Melancholia (2011) : Lars von Trier ♥♥♥♡
ไม่ต้องไปสนหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าดาวเคราะห์พเนจร Melancholia จะพุ่งชนโลกได้อย่างไร? เมื่อวันโลกาวินาศคืบคลานเข้ามา ไม่สามารถหาหนทางหลบหนี คนส่วนใหญ่คงตกอยู่ในสภาพหดหู่ ซึมเศร้า หมดสิ้นหวังอาลัย แต่สำหรับผู้กำกับ Lars von Trier คงนั่งเหม่อมองท้องฟ้า อดไม่ได้จะยิ้มเริงร่า
Melancholia (2011) ภาพยนตร์เรื่องที่สองของไตรภาค ‘Depression Trilogy’ นำจากประสบการณ์ตรงของผกก. von Trier ที่ล้มป่วยซึมเศร้า (Depression) ครั้งหนึ่งระหว่างเข้าร่วมกลุ่มบำบัด (Therapy Session) ได้ยินจากจิตแพทย์ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะสามารถปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์เลวร้าย หรือวันสิ้นโลกาวินาศได้ง่ายกว่าคนปกติ … นั่นเพราะพวกเขาไม่ได้มีความห่วงโหยหาอาลัยกับโลกใบนี้ เมื่อความตายคืบคลานเข้ามา ใกล้ถึงจุดจบชีวี เลยมักรู้สึกยินดีปรีดา จะได้หมดทุกข์หมดโศกเสียที
Lars would always say to me, “I think that Justine has strength at the end because when you’re depressed, you’re numb and you’re fearless to major tragedy. So she can be the one that’s going to take care of everyone else”. And I always thought, she was connecting with herself in the deepest way.
Kirsten Dunst
ถ้าระหว่างการแถลงข่าว (Press Conference) หลังฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes ผกก. von Trier ไม่ป่าวประกาศว่าเข้าใจ Adolf Hiter และพูดติดตลกว่าตนเองคือ Nazi ก็อาจมีโอกาสสูงมากๆที่ Melancholia (2011) จะคว้ารางวัล Palme d’Or ร่วมกับ The Tree of Life (2011) แต่พอปากพล่อยออกไปเช่นนั้นก็เลยหมดลุ้น เหลือเพียงแค่ Kirsten Dunst คว้ารางวัล Best Actress … และผกก. von Trier ยังถูกแบนจากการเข้าร่วมเทศกาลหนังเมือง Cannes
แม้หนังจะมีจุดเริ่มต้นไม่น่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่ แต่ความทรงคุณค่าของ Melancholia (2011) ได้รับการยกย่องสรรเสริญระดับ “Greatest Film of All Time” แทบจะโดยทันที!
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ #235 (ร่วม)
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับ #211 (ร่วม)
แค่อารัมบท 8 นาทีแรก ฉายภาพซุปเปอร์สโลโมชั่น (Super-Slow Motion) อัตราเร็ว 1,000 เฟรมต่อวินาที ก็สามารถสร้างบรรยากาศโคตรๆเหนือจริง (Surreal) คลอประกอบอุปรากร Richard Wagner: Tristan und Isolde เพียงเท่านี้ก็น่าจะทำให้หลายคนรู้สึกตื่นเต้น ขนลุกขนพอง ดึงดูดความสนใจได้อย่างล้นหลาม (ไม่ด้อยไปกว่า Lascia ch’io pianga ของ Antichrist (2009)), ครึ่งแรกงานแต่งงานป่วนๆที่น่าประทับใจไม่น้อยไปกว่า The Deer Hunter (1975), ไฮไลท์อยู่ครึ่งหลังเมื่อดาวเคราะห์พเนจร Melancholia กำลังคืบคลานเข้าใกล้วันสิ้นโลกาวินาศ และผมสปอยได้แค่ว่าภาพนู๊ดเต็มตัวของ Kirsten Dunst งดงามวิจิตรศิลป์!
Lars von Trier (เกิดปี 1956) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Danish เกิดที่ Kongens Lyngby, Denmark เป็นบุตรบุญธรรมของ Ulf Trier เมื่อตอนมารดาใกล้เสียชีวิต ค.ศ. 1989 สารภาพว่าบิดาแท้จริงคือ Fritz Michael Hartmann อดีตสมาชิกกลุ่มต่อต้านนาซี และเคยทำงานกระทรวงกิจการสังคม (Ministry of Social Affairs)
โตขึ้นร่ำเรียนทฤษฎีภาพยนตร์ยัง University of Copenhagen ต่อด้วยสาขาการกำกับ National Film School of Denmark ปีสุดท้ายตัดสินใจเพิ่ม ‘von’ เข้าไปกึ่งกลางชื่อ (แบบเดียวกับ Erich von Stroheim และ Josef von Sternberg) บนเครดิตผลงานจบการศึกษา Images of Liberation (1982) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin ในส่วนของ Panorama, ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Element of Crime (1984), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Europa (1991), Breaking the Waves (1996), The Idiots (1998), Dancer in the Dark (2000) ฯ
ช่วงประมาณปี ค.ศ. 2006-07 ผกก. von Trier เริ่มแสดงอาการซึมเศร้า (Clinical depression) ก็ไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรคือตัวกระตุ้นความผิดปกติดังกล่าว ทำให้ไม่มีโอกาสได้สรรค์สร้างภาพยนตร์ปิดไตรภาค USA – The Land of Opportunities ประกอบด้วย Dogville (2003), Manderlay (2005), เหลือเพียงชื่อโปรเจคค้างคาไว้ Washington
ซึ่งระหว่างรักษากำลังอาการซึมเศร้านั้นเอง ผกก. von Trier มีโอกาสเข้ากลุ่มบำบัด รับฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้ป่วย Melancholia มักสามารถปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์หายนะ วันสิ้นโลกาวินาศได้ดีกว่าคนปกติ
My analyst told me that melancholiacs will usually be more level-headed than ordinary people in a disastrous situation, partly because they can say: ‘What did I tell you?’. But also because they have nothing to lose. And that was the germ of Melancholia. From then on, things were speeding up. Less than a year later, the script was written, the actors found, and the crew in the process of shooting.
Lars von Trier
สำหรับเรื่องราวดาวเคราะห์พเนจร (Rough Planet) ผกก. von Trier ได้แรงบันดาลใจจากการอ่านทฤษฎีสมคบคิด พบเจอในเว็บไซด์แห่งหนึ่ง ทั้งรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง หรือถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่งานศิลปะภาพยนตร์ อะไรล้วนบังเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นหลังเหตุการณ์หายนะ อธิบายความรู้สึก/พฤติกรรมผู้ป่วยซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี
เริ่มต้นด้วยอารัมบท ร้อยเรียงภาพซุปเปอร์สโลโมชั่น (Super-Slow Motion) ย่นย่อเรื่องราวทั้งหมดของหนัง (หรือจะมองว่าภาพ ‘Flash’ ก่อนตาย) แล้วจบลงด้วยภาพดาวเคราะห์พเนจรพุ่งชนโลก … เป็นการบอกใบ้ให้ผู้ชมรับรู้ถึงจุดจบ วันโลกาวินาศกำลังย่างกรายเข้ามา
เรื่องราวหลักของหนังแบ่งออกเป็นสองส่วน ประกอบด้วย
Part One: Justine, นำเสนอเรื่องราวของ Justine (รับบทโดย Kirsten Dunst) ในวันแต่งงานกับ Michael (รับบทโดย Alexander Skarsgård) ยังปราสาทหรูของพี่เขย John (รับบทโดย Kiefer Sutherland) ซึ่งเป็นสามีของพี่สาว Claire (รับบทโดย Charlotte Gainsbourg) แต่ทุกสิ่งอย่างดูผิดพลาด ล่าช้ากว่ากำหนดการ เต็มไปด้วยลางร้าย หายนะ ก่อนจบลงด้วยการแยกทางระหว่างคู่บ่าว-สาว
Part Two: Claire, หลายวันถัดมา Justine เดินทางกลับมายังปราสาทหรูของพี่เขย John ในสภาพห่อเหี่ยว ไร้เรี่ยวแรง แต่หลังจากรับรู้ว่าดาวเคราะห์พเนจร Melancholia กำลังจะพุ่งเข้าชนโลก เธอกลับมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตรงกันข้ามกับพี่สาว Claire แสดงความร้อนรน กระวนกระวาย ไม่อยากตาย แต่ก็ไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไร สุดท้ายทำได้เพียงเหม่อมองท้องฟ้า และทอดถอนลมหายใจ
Kirsten Caroline Dunst (เกิดปี 1982) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Point Pleasant, New Jersey ถูกมารดาผลักดันให้เป็นนางแบบเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จึงมีโอกาสปรากฎตัวหนังสั้นของ Woody Allen เรื่อง Oedipus Wrecks (1989), ภาพยนตร์ The Bonfire of the Vanities (1990), รวมถึงเคยรับเชิญตอน 159: Dark Page ซีรีย์ Star Trek: The Next Generation, หลังครอบครัวหย่าร้าง ค.ศ. 1993 ติดตามมารดามาอาศัยอยู่ Los Angeles โด่งดังกับ Interview with the Vampire (1994), Little Women (1994), Jumanji (1995), The Virgin Suicides (1999), กลายเป็น Superstar จากบทบาท Mary Jane Watson แฟนไชร์ Spider-Man (2002-09), ผลงานอื่นๆ อาทิ Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004), Melancholia (2011), Hidden Figures (2016), The Beguiled (2017), The Power of the Dog (2021) ฯ
รับบท Justine น้องสาวผู้มีความระริกระรี้อยากแต่งงาน แต่พอเอาเข้าจริงกลับท่าทางเหม่อล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย กระวนกระวาย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ สำแดงอุปนิสัยดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ แทนที่จะร่วมรักสามีกลับหนีไปร่วมเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้า เลยไม่น่าแปลกใจที่ท้ายสุดเธอกับสามีจะแยกทาง หย่าร้าง … นี่คือลักษณะอาการของผู้ป่วย Melancholia
ครึ่งหลังหญิงสาวตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว ไร้เรี่ยวแรง หมดสิ้นพละกำลัง ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่เมื่อได้ยินข่าวคราวดาวเคราะห์พเนจรกำลังพุ่งเข้าชนโลก โดยไม่รู้ตัวสามารถฟื้นตื่น ลุกขึ้นยืน สำแดงความเข้มแข็ง เปลือยกายล่อนจ้อน โอบกอดรับความตาย ใช้วันเวลาช่วงสุดท้ายอย่างไม่หวาดกลัวเกรงอะไร
แรกเริ่มนั้นผกก. von Trier มีภาพนักแสดง Penélope Cruz พูดคุยแลกเปลี่ยนทางจดหมายกันมานาน แต่ไปๆมาๆเธอติดพันโปรเจค Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides (2011) เลยจำต้องมองหานักแสดงคนใหม่ ได้รับคำแนะนำจาก Paul Thomas Anderson และ Susanne Bier ให้ลองติดต่อ Kirsten Dunst พูดคุยผ่านโปรแกรม Skype ยินยอมตอบตกลงเพราะเธอเพิ่งรักษาหายจากอาการซึมเศร้า คล้ายๆแบบเดียวกับตัวละคร (และผกก. von Trier)
ครึ่งแรกของหนัง Dunst เล่นเป็น Dunst! ใครเคยรับชมหลายๆผลงานของเธอ ย่อมมักคุ้นกับตัวละครสไตล์เจ้าหญิง นิสัยดื้อรั้น เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ระริกระรี้แรดร่าน ไม่ยินยอมศิโรราบ อยู่ภายในกรงขังของใคร, แต่ครึ่งหลังเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อน มันคือความเปราะบางที่เข้มแข็ง จากไร้เรี่ยวแรง อาบน้ำเองยังไม่ได้ กลายมาเป็นบุคคลไร้ความหวาดกลัวเกรง พร้อมเผชิญหน้าความตาย และโดยเฉพาะซีนเปลือยกายนอนอาบแสงจันทรา นี่ไม่ใช่แค่ความหาญกล้าบ้าบิ่น แต่ยังคือศรัทธาเชื่อมั่นในศิลปะชั้นสูง/โลกหลังความตาย
She’s trying to live this fantasy normal life. I think maybe Justine has a lover somewhere. I thought about Tristan and Isolde [อุปรากรที่ได้ยินตลอดทั้งเรื่อง] and thought maybe the reason this music is always playing is because she has this long lost love somewhere, who died or something. And then her relationship with the planet, for me, was she came from that planet.
Kirsten Dunst
ตัวละคร Justine (นำชื่อจากนวนิยาย Justine (1791) ของ Marquis de Sade) ก็คืออวตารของผกก. von Trier เคยล้มป่วยโรคซึมเศร้า ผสมเข้ากับหลายๆประสบการณ์ตรง และคลุกเคล้าเข้ากับการแสดงของ Dunst แทบจะมองตารู้ใจ พานผ่านอะไรๆมาคล้ายกัน
I think that Justine is very much me. She is based a lot on my person and my experiences with doomsday prophecies and depression. Whereas Claire is meant to be a… normal person.
Lars von Trier
Charlotte Lucy Gainsbourg (เกิดปี ค.ศ. 1971) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติ French-British เกิดที่ Marylebone, London เป็นบุตรของนักร้อง Serge Ginsbourg และนักแสดง Jane Birkin, เมื่อตอนอายุ 12 ร่วมขับร้องบทเพลงแรกกับบิดา Lemon Incest (1984), ออกอัลบัมแรก Charlotte for Ever (1986), สำหรับการแสดงได้รับการผลักดันจากมารดา เริ่มจากรับบทบุตรสาวของ Catherine Deneuve เรื่อง Paroles et Musique (1984), แจ้งเกิดกับ An Impudent Girl (1985)** คว้ารางวัล César Award: Most Promising Actress, ผลงานเด่นๆ อาทิ 21 Grams (2003), I’m Not There (2007), Antichrist (2009), Melancholia (2011), Nymphomaniac (2013) ฯ
รับบท Claire พี่สาวของ Justine รับหน้าสื่อจัดงานแต่งงานให้น้อง แต่เจ้าตัวกลับก่อเรื่องวุ่นๆวายๆ บานปลายจนกลายเป็นหายนะ รู้สึกอับอายขายขี้หน้า ก็ยังพยายามอดกลั้นฝืนทน จนงานวันนี้สิ้นสุดลง! หลังจากนั้นก็ยังคงเป็นห่วงเป็นใย พากลับมาพักรักษาอาการป่วยโรคซึมเศร้า แต่พอรับรู้ถึงวันโลกาวินาศ จู่ๆเกิดอาการร้อนรน กระวนกระวาย ไม่รู้จะทำอะไรยังไง
Well, just because the first journey was so great for me. It was a wonderful experience. I was very flattered when he called me and asked me to work with him again. After reading the script, I was thrilled. Once I met him in Copenhagen… he’s someone I admire so much. I love the story, but it didn’t really matter. I just wanted to have another go.
Charlotte Gainsbourg
ขณะที่ Antichrist (2009) และ Nymphomaniac (2013) ตัวละครของ Gainsbourg ถือเป็นตัวตายตัวแทนผกก. von Trier สำแดงอาการซึมเศร้าประเภทต่างๆ แต่เฉพาะ Melancholia (2011) เธอคือสามัญชน บุคคลธรรมดา เมื่อต้องประสบหายนะ เผชิญหน้าความตาย ไม่สามารถยินยอมรับความจริง ตกอยู่สภาพหมดสิ้นหวังอาลัย
ทิศทางการแสดงของ Gainsbourg ถือว่าตรงกันข้ามกับตัวละครของ Dunst ภายนอกเหมือนจะเข้มแข็ง แท้จริงแล้วกลับเปราะบาง! ครึ่งแรกสามารถควบคุมสติสตางค์ ไม่ปลดปล่อยอารมณ์ให้เตลิดเปิดเปิงไปกับพฤติกรรมคลุ้มบ้าคลั่ง/หายนะงานแต่งงานของน้องสาว, แต่ครึ่งหลังเมื่อความตายย่างกรายเข้ามา เธอกลับไม่สามารถควบคุมตนเอง ทำใจยินยอมรับ เผชิญหน้ากับความตาย
ถ่ายภาพโดย Manuel Alberto Claro (เกิดปี ค.ศ. 1970) สัญชาติ Chilean-Danish เกิดที่ Santiago, Chile ก่อนครอบครัวอพยพย้ายสู่ Copenhagen, Denmark ตั้งแต่อายุสี่ขวบ, โตขึ้นเข้าเรียนการถ่ายภาพ Istituto Europeo di Design (IED) จบออกมาเป็นผู้ช่วยตากล้อง แล้วศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ National Film School of Denmark, ผลงานเด่นๆ อาทิ Reconstruction (2003), Dark Horse (2005), Melancholia (2011), Nymphomaniac (2013), The House That Jack Built (2018) ฯ
แรกเริ่มนั้นผกก. von Trier ต้องการใช้บริการ Hoyte Van Hoytema แต่ติดพันโปรเจค Tinker Tailor Soldier Spy (2011) เลยเปลี่ยนมา Manuel Alberto Claro เริ่มงานสัปดาห์แรกรู้สึกว่าอีกฝ่ายดูเกร็งๆ “too Hollywood” แต่จะเปลี่ยนตากล้องใหม่รอบนี้ก็ไม่ทันแล้ว เขาเลยเข้าควบคุมกล้อง (Camera Operator) ทำตัวแบบอย่างจนกระทั่ง Claro สามารถปรับตัว ถ่ายภาพที่มีอิสระ ไม่ยึดติดขนบกฎกรอบ และด้วยสันชาตญาณ
การทำงานของผกก. von Trier ให้อิสระนักแสดง/ตัวประกอบในการดั้นสด ‘improvised’ ไม่ค่อยให้คำแนะนำอะไร พอทุกอย่างพร้อมก็ถ่ายทำเลยโดยไม่มีการซักซ้อม พอเทคแรกไม่ได้ดั่งใจก็มักขึ้นเสียงใส่อารมณ์ ด่าพ่อล่อแม่ สรรหาถ้อยคำมาดูถูกเหยียดหยาม เป็นเช่นนี้เวียนวนไปเรื่อยๆ อาจไม่ใช่กองถ่ายที่น่าอภิรมณ์นัก แต่ความตึงเครียดระหว่างถ่ายทำ สอดคล้องเข้ากับบรรยากาศของหนังโดยแท้!
หนังถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล Arri Alexa อัตราส่วน Anamorphic Widescreen (2.35:1) ได้ภาพคมชัดกริบ สวยเหนือจริง (Surreal) แต่แทนที่จะใช้อุปกรณ์ใดๆช่วยถ่ายทำ ยังคงโอบรับแนวคิดของ Dogme 95 แบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ส่ายๆสั่นๆ เพื่อสื่อถึงอาการซึมเศร้า บรรยากาศแห่งความสิ้นหวัง
ขณะที่ซีเควนซ์อารัมบท ถ่ายทำด้วยกล้อง Phantom HD Gold ขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายภาพความเร็วสูง (High-Speed Camera) ซึ่งรุ่นนี้สามารถบันทึกภาพ HD ด้วยอัตราเร็วตั้งแต่ 1-1,000 frame per second (fps) … ปัจจุบันกล้องตัวนี้ตกรุ่นไปแล้วนะครับ
โปรดักชั่นหนังเริ่มต้น 22 กรกฎาคม – 8 กันยายน ค.ศ. 2010 ฉากภายในถ่ายทำยังสตูดิโอ Film i Väst’s studios ณ Trollhättan, Sweden ส่วนปราสาทชนบท Tjolöholm Castle ตั้งอยู่ยัง Halland, Sweden ออกแบบโดยสถาปนิก Lars Israel Wahlman (1870–1952) ด้วยสถาปัตยกรรม Tudor
อารัมบท 8 นาทีแรกของหนัง ทำการร้อยเรียงภาพเหตุการณ์สำคัญๆกำลังจะบังเกิดขึ้น นำเสนอด้วยเทคนิคซุปเปอร์สโลโมชั่น (Super-Slow Motion) ทำให้ดูเหมือนเวลาเดินช้าลง ทุกสิ่งอย่างเกือบจะหยุดแน่นิ่ง สร้างสัมผัสราวกับลมหายใจเฮือกสุดท้าย ประมวลผลความทรงจำก่อนตาย
ภาพแรกของหนังทำการโคลสอัพใบหน้า Justine กำลังค่อยๆลืมตา ใบหน้าดูบูดบึ้งตึง ทรงผมยุ่งๆเหมือนเพิ่งขึ้นจากน้ำ พื้นหลังพบเห็นนกกำลังร่วงหล่นลงเบื้องล่าง ท้องฟ้าปกคลุมด้วยเมฆหมอก โทนสีมอบสัมผัสเหือดแห้ง ไร้เรี่ยวแรง … นี่เป็นภาพที่พรรณาลักษณะของบุคคลล้มป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างชัดเจน
แวบแรกของภาพที่สอง ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Last Year at Marienbad (1961) แต่สิ่งน่าสนใจของช็อตนี้คือลักษณะของเงาสองฟากฝั่ง เกิดจากแสงพระอาทิตย์ และ(น่าจะ)ดาวเคราะห์พเนจร Melancholia (ซึ่งสะท้อนแสงอาทิตย์มาอีกที) สาดส่องลงมาจากท้องฟ้า
นาฬิกาแดด อาจสื่อถึงการนับถอยหลังเข้าสู่วันโลกาวินาศ และสำหรับคนช่างสังเกตจะพบเห็นสองตัวละครกำลังเริงระบำ หมุนวงกลม สนุกสนานหรรษา ยินดีปรีดากับหายนะคืบคลานเข้ามา
ภาพวาด The Hunters in the Snow (1565) ของจิตรกรเอก Pieter Bruegel the Elder (1525/30-69) แห่งยุคสมัย Dutch and Flemish Renaissance สามารถใช้เทียบแทนวิถีชีวิต ผู้คน เหมารวมโลกใบนี้ กำลังมอดไหม้ กลายเป็นเถ้าถ่าน สื่อถึงการทำลายล้าง หายนะ วันสิ้นโลกาวินาศกำลังย่างกรายมาถึง
โดยปกติแล้วสนามกอล์ฟจะมีแค่ 18 หลุม แต่ภาพช็อตนี้กลับปักธงหมายเลข 19 ซึ่งผกก. von Trier ให้คำนิยามว่า “Hole 19 is limbo.” สถานที่ที่ถูกลืม ทอดทิ้ง ว่างเปล่า หรือตามความเชื่อเทววิทยาคริสตจักรคาทอลิก หมายถึงขอบนรก สภาพหลังความตายของผู้ที่เสียชีวิตในบาปกำเนิดโดยไม่ได้ถูกส่งไปยังขุมนรก
สังเกตเท้าของ Claire เวลาก้าวย่างจะจมมิดดิน ราวกับทรายดูด/ดินดูด ยิ่งเดินยิ่งถลำลงลึก ไม่สามารถหวนกลับคืน ไร้ซึ่งหนทางออกจากสถานที่แห่งนี้
มีหลายสิ่งอย่างที่ผกก. von Trier ทำการเคารพคารวะผู้กำกับคนโปรด Andrei Tarkovsky อาทิ ภาพวาด The Hunters in the Snow (1565) อ้างอิงถึง Solaris (1972), และช็อตนี้ภาพเจ้าม้า (เป็นสัตว์ที่พบเห็นบ่อยในหนังของผกก. Tarkovsky) สัตว์สัญลักษณ์ของชีวิต แต่ขณะนี้กำลังจะล้มลง สื่อตรงๆถึงหายนะ/ความตายคืบคลานเข้ามา
Justine และ Claire มีงานอดิเรกคือควบขี่ม้า ช่วงเวลาแห่งอิสรภาพ ปลดปล่อยตนเอง ทอดทิ้งอุปสรรคปัญหาไว้เบื้องหลัง แต่ครึ่งหลังเมื่ออาการซึมเศร้าของ Justine ทรุดหนักลง รับรู้ว่าไม่สามารถหลบหนีพ้น จึงลงไม้ลงมือ ใช้แส้เฆี่ยนตีม้าตัวโปรดอย่างรุนแรง รับไม่ได้กับทุกสิ่งอย่าง
นี่คือช็อตน่าพิศวงที่สุดของหนัง ประกอบด้วย พระอาทิตย์, พระจันทร์ และดาวเคราะห์พเนจร Melacholia (สีน้ำเงิน) ต่างปรากฎขึ้นในระนาบเดียวกัน (ยังไงก็ไม่ทราบได้) ซึ่งทั้งสามตัวละครต่างก็มีความสอดพ้อง
- Justine ล้มป่วยโรคซึมเศร้า สามารถเป็นคือตัวแทนดาวเคราะห์พเนจร Melancholia
- Leo บุตรชายของ Claire อยู่ในวัยไม่รู้เดียงสา เปรียบดั่งพระจันทร์เสี้ยว คาบเกี่ยวระหว่างกลางวัน-กลางคืน พระอาทิตย์-ดาวเคราะห์พเนจร Melancholia
- Clarie หญิงสาวสามัญชน คนธรรมดา อาศัยอยู่กับแสงสว่าง พระอาทิตย์
ในช่วงที่ดาวเคราะห์พเนจร Melancholia โคจรเข้ามาใกล้โลก จะเกิดปรากฎการณ์ไฟฟ้าสถิต/ประกายสายฟ้า (St. Elmo’s fire) ขึ้นในอากาศ เอาจริงๆผมก็ไม่รู้ว่าต้องการสื่อถึงอะไร? มนุษย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ? หญิงสาวค่อยๆสูญเสียความเป็นตัวของตนเอง?
เกร็ด: ไฟของนักบุญเอลโม (Saint Elmo’s Fire) เป็นปรากฏฎการณ์ทางสภาพอากาศอย่างหนึ่ง ในขณะที่เมฆฝนฟ้าคะนองเติบโตขึ้น ประจุไฟฟ้าในเมฆจะมีแนวโน้มแยกตัวออกโดยประจุบวกอยู่ด้านบนบริเวณยอดเมฆ ส่วนประจุลบอยู่ด้านล่างบริเวณฐานเมฆ ประจุลบที่ฐานเมฆจะเหนี่ยวนำสิ่งต่างๆ บนพื้นให้มีประจุเป็นบวก ดังนั้นที่บริเวณปลายของเสาธงของเรือ จะมีประจุบวกมารวมตัวกันอยู่มากมาย หากเกิดการปลดปล่อยประจุดังกล่าวนี้ออกไป ก็จะเกิดแสงสว่างสีฟ้าหรือสีฟ้าอมม่วงเกิดขึ้น เรียกว่าไฟของนักบุญเอลโม เนื่องจากถือกันว่า Saint Elmo คือนักบุญอุปถัมภ์เหล่านักเดินเรือทั้งหลาย
ภาพช็อตนี้แม้ไม่พบเห็นในหนัง แต่สามารถสะท้อนถึงความรู้สึกของ Justine ขณะเข้าพิธีแต่งงาน ราวกับถูกเถาวัลย์ พันธนาการเหนี่ยวรั้ง ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ด้วยเหตุนี้เธอจึงพยายามออกวิ่ง หาหนทางหลบหนี ไม่ต้องการติดอยู่ในผืนป่าอันตรายแห่งนี้
เถาวัลย์ รวมถึงผืนป่าแห่งนี้ สามารถสื่อถึงขนบกฎเกณฑ์ ประเพณีวัฒนธรรม รูปแบบวิถีชีวิตที่สังคมสร้างขึ้น สำหรับควบคุมครอบงำ ตีกรอบห้อมล้อม บีบบังคับให้สมาชิกต้องปฏิบัติตาม (ถ้าต้องการอยู่ร่วมในสังคมอย่างสงบสุข)
Justine ในชุดแต่งงาน กำลังค่อยๆจมลงบริเวณลำธาร ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด Ophelia (1851-52) [จากบทละคอน Hamlet ของ William Shakespeare องก์ IV, ซีน VII ระหว่าง Ophelia กำลังขับร้องเพลง ล่องลอยตามลำธาร ก่อนจมลงเบื้องล่าง] โดยจิตรกรชาวอังกฤษ Sir John Everett Millais (1829-96)
ในบริบทของหนังก็คือ การแต่งงานทำให้ Justine ราวกำลังจมปลักอยู่ในโคลนตม/ขุมนรุก (นัยยะเดียวกับเถาวัลย์ พันธนาการเหนี่ยวรั้ง) ไม่สามารถตะเกียกตะกาย ว่ายกลับขึ้นมาบนโลกมนุษย์
ตอนต้นเรื่องพบเห็นเด็กชายกำลังเหลาไม้ และ Justine ก้าวย่างเข้ามาหา หลายคนอาจฉงนสงสัยว่าพวกเขากำลังทำอะไร? เตรียมอาวุธสำหรับไล่ล่าสัตว์หรือไร? คำตอบอยู่ช่วงท้ายของหนัง พวกเขากำลังสร้างเพิ้งเล็กๆเรียกว่า ‘magic cave’ สำหรับหลบซ่อนตัวจากการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์พเนจร Melancholia
ถ้าเป็นดาวหางพุ่งชนโลกมันก็ยังพอมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ดาวเคราะห์พเนจรพุ่งชนโลก มันช่างเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ไร้สาระยิ่งนัก นอกเสียจากมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิควบคุมการเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์พเนจร และตั้งใจจะทำลายล้างโลกโดยเฉพาะ!
แต่ถ้าเรามองในเชิงสัญลักษณ์ การโคจรของดาวเคราะห์พเนจร Melancholia เริ่มต้นด้วยการล่อหลอก วนรอบโลกก่อนหนึ่งรอบ พอเคลื่อนจากไปก็อาจทำให้หลายคนชื้นใจ คลายกังวล ก่อนวกกลับพุ่งหาตรงๆ คราวนี้ไม่มีใครหลบหนีพ้น ไร้หนทางออก … ราวกับเกมจิตวิทยา ล่อหลอกให้ตายใจ จากนั้นหวนกลับมาทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่าง
ลีมูซีน (Limousine) ถือเป็นรถหรูหราที่มีตัวรถยาวกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถเข้าโค้งขนาดเล็ก ติดๆขัดๆ สามารถสื่อนัยยะของความซื่อตรง ไม่โอนอ่อนผ่อนปรน ยึดถือมั่นในขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณี วิถีทางสังคม … เดินทางไปงานแต่งงานด้วยรถลีมูซีน ก็เฉกเช่นเดียวกัน
แต่ชีวิตของคนเรานั้นไม่ได้ดำเนินไปเป็นเส้นตรงตลอดเวลา ก็เหมือนถนนหนทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบ สามารถโอนอ่อนผ่อนปรน กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ … แนวทางของ Dogme 95 ก็เฉกเช่นเดียวกัน
ในห้องทำงานของ Justine เนื่องจากเป็นนักออกแบบ(ชีวิตของตนเอง) Creative Designer จึงตกแต่งด้วยภาพวาด งานศิลปะ บนชั้นวางก็เปิดหน้าหนังสือที่สะท้อนตัวตนเอง ในช่วงแรกๆสังเกตว่าจะเป็นแนว Abstract ที่มีเหลี่ยมมุม โค้งมน สามารถสื่อถึงชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎกรอบห้อมล้อม
แต่หลังเกิดความขัดแย้งกับพี่สาว Claire พูดว่ากล่าวอะไรบางอย่าง ทำให้ Justin ลุกขึ้นมาขยับโซฟา โยนทิ้งหนังสือเล่มเก่า แล้วเปลี่ยนเอางานศิลปะที่เป็นภาพวาดจับต้องได้ อาทิ
- Pieter Bruegel the Elder: The Hunters in the Snow (1565)
- Pieter Bruegel the Elder: The Land of Cockaigne (1567)
- Hans Holbein the Younger: Portrait of Georg Gisze (1532)
- Caravaggio: David with the Head of Goliath (1609-10)
- Carl Fredrik Hill: ไม่มีระบุชื่อ
- Sir John Everett Millais: Ophelia (1851-52)
- Sir John Everett Millais: The Woodman’s Daughter (1851)
เมื่อถึงเวลาเข้าเรือนหอ แทนที่ Justine จะร่วมรักกับสามี Michael กลับหลบหนีออกมาภายนอก สนามกอล์ฟ หลุมทราย (จะมองว่าเป็นหลุมหลบภัย/ถ้ำซ่อนตัวของ Justine) ฉุดกระชากลากชายแปลกหน้าผู้โชคดี มาขึ้นขี่ ‘Woman on Top’ ท่วงท่าที่อยู่ในการควบคุมของฝ่ายหญิง ไม่ยินยอมตกเป็นเบื้องล่าง ก้มหัวศิโรราบให้ใคร
แซว: แทบทุกพิธีการในงานแต่งงาน สังเกตว่า Justine ทำการแหกขนบประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่มาสาย หลบหนีออกนอกจาก ใครให้ทำอะไรก็เฉื่อยๆชาๆ พอจะเข้าห้องหอก็หนีมาร่วมรักชายอื่น … ตัวละครนี้ถือว่าโอบรับจิตวิญญาณ Dogme 95 มาเต็มๆ
หนึ่งในซีนเล็กๆที่มีความน่าสนใจไม่น้อย Udo Kier รับบท The Wedding Planner สร้างเกมนับก้อนหิน ใครสามารถทายถูกว่ามีจำนวนกี่ก้อนจักได้รับรางวัลพิเศษ แต่พอเสร็จสิ้นพิธีการ ประกาศผลการตัดสิน กลับกลายเป็นกิจกรรมไร้สาระ ‘Incredibly Trivial’ ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆต่อเรื่องราว
นัยยะของซีนนี้น่าจะต้องการสื่อถึงพิธีแต่งงาน มันอาจเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับใครบางคน ขณะเดียวกันมันก็อาจไม่มีความจำเป็น สลักสำคัญใดๆต่อคนอีกหลายคน จะแต่งก็ได้ ไม่แต่งก็ดี จะมีพิธีรีตรอง หรือไม่มีอะไรสักสิ่งอย่าง ล้วนขึ้นอยู่กับตัวเราเองจะเห็นคุณค่าความสำคัญ
เฉกเช่นเดียวกับเมื่อความตาย/วันโลกาวินาศย่างกรายเข้ามา ทุกสิ่งอย่างล้วนไม่มีความสลักสำคัญ เหลือแค่เพียงจิตใจของเรานั้น จะสามารถยินยอมรับ ปรับตัว เข้าใจสัจธรรมชีวิต จากไปด้วยรอยยิ้ม หรือเศร้าโศกเสียใจ
ช็อตสวยที่สุดของหนัง Justine นอนเปลือยกายแอบแสงดาว Melancholia ดูราวกับนางไม้ โอบกอดรับความตาย ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรงทั้งร่างกาย-จิตวิญญาณ
I didn’t know exactly how the nudity would look. I knew it would be beautiful. Lars was like, ‘Don’t worry darling. Don’t worry darling.’ So I knew I was in good hands. But I didn’t know exactly how pretty it would look. It’s not a terrible way to display one’s body.
l was worried about what my father and my brother will think about me performing nude. When I asked my father he said “It is art, I made you and you are beautiful.” and when asked my brother he said “It is not a big deal.” I was the most prude about it.
Kirsten Dunst
John (รับบทโดย Kiefer Sutherland) สามีของ Claire น่าจะเป็นนักดาราศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ คำนวณการโคจรของดาวเคราะห์พเนจร Melancholia ภายนอกดูเข้มแข็ง มีหลักการ เชื่อมั่นในตนเองสูง บอกกล่าวกับภรรยา ว่าหายนะไม่มีทางมาเยี่ยมเยือนโลก แต่เมื่อการคำนวณผิดพลาด ปฏิเสธพูดบอกกล่าวอะไรใดๆ เพียงกระทำอัตวินิบาตในคอกม้า หลบหนี/ทอดทิ้งปัญหา ไม่ยี่หร่าว่าภรรยาและบุตรจะเป็นจะตายเช่นไร
ผมสังเกตภาพยนตร์หลายๆเรื่องของผกก. Lars von Trier ตัวเอกส่วนใหญ่จะคือผู้หญิง มักไม่ค่อยเทียบแทนตนเองเป็นบุรุษ … นักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่า ผกก. von Trier ใช้ตัวละหญิงสะท้อนความอ่อนแอ เปราะบาง ความเป็น ‘feminist’ ในตัวเขาเองออกมา
ภาพสุดท้ายของหนัง Justine, Claire และเด็กชาย Leo นั่งอยู่ภายในเพิ้งไม้ที่พวกเขาเรียกว่า ‘magic cave’ สำหรับหลบซ่อนตัว เตรียมพร้อมเผชิญหน้าดาวเคราะห์พเนจร Melancholia พุ่งเข้าชนโลก … ไม่ต้องสนหลักวิทยาศาสตร์ แค่ภาพสวยโคตรๆ มีความงดงามทางศาสตร์ศิลปะ
การสร้างเพิ้งไม้/ถ้ำเวทย์มนต์ (Magic Cave) สำหรับผู้ป่วยจิตเวช คือการสร้างโลกส่วนตัว/หลุมหลบภัยขึ้นภายในจิตใจ เพื่อเวลาประสบเหตุการณ์เลวร้าย จักกลายเป็นสถานที่ซ่อนตัว ปกป้องตนเอง เอาตัวรอดพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว … แต่วิธีการดังกล่าวเป็นแค่การหลอกตนเอง ใช้ได้แค่เพียงชั่วครั้งคราว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ผู้ป่วยต้องเรียนรู้จักยินยอมรับความจริง ไม่ใช่กักขังตนเองอยู่ในนั้น
ตัดต่อโดย Molly Malene Stensgaard,
หนังแบ่งออกเป็นครึ่งแรก Part One: Justine, ครึ่งหลัง Part Two: Claire โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นยังปราสาท Tjolöholm Castle ในช่วงการกำลังมาถึงของดาวเคราะห์พเนจร Melacholia ก่อนพุ่งชนโลก
- อารัมบท, ร้อยเรียงภาพซุปเปอร์สโลโมชั่น (Super-Slow Motion) หายนะกำลังจะมาถึงของดาวเคราะห์พเนจร Melacholia
- Part One: Justine งานแต่งงานของ Justine
- คู่บ่าวสาว เดินทางมายังสถานที่จัดงานด้วยรถลีมูซีน แต่กลับไม่สามารถเลี้ยงโค้งแคบ จึงต้องเดินเท้า ทำให้มาถึงงานล่าช้าสองชั่วโมง
- เริ่มต้นพิธีการ คำอำนวยอวยพรคู่บ่าวสาว แต่หลังคำกล่าวมารดา Justine ต้องออกไปสูดอากาศภายนอก
- คำกล่าวสุนทรพจน์ของสามี ตามด้วยการเต้นรำ จากนั้น Justine ก็หายตัวไปอีกครั้ง นอนแช่ในอ่างน้ำ
- พิธีตัดเค้ก พูดคุยแขกเหรื่อ
- ลอยโคมนอกปราสาท
- เข้าห้องหอ แต่ทว่า Justine ปฏิเสธร่วมรักกับสามี แล้วฉุดกระชากชายแปลกหน้าไปสนุกหรรษาภายนอกปราสาท
- แขกเหรื่อทะยอยเดินทางกลับ พร้อมๆสามีของ Justine ตัดสินใจเลิกราหย่าร้าง
- Part Two: Claire การมาถึงของดาวเคราะห์พเนจร Melacholia
- หลายวันถัดมา Claire ส่งแท็กซี่ไปรับตัว Justine มาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน
- สภาพของ Justine ไร้ซึ่งเรี่ยวแรง พละกำลัง ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้สักสิ่งอย่าง
- แต่เมื่อรับรู้ว่าดาวเคราะห์พเนจรกำลังเคลื่อนเข้ามา สภาพของ Justine จึงค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ
- สามีของ Claire พยายามปกปิดเรื่องดาวเคราะห์พเนจรกำลังจะพุ่งชนโลก
- แต่เธอก็บังเอิญพบเจอทฤษฎีจากอินเตอร์เน็ต
- สามีของ Claire พยายามพิสูจน์ว่าดาวเคราะห์พเนจรไม่ได้พุ่งชนโลก
- แต่วันถัดมาเมื่อเขาเกิดความตระหนักว่าดาวเคราะห์พเนจรกำลังจะพุ่งชนโลก จึงแอบไปกระทำอัตวินิบาต
- Claire หลังตระหนักว่าดาวเคราะห์พเนจรกำลังจะพุ่งชนโลก เกิดความกระวนกระวาย ต้องการหลบหนี แต่ไม่รู้จะทำอะไรยังไง
- Justine ให้กำลังใจ Claire และนั่งมองดาวเคราะห์พเนจรขณะกำลังพุ่งชนโลก
การเริ่มต้นอารัมบทด้วยภาพดาวเคราะห์พเนจรพุ่งชนโลก จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมรับรู้ตั้งแต่ต้นเลยว่าวันสิ้นโลกกำลังมาถึง ไม่ต้องลุ้นระทึกว่ารอดหรือไม่รอด เอาเวลาไปสังเกตการแสดงออกตัวละคร แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาต่อหายนะ จุดจบของนเองเช่นไร?
In a James Bond movie we expect the hero to survive. It can get exciting nonetheless. And some things may be thrilling precisely because we know what’s going to happen, but not how they will happen. In Melancholia it’s interesting to see how the characters we follow react as the planet approaches Earth.
Lars von Trier
หนังไม่มีเครดิตเพลงประกอบ แทบทั้งหมดล้วนคือ ‘diegetic music’ ยกเว้นเพียงอุปรากร Richard Wagner: Tristan und Isolde บรรเลงโดย The City of Prague Philharmonic Orchestra คอยแทรกแซมอยู่ตามช่วงเวลาเหม่อล่องลอยของ Justine สนามกอล์ฟ, ควบขี่ม้า, วันสิ้นโลกาวินาศ ฯ
Tristan und Isolde หรือ Tristan and Iseult อุปรากรสามองก์ แต่งโดย Richard Wagner (1813-83) คีตกวีสัญชาติ German อ้างอิงจากเรื่องเล่าตำนาน (Celtic Legend) ช่วงศตวรรษที่ 12th โศกนาฎกรรมความรักต้องห้ามระหว่างอัศวินหนุ่ม Tristan ตกหลุมรักเจ้าหญิง Iseult ระหว่างคุ้มครองเธอเดินทางไปแต่งงานกับลุง King Mark of Cornwall, ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ ณ Königliches Hoftheater und Nationaltheater, Munich วันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1865
เกร็ด: Wagner ไม่เชิงเรียกผลงานนี้ว่าอุปรากร แต่ใช้คำว่า eine Handlung (แปลว่า a drama, a plot, หรือ an action)
การเลือกใช้อุปรากร Tristan und Isolde มองมุมหนึ่งสามารถสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Justine กับสามี Michael ที่แม้ตกหลุมรัก กำลังจะแต่งงาน แต่ท้ายสุดกลับมิอาจครองคู่รัก และเฉกเช่นเดียวกับดาวเคราะห์พเนจร Melancholia ที่พุ่งเข้าชนโลก ไม่มีทางที่ดาวเคราะห์ทั้งสองจะอยู่ร่วมจักรวาล
Melancholia คำศัพท์ยุคกรีกโบราณ ใช้เรียกอาการซึมเศร้า หดหู่ เจ็บป่วยทางจิตใจ (Deep Sadness) ตกอยู่ในสภาพเวิ้งว่างเปล่า เหม่อล่องลอย สูญเสียความสนใจในสิ่งที่ทำ เกิดอาการท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
หญิงสาว Justine คือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือจะเรียกอาการ Melancholia คงไม่ผิดกระไร! ครึ่งแรกระหว่างงานแต่งงาน เต็มไปด้วยความสับสน ร้อนรน ไม่สามารถควบคุมตนเอง จนก่อให้เกิดเรื่องวุ่นๆวายๆ บานปลายจนกลายเป็นหายนะ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการ ความสัมพันธ์กับสามีเลยขาดสะบั้นลง
ครึ่งหลัง เริ่มต้นด้วยผลกระทบต่อสภาพร่างกาย ไร้เรี่ยวแรง พละกำลัง สายตาเหม่อล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ก่อนค่อยๆฟื้นตื่นเมื่อรับรู้ถึงภัยพิบัติ ดาวเคราะห์พเนจร Melancholia กำลังพุ่งเข้าชนโลก เกิดความยินดีปรีดา ยิ้มเริงร่า เหม่อมองท้องฟ้าด้วยสายตาลุ่มหลงใหล เต็มไปด้วยพลังกาย-ใจ พร้อมโอบกอดรับความตาย
สิ่งต่างๆเกิดขึ้นกับ Justine นำจากประสบการณ์ตรงของผกก. von Trier (ผสมกับนักแสดง Kirsten Dunst) เคยล้มป่วยโรคซึมเศร้า จนต้องเข้ารับการบำบัดรักษา ใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะค่อยๆยินยอมรับ ปรับตัวเข้ากับสภาพเป็นจริง โดยไม่รู้ตัวสามารถเผชิญหน้าเหตุการณ์ร้ายๆ เข้าใจมุมมืดของโลกใบนี้ … อย่างที่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ “I understand Hitler… I sympathize with him a little bit.”
หลากหลายพฤติกรรมแสดงของ Justine เอาจริงๆไม่จำเป็นต้องมองว่าคืออาการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพียงหญิงสาวหัวขบถ ต่อต้านสังคม ไม่ชอบถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ อยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีทางสังคม ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบต่อบุรุษ … แบบเดียวกับ Dogme 95 ที่ผกก. von Trier ร่วมก่อตั้งขึ้นเพื่อทำลายขนบกฎกรองของสื่อภาพยนตร์
สิ่งที่ผมหลงใหลคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้อย่างมากนั้นๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโรคซึมเศร้า หรือดาวเคราะห์พเนจรพุ่งชนโลก แต่ชักชวนให้นึกถึง ‘มรณานุสติ’ ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้า-ออก! นี่เป็นคำสอนพุทธศาสนาที่คนส่วนใหญ่เพิกเฉย ไม่ค่อยสนใจใยดี บ้างบอกว่ามองโลกในแง่ร้ายเกินไป ทำให้จิตใจหดหู่เศร้าหมอง ถึงอย่างนั้นนี่คือวิธีการง่ายที่สุดในการเตรียมพร้อมเผชิญหน้าความตาย!
ความตายคือธรรมชาติชีวิต ไม่มีใครสามารถหลบหนีพ้น ถึงอย่างนั้นมนุษย์กลับพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้อายุยืนยาว กลายเป็นอมตะนิรันดร์ แต่นั่นล้วนเพียงมายาคติ ภาพลวงหลอกตนเอง จนสูญเสียความตระหนักรับรู้สัจธรรมความจริง … คนส่วนใหญ่เมื่อต้องเผชิญหน้าความตาย จึงกลายเป็นแบบ Claire แสดงอาการลุกรี้ร้อนรน กระวนกระวาย ไม่อยากยินยอมรับสภาพเป็นจริง พูดง่ายๆก็คือไม่อยากตาย!
การเจริญมรณสติ หรือมรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายอยู่เป็นนิจ ทำให้จิตใจมักคุ้นชินกับความตายเป็นอันดับแรก ก่อเกิดความไม่ประมาท ทำวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อจะไม่สูญเสียใจเอาภายหลัง สามารถปล่อยวางเรื่องราวต่างๆภายนอก หันกลับเข้ามาอยู่กับปัจจุบัน และไม่รู้สึกเศร้าสลดหดหู่เมื่อรับรู้ว่าตนเองหรือคนรอบข้างกำลังจะต้องตายจริงๆ
อปฺปมาทญฺจ เมธาวี ธนํ เสฏฺฐฺ รกฺขติ
ปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้เหมือนทรัพย์ประเสริฐสุด
For a long time I thought I was a Jew and I was happy to be a Jew. I found out that I was actually a Nazi, which also gave me some pleasure. What can I say, I understand Hitler. I think he did some wrong things. I think I understand the man… I sympathize with him a little bit.
I don’t mean I’m in favor of World War II and I’m not against Jews. In fact I’m very much in favor of them. All Jews, well, Israel is a pain in the ass.
Lars von Trier ระหว่างการแถลงข่าวหลังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes
ภายหลังการแถลงข่าวดังกล่าว ผกก. von Trier ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษ พูดไปโดยไม่ได้ครุ่นคิดสักเท่าไหร่
If I have hurt someone this morning by the words I said at the press conference, I sincerely apologize. I am not antisemitic or racially prejudiced in any way, nor am I a nazi.
แต่ก็เหมือนสำนวนไทย “คำพูดเป็นนายเรา” ทางเทศกาลหนังเมือง Cannes ก็ออกแถลงการณ์ห้ามไม่ให้ ผกก. von Trier เข้ามามีส่วนร่วมใดๆในการจัดงานปีนี้ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ์หนังออกจากการประกวด
The Festival de Cannes was disturbed about the statements made by Lars von Trier in his press conference this morning in Cannes. Therefore the Festival asked him to provide an explanation for his comments.The director states that he let himself be egged on by a provocation. He presents his apology. The direction of the Festival acknowledges this and is passing on Lars von Trier’s apology. The Festival is adamant that it would never allow the event to become the forum for such pronouncements on such subjects.
หนึ่งในคณะกรรมการเทศกาลหนังเมือง Cannes ปีนั้น ผกก. Olivier Assayas ออกมาเปิดเผยว่าคำกล่าวพร่อยๆของ von Trier นอกจากถูกแบนไม่ให้เข้าร่วมงาน ยังคือเหตุผลที่ทำให้หนังไม่ได้ Palme d’Or รวมถึงรางวัลรองลงมาอย่าง Grand Prix และ Jury Prize ก่อนส้นหล่มใส่ Kirsten Dunst เต็งหนึ่งคว้ารางวัล Best Actress
หนังใช้ทุนสร้างประมาณ $9.4 ล้านเหรียญ รายงานรายรับทั่วโลกของ Boxofficemojo อยู่ที่ $17 ล้านเหรียญ แต่ใน Wikipedia ระบุไว้ $21.8 ล้านเหรียญ ดูแล้วน่าจะเพียงพอคืนทุน กับหนังอาร์ทชั้นสูงถือว่าประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง!
ผมยังไม่เห็นจัดจำหน่าย Blu-Ray 4K แต่ถ้าใครอดใจรอไม่ไหวแนะนำฉบับของ Artificial Eye มีของแถมมากกว่า Magnolia Pictures หรือใครอยากสะสมบ็อกเซ็ต Lars Von Trier: A Curzon Collection Blu-ray ทั้งหมด 16 เรื่อง ดูกันให้ตาแฉะ
ครึ่งแรกของหนัง ผมไม่เคยครุ่นคิดมาก่อนว่าจะมีซีเควนซ์งานแต่งงานเรื่องไหนยอดเยี่ยมไปกว่า The Deer Hunter (1975) จนกระทั่งมาพบเจอ Melancholia (2011) มันช่างวุ่นๆวายๆ ปั่นป่วนมวนท้องไส้ และสร้างความตระหนัก สอดคล้องเข้ากับแนวคิดส่วนตัว ถึงความสิ้นเปลือง ไร้สาระ เสียเวลา
ไฮไลท์อยู่ครึ่งหลัง ถึงผมไม่เคยล้มป่วยซึมเศร้า แต่ฝึกฝนมรณานุสติ ครุ่นคิดถึงความตายอยู่สม่ำเสมอ นั่นทำให้ไม่รู้สึกหวาดกลัว สงบร่มเย็น ยินยอมรับสภาพความจริง มนุษย์ทุกคนเมื่อถือกำเนิดล้วนต้องตกตาย แต่จิตวิญญาณหาได้ดับสูญสลาย เพียงจุติใหม่ เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสังสาร … การแสดงครึ่งหลังของ Kirsten Dunst จึงมีความตราตรึง เผชิญหน้ากับความตายได้อย่างงดงาม
ในบรรดาสองผลงานของผกก. von Trier ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญโดยนักวิจารณ์ Breaking the Waves (1996) และ Melancholia (2011) ผมยังตัดสินใจไม่ได้ว่าเรื่องไหนยอดเยี่ยมกว่า (แต่ค่อนไปทาง Melancholia) อาจต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน รอคอยวันโลกาวินาศคืบคลานเข้ามา
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศหดหู่สิ้นหวัง วันโลกาวินาศกำลังคืบคลานเข้ามา
ครึ่งแรกไม่ค่อยชอบ ครึ่งหลังสุดยอดมาก