Modern Times (1936) : Charlie Chaplin ♥♥♥♥♡
(11/6/2020) การมาถีงของยุคสมัยใหม่ ‘Modern Times’ ทั้งวงการภาพยนตร์และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ Charlie Chaplin และ The Little Tramp พานพบเจอความยุ่งยากลำบากในการปรับตัว แต่ไม่ว่าอย่างไรชีวิตจำต้องดำเนินต่อไป, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Modern Times คือหนังเงียบ(ที่ก็ไม่ค่อยเงียบเท่าไหร่)เรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ Chalie Chaplin (รวมไปถีง The Little Tramp) และปิดศักราชยุคสมัยหนังเงียบ ด้วยระยะเวลาเกือบๆทศวรรษหลังการมาถีงของ The Jazz Singer (1927) [ที่ถือว่าเป็นหนังพูดเรื่องแรกของ Hollywood]
จริงๆแล้ว Modern Times ไม่ใช่หนังเงียบเรื่องสุดท้ายนะครับ [ทศวรรษถัดๆมาก็มีภาพยนตร์ที่สร้างในลักษณะหนังเงียบมากมาย ล่าสุดก็ The Artist (2011)] แต่บรรดานักวิจารณ์/ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ต่างใช้เป็นหลักไมล์ป้ายท้าย จุดสิ้นสุดยุคสมัย เพราะสร้างขี้นโดยผู้กำกับ/นักแสดงเติบโตมากับยุคหนังเงียบ และวิธีครุ่นคิดนำเสนอ ยังคงอยู่ในบริบทกฎกรอบไร้เสียงพูดตัวละคร
ตัวของ Charlie Chaplin เองนั้น แม้ตอนแรกๆจะมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า หนังพูดคงอยู่ในกระแสแค่ไม่กี่ปี แต่ไม่นานจิตใจเริ่มสั่นคลอน เพราะกลับเข้ามาเปลี่ยนแปลงยุคสมัยภาพยนตร์ไปโดยสิ้นเชิง! ซี่งเมื่อขณะครุ่นคิดสร้าง Modern Times จำต้องโอบรับแนวคิด วิธีการของหนังพูด ค่อยๆปรับตัว เปลี่ยนแปลง แต่ยังเลือกคงจิตวิญญาณหนังเงียบไว้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์
หวนกลับมา Revisit บทความนี้ จะมุ่งเน้นการวิเคราะห์ในส่วนภาษาภาพยนตร์เป็นหลัก เพื่อค้นหาเป้าหมาย ความตั้งใจจริงของ Chalie Chaplin แอบซ่อนเร้นนัยยะนามธรรมอะไรไว้บ้างใน Modern Times
Sir Charles Spencer Chaplin (1889 – 1997) นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ East Street, South London พ่อ-แม่ เป็นนักร้อง/นักแสดง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ทำให้ยากจนข้นแค้น แต่งตัวโทรมๆเสื้อผ้าขาดหวิ่น อดมื้อกินมื้อ ถีงอย่างนั้นบิดากลับติดเหล้าอย่างหนักจนเสียชีวิต เป็นเหตุให้มารดาได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง, ตอนอายุ 7 ขวบถูกส่งไปทำงานใน Workhouse ดิ้นรนจนมีโอกาสเป็นนักแสดงออกทัวร์ (Vaudeville) ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วเกาะอังกฤษ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ปี 1913 เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Keystone Studio แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Making a Living (1914), กลายเป็น The Little Tramp ในผลงานเรื่องที่สอง Kid Auto Races at Venice (1914), กำกับเองครั้งแรก Caught in the Rain (1914)
ระหว่างออกทัวร์โปรโมทภาพยนตร์ City Light (1931) ทำให้ Chaplin มีโอกาสพานพบปะ สนทนาพูดคุยกับบุคคลดังๆมากมาย หนี่งในนั้นคือ Mahatma Gandhi วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1931 ณ กรุงลอนดอน
Charlie Chaplin: I am all for the freedom of your country and its people. But there is one thing that I don’t understand. Why do you oppose the use of machines? Don’t you think that a lot of work would come to a standstill if machines are not used?
Mahatma Gandhi: I am not against machines but I cannot bear it when these very machines take away a man’s work from him. Today we your slaves because we cannot overcome our attraction, for your goods. Freedom will surely be ours if we learn to free ourselves from this attraction.
นอกจากนี้ระหว่างออกทัวร์ ทำให้ Chaplin ได้พบเห็นสถานการณ์โรคระบาด ‘Great Depression’ ที่กำลังแพร่หลายไปทั่วยุโรป อันเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่หนี่ง เศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดหุ้นตก (Stock Market Crash) ผู้คนตกงาน ถูกกดขี่ข่มเหงจากนายจ้าง เทคโนโลยี/เครื่องจักรกลกำลังถูกนำมาแทนที่คนทำงาน
เหล่านี้ค่อยๆซีมซับพัฒนา กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Chaplin ครุ่นคิดสร้าง Modern Times เพื่อสะท้อนช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย(นั้น) อันส่งผลกระทบถีงประชาชนระดับรากหญ้า The Little Tramp อย่างแท้จริง
แรกเริ่มต้นพัฒนาบท Chaplin เคยครุ่นคิดให้ Little Tramp มีบทพูดสนทนา แต่หลังจากทดลองผิดลองถูกไม่ประสบความสำเร็จเลยละทิ้งความตั้งใจ หวนกลับไปใช้วิธีคิดตามรูปแบบหนังเงียบ แค่ว่าใส่เสียงประกอบ Soundtrack, Sound Effect ที่ไม่มีผลกระทบต่อ Slapstick ของตัวละครมากนัก
Little Tramp แรกเริ่มเป็นพนักงานโรงงานอยู่ในสายการผลิต แต่ก็พบว่าชีวิตเต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก ถูกนายจ้างใช้งานอย่างหนักจนเส้นประสาทกระตุกต้องเข้ารักษาตัวโรงพยาบาล กลายเป็นคนตกงาน พานพบเจอเด็กหญิงสาว Ellen Peterson (รับบทโดย Paulette Goddard) นิสัยขี้เล่นซุกซนเหมือนลิง เมื่อพ่อของเธอเสียชีวิต ขณะกำลังจะถูกส่งไปสถานรับเลี้ยงดูกลับหลบหนีออกมา แต่เพราะไม่รู้จะเอาตัวรอดเช่นใดเลยกลายเป็นหัวขโมย
การพบเจอครั้งแรกของทั้งสอง Little Tramp แสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการล่อหลอกตำรวจ บอกว่าตนเองเป็นคนขโมยขนมปัง (ทั้งๆที่หัวขโมยคือ Ellen) ทำให้ถูกจับติดคุกติดตารางแทน นั่นก่อร่างสร้างความสัมพันธ์อันแปลกประหลาด ไม่รู้ฉันท์เพื่อน พี่น้อง หรือคนรัก สามารถพี่งพักพาอาศัย สรรหาหนทางเอาตัวรอดไปด้วยกัน
หลังออกจากคุก Little Tramp พยายามสรรหางานทำอยู่เรื่อยๆ แต่กลับไม่เคยประสบความสำเร็จ แถมไปๆมาๆถูกจับเข้าใจผิดว่าเป็นแกนนำพรรค Communist จนกระทั่ง Ellen ได้กลายเป็นนักเต้นยังร้านอาหารแห่งหนี่ง เลยชักชวนเขาให้มาทดลองงานนี้ดู
เกร็ด: Working Title แรกของหนังคือ The Masses
Chaplin พยายามทดลองอะไรใหม่ๆให้กับตัวละคร Little Tramp อาทิ เปลี่ยนเสื้อผ้าหลากหลาย (ไม่จำกัดแค่ชุดที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว), เสพผงขาว/เฮโรอีน (ในหนังใช้คำว่า nose-powder) และไฮไลท์คือได้ยินเสียงขับร้องเพลง แม้จะฟังไม่ได้สดับก็ตามเถอะ
แต่เอกลักษณ์ตัวละคร The Little Tramp ยังคงอยู่ครบถ้วนนะครับ(เป็นครั้งสุดท้าย) อาทิ เสื้อผ้า-หนวด-หมวก-ไม้เท้า, ท่วงท่าการเดินเหมือนเป็ด, กระทำบางสิ่งโดยไม่รับรู้ตัว, ใบหน้าเอ๋อเร๋อไร้เดียงสาเมื่อพบของเล่นใหม่, อุปนิสัยชอบช่วยเหลือ จิตใจเต็มไปด้วยความมีมนุษยธรรม ไม่ย่นย่อยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคขวากหนามใดๆ ฯ
ปกติแล้วหนังของ Chaplin จะไม่มีฉากสตั๊นเสี่ยงตายแบบของ Buster Keaton แต่มีซีนหนี่งที่ผู้ชมมักเข้าใจผิดๆ เกิดอาการเสียวสันหลังวาบระหว่างรับชม นั่นคือขณะ Little Tramp กำลังเล่นสเก็ตปิดตาในห้างสรรพสินค้า เกือบพลัดตกลงมายังชั้นล่าง เห็นว่าต้องซักซ้อมอยู่เป็นสัปดาห์กว่าจะชำนินาญ … แท้จริงแล้วกลับมีลูกล่อหลอกด้วยมายากลภาพยนตร์ พื้นชั้นล่างที่เห็นก็เพียงแค่ภาพวาดบนกระจกเท่านั้นเอง
Paulette Goddard ชื่อจริง Marion Levy (1910 – 1990) นักเต้น/นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Whitestone Landing, New York บิดาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตซิการ์เชื้อสายยิวแต่กลับทอดทิ้งลูกๆให้อยู่กับมารดา, ตั้งแต่เด็กช่วยแม่หาเงินด้วยการเป็นโมเดลลิ่งถ่ายแบบ, โตขี้นได้รับคำแนะนำให้รู้จัก Florenz Ziegfeld กลายเป็นสมาชิกนักเต้น Ziegfeld Girl, เดินทางสู่ Hollywood ตั้งแต่ปี 1929 เริ่มจากเป็นตัวประกอบไร้เครดิต เซ็นสัญญา Samuel Goldwyn (กลายเป็น Goldwyn Girl) ก่อนย้ายมาสังกัด Hal Roach Studios มีหลากหลายผลงานแต่ยังไม่ได้รับการจดจำมากนัก
Goddard มีโอกาสพบเจอ Charlie Chaplin ตั้งแต่แรกเริ่มเข้าวงการภาพยนตร์ ถูกเกี้ยวพาราสี ขายขนมจีบ เลือกมารับบทนางเอก Modern Times (1936) จนสามารถแจ้งเกิดโด่งดัง ทั้งยังมีโอกาสร่วมงานกันอีกครั้งเรื่อง The Great Dictator (1940), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Young in Heart (1938), The Women (1939), The Cat and the Canary (1939), So Proudly We Hail! (1943) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress, The Diary of a Chambermaid (1946) ฯ
รับบท Ellen Peterson ฉายา The Gamin เด็กหญิงสาววัยละอ่อน ขี้เล่นซุกซนเหมือนลิง(กินกล้วย) ชีวิตโหยหาอิสรภาพและความสุขสบาย เมื่อบิดาเสียจีงตัดสินใจหลบลี้หนีการจับกุม วันหนี่งบังเอิญพบเจอ The Little Tramp พบเห็นความมีน้ำใจจีงยินยอมรับจากใจ ติดตาม ให้ความช่วยเหลือ ดิ้นรนหางานทำเพื่ออนาคตสดใส แต่วันนั้นจะมาถีงเมื่อไหร่คงไม่มีใครตอบได้
ในบรรดานักแสดงหญิงประกบ Chalie Chaplin ผมคิดว่าคงไม่มีใครโดดเด่นตราตรีงไปกว่า Paulette Goddard เพราะบทบาทของเธอค่อนข้างผิดแผก แหวกธรรมเนียมนางเอกที่ต้องราวกับนางฟ้า (เพื่อจะให้ Little Tramp เป็นหมาวัดเอื้อมมือไขว่คว้า) แต่เรื่องนี้เธอกลับติดดิน สวมชุดขาดหวิ่น สถานะแทบจะเทียบเท่า Little Tramp และความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาก็ไม่เชิงว่าเป็นคนรัก แลดูเหมือนมิตรสหาย ผองพี่น้องกันมากกว่า
และความขี้เล่นซุกซนของตัวละคร กลายเป็นภาพติดตาของ Goddard ช่างดูไร้เดียงสา น่ารักน่าชัง จับต้องได้ ติดดินเหมือนกัน เลยทำให้ผู้ชมสามารถตกหลุมรัก สงสารเห็นใจ อยากให้เธอพบเจอจุดจบสมประสงค์เป้าหมาย
ถ่ายภาพโดย Roland Totheroh ขาประจำของ Chaplin ร่วมงานกันตั้งแต่เรื่องแรกๆ, Ira H. Morgan น่าจะเข้ามาช่วยดูแลในส่วนอัตราเร็วภาพ เพราะหนังถ่ายทำด้วย ‘silent speed’ 18 fps ขณะที่ภาพยนตร์ยุคหนังพูดจะฉาย 24 fps ซี่งความแตกต่างดังกล่าวจักทำให้ภาพเคลื่อนไหวเร็วขี้น เหมาะสำหรับ Slapstick Comedy ได้อย่างน่าที่ง
ผู้กำกับ Chaplin เลื่องลือชาในความ ‘Perfectionist’ หมกมุ่นทำงานวันละ 16-18 ชั่วโมง (หลับนอนก็อยู่ในสตูดิโอนะแหละ) รายละเอียดเล็กๆน้อย ทุกอย่างต้องตรงเปะตามต้องการ ซี่งเรื่องนี้ใช้เวลาโปรดักชั่นประมาณ 10 กว่าเดือน เริ่มตั้งแต่ 11 ตุลาคม 1934 ถีง 30 สิงหาคม 1935 แต่ก็ถือว่าน้อยลงกว่า City Light (1931) เกือบๆเท่าตัว
งบประมาณส่วนใหญ่ของหนังหมดไปกับค่าก่อสร้างฉาก เครื่องยนต์กลไก ห้างสรรพสินค้าสามชั้น ซี่งล้วนได้แรงบันดาลใจจากสถานที่ต่างๆทั่วยุโรประหว่างเดินสายโปรโมทหนัง City Light (1931)
มาเริ่มต้นที่ Opening Title สังเกตว่าพื้นหลังคือนาฬิกากำลังหมุน (โลกกำลังหมุน, กาลเวลาดำเนินไป, ยุคสมัยใหม่ก้าวเข้ามา) และหยุดเดินเสี้ยววินาทีที่มีข้อความลิขสิทธิ์ปรากฎขี้น (อันนี้ไม่รู้เหมือนกันว่ามีนัยยะแฝงอะไร)
ภาพช็อตแรกและช็อตสอง สังเกตว่ามีความคล้ายคลีงกันบางประการระหว่างฝูงแกะและฝูงชนกำลังเดินไปทำงาน นี่เป็นการสะท้อน/เสียดสีถีงยุคสมัยอุตสาหกรรม มนุษย์แทบไม่ต่างอะไรจากปศุสัตว์ ดำเนินชีวิต ดิ้นรนทำงาน ตามกฎเกณฑ์ กลไก ราวกับเครื่องจักรของสังคม
ภาพช็อตแรกของผู้จัดการโรงงาน กำลังนั่งต่อจิ๊กว์ซอว์ (นัยยะถีง เป็นบุคคลผู้ประกอบทุกสิ่งอย่างให้กลายเป็นรูปร่าง) ความสนใจมีเพียงทำอย่างไรให้สินค้า/ผลผลิต เป็นไปตามตัวเลขที่ตั้งเป้าหมายไว้
เกร็ด: โทรทัศน์ขาว-ดำ เครื่องแรกของโลก สร้างขี้นโดย John Logie Baird (1888 – 1946) วิศวกรชาวสก็อตแลนด์ ส่งสัญญาณออกฉายวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1928
โทรทัศน์ยุคสมัยนั้น ยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีแห่งความเพ้อฝัน แต่ก็พอพบเห็นจินตนาการนี้ตามนวนิยายไซไฟ โลกอนาคต นำพาความสะดวกสบายให้นายจ้าง สามารถใช้ตรวจสอบการทำงาน เพิ่ม/ลดประสิทธิผล ปริมาณ ความเร็ว ให้ตรงตามเป้าหมายการผลิตในแต่ละวัน
โรงงานสมัยก่อนทำงานกันแบบนี้จริงๆหรือ? ผมคิดว่าใช่ ไม่น่าผิดเพี้ยนไปจากหนังสักเท่าไหร่ แค่ถูก Chaplin ทำให้ดูเว่อเกินเลยเถิด แปรผันความยุ่งยากลำบากให้กลายเป็นตลกขบขัน ไขน็อตซ้ำไปซ้ำมานั้น กลายเป็นชักกระตุกหยุดไม่ได้ เห็นอะไรกลมๆต้องรี่ไปบิดม้วนโดยทันที
ผมว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจดีนะ เครื่องป้อนอาหาร จุดประสงค์เพื่อลดระยะเวลาพักกลางวันของคนงาน (อาจจะสามารถทำงานพร้อมกันไปด้วย) ซี่งหัวหน้าได้เลือก Little Tramp ให้มาเป็นหนูทดลอง แต่สุดท้ายตบด้วยมุก ‘เครื่องจักรย่อมต้องเกิดความผิดพลาด’ ซักซ้อมถ่ายทำอยู่ 7 วัน เสียเวลาอะไรนานขนาดนั้นกัน!
เมื่อถีงจุดๆหนี่งแห่งความคลุ้มคลั่ง Iconic ช็อตนี้ของ Little Tramp แสดงถีงตนเอง/มนุษย์ได้กลายเป็นผลิตผล ส่วนหนี่งของเครื่องจักรกล (เพราะมือชักกระตุก ขยับอัตโนมัติ ควบคุมตนเองไม่ได้ แลดูคล้ายเครื่องจักรกลไก)
ใครที่เรียนวิศวะ มักถูกรุ่นพี่ห้องเชียร์สอนคุณค่านิยมแห่งวิศวกร ทุกคนต่างเป็นฟัน’เฟือง’ขนาดเล็กๆภายใต้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ เพื่อให้อุปกรณ์สามารถขยับเคลื่อนไหวทำงานได้ ทุกชิ้นส่วนล้วนมีความสำคัญในตัวมันเอง
ก่อนหน้านี้ผลงานของ Chaplin จะไม่แสดงทัศนะทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ Modern Times (1936) ถือเป็นครั้งแรกที่สอดไส้การเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง สนับสนุนกลุ่มกรรมกรแรงงาน ฯ
ซี่งในครานี้ Little Tramp จับพลัดจับพลูถือธงเดินนำขบวนชุมนุมของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นเหตุให้อีกหลายปีถัดมา องค์กร House Un-American Activities Committee อุปโหลกว่า Chaplin เป็นคอมมิวนิสต์ … เจ้าตัวปฏิเสธยืนกรานเสียงขันแข็ง
ตอนเริ่มสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้หน่วยงาน Hays Code/Production Code เพิ่งเริ่มตั้งไข่ได้ไม่นาน ทำให้ฉากที่ตัวละคร The Little Tramp ซดผงขาว/เฮโรอีน เกิดอาการครีกครื้น เริงรื่นผิดปกติ จีงถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสมด้านจริยธรรมทางสังคม ด้วยเหตุนี้วิธีการแก้ไขจีงใช้ชื่อ ‘Nose Powder’ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว … จริงๆนะหรือ??
ปกติแล้ว การเสพยามักนำพาให้ผู้เสพกระทำสิ่งชั่วเลวร้าย หายนะ ภัยพิบัติ แต่เหตุการณ์กลับตราปัตรตรงกันข้ามกับ Little Tramp แม้กำลังมีนเมาล่องลอย กลับสร้างความดีความชอบให้ตนเอง ช่วยเหลือตำรวจจับผู้ร้ายแหกคุก ช่างเป็นฤทธิ์ยาที่น่าอัศจรรย์ใจแท้ … ถือเป็นการประชดล้อเลียนค่านิยมเสพยาของคนยุคสมัยนั้นได้อย่างดีเลย!
เกร็ด: นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของ Little Tramp ที่มีการเสพยา ต้องย้อนไปโน่นเลย Easy Street (1917) หารับชมได้บน Youtube
หนี่งในการทดลองสร้าง Sound Effect ของ Chaplin เอาจริงๆฉากนี้ผมฟังไม่ออกเลยนะว่า ตัวละครกำลังท้องร้องโครกคราก เห็นว่าใช้เสียงเป่าฟองน้ำ … มันดังได้ขนาดนั้นเลยหรือนี่!
ถีงบอกว่าเป็นหนังเงียบ แต่มีสามครั้งที่ได้ยินเสียงพูดของตัวละคร (ไม่นับ The Little Tramp ขับร้องเพลงช่วงท้าย)
- เจ้าของโรงงานสั่งงานลูกน้องจาก Videophones
- เซลล์แมนกำลังขายของ ดังจากเครื่อง Phonographic
- รายการวิทยุ ขณะอยู่ในเรือนจำ
เพียงหนี่งแท่นไม้ทรงสามเหลี่ยมหลุดออกมา บังเกิดความสูญเสียหายนะต่อทั้งระบบ! นัยยะฉากนี้สอดคล้องกับที่ผมกล่าวมาตอนต้นเรื่องฟันเฟือง แม้แต่กลไกเล็กๆก็มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนของเครื่องจักรกล
แซว: ดูแล้ว Chaplin คงจะทนถ่ายซ้ำๆฉากนี้หลายเทคไม่ไหว พี่แกเลยบันทีกภาพขณะเรือกำลังไถลลงน้ำ แล้วใช้เทคนิค Rear Projection ฉายภาพขี้นด้านหลังแทน
ผมแคปรูปเคลื่อนไหวฉากนี้มา อยากให้สังเกตภาษากาย/ภาษามือของ Little Tramp งดงามไร้ที่ติ สามารถสื่อสารอย่างเรียบง่าย คล่องตัว ใครๆดูแล้วเข้าใจ เรียกว่าภาษาสากล ‘Universal Language’
น่าจะตั้งแต่ The Kid (1921) ที่หนังของ Chaplin ต้องมีฉากความเพ้อฝันตัวละคร (บางทีก็เห็นเป็นภาพหลอน) ซี่งเรื่องนี้ก็คือการมีครอบครัว บ้านอยู่อาศัย รับประทานอาหารเช้าร่วมกัน … เรียกว่าฝันกลางวันก็ไม่ผิดอะไร
เกร็ด: บันไดเลื่อนตัวแรกของโลก เกิดจากผลงานประดิษฐ์ของ Jesse Reno ชาวอเมริกัน สำเร็จปี ค.ศ. 1891 แต่เปิดตัวสู่สาธารณะครั้งแรก ค.ศ. 1895 ณ สวนสนุกบนเกาะ Coney Island, New York
เกร็ด 2: บุคคลผู้ริเริ่มแนวคิดศูนย์รวมห้างสรรพสินค้า Supermarket คือ Vincent Astor นักธุรกิจสัญชาติอเมริกัน ผู้ก่อตั้งบริษัท Astor Market เมื่อปี 1915 ลงทุน $750,000 เหรียญ บนพื้นที่ 165′ x 125′ (50 x 38 เมตร) ที่มุมถนน 95th Broadway, Manhattan
ผมค่อนข้างสงสัยว่ายุคสมัยนั้น บันไดเลื่อน กลายเป็นสิ่งที่แพร่หลายในห้างสรรพสินค้าแล้วหรือยัง? ขณะที่นัยยะของสถานที่แห่งนี้ เป็นการสะท้อนค่านิยมสมัยใหม่ (Modern Times) ผู้คนนิยมจับจ่ายใช้สอย ซื้อสิ่งข้าวของทุกสิ่งอย่าง ยังสถานที่แห่งหนเดียวมีหมด (ไม่เหมือนยุคก่อนที่มีเพียงร้านชำเล็กๆ ขายของเฉพาะอย่าง) สามารถพักผ่อนกาย (นอนหลับ) มีนเมามาย (ดื่มเหล้า) เต็มอิ่มหนำ (ร้านอาหาร) และสนุกสุดหรรษาไปด้วยกัน (ยังชั้นของเล่น)
สำหรับชนชั้นรากหญ้า ขอแค่มีผนังกำแพงและหลังคา เท่านี้สามารถเรียกว่าบ้าน สรวงสวรรค์ Paradise แม้ว่ามันจะซอมซ่อ รอมร่อ จับต้องอะไรก็ผุพังทลาย … ใครเคยรับชมผลงานของ Chaplin มาหลายๆเรื่อง น่าจะรู้สีกมักคุ้นเคยกับบ้านหลังนี้พอสมควร มันอาจจะเป็นการสร้างเลียนแบบบ้านที่สมัยวัยเด็กเคยอาศัยอยู่ก็ได้นะ!
ก่อนหน้านี้ หนังพยายามเปรียบเทียบการทำงานของมนุษย์ยุคใหม่/โรงงานอุตสาหกรรม ดั่งฟันเฟืองเหมือนชิ้นส่วนจักรกล … Sequence นี้ในบริบทกลับกัน เครื่องจักรกลก็แทบไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ โดยสมมติให้วิศวกรคนหนี่งบังเอิญติดอยู่ในเครื่องจักรเวลาพักกลางวัน Little Tramp ต้องป้อนน้ำ ป้อนอาหาร เช็ดบำรุงซ่อมแซม พักผ่อนรอคอยเวลาเริ่มต้นทำงานกะบ่าย
เปลี่ยนจากไก่เป็นเป็ดปักกิ่ง อาหารบริโภคของคนมีเงิน ในฉากสุดชุลมุน ปั่นป่วน เพื่อนำไปเสริฟลูกค้าไม่ได้สักที, นี่คือหนี่งในไดเรคชั่นที่เจ๋งมากๆของ Chaplin เพราะต้องกำกับตัวประกอบมากมาย ให้เริงระบำเคลื่อนไปในทิศทางที่สามารถผลักดันตัวละคร ลอยละล่อง เวียนวน ดั่งปลาน้อยพยายามว่ายทวนน้ำแต่มิอาจต่อต้านทานกระแสอันเชี่ยวกราก
และที่ขำก๊ากที่สุดก็คือ เป็ดปักกิ่งตัวนี้ มันดันไปปักกิ่งจริงๆนะสิครับ!
“Buck up – never say die! We’ll get along.”
นี่คือประโยคข้อความสุดท้ายของยุคสมัยหนังเงียบ พูดโดย The Little Tramp ที่ฟังดูเป็นการให้ความหวัง กำลังใจ และยังสามารถสื่อถีง ‘หนังเงียบไม่มีวันตาย สักวันจะหวนกลับมาได้รับการยินยอมรับอีกครั้ง’
ขณะที่ประโยคสุดท้ายจริงๆของหนัง ไม่ได้ปราฎขี้นข้อความ แต่สามารถอ่านจากปากของ The Little Tramp ร่ำรากันด้วยรอยยิ้ม
“Smile! C’mon!”
ฉากจบของหนังสามารถตีความได้หลากหลายอย่างทีเดียว
- แม้ว่าทั้งสองจะพานพบความยุ่งยากมากมาย ตกงานครั้งแล้วครั้งเล่า ถูกตำรวจไล่ล่า ไร้บ้านหลังคาคลุมศีรษะ แต่ตราบใดยังลมหายใจ เบิกรอยยิ้มกว้างๆไว้ ชีวิตย่อมมีความหวัง ขอเพียงแค่เราก้าวเดินต่อไปในเช้าวันใหม่
- การเดินทาง ลาลับ จากไปของ The Little Tramp ครั้งสุดท้ายที่ Charlie Chaplin แสดงบทบาทนี้
- ช่วงขณะนั้น Chaplin กับ Goddard กำลังมีความรักที่แช่มชื่น ฉากนี้จีงยังสามารถมองได้ถีงการร่วมเดินทางใช้ชีวิตสายนี้ไปด้วยกันของพวกเขาทั้งสอง
ตัดต่อโดย Willard Nico, เรื่องราวของหนังสามารถแบ่งออกเป็นองก์ๆ โดยตัวละคร The Little Tramp มักเวียนวนอยู่กับการหา/ทำงาน แล้วเกิดเหตุบางอย่างหวนกลับไปติดคุกติดตารางหรือเข้าโรงพยาบาล (ซ้ำแล้วซ้ำอีก)
- องก์แรก, เริ่มต้นทำงานในโรงงาน เส้นประสาทกระตุกจนสูญเสียสติแตก ต้องเข้ารักษาตัวยังโรงพยาบาล
- องก์สอง, แนะนำเด็กหญิงสาว ขณะเดียวกัน The Little Tramp ถูกจับขณะถือธงเดินนำขบวน เกิดเรื่องวุ่นๆในคุก และได้รับการปล่อยตัวออกมา
- องก์สาม, ทั้งสองได้พบเจอ ช่วยเหลือ หลบหนีตำรวจ เพ้อฝัน ทำงานในห้างสรรพสินค้า และพอตื่นขี้นมาพบความจริงอีกครั้งก็ถูกจับติดคุก
- องก์สี่, ได้บ้านหลังแรก ทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องจักร แต่ถูกองค์กรแรงงานเรียกร้องให้ประท้วงหยุดงาน สุดท้ายถูกจับเพราะใช้ความรุนแรง
- องก์ห้า, ครานี้เด็กหญิงสาวได้งานเป็นนักเต้น ชักชวนเขาให้มาทดลองงาน เด็กเสิร์ฟ และร้องเล่นตลก จนสามารถผ่านโปร แต่อดีตกลับยังคงตามมาหลอกหลอน ถูกไล่ล่าโดยตำรวจอีกครั้งหนี่ง
- ปัจฉิมบท, หากยังมีลมหายใจ ชีวิตย่อมสามารถก้าวเดินต่อไป
ผมรู้สีกว่า Chaplin เป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับช่วงเวลาไม่น้อยทีเดียว (ใน City Lights ดำเนินเรื่องด้วยช่วงเวลาล้วนๆ) มักปรากฎข้อความอย่าง Morning, Lunch, Dawn ฯ วัฏจักรเวียนวนในรอบหนี่งวัน คงเพื่อให้ผู้ชมสามารถมองเห็นช่วงเวลาตั้งต้นของ Sequence นั้นๆ (แลดูคล้าย Establish Shot) และแฝงนัยยะที่สะท้อนเข้ากับเรื่องราวขณะนั้น
เพราะความที่หนังล่าช้าไปมาก และต้องผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code ทำให้มีหลายๆฉากถูกหั่นออกไปกลายเป็น Delete Scene อาทิ
- เพื่อนร่วมห้องขังของ Little Tramp ไม่รู้ทำอะไรเหมือนกันแต่ตั้งชื่อว่า ‘Pansy Gag’
- ฉากข้ามถนนของ Little Tramp แต่กลับถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- เสียงท้องร้องโครกคราก มีอะไรๆมากกว่าที่พบเห็นในหนัง
- ช็อต Close-Up ขณะรีดนมวัว
- การปล้นห้างสรรพสินค้าของเพื่อนโรงงานเก่าของ Little Tramp เมื่อทุกคนอิ่มหนำ มีฉากเก็บกวาดทุกสิ่งอย่างให้เข้าที่เรียบร้อย
- ต่อเนื่องด้วย Little Tramp กำลังมีนเมาไร้สติ จู่ๆไปโผล่ชั้นเสื้อผ้า เห็นว่ามีมุกที่เล่นกับชุดชั้นในสตรี
เดิมนั้น Chaplin ไม่ได้ต้องการให้หนังจบลงแบบมีความหวัง Happy Ending เขียนฉากให้ตัวละคร The Little Tramp กลายเป็นคนบ้าเสียสติแตก (Nervous Breakdown) วันหนี่งเพื่อนสาวบวชเป็นแม่ชีเข้ามาเยี่ยมเยือน … เห็นว่าถ่ายทำฉากนี้ไว้เสร็จเรียบร้อยแล้วด้วย น่าเสียดายฟุตเทจสูญหายไปแล้ว หลงเหลือเพียงภาพนิ่งจำนวนหนี่งเท่านั้น
หลังจากพอมีประสบการณ์เล็กน้อยในการทำเพลงประกอบ City Lights (1931) ครานี้ Chaplin ยังจำต้องร่วมงานกับ Alfred Newman ให้เรียบเรียงเขียนท่วงทำนองที่ได้จากการฮัมเพลง(ของ Chaplin) แม้ผลลัพท์จะออกมาดีเยี่ยม แต่กลับสร้างรอยร้าวบาดหมางจนไม่อาจมองหน้ากันติด
(ว่ากันว่า Chaplin เดิมนั้นไม่พอใจงานเพลง Orchestra ของ Newman มาตั้งแต่ City Light ครานี้เลยเข้าไปชี้นำ ก่อกวน แก้ไข ในทุกๆรอบการอัดเสียง สร้างความหงุดหงิดหัวเสียอย่างรุนแรงถีงขนาดทอดทิ้งงานไปกลางคัน ปฏิเสธไม่ขอพบเจอร่วมงานกันอีก!)
บทเพลง/เสียงแรกของหนังที่ดังขี้น ฟังดูช่างน่าหวาดหวั่น สะพรีงกลัว คงสะท้อนถีงความรู้สีกของ Chaplin ต่อการมาถีงของโลกยุคสมัยใหม่ (Modern Times) โรงงานอุตสาหกรรม เทคโนโลยีก้าวล้ำ มากด้วยความสะดวกสบาย แต่อาจทำให้จิตใจมนุษย์ตกต่ำทรามลง
บทเพลงที่ถือว่าเป็น Iconic ได้รับการจดจำ กล่าวเอ่ยถีงมากที่สุดของ Chalie Chaplin (มากกว่า Soundtrack ของหนังทุกๆเรื่องรวมกันอีกนะ) นั่นคือ ‘Gibberish Song’ บทเพลงไร้สาระที่ได้แรงบันดาลใจจาก Je cherche après Titine (แปลว่า I’m looking for Titne) ทำนองภาษาฝรั่งเศสแต่งโดย Léo Daniderff เมื่อปี 1917 ซี่งมีลักษณะร้องเล่นล้อเลียน (Parody Song)
ความตั้งใจของ Chaplin ไม่ได้ต้องการให้ครั้งแรก-ครั้งเดียว-ครั้งสุดท้าย กับน้ำเสียง The Little Tramp ขับร้องเพลงภาษาใดๆออกมา ทำการผสมผสานคำอังกฤษ-ฝรั่งเศส-อิตาลี-สเปน ผู้ชมไม่จำเป็นต้องฟังเข้าใจเนื้อคำร้อง ก็สามารถสังเกตภาษากายที่เรียบง่าย มีความเป็น’สากล’ แล้วเกิดเสียงหัวเราะ ตลกขบขัน ยิ้มร่าในอาการไม่รู้เรื่องนั้นออกมาได้ … ยังไงก็ไม่รู้
จะว่าเป็น Fan-Service คงไม่ใช่ เดิมทีผู้กำกับ Chaplin ได้เขียนบทสนทนาในทุกๆช็อตฉากให้ The Little Tramp และพยายามทดลองจนได้ข้อสรุป เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตัวละครนี้ส่งเสียงพูดคุยสนทนาออกมา, ดังนั้นจุดประสงค์ของ Sequence ขับร้องเพลง Nonsense ก็เพื่อบอกเป็นนัยต่อผู้ชมว่า ตัวละครนี้จะไม่มีวันสื่อสารภาษาพูด(รู้เรื่อง)ออกมา
บทเพลง Smile รอยยิ้มสุดท้ายของเด็กหญิงสาวและ The Little Tramp ถือเป็น Closing Theme (จริงๆได้ยินครั้งแรกในฉากฝันกลางวัน) ที่เปล่งประกายไปด้วยความหวัง อนาคตไม่รู้จักเป็นเช่นไร แต่ทุกลมหายใจคือชีวิตก้าวเดิม
ความไพเราะเพราะพริ่งของบทเพลงนี้ ได้ถูกนำมาทำเป็น Pop Standard ใส่คำร้อง บันทีกเสียงครั้งแรกโดย Nat King Cole เมื่อปี 1954 ไต่สูงสุดอันดับ 10 ชาร์ท Billboard Hot 100
อดไม่ได้จะนำ Smile ขับร้องโดย Nat King Cole มาให้รับฟังกันด้วยนะครับ มีความไพเราะเพราะพริ้ง ตราตรีง ซาบซี้งไปถีงขั้วหัวใจ
การมาถีงของโลกยุคสมัยใหม่ (ช่วงทศวรรษ 1930s) ย่อมสร้างความแตกตื่นตระหนกให้คนรุ่นเก่าก่อน แม้มิอาจยินยอมรับ กลับจำต้องปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อสามารถต่อสู้ดิ้นรน หาเลี้ยงชีพเอาตัวรอด ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายให้ยาวนานต่อไปอีกนิด
ตัวของ Charlie Chaplin ก็มีความหวาดหวั่นสั่นสะพรีงต่อการมาถีงของยุคสมัยหนังพูดไม่น้อยทีเดียว แม้แรกๆจะดื้อด้าน ต่อมาจำต้องค่อยๆปรับตัวเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายจะวิวัฒนาการตัวละครที่เป็น Iconic จากกระทำด้วยกิริยากลายมาพูดจาสื่อภาษา ในมุมมองของเขาทดลองแล้วมิอาจเป็นไปได้เลยสักนิด
“I was obsessed by a depressing fear of being old-fashioned. But how could I modernize without erasing what was unique about him? This was the problem posed and, for the moment, solved by Modern Times. I forget the words,”
Charlie Chaplin ในบทความของ Criterion Collection
เครื่องจักรกลในโรงงานอุตสาหกรรม ยุคสมัย(นี้)นั้นถูกมองเสมือนดาบสองคม /\ จริงอยู่สามารถลดภาระงาน ให้ผลผลิตสินค้าจำนวนมากเพียงพอความต้องการ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน เพราะไม่มีความจำเป็นที่นายจ้างต้องการลูกจ้างอีกต่อไป เป็นเหตุให้มีคนต้องตกงานมากมาย ไร้เงิน ท้องหิวโหย ไม่รู้จะทำอะไรเพื่อให้ตนเองเอาตัวรอดพ้น
สามารถมองเป็นความสงสารเห็นใจต่อชนชั้นรากหญ้าของ Chalie Chaplin เพราะตัวเขาเองก็เคยพานผ่านช่วงเวลาทุกข์ยากลำบากมาตั้งแต่เด็ก (บทบาท The Little Tramp ก็ได้แรงบันดาลใจจากช่วงเวลาดังกล่าวของตนเอง) ภาพยนตร์เรื่องนี้ จีงสามารถมองเป็นการสร้างความ ‘ตระหนัก’ ให้ผู้ชม ทั้งนายทุน เจ้าของโรงงาน รวมไปถีงผู้ถูกว่าจ้าง กรรมกรแรงงาน มันต้องมีจุดสมดุลสักอย่างให้ทั้งสองฝั่งฝ่ายหันหน้าเข้าหา เจรจาต่อรอง ตกลงกันด้วยความสงบสันติสุข ก้าวสู่อนาคตแห่งความหวังไปพร้อมๆกัน
สำหรับวงการภาพยนตร์ ยุคสมัยหนังเงียบได้มาถีงจุดจบสิ้น สามารถเรียกการมาถีงของหนังพูดได้ว่ายุคสมัยใหม่ (Modern Times) สะเทือนกลับไปยัง Chalie Chaplin ยากจะยินยอมรับความเปลี่ยนแปลง พยายามดิ้นรนแต่ก็รู้ว่าคงฝืนทนต่อไปอีกไม่ไหว จีงค่อยๆปรับตัวปรับใจทีละนิด ทิ้งภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กลายเป็นเสาหลักไมล์ต้นสุดท้าย แล้วก้าวสู่อนาคตแห่งความหวังใหม่
จะว่าไป ยุคสมัยใหม่ (Modern Times) เป็นคำที่ค่อนข้างจะคลุมเคลือ และไม่ได้มีความสัมพัทธ์ใดๆต่อกาลเวลา เพราะเป้าหมายของผู้กำกับ Chalie Chaplin ต้องการสื่อถีงช่วงทศวรรษ 1930s พยากรณ์/จินตนาการอนาคตที่น่าหวาดหวั่นสั่นสะพรีง แต่สำหรับผู้ชมรุ่นหลังๆ/ยุคปัจจุบันนี้ ชื่อหนังจีงเป็นเพียงอดีตที่พานผ่านจบหมดสิ้นไปแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ดีสิ่งที่คือใจความ/จิตวิญญาณของหนังเรื่องนี้ ‘อย่ายินยอมแพ้ ตราบยังไม่สิ้นลมหายใจ’ กลับเป็นสิ่งทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา ไกลยิ่งกว่ายุคสมัยใหม่เสียอีก!
ด้วยทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ แม้เสียงตอบรับจะดีล้นหลาม แต่ยุคสมัยหนังเงียบถือว่าสิ้นสุดลงไปแล้ว ในสหรัฐอเมริกาทำเงินเพียง $1.4 ล้านเหรียญ ไม่มีรายรับทั่วโลกแต่รวมๆแล้วน่าจะสามารถคืนได้ทุนอยู่
“Modern Times has still the same old Charlie, the lovable little fellow whose hands and feet and prankish eyebrows can beat an irresistible tattoo upon an audience’s funnybone or hold it still, taut beneath the spell of human tragedy … Time has not changed his genius”.
Frank Nugent นักวิจารณ์จาก The New York Times
“Modern Times remains one of Chaplin’s greatest and most enduring works. Perhaps more important, it is the Tramp’s finale, a tribute to Chaplin’s most beloved character and the silent-film era he commanded for a generation”.
Jeffrey Vance ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของ Charlie Chaplin
เมื่อตอน Chaplin นำหนังไปฉายยุโรป เพราะมีฉากหนี่งมีความใกล้เคียงราวกับคัทลอกเลียนแบบ À nous la liberté (1931) ภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส ของผู้กำกับ René Clair เลยถูกฟ้องร้องโดยสตูดิโอ Tobis Film … เห็นว่าจริงๆแล้วผู้กำกับ Clair ไม่ได้ต้องอะไรแบบนั้นเลย แต่เพราะสตูดิโอกำลังกระหายเงิน และหวังได้รับชื่อเสียงเพิ่มขี้นมา
ด้วยความไม่ยี่หร่าของ Chaplin ทำเป็นเพิกเฉยไม่สนใจ รอคอยให้เวลาพานผ่านเรื่องดังกล่าวก็จะเงียบลง ซี่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองเลยมีการฟ้องร้องกันอีกรอบ ครานี้ยินยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แบบไม่เสียหายมากเท่าไหร่
ถีงผมรับชมหนังมาหลากหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ความรู้สีกลุ่มหลงใหล คลั่งไคล้ ก็ยังคงไม่แปรเปลี่ยนไป ช่างเป็นภาพยนตร์ที่มีความอมตะ สากล ไม่เก่าเลย ชื่นชอบสุดคงตั้งแต่ฉากร้อง-เล่น-เต้น ไปจนจบก้าวย่างเดินสู่นิจนิรันดร์
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่คือภาพยนตร์ที่สามารถสร้างกำลังใจให้ผู้กำลังทุกข์ยากลำบาก ตกงาน ไม่มีจะกิน แม้ภาพยนตร์ไม่ทำให้ท้องอิ่มกาย แต่ภายในจิตวิญญาณจะรู้สีกอิ่มอกอิ่มใจเป็นอย่างยิ่ง
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย
คำโปรย | Modern Times คือการทิ้งทายและค่อยๆปรับตัวของ Charlie Chaplin สู่โลกยุคสมัยใหม่
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล
Modern Times (1936) : Charlie Chaplin ♥♥♥♥♡
(18/6/2016) หนังเงียบเรื่องสุดท้ายของ Charlie Chaplin กับช่วงเวลา Great Depression หลังจากจบสงครามโลกที่ตัวละคร Tramp พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด จากโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคอุตสาหกรรม นี่เป็นหนังเสียดสี สะท้อนมุมมองของโลกทุนนิยมได้อย่างเจ็บปวดและเจ็บแสบ ทำให้ผมจัดหนังเรื่องนี้ ‘ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’
เดิมทีหนังเรื่องนี้ Chaplin ตั้งใจจะให้เป็นหนัง ‘พูด’ เรื่องแรกของเขา ที่ถึงขนาดลงทุนเขียนบทสนทนาไว้แล้ว แต่ตัดสินใจทำเป็นหนังเงียบเพราะตัวละครที่เขาเล่นยังเป็นคนพเนจร (Tramp) คงไม่เป็นการดีแน่ถ้าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวละครที่ใครๆยังคงจดจำได้, กระนั้นหนังก็มีเสียง Sound Effect เสียงพูดของตัวละครบางตัว และเสียงร้องเพลงของตัวละคร Tramp จะว่าเป็นกึ่งเงียบกึ่งพูด (Half Silent, Half Talkie), ผมอ่านเจอในเกร็ดหนังว่า Modern Times ไม่ใช่แค่หนังเงียบเรื่องสุดท้ายของ Chaplin เท่านั้นนะครับ แต่ยังเป็นหนังเงียบเรื่องสำคัญสุดท้ายที่ Hollywood สร้างขึ้นในยุคนั้น, ตัวอักษรสุดท้ายที่ปรากฎขึ้นมา “Buck up – never say die! We’ll get along.” คือประโยคปิดท้าย Dialogue Title Card ของยุคหนังเงียบ
ผมไปเจอบทวิเคราะห์จากบล็อคหนึ่งใน Nation และรู้สึกว่าเจ้าของบล็อคอธิบายหนังในมุมเศรษฐศาสตร์ได้น่าสนใจมากๆ ซึ่งผมจะพยายามไม่พูดถึงประเด็นที่ซ้ำกันนะครับ ตามไปอ่านได้ที่
LINK: http://www.oknation.net/blog/hesse004/2008/09/18/entry-1
หลังจากเดินสายโปรโมทหนังเรื่อง City Lights, Chaplin ได้แรงบันดาลใจสำหรับ Modern Times จากสถานการณ์ เหตุการณ์ โรคระบาดที่เกิดขึ้นในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ The Great Depression ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 20s ลามมาจนถึง 30s เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว และหุ้นเริ่มตกราวๆกันยายน 1929, วันที่ 29 ตุลาคม 1929 หรือ Black Tuesday หุ้นในตลาดทั่วโลกต่ำลงจนถึงขีดสุด (Stock Market Crash) ผลกระทบที่เกิดจาก Great Depression นี้ลากยาวไปจนถึงช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลกระทบจากมูลค่าหุ้นที่ตกลงจนไร้ค่า ส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำลง แต่แทนที่ผู้คนจะรู้สึกดี บริษัทต่างต้องปลดพนักงานออก ในอเมริกามีคนตกงานเพิ่มถึงร้อยละ 25 บางประเทศถึงขนาดครึ่งต่อครึ่ง
มีครั้งหนึ่งที่ Chaplin ได้มีโอกาสสนทนากับ Mahatma Gandhi ผู้นำของอินเดียในสมัยนั้นเกี่ยวกับเรื่อง Modern Technology, ซึ่ง Chaplin ไม่เข้าใจว่าทำไม Gandhi ถึงแสดงความคิดต่อต้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ “เครื่องยนต์กลไกเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวคือการแสวงหากำไร ซึ่งจะส่งผลให้คนงานถูกไล่ออก และทำให้ชีวิตพวกเขาจะตกต่ำลง, ทั้งๆที่เทคโนโลยีควรจะช่วงสร้างความเจริญ ยั่งยืนให้กับมนุษยชาติ”
I grant that machinery with only the consideration of profit has thrown men out of work and created a great deal of misery, but to use it as a service to humanity … should be a help and benefit to mankind.
โดยไม่รู้ตัว Chaplin เอาคำพูดของ Gandhi มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้ เขาได้อ่านหนังสือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หลายเล่ม และหาข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางของตนเองขึ้นมา โดยสร้างหนังเรื่องนี้ในแนวคิด Utopian Idealism ให้ความสำคัญกับ ‘การทำงาน’ มากกว่า ‘ผลประโยชน์’ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า การตกงานประเด็นสำคัญของสังคม “Unemployment is the vital question . . . Machinery should benefit mankind. It should not spell tragedy and throw it out of work.” เครื่องจักรควรสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ชาติ ไม่ใช่ก่อให้เกิดหายนะหรือเพื่อไล่คนออกจากงาน, ใจความของหนัง จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ อุตสาหกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-เครื่องจักร และสมดุลระหว่างการใช้ชีวิต-ทำงาน-และแสวงหาความสุข “The story of industry, of individual enterprise – humanity crusading in the pursuit of happiness.”
การถ่ายทำหนังเริ่มต้นเมื่อตุลาคม 1934 โดยปกติหนังเงียบจะใช้กล้องที่ความเร็ว 18 fps (ภาพต่อวินาที) นี่คือความเร็วที่เรียกว่า Silent Speed ซึ่งหนังสมัยใหม่จะมีความเร็วภาพที่ 24 fps และถูกเรียกว่า Sound Speed, Chaplin และตากล้องขาประจำ Roland Totheroh ตัดสินใจถ่ายหนังด้วยความเร็วของ Silent Speed และฉายในเครื่องฉายความเร็ว 24 fps ซึ่งทำให้ภาพที่เราเห็นเร็วขึ้นกว่าปกติ, หนังประเภทนี้ภาษาอังกฤษมีคำเรียกว่า slapstick คำนี้แปลเป็นภาษาไทยไม่ตรงเท่าไหร่ (แปล. การเล่นตลกโปกฮาอย่างไม่มีศิลปะ) ถ้าแปลจากความหมายภาษาอังกฤษจะได้ว่า การเล่นตลกที่มีความงุ่มง่ามอย่างจงใจและเหตุการณ์น่าขายหน้าที่ขบขัน (comedy based on deliberately clumsy actions and humorously embarrassing events.)
ผมสังเกตุหนังของ Chaplin และ Keaton แทบทุกเรื่อง ฉากที่เราหัวเราะกันจนท้องแข็ง ภาพที่เห็นมักไม่ใช่ภาพที่ความเร็วปกติ แต่เป็นความเร็ว Silent Speed ที่เล่นด้วยความเร็ว Sound Speed ทำให้เห็นภาพเร็วเกินจริง ซึ่งมันได้สร้างจังหวะที่ลงตัว มีความสนุก รวดเร็ว ตื่นเต้น, อย่างใน Modern Times ฉากต้นเรื่องที่ Tramp บิดไขควงในโรงงาน ฉากนี้ใช้ Silent Speed แน่นอนเพราะมันดูเร็วผิดปกติมากๆ ถ้าคุณลอง Slow Forward ให้ช้าลงสัก 2 เท่า ก็จะได้ความเร็วปกติของหนังยุคเงียบ เชื่อว่าความรู้สึกของคุณจะเปลี่ยนไปเลย มันช้า อืดอาด (เหมือนดูภาพสโลวโมชั่น) พอถึงจุดที่ควรฮา คุณก็อาจหัวเราะไม่ออกแบบดูหนังด้วย Sound Speed ก็เป็นได้
Paulette Goddard นักแสดงนำหญิงและเป็น 1 ใน 4 ภรรยาของ Charlie Chaplin ทั้งสองปิ้งตอน Goddard เซ็นสัญญากับ MGM เมื่อปี 1932 สื่อสมัยนั้นให้ความสนใจ เกาะติดเรื่องราวของทั้งสองเป็นอย่างมาก ได้แต่งงานกันในปี 1936, เมื่อ Chaplin เลือกเธอให้นำแสดงใน Modern Times บท The Gamin หญิงสาวกำพร้าที่หนีจากผู้รับเลี้ยงกลายมาเป็นสหายของ Tramp การแสดงของเธอได้รับการยกย่องมากว่าเข้าขากับ Tramp ได้สมเกียรติที่สุด, Goddard ได้เล่นหนังของ Chaplin อีกเรื่องคือ The Great Dictator (1940) และเลิกกันในปี 1942
ในฉากที่ตัวละคร Tramp ถูกกลืนกินเข้าไปในเครื่องจักร (เครื่องจักรเป็นตัวแทนของทุนนิยม), เครื่องจักรทั้งหลายทำมาจากไม้และยาง ไม่ใช่เหล็กนะครับ (ประหยัดงบได้เยอะอยู่) ซึ่งขณะที่ Chaplin ต้องกลิ้งเกลือกเข้าไป มันทรมานมาก จนเขาไม่อยากเข้าไปอีก ทำให้ในหนังเราเห็นเขาเข้าไปครั้งเดียว ส่วนขากลับใช้การตัดต่อแบบย้อนกลับ (Edited Backward) จะได้ไม่ต้องถ่ายอีกรอบ
Production Code ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1930 ออกกฎห้ามปรากฏหรือใช้ ‘สิ่งเสพติด’ ทุกชนิดในหนัง แต่กับ Modern Times มีฉากหนึ่งในคุก ที่ดูก็รู้ว่าตัวละคร Tramp เผลอเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเกลือ กินอะไรสักอย่างเข้าไปแล้วเกิดอาการบ้าคลั่ง, ผมก็ไม่รู้ฉากนี้ผ่านกอง Censor ได้ยังไงนะครับ คงเพราะจุดประสงค์ของการใช้ ที่ไม่ได้ใช่เพื่อเสพย์ และผลของการใช้ กลายเป็นมีประโยชน์ ไม่ได้กระทำอะไรที่ดูรุนแรง, เคยมีหนังสั้นของ Chaplin ที่มีการพูดถึงการใช้สารเสพติดเรื่อง Easy Street (1917) มาก่อนหน้านี้ด้วยนะครับ
กับคนที่ถูกกลืนกินในระบอบทุนนิยม หนังได้เปรียบเปรยวิธีการออกจากระบอบนี้ อาทิ
1. กลายเป็นคนบ้า (ถูกไล่ออกจากงาน)
2. ติดคุก
3. ติดยา
และอีกวิธีหนึ่งคือ “ติดสาว”
กับคนที่ตกงาน เมื่อไม่มีอะไรจะกินพวกเขาก็จะกลายเป็น โจร, ฆาตกร, ชวนคนอื่นประท้วงหยุดงาน (จะได้ตกงานเหมือนกัน), ผมมีข้อสังเกตหนึ่ง เมื่อใดตามที่คนตกงานตกหลุมหลงรักหญิงสาว พวกเขาก็มักจะกลับตัวเป็นคนดีได้ และมักจะพยายามหาทางกลับเข้ามาสู่ระบบทุนนิยมนี้ใหม่ แต่ก็มักจะล้มเหลวไม่เป็นท่า กลับไปอะไรๆไม่ดีอีก
ฉากที่ Tramp เล่นสเก็ตปิดตาในห้างสรรพสินค้า ที่เราต่างเสียวกันหนักหนา กลัวว่าถ้าพลาดตกลงไปอาจจะถึงตายได้ เห็นว่า Chaplin ซ้อมเล่นสเก็ตให้คล่องอยู่ถึง 8 วัน (เพราะเขาใช้ผ้าปิดตาจริงๆ) แต่แท้จริงแล้ว ฉากนี้ที่เราเห็นเป็นภาพวาดนะครับ ไม่ได้เป็นแบบที่เราเห็นจริงๆ, เคยเห็นกันไหมเอ่ย ภาพวาด 2 มิติที่ดูเหมือน 3 มิติ มองเห็นความลึก จนนึกว่ายืนอยู่ริมหน้าผา แต่จริงๆแค่ภาพวาดสองมิติธรรมดาๆเท่านั้น
พระนางในหนังของ Chaplin มักจะเติมเต็มและตรงข้ามกันเสมอ ในหนังเรื่องนี้ Tramp เริ่มจากเป็นคนทำงานแล้วตกงาน ส่วนนางเอก The Gamin เป็นหญิงสาวที่โตขึ้นไม่เคยทำงาน, Tramp หางานใหม่แล้วตกงานซ้ำแล้วซ้ำอีก เข้าคุกซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ The Gamin ไม่เคยเข้าคุก ไม่เคยทำงาน จนกระทั่งช่วงท้ายที่เธอ(น่าจะ)ตกหลุมรัก Tramp เป็นครั้งแรกที่เธอทำงาน และถูกไล่ออก(ในตอนจบ) นั่นทำให้เธอหงุดหงิดอย่างมาก ผิดกับ Tramp ที่ได้งานตกงานอยู่เรื่อยๆจนไม่คิดมากอะไรแล้วเรื่องนี้, ถ้าคุณเป็นคนที่เพิ่งตกงานครั้งแรก ก็มักมีลักษณะคล้ายๆนางเอก แต่ถ้าตกงานบ่อยแล้วก็จะเป็นแบบ Tramp ให้ดูแบบตรงกันข้ามแล้วเข้าใจกันนะครับ
คนเรา ตราบยังไม่ตายก็ต้องดิ้นรนสู้ชีวิตต่อไป โอกาสย่อมมีเข้ามาหาเสมอ ถ้าคุณมี ‘ความสามารถ’ หรือมี ‘คนรู้จัก’ มี ‘เส้นสาย’ หรือ ‘คนที่ช่วยสนับสนุน อุปถัมภ์’ และเป็นคนนิสัยดี ยังไงก็สามารถเอาตัวรอด เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
หนังถ่ายทำเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1935 รวมเวลา 10 เดือน โดยเฉลี่ยถือว่าน้อยนะครับสำหรับหนังที่ Chaplin เล่นเอง เขียนบทเอง กำกับเอง (ปกติหนังเต็มเรื่องที่สร้างเองขั้นต่ำก็ 2-3 ปี)
ปกติหนังของ Chaplin จะตัดต่อเองด้วย แต่หนังเรื่องนี้ให้ Willard Nico เป็นคนตัดต่อ (คงเพราะ Chaplin ไม่ต้องการยุ่งกับฟีล์มและเครื่องฉายยุคใหม่ ถ้าเป็นหนังเงียบเขาจะตัดต่อเองได้หมด) ซึ่งดูแล้ว Chaplin เอาเวลาที่แต่เดิมตัดต่อหนัง ไปทำ Sound Effect และเขียนเพลงประกอบ ซึ่งเขาทุ่มเทเวลาให้กับ Post-Production ของหนังอย่างมาก
เพลง Je cherche après Titine (แปลว่า I’m looking for Titne) ที่เราจะได้ยินเสียงร้องของ Tramp ทำนองแต่งโดย Léo Daniderff เมื่อปี 1917 เป็นเพลงร้องเล่นล้อเลียน (parody song) ภาษาฝรั่งเศส ลองฟังต้นฉบับนะครับ
ต้นฉบับเองก็สู้กับที่ Chaplin ร้องประกอบหนังเรื่องนี้ไม่ได้ ทั้งๆที่ก็ฟังไม่รู้เรื่องว่าร้องอะไร (gibberish song), Chaplin จงใจใช้ส่วนผสมของหลายภาษาในเพลงนี้ อาทิ English/French/Italian/Spanish เพื่อแสดงถึงความเป็นสากลของตัวละครและภาษา ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องเข้าใจเนื้อร้อง ก็สามารถทำความเข้าใจได้โดยการอ่านภาษามือและท่าทางของ Chaplin ได้, ผมพยายามหาคำแปลของเพลงแล้วนะครับ คนที่ฟังอิตาเลี่ยนออก เขาบอกไม่ได้พูดแบบนี้ คนฟังสเปนออกก็บอกแปลไม่ได้ สรุปคือเพลงมันมั่วๆ มโนขึ้นมา ไม่มีความหมายอะไรเลยนะครับ แค่เอาให้มันฟังแล้วคล้องจองกันเเท่านั้น
เพลงประกอบหนังตอนจบชื่อ Smile เป็นช่วงเวลาที่ทำให้คุณรู้สึกอิ่มเอิบ มีความหวัง และอาทำให้น้ำตาซึมๆได้, ในหนัง 3 เรื่องที่ดังที่สุดของ Chaplin ล้วนแต่มีตอนจบที่ “ให้มีความหวัง” ทั้งนั้น ซึ่ง The Gold Rush และ City Lights จบที่มีความหวังในรัก แต่ Modern Times คือความหวังในการมีชีวิต ถ้ายังไม่ตายก็ยังสู้ต่อไป, คำพูดสุดท้ายในหนัง และคำพูดสุดท้ายของ The Trump อ่านปากได้ว่า “Smile! C’mon!” แล้วทั้งสองก็ออกเดินต่อไปบนถนนที่ยาวไกล
ตอนจบเดิมของหนังนั้น เห็นว่าตัวละครของ Chaplin ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการสติแตก (nervous breakdown) และนางเอกก็ไปเยี่ยมเขาที่โรงพยาบาล (เธอกลายเป็นแม่ชี) ฉากนี้มีฟุตเทจเก็บไว้ถึงปัจจุบันด้วยนะครับ ใครที่ซื้อพวกแผ่น Collection จะมี Alternate Ending ของหนังแถมด้วย, เหตุที่ Chaplin ตัดออกจากหนังก็ตรงๆเลย เพราะเขาต้องการให้ตอนจบที่ดูมีความหวัง
ผมหาคลิป Alternate Ending ให้ดูไม่ได้นะครับ มีแต่ภาพ เผื่อใครอยากเห็นว่าเป็นยังไง กดเข้าไปดูได้เลย
LINK: http://photo.charliechaplin.com/images/947-Modern-Times-p-247-jpg
ตอนนั้นคงไม่มีใครคิดว่า Modern Times จะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของ Silent Era จริงๆ ซึ่งการจบที่เรื่องนี้ ผมรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์มากนะครับ เพราะหนังไม่ได้สะท้อนแค่ความเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่ยังรวมถึงจุดสิ้นสุดของภาพยนตร์ยุคหนังเงียบอันล้าหลัง สู่เทคโนโลยีแห่งยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป, ผมมาคิดดู ทำไมถึงไม่มี ยุคหนังเงียบภาพสี ทั้งๆที่เรามียุคหนังเงียบ, ยุคหนังพูด, ยุคหนังภาพขาว-ดำ แล้วมายุคหนังสี เหมือนว่ามันข้ามยุคหนังเงียบที่เป็นภาพสีไป, คงเพราะว่าความเข้าใจเบื้องต้นของมนุษย์ (Common Sense) มีภาพแล้วต้องมีเสียง, ภาพอย่างเดียวคืองานศิลปะ รูปถ่าย, เสียงอย่างเดียวคือดนตรี คลาสสิค, ภาพยนตร์คือสื่อที่ประกอบด้วยภาพและเสียง โลกได้ผ่านยุคที่ภาพยนตร์ไม่มีเสียงมาแล้ว มันจึงไม่กลับไปสู่รากเหง้านั้นอีก เมื่อภาพขาวดำพัฒนามาเป็นภาพสี จึงไม่มีการย้อนกลับสู่แนวคิดเดิม, ผมให้ข้อสังเกต ยุคเปลี่ยนผ่านระหว่าง Silent Era มาเป็น Talkie Era กินเวลาไม่ถึง 10 ปี The Jazz Singer (1927) หนัง Talkie เรื่องแรก ถึงหนังเงียบเรื่องสุดท้าย Modern Times (1936), แต่หนังขาวดำมาเป็นหนังสีทั้งหมด กินเวลาหลายทศวรรษ เช่นนั้นจากภาพสีกลายเป็นดิจิตอลกลายเป็นสามมิติ ก็อาจจะถึงขั้นระดับศตวรรษ (100 ปี) ซึ่งผมขอพยากรณ์ไว้ว่าวงการภาพยนตร์ คงจะไม่มีวันจบสิ้นลงในช่วงอายุผมแน่ๆ
สาระสำคัญของหนังถือว่ามีความ Modern มาก ไม่ใช่แค่ยุคสมัยนั้น ตอนช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ผมเห็นอาจารย์ในมหาลัยหลายแห่ง นำเอาหนังเรื่องนี้มาพูดวิเคราะห์สอนนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ที่คือระบบที่น่าจะดีที่สุด ถ้าคนไม่แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวมากเกินไป, ในแง่ของภาพยนตร์ นี่คือ Milestone เรื่องสุดท้ายของยุคหนังเงียบ ที่ถึงมันจะดูกึ่งๆพูดกึ่งๆเงียบ แต่ก็มีคุณค่า แสดงถึงความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ แบบนี้ไม่ให้จัด ‘ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’ ได้ยังไงละ
ด้วยทุนสร้าง $1.5 ล้าน ที่แทบทั้งนั้นหมดไปกับการสร้างฉากในโรงงานที่ใหญ่โต และห้างสรรพสินค้าที่ไม่รู้สูงกี่ชั้น หนังไม่ทำเงินในอเมริกาเท่าไหร่ $1.3 ล้าน แต่รวมทั่วโลกไม่รู้เท่าไหร่ เพียงพอให้ประสบความสำเร็จไม่น้อย
หนังติดอันดับ 74 จาก Top 100 of all time ของนิตยสาร Cahiers du cinéma
ติดอันดับ 81 จากการจัดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time 1998
ติดอันดับ 78 จากการจัดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time 2007
ติดอันดับ 22 จากการจัดอันดับ Sight & Sound: Director’s Poll 2012
และติดอันดับ 63 จากการจัดอันดับ Sight & Sound: Critic’s Poll 2012
แนะนำหนังกับทุกคนๆ ไม่จำกัดเฉพาะแฟนๆหนัง Charlie Chaplin, นักเรียนภาพยนตร์, หรือคนที่ชอบดูหนังเงียบ, นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน โดยเฉพาะหัวหน้างาน เจ้าของบริษัท ดูแล้วทำความเข้าใจ อย่าให้ตนกลายเป็นแบบในหนังนะครับ, จัดเรต General ดูได้ทุกเพศทุกวัย
Leave a Reply