The Cloud-Capped Sta

Meghe Dhaka Tara (1960) Bollywood : Ritwik Ghatak ♥♥♥♥♡

ผลงาน Masterpiece เรื่องนี้มีความลึกล้ำในทุกๆระดับ, หน้าหนังเล่าถึงความเหน็ดเหนื่อยของหญิงสาว ที่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูแลครอบครัวเพียงลำพัง เพราะพ่อเจ็บป่วย แม่ไม่ได้ทำงาน พี่ชายเอาแต่เพ้อฝัน น้องสาวไล่จับผู้ชาย ฯ แต่ใจความของหนังเป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ Ritwik Ghatak ต่อเหตุการณ์แบ่งแยกดินแดน 1947 (Partition of India), ถึงคุณไม่ใช่คนอินเดีย ยังขอแนะนำว่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมค้นพบหนังเรื่องนี้จากชาร์ท Asian Cinema 100 Ranking จัดอันดับ 100 ภาพยนตร์เอเชียยอดเยี่ยม โดยเทศกาลหนังเมือง Busan เมื่อปี 2014, ภาพยนตร์จากประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่จะเป็นของ Satyajit Ray อาทิ The Apu Trilogy, The Music Room (1958), Charulata (1964) หรือไม่ก็ Awara (1951) ของ Raj Kapoor, Pyaasa (1957) ของ Guru Dutt, Mother India (1957) ของ Mehboob Khan แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง The Cloud-Capped Star ของผู้กำกับ Ritwik Ghatak ที่ติดอันดับ 20 เป็นรองเพียงหนังของ Ray เท่านั้น จะให้พลาดไปได้อย่างไร

ในบรรดาหนังของ Satyajit Ray เรื่องที่ผมถือว่าเป็น Masterpiece คือ Charulata (1964) เรื่องราวของหญิงสาวชั้นสูงที่อาศัยอยู่ในคฤหาสถ์หลังใหญ่โต แต่มีชีวิตเหมือนนกในกรง ขังอยู่ในลวดเหล็กดัด ทำได้แค่มองออกไปข้างนอกหน้าต่าง, คล้ายๆกันกับหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของหญิงสาวแต่เธอเป็นชนชั้นล่าง ชีวิตลำบากยากจน อาศัยอยู่ในบ้านจักสานไม้ไผ่มุงจาก ซึ่งก็มีลักษณะเป็นกรงขังเช่นกัน อยากที่จะโบยบินเป็นอิสระเหมือนก้อนเมฆล่องลอยบนท้องฟ้า แต่บางสิ่งอย่างเหนี่ยรั้งเอาไว้, สองเรื่องนี้ถือว่าเป็น Masterpiece ของหนังอินเดียที่เป็นภาษา Bengali เลยนะครับ ถ้าถามว่าเรื่องไหนเยี่ยมกว่าผมก็ตอบไม่ได้ แต่จิตใจโอนเอียงไปทาง Charulata มากกว่านิดๆ

Ritwik Ghatak (1925 – 1976) ผู้สร้างหนังชาว Bengali เกิดที่ Dhaka เดิมเป็นรัฐ East Bengal, India ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Bangladesh, อพยพมาอยู่ Calcutta (ปัจจุบันคือ Kolkata) ก่อนที่จะเกิดเหตุทุพภิกขภัยใน Bengal เมื่อปี 1943 และแบ่งแยกดินแดนเมื่อปี 1947, ความไม่เห็นด้วยต่อการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงดินแดนบ้านเกิด Ghatak จึงกลายเป็นผู้สร้างหนังที่นำเสนอเรื่องราวเชิงอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบชีวิตกับเรื่องราวการเมือง ใส่ทัศนะความคิดเห็นของตนลงไปในภาพยนตร์

