Memories (1995)
: Kōji Morimoto, Tensai Okamura, Katsuhiro Otomo ♥♥♥♡
ความทรงจำแม้คือสิ่งล้ำเลอค่า แต่เราไม่ควรหมกมุ่นครุ่นยึดติดกับมันจนมิอาจก้าวไปไหน นี่สะท้อนเข้ากับประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อดีตเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกร ปัจจุบันเมื่อเป็นผู้พ่ายแพ้ สมควรต้องยินยอมรับความจริงไม่ใช่หรือ?
สามเรื่องสั้นจากสามผู้กำกับอนิเมชั่นชื่อดัง เชื่อมโยงกันด้วยเนื้อเรื่องราว Sci-Fi โลกอนาคต ซึ่งต่างสะท้อนเสียดสีถึง ‘บาดแผล’ แห่งความทรงจำ การพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของประเทศญี่ปุ่น
ค่านิยมหนึ่งของวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น ช่วงทศวรรษ 80s – 90s คือการสร้าง Anthology Film รวมเรื่องสั้นจากหลากหลายผู้กำกับดัง เพราะถือว่าใช้งบประมาณไม่มากเท่าไหร่เมื่อเทียบอนิเมะขนาดยาวเต็มเรื่อง แถมยังสามารถให้อิสรภาพในการครุ่นคิดสร้างสรรค์ จะสุดเหวี่ยงหลุดโลกยังไงก็ได้เต็มที่ เพราะเพียงมีเรื่องหนึ่งใดถูกอกถูกใจผู้ชม ก็พอขายออกทำกำไรไหว
ผู้กำกับ Katsuhiro Otomo ก่อนหน้านี้ได้สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น Anthology Film มาแล้ว 2 เรื่อง Neo Tokyo (1987) และ Robert Carnival (1987) เลยต้องการปิดไตรภาคกับ Memories นำเอาสามเรื่องสั้นที่เคยแต่งไว้มาดัดแปลง ซึ่งก็ได้สรรหาทุน ติดต่อสตูดิโอ เลือกผู้กำกับ นักเขียนบท และตัวเขาก็ยังร่วมสร้างตอนสุดท้าย Cannon Fodder
สำหรับคนเคยผ่านตา Neo Tokyo อาจเกิดความหวาดหวั่นวิตกว่า Memories จะดูยากระดับเดียวกัน! แต่บอกเลยว่าอนิเมะเรื่องนี้ไม่ลุ่มลึกถึงขนาดนั้น เน้นขายความบันเทิงรมณ์ เข้าถึงผู้ชมโดยง่ายกว่า โดยเฉพาะตอน Stink Bomb อาจได้หัวเราะจนท้องแข็ง หรือ Magnetic Rose หลอกหลอนไปถึงขั้วหัวใจ
Magnetic Rose
สร้างโดย Kōji Morimoto (เกิดปี 1956) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Studio 4°C เกิดที่ Wakayama ร่ำเรียนจบจากวิทยาลัย Osaka Designers ต่อมาได้เข้าร่วมสตูดิโอ Annapurur ในฐานะนักอนิเมเตอร์ ทำซีรีย์ Ashita no Joe (1970-71) พอเริ่มจับทางงานได้ ลาออกมาเป็น Freelance รับงานเฉพาะที่ตนสนใจ สนิทสนมกับ Katsuhiro Otomo ได้รับการชักชวนมาทำอนิเมชั่น Neo-Tokyo (1987), Akira (1988) จนมีโอกาสกำกับตอนหนึ่งของ Robot Carnival (1987), Memories (1995), The Animatrix (2003) ฯ
ทีแรก Otomo ตั้งใจจะดัดแปลงบทอนิเมะด้วยตนเอง แต่เพราะงานยุ่งมากเลยมอบหมายให้ Satoshi Kon ที่เป็นผู้พัฒนาบทภาพยนตร์คนแสดง World Apartment Horror (1991) และติดต่อ Yoko Kanno ให้มาทำบทเพลงประกอบ โดยอ้างอิงจากอุปรากร Giacomo Puccini: Madama Butterfly (1904)
ยานอวกาศ Corona ระหว่างกำลังเดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจ ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ (SOS) ติดตามไปจนพบเจอสถานีอวกาศร้าง ล่องลอยอยู่ท่ามกลางสุสานขยะ วิศวกรสองคน Heintz และ Miguel ถูกส่งเข้าไปสำรวจค้นหาผู้รอดชีวิต เกิดความอึ้งทึ่งต่อภาพที่เห็น เพราะทุกสิ่งอย่างยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เลิศหรูหราอลังการ (ด้วย Hologram) และค้นพบเรื่องราวของอุปรากรชื่อดัง Eva Friedel ตกหลุมรักเพื่อนนักร้อง Carlo Rambaldi แต่วันหนึ่งเมื่อเสียงเธอแหบแห้ง สุดที่รักพลันด่วนจากไป สถานที่แห่งนี้ราวกับ ‘ความทรงจำ’ ที่ไม่เคยลบลืมเลือนสำหรับเธอ
ก่อนอื่นเริ่มที่โลโก้อนิเมะ MEMORIES ซึ่งได้ทำการประติดประต่อภาพที่แลดูเหมือนตัวอักษร สะท้อนถึงความทรงจำที่มีหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องประติดประต่อเนื่อง อะไรก็ได้ที่สามารถร้องเรียงเข้าด้วยกัน สามเรื่องสั้นนี้ก็ไม่แตกต่าง
ตอน Magnetic Rose เริ่มต้นที่ทีมสำรวจยาน Corona เก็บกู้และทำลายซากดาวเทียมที่ล่องลอยอยู่บนห้วงอวกาศ นี่เป็นการสะท้อนถึง สิ่งของโบราณจากอดีต เมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเสื่อมคุณค่าตามกาลเวลา สมควรต้องถูกแช่แข็งทำลายล้าง เพื่อมิให้กลายเป็นอันตรายเภทภัยต่อใครอื่น … ความทรงจำของมนุษย์ก็เฉกเช่นกัน เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านก็ไม่ต่างจากเศษซากดาวเทียม ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อะไร ทอดทิ้งทำลายเสียยังให้หลงเหลือกลายเป็นเภทภัย
ความทรงจำสามารถเปรียบได้ดั่งห้วงอวกาศ กว้างใหญ่ไพศาลไม่รู้จุดเริ่มต้นสิ้นสุด แต่ส่วนใหญ่ก็คงเพียงพื้นที่เวิ้งว่างเปล่า มากด้วยเศษขยะไร้ค่า นอกเสียจากในยานอวกาศที่มีอากาศหายใจ ตัวละครล่องลอยไปมา กำลังออกเดินทางมุ่งสู่เป้าหมาย นั่นเรียกว่ากระบวนการครุ่นคิด
สำหรับ Magnetic Rose เปรียบได้กับสถานที่แห่งความทรงจำ ล่องลอยอยู่ท่ามกลางเศษซากกองขยะ(อวกาศ) แต่ยังคงมีแรงดึงดูดบางอย่างให้มนุษย์ใคร่ครวญหวนคำนึงหา ออกเดินทางเพราะมิอาจต่อต้านสัญญาณ SOS ค้นพบให้ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นภายใน
ทำไมถึงตั้งชื่อว่าดอกกุหลาบ, นอกจากรูปลักษณะภายนอกคล้ายคลึง ยังสะท้อนถึงมุมมองความรัก สวยสดใสแต่รายล้อมด้วยหนามแหลม ภยันตรายรอบทิศทาง
ความทรงจำ ถ้าเปรียบกับภาพวาดจะตรงกับยุคสมัย Impressionism ช็อตนี้แลดูคล้ายๆ Woman with a Parasol ผลงานของจิตรกร Claude Monet (1840 – 1926)
ห้องเก็บโทรฟี่ ถ้วยรางวัล สัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจ แต่ขณะเดียวกันสะท้อนถึงอาการหมกมุ่นลุ่มหลงใหล ในเกียรติประวัติ/อดีตเคยสะสมมา จนที่สุดมิอาจปลดปล่อยวาง ละทอดทิ้งความทรงจำเหล่านั้นลงได้
เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของการสำรวจ Heintz และ Miguel จำต้องแยกย้ายคนละทิศทาง หนึ่งเดินลง สองขึ้นบันได ซึ่งโชคชะตากรรมของพวกเขาจะแตกต่างตรงกันข้าม กลับตารปัตรโดยสิ้นเชิง
