Mayabazar (1957) : K. V. Reddy ♥♥♥♥♡
หนังเพลง Hollywood ต้องชิดซ้าย Bollywood ชิดขวา กับภาพยนตร์เรื่องที่ชาวอินเดียโหวตให้เป็นอันดับ 1 จากการสำรวจของ CNN-IBN เมื่อปี 2013 คือ Mayabazar หนังเพลงภาษา Telugu (Tollywood) เรื่องราวแฟนตาซีสุดคลาสสิกอลังการ ดัดแปลงจากเทวตำนาน Sasirekha Parinayam ที่ได้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์ภารตะ เราจะเห็นพระกฤษณะ (Krishna) พยายามหาทางช่วยอภิมันยู (Abhimanyu) ลูกชายของอรชุน (Arjuna) ให้ได้แต่งงานครองคู่กับศศิเรขา (Sasirekha), “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เชื่อว่าหลายคนอ่านคำนำย่อหน้าแรกแล้วคงอยากเบือนหน้าหนี เรื่องราวเทวตำนานฮินดูอินเดียโบราณเนี่ยน่ะมีอะไรน่าสนใจ! … นั่นสิครับ ผมเองก็เกิดความหวั่นวิตกเช่นกัน เพราะเคยจดจำภาพละครจักรๆวงศ์ๆของช่อง 7 เลยไม่ค่อยอยากสนใจหนังแนว Mythological เสียเท่าไหร่ แต่จะบอกว่าถ้าคุณรู้จักมหากาพย์ภารตะ (Mahabharata) หรือรามายณะ/รามเกียรติ์ (Ramayana) แล้วละก็อย่าเพิ่งรีบดูถูกหนังเรื่องไป สองเรื่องนี้คือวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่ามีความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก, ผมรับชม Mayabazar แค่ประมาณ 10 นาทีก็เริ่มรู้สึกได้ หนังเรื่องนี้มีองค์ประกอบแทบทุกอย่าง สามารถเรียกได้ว่า Masterpiece
ความน่าทึ่งของ Mayabazar (=Market of Illusions, มายา=ภาพลวงตา, บาซาร์=ตลาดขายของ) คือทุกวินาทีจะมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน ตื่นตาตื่นใจคาดไม่ถึง บทเพลงหลายครั้งไม่มีคำแปลแต่มีความไพเราะคลาสสิก และเรายังสามารถอ่านภาษากาย เข้าใจการเต้นของนักแสดงได้โดยไม่ยากเกินไป
ว่าไปนี่เป็นหนังเพลงลักษณะที่ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อนทั้งจาก Hollywood หรือโซนยุโรป/รัสเซีย แม้แต่กับหนัง Bollywood เองก็มักไม่ค่อยมีลักษณะที่ยุ่งวุ่นวายกับเรื่องของเทวตำนานมากนัก ต้อง Tollywood (Telugu) หรือ Kollywood (Tamil) ที่ชอบยกมหาภารตะ กับรามายณะ มาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่เรื่อยๆ
‘มหาภารตะ’ (महाभारतम्, Mahābhāratam) บางครั้งเรียกสั้นๆว่า ภารตะ เป็นหนึ่งในสองมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่สุดของอินเดีย (อีกเรื่องคือ รามายณะ) ประพันธ์เป็นโศลกภาษาสันสกฤต ส่วนหนึ่งของคัมภีร์อิติหาส (แปลตามศัพท์ว่า ประวัติศาสตร์) และอีกส่วนหนึ่งคือเทพปกรณัมในศาสนาฮินดู, ตามตำนานกล่าวว่าผู้แต่งคือ ฤๅษีกฤษณะ ไทวปายนะ วยาส มีเนื้อหาซับซ้อน เล่าเรื่องเกี่ยวข้องกับทวยเทพต่างๆหรือที่เรียกว่าเทวตำนาน (นำเทพเจ้าชื่อดัง มาพบเจอเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ บางครั้งก็มาจุติบนโลกมนุษย์) ผสมหลักปรัชญาของอินเดีย สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ศาสนา การเมือง ศิลปะหลายแขนง ประวัติความเป็นมาของวงศ์ตระกูลต่างๆ และธรรมเนียมประเพณีการรบ สงครามของอินเดียยุคโบราณ
เกร็ด: มหาภารตะ คือมหากาพย์มีความยาวที่สุดในโลก นับได้ประมาณ 1.8 ล้านคำ มากกว่ามหากาพย์ Iliad และ Odyssey รวมกันประมาณ 10 เท่าตัว และมากกว่า มหากาพย์รามายณะ ประมาณ 4 เท่า
เรื่องราวภาพรวมของมหาภารตะ นำเสนอความขัดแย้งของพี่น้องสองตระกูล ระหว่างตระกูลเการพ (Kaurava) และตระกูลปาณฑพ (Pāṇḍava) ที่ต่างก็สืบเชื้อสายมาจากท้าวภรต (ฺBhārata) แห่งกรุงหัสตินาปุระ จนบานปลายไปสู่มหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร (Kurukṣetra War) กล่าวกันว่านี่คือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม ความดีปะทะความชั่ว ซึ่งในที่สุดแล้วฝ่ายปาณฑพก็เป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้
วงการภาพยนตร์ Tollywood ภาษา Telugu มีจุดศูนย์กลางตั้งอยู่ที่ Film Nagar รัฐ Telangana ถือเป็นรัฐทางตอนใต้ของอินเดีย, เริ่มต้นปี 1921 ผู้กำกับ Raghupathi Venkaiah Naidu สร้างภาพยนตร์ภาษา Telugu เรื่องแรก Bhishma Pratigna (เป็นหนังเงียบ) ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งวงการภาพยนตร์ Telugu’ (Father of Telugu cinema)
เกร็ด: Tollywood ยังเป็นชื่อเรียกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ West Bengal หนังภาษา Bengali ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ (ติดกับ Bangladesh)
Guinness World Record เคยบันทึกไว้ว่า Tollywood คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีสถานที่ สตูดิโอโรงถ่าย สิ่งอำนวยความสะดวก โรงหนังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ที่เมือง Hyderabad มีโรง 3D IMAX ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) บางปีผลิตหนังออกฉายมากที่สุดในโลกด้วย แต่ไม่ได้แปลว่า Tollywood จะทำเงินมากกว่า Bollywood นะครับ
ประเทศอินเดียมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลเป็นอันดับ 7 ของโลก (ครึ่งหนึ่งของทวีปออสเตรเลีย) ด้วยความใหญ่ขนาดนี้ แต่ละภูมิภาคย่อมต้องผสมผสานประกอบด้วยผู้คนหลากหลายศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม และภาษาพูด, เช่นกันกับวงการภาพยนตร์ก็จำต้องมีการแบ่งแยก อาทิ
– Bollywood มีศูนย์กลางอยู่ที่ Mumbai (ชื่อเดิมคือ Bombay) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก พูดภาษาฮินดีเป็นหลัก เป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ มีส่วนแบ่งรายได้มากที่สุดของประเทศ และยังสามารถส่งหนังออกไปฉายต่างประเทศได้อยู่เรื่อยๆ (ทุนหนา ดาราหล่อดัง)
– Kollywood มีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Kodambakkam รัฐ Tamil Nadu ตั้งอยู่ทางทิศใต้ พูดภาษาทมิฬ ปี 2016 มีส่วนแบ่งรายได้เป็นอันดับสองของประเทศ
– Tollywood ของภาษา Telugu ถือว่าเป็นหนึ่งในรัฐทางใต้ เมื่อปี 2016 มีส่วนแบ่งรายได้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ
ฯลฯ
จริงๆยังมีอีกเยอะแยะนับไม่ถ้วนเลยนะครับ อาทิ ภาพยนตร์ภาษา Marathi, Malayalam (Mollywood), Punjabi (Pollywood), Kannada (Sandalwood)ฯ ไล่ไปคงไม่หมด แต่โอกาสที่เราจะได้รับชมหนังภาษาพวกนี้มีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นหนังทุนสร้างต่ำคุณภาพไม่สูงมาก ออกฉายแล้วทิ้งๆขว้างๆ (เหมือนหนังไทยสมัยก่อน) เว้นถ้าหนังดังประสบความหน่อยก็อาจจะพอหาชมได้ใน Youtube แต่ก็ไม่มีใครทำซับให้นะครับ ถ้าคุณฟังภาษานั้นๆไม่เข้าใจก็อย่าหวังเลยว่าจะดูรู้เรื่อง เหลือเพียง Bollywood, Kollywood, Tollywood ที่พอจะมีทุนหนาหน่อย ส่งออกฉายต่างประเทศถึงจะมีแปลภาษาให้เท่านั้น
วงการภาพยนตร์ของอินเดียสมัยก่อนถือว่าเป็นวงการปิด ไม่ค่อยที่จะนำหนังต่างประเทศเข้าฉาย (ต้องเป็นเรื่องดังๆ มีนักแสดงอินเดียประกอบด้วยเป็นส่วนใหญ่) ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยส่งออกฉายต่างประเทศ เพราะต้องใช้ทุนสูง ทำการตลาด วุ่นวายแถมกำไรน้อย แค่ที่มีฉายในประเทศก็ตัวเลือกมากมายเหลือเฟือ ไม่จำเป็นต้องนำหนังอื่นเข้ามาแย่งทำกำไร, ปัจจุบันถือว่าเปิดออกค่อนข้างมากแล้วนะครับ เพราะอินเตอร์เน็ตทำให้โลกแคบลง ต่างชาติรู้จักหนังอินเดียมากขึ้น คนอินเดียก็อยากดูหนังต่างประเทศมากขึ้น แต่ส่วนแบ่งการตลาดยังถือว่าน้อยนักที่หนังภาษาต่างประเทศจะทำกำไรในระดับประสบความสำเร็จ
สำหรับ Mayabazar เกิดขึ้นหลังความสำเร็จของ Pathala Bhairavi (1951) [แปลว่า The Goddess of the Netherworld] ภาพยนตร์แฟนตาซีภาษา Telugu ของผู้กำกับ Kadiri Venkata Reddy ที่ได้แรงบันดาลใจจากพันหนึ่งราตรี นิทานอาหรับเรื่อง อะลาดิน (Aladdin) เปลี่ยนพื้นหลังตัวละครเป็นเทวตำนานฮินดูของอินเดีย ปรากฎว่าได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม ยืนโรงฉายนานถึง 200 วัน สตูดิโอผู้สร้าง Vijaya Productions จึงได้จับผู้กำกับเซ็นสัญญา และมอบหมายงานถัดไปคือ remake ภาพยนตร์เรื่อง Sasirekha Parinayam (1936) หรือที่รู้จักในชื่อ Mayabazar ซึ่งเป็นการนำเทพนิยาย Sasirekha Parinayam (ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก มหากาพย์ภารตะ) มาตีความสร้างใหม่ เป็นภาพยนตร์แนว Mythological เรื่องแรกของสตูดิโอ
เกร็ด: Sasirekha Parinayam เป็นเรื่องเล่าปากต่อปาก (Oral Tale) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งแท้ๆของ มหาภารตะ เปรียบเทียบคงประมาณภาคแยก (Spin-Off) ไม่ใช่เรื่องราวของภาคหลัก
Kadiri Venkata Reddy หรือ K. V. Reddy (1912 – 1972) ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวอินเดีย ภาษา Telugu ถือว่าเป็นคนบุกเบิกหนังแนว Folklore, Fantasy, มหากาพย์, เทพนิยาย ฯ มีหนังถึงสามเรื่องที่ได้รางวัล National Film Awards: Best Feature Film คือ Pedda Manushulu (1955), Pelli Naati Pramanalu (1958), Satya Harishchandra (1966) [เรื่องนี้ภาษา Kannada]
สไตล์ของผู้กำกับนั้นน่าทึ่งทีเดียว การถ่ายทำทุกฉากจะมีนาฬิกาจับเวลา (stopwatch) นักแสดงต้องร้องเล่นเต้น แสดงให้ได้ภายในระยะเวลาที่ซักซ้อมเตรียมการไว้, เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้หนังมีจังหวะที่เปะมากๆ ไร้ความเยิ่นเย้อแม้แต่วินาทีเดียว แม้ฟังดูจะยุ่งยากเรื่องมากวุ่นวาย แต่นี่เป็นการบังคับให้นักแสดงต้องตื่นตัวตั้งสติไว้ให้มั่น เตรียมพร้อมตลอดเวลา จะวอกแวกเรื่อยเปื่อยไม่ได้เลย ผลลัพท์ออกมากับคนที่สังเกตเห็นและเข้าใจได้ จะรู้เลยว่ามันคือความสมบูรณ์แบบแทบจะไร้ที่ติด
พื้นหลังที่เมืองทวารกา (Dwaraka) บ้านเกิดของพระกฤษณะ เมื่อกษัตริย์ของฝั่งปาณฑพ พระพลราม (Balarama) ถูกการยั่วยุของ ทุรโยธน์ (Duryodhana) กษัตริย์ฝั่งเการพ ท้าเล่นพนันทอยเต๋าพ่ายแพ้ สูญเสียประเทศแผ่นดิน ความมั่งคั่ง ถึงขนาดสัญญามอบลูกสาวศศิเรขา (Sasirekha/Vatsala) ให้แต่งงานกับพระลักษณ์ (Lakshmana) แต่เพราะเธอตกหลุมรักกับอภิมันยู (Abhimanyu) พระกฤษณะจึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือ โดยให้อภิมันยูเดินทางไปหาฆโฎตกัจ (Ghatotkacha) ที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง แล้วเรื่องราววุ่นๆสับสนอลม่านสลับตัวเจ้าสาวจึงได้เริ่มต้นขึ้น
หนังมีการถ่ายทำ 2 ฉบับ 2 ภาษาควบคู่กันไปคือ Telugu และ Tamil ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนักแสดงเล็กน้อย (เพราะบางคนพูดได้แต่ Telugu หรือ Tamil จึงไม่สามารถเล่นหนังที่พูดอีกภาษาได้) แต่ผมจะขอพูดถึงเฉพาะต้นฉบับ Telugu เท่านั้นนะครับ จะได้ไม่เกิดความสับสน
Nandamuri Taraka Rama Rao หรือ N. T. Rama Rao หรือย่อๆ NTR (1923 – 1996) นักแสดง ผู้สร้างหนัง และนักการเมือง เกิดที่ Nimmakuru, หมู่บ้านเล็กๆใน Gudivada taluk เขต Krishna District เป็นลูกชาวนาที่ค่อนข้างยากจน มีความชื่นชอบหลงใหลในการแสดงจากบทเล็กๆเรื่อง Mana Desam (1949) ซึ่งกับหนัง Mythological เรื่องแรก Mayabazar รับบทพระกฤษณะ (Krishina) ทำให้กลายเป็น type-cast รับบทเดียวกันนี้ต่อเนื่องถึง 17 ครั้ง, พระกฤษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ให้มอง NTR ผู้นี้นะครับ
แต่ไม่ใช่ว่า NTR ไม่เคยรับบทอื่นนะครับ เขาชอบที่จะแสดงเป็นชาวนาจนๆ เคยได้รางวัล National Film Awards ถึง 3 ครั้งจาก
– Thodu Dongalu (1954) ได้รางวัล Certificate of Merit for Best Feature Film in Telugu (ในฐานะโปรดิวเซอร์)
– Seetharama Kalyanam (1960) ได้รางวัล Certificate of Merit for Best Feature Film in Telugu (ในฐานะโปรดิวเซอร์)
– Varakatnam (1968) ได้รางวัล National Film Award for Best Feature Film in Telugu (ในฐานะผู้กำกับ)
คงเพราะภาพลักษณ์แห่งศรัทธาของชาวอินเดีย เมื่อ NTR เลิกแสดงภาพยนตร์ผันตัวสู่การเมือง ก่อตั้งพรรค Telugu Desam Party (TDP) ก็ได้รับความไว้วางใจประชาชน ชนะการเลือกตั้งอยู่หลายสมัยทีเดียว
พระกฤษณะ (Lord Krishna) เป็นเทวะองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์-ศาสนาฮินดู มีรูปแบบร่างอวตารหนึ่งของพระวิษณุ, กฤษณะ เป็นภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า ดำ คล้ำ มืด หรือน้ำเงินเข้ม ผู้เป็นเจ้าของความมั่งคั่งและชื่อเสียงทั้งหมด ได้รับการยกย่องจากประชาชนว่าเป็นเทวะแห่งความเมตตา มุทิตา และความรัก
ในมหาภารตะ พระกฤษณะเป็นญาติฝั่งมารดาของฝ่ายปาณฑพ ได้ช่วยเหลือพี่น้องปาณฑพหลายครั้งหลายหน ให้เอาตัวรอดจากการกระทำที่ผิดพลาดรุนแรง ถูกล่อลวงหลอกโดยฝ่ายเการพ
ในหนังเรื่องนี้ ด้วยความรักห่วงใยไมตรีที่มีต่ออภิมันยู และศศิเรขา มีประสงค์ต้องการให้ทั้งสองครองคู่แต่งงานกัน แต่ติดอุปสรรคที่พระพลราม ได้พลาดพลั้งถูกทุรโยธน์ ใช้เล่ห์กลอุบายหลอกยั่วยุ อันเป็นเหตุให้เกิดการณ์อันมิควร พระกฤษณะจึงวางแผนกระทำการบางอย่าง เพื่อสั่งสอนพระพลรามและกลั่นแกล้งทุรโยธน์ให้รู้จักสำนึกหลากจำ
ถือเป็นครั้งแรกของ NTR กับการทาผิวสีฟ้าทั้งตัวให้มีรูปลักษณ์เหมือนพระกฤษณะ, ต้องถือว่าใบหน้าของเขามีความอิ่มเอิบสมบูรณ์ เป็นทรงกลมเหมือนพระจันทร์ ใครเห็นจะรู้สึกว่ามีผู้มีบุญญาบารมี รอยยิ้มที่เป็นมิตรไมตรี ใครๆก็อยากเข้าใกล้คบหา สามารถพึ่งพิง ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจได้, สำหรับการแสดงก็ถือว่ามีความลุ่มลึก สงบนิ่ง เฉลียวฉลาด ทั้งๆที่ตัวละครมีลับลมคมในมากมาย แต่ผู้ชมจะรับรู้ว่าบริสุทธิ์ใจอย่างผุดผ่อง
Samarla Venkata Ranga Rao หรือ S.V. Rao หรือย่อๆ S.V.R. (1918 – 1974) นักแสดง ผู้สร้างหนัง เกิดที่ Nuzvidu เขต Krishna รัฐ Andhra Pradesh พูดภาษา Telugu, มีผลงานกับภาพยนตร์ Kollywood และ Tollywood เป็นหลัก ได้รับการยกย่องคือหนึ่งในนักแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของอินเดียด้วย method acting มีภาพยนตร์ที่แสดงได้รางวัล National Film Award ถึง 9 เรื่อง ที่ดังๆอาทิ Devadasu (1953), Anarkali (1955) [รับบท Akbar], Thodi Kodallu (1957), Nammina Bantu (1959), Sarada (1962), Naanum Oru Penn (1963) ฯ
ฆโฏตกัจ (Ghatotkacha) มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของอภิมันยู เป็นคนร่างใหญ่ใจใหญ่ใจนักเลง ชื่นชอบการโอ้อวดอ้าง (ก็มีทั้งทำได้จริงและทำไม่ได้) รักเพื่อนพี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหายไม่เคยทอดทิ้ง ในสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตรอยู่ฝั่งปาณฑพ, ชื่อฆโฏตกัจ เป็นคำเรียกมาจากทรงผมหัวล้าน (Bald Pot) คล้ายๆกับ Ghatam เครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดียชนิดหนึ่ง
S.V.R. กับบทฆโฏตกัจ ต้องบอกว่าใหญ่มากๆ ทั้งกายใจ รูปร่างบุคลิกนิสัย โดยเฉพาะเสียงหัวเราะที่ทรงพลังกึกก้อง ไม่มียึกยักลับลมคมใน กล่าวคือสามารถหัวร่อออกมาจากภายในโดยแท้
Savitri Nissankararao หรือเรียกย่อๆ Savitri (1936 – 1981) นักแสดง นักร้อง นักเต้น ผู้สร้างภาพยนตร์ เกิดที่ Guntur, Madras Presidency (ปัจจุบันคือ Andhra Pradesh) พูดได้ทั้ง Telugu, Tamil, Kannada, Malayalam, และ Hindi ผลงานที่ดังๆอาทิ Devadasu (1953), Donga Ramudu (1955), Missamma (1955), Chivaraku Migiledi (1960), Narthanasala (1963) ฯ
ศศิเรขา (ในฉบับ Telugu) หรือวัตศาลา (ในฉบับ Tamil) ลูกสาวของพระพลราม เป็นหญิงสาวแก่นแก้วร่าเริงสดใส เชื่อมั่นศรัทธาในรักแท้ใจเดียว ไม่ยอมที่จะเป็นเหมือนนกในกรง ให้พ่อแม่หรือใครมาบังคับควบคุมตนเอง
ต้องบอกว่า Savitri เป็นหญิงงามที่ตราตะลึงมาก สวยบรรเจิด สง่าราศีเป็นประกายสดใส รูปลักษณ์เข้ากับนิสัยตัวละครที่ขี้เล่นซุกซน เหมือนเด็กที่ยังไม่รู้ประสีประสา เอาแต่ใจสนแต่ตัวเอง แต่นั่นคือครึ่งแรกของหนัง พอครึ่งหลังเมื่อเธอกลายเป็นร่างปลอมตัวของฆโฏตกัจ โอ้ละแม่โคตรสมจริง สามารถเลียนแบบบุคลิกท่าทาง นิสัยการวางมาด อีกทั้งคำพูด ได้เหมือนหมดจรดทุกกระเบียดนิ้ว ราวกับว่าฆโฏตกัจกลายร่างเป็นศศิเรขาจริงๆ ผมประทับใจการแสดงนี้มากๆ ขอยกย่องว่าเทียบเท่า Madhabi Mukherjee ใน Charulata (1964) เลยละ
ขออีกคนแล้วกันกับ อภิมันยู ฉบับภาษา Telugu นำแสดงโดย Akkineni Nageswara Rao ส่วนฉบับภาษา Tamil นำแสดงโดย Gemini Ganesan
ผมได้ดูหนังฉบับภาษา Telugu จึงขอพูดถึง Akkineni Nageswara Rao หรือ ANR (1924 – 2014) นักแสดงและโปรดิวเซอร์ เกิดที่ Venkata Raghava Puram, Madras Presidency (ปัจจุบันคือ Ramapuram, Andhra Pradesh) เป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังสูงสุดใน Tollywood ได้รับการจดจำในฐานะ Matinée idol (=ดาราชายที่เหล่าหญิงสาวคลั่งไคล้หลงใหล) มีผลงานดังๆอาทิ Devadasu (1953), Anarkali (1955), Batasari (1961), Dr. Chakravarthy (1964), Sudigundalu (1968), Prem Nagar (1971), Premabhishekam (1981), Meghasandesham (1982) ฯ
ANR คือนักแสดงในตำนานของอินเดียอีกคน ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับสูงสุด Dadasaheb Phalke เมื่อปี 1990
อภิมันยู (Abhimanyu) คือชายหนุ่มสุดหล่อที่เชื่อมั่นในรักแท้ เป็นลูกของอรชุน (Arjuna) กับสุภัทรา (Subhadra) ใช้มีธนูของพ่อเป็นอาวุธคู่กาย, ในมหากาพย์ภารตะ จริงๆแล้ว อภิมันยูแต่งงานกับอุตตรา (Uttarā) ธิดาของท้าววิราฏ (Virata) แห่งแคว้นมัตสยะ ส่วนนี้ถือว่าไม่ได้อ้างอิงมานะครับ เผื่อใครเคยรับรู้มาจะได้ไม่เกิดความสับสน
การแสดงของ ANR แทบไม่มีอะไรนอกจากความหล่อเหลาที่สาวๆคงกรี๊ดสลบ ผมประทับใจความบึกบึนเป็นลูกผู้ชายอกสามศอกของตัวละครนี้มากกว่า ตอนที่ไม่ก้มหัวให้กับศัตรู (ฆโฏตกัจ ที่ตอนแรกยังไม่รู้ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน) นี่แสดงถึงความภูมิใจ (เย่อหยิ่ง) ในชาติกำเนิดของตน อย่างน้อยผู้ชายควรมีสิ่งนี้นะครับ คือไม่หันหลังให้กับต้นกำเนิดของตนเอง
ถ่ายภาพโดย Marcus Bartley เป็นชาว Anglo-Indian เริ่มต้นจากเป็นช่างภาพให้กับนิตยสาร Time of India แล้วผันตัวมาเป็นตากล้องภาพยนตร์ มีชื่อเสียงระดับตำนาน เคยคว้ารางวัลเหรียญทองการถ่ายภาพ จากหนัง Mollywood เรื่อง Chemmeen (1978) และคว้า National Film Award สาขา Best Cinematography จากเรื่อง Shanti Nilayam (1970)
สำหรับหนังเรื่องนี้มีหลายฉากทีเดียวที่ได้รับการยกย่องจดจำ ราวกับมีเวทย์มนต์ อาทิ ในบทเพลง Lahiri, lahiri lo จะมีประมาณ 10-15 วินาทีที่ถ่ายภายนอก เห็นจันทราอาบแสงผิวนักแสดง แต่นี่ไม่ใช่แสงจากดวงจันทร์จริงๆ เกิดจากการสร้างแสงไฟสาดส่องจำลองขึ้นแทน, ถือว่าเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์อินเดียที่มีการใช้แสงจันทร์ปลอมๆ ในการถ่ายทำ
การซ้อนภาพในกระจกวิเศษ ถือว่าของเล่นที่น่าสนใจทีเดียว ภาพที่ปรากฎว่ากันว่าคือสิ่งที่ผู้เปิดกล่องออกมีความต้องการมากที่สุด, แต่ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้น ผมว่ามันเป็นภาพของอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นมากกว่านะ
– สำหรับศศิเรขา นั้นแน่นอนอยู่แล้วว่าต้องคือ อภิมันยู
– สุภัทรา (ภรรยาของพระพลราม) เปิดออกมาเห็นแต่แก้วแหวนเงินทอง เธอสนแค่เรื่องพวกนี้สินะ
– พระพลราม เปิดออกมาเห็นเป็นทุรโยธน์ ศิษย์เอก
– พระกฤษณะ เปิดออกเห็น Shakuni ชวนไปเล่นทอยลูกเต๋า (นี่ถือว่าน่าพิศวงจริงๆ เพราะขนาดพระกฤษณะเองยังคิดว่าเป็น อรชุนที่ตนจะเห็น)
เมืองทวารกา ใช้การสร้างฉากจำลอง (miniature) ประกอบด้วยบ้านขนาดเล็กกว่า 300 หลัง ขนาดประมาณ 50 – 60 ฟุต (15 m × 18 m) สร้างขึ้นที่ Vauhini Studios ออกแบบโดย Madhavapeddi Gokhale และ Kaladhar
เสื้อผ้าเครื่องประดับเพชรพลอย เรียกได้ว่าจัดเต็ม สวยงามระยิบระยับสะท้อนแสงแสบตา แม้ต้นฉบับของหนังจะเป็นภาพขาว-ดำ แต่เมื่อมีการ Colorization ออกมาแล้วได้ภาพที่สวยสดเป็นประกาย งดงามบรรเจิดยิ่งๆขึ้นไปอีก
สำหรับไฮไลท์ของงานภาพคือ Visual Effect ในบทเพลง Vivaha Bhojanambu ขณะที่ฆโฏตกัจ กำลังกินขนมลัดดุโดยไม่ใช้มือ (ขนมลอยเข้าปาก) เห็นว่าใช้เวลาถ่ายทำถึง 4 วัน ทำยังไงผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เป็นเทคนิคที่เหมือนจะไม่มีอะไรมากแต่ความสร้างสรรค์จัดว่าเลิศมากทีเดียว
เกร็ด: ขนมลัดดุ Laddu (หรือ Laddoo) ที่นิยมใช้ในงานเทศกาลและงานมงคล หน้าตาเป็นถั่วปั้นก้อนกลมๆ สีเหลือง เนื้อหยาบๆ ชุบเคลือบด้วยน้ำเชื่อม ในอินเดียใต้มักเรียกล้อเด็กแก้มยุ้ยๆ ด้วยชื่อขนมนี้
ตัดต่อโดย C. P. Jambulingam, G. Kalyanasundaram หนังไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่หลายคนคงรู้สึกได้ว่า พระกฤษณะ คือผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด
ผมชื่นชอบความกระชับ เปะๆ ของหนังเรื่องนี้มากๆ อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า direction แนวทางของผู้กำกับ มีการใช้นาฬิกาจับเวลาเพื่อควบคุมให้นักแสดงร้องเล่นเต้น เคลื่อนไหว/กระทำ ในกรอบเวลาที่วางแผนไว้เปะๆ นี่ยังรวมถึงทิศทางการเคลื่อนกล้อง มุมกล้อง ซึ่งจะถูก ‘คำนวณ’ ไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนเช่นกัน, นี่ทำให้ผมนึกถึงหนังของ Alfred Hitchcock ที่ก็มีความคล้ายคลึงกันพอสมควร (แต่ Hitchcock จะไม่ถึงขั้นจับเวลานักแสดงนะครับ แค่ว่าทิศทาง มุมกล้อง จำนวนเทค ได้ถูกกำหนดไว้แล้วเสร็จสรรพตั้งแต่ขั้นตอนตอน pre-production)
สำหรับเพลงประกอบ หลังจาก Salur Rajeswara Rao แต่งได้ 4 เพลงคือ Srikarulu Devathalu, Lahiri Lahiri, Choopulu Kalisina Shubhavela และ Neekosame ก็ได้ถอนตัวจากโปรเจค (ไม่มีระบุสาเหตุ) เป็น Ghantasala ที่เข้ามาสานต่องาน และได้ Pingali Nagendrarao เขียนเนื้อร้องภาษา Telugu c]t Thanjai N. Ramaiah Dass เขียนเนื้อร้องภาษา Tamil
แทนจะทุกเพลงในหนังมีความไพเราะอย่างยิ่ง ในความคลาสสิกของดนตรีพื้นบ้านอินเดีย แม้จะฟังไม่รู้เรื่องว่ามีความหมายว่าอะไร (ซับก็ไม่ยอมแปล) แต่เราสามารถอ่านท่าทางการเต้น ภาษากายของนักแสดงได้ค่อนข้างง่าย ไม่รู้เพราะผมดูหนังเพลงมาเยอะด้วยหรือเปล่านะ เลยสามารถเข้าใจท่าทางลีลาการเคลื่อนไหวของนักเต้นได้แทบจะทันที
ผมเลือกเพลง Lahiri, lahiri lo ที่น่าจะไพเราะสุดในหนังมาให้รับฟัง, ยามค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง จะมีความโรแมนติกใดเทียบเท่ากับการได้ล่องเรืออาบแสงจันทราของคู่รักหญิงสาว ศศิเรขากับอภิมันยู
ในคลิปนี้จริงๆยังไม่จบเพลงนะครับ ในหนังมีต่ออีกนิด เป็นฉากที่จะทำให้คุณยิ้มแป้นเป็นสุข เพราะไม่ใช่แค่คู่รักหนุ่มสาวที่มาทำอะไรไร้สาระแบบนี้ แต่ยัง…
เนื้อเรื่องใจความสำคัญของหนัง ว่ากันตามตรงไม่ได้มีความสดใหม่อะไร หญิงสาวตกหลุมรักชายหนุ่มหล่อ แต่พ่อแม่ได้แอบหมั้นหมายเธอไว้กับอีกคนหนึ่ง ด้วยศรัทธามั่นคงในรัก จึงไม่ยอมรับการคลุมถุงวางแผนหนีออกจากบ้าน… แต่ความมหัศจรรย์ของหนังเรื่องนี้คือบริบทรอบข้างที่ใส่ความเป็นเทวตำนาน อ้างอิงจากมหากาพย์ภารตะ เกิดเป็นเรื่องราวแฟนตาซียิ่งใหญ่อลังการ แฝงข้อคิดปรัชญาลึกซึ้ง
ไม่ใช่แค่เรื่องราวความรักที่หนังนำเสนอ แต่ยังสอดแทรกแนวคิด/ปรัชญาการใช้ชีวิต นำเสนอผลกระทบจากความโลภละโมบเห็นแก่ตัวของพระพลราม ที่ใจร้อนวู่วามขาดสติยั้งคิด คือถ้าการตัดสินใจของเขาไม่ส่งผลเดือนร้อนต่อผู้อื่นคงไม่เป็นอะไร แต่นี่กระทบรุนแรงกับทั้งครอบครัว ประเทศชาติ เสียหายหนักจนยากจะแก้ไข โชคดีได้พระกฤษณะที่สามารถรับรู้เข้าใจ เฉลียวฉลาดราวกับสามารถมองเห็นอนาคต เลือกหนทางดีที่สุดให้กับตก (นี่ย่อมหมายถึง พระกฤษณะคือกัลยาณมิตร ที่หาได้ยากยิ่ง)
ผมชอบแนวคิด Body Swap สลับร่างปลอมตัวของฆโฏตกัจเป็นอย่างมาก เปรียบได้กับภาพมายา สิ่งบดบังความจริงที่อยู่ในจิตใจมนุษย์, คนเราส่วนใหญ่มองผู้อื่นที่รูปลักษณ์ภายนอกเป็นสำคัญ หล่อสวย ร่ำรวย มีชื่อเสียงเงินทอง น้อยนักที่จะมองเข้าไปเห็นถึงจิตใจภายใน ดีชั่ว มีน้ำใจเอื้ออารีเห็นแก่ตัว ฯ, สิ่งที่พระพลรามมองไม่เคยเห็น คือจิตใจอันคิดคดชั่วร้ายของทุรโยธน์ ที่ภายนอกพูดดีเสแสร้งกระทำความดี แต่จิตใจหวังผลชั่วร้าย มองอาจารย์ตัวเองดั่งศัตรูคู่แค้นอาฆาต แต่เราอย่าไปมองว่าพระพลรามเป็นคนอ่อนต่อโลกนะครับ เพียงแค่เขาเป็นผู้ซื่อตรงมองโลกในแง่ดีเสมอ จึงมิอาจตามได้ไล่ทันความคิดของคนชั่ว การมีตัวตนของพระกฤษณะ จึงเปรียบเสมือนจิตสำนึกที่รู้เท่าทัน แค่เพียงมองเห็นก็เข้าใจเรื่องราวเหตุการณ์ทั้งหมด สามารถชี้ชักนำให้ผู้อื่นเห็นความจริงแท้ ดีชั่ว ที่อยู่ในจิตใจของคนได้
ผมไม่เคยศึกษาหลักคำสอนของพราหมณ์-ฮินดู มาก่อน เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องราวในหนังเรื่องนี้ มีลักษณะตรงกับภาพลักษณ์ของเทวะ พระเจ้า ความเชื่อศรัทธาในศาสนามากแค่ไหน อย่างพระกฤษณะ รูปลักษณ์ภายนอกคงไม่ผิดเพี้ยนอะไร แต่ตัวตนของท่านละเป็นแบบในหนังไหม? แต่เด็กๆและผู้ใหญ่หลายคนที่รับชมหนังเรื่องนี้ จะจดจำภาพของพระกฤษณะ ชื่นชมหลงใหล บ้างคลั่งไคล้เทิดทูน มองในมุมหนึ่งนี่เป็นหนังสอนศาสนาได้เลยกัน ถ้าต้องการขอพระเรื่องความรัก ให้ไปหาไหว้อธิษฐานขอพระกฤษณะแล้วจะสมหวัง
ต้นฉบับภาษา Telugu ออกฉายก่อนภาษา Tamil 2 สัปดาห์ ทั้งคู่ความยาว 5,888 เมตร (19,318 ฟุต) 184 นาที ยืนโรงฉายต่อเนื่องเกิน 100 วันใน 24 โรงภาพยนตร์, ปี 2010 Mayabazar ได้กลายเป็นหนัง Telugu เรื่องแรกที่มีการ re-master และทำ colourised เป็นภาพสี ใช้งบประมาณ ₹75 ล้าน (=$1.7 ล้านเหรียญ)
คำของนักวิจารณ์ที่ผมอ่านแล้วรู้สึก บรรยายสรรพคุณของหนังได้ตรงที่สุด คัดลอกมาให้อ่านกัน
The greatness of the director lies here – he successfully reduces all characters to ordinary mortals displaying all the follies of human beings except Ghatothkacha or Krishna. And then he injects into the Yadava household a Telugu atmosphere, full with its simile, imagery, adage, sarcasm and wit. The result – a feast for the eyes and soul. That is Mayabazar for you.
– W. Chandrakanth ของ The Hindu เขียนปี 2006
ส่วนตัวคิดว่าความยอดเยี่ยมของ Mayabazar น่าจะเทียบชั้นได้กับหนังเพลงระดับโลกเลยละ ยอดเยี่ยมกว่า Singin’ in the Rain (1952), อลังการกว่า The Sound of Music (1965), แต่ความลึกซึ้งอาจไม่เท่า The Umbrellas of Cherbourg (1964) ส่วนความสวยงาม เทียบยากกับ The Young Girls of Rochefort (1967) กระนั้นโอกาสที่ผู้ชมทั่วไปจะได้สัมผัสหนังเรื่องนี้มีน้อยมากๆ ถือเป็นช้างเผือกในป่าใหญ่โดยแท้
แต่เมื่อสำนักข่าว CNN- Indian Broadcasting Network เฉลิมฉลองวงการภาพยนตร์อินเดียที่มีอายุครบ 100 ปี เมื่อปี 2013 ได้ทำการรวบรวม ‘100 ภาพยนตร์อินเดียยอดเยี่ยมตลอดกาล’ การได้ผลโหวตชนะเลิศอันดับ 1 ของ Mayabazar ผมเชื่อว่าต่อไปหนังเรื่องนี้จะได้รับการค้นพบพูดถึงในระดับโลกแน่ๆ
ผมหลงรักคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้ด้วย 4 เหตุผลสำคัญ
1. direction แนวทางของผู้กำกับที่มีความเปะมากๆในทุกระดับ ทั้งนี้ทั้งนั้นแทนที่ทุกอย่างจะดูแข็งทื่อจืดสนิท กลับเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินบันเทิงใจ มีชีวิตชีวา
2. ท่าเต้นและเพลงประกอบ ที่ถึงจะฟังไม่เข้าใจแต่ดูรู้เรื่อง ผมประทับใจแทบทุกการเต้นลีลา อ่านออกเป็นภาษาสากลระดับโลก
3. การแสดงของ N. T. Rama Rao, S.V. Rao ถือว่าไม่ธรรมดามากๆ แต่ Savitri Nissankararao ทำเอาผมอึ้งไปเลย โดยเฉพาะตอนเลียนแบบ S.V. Rao มีความสมจริงอย่างที่สุด
4. และแนวคิดของคำว่า ‘มายา’ คือภาพลวงตาที่ปกปิดความจริงแท้ข้างในจิตใจ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงหนังจะเป็นเรื่องราวเทวตำนานของฮินดู แต่ใจความเรื่องราวนั้นเรียบง่าย แฝงแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต ปรัชญาลึกล้ำสำหรับผู้สนใจ และบทเพลงเพราะๆสำหรับผู้ชื่นชอบหนังอินเดีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจ หลงใหลคลั่งไคล้ มหากาพย์ภารตะ หนังเรื่องนี้ห้ามพลาดเด็ดขาด
จัดเรต PG เพราะเป็นเรื่องของเทวตำนาน
Leave a Reply