Midnight Cowboy (1969) : John Schlesinger ♥♥♥♡
หนังเรต X เรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้ Oscar: Best Picture (เพราะปัจจุบันไม่มีเรต X แล้ว มันเลยไม่มีหนังเรื่องอื่นอีก) ผมเข้าใจมาตลอดว่านี่ต้องป็นหนังเกย์ที่รุนแรง … ก็ไม่ถึงขนาดนั้น และไม่เชิงเกย์ด้วย, นำแสดงโดย Jon Voight ในมาด Cowboy หลงยุค เดินทางเข้าเมืองใหญ่ และ Dustin Hoffman ที่พลิกบทบาทรับบท นักต้มตุ๋นขาพิการ Ratso Rizzo โดยผู้กำกับ John Schlesinger
ผมเคยซื้อแผ่นหนังเรื่องนี้เก็บไว้ที่บ้านเมื่อหลายปีก่อน เพราะรู้ว่าเป็นหนัง Oscar รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสเปิดดูสักครั้ง เพราะหน้าปกหนังมันเขียนตัวโตๆเลยว่า หนังเรต X นี่สร้างความเข้าใจผิดต่อผมมาโดยตลอด และยิ่งรูปบนปก เป็นชายสองคน หนึ่งใส่ชุดคาวบอย จะไม่ให้จินตนาการได้ยังไง ว่านี่ต้องเป็นหนังเกย์ที่ต้องมีฉาก Sex รุนแรงมากแน่ๆ ด้วยเหตุนี้ผลเลยทำใจที่จะดูหนังเรื่องนี้ไม่ได้เสียที, กว่าความเข้าใจนี้จะกระจ่าง ก็ไม่นานมานี้แหละครับ ได้พบว่าความจริงว่า แท้จริงแล้วเรต X มันก็แค่ชื่อเรตติ้งหนึ่งในสมัยก่อน ไม่ใช่ชื่อประเภทหนัง ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็เรต R หรือไม่ก็ NC-17 ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหนังโป๊ (ความเข้าใจของผมคือ หนังเรต X คือหนังโป๊) [ตอนนั้นคิด หนัง X เนี่ยนะได้ Oscar แล้วส่ายหัว]
ก่อนจะดูหนังเรื่องนี้ ผมเตรียมใจไว้พอสมควร แต่โตจนป่านนี้ คงไม่น่ามีอะไรที่รับไม่ได้แล้ว… ดูจบไปสักพักก็รู้สึกว่า มันคนละเรื่องกับจินตนาการผมเลย นี่ก็หนังดราม่าแนวค้นหาชีวิตแรงๆเรื่องหนึ่ง มีฉากที่ออกไปทางเกย์บ้าง แต่ไม่ได้มีอะไรโจ๋งครึ่ม หรือโป๊เปลือยแบบสุดๆ (กับหนัง Erotic เรื่องอื่นยังแรงกว่าเยอะ) กับเรต X ที่หนังได้ตอนนั้น เห็นว่าตอนเปลี่ยนระบบเรตติ้ง ปัจจุบันเทียบได้แค่เรต R เท่านั้นแหละ กับคำโปรยหน้าหนัง ‘หนังเรต X เรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้ Oscar: Best Picture’ มันไม่ใช่แบบที่คุณคิดแน่นอน
ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน แต่งโดย James Leo Herlihy ตีพิมพ์เมื่อปี 1965 นี่ถือเป็นหนึ่งในเรื่องราว Blacklist ของ Hollywood ขณะนั้น เพราะมีเรื่องราวที่โดดเด่น ขณะเดียวกันก็มีความหมิ่นเหม่ด้านจริยธรรมสูงมาก, ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Waldo Salt
กำกับหนังโดย John Schlesinger (1926 – 2003) สัญชาติ British เป็นชาว Jewish เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นนักแสดงในยุค 50s และกลายมาเป็นผู้กำกับในยุค 60s ผลงานหนังเรื่องแรกเป็นสารคดีขนาดสั้น Terminus (1961) ได้รางวัล BAFTA Award, หนังเรื่อง A Kind of Loving (1962) ได้รางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin, Darling (1965) คือหนังที่นำเสนอยุค Swinging London เรื่องแรก, สำหรับ Midnight Cowboy เป็นผลงานกำกับหนังขนาดยาวลำดับที่ 4 ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสร้างถึงอเมริกา และทำให้เขาได้ Oscar: Best Director ไปครอบครองด้วย
เรื่องราวของ hustler 2 คน ที่อาศัยอยู่ในด้านมืดของ New York City, Joe Buck (รับบทโดย Jon Voight) เดินทางมาจาก Texas เพื่อแสวงโชค ชอบแต่งชุดสไตล์ Cowboy พกวิทยุและเคี้ยวหมากฝรั่งตลอดเวลา, Enrico Salvatore “Ratso” Rizzo (รับบทโดย Dustin Hoffman) เป็น con man ขาเป๋ (limp) ที่อาศัยอยู่ใน New York City มานาน มีความฝันอยากไป Florida แต่ไม่เคยเห็นทำงาน ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ
เกร็ด: Hustler ไม่ได้แปลว่า โสเภณี นะครับ เป็นคำแสลงที่หมายถึง คนทำทุกอย่างเพื่อ ‘เงิน’ แต่เป็นการหาเงินอย่างผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด หรือขายตัว
การพบเจอกันของทั้งสอง ถือเป็นเรื่องของความบังเอิญ และการได้พบกันอีกครั้งถือว่าบังเอิญยิ่งกว่า ราวกับโชคชะตากำหนดมาให้ทั้งสองอยู่ด้วยกัน แม้จะไม่ถูกกันก็เถอะ แต่เพราะ Buck ทำให้ Ratso นึกถึงตัวเองตอนที่มาอยู่ New York City ใหม่ๆ และ Ratso ก็ทำให้ Buck นึกถึงตนเองที่เคยมีความฝันอยากมาอยู่ New York City (เพราะ Ratso ก็ฝันอยากไป Florida), ในอีกมุมหนึ่งของหนัง ผมเห็น Ratso คือตัวแทนทัศนคติ หรือ Ego ของ Buck ที่อ่อนปวกเปียก ขาเป๋ (ไม่มีเป้าหมายชีวิต) ป่วยหนักใกล้ตาย (ถ้าจะมโนแบบเพ้อๆ Ratso เปรียบได้กับเพื่อนในจินตนาการของ Buck ด้านมืดของหัวใจ ก่อนที่เขาจะค้นพบตัวเอง ว่าชีวิตมันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีกลีบกุหลาบที่ไหนโรยไว้)
สำหรับ Jon Voight ก่อนหน้านี้เคยรับบทเป็นตัวประกอบ และมีบทนำในหนังเรื่องหนึ่ง แต่ Midnight Cowboy ถือเป็นหนังแจ้งเกิดสำหรับเขาเลย โด่งดังระดับสาวๆกรี๊ด สาวสองหลงใหล ยอดเยี่ยมระดับได้เข้าชิง Oscar: Best Actor ถึงไม่ได้รางวัล แต่ก็การันตีเอาตัวรอดในวงการได้ เชื่อว่าคอหนังสมัยนี้น่าจะยังรู้จัก Voight กันอยู่นะครับ ปู่แกยังมีชีวิตอยู่ (ล่าสุดออกมาด่า Robert DeNiro ว่าเป็น Ugly Rant ที่ไปโพสคลิปด่า Donald Tramp)
Voight เป็นชาว New York เกิดและเติบโตที่นั่น แต่ถ้าไม่บอกหลายคนคงคิดว่าเขาเกิดที่ Texas เป็นแน่ เพราะสำเนียงคำพูด ท่าทาง มันใช่เลย ความไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก Voight สร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวละครนี้ได้น่าจดจำมาก, ไฮไลท์ของเขาคงเป็นสีหน้าตอนโดน Blowjob อยากรู้เป็นยังไงไปดูในหนังเองนะครับ
ส่วน Dustin Hoffman หลังจากแจ้งเกิดกับ The Graduate (1967) แต่นักวิจารณ์ล้วนมีคำครหา ว่าคงไม่โด่งดังไปกว่านี้ เพราะการแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติเกินไป (เหมือนไม่ได้แสดงอะไร) กับหนังเรื่องนี้ Hoffman เลือกที่จะพลิกบทบาท ขอพิสูจน์ให้นักวิจารณ์เห็น ว่าเขาสิ่งที่เขาทำใน The Graduate คือการแสดง โดยการทำในสิ่งที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิง แล้วผลลัพท์ออกมาเป็นธรรมชาติโดยที่สุด, นี่ทำให้เขาได้เข้าชิง Oscar: Best Actor เป็นครั้งที่สอง และการันตีความสามารถกลายเป็นนักแสดงเกรด A คุณภาพทันที
ไฮไลท์ของ Hoffman ขณะที่เขากำลังเดินปวกเปียกข้ามถนน แล้วอยู่ดีๆ Taxi พุ่งมาเกือบจะชนเขา นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในบท แต่เพราะในใจยังจดจ่ออยู่กับตัวละคร ขึ้นเสียงว่า ‘I’m walking here!’ ความสมจริงในคำพูดประโยคนี้ ได้กลายเป็นข้อความฮิตติดปากยอดนิยม ถึงขนาด AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes จัดให้ติดอันดับ 27
เกร็ด: Hoffman ใส่ก้อนหินในรองเท้า ทำให้เวลาเดินเป๋ไปมา
การแสดงของทั้งสอง ต้องบอกว่าโคตรโดดเด่น แม้ Voight จะมีบทมากกว่า แต่ Hoffman ในทุกฉากก็ไม่เคยยอมเขาเลย แถมเคมีทั้งคู่เข้าขากันมาก เห็นเป็นเพื่อนรัก เพื่อนแท้ เพื่อนตาย แต่ก็ฆ่ากันได้เช่นกัน, เห็นว่าระหว่างถ่ายทำ ทั้งสองชอบจะท้าทายซึ่งกันและกัน ‘นั่นดีที่สุด ที่นายจะเล่นได้แล้วเหรอ!’ นี่ช่วยยกระดับการแสดงของทั้งคู่ให้สูงขึ้นไปมากๆ เป็นมิตรภาพของศัตรูเพื่อนร่วมวงการที่น่าประทับใจ แน่นอนว่าทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทกันหลังจากหนังเรื่องนี้
ถ่ายภาพโดย Adam Holender, หนังมี 2 โทนสีที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
– ในจินตนาการ/ความฝัน/Flashback จะมีความสดใส เน้นแสงสีอ่อน เหลือง/ฟ้า ให้ความรู้สึกอบอุ่น กับ Florida ช่วงท้าย หนังเจิดจ้ามาก เหมือนสรวงสรรค์โดยแท้
– กับ โลกความเป็นจริง จะมีความมืดมน เน้นแสงสีเข้ม แดง/ดำ ให้ความรู้สึกเยือกเย็น เห็นชัดมากๆก็ห้องของ Ratsoหรือตอนหิมะตก รู้สึกหนาวเหน็บ เหมือนอยู่ในขุมนรก
หนังมีมุมกล้อง ภาพแปลกๆบ่อยครั้ง ซึ่งล้วนสื่อความหมายแบบตรงไปตรงมา เช่น ถ่ายเท้าขณะเดิน ให้รู้ว่าตัวละครเดิน, ถ่ายทีวีเปลี่ยนช่องขณะมี Sex กัน แทนด้วยอารมณ์ของตัวละคร ฯ กับช็อตที่ฉากบนท้องถนนของ New York City ใช้การถ่ายแบบ Guerilla Unit บางครั้งก็ซ่อนกล้องไว้ เพื่อเก็บภาพบรรยากาศจริงๆของผู้คนที่เดินผ่านไปมา
ช็อตที่ผมชอบสุดในหนัง ตัวละคร Ratso มีค่า 40 Cent
สำหรับ Warhol-esque party หรือ The Factory/Silver Factory อธิบายคร่าวๆ คือเป็นสถานที่รวมตัว สังสรรค์ แลกเปลี่ยน ของศิลปินประเภทแปลกๆ ที่ทั้งมีชื่อเสียงและจับพลัดจับผลูได้รับเชิญ โดยมี Andy Warhol เป็นเจ้าภาพ สถานที่อยู่ใน New York City ไม่เสียค่าใช้จ่าย (แต่ต้องได้รับเชิญถึงจะเข้าร่วมได้), งานปาร์ตี้นี้เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน ทุกสัปดาห์ ในระหว่างที่ Warhol ยังมีชีวิตอยู่ (60s-80s) ผมเรียกโรงงานแห่งนี้ว่า เป็นสถานที่จิตหลุด แหล่งมั่วสุม ของคนที่อ้างตัวเองว่าเป็นศิลปิน ใช้แลกเปลี่ยนทัศนะและ สร้างสรรค์ผลงาน แบบไร้ขอบเขต มีทั้งเสพย์ยา มั่ว Sex ฯ และนี่เป็นสถานที่จุดกำเนิดของ Blue Movie (1969) ด้วย, ในหนังจะมี Warhol Superstars ร่วมแสดงด้วยนะครับ และหนังที่ฉายในงาน ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องอะไร (คงเป็นหนึ่งในหนังของ Warhol นะแหละ)
Roger Ebert นักวิจารณ์ชื่อดังของอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า 2 ตัวละครในหนัง จริงๆแล้วไม่น่ามีโอกาสได้รับเชิญเข้างานปาร์ตี้นี้เป็นแน่ เพราะคงไม่เข้าตาแมวมองของ Warhol (แต่สองคนที่มาเชิญพระเอก นั่นเป็น Warhol Superstar จริงๆนะครับ) แต่ก็มีนักวิจารณ์คนอื่นชี้ว่า งานปาร์ตี้นี้ บางทีขอทานก็ได้รับเชิญ จึงจะไปซีเรียสอะไรกับหนังได้
ตอนที่ผมเห็น Warhol-esque party บอกเลยว่า อึ้ง นี่มัน… The End of the World หรือเปล่าเนี่ย สังคมอเมริกาในยุค 60s มันเสื่อมโทรมได้ขนาดนี้เลยเหรอนี่ แม้ปัจจุบันจะไม่มี Warhol-esque อยู่แล้ว (เพราะ Warhol เสียชีวิตไปตั้งแต่ 1987) แต่ก็คงมีอะไรคล้ายๆนี้เกิดขึ้นอย่างเยอะเลยละครับ ปาร์ตี้มั่ว Sex, มั่วยา ฯ จุดเริ่มต้นมันมาจากนี้นี่เอง
ตัดต่อโดย Hugh A. Robertson, หนังใช้มุมมองของ Joe Buck เล่าเรื่อง ตั้งแต่เดินทางมา New York พบกับผู้คนต่างๆมากมาย และพบกับ Ratso ที่ต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนรัก เพื่อนตาย, หนังยืดเวลาช่วงเดินทางบนรถบัสพอสมควร นี่คงเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงระยะเวลาที่ยาวนาน (ก็รู้สึกว่านานจริงๆนะแหละ), สไตล์การตัดต่อมีการตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบัน กับภาพย้อนอดีต Flashback (นี่เฉพาะกับ Buck)/ความฝัน ความต้องการ และอารมณ์ของตัวละคร (นี่มีทั้งของ Buck และ Ratso), การตัดต่อลักษณะนี้ เพื่อใช้แทนคำอธิบายบางอย่าง ในเชิงสัญลักษณ์ อาทิ สัตว์ประหลาดพ่นไฟ (ในทีวี) หมายถึง ไคลน์แม็กซ์ของ Sex, รถไฟแทนการหลบหนี สวนไปมาไม่พบสักที, จิ้งจกคือตัวประหลาด แตกต่างจากคนอื่น ฯ
เพลงประกอบโดย John Barry ที่เขียนทั้ง Main Theme และดัดแปลงเพลงประกอบ, เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเพลง Everybody’s Talkin สไตล์ Contemporary Folk แต่งเนื้อร้อง/ทำนองโดย Fred Neil ร้องโดย Harry Nilsson เพลงนี้วางขายตั้งแต่ปี 1966 แต่พอได้ประกอบหนังเรื่องนี้ ก็ฮิตติดชาร์ท Billboard Hot 100 สูงถึงอันดับ 6 และได้ Grammy Award ในปีถัดมา
Theme Song ก็ดัดแปลงมาจากทำนองของ Everybody’s Talkin นะครับ, เพลงอื่นที่ดังๆ อาทิ He Quit Me แต่งโดย Warren Zevon ร้องโดย Lesley Miller, Jungle Jim at the Zoo และ Old Man Willow ของ Elephant’s Memory, A Famous Myth และ Tears and Joys ร้องโดย The Groop, ถ้าฟังเนื้อร้องเข้าใจ ก็จะพบว่า มีใจความสอดคล้องกับเรื่องราวเหตุการณ์ขณะนั้นในหนังด้วยนะครับ นี่ถือเป็นความตั้งใจของ Schlesinger ที่เลือกเพลงเหล่านี้ขึ้นมาเลยละ
วัยรุ่นหนุ่มออกจากบ้านนอกต่างจังหวัดเข้าเมืองหลวง ด้วยความฝันจะร่ำรวยมีชื่อเสียงเงินทอง แต่เมื่อได้พบกับโลกแห่งความจริงมันไม่ได้สวยงามดั่งความฝัน, พล็อตแบบนี้คุ้นไหมละครับ มันมีหนังเยอะม๊ากกก จนผมไม่รู้จะยกตัวอย่างเรื่องอะไรมาเปรียบเทียบเลยละ นี่เป็นหนังแนว ‘ค้นหาตัวเอง’ เริ่มต้นจากไม่รู้อะไร พอได้เข้าใจโน่นนี่นั่น ก็จะเริ่มซึมซับ และปรับตัวอาศัยอยู่ได้, กระนั้นสิ่งที่หนังเรื่องนี้แตกต่าง คือนำเสนอเฉพาะมุมมืด (ที่โคตรสว่าง) ของเมืองใหญ่ ถ้าคุณไม่ต้องการทำงานที่สุจริต อะไรบ้างที่จะทำได้ ขายตัว, ขโมยของ, หลอกลวง ฯ นี่ก็เพื่อบอกว่า ‘โลกมันไม่ได้สวยงามอย่างที่ใครๆวาดฝันไว้’
เหตุผลส่วนใหญ่ของคนที่ออกจากบ้านนอกเข้าสู่กรุง แทบทั้งนั้นเต็มไปด้วย ความฝัน ความทะเยอทะยาน อยากร่ำรวย อยากมีชื่อเสียงเงินทอง อยากสุขสบาย ฯ จนกว่าที่ตนจะได้ในสิ่งที่ปรารถนา ก็จะไม่มีวันกลับบ้าน, ความน่ารักของคนประเภทนี้ บางทีก็มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน เช่น เข้ากรุงหาเงินเพื่อแต่งเมีย, ส่งเสียใช้หนี้ให้ที่บ้าน ฯ กับหนังเรื่องนี้ไม่เชิงอธิบายเหตุผลว่าทำไม ใน Flashback บอกแค่ว่า ไม่มีใครเหลือที่บ้าน ย่าเสียไปแล้ว แฟนสาวก็ถูกจับไปไหนไม่รู้ ฯ นี่ทำให้ Buck ไม่มีเป้าหมายอะไรเหลืออยู่ในชีวิต เขาจึงต้องการเริ่มต้นใหม่กับสถานที่ใหม่ๆ เป้าหมายคือขุดทองใน New York City มหานครแห่งความฝัน
คาวบอยในยุค 60s ถือเป็นสิ่งตกยุค ล้าสมัย หมดความนิยมไปแล้ว แต่ถ้าใครสักคนแต่งตัวแบบนี้ เดินอยู่ในเมืองใหญ่ ผิดที่ผิดทางผิดยุคสมัย คนจะมองว่า เขาเป็นผู้ชายขายตัว (ที่ Buck แต่ง Cowboy เพราะย่าบอก เท่ห์ที่สุดในโลก), ผมไม่รู้สมัยนั้นมีแนวคิดลักษณะนี้เกิดขึ้นหรือยังนะครับ แต่สมัยนี้นี่เป็นภาพติดตาตามคลับบาร์ ที่ไหนมีคาวบอย มันจะสื่อถึงสถานที่ควบม้า ของผู้ชายขายน้ำ/ขายตัว (นี่คือเหตุผลที่ผมไม่กล้าดูหนังเรื่องนี้เสียเท่าไหร่) คงเพราะ Cowboy เป็นสัญลักษณ์แทนความหล่อเท่ห์ แมนๆของผู้ชายอกสามศอก ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกตีความในลักษณะ Sex ความรุนแรง ความตื่นเต้น กระบอกปืน ยิงกระสุน … อะไรประมาณนี้
สำหรับ Midnight คือช่วงเวลาที่ท้องฟ้ามืดมิด ในชนบทบ้านนอกอาจยังมีแสงส่องจากดวงดาว แต่ในเมืองหลวงคงมีแต่แสงไฟนีออนสว่างจ้าไปหมด จนไม่เห็นแสงดาว, ชื่อหนัง Midnight Cowboy จึงหมายถึง คนหลงยุคที่อยู่ผิดที่ผิดทาง ในสถานที่ที่มืดมิดไร้เป้าหมาย (แสงจากดวงดาว มักแทนถึงความฝัน ความหวัง เป้าหมาย)
นี่คิดเล่นๆนะครับ หรือว่าความหมายของคาวบอยที่ผมพูดถึงในย่อหน้าก่อน จะเริ่มต้นมาจากหนัง Midnight Cowboy เรื่องนี้
Ratso เป็นชื่อที่บ่งบองถึงตัวละครชัดมากๆ เหมือนหนูที่อาศัยเอาตัวรอดตามท่อน้ำ สถานที่สกปรกโสโครก (อาศัยอยู่ในบ้านที่ถูกทิ้ง) ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเอาตัวรอด ขโมยของ หลอกลวง โดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งนั้น, การที่ Buck ได้พบกับ Ratso ถือได้ว่าเป็นการค้นพบสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในเมืองแห่งนี้ และการได้อาศัยอยู่ด้วยกัน คือการเรียนรู้ ค้นพบตัวเอง ถ้าเขายังขืนปล่อยตัวปล่อยใจ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ชีวิตคงลงเอยไม่ต่างจาก Ratso
กับตอนท้ายที่ Buck และ Ratso เดินทางไป Florida เหมือนกับการได้ละทิ้งทิฏฐิ (Ego) ที่อยู่ในใจของพวกเขา กับเมืองที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง พวกเขากำลังได้เริ่มต้นใหม่, Buck ทิ้งชุดคาวบอยของเขา และตั้งใจจะเลิกเป็น Hustle ส่วน Ratso … มันคงสายเกินไปสำหรับเขาที่จะเริ่มใหม่ แต่จุดสิ้นสุดของสิ่งๆหนึ่ง คือการเริ่มต้นใหม่ของอีกสิ่งหนึ่ง หลับให้สบายเพื่อนเอ๋ย
ทุนสร้าง $3.2 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $44.8 ล้านเหรียญ เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 3 รางวัล
– Best Picture **ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor in a Leading Role (Dustin Hoffman)
– Best Actor in a Leading Role (Jon Voight)
– Best Actress in a Supporting Role (Sylvia Miles) เป็นนักแสดงสมทบที่แสดงออกไม่ถึง 5 นาที แต่ได้เข้าชิง Oscar (เวลาฉายน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าชิง)
– Best Writing, Adapt Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Film Editing
ส่วนตัวผมชอบหนังเรื่องนี้นะ โดยเฉพาะการแสดงเท่ห์ๆ บ้าๆของทั้ง Hoffman และ Voight เหมือนทั้งคู่แข่งอยู่บนเวทีมวยต่อยแลกหมัดกัน อย่างไม่มีใครยอมใคร ความโดดเด่นเกินหน้าเกินตาหนังอย่างมาก แม้องค์ประกอบอื่นๆ อาทิ งานภาพที่แปลกแหวกแนว และลีลาการตัดต่อที่แสนพิศดาร กลับไม่ได้ทำหนังดูน่าสนใจเสียเท่าไหร่
ผมรู้สึกมันเป็นปัญหาด้วยซ้ำในบางครั้ง อย่างการตัดต่อ ที่หลายครั้งเหมือนจงใจให้ผู้ชมตีความได้หลายๆพร้อมกัน เช่น ฉากในโรงหนัง เด็กหนุ่มคนหนึ่งกำลัง blowjob กับ Joe Buck หนังใช้การตัดสลับกับภาพ Flashback ของ Buck นึกถึงตอนมี Sex กับแฟนสาว
– ในบริบทนี้คนทั่วไปจะมองว่า มันอาจคือการจินตนาการความสุขอื่น เพื่อปกป้องตนเองจากความรู้สึกไม่น่าอภิรมย์นี้
– แต่ผมมองว่า Joe Buck เหมือนกำลังเพลิดเพลินกับมัน มีความสุขเหมือนอารมณ์ตอนที่มี Sex กับแฟนสาว (มองแบบนี้ จะเหมือนว่าเขาเป็นเกย์!)
การตัดต่อแบบเปิดกว้างให้วิเคราะห์ จริงอยู่ทำให้ผู้ชมเกิดจินตนาการต่างๆนานามากมาย แต่การไม่ให้คำตอบว่าแท้จริงควรเป็นอะไรนี้ ทำให้หนังดูคลุมเคลือ และไม่สามารถจับต้องได้
แนะนำกับคนชอบหนังประเภทค้นหาตัวเอง, บ้านนอกอยากเข้ากรุง ฯ หรือใครอยากรู้จักตำนานของ Warhol-esque/The Factory ไม่ควรพลาด, แฟนหนัง Dustin Hoffman และ Jon Voight สมัยยังหนุ่มมากๆ หล่อเท่ห์ม๊ากๆ
จัดเรต R กับมุมมืดของ New York
Leave a Reply