ขณะที่ Miguel แม้จะเดินขึ้นบันได แต่กลับสะดุดหกล้มไถลลงมา พานพบเจอเปียโนในสภาพปรักหักพัง แต่แค่พอแตะคีย์ทุกสิ่งอย่างกลับหมุนวนรอบ ย้อนทุกสิ่งอย่างกลับกลายเป็นเขียวฉอุ่ม สุขสดใส ซึ่งการเลือกตัดสินใจของเขาคือ จมปลักอาศัยอยู่กับ Eva Friedel (สัญลักษณ์แห่งความทรงจำ) ตลอดชั่วนิจนิรันดร์
ขณะที่ Heintz ได้พานพบเห็นครอบครัว ลูกสาวที่ยังมีชีวิตอยู่วิ่งเล่นสนุกสนาน แต่ไม่นานก็ค่อยๆหวนระลึกตระหนักขึ้นมาได้ว่าทุกสิ่งอย่างทั้งหมดนี้คือภาพลวงตา พยายามอย่างยิ่งจะทำให้ตนเองตื่นฟื้นคืน และปลุก Miguel จากความฝัน
ความทรงจำที่พานผ่านมาแล้วสำหรับ Heintz ถูกทำให้แช่แข็ง หยุดนิ่งไว้ พยายามไม่โหยหา เก็บมันไว้เบื้องลึกภายใน สำหรับเขาชีวิตคือการก้าวเดินหน้า ปฏิเสธย้อนถอยหลัง หรือจมปลักอยู่กับอดีตที่หอมหวาน
ฉ่กอนิเมชั่นที่เจ๋งสุดในอนิเมะเรื่องนี้ ก็ไม่รู้ซ้อนภาพหรือทำยังไง จาก Hologram เกิดกระแสไฟฟ้าช็อตรั่วไหล เผยร่างแท้จริงของหุ่นยนต์ ลวงล่อหลอกมนุษย์/นักบินอวกาศ ให้ลุ่มหลงใหลยึดติดใน ‘ภาพ’ สิ่งข้าวของภายนอก และตัดสินใจอาศัยเคียงคู่อยู่กับตนชั่วนิรันดร์
หุ่นยนต์/คอมพิวเตอร์ ได้กลายเป็นศัตรูชั่วร้ายกาจของมนุษย์ เพราะมันสามารถเก็บบันทึกความทรงจำ ทำตามโปรแกรมที่วางไว้โดยไร้ซึ่งจิตสำนึกมโนธรรม ครุ่นคิดสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่เข้าใจว่าทำไม Heintz ถึงพยายามขัดขวาง ต่อต้าน ไม่ยินยอมรับภาพลวงหลอกตานี้
ขอพูดถึง Carlo Rambaldi สักนิดหนึ่ง, บุคคลชื่อนี้ที่ผมคุ้นเคยสุดคือ นักออกแบบ Special Effects ชื่อดังระดับโลก เจ้าของสามรางวัล Oscar: Best Visual Effect เรื่อง King Kong (1976), Alien (1979), E.T. (1982) ฯ เห็นว่าการเลือกใช้ชื่อนี้เพื่อเคารพคารวะ ‘Special Effect Wizard’ ผู้นี้นี่เอง!
โชคชะตากรรมของ Heintz เมื่อปฏิเสธที่จะอาศัยอยู่ในโลกแห่งเพ้อฝัน/ความทรงจำที่แสนหวาน ตัวเขาจึงล่องลอยเคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางขยะอวกาศ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทันได้รับความช่วยเหลือ หรือออกซิเจนหมดก่อน
นี่เป็นการเปรียบเปรยที่ตรงไปตรงมา เพราะชีวิตมนุษย์ก็ประมาณนี้แหละ เคว้งคว้างล่องลอยในห้วงอวกาศ ไร้ซึ่งทิศทางเป้าหมายดำเนินไป แต่คนยุคสมัยนี้ส่วนใหญ่ ล้วนจมปลักอยู่กับ ‘ภาพ’ ความทรงจำ/เพ้อใฝ่ฝัน หลอกตัวเองไปวันๆ ปฏิเสธเผชิญหน้ายินยิมรับความจริง
เพลงประกอบโดย Yoko Kanno เรียบเรียงจากอุปรากร Giacomo Puccini: Madama Butterfly (1904) ขับร้องโซปราโนโดย Renata Tebald สัญชาติอิตาเลี่ยน ช่วยสร้างบรรยากาศแห่ง ‘ความทรงจำ’ ให้มีความตราตรึง ลุ่มลึกซึ้ง โหยหวน ล่องลอย สันสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ
Magnetic Rose คือเรื่องราวของบุคคล (Eva Friedel) ผู้มีความหมกมุ่นครุ่นยึดติด จมปลักอยู่กับความทรงจำที่เคยยิ่งใหญ่ของตนเองในอดีต พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่ออาศัยอยู่ในความเพ้อใฝ่ฝันนั้น และยังพยายามชักชวนคนนอก (Heintz และ Miguel) ให้เห็นสอดพ้องกับตน ซึ่งผลลัพท์คือ
– Heintz ปฏิเสธจมปลักอยู่กับความเพ้อใฝ่ฝัน เลือกเผชิญหน้าความจริง แม้ต้องล่องลอยเคว้งคว้างอยู๋ท่ามกลางอวกาศกว้างใหญ่ก็ตามที
– Miguel กลายร่างเป็น Carlo Rambaldi เลือกใช้ชีวิตอยู่ในความเพ้อฝันหวาน หลงระริงเพลิดเพลินกายใจอยู่กับภาพลวงตานั้นชั่วนิจนิรันดร์
ความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่น ทำให้เมืองที่เคยยิ่งใหญ่หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง เช่นกันกับเกียรติ ศักดิ์ศรี อุดมการณ์รักชาติ ถูกทำลายย่อยยับป่นปี้ นั่นเป็นสิ่งที่เราควรยินยอมความจริง ไม่ใช่ละเมอเพ้อภพอยู่ในภาพลวงตา เพ้อใฝ่ฝันโหยหาถึงอดีต ก้าวต่อไปสู่วันข้างหน้า … แต่ก็ยังคนอีกมากเลือกจมปลักตัวเองอยู่กับวันวานนั้น เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรคือดอกบัว เมื่อถึงจุดๆหนึ่งคงไม่สามารถตื่นขึ้นมาพบเจอโลกความจริงได้อีกต่อไป
Stink Bomb
Tensai Okamura ชื่อจริง Yutaka Okamura (เกิดปี 1961) ผู้กำกับ นักอนิเมเตอร์ เกิดที่ Fukushima หลังเรียนจบจาก Waseda University เข้าร่วมสตูดิโอ Madhouse เริ่มต้นทำงานอนิเมเตอร์เรื่อง Lensman (1984), ไต่เต้าจนมีโอกาสกำกับตอนหนึ่งของซีรีย์ Yawara! (1989-92), ผลงานเด่นๆ อาทิ Key Animation เรื่อง Wicked City (1987), My Neighbor Totoro (1988), Ninja Scroll (1993), Ghost in the Shell (1995), กำกับซีรีย์ Wolf’s Rain (2003), Darker than Black (2007), Blue Exorcist (2011), The Seven Deadly Sins (2014) ฯ
ตอนนี้พัฒนาบทโดย Katsuhiro Otomo ดูเหมือนเจ้าตัวมีความตั้งใจจะกำกับเองเสียด้วย แต่ก็เปลี่ยนให้ให้ Okamura ได้มีโอกาสขัดเกลาฝีมือในฐานะผู้กำกับดูบ้าง
เรื่องราวของนักเทคนิคในห้องปฏิบัติการ Nobuo Tanaka เพราะป่วยไม่สบาย เลยกินยาทดลองที่เข้าใจผิดว่าสามารถใช้ลดไข้ แต่กลับกลายเป็นอาวุธชีวภาพส่งกลิ่นหอมหวนตลบอบอวลออกมา ทำให้ผู้คนรอบข้างต่างเป็นลมล้มพับหมดสติ ดอกไม้/ต้นซากูระออกดอกผิดฤดูกาล ขนาดว่าหน้ากากกันพิษยังไม่สามารถป้องกันอะไรได้ เฉกเช่นนั้นแล้วจะมีวิธีการไหนรับมือปัญหาดังกล่าว ซึ่งกำลังลุกลามบานปลายไปทั่วเกาะญี่ปุ่น
เกร็ด: เรื่องราวตอนนี้ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงของ Gloria Ramirez (1963 – 1994) หญิงสาวชาวอเมริกันผู้ได้รับฉายา ‘the Toxic Lady’ จากความพยายามรักษาโรคมะเร็ง แต่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาบางอย่างกับสารเคมีส่งกลิ่นที่เป็นพิษออกมา ทำให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่หลายรายในโรงพยาบาล เป็นลมล้มพับ โคม่าไปเลยก็มี (ส่วนผู้ป่วยก็เสียชีวิตไม่กี่วันหลังจากนั้น)
ดูเป็นความจงใจที่โทนสีสันของดอกไม้บาน/ธรรมชาติ จะเหลืองอร่ามแบบเดียวกับควันพิษที่พ่นออกมาจากชายหนุ่ม แต่ผลลัพท์กลับตรงกันข้ามความจริง เพราะแก๊สนั้นกลับเป็นสิ่งบ่อนทำลายความเป็นมนุษย์ลงโดยสิ้นเชิง!
สงครามมักเกิดขึ้นจากความเห็นผิดเป็นชอบของคนๆเดียว ที่ไปสร้างเดือดร้อน ละลานผู้อื่นไปทั่ว ซึ่งผลกระทบติดตามมานั้นก็แบบเดียวกับอนิเมะเรื่องนี้ กองทัพพยายามอย่างยิ่งจะทำลายล้างศัตรู แต่ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่ใช่เพราะโชคชะตาแต่ว่าคือการแก้ปัญหาผิดวิธี
สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นประเทศที่พึ่งพาได้ของญี่ปุ่น เมื่อคนในไม่สามารถแก้ไขอะไรๆเองได้ เจอชุดทดลองนักบินอวกาศแบบใหม่เข้าไป ไม่มีอะไรสามารถหลุดรั่วไหล เข้า-ออก ปกปิดบังสิ่งอยู่ภายในได้อย่างมิดชิด
แต่ถึงอย่างนั้นการตบมุกช่วงท้าย สะท้อนความจริงที่เจ็บแสบกระสันต์
– เพราะชาวญี่ปุ่น สนแต่การทำลายล้างที่ปลายเหตุ
– ขณะที่อเมริกา ต้องการจะเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปศึกษา พัฒนา ต่อยอด และควบคุม
ด้วยความที่ไม่มีใครไหนสนใจแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ณ ต้นสาเหตุ! ทุกคนสนแต่ถ้าไม่ทำลายล้าง ก็วางแผนนำไปใช้ประโยชน์อื่น ด้วยเหตุนี้อนิเมะจึงตบมุกด้วยการนำภัยพิบัติ หวนย้อนกลับทำให้มาบังเกิดขึ้นอีกครั้งครา!
เพลงประกอบโดย Jun Miyake ได้นำเอาดนตรี Jazz และ Funk ผสมผสานด้วยลีลาอันเย้ายียวนกวนประสาท จังหวะสนุกสนานตื่นเต้นรุกเร้าใจ สร้างสีสัน ผสมความสับสนอลม่าน ตอบสนองความบ้าๆบอๆของสิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นได้อย่างคลุ้มคลั่ง เสียสติแตก หัวเราะจนตกเก้าอี้ดนตรี
อนิเมะเรื่องนี้ชวนให้ผมนึกถึงสำนวน ‘ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นยกเข่ง’ แต่ความเน่าของ Nobuo Tanaka ยังเทียบไม่ได้กับรัฐบาลฉาวโฉ่ เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น สนเพียงแก้ปัญหาเอาตัวรอดเฉพาะหน้า แต่เลวร้ายยิ่งกว่าคือสหรัฐอเมริกา แอบซุ่มให้เงินพัฒนาโปรเจคชีวภาพนี้อยู่เบื้องหลัง แม้ต่อมาจะออกหน้าแก้ปัญหาได้สำเร็จ แต่ด้วยจุดมุ่งหมายเลวร้ายกว่า แสวงหาผลประโยชน์จากเภทภัยพิบัติ
ความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่น จึงถูกประเทศผู้ชนะ สหรัฐอเมริกา เข้ามาควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำอยู่เบื้องหลังกว่าทศวรรษถึงยินยอมถอนตัวออกไป แต่ความสัมพันธ์จนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นแบบพึ่งพา เลียแข้งเลียขา เอาอกเอาใจ … อนิเมะเรื่องนี้ถือว่ายังคงสะท้อนความจริงหลายๆอย่างเช่นนั้นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
Cannon Fodder
สร้างโดย Katsuhiro Otomo (เกิดปี 1954) นักวาดการ์ตูน กำกับอนิเมะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tome, Miyagi ตั้งแต่เด็กมีความลุ่มหลงใหลในภาพยนตร์ แต่พอเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ Tokyo เพื่อเป็นนักวาดการ์ตูน ตีพิมพ์เรื่องสั้น กระทั่ง Dōmu (1980-83) คว้ารางวัล Nihon SF Taisho Award เลยมีโอกาสผันตัวสู่วงการอนิเมะ เริ่มจากออกแบบตัวละคร (Character Design) ให้กับ Harmagedon (1967), ระหว่างนั้นเขียนมังงะ Akira และได้รับโอกาสดัดแปลงภาพยนตร์อนิเมชั่น Akira (1988)
ณ เมืองแห่งหนึ่ง วิถีประจำวันของทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับการยิงปืนใหญ่ พ่อเป็นเจ้าพนักงานบรรจุกระสุน แม่ทำงานครัวอยู่เบื้องหลัง ส่วนลูกชายวาดฝันอนาคตอยากเป็นคนกดปุ่มยิง และท้ายสุดถามพ่อว่า ‘เรากำลังต่อสู้กับใคร’ แต่นั่นเป็นสิ่งไม่มีใครไหนสามารถให้คำตอบได้
Cannon Fodder เป็นตอนสั้นสุดที่เหมือนจะไม่มีเนื้อหาสาระอะไรจับต้องได้ ดำเนินเรื่องในระยะเวลา 1 วัน เช้าจรดค่ำ ดำเนินต่อเนื่องด้วยลักษณะเหมือน Long Take เคลื่อนเลื่อนไปเรื่อยๆทุกทิศทาง ซ้าย-ขวา เข้า-ออก แต่ทั้งหมดนั้นคือลูกเล่นเพื่อสร้างภาพลวงหลอกตาให้กับผู้ชม
“When I worked on Memories, my team used CG for the animation, specifically for the start of Cannon Fodder, where the young boy ran along the corridor. That section was made with CG animation. So it was a 3D model of the corridor and it was composited with 2D animation. Originally, we tried to do it with a composite of live-action footage but the quality wasn’t very good, so we switched to CG animation”.
– Katsuhiro Otomo
ในโลกที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้น ตื่นเช้ามาก็ได้ยินเสียงปืนใหญ่ ทุกสิ่งอย่างรายล้อมด้วยวิถีชีวิตแบบนี้ ความครุ่นคิดของเขาก็จะถูกควบคุม ครอบงำ มองไม่เห็นอะไรอื่นสำคัญทรงคุณค่าไปกว่า ยืนตะเบะให้ใครก็ไม่รู้ ทำสงครามไปทำไม แค่ว่าหน้าที่ต้องทำ นี่ไม่ต่างอะไรจากหุ่นยนต์ เรียกระบอบการปกครองนี้ว่า Fascism
การออกแบบตัวละครถือว่ามีความพิลึกพิลั่นอย่างมาก แววแรกผมนึกว่าเป็นสัตว์ เปรต หรือตัวประหลาดอะไรสักอย่าง แต่ก็น่าจะมนุษย์นะแหละ ในสภาพซีดเซียว ผิวสีออกเทาๆ (คาดว่าคงผลกระทบจากฝุ่นควันระเบิด)
ขณะที่พ่อรูปร่างผอมกระหร่อง ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด เจ้าพนักงานที่คอยกดยิงปืนกลับมีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ (ผิดกับรูปภาพที่มีความเท่ห์ระเบิด) ทั้งๆไม่เห็นทำอะไรลำบากเลยสักอย่าง … นี่นะหรือความเท่าเทียมกันในสังคม
มนุษย์ต่อสู้กับใคร? อนิเมะเรื่องนี้ไม่บอกไว้ นำเสนอเพียงเภทภัยภายนอก ศัตรูต่างชาติ กระทำการอย่างเป็นระบบระเบียบ มีขั้นมีตอน ต้องให้ได้อย่างนั้นเปะๆ แทบจะไม่แตกต่างจากหุ่นยนต์กลไก ขยับเคลื่อนไหวไปตามโปรแกรมสั่งมา
มันเป็นความตลกอย่างหนึ่ง เพราะศัตรูแท้จริงของมนุษย์นั้นไม่ใช่ใครอื่นใดไหน กับคนศึกษาพุทธศาสนาจะรับรู้ว่า มารผจญก็คือจิตใจตนเอง โลภละโมบ มักมาก ไม่รู้จักพอ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สูงสุด คือการเอาชนะใจตนเอง!
เพลงประกอบโดย Hiroyuki Nagashima ได้ทำการผสมเสียง Sound Effect ขยุ้มเข้ากับเครื่องสังเคราะห์ ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผลลัพท์ออกมาในสไตล์ Avant-Garde สัมผัสถึงกลิ่นดินระเบิด ฝุ่นควันอันคละคลุ้ง เครื่องจักรทำงาน ชีวิตวันๆเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีเป้าหมาย มิอาจเคว้งคว้างล่องรอคอยความตายอยู่ท่ามกลางอวกาศไปวันๆ สำหรับ Cannon Fodder รัฐได้สร้างบางสิ่งอย่างเพื่อให้ประชาชน(ทั้งประเทศ)ดำเนินรอยตาม ทุกคนมีหน้าที่การงาน เปรียบดั่งฟันเฟือง กลไก จำต้องขยับเคลื่อนไหวเพื่อให้ทั้งระบบสามารถทำงานไปข้างหน้าได้ … แต่นี่คือวิถีทางถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือ?
Cannon Fodder ไม่เพียงตั้งคำถามเกี่ยวกับการสู้รบสงคราม ศัตรูคือใคร? แต่ยังทิศทางของรัฐบาล/ผู้นำประเทศ พยายามควบคุมครอบงำ ชี้ชักนำประชาชนให้เห็นสอดพ้องไปกับแนวคิดของตน ทนทำแบบนี้แล้วดีไม่ต้องรับรู้ว่ามีประโยชน์อันใด อนาคตคนรุ่นถัดไป ก็จะค่อยๆถูกล้างสมอง สูญเสียความทรงจำ สติปัญญาครุ่นค้นหาสาเหตุผล เพราะอะไร? ทำไม? เพื่ออะไร? กลายเป็นหุ่นยนต์ ฟันเฟือง น็อตชิ้นหนึ่งในจักรกลขนาดมหึมา
คำวิจารณ์ต่างประเทศส่วนใหญ่ ชื่นชอบคลั่งไคล้ Magnetic Rose เพราะเนื้อหาสาระที่สะท้อนกับชื่ออนิเมะ Memories ได้ตรงตัวสุดแล้ว, ขณะที่ Stink Bomb และ Cannon Fodder ถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง หนึ่งเพียงความบันเทิง สองอาร์ทเกินไป … ถึงอย่างนั้นภาพรวมของอนิเมะ สมควรค่าแก่การรับชมยิ่ง
ความชื่นชอบส่วนตัวของผมนั้น เหมือนจะกลับตารปัตรตรงกันข้ามเลยนะ Stink Bomb >= Cannon Fodder >> Magnetic Rose
– Magnetic Rose สำหรับผมโคตรจะน่าเบื่อเลยละ พบเห็นเป็นสูตรสำเร็จหนัง/อนิเมะไซไฟ ใครเคยติดตามซีรีย์ Star Trek คงมักคุ้นเคยกับการผจญภัยลักษณะนี้
– ผมว่าผู้ชมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจนัยยะของ Stink Bomb เลยมองเห็นเพียงความบันเทิงขบขัน หัวเราะตกเก้าอี้ แต่ถือว่ามีการเสียดสีที่เจ็บแสบกระสันต์ แค่ความเห็นแก่ตัวของบุคคลเดียวเท่านั้น สามารถสร้างหายนะให้กับโลกทั้งใบ!
– Cannon Fodder ถือเป็น ‘Pure Art’ ที่มีการทดลองอนิเมชั่นเจ๋งโคตรๆ และเนื้อเรื่องราวภายใน 1 วัน สะท้อนวัฏจักรชีวิตได้อย่างขนลุกขนพอง หลอกหลอน สยองมากๆ
อดไม่ได้ที่จะต้องเปรียบเทียบ Neo Tokyo กับ Memories ส่วนตัวชื่นชอบคลั่งไคล้สามเรื่องแรกมากกว่า เพราะความลุ่มลึกในเนื้อหาสาระ ชักชวนให้ครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความได้อย่างไม่มีสิ้นสุด ขณะที่สามเรื่องหลังเพราะดูง่ายกว่า เต็มไปด้วยความบันเทิงรมณ์ จึงไร้มิติน่าคำนึงหา
จัดเรต 18+ กรุงโตเกียวแห่งอนาคต ช่างเต็มไปด้วยความมืดหมองหม่น
Leave a Reply