Mera Naam Joker (1970) : Raj Kapoor ♥♥♥♡
ภาพยนตร์ระดับมหากาพย์ของผู้กำกับ Raj Kapoor ใช้เวลาสร้าง 6 ปี ทุนสร้างมหาศาล ความยาว 244 นาที ฉายครั้งแรก Flop ดับสนิท แต่แค่เพียงปีกว่าๆกลายเป็นกระแส Cult เพราะความลึกซึ้งด้วยปรัชญาและความหมายชีวิต นำเสนอกึ่งๆชีวประวัติของผู้กำกับเอง ‘อยากเป็นตัวตลกผู้ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมีชีวิตที่เหมือนตัวตลกเสียก่อน’
หนังแบ่งออกเป็น 3 Chapter (ตอนละประมาณชั่วโมงกว่าๆ) มี Intermission คั่นให้ไปพักเข้าห้องน้ำถึง 2 ครั้ง (จบตอนก็พักครั้งหนึ่ง) แต่ละบทไม่ได้มีความต่อเนื่อง นำเสนอแต่ละช่วงชีวิตของตัวละคร สามารถมองเป็นหนังคนละเรื่องก็ยังได้
เกร็ด: ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ Bollywood นี่คือเรื่องที่สองมี 2 Intermission ก่อนหน้านี้ Sangam (1964) ก็โดยผู้กำกับ Raj Kapoor เช่นกัน
บอกตามตรงผมไม่เข้าใจจริงๆทำไม Raj Kapoor ถึงสร้างให้หนังมีความยาวขนาดนี้ มันเกินกว่าความสามารถอดทนของคนทั่วไป เหมือนทานข้าวสามจานในมื้อเดียว อิ่มมากจนจุกแน่น แต่กระนั้นต้องชมว่าโปรดักชั่น ความสวยงามอลังการ และใจความของหนัง อยู่ในระดับเกือบสมบูรณ์แบบเลยละ ถ้าคุณเวลามีน้อยจะนั่งดูวันละตอนก็คงไม่เสียหายอะไร
Ranbir Raj Kapoor (1924 – 1988) นักแสดง ผู้กำกับสัญชาติอินเดีย ได้รับการยกย่องว่า ‘the greatest showman of Hindi cinema’ เกิดที่ Peshawar, British India (ปัจจุบันคือ Khyber Pakhtunkhwa, Pakistan) ในครอบครัว Panjabi Hindu บุตรคนโตของนักแสดงรุ่นบุกเบิก Prithviraj Kapoor เดินทางติดตามพ่อไปทำงานตามเมืองต่างๆ พออายุ 10 ขวบแสดงหนังเรื่องแรก Inquilab (1935), แต่กว่าจะเริ่มโด่งดัง Neel Kamal (1947) ประกบ Madhubala, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Aag (1948) พร้อมนำแสดงประกบ Nargis, กลายเป็นตำนานกับ Awaara (1951), Shree 420 (1955), Sangam (1964), Mera Namm Joker (1970), Bobby (1973) ฯ
ชื่อของ Raj Kapoor ไม่ได้โด่งดังแค่ใน Bollywood เท่านั้น โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตตั้งแต่ Awaara (1951), Shree 420 (1955), Sangam (1964) เมื่อปี 1965 ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลเทศกาลหนัง Moscow International Film Festival นี่ทำให้ Raj พอมีเส้นสายรู้จักกับนักแสดง/ผู้สร้างภาพยนตร์ Russia จนมีโอกาสร่วมงานกันในหนังเรื่องใหม่
ผมคิดว่าเหตุผลเน้นๆที่ Raj Kapoor โด่งดังมากๆในรัสเซีย เพราะบทเพลง Mera Joota Hai ที่ตัวละครของเขาขับร้องในหนังเรื่อง Shree 420 (1955) มีท่อนหนึ่งเอ่ยถึงชื่อประเทศรัสเซียด้วย
Mera joota hai Japani (My shoes are Japanese)
Ye patloon Inglistani (These trousers are English)
Sar pe lal topi Roosi (The red cap on my head is Russian)
Phir bhi dil hai Hindustani (But still, however, my heart is Indian)
ร่วมงานกับ K. A. Abbas หรือ Khwaja Ahmad Abbas นักเขียนบทสัญชาติอินเดียในตำนาน หนึ่งในผลงาน Neecha Nagar (1946) คว้ารางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ร่วมงานขาประจำของ Raj Kapoor ตั้งแต่ Awaara (1951), Shree 420 (1955), Bobby (1973) ฯ
เรื่องราวของ Raju ตัวตลกได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุด เริ่มต้นจากส่งจดหมายไปถึงผู้หญิงสามคน ชักชวนให้มาชมการแสดงครั้งสุดท้ายของเขา จากนั้นเล่าเรื่องย้อนอดีต ในแต่ละช่วงเวลาชีวิตที่มีโอกาสพบเจอรู้จักพวกเธอแต่ละคน
ตอนที่ 1 วัยรุ่นแรกรัก: Raju เด็กหนุ่มอายุ 16 ปี (รับบทโดย Rishi Kapoor ลูกชายของ Raj Kapoor) สนิทสนมกับครูประจำชั้น Mary (รับบทโดย Simi Garewal) ผู้สอนให้มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้เขาค้นพบโลกแห่งความต้องการ ตกหลุมรักทั้งๆที่ครูสาวหมั้นหมายอยู่แล้ว กำลังจะแต่งงานกับ David (รับบทโดย Manoj Kumar) ได้รับการร้องขอให้เป็นเพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อบทเรียนแรกของชีวิต ‘การจะเป็นตัวตลกผู้ยิ่งใหญ่ ต้องเรียนรู้จักพบเจอความผิดหวัง’
Rishi Kapoor (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Bombay ลูกชายคนที่สองของ Raj Kapoor มีผลงานเรื่องแรกแจ้งเกิดกับ Mera Naam Joker (1970) ตามด้วย Bobby (1973), Barood (1976) ฯ แต่เพราะความที่เป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นของพ่อ ทำให้ Rishi เป็นนักแสดงที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ มีหนังเพียง 11 จาก 51 เรื่องที่รับบทนำทำเงิน
รับบท Raju เด็กหนุ่มผู้มีดวงตาสดใสซื่อบริสุทธิ์ ร่าเริงสมวัย แต่หลังพบเจอเรียนรู้จักความรัก ฮอร์โมนวัยรุ่นพลุกพร่าน เต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นในจิตใจ, ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง มีความต้องการรับรู้ให้ได้ว่าพ่อคือใคร เมื่อทราบแล้วก็ตัดสินใจเดินตามรอยเท้าโดยทันที
หน้าตาเห็นเค้าอยู่ แต่ลักษณะการแสดงของ Rishi ไม่ค่อยเหมือนพ่อ Raj สักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่ามีแนวโน้มอนาคตไกล ลดหุ่นสักหน่อยก็ใช้ได้เลยนะ
Simi Garewal (เกิดปี 1947) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Ludhiana, East Punjab ในครอบครัว Jat Sikh เติบโตขึ้นที่ประเทศอังกฤษ พอเป็นวัยรุ่นเล่นหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรก Tarzan Goes to India (1962) ทำให้มีโอกาสหวนกลับมารับงานหนัง Bollywood ผลงานเด่นอาทิ Do Badan (1966), Saathi (1968), Mera Namm Joker (1970), Aranyer Din Ratri (1970) ของผู้กำกับ Satyajit Ray, Padatik (1973) ของผู้กำกับ Mrinal Sen ฯ
รับบทครูสาวสายสุดเซ็กซี่ Mary ผู้มีความร่าเริงสดใส เป็นกันเองกับนักเรียนทุกคน ถือว่าพิเศษหน่อยกับ Raju หลังจากรับรู้ว่าเขาเติบโตขึ้นโดยไม่มีพ่อ จึงพยายามแนะนำสั่งสอนให้มีค้นพบความเป็นตัวของตนเอง แต่โดยไม่รู้ตัวกลับทำให้เด็กหนุ่มเข้าใจผิดคิดเตลิดไปไกล
Garewal เป็นดาราสาวสวยสุดเซ็กซี่ที่มีความกล้ามากๆ คือถ้าเป็นนักแสดง Bollywood โดยแท้ เชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้าเแต่งตัวโป๊ๆ ยั่วยวน กอดจูบแบบนี้แน่ แต่เพราะเธอเติบโตขึ้นที่ประเทศอังกฤษ เลยรับแนวคิดวัฒนธรรมตะวันตกมามาก แค่นี้จิบๆอยู่แล้ว
Manoj Kumar ชื่อเดิม Harikishan Giri Goswami (เกิดปี 1937) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Abbottabad, British India (ปัจจุบันคือ Khyber Pakhtunkhwa, Pakistan) ตอนอายุ 10 ขวบในช่วงแบ่งแยกดินแดน อพยพย้ายตามครอบครัวสู่ New Delhi เข้าเรียนที่ University of Delhi มีผลงานเรื่องแรก Fashion (1957), แจ้งเกิดรับบทนำ Kaanch Ki Gudia (1960), โด่งดังกับพระเอก Patriotic Hero อาทิ Shaheed (1965), Upkaar (1967), Be-Imaan (1972), Shor (1972) ฯ
รับบท David แฟนหนุ่มของครูสาว Mary ที่แค่มองตาก็รู้ใจ Raju ว่าเขาแอบตกหลุมรักว่าที่ภรรยาของเขา เพราะตัวเองเมื่อครั้นตอนอายุ 16 ก็เหมือนกับเด็กหนุ่มคนนี้ ซึ่งตัวเขาเลือกที่จะ’แนะนำ’ สั่งสอน ให้กำลังใจ แถมเลือกมาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นและมีความเข้าใจชีวิต
Kumar กับบทบาทนี้ นอกจากใบหน้าอันหล่อเหลาเซ็กซี่ ยังมีลีลาคำพูด ความคิดอ่านที่เฉลียวฉลาดหลักแหลม คมคายอย่างยิ่ง ถือเป็นครูคนสำคัญให้กับ Raju ได้ยิ่งกว่า Mary เสียอีกนะ
ในบรรดาสามตอนของหนัง ส่วนตัวชื่นชอบบทวัยรุ่นนี้ที่สุด ประทับใจมากๆฉากความฝันของ Raju ตัดต่อแบบรัวๆเร็วๆ จินตนาการเห็นภาพครูสาวแก้ผ้าอาบน้ำ (ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็น Simi Garewal เล่นฉากนี้เองหรือใช้นักแสดงแทน) ประเด็นรักต้องห้ามของวัยรุ่นนี้ ผมไม่คิดมาก่อนจะมีหนัง Bollywood กล้านำเสนอออกมา ซึ่งทั้งรู้ว่าทิศทางจะต้องลงเอยเช่นไร แต่ก็อดไม่ได้เป็นกำลังใจให้เด็กหนุ่ม สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานนี้ไปได้
สำหรับบทเพลงไฮไลท์ของตอนนี้ Teetar Ke Do Aage Teetar (แปลว่า มีนกสองตัวอยู่ข้างหน้า) ขับร้องโดย Asha Bhosle, Mukesh และ Simi การเล่นลิ้นของเพลงนี้แบบว่า อะไรว่ะ? ชวนให้นึกถึงคำผวนที่สมัยเด็กๆชอบเล่นกัน ‘ทหารถือปืนแบกปูนไปโบกตึก’ พูดซ้ำๆหลายรอบใครยังออกเสียงได้ถูกนี่เจ๋งมากๆ
ตอนที่ 2 วัยหนุ่ม: วันหนึ่งเมื่อคณะละครสัตว์ของรัสเซียเดินทางถึงอินเดีย เพื่อร่วมเปิดการแสดงกับ Gemini Circus ชายหนุ่ม Raju จับพลัดจับพลูเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชาวรัสเซียเพราะมีดวงตาสีน้ำเงิน ไหลตามน้ำจนกลายเป็นนักล่ามสิงโต (Lion Tamer) เอาตัวรอดมาได้ด้วยคารมอันคมคาย ตกหลุมรักนักกายกรรมห้อยโหนสาว Marina (รับบทโดย Kseniya Ryabinkina) แต่ถูกตักเตือนสติโดย Mahendra Singh (รับบทโดย Dharmendra) เจ้าของคณะละครสัตว์ Gemini ให้ครุ่นคิดถึงความแตกต่างสองสัญชาติของพวกเขา บทเรียนของครานี้ ‘การจะเป็นตัวตลกผู้ยิ่งใหญ่ ต้องเรียนรู้จักเสียสละความสุข-ทุกข์ ทั้งชีวิตของตนเอง’
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น The Show Must Go On นี่คือการ ‘ขายวิญญาณให้กับการแสดง’ อันเป็นสิ่งสูงสุดที่ Raju ค้นพบ กับการแสดงครั้งสุดท้ายของตอนนี้ที่เขาต้องฝืนทนเล่น ทั้งๆที่เจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานใจแสนสาหัส
Raj Kapoor ในตอนนี้ ดูแก่ไปสักนิด (พุงพ้วยด้วย) แถมความคิดอ่าน คำพูดจา เฉลียวฉลาดเกินวัย แต่ในเรื่องความสร้างสรรค์ การแสดงถือว่าจัดเต็มเช่นเคย มีหลากหลายอารมณ์สุข-ทุกข์ อิ่มเอิบ-ทรมาน แม้จะใส่แว่นดำเพื่อหลบคราบน้ำตา แต่มันกลับทำให้พบเห็นความเจ็บปวดที่แอบซ่อนแฝงอยู่ภายในอย่างเต็มๆ
Kseniya Ryabinkina (เกิดปี 1945) นักแสดง/นักเต้น Ballerina สัญชาติ Russian เกิดที่ Moscow ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานภาพยนตร์เรื่อง The Tale of Tsar Saltan (1967) คงไปเข้าตา Raj Kapoor ขณะเดินทางไป Russia เลยชักชวนให้มาร่วมแสดง Mera Naam Joker (1970) ทำให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วรัสเซีย มีผลงานตามมาอีกหลายเรื่อง ก่อนเกษียณตัวไปเป็นครูสอนบัลเล่ต์
รับบท Marina สาวรัสเซียผิวขาวสุดสวย นักกายกรรมโลดโผนที่แม้จะพูดฮินดีไม่ได้สักประโยค แต่ก็พอไปวัดไปวาคุยกับ Raju รู้เรื่องไม่รู้เรื่องบ้าง
การแสดงของ Ryabinkina ไม่ใช่สิ่งสำคัญน่าพูดถึงเท่าไหร่ในหนัง เป็นภาพลักษณ์สีผิวของเธอมากกว่าที่สวยสง่างาม ขาวผุดผ่องราวกับนางฟ้า ส่วนลีลากายกรรมกลางอากาศก็ธรรมดาทั่วไปไม่ได้โลดโผนอะไรมาก (มีตาข่ายรองข้างล่าง ยังไงก็ปลอดภัย)
Dharmendra ชื่อเต็ม Dharmendra Singh Deol (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เจ้าของฉายา ‘Action King’ หรือ ‘He-Man’ เกิดที่ Nasrali, Punjab มีความสนใจด้านการแสดงเมื่อครั้นเห็นโปสเตอร์โฆษณาหานักแสดงหน้าใหม่ (New Talent) ของ Bimal Roy กับ Guru Dutt ร่วมกับนิตยสาร Filmfare ปรากฎเข้าร่วมแล้วได้รางวัลชนะเลิศ ทำให้มีผลงานเรื่องแรก Dil Bhi Tera Hum Bhi Tere (1960) โด่งดังติดภาพพระเอกหนังบู๊ (Action Hero) กลายเป็นตำนานกับ Sholay (1975)
รับบท Mahendra Singh เจ้าของคณะละครสัตว์ ที่หลังได้รับฟังคำของ Raju ตัดสินรับเข้าทำงาน คอยอยู่เบื้องหลังส่งเสริมสนับสนุนให้กลายเป็นตัวตลก พอเห็นตกหลุมรัก Marina ก็ตักเตือนให้คำแนะนำ และเมื่อรับรู้ว่าแม่เสียชีวิต ‘ผลักดัน’ ให้ต้องเลือกระหว่าง ‘มีชีวิตเป็นตัวตลก หรือมีตัวตลกเป็นชีวิต’
แม้บทนี้จะไม่มีคำพูดคมๆเหมือน Manoj Kumar แต่ Charisma ของ Dharmendra สร้างความตึงเครียดจริงจังให้กับเรื่องราว พยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันตัวละครให้เกิดความเข้าใจชีวิตด้วยตนเอง
หลายคนอาจชื่นชอบตอนนี้ที่สุดของหนัง เพราะมีหลากหลายอารมณ์ทั้ง Comedy, Drama และ Tragedy ยิ่งไคลน์แม็กซ์บีบคั้นอารมณ์สุดๆเลย ส่วนตัวก็ชอบนะแค่ไม่ถึงระดับเทียบเท่าตอนแรก ขัดใจในการแสดงส่วนใหญ่มันไม่ค่อยขำสักเท่าไหร่ พาลให้หน้านิ่วคิ้วขมวด เครียดมากกว่าผ่อนคลาย (แต่ถ้าคุณเฮฮาหัวเราะไปกับหนัง ก็คงเต็มอิ่มสุดๆไปเลยกับตอนนี้)
ไคลน์แม็กซ์ของตอนนี้ คือขณะที่ตัวตลก Raju ปีนขึ้นไปเล่นกายกรรม สื่อนัยยะถึงความประสบความสำเร็จกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า ล่องลอยอยู่บนเวหา แต่สุดท้ายแล้วขณะโลดโผนไปมา เขาก็พลาดพลั้งตกลงพื้นเบื้องล่าง นัยยะสื่อถึงจุดจบของความเพ้อฝัน ชื่อเสียงความสำเร็จ ต่อให้เคยขึ้นไปอยู่สูงส่งขนาดไหน สักวันหนึ่งก็ต้องหวนกลับมายืนที่พื้นดิน
เรื่องราวของตอนนี้ยังมีนัยยะสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อินเดียกับสหภาพโซเวียต สมัยนั้นอยู่ด้วยนะครับ เพราะ Raj Kapoor ถือเป็น iconist ระดับซุปเปอร์สตาร์ ซึ่งคำพูดประโยคหนึ่งของตัวละคร Dharmendra พูดเตือนสติตัวละคร Raju บอกว่ารัสเซียคือ ‘our friend’ นี่ได้ใจไปเต็มๆเลยละ
บทเพลง Kehta Hai Joker (แปลว่า The entire world calls me a joker) ขับร้องโดย Mukesh ไฮไลท์ของบทเพลงนี้คือการนำฟุตเทจหนังเรื่อง Shree 420 (1955) แทรกใส่มาด้วย นี่เหมือนการย้อนอดีตของ Raj Kapoor ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของหนังทั้งสองเรื่อง
ตอนที่ 3 วัยผู้ใหญ่: หลายปีผ่านไป Raju ออกเร่ร่อนพเนจรไปทั่ว มีโอกาสพบเจอ Meenu (รับบทโดย Padmini) หญิงสาวปลอมตัวเป็นชาย มีความเพ้อฝันต้องการเป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อครั้น Raju ค้นพบความจริงของเธอ ตัดสินใจให้การช่วยเหลือสนับสนุนผลักดัน จนประสบความสำเร็จกลายเป็นดาวดารา แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขาก็ต้องเสียสละตนเอง ยินยอมให้เธอหลอกอีกครั้ง ในบทเรียนที่ว่า ‘เมื่อกลายเป็นตัวตลกผู้ยิ่งใหญ่ ต้องเรียนรู้จัก ยินยอมเป็นพื้นพรมบันไดให้ผู้อื่นได้เหยียดย่ำไต่เต้าขึ้นไป’
Raju ในช่วงขณะนี้ ไม่ได้ต้องการโหยหาความสำเร็จอะไรในชีวิตอีกแล้ว การพบเจอ Meena ราวกับเป็นกระจกสะท้อนตัวเองกับ Mahendra Singh ในตอนที่ 2 มีความต้องการสนับสนุนส่งเสริมผลักดัน ให้เธอประสบพบเจอความสำเร็จ ทั้งๆที่รู้ว่ากำลังโดนหลอก แต่นี่คือบทเรียนครั้งสุดท้ายของเขาต่อชีวิต
Raj Kapoor เหมาะกับตัวละครช่วงวัยนี้เป็นอย่างยิ่ง คือผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์ชีวิต สามารถให้การช่วยเหลือผลักดันผู้อื่น กลายเป็นพื้นพรมบันไดให้คนรุ่นใหม่เหยียบย่ำคว้าดาว, หลังจากหนังเรื่องนี้ Raj ยังมีผลงานการแสดงอยู่อีกไม่มาก ก่อนผันตัวอยู่เบื้องหลังอย่างเต็มตัว
Padmini Ramachandran (1932 – 2006) นักแสดง นักเต้น Bharatanatyam เกิดที่ Travancore, Kerala มาจากครอบครัวชั้นสูง ร่วมกับพี่และน้องสาวใช้ชื่อการแสดงว่า Travancore Sisters, ตอนอายุ 14 เริ่มต้นเป็นนักเต้นในภาพยนตร์เรื่อง Kalpana (1948) จากนั้นได้รับบทบาทมากกว่า 200 เรื่อง โด่งดังสุดกับ Jis Desh Mein Ganga Behti Hai (1960), Mahabharat (1965), Mera Naam Joker (1970) ฯ
รับบท Meenu/Meena หญิงสาวผู้ปลอมตัวเป็นชาย เพราะต้องการปกปิด ลบละเลือนอดีตอันต่ำต้อยไร้ค่าของตนเอง มีความสามารถด้านการร้องเล่นเต้น แต่ยังไร้ซึ่งโอกาส ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนผลักดันจาก Raju ทำให้ค้นพบหนทางเอาตัวรอด เหมือนจะตกหลุมรักเขา แต่สุดท้ายก็เลือกชื่อเสียงความสำเร็จ ละทิ้งอดีตทุกสิ่งอย่างได้สำเร็จ
ใบหน้าของ Padmini ค่อนข้างเหมือนผู้ชายอยู่นะ แต่พอสวมชุดส่าหรีทำเอาผมต้องขยี้ตาแรงๆ คนเดียวกันจริงๆเหรอนี่ ลีลาการเต้นแสดงอารมณ์ ช่างเร่าร้อนรุนแรงเสียเหลือเกิน มีความเป็นตัวของตนเองสูงมาก โดดเด่นสุดๆก็ตอนหมาเพื่อนรัก Moti ถูกจับไปฆ่า คำพูดอันเยือกเย็นชาของเธอสร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชมอย่างยิ่ง
Rajendra Kumar Tuli (1929 – 1999) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Punjab, British India ช่วงแบ่งแยกดินแดนอพยพสู่ Bombay จับพลัดจับพลูเข้าสู่วงการภาพยนตร์ มีผลงานเรื่องแรก Jogan (1950), โด่งดังกับ Mother India (1957), Dhool Ka Phool (1959), Sangam (1964), Mera Naam Joker (1970) ฯ
รับบทตัวเอง Rajendra Kumar พระเอกหนุ่มสุดหล่อ ไอดอลของ Meenu ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสรับชมการแสดงของหญิงสาว เกิดความชื่นชอบประทับใจ ต้องการช่วยเหลือผลักดันให้กลายเป็นดาราดัง แต่ติดที่ Raju ราวกับเป็นผู้เหนี่ยวรั้งเธอไว้ จึงเข้าไปพูดคุยสนทนาต่อรอง ขอให้เขายินยอม’เสียสละ’ตัวเอง
ผมไม่รู้ว่าตัวจริงของ Rajendra Kumar เป็นคนแบบนี้อยู่แล้วหรือเปล่า แต่ดูแล้วคงไม่ได้ต้องใช้การแสดงมากอะไรในการเล่นเป็นตัวเอง กระนั้นตัวละครถือว่าเต็มไปด้วย ‘passion’ จิตวิญญาณของการเป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ
ว่ากันตามตรง ตอนนี้คือส่วนเกินของหนัง ที่แม้จะโดดเด่นเรื่องโปรดักชั่น และการแสดง (หนังซ้อนหนัง) แต่มันหลุด Theme ที่เกี่ยวกับตัวตลกไปเยอะมากๆ แปรสภาพกลายเป็นชีวประวัติของผู้กำกับล้วนๆ และไคลน์แม็กซ์ของการที่ Raju ปลดปล่อย Meenu มันไม่พีครุนแรงเท่าสองตอนก่อน พาลให้ความน่าสนใจของหนังชั่วโมงสุดท้ายลดลงอย่างมากทีเดียว
ท่อ เป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่ขัดหูขัดตามากในตอนนี้ มีนัยยะสื่อถึง ระยะทางที่ไม่รู้จุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุด จะมองว่าคือการเวียนวน หวนกลับคืนมา ซึ่งเรื่องราวตอนนี้มีใจความสะท้อนกับตอนที่ 2 เมื่อสิ่งที่เคยเกิดขึ้น Raju หวนกลับมาเกิดขึ้นกับ Meennu แทบจะแบบเดียวกันเลย
เลือกเพลง Ang Lag Ja Balma ขับร้องโดย Asha Bhosle เป็นบทเพลงขณะที่ Meenu กลายสภาพเป็น Meena ถ้าคุณไม่ใช่คนอินเดียอาจไม่รู้ว่า ส่าหรีเป็นผ้าผืนยาวชิ้นเดียวที่ผู้สวมใส่ใช้การม้วนพันไปรอบตัว ก็ไม่รู้ Padmini มีอะไรปกปิดข้างในไว้หรือเปล่า แต่เห็นเธอขณะเปียกปอนหรือตอนเปลืองผ้าเปลือยตัวแล้วแบบว่า … รอดกองเซนเซอร์สมัยนั้นมาได้ยังไง!
ชุดส่าหรี ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของหนัง มีนัยยะสื่อถึงการยอมรับตัวตน ความเป็นผู้หญิงของ Meenu (สะท้อนกับ Raju ที่ต้องยินยอมรับตัวเองว่าคือตัวตลก)
ถ่ายภาพโดย Radhu Karmakar ขาประจำของ Raj Kapoor ตั้งแต่ Awaara (1951) จนถึงเรื่องสุดท้าย ซึ่งกับ Mera Naam Joker (1970) สามารถคว้ารางวัล National Film Award: Best Cinematography
สิ่งโดดเด่นของหนังคือโปรดักชั่นที่มีความยิ่งใหญ่อลังการ มีส่วนผสมทั้งสร้างขึ้นในสตูดิโอและถ่ายทำจากสถานที่จริง, การใช้แสงสีมีความสดทุกเฉด และสัญลักษณ์หลายๆอย่างสื่อความหมายอย่างมีนัยยะสำคัญ อาทิ หัวใจดวงใหญ่, หุ่นตัวตลก, แว่นตาดำ, ใยแมงมุม, ชุดสาหรี ฯ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่คือการ Fast Forward เร่งความเร็วเพื่อให้เกิดความตลกขบขัน Slapstick Comedy แต่ส่วนใหญ่แทบทั้งนั้น คือมันไม่ขำเลยนะครับ หรือเพราะผมเส้นลึกเกินไปก็ไม่รู้นะ มันทำให้หนังดูฝืนๆขัดๆ สูญเสียจังหวะดำเนินเรื่องไปพอสมควร
ตัดต่อโดย Raj Kapoor, ใช้การเล่าเรื่องในมุมมองตัวละคร Raju ผ่านสามช่วงเวลาสำคัญในชีวิต วัยรุ่น, ชายหนุ่ม และผู้ใหญ่ ก่อนมาบรรจบที่ปัจจุบันอีกครั้งเพื่อบอกว่าอดีตเป็นสิ่งจบสิ้นผ่านไปแล้ว ปัจจุบันอนาคตกำลังเริ่มต้นดำเนินต่อไป
ความเร็วถือเป็นไฮไลท์การตัดต่อที่สามารถเร่งเร้าอารมณ์ได้อย่างทรงพลัง โดยเฉพาะบทเพลงสุดท้าย Epilogue ของหนัง Jaane Kahan Gaye Woh Din (แปลว่า Where did those days go) ขับร้องโดย Mukesh มีการตัดสลับไปมาระหว่างภาพการแสดง ใบหน้าของสามนางเอก และนักแสดงสมทบอื่นๆ แม้ชีวิตของ Raju จะไม่สมหวังในรัก แต่ใช่ว่านั่นจะคือตอนจบของชีวิต
ท่าทางการเดินของ Raj Kapoor ในบทเพลงนี้ มีลักษณะเหมือนหุ่นเชิด นี่เป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ของ ตัวตลก=หุ่นเชิด=ตัวเขาเอง ผมถือนี่เป็น Masterpiece ด้านไดเรคชั่นการแสดงของเขาเลยนะ
เพลงประกอบ ร่วมงานกับคู่หูดูโอ้ Shankar Jaikishan นักแต่งเพลงระดับตำนานของอินเดีย ขาประจำของ Raj Kapoor ตั้งแต่ Awaara (1951) สไตล์เพลงคือ Indian Classic ชื่นชอบการผสมผสานดนตรีตะวันตกเข้าไปด้วย
จริงๆผมก็นำเสนอเพลงเด็ดๆของหนังไปเกือบหมดแล้วนะ หลงเหลือเพียงบทเพลงรางวัล Ae Bhai Jara Dekh Ke Chalo (แปลว่า Hey brother, look and walk) ขับร้องโดย Manna Dey นี่เป็นช่วงแนะนำ Gemini Circus มีภาพของชุดการแสดงต่างๆในคณะละครสัตว์นี้
สิ่งที่ Raj Kapoor ต้องการนำเสนอในภาพยนตร์เรื่องนี้ หลักๆก็คือแนวคิดปรัชญาชีวิตของตนเอง ต่ออาชีพ ‘การแสดง’ ใช้การเปรียบเทียบ ตัวตลก=นักแสดง
– ตอนที่ 1: นำเสนอจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ ความฝันที่ต้องการเป็นนักแสดง
– ตอนที่ 2: พบเจอโอกาส การไต่เต้า ความสำเร็จ เรียนรู้จักวิถีของการเป็นนักแสดง และที่สุดคือการสวมวิญญาณ (นักแสดง/ตัวตลก กลายเป็น ชีวิตจริง)
– ตอนที่ 3: การส่งเสริมผลักดันคนรุ่นใหม่ ผันตัวอยู่เบื้องหลัง จากนักแสดงกลายเป็นผู้กำกับ
เรื่องราวของหนัง เต็มไปด้วยการเสียสละตนเองของตัวละคร นี่คงเป็นความพยายามสื่อถึง ‘ถ้าต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จักทอดทิ้งอะไรหลายๆอย่าง’ แม้หลายอย่างมันดูผิดหลักศีลธรรมไปสักนิด (โดยเฉพาะเรื่องของ Meenu) แต่มันคือ ‘วิถี’ ของผู้มีความต้องการจุดสูงสุด เพื่อให้ได้สุขสมหวัง กลายเป็นดั่งฝันที่ต้องการ
‘อยากเป็นตัวตลกผู้ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมีชีวิตที่เหมือนตัวตลกเสียก่อน’ แต่จะเห็นว่าชีวิตของ Raju ไม่มีตอนไหนที่ตลกเลยนะ กระนั้นเขากลับสามารถกลายเป็นตัวตลกผู้ยิ่งใหญ่ เพราะการเรียนรู้เข้าใจว่าเรื่องพวกนั้น ต่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เติมเต็มชีวิต จะตลกหรือไม่อยู่ที่มุมมองของคน ร้องไห้เศร้าเสียใจในมุมของชายหนุ่ม ก็เป็นเพียงเรื่องสนุกสนานขบขันเท่านั้น
ผมค่อนข้างประทับใจในวิสัยทัศน์ อุดมการณ์ ความตั้งใจของ Raj Kapoor ต่อการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก แต่เหมือนว่าตัวเขาค่อนข้างหลงระเริง เหลิง เพลิดเพลินกายใจมากไปเสียหน่อย แทบจะไม่เคยคิดแทนสนใจผู้ชมเลยว่า จะมีศักยภาพในการรับชม ตีความ หรือสติปัญญาสูงส่งพอเข้าใจผลงานนี้หรือไม่
แต่จะว่าไปคนที่เป็น ‘ศิลปิน’ ก็มักแบบนี้นะครับ สร้างภาพยนตร์/งานศิลปะ ล้วนเพื่อสนองตัณหา ความต้องการตนเองเท่านั้น นำเสนอสิ่งในความสนใจ ผู้อื่นอยากเข้าใจก็ต้องไต่บันไดกันสูงสักหน่อย ใครชื่นชอบก็จะหลงใหลคลั่งไคล้ แต่ถ้าไม่เข้าใจให้ตายก็คงส่ายหัว
หน้งคว้า 3 รางวัล National Film Awards ประกอบด้วย
– Best Child Artist (Rishi Kapoor)
– Best Cinematography (Color)
– Best Male Playback Singer บทเพลง Ae Bhai Zara Dekh Ke Chalo
ขณะที่ Filmfare Award ปี 1972 เข้าชิง 7 สาขา คว้ามา 5 รางวัล
– Best Film (แพ้ให้กับ Anand)
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Color Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Music ** คว้ารางวัล
– Best Playback Singer, Male บทเพลง Ey Bhai Zara Dekh Ke Chalo ** คว้ารางวัล
– Best Lyrics
– Best Sound ** คว้ารางวัล
ถ้าไม่เพราะตอนหนังออกฉายครั้งแรก Flop ขาดทุนย่อยยับ เราคงอาจได้เห็นภาคต่อที่ทิ้งท้ายข้อความไว้แล้ว
“Positively Not The End”
กาลเวลาทำให้หนังเรื่องนี้ค่อยๆได้รับเสียงตอบรับดีขึ้น เพราะความสวยงามในโปรดักชั่น ปรัชญาแนวคิดที่สอดแทรกแฝงไว้อย่างลึกล้ำ ช่วงทศวรรษ 80s มีการนำออกฉายใหม่อีกครั้ง ปรากฎว่าทำเงินคืนทุนสร้าง นี่เรียกว่ากระแส Cult Following
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ในโปรดักชั่น และไดเครชั่นของผู้กำกับ Raj Kapoor ติดขัดก็ตรงความยาวที่หาวแล้วหาวอีก ไม่ค้นพบความจำเป็นแม้แต่น้อยที่ต้องทำให้เยิ่นเย้อขนาดนี้
แนะนำกับคอหนัง Bollywood ร้องเล่นเต้น, ชื่นชอบการแสดงของคณะละครสัตว์, ภาพสวยๆเพลงเพราะๆ, และสนใจกึ่งๆชีวประวัติของผู้กำกับ Raj Kapoor ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับชีวิตที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทุกข์ทรมาน
Leave a Reply