Metropolis (2001) : Rintaro ♥♥♥
อ้าปากค้างไปกับภาพโลกอนาคต ตึกระฟ้า ผู้คนคาคลั่ง แต่ขณะเดียวกันกลับกลวงโบ๋ภายในจิตวิญญาณ, ดัดแปลงจากมังงะ Metropolis (1949) แต่งโดย Osamu Tezuka ที่ได้แรงบันดาลใจจากโคตรหนังเงียบ Metropolis (1927) ของผู้กำกับ Fritz Lang มาอีกทีหนึ่ง
ลึกๆผมรู้สึกผิดหวังมากกว่าชื่นชอบ Metropolis (2001) แม้เป็นอนิเมชั่นที่มีความเพลิดเพลินตา ชวนให้เพ้อใฝ่ฝันล่องลอย แต่ก็แค่นั้นแหละ ตัวละครสุดแสนจืดชืด เรื่องราวไม่มีอะไรใหม่ นัยยะเชิงสัญลักษณ์ก็มิได้ลึกซึ้งประการใด สัปหงกชวนหลับใหลอยู่หลายครั้งคราทีเดียว
ปัญหาใหญ่ๆของอนิเมะเรื่องนี้ คือการใส่ใจในรายละเอียดพื้นหลังมากเกินไป กล้องล่องลอยโฉบเฉี่ยวไปมาทั่งกรุง Metropolis แต่น้อยนักจะเข้าใกล้ใบหน้าตัวละคร เช่นนั้นแล้วแม้รู้สึกตื่นตระการตาในความงาม เพียงไม่นานย่อมรู้สึกอ่อนล้าเบื่อหน่าย ไหนละสิ่งงดงามหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใต้
Rintaro ชื่อจริง Shigeyuki Hayashi (เกิดปี 1941) ผู้กำกับ/อนิเมเตอร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบนวนิยายไซไฟ ลุ่มหลงใหลภาพยนตร์ Western, Gangster และ Film Noir เข้าสู่วงการจากเป็น In-Between Animator ให้กับ Hakujaden (1958) จากนั้นได้เข้าทำงาน Toei Animation ต่อด้วย Mushi Productions ทำให้ได้รู้จักกับไอดอล Osamu Tezuka จนมีโอกาสกำกับตอนที่ 4 ซีรีย์ Astro Boy (1963), ผลงานเด่นๆ อาทิ ซีรีย์ Moomin (1969), ภาพยนตร์ Bonjour Galaxy Express 999 (1979), The Dagger of Kamui (1985), Phoenix: Karma Chapter (1986), Neo Tokyo (1987), Metropolis (2001) ฯ
หลังจาก Osamu Tezuka เสียชีวิตไปเมื่อปี 1989 ผู้กำกับ Rintaro มีความต้องการนำผลงานมังงะสักเรื่องมาดัดแปลงสร้างอนิเมชั่น ก็ไม่เชิงว่า Metropolis (1949) คือเรื่องโปรด แต่เพราะสามารถนำมาต่อยอดเพิ่มเติมอะไรๆได้อีกมาก
“Osamu Tezuka probably wouldn’t have let me make the film if he still alive”.
– Rintaro
Osamu Tezuka เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ได้แรงบันดาลใจมังงะ Metropolis จากแค่พบเห็นภาพหุ่นสาวใน Metropolis (1927) แต่ไม่เคยมีโอกาสรับชมหนังเงียบ (หนังไม่เคยออกฉายอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่น) ประติดประต่อเรื่องราวขึ้นเอง เกี่ยวกับหุ่นยนต์ชื่อ Mitchi สร้างโดย Dr. Charles Laughton มีความสามารถเปลี่ยนเพศและบินได้ หลังจากการเสียชีวิตปริศนา จำต้องหลบลี้หนีการติดตามล่าของ Duke Red เพื่อไม่ให้นำพลังตนเองไปใช้ในทางผิดๆ โดยมีนักสืบจากญี่ปุ่น Shunsaku Ban และหลานชาย Kenichi คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุน
ในส่วนของบทอนิเมชั่น เพราะ Rintaro เคยร่วมงานกับ Katsuhiro Otomo (ผู้กำกับ Akira, Steamboy) เมื่อครั้น Neo Tokyo (1987) เลยร้องขอให้ช่วยพัฒนาเรื่องราว โดยอ้างอิงหลายๆส่วนจากหนังเงียบ Metropolis (1927) ผนวกรวมเข้าไปด้วย
เมืองแห่งอนาคต Metropolis แม้มีความเจริญก้าวหน้า ตึกสูงระฟ้า มนุษย์และหุ่นยนต์อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ก็ยังมีผู้คนอีกมาที่ไร้งานทำ หาเช้ากินค่ำ อาศัยอยู่ข้างถนนแบบไม่มีใครเหลียวดูแล, Duke Red ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของ Metropolis ได้สร้างตึกสูงเสียดฟ้าชื่อว่า Ziggurat เป้าหมายเพื่อส่งกระแสพลังงานให้คลอบคลุมทั่วผืนปฐพี แต่แท้จริงแล้วมีความตั้งใจอื่น เพื่อหวังยึดครอบครองโลกให้อยู่ในกำมือตนเอง ซึ่งได้แอบมอบหมายให้ Dr. Laughton สร้างหุ่นยนต์สาวชื่อ Tima (จากภาพลักษณ์บุตรสาวแท้ๆของตนเองที่เสียชีวิตจากไป) ต้องการให้เธอคือหัวใจของแผนการนี้ สามารถควบคุมปกครองทุกสิ่งอย่างในโลกใบนี้ให้เกิดความสงบสุขสันติ
เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อลูกบุญธรรมของ Duke Red ชื่อ Shunsaku ครั้งหนึ่งลักลอบติดตามบิดาไปพบเจอห้องปฏิบัติการของ Dr. Laughton เกิดความอิจฉาริษยา เลยตัดสินใจเข่นฆาตกรรมและเผาทำลายทุกสิ่งอย่าง แต่ Tima กลับหลบหนีรอดไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากชายหนุ่ม Kenichi ที่เดินทางมายังเมืองแห่งนี้พร้อมลุง Shinsaku Ban เพื่อสืบสวนสอบสวนอะไรบางอย่าง ซึ่งเด็กหนุ่ม-สาว ค่อยๆมีโอกาสเรียนรู้จัก Metropolis ร่วมกัน เกิดความรักความผูกพันธ์ จนกระทั่งพวกเขาถูกติดตามล่าจนพบตัว และ Tima กำลังต้องตัดสินใจบางอย่างเพื่อชี้ชะตาโลกใบนี้
Kenichi (พากย์เสียงโดย Kei Kobayashi) เด็กชายหนุ่มเดินทางมายัง Metropolis เพื่อให้ความช่วยเหลือลุง Shinsaku Ban ติดตามจับอาชญากรข้ามชาติ Dr. Laughton แต่จับพลัดจับพลูให้ความช่วยเหลือหญิงสาวปริศนาจากกองเพลิง ด้วยความยังอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสาของทั้งคู่ สานสัมพันธ์กลายเป็นสนิทสนมชิดเชื้อ ซึ่งเมื่อต้องพลัดพรากจาก พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เธอกลับมาเป็นเหมือนดังเดิม
Tima (พากย์เสียงโดย Yuka Imoto) หุ่นสาวถูกสร้างโดย Dr. Laughton มีความสามารถในการรับรู้/ควบคุมทุกสิ่งอย่างที่ใช้กระแสไฟฟ้า แรกเริ่มตื่นขึ้นจดจำอะไรไม่ได้ มีเพียง Kenichi ข้างกาย ได้รับความช่วยเหลือจนสนิทสนมชิดเชื้อขาดไม่ได้ แต่เมื่อภายหลังรับรู้ความจริงว่าตนคือหุ่นยนต์ ต้องการทำลายล้างทุกสิ่งอย่างให้ แต่ก็ถูกขัดขวางโดยเพื่อนรักหนึ่งเดียวที่ไม่ยินยอมพร้อมใจ
เกร็ด: ตัวละครนี้เทียบกับมังงะก็คือ Mitchi แต่ไม่ได้มีพลังพิเศษอะไรอื่นนอกจากทำลายล้าง เช่นกันกับพล็อตโรแมนติกับ Kenichi เพิ่มเติมเข้ามาจนมีนัยยะสำคัญทีเดียว
Shunsaku Ban (พากย์เสียงโดย Kōsei Tomita) นักสืบเอกชนผู้มีความเทอะทะ ขี้หลงลืม เดินทางจากญี่ปุ่นสู่ Metropolis ร่วมกับหลานชาย Kenichi เพื่อติดตามหา Dr. Laughton แต่หลังจากพบว่าเขาถูกเข่นฆาตกรรมปริศนา เลยต้องการค้นหาคำตอบเพราะอะไร ทำไม เป็นเหตุให้ล่วงลับรู้ตื้นลึกหนาบางของเมืองนี้ทุกสิ่งอย่าง
Rock (พากย์เสียงโดยKōki Okada) เด็กกำพร้าได้รับการเลี้ยงดูแลโดย Duke Red เพื่อเติมเต็มช่องว่างในจิตใจหลังสูญเสียบุตรสาวไป แต่เมื่อพ่อบุญธรรมค้นพบวิธีชุบชีวิตเธอ จึงเริ่มถูกเพิกเฉยไม่เหลียวแล พยายามเรียกร้องความสนใจด้วยการทำงานสกปรกให้ กระทั่งพานพบเจอความลับเกี่ยวกับ Dr. Laughton และ Tima ต้องการจะเข่นฆ่าปิดปาก เพื่อตนเองจักได้กลับมาเป็นที่รักยิ่งของบิดาอีกครั้งหนึ่ง
เกร็ด: ตัวละคร Rock ไม่มีในมังงะ เพิ่มเข้ามาในอนิเมะเพื่อสร้างสีสันให้เรื่องราวมีความน่าตื่นเต้นเร้าใจมากขึ้น
Duke Red (พากย์เสียงโดย Tarō Ishida) ชายผู้มากล้วนด้วยความทะเยอทะยาน ก่อตั้งองค์กร Marduk เพื่อหวังจะฮุบอำนาจ Metropolis ไว้ในกำมือแต่เพียงผู้เดียว แต่จุดอ่อนของเขาคือบุตรสาวที่พลันด่วนเสียชีวิต มอบหมายให้ Dr. Laughton สร้างหุ่นยนต์ที่ไม่เพียงหน้าเหมือน แต่ยังคือหัวใจในปฏิบัติการครองโลกนี้
แซว: ตัวละคร Duke Red ออกแบบให้มีจมูกแหลมยาวเหมือนก็อบลิน ที่ชื่นชอบโกหกหลอกลวง สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตน หาความจริงใจไม่ได้สักนิด
Metropolis ใช้ระยะเวลาสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม มีส่วนผสมของการวาดมือและ Computer Graphic (CGI) ออกแบบตึงระฟ้า ฝูงชนมากมายขยับเคลื่อนไหวไปมา ปริมาณรวมแล้วกว่า 150,000 เซล
อนิเมะรับอิทธิพลจากทั้งมังงะ Metropolis (1949) และโคตรหนังเงียบ Metropolis (1927) จึงพบเห็นหลายสิ่งอย่างอ้างอิง เคารพคารวะถึง ไม่ใช่แค่เนื้อเรื่องราว แต่ยังการออกแบบศิลป์ ตัวละคร ใครเคยรับชม Astro Boy น่าจะพอสังเกตลายเซ็นต์ของ Osamu Tezuka ได้อย่างเด่นชัดเจน
การเลือกใช้โทนสีสันถือว่ามีความโดดเด่นอย่างมาก อาทิ เฉลิมฉลองเหลืองทองอร่าม, หิมะตกทุกสิ่งอย่างก็ขาวโพลน, ตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายรายล้อมด้วยแสงสีแดง ฯ
สิ่งท้าทายและมีความยากยิ่งในการทำอนิเมชั่น คืออนุภาค (Particle) โดยเฉพาะพลุ ควัน กระจกแตก ฯ อะไรที่ต้องวาดปริมาณเยอะๆ แลดูระยิบระยับตระการตา ไม่ใช่ง่ายจะให้ออกมาดี
สิ่งที่ทำให้อนิเมชั่นเรื่องนี้มีความน่าทึ่งอัศจรรย์ใจอย่างมาก คือปริมาณตัวละคร/ตัวประกอบ เรียกได้ว่าฝูงชน นับสิบร้อยหรืออาจจะถึงพัน มีการขยับเคลื่อนไหวที่เป็นตัวของตนเอง ไม่มีใครเหมือนกันเลย ดูไม่ต่างจากฝูงมดตัวเล็กๆ เมื่อเทียบกับ Metropolis แทบไม่มีความสลักสำคัญใดๆ
ผมว่าซีนนี้อธิบายความตั้งใจของผู้สร้างต่ออนิเมะได้อย่างตรงไปตรงมามากๆ กล่าวคือเจ้าปลาตัวใหญ่ที่กำลังแหวกว่ายประดับพื้นหลัง มันชักชวนเรียกร้องให้ตัวละคร/ผู้ชมจับจ้องมองตาตาม จนหลายครั้งหลงลืมหัวข้อสนทนา เนื้อหาสาระว่าพูดคุยอะไรอยู่
คอนเซ็ปของอนิเมะเรื่องนี้คงประมาณว่า ‘เล็กๆไม่น่าสนใจ ใหญ่ๆตราตรึงกว่า’
ก็ด้วยเหตุนี้ระยะภาพส่วนใหญ่จึงคือ Extreme-Long Shot หรือ Long Shot พบเห็นตัวละครขนาดกระจิดริด (เหมือนมดตัวเล็กๆ) เทียบกับสถานที่ ภาพพื้นหลัง ดูแทบไม่มีความหมายอะไร
เทคนิคทางภาพยนตร์ที่ใช้บ่อยก็คือแพนนิ่ง แทรคกิ้ง ซูมเข้า-ออก เวลาเปลี่ยนภาพจะมีลูกเล่นอย่าง Iris Shot ฯ
ใครเคยรับชม Neo Tokyo (1987) ตอน Labyrinth Labyrinthos ที่เป็นผลงานกำกับของ Rintaro น่าจะจดจำชุดของนางเอกที่มีลักษณะกางเกงหลวมๆ แบบเดียวกันกับที่ Tima สวมใส่ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงความมักมาก ไม่รู้เพียงพอดี ซึ่งในบริบทนี้คงคือพลังของเธอมีมากเกินกว่าใครไหนจักสามารถควบคุมบงการ
ซีนน่ารักๆระหว่าง Kenichi กับ Tima สังเกตว่าระยะภาพจะประชิดตัว และมีช็อต Close-Up เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันสนิทสนมชิดเชื้อ รักใคร่ชื่นชอบพอกันของทั้งคู่
หนึ่งในซีนน่าสนใจทีเดียวเกี่ยวกับการเลือกของ Tima ยืนอยู่กึ่งกลางบันไดบนผืนหิมะ ระหว่างชายสองที่ไม่รู้จัก Rock กับ Shinsaku Ban ส่วนเพื่อนสนิทหนึ่งเดียว Kenichi กลับนอนแน่นนิ่งหมดสติอยู่ด้านหลัง แล้วเธอจะตัดสินใจอย่างไรกัน?
ห้องบัลลังก์ของ Tima ดูราวกับตัวต่อเลโก้ยังไงชอบกล แต่แท้จริงแล้วคือรูปลั๊ก สำหรับเสียบสายสัญญาณ สำหรับเชื่อมต่อตนเองเข้ากับทุกสิ่งอย่างทั่วโลก
สายไฟสีแดง (มอบสัมผัสภยันตราย) ระโยงระยางเกี่ยวพันโดยรอบ แต่เฉพาะกับ Tima และ Kenichi กลับส่องสว่างเหลืองทองเป็นประกาย ดวงตาสีเขียวคือสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย ธารน้ำตาดำคือความมืดมิดปกคลุมจิตใจ … ถ้าไม่ใช่เพื่อนรักกันด้วยใจ คงไม่มีใครเสียสละเสี่ยงตายได้ขนาดนี้
จากเคยอยู่ตำแหน่งสูงสุด ค่อยๆถูกผลักไสให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ มาจนถึงจุดสุดท้ายที่ Kenichi พยายามฉุดดึงเหนี่ยวรั้ง Tima ให้ฟื้นคืนสติกลับคืนมา แม้เธอจะค่อยๆเริ่มรู้สึกระลึกได้ แต่ทุกอย่างก็สายเกินแก้ไขไปเสียแล้ว
การเปรียบเทียบตึกระฟ้า Ziggurat กับ Tower of Babel เป็นอะไรที่เจ๋งมากๆเลยนะ มนุษย์พยายามที่จะไต่เต้าขึ้นสูง แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเชื่อว่า จะถูกฟ้าดินลงทัณฑ์ให้ถล่มคลืนลงมา ไม่ใช่จากพระเจ้าหน้าไหน ภัยพิบัติน้อยใหญ่ และมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละจักเป็นผู้ทำลายล้าง
ช็อตท้ายๆของหนัง เมื่อ Kenichi ตัดสินใจปักหลักอาศัยอยู่ Metropolis วิ่งไปหาพรรคพวกที่เป็นหุ่นยนต์ จากความมืดมิดได้รับแสงสว่างสาดส่อง นี่ก็แปลว่าเขาได้ค้นพบเป้าหมายหนทาง ความต้องการของตนเองที่จะ…
ผมค่อนข้างเชื่อว่าคงมีอยู่ไม่น้อยที่ไม่เคยดูหนัง/อนิเมะจนจบ Closing Credit นั่นอาจทำให้คุณพลาดอะไรๆหลายอย่าง ซึ่งวินาทีสุดท้ายของ Metropolis ปรากฎภาพถ่ายร้านรับซ่อมหุ่นยนต์ Kenichi & Tima Robot Company แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่ Kenichi ตัดสินใจกระทำต่อจากนี้ และสังเกตว่ามีหุ่นของ Tima ตั้งโชว์อยู่ตรงกระจก น่าจะใกล้ซ่อมสำเร็จเสร็จแล้วกระมัง
เพลงประกอบโดย Toshiyuki Honda นักดนตรี Jazz ชาวญี่ปุ่น เล่นฟลุตและแซกโซโฟน ร่วมกับเพื่อนก่อตั้งวง Super Quartet และ Native Son มีผลงานภาพยนตร์บ้างประปราย อาทิ A Taxing Woman (1987), Metropolis (2001), Nasu: Summer in Andalusia (2003) ฯ
จัดมาเลยกับ New Orleans-style jazz โลกอนาคตที่เสมือนย้อนยุคทศวรรษ 20s – 30s จังหวะรุกเร้าสนุกสนาน ชวนให้กระโดดโลดเต้น เพลิดเพลินกายใจ ครึกครื้นเครงอารมณ์
บทเพลงที่มีท่วงทำนองตราตรึงหูอย่างมาก El Bombero เริ่มต้นด้วยเสียงเป่าแซกโซโฟนเพี้ยนๆ ฟังเหมือนเสียงไซเรนตำรวจ ทำให้ตัวละครต้องเร่งรีบร้อน วิ่งหลบหนีเอาตัวรอด ซึ่งจังหวะฝีเท้าก็ตามการรัวกลองอย่างเมามัน
มีการนำเอา St. James Infirmary Blues บทเพลง Jazz Standard (โด่งดังสุดจากเสียงขับร้องของ Louis Armstrong) มาเรียบเรียงเป็นหนึ่งในบทเพลงประกอบหนังด้วยนะ
ฉากไคลน์แม็กซ์โคตรตราตรึงกับบทเพลงอมตะ I Can’t Stop Loving You (1958) ขับร้องโดย Ray Charles ไต่ขึ้นอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 เมื่อปี 1962 ยาวนานถึง 5 สัปดาห์ และติดอันดับ 164 ชาร์ท Rolling Stone: 500 Greatest Songs of All Time
ถ้าไม่ได้บทเพลงนี้เติมเต็มความสัมพันธ์ระหว่าง Kenichi กับ Tima ฉากไคลน์แม็กซ์ของอนิเมะจะไร้สาระมากเลยนะครับ ทำไมเขาถึงยินยอมเสียสละตนเองขนาดเพื่อเธอ อธิบายด้วยคำร้องของ I Can’t Stop Loving You อาจทำให้ใครหลายคนน้ำตาไหลพรากๆออกมาโดยไม่รู้ตัว
การสร้างตึกระฟ้าในยุคสมัยแรกๆ ผมไม่คิดว่ามีจุดประสงค์ท้าทายพระเจ้าหรือธรรมชาติหรอกนะ เพื่อให้มนุษย์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้แออัด ยัดเยียด พักอาศัย หรือทำงานอยู่ได้ในบริเวณพื้นที่จำกัดอย่างเต็มประสิทธิภาพ
แต่การสร้างตึกระฟ้าที่สูงเกินไปแบบยุคสมัยนี้ แลดูเหมือนการอ้างอวดดี สะท้อนถึงความทะเยอทะยาน เพ้อใฝ่ฝัน มักใหญ่ใฝ่สูง มนุษย์ต้องการที่จะประสบความสำเร็จ เป็นผู้ชนะอันดับหนึ่ง ครอบครองเจ้าของทุกสิ่ง ยิ่งใหญ่เหนือกว่าใครใต้หล้า เหม่อมองลงมาเสมือนมหาราชา … นี่เรียกว่าเกิดอาการลุ่มหลงระเริง หลอกตัวเอง เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรคือดอกบัว
“ยิ่งสูงยิ่งหนาว” คือสำนวนที่ใช้ได้ดีในบริบทนี้ ซึ่งอนิเมชั่นพยายามสร้างระยะห่างให้ผู้ชมกับตัวละคร รับรู้สึกว่าการอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ แม้รายล้อมด้วยตึกสูง ผู้คนมากมายเดินขวักไขว่ แต่กลับเต็มไปด้วยความเวิ้งว้างว่างเปล่า ไร้ซึ่งจิตวิญญาณสัมผัสจับต้องได้
เว้นเสียแต่เมื่อสองตัวละครพระ-นาง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นมนุษย์-หุ่นยนต์ เมื่อให้ช่วยเหลือกันและกัน สร้างสานสัมพันธ์ เกิดความสนิทสนมชิดใกล้ ความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นภายใน นั่นแหละถึงค่อยทำให้อนิเมะ/โลกทั้งใบนี้มีคุณค่า น่าเสียสละตนเองเพื่ออนาคตวันข้างหน้าที่ดีกว่า
ความตั้งใจของ Rintaro นอกจากเพื่อเคารพคารวะ Osamu Tezuka คงต้องการสะท้อนถึงจิตวิญญาณประเทศญี่ปุ่นยุคสมัยนั้น ที่กำลังก้าวสู่ศตวรรษใหม่ (โปรดักชั่นเริ่มต้นก่อนปี 2000 แต่แล้วเสร็จฉายปี 2001) แม้อะไรๆแตกต่างจากจินตนาการเมื่อหลายทศวรรษก่อนไปบ้าง แต่ต้องถือว่า ‘ส่วนใหญ่’ ยังคงคล้ายคลึงเดิม มนุษย์โหยกระหายในอำนาจ ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการเป็นหนึ่งเหนือใครอื่นใดใต้หล้า แถมกำลังละเลิกมองข้ามคุณค่าทางใจ เงินทอง วัตถุ สิ่งข้าวของ กลายเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดในชีวิตประจำวัน
ตราบใดที่โลกมนุษย์ยังมีทิศทางดำเนินไปเช่นนี้ ก็เสมือนการสร้างตึกสูงที่เสียดฟ้าขึ้นเรื่อยๆ สักวันหนึ่งมันย่อมถล่มลงมา ไม่ใช่พระเจ้าหรือเทวดาหน้าไหน คนกันเองนี่แหละจะเป็นผู้บ่อนทำลาย จากการคอรัปชั่น ความขัดแย้ง สงครามโลกครั้งสามสี่ห้า
ด้วยทุนสร้างสูงถึง ¥1 พันล้านเยน (=$15 ล้านเหรียญ) ทำเงินในญี่ปุ่นเพียง ¥750 ล้านเยน เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาได้มา $4 ล้านเหรียญ ดูแล้วไม่น่าจะได้ทุนคืนสักเท่าไหร่
ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังกับอนิเมะ แต่ก็มีความชื่นชอบเล็กๆในงานสร้าง และบทเพลงประกอบ ตื่นตระการตาแต่ไม่รู้สึกอิ่มหนำภายในจิตใจ
แนะนำคออนิเมะ Sci-Fi แนวหุ่นยนต์ ผจญภัย อ้างอิงจากหนังเงียบ Metropolis (1927), ตื่นตระการตาไปกับงานสร้าง เพลงประกอบ Jazz สุดไพเราะ, แฟนๆผู้กำกับ Rintaro, Katsuhiro Otomo และสนใจผลงานของ Osamu Tezuka ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความคอรัปชั่นของตัวละคร การปฏิวัติ ทำลายล้างทุกสิ่งอย่างราบเรียบเป็นหน้ากลอง
Leave a Reply