Memories of Murder (2003) : Bong Joon-ho ♥♥♥♥
ความทรงจำต่อเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่อง ไม่เพียงตราฝังตรึงในความทรงจำตัวละคร ผู้กำกับ Bong Joon-ho แต่ยังชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศ สามารถสะท้อนได้ถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนของรัฐบาลเมื่อไม่กี่ปีก่อน ใครกันจะไปหลงลืมเลือน
แต่กาลเวลาก็ทำให้ทุกสิ่งอย่างเลือนลางจางหายไปนะครับ เพราะเมื่อคนรุ่นนั้นล้มหายตายจาก เด็กรุ่นใหม่มิได้พานผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมา มักไม่ค่อยอยากเสียเวลาเรียนรู้จดจำ นอกเสียจากถูกสั่งให้ทำการบ้าน หรือบอกว่าออกข้อสอบเท่านั้นละถึงใคร่สนใจ
“ประวัติศาสตร์ไม่เคยเสี้ยมสอนอะไรมนุษย์เลย” นั่นเพราะถ้าเราไม่เคยประสบพบเหตุการณ์นั้นเข้ากับตนเอง ย่อมไม่สามารถเรียนรู้ จดจำ นำความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนสอนใจ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ถึง ๔ สิ่งไม่สามารถส่งมอบต่อกันได้
- ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวิบากกรรมได้ ใครสร้างกรรมเอาไว้ไม่มีใครรับแทนได้คนนั้นต้องรับเอง
- ปัญญาให้กันไม่ได้ ต้องฝึกฝนเอาเองถึงจะเกิดปัญญาได้
- ความศรีวิไลของธรรมะ ไม่สามารถสื่อทางภาษาได้ ความจริงแท้ในจักรวาลต้องใช้การปฏิบัติหนทางเดียวเท่านั้นเพื่อพิสูจน์ความจริง
- คนที่ไม่มีวาสนา ฝนแม้จะตกทั่วฟ้า ก็ยังไม่เกิดประโยชน์กับหญ้าที่ไร้ราก พระธรรมแม้จะกว้างใหญ่ไพศาล ก็ยากที่จะโปรดคนไร้วาสนา
Bong Joon-ho (เกิดปี 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu ปู่ทวดคือนักเขียนชื่อดัง บิดาประกอบอาชีพ Graphic Designer ตัวเขาลูกคนกลาง ต้องการจะเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์แต่ครอบครัวไม่อนุญาต เข้าเรียน Yonsei University คณะสังคมวิทยา แต่ก็เอาเวลาไปรับชมภาพยนตร์ ชื่นชอบโปรดปรานผลงานของผู้กำกับ Edward Yang, Hou Hsiao-hsien และ Shohei Imamura
เมื่อเรียนจบมหาลัยก็ไม่จำเป็นต้องง้อใครอีก ทำงานหาเงินเป็นติวเตอร์เพื่อเข้าศึกษาต่อ Korean Academy of Film Arts จากนั้นช่วงงานเบื้องหลัง จนกระทั่งได้เครดิตเขียนบท Seven Reasons Why Beer is Better Than a Lover (1996), ผู้ช่วยผู้กำกับ Motel Cactus (1997), Phantom: The Submarine (1999), และผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Barking Dogs Never Bite (2000) ออกฉายตามเทศกาลหนัง ค่อยๆสะสมชื่อเสียง กระแสปากต่อปาก ใช้เวลากว่าสองปีถึงสามารถคืนทุนสร้าง
ภาพยนตร์ลำดับที่สอง Memories of Murder ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้สมัยใหม่ Hwaseong Serial Murders เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15 กันยายน 1986 ถึง 3 เมษายน 1991 ผู้เคราะห์ร้ายทั้งสิ้น 10 ศพ ล้วนเป็นเพศหญิงอายุระหว่าง 14 ถึง 71 ปี (มีสองคนตั้งครรภ์) ถูกมัดมือ ปิดปาก ข่มขืน และเข่นฆาตกรรม พบเจอยังบริเวณ Hwaseong, จังหวัด Gyeonggi … จนถึงปัจจุบัน ตำรวจก็ไม่สามารถไล่ล่าจับกุมตัวฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ แถมเลยระยะเวลาก่อเหตุ 15 ปี หลงเหลือเพียงแค่การเฝ้าระวังเท่านั้น
เกร็ด: เหตุการณ์ Hwaseong Serial Murders ได้รับการเปรียบเทียบกับ Zodiac Killer ซึ่งเกิดเหตุช่วงปลายทศวรรษ 60s ในแถบพื้นที่ตอนเหนือของรัฐ California จนถึงปัจจุบันทางการยังไม่สามารถระบุตัวตน หรือแรงจูงใจของฆาตกรได้สำเร็จ … กลายมาเป็นภาพยนตร์ Zodiac (2007) กำกับโดย David Fincher
Joon-ho เริ่มต้นเดือนมิถุนายน 2000 ใช้ระยะเวลาครึ่งปีในการขุดคุ้ยรายละเอียด สืบค้นข้อมูลคดีความ และอีกครึ่งปีร่วมกับ Shim Sung-bo พัฒนาบทภาพยนตร์ โดยได้แรงบันดาลใจเพิ่มเติมจาก
– บทละครเวที Please Come and See Me (1996) ของ Kim Kwang-rim ที่มีเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนสุดแสนพิลึกพิลั่นของตำรวจ ภายใต้ยุคสมัยการปกครองของผู้นำเผด็จการทหาร (ละครเวทีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องนะครับ แค่นำเอาวิธีการสืบสวนสอบสวนอันพิลึกพิลั่นของตำรวจมาเป็นแบบอย่างเท่านั้น)
– Graphic Novel เรื่อง From Hell แต่งโดย Alan Moore วาดภาพโดย Eddie Campbell ตีพิมพ์รายเดือนระหว่างปี 1989 – 1998 รวมเล่มปี 1999, เรื่องราวเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง Jack the Ripper ในเหตุการณ์ Whitechapel Murders ระหว่างวันที่ 3 เมษายน 1888 ถึง 13 กุมภาพันธ์ 1891 ผู้เคราะห์ร้ายทั้งสิ้น 11 ศพ ล้วนเป็นเพศหญิง
เริ่มต้นเดือนตุลาคม 1986, ร่างไร้วิญญาณของหญิงสาว ได้รับการค้นพบหลบซ่อนอยู่ในท่อระบายน้ำข้างๆไร่นา นักสืบท้องถิ่น Park Doo-man (รับบทโดย Song Kang-ho) พยายามอย่างยิ่งจะเร่งรีบปิดคดี เมื่อได้ตัวผู้ต้องสงสัยทำการสร้างหลักฐาน ใช้กำลังรุนแรง บีบคั้นให้รับสารภาพ แต่การมาถึงของ Seo Tae-yoon (รับบทโดย Kim Sang-kyung) ตำรวจหนุ่มอาสาสมัครจากกรุง Seoul พยายามบอกว่าหมอนี่ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ จนความจริงได้รับการเปิดโปง และเหยื่อรายที่สามสี่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง
Song Kang-ho (เกิดปี 1967) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Gimhae, South Gyeongsang Province ตั้งแต่เด็กไม่ได้มีความสนใจด้านการแสดงใดๆ กระทั่งสอบติดคณะการสื่อสาร Busan Kyungsang College จบออกมาเข้าร่วมคณะการแสดงของ Kee Kuk-seo กลายเป็นสถานที่ฝึกซ้อมชั้นดี ขึ้นแสดงละครเวทีตั้งแต่ปี 1991 บอกปัดแสดงภาพยนตร์จนกระทั่ง The Day a Pig Fell into the Well (1996), แจ้งเกิดโด่งดังกับ No.3 (1997), Shiri (1999), The Foul King (2000), Joint Security Area (2000)**คว้ารางวัล Grand Bell: Best Actor
เกร็ด: Song Kang-ho ได้รับการยกย่องเป็น หนึ่งในสามนักแสดงชายยอดฝีมือที่สุดของเกาหลีใต้ (ในปัจจุบัน) เคียงคู่กับ Choi Min-sik และ Sol Kyung-gu
รับบท Park Doo-man นายตำรวจ นักสืบท้องถิ่น ผู้มีความเชื่อในสันชาตญาณตนเองเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าจะสามารถติดตามสืบคดี จับกุมผู้ร้ายได้ถูกตัว แค่เบาะแสเล็กๆก็สร้างเรื่องให้ใหญ่โต ชอบใช้กำลังความรุนแรงกับผู้ต้องหา ประกอบกับนิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจ บางทีก็ทุ่มเทในสิ่งไร้สาระมากไป โชคดีได้ภรรยาเป็นพยาบาล กลับบ้านเมื่อไหร่กลายเป็นเด็กน้อยนอนหนุนตัก ตรงกันข้ามเวลางานโดยสิ้นเชิง
ผู้กำกับ Bong Joon-ho เหมือนว่าจะมีความชื่นชอบประทับใจ Song Kang-ho ตั้งแต่สมัยเป็นนักแสดงละครเวที ติดตามผลงานมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงานครั้งนี้ครั้งแรก ซึ่งตอนพัฒนาบทก็มีภาพของ Kang-ho ไว้ในใจ เช่นนั้นแล้วจะให้บอกปัดปฏิเสธก็กระไรอยู่
Kang-ho มักได้รับบทตัวละครประเภทไม่เอาอ่าว พึ่งพาไม่ค่อยได้ เต็มไปด้วยความยียวนกวนประสาท สติปัญญาทึ่มทื่อ เฉลียวฉลาดในเรื่องไร้สาระ แต่บางสถานการณ์เป็น-ตาย ก็เอาจริงจังไม่ใช่เล่น (พึ่งพาได้ซะงั้น!) สำหรับ Park Doo-man เอาจริงๆถือว่าเป็น Typecast แต่ผู้กำกับ Joon-ho พยายามนำเสนอมุมมองความหลากหลายให้ตัวละคร พบเห็นทั้งด้านดี-ชั่ว ชีวิตประจำวัน ซึ่งความเป็นธรรมชาติของ Kang-ho ทำให้ผู้ชมตระหนักว่าไม่มีมนุษย์คนไหนสมบูรณ์ ทำผิดพลาดก็ต้องเรียนรู้จักการแก้ไข
Kim Sang-kyung (เกิดปี 1971) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่กรุง Seoul เรียนจบสาขาการละครและภาพยนตร์ Chung-Ang University เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงซีรีย์, แจ้งเกิดโด่งดังภาพยนตร์ Memories of Murder (2003), Tale of Cinema (2005), May 18 (2007) ฯ
รับบท Seo Tae-yoon ตำรวจหนุ่ม อาสาสมัครจากกรุง Seoul ขอมาสืบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นคนเคร่งขรึม ครุ่นคิดมาก จริงจังต่อการทำงาน ไม่เคยพบเห็นพูดคุยเล่นหรือทำตัวไร้สาระ เชื่อมั่นในบันทึกเอกสาร ได้สมมติฐาน/ข้อสรุปจากหลักฐาน ซึ่งนั่นทำให้เขาเกิดความหลงเชื่อแบบผิดๆ ครุ่นคิดว่าชายคนนี้ต้องคือฆาตกรแน่ๆ (ถึงจุดนี้ก็ไม่ต่างจาก Park Doo-man สักเท่าไหร่)
หนังไม่ได้อธิบายที่มาที่ไปตัวละครนี้มากนัก ทำไมถึงตัดสินใจอาสาสมัครมาทำคดียังดินแดนไกลปืนเที่ยงขนาดนี้ แต่ผู้ชมอาจได้สมมติฐานจากความเกรี้ยวกราดของตัวละคร ขณะเขาพบศพนักเรียนหญิงคนหนึ่งที่เคยพูดคุยรู้จัก (ติดพลาสเตอร์แผลให้) นั่นอาจแปลว่า Seo Tae-yoon เคยพานผ่านประสบเหตุการณ์ลักษณะคล้ายคลึงดังกล่าวมา อาจจะกับพ่อ-แม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทใกล้ชิด เลยแสดงความโกรธเกลียดเคียดแค้น คลุ้มคลั่งเสียสติแตก ต้องการเข่นฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยรายนั้น ทั้งๆหลักฐานเพิ่งส่งมาทนโท่กับตา หน้ามืดตามัวเกือบที่จะ…
การมาถึงของ Sang-kyung แรกเริ่มเหมือนตัวประกอบที่มักหลบซ่อนตัวอยู่ริมๆ แค่ติดชายตา ใช้เวลาไปกับการครุ่นคิดจนหน้านิ่วคิ้วขมวด รอคอยจังหวะเสนอหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอัน พูดคุยอย่างมีเหตุผลเท่านั้น ต้องชมเลยว่าสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวละครได้อย่างตราตรึง เกิดความหวังในการไขคดีขึ้นมาเล็กๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไฮไลท์การแสดงกลับอยู่ช่วงท้าย เมื่อทุกสิ่งอย่างบานปลายเลยเถิด จนไม่สามารถควบคุมอะไรได้ การแสดงออกของ Sang-kyung ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความลุ่มร้อน ทุกข์ทรมาน และเมื่อข้อเท็จจริงได้รับการเปิดอ่าน ไม่มีอะไรที่ผ่อนคลายระบายออก ทุกสิ่งอย่างค่อยๆมอดไหม้ แม้ยืนอยู่ท่ามกลายสายฝน กลับโชติชัชวาลย์ดังไฟจากขุมนรก ล้างผลาญทุกสิ่งอย่างตรงหน้า ราบเรียบเป็นหน้ากลอง
ถ่ายภาพโดย Kim Hyung-koo ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติเกาหลี ผลงานเด่นๆ อาทิ Spring in My Hometown (1998), Peppermint Candy (1999), The Warrior (2001), Memories of Murder (2003), The Host (2006) ฯ
งานภาพมีความละเอียดอ่อนในการจัดแสง-เงา เลือกโทนสี วางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง และการเคลื่อนไหล เพื่อสร้างสัมผัสทางอารมณ์ แฝงนัยยะซ่อนเร้นบางสิ่งอย่าง
ช็อตแรกของหนัง เด็กชายเหมือนกำลังเล่นซ่อนหา หลบซ่อนตัวอยู่ในไร้ข้าวสาลี สายตาจับจ้องมองเห็นบางสิ่งอย่าง, ความโดดเด่นของช็อตนี้คือโทนสีสันเหลืองอร่าม มอบความอบอุ่น ลุ่มร้อน แผดเผาไหม้ผิวหนัง ซึ่งท่ามกลางท้องทุ่งแดดจ้า กลับหลบซ่อนเร้นมุมมืดที่น่าสะพรึงกลัว
– เด็กชายอาจเป็นตัวแทนผู้ชม ผู้กำกับ Bong Joon-ho และชาวเกาหลีใต้ จับจ้องมอง/รับชมสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นความทรงจำฝังจิตฝังใจไปชั่วนิรันดร์
– นี่อาจดูเป็นไปไม่ได้แต่ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้นะครับ, เด็กชายอาจสื่อถึงฆาตกรกำลังหลบซ่อนตัว แอบจับจ้องมองภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่อย่างใกล้ชิด (มันจะไปล้อกับช็อตสุดท้ายของหนังได้ด้วย)
เด็กชายพยายามลอกเลียนแบบท่วงท่า อริยาบทของ Park Doo-man เป็นการสะท้อนถึงอิทธิพลภาพยนตร์ พฤติกรรมแสดงออกของผู้ใหญ่ ล้วนสร้างแรงบันดาลใจ ‘ไอดอล’ ให้คนรุ่นถัดๆไปพบเห็นกระทำตาม เริ่มต้นแม้ด้วยความไร้เดียงสาก็ตามที … เหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องนี้ก็อาจเฉกเช่นเดียวกัน
นอกจากอารัมบท-ปัจฉิมบท มีการจัดโทนสีเหลืองอร่าม ที่เหลือของหนังจะเป็นโทนหม่นๆ น้ำเงิน-เทา-ดำ เต็มไปด้วยความเหือดแห้งแล้ง ยะเยือกเย็นชา ชีวิตการทำงานช่างลำบากเหน็ดเหนื่อย ไม่มีอะไรได้ดั่งใจ
Sequence นี้คือ Long Take กล้องเคลื่อนติดตาม Park Doo-man เดินไปเดินมาวนรอบสถานที่เกิดเหตุ ศพสอง ที่เต็มไปด้วยความสับสน ว้าวุ่นวาย ไทมุงแบบไม่สนอะไร พยายามตะโกนขับไล่ สั่งโน่นนี่นั่น แต่ไม่มีใครรับฟังปฏิบัติตาม
ถึงตำรวจจะบริหารจัดการไม่ได้เรื่อง แต่ความผิดอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ประชาชนด้วยนะ อุปนิสัยเสือกเรื่องชาวบ้าน ไทมุง อยากรู้อยากเห็น ทั้งๆไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย เพื่อสนองตัณหาราคะหรือยังไง?
Park Doo-man ถือว่าเป็นคนหูเบาด้วยนะ ขณะได้รับการเขี่ยหูจากภรรยา พอดิบพอดีกับเธอเล่าให้ฟังถึงผู้ต้องสงสัย เขาเลยรีบตรงไปจับกุมตัว เชื่อมั่นแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ หมอนี่ฆาตกรอย่างแน่นอน
ผู้โชคร้ายรายแรก Baek Kwang-ho (รับบทโดย Park No-shik) เป็นคนเอ๋อๆเหรอๆ สติสตางค์ไม่ค่อยสมประกอบเท่าไหร่ มองมุมหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจคือฆาตกร แต่ครุ่นคิดด้วยสติ ท่าทางอย่างนี้จะไปทำอะไรใครได้
สถานที่ที่ถูกจับคือร้านเกม กำลังเล่นเกมวิ่งแข่งเข้าเส้นชัย สะท้อนถึงการติดตามล่าหาฆาตกร ราวกับว่าพวกเขาได้มาถึงเป้าหมายแล้ว (ซะที่ไหน!)
การมาถึงของ Seo Tae-yoon มุมกล้องคล้ายๆตอนอารัมบท มาถึงของ Park Doo-man แต่บรรยากาศ โทนสีสัน กลับแตกต่างตรงกันข้ามเลยนะ, ช็อตนี้ปกคลุมด้วยหมอก มองไม่เห็นอะไร พื้นถนนเปียกแฉะ ท้องทุ่งเขียวขจี (แสดงว่าเวลาผ่านมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่พบศพแรก) ขณะนั้นถือว่าเป็นบุคคลลึกลับ ผู้ต้องสงสัย เดินทางมาสถานที่แห่งนี้ทำไมกัน??
ความชิลของการสืบสวนสอบสวน ผู้ต้องหานั่งรับประทานอาหารร่วมกับนักสืบ/ตำรวจ และชมรายการโทรทัศน์ Soo Sa Ban Jang เกี่ยวกับแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในเกาหลีใต้ (ผู้ชมต่างประเทศคงไม่มีโอกาสรู้จักสักเท่าไหร่) สังเกตว่า Seo Tae-yoon นั่งหลบมุมอยู่ด้านหลังตรงบันได พบเห็นเพียงหางตาเท่านั้นเอง ยังไม่ถึงเวลา Debut แสดงความคิดเห็นใดๆ
วิธีการสุดประหลาดในการสืบสวนสอบสวน ถ้าไม่สารภาพก็จะถูกฝังทั้งเป็น ขณะที่ Seo Tae-yoon ยังคงนั่งหลบมุมอยู่ด้านหลังเช่นกัน … ผมว่าวิธีการนี้มันก็ไม่ถึงขั้นพิศดารสักเท่าไหร่นะ ใช้ได้เฉพาะกับคนขวัญอ่อน ขี้กลัว สติปัญญาไม่ค่อยสมประกอบแบบนี้เท่านั้นกระมัง
เมื่อตอนพบเจอศพสอง ท้องทุ่งแห่งนี้เพิ่งถูกเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น แต่ขณะทำแผนประกอบการรับสารภาพ ต้นหญ้าขึ้นสูงพอสมควร (คงจะหลายเดือนทีเดียว) ซึ่งยังแม้มีการจัดการดีขึ้น แต่ยังเต็มไปด้วยความวุ่นวายเพราะ Baek Kwang-ho หาใช่ฆาตกรแท้จริง เป็นเพียงแพะรับบาปของตำรวจเท่านั้นเอง (นั่นเลยทำให้หัวหน้าถูกเด้ง แต่ลูกน้องกลับรอดตัวเฉยเลย ทั้งๆคือผู้สร้างหลักฐานปลอมขึ้นมา)
การมาถึงของหัวหน้าคนใหม่ ทำให้นักสืบปลายแถวอย่าง Seo Tae-yoon ได้เสนอความคิดเห็นที่ฟังแล้วเข้าท่า สร้างความอิจฉาริษยาให้กับ Park Doo-man และคู่หู Cho Yong-koo
ซึ่งการออกค้นหาศพสาม Park Doo-man และคู่หู Cho Yong-koo กลับนั่งเล่นเกมพันด้าย (เป็นเกมไขปริศนาโดยการสร้างปริศนา สลับกันไปมาไม่มีจุดจบสิ้น) หลบซ่อนอยู่ระหว่างรถเก๋งกับรถโดยสาร ไม่ได้คาดคิดหวังจะมีใครพบเจออะไร
หนังแสบกระสันต์มากด้วย Match Cut สองภาพนี้
– กล้องเลื่อนลงมาพบเห็นศพสาม ในสภาพเนื้อหนังดูไม่ได้
– ตัดมาทีมนักสืบไปเลี้ยงฉลองกินเนื้อย่างใส่ลงกะทะร้อน
เชื่อว่าบางคนเห็นการเปรียบเทียบเช่นนี้ อาจถึงขั้นกินหมูกระทะไม่ลงไปหลายวัน ซึ่งผู้กำกับ Bong Joon-ho จะไปขยายต่อแนวคิดเล็กๆนี้กับ Okja (2017)
Park Doo-man กับ Seo Tae-yoon ถือเป็นขั้วตรงกันข้ามทุกสิ่งอย่าง วิธีคิด การทำงาน วัฒนธรรมองค์กร ชนบท-เมือง นั่นเองสร้างความอิจฉาริษยาขึ้นเล็กๆ ก่อเกิดความขัดแย้งโต้เถียง ชกต่อยตี แต่พวกเขาก็ยังสามารถร่วมงานกันได้เพราะมีเจ้านาย อ๊วกแตกอ๊วกแตกอยู่กึ่งกลางระหว่าง
ไม่ยักรู้ว่าชาวเกาหลีเวลาไปดื่มกิน อาหารว่างของมักคือผลไม้ พบเห็นช็อตนี้มีกล้วย องุ่น และลูกท้อ ขณะที่สองนักสืบต่างกินกล้วย ส่วนเจ้านายมีแอปเปิ้ลสองลูกวางอยู่ตำแหน่งหน้าอกพอดิบพอดี … มันจะสื่อถึงอะไรกันนะ?
ค้นหาไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ก็ด้วยไสยศาสตร์ จากคำแนะนำกรอกหูของศรีภรรยาอีกนะแหละ แต่ผลลัพท์เป็นยังไงไม่รู้ เพราะจู่ๆมีผู้ต้องสงสัยรายถัดมา ให้เบี่ยงเบนความสนใจไปโดยสิ้นเชิง
ผู้ต้องสงสัยรายที่สอง ถือว่ามีความโรคจิตเล็กๆ ชอบสวมใส่ชุดชั้นในหญิงสีแดง แล้วช่วยตนเองนอกสถานที่ ซึ่งหนังใส่ Sequence การไล่ล่าติดตาม และเชาว์แก้ปัญหาของ Park Doo-man ไม่มีใครคาดว่าจะมี จับกุมตัวได้สำเร็จขณะปลอมตัวเป็นกรรมกรแรงงาน
ช็อตนี้สป็อตไลท์สาดส่องลงมาจากด้านบน รอบข้างมืดมิดสนิท ราวกับว่าฟ้าประทานบ่งบอกว่า หมอนี่แน่ๆต้องคือฆาตกรตัวจริง แต่แท้จริงแล้วเป็นการสะท้อนความเพ้อฝัน จินตนาการ (ของชายคนนี้) อยากที่จะโดดจับ ทรมาน … คงเป็นพวกชื่นชอบทัณฑ์ทรมาน Masochist
Seo Tae-yoon เดินทางไปสืบค้นเบาะแสยังโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นกำลังมีกิจกรรมซ้อมหนีไฟ นัยยะตรงไปตรงมาถึงความพยายามฝึกฝนเอาตัวรอดจากสถานการณ์เลวร้าย … แต่เรื่องพรรค์นี้เวลาเกิดขึ้นจริง มันสามารถสอนกันได้เสียที่ไหน!
พลาสเตอร์ คือสิ่งที่ใช้ปกปิดร่องรอยบาดแผลภายนอก คล้ายๆการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สร้างภาพเพื่อเอาตัวรอด(ของตำรวจ) หาใช่การเผชิญหน้ายินยอมรับความจริง หรือจับกุมตัวฆาตกรต่อเนื่องได้เสียเมื่อไหร่
หนังนำพาเรื่องราวให้ไปถึงจุดตกต่ำทรามลงเรื่อยๆ ฆาตกรที่ไหนมันจะหลบซ่อนตัวในห้องน้ำหญิง … จริงอยู่มันอาจแค่นิทานหลอกเด็ก แต่ก็สามารถชี้นำทางไปจนพบเจอบางสิ่งอย่าง
ผู้รอดชีวิตรายแรก (ก็ไม่รู้รอดมาได้อย่างไร) อาศัยอยู่เพิ้งบนเขา ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นโรคหวาดกลัวผู้ชาย ไม่กล้าแม้จะสบตา พูดคุยสนทนา, การเลือกสถานที่แห่งนี้ น่าจะสะท้อนความสามารถในการเอาตัวรอดของเธอ ซึ่งเป็นสิ่งเลิศเล่อค่า แม้ต้องแลกกับความโดดเดี่ยวลำพัง ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง
ลูกท้อติดอยู่ในอวัยวะเพศหญิง หรือหนังแอบทิ้งคำใบ้ว่า ฆาตกรตัวจริงอาจเป็นหัวหน้าตำรวจ???
ความเชื่อของคนจีน ลูกท้อ คือสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว ซึ่งในบริบทนี้นำยัดใส่อวัยวะเพศหญิง เหมือนเป็นการบอกโดยนัยยะว่า การมี Sex ย่อมทำให้อายุยืนยาว … ไม่ใช่แล้ว!
ผมครุ่นคิดไปมา ‘ฆาตกรตัวจริงอาจเป็นคนในเครื่องแบบ’ อาจคือความตั้งใจจริงๆของผู้กำกับ Bong Joon-ho ก็ได้นะ เพราะนัยยะของหนังต้องการสื่อ ฆาตกรต่อเนื่อง = เหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชน (Gwangju Massacre) ซึ่งตัวการแท้จริงก็คือผู้นำรัฐบาล ทหาร ตำรวจ (ที่สุดท้ายก็ไม่มีผู้กระทำความผิดใดถูกจับกุม ลงโทษทัณฑ์)
หนังพยายามอย่างยิ่งจะชี้ชักนำว่า Park Hyeon-gyu (รับบทโดย Park Hae-il) ใกล้เคียงที่สุดแล้วคือฆาตกรต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดแสงของช็อตนี้ ราวกับความหวังสุดท้ายของพวกเขาที่จะค้นพบเจอ/ได้ทำคดีนี้
Cho Yong-koo (รับบทโดย Kim Roi-ha) คู่หูของ Park Doo-man เป็นคนเลือดร้อน ชอบใช้กำลังรุนแรง กระโดดถีบ รุมระยำ กระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยคายความจริงออกไป … วันหนึ่งผลกรรมติดตามทัน ถูกเจ้านายสั่งห้ามยุ่งกับการสืบสวน สำมะเลเทเมามีเรื่องชกต่อยตีกับคนในร้าน ถูกตะปูสนิมฟาดเข้าให้ที่ขา ด้วยความซื่อบื้อดื้อด้านเอือมระอา ปล่อยไว้หลายวันจนติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องตัดออกสถานเดียว สมน้ำหน้า!
หนังใส่เรื่องราวของ Cho Yong-koo ก็เพื่อสะท้อนกฎแห่งกรรม ทำอะไรใครไว้มาก สักวันย่อมได้รับผลตอบสนอง เฉกเช่นเดียวกับฆาตกรต่อเนื่อง แม้จนถึงปัจจุบันจะยังไม่ได้รับโทษทัณฑ์ ชาตินี้ ชาติหน้าฉันท์ใด จักถูกเข่นฆ่าตายนับครั้งไม่ถ้วนอย่างแน่นอน
รถน้ำมันหมดจนต้องลงมาเข็น สะท้อนถึงไฟการทำงานที่เริ่มเลือนลาง ไร้เรี่ยวแรงกำลังใจสืบค้นหาฆาตกรต่อไป
ช็อตที่ผมถือว่าเจ๋งสุดในหนัง Seo Tae-yoon ลากนำพาผู้ต้องสงสัยรายสุดท้าย Park Hyeon-gyu มายังปลายทางออกอุโมงค์รถไฟ เพราะครุ่นคิดว่าหมอนี่ต้องคือฆาตกรต่อเนื่องแน่ๆ แต่ผลตรวจกลับบ่งบอกว่าไม่ใช่
สถานที่แห่งนี้สะท้อนถึงความเป็นไปได้สุดท้ายของ #ทีมนักสืบ เพราะถ้าหมอนี่ไม่ใช่ตัวการ พวกเขาก็หมดหนทางสืบคดี ต่อจากนี้หลงเหลือเพียงความมืดมนรอบด้าน และรถไฟจะแล่นสวนออกมาไม่รู้เมื่อไหร่ ขืนก้าวเข้าไปรังแต่จะพบเจอหายนะ และความตาย
หลายปีถัดไป Park Doo-man เพียงพอแล้วกับอาชีพตำรวจ เปลี่ยนมาเป็นนายหน้า/เซลล์ขายเครื่องปั่นผักผลไม้ … น่าจะสะท้อนถึงชีวิตสุดปั่นป่วนของเขา ที่แม้ได้พบเจอความสงบทางกาย แต่จิตใจยังคงหวนระลึก จดจำสิ่งว้าวุ่นวายที่เคยบังเกิด
นี่ถือเป็นปัจฉิมบท ที่โทนสีล้อกับ อารัมบทต้นเรื่อง เช่นเดียวกันการกระทำของ Park Doo-man เดินมาหวนระลึกความทรงจำเมื่อครั้นวันวาน พานพบเห็นอดีตที่ถูกหลงลืมเลือน และได้รับการทักทายจากเด็กหญิงสาว คนรุ่นใหม่ ที่มิเคยรับล่วงรู้อะไรๆมาก่อน
ภาพสุดท้ายล้อกับช็อตแรกสุดของหนัง ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ Bong Joon-ho ให้ Park Doo-man จับจ้องมองกล้อง ก็เพื่อเป็นการสบตาฆาตกร (คือเชื่อว่า ฆาตกรตัวจริงต้องรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แน่ๆ) อาจเป็นคุณก็ได้ที่เคยทำสิ่งชั่วช้าสามาลย์นี้
ตัดต่อโดย Kim Sun-min ผลงานเด่นๆ อาทิ Memories of Murder (2003), The Host (2006), The Chaser (2008), The Wailing (2016) ฯ
หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Park Doo-man ดำเนินไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะไม่มีการบ่งบอกระยะเวลา แต่ผู้ชมสามารถสังเกตได้จากความสูง-ต่ำ ของต้นข้าว และฤดูกาลที่เปลี่ยนแปรผัน
ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Bong Joon-ho พบเห็นเด่นชัดกับไดเรคชั่นการดำเนินเรื่อง ซึ่งมักจะชี้ชักนำผู้ชมให้เกิดความเข้าใจหลายๆอย่างไปพร้อมกับตัวละคร จากนั้นค่อยตบหัวลูบหลัง พลิกตลบแตลง หักมุมแบบคาดคิดไม่ค่อยถึง ซึ่งเรื่องนี้ก็คือผู้ต้องสงสัยทั้งสาม ทุกครั้งมีเหตุผลให้เชื่อว่าชายคนนั้นคือฆาตกรต่อเนื่องแน่ๆ แต่พอหลักฐานใหม่ๆปรากฎขึ้น ก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หมด
เพลงประกอบโดย Taro Iwashiro สัญชาติญี่ปุ่น ผลงานเด่นๆ อาทิ Memories of Murder (2003), Sinking of Japan (2006), Red Cliff (2008), Kiki’s Delivery Service (2014) ฯ
บทเพลงคลอประกอบเบาๆเป็นพื้นหลัง เพื่อสร้างบรรยากาศอันตึงเครียด หมองหม่น แฝงเร้นด้วยภยันตรายรอบทิศทาง เมื่อไหร่ที่ไม่ได้ยินถึงค่อยรู้สึกพักผ่อนคลายขึ้นมาบ้าง
ก็ขนาดบทเพลงชื่อ Sunny Day แต่ฟังแล้วไม่รู้สึกสว่างสดใสสักเท่าไหร่ ราวกับว่าภายใต้ความเจิดจรัสจ้าของแสงอาทิตย์นั้น ซ่อนเร้นไปด้วยมุมมืดที่สุดแสนอันตราย เผลอย่างกรายเข้าไปจักประสบพบหายนะเข้ากับตัว
Gwangju massacre หรือ Gwangju Uprising เหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย หรือการก่อการกำเริบโดยประชาชนในเกาหลีใต้ ถือเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัย เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980 ขณะนั้นเกาหลีใต้กำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง สองนายพล Chun Doo-hwan และ Roh Tae-Woo ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1979 ประชาชนทั่วประเทศก่อความเคลื่อนไหวคัดค้าน ส่งผลให้กองทัพใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด ยกเว้นอยู่เพียง Gwangju เมืองเดียวเท่านั้นที่นักศึกษาและประชาชนร่วมมือกันต้านทานกองทัพได้อย่างเข้มแข็ง
กฎอัยการศึกถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 กองทัพส่งกำลังทหารกว่า 100,000 นาย เข้าปิดล้อม Gwangju แต่ถูกชาวเมืองรวมทั้งตำรวจร่วมมือกันต่อต้าน ทั้งสองฝ่ายเริ่มยิงต่อสู้วันที่ 20 พฤษภาคม จนฝ่ายทหารเข้ายึดควังจูได้สำเร็จวันที่ 27 พฤษภาคม
– จากรายงานของรัฐบาล ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นประชาชน 144 คน ทหาร 22 คน และตำรวจ 4 คน มีผู้บาดเจ็บเป็นประชาชน 127 คน ทหาร 109 คน ตำรวจ 144 คน
– แต่จากรายงานของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต ระบุว่าประชาชนอย่างน้อย 165 คน และสูญหาย 65 คน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นายพล Chun Doo-hwan ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 สมัย ติดตามมาด้วยนายพล Roh Tae-Woo อีกสองสมัย สิ้นสุดยุคสมัยเผด็จการเมื่อปี 1993 มีการเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีพลเรือน Kim Young-sam ประกาศนโยบายปฏิรูปครั้งใหญ่ ปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง และนำคดียึดอำนาจการปกครอง และสังหารประชาชนที่ Gwangju ขึ้นสู่ศาล เดือนมีนาคม 1996 ประกาศผลการตัดสินวันที่ 26 สิงหาคม
– ลงโทษประหารชีวิตนายพล Chun Doo-hwan แต่ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และจ่ายค่าปรับปริมาณมหาศาล
– จำคุกนายพล Roh Tae-Woo ระยะเวลา 22 ปี 6 เดือน ซึ่งก็ได้ทำการอุทธรณ์ ลดโทษเหลือ 17 ปี
แต่ถึงอย่างนั้น ประธานาธิบดี Kim Young-sam กลับให้อภัยโทษทั้งสองนายพล ได้รับการปล่อยตัวออกจากสถานคุมขัง เดือนธันวาคม 1997 ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข และยังคงมีชีวิตยืนยาวอยู่ถึงปัจจุบัน
เทียบแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับ ๖ ตุลา, ๑๔ ตุลา, พฤษภาทมิฬ แน่นอนว่าย่อมตราตรึงในความทรงจำประชาชนอยู่หลายทศวรรษ แต่ดูอย่างปัจจุบันนี้สิ เด็กรุ่นใหม่แทบไม่มีใครพูดถึงหรือให้ความสนใจสักเท่าไหร่ เพราะอะไรนะหรือ? พวกเขาไม่ได้พานผ่านเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้นมา จะไปตระหนักรับรู้ซึ้งถึงคุณค่าความสำคัญวันโบร่ำโบราณๆเหล่านั้นไปเพื่ออะไร
“Memories is, of course, conceived around the notion of memory. However, it is not the memories of the film’s characters that are important, as we learn nothing of the histories of the film’s central protagonists. Any back story we receive on minor characters is only present to serve as a signifier to a historical moment or to symbolize a collective national trauma.
The film is a representation of a national memory of historical traumas”.
– Bong Joon-ho
สิ่งที่ผู้กำกับ Bong Joon-ho ต้องการเปรียบเทียบความทรงจำของฆาตกรต่อเนื่อง Hwaseong Serial Murders มีเพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้นในประวัติศาสตร์เกาหลียุคใหม่ Gwangju massacre นี่เป็นสิ่งอัตโนมัติที่ชนชาวเกาหลี เมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ย่อมตระหนักครุ่นคิดถึงได้โดยทันที
นี่คือความเป็นส่วนตัว ‘ศิลปิน’ ของผู้กำกับ Bong Joon-ho ชื่นชอบการชักนำพาตัวละคร/พระเอก พานผ่านเหตุการณ์พิลึกพิลั่น อันสะท้อนถึงสภาพสังคม การเมือง วิถีชีวิตชนชาวเกาหลียุคสมัยนั้นๆ ที่มันขัดย้อนแย้งกับความครุ่นคิดเห็นส่วนตัว สิ่งถูกต้องเหมาะสม บรรทัดฐานสังคม ดูสิว่าสุดท้ายจะสามารถเอาตัวรอด ค้นพบเจอความหวัง ผลกรรม อนาคต และโอกาสอันใด
และการที่ตอนจบไม่พบเจอฆาตกร ถือว่าสะท้อนเข้ากับสองนายพล แม้ได้รับการตัดสินความผิดแต่กลับถูกให้อภัยโทษ (โดย ปธน. ที่นำพาพวกเขาขึ้นศาล) นี่มันเป็นการปล่อยคนชั่วลอยนวล ไม่ได้มอบความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตจากโศกนาฎกรรมครั้งนั้นแม้แต่น้อย
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่เสียงตอบรับดีล้นหลามจากผู้ชมและนักวิจารณ์ ปริมาณผู้ชมในเกาหลีใต้ปีนั้น 5.1 ล้านคน สูงสุดแห่งปี อันดับสี่ตลอดกาลรองจาก Shiri (1999), Friend (2001) และ Joint Security Area (2000)
คว้าสามรางวัล Grand Bell Awards (เทียบได้กับ Oscar ของเกาหลีใต้)
– Best Film
– Best Director
– Best Actor (Song Kang-ho)
เกร็ด: ผู้กำกับ Quentin Tarantino มีความชื่นชอบคลั่งไคล้ Memories of Murder (2003) จัดอันดับติดหนึ่งใน ‘Top 20 favorite movies since 1992’ และยังยกให้เป็นภาพยนตร์เกาหลียอดเยี่ยมที่สุดแห่งศตวรรษ
ส่วนตัวชื่นชอบหนังมากๆ (แต่ก็ยังน้อยกว่า The Host) เพราะไม่รู้มาก่อนด้วยว่าตอนจบจะลงเอยแบบนี้ ทำให้เกิดความลุ่มร้อนล้างผลาญขึ้นภายใน ไดเรคชั่นผู้กำกับ Bong Joon-ho นำทางผู้ชมได้เจ๋งมากๆ งานภาพสวยได้ใจ และคลั่งไคล้การแสดงของ Song Kang-ho เรียกว่ากลายเป็น ‘หน้าตา’ ของชนชาวเกาหลีไปแล้วละ
ในบรรดาภาพยนตร์เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน ผมครุ่นคิดว่า Memories of Murder (2003) น่าจะเป็นเรื่องยอดเยี่ยมสุด(เท่าที่ผมเคยรับชม) เหนือกว่าหนังอื่นใดของ Hollywood เพราะไม่ได้มีแค่บรรยากาศการทำงานอันตึงเครียด เข้มข้น จริงจัง แต่ยังผสมผสาน Slice-of-Life มอบจังหวะพักผ่อนคลาย คลุกเคล้าหลากหลายอรรถรสชาดชีวิต ถือว่ามีความแหวกแนวไม่ซ้ำใคร และคงไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้อย่างแน่นอน
จัดเรต 18+ กับความรุนแรง ฆาตกรต่อเนื่อง ความคอรัปชั่นของตำรวจ
Leave a Reply