Monsoon Wedding

Monsoon Wedding (2001) Indian : Mira Nair ♥♥♥♡

หนังรางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice โดยผู้กำกับหญิงสัญชาติอินเดีย Mira Nair ที่ปกติไม่ค่อยทำหนังของชาติตัวเองเท่าไหร่, เรื่องราววุ่นๆราวกับพายุมรสุม ในงานแต่งงานที่ผสมผสานวัฒนธรรมอินเดียดั้งเดิมเข้ากับค่านิยมของโลกสมัยใหม่

Monsoon Wedding เป็นหนังที่เต็มเปี่ยมด้วยความสนุกสนานครื้นเครง อันจะทำให้หัวใจคุณพองโตเต้นไม่หยุด เพราะเรื่องวุ่นๆที่เกิดขึ้นมากมายในงานแต่งงานนี้ สมดังชื่อหนัง’มรสุม’ แต่ส่วนตัวกลับไม่ค่อยชอบหนังเท่าไหร่ เพราะมันทำให้ผมเกิดความอิจฉารุนแรง บอกแค่นี้หลายคนคงเดาได้ว่าหมายถึงอะไร

แทบทุกสิ่งอย่างในหนังเรื่องนี้มี ‘มรสุม’ ผสมอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่ทุนสร้างได้งบสนับสนุนจากอินเดีย, อเมริกา, อิตาลี, ฝรั่งเศส และเยอรมัน (แต่ถือว่านี่เป็นหนังอินเดีย Bollywood นะครับ) เรื่องราวผสมผสานระหว่างธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวอินเดีย กับแนวคิดค่านิยมของคนสมัยใหม่, หนังพูด 3 ภาษาอังกฤษ/Hindi/Punjabi ผสมปนเปไปหมด แต่ถึงคุณฟังภาษาหนึ่งใดไม่ออก ก็ยังสามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องพึ่งคำแปล ฯ

เกร็ด: subtitle หนังเรื่องนี้กวนประสาทมาก คือถ้าแปลบทพูดภาษาอังกฤษจะไม่แปลภาษา Hindi แต่ถ้าซับนั้นแปลภาษา Hindi ก็จะไม่แปลภาษาอังกฤษ (ผมไม่เคยดูซับไทย แต่คิดว่าถ้ามีคงแปลหมดไม่มีปัญหานี้แน่)

Mira Nair (เกิดปี 1957) ผู้กำกับหญิงสัญชาติอินเดีย ปัจจุบันอาศัยอยู่ New York City, เกิดที่ เกิดที่ Rourkela, รัฐ Odisha ย้ายตามพ่อมาเรียนที่ Delhi เข้ามหาวิทยาลัย Delhi University สาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ ต่อมาได้ทุนจาก Cambridge University แต่บอกปัดเลือกรับทุนจาก Harvard University สาขาภาพยนตร์ที่สนใจกว่าแทน

ความฝันแรกคือเป็นนักแสดง, ที่ Harvard เข้าร่วมชมรมการแสดง โดดเด่นขนาดคว้ารางวัล Boylston Prize จากการแสดงละครเวทีเรื่อง Oedipus the King, ทำวิทยาพนธ์เป็นภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง Jama Masjid Street Journal ความยาว 18 นาที บันทึกภาพวิถีชีวิต ตามท้องถนนในเมืองเก่า Old Delhi แทรกสลับกับบทสัมภาษณ์คนท้องถิ่น

กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Salaam Bombay! (1988) นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริง เล่าในลักษณะสารคดีของ ‘street children’ เด็กๆที่มีชีวิตอาศัยอยู่ในเมือง Mumbai ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รางวัล Camera D’or กับ Prix du Public เป็นตัวแทนของอินเดียส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film เข้ารอบสุดท้ายแต่ไม่ได้รางวัล

เกร็ด: ถึงปี 2016 มีหนังอินเดียเพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ประกอบด้วย Mother India (1957), Salaam Bombay! (1988) และ Lagaan (2001)

ด้วยเหตุนี้ทำให้ Mira Nair กลายเป็นผู้กำกับในตำนานของอินเดีย ซึ่ง Monsoon Wedding ยังได้เพิ่มอีกหนึ่งเครดิตอีกรางวัลเข้ามา นั่นคือ Golden Lion สิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเมือง Venice ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียง Aparajito (1957) ของ Satyajit Ray ที่เคยคว้ารางวัลนี้มา

สำหรับผลงานอื่นๆของ Mira Nair ที่น่าพูดถึงคือ Mississippi Masala (1991), The Namesake (2006) ล่าสุดก็ Queen of Katwe (2016)

Nair มีโอกาสได้อ่านบทร่างของ Sabrina Dhawan เพื่อน/รุ่นน้องชาวอินเดียที่เขียนไว้ตั้งแต่สมัยเรียน เกิดความชื่นชอบประทับใจ มอบหมายให้เธอพัฒนาบทภาพยนตร์ต่อให้เสร็จ, Dhawan ได้ทำการผสมผสานวัฒนธรรมอินเดียดั้งเดิมเข้ากับค่านิยมของโลกสมัยใหม่ เขียนบทพูดให้ตัวละคร มีทั้งภาษาอังกฤษ, Hindi และ Punjabi เพื่อเป็นตัวแทนแนวคิดความร่วมสมัย

Naseeruddin Shah นักแสดงรุ่นใหญ่สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Barabanki, Uttar Pradesh เป็นคนแรกและคนเดียวที่เคยคว้ารางวัลการแสดงนอกประเทศอินเดีย Volpi Cup: Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Venice กับเรื่อง Paar (1984) นอกจากนี้ยังเคยคว้า National Film Award มาถึง 3 ครั้ง ในสาขา Best Actor 2 ครั้งจาก Sparsh (1979), Paar (1984) และสาขา Best Supporting Actor จาก Iqbal (2006) สรรพคุณความยอดเยี่ยมคงไม่ต้องสรรหาคำมาบรรยาย

รับบทพ่อ Lalit Verma เป็นคนจริงจังคิดมากปากร้าย แต่จิตใจรักหวงห่วงแหนลูกๆและคนในครอบครัวทุกคน พยายามทำทุกสิ่งอย่างไม่สนความสิ้นเปลือง เพื่อให้ได้สิ่งดีที่สุด มีความสุขที่สุดสำหรับพวกเขา

Shah เป็นคนที่มี Charisma ทางการแสดงสูงมาก ผมรู้สึกใบหน้าของเขาคล้ายๆกับ Dustin Hoffman แถมตัวเล็กๆชอบทำหน้านิ่งๆกวนๆ ภายนอกดูโหดเหี้ยมชั่วร้าย แต่ภายในอบอุ่นรักครอบครัว, นี่เป็นตัวละครที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง แค่เปิดเรื่องประมาณ 2-3 นาทีแรก ก็เกิดความประทับใจอย่างแรงกล้า แม้ส่วนตัวจะไม่เคยรับชมผลงานของ Shah มาก่อนเลย แต่แค่ได้เห็นจากหนังเรื่องนี้ ก็รับรู้ได้ทันทีว่าต้องคือยอดฝีมือแน่ๆ พอทราบประวัติว่าเคยคว้า Volpi Cup ยิ่งรู้สึกน่าสนใจขึ้นไปอีก

เกร็ด: Shah เคยเล่นหนัง Hollywood เรื่อง The League of Extraordinary Gentlemen (2003) รับบทกัปตันนีโม

Rajat Kapoor นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Delhi, India ถ้าคุณอยู่ในแวดวงการภาพยนตร์อินเดียมานานพอสมควร จะคุ้นๆนามสกุล Kapoor อย่างยิ่ง เป็นหนึ่งในตระกูลใหญ่ที่ทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์อินเดีย, สำหรับ Rajat ถือว่าเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระดับหนึ่ง บทบาทการแสดงมักได้เป็นแค่ตัวประกอบ อาทิ Dil Chahta Hai (2001), Ankhon Dekhi (2014), Kapoor & Sons (2016) ฯ ขณะที่ผลงานกำกับจะโดดเด่นกว่า เคยคว้ารางวัล National Film Award สาขา Best Feature Film in Hindi จากเรื่อง Raghu Romeo (2003)

รับบท Tej Puri ผู้มีศักดิ์เป็นอาของ Aditi ได้เคยช่วยเหลืออุปถัมภ์ไว้ตอนครอบครัว Verma อพยพย้ายมาอยู่ที่กรุง Delhi, แต่ในความที่เหมือนจะดีของ Tej Puri ตัวละครนี้มีด้านมืดอย่างหนึ่ง ชื่นชอบหลงใหลในเด็กหญิง …

ผมรู้สึกตัวละครนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของ Rajat กลายเป็นอาชญากรไปเลย แถมใบหน้ามึนๆ สายตา คำพูด มีความหื่นกระหายต้องการเด่นชัดมากๆ อย่าให้ลูกๆของคุณเข้าใกล้ชายผู้มีหน้าตาลักษณะนี้เชียวนะ

ปกติหนัง bollywood ไม่มีเรื่องไหนกล้าใส่ตัวละครแบบนี้เข้ามานะครับ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับไม่ได้ ก็มีแต่หนังของเหล่า NRI (non-resident Indian) อย่าง Mira Nair ที่จะกล้าสอดแทรกเตือนภัยสิ่งเหล่านี้ให้ผู้ชมชาวอินเดียตระหนักรับเรียนรู้ไว้ในใจ ว่าคนแบบนี้มีอยู่จริงในสังคม

สำหรับคู่เจ้าบ่าวเจ้าสาว
Aditi Verma รับบทโดย Vasundhara Das นักแสดงนักร้อง (Playback Singer) ที่ภายหลังมุ่งเอาดีกับการเป็นศิลปินมากกว่าการแสดง, Aditi เป็นหญิงสาววัยรุ่นเลือดร้อน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย passion ความต้องการภายในอันเร่าร้อนรุนแรง เธอเป็นคนปากไม่ตรงกับใจ คิดต้องการอย่างหนึ่งแต่เรียกร้องแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง, ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเพราะฮอร์โมนวัยรุ่นล้วนๆเลย ลึกๆเธอคงไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน สิ่งที่ทำทุกอย่างเป็นสันชาติญาณเพื่อสนองใจตนเองเท่านั้น

Hemant Rai รับบทโดย Parvin Dabas นักแสดง โมเดลลิ่ง ผู้กำกับ ที่มีชื่อเสียงปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นแค่ตัวประกอบ, Hemant หนุ่ม NRI อาชีพโปรแกรมเมอร์จาก Houston ว่าไปแทบไม่มีบทบาทอะไรเท่าไหร่ ยกเว้นตอนที่รับฟังความจริงจากปาก Aditi ช่วงแรกมีท่าทีโกรธเคือง แต่ไม่นานก็ยอมรับให้อภัย นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สองคนอยู่ครองคู่กันได้อย่างมั่นคง

ขอพูดถึงอีกสองนักแสดงที่เป็นคู่รองของหนัง
Parabatlal Kanhaiyalal ‘P.K.’ Dubey รับบทโดย Vijay Raaz ชายที่มีภาพลักษณ์เหมือนนักเลงเก๋าเจ้ง แต่หนังเรื่องนี้เล่นเป็นตัวตลกหลงรักจีบสาว, P.K. เป็น Organizer รับจัดงานแต่งงาน แต่เพราะเขายังไม่เคยตกหลุมรักแต่งงานกับใคร มันเลยดูเป็นเรื่องตลกเพราะชอบอ้างว่าเข้าใจความรู้สึกของพ่อ-แม่ คู่บ่าวสาวเป็นอย่างดี ซึ่งพอกามเทพแผงศรใส่เมื่อเดินผ่าน Alice ก็หลงจนโงหัวไม่ขึ้นเลยละ

Alice รับบทโดย Tillotama Shome นักแสดงหญิงมากฝีมือ ที่ส่วนใหญ่ชอบรับงานแสดงละครเวทีมากกว่า, Alice คือคนใช้ประจำบ้าน Verma มีความเพ้อฝันสักวันอยากแต่งงาน แต่ด้วยภาพลักษณ์ผอมๆดำๆจนๆ คงไปคาดหวังใครที่ไหนมาจีบไม่ได้ แต่เมื่อได้พบกับ P.K. ที่ก็บ้านๆเหมือนกัน ทั้งสองเลยดูเข้ากันดี แต่งงานกันโดยไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมาย

สำหรับสองคู่บ่าวสาวของหนัง ถือว่าเป็นกระจกสะท้อนกันและกัน
– Aditi กับ Hemant พ่อแม่เลือกคู่ให้ เริ่มต้นไม่ได้รักกัน แต่งงานอย่างหรูราฟุ่มเฟือย แขกเหรื่อมากมาย
– ขณะที่ P.K. กับ Alice พวกเขาพบเจอกันโดยบังเอิญ ตกหลุมรัก แต่งงานกันอย่างเงียบๆเรียบง่าย มีแค่เพื่อนไม่กี่คน

ถ่ายภาพโดย Declan Quinn ชาว Irish-American ร่วมงานกับ Nair ตั้งแต่ Kama Sutra: A Tale of Love (1996), เพื่อสร้างบรรยากาศความสมจริงในงานแต่ง ใช้กล้อง Hand Held แทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยงที่ดำเนินไปเรื่อยๆไม่มีหยุดพัก บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด

แต่หนังก็มีความซวยอย่างหนึ่ง เพราะฟุตเทจต้นฉบับถ่ายทำที่อินเดีย จะต้องถูกส่งไปล้างฟีล์มที่อเมริกา แต่ระหว่างด่านศุลการกรถูกนำผ่านเครื่องฉายรังสี X-ray ที่สนามบิน ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นทำให้ที่ฟีล์มเสียหายใช้การไม่ได้ กว่าจะระดมทุนหาเงินถ่ายซ่อมใหม่ทั้งหมดก็อีกหลายเดือนทีเดียว

ตัดต่อโดย Allyson C. Johnson, หนังเริ่มต้นที่วันหมั้น แต่อยู่ดีๆก็ขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรยังไม่ทันรู้ นี่เป็นการโยนความพิศวงสงสัยใส่ผู้ชม ให้ค่อยๆหาทางเรียนรู้จัก ค้นหาคำตอบที่จะเปิดเผยออกทีละนิดเอาเอง

การตัดต่อมีความรวดเร็วฉับไว แทบไม่มีช็อตไหนค้างเกิน 5 วินาทีเลย นี่เป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับหนังลักษณะหนึ่ง เพราะเหมือนว่าทุกสิ่งอย่างอยู่นิ่งกับที่ไม่ค่อยจะได้ ต้องมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา, สำหรับคนที่กำลังจะแต่งงาน ไม่ใช่แค่คู่บ่าวสาวที่จะตื่นเต้นลุกรี้ลุกรนจนแทบทำอะไรไม่ได้ แต่ยังรวมถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย และคนรอบข้าง ต่างก็จะดีใจเนื้อเต้น อยู่นิ่งเป็นสุขไม่ได้เช่นกัน นี่คือเหตุผลของการตัดต่อ จะให้ภาพอยู่นิ่งๆ ตั้งกล้องแช่ทิ้งไว้นานๆได้ยังไงละ

หนังไม่ได้ใช้มุมมองของใครเป็นพิเศษ แต่ถือว่าเล่าผ่านครอบครัว Verma เป็นหลัก, มี 4-5 เรื่องราวที่เกิดขึ้นคู่ขนานกัน
– ความวุ่นวายของพ่อกับการเตรียมงาน และตัดสินใจอะไรหลายๆอย่าง
– คู่บ่าวสาว Aditi กับ Hemant
– คู่รองบ่าวสาว P.K. กับ Alice
– พี่สาวของเจ้าสาว Ria Verma กับ Tej Puri
– อีกคู่คือญาติหนุ่มสาวไฟแรง ที่ต่อกันติดแต่ไม่ติดกันต่อ (จำชื่อไม่ได้ทั้งคู่)

เพลงประกอบโดย Mychael Danna ชาวแคนาดา ที่มีผลงานดังอย่าง Little Miss Sunshine (2006), (500) Days of Summer (2009), Moneyball (2011), Life of Pi (2012) ฯ องค์ประกอบของเพลงเป็นส่วนผสมของตะวันตกและตะวันออก มีความร่วมสมัยอยู่เต็มๆ (ก็แน่ละ ให้ชาวแคนาดามาแต่งเพลงอินเดีย จะไม่ให้มีความร่วมสมัยได้อย่างไร)

บทเพลง Baraat (=เพลงของเจ้าบ่าว) บรรเลงโดยวงโยธวาทิต ผสมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านของอินเดีย (นี่น่าจะเรียกแนวดนตรี funk) เราจะได้ยินตั้งแต่เครดิตต้นเรื่องขึ้นและอีกหลายๆครั้งในหนัง นี่เป็นการผสมผสานที่แปลกประหลาด แต่กลับมีความกลมกลืนเข้ากันอย่างเหลือเชื่อ, สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากเพลงคือความสับสนวุ่นวายอลม่าน เด่นมากคือเสียงกลองแต๊ก เสียงปี่ และเสียงทรัมเป็ต กล่าวคือ กลองแต๊กสร้างจังหวะสนุกสนาน, เสี่ยงปี่สร้างความครึกครื้นรื่นเริง, และทรัมเป็ตสร้างความเตลิดเปิดเปิง

ส่วนการใส่บทเพลงร้องเล่นเต้นของผู้กำกับ ไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่อยากใส่ตรงไหนก็แทรกเข้ามา แต่ได้สร้างเหตุผลรองรับให้การร้องเล่นเต้นนั้นๆด้วย เช่น สาวๆ(และผู้สูงวัย) ขณะกำลังนั่งล้อมวงเตรียมงาน อยู่ดีๆก็หวนระลึกถึงอดีตวันวาน(ตอนที่ตนแต่งงาน) ก็ลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานพร้อมเพียง นี่ทำให้หนังมีเหตุผล มีความสมจริงจับต้องได้ ไม่ค่อยเหมือนหนัง Bollywood ทั่วไป แต่ยังคงคงธรรมเนียมพื้นฐานไว้ได้

Monsoon Wedding เป็นหนังที่ทำให้คุณรู้สึก’ตื่นเต้น’ ไปกับการแต่งงานครั้งนี้ ได้รับประสบการณ์ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของงาน ทั้งๆที่ก็ไม่ได้เป็นญาติอะไรกับพวกเขา แต่กลับรู้สึกสนิทสนมชิดเชี้อเหมือนรู้จักกันมาแสนนาน

คุณเคยไปงานแต่งไหมละครับ หรือกับคนที่เคยแต่งงานเป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาว ลองหวนระลึกความรู้สึกขณะนั้นดู เปรียบเทียบกันว่าคล้ายคลึงกับอารมณ์ที่ได้จากหนังเรื่องนี้หรือเปล่า, ผมเคยหลายครั้งกับเพื่อนสนิท ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ตอนเริ่มจีบ ติดแล้วก็ผลักดันให้ได้แต่ง พอถึงงานเราก็จะรู้สึกอิ่มเอิบสุขใจมากเป็นพิเศษ เป็นอารมณ์แทบไม่ต่างจากในหนังเลย

แต่บอกตามตรง นี่เป็นอารมณ์ที่ผมเกลียดโคตรๆ เพราะตัวเองยังโสด เคยช่วยเหลือเพื่อนจนได้ดี เห็นคนอื่นมีความสุขกระสัน แต่ไฉนตัวเองกลับยังหาคบหาใครไม่ได้ ไม่มีงานแต่งของตัวเองสักที (ว่าไปรู้สึกแบบนี้ก็เหมือน P.K. ช่วงแรกๆ) แต่จะว่าเถอะ ถึงผมพูดไปว่าเกลียด แต่ใจจริงก็ชอบหนังนะ หลงใหลในประสบการณ์บ้าๆที่ได้รับนี่แหละ ตรงข้ามกับ Grave of the Fireflies (1988) ที่เศร้าสลดหดหู่หมดแรงแทบสิ้นลม รับชม Monsoon Wedding แล้วอิ่มเอิบสุขใจ อยากที่จะหาคู่ครองแต่งเป็นการเป็นงานให้ได้เสียทีเถอะ, ก็ไม่รู้ถ้าได้ถึงวันนั้นจริงๆ อารมณ์ที่ได้จะตรงกับความรู้สึกในหนังหรือเปล่านะ

ในประเทศอินเดีย หนังเรื่องนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ สงสัยเพราะความร่วมสมัยที่มีมากล้นเกินไป และเนื้อหนังดูไม่ค่อยจะเหมือนหนัง bollywood เท่าไหร่เสียด้วย, ทุนสร้าง $1.2 ล้านเหรียญ ทำเงินทั่วโลก $30.8 ล้านเหรียญ นี่คงเพราะเสียงบอกต่อ ปากต่อปาก เพื่อนชวนเพื่อน แม้ไม่เคยมีเพื่อนเป็นคนอินเดีย แต่ดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกเหมือนได้เพื่อนชาวอินเดียเพิ่มอีกคนเลยละ

แนะนำกับชาวอินเดียทั้งหลาย คู่หนุ่มสาวที่กำลังหมั้นหมายแต่งงาน ผู้ใหญ่สูงวัยที่อยากหวนระลึกถึงวันคืนอันสุขชื่นในงานแต่ง, แฟนๆนักแสดงอย่าง Naseeruddin Shah, Rajat Kapoor, Vijay Raaz ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมของบางตัวละคร

TAGLINE | “Monsoon Wedding ของ Mira Nair จะทำให้คุณรู้สึกกระชุ่มกระชวยจากมรสุมที่เกิดขึ้น ได้รับประสบการณ์เหมือนคู่บ่าวสาวที่กำลังจะแต่งงาน”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: