Miracle in Milan (1951)
: Vittorio De Sica ♥♥♥
ใครบอกในโลกของ Neorealist จะไม่สามารถมีเรื่องราวปาฏิหาริย์ เพ้อฝันเกิดขึ้นได้, สร้างโดย Vittorio De Sica ผู้กำกับ Bicycle Thieves (1949) ทำให้คนจนชนชั้นล่างในเมืองมิลาน สามารถล่องลอยโบยบินเป็นอิสระ เอื้อมไขว่คว้ารางวัล Grand Prix (Palme d’Or) ได้สำเร็จ
ถ้าคุณเป็นนักดูหนังตัวยง เชื่อว่าย่อมต้องรู้จัก Bicycle Thieves (1948) หนึ่งในภาพยนตร์สัญชาติอิตาลีที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก แต่อาจมีไม่เยอะที่จะรู้จักชื่อของผู้กำกับ หรือรู้จักหนังเรื่องอื่นๆของเขา, ในยุคทองของ Italian Neorealist หนังของ Vittorio De Sica นอกจาก De Sica Trilogy อันประกอบด้วย Shoeshine (1946), Bicycle Thieves (1948), Umberto D. (1952) ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เหมือนจะไม่เข้าพวกที่สุด แต่ยังถือว่าเป็นลัทธิสัจนิยมใหม่คือ Miracle in Milan (1951)
คำนิยามของ Neorealist (ลัทธิสัจนิยมใหม่ หรือ นวสัจนิยม) คือการถ่ายทอดความจริง สร้างภาพยนตร์โดยใช้การปรุงแต่งน้อยที่สุด เรื่องราวอาจมีการแต่งเติมเสริมขึ้น แต่พื้นหลัง นักแสดง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสภาพวิถี ชุมชนที่เป็นอยู่ขณะนั้น, แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ แค่ชื่อกับโปสเตอร์คงทำให้หลายคนสับสน ว่านี่มันหนัง Neorealist ยังไง ดูแล้วเหมือน Fantasy เรื่องเล่าเทพนิยายพื้นบ้าน (Fables) เสียมากกว่า
จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Neorealist คือการนำเสนอปัญหาสังคม สะท้อนภาพความลำบากยากแค้นในการใช้ชีวิตของคนชนชั้นล่าง ซึ่ง Miracle in Milan ถือว่าตอบโจทย์ข้อนี้ได้อย่างชัดเจน เราเลยสามารถเรียกว่าเป็น Hybrid ลูกครึ่ง Neorealist Fables ผสมจินตนาการ ความเพ้อฝัน (ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์มองได้ว่า นั่นคือความฝันของเหล่าคนจน!)
ร่วมกับ Cesare Zavattini นักเขียนขาประจำที่ร่วมงานกันตั้งแต่ De Sica Trilogy, มันคงเป็นเพ้อของ Zavattini ทำไมเราไม่สร้างหนังที่คนจนบินได้ หลุดออกจากวังเวียนของความทุกข์ยากลำบาก ขึ้นสวรรค์ไปเลยเป็นไง, สังเกตว่าตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของหนัง จะมีความคล้ายกับเด็กชายใน Shoeshine และ Bicycle Thieves พอสมควรเลยละ
It is, I believe, simply a way of looking at life: the way in which each of us takes up his position and reacts to the facts of his existence and to the circumstances of other men. On the one hand, above all, I select the happier, more optimistic aspects of life – its positive side I might say- and neglect the other aspects, perhaps not seeing or not understanding them.
– Vittorio De Sica
แนวทางของผู้กำกับที่เริ่มทดลองมาตั้งแต่ Shoeshine คือ ออกแสวงหาบุคคลผู้มีหน้าตา บุคคลิกคล้ายตัวละครที่จินตนาการไว้ พูดคุยชักชวนให้มาแสดงหนัง จนกว่าจะพบ พึงพอใจ และเจ้าตัวยินยอม ก็ละทิ้งแนวคิดนั้นไปเลย, นี่เป็นวิธีการคัดเลือกนักแสดงของ De Sica นะครับ เพราะความเชื่อว่า ‘การแสดงที่เป็นธรรมชาติ เกิดจากธรรมชาติบุคคลนั้น’
กระนั้นหนังเรื่องนี้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการใช้วิธีคัดเลือกนักแสดงดังกล่าว จึงยังคงมีส่วนผสมของนักแสดงมืออาชีพ อาทิ
– Emma Gramatica รับบทคุณยาย La vecchia Lolotta หญิงสาวที่ค้นพบเด็กทารกต้นเรื่อง รับเชิญมาเล่นประมาณไม่ถึง 5 นาทีได้กระมัง,
– Francesco Golisano รับบท Totò ชายหนุ่มร่างเตี้ย จิตใจดีงาม ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา เพราะความอุปถัมถ์จากคุณยาย เลยกลายเป็นผู้วิเศษเสกอะไรได้ดั่งใจ
– Guglielmo Barnabò รับบท Mr. Mobbi นักธุรกิจร่างใหญ่ นิสัยปลิ้นปล้อนหลอกลวง พอซื้อที่ดินแล้วทำทุกวิถีทาง ขับไล่คนจนออกไป
ฯลฯ
ส่วนตัวประกอบทั้งหลาย ก็ใช้บริการของคนจนๆ สลัมแถวเมือง Milan นั้นแหละ ใครดูโดดเด่นไปวัดไปวาได้ก็จับมามีบทบาทเสียหน่อย แต่การจะควบคุมพวกเขาเหล่านี้ไม่ง่ายเลย บางคนติดเหล้าหัวราน้ำเมาเละเทะไม่รู้เรื่อง ต้องใช้น้ำเย็นสาดปลุกขึ้นมาแสดง (ฉาก Totò ราดน้ำใส่หัวก็เพื่อเสียดสีประเด็นเหล่านี้)
ทารก Totò ถูกทิ้งในสวนกะหล่ำปลี พบโดยหญิงชราน้ำใจงาม Lolotta เลี้ยงดูจนเติบใหญ่แต่เธอด่วนจากไปเสียก่อน ทำให้เด็กชายต้องไปอาศัยสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า พออายุ 18 จึงออกมาผจญใช้ชีวิต อาศัยอยู่ในดินแดนร้างว่างเปล่า นอกชานเมือง Milan สร้างเพิ้งกระท่อมหลังเล็กพึ่งพิง ร่วมกับเหล่ากระยาจกทั้งหลายกลายเป็นสลัม แต่แล้วก็ต้องพบเจออุปสรรคเมื่อนักธุรกิจร่ำรวย Mr. Mobbi ได้เข้าซื้อผืนที่ดินแห่งนี้ และมีความประสงค์ขับไล่พวกเขาออกไป ไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไร
ถ่ายภาพโดย Aldo Graziati นี่เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับผู้กำกับ, จุดเด่นเลยคือมุมกล้อง ก้ม-เงย-ระดับสายตา ที่ล้วนมีนัยยะสำคัญแสดงวิทยฐานะทางสังคมของตัวละครนั้น ที่เด่นชัดมากคือตอนรถไฟวิ่งผ่าน เหล่าคนจนเงยหน้าขึ้นมอง (กล้องถ่ายมุมก้ม) เหล่าคนรวยบนรถไฟ มองลงด้วยสายตาอย่างเหยียดหยาม (กล้องถ่ายมุมเงย)
แต่ที่เป็นไฮไลท์คงหนีไม้พ้น Visual Effect อาทิ แสงอาทิตย์สาดส่องลงมาถึงพื้น, ขณะเป่าแก๊สน้ำตา หมอกควันให้จางหาย, ตอนบินได้ พื้นหลังคือ Milan Cathedral (ที่กลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองไปเลย)
ฉากบินได้ นักแสดงคงถ่ายในสตูดิโอ ฉายภาพ Rear-Projection ขึ้นที่ด้านหลังฉาก แต่มันน่าคิดว่าแล้วหนังถ่ายภาพพื้นหลังอย่างไร สมัยนั้นยังไม่มีโดรนหรือเครน คงต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เท่านั้น (ภาพที่ออกมาเลยดูสั่นๆ)
ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma เจ้าของฉายา ‘the neorealist editor’ มีผลงานกับผู้กำกับดังอย่าง Roberto Rossellini, Vittorio De Sica, Michelangelo Antonioni ฯ
ใช้การเล่าเรื่องโดยมุมมองของ Totò อรัมภบทจากเด็กจนโต ถึงจะถูกทอดทิ้งตั้งแต่ยังเป็นทารก โตขึ้นยายก็ด่วนจากไปอีก แต่ชีวิตกลับไม่เคยท้อแท้สิ้นหวัง พอออกจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ยิ้มแย้มทักทายทุกคน จนถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้า … ใครกันแน่ที่บ้า, ชีวิตของ Totò ดูแล้วยากลำบากไม่น้อย ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่ค่อยมีอะไรกิน ก็ไม่รู้มีชีวิตอยู่ได้อย่างไร แต่เขาไม่เคยเดือดเนื้อเป็นทุกข์ร้อน มีความสุขได้แม้ชีวิตไม่มีอะไร (นี่น่าจะเกิดจากตอนที่ยายเห็นหม้อต้มน้ำเดือดไหลเป็นทาง แต่แทนจะดุด่าว่ากล่าวกลับสอนให้มองโลกในแง่ดี สอนให้ Totò มีความสุขในสิ่งที่แม้จะเป็นปัญหา) ซึ่งอุปสรรคหนึ่งเดียวของชีวิตคือ บ้านที่สิงสถิตซุกหัวนอน นี่เป็นสิ่งที่เขาต้องต่อสู้เพื่อแลกคืนมา
ความแฟนตาซีของหนังเริ่มที่ การพ่ายแพ้หมดรูปของเหล่าคนจน วินาทีนั้นความสิ้นหวัง ท้อแท้ หมดอาลัย กำลังจะเกิดขึ้น แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็มาถึง โดยคุณยายของ Totò ที่อยู่บนสรวงสวรรค์ แอบขโมยเอานกพิราบวิเศษมาให้ เสกทุกอย่างได้ดังใจ ต้องการอะไรอธิษฐานขอเลย, เริ่มต้น Totò แค่ต้องการปกป้องเพื่อนพี่น้อง เอาชนะ Mr. Mobbi ผู้มาร้าย แต่เมื่อชีวิตปลอดภัยพ้นอุปสรรค ผู้คนจึงเริ่มเกิดความเห็นแก่ตัว ขอโน่นขอนี่ไร้สาระ เงินทอง เสื้อผ้าข้าวของ ฯ เริ่มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มา ความสุขของคนจนมีก็แต่สิ่งภายนอกทั้งนั้น แล้วจะมีไหมโอกาสที่พวกเขาจะค้นพบความสุขที่แท้จริง
เพลงประกอบโดย Alessandro Cicognini ขาประจำของ Vittorio de Sica และ Alessandro Blasetti, ปกติแล้วหนัง Neorealist จะไม่ค่อยมีเพลงประกอบ คือเน้นสมจริง สัมผัสจับต้องได้ แต่หนังเรื่องนี้งานเพลงเว่อมาก ได้ยินแทบจะตลอดเรื่องแบบไม่ค่อยสนใจเนื้อเรื่องด้วยนะ ผมไปอ่านเจอว่ามีสัมผัสของ Romanticism ที่เน้นอารมณ์ของดนตรีมากกว่าความสมดุลของเรื่องราวเนื้อหา
ดนตรียุคโรแมนติกมีลักษณะของแนวทำนองที่เต็มไปด้วยการบรรยายความรู้สึก ใช้แสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึก, แต่ละฉากบทเพลงจะสื่อถึงอารมณ์ต่างออกไป เช่น ตอน Totò ออกจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ดนตรีมีจังหวะรุกเร้า เสียงเครื่องสายสีขึ้นลงรัวๆให้สัมผัสถึงโลกที่โหดร้าย แต่กลับมีความตื่นเต้นดีใจที่ได้ออกมาผจญภัยพบเจอ, บทเพลง All we need is a shack (=ชีวิตฉันต้องการแค่ที่ซุกหัวนอน) เสียดนตรีสนุกสนาน (เหมือนอยู่ในสวนสนุก) เสียงการไล่ไต่โน๊ตขึ้นลงรัวๆเร็วๆ ให้สัมผัสราวกับมีเวทย์มนต์วิเศษ
All we need is a shack to live and sleep
is enough for me a bit ‘of land to live and die
ask for a pair of shoes and a little’ pan
These believe conditions in tomorrow
To these will believe conditions in tomorrow
I just have a hut to live and sleep
we need is a bit ‘of land to live and die
ask for a pair of shoes and a little’ pan
these conditions will believe in tomorrow
to these conditions we will believe in tomorrow
แซว: ‘ชีวิตฉันต้องการแค่ที่ซุกหัวนอน’ นี่ไม่จริงนะครับ มนุษย์เราต้องการขั้นต่ำคือปัจจัย 4 ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค แค่ที่ซุกหัวอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่นอน
“ปาฏิหาริย์ไม่ใช่สิ่งที่พบเจอได้ทุกวัน แต่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้” นี่คงคือใจความของหนัง เป็นการมองโลกในแง่บวก (Positive Thinking) ทั้งๆสถานที่พวกเขาอาศัยอยู่ ทุกข์ยากลำบากแสนเข็นแค่ไหน ถ้าไม่ท้อแท้สิ้นหวังชีวิตย่อมต้องได้พบเจออะไรที่ราวกับปาฏิหาริย์ (ไม่ต้องให้หมอดูมาทำนายเสียเงิน 100 lire ก็สามารถบอกได้)
1. ความฝันของเหล่าคนจน เริ่มต้นพวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากมายกว่าความสุขพื้นฐาน มีที่อยู่อาศัยซุกหัวนอน สวมใส่เสื้อผ้าสะอาดเลิศหรูใหม่เอี่ยม อาหารการกินอิ่มหนำสมบูรณ์ ร่างกายไม่เจ็บปวดปลอดโรค,
2. ต่อมาเมื่อบุคคลได้รับปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ครบถ้วนสมบูรณ์ ถือได้ว่าแปรสภาพมีสถานะเทียบเท่าคนชนชั้นกลาง ความต้องการเพ้อฝันจะเปลี่ยนไป อาทิ อยากที่จะร่ำรวยล้นฟ้า มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงใหญ่ ผู้คนนับหน้าถือตาให้ความยกย่อง ฯ,
3. และเมื่อชีวิตได้รับการตอบสนองครบทุกสิ่งอย่าง สถานะเทียบได้เท่ากับคนชั้นสูง ความต้องการสุดท้ายที่หลงเหลือหนังไม่ได้พูดไว้ แต่ผมจะขอตอบแทนเลยคือ การค้นหาคำตอบของเป้าหมายชีวิต
เราจะเห็นข้อ 1 กับ 2 ชัดเจนมากในหนังนะครับ ส่วนข้อ 3 นั่นคือตอนจบ เมื่อเหล่าคนจนสามารถขึ้นขี่ไม้กวาดโบยบินราวกับพ่อมดแม่มด มุ่งตรงสู่สรวงสวรรค์หรือนิพพาน สิ้นสุดความต้องการเป้าหมายปลายทางของชีวิต
ผมค่อนข้างชอบ ‘น้ำมัน’ ของหนังมากทีเดียว มองได้คือปาฏิหาริย์หนึ่ง และเสียดสีทั้งฝั่งคนรวยคนจน, ยุคสมัยนั้น น้ำมันคือธุรกิจแห่งอนาคต ทำเงินมากมายมหาศาล ขอเพียงถ้าได้รู้ว่าแหล่งไหนเป็นบ่อน้ำมัน นักธุรกิจ/มหาเศรษฐีจะหน้ามืดตามัว ต่อรองเห่าหอน รีบหาทางจับจองเป็นเจ้าของให้จงได้, สำหรับเหล่าคนจน ก็แล้วแต่คนจะมอง ผมเห็น 2 นัยยะคือ 1) เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรในชีวิตประจำวันของพวกเขา ก็แค่น้ำจุดไฟติด เฮฮาปาร์ตี้ยินดีแล้วก็แยกย้าย 2) คือการไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ค้นพบเจอมี ดั่งสำนวน ลิงได้แก้ว, ไก่ได้พลอย
นี่เป็นหนังที่มีแนวคิดดี น่าสนใจ เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน แต่ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยชอบเสียเท่าไหร่ เพราะความรู้สึกมันไม่เข้ากันยังไงชอบกล, ผมมีปัญหากับหนังประเภทที่ครึ่งแรกดำเนินมาด้วยรูปแบบลักษณะใจความหนึ่ง แต่พอถึงครึ่งหลังกลับตารปัตรจากหน้าเป็นหลังเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง เหตุเริ่มต้นจากหนังเรื่อง From Dust Till Dawn (1996) ที่ครึ่งแรกเป็นแนวแอ๊คชั่นไล่ล่าสนุกเร้าใจ แต่พอถึงจุดๆหนึ่งครึ่งหลังหนังแปรสภาพกลายมาเป็น Horror ไล่ยิงแวมไพร์ หนังเรื่องนี้ทำให้ผมคลั่งรุนแรงแทบจะหักแผ่น DVD ที่ซื้อมาทิ้ง (แต่ก็ไม่รู้ทำไมทนดูจนนะ) จากนั้นมา หนังเรื่องไหนที่เปลี่ยนพล็อต/แนว/เรื่องราวกลางทางแบบนี้ ผมจะส่ายหัวทุกครั้งไป
Miracle in Milan ไม่ได้เลวร้ายขนาด From Dust Till Dawn นะครับ คือยังพอเข้าใจนัยยะของหนังได้ว่าคือปาฏิหาริย์ แต่มันก็ขัดกับความเป็น Neorealist ที่สร้างมาตั้งแต่ต้นเรื่องโดยสิ้นเชิง สรุปแล้วนี่มันหนังอะไร … คำตอบของผมคือ Hybrid ลูกครึ่ง (ไม่ใช่ร่วมสมัยนะครับ) คงมีคนชอบสไตล์นี้พอสมควร ขนาดว่าคณะกรรมการเทศหนังเมือง Cannes ยังต้องมอบรางวัล Grand Prix (Palme d’Or) ให้ คงเป็นความมหัศจรรย์ที่ผู้ชมสมัยนั้นอึ้งทึ่ง ยากจะลืมเลือนเป็นแน่
นี่น่าจะเป็นหนังเรื่องโปรดของ ผู้กำกับ/นักแสดงชื่อดัง Danny DeVito
แนะนำกับเหล่าคนจนและคนชนชั้นกลางทั้งหลาย ที่ยังคงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมีชีวิต หรือมีความเพ้อฝันต้องการบางสิ่งบางอย่าง ขอให้อย่าลืมว่า ‘ต่อให้ทุกข์ยากลำบากแค่ไหน แต่เราก็สามารถมีความสุขได้’, คอหนังอิตาเลี่ยน แนว Neorealist ของผู้กำกับ Vittorio De Sica ไม่ควรพลาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนมองโลกในแง่ดี Positive Thinking ผมว่าคุณจะหลงรักหนังเรื่องนี้เลยละ
แต่จะไม่แนะนำกับคนมองโลกในแง่ร้าย Negative Thinking เพราะจะคิดว่าหนังเรื่องนี้ ไร้สาระแน่นอน
“อย่ารอคอยให้ปาฏิหาริย์บังเกิด จงคิดสร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นเอง”
จัดเรต PG กับความทุกข์ยากลำบาก เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ
Leave a Reply