Mon oncle d’Amérique (1980)
: Alain Resnais ♥♥♥♡
น่าจะเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ ที่ทำการผสมผสานงานศิลปะเข้ากับการทดลองวิทยาศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของสามนักแสดงเปรียบเทียบดั่งหนูทดลองในห้องปฏิบัติการ ประกอบคำบรรยายของศาสตราจารย์ชื่อดัง Henri Laborit (ผู้ค้นพบยา Chlorpromazine ใช้รักษาความผิดปกติของจิตใจ อารมณ์ ฯ), คว้ารางวัล Grand Prix (ที่ 2) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
เทศกาลหนังเมือง Cannes ปีนั้น คับคั่งด้วยภาพยนตร์ระดับตำนาน สองเรื่องที่คว้า Palme d’Or คือ All That Jazz (1979) และ Kagemusha (1980) คณะกรรมการนำโดย Kirk Douglas คงเลือกไม่ได้จริงๆ แต่ขณะที่รางวัล Grand Prix ด้วยมติเอกฉันท์ต่อ Mon oncle d’Amérique (1980) ไม่ยักรู้มีแบบนี้ด้วย
การันตีว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงรับชม Mon oncle d’Amérique หรือ My American Uncle ไม่รู้เรื่องแน่ ผมเองก็ต้องย้อนกลับไปซ้ำรอบสองช่วงต้นๆอีกรอบ เพื่อไขความกระจ่างบางอย่าง แต่ส่วนตัวคิดว่าผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Alain Resnais เรื่อง Last Year at Marienbad (1961) ดูยากกว่าเรื่องนี้หลายเท่าตัว ขอแนะนำเฉพาะผู้มีประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ค่อนข้างสูงเท่านั้น หรืออ่านบทความนี้จบแล้วไปทดลองท้าทาย ก็รับความเสี่ยงเสียเวลาเองแล้วกัน
Alain Resnais (1922 – 2014) ผู้กำกับ เขียนบทสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Vannes, Brittany พ่อเป็นเภสัชกรขายยา ช่วงวัยเด็กป่วยโรคหอบหืดทำให้ต้องร่ำเรียนหนังสืออยู่บ้าน ชื่นชอบการอ่านนิทานคลาสสิกและหนังสือการ์ตูน พออายุ 10 ขวบเริ่มลงใหลในภาพยนตร์ ปีหนึ่งได้รับของขวัญวันเกิดเป็นกล้อง Kodak 8mm เริ่มสร้างหนังสั้น ไม่นานได้รู้จักหลงใหล Surrealism ในผลงานของ André Breton, โตขึ้นสนใจเป็นนักแสดง เข้าเรียนที่ Cours René-Simon เคยได้เป็นตัวประกอบเล็กๆในภาพยนตร์ แต่คงคิดว่าไม่เหมาะด้านนี้เลยย้ายไป IDHEC ศึกษาวิชาการตัดต่อจาก Jean Grémillon และเริ่มงานกำกับหนังสั้น/สารคดีสั้น ที่มีชื่อเสียงอาทิ Van Gogh (1948) [คว้า Oscar: Best Short Subject (Two-Reel)], Guernica (1950), Night and Fog (1955) ฯ ก่อนได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Hiroshima mon amour (1959)
แม้คนส่วนใหญ่จะถือว่า Resnais เป็นหนึ่งในผู้กำกับยุค French New Wave แต่เจ้าตัวกลับรู้สึกไม่เข้าพวกเท่าไหร่ แค่บังเอิญกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกในช่วงเวลาที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแนวคิดของภาพยนตร์ขึ้นเท่านั้น
“Although I was not fully part of the New Wave because of my age, there was some mutual sympathy and respect between myself and Rivette, Bazin, Demy, Truffaut … So I felt friendly with that team.”
Resnais ถือตัวเองเป็นพวก Left Bank (ขวาจัด) กลุ่มเดียวกับ Agnès Varda, Chris Marker ฯ สำหรับผลงานอื่นที่เด่นๆ อาทิ Last Year at Marienbad (1961), Muriel (1963), The War Is Over (1966), Mon oncle d’Amérique (1980), Smoking/No Smoking (1993) ฯ
สไตล์ความสนใจของ Resnais มักเกี่ยวกับ ‘เวลา’ และ ‘ความทรงจำ’ ที่อยู่ในหัวสมอง กระบวนการทางความคิด จิตใต้สำนึกของมนุษย์
“I prefer to speak of the imaginary, or of consciousness. What interests me in the mind is that faculty we have to imagine what is going to happen in our heads, or to remember what has happened”.
สำหรับ Mon oncle d’Amérique เกิดจากความหลงใหลคลั่งไคล้ของ Henri Laborit ในภาพยนตร์เรื่อง Last Year at Marienbad (1961) ซึ่งครั้งหนึ่งบริษัทผลิตยาที่ Laborit ทำงานอยู่ เสนอให้สร้างหนังสั้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่กำลังวางขาย แม้โปรเจคนั้นจะล้มเหลวแต่ก็ทำให้มีโอกาสพบเจอพูดคุยสนทนากับ Resnais สานต่อมาเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องนี้
Henri Laborit (1914 – 1995) จากศัลยแพทย์ผ่าตัด กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบตัวยาหลายชนิดที่ใช้รักษาผู้ป่วยจิตเวช อาทิ Chlorpromazine, GHB, Gamma-OH, Clomethiazole, Minaprine ฯ ตีพิมพ์บทความ เขียนหนังสือ พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางจิตวิทยาของมนุษย์ ล้วนเกิดจากแรงผลักดันประสบการณ์ที่ค่อยๆสะสมพอกพูนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วัยเด็กจนเติบใหญ่
เกร็ด: Laborit ถือเป็นหมอ/นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในวงการแพทย์ในช่วงทศวรรษ 50s ถึงขนาดได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Chevalier of the Legion of Honor เมื่อปี 1953
สิ่งที่น่าจะทำให้ Resnais ใคร่สนใจในตัว Laborit คือทฤษฎีว่าด้วยแรงผลักดันจากอดีต ส่งผลให้มนุษย์มีพฤติกรรมการแสดงออก ความเป็นตัวของตนเองในปัจจุบัน นี่เป็นสิ่งกึกก้องมากในผลงานของเขา ที่ล้วนเกี่ยวกับเวลาและความทรงจำ
มอบหมายหน้าที่พัฒนาบทภาพยนตร์ให้ Jean Gruault (1924 – 2015) นักเขียนชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานเด่นอาทิ Jules et Jim (1962), The Nun (1966), The Wild Child (1970), The Story of Adele H. (1975) ฯ ถือเป็นตัวเลือกค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะหลายๆผลงานของ Gruault มักเกี่ยวกับจิตวิทยาของตัวละคร ที่ค่อยๆพัฒนาแปรสภาพเปลี่ยนแปลงไป
หนังเริ่มต้นจาก Henri Laborit (ตัวจริงเสียงจริง) บรรยายเล่าถึงแนวคิด ‘พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต’ แล้วใช้พูดถึงสามตัวละครมนุษย์ เปรียบเทียบการทดลองกับหนูในห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย
René Ragueneau (รับบทโดย Gérard Depardieu) เกิดในบ้านฟาร์มชนบท Torfou ครอบครัวชนชั้นต่ำยากฐานะจนข้นแค้น ชื่นชอบนักแสดง Jean Gabin ด้วยความที่ไร้ความสามารถโดดเด่นใดๆ พ่อจึงพยายามผลักดันให้กลายเป็นบาทหลวง วันหนึ่งทนไม่ได้หนีออกจากบ้านพร้อมแฟนสาว ทำงานฝ่ายเทคนิคบริษัทสิ่งทอ (Textile Factory) แต่เมื่อถูกคู่แข่งเข้ามากดดันเลยถูกส่งตัวไปเป็นผู้จัดการในชนบทห่างไกลภรรยาและลูกๆ แต่เพราะมิได้มีความรู้สามารถโดดเด่นอะไร วันหนึ่งถูกขอให้ลดบทบาทหน้าที่ ความเครียดกดดันอัดแน่นสะสมจึงพยายามฆ่าตัวตาย
Janine Garnier (รับบทโดย Nicole Garcia) หญิงสาวเกิดในอพาร์ทเม้นต์สูงใหญ่ Paris ครอบครัวสามัญชนทั่วไป วาดฝันเป็นนักแสดงคลั่งไคล้ Jean Marais แต่ถูกครอบครัวทัดทานเลยหนีออกจากบ้าน มีโอกาสรับบทนำในละครเวทีเรื่อง Julie ครั้งหนึ่งพบเจอกับ Jean Le Gall กลายเป็นชู้รักอาศัยอยู่ร่วมกันสักพัก ภายหลังเพราะคำขอของภรรยาเก่าเลยส่งเขาคืนกลับบ้าน และเพราะเธอเป็นนักออกแบบ Stylish อยู่ด้วย เลยมีโอกาสพบเจอเหตุการณ์คาดไม่ถึงของ René Ragueneau
Jean Le Gall (รับบทโดย Roger Pierre) เกิดบนเกาะแห่งหนึ่ง Brittany ครอบครัวเป็นคนชนชั้นกลางฐานะร่ำรวย หลงใหลในนักแสดง Danielle Darrieux เติบโตไต่เต้าทะเยอทะยานเป็นนักการเมือง ครั้งหนึ่งขนข้าวของออกจากบ้านเพื่อไปอยู่กับชู้รัก Janine แต่ก็หวนกลับคืนเพราะความเข้าใจผิดบางอย่าง สุดท้ายพอรับทราบข้อเท็จจริงทุกอย่างก็มิอาจหวนคืน
เกร็ด: เกาะบ้านเกิดของ Jean คือสถานที่เกิดจริงๆของผู้กำกับ Resnais
การศึกษาของ Laborit แบ่งพฤติกรรมของมนุษย์ออกเป็น 4 องค์ประกอบ
– Consumption Behavior การบริโภค ประกอบด้วยการดื่ม กิน และเพศสัมพันธ์
– Gratification Behavior ความพึงพอใจ เป็นสุข (เหมือนการได้รับรางวัล)
– Combat/Punishment Behavior ความผิดหวัง เป็นทุกข์ (เหมือนการถูกลงโทษ)
– Inhibition Behavior สงบหยุดนิ่งไม่ไหวติง มิอาจแสดงออกซึ่งความรู้สึกอะไรออกมาได้
ขณะที่สมองมี 3 ส่วน (นี่คือในความเข้าใจของนักวิทยาศาสตร์ทศวรรษนั้นนะครับ)
– Reptilian Brain สมองส่วนสัญชาติญาณที่พบเจอได้ในทุกสิ่งมีชีวิตของอาณาจักรสัตว์ (Animal Kingdom) อาทิ การบริโภค ดื่ม กิน เพศสัมพันธ์ ฯ
– Affective Brain/Memory Brain สมองส่วนความทรงจำอันเป็นสิ่งก่อให้เกิดการแสดงออก เรียนรู้จากประสบการณ์ เช่นว่า หนูได้รับความเจ็บปวดจากกระแสไฟช็อตเมื่อขณะประตูเปิด พอรีบวิ่งแจ้นไปอีกฝั่งก็จะหายทรมาน ทำให้เมื่อใดพบเห็นประตูนั้นเปิดออกอีก ก็จะรีบข้ามโดยทันทีไม่รอให้ถูกกระแสไฟช็อตอีก
– Cerebral Cortex ส่วนเชื่อมต่อระหว่างความทรงจำ ประสบการณ์ กลายมาเป็นจินตนาการ นี่เป็นสิ่งพบเจอได้กับมนุษย์เท่านั้น
Laborit เชื่อว่า พฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ไม่ต่างอะไรจากหนูทดลองในห้องปฏิบัติการ การดำเนินไปของหนังจึงมุ่งเน้นนำเสนอภาพ/เรื่องราว ที่สะท้อนสอดคล้องกันและกันได้อย่างพอดิบพอดี แค่ว่ามนุษย์จะมีอะไรๆซับซ้อนกว่าในสมองส่วน Cerebral Cortex ทำให้เหตุผลความคิดอ่านการแสดงออก ล้วนมาจากอิทธิพลประสบการณ์ ความทรงจำต่างๆในชีวิต
สำหรับสามตัวละครหลัก Resnais เลือกใช้บริการนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกคุ้นเคยในบุคลิก Charisma ของพวกเขา (แต่ต่างชาติคงไม่ค่อยมักคุ้นพวกเขาสักเท่าไหร่) มิได้จำเป็นต้องใช้ฝีมือความสามารถอะไรมากมาย แค่ใบหน้าสายตาที่สะท้อนตัวตน อารมณ์ความรู้สึกภายใน แค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับหนังที่ไม่เน้นขายการแสดงเรื่องนี้
ถ่ายภาพโดย Sacha Vierny สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของ Resnais ตั้งแต่สารคดีสั้น Night and Fog (1956) ตามด้วย Hiroshima Mon Amour (1959), Last Year at Marienbad (1961) ฯ ผลงานเด่นอื่นๆ Belle de Jour (1967), The Cook, the Thief, His Wife & Her Lover (1989),The Pillow Book (1996) ฯ
หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ บางฉากยาวไม่ถึง 1 นาทีด้วยซ้ำ แต่มักมีการตบมุกตอนจบเพื่อสร้างสีสันไม่ให้ผู้ชมเบื่อเกินไป อาทิ
– René Ragueneau กับพี่ชาย แอบอ่านหนังสือในห้องนอน พ่อเปิดประตูเข้ามาเห็น เดินเข้าไปหมุนหลอดไฟใส่กระเป๋ากางเกงเดินออกจากห้อง
– Janine Garnier ให้เพื่อนที่อยู่ชั้นบนใช้เชือกส่งตุ๊กตามาให้ แต่พอถึงแล้วยื้อแย่งกัน สุดท้ายขาหลุดไปข้างหนึ่งขณะถูกดึงกลับขึ้นไป
– Jean Le Gall กำลังจะโอบกอดสาวคนหนึ่งในห้องนอน อยู่ดีๆแม่เดินเข้ามา พวกเขาสะดุ้งห่างกันโดยทันที
ฯลฯ
บางครั้งของการตบมุก จะใช้ฟุตเทจจากภาพยนตร์ของ Danielle Darrieux, Jean Marais, Jean Gabin แทรกปรากฎขึ้นมา ซึ่งจะสอดคล้องกับตอนนั้นๆของตัวละครที่ชื่นชอบคลั้งไคล้หลงใหล, นัยยะของการแทรกภาพเหล่านี้เข้ามา เพื่อเป็นการสะท้อนอิทธิพลของภาพยนตร์ มีผลต่อบุคคลผู้นั้นมากน้อยเพียงไหน
นี่ถือเป็นส่วน Comedy ที่ Resnais รับอิทธิพลจากหนังสือการ์ตูนแก๊กที่เขาชอบอ่านวัยเด็ก เป็นเสี้ยวความทรงจำเล็กๆที่ประติดประต่อเข้าด้วยกันกลายเป็นภาพๆหนึ่ง ถือว่าสร้างสีสันให้เรื่องราวได้มาก และเป็นส่วนที่ผมชื่นชอบสุดของหนังด้วย
ตัดต่อโดย Albert Jurgenson ที่เคยร่วมงานกับ Resnais ตั้งแต่ Je t’aime, je t’aime (1968) จนถึง Smoking/No Smoking (1993) เห็นว่าใช้เวลาทั้งหมด 3 ปีเต็ม กว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้น
ในช่วงแรกแนะนำตัวละคร เริ่มจากคำบรรยายของ Henri Laborit จากนั้นจะลำดับภาพ/เรื่องราว สลับไปมาระหว่าง René Ragueneau -> Janine Garnier -> Jean Le Gall เรียงตามลำดับนี้เปะๆ วนรอบไปเรื่อยๆ เริ่มจากคำพูดต่อคำพูด ช็อตต่อช็อต ฉากต่อฉาก ค่อยๆยาวขึ้นตามการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง Janine พบเจอกับ Jean ไม่นานพวกเขาก็ได้เป็นชู้อาศัยอยู่ร่วมกัน เรื่องราวของสองตัวละครก็จะผนวกรวมเข้าเป็นตอนเดียวกัน
การปรากฎตัวและเสียงบรรยายของ Laborit จะแทรกเข้ามาประกอบเรื่องราวอยู่เรื่อยๆ ที่โดดเด่นมากๆอยู่กึ่งกลางหนังเปะๆ ภาพหนูทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะมีการตัดต่อภาพของเหล่าตัวละคร มาย้อนรอยเปรียบเทียบให้เห็นกันจะๆ เป็นการสะท้อนบอกว่า พฤติกรรมพื้นฐานของหนูและมนุษย์แทบจะไม่มีความแตกต่างกันแม้แต่น้อย
ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งหนังได้ทำการแปรสภาพ Surrealist ‘มนุษย์กลายเป็นหนู’ ภาพนี้ความหมายตรงตัวไม่มีแฝงนัยยะอื่น
ครึ่งหลังของหนัง (2 ปีให้หลัง) จะเป็นการประมวลทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นจากครึ่งแรก การแสดงออกของตัวละครจะสะท้อนย้อนรอยกับสิ่งที่พวกเขาและเธอประสบพบเห็นมา กลายเป็นข้อสรุปของปัญหาความขัดแย้งต่างๆ
– René Ragueneau ตอนเด็กวาดฝันความสำเร็จในชีวิต แต่เพราะมิอาจทำได้ถึงจุดนั้น และพอรับรู้ตัวเองกำลังจะตกงาน เลยคิดฆ่าตัวตายหนีปัญหา [ล้มเหลวในการงาน แต่ภรรยารักมากหนึ่งเดียวในชีวิต]
– Janine Garnier ตอนเด็กวาดฝันเป็นนักแสดง ได้รับโอกาสจนประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นมีชู้รักแต่สุดท้ายก็ไม่สมหวัง [พอจะประสบความสำเร็จในชีวิต ล้มเหลวในการมีคู่ครอง]
– Jean Le Gall ตอนเด็กมีความเพ้อฝันทะเยอทะยานยิ่งใหญ่ (ปีนต้นไม้เพราะอยากอยู่สูงๆ) ได้กลายเป็นนักการเมือง เขียนหนังสือสำเร็จสมใจ เพราะภรรยาหนุนหลังผลักดัน [ถึงประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ครอบครัวลุ่มๆดอนๆ ล้มเหลวในการทำตามความต้องการของตนเอง]
และตอนจบจะมีช็อตหนึ่งที่เจ๋งมากๆ เป็นการย้อนแย้งกับภาพด้านบนเมื่อมนุษย์กลายเป็นหนู ซึ่งวินาทีนี้ราวกับ หนูกลายเป็นมนุษย์ มีการสร้างห้องขนาดเล็กให้มันเดินเข้าประตู กล้องเคลื่อนจากห้องสู่ห้อง เกือบจะหลอกผู้ชมได้สนิทใจ
เพลงประกอบโดย Arié Dzierlatka สัญชาติ Belgium จะดังขึ้นเฉพาะช่วงขณะที่ไม่มีบทพูด/เสียงบรรยาย (ไม่มีซ้อนกัน) เพื่อเติมเต็มความเงียบ ไม่ได้สร้างอารมณ์ความรู้สึกใดๆให้เกิดขึ้นทั้งนั้น (คือหนังมิใช่แนวดราม่าโรแมนติก บทเพลงเลยเลยไม่จำเป็นต้องสร้างอารมณ์ใดๆให้กับผู้ชม)
มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพในการคิดตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าทุกอย่างที่แสดงออกมานั้น มันต้องมีเหตุผลบางประการรองรับเป็นพื้นหลังอยู่เสมอ ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นที่พวกเขาครุ่นคิดค้นหาคำตอบได้ จับใจความจากหนังเรื่องนี้ก็คือ ความทรงจำ ประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ ประมวลผลแปรสภาพกลายเป็นอิทธิพลตัวตนเองในปัจจุบัน
วิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปเช่นนี้ ก็น่าจะใกล้เคียงความเป็นจริง(ในชาตินี้)อย่างยิ่งเลยละ แต่พุทธศาสนาได้อธิบายเหตุผลของการกระทำแสดงออก และทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ผมว่าถูกต้องและครอบจักรวาลกว่ามากเลยละ นั่นคือผลของบุญและกรรมสะสมส่งมาจากหลายชาติปางก่อน เคยทำอะไรใครไว้จึงได้รับการตอบคืนสนองเช่นนั้นอย่างสาสม
กระนั้นคงไม่มีทางที่วิทยาศาสตร์จะก้าวล้ำรุดหน้าจนสามารถพิสูจน์คำกล่าวอ้างสัจธรรมนี้ของพุทธศาสนาได้แน่
พิจารณาจากเนื้อในความที่ Resnais นำเสนอออกมา เหมือนว่าหนังยังสะท้อนสภาพสังคม วิถีของผู้คน ประเทศฝรั่งเศสยุคสมัยนั้นออกมาด้วย
– René Ragueneau: คนชนชั้นล่างเกษตรกร หันหน้าเข้าสู่เมืองทำงานอุตสาหกรรมได้เงินมากกว่า แต่ไร้ซึ่งศักยภาพความสามารถ ผิดพลาดอะไรหันหน้าพึ่งศาสนาหน่ายเดียว พอเอาตัวไม่รอดก็คิดสั้นยอมแพ้ มองไม่เห็นความสุขของชีวิตที่ใกล้แค่เอื้อมมือ
– Janine Garnier: จากคนที่เคยมีความเพ้อฝันตั้งใจ แต่เมื่อพบเจออะไรน่าสนใจกว่าก็พุ่งทะานสู่หนทางความร่ำรวยประสบความสำเร็จนั้น ละทิ้งได้แม้แต่สิ่งที่ตน(คน)รัก สุดท้ายสิ่งที่หลงเหลือคือความผิดหวังละอายใจ
– Jean Le Gall: คนชนชั้นกลางได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำบริหารประเทศ นิสัยเจ้าชู้ประตูดินสะท้อนความคอรัปชั่นคดโกงกิน เพ้อฝันทะเยอทะยานความสำเร็จชาติเจริญ แต่ภายในครอบครัวกลับสั่นครอน เต็มไปด้วยคำโป้ปดหลอกลวง
ชื่อหนัง My American Uncle มันคืออะไรกัน? ในความเข้าใจของผมคือสำนวนอุปมาอุปไมย (ก็ไม่รู้เป็นสำนวนของชาวฝรั่งเศสหรือเปล่านะ) เปรียบเทียบถึงบางสิ่งอย่าง (ของขวัญ, เงินทอง ฯ) ที่ได้รับจากบุคคลที่อยู่ห่างไกล แบบคาดคิดไม่ถึงไร้ปี่ไร้ขลุ่ย ความเข้าใจนี้มาจากขณะที่ตัวละคร Janine พูดออกมาว่า
“that happiness would arrive, like a gift from an Uncle in America”.
แต่คู่สนทนาของเธอ Zambeaux ตอบสวนกลับไปว่า
“America doesn’t exist. I know. I’ve been there”.
นี่ไม่ได้แปลว่าประเทศอเมริกาไม่มีจริงนะครับ แต่สะท้อนท้อนถึงสิ่งของขวัญนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆจะสามารถบังเกิดขึ้นได้เอง เราจำเป็นต้องไขว่คว้าแสวงหา เคยมอบให้ผู้อื่นถึงมีโอกาสคืนสนอง
สัญลักษณ์ของประเทศ American ปรากฎในการ์ตูน The Gold King สะท้อนความเพ้อฝันของเด็กๆต่ออนาคตของพวกเขา คือร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีและเป็นกำพร้าไร้พ่อแม่ (มีชีวิตอิสระ ไม่ได้ถูกบังคับกดขี่จากครอบครัว)
“The Gold King, Samuel Knight, orphan and millionaire, in the true American way”.
ไม่กี่วันสำหรับการถ่ายทำ สามปีสำหรับการตัดต่อ เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 2 รางวัล
– Grand Prize of the Jury
– FIPRESCI Prize (ของนักวิจารณ์)
แม้ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศฝรั่งเศสส่ง Oscar: Best Foreign Language Film [เรื่องที่ส่งคือ The Last Metro (1980) ของผู้กำกับ François Truffaut เข้าถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย] แต่กลับได้เข้าชิงสาขา Best Writing, Screenplay Written Directly for the Screen พลาดรางวัลให้กับ Melvin and Howard (1980)
ถึงส่วนตัวจะชื่นชอบวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้คลั่งไคล้หลงใหลภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ มองว่าเป็นการปั้นแต่งสร้างสถานการณ์ให้เข้ากับทฤษฎีของ Henri Laborit มากกว่านำเสนอเพื่อพิสูจน์ขอเท็จจริง ซึ่งนั่นคงเป็นนิยาม ‘ศิลปะบนทฤษฎีวิทยาศาสตร์’ ของผู้กำกับ Resnais อย่างแน่แท้
แต่ผมก็โคตรทึ่งในวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Alain Resnais สามารถทำอะไรนอกกรอบกฎเกณฑ์รูปแบบภาษาภาพยนตร์ จัดเป็น High-Art ศิลปะชั้นสูงที่ลึกล้ำซับซ้อน ดูยากไม่ค่อยสนุกจำเพาะเจาะกลุ่มผู้ชม กระนั้นบุคคลผู้สามารถทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง นั่นเรียกว่าเซียนหนังตัวจริง
แนะนำกับคอหนัง Art แนวทดลอง, หมอ จิตแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ คนทำงานในห้องแลป, รู้จัก Henri Laborit, แฟนๆผู้กำกับ Alain Resnais และสามนักแสดงนำ Gérard Depardieu, Nicole Garcia, Roger Pierre ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ ในเรื่องชู้ และตัวละครพยายามฆ่าตัวตาย
Leave a Reply