Monty Python and the Holy Grail (1975) British : Terry Gilliam & Terry Jones ♥♥♥♥♡

(12/4/2022) การันตีด้วย 26 รางวัล Oscar ที่ไม่ได้เข้าชิง! Monty Python and the Holy Grail (1975) คือเรื่องราวการออกเดินทางค้นหาสิ่งที่อาจไม่มีอยู่จริง! ไม่รู้อยู่แห่งหนไหน? ไม่รู้จะติดตามหาทำไม? แต่มีความบ้าบอคอแตก คลุ้มบ้าคลั่งที่สุด

ไม่ใช่ทุกคนสามารถทำความเข้าใจ Black Comedy … แบบเดียวกับ Will Smith… หลายปีก่อนผมเองก็เต็มไปด้วยอคติต่อ Monty Python and the Holy Grail (1975) เพราะยังไม่สามารถยินยอมรับการเสียดสี หลบลู่ ขำไม่ออกกับบางมุกพิเรน สัปดลเกินเยียวยา แต่กาลเวลาก็ทำให้เรียนรู้ว่า หนังตลกแนวนี้คือวิวัฒนาการของมนุษยชาติ สามารถสะท้อนสภาพทางสังคม ความเฉลียวฉลาดของประชาชน และความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆ

ยกตัวอย่างประเทศสารขัณฑ์แห่งหนึ่งที่ไม่สามารถยินรับกระทั่งเบอร์โทรสั่งพิซซ่า หรือ April’s Fool Day ของสายการบินแห่งหนึ่ง มันสะท้อนถึงสภาพสังคมที่ชนชั้นผู้นำสนเพียงมุมมองผลประโยชน์ส่วนตน พยายามจำกัดสิทธิ เสรีภาพประชาชนในการครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงอออก ปกครองประเทศภายใต้ระบอบเผด็จการ

Monty Python and the Holy Grail (1975) อาจไม่ได้มีความกลมกล่อมนักในศาสตร์ภาพยนตร์ แต่ถ้าคุณสามารถครุ่นคิด ทำความเข้าใจ ‘สาระ’ ที่สอดแทรกเข้ามาในมุกตลก พฤติกรรมสุดสัปดลเหล่านั้น ย่อมตระหนักได้ว่าผลงานเรื่องนี้คือหนึ่งใน Masterpiece ของแนว Comedy, Black Comedy, Satire Comedy


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Monty Python กลุ่มตลก (Comedy Troupe) ที่เกิดจากการรวมกลุ่มแบบจับพลับจับพลู Terry Jones พบเจอกับ Michael Palin ที่ Oxford University, Graham Chapman พบเจอกับ John Cleese ที่ Cambridge University, ตามด้วย Eric Idle และนักอนิเมเตอร์ Terry Gilliam เมื่อมีโอกาสพูดคุยถูกคอ จึงร่วมงานเขียนบท-แสดงไนท์คลับ วิทยุ โปรดักชั่นละครเวทีเล็กๆ กระทั่งได้รับโอกาสออกรายการโทรทัศน์ The Frost Report (1966-17), ตามด้วย Do Not Adjust Your Set (1967-69)

นั่นเองคือจุดเริ่มต้น Monty Python’s Flying Circus (1969-72) รายการโทรทัศน์ที่นำเสนอสถานการณ์สุดบ้าคลั่ง (Absurd situations) สอดแทรกมุกตลกเหมือนจะไร้สาระ แต่สะท้อนเสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบ เผ็ดมัน และจะไม่มี Punchline สำหรับตบอารมณ์ขัน, รายการดังกล่าวได้รับความนิยมล้นหลามในอังกฤษ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในสหรัฐอเมริกา เพราะถูกมองว่ามีความเป็น ‘british’ มากเกินไป

ความสำเร็จของ Monty Python’s Flying Circus จึงเกิดแนวคิดรวบรวมมุกตลก นำมาปะติดปะต่อ ถ่ายทำเพิ่มนิดๆหน่อยๆ กลายมาเป็นภาพยนตร์ And Now for Something Completely Different (1971) สำหรับคนที่ยังไม่เคยรับชมฉบับซีรีย์โทรทัศน์ แม้ถือเป็นหนังเรื่องแรกในแฟนไชร์ Monty Python แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่

แม้ว่ารายการโทรทัศน์ Monty Python’s Flying Circus จะจบสิ้นลงตั้งแต่ปี 1972 แต่กระแสนิยมของแฟนไชร์นี้ก็แพร่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้าในประเทศอังกฤษ สมาชิก Monty Python จึงร่วมกันพัฒนาบทที่จะกลายเป็นโปรดักชั่นภาพยนตร์เรื่องแรกของพวกเขาจริงๆ โดยนำแนวคิดเกี่ยวกับการค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Grail) และตำนานกษัตริย์อาเธอร์ (King Arthur) มาปู้ยี้ปู้ยำ ดำเนินเรื่องในยุคสมัยปัจจุบัน

Originally the script went through the Middle Ages and the twentieth century, and ended with him finding the Holy Grail in Harrods.

Terry Jones

แต่การจะหาทุนสร้างหนังไม่ใช่เรื่องง่ายสักนิด! เพราะไม่ใครใน Monty Python มีประสบการณ์สรรค์สร้างภาพยนตร์ การันตีสตูดิโอว่าจะประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้พวกเขาเลยลองเสี่ยงติดต่อนักลงทุนที่โปรดปรานซีรีย์ Monty Python ได้เงินจาก Led Zeppelin, Pink Floyd, Ian Anderson (ผู้กำกับ Gilliam เล่าว่านักร้องดังๆเหล่านั้นมองเห็นโอกาสจ่ายเงินลดหย่อนภาษี เลยยินยอมตอบตกลง) นอกจากนี้ยังมีโปรดิวเซอร์ Michael White, ทีมคริกเก็ต Heartaches และอีกสามบริษัททำเพลง

Terry Jones and I, who were the ambitious, little shits in the group who wanted to be film directors at all costs, we said, ‘Alright, if we make this film, let’s all be involved in the thing. We don’t want any outsiders. We’ll do everything, and anybody named Terry gets to direct it.’

Terry Gilliam

เกร็ด: ขณะที่ Terry Jones จะเป็นคนกำกับการแสดง ดูแลในส่วนบทและ Comedy ของหนัง, Terry Gilliam ดูแลด้านเทคนิค ไดเรคชั่นการถ่ายทำ และกำกับอนิเมชั่น

พื้นหลัง 932AD, เรื่องราวของ King Arthur ออกเดินทางทั่วเกาะอังกฤษเพื่อคัดเลือกสรรค์อัศวินโต๊ะกลม จากนั้นได้รับมอบหมายภารกิจจากพระเจ้า เพื่อค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Grail) ทำให้ต้องผจญภัยพานผ่านอุปสรรคขวากหนาม บททดสอบมากมาย จนกระทั่งเดินทางมาถึง Castle Aarrgh ถึงได้พบกับ…


ถ่ายภาพโดย Terry Bedford,
ตัดต่อโดย John Hackney,

โปรดักชั่นของหนังถือว่าตามมีตามเกิด สมาชิกทั้ง 6 ของ Monty Python ต่างผลัดกันสวมบทบาท สวมชุดเกราะ ปลอมตัวเป็นผู้หญิง ทดลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นก็คือการควบม้า เพราะไม่มีเงินมากพอสำหรับว่าจ้างม้าจริงๆ ก็เลยเพียงทำท่าควบปลอมๆแบบในหนัง โดยไม่รู้ตัวสามารถเรียกเสียงหัวเราะขบขัน กลายเป็น ‘Iconic’ และยังมีมุกล้อกะลามะพร้าวนำมาจากแห่งหนไหน?

หนังปักหลักถ่ายทำที่ Scorland ยังปราสาท Doune Castle, Castle Stalker (ปราสาทกลางน้ำ), Kidwelly Castle, Bodiam Castle ฯ นอกจากนี้ยังบริเวณ Glen Coe, Epping Forest, Loch Tay, (น้ำตก) Meeting of the Three Waters, Bracklinn Fall ฯลฯ

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ King Arthur (รับบทโดย Graham Chapman) จนกระทั่งเมื่อรวบรวมอัศวินโต๊ะกลม ได้รับภารกิจจากพระเจ้า จึงแยกย้ายออกไปติดตามค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ สลับสับเรื่องราวการผจญภัยของอัศวินต่างๆ แต่หลังจากประสบความล้มเหลวจึงหวนกลับมารวมตัวอีกครั้ง

  • King Arthur ออกติดตามหาอัศวินโต๊ะกลม
  • ได้รับมอบหมายจากพระเจ้า ให้ค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์
    • เริ่มต้นการผจญภัย รวมกันเราอยู่ ออกเดินทางไปด้วยกัน
      • หลังแผนการ Trojan Rabbit เพื่อเข้ายึดปราสาทของทหารฝรั่งเศสล้มเหลว เลยตัดสินใจแยกย้ายกันออกค้าหาจอกศักดิ์สิทธิ์
    • หลังพานผ่านการผจญภัยมาสักพัก แยกอยู่จะมีโอกาสค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ได้มากกว่า
      • King Arthur และ Sit Bedevere เผชิญหน้ากับ Knights of Ni
      • Sir Robin หลบหลีการต่อสู้กับ Three-Headed Knight
      • Sir Galahad พบเห็นนิมิตจอกศักดิ์สิทธิ์ที่ Castle Anthrax กลับพบเจอแต่สาวๆสวยๆ ได้รับการช่วยเหลือจาก Sir Launcelot
      • Sir Launcelot ได้รับธนูลึกลับ ออกเดินทางสู่ Swamp Castle เข่นฆ่าคนตายนับไม่ถ้วย
    • แต่สุดท้ายแล้วก็หวนกลับมารวมกลุ่มกันอีกครั้ง (เพราะไม่มีใครต่างหาเจอ)
      • พบเจอกับ Tim the Enchanter พาไปยังทางเข้าถ้ำที่มี Rabbit of Caerbannog ปกปักษ์อยู่ เป็นเหตุให้สูญเสีย Sir Bors, Sir Gawain และ Sir Ector ก่อนจะใช้ Holy Hand Grenade of Antioch สามารถพานผ่านไปได้
      • ภายในถ้ำพบเจอตัวอักษรแกะสลักโดย Josep of Arimathea ชี้ทางสู่ Castle Aarrgh
      • เดินทางมาถึง Bridge of Death เผชิญหน้า Gorge of Eternal Peril หลงเหลือผู้รอดชีวิตเพียง Sir Launcelot, King Arthur, Sir Bedevere และคนรับใช้ Patsy
    • และค้นพบเจอสถานที่อาจเป็นเป้าหมายปลายทาง Castle Aarrgh

ไดเรคชั่นดำเนินเรื่องของหนัง เมื่อนำเข้าสู่ฉากนั้นๆ ก็จะมีการเล่นมุกตลกที่มักเป็นการเสียดสี ล้อเลียน เหยียดหยาม ประชดประชดประชัน เพื่อให้อีกฝั่งฝ่ายรู้สึกผิด ต่ำต้อยกว่า พยายามหาข้อแก้ตัว ถ้าไม่สำเร็จก็เดินหนี น้อยครั้งจะเผชิญหน้าต่อสู้ ยกเว้นกรณีที่ไร้หนทางออกจริงๆ ถึงจำต้องกำจัดศัตรูให้พ้นภัยทาง … ถือว่า 1 ฉาก 1 มุกตลก แล้วนะมาปะติดปะต่อกันไปเรื่อยๆตั้งแต่ต้นจนจบ


ในความตั้งใจดั้งเดิมนั้น Opening Credit อยากจะทำเป็นอนิเมชั่น (แบบเดียวกับแฟนไชร์ Monty Python เรื่องอื่นๆ) แต่ประเด็นคืองบหมด ก็เลยได้แค่ขึ้นเครดิตแบบทั่วๆไป จนกระทั่ง Michael Palin ได้แรงบันดาลใจทำ Subtitle แบบกวนๆภาษา Swedish เพราะเพิ่งได้รับชมผลงานของผู้กำกับ Ingmar Bergman แล้วต้องอ่านซับภาษาอังกฤษอย่างน่ารำคาญใจ

แซว: แม้จะบอกว่าเป็นภาษา Swedish แต่เราสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ทั้งหมด (แค่เอาตัวอักษร Scandinavian มาใช้เท่านั้น) ยกตัวอย่าง møøses ก็คือกวางมูส (Moose) หรือในแถบยูเรเชียจะเรียกว่า Elk กวางขนาดใหญ่ที่พบในป่าเขตหนาวและอบอุ่นซีกโลกเหนือ พวกมันเป็นสัตว์ที่ไม่รวมกันเป็นฝูงและมีขนาดใหญ่ แถมยังมีเขาที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้เคลื่อนที่ได้ค่อนข้างช้า แต่ถ้าโกรธหรือตกใจพวกมันก็สามารถวิ่งได้เร็วเช่นกัน … เหมือนจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังเลยสักนิด!

ดั้งเดิมนั้นหนังต้องใช้ม้าจริงๆ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดเลยต้องใช้มุกเดียวกับละครวิทยุ โดยเอากะลามะพร้าวมาเคาะเป็น Sound Effect แทนเสียงควบม้า ส่วนนักแสดงก็ให้ทำท่า กระโดดหยองๆไปตามสถานที่ต่างๆ … การกระทำดังกล่าวได้กลายเป็น ‘Iconic’ ของหนัง ไม่เพียงสะท้อนถึงโปรดักชั่นราคาถูก แต่ยังเรียกเสียงหัวเราะขบขันได้จากผู้ชมโดยทันที

และฉากแรกของหนัง King Arthur (รับบทโดย Graham Chapman) กำลังติดตามหาอัศวินผู้กล้า แต่กลับเผชิญหน้ากับทหารยามที่เอาแต่สงสัย เอากะลามะพร้าวมาจากไหน เป็นการล้อเลียนมุกตลกนี้ได้อย่างยียวนกวนประสาท และยังสะท้อนไดเรคชั่นของหนัง พยายามเบี่ยงเบนความสนใจผู้ชมจากประเด็นหนึ่งสู่อีกประเด็นหนึ่ง ดำเนินไปเช่นนี้ตลอดทั้งเรื่อง

ในบรรดามุกตลกทั้งหมดของหนัง ผมคิดว่าฉากนี้น่าจะจี้แทงใจดำหลายๆคนในประเทศสารขัณฑ์ได้อย่างเจ็บแสบที่สุดแล้ว เริ่มจากการตั้งคำถาม กษัตริย์ของใคร?

ประชาชน1: King of the who?
King Arthur: The Britons.
ประชาชน1: Who are the Britons?
King Arthur: We all are. We’re all Britons. And l am your king.
ประชาชน1: Didn’t know we had a king. I thought we were an autonomous collective.
ประชาชน2: You’re fooling yourself. We’re living in a dictatorship. A self-perpetuating autocracy in which the working class…

และที่เจ็บจี๊ดที่สุดคือการตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจบาดใหญ่ เป็นกษัตริย์แล้วมีสิทธิ์อะไร ทุกวันนี้ก็มีแต่การใช้กำลัง พรรคพวกพ้อง อ้างกฎหมาย แต่ไม่เคยที่จะเผชิญหน้าความจริง

King Arthur: Be quiet I order you to be quiet.
ประชาชน: “Order.” Who does he think he is’
King Arthur: I am your king!
ประชาชน: I didn’t vote for you.
King Arthur: You don’t vote for kings.
ประชาชน: How did you become king then?
King Arthur: The Lady of the Lake, her arm clad in the purest shimmering samite, held aloft Excalibur from the bosom of the water, signifying, by divine providence, that I, Arthur, was to carry Excalibur. That is why I’m your king!
ประชาชน: Listen. Strange women lying in ponds, distributing swords, is no basis for a system of government. Supreme executive power derives from a mandate from the masses. Not from some farcical aquatic ceremony.

นักรบสวมชุดเกราะสองคนกำลังต่อสู้กัน Black Knight (รับบทโดย John Cleese) vs. Green Knight (รับบทโดย Terry Gilliam) แทนที่จะเข้าไปห้ามปราม King Arthur กลับยืนจับจ้องมอง สนเพียงผู้ชนะ แล้วเข้าไปชักชวนให้เข้าร่วมเป็นอัศวิน แต่ Black Knight กลับปฏิเสธเสียงขันแข็ง และไม่ยินยอมให้อีกฝั่งฝ่ายเดินข้ามสะพาน (เดินเลี่ยงไปทางอื่นก็ได้นะ ไม่เห็นจำเป็นต้องข้ามสะพานนี้เลย) พยายามต่อสู้ ขัดขืน เหมือนประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการ ถูกตัดแขน ตัดขา (ใช้ตัวประกอบที่มีขาข้างเดียว) ก็ยังไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้

ฉากนี้สื่อถึงการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ที่แม้ประชาชนไม่มีทางเอาชนะ แต่ก็ไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้โดยง่ายดาย แม้ถูกตัดแขน ตัดขา ตัดท่อน้ำเลี้ยง ก็ยังสามารถส่งเสียงสร้างความรำคาญ … แต่มันก็ไม่ผลอะไรอยู่ดี เพราะอำนาจของกษัตริย์มันช่างล้นฟ้า แม้แต่พระเจ้ายังอำนวยอวยพร

ฉากล่าแม่มด สะท้อนถึงการที่มนุษย์มักมองบุคคลเพียงเปลือกภายนอก เพียงเพราะแต่งตัวคล้ายแม่มดจึงถูกตีตราว่าร้าย ใครต่อใครเรียกร้องให้ต้องเผาทั้งเป็น ขณะที่บุคคลมีอำนาจก็พยายามครุ่นคิดสร้างเหตุผล โน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อตามคำของตนเอง ไม่ได้สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ข้อเท็จจริงประการใด เพียงตอบสนองความคิดเห็น/พึงพอใจของตนเองเท่านั้น ผลลัพท์ปรากฎว่ากลับได้ดิบได้ดี King Arthur แต่งตั้งให้กลายเป็นอัศวินโต๊ะกลม Sir Bedevere the Wise (รับบทโดย Terry Jones) ยกย่องในความเฉลียวฉลาด อัจฉริยภาพเหนือผู้อื่นใด … ส่วนหญิงสาวผู้นั้นคงถูกเผาทั้งเป็น ทั้งๆไม่ได้กระทำผิดอะไร

บุคคลที่เป็นต้นแบบพระเจ้าก็คือ William Gilbert Grace (1848-1915) นักกีฬา Cricketer สัญชาติอังกฤษ เจ้าของฉายา ‘Father of Cricket’ หนึ่งในผู้เล่นยุคบุกเบิก ทำให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย(ในเกาะอังกฤษ) และฝีมือถือว่ายอดเยี่ยมที่สุด ‘one of greatest players’

Trojan Rabbit ได้แรงบันดาลใจจาก Trojan Horse ม้าไม้เมือง Troy ในมหากาพย์อีเลียด (Iliad) เรื่องสงครามเมือง Troy (The Sack of Troy) จุดประสงค์เพื่อล่อลวงให้อีกฝ่ายตายใจ ชักศึกเข้าบ้าน แต่บรรดาอัศวินโต๊ะกลมกลับลืมซุกซ่อนตนเองในกระต่ายไม้ แผนการดังกล่าวเลยล้มเหลวแบบโง่บรม

เกร็ด: Trojan Horse เกิดขึ้นจากอุบายของ Odysseus ในการบุกเข้าเมือง Troy ที่มีป้อมปราการแข็งแรง หลังจากรบยืดเยื้อมานานถึง 10 ปีแล้ว ด้วยการให้ทหารสร้างม้าไม้นี้ขึ้นมาแล้วลากไปวางไว้หน้ากำแพงเมือง แสร้งให้ทหาร Greek ล่าถอยทัพ เมื่อชาว Troy พบเห็นเข้าใจว่าเป็นบรรณาการ จึงลากเข้าไปไว้ในเมืองและฉลองชัยชนะ เมื่อตกดึกทหารที่ซ่อนตัวอยู่ในม้าไม้ ก็ไต่ลงมาเผาทำลายเมืองได้สำเร็จ

ตามปรัมปรานั้น อัศวินโต๊ะกลมจะต้องเผชิญหน้ากับบาปทั้งเจ็ด (Seventh Deadly Sins) แต่หนังก็ … เอาตามที่สบายใจ ซึ่งทุกตัวละครล้วนกระทำสิ่งกลับตารปัตรตรงกันข้ามต่อความเป็นอัศวินโดยสิ้นเชิง!

เริ่มต้นจาก Sir Robin the Not-Quite-So-Brave-as-Sir-Lancelot (รับบทโดย Eric Idle) เผชิญหน้ากับ Three-Headed Giant (รับบทโดย Terry Jones, Graham Chapman, Michael Palin จากซ้ายไปขวา) นี่เป็นการพิสูจน์ความกล้า แต่ไปๆมาๆ Sir Robin กลับแสดงอาการขลาดหวาดกลัว หลบหนีหางจุกตูด ปฏิเสธการต่อสู้เผชิญหน้า

บทเรียนสอนใจ: ไม่ใช่ทุกคนจะมีความหาญกล้า บางครั้งแสดงอาการขี้ขลาดเขลา หลบหนีการต่อสู้ ก็สามารถเอาชนะ พานผ่านศัตรูผู้ยิ่งใหญ่

Sir Galahad the Pure (รับบทโดย Michael Palin) เมื่อพบเห็นนิมิต Holy Grail อยู่เหนือปราสาทหลังหนึ่ง จึงบุกเข้าไปพบเจอกับสาวๆ (ในซ่องโสเภณี) ถูกลวงล่อหลอกด้วยตัณหาราคะ เกือบจะสูญเสียความบริสุทธิ์จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจาก Sir Lancelot แบบไม่เต็มใจสักเท่าไหร่

บทเรียนสอนใจ: เรื่องของกามคุณ เป็นสิ่งยากจะหักห้ามใจ เพราะมันคือสันชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ (และทุกสิ่งมีชีวิต) ถ้าสามารถเอาชนะได้ถึงมีโอกาสดิ้นหลุดพ้นจากวัฎฎะสังสาร

Sir Lancelot the Brave (รับบทโดย John Cleese) ได้รับจดหมายจากลูกธนูลึกลับ เลยตัดสินใจบุกเข้าไปยัง Swamp Castle เพื่อช่วยเหลือหญิงสาวที่ถูกบีบบังคับให้แต่งงาน แสดงความหาญกล้า เข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์นับไม่ถ้วน จนกระทั่งพบเจอ … แท้จริงแล้วคือเจ้าชายแสร้งทำเป็นเจ้าหญิง จึงต้องหาหนทางหลบหนีเอาตัวรอดกลับออกมา

บทเรียนสอนใจ: บุคคลผู้มีความหาญกล้าแต่ขาดสติปัญญา ก็มักกระทำสิ่งโง่เขลาโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ถูกลวงล่อหลอกโดยบุคคลผู้เฉลียวฉลาดกว่า

Knights Who Say Ni! หรือ Knights of Ni (รับบทโดย Michael Palin) อ่านออกเสียง Nee ถูกให้คำนิยามว่า keepers of the sacred words ‘Ni’, ‘Peng’, and ‘Neee-Wom’ ผู้ดูแลรักษาคำศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเปล่งเสียงออกมาจะทำให้ผู้ได้ยินรู้สึกเจ็บปวด สัมผัสได้ถึงพลัง แต่กระทั้งถ้าใครก็ตามพูดอีกคำต้องห้าม ‘it’ ก็จะทำให้ Knights of Ni อดรนทนรับฟังไม่ได้

เอาจริงๆผมไม่คิดว่า Knights of Ni! มันจะมีแฝงนัยยะความหมายอะไรนะครับ แต่ก็มีนักวิจารณ์ตีความกันว่า Ni! คือตัวอย่างของการอ่านออกเสียงผิดๆถูกๆ ไม่ได้ใคร่สนใจความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ สะท้อนความเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจของมนุษย์ สนเพียงสิ่งตอบสนองความสะดวกสบายของตนเองเป็นหลัก

ปล. Palin บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ Laurence Le Quesne ที่ Shrewsbury School ผู้นิยมชมชอบออกเสียง Ni แค่นั้นเองนะครับ

Tim the Enchanter (รับบทโดย John Cleese) นักเล่นแร่แปรธาตุ แม้มีความสามารถเสกไฟให้ระเบิด แต่กลับหวาดกลัวเกรงกระต่ายน้อย แฝงนัยยะว่า ต่อให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่มาจากไหนย่อมต้องมีจุดอ่อน สิ่งที่แพ้ทาง ไม่มีใครยิ่งใหญ่โตค้ำฟ้า เพราะสุดท้ายก็มักตกม้าตายน้ำตื้นแบบโง่ๆ

แซว: หลายคนเชื่อกันว่าตัวละครนี้อาจไม่ได้ชื่อ Tim แต่เป็นเพราะ Cleese จดจำชื่อตัวละครไม่ได้เลยดั้นสดว่า “There are some who call me … Tim”.

เจ้ากระต่ายน้อย Rabbit of Caerbannog (ล้อกับ Trojan Rabbit) สัตว์ที่ดูเหมือนอ่อนแอ ไร้พิษภัย แต่มันอาจซุกซ่อนเร้นความชั่วร้าย พลังมหาศาลสามารถเข่นฆ่าอัศวินให้ตกตาย Sirs Bors, Sirs Gawain และ Sirs Ector สอนบทเรียน ‘อย่าตัดสินคนที่เปลือกภายนอก’

แซว: หนังใช้กระต่ายตัวจริงๆเข้าฉาก แต่แทนที่จะซื้อมันมา ทีมงานกลับหยิบยืมแล้วนำมันมาย้อมขนสีแดง (แทนเลือด) ปรากฎว่าตอนส่งคืนไม่สามารถทำความสะอาดขนให้กลับมาขาวนวลผ่อง สร้างความไม่พึงพอใจต่อเจ้าของอย่างรุนแรง

Why don’t we go to a store and buy a rabbit rather than getting a lady whose got a rabbit. Maybe we were trying to be professional, getting a professional rabbit that was trained by a professional so that we could count on it to do what it did, and, of course, it doesn’t work like that.

Terry Gilliam

สำหรับระเบิด Holy Hand Grenade of Antioch ได้รับจาก Brother Maynard (รับบทโดย Eric Idle) นี่เป็นการล้อเลียนคริสจักรอย่างตรงไปตรงมา สื่อถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า สามารถทำลายล้างทุกสรรพสิ่งอย่าง ไม่เว้นแม้แต่กระต่ายน้อยที่ภายนอกดูอ่อนแอไร้เดียงสา แถมต้องทำพิธีรีตรอง อ่านคัมภีร์วิธีการใช้ และปฏิบัติตามอย่างโดยละเอียด

อนิเมชั่นทั้งหมดที่พบเห็นในหนัง ใช้เทคนิค Cut-Out Animation คือการวาดภาพลงบนกระดาษ จากนั้นทำให้มันค่อยๆขยับเคลื่อนไหวด้วยเทคนิค Stop-Motion Animation รังสรรค์สร้างโดยผู้กำกับ Terry Gilliam ซึ่งยังรับบท Weak-Hearted Animator ที่จู่ๆหัวใจล้มเหลว หรืออะไรสักอย่าง แต่จริงๆคืองบประมาณหมดก็เลยทำออกมาได้แค่นี้แหละ

เกร็ด: ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ Terry Gilliam ไม่เคยเข้าร่วมกับสมาชิก Monty Python ที่เหลือทั้งห้า เพราะหน้าที่ของเขาในกลุ่มคือทำอนิเมชั่น แต่เพราะ Holy Grail (1975) คือครั้งแรกที่ร่วมกำกับหนัง เลยค่อยๆตระหนักถึงความแตกต่างไม่เข้าพวกของตนเองทีละเล็กๆ (คนอื่นเขาเป็นสาย Comedian เล่นตลกเข้าขากันมานาน ส่วนพี่แกมาจากอนิเมชั่น ไม่ได้เฮฮาปาร์ตี้แบบนั้น)

เมื่อมาถึง Bridge of Death สะพานแห่งความเป็น-ตาย มีผู้ดูแล Gorge of Eternal Peril (รับบทโดย Terry Gilliam) ใครที่ต้องการข้ามผ่านต้องตอบสามคำถามวัดดวงให้ถูก ขึ้นอยู่กับอารมณ์ยาก-ง่าย อัศวินส่วนใหญ่ล้วนโชคร้าย ตกเหวตาย จนกระทั่งมาถึง King Arthur ย้อนคำถามกลับแล้วดันตอบไม่ได้

บทเรียนสอนใจ: คนอวดฉลาดมักพ่ายแพ้ให้กับ(คำถามของ)ตนเอง

King Arthur และ Sir Bedevere เดินทางมาถึง Castle Aarrgh ตั้งอยู่กลางทะเลสาป แต่กลับถูกยึดครอบครองโดยทหารฝรั่งเศส ที่พบเจอตั้งแต่ตอนต้น-กลางเรื่อง … นั่นแปลว่าเป้าหมายปลายทางแท้จริงมันอาจอยู่จุดเริ่มต้น หรือภายในจิตใจเราเอง หรืออาจไม่เคยมีอยู่ตั้งแต่แรกก็ได้เหมือนกัน

ตอนจบของหนัง King Arthur ระหว่างกำลังเตรียมทัพบุกเข้าไปยังปราสาท Castle Aarrgh กลับถูกตำรวจล้อมจับกุม ข้อหาเข่นฆาตกรรมคนตาย … การจบแบบค้างๆคาๆ ปลายเปิด ไหนละ Holy Grail??? มีความเหมาะเจาะ ลงตัว สมบูรณ์แบบอย่างที่สุด เพราะสื่อถึงความไร้สาระ ไร้เป้าหมาย ปลายทางของหนังอาจมีอยู่-ไม่มีอยู่จริง ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะขำกลิ้ง ท้องแข็งได้มากน้อยแค่ไหน

แซว: อีกเหตุผลที่หนังตัดจบแบบนี้ก็ด้วยเหตุผลคลาสสิก เงินหมด! (แต่ก็ได้ทีมงานตัวประกอบรวมกว่า 200 คน) ทีแรกตั้งใจจะให้มีฉากสู้รบใหญ่โต แต่ก็ได้แค่คนในปราสาทเขวี้ยงขว้างปศุสัตว์ออกมาแค่นั้นแหละ

เกร็ด: แรงบันดาลใจตอนจบของหนัง ผู้กำกับ Gilliam เล่าว่าได้แรงบันดาลใจจาก Lancelot of the Lake (1974) ของผู้กำกับ Robert Bresson ที่เพิ่งเข้าฉายในอังกฤษไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น

สำหรับเพลงประกอบส่วนใหญ่นำจาก Archive Music ถือลิขสิทธิ์จาก De Wolfe Music Library ยกตัวอย่างบทเพลงที่(น่าจะ)ถือเป็น Main Theme ของหนัง ชื่อว่า Homeward Bound แต่งโดย Jack Trombey ชื่อจริง Jan Stoeckart (1927-2017) นักแต่งเพลงชาว Dutch นี่น่าจะเป็นบทเพลงสร้างชื่อให้เขาที่สุดแล้วกระมัง

Homeward Bound เป็นบทเพลงท่วงทำนองฮึกเหิม สร้างพละพลัง กำลังใจ ได้ยินตลอดการเริ่มต้นออกเดินทางของ King Arthur เมื่อต้องการไปยังสถานที่ต่างๆ เรียกว่าเป็นการอารัมบท เตรียมความพร้อมผจญภัย ก่อนเผชิญหน้าอุปสรรคขวากหนาม ที่พยายามกีดกันไม่ให้ไปถึงเป้าหมาย

ความยียวนกวนประสาทของหนัง เริ่มต้นตั้งแต่ Opening Credit ร้อยเรียงบทเพลง

  • Wide Horizon แต่งโดย Pierre Arvay
  • Ice Floe 9 แต่งโดย Pierre Arvay
  • Country Wide แต่งโดย Anthony Mawer ดังขึ้นหลังจากผู้ทำ Titles คนแรกถูกไล่ออก
  • ส่วนบทเพลงสุดท้ายใช้ชื่อ Main Titles IV แต่ง/บันทึกเสียงโดย Neil Innes ส่วนเสียงหวีดกรีดร้องของบรรดา Moose ก็คือทีม Monty Python เองนะแหละ

งานเพลงของหนัง จะมีลักษณะเพียงแต่งแต้มสีสัน สร้างอรรถรสให้การเล่าเรื่องเท่านั้น ทำหน้าที่เติมเต็มบรรยากาศ แต่จะได้เพียงอารัมบทนำเข้าฉากเท่านั้น เพราะเมื่อตัวละครเริ่มพูดคุยสนทนา เล่นมุกตลก จะไร้ซึ่งเสียงเพลงประกอบใดๆ … นี่เป็นผลมาจากการทดลองของผู้กำกับ Terry Jones สังเกตจากรอบทดลองฉายหนัง ถ้ามีเสียงเพลงคลอประกอบมุกตลก มันจะทำให้เสียงหัวเราะของผู้ชมลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้เขาจึงตัดทิ้งดนตรีเมื่อเข้าสู่ช่วงไคลน์แม็กซ์ของแต่ละเรื่องราว

Monty Python อาจเต็มไปด้วยมุกตลกไร้สาระ แต่มักในลักษณะชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิดด้วยมุมมองที่แตกต่าง กลับตารปัตรตรงกันข้าม ทำไมต้องอย่างโน้น? ทำไมต้องอย่างนี้? King Arthur แล้วยังไง? ทำไมฉันต้องตอบคำถาม? ทำไมต้องตามคำสั่ง? มองมุมหนึ่งนั่นอาจเป็นการหลบหลู่ ดูหมิ่นแคลน แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงอิสรภาพในความเป็นมนุษย์ ทุกคนย่อมมีสิทธิ์จะครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก ตามความต้องการของหัวใจ

เรื่องราวของ Holy Grail (1975) ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Aguirre, the Wrath of God (1972) ของผู้กำกับ Werner Herzog ใจความถึงการออกค้นหาสิ่งที่(อาจ)ไม่มีอยู่จริง ด้วยข้ออ้างบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่จุดประสงค์แท้จริงล้วนเพื่อตอบสนองความต้องการ/พึงพอใจของตนเอง (และผู้สร้างภาพยนตร์) โดยเป้าหมายปลายทางอาจมีอยู่-ไม่มีอยู่จริง พบเจอได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น หรือต้องไปให้ถึงจุดสิ้นสุดท้าย นั่นเป็นสิ่งไม่มีทางที่ใครสามารถคาดเดาได้ทั้งนั้น (และก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาหมกมุ่นครุ่นคิดมากด้วยนะครับ)

เหตุการณ์ต่างๆที่ King Arthur และอัศวินโต๊ะกลม ต้องประสบผจญภัยนั้น ล้วนแฝงข้อคิดที่เหมือนจะมีสาระให้ผู้ชม (ที่สามารถขบครุ่นคิดตาม) แต่บอกตามตรงผมก็ไม่แน่ใจว่ามันสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นจริงๆ นอกเหนือจากความบันเทิง แต่นั่นคือสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ซุกซ่อนเร้นคุณค่า มีราคาต่อสังคม ไม่ใช่ตลกเสียดสีล้อเลียนแบบดาดๆทั่วไป สมควรแก่การขวนขวายรับชมด้วยประการทั้งปวง

แซว: ชื่อหนังภาษาญี่ปุ่นตั้งให้ว่า Holy Sake Cup (1975)

ผมมีโอกาสรับชม Life of Brian (1979) ต่อจาก Holy Grail (1975) เคยตั้งใจจะเขียนถึง เพราะสองเรื่องนี้มักได้รับการจัดอันดับใกล้ๆกันในชาร์ท ‘Greatest Comedy of All-Time’ แต่โดยส่วนตัวกลับไม่ประทับใจหนังสักเท่าไหร่ เลยขอพูดถึงแค่ย่อหน้านี้ เอาจริงๆก็มีหลายประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะการเสียดสีล้อเลียนศาสนา/พระเยซูคริสต์ ตั้งคำถามถึงความเป็นปัจเจกบุคคล ชีวิตและความตาย แต่หลายๆมุกตลกแม้งเฉพาะทาง แป็กเกิ้น (ผมละหน้านิ่วคิ้วขมวดเพราะไม่เข้าใจมุกเกินกว่าครึ่ง) แถมขาดเสน่ห์น่าหลงใหลระดับเดียวกับ Holy Grail (1975) ถึงอย่างนั้นขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของคุณเองนะครับ บางคนอาจถูกจี้แทงตรงใจดำกว่าก็เป็นได้

Monty Python เป็นแฟนไชร์หนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันแม้สมาชิกหลักๆเริ่มลาจากโลกนี้ไป ก็ยังมีความพยายามฟื้นคืนชีพ อาทิ ละครเพลง Spamalot (2005), Monty Python Live (Mostly) (2014), ล่าสุดเห็นมีจะสร้างภาพยนตร์อีกเรื่องแต่ติด Covid-19 เลยยังคงล่าช้าออกไป ฯลฯ

แต่สำหรับ Terry Gilliam เพราะความที่พี่แกไม่ใช่สมาชิก Comedy Troupe เข้ามาในฐานะนักสร้างอนิเมเตอร์ จึงค่อนข้างมีความแตกต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งหลังจาก Life of Brian (1979) ดังแล้วแยกวงไปสรรค์สร้างภาพยนตร์ในความสนใจ ประสบความสำเร็จ(มั้งนะ) และกลายเป็นหนึ่งในตำนานสุดแนว Time Bandits (1981), Brazil (1985), 12 Monkeys (1995), The Brothers Grimm (2005) ฯลฯ


ด้วยทุนสร้างประมาณ $400,000 เหรียญ แม้เสียงตอบรับเมื่อตอนออกฉายจะค่อนข้างผสมๆ โดยเฉพาะตอนจบที่รู้สึกเหมือนไม่ค่อยได้รับการเติมเต็มสักเท่าไหร่ แต่ยังสามารถทำเงินรวมทั่วโลกได้สูงถึง $5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควรเลยละ

กาลเวลาทำให้ชื่อเสียงของหนังโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ได้รับการโหวตจัดอันดับ Best Comedy of All Time จากหลายๆสำนัก อาทิ

  • Total Film: greatest comedy film of all time (2000) ติดอันดับ 5
  • Channel 4: 50 Greatest Comedy Films (2006) ติดอันดับ 6
  • Premiere Magazine: 50 Greatest Comedies of All Time (2006) ไม่ได้เรียงอันดับ
  • BBC Culture: 100 greatest comedies of all time (2017) ติดอันดับ 15
  • Empire: The 50 Best Comedy Movies (2021) ติดอันดับ 8

Monty Python เป็นแฟนไชร์ที่ถ้าไม่คลั่งไคล้ก็เกลียดโคตรๆ ผมเคยเป็นแบบหลังเต็มไปด้วยอคติอยู่สักพักใหญ่ๆ ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะค่อยๆเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ จนสามารถทำความเข้าใจเหตุผลของ Black Comedy หวนกลับมารับชมคราวนี้จึงสามารถหลงใหล คลั่งไคล้ ฟังภาษาอังกฤษเข้าใจ ครุ่นคิดถึง ‘สาระ’ ที่แฝงอยู่ในความ ‘ไร้สาระ’ สมควรค่าแก่การเรียกว่า มาสเตอร์พีซ

แนะนำคอหนัง Comedy Satire เหมาะสมหรับคนชอบครุ่นคิด สามารถติดตามทัน Black Comedy และอ่าน/ฟังภาษาอังกฤษระดับ Fluent (ดูซับไทยอาจไม่เข้าใจหลายๆมุก) โดยเฉพาะคนทำงานโปรดักชั่นละครโทรทัศน์ นักเขียนบท นักแสดงตลก มีอะไรๆให้ศึกษาเรียนรู้เยอะเลยละ

ไม่แนะนำกับคนประเภทมือถือสาก ปากถือศีล ฝั่งอนุรักษ์นิยม ยึดถือมั่นระบอบกษัตริย์ ศักดิดา และศรัทธาศาสนา(คริสต์) ยินยอมรับไม่ได้กับคำพูดดูถูกถากถาง เหยียดหยามหมิ่นแคลน เต็มไปด้วยอคติ รังเกียจเดียดฉันท์ … เชื่อว่าหนังไม่น่าผ่านกองเซนเซอร์เมืองไทยอย่างแน่นอน!

จัดเรต 15+ กับความหยาบคาย มุกตลกส่อเสียด เหยียด ล้อเลียน ไร้มารยาท

คำโปรย | Monty Python and the Holy Grail คือการเดินทางที่เป็นไปไม่ได้ที่สุด คลุ้มบ้าคลั่งที่สุด และประสบความสำเร็จที่สุด
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | คลุ้มคลั่งไคล้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: