Millennium Actress (2001) : Satoshi Kon ♥♥♥♥♥
(27/12/2018) ความฝัน คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีเป้าหมายชีวิต แต่บางครั้งปลายทางมันอาจไม่มีอยู่จริง ต่อให้ฝืนดิ้นสักเท่าไหร่ก็ไปไม่ถึง จนกว่าจะตระหนักครุ่นคิดคำนึงขึ้นเองได้ แก่ตัวแล้วหวนระลึกมองย้อนกลับไป … มันช่างงดงาม และแสนเศร้าสร้อย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
มีบางสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไปภายในจิตใจของผม ระหว่างรับชม Millennium Actress (2001) รอบนี้ครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ละ คงคล้ายๆกับ Casablanca (1942), La Dolce Vita (1960) กาลเวลาผ่านไป วัยวุฒิเพิ่มมากขึ้น ดูภาพยนตร์/อนิเมชั่นที่มีสัมผัสหวนระลึก ‘Nostalgia’ จะเริ่มรู้ซึ้งถึงคุณค่าความทรงจำ และความหมายแห่งชีวิต
มนุษย์ทุกคนคือนักแสดง สวมใส่หน้ากากเนื้อหนังมังสาเพื่อปกปิดบังตัวตน จิตวิญญาณแท้จริงหลบซ่อนภายใน รับบทบาท พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ เวียนวนดั่งวัฏจักรชีวิต ร้อยพันหมื่นแสนล้านปี ชั่วกัปชั่วกัลป์ ก็จนกว่าจะตระหนักครุ่นคิดขึ้นเองได้ ถึงสามารถหลุดออกพ้นจากวัฏฏะสังสาร
Satoshi Kon (1963 – 2010) ผู้กำกับ อนิเมเตอร์ นักเขียน/วาดการ์ตูน สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sapporo, Hokkaido ตั้งแต่เด็กหลงใหลในอนิเมะเรื่อง Space Battleship Yamato (1974), Heidi, Girl of the Alps (1974), Future Boy Conan (1978), Mobile Suit Gundam (1979) ฯ โตขึ้นเข้าเรียนต่อ Graphic Design ที่ Musashino Art University มีผลงาน debut เป็นนักเขียนการ์ตูนสั้น Toriko (1984) คว้ารางวัลนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่ Kodansha’s Young Magazine Award แต่เพราะยังไม่ใช่สิ่งแท้จริงที่ต้องการ สมัครงานเป็นนักวาดพื้นหลังและ Layout Animator เรื่อง Roujin Z (1991), Hashire Melos! (1992), Patlabor 2 (1993), กำกับอนิเมะครั้งแรก ตอนที่ 5 ของซีรีย์ Jojo’s Bizarre Adventure (1994), ร่วมงานกับสตูดิโอ Madhouse เขียนบทตอนหนึ่งของ Memories (1995), และได้รับโอกาสขึ้นมากำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก Perfect Blue (1997)
หลังเสร็จจาก Perfect Blue (1997) ผู้กำกับ Kon มีความต้องการดัดแปลงนวนิยาย Paprika (1993) แต่สืบเนื่องจากบริษัทให้ทุน Rex Entertainment ประกาศล้มละลาย แผนการณ์ดังกล่าวเลยจำต้องพักไว้ก่อน ดิ้นรนเอาตัวรอดจนได้สตูดิโอ Madhouse ชักชวนให้มาร่วมงานใหม่
ดึงตัวนักเขียน Sadayuki Murai ที่เคยร่วมงานดัดแปลง Perfect Blue (1997) ให้มาช่วยพัฒนา Millennium Actress (2001) โดยนำแรงบันดาลใจจากอดีตนักแสดงยุคทองของญี่ปุ่น Setsuko Hara (1920 – 2015) และ Hideko Takamine (1924 – 2010) ที่หลังจากประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุดในชีวิต ก็เลิกร้างรา ห่างหายตัวออกจากวงการภาพยนตร์ไม่หวนกลับมา
กระนั้นเรื่องราวของอนิเมะก็ไม่ได้อ้างอิงชีวประวัติ หรือมีใครไปสัมภาษณ์พวกเขานะครับ หลักๆคือแรงบันดาลใจ แวดล้อมด้วยพื้นหลังยุคสมัย ใส่ความเป็นสากล และมุมมองสายตาคนรุ่นปัจจุบัน
ใครเคยรับชม Perfect Blue (1997) น่าจะสัมผัสได้ถึงใจความคล้ายคลึงราวกับพี่-น้อง เกี่ยวกับหญิงสาวผู้ต้องการเติมเต็มความใฝ่ฝันของตนเอง แต่สิ่งแตกต่างคือไดเรคชั่นนำเสนอ เรื่องนั้นราวกับในสายตาของพวกถ้ำมอง (Stalker) มีความโรคจิตสักหน่อย สร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึง เต็มไปด้วยภยันตรายรอบด้าน, ขณะที่ Millennium Actress (2001) ด้วยความเต็มใจของนางเอกยินยอมเปิดรับ เลยนำเสนอด้วยมุมมองปกติทั่วไป เอ่อล้นด้วยรอยยิ้ม ซาบซึ้งกินใจ
“When I was making Perfect Blue I thought it would be a positive film, but little by little it became negative, darker. That exhausted me in a way. When I started working with the producer on Millennium Actress, I had the intention of making the two films like sisters, through the depiction of the relationship between admirer and idol. So in adapting that relationship I wanted to make Millennium Actress in completely opposite, more positive images.
In this way, these two films are very important for me, because they show the dark side and the light side of the same relationship”.
– Satoshi Kon
เรื่องราวของโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ Genya Tachibana และตากล้อง Kyōji Ida ได้รับโอกาสเดินทางไปพูดคุย สัมภาษณ์ ถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับ Chiyoko Fujiwara อดีตนักแสดงหญิงชื่อดัง ที่อยู่ดีๆก็ห่างหายตัวออกจากวงการบันเทิง ไม่เคยพบเห็นปรากฎตัวต่อหน้าสื่ออีกเลย
Chiyoko Fujiwara (พากย์เสียง วัยเด็ก Fumiko Orikasa, ผู้ใหญ่ Mami Koyama, ชราภาพ Miyoko Shōji ) จากเด็กหญิงสาวธรรมดาทั่วไป มีแมวมองชักชวนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ ทำให้พบเจอบุคคลที่คือความใฝ่ฝัน ตัดสินใจออกเดินทางติดตามเขากลายเป็นนักแสดง คาดหวังสักวันคงได้ใช้ชีวิตร่วมกัน แต่อนาคตนั้นกลับไม่เคยมาถึงสักที ค่อยๆตระหนักครุ่นคิดได้ และวันหนึ่งก็ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ใช้ชีวิตอย่างสงบเรียบง่าย ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้
การออกแบบ Chiyoko จะให้มีความงามสมบูรณ์แบบเลยก็ได้ แต่การใส่ใฝ่เสน่ห์บนใบหน้าถือเป็นการสร้างตำหนิให้กับตัวละคร เพื่อบอกว่าไม่มีใครดีพร้อมทุกสิ่งอย่าง ดวงตากลมโตใสบริสุทธิ์ และผมสั้นแทนความเป็นสาวมั่นใจในตนเองสูง
Genya Tachibana (พากย์เสียงโดย Shōzō Iizuka) คือแฟนคลับของ Chiyoko Fujiwara ที่คงคือแรงบันดาลใจให้เขาเข้าสู่วงการบันเทิง เมื่อครั้นยังหนุ่มแน่นมีโอกาสพบเจอร่วมงาน ให้ความช่วยเหลือ และเห็นวันสุดท้ายที่เธอเดินออกจากกองถ่ายไม่หวนกลับคืนมาอีกเลย
Kyōji Ida (พากย์เสียงโดย Masaya Onosaka) ตากล้องที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ติดตามหัวหน้ามาทำงาน ไม่ได้รู้จักมักคุ้นเคยกับ Chiyoko Fujiwara แต่หลังจากรับฟังการสัมภาษณ์ พบเห็นคนรุ่นเก่าหวนระลึกถึงอดีต แม้ตนเองจะยังไม่เข้าใจอะไรๆนัก แต่ก็พอรับรู้ได้ว่าความทรงจำคือสิ่งงดงามยิ่งนัก
สองตัวละครนี้ออกแบบให้มีลักษณะตรงกันข้าม ทั้งภาพลักษณ์และนิสัย
– Genya ชายร่างใหญ่วัยกลางคน เสียงทุ้มๆ ไว้หนวดเครา สวมสูทผูกไทด์เป็นทางการ ภาพลักษณ์เหมือนผู้ใหญ่ แต่จิตใจเหมือนเด็กน้อยเมื่อพบเจอไอดอลประจำตัว ยินยอมพร้อมเสียสละปกป้องเธอโดยไม่สนตนเอง
– Kyōji ชายหนุ่มหน้ายาวผอมเพรียว ใส่แว่น ชุดสบายๆ น้ำเสียงออกแหลม จู้จี้ขี้บ่น ทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ในคราบเด็กน้อย เวลาแผ่นดินไหวก็เอาตัวเอง(และกล้อง)ให้รอดไว้ก่อน
การดำเนินเรื่องของอนิเมะจะเริ่มจากปัจจุบันหวนระลึก ย้อนกลับสู่อดีตในหลากหลายช่วงเวลา ซึ่งก็จะมีการใช้เฉดสีที่แตกต่างกันสำหรับแบ่งแยก
– ปัจจุบัน ถือว่าโทนสีแบบปกติทั่วไป
– วัยเด็ก Chiyoko มีลักษณะคล้ายซีเปีย ออกเทาๆหม่นๆให้สัมผัสโบร่ำโบราณ
– ตลอดการทำงานเป็นนักแสดง ภาพจะมีสีสันขึ้น แต่จะออกไปโทนน้ำตาล โบร่ำแต่ไม่ถึงขั้นโบราณ
– ในจินตนาการของ Chiyoko พบเห็นแทรกอยู่เรื่อยๆ ท้องฟ้ามีสีฟ้าอร่าม หรือขณะลายเส้นงานศิลปะ Ukiyo-e สีสันจัดจ้านสวยสด (กว่าปกติพอสมควร)
– และการออกเดินทางขึ้นจรวด มุ่งสู่อวกาศอันเวิ้งว้าง อร่ามด้วยสีเหลืองทอง ราวกับความฝันของเธอกำลังจะกลายเป็นจริง
ความท้าทายในงานสร้างอนิเมะเรื่องนี้ อยู่ที่การปรับเปลี่ยนแปลงพื้นหลังไปเรื่อยๆ ระหว่างอยู่บนรถไฟเปิดประตูออกย้อนยุคไป Edo Period สมัยซามูไร, กำลังฝ่าพายุหิมะกลับสวมชุดอวกาศเดินอยู่บนดวงจันทร์ ฯ แทบจะถือได้ว่า พื้นหลังคือตัวละครหนึ่งที่ต้องให้เวลากับการทำอนิเมชั่นเคลื่อนไหวไม่น้อยทีเดียว
ใครช่างสังเกตหน่อยจะพบเห็นนกกระเรียน (Cranes) ปรากฎพบเจออยู่เรื่อยๆ ในความเชื่อของคนญี่ปุ่น คือสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ มั่นคง อายุยืนยาวนาน ร้อยพันปี สะท้อนเข้ากับตัว Chiyoko ไม่เพียงแก่หงักแต่ยังรักมั่นใจเดียวไม่เสื่อมคลาย
เนื่องจากอนิเมะไม่ได้ใช้ Computer Graphic เข้าช่วยในการสร้างภาพ ทุกช็อตที่เห็นเกิดจากการวาดมือ วางเรียงใส่เครื่อง Multiplane Camera ก็ไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้นถึงสามารถใส่รายละเอียดสวยๆ หิมะตกพร้อมตัวละครออกวิ่งไปด้านหน้า ด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่งลักษณะนี้ กว่าจะสำเร็จเสร็จไม่ง่ายเลยนะ
หลายคนน่าจะคาดเดาได้ ฉากนี้รับแรงบันดาลใจจาก Throne of Blood (1957) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ยัยแก่ปีศาจคือ Forest Spirit กำลังนั่งม้วนถักทอเส้นด้าย สัญลักษณ์แห่งโชคชะตาชีวิตมนุษย์
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี Reference ถึงหนังของ Akira Kurosawa อีกหลายเรื่อง อาทิ
– มีซามูไรคนหนึ่งหน้าตาเหมือน Toshirô Mifune จาก Yojimbo (1961)
– Kyōji Ida ถูกธนูกราดยิงเข้ามา หน้าตาขี้เยี่ยวเร็ดราดเหมือน Mifune เรื่อง Throne of Blood (1957)
– บทบาทหนึ่งของ Chiyoko แต่งหน้าเหมือน Lady Kaede จากเรื่อง Ran (1985)
ฯลฯ
ถึงตัวละครจะพูดว่า ‘The Seven Ghosts’ แต่ในอนิเมะ Chiyoko ก็มีบทบาทมากกว่านั้นนะ
– แรกสุดคือรับบทพยาบาล เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปถ่ายทำยัง Manchuria เป้าหมายเพื่อเสาะแสวงหาคนรัก
– ระหว่างนั่งรถไฟขึ้นเหนือ เปิดประตูรถไฟออกมากลายเป็นกุลสตรีชนชั้นสูง (คล้ายๆ Lady Kaede) รีบวิ่งขึ้นไปด้านบนปราสาท ต้องการฆ่าตัวตายตามคนรัก แต่ถูกยัยปีศาจล่อหลอกให้ดื่มน้ำอมตะ
– นินจา รีบเร่งออกเดินทางไปช่วยคนรักที่ถูกจับขังไว้
– เกอิชา ผู้ต้องการติดตามหาคนรัก บังเอิญพบเจอ หมั่นหมายกันว่าจะหวนกลับไปหา
– หญิงสาวบ้านๆในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกจับขังคุก ทรมานเค้นความจริง
– ลูกสาวผู้ไม่ยอมแต่งงาน (ในลักษณะ Ozu-Style)
– ครูสอนหนังสือ ถูกเด็กๆซักถามเรื่องกุญแจ
– นักบินอวกาศ ขึ้นจรวดออกเดินทางมุ่งสู่จักรวาลอันเวิ้งว้างไกลโพ้น
ฯลฯ
แม้ไม่ถึงระดับที่ Osamu Tezuka ทำกับ Cleopatra (1970) ร้อยเรียงงานศิลปะนับสิบร้อยชิ้น หลากหลายยุคสมัย ผ่านขบวนพาเรด Caesar’s Triumph แต่ผู้กำกับ Kon ก็ได้แทรกใส่ภาพวาดงานศิลปะ Ukiyo-e (หรือ Floating World) พบเห็นหลบซ่อนอยู่ตามพื้นหลัง และโลกในจิตนาการของ Chiyoko ระหว่างควบขี่ม้า ขึ้นรถลาก เดินทางก้าวข้ามผ่านกาลเวลา
ตะวันตกดินช็อตนี้งามแท้ จินตนาการของ Chiyoko ถือว่าอยู่ในโลก Ukiyo-e โดยแท้, น่าจะได้แรงบันดาลใจจาก Fine Wind, Clear Morning (1830-32) ผลงานของ Hokusai (1760–1849) ส่วนหนึ่งในคอลเลคชั่น Thirty-six Views of Mount Fuji
โทนสีของท้องฟ้า สามารถบ่งบอกอารมณ์ของตัวละครได้เช่นกัน
– ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะโตเกียวกำลังถูกทิ้งระเบิด ท้องฟ้าสีแดงฉาน สะท้อนถึงอันตราย ความตาย
– จุดจบของสงคราม กรุงโตเกียวและหลายๆเมืองราบเรียบเป็นหน้ากลอง แต่จิตใจ Chiyoko กลับมีความสุขสงบเพราะได้เห็นรูปภาพวาดนี้ ท้องฟ้าสีน้ำเงินสดแจ่มใส แต่ก็ปกคลุมด้วยก้อนเมฆครึ้มๆค่อยๆเคลื่อนเข้าปกคลุม
ไดเรคชั่นของ Sequence นี้ สังเกตให้ดีๆจะมีลักษณะ Ozu-Style เคารพคารวะปรมาจารย์ผู้กำกับ Yasujirō Ozu ด้วยมุมกล้อง Tatami Shot, เวลาสนทนาถ่ายหน้าตรง ตัวละครพูดคุยกับกล้อง, และกาต้มน้ำวางอยู่มุมขวา
ช็อตนี้อาจไม่ชัดเท่าไหร่ ให้สังเกตภาพวาดงานศิลปะที่อยู่ด้านหลังชายคนนี้ บุคคลผู้ใช้มารยาล่อหลอกให้ Chiyoko ตกหลุมรัก แต่งงานครองคู่ มีลักษณะคล้ายผลงานของ Amedeo Modigliani ใบหน้ายื่นยาว สะท้อนตัวตนเป็นคนกลับกลอก ปอกลอก เชื่อถือไม่ค่อยได้ อย่าไว้เนื้อวางใจเป็นอันขาด
หนึ่งในช็อตสวยงามที่สุดของหนัง รอยเท้าย่ำเหยียบลงบนหิมะแทนการเดินทางของชีวิต แต่ไม่นานนักเมื่อลมพัดแรงหรือพายุพัดผ่านไป ร่องรอยเหล่านั้นก็จักค่อยๆเลือนลางจางหาย จนถึงจุดๆหนึ่งก็ไม่หลงเหลือว่าเคยเดินผ่านมา, เรื่องราวของมนุษย์ทุกคนบนโลกก็เฉกเช่นกัน แค่เพียงเศษเสี้ยวผงธุลีของจักรวาล ไม่ได้มีคุณค่าความหมายใดๆทั้งนั้นให้จดจำ
ภาพในจินตนาการของ Chiyoko คือทิวทัศนียภาพของผืนแผ่นดินและท้องฟากฟ้า แรกเริ่มเขียวขจี-สีฟ้าคราม เต็มไปด้วยความสว่างสดใสเริงร่า แต่นานวันเข้ามันเริ่มมืดหมองหม่น ขาวโพลนด้วยหิมะ-พระอาทิตย์ตกดิน และบุคคลที่เคยอยู่ในภาพ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็เลือนลางจางหายไป เป้าหมาย/ความเพ้อฝัน/ความทรงจำ ก็เฉกเช่นเดียวกัน
ทั้ง Sequence การปล่อยจรวด ส่วนใหญ่จะมองแรงบันดาลใจจาก 2001: A Space Odyssey (1968) แต่ผมรู้สึกว่าส่วนหนึ่งรับอิทธิพลจาก Royal Space Force: The Wings of Honnêamise (1987)
การออกเดินทางครั้งสุดท้ายของ Chiyoko เทียบแล้วก็คือสัญลักษณ์แห่งความตาย วิญญาณได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการร่างกาย มุ่งสู่จักรวาลอันเวิ้งว้างว่างเปล่า เบื้องหน้าต่อไปคืออะไรก็ไม่รู้ แต่คาดหวังว่าสักวันจะได้ไปถึงเป้าหมายปลายทางนั้น
ลำดับภาพโดย Satoshi Terauchi รับอิทธิพลเต็มๆจาก 8½ (1963) ของผู้กำกับ Federico Fellini อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝัน-ภาพยนตร์ ผสมผสานคลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างลงตัว
อนิเมะเล่าเรื่องในมุมมองของโปรดิวเซอร์ Genya Tachibana และตากล้อง Kyōji Ida ผ่านการบอกเล่าความทรงจำของ Chiyoko Fujiwara ที่ราวกับว่าทั้งสองได้เข้าไปมีส่วนร่วมรู้เห็น ย้อนเวลากลับสู่อดีตจริงๆ และมักแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้น (เรียกเสียงหัวเราะได้บ่อยครั้งทีเดียว)
(ผมมองเป็นมุกของผู้กำกับ Kon ที่ว่า Kyōji ต้องแบกกล้องถ่ายทำไปด้วยตลอดการเล่าเรื่องย้อนอดีต เพื่อให้เหมือน ‘หนังซ้อนหนัง’ หรือการถ่ายภาพจากความทรงจำ สารคดีชีวประวัติ?)
สำหรับเรื่องราวในความทรงจำของ Chiyoko ไม่เพียงนำเสนอชีวประวัติของตนเอง แต่ยังผ่านภาพยนตร์ที่เธอเคยรับบทบาท โดยฉาก/พื้นหลัง/ตัวละคร ล้วนเคลื่อนคล้อยหมุนเปลี่ยนแปลง มุ่งสู่เป้าหมายเดียวเท่านั้นคือค้นหาชายปริศนา ผู้เป็นเจ้าของกุญแจไขความลับของหัวใจ
วิธีง่ายสุดในการทำความเข้าใจ คือให้สังเกตหาเป้าหมายของตัวละคร ไม่ใช่พยายามครุ่นคิดวิเคราะห์ภาพพื้นหลัง เหตุการณ์ขณะนั้นๆ ตัวละครอยู่ยุคสมัยไหน? สวมบทบาทเป็นอะไร? ทำไม? นั่นเพียงส่วนเติมแต่งเสริมให้มีความต่อเนื่องลื่นไหล ไม่ได้สลักสำคัญต่อเรื่องราวสักเท่าไหร่
เพลงประกอบโดย Susumu Hirasawa (เกิดปี 1954) ตั้งแต่เรียนประถมปีที่ 5 หยิบจับเล่นกีตาร์ไฟฟ้า เล่นเซิฟเก่งจนได้ออกรายการโทรทัศน์ โตขึ้นก่อตั้งวง Mandrake แนว Progressive Rock เล่นทุกอย่างตั้งแต่ Heavy Metal ยัน Kruatrock ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่เพราะเป็นของใหม่ในวงการ กระทั่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น P-Model เมื่อปี 1979 ทำการทดลอง Post-Punk, Experimental Rock พอเอาตัวรอดมาได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งปลีกตัวมาออกอัลบัมเดี่ยว
หลังจาก Hirasawa ได้ทำเพลงประกอบอนิเมะซีรีย์ Berserk (1997) สร้างความประทับใจให้ผู้กำกับ Kon เป็นอย่างมาก ต้องการร่วมงานกันอีกตั้งแต่ Perfect Blue (1997) ก็ไม่รู้ติดอะไร กระทั่ง Millennium Actress (2001) ถือเป็นโอกาสดี ตามต่อด้วยซีรีย์ Paranoia Agent (2004) และ Paprika (2006)
ถึงบทเพลงของ Millennium Actress จะมีความล้ำอนาคต ด้วยสัมผัสของเครื่องดนตรีไฟฟ้า (ออกแนว Progressive Rock) ผิดแผกกับพื้นหลังที่ย้อนยุคไปกว่าครึ่งศตวรรษก่อน แต่ผลลัพท์ออกมากลับมีความกลมกล่อมลงตัว สร้างโลกแห่งความทรงจำที่ทั้งงดงามและแสนเศร้าสร้อย
บทเพลง Chiyoko Theme ถ้าคุณตั้งใจฟังดีๆจะได้ยินคำร้องภาษาไทย 2 ท่อน ซี่งสื่อถีงสิ่งที่ตัวละครพยายามโหยหา แต่กลับไม่เคยได้รับมา เธอจีงเหมือนเพื่อบอกว่าอย่าเอ่ยเลย…
อย่าเอ่ย อย่าเอ่ย อย่าเอ่ยเอ่ยคำว่าชอบ
อย่าเอ่ย อย่าเอ่ย อย่าเอ่ยคำว่ารักเลย
นำบทเพลงตอนจบชื่อ Rotation (LOTUS-2) เรียกย่อๆว่า LOTUS แปลว่า ดอกบัว, สำหรับคนที่อยากเห็น Hirasawa ร้องเล่นคอนเสิร์ตแบบ One-Man-Show สร้างความอึ้งทึ่งให้ผมไม่น้อยเลยละ
‘เป้าหมาย’ เป็นคำที่มนุษย์ประดิษฐ์ปรุงแต่งขึ้น เพื่อตอบคำถามความหมายชีวิต คนเราเกิดมาเพื่ออะไร? ตายแล้วไปไหน? มันต้องมีเหตุผลบางอย่าง ไม่เช่นนั้นทุกสิ่งจักคือความว่างเปล่า
มนุษย์จำเป็นต้องมีเป้าหมายชีวิตหรือไม่? คำตอบคือไร้ความจำเป็น เราสามารถใช้ชีวิตวันๆแบบไม่ต้องครุ่นคิดทำอะไร เอาตัวรอดด้วยสันชาติญาณ สนองกามตัณหาราคะ-โทสะ-โมหะ แต่นั่นหมายถึงบุคคลผู้นั้นไม่แตกต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน กินขี้ปี้เยี่ยวนอน ไม่มีความเจริญมากกว่านั้น
การที่มนุษย์มีสมองเทียบสัดส่วนร่างกายขนาดใหญ่กว่าสัตว์ทุกประเภทบนโลก นั่นทำให้เรามีความคิดอ่าน ถือศีล ทำสมาธิ เกิดสติปัญญา รับรู้ว่าชีวิตไม่ใช่มีแต่การกระทำสนองสันชาติญาณร่างกาย จิตใจคนเราสามารถพัฒนายกระดับให้สูงขึ้นด้วย เมตตา-กรุณา-มุทิตา-อุเบกขา ครุ่นคิดค้นหาวิธีการ ทำอย่างไรถึงเอาชนะการเกิด-ตาย นั่นคือเป้าหมายสูงสุดในวัฎฎะสังสารแห่งนี้
แต่ไม่ใช่ทุกคนสามารถมองเห็นเป้าหมายปลายทางดังกล่าวได้ มันเลยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฝัน’ ถือกำเนิดขึ้นเพื่อลวงล่อหลอกให้มนุษย์ผู้ยังหลงใหลยึดติดในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส เกิดความทะเยอทะยานโหยหา ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของบางสิ่ง ทั้งๆก็อาจไม่รู้หรอกว่าคืออะไร? มีตัวตนจับต้องได้จริงไหม? ขอแค่ให้ได้ขวนขวายไขว่คว้า ก็เกินเพียงพอมูลค่าชีวิตถือกำเนิดขึ้นมา
Millennium Actress นำเสนอการออกเดินทางไล่ล่าความฝันของ Chiyoko Fujiwara พยายามต่อสู้ดิ้นรน ตะเกียกตะกายไขว่คว้า ภาพยนตร์เรื่องแล้วเรื่องเล่า/กลับมาเกิดชาติแล้วชาติเล่า วิ่งเวียนวนอยู่อย่างนั้นไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจบสิ้น
แทบทุกสิ่งอย่างที่คือ ‘ความฝัน’ ล้วนเป็นเป้าหมายจอมปลอม ภาพลวงตา เพื่อสนองเติมเต็มตัณหา ความต้องการส่วนตนเอง เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่ Chiyoko Fujiwara ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ แท้จริงแล้วกลับไม่มีตัวตน ชายผู้นั้นสูญสิ้นชีวิตตายจากไปนมนานแล้วโดยไม่เคยรับรู้ตัว
“It won’t appear tomorrow, but I like This moon better. After the full moon begins to wane. But after fourteen nights, starting tomorrow, I hope to see it again”.
สำหรับคนทั่วไป ช่วงระหว่างการเดินทางไล่ล่าความฝัน มองไปข้างหน้าพบเห็นเป้าหมายปลายทาง (คืน 14 ค่ำ ยังมีพรุ่งนี้พระจันทร์เต็มดวงให้เฝ้ารอคอย) นั่นคือสิ่งงดงามทรงคุณค่าความหมายที่สุดในชีวิต แต่สำหรับผม ตอนที่นางเอกตระหนักครุ่นคิดขึ้นมาได้ หลังจากวิ่งตามความเพ้อฝันมาแสนนาน ในวินาทีไม่มีใครคาดคิดถึง ละทิ้งทุกสิ่งอย่างสร้างสะสมมา เพียงพอแล้วกับความต้องการแห่งชีวิต เทียบกับพุทธศาสนา นั่นคือการตรัสรู้ หลุดพ้นจากวัฏฏะสังสารเลยนะ
แต่อย่างที่บอกไปว่า ไม่ใช่ทุกคนสามารถมองเห็นสิ่งคือเป้าหมายแท้จริงของชีวิต คงไม่ผิดอะไรจะจมปลักอยู่กับความเพ้อฝันหวาน ว่ายเวียนวนอยู่ในวัฎฎะสังสาร สักวันหนึ่งเมื่อเกิดความเบื่อหน่าย คงตระหนักครุ่นคิดขึ้นเองได้ ยังไม่ถึงขั้นตรัสรู้หลุดพ้นก็จักเกิดความเพียงพอ สงบสุขในตนเอง
ยังมีคนอีกมากที่มองว่า ‘เพียงพอ’ แปลว่าพ่ายแพ้ บุคคลผู้ครุ่นคิดเช่นนี้มักยังยึดติดกับคำว่าชัยชนะ กำลังตะเกียกตะกายปีนป่ายมุ่งสู่ยอดเขาสูง จริงอยู่เขาอาจสามารถไต่ถึงยอด แต่เชื่อเถอะอีกไม่นานหรอกก็จะเริ่มรู้สึกตัว เมื่อพบเห็นยอดภูอื่นเสียดฟ้าขึ้นไปอีก หรือถูกเด็กรุ่นใหม่เอาชนะแซงหน้าได้สำเร็จ สักวันนั้นตระหนักขึ้นมาได้ แล้วเป้าหมายปลายทางแห่งชีวิตคืออะไรกัน? วินาทีที่ทุกสิ่งอย่างกระจ่างแจ้ง จักย้อนแย้งสัจธรรมความจริงเข้าหาตนเอง พ่ายแพ้หรือเพียงพอ
แม้อนิเมะจะได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม แต่เพราะออกฉายปีเดียวไล่เลี่ยกับ Spirited Away (2001) ของเจ้าพ่อ Hayao Miyazaki เลยมักถูกมองข้ามไม่สนหัว ในเรื่องคุณภาพต้องถือว่าเทียบเคียง แค่อาจไม่ลุ่มลึกซึ้งเท่า ถึงกระนั้นเชื่อว่าหลายคนคงได้น้ำตาไหลพรากๆ เพราะความซาบซึ้งกินใจ สั่นสะท้านถึงทรวงกว่า
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความทรงจำคือสิ่งมีค่ามากๆสำหรับชีวิต เพราะประสบการณ์ทำให้มนุษย์เรียนรู้ เกิดพัฒนาการ เติบโตขึ้นและเข้าใจถึงสัจธรรมความจริง สามารถใช้เป็นบทเรียนแนะนำสอนสั่งคนรุ่นหลัง ส่งต่อยอดอารยธรรม ได้ทั้งเรื่องดีๆและชั่วร้าย
จัดเรตทั่วไป
คำโปรย | “Millennium Actress คือความทรงจำที่ประเมินค่าไม่ได้ของ Satoshi Kon งดงามทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา”
คุณภาพ | งดงามทรงคุณค่า
ส่วนตัว | เรื่องโปรด
Millennium Actress (2001)
(1/2/2016) อนิเมะฟีล์มวันนี้ เป็นเรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติของ Setsuko Hara หรือที่คนญี่ปุ่นมักจะจดจำเธอได้ในบท Noriko ของ Yasujirō Ozu แต่ใช่ว่าเธอจะเล่นแต่หนังของ Ozu เท่านั้น ยังมีหนังอีกมากที่คนสมัยนี้ไม่รู้จัก การได้ดูหนังเรื่องนี้ก็ทำเอาผมอยากตามหาหนังของเธอหลายๆเรื่องมาดู เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องราวในหนังเรื่องนี้มากขึ้น
ผลิตโดยสตูดิโอ Studio Madhouse ก่อนปี 2001 สตูดิโอนี้มีผลงานขึ้นชื่ออย่าง Ninja Scroll อนิเมะซีรีย์อย่าง Cardcaptor Sakura สมัยนี้คงไม่มีคออนิเมะที่ไม่รู้จักสตูดิโอนี้ ถือว่าเป็นสตูดิโอชั้นนำและมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว (เริ่มทำอนิเมะตั้งแต่ปี 1972)
ผู้กำกับ Satoshi Kon มีผลงาน debut เรื่องแรกคือ Perfect Blue เป็นหนังอนิเมะที่มีความซับซ้อนมาก ผมเคยดูรอบหนึ่งก็ยากที่เข้าใจ Millennium Actress ถือเป็นผลงานเรื่องที่สอง ที่ลดความซับซ้อนลงแต่ไปเน้นเทคนิคการเล่าเรื่องที่แปลก แตกต่าง ผมไม่คิดว่าผู้กำกับ Satoshi Kon จะเคยได้ดู Wild Strawberries หรอกนะ แต่วิธีการเล่าเรื่องโดยใช้ Flashback แล้วให้ตัวละครปัจจุบันเข้าไปอยู่ใน Flashback นั้นด้วย เป็นความเหมือนโดยบังเอิญแน่ๆ ผลงานต่อๆมาของ Satoshi ก็คือ Tokyo Godfather และ Paprika จะเห็นชัดเลยว่าสไตล์ของเขาคือ การสร้างเรื่องราวที่ซับซ้อน คนที่ต้องการจะดูหนังของเขาให้เข้าใจจำต้องดูซ้ำหลายๆรอบ คอยสังเกตแทบจะทุกฉากว่ามีอะไรเกิดขึ้น ผมเปรียบหนังของ Satoshi เหมือนเขาวงกตหรือปริศนาให้เราหาทางออกและหาคำตอบ งานของเขามีแต่ อนิเมชั่นภาพวาด 2 มิติเท่านั้นที่จะทำได้ เพราะเขาสามารถใช้การวาดที่ต่อเนื่อง สร้างความซับซ้อนให้กับภาพเคลื่อนไหว สะท้อนถึงเรื่องราวที่ยุ่งเหยิง อลวล สร้างความฉงนให้คนดู
Millennium Actress ถือว่าไม่มีความซับซ้อนเลย เป็นผลงานเสมือน Healing คนดู บอกว่าผมก็ทำหนังที่คนดูเข้าใจง่ายๆก็เป็นนะ แต่กระนั้นลายเซ็นต์ของผู้กำกับก็ยังชัดเจนอยู่ วิธีการเล่าเรื่องที่ทำให้รู้สึกเหมือนเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ย้อนอดีตทั้งหลาย ในหนังเริ่มเล่าเรื่องจากนักข่าว 2 คนไปสัมภาษณ์อดีตนักแสดงหญิงคนดัง ที่อายุมากและเกษียณไปแล้ว เรื่องราวจะเล่าถึงอดีตของเธอว่าผ่านอะไรมาบ้าง เล่นหนังเรื่องไหนบ้าง โดย 2 นักข่าวราวกับจะเข้าไปเหมือนเป็นคนคอยสังเกตการณ์อยู่ในความทรงจำนั้นด้วย ความแปลกคือ เรารู้ว่า 2 ตัวละครนั้น มันไม่มีตัวตนจริงๆใน Flashback แต่กลับเหมือนว่าทั้งสองคอยช่วยเหลือนางเอกอยู่เรื่อยๆ มันจะเป็นไปได้ยังไงใช่ไหม ผมมองว่าฉากที่เล่าย้อนอดีตทั้งหลาย เปรียบเหมือนจินตนาการของ 2 นักข่าว ที่วาดภาพให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย คิดแค่นี้ก็จบแล้วนะครับ หนังมันไม่ได้แฟนตาซีอะไรเลย เชื่อว่าบางคนอาจจะคิดไปว่า 2 นักข่าวนั้นอาจจะมีความสามารถพิเศษย้อนเวลาอะไรได้ (ที่คิดแบบนั้นเพราะสไตล์ของผู้กำกับคนนี้มันต้องมีเนื้อเรื่องที่ไม่ธรรมดา) ไม่ใช่ครับ เรื่องราวมันไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น นี่เป็นหนังที่ดูง่ายที่สุดของ Satoshi Kon แล้ว
ตอนหนังเรื่องนี้ฉาย Setsuko Hara ยังมีชีวิตอยู่นะครับ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเธอจะได้ดูหนังเรื่องนี้หรือเปล่า หรือมีการสัมภาษณ์จริงเกิดขึ้นหรือเปล่า หนังเขียนบทโดย Sadayuki Murai และ Satoshi Kon ร่วมเกลาบทต่อทีหลัง ภาพหนังทุกเรื่องที่มีใน Millennium Actress มีจริงทั้งหมด ส่วนตัวละครก็มีส่วนหนึ่งจริง แต่ตัวไหนจะแต่งเพิ่มบ้างผมก็ไม่รู้นะครับ เธอเข้าวงการภาพยนตร์ตอนอายุ 15 และเธอ retire ตอนปี 1963 จากนั้นก็ไม่ออกสื่อให้สัมภาษณ์ใดๆอีก ว่ากันว่าเหตุผลที่เธอ retire จริงๆ เพราะปีนั้นเป็นปีที่ Yasujirō Ozu เสียชีวิต และมีข่าวลือออกมาว่า ทั้งคู่แอบชอบคอกัน หลายปีให้หลัง มีคนสัมภาษณ์เธอว่าทำไมถึง retire เธอบอกว่าเธอเป็นคนไม่ชอบการแสดงเลย แต่ที่เล่นหนังก็เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเท่านั้น ในหนังจบที่เธอเสียชีวิต แต่ Setsuko Hara เพิ่งมาเสียเมื่อปี 2015 นี่เอง
ทีมพากย์ โดยเฉพาะนางเอก ใช้ถึง 3 คนพากย์ตามช่วงวัยของเธอ Fumiko Orikasa พากย์ตอนเด็ก เธอพากย์ Kuchiki Rukia ใน Bleach สำหรับวัยสาว Mami Koyama เคยพากย์ Arale ใน Dr.Slump ส่วนวัยชรา Miyoko Shōji คนรุ่นเราคงไม่รู้จักเธอกันแล้ว และยังมีอีก 2 หน่อที่เป็นนักข่าวตัวป่วน Shōzō Iizuka พากย์เป็น Genya จริงๆตัวละครนี้มีนักพากย์ 2 คน วัยเด็กกับวัยโต และอีกคนหนึ่ง Masaya Onosaka พากย์ Kyōji หลายคนอาจจำเสียง Masaya Onosaka ได้ คนนี้ถือว่าดังพอสมควรนะครับ บทดังๆก็ Spandine (One Piece), Shinji Hirako (Bleach)
ผมชอบฉากเปลี่ยนยุคของหนังเรื่องนี้มาก มีทั้งการหมุนกล้อง เลื่อนกล้อง เดินจากฉากหนึ่งไปฉากหนึ่ง จะมีก็แต่อนิเมะ 2 มิติเท่านั้นแหละที่ทำให้ภาพการเปลี่ยนยุคออกมาได้สวยงามขนาดนี้ และที่น่าทึ่งสุดๆคือ การที่หนังแต่ละเรื่องในแต่ละยุค มีจุดที่มีความคล้ายคลึง ต่อเนื่อง และเข้ากับหนังมากขนาดนี้ เชื่อว่าบางคนอาจมองว่ามันดูสับสนวุ่นวายสักนิด แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันสวยงามมากๆ เรียกว่า ความสวยงามในความอลม่านนั้น สีสัน การออกแบบฉากในหนังเราจะเห็นทั้งสีสวยสดสะดุดตา และโทนเข้า สลับไปมาตามอารมณ์ของฉากนั้นๆ ผมชอบฉากเปิดเรื่องมากๆนะ แวบแรกผมนึกถึง Mind Game ตั้งคำถามว่า หนังต้องการฉีกกรอบแนวคิดอะไรแค่ไหนกับฉากที่นางเอกเตรียมขึ้นจรวดออกเดินทาง ใครจะไปคิดว่าความหมายแท้จริงของฉากนี้ คือการที่เธอต้องการกลับมาสู่โลก กลับมาเป็นตัวตนของเธอที่แท้จริง (ที่ไปอยู่ดวงจันทร์ก็เหมือนที่ที่ไม่ใช่ตัวตนของเธอ ใช้คำว่า star ก็ได้) ช่วงท้ายจะมีฉากที่คนบนดวงจันทร์ขอร้องไม่ให้เธอไป แต่สุดท้ายเธอก็ไป (ชีวิตจริงคือเธอ retire) โอ้โหฉากนี้ ชอบสุดๆครับ
เพลงประกอบโดย Susumu Hirasawa เห็นว่า Satoshi Kon เป็นแฟนตัวยงของนักดนตรีคนนี้ สไตล์เพลงของ Millennium Actress มีส่วนผสมที่แปลกๆ ฟังแรกๆรู้สึกเหมือนจะหลอนๆ แต่ดูยิ่งใหญ่อลังการ หลายเพลงใช้เสียงดนตรีพื้นบ้าน เป็นดนตรีที่ฟังแล้วลื่นหู ฟังสบาย ไพเราะมากๆ สังเกตว่าหลายเพลงจะใช้เสียง guitar electric หรือเครื่องดนตรีไฟฟ้าประกอบด้วย ให้ความรู้สึกแปลกๆ ปกติเครื่องดนตรี electric จะใช้กับหนังแนวโลกอนาคต แต่เรื่องนี้มันออกไปทางอดีต เสียง electric สร้างความสับสนวุ่นวาย ซึ่งเข้ากับงานภาพและเรื่องราวที่มีเปลี่ยนฉาก เปลี่ยนยุคสมัยไปเรื่อยๆอย่างเร็วๆได้ลงตัวดี
ผมชอบหนังเรื่องนี้นะครับ แม้โดยรวมมันจะสั้นไปหน่อย และขาดจุดที่จะทำให้เราพีคได้ แต่ถ้ามองว่านี่เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติ ก็ไม่แปลกที่มันจะไม่มีจุดที่ทำให้อารมณ์เราไปถึงจุดนั้น ผมชอบประเด็นของหนังที่ใส่ความรัก การค้นหาเข้ามา เมื่อเรายังเด็กโลกมันช่างห่างไกล เรามีความฝันและอยากทำตามสิ่งที่เราต้องการ เมื่อโตขึ้นได้พบกับโลก ความคิดหลายๆอย่างเปลี่ยน แต่เราจะยังคงไว้ซึ่งความฝันวัยเด็กได้หรือเปล่า เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเราโตพอที่จะนึกคิดกลับมาย้อนดูตัวเอง ความฝันที่เราเคยฝันยังจะจริงอยู่ได้หรือเปล่า หนังทั้งเรื่องดูแล้วรู้สึกเหมือนกับความฝัน แต่มีจุดหนึ่งที่ฉุดเรากลับมาในโลกความจริง คือโลกมันไม่ได้สวยงาม ฝันของเด็กหญิงที่ไม่มีทางเป็นจริง เธอเลือกที่จะไม่รู้ความจริง แต่ขอใช้ชีวิตอยู่กับมัน “ฉันไม่ใช่เด็กหญิงคนนั้นอีกต่อไปแล้ว” เป็นคำพูดที่โดนใจผมมากๆ เมื่อเราโตขึ้นและมองย้อนกลับไปดูตัวเอง มันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะกลับไปเป็นตัวของเราเอง ภาพวาดบนกำแพง ที่ถึงเธอจะโตขึ้นแค่ไหน ความเยาว์ในวัยเด็กนั้นมันเป็นนิรันดร์ที่ไม่มีทางหวนกลับคืนมา ณ เวลานั้น ดูแล้วมันออกเศร้าๆนะ เพราะความฝันที่เด็กหญิงต้องการ แท้จริงแล้วมันจบสิ้นตั้งแต่วันแรกที่เธอคิดถึงมันแล้ว การตายของชายคนที่เธอฝันถึงนั้น ทำเอาผมนึกถึงหนังเรื่อง Atonement เลยครับ บทสรุปลงเอยที่ดูเหมือนคู่พระนางจะลงเอยกันได้ แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นเรื่องที่อีกตัวละครจินตนาการแต่งขึ้นมาให้ความรักทั้งสองสมหวัง ส่วนลูกกุญแจ เป็นอะไรที่ตรงตัวดีนะ ผมอยากรู้เหมือนกันว่าข้างในกล่องที่ใช้กุญแจนี้ไขจะเป็นอะไร แต่การที่หนังไม่เฉลยว่าข้างในคืออะไร มองเปรียบเทียบได้เชิงเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าคู่และการค้นหา แต่เมื่อมีแค่ลูกกุญแจ มันคือความหมายของความไม่สมหวัง โดดเดี่ยว เป็นเอกเทศน์ คนดูหนังน่าจะเข้าใจนะครับ
นี่เป็นหนังที่สวยงามมากๆเรื่องหนึ่ง ได้รางวัลบ้างประปลายเพราะฉายปีเดียวกับ Spirited Away เข้าฉายที่อเมริกาปี 2003 ได้เข้าชิง Annie Award หลายสาขาแต่ก็ไม่ได้รางวัลไป งานของผู้กำกับคนนี้ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่พอได้ยินว่า จากผู้กำกับ Perfect Blue แล้วก็จะขยาดเป็นแน่ กลัวว่าหนังต้องดูยากเลยไม่ดู แต่ถ้าใครพลาดหนังเรื่องนี้ ผมถือว่าพลาดจริงๆ ความสวยงามมันไม่ใช่แค่ภาพ เพลง หรือเรื่องราว แต่รวมถึงความรู้สึก ความมุ่งมั่นของตัวละคร ที่สะท้อนให้เห็นวิถีของมายา ถึงฉันจะแสดงเป็นตัวละครมากมายหลายแบบ แต่ฉันยังคงความเป็นตัวตนของฉันเองได้หรือเปล่า
แนะนำหนังเรื่องนี้สำหรับทุกคนนะครับ สำหรับคนดูหนังทั่วไปหนังอาจจะดูยากสักนิด แต่ก็ไม่ถึงกับยากมาก คออนิเมะห้ามพลาด
คำโปรย : “Millennium Actress กำกับโดย Satoshi Kon หนังกึ่งอัตชีวประวัติของ Setsuko Hara ที่มีความสวยงาม การเล่าเรื่องที่แปลก ล้ำลึกแต่ยังเข้าใจได้ ภาพและเสียงที่โดดเด่น คออนิเมะไม่ควรพลาด”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LOVE
Leave a Reply