Momotaro’s Divine Sea Warriors (1945)
Anime Film : Mitsuyo Seo ♥♥♥♥
อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของญี่ปุ่น เป็นหนังประเภทชวนเชื่อของกองทัพเรือ (Propaganda) ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างโดย Mitsuyo Seo, เมื่อปี 2016 ได้รับโอกาสฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Cannes Classics (ปีเดียวกับสันติ วีณา) แนะนำอย่างยิ่งกับคนรักอนิเมะของญี่ปุ่น จะพลาดอนิเมชั่นเรื่องแรกไปได้ยังไง
Mitsuyo Seo (1911-2010) อนิเมเตอร์ นักเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น เขาเป็นคนกลุ่มแรกๆที่ได้มีโอกาสสัมผัส ทำงานกับเครื่อง Multi-plane Camera (กล้องที่ใช้ถ่ายภาพยนตร์อนิเมชั่นในยุคแรกๆ) นั่นทำให้ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Seo ได้รับมอบหมายให้สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อแก่กองทัพ, ครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือได้เปิด Fantasia (1940) ภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Disney ให้กับ Seo ได้รับชม และเสนอแนะให้เขาสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นที่มีลักษณะคล้ายๆกันนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างฝันให้กับเด็กๆ เรื่องราวที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังและสันติสุข (hope and peace), ซึ่งก่อนหน้าที่จะสร้าง Momotaro’s Divine Sea Warriors เขาได้สร้าง Momotaro’s Sea Eagles ออกฉายเมื่อวันที่ 25 มีนาคมปี 1943 ความยาว 37 นาที (หนังเรื่องนี้ไม่ถูกจัดเป็น Feature Length นะครับ เพราะภายหลังมีการกำหนดว่า ความยาวขั้นต่ำของภาพยนตร์ขนาดยาวคือ 40 นาที) ใน Youtube มีคลิปนี้อยู่ ใครสนใจคลิกดูได้เลย
Momotaro หรือ Peach Boy เป็นตัวละครจากเทพนิยายของญี่ปุ่น (Japanese folklore) เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายที่เกิดมาจากลูกท้อ ผู้เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ ซึ่งภายหลังได้เดินทางทางไปปราบปีศาจ (Oni) ที่เกาะ Onigashima พร้อมกับสัตว์สหายทั้งสามคือ สุนัข ลิง และนก (เรื่องราวของเทพนิยายเรื่องนี้ ได้ดำเนินอยู่ในช่วงรัชสมัยเอโดะของญี่ปุ่น)
สำหรับอนิเมชั่นเรื่องนี้ เด็กชาย Momotaro ได้กลายเป็นผู้นำเหล่าสรรพสัตว์ ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ต่อสู้กับผู้บุกรุกทางตะวันออกไกล (Far Eastern) เปรียบได้กับตอนเหตุการณ์ Pearl Harbor ซึ่งเป้าหมายของพวกเขาคือปีศาจที่เกาะ Onigashami ซึ่งก็คือ คนอเมริกันและทหารจากยุโรป ที่เข้ามารุกรานญี่ปุ่น
สำหรับ Momotarō: Umi no Shinpei หรือ Momotaro’s Divine Sea Warriors เป็นอนิเมชั่นเรื่องถัดมาของ Mitsuyo Seo ที่ยังคงได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงทหารเรือญี่ปุ่น (Japanese Naval Ministry) แต่คราวนี้เขาตั้งใจสร้างให้หนังยาวขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเต็มตัว (Feature Length) ด้วยเวลา 74 นาที ออกฉายวันที่ 12 เมษายนปี 1945
ใจความหลักของ Momotaro’s Divine Sea Warriors ยังคงคล้ายๆกับ Momotaro’s Sea Eagles คือการต่อสู้ผู้บุกรุกทางตะวันออกไกล แต่ด้วยความยาวที่มากขึ้น ผู้กำกับจึงสามารถขยายเรื่องราวการเล่าเรื่องออกไป โดยในช่วงแรกจะเล่าเรื่องในช่วงเวลาแห่งสันติสุข นำเสนอความสวยงามของธรรมชาติ การมีชีวิต และเด็กๆที่กำลังค้นหาความฝัน อยากเติบโตเร็วๆจะได้กลายเป็นผู้ใหญ่, ช่วงกลางจะเล่าถึงการฝึกฝน เรียนรู้ และเตรียมพร้อม ที่จะป้องกันตัวเอง ต่อสู้ ขับไล่ผู้นำความไม่สงบมาสู่ดินแดนของพวกเขา, ช่วงหลัง เป็นการต่อสู้ ขับไล่ผู้รุกราน เพื่อนำพาสันติสุขกลับคืนสู่ดินแดนบ้านเรา
ก่อนดูหนังเรื่องนี้ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรสักเท่าไหร่ เพราะรู้ว่าเป็นหนังแนวชวนเชื่อ คงมีกลิ่นอายชาตินิยมแฝงอยู่เยอะ แต่พอสักกลางเรื่อง ผมกลับรู้สึกหลงรักและชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ทั้งๆที่ก็เห็นอยู่โต้งๆ ว่าหลายๆอย่างเข้าข้างตัวเองแบบเห็นแก่ตัว แต่ก็ไม่อาจหักห้ามใจตนเองได้เลย ความสันติสุขที่สวยงามดูเป็นธรรมชาติ เรื่องราวเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ครื้กครื้นเครง สดใส เกิดเป็นความหลงใหล ประทับใจ นี่ถ้าผมเกิดเป็นคนญี่ปุ่น หรือเป็นคนยุคนั้นที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ บอกเลยว่าคงกลายเป็นคนรักชาติมากๆ ยอมสยบตามการชวนเชื่อของหนังเลยละ
ถึงการเคลื่อนไหวของอนิเมชั่นจะยังดูไม่เป็นธรรมชาติมากนัก แต่มีการนำเสนอภาพที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์มากมาย อาทิ เกสรดอกไม้ ที่ภายหลังจะพบว่าคล้ายกับร่มชูชีพ, คุ๊กกี้แทนการแบ่งปัน, หมวกทหารคือความฝันที่ต้องการไคว่คว้า ฯ สรรพสัตว์ในหนังก็สามารถเปรียบได้กับชาวญี่ปุ่นที่แม้มีนิสัยแตกต่างกันแต่ก็สามารถใช้ชีวิต ทำงานร่วมกันได้ เพื่อจุดหมายเดียวกัน
บทพูดของตัวละครมีไม่ค่อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้ภาพ เพลงประกอบและ Sound Effect ดำเนินเรื่อง ซึ่งหนังมีเพลงๆหนึ่งที่โดนใจผมมากๆ และคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ ชื่อเพลง The Song of AIUEO (AIUEO no Uta?) แต่งโดย Yuji Koseki เป็นเพลงที่สอนสรรพสัตว์ในหนังให้อ่านออกเสียง, ผมคิดว่าความไพเราะของเพลงนี้ โดดเด่นเทียบเท่า ระดับเดียวกับเพลง Do Re Mi ของหนังเรื่อง Sound of Music เลยละ น่าเสียดายผมหาให้ฟังไม่ได้ อยากได้ยินหาฟังจากหนังเอานะครับ
เห็นว่า Tezuka Osamu คนที่ได้ชื่อว่า เป็นพระเจ้าแห่งวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น ตอนที่เขาได้ยินเพลงนี้ในปี 1945 เกิดความประทับใจอย่างมากถึงกับน้ำตาคลอเลย แม้ใจความหนังจะแฝงถึงการชวนเชื่อ แต่นี่เป็นหนังที่เต็มไปด้วยความฝันและความหวัง ซึ่ง Oszamu ได้นำเพลงนี้ใส่ลงในอนิเมะซีรีย์ที่เขาสร้างเรื่อง Kimba the White Lion (Janguru Taitei?) เพื่อเป็นการคารวะ ให้เกียรติกับ Mitsuyo Seo
Momotaro ในหนังเรื่องนี้ เขาคือผู้นำของกองทัพ (Captain) ซึ่งสามารถเปรียบแทนเป็นสัญลักษณ์ของ ประเทศญี่ปุ่น ได้แบบตรงๆเลย ด้วยใบหน้าทรงกลมเหมือนลูกพีช และเป็นตัวละครมนุษย์หนึ่งเดียวในฝั่งของญี่ปุ่น ซึ่งแทนด้วยอารยธรรม ภูมิปัญญา เป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของคนทั้งชาติ และมีความสำคัญที่สุด (Overall สำคัญกว่า Individual)
สำหรับตัวละครมนุษย์อื่น ทหารอเมริกัน ที่ปรากฎตัวในช่วงท้าย นี่เป็นสิ่งที่น่าละเหี่ยใจที่สุดในหนังเรื่องนี้ ทั้งๆที่โดยรวมผมหลงรักหนังเรื่องนี้ แต่กับฉากนี้ คือมันชัดเจนและน่าเกลียดเกินไป การออกแบบตัวร้ายที่แทนด้วยเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ผมเห็นเหมือน ‘เปรต’ ในร่างมนุษย์เดินดินแบบไร้จิตวิญญาณ นี่คงเป็นทัศนคติจริงๆแบบตรงไปตรงมาของคนญี่ปุ่นสมัยนั้น กระนั้นถึงคุณยิ่งใหญ่มาจากไหน แต่การดูถูกคนอื่นด้วยการนำเสนอแบบนี้ แสดงถึงจิตใจของคุณก็เลวร้ายไม่ต่างกัน นี่เป็นฉากที่ต้องใช้วิจารณญาณมากๆขณะรับชมนะครับ
ถ้าผมเป็นคนญี่ปุ่น เกิดยุคนั้น ได้ดูหนังเรื่องนี้ เชื่อว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ จะยอมทอดกายถวายหัว ทำทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ ความสันติสุขของชาติอย่างแน่นอน นี่คือความทรงพลังที่ผมยังรู้สึกจับต้องได้จากหนังชวนเชื่อเรื่องนี้, กับผู้ชมสมัยนี้ มันอาจไม่ถึงขนาดนั้น (ผมถือตัวเองเป็นคออนิเมะตัวยงด้วย จึงเข้าใจความรู้สึกของคนญี่ปุ่นพอสมควร) แต่สิ่งที่คุณจะสัมผัสได้ มันคือความงดงามของโลกที่สงบสันติ เปรียบเหมือน paradise ที่ทำให้เราเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ปล่อยตัวปล่อยใจ จนไม่อยากกลับคืนสู่โลกแห่งความจริง นี่ก็ถือเป็นการชวนเชื่ออย่างหนึ่งนะครับ ซึ่งหนังได้แปรสภาพจากการชวนเชื่อเพื่อต่อสู้ เป็นชวนเชื่อเพื่อให้เรารักสันติสุข
ถ้าคุณเป็นคนรักอนิเมะของญี่ปุ่น นี่เป็นเรื่องที่ต้องดูให้ได้, แนะนำกับคอหนังสงคราม ที่สนใจแนวคิดของภาพยนตร์ชวนเชื่อ, นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญา นี่เป็นหนังที่แฝงสัญลักษณ์และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
จัดเรต 13+ ถึงภาพกราฟฟิกจะลดความรุนแรงลง แต่ภาพของตัวละครบางคนมันก็น่าขยะแขยงเกินกว่าจะรับได้ และความชวนเชื่อของหนังที่ยังคงมีพลังสูงมากๆ
[…] Momotaro’s Divine Sea Warriors (1945) Anime Film : Mitsuyo Seo ♥♥♥♥ […]