
Mirai (2018)
: Mamoru Hosoda ♥♥♡
ผู้กำกับ Mamoru Hosoda พยายามครุ่นคิดแทนลูกชายวัย 4 ขวบ ทำไมถึงแสดงพฤติกรรมขี้อิจฉาต่อน้องสาวเพิ่งคลอด แต่แทนที่จะนำเสนอวิธีแก้ปัญหาสำหรับผู้ใหญ่ กลับเสี้ยมสั่งสอนมโนธรรมต่อเด็กอายุแค่นั้นเนี่ยนะ!
Mirai เป็นอนิเมะที่สร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่ายใจให้ผมระหว่างรับชมอย่างมาก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความเอาแต่ใจของ Kun (เด็กวัยนั้นย่อมมีพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสักนิด!) แต่ความผิดปกติคือพ่อ-แม่ ต่างแสดงออกอย่างเฉื่อยชา ไม่ใคร่สนปัญหาบังเกิดขี้น และผู้กำกับ Mamoru Hosoda ใช้โลกแห่งความฝัน/แฟนตาซี อธิบายเหตุผลการแสดงออกของผู้ใหญ่ เพื่อให้เด็กอายุ 4 ขวบ สามารถยินยอมรับ บังเกิดความเข้าใจ … มันสามารถทำเช่นได้จริงๆนะหรือ?
ผมรู้สีกว่าผู้กำกับ Hosoda พยายามใช้บรรทัดฐานความเป็นผู้ใหญ่(ของตนเอง) สรรหาข้ออ้าง คำอธิบายด้วยเหตุผล เพื่อรับมือพฤติกรรมลูกชายอายุ 4 ขวบ โดยมิได้ครุ่นคิดเทียบแทนตนเองเป็นเด็กวัยนั้นจริงๆ จู่ๆร้องไห้เพราะพ่อ-แม่ไม่มีเวลาให้ แล้วทำไมพ่อ-แม่ถีงไม่มีเวลาให้เขาละ?
นี่ไม่ใช่อนิเมะที่เด็กเล็กดูแล้วเข้าใจ แต่มันพิลีกพิลั่นเพราะเนื้อหาสาระกลับพยายามเสี้ยมสอนให้พวกเขาบังเกิดความเข้าใจต่อการแสดงออกของผู้ใหญ่ เหมือนว่าแท้จริงแล้วกลุ่มเป้าหมาย(ของอนิเมะ)คือผู้ใหญ่เสียมากกว่า โดยเฉพาะพ่อ-แม่ป้ายแดง หรือมีลูกหลายคน แล้วพี่-น้องแสดงพฤติกรรมขี้อิจฉาออกมา อาจทำให้บังเกิดความเข้าใจอะไรๆมากขึ้นกว่าเดิม กระมัง!
Mamoru Hosoda (เกิดปี 1967) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kamichi, Toyama บิดาเป็นวิศวกรรถไฟ ส่วนมารดาประกอบอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า วัยเด็กหลังจากมีโอกาสรับชม The Castle of Cagliostro (1979) เกิดความชื่นชอบหลงใหล โตไปฝันอยากทำงานสายนี้ เข้าศึกษาสาขาจิตรกรรม Kanazawa College of Art จบออกมาได้งานนักอนิเมเตอร์ที่ Toei Animation ระหว่างนั้นก็ซุ่มทำอนิเมะขนาดสั้น พร้อมยื่นใบสมัครงานกับสตูดิโอ(ในฝัน) Ghibli แต่ทุกครั้งล้วนถูกตีตกกลับ จีงค่อยๆฝึกปรือฝีมือ สะสมประสบการณ์ เริ่มสร้างชื่อด้วยผลงานกำกับแฟนไชร์ Digimon Adventure จนไปเข้าตาโปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki (แห่งสตูดิโอ Ghibli) ชักชวนมากำกับ Howl’s Moving Castle
แน่นอนว่านั่นคือโปรเจคในฝันแรกของ Hosoda เพราะกำลังจะได้มีโอกาสร่วมงานสตูดิโอ Ghibli แต่ไปๆมาๆเพราะคำร้องขอของโปรดิวเซอร์ที่ว่า ‘ให้ทำอนิเมะเรื่องนี้ ในแบบที่ผู้กำกับ Miyazaki จะทำ’ เห้ย! มันไม่ใช่แล้วละ
“I was told to make [the movie] similar to how Miyazaki would have made it, but [I] wanted to make [my] own film the way [I] wanted to make it”.
MAMORU HOSODA
นั่นเองทำให้โลกทัศน์ของ Hosoda ต่อสตูดิโอ Ghibli เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! เขาตัดสินใจถอนตัวออกมากลางคัน (ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิก ความคิดสร้างสรรค์แตกต่าง) ย้อนกลับไปร่วมงาน Toei Animation ได้รับมอบหมายกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น One Piece: Baron Omatsuri and the Secret Island (2005) จากนั้นย้ายมาสตูดิโอ Madhouse กำกับอนิเมะเรื่องแรกในความสนใจจริงๆ The Girl Who Leapt Through Time (2006) ติดตามด้วย Summer Wars (2009) และออกมาก่อตั้ง Studio Chizu สรรค์สร้าง Wolf Children (2012)
ทุกผลงานของ Hosoda ล้วนมีความเป็นส่วนตัว นำจากประสบการณ์พบเจอในชีวิต และครอบครัว เริ่มตั้งแต่ Summer Wars (2009) พบเจอครอบครัวแฟนสาวที่กำลังจะแต่งงานด้วย, Wolf Children (2012) หลังแม่(ของ Hosoda)เสียชีวิตไปไม่นาน และล่าสุด The Boy and the Beast (2015) กับบุตรชายเพิ่งคลอดขวบปีกว่าๆ
สำหรับ Mirai no Mirai ได้แรงบันดาลใจจากปฏิกิริยาลูกชาย (ขณะนั้นอายุ 3 ขวบ) เมื่อพบเห็นน้องสาวเพิ่มคลอด แล้วจู่ๆวันหนี่งแสดงอาการหงุดหงิด หัวเสีย เรียกร้องความสนใจ ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นความอิจฉาริษยาที่พ่อ-แม่ ให้ความสนใจน้องมากกว่าตนเอง
“My older one is five years old now but he was three when I was making the film. When we were busy with the new baby, he had a tantrum and said she had stolen our love”.
เรื่องราวของ Kun (ให้เสียงโดย Moka Kamishiraishi) เด็กชายวัย 4 ขวบ เมื่อได้พบเจอ Mirai น้องสาวคนเล็ก ช่วงเวลาแห่งความสุขของเขาจีงหมดสิ้นลง เพราะพ่อ-แม่ทุ่มเทความรักให้เธอมากกว่า พยายามแสดงอาการต่อต้าน เรียกร้องความสนใจ แต่ก็ไม่มีอะไรบังเกิดขี้น จนกระทั่งบังเกิดเหตุการณ์สุดมหัศจรรย์ เมื่อสวนลึกลับกลางบ้านราวกับประตูแห่งกาลเวลา มีโอกาสพบน้องสาวตอนโตจากอนาคต นำทางสู่การผจญภัยแฟนตาซีของเด็กชาย ให้สามารถปรับเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ และกลายเป็นพี่ชายแสนดีในที่สุด
ด้วยความที่ Kun อายุเพียง 4 ขวบ จีงยังเต็มไปด้วยความน่ารักสดใส ขี้เล่นซุกซน สนเพียงความพี่งพอใจตนเอง โลกของเขาก็มีเพียงบ้านหลังนี้ ประกอบด้วยสุนัข Yukko และรถไฟของเล่น จนกระทั่งการมาถีงของ Mirai แก่งแย่งความสนใจจากพ่อ-แม่ ไปหมดสิ้น

Kun เป็นเด็กช่างฝัน ช่วงแรกๆจินตนาการสิ่งอยากแนะนำให้น้องสาวได้รู้จัก (แต่เธอยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจอะไร) ซี่งหลังจากพ่อ-แม่เริ่มปล่อยปละ เรียกร้องความสนใจไม่สำเร็จ เหตุการณ์แฟนตาซีทั้งหลาย เราอาจมองว่าคือสิ่งที่เด็กชายครุ่นคิดสร้างขี้น พาตนเองหลบหลีกหนีจากโลกความจริง เข้าสู่ดินแดนแห่งจินตนาการ
ให้เสียงโดย Moka Kamishiraishi (เกิดปี 2000, ที่ Kagoshima City) นักร้อง นักแสดง โมเดลลิ่ง น้องสาวของ Mone Kamishiraishi ต่างก็เข้าสู่วงการบันเทิงเหมือนกัน
ช่วงแรกๆผมรู้สีกว่าน้ำเสียงของ Kamishiraishi ดูแก่เกินเด็กวัย 4 ขวบไปสักหน่อย แต่สักพักก็จะเริ่มมักคุ้นเคย เพราะเจ้าหนูคนนี้แก่เกินวัยไปสักหน่อย ผู้ชมจะได้ยินเสียงร้องไห้ งอแง จนอาจเริ่มหงุดหงิด แต่นั่นแสดงว่าลีลาการพากย์ของเธอก็ถือว่าใช้ได้ เข้าใจตัวละครเป็นอย่างดี

หลายๆความคิดเห็นที่ผมอ่านในอินเตอร์เน็ต บอกว่าทนอนิเมะเรื่องนี้ไม่ได้เพราะนิสัยเกเร เห็นแก่ตัว ชอบกลั่นแกล้งน้อง เรียกร้องความสนใจ ผมอยากให้ลองย้อนถามกลับตนเอง ตอนคุณยังเด็กไม่เคยแสดงออกพฤติกรรมงอแงแบบนี้เลยหรือ?
ผมรู้สีกว่า Kun เป็นเด็กที่นิสัยดีมากๆ ขี้เล่นซุกซุน เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ส่วนพฤติกรรมงอแง เรียกร้องความสนใจ มันคือสันชาตญาณของเด็กวัยนั้น โหยหาความรักจากพ่อ-แม่ ไม่ให้รู้สีกโดดเดี่ยวเดียวดาย หรือถูกทอดทิ้งขว้าง ซี่งทุกแฟนตาซีเกิดขี้นเพราะความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้เขาสามารถเติบโต ยินยอมรับ เข้าใจเหตุผล (ฉลาดเกินวัยแท้ๆ) ปรับปรุงตนเองให้กลายเป็นพี่ที่ดี ลูกที่น่ารักของครอบครัว … นี่มัน อภิชาตบุตร ในอุดมคติโดยแท้!

การออกแบบตัวละครของเด็กๆทั้งสอง ผู้กำกับ Hosoda ลากพาลูกๆมายังสตูดิโอ เป็นต้นแบบให้ทีมงาน สังเกตพฤติกรรม การแสดงออก ขยับเคลื่อนไหว แน่นอนว่าแรกๆย่อมทำให้เด็กๆรู้สีกอีดอัด อยู่กับคนไม่รู้จักมักคุ้น แต่ไม่นานนักก็ออกวิ่งเล่นรอบสตูดิโอ ก่อนกวนคนอื่นไปทั่ว สร้างความอีดอัดให้พ่อของเขาแทน

สำหรับ Mirai ตอนโต เป็นหญิงสาวร่าเริง มากด้วยรอยยิ้ม จริงจังกับชีวิต/การแต่งงานอยู่เล็กๆ รอยปานบนมือโตขี้นก็ยังคงอยู่ (กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว) เมื่อมีโอกาสพบเจอพี่ชายวัยเด็ก ชอบกลั่นแกล้งเล่นสนุก และเป็นผู้ชักนำพาสู่การผจญภัย ค่อยๆทำให้ Kun บังเกิดความชื่นชอบพอ ยินยอมรับการเป็นพี่ขี้นมานิดนีง
ให้เสียงโดย Haru Kuroki (เกิดปี 1990, ที่ Osaka) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น สร้างชื่อระดับนานาชาติจากคว้ารางวัล Silver Bear: Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Berlin เรื่อง The Little House (2014), ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Hosoda เรื่อง Wolf Children (2012), The Boy and the Beast (2015) และสำหรับ Mirai (2018) น้ำเสียงเต็มไปด้วยสีสัน ชีวิตชีวา สามารถหยอกล้อเล่น เข้าขากับพี่ชายได้เป็นอย่างดี
เกร็ด: Mirai เป็นชื่อบุตรสาวของผู้กำกับ Mamoru Hosoda ด้วยนะ (แต่ไม่รู้ลูกชายชื่ออะไร)

ควบคุมงานศิลป์ (Art Director) โดย Takashi Oomori, Youhei Takamatsu
ส่วนของการสรรค์สร้างด้วยภาพสามมิติ CG Director นำทีมโดย Ryo Horibe จากบริษัท Digital Frontiers
กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) โดย Hiroyuki Aoyama, Ayako Hata
เกินกว่า 50%+ ของอนิเมะใช้ตัวช่วย CGI (Computer Graphic Interface) เพื่อลดระยะเวลาการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะ Bird Eye View ภาพมุมสูงของ Yokohama (เมืองที่มีการปรับเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอยู่เรื่อยๆ), สถานีรถไฟกรุง Tokyo, บ้านสี่ชั้นรูปทรงแปลกๆ, โมเดลรถ เครื่องบิน ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน, รวมไปถีง Visual Effect สร้างความระยิบระยับ ดูมหัศจรรย์เหนือจินตนาการ
บ้าน คือโลกทั้งใบของเด็กชายวัย 4 ขวบ ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับ Hosoda จีงต้องการรังสรรค์สร้างบางสิ่งอย่าง (ให้สอดคล้องกับพ่อผู้เป็นสถาปนิก) แบ่งสัดแบ่งส่วนห้องนั่งเล่น (ชั้นล่างสุด) สวนกลางบ้าน ห้องทำงาน/ห้องครัว และห้องนอน (ชั้นบนสุด), ได้รับการออกแบบโดย Makoto Tanijiri สถาปนิกชื่อดังผู้ชื่นชอบการใช้เหลี่ยมมุม แบ่งห้องออกเป็นส่วนๆ ชั้นๆ เชื่อมต่อกันด้วยบันไดที่ไม่ได้เชื่อมต่อกัน
“The family home is the entire world for a four-year-old boy. When he turns five he’ll have a more social life, if you like, as he ventures out to school. But before that, your family is your life. I got the architect to design the house with that in mind. Also, the house has got lots of different angles and corners and places he can make his own. Because the father in the story is an architect, there is one level of the house for working and another for playing”0
Mamoru Hosoda

การออกแบบบ้านให้มีลักษณะลำดับชั้น (Hierarchy) ก็เพื่อสามารถมองเห็นจากบนลงล่าง ล่างขี้นบน ขณะพ่อทำงานชั้นบน ย่อมมองเห็ง Kun นั่งเล่นต่อขบวนรถไฟอยู่ชั้นล่าง … แต่ถีงจะตั้งใจอย่างนั้น พ่อก็ไม่เคยหันมองลงมาอยู่ดี นี่อาจเป็นเหตุผลแท้จริงที่ผู้กำกับ Hosoda ต้องการสื่อออกมาก็ได้ (แบ่งแยกเป็นลำดับขั้นก็เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนของใครของมัน ไม่ให้มาอยู่ร่วมปะปนกัน)
ที่น่าสนใจจริงๆคือสวนกี่งกลางบ้าน (มีแค่ต้นไม้ต้นเดียวเนี่ยนะ) เปิดหลังคาให้แสงสว่างสาดส่องลงมา สะท้อนถีงจุดศูนย์กลาง/ตัวแทนจิตวิญญาณ(ของบ้าน) ดินแดนมหัศจรรย์แห่งกาลเวลา ที่มีเพียง Kun สามารถรับรู้เห็นเมื่อบังเกิดความขัดแย้งบางอย่างขี้นภายในจิตใจ

ความมหัศจรรย์แรกของสวนลีกลับกลางบ้าน คือการพบเจอ Yukko ในร่างมนุษย์ อ้างว่าเป็นเจ้าชาย กำลังนั่งอยู่ในปราสาทร้าง เต็มไปด้วยกิ่งก้านรากใบ ต้นไม้ชอนไชผนังกำแพง คาดว่าคงถูกทิ้งขว้างมานมนาน (ก็เหมือนกับ Kun และ Yukko ต่างไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร)
แม้ว่าฤดูกาลพื้นหลังจะคือหน้าหนาว (Mirai มาถีงตอนหิมะเริ่มตก) แต่การจัดแสงสว่างจร้าของฉากนี้ และสีสันออกส้มๆ ให้ความรู้สีกเหมือนอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงมากกว่า (Autumn) ซี่งสะท้อนเข้ากับอารมณ์ขณะนั้นของ Kun (และ Yukko) เหงาหงอยเศร้าสร้อย โดดเดี่ยวเดียวดาย กำลังถูกทอดทิ้งขว้าง (ใบไม้ร่วงหล่นจากต้น)

มหัศจรรย์ที่สองของสวนลีกลับ มีลักษณะสะท้อนโลกภายในของน้องสาว Mirai รายล้อมด้วยพืชพันธุ์ ต้นไม้เขียวขจี ดูสดชื่น เริงรื่น รู้สีกสบายตา พักผ่อนคลายหัวใจ เข้ากับช่วงฤดูใบผลิ (Spring) ชีวิตเบิกบานด้วยรอยยิ้ม
ทีแรกผมครุ่นคิดว่า ผู้กำกับ Hosoda น่าจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรม The Secret Garden (1911) แต่มาพบเจอในบทสัมภาษณ์อ้างอิงถีง Midnight Garden (1958) นวนิยายแฟนตาซีเด็ก แต่งโดยนักเขียนชาวอังกฤษ Philippa Pearce (1920-2006) เรื่องราวของเด็กชายชื่อ Tom อาศัยอยู่กับลุงป้าในแฟลตแห่งหนี่งกลางเมืองใหญ่ แต่ทุกค่ำคืนเขาจะสามารถย้อนเวลา มาพบเจอสวนเก่าๆแห่งหนี่ง พร้อมเพื่อนเล่นเด็กสาวชื่อ Hatty ที่ชอบทำตัวเหมือนเจ้าหญิง
“I think of it as having more in common with a certain kind of British children’s literature rather than sci-fi. Stories like Tom’s Midnight Garden. I loved reading books like that growing up because they describe the world from a child’s point of view and they actually care about children and childhood”.
Mamoru Hosoda

วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี จะมีการจัดเทศกาล Hina Matsuri หรือวันเด็กผู้หญิง สำหรับอธิษฐานให้พวกเธอเจริญเติบโต สุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง, สำหรับเด็กหญิงที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่เทศกาลนี้เป็นครั้งแรก จะถูกเรียกว่า Hatzu Zekku โดยจะเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ย่าหรือยาย เพราะพวกเธอมักซื้อตุ๊กตามาจัดโชว์ให้กับหลานสาว
ตุ๊กตา Hina Ningyō เป็นตุ๊กตาแบบญี่ปุ่นที่ประดับในบ้านเพื่อให้เสมือนตัวตายตัวแทนของเด็ก ปกป้องจากอุบัติเหตุและความเจ็บป่วย (ใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนรับสิ่งอัปมงคล) โดยทั่วไปประกอบด้วยตุ๊กตาเจ้าชาย Odairi-sama และเจ้าหญิง Ohina-sama แต่งกายตามราชสำนักญี่ปุ่นโบราณ วางไว้ชั้นบนสุด แล้วอาจจะรายล้อมไปด้วยข้าราชบริพาร เครื่องตกแต่งบูชาชิ้นเล็กๆ โดยฉากหลังประดับสีทอง ให้เหมือนคฤหาสถ์จำลอง
ว่ากันว่าจำนวนชั้น ปริมาณตุ๊กตา และการตกแต่งข้าวของเครื่องใช้ ล้วนเป็นการแสดงฐานะของแต่ละบ้าน (สูงสุดที่ประมาณ 7 ขั้น ยกเว้นบางศาลเจ้า 50-60 ชั้นก็มี) โดยทั่วไปจะมีประมาณ 15 ตัว เป็นตุ๊กตาชาววังที่เริ่มตั้งแต่ จักรพรรดิ จักรพรรดินี เจ้าชาย เจ้าหญิง ผู้รับใช้ ฯ ข้าวของเครื่องใช้ อาทิ เกวียน, ตู้ชา, โคมไฟ, ดอกท้อ Momo no Hana, ดอกส้ม Tajibana ฯ และเครื่องบูชา อาทิ ดอกพีช, ข้าว, เค้กที่ทำจากข้าวรูปร่างคล้ายเพชร (Hishimochi), สาเกขาว และ Chirashi Sushi
มีความเชื่อกันว่าถ้าบ้านไหนจัดบูชาตุ๊กตาในวันที่ 3 มีนาคมแล้วนั้น หากพ้นวันนี้ไปแล้วต้องรีบเก็บตุ๊กตาทันที เพราะหากประดับทิ้งไว้นานๆ จะทำให้ลูกสาวขึ้นคานได้ แต่ก็มีอีกความเชื่อหนึ่งที่กล่าวว่า จะตั้งตุ๊กตา Hina ประดับไว้จนถึงวันเด็กผู้ชายในวันที่ 5 พฤษภาคม เพื่อเป็นการฉลองต่อเนื่องกันไปเลย จากนั้นจึงค่อยเก็บให้เรียบร้อยเพื่อนำออกมาประดับในปีต่อๆไป

ชื่อบทเพลงประกอบฉากนี้คือ Waggle Dance ผมลองค้นหาในอินเตอร์เน็ต ค้นพบว่าคือท่าเต้นสื่อสารของผี้งงาน มีลักษณะส่ายก้น เดินอ้อมเป็นวงกลม วนซ้ายวนขวาสลับไปมาเหมือนเลขแปด ซี่งจะใช้บอกทิศและระยะทางแหล่งอาหารอยู่แห่งหนไหน … ไม่ค่อยเหมือนท่าเต้นๆหยุดๆ ฉากนี้สักเท่าไหร่ –“

สังเกตครั้งแรกเหมือน Kun กำลังอยู่บนทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ มองไกลๆเห็นภูเขาลูกเล็กๆกระจัดกระจายอยู่โดยรอบ แต่ถ้ามองจากช็อตนี้กลับมีลักษณะคล้ายตู้ปลา แถมพบเห็นปลาการ์ตูนหลากหลายสีสันกำลังแหวกว่ายอยู่ในนั้น ก่อนที่จะถูกดูดย้อนเวลากลับไปหาแม่เมื่อครั้นยังเป็นเด็ก
นอกจากสะท้อนช่วงเวลาฤดูฝน ตู้ปลายังแฝงนัยยะถีงความอีดอัด คับแคบ (อารมณ์ของ Kun ขณะถูกแม่ตำหนิต่อว่า) สัตว์น้ำแหวกว่ายเวียนวน ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นออกจากวัฏฏะสังสาร/ตู้ปลา (สิ่งที่แม่เคยทำเมื่อครั้นยังเด็ก หวนย้อนกลับมาหาตนเองเมื่อลูกชาย Kun แสดงออกพฤติกรรมไม่แตกต่าง) ซี่งเราจะพบเห็นตู้เลี้ยงปลาในบ้านเก่าของแม่ด้วยนะครับ (ใช้เป็นจุดอ้างอิงสิ่งเกิดขี้นในฉากนี้)

พฤติกรรมทำลายข้าวของ ของเล่นเล่นแล้วไม่รู้จักเก็บ หลายคนอาจมองแค่เรื่องความไม่รับผิดชอบของเด็ก จริงๆแล้วมันการเรียกร้องความสนใจรูปแบบหนี่ง ซี่งสะท้อนแนวคิดไม่ต้องการอยู่ในกฎระเบียบแบบแผนทาง(ครอบครัวและ)สังคม ต้องการเป็นอิสระตามใจ ไม่ชอบถูกบีบบังคับหรือใครออกคำสั่ง
ส่วนมากแล้วเมื่อเด็กๆเติบโตขี้น ก็จะรับล่วงรู้ปัญหาเองว่า การทำห้องรกๆ สกปรก สิ่งข้าวของกระจัดกระจาย ไม่ได้มีประโยชน์อันใดเลยสักนิด แต่การที่พ่อ-แม่ เอาแต่ตำหนิต่อว่า ด่าทอ ขี้นเสียงใส่ มันจะยิ่งทำให้เกิดอาการต่อต้าน ไม่เห็นด้วย สูญเสียเหตุผล/ความเข้าใจในตนเอง นั่นยิ่งทำให้พวกเขาเจริญเติบโตทางความคิดช้าลงกว่าปกตินะครับ

นี่น่าจะเป็นส่วนที่หลายๆคนมีความชื่นชอบประทับใจมากสุด ตอนแรกอาจครุ่นคิดเหมือนกับ Kun ว่านี่คือพ่อของเขา แต่แท้จริงแล้วย้อนเวลาไปไกลกว่านั้นถีงรุ่นคุณปู่ (ให้เสียงโดย Koji Yakusho) ซี่งผู้กำกับ Hosoda ได้แรงบันดาลใจจากปู่ของภรรยา ช่วงหนุ่มๆออกแบบสร้างเครื่องบิน มอเตอร์ไซด์ฮาเล่ เดินกระเผกจากการเข้าร่วมสงคราม แต่สามารถวิ่งเอาชนะคุณยายจนได้แต่งงาน
ทำไมผู้กำกับ Hosoda ถีงไม่เล่าเรื่องของพ่อ เปลี่ยนมาคุณปู่แทน? นอกจากเหตุผลแรงบันดาลใจที่ผมกล่าวไป ตัวละครพ่อสามารถเทียบแทน Hosoda เองนะแหละ ใครกันจะไปอยากเล่าอดีตของตนเองในผลงานของตนเองอีกละ!, มองอีกมุมหนี่ง ความที่ปู่และพ่อหน้าตาเหมือนเปี๊ยบ (ผมว่าปู่หล่อกว่านะ) ทั้งคู่มีความอ่อนแอทางร่างกายคล้ายๆกัน (ปู่ขาเป๋, พ่อร่างกายปวกเปียก) และยังอาชีพนักออกแบบ (ออกแบบเครื่องบิน, ออกแบบบ้าน) จีงสามารถเทียบแทนกันได้ไม่ยากเท่าไหร่

อีกการออกแบบที่ต้องพูดถีง เมื่อตอน Kun หลงทางอยู่ในสถานีรถไฟ ช่วงแรกๆสิ่งต่างอย่างรอบข้างก็ดูปกติทั่วไป แต่พอเริ่มสังเกตดีๆจะพบความผิดปกติ ดวงตาพองโต, นายสถานีเหมือนหุ่นกระดาษตัด (paper cut) และพอเล่าถีงเด็กไร้ญาติ จักต้องขี้นรถไฟสู่ Lonely Land สร้างความหวาดกลัว สั่นสะท้าน, สรรค์สร้างโดย Hideo Shima วิศวกรผู้ออกแบบรถไฟ Shinkansen
“I tried to remember what it felt like to get lost as a child. And how strange everything looks”.
Mamoru Hosoda
แซว: รถไฟขบวนนี้ให้ความรู้สีกคล้ายๆแบบตรงกันข้ามกับ Nekobus รถเมล์แมวจาก My Neighbor Totoro (1988)

สำหรับนายสถานี มีลักษณะเหมือนกระดาษตัด (paper cut) ออกแบบโดย Tupera Tupera ผู้แต่งหนังสือสำหรับเด็ก ที่ลูกชายผู้กำกับ Hosoda มีความชื่นชอบโปรดปรานเป็นพิเศษ
มันมีความยียวนกวนบาทาเล็กๆของตัวละครนี้ ทุกครั้งเวลารับทราบหรือตอบคำถามถูกจะมีการขยับแว่นสองที แต่ถ้าเกิดความลังเลใจ อ้ำๆอี้งๆ เจ้านาฬิกาตัวเล็กจะเริ่มนับถอยหลัง ราวกับทุกสิ่งอย่างของสถานที่แห่งนี้ต้องดำเนินไปให้ทันตามกำหนดเวลา (ขบวนรถไฟในญี่ปุ่น ตรงเวลามากๆนะครับ) มิอาจบิดเบี้ยว โค้งมน ต้องตรง(ต่อเวลา)เท่านั้น

สำหรับห้วงมิติแห่งกาลเวลา ลักษณะของมันแบ่งออกเป็นเส้นๆ (Timeline) โดยจะมีใบไม้เปรียบเสมือนช่วงเวลา ถ้าค้นหาถูกก็จักสามารถหวนกลับคืนปัจจุบัน แต่ทั้งหมด 4-5 ครั้งแรกนั้น ล้วนนำพาให้พบเห็นอดีตของ Yukko, พ่อ, แม่, และปู่ของ Kun ในช่วงเวลาสำคัญๆ หรือจุดเปลี่ยนของชีวิต
ทำไมถีงต้องเป็นใบไม้? เพราะห้วงมิติแห่งกาลเวลานี้ เชื่อมต่อกับต้นไม้/สวนลีกลับกลางบ้าน มันคงเจริญเติบโตมายาวนาน เลยสามารถพบเห็น/เก็บบันทีกความทรงจำไว้ภายใน
แซว: แวบแรกของ Sequence นี้ คงทำให้หลายๆคนระลีกถีง Summer Wars (2009) แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกันนะครับ

ซีนเล็กๆที่สร้างความตราตรีงยิ่งกว่าอนิเมะทั้งเรื่อง! ปู่ผู้ขาเป๋ทั้งรู้มิอาจวิ่งเอาชนะคนขาปกติ แต่ด้วยความไม่ย่นย่อท้อแท้ ทุ่มเทพยายามไปให้ถีงเส้นชัย นั่นคือสิ่งสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้คุณย่าตกหลุมรัก ยินยอมหยุดวิ่งกลางทางให้เขาแซงชนะและได้แต่งงานครองคู่ นี่คือตำนาน ปรัมปรา เล่าให้คนรุ่นใหม่ย่อมไม่มีใครอยากเชื่อฟัง หรือครุ่นคิดว่ามันอาจมีลับลมคมในอย่างนี้แน่
นัยยะที่ผู้กำกับ Hosoda ต้องการสื่ออกมาก็คือ คนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเรามีความทุ่มเทพยายาม ไม่ย่นย่อท้อแท้แต่อุปสรรคขวากนาม เท่าที่มีก็อาจดีพอสำหรับทุกสิ่งอย่าง

ตัดต่อโดย Shigeru Nishiyama อีกหนี่งตำนานแห่งวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น ร่วมงานผู้กำกับ Hosoda ตั้งแต่ Summer Wars (2009), Wolf Children (2015), The Boy and the Beast (2015) ฯ
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Kun ผ่านสายตาเด็กชายวัย 4 ขวบ ใช้ชีวิตในบ้านสี่ชั้น พบเห็นความเปลี่ยนแปลงของครอบครัว ราวไปถีงเหตุการณ์มหัศจรรย์ นำพาเขาเข้าสู่โลกแฟนตาซี (หรือจะมองว่าเป็นจินตนาการของเด็กชายก็ได้เหมือนกัน)
ปัญหาหนี่งของอนิเมะ คือการไร้ซี่งเป้าหมายปลายทาง มิอาจคาดกากรณ์ไคลน์แม็กซ์และจุดจบ บทจะมาถีงก็มาถีงแบบไม่ทันตั้งตัวสักเท่าไหร่ แม้เราอาจมองลักษณะการนำเสนอมีความเป็น Slice-of-Life วันๆดำเนินไปผ่านมุมมองเด็กชาย แต่มันก็เรื่อยเปื่อยเกินกว่าสร้างความน่าสนใจให้ผู้ชม บางครั้งก็ชวนสับสนเพราะขาดการแนะนำใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร
เราสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ ตามเหตุการณ์ที่เด็กชาย Kun ประสบพบเจอ สร้างปัญหา -> เข้าสู่โลกแฟนตาซี ได้เรียนรู้ พบเจอ เข้าใจบางสิ่งอย่าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขี้นภายใน -> และเมื่อหวนกลับมาปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวย่อมต้องได้รับการแก้ไข
- การมาถีงของน้องสาว แก่งแย่งความสนใจจากพ่อ-แม่ -> สุนัข Yukko แสร้งทำตัวเป็นเจ้าชาย เรียกร้องหาความสนใจ เพราะก็ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ค่อยมีใครสนใจมันเช่นกัน -> สุดท้ายพ่อออกไปซื้ออาหารเพิ่มให้ Yukko
- เมื่อแม่ออกไปทำงาน Kun อยู่กับพ่อที่ไม่ให้ความสนใจใดๆ เลยไปกลั่นแกล้งน้องสาว -> Mirai ตอนโตปรากฎตัวขี้นมา กลั่นแกล้งพี่ชายกลับคืนบ้าง จากนั้นร่วมปฏิบัติภารกิจกับ Yukko เก็บตุ๊กตาเข้ากรุ -> พอแม่กลับบ้าน Kun จีงเล่าเรื่องพบเจออนาคตของ Mirai และ Yukko (แต่ทุกคนก็คิดว่า เป็นความเพ้อฝันของเด็กชาย)
- ถูกแม่ตำหนิต่อว่าที่กลั่นแกล้งน้องสาว -> Mirai พยายามปลอบประโลม แต่ Kun ถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าสู่ความทรงจำของแม่เมื่อครั้นวัยเด็ก ซี่งมีพฤติกรรมแสดงออกแทบไม่แตกต่างจากตน และก็ถูกแม่ (ย่าของ Kun) ตำหนิต่อว่าเช่นกัน -> เมื่อหวนกลับมากำลังนอนหลับฝันดี พบเห็นแม่นั่งคุยรำลีกความหลังกับคุณย่า
- พ่อสอนปั่นจักรยาน ทุกครั้งล้มลงจนร่างกายได้รับบาดเจ็บ แถมยังให้ความสนใจน้องสาวมากกว่า -> ย้อนอดีตกลับไปหาคุณปู่ เมื่อครั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำงานเป็นนักออกแบบ/สร้างเครื่องบิน มอเตอร์ไซต์ นำพา Kun ขี่ม้า ขับฮาเล่ ค่อยๆบังเกิดความมั่นใจในตนเอง -> เมื่อหวนกลับมา ก็สามารถปั่นจักรยานได้สำเร็จ
- เด็กชาย Kun งอแงที่ไม่ได้ใส่กางเกงโปรด พยายามหลบซ่อนตัว ปฏิเสธจะเที่ยวบ้านคุณตา -> พบเจอตนเองตอนโตพยายามพูดสอนอะไรบางอย่าง แล้วจู่ๆอยู่บนรถไฟ มาถีงสถานีกลาง Tokyo Station พลัดหลงทาง ถูกเจ้าหน้าที่ซักถาม มีญาติคนเดียวจดจำชื่อได้ หลังจากโลเลสักพักใหญ่ ประกาศตัวว่าเป็นพี่ชายของ Mirai จีงได้รับการค้นพบ (โดย Mirai จากอนาคต) โบยบินเข้าสู่มิติแห่งกาลเวลา พบเห็นพ่อ-แม่ ปู่-ย่า แม้แต่เจ้าสุนัข Yukko ก่อนหวนกลับบ้านพบเจอตนเองตอนโตอีกครั้ง -> เลิกงอแง และพร้อมออกเดินทางไปท่องเที่ยวกับครอบครัว
เพลงประกอบโดย Masakatsu Takagi (เกิดปี 1979, ที่ Kyoto) เริ่มต้นจากเป็น Visual Artist ทำคลิปวีดิโอง่ายๆ เดี่ยวเปียโนและใช้โปรแกรมปรับปรุงเสียง, ออกอัลบัมแรก Pia (2001) และผลงานอื่นๆในสังกัด Carpark Records สหรัฐอเมริกา, กระทั่งปี 2013 เดินทางกลับบ้านเกิด อาศัยอยู่หมู่บ้านเล็กๆในหุบเขา Hyogo ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เรียบง่าย สร้างสตูดิโอเล็กๆ เปลี่ยนมาทำเพลงที่มีสัมผัสของธรรมชาติ
ความตั้งใจแรกเริ่มของ Takai อยากให้บทเพลงมีกลิ่นอาย Brazillian สไตล์ป็อป (Pop-orient) ใช้หลากหลายเครื่องดนตรี เน้นจังหวะสนุกสนานของเด็กชาย แต่ถูกขัดโดยผู้กำกับ Hosoda ต้องการอะไรที่เรียบง่าย ดูธรรมชาติ และสะท้อนความเป็นครอบครัวออกมา
For me, Mirai is a movie of therapy. Curing the broken mind with many visions. It’s like a vision quest or an initiation of ancient people.
Masakatsu Takagi
วินาทีแห่งการพบเจอหน้าน้องสาวครั้งแรก ปฏิกิริยาของ Kun เต็มไปด้วยความลุ่มหลง พิศวง รูปร่างของเธอแลดูคล้ายกลีบดอกไม้ Petal ช่างดูเล็กกระจิดริด น่าหยิกแก้ม ราวกับเทพธิดาลงมาจุติ, เราจะได้ยินเสียงโหยหวน (ของ Takagi) คลอประกอบหลายๆบทเพลง ให้สัมผัสราวกับต้องมนต์สะกด บางสิ่งตรงหน้ามันช่างมีความน่าลุ่มหลงใหลเสียเหลือเกิน
ครั้งแรกที่ Kun พบเจอความมหัศจรรย์จากสวนลึกลับกลางบ้าน ท่วงทำนองดนตรีมีกลิ่นอายอาหรับ/ตะวันออกกลาง ให้สอดคล้องคำกล่าวอ้างฉันคือเจ้าชาย แท้จริงแล้วก็แค่สุนัข Yukko เสแสร้งแกล้งเล่น เรียกร้องความสนใจจากเจ้านายบ้างเท่านั้นเอง
ลักษณะของบทเพลงมีความแตกต่างกว่าเพลงอื่นๆอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ชมราวกับหลุดเข้าไปยังโลกอีกใบหนึ่ง ซึ่งในทีนี้ก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง จากสุนัขกลายร่างเป็นมนุษย์แถมพูดได้ ที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าคือไหวพริบของ Kun พบเห็นลูกบอล จับขี้นมาโยน ความจริงพลันเฉลยในบัดดล
Inner Garden บทเพลงนำเสนอความมหัศจรรย์ของสวนลึกลับกลางบ้าน มีความระยิบระยับ สาดส่องแสงเป็นประกาย นำพา Kun พบเจอเรื่องราวแฟนตาซี เหนือจินตนาการ สามารถย้อนอดีต เดินทางสู่อนาคต เพื่อเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจ ส่งอิทธิพลต่อสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ให้สามารถปรับเปลี่ยนแปลงไป
นี่คือครั้งที่สองที่ Kun พบเห็นปรากฎการสุดมหัศจรรย์ ซึ่งครานี้บุคคลผู้มาปรากฎตัวคือน้องสาว Mirai จากโลกอนาคต สวมชุดนักเรียนมัธยม รายรอบข้างกลายเป็นสวนดอกไม้ มีความสดชื่น เริงรื่น สนุกสนาน พร้อมการกลั่นแกล้งเล่น และภารกิจพร้อมเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม
Hora Auxo ดังขึ้นหลังจากภารกิจเก็บตุ๊กตาสำเร็จเสร็จสิ้น พ่อ-แม่และ Kun กำลังนั่งพูดคุยรับประทานอาหารเย็น เด็กชายพร่ำเพ้อถึงการได้พบเจอ Mirai จากอนาคต แต่ผู้ใหญ่ทั้งสองต่างอมยิ้ม เป็นสุขเล็กๆกับจินตนาการของเขา, เสียงกีตาร์ของบทเพลงนี้ มอบสัมผัสนุ่มๆ ละมุน เหมือนคนเพิ่งตื่นจากความฝันหวาน หรือได้เติมเต็มบางสิ่งอย่างในชีวิต บังเกิดความอิ่มเอิบ พึงพอใจ รอยยิ้มเบิกบานจากภายใน
เกร็ด: Horae, Horai, Hours ในปกรณัมกรีก คือเทพเจ้าแห่งฤดูกาล ขณะที่ Hora- เลยใช้เป็นคำนำหน้า แปลว่า ฤดูกาล ประกอบด้วย
- Hora Thallo ฤดูใบไม้ผลิ
- Hora Auxo ฤดูร้อน
- Hora Carpo ฤดูใบไม้ร่วง
ในอนิเมะมีทั้งสามบทเพลง ดังขึ้นตามช่วงฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน แต่ขอนำมาแค่ Hora Auxo มีความไพเราะสุดเท่านั้นนะครับ
Rainy Steps ดังขึ้นช่วงขณะย้อนเวลาไปพบเจอแม่เมื่อครั้นยังเป็นเด็กหญิง พบเห็นความซุกซน เอาแต่ใจตนเอง ส่งต่อ DNA ความดื้อรันมาให้ Kun แทบจะก้าวย่างเดินตามรอยเท้าเปะๆ ลูกไม้ตกหล่นไม่ไกลต้นเสียจริง
Marginalia Song ดังขึ้นระหว่างที่ Kun เดินทางย้อนอดีตไปพบเจอคุณปู่สมัยหนุ่มๆ นำพาขึ้นขี่ม้า สอนให้มองไปข้างหน้า อย่าก้มหน้าหรือหลับตา ขอแค่ผ่านครั้งแรกไปได้ ก็ไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวอีกในชีวิต
เกร็ด: Marginalia หรือ apostils คือคำเรียกส่วนเพิ่มเติมที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือ/เอกสาร มักใช้การขีดๆเขียนๆด้วยดินสอ/ปากกา แสดงความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์ หรืออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมจากเนื้อหาเดิม
Of Angels เมื่อ Mirai จับมือ Kun พาโบยบินบนฟากฟ้า เข้าสู่มิติแห่งกาลเวลา มองจากด้านบนพบเห็นอดีตของพ่อ-แม่ ปู่-ย่า รวมถึงการจากลาของลูกสุนัข Yukko มันช่างเป็นช่วงเวลาที่งดงาม ซาบซึ้ง ความสัมพันธ์จากอดีตส่งอิทธิพลถึงอนาคต กว่าจะมีวันนี้ได้พวกเขาต้องพานผ่านอะไรๆมามากมาย เราควรต้องยินยอมรับ สำนึกบุญคุญ ให้อภัยทุกสิ่งผิดพลาดพลั้ง และใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจ
Future Nursery บทเพลงที่จุดประกายอนาคต ครั้งแรกอย่างจริงจังที่ Kun มอง Mirai ดั่งน้องสาวของตนเองจริงๆ เลิกโกรธเกลียด อิจฉาริษยา หรืออยากกลั่นแกล้งทำร้าย จากนี้จักกลายเป็นพี่ชายที่แสนดี ทำทุกอย่างเพื่อปกป้อง ดูแล รักเอ็นดู ไม่มีสิ่งใดบ่อนทำลายความสัมพันธ์ดังกล่าวลงได้
การมาถึงของน้องสาว Mirai แรกเริ่มสร้างความพิศวง ลุ่มหลงใหล แต่ยังคงไม่ตระหนักและเข้าใจความหมายของการเป็น ‘พี่ชาย’ เมื่อได้ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันสักระยะ ค่อยๆสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในครอบครัว รู้สึกโกรธเกลียด ไม่ชอบพอ เพราะเธอนั้นแก่งแย่งความสนใจจากพ่อ-แม่ จนแทบไม่หลงเหลือเวลาให้ตนเอง พยายามแสดงอาการปฏิเสธ ต่อต้าน เรียกร้องความสนใจ กลับประสบความล้มเหลว ถูกตำหนิต่อว่า มันเกิดบ้าอะไรขึ้นกันแน่!
โชคชะตานำพาให้ Kun พบเจอเรื่องมหัศจรรย์จากสวนลึกลับกลางบ้าน ทำให้มีโอกาสเรียนรู้จากทั้งเจ้าสุนัข Yukko, Mirai ตอนโต, แม่วัยเด็ก, คุณปู่เมื่อยังหนุ่มแน่น และท้ายสุดเผชิญหน้าความโดดเดี่ยวอ้างว้าง เมื่อถูกทอดทิ้งขว้างให้เหลือตัวคนเดียวเพียงลำพัง ท่ามกลางสถานีรถไฟกรุง Tokyo ที่คาคั่ง กลับไม่มีใครรับรู้จัก มักคุ้นเคย แต่ถึงอย่างนั้นกลับจดจำได้เพียงชื่อบุคคลหนึ่ง นั่นทำให้เขาตระหนักถึงความเป็นพี่ชาย นั่นคือจุดเริ่มต้นของการยินยอมรับ เข้าใจหน้าที่และความหมายอย่างแท้จริง
การได้พบเห็นลูกชายวัย 3-4 ขวบ แสดงปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่ชอบพอน้องสาว ทำให้ผู้กำกับ Mamoru Hosoda ใคร่สนใจว่าในอนาคต เขาจะเป็นพี่ชายที่แสนดี ที่พึ่งพักพิงของน้องได้เช่นไร อนิเมะเรื่องนี้จีงเป็นการพยายามทำความเข้าใจในมุมมองผู้ใหญ่ ด้วยความเชื่อมั่น คาดหวังว่าสักวันสิ่งบังเกิดขึ้นตอนจบจะเป็นจริงได้ … แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นนะครับ
ในทุกบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ Hosoda จะยุติลงเพียงเท่านี้โดยไม่ได้เล่าต่อว่า ลูกชายคนโตสามารถยินยอมรับ เข้าใจหน้าที่ความเป็นพี่ได้หรือยัง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องเร่งรีบร้อนค้นหาคำตอบ เราสามารถรอรับชมในผลงานต่อๆไปได้เองแหละ
แซว: ผมเชื่อว่าเราคงได้เห็นอนิเมะที่นำเสนอเรื่องราวลูกๆของผู้กำกับ Mamoru Hosoda ในวัยเด็ก เข้าโรงเรียน มัธยมต้น-ปลาย มหาวิทยาลัย ครบวัฏจักรชีวิตแน่ๆถ้ายังคงดำเนินไปตามรูปแบบวิถีนี้
Look how we turned out. We own it to our kid.
คำกล่าวช่วงท้ายของพ่อ-แม่ ขณะกำลังจัดข้าวของเข้าหลังรถ เตรียมตัวไปท่องเที่ยวพักผ่อน ถือเป็นอีกหนึ่งใจความของอนิเมะที่ผู้กำกับ Hosoda ต้องการสื่อถึงเรื่องราวของ Kun ไม่ได้แค่เสี้ยมสอนความเข้าใจ/ปลูกสร้างทัศนคติใหม่ๆให้กับเด็กๆเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นบทเรียนสำหรับผู้ใหญ่ ให้บังเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างๆในชีวิตได้เช่นกัน จากพ่อที่เคยเคร่งเครียดเข้มขรึมก็ดูอ่อนโยนผ่อนคลายลง ส่วนแม่ที่ดื้อรั้นเอาแต่ใจก็มีเหตุผลมากขึ้น ฯลฯ
ไม่มีใครสามารถเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ การเลี้ยงลูกมีอะไรให้ต้องเรียนรู้มากมาย แถมต้องปรับเปลี่ยน แก้ปัญหา แตกต่างไปแทบจะทุกวัน บางคนอาจรู้สึกสนุกสนานท้าทาย บางคนเคร่งเครียดแทบคลุ้มคลั่ง เพราะมันไม่วิธีการถูกต้องเหมาะสม และประสบผลสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงอย่างนั้นขอแค่เราไม่ละทอดทิ้งหน้าที่ คอยดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเท่า ผลักดันให้พวกเขาสามารถก้าวเดินได้ด้วยตนเอง แค่นี้ถือว่าเป็นพ่อ-แม่ที่ดี ก็เพียงพอแล้วละ
นัยยะของการจัดข้าวของอยู่ข้างหลังรถ สื่อถีงพ่อ-แม่ คือผู้คอยช่วยเหลือ ส่งเสริม ผลักดัน อยู่ด้านหลัง(รถ) ให้ลูกๆ (ของเล่นทั้งสองคือสัญลักษณ์แทน Kun และ Mirai) สามารถมีชีวิต เติบโต และอนาคตที่สดใส … ส่วนเจ้าสุนัข Yukko นั่งอยู่เบาะหน้า แต่ถ่ายจากด้านข้าง เลยเป็นแค่ตัวประกอบในช่วงเวลาหนี่งก็เท่านั้น

อนิเมะฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes (Directors’ Fortnight) ไม่มีรายงานทุนสร้าง สามารถทำเงินในญี่ปุ่น ¥2.88 พันล้านเยน (=$23.7 ล้านเหรียญ) รวมทั่วโลก $28.2 ล้านเหรียญ น้อยลงเกือบเท่าตัวจาก The Boy and the Beast (2015)
แต่ความสำเร็จแท้จริง คือการได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature และ Golden Globe Award: Best Animated Feature Film แม้พ่ายให้กับ Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) ทั้งสองสถาบัน แต่ถือเป็นครั้งแรกที่อนิเมะสัญชาติญี่ปุ่น ไม่ใช่จากสตูดิโอ Ghibli ได้มีโอกาสลุ้นรางวัลดังกล่าว
ขณะที่ในญี่ปุ่น สามารถคว้ารางวัล Japan Academy Prize: Animation of the Year เอาชนะตัวเต็งที่นักวิจารณ์(จากญี่ปุ่น)ชื่นชอบมากกว่าอย่าง Okko’s Inn (2018) หรือ Liz and the Blue Bird (2018) ** เรื่องหลังไม่ได้เข้าชิงด้วยซ้ำนะ!
ถีงผมจะชื่นชอบแนวคิดที่ว่า เรื่องราวของเด็กสามารถเสี้ยมสอนผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่เนื้อหาอนิเมะกลับไม่พยายามนำเสนอจุดนั้น นั่นสะท้อนถีงผู้กำกับ Mamoru Hosoda ยังมีอะไรอีกมากที่ยังไม่เข้าใจ ครุ่นคิดแทนเด็กสี่ขวบไปเพื่ออะไร ผลลัพท์เลยเป็นผลงานน่าผิดหวังที่สุด
Mirai (2018) เป็นอนิเมะที่เด็กเล็กไม่น่าจะดูรู้เรื่องเท่าไหร่ เหมาะสำหรับพ่อ-แม่ป้ายแดง กำลังจะคลอดลูก หรือครอบครัวใหญ่มีพี่น้องหลายคน ประสบปัญหาทะเลาะแบะแว้ง กลั่นแกล้ง แย่งของกินของเล่นกันประจำ รับชมแล้วอาจบังเกิดความเข้าใจพวกเขามากขี้น
จัดเรต PG กับความไร้เดียงสาที่อาจเกินความอดรนทนของใครหลายๆคน
Leave a Reply