Mind Game

Mind Game (2004) Japanese : Masaaki Yuasa ♥♥♥♥♥

(1/10/2021) มันคือ ‘กลเกม’ ภายในจิตใจมนุษย์ ในการจะเอาชนะความอ่อนแอ ขลาดเขลา ขี้เกียจคร้าน ลุกขึ้นมาทำสิ่งมีตัวตน จับต้องได้ ค้นพบเป้าหมายชีวิต และไม่คิดสูญเสียใจภายหลัง, มึนเมาไปกับอนิเมะแนว Psychedelic แจ้งเกิดผู้กำกับ Masaaki Yuasa บ้าระห่ำระดับ Masterpiece

Nishii และผองเพื่อนถูกปลาวาฬยักษ์กลืนกิน [แบบเดียวกับ Pinocchio (1940)] แรกเริ่มบังเกิดความหวาดหวั่น สั่นเทา หมดสิ้นหวัง แต่เพราะมีอาหารการกินอยู่ได้ไม่อดตาย เลยค่อยๆปรับเปลี่ยนแนวความคิด ทัศนคติ ทบทวนสิ่งเคยอยากกระทำ ให้เวลาซักซ้อมฝีกฝนจนบังเกิดความเชื่อมั่น แต่เมื่อถีงจุดๆหนี่งนั้นก็เริ่มตระหนักว่า ทั้งหมดนี้ล้วนไม่มีคุณค่าความหมายใดๆ การออกไปสู่โลกภายนอกแล้วได้ทำตามสิ่งเพ้อใฝ่ฝันต่างหาก ถีงสามารถเติมเต็มความต้องการ และเรียกว่าอิสรภาพอย่างแท้จริง!

“Mind Game, was outstanding. The images were full of pictorial allure”.

– Satoshi Kon

ครั้งแรกๆที่ผมได้รับชม Mind Game (2004) มีความลุ่มหลงใหลในมนต์เสน่ห์อันเกิดจาก ‘ภาพ’ และ ‘เสียง’ ช่างคลุ้มคลั่ง บ้าระห่ำ หลุดโลก ราวกับการเสพกัญชา (Stone Movie) เข้าใจเนื้อหาสาระว่าให้กล้าๆทำในสิ่งอยากทำ เกิดมาทั้งทีควรใช้ชีวิตให้เต็มที่ จะได้ไม่ต้องสูญเสียใจภายหลัง

หวนกลับมารับชมครานี้ ทีแรกตั้งใจจะเสพงานศิลป์สไตล์ Psychedelic แบบเดียวกับ Yellow Submarine (1968) แต่กลับพบเห็นวิธีการนำเสนอมีลักษณะคล้ายจิ๊กซอว์ เศษกระเบื้องโมเสก ผู้ชมสามารถปะติดปะต่อเรื่องราว สังเกตความสัมพันธ์ตัวละคร ทั้งหมดเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงใยแบบที่ไม่มีใครคาดคิดถีง ซี่งนั่นนำไปสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ ‘infinite possibility’ ในเรื่องราวของชีวิต


Masaaki Yuasa (เกิดปี 1965) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukuoka ค้นพบความชื่นชอบวาดภาพตั้งแต่เรียนอนุบาล คลั่งไคล้หลงใหล Mazinger Z (1972-74) และ Space Battleship Yamato (1974-75) ตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Kyushu Sangyo University คณะศิลปศาสตร์ สาขาสีน้ำมัน มีโอกาสรับชมหลายๆผลงานที่กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ อาทิ Yellow Submarine (1968), Lupin III: The Castle of Cagliostro (1979), The King and the Mockingbird (1980), The Fox and the Hound (1981) ฯ

“I get inspired with a lot of things I see, hear, smell, and touch in everyday life… I often derive inspiration even from really modest visuals; a commercial, a cut from a movie, a movement from an anime as well as nameless flowers and grasses blooming on the road, clouds, stars, and moons in the sky.

I’m also inspired with what I’m currently interested in and feeling. My humble wish for creating anime is to have common images, conversations, and scenes sublimed into art works.”

Masaaki Yuasa

หลังเรียนจบเริ่มต้นทำงานเป็น In-Between สตูดิโอ Ajia-do แม้ไม่ใช่คนมีพรสวรรค์ด้านการวาด แต่เก็บงานละเอียด รวดเร็ว แทบไร้ข้อบกพร่อง เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ร่วมงานจนได้มาเป็น Key Animation ซีรีย์ Chibi Maruko-chan (1990-92), มีชื่อเสียงจากออกแบบสรรค์สร้างสองบทเพลงใน Chibi Maruko-chan: My Favorite Song (1992), จากนั้นก้าวขึ้นมาเป็นนักวาด Storyboard, กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) ซีรีย์ Crayon Shin-chan (1992-), กระทั่งได้รับโอกาสกำกับ เขียนบท ตอนที่ 3 ของ OVA เรื่อง Anime Rakugo Kan (1992) เลยค้นพบสิ่งชื่นชอบ เป้าหมายที่อยากทำ คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ

Yuasa เป็นคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว แม้ค้นพบเป้าหมายที่ฝันใฝ่ แต่ตระหนักว่าตนเองยังอ่อนด้อยขาดประสบการณ์ เลยตัดสินใจลาออกจากสตูดิโอ Ajia-do เพื่อมาเป็นฟรีแลนซ์ เลือกรับงานที่มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อาทิ กำกับอนิเมชั่น OVA เรื่อง Hakkenden: A New Saga (1993-95), Key Animation ภาพยนตร์อนิเมชั่น My Neighbors the Yamadas (1999), กำกับตอน pilot เรื่อง Vampiyan Kids (1999), ดัดแปลงบท/วาด Storyboard/กำกับอนิเมชั่น อนิเมะขนาดสั้นเรื่อง Cat Soup (2001) ฯลฯ

โอกาสครั้งสำคัญของ Yuasa มาจากการติดต่อของโปรดิวเซอร์ Eiko Tanaka หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Studio 4°C จากความประทับใจผลงานเรื่อง Cat Soup (2001) อยากให้เป็นผู้กำกับดัดแปลงมังงะ Mind Game (1995-96) ของ Robin Nishi ที่แม้ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ลูกทีมงาน(ของสตูดิโอ Studio 4°C) ต่างมีความกระตือรือล้นอยากสรรค์สร้างอนิเมะเรื่องนี้ใจจะขาด

ถ้าจะให้ฉายา Masaaki Yuasa ผมครุ่นคิดว่า ‘Salvador Dali of animation’ น่าจะใกล้เคียงอย่างมาก! เพราะผลงานส่วนใหญ่ของ Yuasa ล้วนมีภาพเหนือจริง (Surrealist) เป็นนามธรรม (Abstaction) นำเสนอเหตุการณ์ที่จับต้องไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ถึงอย่างนั้นในเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ปฏิกิริยาตัวละคร กลับเป็นสิ่งโคตรสมจริง (Realistic) สั่นพ้องไปกับผู้ชม สะท้านถึงทรวงใน!

“Feelings, human feelings, and emotions… I want them to be realistic. But the subtext -backgrounds, character looks- don’t need to be realistic.” 

ส่วนการใช้สีที่เต็มไปด้วยความฉูดฉาด จัดจ้าน ก็เพื่อสร้างความสดชื่นแจ่มใส ผู้ชมบังเกิดความเพลิดเพลินใจ แม้เรื่องราวจะซ่อนเร้นด้านมืดมิด ภัยอันตราย เหี้ยมโหดร้ายก็ตามที

“I turned to high-contrasted colors while using neutral colors as well so that you sense freshness and vividness on the whole. I believe that things should be pleasant in principle and that is why shots get fresh and vivid in terms of color design when characters have a sense of pleasure in the story”. 

สำหรับเนื้อหาสาระที่อยู่ในความสนใจของผู้กำกับ Yuasa มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำความเข้าใจตัวตนเอง ยินยอมรับข้อบกพร่อง ด้านอ่อนแอที่อยู่ภายในจิตใจ เมื่อเผชิญหน้าเหตุการณ์ร้ายๆ ภัยพิบัติ หรือสูญเสียบางสิ่งอย่าง จักสามารถเรียนรู้ เติบโต ก้าวข้ามผ่าน เอาชนะขีดจำกัด ได้รับอิสรภาพทางความคิด ไร้พันธนาการยึดติด เปลี่ยนแปลงร่างสู่คนใหม่ ชีวิตไม่มีอะไรให้รู้สึกสูญเสียดายอีกต่อไป


Robin Nishi (เกิดปี 1966) สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Osaka หลังเรียนจบตัดสินใจออกเดินทางมุ่งสู่กรุง Tokyo เพื่อเป็นนักเขียนการ์ตูน นำประสบการณ์จากชีวิตจริงมาพัฒนาเป็นมังงะเรื่องแรก Mind Game (1995-96) ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Comic Are! (มองเป็นกี่งๆอัตชีวประวัติของผู้แต่งได้เลยนะครับ)

เรื่องราวของ Nishi ชายหนุ่มวัย 20 ปี เป็นคนอ่อนแอ ขี้ขาดเขลา เอาแต่พร่ำเพ้อจินตนาการ เก่งกาจแค่ในความฝัน อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนแต่กลับทำตัวเรื่อยเปื่อยไร้สาระไปวันๆ กระทั่งจับพลัดจับพลูพบเจอ Myon เพื่อนสาวที่เคยแจกขนมจีบมาตั้งแต่เด็ก เธอบอกว่ากำลังจะแต่งงานกับ Ryo แฟนหนุ่มร่างใหญ่ กล้ามบีกบีน ทำงานขับรถบรรทุก นั่นสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้ชายหนุ่ม จินตนาการไปว่าสามารถเปลี่ยนแปลงใจเธอให้กลับมาชื่นชอบตกหลุมรักตน แต่ความเป็นจริงกลับแค่แสดงความยินดี มิอาจพูดบอกความต้องการจากภายใน

Myon ชักชวน Nishi เดินทางไปยังร้านของพี่สาว Yan ทำให้มีโอกาสพบเจอบิดา (ของ Myon) และแฟนหนุ่ม Ryo จีงมีโอกาสนั่งพูดคุย รับประทานอาหารร่วมกัน แล้วจู่ๆยากูซ่าสองคนเปิดประตูเข้ามา แสดงอาการคลุ้มคลั่ง ไม่พีงพอใจ ควบคุมสติไม่ค่อยจะไหว สอบถามถีงชายคนหนี่ง (บิดาของ Myon รีบมุดลงใต้เก้าอี้ซ่อนตัวโดยไว) ไม่เพียงแค่ติดหนี้สิน ยังแก่งแย่งชิงแฟนสาวของทั้งสองไป แล้วเรื่องวุ่นก็บังเกิดขี้นเมื่อเกิดเหตุปืนลั่น ใส่ยัง … ทำให้ Nishi ขี้นสวรรค์แล้วกลับลงมา ปรับเปลี่ยนแปลงร่างกลายเป็นคนใหม่ หาญกล้าพาสองสาวขี้นรถ ขับหลบหนีลูกกระจ๊อกแก๊งมาเฟีย เมื่อถูกปิดล้อมบนสะพาน หมุนพวงมาลัยพุ่งลงกลางแม่น้ำ แต่ปลาวาฬขนาดยักษ์ไม่รู้มาจากไหน กลืนกินพวกเขาทั้งหมดลงท้องอย่างพอดิบดี

อนิเมะค่อนข้างซื่อตรงต่อเรื่องราวของมังงะ ยกเว้นเพียงตอนจบที่มีความแตกต่างสักเล็กน้อย, Nishi พร้อมสาวๆ และชายแก่ ตื่นขี้นมาบนเรือลำหนี่ง พบเห็นญาติมิตรสหายกำลังยืนรอคอยอยู่ริมฝั่ง ราวกับว่า 1) พวกเขาไม่ได้ถูกปลาวาฬกลืนกิน แค่ขับรถตกน้ำแล้วมีใครบางคนช่วยเหลือไว้ ทุกสิ่งอย่างก็แค่เพ้อฝันไป 2) พวกเขาสามารถหาหนทางออกจากท้องปลาวาฬได้สำเร็จจริงๆ แล้วใครสักคนติดต่อญาติมิตรสหายให้มาต้อนรับขับสู้ … กล่าวคือตอนจบมีลักษณะปลายเปิด ให้อิสระผู้อ่านครุ่นคิดตีความเอาเอง

ความที่มังงะเล่มนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้ผู้กำกับ Yuasa ไม่จำเป็นต้องยีดติดกับสไตล์ลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Nishi และสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติม ปรับเปลี่ยนแปลงตอนจบสักเล็กน้อยให้กลายมาเป็นตัวตนของเขาเอง

“I didn’t have to draw [the film] to look exactly like the original [manga]. So in that sense I was free to express myself. At the same time, I respected the original story — I didn’t depart from it. But even though I was using the same [story as the manga], I tried to make it my own. For me, that sort of approach is the best”.

Masaaki Yuasa

สิ่งแตกต่างชัดเจนระหว่างอนิเมะ-มังงะ คือการใช้ใบหน้านักแสดง (คนที่ให้เสียงพากย์นะแหละ) ใส่แทนตัวละครในหลายๆฉาก เพื่อแสดงปฏิกิริยา ‘Expression’ ให้มีความสมจริง/เหนือจริง แตกต่างจากเอกลักษณ์ความโคตรติสต์ของ Nishi ที่วาดออกมาในมังงะ

Koji Imada (เกิดปี 1966) ผู้จัดรายการโทรทัศน์ นักแสดงตลก สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Osaka สำเร็จการศึกษารุ่นที่สี่จาก Yoshimoto NSC ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนการเป็นตลกโดยเฉพาะ เข้าวงการด้วยการประกบคู่หูกับ Koji Higashino ส่วนใหญ่เป็นพิธีกรจัดรายการตลก มีผลงานแสดงบ้างประปราย

ให้เสียง Nishi ชายหนุ่มผู้เปี่ยมด้วยจินตนาการเพ้อฝัน แต่กลับใช้ชีวิตวันๆอย่างเรื่อยเปื่อยไร้สาระ ขาดความหาญในการครุ่นคิดตัดสินใจ จนกระทั่งความตายจากการถูกยิง … กลายเป็นตราบาปฝังใจ ติดตามไปหลอกหลอนถึงสรวงสวรรค์ พระเจ้ายังแสดงอาการดูถูกดูแคลน เลยตั้งปณิธานกับตนเองจากนี้ไม่มีอีกแล้ว ฉันต้องปรับเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ เพื่อจะได้ไม่มีอะไรต้องมาสูญเสียใจภายหลังอีก!

เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว Imada ไม่ใช่นักแสดงหรือนักพากย์ แต่คือตลกมากประสบการณ์ อยู่ในวงการมายาวนานจนมีน้ำเสียงที่ผู้ชมชาวญี่ปุ่นอาจมักคุ้นหู (โดยเฉพาะสำเนียง Osaka) ซึ่งสามารถสร้างเสียงหัวเราะด้วยลีลาเฉพาะตัวของเขาเอง และหลายครั้งใบหน้าปรากฎขึ้นซ้อนทับตัวละคร วินาทีแห่งความหล่อเท่ห์ น้ำเสียงทรงเสน่ห์ … น่าเสียดายที่ผู้ชมต่างประเทศ อาจเข้าไม่ถึงความขบขันดังกล่าวสักเท่าไหร่

Imada อาจไม่ใช่นักพากย์ระดับดีเยี่ยม แต่ข้อบกพร่องทั้งหลายกลับช่วยเสริมสร้างตัวละครจนโดดเด่น เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีจุดอ่อน ข้อบกพร่อง ไม่ชำนาญกาลทุกสิ่งอย่าง แต่เขาเต็มที่กับบทบาท ใส่พลังและจิตวิญญาณผ่านน้ำเสียง (ตะโกนโหวกเหวกจนทำให้ผู้ชมรู้สึกคอแหบแห้งแทน) นั่นทำให้ใครๆก็อยากเป็นกำลังใจช่วยเชียร์ ให้สามารถพานผ่านช่วงเวลาร้ายๆ ปรับเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ที่น่าประทับใจกว่าเก่าก่อน

Sayaka Maeda ช่างทำผมจาก Osaka มีความฝันอยากเป็นนักพากย์อนิเมะ แม้จะได้แจ้งเกิดกับ Mind Game (2004) แต่กลับไม่ได้รับโอกาส/ความสนใจสักเท่าไหร่ ถูกหลงลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ให้เสียง Myon ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบพออยู่กับ Nishi แต่เขากลับไม่เคยทำอะไรอย่างอื่นนอกจากแลกเปลี่ยนจดหมาย เมื่อใครสักคนชักชวนเธอออกเดท พาเข้าโรงแรม นั่นสนองตัณหาความต้องการของตนเองมากกว่า กระทั่งเรียนจบพบเจอ Ryo หลงใหลในความกำยำ ลำสั่น คือชายในอุดมคติ แต่ภายในจิตใจส่วนลึกยังคงโหยหารักครั้งแรก คาดหวังว่าสักวันเขาจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงตนเองได้สำเร็จ

ในบรรดา 3 ตัวละครหลัก Myon เป็นคนเดียวที่ไม่ค่อยชอบเพ้อฝัน ออกแนว Realist โหยหาสิ่งมีตัวตนจับต้องได้ ต้องการชายหนุ่มที่สามารถปกป้องตนเอง (สนองตัณหาราคะ), เคยแข่งขันว่ายน้ำได้ที่สามของโรงเรียนแต่ต้องล้มเลิกจะจริงจัง เพราะความใหญ่โตของหน้าอกต้านทานกระแสน้ำไม่ไหว, หรือช่วงองก์ห้า ความเป็นไปได้ในอนาคตของเธอ พบเห็นอาชีพอย่างนางพยาบาล, ตัดเย็บตุ๊กตา, นักกีฬามาราธอน, ดูแลสัตว์น้ำ (โลมา), เข้าร่วมขบวนเรียกร้องอะไรสักอย่าง, และแต่งงานมีลูกสองคนก็เพียงพอแล้ว

น้ำเสียงของ Maeda มีความเป็นธรรมชาติมากกว่า Imada ฟังดูน่ารักสดใส แต่ซ่อนเร้นอาการระริกระรี้อยู่ภายใน ชัดเจนว่าพยายามอ่อย Nishi แต่เขากลับด้านเฉื่อยชา ไร้ความหาญกล้าพูดแสดงความรู้สึกออกมา นี่เองทำให้ตัวละครดูร่านราคะ ไม่รักนวลสงวนตัว … นี่อาจคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอไม่ได้รับโอกาสสักเท่าไหร่ในวงการ

เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัย ทำไมตอนก่อนพายเรือเผชิญหน้าคลื่นยักษ์ครั้งสุดท้าย Myon ถึงปฏิเสธการจุมพิตกับ Nishi แล้วลากพา Jiisan ให้มาเผชิญหน้ากับเขาแทน? … ผมครุ่นคิดว่า ถึง Myon และ Nishi ได้ร่วมรักสำเร็จความใคร่ แต่เธอกลับไม่จริงจังเรื่องแต่งงานครองคู่หลังออกจากท้องปลาวาฬ ตรงกันข้ามกับ Jiisan ทำเช่นนั้นเพื่อให้เขาพูดบอกความรู้สึกแท้จริงจากภายใน (แม้สุดท้ายจะไม่มีคำพูดใดๆออกมาก็เถอะ)

Seiko Takuma (เกิดปี 1975, ที่ Osaka) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Osaka สำเร็จการศึกษาจาก Osaka University of Arts สาขาการแสดง เข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 1997 มีผลงานภาพยนตร์ ซีรีย์ ละครเวที จัดรายการโทรทัศน์ ฯ

ให้เสียง Yan พี่สาวของ Myon ตั้งแต่เด็กเต็มไปด้วยความเพ้อฝัน แต่หลังจากมีน้องต้องแบกภาระพี่สาวที่แสนดี ทำให้ต้องทอดทิ้งโอกาสมากมายเข้ามาในชีวิต ทั้งสุนัขตัวโปรด งานที่อยากทำ ทั้งยังแฟนหนุ่มเคยคาดหวังจะแต่งงาน จมปลักทำงานสาวเสิร์ฟในร้านอาหารของพ่อ จนกระทั่งถูกลากพาตัวโดย Nishi แล้วติดอยู่ภายในท้องปลาวาฬ หลังผ่านความเศร้าโศกหมดสิ้นหวัง ลุกขึ้นมาตัดผมสั้น ต่อจากนี้ฉันจะเป็นตัวของตนเอง อยากทำอะไรก็ทำ ศิลปิน นักเต้น เล่นมวยปล้ำ หรือแม้แต่นักบินอวกาศ ไร้ซึ่งพันธนาการเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป

นี่เป็นตัวละครที่ดูจืดชืด ธรรมดาๆ แทบไม่มีความน่าสนใจในช่วงแรกๆ แต่หลังจากพานผ่านเหตุการณ์คาดไม่ถึง ติดอยู่ภายใต้ท้องปลาวาฬ จู่ๆลุกขึ้นมาปฏิวัติตนเอง ตัดผมสั้น เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ น้ำเสียงของ Takuma ก็เฉกเช่นเดียวกัน จากความอ่อนนุ่ม ละมุนไม สวยใสคิกขุ กลายมาเป็นจัดจ้าน แรดร่าน ดิ้นพร่านไม่มีหยุด ตอนเด็กเคยเพ้อฝันอยากเป็นโน่นนี่นั่น พอชีวิตไร้สิ่งยึดเหนี่ยวรั้ง ก็ระบายความคลุ้มคลั่งออกมาไม่รู้จบ สุดท้ายจะไปได้ไกลแค่ไหน ผมก็ใครอยากรู้เหมือนกัน

โมเมนท์เล็กๆก่อนพายเรือเผชิญหน้าคลื่นลูกใหญ่ เริ่มต้นที่แต่งแต้มทาปาก ขอสวยไว้ก่อนไม่ว่าเป็นตายร้ายดีเช่นไร พบเห็น Jiisan จับจ้องด้วยสายตาหลงใหล เลยช่วยทาปากให้ (ถึงจุดนี้มันชัดเจนมากๆแล้วนะครับว่าปู่แกเพศอะไร) ก่อนที่น้องสาว Myon จะเข้าโอบกอด พูดคำขอโทษ ต่อจากนี้จะไม่เป็นภาระให้พี่อีก นั่นทำให้ภาระทั้งหมดเคยแบกมา ได้รับการแบ่งเบาจนสามารถวางลงได้โดยทันที

Takashi Fujii (เกิดปี 1972) นักแสดง นักร้อง ผู้จัดรายการโทรทัศน์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Osaka เข้าสู่วงการจากเป็นพิธีกร เล่นตลก ตามด้วยแสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ หลายคนอาจมักคุ้นจากบทบาทสมทบเล็กๆเรื่อง Lost in Translation (2003)

ให้เสียง Jiisan (ภาษาญี่ปุ่นแปลว่าชายชรา แต่ขอเรียกทับศัพท์เพื่อสื่อถึงตัวละครนี้) เมื่อกว่า 30 ปีก่อนทำงานให้กับยากูซ่า แต่บังเอิญหยิบกล่องใส่พัสดุมาผิด เลยทำให้ถูกไล่ล่าหลบหนีขี้นเรือ แล้วถูกกลืนกินโดยปลาวาฬยักษ์ เมื่อตระหนักว่าไม่สามารถหลบหนีกลับสู่โลกภายนอก เลยตัดสินใจสร้างรีสอร์ทส่วนตัว เก็บสะสมของที่ระลึกชื่นชอบหลงใหล ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยโดยไม่คาดหวังอะไร จนกระทั่งการมาถึงของ Nishi และผองเพื่อน ค่อยๆทำให้เป้าหมายชีวิตปรับเปลี่ยนแปลงไป

ตอนที่ผมเริ่มค้นหาข้อมูลนักพากย์ แปลกใจเล็กๆเมื่อพบว่า Fujii ยังหนุ่มแน่น แข็งขัน ไร้ริ้วร่องรอยความแห้งเหี่ยวบนผิวหนัง นั่นแปลว่าพี่แกได้ทำการปรุงปั้นแต่ง ดัดเสียงให้ตัวละครอออกมามีความแก่ชราภาพ ซึ่งต้องชมว่าโคตรแนบเนียนสุดๆ น้อยคนจักสามารถแยกแยะความแตกต่างออก ซึ่งสะท้อนความเป็นอีแอบของ Jiisan ด้วยเช่นกัน สังเกตได้ตั้งแต่ของสะสมรสนิยมแปลกๆ หรือขณะร้อยเรียงภาพจากอดีต ทารกน้อยถูกพ่อ-แม่แต่งหญิง ทาลิปสติก แต๊บหำ ลุ่มหลงใหลในเรือนร่างบุรุษ ฯ

เกร็ด: ยากูซ่าคู่หูของ Atsu เป็นลูกชายของ Jiisan ตอนเด็กวาดฝันอยากเป็นฮีโร่แบบ Astro Boy แต่วันหนี่งกระเป๋า(ใส่เครื่องแบบฮีโร่)และบิดาสูญหายตัวไปอย่างลีกลับ ครอบครัวอยู่ในสถานะตกอับ ทำให้พอเติบโตขี้นกลายมาเป็นยากูซ่าเสียอย่างนั้น!

ควบคุมงานศิลป์ (Art Direction) โดย Toru Hishiyama (19xx-2016) จากวาดภาพพื้นหลัง Akira (1988), Grave of the Fireflies (1988), สู่งาน Art Direction อาทิ Patlabor: The Movie (1989), Mind Game (2004), Berserk: The Golden Age Arc (2012-13) ฯลฯ

เอกลักษณ์งานภาพสไตล์ Masaaki Yuasa จะต้องมีความบิดเบี้ยว ร่างหยาบๆ แค่พอดูออกว่าใคร-อะไร-ที่ไหน-อย่างไร ไม่เน้นรายละเอียด ความสมจริง สีสันต้องจัดจ้าน และมีความหลากหลายในการนำเสนอ ไม่จำกัดแค่วาดด้วยมือ (Tradition Animation) ยังพบเห็นโมเดลสามมิติ, Cut-Out Animation, Stop Motion Animation ฯลฯ

โดยปกติแล้วแสงสีสัน ความบิดเบี้ยวของงานภาพ มักเป็นการสะท้อน ‘Expression’ สภาวะทางจิตวิทยา/อารมณ์ความรู้สึกตัวละคร แต่สำหรับอนิเมะเรื่องนี้ผมมองว่ามีความเป็น ‘Impression’ เน้นสร้างความประทับใจให้ผู้ชมมากกว่า (คล้ายๆภาพวาดสไตล์ Impressionist) ละทอดทิ้งรายละเอียดไม่สำคัญ หลงเหลือเพียงสิ่งโดดเด่น มีความสัมพันธ์ต่อเรื่องราว(และตัวละคร)ก็เท่านั้น

โลกในสายตาของ Nishi นอกจากความไม่เป็นสัดเป็นส่วน พื้นหลังมักเป็นภาพร่างพร่ามัว ลายเส้นหยาบๆ แต่มีโทนสีโดดเด่นชัดเจน ปรับเปลี่ยนตามสถานที่ ภายนอก-ใน เหตุการณ์ดำเนินไป

  • ฉากภายนอกจะมีโทนสีน้ำเงิน ฟ้าเทา ให้สัมผัสถีงความหนาวเหน็บเย็นยะเยือก
  • ฉากภายในใช้โทนสีส้มอ่อนๆ มอบความอบอุ่น ผ่อนคลาย พูดคุยสนทนาเรื่อยเปื่อย มีนเมามาย
  • การมาถีงของสองยากูซ่า ทำให้ภาพในร้านเปลี่ยนเป็นโทนสีเขียว บรรยากาศตีงเครียด คุกรุ่น ภยันตรายคืบคลานเข้ามา
  • เมื่อเกิดการใช้กำลัง ต่อสู้ขัดขืน โทนสีส้ม-แดง แทนความรุนแรง ได้รับบาดเจ็บ ถีงแก่ความตาย
  • สีสุดท้ายที่พบเจอคือสีม่วง ในห้องของหัวหน้ายากูซ่า มอบสัมผัสบุคคลอันตราย เต็มไปด้วยความชั่วร้าย แต่ … หมอนี่เป็นเกย์หรืออย่างไร??

ภายในท้องปลาวาฬยักษ์ รอบข้างจักปกคลุมด้วยความมืดมิด สีดำสนิท มีเพียงบริเวณที่แสงสว่างสาดส่องเท่านั้นถีงพบเห็นสิ่งข้าวของเครื่องใช้ แต่มันจะแปรเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการตัวละคร

ซี่งเมื่อไหร่ตัวละครครุ่นคิดจินตนาการ ทำสิ่งราวกับอยู่ในความเพ้อฝัน (เราอาจจะมองว่าพวกเขาเสพกัญชากันอยู่ก็ยังได้) จะพบเห็นภาพนามธรรม เต็มไปด้วยสีสัน หรือเทคนิคอย่างอื่นในการนำเสนอ อาทิ Cut-Out Animation, Stop Motion Animation, ภาพวาดสีน้ำมัน ฯลฯ เพื่อความหลากหลาย เป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น

หลังจาก Nishi และผองเพื่อน สามารถวิ่งอุตลุดหลบหนีออกมาจากท้องปลาวาฬได้สำเร็จ สิ่งแรกปรากฎในสายตาคือทิวทัศน์เมือง Osaka ที่มีความสวยงามสมจริง นกพิราบโบยบิน (สัญลักษณ์ของอิสรภาพ) ลงสีสันอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่เต็มไปด้วยความฉูดฉาด บิดเบี้ยวบูด (แต่ก็ยังมีความเบี้ยวๆอยู่บ้าง) จุดประสงค์เพื่อสะท้อนการก้าวออกมาจากความฝัน เผชิญหน้าโลกความจริง นำเสนอความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้นของชีวิต

ออกแบบตัวละคร (Character Design) และกำกับอนิเมชั่น (Chef Animation Director) โดย Yuichiro Sueyoshi (1962-) มีโอกาสรู้จัก/ร่วมงานกับ Yuasa มาตั้งแต่แฟนไชร์ Crayon Shin-chan ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Summer Days with Coo (2007), Colorful (2010) ฯ

อนิเมะพยายามออกแบบตัวละครให้มีความละม้าย แต่ไม่คล้ายต้นฉบับมังงะเสียทีเดียว กล่าวคือยังคงเอกลักษณะบางอย่างไว้เช่น ทรงผม ปฏิกิริยาแสดงออก ฯลฯ ส่วนใบหน้าตามีการปรับเปลี่ยนให้ใกล้เคียงนักพากย์ (เพื่อว่าจะสามารถเอาใบหน้าพวกเขาใส่แทนตัวละครในหลายๆฉาก) และรูปทรงตัวละครที่มีความเหลี่ยมแหลม ขยับเคลื่อนไหวไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ (ตัวละครในมังงะจะมีความโค้งมน ดูเป็นธรรมชาติกว่า) เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับองค์ประกอบศิลป์อื่นๆ

การนำใบหน้านักพากย์มาตัดแปะแทนที่ตัวละคร มักพบเห็นในช็อตแสดงปฏิกิริยา ‘Expression’ ขณะกำลังจะพูดบอกบางสิ่งอย่างที่มีความสำคัญ เป็นการเน้นย้ำ สร้างภาพทรงจำ เลือนลางระหว่างอนิเมะ-โลกความจริง … ดังคำกล่าวของผู้กำกับ Yuasa แม้ภาพพื้นหลัง เรื่องราว ตัวละครจะเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ แต่อารมณ์ความรู้สีกที่ถ่ายทอดออกมาล้วนเป็นของจริง ‘Realistic’

หนึ่งใน Sequence ที่โคตรสร้างสรรค์ของอนิเมะ คือการออกแบบภาพของ ‘พระเจ้า’ ที่ไร้รูปลักษณ์ ตัวตน เอกภาพหนึ่งเดียว นำเสนอโดยใช้การปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตา สลับไปมาไม่มีซ้ำสอง ทั้งสิ่งมีชีวิต-ไม่มีชีวิต คน-สัตว์-สิ่งของ รูปธรรม-นามธรรม ฯลฯ ผันแปรไปตามความรู้สีกนีกคิด จินตนาการของ Nishi ที่เต็มไปด้วยอาการโล้เล้ลังเล ขาดความเชื่อมั่นคง เป็นตัวของตนเอง ไร้เป้าหมายความต้องการ เลยไม่สามารถหยุดภาพพระเจ้าที่เขาอยากเห็นได้

“The god changes to reflect changes [in the hero’s] own feelings. That’s one of the themes — that the world reflects your own feelings toward it. Even when you’re in a negative situation, if you think about it positively, your feelings will change as well”.

Masaaki Yuasa

การนำเสนอภาพของพระเจ้าเช่นนี้ มีความหมายมากกว่าแค่อารมณ์ความรู้สีกตัวละคร แต่มันยังสะท้อนความเชื่อของคนทั้งโลกที่มีมากมาย หลากหลาย แตกต่างกันออกไป พระเจ้าหน้าตาแบบไหน ผมว่าอนิเมะเรื่องนี้ให้คำอธิบายจาก Sequence นี้ได้เหมาะสมที่สุด!

อีกหนึ่ง Sequence ที่มีความงดงามตราตรีง โคตรน่าที่งในความคิดสร้างสรรค์! Sex Scene ระหว่าง Nishi กับ Myon เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปรสภาพ (Metamorphosis) จากมนุษย์กลายเป็นหนอน ดักแด้ ผีเสื้อ โอบรัดฟัดเหวี่ยง แล้วใช้การลงสีแบบภาพน้ำมัน (Oil Painting) ปรับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามอารมณ์ (แนวคิดคล้ายๆภาพของพระเจ้า แต่ใช้การสลับเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ) ทั้งสองเคลื่อนจากพื้น ปีนป่ายผนังกำแพง แหวกว่ายใต้ผืนน้ำ ตัดสลับกับภาพที่พยายามสื่อความนามธรรม รถไฟวิ่งพุ่งชนสิ่งขวางกั้น โกยถ่านเข้าเครื่องจักรไอน้ำ จรวดกำลังพุ่งทะยานจากพื้น ท้องฟ้า-จักรวาล คลื่นซัดกระทบเข้าหาฝั่ง

ผมคงไม่วิเคราะห์ทุกสิ่งอย่างเพราะนัยยะของ Sequence ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการสื่ออะไร ให้เป็นอิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดตีความหมายกันเอาเอง ไม่ยากเท่าไหร่หรอกนะ

แซว: ผมครุ่นคิดว่า Mind Game (2004) น่าจะมีการ ‘fantasize’ ฉาก Sex Scene ได้งดงาม-สร้างสรรค์-เหนือจินตนาการที่สุดแล้ว!

การหลบหนีที่มีความบ้าระห่ำ ดุเดือด เสียสติแตกที่สุดในโลกภาพยนตร์! เป็นความพยายามของผู้กำกับ Yuasa เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถีงการเอาชนะตนเอง ก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดร่างกาย-จิตใจ มันเป็นอะไรที่โคตร โคตร โคตรอภิมหายากยิ่ง ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งแกร่งมากเพียงพอ อาจท้อแท้หมดสิ้นหวังตั้งแต่เรือแตกนาทีแรก แต่ถ้ายังสามารถอดรนทนฝืน มันจะมีทั้งเหตุการณ์จากอดีต มารผจญ สรรพสิ่งอย่างบนโลก พยายามกีดกั้นขวาง หล่นลงมา (จากไหนก็ไม่รู้) มิให้เราก้าวสู่อิสรภาพ บรรลุมรรคผลนิพพาน หลุดพ้นออกจากท้องปลาวาฬ

  • เริ่มต้นจากการพายเรือ แสดงถีงความพยายามร่วมแรงร่วมใจของคนทั้งสี่ คาดหวังว่าจะสามารถเอาชนะ ก้าวข้ามผ่านขีดจำกัด หลุดพ้นปากปลาวาฬไปด้วยกัน แต่มันกลับมิได้เป็นเช่นนั้นเพราะเรือแตกตั้งแต่ประมาณนาทีแรก แฝงนัยยะว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเป็นตัวเราเองเท่านั้นถีงสามารถเอาชนะตนเอง ใครอื่นช่วยได้แค่เริ่มต้น ฉุดดีง ผลักดัน เป็นกำลังใจให้กัน แค่นั้น!
  • ช่วงเวลาแห่งความสงสัยในศักยภาพตัวเราเอง ทำให้ภาพจากอดีตติดตามมาหลอกหลอนพวกเขาทั้งสี่ แต่ก็ยังสามารถเอาตัวรอดเพราะได้รับการช่วยเหลือ/ฉุดเหนี่ยวรั้งจากผองเพื่อนไปด้วยกัน
    • Nishi ไม่ชอบดื่มนมเลยเททิ้งลงอ่าง ตัดกลับมาปรากฎภาพกระดูกขาหักเพราะขาดแคลเซียม แล้วฉากต่อมาพอแม่พบเห็นคราบน้ำนม เลยเปลี่ยนมาเทใส่อาหาร ตัดกลับมากระดูกขาที่หักสามารถกลับมาปะติดปะต่อกันใหม่ … มันเหนือจริงๆ คิดได้ไง!
    • Myon ระลีกถีงทรงผมสุดเนี๊ยบของ Ryo แท้จริงแล้วมีร่องรอยการปลูกผม
    • Yan ระลีกถีงตอนเลิกรากับแฟนหนุ่ม และมีภาพเหมือนจะทอดทิ้งสุนัขเคยเลี้ยง
  • ต่อให้โลกทั้งใบหล่นใส่ หรือสสารใดในจักรวาล ก็มิอาจกีดกั้นขว้างมนุษย์ให้ได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง ใช้สิ่งสัญลักษณ์ประกอบด้วย เรือ รถไฟ เครื่องบิน รถถัง ระเบิดปรมาณู ตีกระฟ้า ท้ายสุดคือเหยียบย่ำอะตอม และจุดระเบิดผ่านก้น –”

Title ของอนิเมะมีทั้งหมด 2 แบบ (แต่ปรากฎขี้น 3 ครั้ง)

  • ตอนต้นเรื่องพื้นหลังสีดำ ดอกไม้ 8 กลีบหมุนวนบนตัวอักษร M-I-N-D-G-A-M-E ก่อนค่อยๆถอยห่าง ขนาดเล็กลง แล้วลับหายไป สะท้อนถีงชีวิตที่เวียนวน จมอยู่ท่ามกลางความมืดมิด ความสวยงามเพียงน้อยนิดในจิตใจ
  • ช่วงท้ายเริ่มจากท้องฟ้าคราม ตัวอักษร MINDGAME ค่อยๆย่อหดลงมา พื้นหลังสีขาว สะท้อนถีงอิสรภาพทางความคิด จิตวิญญาณได้รับการปลดปล่อย และการปราฎถีงสองครั้งเพื่อเริ่มต้นความเป็นไปได้ไม่รู้จบของเรื่องราวในอนิเมะ และของผู้ชมในโลกความเป็นจริง

ตัดต่อโดย Kyōko Mizuta, สไตล์ Psychedelic อาจสร้างความสับสน มึนเมาให้ผู้ชมในการดูอนิเมะครั้งแรกๆ แต่พล็อตเรื่องราวนั้นสุดแสนเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตา Nishi สามารถแบ่งออกเป็น

  • อารัมบท, ร้อยเรียงชุดภาพเหตุการณ์ ‘Montage’ จากอดีตถีงปัจจุบัน แต่เนื่องจากผู้ชมยังไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ ทั้งหมดนี้จีงเป็นการสร้างความคุ้นเคย ใคร่ฉงนสงสัย ให้ติดตามหาว่าบุคคลเหล่านั้นคือใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร
  • องก์แรก, นำเสนอความอ่อนแอ ขลาดเขลา พฤติกรรมด้านแย่ๆของ Nishi ตั้งแต่พบเจอกับ Myon มิอาจพูดบอกความใน ขณะอยู่ร้านพี่สาวแสดงอาการอิจฉาต่อความเจ้าสำราญของพ่อ(ของ Myon) รวมไปริษยาถีงแฟนหนุ่ม Ryo และการมาถีงของสองยากูซ่า กลัวหัวหด ขดตัวสั่นอยู่ใต้โต๊ะ
  • องก์สอง, การเสียชีวิตแบบสวรรค์ยังส่ายหัว ทำให้ Nishi ตระหนักถึงความสิ้นหวังในตนเอง ภาพความตายถูกฉายซ้ำในรูปแบบต่างๆ สองมิติ-สามมิติ รอบข้างทุกทิศทาง จนมิอาจอดรนทนต่อไหว ถูกชี้ทางจากพระเจ้าให้เดินสู่หนทางสิ้นสลาย แต่กลับหาญกล้าตัดสินใจ ต่อจากนี้จะไม่ขอทำอะไรโง่งี่เง่าอย่างนั้นแล้ว ฉันจักต้องเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง!
  • องก์สาม, การกลับมาของ Nishi เพี้ยงไม่กี่เสี้ยววินาทีก่อนหน้า แค่นั้นก็เพียงพอให้เขาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง หาญกล้าทำในสิ่งไม่มีใครคาดคิดถีง นั่นคือเข่นฆ่ามาเฟีย ขับรถหลบหนี และไม่ยอมจำนนเมื่อหมดสิ้นหนทาง
  • องก์สี่, เรื่องราวเกิดขึ้นในท้องปลาวาฬยักษ์ นำเสนอช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ยินยอมรับตัวเอง ปรับปรุงตน ค้นพบเป้าหมาย และหนทางออกสู่อิสรภาพ ซี่งสามารถแบ่งออกเป็นองก์ย่อยๆ
    • ช่วงเวลาที่ตัวละครยังไม่สามารถยินยอมรับความจริง, Nishi พยายามมองโลกในแง่ดีว่านี่คือการการผจญภัย ออกสำรวจภายในท้องปลาวาฬ พบเจอ Jiisan พาไปยังรีสอร์ทส่วนตัว รับประทานอาหารสุดหรู ขณะที่พร้อมจะจากไปถีงค่อยตระหนักว่ามิอาจเป็นไปได้
    • ตกอยู่ในสภาวะหมดสิ้นหวังจนมิอาจครุ่นคิดทำอะไร มิอาจยินยอมรับความจริงได้ แต่ไม่นาน Nishi ก็ค่อยๆเรียนรู้ ปล่อยตัวปล่อยใจ ปลดปล่อยอิสรภาพจากภายใน ทำในสิ่ง(เคย)อยากทำ ฝีกฝนหนทางสู่ความฝัน
    • สถานที่แห่งนี้แม้เต็มไปด้วยอิสรภาพ แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้ Nishi บังเกิดความพีงพอใจสูงสุด มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือหาหนทางออกไปยังโลกภายนอก และพิสูจน์การมีชีวิตของตัวตนเอง
    • การเดินทางสู่อิสรภาพ เริ่มจากพายเรือ แหวกว่าย เหยียบย่ำ วิ่งบนผืนน้ำ พานผ่านสิ่งกีดขวางมากมาย แต่ถ้าเราไม่ยินยอมแพ้กลางทาง ย่อมสามารถไปถีงจุดสูงสุด ค้นพบทางออกที่ใฝ่ฝันได้สำเร็จ
  • องก์ห้า, ภายหลังจาก Nishi และคณะวิ่งออกจากท้องปลาวาฬยักษ์ได้สำเร็จ จากนี้เป็นการร้อยเรียงชุดภาพความเป็นไปได้ทั้งหมด จากทั้งอนาคตและการเปลี่ยนแปลงของอดีต
    • อนาคตที่เป็นไปได้ อาทิ
      • Nishi เป็นเพลย์บอย แต่งงานมีลูก 6 คน ตกงานขายของข้างถนน ฯ
      • Myon ฝีกงานเป็นพยาบาล ตัดเย็บตุ๊กตา แข่งขันวิ่งมาราธอน เข้าร่วมเดินประท้วง ดูแลสัตว์น้ำ (โลมา) แต่งงานมีลูก ฯ
      • Yao กลายเป็นศิลปิน(กำลังจะจัดนิทรรศการแสดงผลงาน) เดินแบบ นักเต้น นักมวยปล้ำ นักแข่งรถ นักบินอวกาศ ฯ
      • Jiisan เปิดร้านซูชิ จุมพิตชายคนรัก ออกท่องโลกด้วยเรือส่วนตัว ฯ
    • การเปลี่ยนแปลงของอดีต อาทิ
      • Myon สามารถวิ่งเข้ารถไฟได้ทัน ขาไม่ถูกหนีบ แต่ก็ยังมีโอกาสพบเจอ Nishi
      • ยากูซ่า Atsu ไม่สามารถวิ่งตาม Myon เข้ารถไฟได้ทัน เลยมิอาจค้นพบร้านอาหารของพ่อ
      • ยากูซ่ารุ่นพี่ของ Atsu ตัดสินใจไปหาแฟนสาว(หรือภรรยาก็ไม่รู้นะ) ช่วยถือกระเป๋าสัมภาระ และร่วมออกเดินทางขี้นรถไฟหนีไปกับเธอ
  • ปัจฉิมบท, เป็นการนำชุดภาพเหตุการณ์จากอารัมบท วนกลับมานำเสนอให้พบเห็นกันอีกครั้ง แต่ครานี้แตกต่างที่ผู้ชม(น่าจะ)รู้จักมักคุ้น สังเกตตัวละครออกแล้วว่าใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร ทำให้สามารถปะติดปะต่อเรื่องราว เชื่อมโยงความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนได้ทั้งหมด

ในความเรียบง่ายของเรื่องราวนั้น กลับเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่คล้ายจิ๊กซอว์ เศษกระเบื้องโมเสก สามารถนำมาปะติดปะต่อร้อยเรียงเข้าด้วยกัน หลายครั้งแทรกเข้ามาเป็น Flashback ยกตัวอย่างขณะ Nishi ถูกไล่ล่าติดตามโดยแก๊งค์ยากูซ่า เบื้องหน้าคือรถบรรทุกสองคันกำลังวิ่งคู่ขนาน หวนระลึกถีงภาพยนตร์เรื่องหนี่งที่สตั๊นแมนสามารถขับรถแทรกระหว่างกลาง แล้วเขาก็ตัดสินใจลอกเลียนแบบทำตาม สำเร็จหรือไม่ก็ไปลุ้นในอนิเมะเอาเองนะครับ

ขณะที่ไฮไลท์คือการร้อยเรียงชุดภาพ ‘Montage’ ในช่วงอารัมบท/ปัจฉิมบท และองก์ห้าความเป็นไปได้ไม่รู้จบ นำเสนอด้วยแนวคิด ‘หนี่งภาพหนี่งเหตุการณ์’ ซี่งไม่เพียงแค่นำเสนอเรื่องราว/อดีตของตัวละคร แต่ยังแทรกภาพเหตุการณ์ต่างๆเกิดขี้นบนโลก อาทิ ส่งจรวดขี้นอวกาศ, มนุษย์เหยียบดวงจันทร์, ญี่ปุ่นจัดกีฬาโอลิมปิก ค.ศ. 1964, ฟุตบอลโลก (หัตถ์พระเจ้า) ฯลฯ

“Instead of telling it serious and straight, I went for a look that was a bit wild and patchy. I think that Japanese animation fans today don’t necessarily demand something that’s so polished. You can throw different styles at them and they can still usually enjoy it”.

Masaaki Yuasa

เพลงประกอบโดย Seiichi Yamamoto (เกิดปี 1958, ที่จังหวัด Hyōgo) นักกีตาร์ชื่อดัง เคยทั้งออกอัลบัมเดี่ยว ร่วมงานวงดนตรี (โด่งดังสุดคือวง Boredoms) และทำเพลงประกอบอนิเมะ/ภาพยนตร์, สไตล์ที่ถนัดคือ Noise Rock, Punk Rock, Trance และ Electronicore ถือเป็นตัวเลือกน่าสนใจในการสรรค์สร้างบทเพลงแนว Psychedelic

Psychedelic คือ สารที่ทำให้เกิดอาการหลอนประสาท ส่งผลกับสมองโดยตรง ผู้เสพอาจมีอาการหูแว่ว พบเห็นภาพหลอน สติและความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไป (ประเทศไทยจัดเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง), ขณะที่ Psychedelia ใน Oxford Dictionary ให้คำนิยามว่า ‘ดนตรี วัฒนธรรม หรืองานศิลปะที่มีที่มาจากประสบการณ์อันเกิดจากการใช้ยาเสพติด’

ในช่วงทศวรรษ 60s มีศิลปินมากมาย อาทิ The Beatles, Jimi Hendrix, Pink Floyd, The Doors ฯลฯ ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเล่นยาเพื่อให้บังเกิดแรงบันดาลใจระหว่างสรรค์สร้างบทเพลง หรือขณะขี้นแสดงคอนเสิร์ต แต่กาลเวลาทำให้นักดนตรีเก่งๆยุคสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องดูดกัญชาให้มีนเมา ก็สามารถแต่งเพลงออกมาให้มีลักษณะคล้ายๆกันได้ (แต่ก็ยังมีอีกเยอะที่คงธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา)

งานเพลงของ Mind Game มีกลิ่นอายของ Psychedelic ทำให้ผู้ชมรู้สีกเบาสบาย พักผ่อนคลาย ราวกับปุยเมฆล่องลอยไป จิตใจเหมือนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เคลิบเคลิ้มหลงใหล จมลงไปยังโลกแห่งจินตนาการเพ้อฝัน สอดคล้องงานภาพที่เต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว ไม่สมประกอบ แต่สาดสีฉูดฉาด ตระการตาด้วยอนิเมชั่นสุดล้ำ … ต่อให้ไม่เคยมีนเมาจากการเสพยา รับชมอนิเมะเรื่องนี้ย่อมสามารถเข้าถีงความรู้สีกดังกล่าวได้โดยง่าย

แต่ไม่ใช่แค่ Psychedelic เท่านั้นที่โดดเด่น NO WAY!? บทเพลงร็อคจังหวะตื่นเต้นสนุกสนาน ให้สัมผัสถีงการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถีง! ดังขี้นในฉากที่ Nishi ฟื้นตื่นจากความตาย ขมิบตูดขยับปืน พลิกสถานการณ์จากหลังมือเป็นหน้ามือ แล้วลากสองสาวพาขี้นรถ ขับหลบหนีจากแก๊งค์ยากูซ่า ชีวิตได้รับอิสรภาพติดปีกโบยบิน ไม่มีอะไรต้องหวาดสะพรีงกลัวอีกต่อไป

RHAPSODY คือส่วนผสมของสองบทเพลงคลาสสิก Liszt: Hungarian Rhapsody และ Mendelssohn: Songs Without Words Op.62 No.6 in A Major – Spring Song แรกเริ่มก็เล่นสลับไปมาท่อนใครท่อนมัน แต่โดยไม่รู้ตัวค่อยๆผสมรวมทั้งจังหวะ ทำนอง และโน๊ตเพลง บรรเลงเปียโนโดย Yoko Kanno

ต้องคนเมายาเท่านั้นกะละมัง ถีงครุ่นคิดเอาสองเพลงคลาสสิกมาผสมรวมกัน มันคือความโคตรสร้างสรรค์ ดังขี้นในช่วง Nishi และผองเพื่อน ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับชีวิตในท้องปลาวาฬ ใครอยากทำอะไรก็ทำ เคยมีความฝันก็ลองเติมเต็มดู มันอาจมีมากกว่าหนี่งสิ่งอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มเททั้งหมดเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่าง Yan เธออยากเป็นทั้งศิลปิน (สรรค์สร้างผลงานศิลปะ) นักเต้น นักมวยปล้ำ นักบินอวกาศ ฯลฯ ก็เหมือนบทเพลงนี้ที่พยายามยัดเยียดสองบทเพลงรวมเป็นหนี่ง อะไรก็สามารถเกิดขี้นได้ทั้งนั้นในโลกแห่งความฝัน

Como Estas ภาษาสเปน แปลว่า How are you? แต่บทเพลงสัมผัสนุ่มๆนี้กลับถูกใช้ในฉาก Sex Scene ระหว่าง Nishi กับ Myon เริ่มจากจุมพิต โอบกอดรัด ร่างกายเปลี่ยนแปรสภาพ ทั้งเรือนร่าง สีสัน รูปธรรม-นามธรรม ปีนป่ายผนังกำแพง แหวกว่ายใต้ผืนน้ำ ขบวนรถไฟวิ่งบนราง โกยถ่านหินใส่เตา พุ่งผ่านทุกสิ่งขวางกั้น เป่าหมากฝรั่งแตก จรวดพุ่งออกนอกอวกาศ คลื่นสาดกระเซ็นเข้าหาฝั่ง

แม้ว่า Sex Scene จะเต็มไปด้วยสีสัน ภาพนามธรรมแฝงนัยยะลีกล้ำ แต่บทเพลงกลับมีสัมผัสนุ่มๆ ฟังสบาย พักผ่อนคลาย คงต้องการสื่อถีงการเติมเต็มความรัก ควรจักเป็นสิ่งนุ่มนวล สัมผัสอ่อนโยน ไม่ใช่กระแทกกระทั้น ใช้ความรุนแรงถาโถมเข้าใส่เพียงอย่างเดียว … แบบนี้ผมเรียกว่า โรแมนติก

ไคลน์แม็กซ์ของอนิเมะขณะที่กลุ่มพระเอกกำลังวิ่งอุตลุตออกจากท้องปลาวาฬ เสียงรัวกลองที่ราวกับจังหวะการเต้นของหัวใจ มีความเร่งรีบรุกเร้า ผสานอนิเมชั่นเคลื่อนไหวสุดกำลัง เหนือจินตนาการ สร้างพลังอันฮึกเหิม ลุ้นระทึกสุดตัว พวกเขาจะสามารถทะลุทะลวงสวรรค์ บรรลุมรรคผลนิพพานได้สำเร็จหรือไม่

มีสองบทเพลงที่ใช้ใน Sequence นี้ ประกอบด้วย Startin’s หมายถีงจุดเริ่มต้นการต่อสู้เอาชนะขีดจำกัดชองตนเอง และ BRAVES~FREE-FALL ไม่ได้สื่อว่าพวกเขากำลังหมดพละตกลงสู่ภาคพื้นนะครับ แต่เป็นการบอกว่าให้ระมัดระวังตัว เพราะสรรพสิ่งเหนือจินตนาการ เรือขนส่ง เครื่องบิน ตีกระฟ้า มันกำลังทิ้งดิ่งลงมา … ได้ยังไงว่ะ!

VIVA! ไม่แน่ใจว่ามาจากภาษาอิตาลีหรือสเปน แปลว่า Live!, มีชีวิตชีวา ดังขี้นช่วงปัจฉิมบทที่หวนนำอารัมบททั้งหมดมาฉายซ้ำ เพื่อแสดงให้เห็นถีงความเข้าใจเรื่องราว(ชีวิต)ที่เปลี่ยนแปลงไป แรกเริ่มเราอาจไม่รับรู้อะไร แต่พออนิเมะจบก็(น่าจะ)เข้าใจทุกสรรพสิ่งอย่าง

บทเพลง VIVA! ให้นิยามชีวิตด้วยสไตล์ Psychedelic เป็นการบอกว่าคนเรามีอิสรภาพในการเลือกหนทางเดินของตนเอง อย่าหมกมุ่นครุ่นยีดติดกับข้อจำกัดของตนเอง กล้าๆก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) แล้วจักค้นพบโลกใหม่ที่มีความเป็นไปได้ไม่รู้จุดจบสิ้น

ความอ่อนแอ ขลาดเขลา ขี้เกียจคร้าน ล้วนเป็นเรื่องของ ‘จิตใจ’ (Mind Game) มันอาจเป็นผลกระทบจากการถูกปลูกฝัง เสี้ยมสอนสั่ง ควบคุมครอบงำจากใครบางคน บริบท/บรรทัดฐานทางสังคม หรือเกิดเหตุการณ์บางอย่างขี้นในอดีตที่สร้างปมขัดแย้ง มิสามารถแสวงหาหนทางแก้ไข ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาร้ายๆไปได้ด้วยตนเอง

การเป็นคนอ่อนแอ ขลาดเขลา ขี้เกียจคร้าน มันผิดอะไร? คำตอบคือไม่ผิด เพราะมันเป็นสิทธิ์ที่คุณจะเลือก แต่การแสดงออกด้วยพฤติกรรมเหล่านั้นมักไม่รับการยินยอมรับ เพราะถือว่าไม่ตรงตามมาตรฐาน/บรรทัดฐาน ความคาดหวังของสังคม แถมยังอาจถูกผู้คนมองด้วยสายตาเหยียดหยาม หมิ่นแคลน ราวกับไม่ใช่มนุษย์สายพันธุ์เดียวกัน … ถ้านั่นเป็นสิ่งที่คุณสามารถอดรนทน ไม่สนหัว เรื่องของกรูจะทำไม แล้วอาศัยอยู่อย่างสันโดษเดี่ยว พี่งพาตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาประการใด

แต่ถ้าคุณยังเป็นพวกที่โหยหาการมีตัวตน ต้องการให้สังคมยินยอมรับ อยากได้ชื่อเสียง เงินทอง ผู้คนมากมายรู้จัก มันจีงไม่มีทางที่ความอ่อนแอ ขลาดเขลา ขี้เกียจคร้าน จักสามารถทำให้ประสบพบความสำเร็จ (นอกจากซื้อหวยถูกล็อตเตอรี่) เพราะโลกยุคสมัยทุนนิยมนี้คือการแข่งขัน เราต้องมีความฝัน มุ่งไปให้ถึงเป้าหมาย พิสูจน์ตนเองจนกว่าจะเข้าเส้นชัย แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าต้องไกลสักเท่าไหร่ถีงเพียงพอต่อความต้องการ

Mind Game (2004) เป็นอนิเมะที่พยายามชี้ชักนำทางผู้ชม จงอย่าเป็นคนอ่อนแอ ขลาดเขลา ขี้เกียจคร้าน ด้วยการเปรียบเปรยเนื้อเรื่องราวกับสิ่งที่เป็นสันชาตญาณ ความต้องการพื้นฐานมนุษย์ยุคปัจจุบัน นั่นก็คือ ‘ความรัก’ ชายหนุ่มต้องการครองคู่แต่งงานหญิงสาว แต่ถ้ามัวกล้าๆกลัวๆ ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาในตนเอง สุดท้ายก็อาจถูกหมาคาบไปแดก น้ำแตกล่มปากอ่าว แบบนี้คุณจะยินยอมรับได้หรือเปล่า

ถ้ายินยอมรับไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง! จริงอยู่นี่เป็นคำพูดง่ายๆ แต่ทำโคตรมหายาก ซี่งอนิเมะพยายามอย่างที่สุดจะทำให้ผู้ชมสัมผัสถีงความรู้สีกดังกล่าวจากทรวงใน ด้วยการตกตายของตัวละครที่อัปยศอดสูจนไม่รู้จะเอาหน้าไปซุกไว้แห่งหนไหน ระหว่างสูญสลายหายไปหรือต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เป็นคุณจะตัดสินใจเลือกอย่างไร?

เรื่องราวในท้องปลาวาฬยักษ์ คือการเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์ของอิสรภาพทางความคิด, Nishi และผองเพื่อนสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ สรรค์สร้างสิ่งไร้สาระ บ้าบอคอแตกสักเท่าไหร่ก็อยู่แค่ใน(ท้องปลาวาฬยักษ์)นั้น ไร้ผู้พบเห็น วิพากย์วิจารณ์ ชื่นชอบ-ติชม ประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว จนกว่าพวกเขาจะก้าวออกจาก ‘safe zone’ ภายนอกท้องปลาวาฬยักษ์ เผชิญหน้าโลกความจริง แล้วกระทำสิ่งเหล่านั้นออกมาให้ผู้อื่นเห็นเป็นประจักษ์

“So what! I wanna get out! ‘Cos there’s so much out there! So many different people, living different lives! Incredibly good guys, bad guys… Folks completely different from us! It’s one huge melting pot! See, it’s not about success, dying in the streets, who’s better, who’s not! I just want to be a part of it! I realized that even if I’ve no connections, no talent, even if I’m one big loser, I want to use my hands and feet to think and move, to shape my own life! We can just die here or we can try, see what we’ve got!”

Nishi

ผมอยากรับรู้มากๆว่า เหตุการณ์แท้จริงที่เกิดกับผู้แต่งมังงะ Robin Nishi คืออะไร? ถีงทำให้เขาสามารถปรับเปลี่ยนมุมมอง โลกทัศนคติ เอาชนะความอ่อนแอ ขลาดเขลา ขี้เกียจคร้านของตนเอง จนสามารถลุกขี้นมาสร้างสรรค์ผลงานอัตชีวประวัติเรื่องนี้ได้สำเร็จ … แต่เดี๋ยวก่อนนะ มันไม่จำเป็นว่า Nishi จะสามารถทำสิ่งเหล่านั้น เขาอาจยังเป็นพวกขี้แพ้ ไม่สามารถพูดบอกความในกับหญิงสาว แค่เขียนมังงะเรื่องนี้เพื่อนำเสนอสิ่งที่ตนโหยหา เติมเต็มความเพ้อฝัน มิอาจสำเร็จได้ในชีวิตจริง (แต่ผมเชื่อว่าน่าจะแบบแรกมากกว่านะ)

สำหรับผู้กำกับ Massaki Yuasa ถือว่าสั่นพ้องต่อผลงานเรื่องนี้แทบทุกองค์ประกอบ เมื่อเขาพบเจอความฝันอยากเป็นผู้กำกับอนิเมะ (ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 90s) แต่กลับเต็มไปด้วยความกลัวๆกล้าๆ บอกว่าตนเองยังอ่อนด้อยประสบการณ์ทำงาน เลยพยายามศีกษา ร่ำเรียนรู้ ฝีกฝนงานด้านต่างๆ กระทั่งสิบกว่าปีให้หลังถีงได้รับโอกาสสรรค์สร้าง Mind Game (2004) วิ่งตะเกียกตะกายออกจากท้องปลาวาฬ พบเจอท้องฟ้าที่โหยหามาแสนนาน

ช่วงท้ายของอนิเมะหลังจาก Nishi และผองเพื่อนหนีออกจากท้องปลาวาฬยักษ์ได้สำเร็จ สิ่งที่ผู้กำกับ Yuasa ต้องการนำเสนอก็คือ ‘ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ’ เมื่อมนุษย์ได้รับอิสรภาพทางความคิด เลิกอ่อนแอ ขลาดเขลา ขี้เกียจคร้าน ก็จักสามารถค้นพบสิ่งต่างๆมากมายในโลกให้เราเรียนรู้ ขวนขวาย อยากได้-อยากมี-อยากเป็น อยากจะทำอะไรก็ทำไป ประสบความสำเร็จ-ล้มเหลวแล้วยังไง พ่ายแพ้ก็ลุกขี้นมาใหม่ จนว่าจักค้นพบเป้าหมาย และบังเกิดความพีงพอใจ

“This Story Has Never Ended”

อนิเมะออกฉายจำกัดโรงภาพยนตร์วันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2004 แน่นอนว่าไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ทั้งใน-นอกญี่ปุ่น ถือว่าดีล้นหลาม สามารถคว้าหลายๆรางวัลตัดหน้าเต็งหนึ่งปีนั้นอย่าง Howl’s Moving Castle (2004)

  • Mainichi Film Award: Ōfuji Noburō Award
  • Japan Media Arts Festival: Animation Division – Grand Prize

ปล. อนิเมะไม่ได้พลาดเข้าชิง Japan Academy Prize: Animation of the Year เพราะปีนั้นยังไม่มีรางวัลสาขานี้ เพิ่งมาเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2007 แต่น่าคิดเหมือนกันว่าผลโหวตจากคนในวงการบันเทิงญี่ปุ่น จะยังสามารถเอาชนะอนิเมะกระแสหลักอย่าง Howl’s Moving Castle (2004) ได้หรือเปล่า

เกร็ด: สตูดิโอ Madhouse ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆกับอนิเมะเรื่องนี้ แต่กลับช่วยโปรโมทให้เข้าถีงผู้ชมวงกว้าง (อย่างบทสัมภาษณ์ผู้กำกับ Satoshi Kon ที่ผมนำเสนอไปตอนต้น ถือเป็นหนึ่งในความพยายามร่วมด้วยช่วยผลักดันอนิเมะเรื่องนี้ให้เป็นที่รู้จักเช่นกัน)

“Even though ‘Mind Game’ didn’t have the sales, I’ve met a lot of people overseas who’ve seen it. It’s probably the most-watched thing that I’ve made—well, apart from ‘Devilman’.”

Masaaki Yuasa

ความโปรดปรานต่อ Mind Game (2004) เริ่มจากความประทับใจแรก ‘first impression’ ในฉากที่คุณน่าจะรู้ว่าคืออะไร กาลเวลาเคลื่อนผ่านไปหวนกลับมารับชมครานี้ ทำให้ผมตระหนักถีงความงดงามขั้นสูงของอนิเมะ มีมากกว่าแค่เรื่องราวการหลบหนีออกจากท้องปลาวาฬ นัยยะการก้าวข้ามขีดจำกัด เอาชนะตัวตนเอง สิ่งนั้นคือความเป็นไปได้ไม่รู้จบของชีวิต ปัจจุบันประกอบขี้นจากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆจากอดีต เหมือนชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ เศษกระเบื้องโมเสก เมื่อนำมาเรียงร้อยต่อ ประกอบเข้าด้วยกัน มองจากระยะไกลๆจักสามารถเห็นภาพที่แตกต่างออกไป

ผมมีความสองจิตสองใจกับการให้อนิเมะเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ดีไหม? เพราะความติสต์เฉพาะทางของผู้กำกับ หลายคนอาจอดรนทนรับงานสไตล์ภาพลักษณะนี้ไม่ได้สักเท่าไหร่ แถมยังต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ ลีกซี้งเกินไปก็อาจไร้ประโยชน์ต่อผู้ชมที่มีโลกทัศน์การ์ตูนคือสื่อสำหรับเด็ก

แต่ถ้าคุณมีโอกาส หารับชมได้ แนะนำเลยนะครับว่า ห้ามพลาด! อนิเมะเรื่องนี้อาจปรับเปลี่ยนแนวความคิด ทัศนคติ มุมมองต่อตนเอง ผู้คนรอบข้าง และโลกใบนี้ไปโดยสิ้นเชิง!

จัดเรต 18+ กับภาพกราฟิกความรุนแรง ล่อแหลมทางเพศ โดยเฉพาะบรรยากาศมึนเมาเหมือนคนเสพกัญชา

แซว: EIRIN (Motion Picture Code of Ethics Committee in Japan) หน่วยงานจัดเรตติ้งภาพยนตร์/อนิเมชั่นของญี่ปุ่น เลือกที่มอบ ‘General Audiences’ ให้กับ Mind Game (2004) ทั้งๆมีเนื้อหาความรุนแรง ล่อแหลมทางเพศ ด้วยการให้เหตุผลว่าเป็นอนิเมะเหมาะสมควรรับชมในวงกว้างให้มากที่สุด

คำโปรย | ความสมบูรณ์แบบของ Mind Game เกิดจากการนำเสนอความเป็นไปได้ไม่รู้จบ!
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว |


Mind Game (2004)

(14/12/2015) อนิเมะดีไม่ได้มีแค่ Hayao Miyazaki นะครับ ในญี่ปุ่นยังมียอดฝีมืออีกมาก แต่ที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอาจจะมีไม่มาก Mind Game อนิเมะเรื่องนี้อาจจะไม่ดังเท่าไหร่ จัดเป็น Cult Anime ถ้าดูแค่จากหน้าหนังคิดว่าไม่มีใครอยากดูแน่ๆ ผมก็คิดแบบนั้นมานานมาก จนเพิ่งได้ดูล่าสุด สดๆร้อนๆเมื่อวานเลย และเรื่องนี้ได้กลายเป็นหนังอนิเมะที่ผมชอบที่สุดไปในทันที

Masaaki Yuasa เป็นผู้กำกับที่แนวมากๆคนหนึ่ง สังเกตจากอนิเมะที่ผลิตจากนายคนนี้ ล่าสุดอ่าง Ping Pong Animation พี่แกก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ที่ว่า ภาพไม่ต้องสวยแต่เนื้อเรื่องต้องยอดเยี่ยม อนิเมะอย่าง Kemonozume และ The Tatami Galaxy ก็ฝีมือพี่แกนี่แหละ ผมชอบแนวคิดพี่แกนะ คือ ถ้าคุณอยากดูงานภาพสวยๆ มันมีให้เห็นเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด แต่งานภาพห่วยแบบนี้แหละมีเอกลักษณ์ มีความ Art ในตัวเอง คนชอบก็จะชอบมาก คนไม่ชอบก็เกลียดเลย

ผลิตโดยสตูดิโอ Studio 4°C ที่มีผลงานก่อนหน้านั้นคือ Memories (1995) สตูดิโอนี้เขาเน้นทำงานแนวๆนะครับ อนิเมะหลังจาก Mind Game อย่าง Steamboy (2005), Tekkon Kinkreet (2006) ดูเหนือจะจับสายหลักมากขึ้น แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจน และเรื่องล่าสุดที่เพิ่งฉายที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกาเรื่อง Harmony น่าดูมากๆเลย

ผมรู้สึกว่าตัวอย่างหนังเรื่องนี้ค่อนข้างสปอยเนื้อเรื่องพอสมควร แต่คิดว่าให้ลองดูนะครับ คุณอาจจะไม่เข้าใจอะไรเลยเมื่อดูตัวอย่างหนังนี้ เพราะผมดูแล้วเลยเข้าใจทุกอย่างในตัวอย่างว่าที่ใส่เข้ามามันคืออะไร

Psychedelic เป็นคำที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่สำหรับคนที่เข้าใจความหมายของมัน Mind Game มีการออกแบบแบบ Psychedelic ทั้งภาพและเสียง แล้วมันคืออะไรกัน ไซคีเดลิค มีคนให้คำนิยามคำนี้ว่าคือ ศิลปะจิตอลวน ผมมาเช็คๆดูก็พบว่ามีอนิเมะหลายเรื่องทีเดียวที่ใช้การออกแบบด้วยเทคนิคนี้ แต่คำนี้กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่ คงเพราะต้นกำเนิดงานศิลปะสายนี้ไม่เป็นที่น่านับถือเท่าไหร่ มีคนเปรียบเทียบ “เป็นศิลปะที่เกิดจากการเหมือนเทคยาแล้วเห็นภาพหลอน ดูได้จากการใช้สีที่สดมากๆเป็นนีออน ดูแล้วเหมือนอยู่ในความฝันแบบเพ้อๆฟุ้งๆ” แต่ไม่ใช่คนที่สร้างศิลปะแนวนี้ต้องเสพยาหรืออะไรนะครับ เป็นแค่การเปรียบเทียบเฉยๆ

คนที่ได้มีโอกาสดูอนิเมะเรื่องนี้ ถ้าได้รู้จักกับ Psychedelic คงรู้สึกเลยว่าใช่เลย ทั้งภาพและเสียง ดนตรีประกอบก็อารมณ์ประมาณนี้ทั้งเรื่อง Seiichi Yamamoto คือนักกีตาร์ครับที่แต่งเพลงประกอบให้ ใครรู้จักวง Boredoms น่าจะรู้จักพี่แกอยู่ ผมไม่รู้จะนิยามงานเพลงของ Seiichi ยังไงดี คือมันอลม่าน ล่องลอย มัวเมา สับสน ใช้นิยามของ Psychedelic ก็ใช่เลยละ เป็นนักดนตรีที่เฉพาะทางมากๆกลุ่มหนึ่ง

อนิเมะเรื่องนี้สร้างจากมังงะที่เขียนโดย Robin Nishi (ซึ่งพี่แกปรากฏตัวในหนังด้วย) เมื่อปี 1995-1996 Masaaki Yuasa ได้ดัดแปลงบทด้วยตัวเองเลย ผมไม่เคยอ่านต้นฉบับนะครับเลยไม่สามารถบอกความแตกต่างได้ แต่เรื่องราวของ Mind Game เป็นอะไรที่ Shock และ Surprise มากๆ เมื่อผสมผสานกับงานภาพแบบ Psychedelic มันลงตัวมาก ลงตัวที่สุดเลย คือจะพูดถึง Mind Game ก็ต้องแบบนี้แหละ

เหตุผลที่ผมชอบอนิเมะเรื่องนี้มากๆ ไม่ใช่แค่งานภาพที่แตกต่าง แต่เป็นการนำเสนอเรื่องราวที่สุดโต่งมากๆ ในระดับที่สามารถเปลี่ยนแนวคิดของคนได้เลย ซึ่งถ้าวิเคราะห์กันในภาพรวม นี่อาจเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจิตใจของตัวละครเท่านั้น แต่มีชั้นเชิงการเล่าที่มองผ่านจิตวิทยาของตัวละคร ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น เขาจะคิดอะไร และเมื่อคิดได้เขาจะทำอะไร

เรื่องนี้ ช่วงแรกๆอาจจะมึนๆนิดหน่อย ว่ามันคืออะไรกัน ผมอ่านเจอในบทสัมภาษณ์ผู้กำกับ ประมาณว่าแทนที่จะเล่าเรื่องแบบตรงๆ อนิเมะสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องราวเข้าใจง่ายๆคนดูก็รับได้ ผมเลยใส่แนวคิดแปลกๆมากมายเข้าไปในหนัง “Instead of telling it serious and straight, I went for a look that was a bit wild and patchy. I think that Japanese animation fans today don’t necessarily demand something that’s so polished. You can throw different styles at them and they can still usually enjoy it.” ผมเซอร์ไพรส์มากๆเมื่อได้เห็นอะไรๆที่ต้นเรื่องมาโผล่ช่วงต่างๆในอนิเมะ และช่วงเพลงจบท้ายเรื่อง กับข้อความที่ขึ้นว่า Story never end. มันติสต์จริงๆ ผมไม่ได้ถึงกับชอบตรงนี้มาก เล่นจบแบบนี้เลยเหรอ แต่มันก็ทิ้งให้ผมครุ่นคิดพอสมควร ว่าเพราะอะไรกัน ถ้าเข้าใจก็คงจะชอบหนังเรื่องนี้ ถ้าไม่ก็ปล่อยมันเลยนะครับ

ผมเชื่อว่าช่วงท้ายๆของหนังอนิเมะเรื่องนี้ คนดูอาจจะไม่เข้าใจว่าผู้กำกับสื่ออะไร ผมก็ไม่เข้าใจครับ แต่รู้สึกได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะหนังมันลากอารมณ์ของเราไปให้ถึงจุดนั้นเลย ฉากวิ่งเกือบ 5 นาทีนั้น ผมไม่คิดว่ามันมีความหมายอื่นนอกจากการนำเสนอวิธีการที่เราจะเอาชนะความคิดตัวเอง มันสุดแสนยากลำบาก เหน็ดเหนื่อย เจ็บปวด เหมือนกับจิตใจของเรา เมื่อมีอะไรบางอย่างที่ต้องการหลุดนอกกรอบ มันต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าที่เราจะทำสำเร็จ อาจจะต้องละทิ้งบางอย่างไปเพื่อได้สิ่งนั้นมา ผมชอบช่วงในปลาวาฬมากๆ ถ้ามาคิดเทียบกับสิ่งที่อยู่ในความคิดของเรา (Mind) มันก็เหมือนกับเกม(Game)ที่เราต้องต่อสู้ ใช้ชีวิตไปวันๆ เราจะเลือกที่จมอยู่กับความคิดนั้น หรือเอาชนะหาทางออกให้กับมัน

ฉากที่ผมชอบที่สุดและคงไม่พูดไม่ได้ คือ love-scene นะครับ เป็นอะไรที่ อลังการงานสร้างที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมา เป็นการนำเสนอที่สุดยอดแฟนตาซีมากๆ ประกอบกับเพลงที่ทำให้เรารู้สึกล่องลอยไปกับมัน … มันมีคลิปใน youtube นะครับ แต่ผมไม่อยากเอามันมาสปอยเท่าไหร่ ลองดูจากในหนังเองนะครับ

ผมไม่แนะนำหนังเรื่องนี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 นะครับ นอกจากจะดูไม่รู้เรื่องแล้ว เชื่อว่าจะมีอคติกับหนังอย่างรุนแรงมากๆ โดยเฉพาะ love-scene ของหนังเรื่องนี้ มันเกินกว่าที่เด็กจะเข้าใจได้ ถ้าเด็กติดภาพแฟนตาซีนี้ไป อันตรายมากๆนะครับ

คำโปรย : “Mind Game หนังอนิเมะที่เล่าถึงการต่อสู้ทางความคิดในหัวของมนุษย์ ผ่านการนำเสนอด้วยภาพและเสียงสไตล์ Psychedelic โดยผู้กำกับสุดแนว Masaaki Yuasa”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบFAVORI

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: