกรรมไล่ผี/ปีศาจร้าย
- หลังพิธีกรรมดังกล่าว บาทหลวง Józef Suryn ก็พบว่าวิญญาณร้ายในร่างของ Mother Joan ยังคงอาศัยอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
- การเผชิญหน้าปีศาจร้าย/ตัวตนเองของบาทหลวง Józef Suryn
- บาทหลวง Józef Suryn เต็มไปด้วยความสับสนในตนเอง ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงบังเกิดความลุ่มร้อนทรวงใน
- ถูกเชิญเข้าพบเจอ Rabbi ผู้นำศาสนาชาวยิว แม้ปฏิเสธรับฟังคำเตือน แต่ก็ทำให้เรียนรู้จักการเผชิญหน้าตัวตนเอง
- บาทหลวง Józef Suryn เผชิญหน้ากับแม่อธิการ Mother Joan รับปากที่จะให้ความช่วยเหลือ ขับไล่วิญญาณร้ายออกจากร่างเธอ
- การเสียสละของบาทหลวง Józef Suryn
- Chrząszczewski หวนกลับมาหา Margareth ช่วงชิงความบริสุทธิ์แล้วจากไป
- ค่ำคืนนั้นบาทหลวง Józef Suryn ตัดสินใจกระทำการเข่นฆาตกรรม โอบรับซาตานเข้ามาในจิตใจ
- เพื่อปลดปล่อยแม่อธิการ Mother Joan ให้ได้รับอิสรภาพจากปีศาจร้าย
การตัดต่อของหนังแม้ไม่ได้มีความหวือหวา น่าตื่นตาตื่นใจอะไร แต่เต็มไปด้วยช่องว่างสำหรับให้ผู้ชมเติมเต็มความครุ่นคิดจินตนาการ อย่างไคลน์แม็กซ์ถ่ายให้เห็นเพียงบาทหลวง Józef Suryn หยิบขวาน เดินเข้าโรงนา ตามด้วยเจ้าม้ามีสีหน้าตื่นตกอกตกใจ แล้วตัดสู่เช้าวันใหม่ถึงค่อยมีการพูดเล่าว่าบังเกิดเหตุการณ์อะไร
หนังถือว่าไม่มีบทเพลงประกอบ (Soundtrack) ส่วนใหญ่เป็นความเงียบงันซึ่งสามารถสร้างบรรยากาศตึงเครียด เก็บกดดัน ถึงอย่างนั้นก็พอยังมี ‘diegetic music’ พบเห็นบรรเลง Mandolin (รวมถึงเครื่องดนตรีอื่นๆ) และขับร้อง/ประสานเสียงแม่ชี (พิธีมิสซา/ไล่ผี ก็เช่นเดียวกัน) ทั้งหมดล้วนประพันธ์โดยคีตกวี Adam Walaciński
Adam Walaciński (1928-2015) คีตกวีสัญชาติ Polish ร่ำเรียนดนตรีจาก Akademia Muzyczna im. Krzysztofa Pendereckiego w Krakowie เริ่มจากสนใจด้านไวโอลิน ก่อนเปลี่ยนสาขาประพันธ์เพลง หลังเรียนจบเป็นนักดนตรี(ไวโอลิน)ประจำ Krakowskiej Orkiestrze Polskiego Radia ระหว่างนั้นก็เริ่มประพันธ์เพลงคลาสสิก บัลเล่ต์ อุปรากร รวมถึงภาพยนตร์ อาทิ Mother Joan of the Angels (1961), Pharaoh (1965) ฯลฯ
บทเพลงที่ขับร้องโดย Sister Malgorzata (รับบทโดย Anna Ciepielewska) ถือเป็นสีสันของหนัง สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง เนื้อคำร้องเป็นการหยอกล้อเล่น ถึงชายที่เธอเพิ่งพบเจอ แล้ว(แอบ)ตกหลุมรักแรกพบ ชวนให้ผู้ชมอมยิ้มขึ้นมาทันที!
My dear mother, I’d rather be a nun
than to have a brute for a husband.
He would beat me with his stick.
He would beat me black and blue
so I’d rather be a nun.I’d rather sing in a nunnery choir
than take a beating he thinks I require.
I’d rather sing matins for hours and hours
and be saved from his stick.
ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการไล่ผี เผาแม่มด มักสะท้อนแนวคิดต่อต้านระบอบอำนาจนิยม (Totalitarian) ในสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ก็การบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา เพื่อให้สอดคล้องความต้องการ สนองผลประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวกพ้อง
Mother Joan of the Angels (1961) กล่าวถึงเรื่องต้องห้ามของความรัก ทั้งๆศาสนาคริสต์สอนให้คนมีความรักต่อกัน แต่กลับกีดกั้นความสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวงและแม่ชี ถึงขนาดตีตราว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เรียกความรู้สึกนั้นว่าบาป ถูกปีศาจเข้าสิง ต้องแผดเผาให้มอดไหม้วอดวาย ตกตายทั้งเป็น
Matka Joanna od aniołów is a film against dogma. That is the universal message of the film. It is a love story about a man and a woman who wear church clothes, and whose religion does not allow them to love each other. They often talk about and teach about love—how to love God, how to love each other—and yet they cannot have the love of a man and a woman because of their religion.
Jerzy Kawalerowicz
ความตั้งใจของผู้กำกับ Kawalerowicz ค่อนข้างชัดเจนถึงใจความต่อต้านศาสนา (Anti-Clerical) ต้องการชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัด ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ ทำไมสังคมถึงตีตราความรักระหว่างบาทหลวง-แม่ชี ว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย หักห้าม กีดกัน และถึงขั้นทำให้ตกตายเชียวหรือ?
The devils that possess these characters are the external manifestations of their repressed love. The devils are like sins, opposite to their human nature. It is like the devils give the man and woman an excuse for their human love. Because of that excuse, they are able to love.
คนส่วนใหญ่มักมองปัญหาการใช้อำนาจ วิธีการตัดสินพิพากษา ถูกทัณฑ์ทรมาน แผดเผาให้ตกตาย ใช้ความรุนแรง/อคติต่อต้านมากเกินไปหรือเปล่า?
ความไม่เข้าใจตนเองของทั้งบาทหลวงและแม่ชีต่างหาก คือสิ่งที่น่าฉงนสงสัยว่าศาสนาสอนอะไรพวกเขา ถึงเต็มไปด้วยความเครียด เก็บกดดัน “Sexual Repression” เมื่อไม่ใครสามารถให้คำตอบเลยต้องทรมานตัวเองให้ได้รับความเจ็บปวด แล้วมันจะแก้ปัญหาทางใจได้อย่างไร? … พระพุทธเจ้าเคยบำเพ็ญทุกรกิริยานานถึง 6 ปี ก่อนทรงตระหนักรู้ด้วยตนเองว่านั่นไม่ใช่หนทางแห่งการบรรลุหลุดพ้น
เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็เหมือนพระภิกษุตกหลุมรักหญิงสาวชาวบ้าน มันคือเรื่องทางโลกที่สามารถเกิดขึ้นได้สำหรับปุถุชน แต่การกระทำที่ขัดแย้งต่อศีล คำสัตย์สาบานเคยให้ไว้ต่างหาก รู้ว่าผิดแต่ยังฝืนทำ นั่นคือปาราชิก สิ่งชั่วร้าย มาบวชทำพรือ? คนแสดงหาผลประโยชน์กับศาสนา พอถึงวันตายเดี๋ยวก็รู้เองว่าจะได้รับผลกรรมเช่นไร
อคติต่อศาสนาของผู้กำกับ Kawalerowicz น่าจะมาจากการไม่เคยทำอะไรของคริสตจักรที่เป็นประโยชน์ต่อชาว Polish หนำซ้ำยังให้การสนับสนุนใครก็ตามที่ขึ้นมาปกครองบริหารประเทศ โดยไม่สนความถูกต้องเหมาะสม พฤติกรรมอันโฉดชั่วร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์/สหภาพโซเวียต เอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ไหนละหลักศีลธรรมที่เคยกล่าวอ้างให้ยึดถือเชื่อมั่น
(ผกก. Kawalerowicz เป็นสมาชิกสหพรรคแรงงาน Polish United Workers’ Party เลยไม่แปลกที่จะทำหนังต่อต้านรัฐบาล ศาสนา ฝั่งฝ่ายขั้วตรงกันข้ามกับประชาชน)
อาการผีเข้าของแม่อธิการ Mother Joan แม้หนังจะให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ แต่ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะพอมองออกว่าเป็นการเล่นละครตบตา แสร้งว่าบ้า เช่นเดียวกับบาทหลวง Józef Suryn ครุ่นคิดว่าอาการลุ่มร้อนทรวงในคืออิทธิพลจากปีศาจร้าย … แท้จริงแล้วคือการไม่เข้าใจความรู้สึกของตนเอง ทั้งสองฝ่ายแอบตกหลุมรักกันและกัน แต่เพราะมิอาจเปิดเผยสิ่งนั้นออกมา จึงใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างบิดเบือนทุกสิ่งอย่าง
การโอบรับซาตานของบาทหลวง Józef Suryn ด้วยการเข่นฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ ครุ่นคิดเข้าใจว่านั่นคือวิธีการจะช่วยเหลือแม่อธิการ Mother Joan มันจึงคือความบิดเบือน ไร้สาระทั้งเพ ศาสนาแม้งไม่ช่วยอะไร หนำซ้ำยังสนับสนุนให้เข่นฆ่ากันตายเพราะความรัก
โลกยุคสมัยก่อนจะมีการแบ่งขาว-ดำ ออกจากกันอย่างชัดเจน มันจึงมีความเห็นต่างอย่างสุดโต่ง ไม่ใช่มิตรต้องคือศัตรู ถ้าทำไม่ถูกก็ถือว่าผิด แต่มนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งดี-ชั่วในตนเอง การจะรับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่ายขั้วตรงข้าม จึงยังเป็นแนวคิดค่อนข้างใหม่ในยุคสมัยนั้น
การโอบรับซาตาน/สิ่งชั่วร้ายเข้ามาในตนเอง สามารถตีความถึงการเปิดมุมมองโลกทัศน์ ทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่ายขั้วตรงข้าม เรียนรู้จักมุมมอง(เหรียญ)ทั้งสองด้าน ถูก-ผิด ดี-ชั่ว และสามารถเลือกกำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง จะซ้ายหรือขวา ค่อนไปทางไหน หรือกึ่งกลาง หรือไม่เอาสักสิ่งอย่าง
และการที่เราจะสามารถเดินทางสายกลางในพุทธศาสนา มันมีความจำเป็นต้องเรียนรู้จักถูก-ผิด ดี-ชั่ว เข้าใจมุมมองโลกทั้งสองด้าน (แต่ไม่ใช่ว่าต้องไปเข่นฆ่าใครก่อนถึงจะรู้สึกสาสำนึกแก่ใจนะครับ) แล้วเลือกแสดงออกตามวิถี “กฎแห่งกรรม” กระทำสิ่งใดไว้ย่อมได้รับผลนั้นคืนสนอง
ไม่น่าแปลกที่เมื่อตอนออกฉาย หนังจะถูกโจมตีจากคริสตจักรด้วยเหตุผล Anti-Clerical ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถหยุดยับยั้งการเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ถือว่าดียอดเยี่ยม จนสามารถคว้ารางวัล Prix du Jury (Jury Prize) โดยปีนั้น Palme d’Or ตกเป็นของ Viridiana (1961) และ The Long Absence (1961)
ปัจจุบัน Mother Joan of the Angels (1961) ได้รับการบูรณะโดย KinoRP ได้รับทุนสนับสนุนจาก Ministra Kultury i Dziedzictwa Narodowego (Ministry of Culture and National Heritage) ของประเทศ Poland แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2010 เลยยังได้คุณภาพเพียง 2K
เกร็ด: Mother Joan of the Angels (1961) คือหนึ่งใน 21 ลิสหนังของ Martin Scorsese Presents: Masterpieces of Polish Cinema
ใครที่ติดตามอ่าน raremeat.blog คงคาดเดาได้ว่าผมต้องชื่นชอบ Mother Joan of the Angels (1961) >>> The Devils (1971) เพราะการนำเสนอที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรมากมาย แต่สามารถสร้างความตราตรึง สั่นสะท้านทรวงใน และแฝงสาระข้อคิดเกี่ยวกับการเผชิญหน้าขั้วตรงข้ามของตนเอง เอาจริงๆอยากจะจัด “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แต่เพราะหนังต่อต้านคริสตจักรโจ่งแจ้งเกินไป เลยขอละเอาไว้ก็แล้วกัน
แนะนำคอหนัง Horror ที่เน้นความสยิวกาย สไตล์ Minimalist สั่นสะท้านทรวงใน (ไม่ใช่ผีตุ้งแช่ให้ตกใจ), หนังอิงศาสนาที่ไม่เน้นว่าต้องเป็นชาวคริสต์, และใครเคยรับชม The Devils (1971) ห้ามพลาดภาคต่อขั้วตรงข้าม ในช่วงวันปล่อยผี Halloween อย่างเด็ดขาด!
จัดเรต 13+ กับฉากไล่ผีที่น่าหวาดสะพรึง และความรักต้องห้ามระหว่างบาทหลวงและแม่อธิการ
Leave a Reply