ถือว่ารุ่นเดียวกับ Satyajit Ray และ Mrinal Sen เริ่มต้นจากเป็นผู้กำกับละครเวที ต่อมาได้งานผู้ช่วยผู้กำกับ นำแสดงในหนังเรื่อง Chinnamul (1950) จากนั้นได้รับโอกาสเขียนบทกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Nagarik (1952) ที่ถือว่าพลิกโฉมหน้าวงการภาพยนตร์ของอินเดียไปโดยสิ้นเชิง, ลักษณะผลงานของ Ghatak เป็นการผสมผสานละครเวที บทกวี สารคดี ใส่ความ Realism, Expressionist, Surrealism ฯ เรียกสั้นๆง่ายๆว่าคือ Art Film ที่ถึงขนาด Ray เอ่ยปากชื่นชมผลงานของ Ghatak อย่างออกนอกหน้า ยกย่องผลงานของเขาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Bengali art film และเวลาหนังของตนไปฉายต่างประเทศ ก็พยายามจะโฆษณาโปรโมทเพื่อนตัวเอง แต่ชื่อเสียงของ Ghatak ในยุคนั้น โด่งดังแค่ในประเทศเท่านั้น แทบไม่เคยเป็นที่รู้จักระดับสากลเลย

ผลงานของ Ghatak หลายเรื่องมีความล้ำหน้าก่อนยุคสมัย อาทิ
– Ajantrik (1955) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเสนอ รถ เป็นตัวละครหลัก ก่อนการมาของหนังรถตระกูล Herbie เสียด้วยซ้ำ
– Bari Theke Paliye (1958) ว่ากันว่าพล็อตหนังมีความคล้ายคลึงกับ The 400 Blows (1959) ของ François Truffaut เป็นอย่างมาก
– Titash Ekti Nadir Naam (1973) ด้วยวิธีการนำเสนอผ่านตัวละครหลากหลาย แต่มีเรื่องราวเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน นี่ก็คล้าย Nashville (1975) ของ Robert Altman อย่างมากเช่นกัน

นับตั้งแต่อดีตกาล ที่ฮินดูกับมุสลิมในประเทศอินเดียเกิดปัญหาข้อพิพาทขัดแย้งอย่างรุนแรง มันคงเป็นกรรมเวรของชาวพราหมณ์/ฮินดู ที่เคยขับไล่พระสงฆ์ ของพุทธศาสนาออกไปจากประเทศจนหมด ทำให้เมื่อตอนที่ชาวมุสลิมเข้ามาในสมัยแรกๆ ได้ใช้กำลังเพื่อครอบครอง บังคับให้คนอินเดียเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม หรือไม่ก็สร้างกฎเกณฑ์ทางสังคมให้ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของมุสลิม

ก่อนหน้าที่อินเดียจะกลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ศาสนาอิสลามได้แพร่หลายจนกลายเป็นใหญ่เหนือฮินดู แต่พออังกฤษเข้ามาได้นำอีกศาสนาเข้ามาเผยแพร่ ทำให้ชาวมุสลิมมีปริมาณลดน้อยลง แต่ใช่ว่านี่จะเป็นสิ่งดี เพราะปี 1905 อังกฤษได้นำเอานโยบายหนึ่งเข้ามาใช้ นั่นคือการแบ่งแยกดินแดน ด้วยการให้มณฑลเบงกอลและรัฐอื่นที่เต็มไปด้วยชาวมุสลิม แยกตัวออกไปปกครองตนเองแต่ยังขึ้นตรงกับอังกฤษ (แค่จะไม่เข้าไปจัดการยุ่งยาก เพราะมองว่ามุสลิมส่วนใหญ่เป็นพวกหัวรุนแรง)

การได้อินเดียเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร สมัยนั้นคงมองว่าคือวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ เพราะได้ครอบครองประเทศที่มีอาณาเขตกว้างขวาง ทรัพยากรธรรมชาติมีเรียกว่าแทบจะไม่จำกัด แต่ใช่ว่าอังกฤษจะนำความเจริญอะไรเข้าไปพัฒนาอินเดีย รังแต่จะสร้างความขัดแย้งและรอยแผลบาดหมางให้กับประเทศแห่งนี้ โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม 1947 ที่ข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดีย Lord Louis Mountbatten ได้ยินยอมให้มณฑลเบงกอลและอีกหลายรัฐที่ปกครองตัวเองด้วยชาวมุสลิม แยกดินแดนออกไปเป็นประเทศตนเอง กลายเป็นปากีสถานตะวันออกและปากีสถานตะวันตก (ที่มีอาณาเขตห่างกันกว่า 1,600 กิโลเมตร)

เกร็ด: วันที่ 23 มีนาคม 1971 ปากีสถานตะวันออกได้ประกาศเอกราช แยกตัวเองออกไปเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

Meghe Dhaka Tara เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 8 ของ Ritwik Ghatak และอีก 2 เรื่องถัดมา Komal Gandhar (1961), Subarnarekha (1962) ได้ถูกเหมารวมว่าเป็น Partition Trilogy มีเรื่องราวเกิดขึ้นที่เมือง Calcutta พื้นหลังตัวละครเป็นผู้อพยพ (refugee) มาจาก East Bengali ในช่วงการแบ่งแยกอินเดีย-ปากีสถาน 1947 พวกเขาต้องใช้ชีวิตต่อสู้ดิ้นรน ปรับตัวเข้ากับบ้านหลังใหม่อย่างยากลำบาก

ย่อหน้าที่แล้วเป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงเลยนะครับ เพราะผู้กำกับคงไม่ต้องการมีปัญหากับทางการ จึงจงใจไม่กล่าวถึงพื้นหลังเรื่องราวอย่างชัดเจน แต่ชาวอินเดียสมัยนั้นที่ประสบพบเจอเกี่ยวข้องหรือเป็นหนึ่งในผู้อพยพ น่าจะสามารถสังเกตรับรู้ได้

ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกับหนัง เขียนโดย Shaktipada Rajguru ภาษา Bengali ต้นฉบับตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ Chenamukh เป็นแนว Social Novel สะท้อนปัญหาสังคม, บทภาพยนตร์โดย Ritwik Ghatak

Neeta เป็นหญิงสาวที่ไร้ความเห็นแก่ตัว เสียสละความสุขส่วนตัว ทุกสิ่งอย่างเพื่อครอบครัวได้มีกินยังชีพอยู่, ทำงานเป็นครูสอนหนังสือให้กับเด็กๆ เงินที่ได้นำมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวทั้งหมด เพราะนับตั้งแต่พ่อป่วยไม่สามารถหาเงินได้ ก็เหลือเพียงแค่เธอเท่านั้นที่เป็นเสาหลักต้นเดียว

นำแสดงโดย Supriya Choudhury หรือ Supriya Devi ชื่อจริงของเธอคือ Krishna เกิดที่ Myitkyina ประเทศพม่า, ฉายแววการแสดงตั้งแต่เด็ก อพยพย้ายมา Calcutta ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นนักแสดง Bengali ชื่อดัง มีผลงานภาพยนตร์ยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ

การแสดงของ Choudhury ในบท Neeta มีลักษณะเป็น Expressionist คิดรู้สึกอะไรก็ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหว แบบตรงไปตรงมาไม่ปกปิดไว้ ซึ่งหลายหลังเราจะเห็นเธอหันหน้าเข้าหากล้อง/หรือหันหนีคนอื่น (เพื่อแสดงความรู้สึกออกมา) นี่เป็นแนวทางการกำกับของ Ghatak ที่ต้องการให้ผู้ชมมองเห็นความรู้สึกของตัวละครนะครับ มันอาจดูแปลกๆเกินจริงไปเสียหน่อยก็ยังพอรับได้

Shankar พี่ชายคนโตของครอบครัว มีความเพ้อฝันอยากเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังประสบความสำเร็จ แต่ปัจจุบันยังคงซ้อมร้องเพลง และไม่เคยคิดทำงาน (เพราะเชื่อว่า งานอื่นไม่คู่ควรกับตน) แทบทุกคนในครอบครัว(และคนอื่นๆในสังคม)ต่างตัดพ้อว่า เป็นคนเห็นแก่ตัว พึ่งพาไม่ได้ เว้นเพียงแต่น้องสาว Neeta เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าสักวันพี่ชายจะทำตามฝันสำเร็จ

รับบทโดย Anil Chatterjee ผมนึกตั้งนานชายคนนี้คุ้นๆเคยเห็นที่ไหน ก็พบเคยรับบทสามีผู้อาภัพใน Mahanagar (1963) ของ Satyajit Ray สงสัยภาพลักษณ์ของพี่แก -ชายผู้พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่- คงกลายเป็น typecast ไปแล้วแน่, Chatterjee แจ้งเกิดกับ Nagarik (1952) ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Ghatak และกลายเป็นขาประจำอยู่อีกหลายเรื่อง

การแสดงของ Chatterjee ไม่มีอะไรให้พูดถึงเท่าไหร่ ยกเว้นภาพลักษณ์และพฤติกรรมของตัวละครที่ใครคงจดจำได้ คือ เจอหน้ามักขอเงินไปซื้อมีดโกนหนวดทุกที (แต่ก็ไม่เคยเห็นโกนสักครั้ง) และเสียงร้องซ้อมลูกคอ อ้าาาาาา

สองพี่น้องมีความสนิทชิดเชื้อกันอย่างมาก เล่นกันแกล้งกัน หลายครั้งมักให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ขณะที่คนอื่นในครอบครัวต่างเห็นผิดเป็นชอบ พอเห็น Neeta จากรุ่งโรจน์ค่อยๆตกต่ำลงก็ขับไสไล่ส่ง ส่วน Shankar จากไม่มีอะไรกลายมาเป็นประสบความเสร็จก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญ, สุดท้ายเหลือเพียงทั้งสองเท่านั้นที่ยังเข้าใจ ดูแลซึ่งกันและกัน

ถ่ายภาพโดย Dinen Gupta ที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้กำกับดัง, ต้องบอกว่างานภาพของหนังมีความโดดเด่นหลายอย่างมาก อาทิ การจัดวางตำแหน่งองค์ประกอบ, การเคลื่อนไหวของตัวละครและกล้อง, แต่ที่น่าจะสวยงามสุดคือการจัดแสง ทั้งภายในและภายนอก มีนัยยะถึงสิ่งที่อยูในจิตใจ และการแสดงออกทางภายนอก ฯ

Open Credit สังเกตพื้นหลังจะเป็นภาพเหมือนแสงดาวทอแสงประกายระยิบระยับ ผมคิดว่าคงเป็นภาพถ่ายผืนน้ำสะท้อนแสงจันทรา แล้วใช้การปรับสีความเข้มแสงให้สุด จึงเห็นเป็นประกายระยิบระยับเหมือนดาวบนท้องฟ้า, ส่วนช็อตสุดท้ายที่เห็นดวงเป็นแฉกๆ นั่นน่าจะคือถ่ายแสงจากหลอดไฟแล้วใช้การปรับกล้องให้หลุดโฟกัส ก็จะเห็นเป็น 4 แฉกเหมือนดาวกระจาย

ภาพช็อตแรกของหนังนี่ตราตรึงมาก ต้นไม้ใหญ่แผ่นกิ่งก้านสาขาอย่างสวยงาม ไม่แน่ใจว่าต้นโพธิ์หรือเปล่า (ในบ้านเหมือนจะมีภาพวาดของต้นไม้นี้อยู่ด้วย), นัยยะของภาพนี้ กิ่งก้านสาขาที่แผ่ขยาย เสมือนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลของอินเดีย (มองดีๆ รูปทรงของต้นไม้ก็คล้ายแผนที่ประเทศอินเดียอยู่นะครับ และส่วนที่หลุดเฟรมไป เหมือนว่าจะคือตำแหน่งประเทศปากีสถานที่หายไป)

หลายช็อตที่เป็น Expressionist ภาพจะโคลสอัพใบหน้าตัวละคร หรือไม่ก็จะบิดตัวหันหน้าเข้าหากล้อง บางครั้งจะเห็นแค่ด้านข้าง (นี่มีลักษณะเหมือนละครเวที ที่นักแสดงมักจะหันหน้าหาผู้ชมเสมอ) เพื่อที่จะแสดงสีหน้า อารมณ์ความรู้สึกออกมา

ใน 1 ช็อตภาพ บางครั้งมีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นพร้อมๆกัน อย่างช็อตนี้ 3 เรื่องราว
– รถไฟเคลื่อนผ่าน
– Shankar ซ้อมร้องเพลง
– Neeta เดินกลับบ้าน กำลังหันมายิ้มกับกล้อง

สังเกตไม้ไผ่ที่สานตรงหน้าต่าง มันมีลักษณะคล้ายกรงนกเสียเหลือเกิน และหญิงสาวก็ชอบที่จะอยู่ภายในมองออกไปด้านนอก (บางครั้งมองออกไปบนท้องฟ้า)

ช็อตนี้คล้ายหนังของ Michelangelo Antonioni อยู่นะครับ ที่กิ่งก้านสาขาของต้นไม้แสดงถึงความสับสนยุ่งเหยิงอลม่านในหัวของมนุษย์

การจัดแสงถือว่ามีความโดดเด่นที่สุด เพราะหนังมีส่วนผสมของทั้งแสงธรรมชาติ (ถ่ายภายนอก) และแสงที่ลอดส่องมาจากภายนอก (ถ่ายภายใน) ผมประทับใจฉากในบ้านที่เห็นแสงเงาฉาบอาบลงบนใบหน้าตัวละครอย่างมาก ช่วงแรกจะไม่ค่อยมีความมืดเท่าไหร่ แต่เมื่อ Neeta เริ่มเข้าสู่ด้านมืด ความมืดจะเริ่มเข้าครอบงำเธอ

Neeta กำลังเข้าสู่ด้านมืด ใบหน้าของเธอฝั่งหนึ่งมืดสนิท อีกด้านเหลือแสงสว่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สำหรับช็อตที่เป็นไฮไลท์เลย จะอยู่บริเวณประตูบ้าน ที่ถ่ายจากภายในมองเห็นภาพภายนอก ทุกครั้งที่มีช็อตลักษณะนี้จะมี 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ คือ หนึ่งเหตุการณ์ในบ้าน และสองเหตุการณ์นอกบ้าน

ตัดต่อโดย Ramesh Joshi, เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Neeta ทั้งหมด เพราะเธอเป็นผู้แบกรับทุกอย่างในบ้าน, แต่ละฉากมักจะมี 2 เรื่องราวเล่าคู่ขนานกันเป็นอย่างน้อย บางครั้งหลบซ่อนอยู่ด้านหลังภาพใกล้/ไกล เช่น มองเห็นรถไฟเคลื่อนผ่านอยู่ลิบๆ, แม่ที่ชอบแอบด้อมๆมองๆผ่านหน้าต่าง ฯ, บางครั้งมาเป็นเสียงประกอบ (ไม่เห็นภาพ) เช่น เสียงเด็กวิ่งเล่น, เสียงนกร้อง, เสียงคนร้องเพลง ฯ

เพลงประกอบโดย Jyotirindra Moitra ที่ต่อมาได้ทำเพลงให้ Charulata (1964) ด้วย, ช่วงแรกได้ยินเสียง Sitra หลงคิดไปว่ามีกลิ่นอายคล้ายๆกับหนังของ Satyajit Ray แต่ไปๆมาๆเริ่มได้ยินเสียงมีความแปลกประหลาด ‘เกินจริง’ นี่เป็นลักษณะของ Surrealism เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมา

หนังมีการใช้ประโยชน์จากเสียง Sound Effect อย่างมาก เราจะได้ยินเสียงเด็กๆวิ่งเล่น (ทั้งๆที่พวกเขาไม่ได้อยู่ในฉาก), เสียงเฆี่ยนแซ่ มีนัยยะถึงความพลิกผันของโชคชะตา, เสียงก้องกังวาล คือคำพูด/การกระทำที่ยิ่งใหญ่แต่ไร้ผู้รับฟัง, เสียงที่เหมือนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ได้ยินช็อตสุดท้ายของหนัง) แสดงถึงความหวังต่อไปในอนาคต ฯ

หญิงสาว 3 คนในหนัง วิเคราะห์ได้ถึงมุมมองของสังคมต่อพวกเธอ
– Neeta ตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่ ทำทุกอย่างเพื่อผู้อื่นโดยไม่สนใจตนเอง
– Geeta ตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่เช่นกัน แต่เธอสนใจเฉพาะความต้องการของตนเองเท่านั้น
– แม่ เป็นตัวแทนของคนรุ่นก่อน ที่ได้แค่พูดปากดี แต่ไม่สามารถทำอะไรได้

ขณะที่ผู้ชาย 4 คน สามารถวิเคราะห์ได้คือ
– Shankar ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ มีอุดมการณ์แน่วแน่ สามารถทำได้สำเร็จ
– Sanat ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ มีอุดมการณ์แต่ทำไม่สำเร็จ รวนเรเปลี่ยนแปลง เห็นแก่ตัว สนเฉพาะตนเองเท่านั้น
– Mantu น้องชายคนเล็ก ขาดอุดมการณ์ เหมือนจะพึ่งพาได้แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด
– พ่อ ตัวแทนของคนรุ่นก่อน ที่เคยพึ่งพาได้ในอดีต แต่ปัจจุบันไม่สามารถทำอะไรได้เลย

โรคที่ Neeta ป่วยในตอนท้ายคือ วัณโรค (Tuberculosis เรียกย่อๆ T.B.) เป็นโรคติดเชื้อที่ปอด เกิดจากแบคทีเรียที่แพร่ผ่านอากาศ เริ่มต้นมีอาหารไอ จาม ไม่หายสักทีรุนแรงจนมีเลือดออก ตรวจพบเร็วมีโอกาสรักษาหาย แต่ถ้าปล่อยไว้มีโอกาสทำให้เสียชีวิตมากกว่า 50%, นัยยะของโรคนี้ พิจารณาจากสาเหตุการเกิดคือ อากาศ/สภาพแวดล้อม/ผู้คนรอบข้าง หรือคือสิ่งที่พ่อ-แม่ พี่-น้อง ได้แสดงออกกระทำต่อเธอ อันเต็มไปด้วยความไม่เห็นด้วย ขัดแย้ง ทรยศหักหลัง ความทุกข์ทางกายสะสมหมักหมมจนติดเชื้อกลายเป็นโรครุนแรง ไม่รู้สมัยนั้นค้นพบวิธีรักษาหายหรือยัง

คำพูดสุดท้ายของ Neeta ต่อพี่ชาย “Dada, ami baachte chai” (แปลว่า พี่ชาย ฉันอยากมีชีวิต, Brother, I want to survive) กลายเป็นประโยคฮิตติดปาก ดังกึกก้องไปทั่วผืนปฐพีอินเดีย, ประโยคนี้มีนัยยะสื่อถึง ชาวอินเดียที่ถูกแบ่งแยกออกไปเป็นปากีสถาน หลายคนยังจงรักภักดีในผืนแผ่นดินเดิม โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นคนสัญชาติใหม่ไปแล้ว แล้วสิทธิ์ของพวกเขาอยู่ตรงไหน ‘ฉันไม่ใช่ชาวอินเดียหรือยังไง!’

มองใจความสำคัญฉาบหน้า หนังตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของมนุษย์ กับคนที่เคยทำทุกสิ่งอย่างเพื่อผู้อื่น เมื่อครั้งหมดภาระหน้าที่ต้องพึ่งพา กลับถูกทิ้งขว้างเหมือนเศษขยะไม่เหลือเยื่อใยดี แบบนี้มันสมควรแล้วหรือ!

สะท้อนกับใจความของผู้กำกับที่ต้องการนำเสนอ ปากีสถานทั้งตะวันตกและตะวันออก พวกเขาไม่ใช่อินเดียหรือยังไง กับคนส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยแยกตัวออกไป แล้วกับคนที่ไม่เห็นด้วยละ ต้องถูกทิ้งขว้างอย่างนั้น แบบนี้มันสมควรแล้วหรือ!

ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะใจความหน้าหนังที่แฝงแนวคิดคุณธรรมจริยธรรมอันลึกซึ้ง กับหญิงสาวผู้เปรียบได้กับแม่พระมาโปรด ถ้าในชีวิตคุณพบเจอใครแบบนี้ อย่าริกระทำแบบในหนังเรื่องนี้กับเธอเด็ดขาดนะครับ ควรที่จะต้องเอาใจใส่ดูแล รักทะนุถนอมให้ดีถึงที่สุด เพราะคนแบบนี้ ชาตินี้อาจหาไม่ได้แล้ว

บทเรียนกับตัวละคร Sanat แรกๆก็จีบ Neeta พี่สาว เหมือนจะไปด้วยกันได้ดี แต่พอเจอกับน้องสาว Geeta สายตาหมอนี่ชัดเจนตั้งแต่วินาทีแรก คือต้องการครอบครองน้องมากกว่าพี่ และเมื่อพฤติกรรมของ Neeta ที่ขอให้เขารอ ผู้ชายส่วนใหญ่คงทนไม่ได้ สุดท้ายเลย…, ผมว่าผู้ชายแบบนี้ ‘เหี้ย’ นะครับ เห็นแก่ความเงี่ยนของตนไม่เท่าไหร่ แต่ความโง่นี่บรมเลย เรียนถึงระดับปริญญาโทเอก แต่กลับมองไม่เห็นคิดไม่ได้ ผลลัพท์ถือว่าสมน้ำหน้า ผู้หญิงดีๆมีไม่เอา (พูดไปเหมือนมันเข้าตัวเองยังไงชอบกล!)

ชื่อหนัง/นิยาย The Cloud-Capped Star เห็นว่าผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจาก คำพูดหนึ่งในบทละคร The Tempest ของ William Shakespeare

And like the baseless fabric of this vision,
The cloud-capped towers, the gorgeous palaces,
The solemn temples, the great globe itself—
Yea, all which it inherit—shall dissolve,
And like this insubstantial pageant faded,
Leave not a rack behind.

ยามค่ำคืนถ้าท้องฟ้าเปิดไร้ก้อนเมฆ ดวงดาวก็จะระยิบระยับเป็นประกาย แต่ถ้าเมื่อใดต้องส่องแสงผ่านมวลเมฆเมฆา จะเห็นเป็นความขมุกขมัวไม่ชัด บางครั้งถูกบดบังมืดมิดมองไม่เห็นอะไร, นัยยะของก้อนเมฆบดบังดวงดาว (Cloud-Capped Star) คือการแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นความสำคัญ นี่คือสิ่งที่แทบทุกคนทำกับหญิงสาว Neeta ทั้งๆที่เธอเป็นเสมือนแม่พระผู้เสียสละ เว้นแต่เพียงพี่ชาย Shankar ที่ต่อให้แสงดาวดาราหลบซ่อนอยู่หลังก้อนเมฆ ก็ยังคงรับรู้มองเห็นความงดงาม

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะมีอะไรหลายๆอย่าง -ไม่อยากบอกเท่าไหร่- ตรงกับชีวิตผมอย่างมาก, ชอบสุดๆก็คือ direction แนวทางของผู้กำกับ ที่มีอะไรให้ค้นหาเยอะแบบสุดๆไปเลย เรียกว่าสร้างความประหลาดใจให้ผมอย่างยิ่งยวด ไม่คิดว่าหนังจากประเทศอินเดีย จะมีลักษณะที่เรียกว่า art film เกิดขึ้นในยุคทองของวงการภาพยนตร์ด้วย

แนะนำกับคอหนังอินเดีย, หนัง Art คุณภาพ, รู้จัก Satyajit Ray ต้องหาหนังของ Ritwit Ghatak ด้วย, ชื่นชอบหนังแนว Neo-realist ในลักษณะ Expressionist, Realism และ Surrealism

จัดเรต 13+ กับความเห็นแก่ตัวของแทบทุกตัวละคร

TAGLINE | “Meghe Dhaka Tara เป็นผลงานสุดประหลาดที่เต็มไปด้วยอิสระเสรีของผู้กำกับ Ritwik Ghatak มีความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: