Meet Me in St. Louis

Meet Me in St. Louis (1944) hollywood : Vincente Minnelli ♥♥

เมือง St. Louis, Missouri เป็นเจ้าภาพจัดงาน World’s Fair เมื่อปี 1904 นี่เป็นเรื่องราววุ่นๆก่อนหน้างาน 1 ปีของครอบครัวหนึ่ง ทุกคนตั้งหน้าตั้งตานับวันเฝ้ารอคอยให้ถึงช่วงเทศกาล แต่แล้วอยู่ดีๆพ่อก็ตบปากรับงานใหม่ที่ New York ตั้งใจจะพาทุกคนไปอยู่ด้วย อย่างนี้ใครกันจะยอมรับได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นี่เป็นหนังโปรดของผมอีกเรื่องที่พอไม่ได้รับชมนานหลายปี ก็หลงลืมไปแล้วว่าเคยชื่นชอบ หลงใหล คลั่งไคล้, ช่วงแรกๆของหนังดูเหมือนจะไม่มีสาระอะไร แต่ไม่น่าเชื่อกลับแฝงแนวคิดเรียบง่ายสุดลึกซึ้ง และยิ่งงานภาพ Technicolor ที่ยังคงสีสันสวยสดใส เหมือนการหวนระลึกถึงความทรงจำวัยเด็ก นี่คือเหตุผลที่เมื่อกลับมารับชมอีกครั้ง ก็ยังคงตราตรึง ประทับใจ เป็นหนึ่งในหนังโปรดที่ครานี้จะไม่หลงลืมอีกแล้ว

ผู้กำกับ Vincente Minnelli ได้พบ Judy Garland ครั้งแรกในกองถ่ายหนังเรื่อง Strike Up the Band (1940) ตกหลุมรักแรกพบ (เดี๋ยวนะ ปีนั้น Garland เพิ่งจะอายุ 17-18 เอง) มีความต้องการอยากร่วมงานกับเธอสักครั้ง แต่ปีถัดมา Garland แต่งงานกับ David Rose ไปเสียก่อน, Minnelli เก็บความรู้สึกแอบซ่อนไว้ในใจ จนได้โอกาสร่วมงานกับ Garland ครั้งนี้ จนแล้วจนรอดความรู้สึกที่มีก็ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถห้ามปรามได้ ทั้งคู่มีชู้กันในกองถ่าย เป็นเหตุให้ Garland เลิกกับ Rose และแต่งงานกับ Minnelli ในปี 1945

จากนิยายเรื่อง Meet Me in St. Louis (1942) เขียนโดย Sally Benson เป็นความทรงจำ ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้แต่ง, ตอนแรกเขียนเป็นเรื่องสั้นหลายๆตอน (vignettes) ชื่อ 5135 Kensington ตีพิมพ์ลงใน The New Yorker รายสัปดาห์ ระหว่างมิถุนายน 1941 ถึงพฤษภาคม 1942 ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี จึงหยิบเอา 8 เรื่องจากที่ตีพิมพ์ เขียนพิ่มอีก 4 เรื่อง ให้แต่ละตอนแทนด้วยเดือนในรอบปี (ระหว่างปี 1903-1904) รวมเป็นเล่มวางขาย เปลี่ยนชื่อหนังสือให้เป็นไปตามหนังเรื่องนี้ (คนซื้ออ่านจะได้ไม่สับสน)

Benson เกิดและเติบโตที่ St. Louis ตัวละคร Tootie ได้แรงบันดาลใจจากน้องสาวของตนเอง (คิดว่าตัวเธอเองคงแทนด้วย Agnes ที่บทบาทน้อยสุดในหนัง) ซึ่งชีวิตจริงของเธอ พ่อย้ายครอบครัวมาอยู่ New York และไม่เคยกลับไป St. Louis ร่วมงาน World’s Fair เลยสักครั้ง, นิยายเรื่องนี้จึงมองได้คือ การเติมเต็มความฝันวัยเด็กที่ขาดหายไปของผู้เขียน

Louisiana Purchase Exposition หรือที่รู้จักในชื่อ St. Louis World’s Fair เป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลก จัดขึ้นที่ St. Louis, Missouri, ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึง 1 ธันวาคม 1904 มีกว่า 60 ประเทศเข้าร่วม มีผู้เข้าชมประมาณ 19.7 ล้านคน

สิ่งโดดเด่นที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ อาทิ การจัดแสดงโทรศัพท์ไร้สาย, เครื่องแฟกซ์, เครื่องฉายรังสี X-Ray, การจัดแสดง Airship Contest, ไอศครีมโคน, แฮมเบอร์เกอร์, ฮอทดอก, พีนัทบัตเตอร์, ชาเย็น (Ice Tea), ขนมสายไหม ฯ

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกันในงานนี้ คือการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 3 (Summer Olympic) เห็นว่าตอนแรกจะจัดที่เมือง Chicago แต่ ปธน. Theodore Roosevelt ตัดสินใจเปลี่ยนมาที่ St. Louis เพื่อจะได้ดำเนินงานไปพร้อมๆกับ World’s Fair กลายเป็นว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะโอลิมปิกกลายเป็นแค่ Side Attraction ของงาน (คือคนส่วนใหญ่มาเที่ยวงานมากกว่าสนใจการแข่งขันโอลิมปิก) ผลลัพท์ความล้มเหลวนี้ ทำให้การแข่งขันยืดเยื้อกินเวลานานถึง 6 เดือน และเกือบทำให้การแข่งกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่จบสิ้นลง

ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Irving Brecher และ Fred F. Finklehoffe โดยตัดให้เหลือแค่ 4 เรื่อง แทนด้วยฤดูต่างๆในรอบปี (ถ้าใช้ครบทุกเดือน หนังคงยาวเกินไปแน่ๆ), เห็นว่า Sally Benson เขียนบทร่างแรกของหนังด้วย แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ จึงไม่ได้รับเครดิต

ครอบครัว Smith เป็นครอบครัวระดับกลางชั้นสูง (upper-middle class) มีบ้านอยู่ที่ 5135 Kensington, St. Louis รัฐ Missouri สมาชิกประกอบด้วย
– พ่อ Alonzo Smith (รับบทโดย Leon Ames)
– แม่ Anna (รับบทโดย Mary Astor)

มีลูกสาว 4 คน
– คนโต Rose (รับบทโดย Lucille Bremer)
– Esther (รับบทโดย Judy Garland)
– Agnes (รับบทโดย Joan Carroll)
– คนเล็ก Tootie (รับบทโดย Margaret O’Brien)

– ลูกชาย 1 คน Lon Jr. (รับบทโดย Henry H. Daniels, Jr.)
– ปู่ 1 คน (รับบทโดย Harry Davenport)
– และคนใช้อีก 1 คน Katie (รับบทโดย Marjorie Main as)

เรื่องราววุ่นๆของครอบครัวนี้ แทบทุกคนจะมีเรื่องราวความสนใจของตนเอง เช่น Ester ที่กำลังเป็นสาวแรกรุ่น เธอตกหลุมรักหนุ่มข้างบ้าน พยายามทำทุกอย่างให้เป็นที่สนใจเข้าตาเขา, หรือ Tootie เด็กหญิงที่ยังไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก ต้องการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีเด็กโตคนไหนกล้า จนได้รับการยกย่อง ยอมรับในความห้าวหาญที่เหนือกว่าใคร ฯ

สำหรับเรื่องราวหลัก คือ ทุกคน(ยกเว้นพ่อ) ตั้งหน้าตั้งตารองาน St. Louis World’s Fair ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่วันหนึ่งพ่อได้รับมอบหมายงานใหม่ ให้ไปประจำที่ New York City เขาตั้งใจพาครอบครัวไปด้วย โดยไม่ยอมฟังความเห็นของใคร แต่ใครจะกล้าหือกับพ่อ เพราะเหตุผลที่เขาทำนี้ ก็เพื่อความเป็นอยู่สุขสบายของทุกคนในบ้าน

การแสดงอันโดดเด่นของ Judy Garland ที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเธอไปโดยสิ้นเชิง จากก่อนหน้านี้มักรับบท ‘girl-next-door’ ที่ขายความน่ารักน่าชังไร้เดียวสา กับหนังเรื่องนี้ด้วยสายตาวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Minnelli ได้เปลี่ยนให้เธอกลายเป็นสาวแรกรุ่นที่กำลังเบ่งบานสะพรั่ง ทั้งเสื้อผ้า หน้าผมที่มีความโดดเด่นกว่าคนอื่น ท่าทางและความสนใจของเธอ มีเพียงชายหนุ่มบ้านข้างๆเท่านั้น, แม้ผมจะดูหนังของ Garland มาไม่กี่เรื่อง แต่ก็คิดว่า Meet Me in St. Louis คือช่วงวัยรุ่น (ที่ยังไม่ถูกเจือปนด้วยโคเคนและสามี) กับ MGM เป็นเรื่องที่มีการแสดงโดดเด่น ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว

อีกหนึ่งนักแสดงที่ต้องพูดถึงคือ Tootie รับบทโดย Margaret O’Brien ตอนนั้นเธอยังเป็นเด็กสาวอายุ 6-7 ขวบ ตัวเล็กนิดเดียว แววตายังไร้เดียงสาสุดๆ, มีหลายฉากที่โดดเด่น แย่งซีนหนังไปเต็มๆ อาทิ ตอนเต้น The Cake Walk กับ Under the Bamboo Tree น่ารักมาก, Halloween ก็กล้าหาญมาก และตอนคืนวันคริสต์มาส ที่เศร้าเสียใจมาก, จะเรียกว่า Tootie คือตัวแทนอารมณ์ของครอบครัวนี้ ที่แสดงความรู้สึกออกมาแบบตรงไปตรงมา ไม่ปกปิดบัง (เด็กหญิงโกหกไม่เป็นด้วยซ้ำ)

ถ่ายภาพโดย George J. Folsey ตากล้องขาประจำของ MGM เป็นผู้ถือสถิติเข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 13 ครั้ง แต่ไม่เคยได้สักรางวัล ผลงานดังๆอาทิ The Great Ziegfeld (1936), A Guy Named Joe (1943), Adam’s Rib (1949), Seven Brides for Seven Brothers (1954) ฯ กับหนังเรื่องนี้แน่นอนว่าต้องได้เข้าชิง Oscar: Best Cinematography, Color มีความโดดเด่นในการถ่ายภาพสีของเสื้อผ้าหน้าผม ฉากหลัง ฤดูกาลต่างๆ ออกมาได้อย่างสวยสดงดงาม ราวกับอยู่ในโลกแห่งความฝันแฟนตาซี จินตนาการ

ความฉูดฉาดในสีสันของหนังเรื่องนี้ ราวกับหลุดออกมาจากเทพนิยายแฟนตาซี สมัยปัจจุบันยังดูไม่ตกยุคเลย ทั้งๆที่เรื่องราวอ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริงในช่วงปี 1903-1904, เห็นว่าผู้กำกับ Minnelli รับฟังคำแนะนำของผู้เขียน Benson อย่างใกล้ชิด จ้างเป็นที่ปรึกษาในด้านงานสร้าง เพื่อให้หนังออกมาใกล้เคียงกับช่วงเวลานั้นมากที่สุด

นอกจากการแสงสีที่โดดเด่นแล้ว การเคลื่อนกล้อง มุมกล้อง และถ่าย Long-Take ถือว่ามีลีลาโดดเด่นไม่แพ้กัน, ในฉากงานเลี้ยงปาร์ตี้ การเคลื่อนกล้องจะมีชีวิตชีวา โลดแล่น หมุนแพนไปมาอย่างตื่นเต้นเร้าใจ ไม่มีวินาทีไหนที่ทำให้รู้สึกเบื่อเลย และมีการเล่นกับมุมกล้องด้วย ในงานเต้นรำคริสต์มาส ขณะที่ปู่เข้าไปเต้นกับ Esther แล้วพาเธอวนไปรอบต้นคริสต์มาส กลับออกมากลายเป็น Esther เต้นกับแฟนหนุ่ม ถือว่าเป็นฉากที่มีความซาบซึ้ง ประทับใจทีเดียว

ฉากของ Tootie ก็ไม่ธรรมดา ในคืนวัน Halloween สร้างบรรยากาศได้หลอกหลอน น่าสะพรึงกลัว กล้องถ่ายระดับสายตาของเด็กหญิงขณะกำลังออกเดินเพื่อท้าพิสูจน์ความกล้า กล้องเคลื่อนติดตามเธอไปตามถนน ทิ้งกองไฟและความวุ่นวายอยู่เบื้องหลัง (เสียง Effect จะค่อยๆเงียบลง) เดินทางมาถึงบ้านหลังหนึ่ง กล้องถ่ายภาพมุมเงย เห็นผ่านกระจกเจ้าของบ้านและหมาบูลด็อกหน้าดุ เธอกดกริ่งประตูเปิด หญิงสาวกรี๊ดลั่นขว้างแป้งใส่แล้ววิ่งหนีกลับออกมาอย่างรวดเร็ว

ตัดต่อโดย Albert Akst หนังแบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 4 ฤดู โดยใช้มุมมองของเมือง St. Louis (และบ้านของครอบครัว Smith) เป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลา จะมีความสอดคล้องกับชื่อฤดูนั้นด้วย
– เริ่มต้นที่ Summer (ฤดูร้อน) ปี 1903 ทุกคนในบ้านตื่นเต้นรุ่มร้อนที่อีกหนึ่งปีข้างหน้า เมืองแห่งนี้จะกลายเป็นที่จัดงาน World’s Fair (ยกเว้นพ่อไว้คนหนึ่ง), หญิงสาวตกหลุมรักหนุ่มข้างบ้าน มีงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่สนุกสนาน จบที่ความสุขสันต์บนรถ Trolley
– Autumn (ฤดูใบไม้ร่วง) วันฮาโลวีนที่สุดหลอกหลอน, พ่อประกาศว่าได้งานใหม่ที่ New York และตั้งใจจะย้ายบ้านช่วงหลังปีใหม่ จบที่เหมือนทุกคนจะทำใจยอมรับได้
– Winter (ฤดูหนาว) กับงานเต้นรำวันคริสต์มาสครั้งสุดท้ายของพวกเธอ หลังงาน Tootie ที่ยังนอนไม่หลับ ระบายความอัดอั้นใจออกมากับตุ๊กตาหิมะ เศร้าเสียใจที่กำลังจะจากเมืองแห่งนี้ จบที่พ่อตัดสินใจบางสิ่งอย่าง
– กลับมาที่ Summer ปี 1904 ครอบครัว Smith พบเจอที่ Grand Lagoon ใจกลางของงาน World’s Fair รอบข้างเต็มไปด้วยแสงไฟนับร้อบนับพันให้แสงสว่างตาม Grand Pavilions

ความโดดเด่นในการตัดต่อ คือการลำดับเหตุการณ์ในแต่ละช่วง มีลักษณะที่ผมเรียกว่าเป็นการ ‘ส่งไม้ต่อ’ ที่สวยงามมากๆ เมื่อมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น พี่น้องคนอื่นมองหน้าก็จะรู้เข้าใจทันที จากนั้นไปกระซิบกระซาบบอกต่อเป็นทอดๆ ไปๆมาๆรู้กันทั้งบ้าน (เหลือพ่อคนเดียวที่ไม่เคยรู้เรื่องกับใครเขา เป็นคนสุดท้ายเสมอ) ถือว่าเป็นครอบครัวที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดทั้งบ้าน ไม่มีความลับอะไรที่จะปกปิดได้เลย

เพลงประกอบโดย Roger Edens มีทั้งที่นำมาจากเทศกาล World’s Fair และที่แต่งขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่มีจังหวะครึกครื้นสนุกสนาน บ้างซึ้งกินใจ บ้างเศร้าโศก, มี 2 เพลงที่ติดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Songs
– The Trolley Song อันดับ 26
– Have Yourself a Merry Little Christmas อันดับ 76

แต่จะขอเริ่มที่เพลงโปรดของผมในหนังเรื่องนี้ก่อน เป็นเพลงเปิดชื่อ Meet Me in St. Louis, Louis (1904) ทำนองโดย Kerry Mills คำร้องโดย Andrew B. Sterling เป็นเพลงฮิตใช้โปรโมทงาน World’s Fair 1904 ซึ่งมีการนำมาเรียบเรียงขับร้องใหม่ในช่วงต้นของหนัง

ผมชื่นชอบเพลงนี้ เพราะลีลาลำดับความต่อเนื่อง ที่กับฉากเปิดเรื่องใช้ลักษณะการส่งไม้ต่อ เริ่มจากเสียงดนตรีดังคลอเบาๆ -> เสียงฮัมของ Lon Jr. ->เสียงร้องของ Agnes -> ปู่ร้องออกมาจากห้องน้ำ เดินออกมา ฮัมต่อขณะแต่งตัว -> นอกบ้านได้ยินสาวๆร้องประสานเสียง

แต่ไฮไลท์ของเพลงนี้ อยู่ที่ขณะ Rose เล่นเปียโน และ Esther ร้องเล่นเต้น โยกไปมา ท่าเต้นของหญิงสาวโบกสะบัดไปมาได้สวยงามมากๆ และขณะที่ทั้งคู่ร้องประสานเสียง คนหนึ่งร้องเสียงสูง อีกคนร้องเสียงต่ำ เป็นท่อนฮุคที่ลัลล้ามากๆ ก่อจบที่ anti-climax พ่อกลับบ้านมา บอกให้หยุดร้อง (คือพ่อเป็นคนนอกวงโครจรเดียวในบ้านหลังนี้ ไม่เคยรับรู้เข้าใจอะไรใครเลย แต่ดันมีอำนาจสูงสุดในบ้าน)

ในหนังจะมีร้องเฉพาะ Chorus (ท่อนฮุค) แต่ผมเอาฉบับเพลงประกอบแท้ๆ ที่มีคำร้องท่อนก่อนหน้าฮุคอยู่ด้วย แสดงว่าหนังมีการตัดทอนฉากนี้ออกไปส่วนหนึ่ง เพื่อให้มีความสั้นกระชับมากขึ้น, ซึ่งเมื่อเหลือแค่นี้ ก็ต้องบอกว่ายังเพียงพอที่จะทำให้เราตกหลุมรักหนังได้โดยทันที และสามารถร้องฮัมตามได้จากการฟังแค่ครั้งเดียว (นี่เป็นเพลงที่ผมก็จดจำ ร้องตามได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่รับชม ไม่เคยลืมเลือน)

สำหรับเพลงที่เปลี่ยนโลกทัศน์ มุมมองของผู้ชมทั่วโลกต่อ Judy Garland ไปโดยสิ้นเชิง คือเพลงชื่อ The Trolley Song แต่งโดย Hugh Martin และ Ralph Blane ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Original Song แต่พ่ายให้กับ Swinging on a Star จากหนังเรื่อง Going My Way, เพลงนี้ถ่ายทำบนรถเลื่อน (Trolley) ในสตูดิโอ ใช้ Rear Projector ฉายบริเวณรอบข้างขณะรถเลื่อน มีลักษณะเป็น long-take (เริ่มตั้งแต่ตอนที่ Garland ร้องเพลงนี้) ที่ว่ากันว่าถ่ายทำเพียงเทคเดียวเท่านั้น

บทเพลงนี้ถือว่าจัดเต็มมากๆ ใช้ประโยชน์จากเครื่องดนตรีแทบทุกชนิดประสานเสียงอย่างลงตัว โดยเฉพาะเสียงเครื่องเป่า Horn, Trumpet ฯ ที่จะได้ยินแทบทุกครั้งตอนที่ไม่มีเสียงร้อง (จะว่าเป็นเครื่องดนตรีที่แทนเสียงร้องเลยก็ได้), ไวโอลินคลอประกอบตลอดเพลงไม่มีเงียบเสียง, และเสียงการวนซ้ำๆ ดิง ดิง ดิง, แบง แบง แบง ฯ มักเป็นเสียงซ้ำสาม เหมือนเสียงเต้นของหัวใจที่สั่นระริกรัว

เพลงนี้จับภาพของ Garland ในมุมของหญิงสาวแรกรุ่นที่ตกหลุมรักชายหนุ่ม ด้วยลีลาท่าทาง สายตา และน้ำเสียง พรรณาความรู้สึกหลงใหลรัญจวล หัวใจเต้นตุบตับตื่นเต้นดีใจ นี่ถือเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของเธอ (ก่อนหน้านี้มักขายแต่ความน่ารักน่าชัง) ที่ต่อจากนี้ใครๆก็จะมองเธอว่า โตเป็นสาวแล้วนะ สมควรได้รับบทนางเอกเสียที

สำหรับเพลง Have Yourself a Merry Little Christmas แต่งโดย Hugh Martin กับ Ralph Blane ขับร้องโดย Judy Garland เป็นเพลงที่ Esther ร้องให้กำลังใจ Tootie บอกว่าเดี๋ยวความทุกข์โศกของวันนี้ก็ผ่านไป ปีหน้าฟ้าใหม่มองย้อนกลับมา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็จะหลงเหลือเพียงความทรงจำเลือนลาง

เด็กหญิงฟังแล้วก็น้ำตาซึม รู้สึกโหยหวน เศร้าหนักไปกว่าเดิมอีกมั้งนะ พ่อที่แอบอยู่หลังฉากได้ฟังเพลงนี้ เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเริ่มครุ่นคิดใตร่ตรอง ทบทวนถึงครอบครัว อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในครอบครัว?

กับครอบครัวที่มีขนาดประมาณนี้ และพ่อเป็นคนเดียวที่หาเงินเข้าบ้าน ผมก็แอบรู้สึกเห็นใจอยู่เล็กๆ เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่พ่อจะแสดงความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ คิดตัดสินใจโดยไม่สนความเห็นของคนอื่น นี่เพราะเขาเป็นคนเดียวในบ้านที่เหนื่อย และเพื่อความอยู่รอดของครอบคัรว เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าความสุขหรือความต้องการแท้จริงของตนเอง, โชคยังดีที่หนังเรื่องนี้ สร้างนาทีที่ให้พ่อรับรู้และคิดได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต แท้จริงไม่ใช่ความร่ำรวยมั่งมีสุขสบาย แต่คือการที่ทุกคนได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้า ในบ้านที่เป็นของเรา ในเมืองที่เราเติบโต และในความฝันที่เราอยากเป็น

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือสำนึกรักบ้านเกิด ในแบบที่ครอบครัวไม่ได้ยากจน หาเช้ากินค่ำ หรือมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก, กับคนชนชั้นกลาง ความสุขของการมีบ้าน เพื่อเป็นสถานที่พบปะพร้อมหน้า พ่อแม่ลูกชายสาวได้อยู่ร่วมกัน แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับชีวิตแล้วไม่ใช่เหรอ ยังต้องการอะไรอื่นอีกละ!

กับคนที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวขนาดกลางถึงใหญ่ คงรู้สึกคุ้นเคยกับเรื่องราว สถานการณ์ในหนังเรื่องนี้เป็นอย่างดี ที่พ่อแม่พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ปู่หลานอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน มันจะมีช่วงเวลาสนุกสนานครื้นเครง สับสนวุ่นวายอลม่าน, ซึ่งถ้าปัจจุบันไม่ได้มีชีวิตอย่างนั้นแล้ว รับชมหนังเรื่องนี้จะเกิดอารมณ์หวนระลึก มีความรู้สึก Nostalgia คิดถึงช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น อาจจะมีสุขทุกข์แต่มันคือรสชาติหนึ่งของชีวิต ที่น้อยคนจะมีโอกาสสัมผัส

ด้วยทุนสร้าง $1.885 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในการฉายครั้งแรกสูงถึง $6.566 ล้านเหรียญ (กำไรท่วมท้น), เข้าชิง Oscar 4 สาขา น่าเสียดายไม่ได้สักรางวัล
– Best Writing, Adapted Screenplay
– Best Cinematography, Color
– Best Music, Scoring of a Musical Picture
– Best Music, Song (The Trolley Song)

ซึ่ง Margaret O’Brien (ที่รับบทเด็กน้อย Tootie) ได้รางวัลพิเศษ Juvenile Award (รางวัลที่ได้คือหุ่น Oscar ขนาดเล็ก, มีเพียง 12 คนเท่านั้นที่ได้รางวัลนี้) นักแสดงรุ่นเยาว์โดดเด่นที่สุดแห่งปี

คิดว่าเหตุผลที่ผมลืมหนังเรื่องนี้ เพราะฝังมันไว้ลึกเกินไปในความทรงจำ คือชอบมากจนไม่อยากนำกลับมาดูซ้ำบ่อยๆ ต้องการเก็บความประทับใจอันตราตรึงครั้งนั้นไว้ให้นานที่สุด, ตอนรับชมหนังครั้งนี้ ผมเหลือความทรงจำจางๆเท่านั้น จำได้แค่ว่าเป็นหนังที่สวยงามมากๆ ซึ่งพอดูหนังได้สักประมาณ 3 นาทีแรกเท่านั้นก็ระลึกได้เลย ดูไปอมยิ้มไป ยังคงเป็นหนังที่อิ่มเอิบ อบอุ่น สุขใจ ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันทำไมถึงไม่หยิบหนังเรื่องนี้มาดูบ่อยๆ

ว่าไปผมชอบหนังเรื่องนี้มากกว่า Singin’ in the Rain (1952) เสียอีกนะครับ (ถือเป็นหนังเพลงที่ผมชอบที่สุดด้วย) เป็นหนัง feel good ที่ดูจบแล้วหลับสบายฝันดี เหมาะอย่างยิ่งกับการรับชมช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ เหมือนกับ It’s a Wonderful Life (1946)

แนะนำกับคนชอบหนังครอบครัวน่ารักๆ หนังเพลงมีความกุ๊กกิ๊กโรแมนติก ชอบความรู้สึกอิ่มเอิบ อบอุ่น สุขใจ, ใครอยากเห็นงาน St. Louis World’s Fair 04 (จริงๆ เห็นแค่เสี้ยวหนึ่งของงานเท่านั้นนะ), และแฟนหนัง Judy Garland ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

จัดเรตทั่วไป เด็กๆดูได้ น่าจะชื่นชอบมากด้วย

TAGLINES | “Meet Me in St. Louis ยังคงสวยสดใส เหมือนการหวนระลึกถึงความทรงจำวัยเด็ก อิ่มเอิบ อบอุ่น สุขใจ และอาจเป็นหนังสวยที่สุดของ Judy Garland”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: