Miss Julie

Miss Julie (1951) Swedish : Alf Sjöberg ♥♥♥♡

หนังรางวัล Grand Prize (หรือ Palme d’Or) ผลงานกำกับของ Alf Sjöberg อีกหนึ่งปรมาจารย์สัญชาติ Swedish, ก่อนที่จะมี Ingmar Bergman ผู้ยิ่งใหญ่ Alf Sjöberg ถือเป็นผู้กำกับระดับแนวหน้าของ Sweden ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นผู้กำกับคนแรกที่มีหนังได้รางวัล Palme d’Or ถึง 2 เรื่อง

Iris and the Lieutenant (1946) และ Miss Julie (1951) ของผู้กำกับ Alf Sjöberg เป็นหนังสองเรื่องที่คว้ารางวัล Grand Prize ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ฉายในสายประกวด นี่เป็นชื่อก่อนที่ Cannes จะเปลี่ยนมาใช้ Palme d’Or ในปี 1955, ถือเป็นหนังรางวัลจากเทศการหนังยุคแรกๆเลย Cannes เริ่มจัดเทศกาลหนังครั้งแรกปี 1939 แต่เริ่มมีการมอบรางวัลสายประกวดครั้งแรกปี 1946 ซึ่งมีหนังที่ได้รางวัล 11 เรื่อง Iris and the Lieutenant คือหนึ่งในนั้น, ที่ผมขุดหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพื่ออยากแนะนำให้รู้ว่า ผู้กำกับสัญชาติ Swedish ที่เด่นๆ คนส่วนใหญ่จะรู้จักแค่ Ingmar Bergman แต่มีคนอื่นด้วยนะครับ ว่ากันว่าถ้าไม่มี Alf Sjöberg ที่กรุยทางให้วงการภาพยนตร์ Sweden เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ก็อาจไม่มี Ingmar Bergman หนึ่งในผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเกิดขึ้นก็เป็นได้

Miss Julie ดัดแปลงมาจากละครเวทีชื่อเดียวกันของ August Strindberg ที่รู้สึกว่า Alf Sjöberg จะเป็นผู้กำกับการแสดงละครเวทีเรื่องนี้เมื่อปี 1949, บทของ August Strindberg เห็นว่ามีส่วนคล้ายกับ Shakespeare เรื่อง A Midsummer Night’s Dream โดยเรื่องราวของ Miss Julie ก็ดำเนินเรื่องในคืน Midsummer Night เช่นกันเป็น Nordic midnight sun (ของ Shakespeare ใช้ Mendelssohn เป็นพื้นหลัง)

เรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวชื่อ Julie ลูกของท่าน Count ที่เป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ เพราะปมวัยเด็กของเธอ ที่แม่ไม่รักและพ่อที่เคร่งครัดเกิดกว่าเหตุ, เธอดันไปตกหลุมรักกับคนใช้หนุ่มสุดหล่อ ซึ่งเขาก็ใช้โอกาสนี้เอาเปรียบเธอ เพื่อตนเองจะได้ไต่เต้าขึ้นไปโดยลากเธอลงจากสรวงสวรรค์ หญิงสาวที่พอคิดได้จึงเกิดความละอายในสิ่งที่ทำ จึงตัดสินใจปลิดชีพฆ่าตัวตาย

นี่เป็นหนังที่มีบรรยากาศเหมือน ‘เทพนิยาย’ ด้วยเสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร ฉากพื้นหลัง บ้านที่ดูหรูหราราวกับคฤหาสถ์ และแนวคิดของตัวละครที่เหมือนเจ้าหญิงถูกขังในกรงทอง ตกหลุมรักกับเจ้าชายยาจกที่เป็นคนใช้ผู้ต่ำต้อยแต่หวังสูง, เหตุการณ์เกิดขึ้นในคืนฟ้าสว่าง (Midsummer Night) ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะมีช่วงหนึ่งในแต่ละปีที่ตะวันจะไม่ตกดิน เที่ยงคืนแล้วฟ้ายังสว่างอยู่ นี่ยิ่งดูเหมือนเมืองในเทพนิยายเข้าไปใหญ่ มีแต่กลางวันไม่มีกลางคืน

เห็นในเวอร์ชั่นละครเวที ใช้นักแสดงเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งภายหลังพอผู้กำกับตั้งใจจะทำเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ก็ตั้งใจจะเลือกนักแสดงชุดเดิม แต่เพราะนางเอกกับการแสดงละครเวทีที่รับบทโดย Inga Tidblad อายุมากไปเสียหน่อย เลยเลือกนักแสดงหญิงคนใหม่ที่เด็กกว่าแทน, ส่วนอุปกรณ์และฉากที่ใช้ในการแสดงละครเวทีไว้ ก็ยังถูกเก็บไว้ นำมาใช้ถ่ายหนังเพื่อประหยัดงบประมาณอีกด้วย

นำแสดงโดย Anita Björk รับบท Julie นี่เป็นนักแสดงที่ผู้กำกับเลือกมาแทน Inga Tidblad, ใบหน้าและการแสดงของเธอทำเอาผมนึกถึง Vivien Leigh ขณะเล่นหนังเรื่อง Gone With The Wind (1939) ด้วยแววตาที่จิกกัด มีความขี้อิจฉาน้อยใจ เป็นคนเอาแต่ใจ ต้องการให้คนอื่นตามใจ, ฉาก Open Credit ของหนัง เราจะเห็นตัวละครของเธอจะแอบซ่อนอยู่หลบอยู่ข้างๆผ้าม่าน (กลัวคนเห็น) นี่เป็นการแนะนำตัวละครที่ ไม่ต้องมีคำพูดบรรยายใดๆ เราก็สามารถเข้าใจได้เลยว่าเธอมีนิสัยอย่างไร

ฝ่ายชาย Ulf Palme รับบท Jean ผมไม่คิดว่าเขาหล่อเท่าไหร่นะ แต่คงทำให้สาวหลงได้ (มั้ง), จริงๆแล้วตัวละครนี้เป็นคนขี้ขลาด แต่มีความทะเยอทะยาน ใจเย็นและมองหาโอกาสที่เหมาะสม, มีฉากหนึ่งที่เล่าถึงความฝันของ Julie และ Jean, ในฝันนั้น Juliet ปืนขึ้นไปอยู่บนยอดไม้แล้วหาทางลงไม่ได้ ส่วน Jean ฝันว่าปืนขึ้นไปเพื่อเด็ดดอกฟ้า ฉากนี้แทนตัวตนของทั้งสองตัวละครนำได้ชัดเลย

อีกหนึ่งนักแสดงจากเวอร์ชั่นละครเวที Märta Dorff รับบท Kristin คู่หมั้นของ Jean และเป็นแม่ครัวของท่าน Count, การแสดงของเธอติดดินมากๆ ท่าทาง กิริยา เป็นผู้หญิงที่เหมือนคนใช้จริงๆ (เหมือนว่าเธอจะใส่ฟันปลอมด้วยนะ), บทของเธออาจไม่เยอะเท่า Julie กับ Jean แต่ถือเป็นตาชั่งอีกด้านหนึ่ง ที่มี Jean อยู่ตรงกลาง Julie คือฝั่งซ้าย และ Kristin คือฝั่งขวา

Max von Sydow กับบทเล็กๆ เป็นคนเลี้ยงม้า ที่ชอบแอบดูนาย หน้าของพี่แกเหมาะกับการเป็นคนใช้มาก แต่ไม่รู้ไฉน Ingmar Bergman ถึงจับพี่แกมาเป็นพระเอกได้ตั้งหลายเรื่อง

ถ่ายภาพโดย Göran Strindberg, นี่เป็นหนังที่มีการถ่ายภาพเจ๋งมากๆ มีการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระ เดี๋ยวเคลื่อนเข้า เคลื่อนออก (ไม่ใช่ซูมนะครับ) เคลื่อนตามตัวละคร แพนกล้อง มีฉากที่ตั้งกล้องไว้เฉยๆน้อยมาก, มีการใช้เทคนิคซ้อนภาพด้วย ในฉากที่ 2 พระนางบรรยายถึงความฝัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจะปรากฏขึ้นด้านหลังของทั้งคู่ นี่อาจไม่ใช่เทคนิคที่แปลกใหม่ แต่การใช้ในหนังเรื่องนี้กลับทำให้ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก และนี่คือจุดที่ทำให้หนังต่างจากละครเวที เพราะหนังสามารถนำเสนอภาพ ความฝันกับความจริง หรือ อดีตกับปัจจุบัน ให้เกิดขึ้นพร้อมกันในซีนเดียวได้

ตัดต่อโดย Lennart Wallén, นี่ก็ถือว่าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แทบจะครึ่งหนึ่งที่หนังเล่าย้อนอดีต เป็น Flashback ท้าวความถึงชีวิตวัยเด็กของสองพระนาง นี่อาจทำให้เรื่องราวของหนังไม่ดำเนินไปข้างหน้า แต่ถือเป็นการสำรวจพื้นฐาน เข้าใจเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีตที่ทำให้ปัจจุบันตัวละครกลายเป็นแบบนี้, การเปลี่ยนฉากถ้าผมจำไม่ผิด มีแบบเลื่อนภาพไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง และตอนที่เริ่มเล่าย้อนอดีต ใช้การซูมเข้าซูมออก หลอกผู้ชมให้คิดว่าฉากนั้นคือปัจจุบัน แต่ภาพได้ย้อนไปอดีตเรียบร้อยแล้ว, ผมสังเกตหนังที่มีเรื่องราวลักษณะนี้ ก็มักมีการเปลี่ยนฉากที่ไม่ใช่แค่ตัดต่อ แต่ใส่การเปลี่ยนภาพแปลกๆ ผมเรียกว่า Fantasy Transition นะครับ

เพลงประกอบที่ราวกับอยู่ในเทพนิยาย โดย Dag Wirén หนังเต็มไปด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาว Nordic เสียงจะไม่คุ้นหูเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณเคยฟังเพลงลักษณะคล้ายๆกันนี้มาก็จะนึกออกว่าเป็นยังไง, เพลงประกอบส่วนใหญ่ในหนัง เรามักจะได้ยินจากวงดนตรีที่เล่นอยู่ มีจังหวะสนุกสนานครื้นเครง ส่วนฉากสำคัญๆของหนังมักไม่มีเพลงประกอบ จะเงียบๆ น้ำนิ่งไหลลึก, ผมเรียกเพลงที่ใช้แบบหนังเรื่องนี้ว่า เพลงประกอบภาพ ไม่ได้ใช้เพื่อสร้างอารมณ์หรือสร้างบรรยากาศให้กับหนังแม้แต่น้อย

กับคนที่เคยดู Wild Strawberries ของ Ingmar Bergman มาแล้ว มันมีความสัมพันธ์บ่างอย่างระหว่างกับหนังเรื่องนี้ ในการเดินทางที่ตัวละครได้พบกับความทรงจำ, ภาพ Flashback, ความฝัน และฝันร้าย จะว่ารูปแบบ ลำดับ วิธีการของ Bergman น่าจะได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากหนังเรื่องนี้ก็ว่าได้

เกร็ด: คนที่กำกับบทหนังเรื่องแรกที่เขียนโดย Ingmar Bergman คือ Alf Sjöberg ผู้กำกับหนังเรื่องนี้นะครับ

ในโลกของ Miss Julie ชนชั้นกับความสัมพันธ์ (Sex) ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก นี่อาจมองดูเป็นหนัง Period ด้วยก็ได้ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นสูง กับคนใช้ จึงเปรียบได้กับนางฟ้ากับหมาวัด แต่คนใช้ไม่ใช่ทาส พวกเขามีอิสระในการคิดตัดสินใจและการกระทำ ซึ่งถ้ามองในมุมนี้จะเห็นอีกโลกหนึ่งของคนชั้นสูง ที่ผูกมัดตัวเองกลายเป็นทาสของโครงสร้างสังคม เหมือนนกที่เป็นสัตว์เลี้ยงของ Julie ขนาดว่าเธอกำลังจะหนีไปกับ Jean ดันเอานกและกรงไปด้วย (เสื้อผ้าไม่สำคัญเท่านกในกรง!) ซึ่งเหตุที่ Jean ต้องฆ่านก จริงๆปล่อยให้มันโผบินหนีไปก็ได้ แต่เพราะหนังเปรียบชะตากรรมของนกเช่นเดียวกับ Julie มันเลยต้องตาย และ Julie ก็ตายตอนจบ

แม่ของ Julie ถือว่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ไม่อยู่ในกรอบ แต่คนสมัยก่อนจะมองเธอว่าเป็นผู้หญิงที่ไร้ยางอาย (เป็นคนชั้นต่ำ) แต่พอเธอแต่งงานกับสามีที่เป็นคนชั้นสูง ก็ไม่มีใครสามารถทำอะไรเธอได้, ตัวละครนี้ต้องเรียกว่า ‘ตัวแม่’ เลยละ ผมก็ไม่รู้เธอคิดบ้าอะไร เป็นหญิงสาวที่ ทุกอย่างต้องได้ตามใจฉัน ไม่พอใจอะไรนิดหน่อยก็ประท้วง กระทำการที่โคตรเรียกร้องความสนใจ คนที่มีปมแบบนี้ ก็จากพ่อแม่ที่โคตรตามใจ, หนังมันก็สะท้อนซึ่งกันและกันนะครับ Julie กับ แม่ แทบจะไม่มีอะไรต่างกันเลย ใช้นักแสดงคนเดียวกันยังได้

ถ้าใครสังเกตหน่อย ตอนจบของหนังเรื่องนี้ไม่มี The End ขึ้นนะครับ ผู้กำกับลืมหรือเปล่า หรือถูกตัดออก? ไม่เลยครับ หนังจงใจที่จะไม่ใส่ไว้เพื่อเป็นการบอกว่า เรื่องราวแบบนี้ไม่มีจุดจบ มันคือสิ่งที่ยังพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป, ฉากจบคือการเคลื่อนกล้องเข้าไปหน้ารูปภาพแม่ของ Julie มันมีความรู้สึกราวกับว่าเธอเป็นผู้ชนะ รอยยิ้มที่เย่อหยิ่งของหอง เธอเอาชนะใคร ชนะอะไร? คำตอบคืออิสระภาพ เอาชนะกรอบความคิดทุกอย่างที่ผู้หญิงถูกปลูกฝังไว้

นี่เป็นหนัง Feminist ไม่ผิดเลย ตัวละครผู้หญิงที่มีอิสระภาพ การคิด การตัดสินใจด้วยตัวเอง การเอาชนะกรอบ ระเบียบ ข้อกำหนดของสังคมและวิถีปฏิบัติ, แต่กับตัวละคร Julie มันเหมือนสะท้อนอีกภาพหนึ่ง คืออิสระภาพที่มากเกินไป ทำให้หลงระเริง ลื่นไหลถลำเข้าไปเกิดขอบเขตข้อจำกัดที่สามารถรับได้, ผมชอบการสะท้อนมุมมองนี้ คือตัวละครรู้ตัวเองว่าถลำลึกเกินไป แต่เธอไม่ยอมถอยกลับออกมา เข้าไปลึกจนจิตใจรับไม่ได้ สุดท้ายจบลงด้วยการปลิดชีวิตตัวเอง

มีหนังเรื่อง Miss Julie (2014) ที่ดัดแปลงมาจากบทละครของ August Strindberg กำกับโดย Liv Ullmann นำแสดงโดย Jessica Chastain, Colin Farrell และ Samantha Morton, จะว่าเป็น Remake ของหนังเรื่องนี้เลยก็ได้ แต่ได้ยินว่าทำออกมาได้น่าผิดหวังสุดๆ  กับคนที่อยากดูหนังคุณภาพ แนะนำให้คุณหาเวอร์ชั่น Classic นี้ดูดีกว่านะครับ

แนะนำกับคนที่ชอบหนังแนวโรแมนติก เทพนิยาย, ชอบดูหนังดีๆ คลาสสิค เก่าๆ, ใครเคยดูหนังของ Ingmar Bergman แนะนำให้ลองหาหนังของ Alf Sjöberg มาดูด้วยนะครับ ถึงมันไม่ได้คล้ายกันเลย แต่เป็นหนังจากประเทศ Sweden เหมือนกัน แรงบันดาลใจของ Bergman ส่วนหนึ่งก็มาจากหนังของ Sjöberg นี่แหละ

จัดเรต 13+ กับนิสัยแย่ๆของ Julie และแม่

TAGLINE | “Miss Julie ของผู้กำกับ Alf Sjöberg พาเราเข้าสู่โลกแห่งเทพนิยาย ไปกับตัวละครที่มีนิสัยไม่รู้เหมือนเจ้าหญิงหรือตัวร้าย สุดยอดการแสดงของ Anita Björk”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: