Milk (2008) : Gus Van Sant ♥♥♥♥
ภาพยนตร์ชีวประวัติ Harvey Milk (1930-78) นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศ และคือเกย์ประกาศตนคนแรกได้รับเลือกตั้งเป็นเทศมนตรี Castro District, San Francisco นำแสดงโดย Sean Penn สวมวิญญาณตัวละครได้สมจริงทุกอณูเคลื่อนไหว ยอดเยี่ยมเกือบๆที่สุดแห่งทศวรรษ
ผมคิดว่าบทบาทนักแสดงนำชายแห่งทศวรรษ 2000s ของ Sean Penn เรื่องนี้ น่าจะเป็นรองเพียง Daniel Day-Lewis จาก There Will Be Blood (2007) นั่นทำให้เจ้าตัวแม้เพิ่งได้ Oscar: Best Actor จากเรื่อง Mystic River (2003) แค่เพียง 5 ปีถัดมาก็สามารถคว้ารางวัลตัวที่สอง ทำเอาผู้ท้าชิง Mickey Rourke จาก The Wrestler (2008) เต็งสองปีนั้นแทบไร้หนทางสู้
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมแบบออกนอกหน้า คือผู้กำกับ Gus Van Sant ปกติแล้วเป็นคนผีเข้าผีออก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ค่อยได้ แต่เรื่องนี้ถ่ายทอดสิ่งที่คือตัวตน ‘จิตวิญญาณ’ ของตนเองออกมา เลยทุ่มเทตั้งใจมากๆเป็นพิเศษ ผลลัพท์ออกมาขึ้นหิ้งเกือบๆสมบูรณ์แบบ
แซว: ผมว่าผู้ชมน่าจะรับรู้โดยสันชาตญาณว่า Gus Van Sant เป็นเกย์ และเห็นว่าประกาศตนด้วย
Harvey Bernard Milk (1930 – 1978) นักการเมืองสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Woodmere, New York ในครอบครัว Lithuanian Jewish วัยเด็กมักถูกกลั่นแกล้งล้อเลียนจากเพื่อนๆเพราะมีโหนกหู จมูกใหญ่ และเท้ายักษ์ นั่นกระมังทำให้เก็บกด เครียดหนัก และค้นพบว่าตนเองเป็นเกย์ ปกปิดไว้มิให้ครอบครัวรับรู้อับอาย, โตขึ้นสมัครทหารเรือ เข้าร่วมรบ Korean War ปลดประจำการยศผู้หมวด ทำงานสอนหนังสือ ขายประกัน ฯ เคยคบหา Craig Rodwell นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศ ที่แม้ตอนนั้นยังไม่ใคร่สนใจเรื่องราวพรรค์นี้ แต่คงต้องถือว่าคือแรงผลักดัน/บันดาลใจ ให้พออายุครบ 40 ปี ครุ่นคิดต้องการกระทำบางสิ่งอย่างขึ้นมาในชีวิต
ภายหลังการเสียชีวิตของ Harvey Milk มีการสร้างสารคดี The Times of Harvey Milk (1984) กำกับโดย Rob Epstein คว้ารางวัลมากมายรวมถึง Oscar: Best Documentary Feature
ต้นปี 1991, ผู้กำกับ Oliver Stone แสดงความสนใจสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติของ Milk พัฒนาบทหนังชื่อ The Mayor of Castro Street แล้วได้ Gus Van Sant ที่เพิ่งสดๆร้อนๆเสร็จจาก My Own Private Idaho (1991) เซ็นสัญญากำกับ
Gus Green Van Sant Jr. (เกิดปี 1952) ผู้กำกับ/นักเขียน/ศิลปิน หนึ่งในผู้บุกเบิก New Queer Cinema สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Louisville, Kentucky ในครอบครัวชนชั้นกลาง ต้นตระกูลเชื้อสาย Dutch ตั้งแต่เด็กมีความสนใจใน Visual Art ทั้งวาดภาพ ถ่ายหนัง เริ่มทำงานโฆษณา ผู้ช่วยผู้กำกับ Ken Shapiro เก็บหอมรอมริดสร้งภาพยนตร์เรื่องแรก Mala Noche (1986) ได้รับคำชื่นชมล้นหลาม สตูดิโอ Universal เคยให้ความสนใจแต่ก็แค่น้ำลาย, ผลงานถัดมา Drugstore Cowboy (1989), My Own Private Idaho (1991) ได้เข้าชิง Independent Spirit Award 6 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
ความตั้งใจของ Gus Van Sant ต้องการนักแสดงนำ Robin Williams แต่เหมือนจะถูกบอกปัด แล้วหาข้อสรุปร่วมกับสตูดิโอไม่ได้เลยถอนตัวออกไปสร้าง Even Cowgirls Get the Blues (1993)
เมื่อปี 2007, Gus Van Sant หวนกลับมาให้ความสนใจชีวประวัติของ Harvey Milk หลังจากอ่านบทหนังส่งต่อจากโปรดิวเซอร์ พัฒนาโดย Dustin Lance Black เพิ่งสร้างชื่อให้ตนเองกับซีรีย์ Big Love (2006-09) ต้องถือว่าเป็นมุมมองนักเขียนรุ่นใหม่ มิได้มีชีวิตพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว แบบนี้ดูเหมาะสมยุคสมัยปัจจุบันอย่างยิ่ง!
Black ใช้เวลาสามปีเต็มพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เห็นว่าจุดเริ่มต้นจากการรับชมสารคดี The Times of Harvey Milk (1984) แล้วตระหนักครุ่นคิดขึ้นได้ว่า
“I just want to do something with this, why hasn’t someone done something with this?”
– Dustin Lance Black
เริ่มต้น 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1970, วันที่ Harvey Milk (รับบทโดย Senn Penn) ก่อนเที่ยงคืนอายุครบ 40 ปี พบเจอตกหลุมรัก Scott Smith (รับบทโดย James Franco) ตัดสินใจอพยพหลบหนีจาก New York City สู่ Castro District, San Francisco ใช้เงิน $1,000 เหรียญสุดท้าย เปิดกิจการร้านถ่ายรูปเล็กๆ รวบรวมสมัครพรรคพวกชาวเกย์ ต่อสู้เรียกร้องสิทธิ และตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกเทศมนตรีประจำ San Francisco เพื่อเป็นกระบอกเสียง ตัวตายตัวแทน สัญลักษณ์แห่งโอกาสและความหวังของชุมชนชาวรักร่วมเพศแห่งสหรัฐอเมริกา
Sean Justin Penn (เกิดปี 1960) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California บุตรชายของผู้กำกับ Leo Penn กับนักแสดง Eileen Ryan ตั้งแต่เด็กมีความสนใจสร้างภาพยนตร์ พี่ชายเป็นนักดนตรี ส่วนน้องกลายเป็นนักแสดงเหมือนกัน และเพื่อนข้างบ้าน Emilio Estevez และ Charlie Sheen, โตขึ้นเริ่มจากตัวประกอบซีรีย์โทรทัศน์ (ที่พ่อกำกับ), ภาพยนตร์เรื่องแรก Taps (1981), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Bad Boys (1983), Dead Man Walking (1995), I am Sam (2001), 21 Grams (2003), คว้า Oscar: Best Actor สองครั้งจาก Mystic River (2003) และ Milk (2008)
รับบท Harvey Milk ชายวัยกลางคน ที่เพิ่งเริ่มต้นค้นหาเป้าหมายชีวิตเมื่ออายุครบ 40 ปี ด้วยสายตาเฉียบแหลม คารมคมคาย เก่งกาจพูดโน้มน้าวจิตใจ ใครๆต่างฝากความหวังให้ ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวรักร่วมเพศให้ดีกว่านี้ ลงรับสมัครเลือกตั้งเทศมนตรี เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนสามารถเอาชนะ เล่นเกมการเมืองเพื่อให้ผ่านร่างกฎหมาย แต่ไม่วายสร้างศัตรูคู่อาฆาตไปทั่ว
นักแสดงได้รับการทาบทามบทบาทนี้ อาทิ Robin Williams, Richard Gere, Daniel Day-Lewis, Al Pacino, James Woods จนกระทั่งเมื่อถึงปี 2007 บุคคลที่อายุและภาพลักษณ์เหมาะสมใกล้เคียงสุดหลงเหลือเพียง Sean Penn
ภาพลักษณ์ของ Penn เพื่อให้ตรงสเป็ค Harvey Milk โหนกหู จมูกใหญ่ เลยมีการใส่อวัยวะเทียม ฟันปลอม คอนแทคเลนส์ รวมถึงปัดแต่งทรงผม (แต่งหน้าโดย Stephan Dupuis) แนบเนียนจนหลายคนไม่ทันสังเกตเห็น, ขณะที่การแสดง ถือว่าสวมวิญญาณเกย์แมน ส่งสายตาหวานๆ น้ำเสียงแต๋วๆ สะบัดมือกวัดแกว่งอย่างรักนวลสงวน ช่างดูเป็นธรรมชาติสมจริง ผู้ชมสามารถเชื่อได้อย่างสนิทใจ ทั้งๆพี่แกไม่ใช่ทั้งไบหรือเกย์
แซว: เมื่อตอนที่ Penn จูบแรกกับ James Franco ส่งข้อความไปบอกภรรยาเก่า Madonna
“I just broke my cherry kissing a guy”.
เธอตอบว่า “Congratulations.”
บทบาทการแสดงนี้ของ Sean Penn ช่างตรงกันข้ามกับ Daniel Day-Lewis เรื่อง There Will Be Blood (2007) แต๋วแตก vs. โคตรแมน สวมวิญญาณตัวละครไปคนละทิศทาง แต่ความสมจริงทรงพลังนั้นต้องยอมให้ ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่แห่งทศวรรษแบบไม่มีใครยอมใคร
สำหรับนักแสดงสมทบ ขอกล่าวถึงเพียงคร่าวๆก็แล้วกัน
Scott Smith ตั้งปณิธานว่าจะไม่เดทผู้ชายอายุเกิน 40 ปี กลับถูกโน้มน้าวด้วยคารมสุดหวานแหววจนตกหลุมรักใคร่ ต้องการทุ่มเททุกสิ่งอย่างให้แต่ติดว่า Milk หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องการเมืองมากเกินไป จนไร้เวลาแห่งความสุขอยู่ร่วม เมื่อถึงจุดๆหนึ่งอดรนทนต่อไปไม่ได้เลยจำต้องเลิกราแยกจาก, รับบทโดย James Franco ที่ใครๆตอนนั้นยังคงจดจำภาพลักษณ์ Harry Osborn หนุ่มหล่อ พ่อรวย นิสัยเอาแต่ใจ จากไตรภาค Spider-Man (2002–2007) ต้องการพลิกบทบาทตนเอง ทำสิ่งท้าทาย แม้การแสดงเรื่องนี้ไม่เน้นขายอะไร แต่ก็สร้างความคาดไม่ถึงให้กับผู้ชม
Cleve Jones หนุ่มน้อยจาก Phoenix จับพลัดจับพลูเข้าตา Harvey Milk ต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิท มือขวา แกนนำคนสำคัญในการเลือกครั้งครั้งถัดๆมา แต่ศักยภาพผู้นำไปไม่ไกลเท่าไหร่, รับบทโดย Emile Hirsch เทพบุตรสุดหล่อ สาวกรี๊ด (หนุ่มๆด้วยกระมัง) ใบหน้าที่ยังอ่อนเยาว์ทำให้ตัวละครดูใสซื่อบริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน แต่ยังขาดประสบการณ์ชีวิต มีอะไรให้ต้องร่ำเรียนรู้อีกมากทีเดียว
Jack Lira หนุ่มชาวเม็กซิกัน ร่อนเร่เดินผ่านร้านถ่ายรูปของ Harvey Milk ถาโถมเข้าใส่ ตกหลุมรักใคร่ราวกับพายุเฮอร์ริเคน แต่ความอ่อนไหวภายใน ร้องเรียกความสนใจเท่าไหร่ก็ไม่ได้ยิน สุดท้ายปลิดชีพตัวเองด้วยการแขวนคอตาย ทิ้งรอยบาดแผลขนาดใหญ่ รักษายังไงก็ไม่หาย, รับบททโดย Diego Luna นักแสดงหนุ่มสัญชาติเม็กซิกัน หลังแจ้งเกิดกับ Y Tu Mamá También (2001) ก็พบเห็นเวียนวนแถวๆ Hollywood แม้ไม่ได้มีบทบาทเด่นอะไร แต่ภาพลักษณ์ให้ก็เพียงพอแล้วกระมัง
Dan White หนึ่งในสมาชิกเทศมนตรี San Francisco แม้แต่งงานมีลูก แต่ก็พอดูออกว่าเป็นอีแอบชอบผู้ชาย ร้องขอให้ Milk ร่วมสนับสนุนผ่านร่างกฎหมายแต่ถูกหักหลัง แค้นฝังหุ่นแต่ก็ไม่สามารถโต้ตอบทำอะไร ที่สุดกลายเป็นความหมกมุ่นต้องการเอาคืนอย่างสาสม, ผมชื่นชอบทรงผมนี้ของ Josh Brolin เป็นพิเศษ ภาพลักษณ์สะท้อนกับความอ่อนแอปวกเปียก พึ่งพาไม่ได้สักเท่าไหร่ของตัวละคร เก็บกดหมกมุ่น เมามายกลายเป็นอันธพาล และท้ายที่สุดแสดงความคลุ้มคลั่งโกรธเกลียด เสียสติแตกออกมา (บทบาทลักษณะนี้ กลายเป็นสไตล์ลายเซ็นต์ Type-Cast ของ Brolin เลยก็ว่าได้นะ)
สำหรับตัวประกอบมากมายที่มาเข้าร่วมขบวนพาเรด ส่วนใหญ่เป็นชาวเกย์ที่พร้อมใจไม่คิดค่าตัว บางคนเดินทางมาจากต่างรัฐ ขอให้ได้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์ชีวประวัติ Harvey Milk ก็เพียงพอแล้ว
ถ่ายภาพโดย Harris Savides (1957 – 2012) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ The Game (1997), Elephant (2003), American Gangster (2007), Milk (2008), The Bling Ring (2013) ฯ
หลายๆฉากของหนังถ่ายทำยังสถานที่จริงเมื่อทศวรรษ 70s อาทิ
– San Francisco City Hall (แม้ได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็เถอะ)
– Castro Street ซึ่งได้ทำการเหมาซื้อตึกทั้งแถบ แล้วก่อสร้างร้านถ่ายรูป, โรงภาพยนตร์ Castro Theatre
ฯลฯ
เพื่อให้ได้สัมผัสของยุค 70s งานภาพจะมีการปรับโทนสีน้ำตาลอ่อนๆ ดูเหมือนฟีล์มเก่าๆ (แต่หนังถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลทั้งเรื่อง) และสอดคล้องกับ Archive Footage (ถ่ายจากฟีล์ม 16mm, 35mm) ที่นำมาเรียงร้อยเข้ากับหนัง
มันอาจมีส่วนจริงที่ว่า ‘คนเป็นเกย์แค่มองตาก็รู้ใจ’ แต่ในกรณีของ Harvey Milk ผมว่าพี่แกมีสายตา/วิสัยทัศน์ที่เฉียบแหลมคมมากกว่า เดินสวนเพียงเศษเสี้ยววินาทีก็สามารถรับรู้ได้ หนุ่มคนนี้แหละพรรคพวกพ้องเดียวกัน
ผู้กำกับ Gus Van Sant ถ่ายทำฉาก Sex Sene ชาย-ชาย ต่อจากนี้ได้อย่างละมุ่นไมสุดๆ ใช้การ Extreme Close-Up ดวงตาจับจ้องมองอีกฝ่ายไม่กระพริบ สัมผัสลูบไล้อย่างนุ่มนวลทะนุถนอม ไม่ใช่ความรุนแรงบ้าพลัง นี่ก่อให้เกิดความฟินไม่ว่าชายหรือหญิงรับชม
การเริ่มต้นด้วย Sex Scene ชาย-ชาย เป็นการประกาศตนของหนังอย่างชัดเจน! ไม่ต้องไปเสียเวลาลุ้นว่าเกย์จริง เกย์แอบ ใครเป็นเกย์ แถมยังโจมตีผู้ชมฝั่งขวาจัดไม่ให้ทันตั้งตัว รับไม่ได้ก็ไม่ต้องดูต่อแค่นั้นเอง!
ผมยังครุ่นคิดไม่ออกว่า ทำไมการเริ่มต้นประกาศตนว่าจะลงสมัครเลือกตั้งเทศมนตรี Harvel Milk ถึงยืนบนกล่องเขียนว่า Soap (แปลว่า สบู่) พื้นฐาน/แรงสนับสนุนผลักดันของเขายังอ่อนแออยู่งั้นหรือ?
รายละเอียดเด่นๆอยู่ตรงโรงภาพยนตร์ด้านหลัง เห็นลิบๆขึ้นป้ายว่า The Poseidon Adventure (1972) ที่เป็นภาพยนตร์แนวหายนะทำลายล้าง (ล้อกับการลงสมัครรับเลือกตั้งของ Milk ไม่ต่างอะไรจากภัยพิบัด/หายนะ)
Harvey Milk ขอความช่วยเหลือจากนายทุน เพื่อหนุนหลังตนเองลงสมัครรับเลือกตั้งเทศมนตรี แต่คนไม่มีพื้นหลังเช่นเขาจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไร!
พร้อมๆกันนี้ระหว่างพูดคุยสนทนา สังเกตว่า Scott Smith ที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง ดำผุดดำว่ายพร้อมปัสสาวะลงในสระน้ำ (สงสัยได้ Milk เป็นครูสอน) นี่ไม่เพียงเป็นการล้อเลียน แต่ยังสะท้อนถึงหลังจิตวิเคราะห์ของ Sigmund Freud จิตใต้สำนึก (ความเป็นเกย์) ยังคงถูกกดทับไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง
เป็นฉากเล็กๆที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่มีงดงามมากๆ, อยู่ดีๆ Harvey Milk ระหว่างเดินกลับอพาร์ทเม้นท์ เกิดอาการหวาดหวั่นสะพรึงกลัวขึ้นมา จินตนาการเพ้อไปว่าอาจกำลังถูกดักซุ่มลุมทำร้าย สังเกตภาพพื้นหลังเบลอหลุดโฟกัสจนเห็นแสงไฟหลากหลายสีเป็นดวงกลมๆ เหล่านั้นสะท้อนได้ถึงดวงจิต ครุ่นคิดมาก ภยันตรายรอยทิศทาง ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะบังเกิดอะไรขึ้น!
เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Scott Smith เริ่มตระหนักขึ้นได้ว่า Harvey Milk หมกมุ่นการเมืองมากเกินไปจนไม่หลงเหลือเวลาว่างสนใจตน นี่เป็นความเห็นแก่ตัวประเภทหนึ่ง ซึ่งเรื่องแบบนี้ของชาวรักร่วมเพศมีความละเอียดอ่อนไหวมากๆ
ตัวละครของ James Franco จับจ้องมองออกไปภายนอกกระจก พบเห็นเงาตนเองสะท้อนขบวนพาเรด นั่นคือสิ่งที่ฉันไม่สามารถก้าวเดินออกไปได้ หลบซ่อนเก็บตัวอยู่ข้างใน ไม่พร้อมเผชิญหน้าภัยตรายจากโลกความจริง
ผิดกับ Harvey Milk ช็อตนี้ยืนอยู่ตรงกระจกพบเห็นเงาสะท้อนเช่นกัน จับจ้องมองฝูงชนกำลังกรีธาเตรียมพลสำหรับเดินพาเรดประท้วงทางการ นั่นทำให้เขามิสามารถหลบซ่อน เก็บกักตัวอยู่ภายในเพื่อใครคนหนึ่ง จำต้องออกไปท่ามกลางฝูงชน ถึงตัวตายก็ยินยอมเสี่ยงเสียสละ
ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว Harvey Milk ต้องเลิกรากับ Scott Smith ช็อตนี้ถ่ายมุมย้อนแสง ทำให้พบเห็นใบหน้าตัวละครปกคลุมอยู่ในความมืดมิด มองไม่เห็นความเศร้าสลดเคล้าน้ำตาของทั้งคู่
การมาถึงของ Jack Lira เปรียบได้กับแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด แล้วอยู่ดีๆทั้งสองก็ถาโถมเข้าหากัน ด้วยแสงไฟสีน้ำเงิน (ล้อกับ Blue Movie) ช่างแตกต่างตรงกันข้ามกับ Sex Scene อื่นๆ ซึ่งนี่คงต้องการสะท้อนความเย็นยะเยือกของความสัมพันธ์ Milk ไม่สามารถหาเวลาให้ได้มากนัก สุดท้ายเลยลงเองด้วยโศกนาฎกรรม
การพบกันระหว่าง Harvey Milk กับ Dan White หลายครั้งจะพบเห็นช่องว่างบริเวณเหนือศีรษะ กินพื้นที่บริเวณมากกว่าใบหน้าตัวละครเสียอีก ราวกับว่าต้องการสื่อถึงโชคชะตา ฟ้ากำหนด มีบางสิ่งชี้นำบงการให้ทั้งคู่กลายเป็นอริ มีความคิดเห็นขัดย้อนแย้ง จนในที่สุด…
กับคนช่างสังเกต การขึ้นปราศัยของ Harvey Milk กี่ครั้งก็ไม่รู้ละ จะพบเห็นมุมกล้องที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างแทบไม่ซ้ำ
– ท่ามกลางฝูงชนมุมเงยขึ้นมา
– หรือช็อตนี้ยืนบนเวที จับจ้องมองลงไปเบื้องล่าง
ฯลฯ
Tosca (1900) คืออุปรากรสามองก์ ประพันธ์โดย Giacomo Puccini (1858 – 1924) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน, คำร้องโดย Luigi Illica และ Giuseppe Giacosa ดัดแปลงจากละครประโลมโลกเรื่อง La Tosca (1887) ของ Victorien Sardou (1831 – 1908) เรื่องราวช่วงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1800 ระหว่างสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (1792 – 1802) ชาวโรม Kingdom of Naples ถูกคุกคามจากการรุกรานของจักรพรรดิ Napoleon โดยเนื้อเรื่องจะแสดงออกถึงการกดขี่ข่มเหง ปมฆาตกรรม และภาวะไม่สงบทางการเมือง
ในหนังจะได้ยินโอเปร่านี้ทั้งหมด 4 ครั้ง
– องก์ 1 บทเพลง Ah, quegli occhi! Quale occhio al mondo แปลว่า What eyes in the world
– องก์ 1 บทเพลง Mia gelosa!
– องก์ 3 บทเพลง E lucevan le stelle แปลว่า And the stars shone
– องก์ 3 บทเพลง Presto! Su! Mario! (ฉากในโรงละคร)
ฉากในโรงละครเป็นความพยายามสื่อว่า สุดท้ายแล้วทุกคนก็สูญเสียชีวิตตายจากไปหมด เฉกเช่นนั้นแล้วฉันจะมีชีวิตต่อไปเพื่ออะไร นั่นคือเหตุผลที่หญิงผู้นั้นกระโดดตึกฆ่าตัวตาย (แทนได้ด้วย Harvey Milk เลยนะนั่น!)
เช้าวันสุดท้ายในชีวิตของ Harvey Milk จะมีสองช็อตตรงกันข้ามที่ตัดสลับกัน
– Milk โทรหาแฟนเก่า Scott Smith สวมสูทนั่งอยู่ท่ามกลางความมืดมิดสนิท (พยากรณ์ความตาย)
– ขณะที่ Dan White ร่างกายเปลือยเปล่า แสงสว่างยามเช้าช่างสว่างจร้าแดดแรง
นัยยะของ Sequence นี้คงประมาณว่า White เกิดความกระจ่างแจ้งในสิ่งที่ตนกำลังจะกระทำต่อไป ส่วน Milk ตกอยู่ในความมืดหม่น อนาคตอันสิ้นหวังกำลังคืนคลานเข้ามา
การเสียชีวิตของ Harvey Milk นอกจากการสโลโมชั่นอย่างเชื่องช้านุ่มนวล จะมีช็อตนี้ที่งดงามมากๆ ทำการ Focus-In และ Focus-Out (ไม่รู้เรียกอะไรเหมือนกันนะ!) ภาพใบหน้าตัวละครสะท้อนกระจก จากนั้นมีการปรับโฟกัสจนพบเห็นโรงละครอย่างชัดเจน จากนั้นปรับกลับมาใบหน้าตัวละครอีกครั้งก่อนถูกยิงอีกนัดเสียชีวิต
นี่คงเป็นการสะท้อนเรื่องราวโศกนาฎกรรมของอุปรากร Tosca สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครหลงเหลือเอาตัวรอดจากสงครามความขัดแย้งนี้
ตัดต่อโดย Elliot Graham สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆอาทิ X-Men 2 (2003), Superman Returns (2006), Steve Jobs (2015) ฯ
ดำเนินเรื่องผ่านคำบรรยายของ Harvey Milk ที่ได้บันทึกไว้ล่วงหน้าก่อนถูกลอบสังหาร มีลักษณะคล้ายพินัยกรรม บันทึกสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของตนเอง ตั้งแต่วันเกิดอายุครบ 40 ปี (จนถึงเสียชีวิต) ซึ่งจะมีการนำเสนอเป็นภาพย้อนอดีต Flashback คู่ขนานกับเสียงพูด
หลายๆครั้งสังเกตจากคุณภาพฟีล์ม คือ Archive Footage ภาพจากเหตุการณ์จริง นำมาผสมผสานคลุกเคล้า กลมกลืนให้เข้ากัน เพื่อสร้างบรรยากาศยุคสมัย 70s โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณจัดสร้างฉาก หรือใช้ CG
เพลงประกอบโดย Danny Elfman ผลงานเด่นๆ อาทิ Good Will Hunting (1997), Batman (1990), Men in Black (1997), Big Fish (2003), Spider-Man (2003), Milk (2008), Alice in Wonderland (2011) ฯ
งานเพลงล้นไปด้วยกลิ่นอายแห่งความหวัง แสงสว่างที่เพิ่งปรากฎขึ้นสุดปลายขอบฟ้า มันอาจจะยังห่างไกลเป้าหมายปลายทางแห่งความใฝ่ฝัน แต่ถ้าไม่ยอมแพ้เดินถอยหลัง สักวันย่อมสามารถก้าวไปถึงเส้นชัยชนะ
นอกจากนี้ยังมีใช้บทเพลงจากศิลปินเลื่องชื่อ ในลักษณะของ Diegetic Music อาทิ
– Queen Bitch แต่ง/ขับร้องโดย David Bowie
– Rock the Boat ขับร้องโดย The Hues Corporation
– Takin’ My Time ขับร้องโดย Victoria Hamilton
– You Make Me Feel (Mighty Real) แต่ง/ขับร้องโดย Sylvester
– Over the Rainbow ฉบับขับร้องโดย Judy Garland
– Wolfgang Amadeus Mozart: Eine Kleine Nachtmusik, K 525
– Johann Sebastian Bach: The Well Tempered Clavier: Book I: Prelude and Fugue No.7 in E flat Major
– Giacomo Puccini: Tosca
ฯลฯ
เรื่องราวชีวประวัติ Harvey Milk ถือว่าสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม ไม่ใช่แค่คนรับรู้ตนเองว่าเบี่ยงเบนทางเพศ เกย์ เลส ไบ ทราน (LGBT) แต่ยังรวมถึงบุคคลปกติทั่วไป ตระหนักถึงยุคสมัยนี้คือทศวรรษแห่งความเสมอภาคเท่าเทียม เลิกได้แล้วการดูถูกเหยียดหยามความแตกต่าง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างชี้นำถึงสิ่งคือประเด็นปัญหาใหญ่ ใครๆไม่ยินยอมรับชาวรักร่วมเพศ ล้วนเกิดจากความเชื่อศรัทธา คำกล่าวอ้างพระเจ้าสร้างมนุษย์ ชาย-หญิง ไม่มีเพศสามสี่ห้า ดังนั้นกลุ่มฮิปปี้ ผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ จึงถูกมองว่าคือความผิดปกติ ไม่สมควรยินยอมรับให้มีจุดยืนในสังคม
ความตายของ Harvey Milk สามารถมองง่ายๆคือกฎแห่งกรรมที่กระทำไว้กับใครบางคน แต่ขณะเดียวกันถ้าครุ่นตามนัยยะที่หนังพยายามสื่อ บุคคลผู้นั้นคืออีแอบ! เก็บกดซ่อนเร้นตัวตน/ความต้องการแท้จริงไว้ภายใน เมื่อถูกกฎกรอบข้อเรียกร้องทางสังคมบีบบังคับ ไม่สามารถหาหนทางอื่นใดระบายออก ท้ายที่สุดกลายเป็นระเบิดเวลา ทำลายทุกสิ่งอย่างขวางหน้าคือศัตรู
ตลกคืออาชญากรคนนั้นเมื่อถูกจำตัวนำขึ้นศาล สามารถรอดพ้นโทษประหาร/ฆ่าคนตายโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยข้ออ้างแก้ต่างว่าวิกลจริตชั่วขณะ อันเนื่องมาจากความซึมเศร้า ทำให้ลดโทษเหลือเพียงจำคุก 7 ปี นั้นสร้างความไม่พึงพอใจแก่ชุมชนชาวเกย์ใน San Francisco นำไปสู่การจลาจลครั้งใหญ่ที่เรียกว่า White Night Riots วันที่ 21 พฤษภาคม 1979
ผมค่อนข้างเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะคงอยู่เหนือกาลเวลา เพราะการนำเสนอของผู้กำกับ Gus Van Sant ดูมีความสด ร่วมสมัย อย่างหนึ่งจากบทของนักเขียนรุ่นใหม่ รับรู้จัก Harvey Milk แค่จากสื่อสิ่งพิมพ์/ภาพยนตร์ ตำนานเล่าขาน มิได้พบเจอหรือรับรู้จักตัวจริง ทั้งหมดจึงคือ ‘ภาพ’ ในความครุ่นคิดจินตนาการ สถานะเปรียบเสมือนไอดอล บุคคลแห่งอุดมคติ
Harvey Milk ถือเป็นบุคคลสัญลักษณ์ของชาว LGBT วีรบุรุษในตำนาน ผู้บุกเบิก เปิดโลกทัศน์ใหม่ ท้าทายอำนาจ ขนบวิถีทางสังคม ทำสิ่งไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดขึ้นได้ จะเรียกว่า ‘George Washington ของชาวรักร่วมเพศ’ คงไม่ผิดกระไร
การเลือกชื่อหนังพยางค์เดียว Milk ดูแล้วคงไม่ได้ตั้งใจสื่อถึงแค่ชื่อของ Harvey Milk อาจจะหมายถึงน้ำนม หรือคือเพศแม่ ผู้หญิง(ในร่างชาย) บุคคลผู้ให้กำเนิด ริแรกเริ่ม/คลอดทัศนคติใหม่ๆให้กับสังคมอเมริกัน
ด้วยทุนสร้าง $20 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $31.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $54.5 ล้านเหรียญ ดูแล้วคงกำไรไม่เยอะเท่าไหร่
หนังถูกมองข้ามจาก Golden Globes ได้เข้าชิงเพียง Best Actor – Drama (Sean Penn) แต่กระแสหลังจากนั้นดีวันดีคืน จนสามารถเข้าชิง Oscar ถึง 8 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Film
– Best Directing
– Best Actor (Sean Penn) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Josh Brolin)
– Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Costume Design
– Best Original Score
ชัยชนะอันท่วมท้นของ Slumdog Millionaire น่าจะเพราะเป็นภาพยนตร์ ‘Feel Good’ เรื่องเดียวที่เข้าชิงชัยในปีนั้น อีกสี่เรื่องต่างมีบรรยากาศตึงเครียด เข้มข้น ไม่ก็เนื้อหาการเมืองรุนแรง The Curious Case of Benjamin Button, Frost/Nixon, The Reader เลยไม่ค่อยถูกใจคณะกรรมการ Academy สักเท่าไหร่
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ประทับใจล้นหลามต่อการแสดงของ Sean Penn และจิตวิญญาณเกย์แมนของ Gus Van Sant ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิดบังซ่อนเร้น
แนะนำคอหนังการเมือง เลือกตั้ง ชีวประวัติ Harvey Milk, นักเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิ สนใจวิวัฒนาการ Gay Rights ในสหรัฐอเมริกา, แฟนๆผู้กำกับ Gus Van Sant และทีมนักแสดง Sean Penn, Josh Brolin, James Franco, Emile Hirsch ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับการเหยียดหยามชาวรักร่วมเพศ ใช้ความรุนแรงตอบโต้/ต่อต้านผู้ชุมนุม
Leave a Reply