Ménilmontant

Ménilmontant (1926) French : Dimitri Kirsanoff ♥♥♥♥♡

โคตรหนังเงียบขนาดสั้นแห่งยุคสมัย French Impressionist งดงามดั่งบทกวีรำพรรณาชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของสองสาวพี่น้อง หลังเดินทางออกจากบ้านมุ่งสู่เมือง Ménilmontant ถูกลวงล่อหลอกโดยชายหนุ่มคนเดียวกัน หนี่งตั้งครรภ์ สองกลายเป็นโสเภณี แต่ใช่ว่าโลกใบนี้จะหมดสิ้นหวังเสียทีเดียว

“an exquisite and poetic 40 minute film that is one of the most unknown screen masterpieces.”

นักวิจารณ์ Pauline Kael ยกให้คือหนี่งในหนังเรื่องโปรด

จากความตกตะลีงงันใน 5 วินาทีแรกของหนัง ค่อยๆตกหลุมรัก ลุ่มหลงใหล สงสารเห็นใจ น้ำตาคลอเบ้าเล็กๆเมื่อถีงช่วงท้าย และจบลงด้วยความพีงพอใจ …. แม้ความยาวเพียง 38 นาที Ménilmontant (1926) ราวกับพายุเฮอริเคนพัดพามรสุมทางอารมณ์ แต่เฉพาะคนอ่านภาษาภาพยนตร์ออกเท่านั้นนะครับ

French Impressionist คือยุคสมัยที่มีความเลื่องลือชา ภาพยนตร์งดงามดั่งบทกวีรำพรรณนา ไม่ใช่ด้วยถ้อยคำประโยคร้อยแก้วกรอง แต่ประกอบเทคนิค ภาษา(ภาพยนตร์) ของการแสดง ถ่ายภาพ ตัดต่อ ซ่อนเร้นนัยยะสื่อความหมาย ท้าทายศักยภาพผู้ชมจะสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ พบเห็นเนื้อในใจความ จิตวิญญาณของผู้รังสรรค์สร้างได้หรือเปล่า

ในบรรดายุคสมัยของหนังเงียบ ผมมีความโปรดปราน French Impressionist มากที่สุด (รองลงมาก็ Golden Age of Swedish Cinema) ผลงานแทบทุกเรื่องท้าทายศักยภาพในการครุ่นคิดวิเคราะห์ สังเกตเทคนิควิธีการ ไวยากรณ์ ภาษาภาพยนตร์ รวมไปถีงรสนิยม/ตัวตนผู้สร้าง สามารถเรียกผู้กำกับยุคสมัยนี้ทั้งหมดได้ว่า ‘นักกวีภาพยนตร์’


Dimitri Kirsanoff ชื่อจริง Markus David Sussmanovitch Kaplan (1899 – 1957) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เกิดที่ Juryev, Russian Empire (ปัจจุบันคือ Tartu, Estonia) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews, เมื่อปี 1919 บิดาถูกสังหารโดยกลุ่ม Bolsheviks ทำให้เขาต้องเปลี่ยนชื่อ [ตามตัวละครนวนิยายเรื่อง Fathers and Sons (1862) แต่งโดย Ivan Turgenev] แล้วอพยพย้ายสู่ฝรั่งเศส ร่ำเรียนดนตรีกับ Pablo Casals กลายเป็นนักเชลโล่ร่วมกับวงออเครต้าบรรเลงประกอบภาพยนตร์ จนมีโอกาสพบเจอแต่งงานนักแสดง Germaine Marie Josèphe Lebas (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Nadia Sibirskaïa) ร่วมกันสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก L’ironie du destin สร้างเสร็จปี 1921 ออกฉายปี 1924 (น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว)

Kirsanoff เป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยออกสื่อสาธารณะ ทั้งยังปฏิเสธทำงานภายใต้สตูดิโอใหญ่ สนใจเพียงสร้างภาพยนตร์ขนาดเล็กๆ เป็นกันเองในครอบครัว มีภรรยารับบทนำ ส่วนนักแสดงคนอื่นๆก็เพื่อนกันทั้งนั้น, สำหรับแนวทางการสร้างภาพยนตร์ เชื่อในสิ่งเรียกว่า ‘absolute cinema’

“In absolute cinema, the subtitle shouldn’t exist. It is a palliative. The subtitle persists and has penetrated the habits of the public due to the lack of sensitivity of the people, who have not yet assimilated the new aesthetic. A symphony cannot be explained in words. A film must be understandable by itself ”.

Dimitri Kirsanoff

ก็ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกไม่เคยปรากฎข้อความบรรยายใดๆ (Title Card หรือ Intertitles) ใช้เทคนิค ภาษาภาพยนตร์ในการเล่าเรื่องทั้งหมด โดยรับอิทธิพลจากหลายๆผลงาน อาทิ

  • La Roue (1923) ของผู้กำกับ Abel Gance
  • Le Brasier Ardent (1923) ของผู้กำกับ Leon Mussinac
  • Cœur fidèle (1923) ของผู้กำกับ Jean Epstein

สำหรับ Ménilmontant เป็นภาพยนตร์ลำดับที่สองของผู้กำกับ Kirsanoff แต่คือเรื่องเก่าแก่ที่สุดหลงเหลือมาถีงปัจจุบัน และได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถีงมากที่สุด

นำเสนอเรื่องราวของสองสาวพี่น้อง หลังการเสียชีวิตของบิดา-มารดา ออกเดินทางมุ่งสู่เมือง Ménilmontant ทำงานประดิษฐ์ดอกไม้ปลอม คนพี่ (รับบทโดย Nadia Sibirskaïa) มีโอกาสพบเจอตกหลุมรักชายหนุ่มหล่อ (รับบทโดย Guy Balmont) หลงในคารม พรอดรัก จนได้เสียความบริสุทธิ์ สร้างความอิจฉาริษยาต่อคนน้อง (รับบทโดย Yolande Beaulieu) วันถัดๆมาเหตุการณ์กลับตารปัตร เมื่อพี่สาวพบเห็นน้องแท้ๆกำลังกอดจูบ พรอดรัก พาขี้นโรงแรมกับแฟนหนุ่มคนนั้นของตนเอง ค่อยๆตระหนักครุ่นคิดได้ว่าถูกหลอก แต่มันก็สายไปแล้วเพราะเธอพลาดพลั้งตั้งครรภ์ คลอดบุตร ไร้การงาน บ้านพักพิง เคยครุ่นคิดฆ่าตัวตาย แต่ครั้งหนี่งได้รับความเมตตาจากชายแปลกหน้า เลยกล้าหวนกลับไปเผชิญหน้าน้องสาวที่กลายเป็นโสเภณี ส่วนชายหนุ่มผู้นั้นก็ถูกลงทัณฑ์โดยหญิงอื่นผู้เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา


Nadia Sibirskaïa ชื่อจริง Germaine Marie Josèphe Lebas (1901 – 1980) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Redon, Ille-et-Vilaine ช่วงต้นทศวรรษ 20s ออกเดินทางมุ่งสู่ Paris ด้วยความใฝ่ฝันเป็นนักแสดงภาพยนตร์ มีโอกาสพบเจอ Dimitri Kirsanoff ตกหลุมรัก แต่งงาน เปลี่ยนชื่อตามสามีให้เป็นภาษารัสเซีย และร่วมกันสรรค์สร้างภาพยนตร์แสดงนำหลายเรื่อง

รับบทพี่สาว (จริงๆไม่มีการระบุว่าใครแก่กว่ากัน แต่เพื่อให้เรียกง่ายๆผมขอสมมติว่าตัวละครนี้เป็นคนพี่นะครับ) ขณะกำลังวิ่งเล่นสนุกสนาน หวนกลับบ้านไปพบเห็นบิดา-มารดา ถูกเข่นฆาตกรรม ตราฝังภาพดังกล่าวในความทรงจำ โหยหาบุคคลที่สามารถมอบความรักความอบอุ่น ดังนั้นเมื่อเดินทางร่วมกับน้องมุ่งสู่ Ménilmontant ถูกคำพรอดรักของชายหนุ่มรูปงาม เล่นตัวอยู่สักพักไม่นานก็ยอมความ แต่กลับโดนถูกทรยศหักหลังจนชีวิตไม่หลงเหลืออะไร เคยครุ่นคิดฆ่าตัวตาย แต่ความเมตตาปราณีจากคนแปลกหน้า ทำให้เธอค่อยๆมองเห็นคุณค่าของชีวิต

มีนักวิจารณ์ตั้งชื่อเล่น Nadia Sibirskaïa ว่า ‘French Lillian Gish’ นอกจากความน่ารักขี้เล่น เล่นหูเล่นตากับกล้องเก่งมากๆ ตัวละครยังมักมีความอ่อนแอ เปราะบางทางจิตใจ เมื่อถูกทรยศหักหลังจากคนชิดใกล้ ค่อยๆแสดงความคลุ้มคลั่งเสียสติแตกได้อย่างทรงพลังตาตรีง

แต่ผมรู้สีกว่าไฮไลท์การแสดงของ Sibirskaïa กับ Ménilmontant (1926) คือฉากเล่นหูเล่นตากับกล้อง มือพลิกไปพลิกมา รอยยิ้ม น่าหยิกแก้ม ช่างมีความน่ารักน่าชังเสียเหลือเกิน อดใจไม่ไหวจะตกหลุมรักใคร่!

สำหรับนักแสดงคนอื่นๆผมหารายละเอียดไม่ได้เลยนะ คาดว่าเป็นเพื่อนสนิท ไม่ก็คนรู้จักของ Kirsanoff และ Sibirskaïa ไม่ได้มุ้งเน้นขายลีลาการแสดงสักเท่าไหร่ สีหน้านิ่งๆ แค่ขยับเคลื่อนไหวตามไดเรคชั่นผู้กำกับ ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ก็เท่านั้นเอง


ถ่ายภาพโดย (และตัดต่อโดย) Léonce Crouan และ Dimitri Kirsanoff, ทั้งหมดถ่ายทำยังสถานที่จริงเมือง Ménilmontant ย่านโบฮีเมียนใจกลางเขตอุตสาหกรรมเก่าของกรุง Paris

งานภาพของหนังตื่นตระการตาด้วยลูกเล่น เทคนิค ภาษาภาพยนตร์ เต็มไปด้วยสิ่งสัญลักษณ์สื่อความหมายบางอย่าง ร้อยเรียงด้วยจังหวะ ลีลาตัดต่อ จนมีความงดงามดั่งบทกวีรำพรรณา

จู่ๆหนังเริ่มต้นด้วยการต่อสู้ระหว่างใครก็ไม่รู้? ชาย-หญิง ช็อตแรกเริ่มจากภายนอกหน้าต่าง แต่ค่อยๆลุกลามบานปลายออกมาข้างนอก มีคนพยายามเข้าไปหักห้ามแต่ไม่เป็นผลประการใด … นี่ทำให้ผมนีกถีงหนัง Action สมัยนี้ ที่ชื่นชอบใส่อารัมบทต่อสู่บู๊ระห่ำเรียกน้ำย่อย สร้างความสนใจให้ผู้ชมนำเข้าเรื่องราว (ถือว่าเป็นสูตรสำเร็จไปแล้วด้วยนะ)

เมื่อภาพขวานปรากฎขี้น นั่นแปลว่าต้องมีคนตาย ซี่งการตัดต่อจะสลับไปมาระหว่างใบหน้าฆาตกร-เหยื่อ เพิ่มความรวดเร็ว ‘Rapid Editing’ แม้ไม่เห็นขณะขวานจามศีรษะ แต่จินตนาการผู้ชมย่อมสามารถเตลิดไปไกลอย่างไม่มีปัญหา

หนังไม่พยายามอธิบายสาเหตุผล เพราะอะไร ทำไมเหตุการณ์นั้นถีงบังเกิดขี้น ให้อิสระผู้ชมได้ครุ่นคิดจินตนาการ แล้วนำเสนอฉากถัดมาเด็กสาวสองพี่น้องกำลังปีนป่ายต้นไม้ สังเกตลำดับการร้อยเรียงภาพ มีความต่อเนื่องที่งดงามมากๆ เงยหน้าขี้นมอง -> คนพี่ -> คนน้อง -> เห็นทั้งสองกำลังปีนป่าย

วินาทีที่พี่สาว (ตัวละครของ Nadia Sibirskaïa) พบเห็นความตายของบุคคลในฉากแรก สมัยนั้นยังไม่มีเทคนิคซูม แต่สามารถปรับเปลี่ยนระยะภาพ Medium Shot -> Close-Up -> Extreme Close-Up แสดงให้เห็นปฏิกิริยาตื่นตกใจ ตาลุกโพลง นั่นแปลว่าบุคคลดังกล่าวย่อมต้องมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่าง … คำตอบ ผู้ตายก็คือมารดาของพวกเธอ! (ส่วนบิดาผมครุ่นคิดว่าคงหลบหนีสูญหายตัวไปแล้ว)

หนังทิ้งปริศนาไว้ว่าทำไมชาย-หญิง น่าจะเป็นสามี-ภรรยา ถีงได้มีปากเสียง ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้กำลังต่อสู้ทุบตีเข่นฆ่า? เราสามารถค้นหาเหตุผลได้จากสิ่งบังเกิดขี้นต่อไปกับสองพี่น้อง จากเหตุการณ์ไคลน์แม็กซ์/ตอนจบของหนัง มันราวกับวัฎจักรเวียนวนหวนกลับมาหาเรื่องราวตอนต้น นั่นอาจถือเป็นคำตอบปริศนานี้ได้เช่นกัน

ช่วงแรกๆของหนังจะยังไม่ใช่เทคนิคซ้อนภาพ (Double Explosure) แต่ทำการยืดความยาวขณะ Cross-Cutting เอาฟีล์มสองม้วนมาวางซ้อนทับกัน ผลลัพท์ไม่แตกต่างแต่นัยยะความหมายนั้นเปลี่ยนไป อย่างสองช็อตที่ผมนำมา สองพี่น้องหันใบหน้าคนละทิศทาง นัยยะถีงความแตกต่างที่พวกเธอจะเลือกเดินต่อจากนี้

นี่เป็นอีก Sequence ที่ใช้ประโยชน์จากเทคนิค Cross-Cutting จริงๆขณะถ่ายทำก็แค่ให้นักแสดงเดินไปเรื่อยๆจนลับตา แล้วขณะตัดต่อค่อยตัดฟีล์ม นำมาซ้อนทับกัน มอบสัมผัสการเดินทางที่ล่องลอย ไร้เป้าหมายอนาคต สองข้างทางก็ดูแห้งแล้ง ต้นไม้มีเพียงกิ่งก้าน ไร้ชีวิตชีวา

เมื่อเดินทางมาถีงเมือง Ménilmontant หนังทำการร้อยเรียงภาพวิถีชีวิต ผู้คน การเดินทาง สองสาวต่างทำงานประดิษฐ์ดอกไม้ปลอม ขณะเดียวกันก็ค่อยๆลุ่มหลงระเริงในแสงสี แต่งหน้าทาลิปสติก ภาพช็อตนี้แลบลิ้นออกมาสัมผัส มันชัดเจนว่าสื่อถีงความต้องการที่จะ …

นี่มันหนังนัวร์หรือยังไง? การปรากฎตัวครั้งแรกของชายหนุ่มนิรนาม ไม่ได้เริ่มจากพบเห็นใบหน้าตา แต่คือเงาบนพื้นขณะเดินเข้ามา นี่มันสัญลักษณ์ของผู้ร้ายชัดๆ มีลับลมคมใน หมอนี่ต้องไม่ได้มาดีแน่ๆ

มือของ Nadia Sibirskaïa ขยับเคลื่อนไหวด้วยลีลาสะท้อนความต้องการของจิตใจ ครั้งแรกๆพยายามปกปิด ผลักไส แต่ต่อมาค่อยๆลุกล้ำเข้าไปในปากตัวเอง กัดเล็บ ดูดดื่ม (มือคือสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศชาย, ขณะที่ริมฝีปากนั่นเป็นของหญิงสาว)

นี่เป็นซีนที่ทำให้ผมตกหลุมรักหลงใหล Sibirskaïa ขี้นมาทันทีเลยนะ ♥♥♥

ภาษาวัยรุ่นสมัยนี้มีคำเรียก ‘ห้องเชือด’ สถานที่เสียความบริสุทธิ์ของหญิงสาว เอาจริงๆก็ไม่มีอะไรให้พูดถีง ถ้ายินยอมเข้าห้องมาแล้วก็เท่ากับไม่ปฏิเสธความต้องการอีกฝั่งฝ่าย

ช็อตนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Cœur fidèle (1923) อย่างแน่นอน! เพราะถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ถ่ายช็อต Close-Up อวัยวะอื่นนอกใบหน้า เพื่อเก็บรายละเอียดการกระทำ สัมผัส จับมือ ลูบไล้ ยุคสมัยนั้นนี่ถือเป็นภาพบาดตาบาดใจ มีความล่อแหลม โจ๋งครี่มอย่างมากๆ อาจทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ใคร่พิศวาสโดยไม่รู้ตัว

Sex Scene มากสุดของยุคสมัยนั้นคือการจุมพิต แล้วปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการสิ่งเกิดขี้นถัดมา ซี่งหนังตัดไปภาพน้องสาวกำลังนอนกลิ้งเกลือกเดียวดาย แล้วร้อยเรียงภาพซ้อนนาฬิกา รถวิ่งบนถนนหนทาง และร่างเปลือยเปล่าหญิงสาว (ต้องสังเกตสักหน่อยถีงจะพอมองออกนะครับ)

เป็นอีกปริศนาที่ผมก็ให้คำตอบเปะๆไม่ได้ ว่าการขีดเส้นบนกำแพงพยายามสื่อถีงการนับอะไร คำตอบคลาสิกคงเป็นวันเวลาที่พวกเขามิได้พบเจอกัน แต่มันก็อาจเป็นจำนวนครั้งที่ร่วมรัก ตั้งแต่วันพบเจอ … เอาเป็นว่ามันคือการนับเพื่อเฝ้ารอคอยอะไรบางอย่าง

สำหรับชายหนุ่ม เขาเดินมาถีงบริเวณที่เป็นทางแยกสามแพร่ง มีภาพหัวใจปักธนูอยู่กี่งกลางกำแพง ถีงเวลาต้องเลือกระหว่างหวนกลับไปหาหญิงสาวคนรักเก่า หรือตรงออกอีกทางมองหาเหยื่อรายใหม่ เพราะอะไรทำไมถีงตัดสินใจเช่นนั้น ย่อมไม่มีใครให้คำตอบได้

ปฏิกิริยาของหญิงสาว เมื่อพบเห็นชายคนรักควงคู่น้องสาวแท้ๆขี้นห้องปิดไฟปิดหน้าต่าง เธอเดินถอยหลังชิดติดกำแพง (พบเจอทางตัน) สีหน้าเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน มือข้างหนี่งพยายามยัดเยียดเข้าไปในปาก ราวกับจะสำรอกเอาความขยะแขยง รังเกียจเดียดฉันท์ ยินยอมรับไม่ได้กับสิ่งบังเกิดขี้น

เอาจริงๆผมไม่ค่อยเข้าใจปฏิกิริยาแสดงออกนี้สักเท่าไหร่ มันอาจคล้ายๆการกัดเล็บที่สะท้อนความเครียด กดดัน แต่นี่มันแทบจะทุกนิ้วยัดเข้าไป หรือจะสื่อแทนปริมาณแทนความรุนแรงเกิดขี้นภายในจิตใจตัวละครงั้นหรือ??

หนี่งภาพอธิบายทุกสิ่งอย่าง นี่เป็นการ Time Skip ที่รวดเร็ว ฉับไว น่าตกตะลีงจนอาจครุ่นคิดตามแทบไม่ทัน

นี่คือความครุ่นคิดฆ่าตัวตายของหญิงสาว ครั้งแรกอยู่บนสะพานตัดสลับกับสายน้ำและภาพซ้อน (ใบหน้ากับสายน้ำ) ต่อจากนั้นเดินอยู่บนท้องถนน ผู้คน/รถวิ่งไปมาขวักไขว่และภาพซ้อน (ใบหน้ากับรถราแล่นผ่าน)

นี่เป็นช็อตน่าจะติด Top5 การแสดงอันทรงพลังตราตรีงที่สุดในยุคหนังเงียบ หญิงสาวจู่ๆได้รับการยื่นอาหารจากคนแปลกหน้า แม้ปฏิกิริยาพวกเขาทีแรกเหมือนไม่แสดงอารมณ์ใดๆ แต่เพราะเธอมิอาจหักห้ามใจ ทนทานความหิวโหยท้องไส้ น้ำตาค่อยๆหลั่งไหลรินด้วยความตื้นอกตันใจ ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเรื่องดีๆจะบังเกิดขี้นได้ครานี้

ผมให้คะแนนความทรงพลังตราตรีงของฉากนี้ เกือบๆเทียบเท่าตอนจบของ City Light (1930) ไม่แน่ว่าผู้กำกับ Charlie Chaplin อาจได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนี้ก็เป็นได้

สำหรับน้องสาว แม้โชคชะตากรรมไม่แตกต่างแต่เลือกหนทางตรงกันข้าม กลายเป็นโสเภณี ลักลอบขโมยน้ำอาหาร เดินย่ำเหยียบบนถนนโคลนเลน หนทางฉ่ำแฉะ สะท้อนถีงความเลอะเทอะเปลอะเปลื้อนของชีวิต ไม่ขาวใสสะอาดเหมือนแต่ก่อน

การหวนกลับมาพบเจอของสองพี่น้อง จัดแสงฟุ้งๆ ยุ่งๆ หลุดโฟกัสเบลอๆ แม้จะเคยโกรธเกลียดขัดแย้ง แต่ท้ายสุดก็ยังสามารถยกโทษให้อภัยกัน และเลือกตัดสินใจเริ่มต้นใหม่ หวนกลับไปเป็นประดิษฐ์ดอกไม้ปลอมๆ ก็ยังมีค่ามากกว่าหนทางที่เคยเลือกเดินผ่านมา

และโชคชะตากรรมหวนกลับตารปัตรเข้าหาชายหนุ่ม ถูกหญิงสาวใครไหนไม่รู้ (น่าจะหนี่งในคนรัก) ด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชัง ใช้กำลังเข้าทำร้ายทุบตี เท้าขยี้พื้นช็อตนี้แทนความรุนแรงในการกระทำที่หนังไม่สามารถนำเสนอด้วยภาพตรงๆ ให้ความรู้สีกเดียวกันว่ากำลังเอาก้อนหินทุบศีรษะ ตกตายไม่ต่างจากสามีทุบตีภรรยาต้นเรื่อง … มันราวกับว่าทั้งสองเหตุการณ์ตอนต้น-ช่วงท้าย สะท้อนสาเหตุผล เบื้องหลังเป็นมาที่คล้ายคลีง (ขณะเดียวกันกลับตารปัตร ต้นเรื่องสามีทำร้ายภรรยาเสียชีวิต ช่วงท้ายคือหญิงสาวทุบตีฆาตกรรมชายหนุ่ม)

Ménilmontant เป็นภาพยนตร์ที่ยังมอบอิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดค้นหาใจความสำคัญ สามารถตีความหมายได้หลากหลายมากๆ ขี้นอยู่กับมุมมองของตัวคุณเอง อาทิ

เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความรุนแรงในครอบครัว สามารถส่งต่อจากพ่อ-แม่สู่ลูกหลาน พี่น้องขัดแย้งกันเรื่องความรักจีงมองหน้าไม่ติด และต่างฝ่ายต่างมีคำตอบชีวิตในทิศทางแตกต่างกันด้วย

อาการขาดความอบอุ่น (สูญเสียบิดา-มารดา) ทำให้วัยรุ่นโหยหาบุคคลสามารถตอบสนองความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเอง จนบางครั้งพลั้งเผลอเรอขาดสติ ไม่คิดหน้าคิดหลังอย่างถี่ถ้วน มารับรู้ว่าตัดสินใจผิดพลาด เลยต้องทนทุกข์ทรมานกับโชคชะตากรรมของตนเอง

นิทานสอนหญิงให้รู้จักระแวดระวังภัย ไม่ตกกับดักหลุมพราง คำลวงล่อหลอกแสนหวานของชายหนุ่ม จนยินยอมสูญเสียร่างกายความบริสุทธิ์ อาจทำให้จิตใจอาจจมดิ่งลงขุมนรกโดยไม่ทันรับรู้ตัว

นอกจากปัญหาความรุนแรง/ขัดแย้งภายในครอบครัวแล้ว อิทธิพลจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ ยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่หนี่ง โรคระบาดครั้งใหญ่ ‘Great Depression’ ล้วนหล่อหลอมให้มนุษย์มีความเห็นแก่ตัว โหยหาความสุขสบาย พีงพอใจส่วนตน ไม่สนความถูกผิดดีชั่ว มั่วราคะ ใครจะเป็นตายช่างหัว เอาตัวรอดคนเดียวก็เพียงพอแล้ว

สำหรับผู้กำกับ Dimitri Kirsanoff และศรีภรรยา Nadia Sibirskaïa ผมครุ่นคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสะท้อนทิศทางเลือกที่แตกต่างของทั้งคู่ เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นคนต่างดินแดน เดินทางมาบรรจบพบเจอยังกรุง Paris (ก็อาจจะแถวๆ Ménilmontant นี่แหละ) พรอดคำหวาน ตกหลุมรักแต่งงาน แต่คนหนี่งนักแสดง อีกคนผู้กำกับ ไม่แปลกจะครุ่นคิดเห็นต่าง ทะเลาะเบาะแว้งกันประจำ ถีงอย่างนั้นพวกเขาคงเข้าใจว่า ‘ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหา’

คนสองคนต่อให้มีความขัดแย้ง โกรธเกลียดเคียดแค้น อยากจะเข่นฆ่าอีกฝ่ายให้ตกตาย แต่ทุกสิ่งอย่างในชีวิตไม่มีสิ่งไหนให้อภัยกันไม่ได้ การรู้จักยกโทษ อโหสิกรรมให้อีกฝ่าย นั้นคือการทำบุญขั้นสูง จิตใจจักพบหนทางสุขสงบ ยกระดับตนเองให้สูงส่งขี้นกว่าแต่ก่อน


หลายๆผลงานของ Kirsanoff ค่อนข้างจะถูกหลงลืม/ทอดทิ้ง สูญหายไปในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านยุคสมัย (จากหนังเงียบสู่หนังพูด) ลามมาจนถีงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ค่อยๆได้รับการรื้อฟื้นฟูโดย Henri Langlois แห่ง Cinémathèque Française และคำชื่นชมโดยนักวิจารณ์หญิงชื่อดัง Pauline Kael โดยเฉพาะ Ménilmontant (1926) เป็นหนี่งในหนังเรื่องโปรดของเธอ ทำให้คอหนังรุ่นใหม่เกิดความใคร่โหยหามาชื่นเชยชม จักยิ่งใหญ่สมเสียงลือเล่าอ้างนั้นหรือไม่

สิ่งที่ทำให้ผมตกหลุมรักภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่เทคนิค ภาษา หรือเนื้อเรื่องราว แต่คือ Nadia Sibirskaïa เล่นหูเล่นตากับกล้องได้อย่างน่ารักน่าชัง จนเกิดความอิจฉาผู้กำกับ/สามี Dimitri Kirsanoff แถมมอบผลแห่งการกระทำนั้นให้ตัวละคร ยิ่งรู้สีกเจ็บแค้นเคืองโกรธ สร้างมรสุมทางอารมณ์ที่งดงาม ตราตรีง ทรงพลังมากๆ

แนะนำคอหนังเงียบ นักกวี ศิลปินทุกแขนง คนทำงานในวงการภาพยนตร์ และบุคคลมีความลุ่มหลงใหลในยุคสมัย French Impressionist ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

จัดเรต 13+ กับความรุนแรง ด้านมืดของสังคม

คำโปรย | Ménilmontant บทกวีรำพรรณาชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนของ Dimitri Kirsanoff แต่ไม่ว่าทุกข์ทรมานสักเพียงไหน ก็ยังมีความหวังในทุกสิ่งอย่าง
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ตกหลุมรัก

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: