Midnight in Paris

Midnight in Paris (2011) hollywood : Woody Allen ♥♥♥♥♡

มนต์เสน่ห์ของ Paris คือสถานที่ที่เหล่าศิลปินมากมายหลากหลายแขนงจากทั่วทุกมุมโลก จิตรกร, นักเขียน, นักร้อง, นักแสดง ฯ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ต่างหลงใหลคลั่งไคล้ สักครั้งหนึ่งต้องการไปเยี่ยมเยือนอาศัยทำงานพักพิง อยู่ในดินแดนแห่งเทพนิยายนี้ จนได้รับการขนานนามว่า ‘เมืองหลวงแห่งศิลปะ’

ปัจจุบัน Paris ยังได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘Capital of Art’ อยู่ไหม? นี่ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ต้องให้คนที่อยู่ในวงการเป็นผู้ตอบตัดสินเอง แต่สำหรับยุคทอง Golden Age ที่ใครๆต่างกล่าวถึง Paris อยู่ในช่วงทศวรรษ 20s – 30s นี่คือดินแดนแห่งโอกาส อิสรภาพอันไร้ขอบเขตจำกัด ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากที่ไหนอย่างไร ผลงานและความสามารถเท่านั้นจะเป็นสิ่งตัดสินโชคชะตาทุกสิ่งอย่าง

ไล่ย้อนกลับไปอีก เท่าที่ผมพอจะหาข้อมูลได้ ก่อนที่ Paris จะมีชื่อเสียงในฐานะ ‘City of Art’ ช่วงประมาณศตวรรษที่ 15-16 ยุค Renaissance เมือง Florence หรือ Firenze ของประเทศอิตาลี ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘เมืองหลวงแห่งศิลปะเรอเนสซองส์’ ไหนจะ Michelangelo Buonarroti, Leonardo da Vinci, Raphael, Sandro Botticelli ฯ ศิลปินเอกของโลกแทบทั้งนั้นในยุคนี้เป็นชาวอิตาเลี่ยน, อิทธิพลในงานศิลปะค่อยๆได้รับการพัฒนาส่งต่อสู่กรุง Paris จนกระทั่งการเกิดขึ้นของ French Revolution (1789 – 1799) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในด้านการเมืองและสังคมของประเทศฝรั่งเศส ทำให้เกิดการเริ่มต้นของยุคสมัย Romanticism บรรดาศิลปินแขนงต่างๆ เกิดความตกหลุมใหลหลงรักในดินแดนอารยธรรมแห่งนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนต่างไหลหลั่งเดินทางเข้ามา จนช่วงปลายศตวรรษ 19 ถึง ต้นศตวรรษ 20 ได้ถือกำเนิดรูปแบบงานศิลปะ อาทิ Impressionism, Symbolism, Art Nouveau, Neo-Impressionism, Divisionism, Fauvism, Cubism, Art Deco, Abstract ฯ กรุง Paris จึงกลายเป็นสถานที่รวบรวมจัดแสดงผลงานที่ล้ำค่า มีพิพิธภัณฑ์สถานเก่าแก่ Louvre (จากพระราชวังกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี 1793 หลัง French Revolution) หรือแม้แต่หอไอเฟล (Eiffel Tower) สร้างขึ้นปี 1889 เพื่อฉลองครบรอบร้อยปีของ French Revolution และกลายเป็นสัญลักษณ์ของผลงานศิลปะชิ้นเอกแห่งยุคสมัย

ไม่รู้เป็นความขัดแย้ง เบื่อหน่าย รำคาญ หรือต้องการหลบหนีอะไรสักอย่าง ผู้กำกับ Woody Allen หลังเสร็จจาก Melinda And Melinda (2004) เดินทางท่องยุโรป เลือกถ่ายทำสร้างภาพยนตร์ในหลายๆประเทศ อาทิ อังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี ฯ (ส่วนใหญ่จะปักหลักอยู่ London) เมื่อปี 2006 ได้หวนระลึกถึงเรื่องสั้นที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1977 ชื่อ The Kugelmass Episode เรื่องราวของศาสตราจารย์ Kugelmass ที่ผิดหวังในความรักกับภรรยาคนที่ 2 แต่เพราะไม่ต้องการเสียหน้ากับการหย่า เลยตัดสินใจมีชู้แต่กลับไม่รู้จะทำอย่างไงดี บังเอิญได้พบกับนักมายากลที่พาเขาย้อนเวลากลับไปหาอดีต พบเจอกับ Emma Bovary (ตัวละครจากนิยายของ Gustave Flaubert เขียนเมื่อปี 1857) ทั้งสองตกหลุมรักจนได้ลักลอบชู้กัน แต่ Kugelmass กลับต้องกลับบ้านทุกวัน เป็นแบบนี้อยู่หลายเดือนจน…

ใครอยากอ่านเต็มๆ ภาษาอังกฤษ: http://www.woodyallen.art.pl/eng/kugelmass_episode.php

ตอน Allen เขียนเรื่องสั้นนี้ Cary Grant ที่เกษียณตัวออกจากวงการไปแล้วหลายปีได้มีโอกาสอ่าน เกิดความสนใจอยากจะแสดงนำ แต่น่าเสียดายที่โปรเจคไม่มีโอกาสเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา, ตอนปี 2006 ก็เช่นกัน สามารถหาทุนสร้างหนังได้แล้วด้วย แต่นักแสดงที่ติดต่อไว้ให้รับบทนำ David Krumholtz กับ Michelle Williams กลับไม่มีใครว่าง เลยนำเงินและเวลาไปพัฒนาโปรเจค Cassandra’s Dream (2007)

จนกระทั่งปี 2010 เมื่อ Juliet Taylor ผู้คัดเลือกนักแสดงในหนังของ Allen แทบทุกเรื่อง แนะนำ Owen Wilson ให้มารับบทนำในหนังเรื่องใหม่ ทำให้ Allen ตัดสินใจปรับเปลี่ยนบทภาพยนตร์เล็กน้อยให้เข้ากับลักษณะของนักแสดง

“Owen is a natural actor. He doesn’t sound like he’s acting, he sounds like a human being speaking in a situation, and that’s very appealing to me.”

Owen Cunningham Wilson (เกิดปี 1968) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Dallas, Texas มีเชื้อสาย Irish อพยพมาจาก Massachusetts โตขึ้นเข้าเรียน University of Texas จบศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษ, สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก ร่วมงานกับน้องชาย Luke Wilson และว่าที่ผู้กำกับดังเพื่อนสนิท Wes Anderson สร้างหนังเรื่อง Bottle Rocket (1996) แม้จะไม่ทำเงินแต่ได้รับเสียงวิจารณ์เป็นอย่างดี ตามมาด้วย Rushmore (1998), The Royal Tenenbaums (2001) [เรื่องหลังได้เข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay]

Wilson เป็นนักแสดงที่มักได้รับบทตลก คงเพราะการได้ร่วมงานกับ
– Ben Stiller อาทิ The Cable Guy (1996), Zoolander (2001), Meet the Parents (2000), Night at the Museum (2006) ฯ
– Jackie Chan เรื่อง Shanghai Noon (2000), Shanghai Knights (2003), Around the World in 80 Days (2004) ฯ

นอกจากนี้ยังให้เสียงพากย์ Lightning McQueen ในอนิเมชั่น Cars (2006), ส่วนเรื่องประสบความสำเร็จที่สุดคงคือ Wedding Crasher (2005) คู่กับ Vince Vaughn ประกบ Rachel McAdams

รับบท Gil Pender นักเขียนหนุ่มสัญชาติอเมริกา ผู้หลงใหลในเสน่ห์มนต์ตราของ Paris เดินทางมาท่องเที่ยวกับคู่หมั้นสาวสวย Inez, ช่วงเวลาเที่ยงคืนวันหนึ่ง บังเอิญพบเจอความลับที่ทำให้ตัวเองสามารถย้อนเวลากลับไปในช่วงทศวรรษ 20s – 30s พบเจอศิลปินไอดอลของตนเองมากมาย ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และกล้าตัดสินใจทำอะไรบางสิ่งอย่างเพื่อตัวของตนเอง

ตัวละครนี้แน่นอนว่าคือร่างอวตารของผู้กำกับ Woody Allen ความชื่นชอบหลงใหลในบุคคลทั้งหลาย ก็คือไอดอลคนโปรดทั้งหมด มันคงเป็นความสนุกพิลึกในการยำรวมศิลปินที่ชื่นชอบ ให้มาปรากฎตัวแนะนำช่วยเหลือ แถมตบมุกกวนๆให้กลายเป็นผู้ช่วยคิดพล็อตหนังให้อีก

การแสดงของ Wilson มีความคล้ายคลึงกับ Allen สมัยหนุ่มๆพอสมควร เป็นธรรมชาติ ลื่นไหล มีชีวิตชีวา แต่แค่ไม่เว่อแบบเพ้อเจ้อเรื่องเปื่อย จับต้องได้และมีความขบขันลึกๆแฝงอยู่ (กับจมูกของพี่แกที่ชวนให้อมยิ้มบ่อยครั้ง)

ในบรรดานักแสดงหนังตลกรุ่น Frat Pack (โด่งดังมีชื่อเสียงช่วงกลางยุค 90s) ประกอบด้วย Ben Stiller, Jack Black, Owen Wilson, Luke Wilson, Will Ferrell, Vince Vaughn, Steve Carell ฯ ส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบ Owen Wilson มากที่สุด ในความเป็นธรรมชาติของการแสดง ภาพลักษณ์และคำพูดอ่อนหวานนุ่มนวลที่สุดในกลุ่ม ถ้าจำไม่ผิดก็ตั้งแต่รับชม Wedding Crasher ในโรงภาพยนตร์ ก็ชื่นชอบประทับใจพี่แกมาตั้งแต่ตอนนั้น

Rachel Anne McAdams (เกิดปี 1978) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ London, Ontario (ชื่อเมืองที่แคนาดานะครับ ไม่ใช่ประเทศอังกฤษ) ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบเล่นสเกตลีลา (Figure Skating) ตอนอายุ 18 ชนะการแข่งขันระดับภูมิภาค แต่นั่นเป็นแค่งานอดิเรก (เคยให้สัมภาษณ์ที่เล่นสเก็ต เพื่อเป็นการปรับตัวให้ร่างกายพร้อมกับการแสดงเท่านั้น) ความสนใจของเธอจริงๆคือการแสดง ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ โตขึ้นเข้าเรียน University of Western Ontario คณะศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการแสดง เรียนจบกลายเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่ Necessary Angle Theatre Company ที่ Toronto

เข้าวงการจากการเป็นนักแสดงตัวประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง Shotgun Love Dolls (2001) เล่นหนังเรื่องแรก My Name is Tanino (2001) ตามมาด้วย Perfect Pie (2001) เดินทางสู่ Hollywood สมทบ Rob Schneider กับ Anna Faris เรื่อง The Hot Chick (2002) กลายเป็นที่รู้จักโด่งดังกับ Mean Girls (2004) และ The Notebook (2004)

รับบท Inez คู่หมั้นของ Gil Pender ที่เหมือนจะสนใจแค่ความสำเร็จก้าวหน้าของแฟนหนุ่ม แต่ไม่เคยทำความเข้าใจตัวตน ความต้องการ จิตใจข้างในของเขา ซึ่งตัวเธอทำตัวเหมือนสาววัยรุ่น ชื่นชอบความสนุกสนาน เที่ยวเตร่ และเหมือนว่าจะยังหลงในคารมของ Paul Bates (รับบทโดย Michael Sheen) อดีตแฟนหนุ่มที่หล่อเท่ห์เร้าใจ (แต่เหมือนคนชอบคุยโวโอ้อวด ขี้โม้มากกว่ารู้จริง)

Allen เขียนบทตัวละครโดยมี McAdams อยู่ในใจตั้งแต่แรก

“It would be much more interesting for you to play this kind of character. You don’t want to go your whole life playing these beautiful girls. You want to play some bitchy parts. It’s much more interesting for you.”

จริงๆ McAdams ก็เคยเล่นบทแรงๆมาแล้วหลายเรื่อง อาทิ The Hot Chick (2002), Mean Girls (2004), The Family Stone (2005) ฯ สงสัยเพราะ Allen คงเคยแต่รับชม The Notebook (2004) กระมังเลยพูดแบบนี้, นี่ถือเป็นเหมือนลายเซ็นต์ความน่ารักน่าชังของเธอนะครับ สวยๆแบบนี้แต่ถ้าลึกๆข้างในมีความเร่าร้อนรุนแรงอยู่บ้าง ก็จะทำให้ผู้ชมรู้สึกจับต้องได้ ไม่ใช่แค่นางฟ้าล่องคอยค้างอยู่บนสวรรค์

เกร็ด: Carla Bruni หญิงสาวที่รับบทไกด์พาทัวร์พิพิธภัณฑ์ Rodin ขณะนั้นเธอเป็นภรรยาของอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy

ขอพูดถึงคร่าวๆแล้วกันกับตัวละครย้อนอดีต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

นักร้องนักดนตรี

Cole Porter (1891 – 1964) [รับบทโดย Yves Heck] นักร้องนักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Peru, Indiana มีความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่อายุ 6 ขวบเล่นไวโอลินได้ 8 ขวบเล่นเปียโน 10 ขวบแต่ง Operetta อัจฉริยะแบบนี้ ไม่นานก็ประสบความสำเร็จกับ West End, Broadways [ละครเพลงเรื่อง Kiss Me, Kate (1948) คว้า Tony Award: Best Musical เรื่องแรกของรางวัลนี้], แต่ค่อนข้างล้มเหลวกับ Hollywood, เคยอาศัยอยู่ Paris ฝรั่งเศส ไปๆมาๆหลายครั้งเพราะไม่ชื่นชอบความขัดแย้งและสงครามของอเมริกา

มี 3 บทเพลงของ Porter ในหนังเรื่องนี้ Let’s Do It (Let’s Fall in Love), You’ve Got That Thing และ You Do Something to Me

Josephine Baker (1906 – 1975) [ รับบทโดย Sonia Rolland] นักร้อง นักเต้น (Entertainer) เจ้าของฉายา ‘Black Peral’ เกิดที่ St. Louis, Missouri เป็นนักแสดงผิวสีคนแรกที่ได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง Zouzou (1934) ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสเข้าร่วมกับ French Resistance ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

นักเขียนนิยาย

F. Scott Fitzgerald (1896 – 1940) [รับบทโดย Tom Hiddleston] นักเขียนนิยายสัญชาติอเมริกา เจ้าของผลงาน This Side of Paradise, The Beautiful and Damned, The Great Gatsby และ Tender Is the Night

Zelda Fitzgerald (1900 – 1948) [รับบทโดย Alison Pill] ภรรยาของ F. Scott Fitzgerald ด้วยความสวยไฮโซ นำเทรนด์แฟชั่น ทำให้ได้รับฉายา ‘the first American Flapper’ ผลงานเขียนที่ทำให้พบกับสามีคือ This Side of Paradise (1920) ทั้งคู่ย้ายมาอยู่ Paris ด้วยกันปี 1924

Ernest Hemingway (1899 – 1961) [รับบทโดย Corey Stoll] นักเขียนนิยาย/นักข่าว สัญชาติอเมริกัน เจ้าของรางวัล Nobel Prize in Literature ปี 1954, ตัวตนของ Hemingway เป็นคนกระหายสงคราม เข้าร่วมทั้ง WW1, WW2, Spanish Civil War, ปฏิวัติ Cuba ฯ มีสงครามที่ไหนต้องรีบไปเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง งานเขียนของเขาจึงมีความสมจริงจัง คลาสสิก จับต้องได้ และด้วยความที่ซีเรียสกับชีวิตเกินไป สุดท้ายเลือกจบชีวิตด้วยการยิงตัวตาย

Djuna Barnes (1892 – 1982) สัญชาติอเมริกัน นักแต่งนิยาย Lesbian คนแรกๆของโลก เรื่อง Nightwood (1936) (ผู้หญิงที่เต้น Charleston Dance กับ Gil)

T. S. Eliot (1888 – 1965) กวี นักเขียน สัญชาติอังกฤษ เจ้าของรางวัล Nobel Prize in Literature เมื่อปี 1948 ผลงานดัง อาทิ The Love Song of J. Alfred Prufrock (1915), The Waste Land (1922), Four Quartets (1943), Murder in the Cathedral (1935) ฯ

จิตรกร งานศิลปะ

Gertrude Stein (1874 – 1946) [รับบทโดย Kathy Bates] นักเขียนนิยาย บทกวี บทละคร และนักสะสมงานศิลปะสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Allegheny West แถวๆ Pittsburgh, Pennsylvania ย้ายมาอยู่ Paris เมื่อปี 1903 เป็นเจ้าของ Paris Salon ที่ซึ่ง Pablo Picasso, Ernest Hemingway, F. Scott Fitzgerald, Sinclair Lewis, Ezra Pound, Henri Matisse ฯ ชื่นชอบมาพบปะสังสรรค์กันบ่อยครั้ง

ภาพวาดสีน้ำมันด้านหลัง Picasso เป็นผู้วาดให้กับ Stein ประมาณปี 1905 – 1906 (ชื่อภาพ Gertrude Stein) เพื่อขอบคุณที่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง, จุดเด่นของภาพนี้คือดวงตาที่เบี้ยวๆ ตรงกับการวางมาดตัวตนของ Stein อย่างยิ่งเลยละ (Picasso วาดภาพนี้ในช่วง Rose Period)

Pablo Picasso (1881 – 1973) [รับบทโดย Marcial Di Fonzo Bo] จิตรกรเอกของโลกสัญชาติสเปน ด้วยความผิดหวังในการเรียนศิลปะที่ Madrid ตัดสินใจเดินทางสู่ Paris เมื่อเดือนตุลาคมปี 1900 ได้รับการช่วยเหลือจาก Gertrude Stein จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง และสามารถปักหลักใช้ชีวิตอาศัยทำงานอยู่ได้จนเสียชีวิต

Picasso เป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน เปลี่ยนผู้หญิงบ่อยครั้งพอๆกับสไตล์การวาดรูปของตนเอง เท่าที่มีหลักฐานยืนยัน แต่งงาน 2 ครั้ง เมียเก็บอีก 6 มีลูก 4 คนจากผู้หญิง 3 คน

Marion Cotillard รับบท Adriana นี่เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นมานะครับ ไม่ได้มีตัวตนในประวัติศาสตร์, ในหนังเป็นนักออกแบบแฟชั่นดีไซเนอร์ ตกหลุมรักกับ Pablo Picasso ตามมาด้วย Ernest Hemingway และสุดท้ายกับพระเอก Gil Pender เกือบจะได้มีความสัมพันธ์รักชู้สาว แต่…

การแสดงของ Cotillard มีความใสซื่อ จริงใจ (sincerely) น่ารัก อ่อนไหว หนุ่มๆที่ไหนเห็นย่อมต้องตกหลุมรักหลงใหล ในเสน่ห์และชุดแฟชั่นนำสมัยของเธอที่เจิดจรัสเฉิดฉาย

ภาพวาดของ Adriana จริงๆแล้วชื่อ La Baigneuse (The Bather) วาดขึ้นปี 1928 ในยุคอิทธิพลแอฟริกา (African-Influenced) ได้แบบจากหนึ่งในคนรักของ Picasso ไม่แน่อาจชื่อ Adriana จริงๆก็ได้

Henri Matisse (1869 – 1954) [รับบทโดย Yves-Antoine Spoto] จิตรกร ประติมากร และช่างพิมพ์ สัญชาติฝรั่งเศส ถือกันว่าเขามีฐานะเป็นผู้เริ่มต้น Fauvism โดดเด่นในการที่ใช้สีสันตัดกันอย่างลื่นไหลลงตัว ถือเป็น rival คู่ปรับคนสำคัญของ Pablo Picasso

สามศิลปินที่ Moulin Rouge หลังจากรับชมการเต้น Can-Can จะพบกับ

Henri de Toulouse-Lautrec (1864 – 1901) [รับบทโดย Vincent Menjou Cortes] จิตรกรชื่อดังของฝรั่งเศสในยุค Post-Impressionist (ยุคเดียวกับ Cézanne, Van Gogh, Gauguin) มีความโดดเด่นด้านงานพิมพ์ภาพ (printmaker) สเก็ตรูป (draughtsman) และเป็น Illustrator มีสไตล์การวาดรูปที่เด่นชัด ใครเห็นก็น่าจะจดจำได้, Toulouse เกิดในครอบครัวผู้ดีชั้นสูง แต่เพราะพ่อแม่เป็นญาติมีสายเลือดจากบรรพบุรุษเดียวกัน (Inbreeding) ทำให้เขามีร่างกายที่เปราะบางอ่อนแอ ตอนอายุ 13 เกิดอุบัติเหตุกระดูกต้นขาหัก ปีถัดมาหักอีกข้าง กอปรกับการรักษาที่ยังไม่ดีพอ ทำให้ขาของเขาไม่เติบโตไปกว่านี้ (คือร่างกายด้านบนพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ แต่มีขาแคระมีขนาดเท่ากับเด็ก) … สนใจชีวประวัติของชายคนนี้ หาหนังเรื่อง Moulin Rouge (1952) มารับชมดูนะครับ

Paul Gauguin (1848 – 1903) [รับบทโดย Olivier Rabourdin] จิตรกรชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศสยุค post-Impressionist โดดเด่นเรื่องการใช้สีและ Synthetist ที่แตกต่างจาก Impressionism ของ Van Gogh พอสมควร (ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิท เคยอาศัยอยู่ร่วมกัน) … รับชมหนังชีวประวัติของ Van Gogh เรื่องไหนๆ ก็มักได้พบเห็น Paul Gauguin แบบขาดไม่ได้

Edgar Degas (1834 – 1917) [รับบทโดย François Rostain] จิตรกรสัญชาติฝรั่งเศส ถือว่าเป็นผู้ก่อตั้ง Impressionist (แต่เจ้าตัวเรียกสไตล์ของตนเองว่า Realist)

นักแสดง/ผู้สร้างภาพยนตร์

Luis Buñuel (1900 – 1983) [รับบทโดย Adrien de Van] ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Spanish ที่มีผลงานหนังฝรั่งเศส, เม็กซิโก และบางครั้งคราวสเปน ด้วยความรักชื่นชอบในภาพยนตร์ ช่วงวัยหนุ่มเดินทางมาแสวงโชคที่ Paris รู้จักกับ Salvador Dalí [รับบทโดย Adrien Brody] และ Man Ray [รับบทโดย Tom Cordier] กลายเป็นสามสหาย Surrealist มีผลงานดังร่วมกันคือ Un Chien Andalou (1929) และ L’Age d’Or (1930)

เกร็ด: ในหนังจะมีฉากที่ Gil Pender แนะนำพล็อตหนึ่งให้กับ Buñuel เรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่มาร่วมงานเลี้ยง แต่ไม่สามารถเลิกกลับออกจากห้องได้, นี่คือหนังเรื่อง The Exterminating Angel (1962)

ในหนังจะมีพูดถึงงานเลี้ยงของ Jean Cocteau นักเขียน/ผู้กำกับดังสัญชาติฝรั่งเศสที่มีผลงานเอกอย่าง Les Enfants Terribles (1929) [เขียนบท], The Blood of a Poet (1930), Les Parents Terribles (1948), Beauty and the Beast (1946) Orpheus (1950) แต่เจ้าตัวกลับจะไม่โผล่มาให้เห็นหน้า

Juan Belmonte (1892 – 1962)[รับบทโดย Daniel Lundh] นักวิ่งกระทิงสัญชาติสเปน (bullfighter) น่าจะเป็นคนเดียวในวงการเลยกระมังที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME

แซว: สำหรับนักสืบที่หายตัวไปนั้น เขาไปโผล่ในพระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI) [1754 – 1793] ขณะกำลังเกี้ยวพาราสีอยู่กับอัครมเหสี Marie Antoinette

ถ่ายภาพโดย Darius Khondji ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ Iranian-French มีผลงานดังอย่าง Seven (1995), The City of Lost Children (1995), My Blueberry Nights (2007), Amour (2012), Okja (2017) เข้าชิง Oscar: Best Cinematography เรื่อง Evita (1996), กับหนังเรื่องนี้ถือเป็นร่วมงานกับ Allen เป็นครั้งแรก ตามด้วย To Rome with Love (2012), Magic in the Moonlight (2014), Irrational Man (2015)

เป็นครั้งแรกของ Allen ที่ถ่ายทำหนังด้วยกล้อง Digital มีความตั้งใจเพื่อสังเกตข้อแตกต่างที่เกิดขึ้น เปรียบเทียบกับการถ่ายทำด้วยฟีล์มปกติ ถ้ามันสามารถให้ความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมก็อาจใช้ในหนังเรื่องต่อๆไปอีก, พื้นฐานงานภาพของหนังเรื่องนี้ประกอบด้วยสีแดงและความอบอุ่น ‘intensely red, intensely warm’ เพื่อรับเข้ากับสภาพอากาศของกรุง Paris และสัมผัส Nostalgia สวยงามราวกับความฝันเทพนิยาย,

หนังมีลักษณะการถ่ายทำแบบกองโจรแอบถ่าย ไม่ได้ปิดถนนหรือมีงบประมาณมากจ้างตัวประกอบมากมาย สังเกตว่ากล้องมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างจำกัด เพื่อจะไม่เป็นที่สังเกตจากผู้คน, สถานที่ถ่ายทำ อาทิ Giverny, John XXIII Square (ใกล้ๆ Notre Dame), Montmartre, Deyrolle, พระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles), Opéra, Sacré-Cœur, Île de la Cité, และถนนใกล้ๆ Panthéon

(ไว้ถ้าว่างๆมีโอกาส จะกลับมา revisit เขียนถึงสถานที่ถ่ายทำสำคัญๆของหนังนะครับ)

ตัดต่อโดย Alisa Lepselter ขาประจำของ Allen ตั้งแต่ Sweet and Lowdown (1999) ต่อจาก Susan E. Morse ที่ก็ไม่รู้มีปัญหาอะไรต่อกัน, หนังใช้มุมมองของ Gil Pender ที่จะพาเราท่องไปทั่วกรุง Paris ทั้งกลางวันกลางคืน ปัจจุบันและอดีต เรื่องราวดำเนินไปข้างหน้าโดยไม่มีแทรกความฝัน/จินตนาการ/หรือภาพย้อนอดีต (Flashback) ให้ยุ่งสับสน

ไฮไลท์การตัดต่อที่ไม่ต้องบอกใครๆคงสัมผัสได้ คือประมาณ 3-4 นาทีแรกของหนัง กับการนำเสนอภาพ Montage ของกรุง Paris ตั้งแต่เช้ายันค่ำ, ฝนตกแดดออก, ตึกรามบ้านช่อง ท้องถนนผู้คน ฯ ประกอบกับบทเพลง Si tu vois ma mère (1952) [แปลว่า If you see my mother] ของ Sidney Bechet (1897 – 1959) นักแต่งเพลง เล่นแซกโซโฟน แนว Jazz สัญชาติอเมริกา เห็นว่าเป็นนักดนตรี Jazz Saxophonist คนแรกของโลก

เกร็ด: Allen ชื่นชอบ Sidney Bechet มากๆๆ ถึงขนาดตั้งชื่อลูกบุญธรรมกับภรรยา Soon-Yi Previn ว่า Bechet

ความงดงามของ Paris และบทเพลงนี้ ตั้งแต่รับชมครั้งแรกผมก็ฟินจนน้ำลายฟูมปาก แบบเดียวกับหนังเรื่อง Manhattan (1979) ที่เปิดด้วย Rhapsody in Blue ให้ความรู้สึกคล้ายกันคือหลอมละลายกลายเป็นส่วนหนึ่ง สัมผัสรับรู้เข้าถึงจิตวิญญาณของสถานที่แห่งนั้นๆ เกิดความคลั่งอยาก สักครั้งหนึ่งในชีวิตไปย่ำเหยียบ เดินกินลมชมวิว นอนเกลือกกลิ้งดิ้นไปมา อาศัยอยู่เมืองแห่งนี้

Stephane Wrembel นักกีตาร์ Jazz สัญชาติฝรั่งเศส ที่เคยร่วมร่วมงานกับ Allen เรื่อง Vicky Cristina Barcelona (2008) ได้แต่งเพลงหนึ่งประกอบหนังเรื่องนี้ให้โดยเฉพาะ ชื่อว่า Bistro Fada นี่ถ้าไม่บอกว่า Jazz หลายคนคงฟังไม่ออกแน่ เพราะใช้แต่กีตาร์ 2 ตัวดีดแข่งกัน แต่ทำนองนั้นใช่เลยละ มีชื่อเรียกเฉพาะทางว่า Gypsy Jazz

แถมให้อีกเพลงหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากๆ Ballad Du Paris (แปลว่า บทกวีของ Paris) จังหวะ Waltz แต่งโดย François Parisi, เสียง Accordion ถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส ให้สัมผัสที่เรียบง่าย ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน ฟังสบาย ถ้ามีโอกาสกินลมชมวิว นั่งจิบไวน์ มองดูหอไอเฟล มันคงเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ตราตรึงไม่รู้จักลืมจริงๆ

Paris ก็แค่ดินแดนผืนหนึ่งบนแผนที่โลก เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส มีพื้นที่ 105.4 ตารางกิโลเมตร ประชากรเมื่อปี 2015 จำนวน 2.23 ล้านคน ลักษณะทางกายภาพดูไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ แต่ดินแดนแห่งนี้ศศวรรษที่ผ่านมา เต็มไปด้วยเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของผู้ชื่นชอบหลงใหลในงานศิลปะ ศิลปินมากหน้าหลายตาเดินทางหลั่งไหลเข้าสู่ หลายคนกลายเป็นตำนานเล่าขาน สร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่นทั่วผืนพิภพโลกา ความสวยงามอันยิ่งใหญ่เลอค่านี้ พบเจอได้ทางจินตภาพ/มโนทัศน์เท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถมองเห็นได้แน่นอน

สำหรับคนที่ต้องการสัมผัสทำความเข้าใจ มองเห็นรับรู้ความสวยงามของ Paris ให้ได้นั้น อย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจว่า ‘ศิลปะ คืออะไร?’

ศิลปะ (Art) คือกิจการที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ แสดงออกจากความรู้สึกนึกคิด อารมณ์จากมโนภาพ ที่ได้จากความจริงหรือจินตนาการคิดฝันขึ้น โดยใช้วิจิตรศิลป์ (Fine Art) เป็นสื่อกลางให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจในอุดมการณ์นั้น, ด้วยเหตุนี้งานศิลปะที่มีคุณค่า จึงสร้างสรรค์ขึ้นจากการแก้ปัญหาที่ต้องใช้ปัญญาอันสูงส่ง จนมีความเชื่อกันว่า มนุษย์เท่านั้นเป็นผู้มีสติปัญญา ในระดับขั้นที่สามารถแก้ปัญหาและสร้างสรรค์งานศิลปะได้

วิจิตรศิลป์ (Fine Art) ในอดีตเริ่มต้นจากมี 5 ประเภท ต่อมาเพิ่มเป็น 7 ปัจจุบันในบางตำราถือว่ามี 8 ประเภท เรียงตามลำดับได้ดังนี้
1. จิตรกรรม (Painting)
2. ประติมากรรม (Sculpture)
3. สถาปัตยกรรม (Architecture)
4. วรรณกรรม (Literature)
5. คีตกรรม (Music)
6. นาฏกรรม (Drama)
7. ภาพยนตร์ (Cinema)
8. ภาพถ่าย (Photo)

ถ้าคุณสังเกตหนังเรื่องนี้โดยละเอียด จะพบว่ามีครบถ้วนในวิจิตรศิลป์ทุกแขนง เพราะสถานที่นี้คือ ‘ดินแดนแห่งศิลปะ’ ศูนย์รวมผู้คนจากทุกวงการศิลป์ ที่ต่างหลั่งไหลมุ่งสู่ เติมเต็มความฝันจินตนาการของตนเอง เดินไปที่ไหน ตามตรอกซอกซอย ก็พบแต่คนที่เรียกตัวเองศิลปิน แบบนี้ไม่ให้เรียก Paris ว่า ‘เมืองหลวงแห่งศิลปะ’ ได้อย่างไร

คนที่มีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ดินแดนแห่งนี้ไม่ว่ายุคสมัยไหนยังคงเต็มเปี่ยมด้วยโอกาส อยู่ที่คุณจะกล้าไขว่คว้า เอาชนะตัวเอง ลุกขึ้นมาทำบางสิ่งอย่างหรือเปล่า, ก็แบบตัวละคร Gil Pender ที่มีความหวั่นวิตกลังเลใจในช่วงแรกๆ เพ้อฝันต้องการอาศัยอยู่ที่กรุง Paris ทำงานเป็นนักเขียนหนังสือ ขาดก็เพียงแต่ความกล้าที่จะตัดสินใจทำ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความมั่นใจเด็ดเดี่ยว คือกำลังใจที่ได้พบเจอจากความคิด/จินตนาการ/แฟนตาซี ของตนเอง … (พล็อตแบบนี้คล้ายกับหนังเรื่อง The Purple Rose of Cairo เลยนะครับ)

ใช่ว่าทุกคนจะเห็นความสวยงามนี้, ก็แบบแฟนสาว Inez มนุษย์เกิดมายังมีสูงต่ำดำขาว ความสามารถในการรับรู้เข้าใจ มองเห็นความสวยงามของงานศิลปะ เป็นเรื่องของผู้มีรสนิยม สติปัญญา เรียกว่าหัวสูงคงไม่ผิดอะไร รับชมหนังเรื่องนี้แล้วยังไม่เข้าใจว่า ทำไม Paris ถึงเป็นที่หลงใหลคลั่งไคล้ของเหล่าศิลปิน ก็แปลว่าคุณยังไม่ถึงระดับที่สามารถเข้าใจงานศิลปะได้นะครับ

Midnight รัตติกาลยามค่ำคืนดึกดื่นมืดมิด คาบเกี่ยวระหว่างวันเก่า-วันใหม่ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต คนส่วนใหญ่มักใช้ช่วงเวลานี้พักผ่อนหลับ’ฝัน’หวาน แต่สำหรับศิลปินทั้งหลาย ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ผลงาน (เพราะพวกเขาต้องคิด’ฝัน’จินตนาการ ก่อนสร้างงานศิลปะขึ้นมา) มีความมหัศจรรย์สุดพิเศษราวกับเวทย์มนต์

สำหรับใจความของหนัง พูดได้ตรงๆว่านี่คือรสนิยมของผู้กำกับ Woody Allen ที่หลงใหลคลั่งไคล้ Paris ยุค 20s – 30s หรือที่เรียกว่า Lost Generation ว่าไปก็ไม่น่าแปลกนัก เพราะตัวเขาก็มีทัศนะแนวคิดต่อชีวิตไม่ต่างจากคนยุคนี้เท่าไหร่

เกร็ด: Lost Generation เป็นคำเรียกของคนที่เป็นวัยรุ่นช่วงขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (เกิดปีระหว่าง 1883-1900) มีความเบื่อหน่าย อ่อนล้าในชีวิตเพราะพบเห็นสงครามที่โหดร้าย ได้รับผลกระทบเต็มๆจาก Great Depression, คำเรียกนี้มีจุดเริ่มต้นจาก Gertrude Stein และ Ernest Hemingway ที่อยู่ในนิยายเรื่อง The Sun Also Rises (1926)

ช่วงท้ายของหนัง ทิ้งประเด็นชวนให้คิดอย่างน่าสนใจ ‘มนุษย์เรามักไม่ค่อยพึงพอใจกับยุคสมัยสิ่งที่มีอยู่’ ไม่ว่าคนยุคสมัยไหน ชอบที่จะโหยหายกย่องสิ่งที่เป็นอดีตจบสิ้นผ่านมาแล้วทั้งนั้น ลองคิดแทนคนยุคสมัยก่อนดูก็ได้ พวกเขาย่อมต้องไม่ชอบยุคสมัยของตนเอง หลงใหลยกย่อง Golden Age อดีตก่อนหน้านั้นอีก, คงถือได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งวัฏจักรความคิดของมนุษย์ ไม่เคยพอใจกับสิ่งที่ตนมี

หนังเข้าฉายในคืนเปิดเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 2011 ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม ด้วยทุนสร้าง $17 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $56.3 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $151.1 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Woody Allen ไปโดยปริยาย

เข้าชิง Oscar 4 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Original Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Art Direction

แน่นอนว่า Woody Allen ไม่มารับรางวัล พิธีกร Angelina Jolie จึงเป็นผู้กล่าวขอบคุณแทน

ถ้า 3 นาทีแรกของหนัง ไม่สามารถทำให้คุณเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ใน Paris และ/หรือหนังเรื่องนี้ ผมว่าอย่าเสียเวลาปิดทิ้งไปเลยดีกว่านะครับ เพราะนั่นคือช่วงเวลาสวยงามที่สุดของหนังแล้ว ถ้าคุณไม่สามารถรับสัมผัสขณะนี้ได้เลย ช่วงเวลาที่เหลือคงไม่รู้สึกอะไรเพิ่มขึ้นแน่นอน

แต่ถ้ายังฝืนทนดูต่อไป ก็ลองค่อยๆซึมซับองค์ประกอบหลายๆอย่างของหนัง ความสวยงามของภาพ บทเพลงเพราะๆ เรื่องราวแฟนตาซีชวนเพ้อฝัน ค้นให้พบจิตวิญญาณของหนัง นี่เป็นสิ่งที่คุณไม่มีวันมองเห็นได้หรอกนะถ้าไปเที่ยว Paris แต่มันคือสัมผัสของบรรยากาศ เรื่องราวที่ทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้มหลงใหล

ตอนผมดูหนังครั้งแรกบอกเลยว่าแทบคลั่ง รับชมครั้งนี้หนักยิ่งกว่าเดิม เพราะได้เผลอเรอรู้จักตัวละครมากกว่า 80% ของหนังแล้ว! (คุ้นๆว่าตอนดูหนังครั้งแรก รู้จักพวกเขาสัก 10-20% เท่านั้น แต่พอทำบล็อคนี้เรื่อยมา ก็ค่อยๆเรียนรู้จัก…) ความคุ้นเคยกับคนมีชื่อทั้งหลายในหนัง จะทำให้เรายิ่งอิน มีความเข้าใจ รับรู้มุกสอดไส้ มองเห็นความสวยงามที่เลิศหรูเลอค่า ของทั้งเมือง Paris และหนังเรื่องนี้ได้อย่างเต็มอรรถรส

แนะนำกับผู้ชื่นชอบหนังบรรยากาศ หลงใหลใน Paris ฝรั่งเศสยุค 20s – 30s, ศิลปินทุกแขนง จิตรกร/นักเขียน/นักดนตรี/ผู้สร้างภาพยนตร์ ฯ, แฟนๆผู้กำกับ Woody Allen นักแสดง Owen Wilson, Rachel McAdams, Marion Cotillard ฯ

จัดเรต PG กับสุราควันบุหรี่ ความขัดแย้งหย่าร้าง นิดๆหน่อยๆ

TAGLINE | “Midnight in Paris ของ Woody Allen นำเสนอความสวยงามเลอค่าของ Paris ได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: