Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) : Nagisa Oshima ♥♥♡
ท่ามกลางความแตกต่างตรงกันข้ามระหว่างวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อของ ญี่ปุ่น/ตะวันออก vs. อังกฤษ/ตะวันตก มีสิ่งหนึ่งที่เป็นภาษาสากล สามารถสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความทรงจำสุดพิเศษ นั่นคือเทศกาลคริสต์มาสและสุขสันต์วันขึ้นปีใหม่
ทิศทางของโลกถูกกำหนดโดยประเทศผู้ชนะมหาสงคราม
– ถ้าญี่ปุ่นชนะสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษ/อเมริกาคงถูกบีบบังคับให้สูญเสียอิสระเสรีภาพ ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปตามกฎระเบียบแบบแผนอย่างเคร่งครัด ทำผิดพลาดเพียงเล็กน้อย จักสูญเสียเกียรติ ชื่อเสียง และอาจต้องฆ่าตัวตาย รับโทษประหารชีวิต
– แต่เมื่อในความเป็นจริง ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ได้รับชนะ จึงทำการครอบงำอิทธิพลความคิด เผยแพร่ระบบทุนนิยมเงินตรา ปรับเปลี่ยนแปลงโลกทัศนคติชาวตะวันออกเสียใหม่ ให้เห็นพ้องคล้องด้วย ‘ความรัก’ คือสิ่งสำคัญสุดของมวลมนุษยชาติ
ความพยายามของผู้กำกับ Nagisa Oshima ในการร่วมทุนสร้างอังกฤษ-ญี่ปุ่น (ถ่ายทำยัง Cook Islands, New Zealand) นำเสนอความแตกต่างสุดขั้วของสองวัฒนธรรม ที่ในช่วงเวลาหนึ่งไม่สามารถหาจุดร่วมดำเนินเดินทางไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ผลลัพท์ของสงครามทำให้มีผู้ชนะ-แพ้ ฝ่ายหลังจึงจำต้องยินยอมถดถอย ลดทิฐิมานะ เพื่อปรับเปลี่ยนตนเอง หัวหน้าเข้าหาอีกฝ่าย
ถึงแม้ Merry Christmas, Mr. Lawrence จะไม่ใช่ภาพยนตร์เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส แต่ก็ใช้คำอำนวยอวยพรของวันสิ้นปี เพื่อบอกกล่าวการสิ้นสุดสงครามความขัดแย้ง และ “Happy New Year” สู่วันหน้าฟ้าใหม่ ที่สองขั้ววัฒนธรรมคงสามารถหันเข้าหากันได้เสียที ความสงบสันติสุข สิ่งดีๆย่อมหวนกลับมาบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ฟังดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ปัญหาของภาพยนตร์เรื่องนี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
– การแสดงของ Ryuichi Sakamoto แข็งทื่อเหมือนสากกะเบือ เลวร้ายเสียจนตอนพี่แกรับชมหนังครั้งแรก เป็นลมล้มพับ รับไม่ได้กับการแสดงสุดห่วยของตนเอง
– การลำดับเรื่องราวเละเทะมาก โดยเฉพาะตัวละครของ David Bowie พิศดารแบบไม่มีใครคาดการณ์อะไรได้ แถมอยู่ดีๆใส่ฉากย้อนอดีต ทำให้โครงสร้างหนังบิดเบี้ยวผิดปกติไปไหล
ฯลฯ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บทเพลงประกอบของ Ryuichi Sakamoto กลับมีความไพเราะเพราะพริ้งจนกลายเป็นตำนาน! มอบสัมผัสที่คือช่องว่าง สุญญากาศ กึ่งกลางระหว่างสองวัฒนธรรม ตำแหน่งที่แต่ละฝั่งฝ่ายต่างไม่ยินยอมลดตัวก้าวเข้ามาเผชิญหน้า มันเลยเต็มไปด้วยความเวิ้งอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว โหยหา คงกำลังเฝ้ารอคอยวันเวลาที่ใครสักคน จักสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกันในระดับจิตวิญญาณเสียที
ต้นฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากนวนิยาย The Seed and the Sower (1963) แต่งโดย Sir Laurens Jan van der Post (1906 – 1996) นักเขียนชาว Afrikaner จากเคยเป็นชาวนา สมัครทหารสังกัด British Army ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เดินทางสู่เอเชียอาคเนีย์ ถูกจับยอมจำนน อาศัยอยู่ในค่ายกักกันญี่ปุ่น Sukabumi และ Bandung บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย วันว่างๆทำหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจให้กับเชลยสงครามหลายเชื้อชาติภาษา แถมยังจัดตั้ง ‘Camp University’ สอนหนังสือ ปลูกผัก เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น ทำให้สามารถสื่อสารกับผู้คุมได้เข้าใจประมาณหนึ่ง
“It is one of the hardest things in this prison life: the strain caused by being continually in the power of people who are only half-sane and live in a twilight of reason and humanity”.
ด้วยเหตุนี้ Post จึงได้รับการยกย่องเป็น Wars Hero (และต่อมาประดับยศอัศวิน มีคำนำหน้า Sir) นำประสบการณ์จากช่วงชีวิตดังกล่าวมาแต่งหนังสือ A Bar of Shadow (1954), The Seed and the Sower (1963) และ The Night of the New Moon (1970)
เรื่องราวใน The Seed and the Sower แบ่งออกเป็นสามส่วน/สามเรื่องราว
– เรื่องแรกเล่าในมุมมองบุคคลที่หนึ่ง อารัมภบทความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารอังกฤษ Lt. Col. John Lawrence กับ Sgt. Hara ผู้ดูแลค่ายกักกันอาวุโส/ทหารญี่ปุ่น
– เรื่องที่สองเล่าในมุมมองบุคคลที่สาม จากไดอารี่จดบันทึกของ Maj. Jack Celliers สังกัด British Army หวนระลึกถึงน้องชายพิการ และผู้บัญชาการค่ายกักกัน Capt. Yonoi ต่างพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจกันและกัน
– สุดท้ายหวนกลับมา Lawrence กำลังระลึกถึงหญิงสาาวไร้นามคนหนึ่งที่บังเอิญพบเจอก่อนหน้าถูกจับกุมตัวเป็นเชลยสงคราม
The Seed and the Sower เพาะพันธุ์และหว่านผล, ชื่อหนังสือคงเป็นการสื่อถึง บางสิ่งอย่างได้ถูกปลูกฝังภายในจิตใจตัวละคร ค่อยๆงอกเงยออกผลเมื่อกาลเวลาผ่านไป นั่นทำให้ปัจจุบันขณะนั้น พวกเขาแสดงออกด้วยความผิดแผกแปลก แตกต่าง พิศดาร ไม่มีใครคาดคิดถึง
Nagisa Oshima (1932 – 2013) นักเขียน ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tamano, Okayama ช่วงวัยเด็กผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 วัยรุ่นเติบโตในช่วงเวลา Great Depression เข้าเรียนจบสาขา Political History จาก Kyoto University เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Shochiku เมื่อปี 1954 ทำงานเป็นนักเขียน ผู้ช่วยผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก A Town of Love and Hope (1959) เริ่มมีชื่อเสียงจาก Cruel Story of Youth (1960), Night and Fog in Japan (1960), Death by Hanging (1968), Diary of a Shinjuku Thief (1969), The Ceremony (1971) ฯ
ทศวรรษ 70s – 80s เป็นช่วงขาลงของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น เริ่มจากสตูดิโอ Daiei ล้มละลายปี 1971, Shochiku/Toho/Toei ต่างมีปัญหาเรื่องการเงินขาดสภาพคล่อง ทำให้ Oshima หันเหไปสร้างละครโทรทัศน์อยู่พักใหญ่ ต่อมามีโอกาสรู้จักโปรดิวเซอร์สัญชาติฝรั่งเศสชื่อดัง Anatole Dauman กลายมาเป็น In the Realm of the Senses (1976), Empire of Passion (1978)
สำหรับ Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) ได้โปรดิวเซอร์สัญชาติอังกฤษ Jeremy Thomas ที่ชอบให้ความช่วยเหลือผู้กำกับมากความสามารถแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อาทิ Bad Timing (1980), The Last Emperor (1987), Little Buddha (1993), Fast Food Nation (2006), Kon-Tiki (2012) ฯ
Oshima ร่วมดัดแปลงบทภาพยนตร์กับ Paul Mayersberg (เกิดปี 1941) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่น อาทิ The Man Who Fell to Earth (1976), The Last Samurai (1990) ฯ
เช้าวันหนึ่ง Sgt. Gengo Hara (รับบทโดย Takeshi Kitano) เข้ามาปลุก Lt. Col. John Lawrence (รับบทโดย Tom Conti) เพื่อรับชมการลงโทษทัณฑ์ทหารญี่ปุ่นที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบวินัย ขณะกำลังเตรียม Harakiri พบเห็นเข้าโดย Capt. Yonoi (รับบทโดย Ryuichi Sakamoto) ขอให้ยกเรื่องไว้ก่อน เพราะตนเองติดธุระไปเป็นผู้ช่วยตุลาการศาล ตัดสินคดีความหนึ่งของ Maj. Jack Celliers (รับบทโดย David Bowie) ค้นหาว่าเป็นทหารสังกัด British Army จริงหรือไม่?
การได้พบเจอ สนทนา ทำให้ Capt. Yonoi ใคร่สนใจในตัว Maj. Jack Celliers ปลอมแปลงเอกสารความตาย ส่งตัวสู่ค่ายกักกันสงคราม คาดหวังจะได้เรียนรู้มุมมองอะไรใหม่ๆเกี่ยวกับชีวิต แต่ขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อวัฒนธรรม ระหว่างชาติตะวันตก-ตะวันออก ยังไปไม่ถึงจุดที่จะสามารถแบ่งปัน หาตำแหน่งกึ่งกลาง ยินยอมรับการกระทำของอีกฝ่ายได้เสียที
นำแสดงโดย David Bowie ชื่อจริง David Robert Jones (1947 – 2016) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Brixton, London วัยเด็กเมื่อพบเห็นท่าเต้น Hound Dog ของ Elvis Presley ตั้งใจแน่วแน่เป็นนักร้องนักดนตรี เริ่มก่อตั้งวงดนตรีตั้งแต่อายุ 15 เล่นกีตาร์ Rock & Roll ออกซิงเกิ้ลแรก Liza Jane (1964) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ลองผิดลองถูกอยู่สักพักจนกระทั่งซิงเกิ้ล Space Oddity (1969) ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ 2001: A Space Odyssey (1968) ไต่ขึ้นอันดับหนึ่ง UK Singles Chart, ตามมาด้วย Starman (1972), ภาพยนตร์เรื่องแรก The Man Who Fell to Earth (1976), ผลงานเด่นๆ อาทิ Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983), Labyrinth (1986), The Last Temptation of Christ (1988), Twin Peaks: Fire Walk with Me (1992), The Prestige (2006) ฯ
รับบท Maj. Jack ‘Strafer’ Celliers เห็นดูเพี้ยนๆไม่สมประกอบ แต่ทุกย่างก้าวการกระทำ แฝงนัยยะการต่อสู้ เพื่อพวกพ้อง และชัยชนะในสงคราม
– ละครใบ้ ล้างหน้า โกนหนวด เสแสร้งทำเป็นเตรียมความพร้อม แต่จุดประสงค์เพื่อเตะถ่วงยืดเวลาชีวิตของตนเองออกไปอีกเล็กน้อย
– กินดอกไม้ เพื่อสะท้อนว่าชีวิตอยู่ไม่ได้ด้วยความเชื่อ จิตวิญญาณเพียงอย่างเดียว บางสิ่งอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมก็ควรต้องกลืนกินอุดมการณ์เข้าไป
– เข้าไปขัดขวาง โอบกอด จุมพิต Capt. Yonoi ระหว่างกำลังคลุ้มคลั่งเสียสติแตก นั่นสร้างความตื่นตกตะลึง คาดคิดไม่ถึง สามารถทำให้เขาหยุดทุกสิ่งอย่าง, นี่ถือเป็นการแสดงความรักต่อศัตรู เพื่อนร่วมโลก เผื่อแผ่จิตใจอันมีเมตตากรุณา เอาใจเขามาใส่ใจเรา (และแสดงความเป็นเกย์ของทั้งคู่ด้วย)
ชีวิตวัยเด็กของ Maj. Celliers มีน้องชายที่สนิทสนม รักมาก และเป็นนักร้องเสียงดี ครั้งหนึ่งไปพูดจาหยอกล้อไม่เข้าหูเพื่อน เลยถูกรุมกลั่นแกล้งทำร้าย พี่ชายทำหน้าที่เข้าปกป้อง แต่นานวันก็อยากให้เรียนรู้เติบโตด้วยตนเองจึงปล่อยให้ถูกทำร้าย กลับกลายเป็นนับแต่นั้นเลิกร้องเพลงอีกเลย, สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องชายกลายเป็นตราบาปฝังใจ ครุ่นคิดได้และอยากมีโอกาสหวนกลับไปหา แต่เพราะการกระทำสุดท้ายของเขาล้ำเส้น เกินกว่าเกียรติทหารญี่ปุ่นจะยินยอมรับได้ จึงถูกฝังทรายตายทั้งเป็น มีเพียงศีรษะโผล่พ้นพื้น
ผู้กำกับ Oshima เกิดความประทับใจ Bowie จากการแสดง Broadway เรื่อง The Elephant Man พบเห็นว่าเป็นคนมีจิตวิญญาณที่ไม่สามารถถูกทำลายลงได้
“[Bowie] had an inner spirit that is indestructible”.
ไม่ได้กำกับการแสดงอะไรให้มาก ปล่อยอิสระในความครุ่นคิดสร้างสรรค์ นั่นทำให้ Bowie เต็มที่กับชีวิตมากๆ ถ่ายทอดบทบาทนี้ออกมาด้วยความเป็นตัวตนเองสูงสุด ภายนอกสงบนิ่งเยือกเย็นชา แต่ข้างใต้คลุ้มคลั่งปั่นป่วน ‘น้ำนิ่งไหลลึก’
เจ้าตัวถึงขนาดยกให้เป็นการแสดงน่าเชื่อถือที่สุดในชีวิต ‘the most credible performance’
Ryuichi Sakamoto (เกิดปี 1952) นักดนตรี แต่งเพลง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo, โตขึ้นเข้าเรียน Tokyo National University of Fine Arts and Music จบสาขา Electronic และ Ethnic Music ความสนใจนั้นหลากหลาย เรียกว่า ‘World Music’ ทำการทดลองออกอัลบัมแรกแนว Electronic Fusion ชื่อ Thousand Knives (1978), ตามด้วยอัลบัมโซโล B-2 Unit (1980), ต้องการทดลองทำเพลงประกอบภาพยนตร์บ้าง แต่เมื่อ Oshima ติดต่อไป เลยชักชวนให้มาเป็นนักแสดงนำด้วย
รับบท Capt. Yonoi ผู้บัญชาการค่ายกักกันเชลยสงครามของญี่ปุ่น ยังดูหนุ่มแน่น(ท่าทางจะโสด) เป็นคนจริงจังต่อชีวิต ยึดถือมั่นในกฎระเบียบแบบแผน วัฒนธรรมประเพณี ก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกของ Shining Young Officers แต่เพราะตนถูกส่งไปประจำการอยู่ Manchuria เลยไม่ได้มีโอกาสก่อการกบฎ (Coup d’état) เมื่อเหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์ 1936 นั่นกลายเป็นตราบาปฝังใจอยู่ลึกๆ บทเรียนไม่ให้ตนเองพลาดพลั้งเผลอเรอต่อภาระหน้าที่การงาน
ความใคร่สนใจในตัว Maj. Celliers เรียกได้ว่า ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ พบเห็นเข้าใจว่าเป็นคนคล้ายๆกัน คือมีปมหลังฝังรากลึกที่ไม่อาจสลัดพ้น กลายเป็นอิทธิพลให้ตนเองมีวิถีแห่งชีวิตในวันนี้ การได้เรียนรู้จัก สนิทสนม ใกล้ชิด น่าจะช่วยเป็นแรงผลักดัน ให้สามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องราวจากอดีตไปได้ด้วยดี, หรือจะมองว่าพวกเขาเป็นเกย์ก็ได้นะครับ มันมี Subtle นี้ซ่อนเร้นอยู่ด้วย
ก่อนจะมาลงเอยที่ Sakamoto ผู้กำกับ Ôshima ได้ติดต่อ นักร้อง/นักแสดง Kenji Sawada ทีแรกก็สนใจแต่พอบอกว่า David Bowie จะมารับบททหารอังกฤษ เจ้าตัวเลยหาข้ออ้างถอนตัวออกไป
สำหรับนักแสดงฝั่งญี่ปุ่น จะถูกผู้กำกับ Oshima เคี่ยวเข็น กรากกรำพอสมควร ให้เกิดความตึงเครียด หน้านิ่วคิ้วขมวด แทบไม่พบเห็นรอยยิ้ม การแสดงก็จะแข็งๆ ทึ่มทื่อ ตรงไปตรงมาเหมือนสากกะเบือ … เอาจริงๆถือว่าสะท้อนจิตวิญญาณทหารญี่ปุ่น ที่มีความซื่อสัตย์ มั่นคง รักชาติยิ่งชีพไม่เปลี่ยนแปลง (ตรงกันข้ามกับทหารฝั่งสัมพันธมิตร หละหลวม เอื่อยเฉื่อย ไร้ระเบียบวินัย) ปัญหาคือเมื่อสองฝ่ายปะทะร่วมฉากกัน ผลลัพท์ออกมาดูขัดแย้ง ไม่ลงรอย ฝืนธรรมชาติมากเกินไป เลยกลายเป็นว่า Sakamoto แสดงได้ห่วยบรม (จริงๆถือเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ ที่แม้รับรู้วัตถุประสงค์ แต่ก็ไม่เห็นพ้องด้วยอยู่ดี)
Tom Conti (เกิดปี 1941) นักแสดง สัญชาติ Scottish เกิดที่ Paisley, Renfrewshire โตขึ้นเข้าเรียน Royal Scottish Academy of Music and Drama, Glasgow จบออกมาเป็นนักแสดงละครเวที ละครโทรทัศน์ ข้ามมาประสบความสำเร็จยัง Broadway เคยคว้า Tony Award: Best Actor จากการแสดงเรื่อง Whose Life Is It Anyway? (1979), สำหรับภาพยนตร์รับงานบ้างประปราย อาทิ The Duellists (1977), Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983), Reuben, Reuben (1983)** เข้าชิง Oscar: Best Actor
รับบท Lt. Col. John Lawrence ทหารยุโรปคนเดียวในค่ายที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่น ทำให้สามารถพูดคุยสนิทสนมกับผู้คุม Sgt. Gengo Hara พยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจวัฒนธรรมต่างชาติ เพราะครั้งหนึ่งเคยตกหลุมรักหญิงสาวไร้นาม เธอเป็นใครชื่ออะไรก็ไม่รู้ แต่โชคชะตานำพาให้เขาต้องพลัดพรากถูกจับเป็นเชลยสงครามจนถึงปัจจุบันนั้น
ทั้งๆชื่อตัวละครเป็นถึงชื่อหนัง แต่กลับมีลักษณะเหมือนไซด์ไลน์/ตัวประกอบ มีบทมากแต่ไม่โดดเด่นเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ Maj. Celliers หรือ Capt. Yonoi และการแสดงของ Conti มีความจืดชืด ไม่น่าสนใจ ยังแทรกหาความโดดเด่นเทียบ Kitano ไม่ได้ด้วยซ้ำ
เกร็ด: Conti พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้สักคำเลยนะ ตัวเขาใช้วิธีการท่องบทและปรับสำเนียงกับ Kitano เอาตัวรอดไปได้อย่างสบายๆ
Takeshi Kitano (เกิดปี 1947) นักแสดง ตลก ผู้กำกับ นักเขียนสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Adachi, Tokyo พ่อเป็นจิตรกร (และอาจเป็นยากูซ่า) เข้าเรียนที่ Meiji University สาขาวิศวกรรม แต่ตัดสินใจลาออกไปเป็นตลก ร่วมกับคู่หู Nirō Kaneko ประสบความสำเร็จโด่งดังในชื่อ Two Beat ด้วยทักษะลีลาคำพูดที่คมคาย หลักแหลมไม่เหมือนใคร พอออกมาเดี่ยว กลายเป็นหนึ่งในสาม Comedian โด่งดังสุดในญี่ปุ่น, สำหรับภาพยนตร์ เริ่มจากนักแสดงตลก ผันมาเป็นผู้กำกับ Violent Cop (1989) โด่งดังระดับโลกจากการคว้างรางวัล Golden Lion เทศกาลหนังเมือง Venice จากเรื่องเล่นเองกำกับเอง Hana-bi (1997), และคว้ารางวัล Silver Lion: Best Director เรื่อง Zatōichi (2003)
รับบท Sgt. Gengo Hara ผู้คุมนักโทษในค่ายกักกันเชลยสงครามของญี่ปุ่น เป็นคนดูสบายๆผ่อนคลาย แต่ยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี รักชาติยิ่งชีพ เพราะสามารถสื่อสารได้กับ Lt. Col. Lawrence เลยไม่คิดใคร่สนใจเรียนรู้ภาษาอังกฤษสักเท่าไหร่ ตรงกันข้ามนำพาเขาให้รู้จักคุณค่า ความยิ่งใหญ่ของทหารญี่ปุ่น แต่ภายหลังเมื่อพ่ายแพ้สงคราม พบเห็นอีกทีในคุกกำลังจะถูกประหารชีวิต สนทนากับ Lawrence อีกครั้งเป็นภาษาอังกฤษคล่องป๋อ (ไปไหม?) ยินยอมพร้อมรับความตายที่กำลังจะก้าวเข้ามาถึง
Kitano หลังจากแสดงตลกมานาน ต้องการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตนเองกับ Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) ถือเป็นผลงานดราม่าจริงจังเรื่องแรก ครั้งหนึ่งแอบซุ่มเข้าไปเซอร์ไพรส์ผู้ชมในโรงภาพยนตร์ แต่พบเห็นพอถึงฉากตนเองพวกเขากลับยิ้มแย้มหัวเราะลั่น รู้สึกอับอายเสียหน้าอย่างมาก! … ต้องถือว่านี่เป็นบทบาทจริงจังที่เข้ากับภาพลักษณ์ ตัวตนของ Kitano สุดๆเลยนะ สามารถสร้างสีสัน แย่งซีน มอบอารมณ์ผ่อนคลาย และน่าจะมีความเป็นส่วนตัวที่สุดเรื่องหนึ่งเลยกระมัง
ถ่ายภาพโดย Toichiro Narushima ตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Yoshishige Yoshida ผลงานเด่น อาทิ Akitsu Springs (1962), Kyoto(1963), Double Suicide (1969) ฯ
สถานที่ถ่ายทำหลักๆ ประกอบด้วย
– ค่ายกักกันเชลยสงคราม เห็นว่าสร้างทั้งฉากขนาดเท่าของจริงขึ้นที่ Rarotonga, Cook Islands
– ฉากอื่นๆของหนัง ย้อนอดีต, คุกของ Hara ฯ ถ่ายทำยังประเทศ New Zealand
แม้จะบอกว่ามีการสร้างค่ายกักกันเชลยสงครามขนาดเท่าของจริง (ว่ากันว่ากินพื้นที่ 2-3 เอเคอร์, 7-8 ไร่) แต่ที่พบเห็นในหนังแค่เพียงน้อยนิดกระจิดริด เศษเสี้ยวส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง, ความตั้งใจของผู้กำกับ Oshima ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมพบเห็นทุกสิ่งอย่าง แต่สำหรับนักแสดงเพื่อให้ได้บรรยากาศของค่ายกักกันจริงๆ
แทบทั้งเรื่องของหนัง เวียนวนอยู่กับการลงโทษ ทำร้าย กลั่นแกล้ง ‘Bully’ ต้องมีฝ่ายหนึ่งพวกมากเยอะกว่า กระทำ-ถูกกระทำ
– Sequence แรกของหนัง, เป็นการลงโทษนายทหารผู้กระทำความผิด ‘ข่มขืน’ เชลยสงคราม ในมุมมองของชาวญี่ปุ่นถือเป็นสิ่งรุนแรง เสียเกียรติ ยินยอมรับไม่ได้ แต่ไม่ใช่กับชาวอังกฤษ/ตะวันตก ผิดอะไรก็ต้องว่ากันตามข้อกฎหมาย ไม่ใช่ตัดสินพละการตามกฎหมู่ ความเชื่อ เกียรติศักดิ์ศรี
– ครึ่งหลังในความทรงจำของ Maj. Celliers จะมีฉากที่น้องชายโดยลุมล้อมกลั่นแกล้งจากเพื่อนๆที่โรงเรียน เหตุแค่ว่าน้ำเสียงร้องดีเด่นกว่า นั่นก็หาใช่สิ่งยินยอมรับได้เช่นกัน
ในเชิงสัญลักษณ์, ความพยายามข่มขืนของนายทหารชาวญี่ปุ่น กับเชลยสงครามชาว Dutch ถือเป็นความพยายามสร้างอิทธิพล ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ เอาชนะสงครามต่อชาติตะวันตก (สำนวนของชาว Homo, รุกคือ King รับคือ Queen)
ฉากกลางคืน สังเกตว่าจะมีการใช้แสงสีน้ำเงินที่โดดเด่นชัดเป็นพิเศษ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากกระบวนการล้างฟีล์มแล้วใส่สารเคมีบางอย่างเพื่อเพิ่มความสว่าง หรือเกิดจากการใช้ฟิลเลอร์ Day-for-Night สำหรับถ่ายทำตอนกลางวันจะได้ออกมาดูเหมือนกลางคืน
เพราะสถานที่ถ่ายทำอยู่ห่างไกลกันธุรกันดารมาก ถ้าจะให้ตั้งแลปล้างฟีล์มกลางป่าเขาพงไพรคงไม่คุ้มค่าแน่ๆ ผู้กำกับ Oshima เลยตัดสินใจถ่ายทำเสร็จ ก็ส่งต้นฉบับ Negative ขึ้นเรือกลับไปทำ Post-Production ที่ญี่ปุ่นเลยดีกว่า (สมัยก่อนก็แบบนี้นะครับ บางทีผู้กำกับไม่มีโอกาสเห็นสิ่งที่ถ่ายทำไปด้วยซ้ำ ต้องไว้เนื้อเชื่อวางใจฝีมือตากล้องสุดๆเลยละว่าทำตามแผนการณ์ที่ตระเตรียมไว้)
เทคนิคการถ่ายภาพที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง คือ Long Shot เริ่มจากระยะไกลๆแล้วค่อยๆเคลื่อน-ซูมเข้ามาใกล้หาตัวละคร, ผมคิดว่าคือความพยายามเปิดโลกทัศน์ใหม่ เพราะทั้งสองฝ่ายตะวันออก-ตก ต่างมีความคับแคบในมุมมองของตนเองเท่านั้น ถ้าพวกเขาสามารถเริ่มจากมองภาพรวมกว้างๆก่อน แล้วค่อยๆเก็บรายละเอียดระยะประชิด ก็จักสามารถค้นพบจุดร่วมที่สามารถปรับจูนตรงกันได้ … กับฉากที่ใช้เทคนิคลักษณะนี้ มักเมื่อเกิดการปะทะขัดแย้ง และกำลังมองข้อตกลงอันจะสร้างความพึงพอใจให้กับทั้งสองฝ่าย
ว่าไปศีรษะของ Maj. Celliers ทำให้เขามีลักษณะเหมือนต้นอะไรสักอย่าง ที่งอกขึ้นมาจากดิน ซึ่งนี่อาจสื่อได้ว่าเป็นผลพวงของการเพาะหว่าน ‘The Seed and the Sower’ และค่ำคืนหนึ่ง Capt. Yonoi ได้เข้ามาเก็บเกี่ยว ตัดปอยผมเล็กๆ** ฝากให้ Lt. Col. Lawrence นำไปฝังยังบ้านเกิดของเขา
เกร็ด: ซามูไรที่สูญเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติภารกิจหน้าที่ แล้วไม่สามารถนำเรือนร่างหวนกลับบ้านเกิดได้ จึงมักมีการตัดปอยผมเล็กๆเป็นตัวแทน/สัญลักษณ์ เพื่อส่งมอบให้กับครอบครัวทำพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป
ตัดต่อโดย Tomoyo Oshima น้องสาวของผู้กำกับ Nagisa Oshima ผลงานเด่นๆ Merry Christmas Mr. Lawrence (1983), Mishima: A Life in Four Chapters (1985), Maborosi (1995) ฯ
หนังเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ Sgt. Hara กับ Lt. Col. Lawrence ก่อนส่งไม้ต่อให้ Capt. Yonoi ได้มีโอกาสพบเจอ Maj. Celliers ทั้งสี่จะเวียนวนพบเจอสลับกันมาตลอดทั้งเรื่อง และช่วงขณะที่ Lt. Col. Lawrence กับ Maj. Celliers กำลังติดคุกแยกขังเดี่ยว ก็จะมีการเล่าย้อนอดีตพร้อม Flashback (เฉพาะของ Maj. Celliers)
หลังจากการเสียชีวิตของ Maj. Celliers และ Sgt. Hara นำนักโทษเดินจากไป มีการกระโดดข้ามสู่ปัจฉิมบท ปี 1946 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง Lt. Col. Lawrence มีโอกาสหวนกลับมาพบเจอ Sgt. Hara อีกครั้งในทิศทางตรงกันข้าม ย้อนรอยตอนต้นอารัมบท เพื่อสะท้อนทุกสิ่งอย่างมีจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด ว่ายเวียนวนดั่งวัฏจักรชีวิต
เพลงประกอบของ Ryuichi Sakamoto ถือว่าได้สร้างมิติใหม่ให้กับหนัง ฟังดูไม่ได้มีความสอดคล้องจองกับเรื่องราว/เหตุการณ์ใดๆทั้งนั้น เป็นงานทดลองที่มอบสัมผัสทางอารมณ์ โลกแห่งความรู้สึก จิตวิญญาณที่แอบแฝงซ่อนเร้นบางสิ่งอย่างทรงคุณค่าไว้ ขึ้นกับว่าคุณจะสามารถมองเห็นด้วยเข้าใจได้ด้วยตนเองหรือเปล่า
Forbidden Colours แต่งโดย Ryuichi Sakamoto, ขับร้อง/ทำนองโดย David Sylvian, ชื่อเพลงได้แรงบันดาลใจจากชื่อนิยาย Forbidden Colors (1953) แต่งโดย Yukio Mishima สิ่งเดียวที่สัมพันธ์กันกับหนังเรื่องนี้ คือตีมของ Homosexual
ความแตกต่างทำให้มนุษย์เกิดการต่อสู้ ขัดแย้ง ลุกลามบานปลายกลายเป็นสงคราม! ทั้งสองฝ่ายพยายามสร้างอิทธิพล เข้าครอบงำ ต้องการเป็นเจ้าของอีกฝ่าย เพื่อเผยแพร่แนวคิด ความเชื่อ โลกทัศนคติของตนเองว่า ‘ฉันคือฝ่ายถูก’ ซึ่งมีเพียงผู้ชนะเท่านั้น ถึงสามารถกำหนดทิศทางของดาวเคราะห์นี้ให้หมุนเวียนวนไป
“You are the victim of men who think that they are right…”
จุดจบของสงคราม การสูญเสียชีวิต/ทรัพย์สิน คือบทเรียนที่สอนให้เราเรียนรู้ว่า ‘ไม่มีใครเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ’ ทุกคนคือผู้พ่ายแพ้ ไม่มีใครครุ่นคิดตัดสินถูกในเรื่องเป็น-ตาย การหันหน้าเข้าหากัน แสวงหาจุดร่วมกึ่งกลาง นั่นต่างหากคือสิ่งที่จะทำให้โลกสามารถก้าวเดินต่อไป
“It was as if Celliers, by his death… sowed a seed in Yonoi… that we might all share by its growth”.
การกระทำอันบ้าๆบอๆ คลุ้มคลั่ง เสียสติแตกของ Maj. Celliers ถือเป็นเพื่อเผยแพร่ความรัก เมตตากรุณาต่อมิตรสหายเพื่อนร่วมโลก หรือแม้แต่ศัตรูฝั่งตรงข้าม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น เป็น-ตาย แต่สำหรับผู้ให้ย่อมบังเกิดความสงบสุขสันติขึ้นในใจ
แม้สิ่งที่เขาทำจะเกิดขึ้นเพียงในค่ายกักกันเชลยสงครามเล็กๆ แต่ก็สามารถเปรียบได้กับเมล็ดที่หว่านผลพรวนไถ สามารถเจริญเติบโตงอกงามออกดอกผล ฝึงรากลึกอยู่บนทุกๆผืนแผ่นแดนดินบนโลกใบนี้ … ถ้าเกิดความเข้าใจได้ว่า Celliers ต้องการปลูกอะไร?
ในมุมของผู้แต่งหนังสือ/ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้, ความรักจากพระเจ้าคือสิ่งไร้พรมแดนกีกกั้นขวาง ไม่มีแบ่งแยกสีผิว ฐานะ เชื้อชาติพันธุ์ มนุษย์ทุกคนต่างคือลูกหลานเท่าเทียมกัน เกิดมาแม้ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกแตกต่าง แต่สิ่งที่อยู่ภายในล้วนบริสุทธิ์ อ่อนแอ และต้องการที่พึ่งพิง(ทางใจ)
25 ธันวาคม วันคริสต์มาส หรือวันสมโภชพระคริสตสมภพ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเฉลิมฉลองประสูติกาลของพระเยซู บุตรแห่งพระเจ้า ผู้มาไถ่โทษแบกรับความผิดแทนมวลมนุษย์ การอำนวยอวยพร “Merry Christmas” (Merry ภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า สันติสุข ความสงบทางใจ) ให้ผู้รับได้เกิดความสงบสันติสุขขึ้นทางใจ ไม่ว่าอะไรจะบังเกิดขึ้นขอให้ยิ้มไว้ ถ้าจิตใจเรายังบริสุทธิ์ดีงาม ก็ไม่มีอะไรต้องครั่นครามหวาดสะพรึงกลัว
‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ นี่คือโลกทัศนคติของชาวตะวันตกที่ได้ทำการครอบงำโลกตะวันออกเรียบร้อยแล้ว อย่างที่ได้บอกกล่าวไปตอนต้น เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ได้รับชัยชนะในมหาสงคราม ยุคสมัยนี้จึงเต็มไปด้วยวิถีทาง ความเชื่อ ค่านิยม อิทธิพลของชาติผู้นำ แต่ทำไมเราต้องเห็นพ้องตาม? ทำไมเราต้องคิดว่าเขาถูก? … แต่การคิดว่าผู้อื่นผิดก็ไม่ถูกเหมือนกันนะ!
รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมครุ่นคิดไม่ตกทีเดียว ถ้าญี่ปุ่นเป็นผู้ชนะสงคราม อะไรๆมันจะแตกต่างจากปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน? นี่ไม่ได้จะสื่อถึงความเจริญทางวัตถุหรือเทคโนโลยี ตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตใจ ค่านิยม คุณธรรมแห่งความเป็นคน โลกใบไหนจะน่าอยู่อาศัยมากกว่า!
Nagisa Oshima สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกไปทาง วิพากย์ความพ่ายแพ้สงครามของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง เพราะพวกเรากันเองนี่แหละที่เย่อหยิ่ง ทะนงตน ถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี ชาตินิยม ไม่เรียนรู้จักการปรับตัวเข้าหา ศึกษาทำความเข้าใจวัฒนธรรมอื่น … นี่แปลว่า Oshima จัดเข้าพวก Westernize ถูกครอบงำความคิดอ่านจากชาวตะวันตก ยกยอปอปั้นผู้ชนะสงคราม เดียดฉันท์ชนชาติตนเอง
ก็แม้แต่ความคิดอ่านของผู้กำกับ Oshima ยังหาความเท่าเทียมกันไม่ได้เลย ผลงานเรื่องนี้เลยออกมาเละๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ สะท้อนตัวตนเองที่คงอยากแปรสภาพเป็นชาวตะวันตก แต่ก็ทำได้แค่ครึ่งๆกลางๆ เพราะตัวตนจิตวิญญาณนั้นคือญี่ปุ่น/ตะวันออก ไม่มีอะไรสามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนี้ได้
หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ว่ากันว่าเป็นเต็งหนึ่งจะคว้ารางวัล ขนาดว่าทีมงานนั่ง First-Class ไปฝรั่งเศส แต่กลับกินแห้วไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมา แถมพ่าย Palme d’Or ให้กับเพื่อนร่วมชาติ The Ballad of Narayama (1983)
ในญี่ปุ่นแม้ไม่มีรายงานรายรับ แต่ทำเงินถล่มทลายสูงสุดแห่งปี, เข้าชิง Japan Academy Prize ทั้งหมด 5 สาขา ไม่ได้สักรางวัล แต่ได้อีกรางวัลพิเศษปลอบใจ
– Best Film
– Best Director
– Best Supporting Actor (Takeshi Kitano)
– Best Art Direction
– Best Music Score
– Most Popular Film ** คว้ารางวัล
นักวิจารณ์มักเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับ The Bridge on the River Kwai (1957) ของผู้กำกับ David Lean ที่ก็เป็นแนวค่ายกักกันเชลยสงครามของญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่คุณภาพถือว่าห่างไกลลิบโยชน์ … อย่าไปพูดถึงมันเลยก็แล้วกัน
แซว: ถ้าเป็นหนังแนวนี้เรื่องอื่นๆ มักจะต้องแหกค่าย หลบหนีเอาตัวรอด แต่เรื่องนี้ดูจะไม่มีใครดิ้นรนพยายามสักเท่าไหร่
โดยส่วนตัวไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ที่หนังจะถูกมองข้ามจากหลายๆสถาบัน/รางวัล เพราะใครๆต่างคาดหวังไว้สูงส่ง แต่ผลลัพท์กลับน่าผิดหวังเสียเหลือเกิน มีเพียงบทเพลงประกอบที่ไพเราะเพราะพริ้ง และ Takeshi Kitano แย่งซีนเต็มๆ นอกนั้นอะไรก็ไม่รู้ พิศดารเกินครุ่นคิดวิเคราะห์เข้าใจ
แนะนำคอหนังดราม่าสงคราม ค่ายกักกันญี่ปุ่น สนใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมตะวันออก-ตก, เคยอ่านนวนิยายของ Sir Laurens van der Post, ชื่นชอบผลงานผู้กำกับ Nagisa Oshima, แฟนๆนักแสดง David Bowie, Takeshi Kitano และบทเพลงโคตรไพเราะโดย Ryuichi Sakamoto ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศตึงเครียดขัดแย้ง หน้านิ่วคิ้วขมวด รุนแรงคลุ้มคลั่ง
Leave a Reply