Mon Oncle (1958)
: Jacques Tati ♥♥♥♥
ลุงของฉัน Monsieur Hulot อาศัยอยู่ระหว่างสองโลก (ยุคเก่า-ยุคใหม่) ในห้องเช่าที่เหมือนสองตึกแถว เขาเป็นคนไร้เป้าหมายชีวิต แต่มันจำเป็นต้องมีด้วยเหรอ?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หนังรางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และคว้า Oscar สาขา Best Foreign Language Film
Mon Oncle เป็นภาพยนตร์ที่มีความคล้ายคลึงกับ Modern Times (1936) ของ Charlie Chaplin เป็นอย่างมาก เรื่องราวของชายผู้ซึ่งไร้ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีของโลกยุคสมัยใหม่ ด้วยวิธีการเล่าเรื่องแบบ Slapstick Comedy ความขบขันเกิดจากการปะทะกันระหว่าง มนุษย์ vs เครื่องจักรกล ใครเป็นฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะน่าจะพอคาดเดากันได้อยู่
เครดิตตอนต้นเรื่อง มีลักษณะเป็นป้ายบอกทางที่มีชื่อผู้สร้างปรากฏอยู่ พื้นหลังเป็นตึกที่กำลังก่อสร้างขึ้นสูง ผมมองฉากนี้มี 3 นัยยะ
– แทนหนังเรื่องนี้ ณ จุดเริ่มต้นที่กำลังก่อร่างสร้างเรื่องราว
– แทนชีวิตของมนุษย์ ที่กำลังเติบโต ก่อร่างสร้างสร้างตัวสู่ความสำเร็จ
– และแทนยุคสมัยของโลก ที่กำลังค่อยๆเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต
ฉากต่อมา ‘Dog Business’ ฝูงสุนัขกำลังทำกิจกรรมของมัน วิ่งเล่น ป่วนเมือง สร้างอาณาเขต, มนุษย์ส่วนใหญ่คงมองการกระทำของพวกมันไร้สาระ แต่นี่คือธุรกิจที่มีความสำคัญสูงสุดของเหล่าสุนัขเลยนะครับ ไร้สาระใช่ไหมละ แล้วมันต่างอะไรกับ กลุ่มเด็กๆที่วิ่งเล่นสนุกสนานตามวัย หรือกลุ่มผู้ใหญ่ที่วันๆง่วนแต่การทำงาน
เกร็ด: เห็นว่าสุนัขกลุ่มนี้ Tati พบเจอพวกมันจรจัดแถวๆกองถ่าย ไม่ได้จับมาฝึกอะไร แค่สังเกตพฤติกรรม แล้วใช้บางสิ่งอย่างเข้าล่อยั่วยวนให้วิ่งผ่านหน้ากล้องได้ พอถ่ายหนังเสร็จก็ไม่รู้จะทำยังไงดี ให้ปล่อยกลับคืนจรจัดก็ใช่เรื่อง Tati เลยใช้การทำโฆษณาประกาศหาผู้เลี้ยงดู โดยบอกว่าสุนัขเหล่านี้เป็นดาราหนัง ไม่นานพวกมันก็ได้ที่อยู่ใหม่ในครอบครัวสุขสันต์
Mon Oncle (แปลว่า My Uncle) เป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส Jacques Tati ที่นำแสดงเองด้วยในบท Monsieur Hulot ถือเป็นเรื่องที่ 2 จากทั้งหมด 4 ครั้ง ถัดจาก Les Vacances de Monsieur Hulot (1953) และจะตามด้วย Playtime (1967) กับ Trafic (1971) ทั้งชีวิตกำกับภาพยนตร์ได้เพียง 6 เรื่องเท่านั้น แต่ได้รับการยกย่องติดอันดับ 46 ใน 50 ผู้กำกับทรงอิทธิพลสูงสุดในวงการภาพยนตร์ (Greatest Movie Directors) ของนิตยสาร Entertainment Weekly
ระยะห่างระหว่าง Les Vacances de Monsieur Hulot (1953) กับหนังเรื่องนี้ถึง 5 ปี ทั้งๆที่หนังประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่ Tati มิได้รีบร้อนที่จะสร้างภาคต่อ เขาใช้เวลาครุ่นคิดทบทวน แก้ไขเปลี่ยนแปลง พัฒนาเรื่องราวที่เหมาะสมสำหรับการต่อยอด Monsieur Hulot เลยไม่แปลกที่จะใช้เวลานาน และเห็นว่าช่วงระหว่างรอนี้ก็มีเหตุการณ์หลายๆอย่างเกิดขึ้น อาทิ อุบัติเหตุจากรถเมื่อปี 1955 ทำให้แขนซ้ายของ Tait เป็นอัมพาตชั่วคราวอยู่พักใหญ่ และ Fred Orain ที่ได้ฟ้องศาลกรณีความขัดแย้งในผลประโยชน์ของสตูดิโอ Cady Films ที่ก่อตั้งรวมกัน … โอ้! กว่าจะมาเป็น Mon Oncle ผู้กำกับและ Monsieur Hulot ได้ผ่านอะไรๆมาเยอะทีเดียว
ผมได้พูดถึง Monsieur Hulot โดยละเอียดแล้วใน Les Vacances de Monsieur Hulot (1953) ขอสรุปคร่าวๆแล้วกัน ว่าเป็นหนึ่งในตัวละครที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Iconic ในโลกภาพยนตร์ ชื่อ Hulot ภาษาฝรั่งเศสออกเสียงพ้องกับคำว่า Charlot ซึ่งเป็นชื่อเล่นเรียกตัวละคร The Tramp ของ Charlie Chaplin ในหลายๆภาษา, ทั้งสองถือว่าเป็นญาติห่างๆ มีความคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนสักทีเดียว เช่น Hulot โน้มตัวเดินพุ่งไปข้างหน้า ส่วน Tramp เดินเตาะแตะหลังแอ่นไปข้างหลัง ฯ
Monsieur Hulot เป็นตัวแทนของสามัญชนที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ตามท้องถนน ห้างสรรพสินค้า ที่ใครเห็นมักจะจดจำได้ง่าย ภายนอกมีความตลกขบขัน แต่เจ้าตัวจะไม่รู้ตัวเองก็เถอะ
ในเรื่องนี้ Hulot ยังมีศักดิ์เป็นพี่ของ Madame Arpel (รับบทโดย Adrienne Servantie) ที่ได้แต่งงานกับ Monsieur Arpel (รับบทโดย Jean-Pierre Zola) เป็นเจ้าของโรงงานผลิตท่อพลาสติก (หรือไส้กรอกหว่า?) มีลูกชายอายุ 9 ขวบชื่อ Gérard Arpel (รับบทโดย Alain Bécourt) พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้าน Villa Arpel ที่มีความล้ำยุคสมัย (ultra-modern) แถบชานเมืองกรุง Paris
Villa Arpel ออกแบบโดย Henri Schmitt ให้มีลักษณะรูปทรงเรขาคณิต (Geometric) อาทิ เส้นตรง, เส้นโค้ง, สี่เหลี่ยม, วงกลม ฯ สวนหน้าบ้านเป็นก้อนหินสีต่างๆ จัดทางเดินไว้เล็กๆ ดูหรูหราสวยงามแต่เต็มไปด้วยความยากลำบากในการใช้ชีวิต (นี่เป็นการเสียดสีนะครับ), Tati ให้คำอธิบายการออกแบบบ้านลักษณะนี้ว่า ‘geometrical lines do not produce likeable people’
ของเล่นหลายอย่างมีความอัตโนมัติ เช่น ประตูบ้าน, ประตูลานจอดรถ, เตาแก๊ส, ไฮไลท์เลยคงเป็นบ่อน้ำพุปลาช่อน (ผมก็ไม่รู้ว่าปลาอะไรนะครับ) เหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่มีความล้ำยุคสมัย ช่วยร่นระยะเวลาในการทำบางสิ่งบางอย่าง แต่ขณะเดียวกันมันก็มีเรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นมากมาย
ว่าไปบ้านหลังนี้มีลักษณะคล้ายๆหุ่นยนต์ ดวงตากลมๆบนห้องนอนชั้นสองคงไว้สอดส่องโจรผู้ร้ายยามค่ำคืน
ส่วนห้องเช่าที่ Monsieur Hulot อาศัยอยู่ มีลักษณะเป็นตึกรูปทรงประหลาดพิศดาร เดินเข้าประตูจากด้านล่างขวา เพื่อไปสู่เป้าหมายห้องชั้นบนซ้ายสุด จำเป็นต้องเดินขึ้นบันได เลี้ยววกกลับไป เดินลงออกมาทางระเบียงแล้วอ้อมไปด้านหลังวนมาเข้าประตูหน้า … นี่มันตึกแถวบ้าอะไรกัน?
ผมรู้สึกว่าอาคารนี้ มีลักษณะเหมือนสองตึกสองเจ้าของที่สร้างคนละช่วงเวลา (สังเกตจากสีของตึกทั้งสอง) ที่พอรวมเจ้าของเดียวกัน ได้ทำการต่อเติมเสริมเชื่อมระหว่างตึก แต่ก็ไม่รู้ไปทำท่าไหนเลยมีสภาพเฉกเช่นที่เห็น
ความแตกต่างระหว่างบ้านทั้งสองหลัง
– มองเห็นได้ชัดจากภายนอก อาทิ รูปทรง, สีสัน, ความทันสมัย ฯ แต่ทั้งสองบ้านต่างกลับมีความยุ่งยากในการอาศัยอยู่ไม่ต่างกันเท่าไหร่
– ส่วนสิ่งที่อยู่ภายในต้องใช้การสังเกต อาทิ ความเป็นมิตรของเพื่อนบ้าน ทัศนคติความคิดอ่าน นิสัยพฤติกรรมการกระทำ ฯ
Monsieur Hulot ถือว่าเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ระหว่างทั้งสองโลก หรือจะมองว่าเป็นคนรุ่นเก่าที่จับพลัดจับพลูเข้าไปรู้จักกับโลกสมัยใหม่ แน่นอนย่อมต้องเกิดความไม่รู้ ไม่เข้าใจ กระทำพลาดผิด เกิดความเสียหาย กระนั้นการเรียนรู้เข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ถือเป็นเรื่องยากเกินไป แต่ความพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดอ่าน สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจนะสิ เป็นเรื่องสมควรหรือเปล่า?
ในวัยน่าจะประมาณ 50 ปี Monsieur Hulot ไม่เคยมีเป้าหมายอะไรในชีวิต ไม่ได้ต้องการบ้าน รถ ครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขสนุกไปวันๆ แต่เป็นญาติน้องสาวของตนและสามี ที่เดือดเนื้อร้อนตัว กระวนกระวายใจ มองว่าการไม่มีอะไรสักอย่างในชีวิตมันจะเป็นสุขไดอย่างไร พวกเขาพยายามที่จะบังคับจับป้อน ให้ทำงานโน่นนี่นั่น เปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่ภายนอก แต่ข้างในจิตใจให้กลายเป็นแบบพวกเขา ‘คนยุคใหม่’ คิดใหม่ทำใหม่ ละทิ้งตัวตนเดิมทุกสิ่งอย่าง
โรงงานผลิตท่อพลาสติก, นัยยะของ’พลาสติก’ ชวนให้ผมระลึกถึงหนังเรื่อง The Graduate (1967) เอะ!… หรือวลีอมตะนั้นได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้?
พลาสติกเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถทำเป็นรูปทรงอะไรก็ได้ ถือว่าเป็น’อนาคต’ใหม่ของโลกยุคนั้น แต่เมื่ออนาคตมาถึง ปัจจุบันคงไม่มีใครมองว่าเจ้าสิ่งนี้มีประโยชน์อนันต์โดยมิได้เห็นถึงข้อเสีย พลาสติกเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก ก่อให้เกิดมลพิษอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม, นัยยะการทำงานในโรงงานผลิตท่อ ย่อมต้องคือการสร้างอนาคตที่สดใสของ Monsieur Hulot (ท่อ=เส้นทาง, การเดินทาง, มุ่งสู่) แต่เขากลับทำผิดพลาดรุนแรง นั่นคืออนาคตที่ไม่แน่นอน ดับวูบลงไปทันที
จะมีใครสักคนที่เข้าใจ Monsieur Hulot ไหม? หลานชายตัวซนของเขายังไงละ Gérard Arpel ไม่มีความสุขขณะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ใน Villa Arpel เพราะพวกเขาพยายามบีบบังคับให้ลูกชาย โตขึ้นกลายเป็นแบบพวกเขา การมีลุงอย่าง Hulot ที่ให้อิสระบางครั้งสนับสนุนร่วมเล่นสนุก มันคือเสรีภาพโบยบินไม่ยึดติด อนาคตเป็นยังไงตอนนี้ไม่ใช่เรื่องน่าสนใจ ปัจจุบันต่างหากเป็นสุขกับชีวิตที่มีอยู่
มันเป็นเกมที่ผมเรียกว่า ‘เห็นอนาคตตัวเองไหม?’, เหยี่อกำลังเดินเข้ามาใกล้ถึงเสาอะไรสักอย่างหนึ่ง มีเสียงผิวปากเรียกให้หันหลัง ถ้าคนๆนั้นหันตามแต่ไม่หยุดเดินย่อมต้องมีโอกาสชนเสาเป็นแน่ จะมีใครไหมที่หลบทัน … ในหนังถือว่าไม่มีเลยนะครับ, นัยยะของฉากนี้เป็นการเปรียบถึงคนทั่วไป มักจะก้าวเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา ต่อให้มีเสียงเรียกให้ไขว้เขวก็ยังคงเดินต่อไป หลงลืมไปว่าบางทีอาจมีอุปสรรคขวางอยู่ข้างหน้า นี่ยังดีแค่เดินชนนะครับ ถ้าตกท่อหรือกำลังขับรถอยู่ คงได้ซวยหนักเลย
เกมนี้ถ้าเหยื่อเป็น Monsieur Hulot ผมเชื่อว่าเขาจะหยุดเดินทันที แล้วชะโงกหน้ามองหาต้นตอของเสียง จนกว่าจะพบถึงค่อยก้าวเดินต่อ
สำหรับฉากที่ผมประทับใจที่สุดของหนัง มี 2 ฉากเล็กๆ, ก่อนที่ Monsieur Hulot จะออกจากห้องของเขา ต้องทำการเปิดกระจกหน้าต่างแสงแดดสาดส่อง ถ้าหมุนในองศาที่ถูกต้องแสงจะสะท้อนไปตรงนกขมิ้น ที่จะส่งเสียงร้อง (ผมว่า เจ้านกมันส่งไม่พอใจมากกว่านะ) เพลงประกอบหนังจะดังประสานพร้อมเสียงนกร้อง เป็นความไพเราะยามเช้า กลิ่นอายฝรั่งเศส ที่ชวนให้สุขสดชื่นแจ่มใสเป็นอย่างยิ่ง
อีกฉากหนึ่งที่ผมรู้ว่าน่ารักมากๆ ขณะ Monsieur Hulot เดินลงจากห้องมาถึงชั้นล่าง จะมีเด็กสาว Betty (รับบทโดย Betty Schneider) ยืนรออยู่หน้าประตู ครั้งหนึ่งเธอให้ลูกอม Hulot ตอบแทนด้วยการจิ้มจมูกทีหนึ่ง (เป็นการ flirt ประเภทหนึ่ง) เราจะเห็นเหตุการณ์นี้อีกครั้งช่วงท้าย เมื่อ Hulot ต้องย้ายออกจากตึกแถวนี้ เด็กหญิงทำหน้าเศร้า ขณะกำลังจะจิ้มจมูกแม่ของเธอเดินออกมาพอดี Hulot เลยเปลี่ยนไปจิ้มจมูกของหญิงสูงวัยแทน, นัยยะของการจิ้มเป็นการแสดงสถานะยุคสมัยของ Monsieur Hulot ตอนแรกจิ้มเด็กหญิง เปรียบกับคนรุ่นใหม่ แทนการกำลังมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยี โลกยุคสมัยใหม่ ส่วนตอนจบจิ้มหญิงสูงวัย เปรียบกับคนรุ่นเก่า แทนความล้าหลังตกยุค ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ได้
ช่วงท้ายของหนัง การจากไปของ Monsieur Hulot ผมมองเห็น 2 นัยยะ
1. การเดินทางเพื่อค้นหาตนเองต่อไปของ Monsieur Hulot
2. คนที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ได้ จำต้อง’จากไป’ ที่ไหนไม่รู้หรอกแต่ต้องไป นี่มีนัยยะถึง’ความตาย’ได้ด้วยนะครับ
เพลงประกอบโดย Franck Barcellini, Alain Romans บทเพลง Main Theme ของหนังมีความไพเราะมาก โดดเด่นเรื่อง Variation ที่มีความหลากหลาย โน๊ตชุดเดียวแต่ใช้เครื่องดนตรี อาทิ เปียโน, แอคคอร์เดียน, กีตาร์/แบนโจ, ไซโลโฟน, ฮาร์โมนิก้า ฯ
กลิ่นอายของบทเพลงคือ ฝรั่งเศสหอมกรุ่นยามเช้าจากเตา ได้ยินสักสองสามครั้งก็จะติดหูทันที เพลิดเพลิงฟังสบาย อมยิ้มเล็กๆอย่างอิ่มเอิบและสุขใจ
ลองสังเกตลักษณะของทำนองเพลงสักนิดนะครับ เริ่มต้นจะมีการรัวโน๊ตซ้ำเร็วๆสองสามครั้ง ก่อนโลดแล่นไหลจนจบท่อน นี่แสดงถึงความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะสามารถปรับตัว ดำเนินต่อไปได้
กาลเวลาผันแปรเปลี่ยนไป ไม่มีอะไรในโลกที่ยั่งยืนยงคงเดิม
– ภายนอกคือความเจริญ การขยายตัว เทคโนโลยี ฯ
– ส่วนภายในคือ ความคิดอ่าน ทัศนคติ ปฏิสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้าง ฯ
หนังเรื่องนี้เป็นความพยายาม ‘ทำนาย’อนาคต ด้วยการนำเสนอวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ เมื่อโลกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปถึงจุดๆนั้นแล้ว ผู้คนจะดำรงชีพ มีแนวคิดทัศนคติ กระทำอะไรอย่างไร?, ความน่าทึ่งของหนังคือ หลายอย่างมันจริงแหะ! ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่ถือว่าเป็นอนาคตของหนังแล้ว ของเล่น Futuristic บางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่หลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะจิตใจของมนุษย์ เป็นคำทำนายที่ค่อนข้างแม่นยำทีเดียว
สิ่งที่คนสมัยก่อนหวั่นกลัว และคิดว่าต้องกลายเป็นปัญหาใหญ่สุดของโลกยุคใหม่ คือ การเปลี่ยนแปลงของ’จิตใจมนุษย์’ คนที่เกิดและเติบโตในยุคที่ทุกอย่างมีความ Modern ทันสมัยรวดเร็วทันใจ ย่อมไม่มีโอกาสรับรู้เข้าใจความคลาสสิก ชักช้าเรื่อยเปื่อยของอดีตที่เคยเป็นมา พวกเขามองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องล้าหลัง ตกยุค (Old Fashion) ไม่เห็นคุณค่าของความพอเพียงและเพียงพอ หลายคนพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงคนรุ่นก่อน ให้คิดอ่านเข้าใจกลายเป็นดั่งตนตามยุคสมัยใหม่ … คนที่มีความเป็นผู้ใหญ่หน่อยน่าจะพอเข้าใจได้ว่า มันไม่มีความจำเป็นเลยที่โลกเปลี่ยนแล้วเราจะต้องแปลงตามโลก อัตตาในตัวเราเองเท่านั้นเป็นสิ่งควบคุม ถ้าเรา’เพียงพอใจ’ในสิ่งที่มี ก็ไม่มีความจำใดเป็นต้องดิ้นรน วิ่งให้ทันโลกภายนอก
ความต้องการที่มุ่งแต่ไปข้างหน้า ก็ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นหรอก ยุคสมัยไหนๆก็มีเยอะเหมือนกัน ซึ่งล้วนแต่เวลาถูกเรียกให้หันมองย้อนกลับมาดู ก็ไม่เคยหยุดระวัง เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาด อุบัติเหตุ คับข้องใจขึ้นเรื่อยๆ การปะทะกันระหว่าง คนรุ่นเก่า vs คนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่ว่ายังไงต้องเกิดขึ้น เพราะต่างคนยกตัวเองเป็นที่ตั้ง คงแต่ความตายและการจากไปเท่านั้นถึงเป็นจุดจบของความขัดแย้ง
ถ้าโลกมันค่อยๆหมุน การเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัญหาความแตกต่างคงไม่เด่นชัดได้ขนาดนี้ เหมือนกราฟวิวัฒนาการของมนุษย์ช่วงนี้มีลักษณะเป็น Exponential ขาขึ้นที่พุ่งทะยานดั่งเลขยกกำลัง มันรวดเร็วเกินกว่าที่คนทศวรรษก่อนจะตามได้ทัน (แล้วคนสองสามทศวรรษให้หลังละ จะยิ่งไม่เห็นฝุ่น) ดูแล้วนับจากนี้ โลกเรามีแนวโน้มขึ้นๆๆ ทะยานสูงไปเรื่อยๆ อีก 10 ปี 100 ปี หรือ 1000 ปีข้างหน้า ใครกันจะไปสามารถทำนายพยากรณ์ได้ว่าโลกจะกลายเป็นอะไร
ถึงอายุของผมตอนนี้ยังถือว่าเป็นคนยุครุ่นใหม่ แต่ส่วนตัวรู้สึกคล้าย Monsieur Hulot คืออยู่กึ่งกลางระหว่างยุคสมัยเก่า-ใหม่ หลายครั้งในชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน อึดอัด ลำบากใจ เพราะถึงเราสามารถตามใจได้ทั้งกับคนรุ่นเก่าและใหม่ แต่เมื่อใดทั้งสองรุ่นปะทะกัน แล้วเราต้องเป็นคนกลางตัดสิน เลือกไม่ได้ครับว่าจะให้ฝ่ายไหนเป็นผู้ชนะ
ขอฝากเป็นข้อคิดส่งท้ายของหนังแล้วกัน เพราะโลกไม่ว่ายุคสมัยไหน คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ยังไงก็ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม มันจึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการปะทะความขัดแย้ง ซึ่งมีวิธีการเดียวที่ใช้แก้ปัญหานี้ได้แน่ๆ คือการ’ประณีประณอม’ แต่ไม่ได้แปลว่าต้อง 50:50 พบกันครึ่งทางนะครับ บางครั้งมันอาจจะ 90:10 โดยฝ่ายที่ได้ 10 เขาเพียงพอในสิ่งที่ได้มาแล้ว แค่นี้ก็ถือเป็นการประณีประณอมได้เช่นกัน
ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มาก แต่ที่ไม่หลงรักเพราะผมเกิดความหงุดหงิดใจตอนฉากปาร์ตี้ในสวน ภาพของคนรุ่นใหม่ที่โคตรเห็นแก่ตัว น่าขยะแขยงสิ้นสี โดยเฉพาะ Madame Pichard (รับบทโดย Adelaide Danieli) ทีแรกผมชอบตัวละครนี้นะ เวลาพูดทำหน้าเชิดๆใส่หมวกฟาง เป็นเพื่อนบ้านคนแรกที่มาหาครอบครัว Arpel แต่เพราะความมากเว่อของตัวละคร แปรสภาพเป็นรังเกียจ จากนั้นเกิดความขยะแขยงรับไม่ได้ นี่ไม่ใช่ปัญหาของหนังเลยนะครับ เกิดจากความรู้สึกของผมเองล้วนๆ
แนะนำกับนักคิด นักปรัชญา พนักงานบริษัท และเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย ค้นหาว่า ‘เป้าหมาย’ของชีวิตคืออะไร?, นักออกแบบ ศิลปิน สถาปนิก ที่สนใจศิลปะ Futuristic, คอหนัง Slapstick Comedy ชื่นชอบ Charlie Chaplin, Buster Keaton ย่อมต้องไม่ควรพลาดหนังของ Jacques Tati
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับผู้ใหญ่กลางคน อายุระหว่าง 30-50 ปี ถือว่าวัยวุฒิของคุณอยู่ช่วงรอยต่อระหว่างโลกยุคเก่า-ใหม่ ลองแทนตัวเองด้วย Monsieur Hulot เลือกข้างว่าจะอยู่ฝั่งไหน แล้วคุณจะโคตรเข้าใจหลงรักตัวละครนี้เลยละ
ขอยกคำกล่าวของ Jean-Luc Godard ที่ครั้งหนึ่งเคยพูดไว้ รู้สึกว่าเป็นคำอธิบายหนังเรื่องนี้ได้ตรงที่สุดเลย
“The cinema is not the station. The cinema is the train.”
Monsieur Hulot ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายชีวิตใดๆ แค่การมีตัวตน เรื่องราวของเขาก็ถือว่ามีความหมายแล้ว
จัดเรต PG กับหลายพฤติกรรมของตัวละคร เห็นแก่ตัว, มองโลกด้านเดียว, เชิดหยิ่งผยอง
Leave a Reply