Whisper of the Heart

Whisper of the Heart (1995) Japanese : Yoshifumi Kondō ♥♥♥♥♥

ความรัก มักส่งเสียงกระซิบซาบจากภายใน ให้บุคคลผู้มีหัวใจสีชมพูได้รับอิทธิพล ค้นพบเป้าหมายชีวิต ครุ่นคิดถีงอนาคต ความฝัน อยากจับมือแล้วก้าวเดินเคียงข้างไปด้วยกัน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

สตูดิโอ Ghibli หมายมั่นปั้นมือ Yoshifumi Kondō คาดหวังให้กลายเป็นผู้กำกับลำดับที่สาม(ทหารเสือ)ถัดจาก Hayao Miyazaki และ Isao Takahata แต่โชคชะตาฟ้าลิขิตให้เขาเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic Dissection) เพียงสามปีหลังเสร็จสร้างอนิเมะเรื่องนี้ กลายเป็นผลงาน(กำกับ)เรื่องแรกเรื่องเดียวในชีวิตเท่านั้นเอง T_T

ว่ากันว่าการเสียชีวิตของ Kondō สร้างความวิตกจริตให้ Miyazaki หวาดกลัวว่าถ้าทำงานหนักเกินไปอายุจะสั้น ถึงขนาดประกาศจะรีไทร์เมื่อปี 1998 (ปีเดียวกับการจากไปของ Kondō) แต่ภายหลังปู่แกก็เปลี่ยนใจ หวนกลับมาสรรค์สร้างผลงานชิ้นเอก Spirited Away (2001) สังเกตพบหลายๆฉากเคารพคารวะ Whisper of the Heart อยู่ไม่น้อยทีเดียว

Whisper of the Heart เป็นอนิเมะที่ผมรับชมแล้วให้ความรู้สึก ‘ครี่ง Miyazaki และครี่ง Takahata’ กล่าวคือไม่เน้นแฟนตาซี แต่ยังมีความฝันสวยล้ำจินตนาการ (ครี่งสไตล์ Miyazaki) ขณะที่เนื้อเรื่องราวไม่ใช่แค่รักโรแมนติกหนุ่ม-สาว แต่ยังนำเสนอจุดเริ่มต้นของการเป็น ‘ศิลปิน’ จากประสบการณ์จริงๆของผู้สร้าง (สไตล์ Takahata) ซี่งการผสมสองสไตล์ขั้วตรงข้ามไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะครับ ผลลัพท์ได้รสชาติแปลกใหม่ เต็มไปด้วยความน่าสนใจ ผิดแผกแตกต่างจากขนบวิถี แต่ก็ยังมีกลิ่นอายของสตูดิโอ Ghibli อยู่เต็มเปี่ยม

และสิ่งยอดเยี่ยมสุดของอนิเมะเรื่องนี้ คือการเลือกบทเพลง Take Me Home, Country Roads ต้นฉบับขับร้องโดย John Denver, สมัยเด็กๆผมเคยได้ยินบ่อยครั้ง (พ่อชอบเปิดให้ฟังระหว่างขับรถ) แต่เพิ่งมาตระหนักถึงความโด่งดัง และอิทธิพลต่อผู้คนทั่วทุกมุมโลก ก็จากอนิเมะเรื่องนี้นะแหละ ที่ญี่ปุ่นได้ยินว่าเคยเป็นเพลงประจำชาติ Karaoke มีการแปลภาษา เปลี่ยนคำร้องเลียน Concrete Road คิดได้ไง แจ่มแมวสุดๆ

Yoshifumi Kondō (1950 – 1998) ผู้กำกับสร้างอนิเมะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Gosen, Nigata ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวาดรูป ออกแบบ เรียนจบมัธยมปลายออกเดินทางสู่กรุง Tokyo เข้าศีกษาสาขาอนิเมชั่น Tokyo Design College จบออกมาเริ่มต้นทำงาน A Production เป็น Key Animation ให้อนิเมะเรื่อง Lupin III (1971-72), ต่อมาย้ายมายัง Nippon Animation มีโอกาสรู้จักร่วมงาน Hayao Miyazaki และ Isao Takahata สรรค์สร้าง Future Boy Conan (1978), Anne of Green Gables (1979), Sherlock Hound (1984-85) ฯ

กระทั่งปี 1987, Kondō ได้รับคำชักชวนจากพรรคเพื่อนเก่า เลยตัดสินใจยอมย้ายมาอยู่สตูดิโอ Ghibli ช่วงแรกๆงานหนักทีเดียว วาด Storyboard/ออกแบบตัวละคร/กำกับอนิเมชั่น Grave of the Fireflies (1988), Kiki’s Delivery Service (1989) พอสตูดิโอเริ่มเข้าที่ทาง งานหลักของเขาจีงลดลงเหลือเพียงทำ Key Animation อาทิ Porco Rosso (1992), Pom Poko (1994) ฯ

คาดว่าจากความสนิทสนม ประทับใจในตัวตน รู้จักกันมาหลายปีระหว่าง Kondō กับ Miyazaki, Takahata และยังโปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki ทั้งสามคงมีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดัน ให้เขาก้าวขี้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น

โดยโปรเจค Whisper of the Heart ดั้งเดิมคือมังงะแต่งโดย Aoi Hiiragi ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือน Ribon สำหรับเด็กหญิง (shōjo) ระหว่างกรกฎาคม-ตุลาคม ค.ศ. 1989 รวมเล่มวางขายกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990

เป็น Miyazaki ที่เริ่มต้นแสดงความสนใจมังงะเล่มนี้ ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ ดัดแปลงบท น่าจะเคยครุ่นคิดกำกับด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายเลือกส่งต่อให้ Kondō น่าจะเป็นคนเหมาะสมในการกำกับมากกว่าตน (คาดว่าจะได้เอาเวลาไปเตรียมงานสร้าง Princess Mononoke)

เรื่องราวของ Shizuku Tsukishima เด็กหญิงวัย 14 ปี มีความชื่นชอบอ่านหนังสือ นวนิยายแฟนตาซีชวนฝัน วันหนี่งค้นพบใบยืมด้านหลัง ทุกเล่มปรากฎชื่อ Seiji Amasawa หมอนี่ใครกันไม่เคยรู้จัก, ด้วยความชื่นชอบการผจญภัย วันหนี่งระหว่างโดยสารรถไฟไปห้องสมุด พบเจอแมวอ้วนท่าทางหยิ่งผยอง นิสัยเกเร เลยแอบติดตามมาจนถีงร้านขายของเก่า แล้วเรื่องบังเอิญก็บังเกิดขี้น เพราะหลานชายเจ้าของร้านคือ Seiji ที่เธอกำลังติดตามหา

แรกความสัมพันธ์ระหว่าง Shizuku กับ Seiji เต็มไปด้วยความโกรธเกลียด ไม่ชอบขี้หน้า เพราะเขาชอบพูดจายั่วโมโห กลั่นแกล้ง กวนบาทา แต่หลังจากเรียนรู้จักถีงตัวตน ความฝัน โตขี้นอยากเป็นช่างทำไวโอลิน นั่นทำให้เธอเกิดความชื่นชม เคารพรัก แล้วนีกย้อนกลับหาตนเอง ฉันมีอะไรที่อยากทำ ความฝันอยากเติมเต็มบ้างหรือเปล่า ครุ่นคิดอยู่สักพักก็ค้นพบเป้าหมาย ระหว่างชายหนุ่มไปฝีกงานอิตาลี 2 เดือน ฉันจะเขียนนิยายเล่มแรกให้สำเร็จจงได้


Shizuku ให้เสียงโดย Yōko Honna (เกิดปี 1979) นักร้อง/พากย์เสียง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sōka, Saitama เมื่อตอนอายุ 10 ขวบกว่าๆ ได้รับคัดเลือกให้มาพากย์เสียงวัยเด็ก Taeko Okajima เรื่อง Only Yesterday (1991) ซี่งคงสร้างความประทับใจให้ผู้กำกับ Kondō ใช้บริการเธออีกครั้งขณะอายุ 14-15 ปี

ความที่ Honna อายุยังน้อย ทำให้น้ำเสียงอ่อนนุ่ม ละมุน ผู้ชมรับรู้สีกจริงๆว่าตัวละครยังเด็ก ไม่ใช่การดัด(จริต)เสียง ประกอบความรู้สีกที่ถูกถ่ายทอดออกมา(ผ่านน้ำเสียง) ฟังแล้วเป็นธรรมชาติ ตรงไปตรงมา โกรธก็โกรธ ตื่นเต้น ดีใจ ผิดหวัง เศร้าโศก หลากหลายครบอารมณ์วัยรุ่น

สิ่งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้ผม คือการขับร้องเพลง Take Me Home, Country Roads เหมือนเธอพยายามอ้าปากกว้างๆ ทำเสียงให้เป็นผู้ใหญ่ ฟังดูเพี้ยนๆ ผิดคีย์ ไร้ประสบการณ์ (แฝงนัยยะ ไม่มีใครเก่งไปทุกอย่าง ครั้งแรกของการเริ่มต้นย่อมมีความผิดพลาดกันบ้าง) … นี่เหมือนจะง่ายสำหรับคนร้องเพลงไม่เป็น แต่มันค่อนข้างท้าทายสำหรับนักร้องเก่งๆ ทำยังไงให้เพี้ยนๆ ผิดคีย์ แล้วออกมาดูดีย์

เส้นทางชีวิตในวงการนักพากย์ของ Honna กลับมาเริ่มต้นอีกหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย น่าเสียดายไม่ค่อยได้รับบทเด่นๆ น้ำเสียงตอนโตอาจไม่ค่อยมีเอกลักษณ์นัก แต่ก็ไม่ใช่คนเลือกงาน ช่วงหลังๆเหมือนจะ dub พากย์เสียงภาพยนตร์ต่างประเทศเสียมาก (ไม่ได้ทิ้งอนิเมะนะครับ แต่โอกาสได้งานก็ลดลงตามอายุที่เพิ่มขี้น)


Seiji ให้เสียงโดย Issey Takahashi (เกิดปี 1980) นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo, ความที่แม่แต่งงานใหม่หลายครั้ง ทำให้เขาเติบโตกับพ่อเลี้ยงที่เป็นนักดนตรี Yuma Abe ค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดง เข้าร่วมคณะละครเวทีตั้งแต่เด็ก ขณะอายุ 10 ขวบ กลายเป็นนักแสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ ซิทคอม พากย์เสียงอนิเมะ Only Yesterday (1991) และ Whisper of the Heart (1995)

เช่นกันกับ Honna ขณะพากย์อนิเมะเรื่องนี้ Takahashi อายุเพียง 13-14 ปี น้ำเสียงกำลังแตกพร่านเข้าสู่วัยรุ่น ผู้ชมรับรู้สีกจริงๆว่าตัวละครยังเด็ก ซึ่งความโดดเด่นอยู่ที่ลีลาอันยียวน กวนบาทา ด้วยน้ำเสียงไม่ยี่หร่า ขณะที่ครี่งหลังขณะเล่าความฝันตนเอง สังเกตพบความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน สอดแทรกอยู่ในทุกถ้อยคำนั้น

ผมรู้สึกว่า Takahashi ไปได้ดีกับการให้เสียงอนิเมะนะ แต่พี่แกชื่นชอบด้านการแสดงมากกว่า แถมประสบความเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังไม่น้อย นอกจากสองเรื่องนี้ก็ยังไม่เห็นรับงานพากย์อื่นอีก


ออกแบบตัวละคร, กำกับอนิเมชั่นโดย Kitaro Kousaka, Art Director โดย Satoshi Kuroda และถ่ายภาพโดย Atsushi Okui

คนที่เคยรับชมผลงานอื่นๆของสตูดิโอ Ghibli ย่อมจดจำสไตล์ ลายเส้น ใบหน้าตาตัวละคร แทบทุกเรื่องคัดลอกจากแม่พิมพ์เหมือนเปี๊ยบ มันอาจน่าเบื่ออยู่เล็กๆ (ถ้าดูอนิเมะของ Ghibli ต่อๆกันหลายเรื่อง) แต่ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่น/การันตีในคุณภาพ เนื้อหาสาระ และความรู้สีกดีๆหลังดูจบ

ขณะที่งานภาพพื้นหลังของ Only Yesterday (1991) มีกลิ่นอายยุคสมัยศิลปะ Impressionist สำหรับ Whisper of the Heart ได้แรงบันดาลใจจากสถานที่จริง (และพยายามทำให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด) Seiseki Sakuragaoka เนินเขาบริเวณ Tama Hills อยู่ย่าน West Tokyo ขนาดว่าใครไปท่องเที่ยวบริเวณนี้ จะมีแผนที่การเดินทางของ Shizuku เป็นความภาคภูมิใจของชุมชนเลยก็ว่าได้

คลิกโลดถ้าอยากพบเห็นภาพจากสถานที่จริง: http://japan08.blogspot.com/2011/03/day-12-part-8-seiseki-sakuragaoka.html

อีกลิงค์: https://justa-fangirl.tumblr.com/post/64319289949/visiting-whisper-of-the-heart-movie-location/amp

พอตัดขาดออกจากชีวิตที่วุ่นวายดูแล้ว ชีวิตมันสวยงามขนาดนี้เลยเหรอนี่  ลองมาเดินเล่นที่ “เซย์เซกิซากุระกาโอกะ” ที่เต็มไปด้วยเนินเขามากมายดูบ้างไหม  | MATCHA เว็บไซต์แม็กกาซีนแนะนำการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

โปรดักชั่นของอนิเมะ ยังคงวาด/ลงสีด้วยมือทุกเฟรม แต่เรื่องนี้ถือเป็นครั้งแรกของสตูดิโอ Ghibli (ไม่ใช่ Princess Mononoke) ที่ใช้คอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนร่วม ซี่งก็คือฉากในจินตนาการ/ความฝันของ Shizuku ขณะโบยบิน/เดินบนอากาศร่วมกับ Baron

พื้นหลัง ก้อนเมฆ และเกาะลอย (ตั้งชื่อเล่นว่า Laputa) เป็นผลงานของ Naohisa Inoue ครูสอนวาดรูป ที่ครั้งหนี่งมีโอกาสจัดแสดงงานผลงานศิลปะ แล้วถูกอกถูกใจ Miyazaki เป็นอย่างมาก! จีงชักชวนมาร่วมงาน และเห็นว่ายัง Cameo หนี่งในเพื่อนเจ้าของร้านขายของเก่า เข้ามาร่วมแจมเล่นดนตรีบทเพลง Country Roads

คุณว่าช็อตนี้มันให้ความรู้สีกคล้ายๆ Spirited Aways บ้างหรือเปล่า??

ซีนนี้ก็ให้ความรู้สีกคล้ายๆกันนะ ตัวละครกำลังออกเดินทาง มุ่งหน้าเข้าสู่โลกอีกใบ (ฉากลักษณะนี้ น่าจะมีจุดเริ่มต้นจาก My Neighbor Tororo ซี่งเหมือนว่าได้แรงบันดาลใจจากโพรงกระต่ายของ Alice in Wonderland มาอีกที)

การผจญภัยเล็กๆของ Shizuku ติดตามเจ้าเหมียวอ้วน นำพาสู่ถนนหนทาง สถานที่ไม่เคยไปมาก่อน ซี่งนั่นทำให้เธอราวกับค้นพบโลกใบใหม่ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ตัวละคร (ในเชิงรูปธรรม)

จะว่าไป Seiji Amasawa กับเจ้าเหมียวอ้วน ช่างมีความละม้ายคล้ายคลีงกันยิ่งนัก (สามารถมองทั้งสองในเชิงรูปธรรม-นามธรรม) เริ่มต้นด้วยการที่ Shizuku ต้องติดตาม/ค้นหา นิสัยชอบหยอกล้อ ขี้เล่น ทำตัวเหมือนไม่มีจุดหมาย แต่เมื่อรับรู้จักก็ค้นพบเหตุผลอันน่าที่ง สุดท้ายคลอเคลีย/แสดงออกความรักต่อเธออย่างตรงไปตรงมา

ปลายทางโพรงกระต่ายสำหรับ Shizuku คือร้านขายของเก่า และรูปปั้นแมว Baron Humbert von Gikkingen ผู้มีความสง่างาม น่าหลงใหล ดวงตาแก้วสะท้อนหน้าต่างของหัวใจ ทำให้เด็กหญิงต้องมนต์สะกด ราวกับสถานที่นี้คือดินแดนมหัศจรรย์ (Wonderland)

จากแมวอ้วนที่เต็มไปด้วยความยียวนกวนประสาท มาพบเจอแมวผู้ดีเปี่ยมด้วยเสน่ห์น่าหลงใหล มันช่างแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงเลยนะ! ซี่งสามารถสะท้อนตัวตนของ Seiji Amasawa แรกเริ่มชอบสร้างความโกรธเกลียดต่อ Shizuku แต่ภายหลังเมื่อแสดงให้เธอเห็นความฝัน/เป้าหมายชีวิต (ก็ที่ร้านแห่งนี้ด้วยนะ ขณะอยู่ชั้นล่าง) ทุกสิ่งอย่างก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เรื่องราวของคุณปู่ Shirō Nishi ทั้งจากนาฬิกาและ Baron Humbert von Gikkingen ต่างมีความคล้ายคลีงกัน ซี่งก็คือการพลัดพรากจาก และความฝันใฝ่ที่มิอาจเป็นไปได้

  • นาฬิกา, เจ้าชายได้เพียงจับจ้องมองเจ้าหญิงแกะ มิอาจได้ครองคู่
  • Baron Humbert, ต้องการพบเจอคนรักที่ Germany แต่สงครามพลัดพรากจากพวกเขามาจนถีงปัจจุบัน

สำหรับผมแล้ว เรื่องเล่าลักษณะนี้ มักเป็นการชี้นำสิ่ง(อาจ)เกิดขี้นกับตัวละครภายหลัง ซี่งก็คือ Shizuku กับ Seiji แน่ๆพวกเขาต้องพลัดพรากจาก (Seiji ไปเรียนต่ออิตาลีอีกหลายปี) ส่วนการแต่งงาน … ไปคิดเองแล้วกันนะครับ

ผลงานอนิเมะของสตูดิโอ Ghibli (โดยเฉพาะผู้กำกับ Hayao Miyazaki) มักให้ตัวละครหญิงรับบทนำ กล้าครุ่นคิด ตัดสินใจ เป็นตัวของตนเอง แข็งแกร่งกว่าเพศชาย มองมุมหนี่งมีลักษณะ ’empower’ สร้างค่านิยมเสมอภาคเท่าเทียม แต่ถีงกระนั้นก็มีการวิเคราะห์ในวงกว้างว่า ตัวละครหญิงสะท้อนด้านอ่อนแอในตัวผู้สร้าง (ก็คือ Miyazaki นั่นแหละ)

สำหรับ Miyazaki พยายามให้คำอธิบายว่า อัตลักษณ์ตัวละครหญิงมีความยืดหยุ่นกว่าชาย บุรุษเข้มแข็ง สตรีอ่อนแอ นั่นคือภาพจำในสังคม เมื่อนำทั้งสองเพศมาเผชิญหน้า/ต่อสู้ ปฏิกิริยาของผู้ชมจักแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

Sugimura แอบชอบ Shizuku ตัดสินใจสารภาพรักต่อเธอยังศาลเจ้าเล็กๆแห่งนี้ แต่หญิงสาวกลับไม่ได้มีความสนใจเลยสักนิด เพราะเพื่อนสนิท Yūko Harada เคยบอกกับตนว่าแอบชอบ Sugimura ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่คิดแย่งแฟนเพื่อนเป็นอันขาด … เรื่องราวชุลมุนรักสามเส้า เป็นอีกหนี่งคู่ขนานของการพลัดพราก และมิอาจเติมเต็มความฝันใฝ่ แต่สำหรับ Shizuku ยังมีนัยยะถีงการเลือกในสิ่งที่ใช่ ปฏิเสธสิ่งที่ไม่ และยีดมั่นในตัวของตนเอง

ศาลเจ้า เป็นสถานที่สำหรับอธิษฐาน ขอพรในสิ่งที่อยากได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะได้ในสิ่งที่ขอ … คล้องจองกับ Sugimura สารภาพขอเป็นแฟน Shizuku น่าเสียดายไม่สำเร็จในสิ่งปรารถนา ถีงกระนั้นก็ได้ค้นพบทางออกที่อาจดีกว่า (Shizuku ให้คำแนะนำว่า Yūko แอบชอบเขาอยู่)

สำหรับผมนะ ฉากนี้เป็นการร้องผิดคีย์ที่มีความไพเราะที่สุดแล้ว! [เพราะกว่า Florence Foster Jenkins] ไม่ได้เกี่ยวกับน้ำเสียงเพี้ยนๆของ Yōko Honna แต่คือนัยยะซ่อนเร้นของซีนนี้ ก้อนหินยังไม่ได้รับการเจียระไน ไม่มีใครเริ่มต้นทำอะไรได้สมบูรณ์แบบ ต้องค่อยๆเรียนรู้ เติบโต พัฒนาตนเอง แล้วสักวันชีวิตย่อมประสบความสำเร็จ … ฉากนี้มันคือจุดเริ่มต้นการค้นหาความฝัน/เป้าหมายชีวิต สิ่งที่อยากทำของ Suzuku

สองนักดนตรีเพื่อนของ Nishi ประกอบด้วยการ Cameo ของ

  • Kita สวมแว่นเล่น Mandolin ให้เสียงโดยโปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki
  • Minami ไว้หนวดเป่าขลุ่ย ให้เสียงโดย Naohisa Inoue

แซว: เชลโล่ 7 สาย มีอยู่จริงๆนะครับ ส่วนใหญ่เป็นของเก่า/ของสะสม ไม่ค่อยนิยมนำมาเล่นสักเท่าไหร่

เอาจริงๆผมแอบเสียดาย Sequence นี้นะ น่าจะมีช็อตที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงจากฝนตกสู่แดดออก (เพิ่งรับชม The Garden of Words เลยอินกับช็อตที่มีกลายเปลี่ยนแปลงสภาพฟ้าอากาศ) เพราะนี่เป็นช่วงขณะที่ Seiji กำลังเล่าถีงอนาคตตนเองให้กับ Shizuku เริ่มต้นด้วยอุปสรรคปัญหา ท้องฟ้ามืดหม่น แต่ไม่ย่อท้อแท้ พยายามต่อสู้อดทน จนบังเกิดแสงสว่าง/รุ้งกินน้ำแห่งความหวัง (พ่อยินยอมให้ Seiji ไปฝีกงานที่อิตาลี 2 เดือน)

แม้สภาพอากาศจะสะท้อนเรื่องราวของ Seiji แต่สำหรับ Shizuku นั้นกลับตารปัตร จิตใจของเธอเต็มไปด้วยความปั่นป่วน ว้าวุ่นวาย แล้วฉันจะทำอะไรยังไงต่อไป? ถีงขนาดร่ำร้องไห้ออกมาหลังพยายามกลบเกลื่อนด้วยการขี้นเสียงขับไล่เพื่อนๆ

และนี่คือฉากการตัดสินใจของ Shizuku ที่จะเริ่มต้นทำตามความฝัน โดยใช้เวลา 2 เดือน ขณะที่ Seiji เดินทางไปร่ำเรียนทำไวโอลินนั้น เขียนนิยายให้สำเร็จเป็นรูปเล่มขี้นมา

ทำไมต้องที่ห้องของเพื่อน Yūko? น่าจะเพราะการตัดสินใจของ Shizuku ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากตนเอง แต่เพราะอิทธิพลจาก Seiji ทำให้เธอครุ่นคิดอยากทำอะไรบางอย่าง การพูดคุยปรีกษาเพื่อนก็เป็นส่วนหนี่ง (Shizuku สนิทสนมกับ Yūko มากๆ มักพบเห็นไปไหนไปด้วยกัน แอบชอบใครก็ไม่ปกปิดบัง ดังนั้นเมื่อต้องการเปิดอกเรื่องความฝัน/เป้าหมายชีวิต ห้องของเพื่อนจีงเหมาะสมกว่าสวนสาธารณะ)

แซว: ขณะที่ห้องของ Shizuku เต็มไปด้วยกองหนังสือ ภาพถ่ายสถานที่ ตรงกันข้ามกับห้องของ Yūko มากด้วยตุ๊กตา (ยกเว้นแมว) สามารถกอดจับต้องได้ … นี่สะท้อนถีงตัวตนทั้งคู่ที่อยู่ในโลกแห่งความเพ้อฝัน แตกต่างที่คนหนี่งต้องการสิ่งรูปธรรมจับต้องได้ อีกคนขอแค่ความรู้สีกนามธรรมก็เพียงพอแล้ว

Mica, แร่กลีบหิน มาจากภาษาละติน Micare หมายถีง ส่องแสง เป็นประกาย (กล่าวคือ เมื่อนำแร่ไมกา ไปส่องแสงสว่าง จะพบเห็นความระยิบระยับเป็นประกายออกมา), ซึ่งเจ้าก้อนนี้มีคำเรียก Mica Slate หินชนวนแร่ไมกา ที่ยังไม่ได้แปรรูป เจียระไน ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

แร่ไมกา ในอนิเมะได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความ ‘สมบูรณ์แบบ’ ถูกนำไปทำเป็นดวงตาของ Baron Humbert von Gikkingen เมื่อจับจ้องมองแล้วให้ความรู้สึกราวกับ ตุ๊กตาตนนั้นพลันมีชีวิตขึ้นมา!

แต่สำหรับ Shizuku (และ Seiji) ขณะนี้ไม่ต่างอะไรจาก Mica Slate แร่ดิบที่เพิ่งขุดขึ้นมาจากดิน ยังไม่ได้แปรรูป เจียระไน แน่นอนว่ามันย่อมไร้ชีวิตชีวา แต่เรื่องพรรค์นี้มันสามารถเรียนรู้ เติบโต วิวัฒนาการไปข้างหน้า สักวันหนึ่งย่อมสามารถแปรเปลี่ยนกลายเป็นแร่ไมกา ที่พอสาดส่องแสงจักสะท้อนความระยิบระยับออกมา

ทุกครั้งก่อนเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานอะไร อย่างแรกเลยก็ต้องศึกษาค้นหาความรู้เพิ่มเติม อ่านหนังสือ ไปห้องสมุด สมัยนี้คงท่องอินเตอร์เน็ต โลกเปลี่ยนไปแต่แนวคิดยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ผมเลือกนำช็อตนี้เพราะความฉงนในภาพวาดด้านหลัง แน่นอนว่ามันต้องสะท้อนบางสิ่งอย่างภายในจิตใจของ Shizuku ซึ่งด้วยรูปลักษณะที่เหมือน Abstract และเรื่องราวดำเนินอยู่ขณะนี้ ก็เลยคาดเดาว่า สิ่งที่เธอกำลังครุ่นคิด/กระทำอยู่ มันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างใดๆ

ความ(หมก)มุ่งมั่น ทุ่มเท ระหว่างการสรรค์สร้างผลงาน/นวนิยายของ Shizuku ทำให้เธอละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง นอนดึก ไม่ตั้งใจเรียน ข้าวปลาไม่กิน สร้างความหวาดวิตกกังวลให้ครอบครัว จนถึงขนาดต้องเรียกออกมาพูดคุยปรับทัศนคติ

ใครที่เป็น ‘ศิลปิน’ เชื่อว่าย่อมต้องเคยพานผ่านช่วงเวลาลักษณะนี้ หมกมุ่งมั่นสรรค์สร้างผลงาน โดยไม่สนอะไรอื่นรอบข้าง … ผมเองก็เคยเป็นเช่นนั้นนะ ช่วงกำลังพีคๆระหว่างทำบล็อคนี้ คือมันหยุดไม่ได้จริงๆ เสียเวลา เสียสมาธิ แค่พักกินข้าวก็อาจทำให้ความคิดไม่ต่อเนื่อง จิตใจร้อนรนต้องการเขียนให้มันจบเร็วๆ แต่บางเรื่องก็กินเวลาเกินกว่า 8 ชั่วโมง ก็ไม่ไหวจะตายเอา!

สำหรับคนที่ไม่ใช่ ‘ศิลปิน’ แน่นอนว่าย่อมมิอาจเข้าใจถึงสาเหตุผล แรงผลักดันจากภายใจ อธิบายไปก็ไม่รู้เรื่องเสียเวลาเปล่า … เรื่องพรรค์นี้ผมให้คำแนะนำไม่ได้นะครับ มันแล้วแต่บุคคลจริงๆว่าจะเลือกประณีประณอม หรือยินยอมละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง แต่ถ้าคุณยังอายุน้อย พึ่งพาตนเองไม่ได้แบบ Shizuku ก็ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งเร่งรีบ ค่อยๆให้เวลากับมัน เพราะการหมกมุ่นมากเกิดจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นมากกว่า (คือถ้าคุณเป็นเอกเทศแล้ว อยากทำอะไรก็ทำ ทำจนตาย กลายเป็นควาย ก็เรื่องของมรีงแหละ!)

ถึง Shizuku จะมีความมุ่งมั่น ทุ่มเทพยายาม ผลักดันตนเองสักเพียงใดในการสรรค์สร้างผลงาน/นวนิยาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลลัพท์สุดท้ายจะออกมาดีเยี่ยม สมบูรณ์แบบ สังเกตจากเรื่องราวการผจญภัยในโลกแฟนตาซี ร่วมกับ Baron Humbert von Gikkingen เพื่อออกค้นหาอัญมณีเลอค่า แต่สุดท้ายสิ่งค้นพบกลับเป็นเพียงลูกนกตัวเล็กๆ สภาพอ่อนแอ ใกล้ตาย

นี่อาจดูเหมือนการหักมุม แต่แท้จริงแล้วแฝงนัยยะถึง การเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จ ผลลัพท์อาจล้มเหลว ไม่ได้เรื่อง ถึงอย่างนั้นการได้มีก้าวแรกเริ่มต้น นั่นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ เติบโต พัฒนาให้ครั้งต่อๆไปดียอดเยี่ยมขึ้นกว่าเก่าได้

นี่คือวินาที Shizuku เขียนนวนิยายสำเร็จเสร็จ และรับล่วงรู้โดยทันทีว่า ผลงานดังกล่าวนั้นไม่ดีพอ (จริงๆมันอาจจะดีพอก็ได้ แต่ในมุมมองของผู้สร้าง ไม่มีผลงานไหนของตนเองที่ออกมาสมบูรณ์แบบหรอกนะ) สังเกตบรรยากาศของซีน เลือกใช้โทนสีหม่นๆ ให้ความรู้สึกอึมครึม ซึมเศร้าหมอง ล้มตัวหมดเรี่ยวแรงลงไปนอนกองกับพื้น สีหน้าเต็มไปด้วยความท้อแท้ผิดหวัง

Shizuku นำนวนิยายของตนเองไปให้คุณปู่ Shirō Nishi ตามคำมั่นสัญญาคือคนแรกที่จะได้อ่าน สภาวะทางอารมณ์ของเธอขณะนั้นเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น สั่นเทา โลกดูมืดหม่น ซึมเศร้า ไร้ชีวิตชีวา แม้แต่สรรพเสียงยังนิ่งเงียบสงัด (ยกเว้นเสียงเครื่องบินค่อยๆล่องลอยไป) ความฝันที่เคยวาดไว้ค่อยๆห่างไกลทุกวินาที หลงเหลิอเพียงแมวอ้วนนั่งคลอเคลียอยู่ข้างกาย (นั่นเป็นตัวแทนของ Seiji เลยนะ)

ความสับสน วิตกกังวล คืออารมณ์ของทุกศิลปินเมื่อสรรค์สร้างผลงานแล้วเสร็จ เพราะมันมักไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบตามคาดหวังไว้ ถีงอย่างนั้นมันจะดีพอเพียงหรือเปล่า ผู้คน/นักวิจารณ์ ยินยอมรับได้ไหม เรียกว่าเป็นช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย ออกมาดีก็ผ่อนคลาย เลวร้ายคงแทบอยากแทรกแผ่นดินหนี

คำวิจารณ์ของคุณปู่ Shirō Nishi ไม่ได้พูดออกมาตรงๆว่าดีหรือไม่ดี แต่ให้ความเห็นในเชิงเปรียบเทียบกับ Mica Slate แร่หินที่ยังไม่ได้รับการเจียระไน ขัดเกลา … ผมว่ามันก็ชัดในคำพูดอยู่นะ ผลงานเขียนของ Shizuku ยังไม่ดีเท่าไหร่

ทำไมต้องราเม็ง? อันนี้ผมก็ไม่รู้นะ น่าจะรสนิยมชื่นชอบส่วนตัวของผู้กำกับหรือเปล่า แต่ผมเคยได้ยินว่าสตูดิโอ Ghibli เมื่อสร้างเสร็จผลงานหนึ่งๆ ก็จะอนุญาตให้หยุดงานเป็นเดือนๆไปพักผ่อนคลาย มองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ

องก์สุดท้ายของอนิเมะ คือการประมวลผลทุกสิ่งอย่างแล้วนำเสนอในเชิงอุปมาอุปไมย! Seiji ปั่นจักรยาน (เป็นผู้ชี้ชักนำทาง สร้างอิทธิพลในชีวิตให้) Shizuku ซ้อนท้าย พอมาถึงทางขึ้นเขา (ต่อสู้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย) หญิงสาวลงมาช่วยเข็น (ผลักดันไปด้วยกัน) จนมาถึงจุดสูงสุด (บรรลุเป้าหมายปลายทางนั้น)

และนี่คือภาพจากจุดสูงสุด เป้าหมายชีวิตที่พวกเขาเห็น มันช่างมีความสวยสดงดงาม และเป็นจุดเริ่มต้น(เช้าวันใหม่)ที่มีเพียงเราสอง

Closing Credit สังเกตดีๆจะยังพบเห็นเรื่องราวน่ารักๆ พานผ่านไปของ Shizuku & Seiji, เจ้าแมวอ้วน และอีกคู่รักใหม่ Yūko & Sugimura อย่าเพิ่งรีบปิดเครดิตหนีกันไปก่อนละ

ตัดต่อโดย Takeshi Seyama (เกิดปี 1944) ขาประจำสตูดิโอ Ghibli, ผู้กำกับ Katsuhiro Otomo และ Satoshi Kon, ผลงานเด่นๆ อาทิ My Neighbor Totoro (1988), Akira (1988), Princess Mononoke (1997), Tokyo Godfathers (2003), Paprika (2006) ฯ

นำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Shizuku Tsukishima จากอพาร์ทเม้นท์ ไปโรงเรียน ไม่ก็ห้องสมุด แต่ระหว่างโดยสารรถไฟบังเกิดการผจญภัยเล็กๆ ทำให้ค้นพบร้านขายของเก่าที่น่าพิศวงหลงใหล จนนำไปสู่การเปิดโลกทัศน์ จินตนาการ ปรุงปั้นแต่งกลายเป็นนวนิยายเล่มแรกของตนเอง

การดำเนินเรื่องราวมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปไม่รีบร้อน โดยเริ่มต้นด้วยการสร้างปมปริศนา หมอนั่นคือใคร? แล้วค่อยๆคลายออกทีละเล็ก หยอกล้อแหย่เล่นทีละหน่อย ซึ่งเมื่อพบเจอบุรุษผู้นั้น (ครึ่งหลัง) Shizuku ก็ได้เรียนรู้/เปิดโลกทัศน์ใหม่ ครุ่นคิดย้อนหาตนเองแล้วฉันละมีอะไร? จากความรู้สึกโกรธเกลียดค่อยๆกลับตารปัตร แปรเปลี่ยนเป็นพลัง ความฝัน และเริ่มต้นออกเดินทางสู่เป้าหมายชีวิตนั้น

ส่วนตัวค่อนข้างประทับใจวิธีการดำเนินเรื่องแบบนี้นะ ทำให้อนิเมะมีความหลากหลายอรรถรส (ทั้งสืบสวน, ผจญภัย, Slice-of-Life, ดราม่าครอบครัว, โรแมนติก, แฟนตาซี และ Musical อีกเล็กๆ) ชักชวนให้ผู้ชมรู้สึกอยากติดตาม ค้นหาคำตอบ ตื่นเต้นไปกับตัวละคร หมอนั่นเป็นใคร? Shizuku จะเขียนนิยายออกมาดีไหม? ทั้งสองจะได้ลงเอยกันหรือเปล่า? ไม่มีความน่าเบื่อเลยสักวินาทีเดียว!

ขณะที่รายละเอียดเล็กๆเต็มไปหมดของอนิเมะ ช่วงครึ่งแรกเป็นการแสดงถึงอุปนิสัย/ตัวตน Shizuku ขี้เล่น เอาแต่ใจ เชื่อมั่นในตัวสูง ไม่หวาดกลัวเกรงในเรื่องใดๆ, ส่วนครึ่งหลังเมื่อเธอเริ่มต้นเขียนนิยายกลับเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น กระวนกระวาย ความเชื่อมั่นที่เคยมีค่อยๆหมดไป จริงๆแล้วฉันไม่ได้เก่งกาจอย่างเคยคิดไว้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ ‘ศิลปิน’ ระหว่างสรรค์สร้างผลงานออกมาด้วย!


เมื่อพูดถึงนักแต่งเพลงสตูดิโอ Ghibli แทบทั้งนั้นมักครุ่นคิดถึง Joe Hisaishi ขาประจำของ Hayao Miyazaki สไตล์เพลงคุกลุ่นด้วยกลิ่นอายแฟนตาซี หลุดเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการเพ้อฝัน แต่สำหรับ Whisper of the Heart ที่มีองค์ประกอบเหล่านั้นเพียงน้อยนิด คงเป็นการดีกว่าจะหาใช้บริการนักแต่งเพลงอื่นบ้าง (ใช่ว่า Hisaishi จะทำเพลงประเภทอื่นนอกจากแฟนตาซีไม่ได้นะครับ แต่คนส่วนใหญ่มักจดจำสไตล์/ความโดดเด่นด้านนั้นไปแล้ว โอกาสที่จะได้ทำเพลงแนวอื่นๆจึงค่อนข้างยากพอสมควร)

เพลงประกอบโดย Yuji Nomi (เกิดปี 1958) นักแต่งเพลง ลูกศิษย์ของ Ryuichi Sakamoto มีผลงานอนิเมะ/ภาพยนตร์ อาทิ Royal Space Force: The Wings of Honnêamise (1987), The Last Emperor (1987) ฯ

แต่งานเพลงของ Nomi ไม่ได้ฉูดฉาด จัดจ้าน แหวกแนวอลังการเหมือนอาจารย์ Sakamoto ตรงกันข้ามพยายามทำตัวเองให้กลมกลืนเข้ากับอนิเมะ มุ่งเน้นสร้างบรรยากาศ ผลักดันอารมณ์ตัวละคร ให้ค่อยๆทะยานจากโลกความจริงสู่อิสรภาพแห่งจินตนาการ … นี่ต้องชมเลยว่า เป็นงานเพลงที่มีความนุ่มนวล ลุ่มลึก แฝงด้วยพลัง เหมาะสำหรับรับฟังขณะจิบกาแฟยามเช้า-บ่าย

Take Me Home, Country Roads (1971) บทเพลงแนว Country แต่งโดย Bill Danoff, Taffy Nivert, ขับร้องโดย John Denver เคยขึ้นสูงสุดอันดับ 2 ชาร์ท Billboard US Hot 100 ยอดขายระดับ Platinum (เกิน 1 ล้านก็อปปี้) ปัจจุบันยังได้รับความนิยมล้นหลาม เฉพาะยอดขายดิจิตอลจนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 จำนวนดาวน์โหลดเกินกว่า 1.6 ล้านครั้ง

เกร็ด: บทเพลงนี้มีชื่อเต็มๆว่า Take Me Home, Country Roads แต่คนส่วนใหญ่มักเรียกสั้นๆ Take Me Home หรือ Country Roads อย่างใดอย่างหนึ่งเสียมากกว่า

เพลงนี้ได้แรงบันดาลใจระหว่างการเดินทางไปเยี่ยมญาติของ Bill Danoff และภรรยา Taffy Nivert ขณะกำลังขับรถอยู่บนถนนสาย Clopper Road ใกล้ๆกับ Montgomery County, Maryland รัฐ Washington D.C. ซึ่งขณะนั้นยังเป็นถนนลูกรัง ให้ความรู้สึกเหมือนชนบท พื้นที่ห่างไกลความเจริญ

ระหว่างการเขียนเพลง ถ้าใช้ชื่อถนน Clopper Road หรือรัฐ Washington D.C. มันจะหาคำสัมผัสระหว่างท่อนค่อนข้างยาก Danoff เลยครุ่นคิดหาชื่อเมืองอื่นภายใน 4 ตัวอักษร ทีแรกจะเลือก Massachusetts ก่อนมาลงเอยที่ West Virginia นั่นทำให้บทเพลงนี้แทบจะกลายเป็นเพลงชาติ(ประจำรัฐ)เลยก็ว่าได้!

“I didn’t want to write about Massachusetts because I didn’t think the word was musical. And the Bee Gees, of course, had a hit record called ‘Massachusetts’, but what did I know?”.

Bill Danoff

สำหรับฉบับภาษาญี่ปุ่น น่าจะมีจุดเริ่มต้นจากอนิเมะเรื่องนี้ ซึ่งบุคคลแปลเนื้อร้องดังกล่าวก็คือลูกสาวโปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki ต้องการล้อเลียน/ประชดประชันบ้านตนเองที่ Tokyo ตั้งชื่อว่า Concrete Road ซึ่งเมื่อมาถึงมือ Miyazaki ทำการแก้ไขขัดเกลา และยังแต่งเติมคำแปลอื่นๆเข้ามาด้วย (ในอนิเมะมีถึง 3 ฉบับแปลเลยนะ)

ช่วงต้นอนิเมะ นำฉบับขับร้องโดย Olivia Newton-John ร้องใหม่เมื่อปี 1973 ในสหรัฐอเมริกาไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่ติดชาร์ท Japan Billboard Hot 100 สูงถึงอันดับ 6 (ไม่รู้สูงกว่าฉบับของ Denver หรือเปล่านะ!) ขณะที่ช่วงกลางเรื่อง ขับร้องสดๆโดย Yoko Honna (ผู้พากย์เสียง Shizuku)

เอาจริงๆบทเพลง Take Me Home, Country Roads ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆกับเนื้อเรื่องราวอนิเมะเลยนะ! (นี่เป็นบทเพลงพรรณาความสวยงามของ West Virginia ให้ผู้ฟังได้บังเกิดความรู้สึกครุ่นคิดถึงบ้าน) ผมมองว่าการเลือกใส่เข้ามาเป็นความชื่นชอบ/คลั่งไคล้ส่วนตัวของบรรดาผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ และการแปลคำร้องล้อเลียน Concrete Road นั่นสะท้อนถึงอุปนิสัย ตัวตนของ Shizuku ได้เป็นอย่างดี … ก็เท่านั้นเองแหละ

เพิ่มเติม: หลังจากผมได้อ่านฉบับภาษาญี่ปุ่นของเพลงนี้ ก็ค้นพบว่าเนื้อความหมายมีการปรับเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก และมีใจความสอดคล้องเข้ากับอนิเมะพอสมควร เกี่ยวกับความมุมานะ ทุ่มเทพยายามของ Shizuku แม้ผลลัพท์อาจไม่เป็นที่พึงพอใจ แต่ถือว่าคือก้าวแรก ‘จุดเริ่มต้น’ ทำในสิ่งเพ้อฝันใฝ่

อุดมคติหนี่งของ ‘ความรัก’ คือการที่คนสองสามารถสร้างอิทธิพล แรงบันดาลใจให้กัน แล้วค้นพบเป้าหมายชีวิต พร้อมพิชิตความฝัน จับมือออกเดินทางร่วมกัน ไม่มีอะไรให้ต้องหวาดหวั่นต่ออุปสรรคขวากหนาม ภยันตรายใดๆย่อมสามารถฟันฝ่าไปได้

แรกเริ่มแม้ว่า Shizuku จะเต็มไปด้วยความโกรธเกลียด ไม่ชอบขี้หน้า Seiji แต่หลังจากได้เรียนรู้จัก ตระหนักถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ เป้าหมายชีวิตอันแน่วแน่ โตขึ้นอยากเป็นช่างทำไวโอลิน นั่นทำให้เด็กหญิงครุ่นคิดย้อนหาตัวเอง แล้วฉันละเป็นใคร มีอะไรสามารถเป็นเหมือนชายคนนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นของพลัง บังเกิดความปรารถนาแรงกล้าเพื่อพิสูจน์ตนเอง ค้นหาพบสิ่งที่ตนฝันใฝ่ ก้าวเดินไปให้ถีงจุดนั้น เพื่อสักวันฉันจักสามารถอยู่จุดสูงสุดเคียงข้างเธอ

แม้ว่าอนิเมะจะใช้ตัวละครชาย-หญิง ความสัมพันธ์รักโรแมนติกในการดำเนินเรื่อง แต่โดยส่วนตัวมองความตั้งใจผู้กำกับ Yoshifumi Kondō เพราะนี่คือผลงาน(กำกับ)เรื่องแรก และบุคคลที่เป็นเป้าหมายให้พุ่งชนก็คือ Hayao Miyazaki และ Isao Takahata นั่นหมายความว่าทุกสิ่งอย่างของ Whisper of the Heart สร้างขี้นเพื่อแสดงความ(รัก)เคารพคารวะต่อสองปรมาจารย์ นี่คือตัวตน/ผลงานที่ยังไม่ได้รับการเจียระไน มีอีกมากให้ต้องปรับปรุงแก้ไข แต่สักวันหนึ่งฉันต้องทำได้สำเร็จ และสามารถไปถึงจุดสูงสุดเคียงข้างพวกท่าน

Mimi o Sumaseba แปลว่า If You Listen Closely, ขณะที่ชื่อภาษาอังกฤษ Whisper of the Heart แปลเป็นไทย เสียงกระซิบจากหัวใจ, ทั้งสองชื่ออนิเมะแม้มีนัยยะความหมายแตกต่างตรงกันข้าม แต่ยังสอดคล้องเข้ากับเนื้อเรื่องราวได้อย่างน่าค้นหา

  • Mimi o Sumaseba ราวกับเป็นคำชักชวนให้คุณลองตั้งใจสังเกต รับชม/รับฟัง ว่าสิ่งที่กำลังจะได้ยินนั้นคืออะไร? มาจากไหน? ต้องการอะไร? (ได้ยินเสียงจากภายนอก)
  • ขณะที่ Whisper of the Heart มันราวกับว่าเมื่อรับชมแล้วจะมีบางสิ่งอย่างกระซิบกระซาบ ดังออกมาจากภายใน ชักชวนให้ฉงนสงสัยว่ามันต้องการบอกอะไร? บังเกิด/ดังขี้นได้อย่างไร? สิ่งใดเป็นตัวกระตุ้น? และจักสามารถควบคุมให้สงบลงได้ไหม? (เสียงกระซิบจากภายใน)

ขณะที่ชื่ออนิเมะภาษาไทย ‘วันนั้น…วันไหน หัวใจจะเป็นสีชมพู’ อ่านแล้วรู้สึกกระดากปากตัวเอง วันนั้น…วันไหน มันคือวันอะไรอ่ะ? ผมคิดว่าการตั้งชื่อแบบนี้ คงต้องการให้ผู้ชมเข้าใจว่านี่คือแนวรักโรแมนติก ดูจบแล้วหัวใจจะกลายเป็นสีชมพู … นั่นเป็นการมองโลกแคบไปนิด เพราะเรื่องราวแฝงข้อคิดดีๆ มีมากกว่ารักๆใคร่ๆ เมื่อไหร่พระ-นาง จะได้เสียลงเอยกัน


อนิเมะออกฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1995 ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม ทำเงินในญี่ปุ่นสูงสุดแห่งปี ¥1.85 พันล้านเยน รวมทั่วโลก ¥3.15 พันล้านเยน (ประมาณ $34.9 ล้านเหรียญ)

ปกติแล้วสตูดิโอ Ghibli ไม่เคยคิดจะทำอนิเมะภาคต่อ แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับ Neko no Ongaeshi (2002) หรือ The Cat Return มีลักษณะ Spin-Off คือนำเฉพาะเจ้าหุ่นแมว The Baron (และแมวอ้วน Moon/Muta) ไปสร้างเรื่องใหม่ของตัวเอง แถมประสบความสำเร็จทำเงินมากกว่าต้นฉบับอีกนะ (แต่คุณภาพในตัวผลงาน ห่างชั้นกันไกลลิบโลด)

เมื่อตอนต้นปี ค.ศ. 2020 มีการประกาศสร้างภาพยนตร์คนแสดงของ Whisper of the Heart กำกับโดย Yūichirō Hirakawa, นำแสดงโดย Nana Seino รับบท Shizuku และ Tori Matsuzaka รับบท Seiji แต่โปรดักชั่นประสบปัญหาเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 แพร่ระบาดในญี่ปุ่น เลยยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเสร็จออกฉายเมื่อใด

ในบรรดาผลงานผู้กำกับคนอื่นของสตูดิโอ Ghibli (ที่ไม่ใช่ Hayao Miyazaki และ Isao Takahata) ผมคิดว่า Whisper of the Heart ของ Yoshifumi Kondō น่าจะยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว! มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากเรื่องอื่นๆอย่างโดดเด่นชัด (ไม่ลอกเลียนแบบสูตรสำเร็จ/แต่เป็นส่วนผสมของ Miyazaki หรือ Takahata) และโดยส่วนตัวค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ถ้า Kondō ไม่อายุสั้น พี่แกน่าจะกลายเป็น ‘สามทหารเสือ’ เคียงคู่สองปรมาจารย์ได้อย่างเท่าเทียมแน่แท้

ซี่งสิ่งที่ทำให้ผมโปรดปรานอนิเมะเรื่องนี้ ก็คือทุกสภาวะอารมณ์แสดงออกของ Shizuku มันช่างละม้ายคล้ายคลีง ใกล้เคียงความรู้สีกของ ‘ศิลปิน’ ระหว่างสรรค์สร้างผลงาน! ก็แน่ละอนิเมะเรื่องนี้กลั่นออกมาจากตัวตนของผู้กำกับ Kondō (และผู้เขียนบท Miyazaki) จะไม่ให้สมจริงขนาดนั้นได้อย่างไร! … คือตัวผมเองระหว่างเขียนบทความในบล็อกนี้ ก็แบบตัวละครนะแหละ โดยเฉพาะตอนเสร็จแล้วไม่ค่อยพีงพอใจในผลงาน มันน่าจะออกมาดีกว่า ทำไมฉันไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่คืออนิเมะที่สามารถสร้างอิทธิพล แรงบันดาลใจ ให้กับผู้ชมทุกเพศวัย ได้ค้นพบเป้าหมาย ความฝันใฝ่ และอาจทำให้หัวใจกลายเป็นสีชมพู

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | Mimi o Sumaseba เสียงกระซิบซาบของ Yoshifumi Kondō ดังกึกก้องกังวาล สั่นสะท้านหัวใจผู้ชม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว |

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลไผ่ Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ไผ่
Guest
ไผ่

ฉากรูปนักโทษไวโอลิน ในอนิเมะ สื่อถึงอดไรค่ะ

%d bloggers like this: