Monsieur Verdoux

Monsieur Verdoux (1947) hollywood : Charlie Chaplin ♥♥♥♥

Charlie Chaplin เนี่ยนะรับบท Henri Désiré Landru (1869 – 1922) ฆาตกรต่อเนื่องชาวฝรั่งเศส ได้รับฉายา ‘The Bluebeard of Gambais’ ทำการลวงล่อหลอกหญิงสาว เอื้อยคำหวาน สานสัมพันธ์สวาท เมื่อเธอพลีกายถวายทุกสิ่งอย่าง ก็จัดแจงเข่นฆาตกรรมแล้วออกหาเหยื่อรายใหม่

“the cleverest and most brilliant film of my career”.

– Charlie Chaplin

ผมค่อนข้างเชื่อว่าผู้ชมที่มองเพียงเปลือกนอก หน้าหนัง ย่อมรู้สึกว่า Monsieur Verdoux ของ Charlie Chaplin เป็นอะไรที่ไม่เข้ากับภาพลักษณ์ ลดตัวลงมารับบทฆาตกรโรคจิตสุดแสนชั่วร้ายต่ำทราม และคุณภาพโดยรวมเทียบไม่ได้กับ Masterpiece ยุคหนังเงียบอย่าง The Gold Rush (1925), City Light (1931) หรือ Modern Times (1936)

แต่จะบอกว่า Monsieur Verdoux เป็นหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของ Chaplin มีความเฉลียวฉลาด หลักแหลม เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ สิ่งที่คุณพบเห็นไม่จำเป็นต้องตรงกับความใน ซึ่งบางสถานการณ์ ‘murder can be comic’

ทีแรกผมก็ไม่เข้าหนังสักเท่าไหร่หรอกนะ จนกระทั่งช่วงท้ายเมื่อตัวละครของ Chaplin พูดเอ่ยถึงการกระทำตนเอง

“As a mass killer, I’m an amateur by comparison . . . It’s all business. One murder makes a villain. Millions, a hero. Numbers sanctify”.

– Monsieur Verdoux

ถือเป็นความพยายามสะท้อนการกระทำ/เช่นฆาตกรรมต่อเนื่องของ Monsieur Verdoux ไม่ต่างอะไรจากภัยสงคราม การต่อสู้รบนำความสูญเสียผู้บริสุทธิ์นับหมื่นแสนล้าน ลึกๆมีใจความ Anti-Wars เสียด้วยซ้ำ แต่บรรดาผู้ชม นักวิจารณ์ โดยเฉพาะนักการเมืองสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้น กลับมองว่า Charlie Chaplin ถือหางรัสเซีย เข้าข้างคอมมิวนิสต์ เป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตย … กลายเป็นผลงานแรกที่ล้มเหลวทั้งเสียงวิจารณ์และรายรับ (แต่ในยุโรปกลับประสบความสำเร็จพอตัว)


Sir Charles Spencer Chaplin (1889 – 1997) นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ East Street, South London พ่อ-แม่ เป็นนักร้อง/นักแสดง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ทำให้ยากจนข้นแค้น แต่งตัวโทรมๆเสื้อผ้าขาดหวิ่น อดมื้อกินมื้อ ตอนอายุ 7 ขวบถูกส่งไปทำงานใน Workhouse ดิ้นรนจนมีโอกาสเป็นนักแสดงออกทัวร์ (Vaudeville) ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วเกาะอังกฤษ, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ปี 1913 เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Keystone Studio แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Making a Living (1914), กลายเป็น The Little Tramp ในผลงานเรื่องที่สอง Kid Auto Races at Venice (1914), กำกับเองครั้งแรก Caught in the Rain (1914)

แม้จะประสบความสำเร็จล้นหลามกับคาแรคเตอร์ The Little Tramp แต่การมาถึงของภาพยนตร์เสียง (Talkie) ทำให้ความนิยมผู้ชมปรับเปลี่ยนแปลงไป และคงไม่เหมาะสมเท่าไหร่จะให้ตัวละครเดิมสามารถพูดออกเสียง เขาเลยตัดสินใจทอดทิ้งแล้วเริ่มต้นใหม่กับหนังพูดเรื่องแรก The Great Dictator (1940) แต่ก็ยังพอมีร่อยรอย ‘คนจรจัด’ พบเห็นอยู่บ้าง

ประมาณปี 1941, Orson Welles (ไม่แน่ใจว่าก่อนหรือหลัง Citizen Kane ออกฉาย) เดินทางมาที่บ้านของ Charlie Chaplin นำเสนอแนวคิดโปรเจคสารคดีเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องชื่อดัง Henri Désiré Landru ซึ่งเขามองว่าบทบาทนี้เหมาะกับ Chaplin เป็นอย่างยิ่ง

Chaplin เองก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่าตัวละครนี้น่าสนใจ มองเป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์สู่บทบาทดราม่าเข้มข้น ทีแรกครุ่นคิดว่า Welles พัฒนาเรื่องราวไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ที่ไหนได้ทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้น วันนั้นเลยบอกปัดปฏิเสธไป … หลายวันถัดมายังคงค้างคาความปรารถนาลึกๆในใจ โทรศัพท์ติดต่อหา Welles ขอซื้อแนวคิดดังกล่าวเป็นเงินสูงถึง $5,000 เหรียญ แล้วนำมาพัฒนาเรื่องราวดังกล่าวขึ้นเอง

แซว: เพราะความที่ในเครดิตขึ้นชื่อ Story by Orson Welles ทำให้นักข่าวสัมภาษณ์ถามทั้ง Welles และ Chaplin บ่อยครั้งถึงการร่วมงาน ซึ่งจริงๆก็แทบไม่มีอะไรในกอไผ่
– Welles แม้ชื่นชมว่า Chaplin เป็นนักแสดงระดับอัจฉริยะ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ้าตนกำกับคงทำออกมาได้ดีกว่า
– Chaplin ไม่คาดคิดว่า Welles จะพูดพาดพิงแบบนั้น รู้อย่างนี้ตัดทิ้งเครดิตดังกล่าวเสียก็ดี

Chaplin พัฒนาบทหนังถึง 3-4 ปี แต่เหตุผลจริงๆที่ใช้เวลานานขนาดนี้ เพราะช่วงระหว่างนั้นกำลังมีเรื่องฟ้องร้องขึ้นศาลกับนักแสดงสาว Joan Barry กล่าวหาว่าตนเองท้องกับเขา เห็นว่าเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติเลยละ ผลการพิสูจน์เลือดดูยังไงก็ไม่ใช่ (Chaplin กรุ๊ปโอ, Barry กรุ๊ปเอ, ทารกน้อยกรุ๊ปบี) แต่ Chaplin ตัดสินใจจ่ายค่าเลี้ยงดูจนกว่าเด็กหญิงจะอายุครบ 21 ปี

Henri Verdoux (รับบทโดย Charles Chaplin) ทำงานนายธนาคารมากว่า 30 ปี แต่สภาพเศรษฐกิจถดถอยช่วงยุคสมัย Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้เขาถูกขับไล่ออกจากงาน เพราะจำต้องหาเงินมาเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว จึงตัดสินใจกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องแบบ Bluebeard ลวงล่อหลอกหญิงสาวผู้ดีมีตระกูล หรือแม่หม้ายไฮโซ หวังแต่งงานได้เงินเมื่อไหร่ ก็เข่นฆาตกรรมด้วยยาพิษแล้วทอดทิ้งไป(หาใหม่)

นามแฝงของ Monsieur Henri Verdoux ประกอบด้วย
– Monsieur Varnay พยายามเกี้ยวพาราสีเศรษฐินีหม้าย Marie Grosnay (รับบทโดย Isobel Elsom) ด้วยการส่งดอกไม้ให้ทุกๆ 2-3 วัน จนเธอใจอ่อนและกำลังจะได้แต่งงาน
– Monsieur Floray วิศวกรต่อเรือ อ้างว่าต้องออกเดินทางไปเรื่อยๆไม่สามารถปักหลักแห่งหนใดได้นาน ครั้งหนึ่งหวนกลับมาพบเจอ Lydia Floray (รับบทโดย Margaret Hoffman) ขอให้เธอถอนเงินทั้งหมดจากธนาคาร เพราะพรุ่งนี้จะมีข่าวใหญ่ แต่แท้จริงแล้วนั้นตั้งใจจะ…
– Monsieur Bonheur กัปตันเรือ พยายามเกี้ยวพา Annabella Bonheur (รับบทโดย Martha Raye) หาวิธีการสารพัดเพื่อเข่นฆาตกรรม แต่ก็เมื่อเรื่องวุ่นๆมากมายจนสุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จสักครั้ง


ขณะที่บทบาทใน The Great Dictator ตัวละครยังไม่ค่อยพูดสักเท่าไหร่ (นอกจากสุนทรพจน์ช่วงท้าย) แต่ Monsieur Verdoux กลับพูดน้ำไหลไฟดับ สำบัดสำนวน ที่สำคัญคือน้ำเสียงสำเนียงของ Chaplin ช่างมีความไพเราะเพราะพริ้ง ลีลายั่วเย้ายวน ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล สาวๆสมัยนั้นได้ฟังแล้วย่อมหลงคารม ศิโรราบแบบตัวละครในหนังได้อย่างแน่แท้

ลีลาการพูดของ Chaplin ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Groucho Marx โดยทันที ต่างมีความลื่นไหลไถลเรื่อยเปื่อย สอดคล้องจองสัมผัสนอก-ใน และแฝงนัยยะซ่อนเร้นบางที แต่ต่างที่จะไม่ไร้สาระออกทะเลไปไกลเกิน หรือหยาบคายชวนหัวกวนประสาทเท่า ยกตัวอย่างเช่น

The Girl: However, tell me about yourself!
Henri Verdoux: I much prefer to talk about something pleasant.

Henri Verdoux: Once a woman betrays a man, she despises him. In spite of his goodness and position, she will give him up for someone inferior. That someone is more, shall we say, ‘attractive.’

Priest: May the Lord have mercy on your soul.
Henri Verdoux: Why not? After all, it belongs to Him.

นอกจากน้ำเสียงที่ไพเราะเสนาะหู Chaplin ยังคงสไตล์ลายเซ็นต์ ชอบเล่นหูเล่นตากับตัวละคร/ผู้ชม นี่ก็ตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบเป็น The Little Tramp ดูมีความยียวน หยอกเย้า เกิดรอยยิ้มกว้าง เสียงหัวเราะหึๆแม้เรื่องราวจะเครียดจนเกือบทำให้เส้นเลือดในสมองแตก

เกร็ด: Chaplin ไว้หนวดพิลึกๆนี้เพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ

นักแสดงที่ถือว่าเป็นสีสันของหนังคือ Martha Raye (1916 – 1994) สัญชาติอเมริกัน เจ้าของฉายา ‘The Big Mouth’ เกิดที่ Butte, Montana พ่อเป็นผู้อพยพชาว Irish ร่วมกับแม่เป็นครอบครัวนักแสดงทัวร์ (Vaudeville) ตั้งแต่อายุ 3 ขวบได้ขึ้นเวที มีความชื่นชอบร้องเพลงและเล่นตลก ร่วมกับน้องชายตั้งชื่อการแสดงว่า ‘Margie and Bud’ ช่วงต้นทศวรรษ 30s ได้เป็นนักร้องร่วมกับ Paul Ash และ Boris Morros มีโอกาสแสดงหนังสั้น เข้าตาเซ็นสัญญา Paramount Picture ภาพยนตร์เรื่องแรก Rhythm on the Range (1936), ผลงานเด่นๆ อาทิ Monsieur Verdoux (1947), Billy Rose’s Jumbo (1962) ฯ

รับบท Annabella Bonheur หญิงสาวร่างใหญ่ไฮโซ ร่ำรวยจากกองมรดก นิสัยเอาแต่ใจ เป็นคนปากกว้าง เวลาหัวเราะส่งเสียงดังลั่นบ้าน ครุ่นคิดว่า Monsieur Bonheur คือกัปตันเรือ จำต้องออกเดินทางท่องโลกไปเรื่อยๆ ซึ่งเธอสามารถเอาตัวรอดหวุดหวิดจากเขามาหลายครา ครั้งหนึ่งเกือบจับได้คาหนังคาเขา บังเอิญเข้าร่วมพิธีสมรสของ Marie Grosnay (กับ Monsieur Varnay) ไม่รู้เหมือนกันสุดท้ายมีโอกาสรับรู้ความจริงกับใครเขาหรือเปล่า

เชื่อว่าคงไม่มีใครคาดคิดถึงแน่ๆ ตัวละครนี้จะสามารถเอาตัวรอดจาก Monsieur Verdoux ทั้งๆความเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจของเธอ สมควรถูกเข่นฆาตกรรมมากสุด แถมมีโอกาสก็หลายครั้ง กลับเกิดเรื่องยุ่งๆ ว้าววุ่นวาย โชคดีเป็นบ้า! ซึ่งไฮไลท์ของ Raye คือเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังขึ้นช่วงท้าย ทำเอาสีหน้าตัวละครของ Chaplin กลืนไม่เข้าคายไม่ออกบอกไม่ถูกโดยทันที!

แซว: Annabella Bonheur ทำให้ผมหวนระลึกนึกถึงตัวละครของ Shelley Winters เรื่อง A Place in the Sun (1951)

ถ่ายภาพโดย Roland Totheroh (1890 – 1967) ตากล้องขาประจำของ Chaplin ร่วมงานกันตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Monsieur Verdoux (1947) คือเรื่องสุดท้าย

แทบทั้งหมดของหนังถ่ายทำยัง Chaplin Studios, Hollywood นอกเสียจากล่องเลือกในทะเลสาป Big Bear Lake และ Lake Arrowhead

ไดเรคชั่นถ่ายภาพ สังเกตว่าตัวละครมักหันหน้าเข้าหากล้อง (รับอิทธิพลจากละครเวที) หลายครั้งก็เหมือนหันมาพูดคุย สบตากับผู้ชม ‘Breaking the Fourth Wall’ กล้องพยายามเคลื่อนไหลติดตามนักแสดง และบางฉากมีการจัดแสงที่แฝงนัยยะอย่างลุ่มลึกซึ้ง

อารัมบท นำเสนอครอบครัว Couvais มีญาติคนหนึ่งถูกต้มตุ๋นหลอกลวงโดย Monsieur Varnay, ไดเรคชั่นฉากนี้ถือว่าสะท้อนเข้ากับการดำเนินเรื่องของหนัง กล่าวคือ กล้องจะค่อยๆเคลื่อนไหลจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง (จนครบทั้ง 5 คน) จากนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ย้อนกลับ ทำให้สุดท้ายพวกเขาทั้งหมดต้องลุกขึ้นยืนจับจ้องบุคคลปริศนาในรูปถ่าย (ถือว่าเป็นชนวนสาเหตุของความวุ่นวายนี้)

Monsieur Verdoux เป็นตัวละครที่ชอบสร้างภาพลักษณ์ ปรับเปลี่ยนตนเองจนมีหลายนามแฝง แต่ฉากคุยโทรศัพท์เพื่อซื้อ-ขายหุ้น กลับพบเห็นกระจกสะท้อนด้านหลังของเขา แฝงนัยยะเล็กๆว่านั่นอาจคือตัวตน ความปรารถนาแท้จริง ลงทุนนี้ไว้เพื่อกำไรมอบให้กับครอบครัว (ที่อยู่เบื้องหลัง)

ระหว่างพยายามเกี้ยวพาเศรษฐินีหม้าย Marie Grosnay ขณะนั้นแวะเวียนมารับชมบ้านที่เขากำลังจะขาย สังเกตว่ามันจะมีหุ่นสำหรับลำลองเสื้อผู้หญิงตั้งขวางทางอยู่ ดูแล้วเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความว่างเปล่าภายในจิตใจของ Monsieur Verdoux ก็ไม่ได้อยากทำงานลักษณะนี้ แต่เพื่อครอบครัว จึงต้องเสียสละตนเอง

เมื่อเงินหมดเลยออกเดินทางไปหา Lydia Floray ปลอมตัวเป็นวิศวกร จับจ้องมองดูเวลาเพื่อให้ทันก่อนธนาคารปิด ซึ่งช็อตนี้มีสิ่งน่าสนใจมากๆคือ Monsieur Floray หยิบเปลือกหอยขึ้นมาดูแล้วนาบหู นั่นสะท้อนความสนใจของเขา ไม่ได้อยากรับฟังคำพร่ามใดๆของเธอ แค่เฝ้ารอคอยโอกาสจักได้ …

แซว: นัยยะของเปลือกหอย และรูปลักษณะของมัน มีความตรงไปตรงมามากๆนะครับ คงไม่ต้องอธิบายว่าสามารถสื่อถึงอะไร

หนังของ Chaplin ไม่ได้โดดเด่นเรื่องการจัดแสงนัก แต่ก็มีช็อตนี้งดงามมากๆ คือช่วงเวลา/ค่ำคืน ที่เขาจะลงมือก่อเหตุ กระทำบางสิ่งอย่างต่อ Lydia Floray แล้วปล่อยให้ผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการไปเองว่าเกิดอะไรขึ้น … และตื่นเช้ามาเดินลงไปทำอาหารเช้าแบบหน้าตาเฉยเมย

ทำไมการนับเงิน(พบเห็นหลายครั้งทีเดียว) ต้องทำให้เร่งรีบ ดูตลก แต่ขำไม่ออกสักเท่าไหร่ นี่เป็นการสะท้อนถึงความร้อนรนของปัจจัย ซึ่งแทบทุกครั้งเมื่อได้มาก็มักอยู่ในมือไม่นาน นำไปลงทุนทำอะไรสักอย่างอยู่เสมอ

ครอบครัวจริงๆของ Monsieur Verdoux ดูไปก็น่าสงสาร ภรรยาขาพิการสะท้อนถึงชีวิตที่มิอาจดำเนินไปข้างหน้าได้ด้วยตนเอง ซึ่งช็อตนี้สามีเดินลากเข้าจากสวนเข้ามาในห้อง มันจะมีวินาทีที่ความมืดปกคลุมใบหน้าทั้งสองมืดมิด สะท้อนถึงอนาคตจุดจบช่างมืดหม่น มองไม่เห็นแสงสว่างจากภายใน

ช็อตนี้ถือว่าล้อกับตอนที่ Monsieur Floray จับจ้องมองแสงจันทร์ก่อนเข่นฆาตกรรม Lydia Floray ในลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม กล่าวคือ Monsieur Bonheur กำลังจะปิดปาก Annabella Bonheur แต่กลับถูกแม่บ้านหวนกลับคืนมา ซึ่งบริเวณโถงทางเดินตรงนี้คือผนังกำแพง ทางตัน ไร้หน้าต่าง เขาเลยหมดโอกาสจะลงมือโดยพลัน

หญิงสาวไร้นาม (รับบทโดย Marilyn Nash) เธอคือเป้าหมายทดลองยาพิษของ Monsieur Verdoux ซึ่งหนังดำเนินเรื่องโดยทำให้ผู้ชมเกิดความลุ้นระทึก เมื่อไหร่ ยังไง แต่เห็นยังสาวสวยแบบนี้ คงไม่มีใครอยากให้เธอต้องถูกเข่นฆาตกรรม ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อพูดคุย เล่าเรื่องราว การกระทำ ความผิดพลาดพานผ่านมา บางคนอาจรู้สึกว่า ยัยนี่เหมาะสมควรถูกวางยาอย่างยิ่ง แต่วินาทีนั้นเองที่ความมีมนุษยธรรมของ Monsieur Verdoux ปรากฎขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดถึง

ความอลเวงรอบสองต่อ Annabella Bonheur ยาพิษที่อุตส่าห์ปรุงไว้ กับเกิดเรื่องยุ่งๆวุ่นวายให้สลับผิดขวด (ยัยคนรับใช้นี้อีกแล้ว ทำให้การเข่นฆาตกรรมประสบความล้มเหลว) เหตุการณ์ดังกล่าวมอบบทเรียนน่าสนใจ ครุ่นคิดร้ายต่อผู้อื่นย่อมมีแนวโน้มผิดพลาดพลั้งเข้าหาตนเอง “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนอง”

ซึ่งการที่คนรับใช้ผมร่วงหมดศีรษะ สะท้อนถึงการสูญเสียภาพลักษณ์ สติปัญญา ความตั้งใจของ Monsieur Verdoux ในการเข่นฆาตกรรม Annabella Bonheur แผนสูงได้ร่วงหล่นพังทลายลงหมดสิ้น

ฉากนี้ทำให้ผมนึกถึง A Place in the Sun (1951) ของผู้กำกับ George Stevens เป็นความพยายามที่คล้ายๆกันของตัวละคร ดั่งสำนวน ‘เรือล่มในหนอง ทองจะไปอยู่ไหน’ และให้ลองสังเกตดีๆ จะพบเห็นแต่มุมกล้องฝั่งนี้ (ถ่ายฝั่ง Chaplin สลับกับ Raye) นั่นเพราะดูแล้วคงไม่ได้ล่องเรือไปกลางทะเลสาบจริงๆหรอกนะ แค่ริมตลิ่งติดฝั่งเท่านั้นแหละเลยใช้มุมกล้องหลอกตาผู้ชม

นัยยะของฉากนี้ สะท้อนถึงความโคลงเคลงในชีวิตของ Monsieur Bonheur เมื่อไม่สามารถวางยาพิษเข่นฆาตกรรม Annabella Bonheur เลยต้องการเปลี่ยนมาเป็นอุบัติเหตุ แต่กลับผิดพลาดพลั้งโง่ๆเพราะความไม่เชี่ยวชำนาญ และที่สุดเมื่อสูญเสียโอกาสเลยล้มเลิกความตั้งใจ ปล่อยเธอไปอย่างสูญเสียดาย (นั่นส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อเขาในกาลถัดไป)

สาวขายดอกไม้ เป็นซีนเล็กๆชวนใฝ่ฝันที่งดงามมากๆ เมื่อเธอได้ยินถ้อยคำสุดแสนหวานของ Monsieur Verdoux ขณะกำลังเกี้ยวพาราสี Marie Grosnay ผ่านโทรศัพท์ สายตาอารมณ์แทบจะควบคุมสติตนเองไม่อยู่ เตลิดเปิดเปิง เคลิบเคลิ้มหลงใหล … ผู้หญิงเป็นกันเช่นนั้นจริงๆนะหรือ?

Monsieur Varnay กำลังจะเข้าพิธีสมรสกับ Marie Grosnay แต่เมื่อเขาได้ยินเสียง หลังชนกัน พานพบเห็นแขกไม่ได้รับเชิญ Annabella Bonheur ถึงกับแสร้งตะคิวขึ้น พยายามมุด หลบซ่อนใต้โต๊ะ แทรกแผ่นดินหนี หาหนทางหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุหางจุกตูด ล้มละเลิกความตั้งใจแต่งงานนี้โดยพลัน

ผมชอบความแอ็คทีฟของช็อตนี้มาก เมื่อตัวละครของ Chaplin พบเห็น Raye เขารีบทิ้งตัวลงอย่างเร็ว แล้วกล้องเคลื่อนเข้าหาเธอที่อยู่ภายนอก จับจ้องกวาดตามองหาซ้ายขวา ใครกันนะคือเจ้าบ่าว อยากรู้อยากเห็น ‘เสือก’ เสียจริง!

การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทุกสิ่งอย่างที่ Monsieur Verdoux เก็บสะสม ก่อร่างสร้าง ล้มละลาย มลายสูญ รวมไปถึงครอบครัวตนเอง นั่นทำให้เขาหมดสิ้นหวังอาลัย แต่การหวนกลับมาพานพบเจอหญิงสาวเคยไว้ชีวิต ขณะนี้ร่ำรวยตกถังข้าวสาร ค่อยครุ่นคิดเข้าใจบางสิ่งอย่าง ช็อตนี้ส่งเธอขึ้นรถกลับบ้าน ด้านหลังประตูหมุน (กงเกวียนกำเกวียน) เลยมุ่งตั้งมั่นที่จะเข้ามอบตัว แล้วคอเมอดี้เล็กๆเมื่อตำรวจ/พยาน ต่างมองข้ามผ่านเขาแบบไม่มีใครรับรู้ตัว

ตัดต่อโดย Willard Nico สัญชาติอเมริกัน เคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อตั้งแต่ City Lights (1931), จนกระทั่งได้เครดิตกับ The Great Dictator (1940) และ Monsieur Verdoux (1947)

นอกจากอารัมบท หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Monsieur Verdoux โดยมีลักษณะเป็นตอนๆ แบ่งแยกออกจากกันด้วยการเดินทาง แทรกภาพล้อรถไฟกำลังเคลื่อนหมุนไปอย่างรวดเร็วไป
– เริ่มต้นด้วยครอบครัว Couvais ขอความช่วยเหลือตำรวจให้ออกติดตามหาตัว Monsieur Varnay
– Marie Grosnay หญิงหมายถูกเกี้ยวพาโดย Monsieur Varnay
– Lydia Floray ถูกเข่นฆาตกรรมโดย Monsieur Floray
– ครอบครัวที่แท้จริงของ Monsieur Verdoux
– Annabella Bonheur รอดตายหวุดหวิดจาก Monsieur Bonheur
– หญิงสาวไร้นาม ผู้พลิกผันโชคชะตา
– เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกทดลองยา
– Annabella Bonheur เอาตัวรอดรอบ 2-3 จากยาพิษและจมน้ำ
– กำลังจะแต่งงานกับ Marie Grosnay
– การมาถึงของสงคราม หวนกลับมาพานพบเจอหญิงสาวนิรนาม
– มอบตัว ถูกศาลตัดสิน และรอคอยเวลารับโทษประหารชีวิต

ตัวละครหญิงที่มีโอกาสพานพบเจอ Monsieur Verdoux มีลักษณะแตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง
– Lydia Floray ถูกเข่นฆาตกรรม
– Annabella Bonheur รอดตายหวุดหวิดมาหลายครั้ง
– Marie Grosnay ได้รับการเกี้ยวพา ตั้งใจว่าจะคือเป้าหมายถัดไป
– หญิงสาวไร้นาม แรกเริ่มต้องการให้เป็นหนูทดลองยา ต่อมาปรับเปลี่ยนความคิดเลยปล่อยไป -> พบเจอครั้งสองสวนทางโดยบังเอิญมิได้ใคร่สนใจ -> ครั้งสามหวนกลับตารปัตร เป็นเธอที่ต้องการดูแลเขา
– ภรรยาแท้ๆ คือผู้อยู่เบื้องหลัง เป้าหมาย กำลังใจ
– สาวขายดอกไม้(ริมทาง) ก็แค่ความเพ้อใฝ่ฝัน
ฯลฯ

เพลงประกอบโดย Charlie Chaplin แล้วส่งต่อให้ Rudy Schrager เป็นผู้เรียบเรียง บันทึกเสียง ทำออกมามีลักษณะคล้ายสร้อยของบทกวี มักดังขึ้นระหว่างที่สลับสับเปลี่ยนเรื่องราว ตัวละครไม่ได้พูดคุยสนทนา เพื่อคอยเติมเต็มบรรยากาศอารมณ์ของหนัง

แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง วินาทีที่ Monsieur Verdoux ปรับเปลี่ยนใจไม่ต้องการให้หญิงสาวนิรนามดื่มไวน์ผสมยาพิษ บทเพลงมอบสัมผัสอันนุ่มนวล อ่อนหวาน ละมุ่นไม สะท้อนถึงความเข้าใจในจิตวิญญาณของเธอ (ซึ่งตัวเขาได้เคยประสบพบเจอ) นั่นคือสาเหตุผลให้เขายินยอมปล่อยไป

ความตาย การฆาตกรรม ฆาตกรโรคจิต เหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องตลกขบขันของใครหลายๆคน แต่นั่นขึ้นอยู่กับทัศนคติ/มุมมองส่วนบุคคล เพราะเมื่อสิ่งเหล่านั้นเข้ามากระทบจิตใจ ถ้าไม่แสดงออกด้วยความทุกข์เศร้าโศก กลับตารปัตรตรงกันข้ามก็คือ ยิ้มเยาะหัวเราะเบิกบาน (หรือแสดงออกอย่างเป็นกลาง ไม่รับล่วงรู้สึกใดๆ)

ในมุมผู้กำกับ Charlie Chaplin สาเหตุที่เรื่องราวของฆาตกร สามารถมองให้กลายเป็นตัวตลก? เพราะเขาต้องการสะท้อนเปรียบเทียบให้เห็นภัยพิบัติแห่งสงคราม
– Monsieur Verdoux ฆ่าคนแค่หลักสิบ แต่สงครามคร่าชีวิตนับหมื่นแสนล้าน
– Monsieur Verdoux มองสงครามคือธุรกิจ (เพื่อให้ได้เงินทองมาสนับสนุนครอบครัว), นักทฤษฎีสงคราม Carl von Clausewitz แห่งจักรวรรดิ Prussia ให้นิยามสงครามว่าคือเรื่องของการทูต (the logical extenson of diplomacy)
– สุดท้ายแล้ว Monsieur Verdoux ยินยอมมอบตัว ได้รับโทษตัดสินประหารชีวิต ไฉนบรรดาผู้นำประเทศเข้าสู่มหาสงคราม กลับยังสามารถใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขสบายใจเฉิบ

แผนการลวงล่อหลอก ฆาตกรรมหญิงสาวของ Monsieur Verdoux ใช่ว่าทุกครั้งจะประสบผลสำเร็จ ดูอย่าง Annabella Bonheur สามารถเอาตัวหลุดรอดพ้นได้ทุกครา แถมด้วยกลแห่งกรรมเลยทำให้เขาถูกย้อนสนองเข้าหา รอดตัวมาได้ด้วยปาฏิหารย์แท้ๆ … นี่เป็นการสะท้อนเล็กๆถึงชนชั้นผู้นำบุกเบิกการสงคราม จริงอยู่วันนี้พวกเขาอาจมีชีวิตสุขสบาย แต่อนาคตต่อไปไม่แน่ว่าผลกรรมอาจติดตามทันเข้าสักวัน

หญิงนิรนาม เธอเป็นตัวแทนมุมมองอีกด้านหนึ่งของ Monsieur Verdoux ด้วยอดีตเคยพานผ่านบางสิ่งอย่างคล้ายคลึง (นั่นคือเหตุผลที่ Monsieur Verdoux ปลดปล่อยเธอไป) แต่เพราะไม่ได้กลายเป็นอาชญากร ฆาตกรต่อเนื่อง สามารถเลือกใช้ชีวิตอย่างสุจริตจากความมีเมตตา น้ำจิตน้ำใจอันดีงามของเขาครั้งนั้น จนมีโอกาสค้นพบหนทางแห่งความสุขของตนเองที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

และเหตุผลการมอบตัวของ Monsieur Verdoux เพราะได้พบเห็นกระจกส่องตัวเองจากหญิงนิรนาม ตระหนักถึงความจริงที่เป็นดั่ง ‘เหรียญสองด้าน’ ไม่หลงเหลือประโยชน์ใดๆกระทำเรื่องเลวร้ายเหล่านี้อีกต่อไป ยินยอมรับ เผชิญหน้าความผิด การตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว จิตใจชั่วร้ายของมนุษยต่างหาก ทำให้โลกวิบัติยิ่งกว่าหายนะภัยธรรมชาติใดๆ


หนังใช้ทุนสร้างประมาณ $2 ล้านเหรียญ ในสหรัฐอเมริกาทำเงินได้เพียง $325,000 เหรียญ ขณะที่รวมทั่วโลก $1.5 ล้านเหรียญ ไม่พอจะคืนทุนเสียด้วยซ้ำ

แม้เสียงวิจารณ์ตอนออกฉายในสหรัฐอเมริกาจะค่อนข้างก้ำกึ่ง แต่กลับยังได้เข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay พ่ายให้กับ The Bachelor and the Bobby-Soxer (1947)

Chaplin ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ตัวเขาแสดงออกอย่างชัดเจน ต่อต้านการมาถึงของเทศกาลล่าแม่มด House Un-American Activities Committee นั่นทำให้ถูกเรียกตัวเป็นพยาน และหนึ่งในสมาชิก HUAC พูดต่อหน้าที่ประชุมสภา

“[Chaplin’s] very life in Hollywood is detrimental to the moral fabric of America. [If he is deported] … his loathsome pictures can be kept from before the eyes of the American youth. He should be deported and gotten rid of at once”.

– John E. Rankin

แต่ Chaplin ก็ยังได้สร้างภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาอีกเรื่อง Limelight (1952) ก่อนตัดสินใจอพยพย้ายสู่ยุโรป และอีก 20 ปีให้หลังถึงมีโอกาสหวนกลับมารับรางวัล Honorary Academy Award จากมือ Jack Lemmon ปี 1972

ตัวจริงของ Henri Désiré Landru จะเป็นอย่างไรไม่รู้ละ แต่ตัวละคร Monsieur Verdoux ของ Charlie Chaplin ถือว่ายังมีคุณธรรมประจำใจบางอย่างซ่อนเร้น แม้มิสมควรได้รับการยกย่องสักเท่าไหร่ แต่จะไปโทษว่ากล่าวความผิดทั้งหมดเกิดจากตัวเขาย่อมไม่ถูกแน่

จัดเรต 15+ กับความดีบ้าง-ชั่วบ้างของฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งเต็มไปด้วยมารยาลวงหลอกล่อให้ผู้ชมลุ่มหลงใหล

คำโปรย | Monsieur Verdoux คือมารยาร้อยเล่มเกวียนของ Charlie Chaplin
คุณภาพ | ร้ล่เกวียน
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
5 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] =1. Monsieur Verdoux (1947)  : Charlie Chaplin ♥♥♥♥ […]

%d bloggers like this: